การรถไฟฯ ตั้งธง ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ ขบวนรถสินค้า
วัน Friday 28 Sep 12@ 14:00:00 +07
หัวข้อ: ข่าวจาก รฟท.


     นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์และอำนวยการ รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟฯ เปิดเผยว่า การรถไฟฯได้รับอนุมัติวงเงินงบประมาณ จากรัฐบาล ให้ดำเนินงานปรับปรุงและสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในระยะ ๕ ปี (๒๕๕๔-๒๕๕๘) ซึ่งมีวงเงินลงทุนสูงถึง ๑๗๖,๘๐๘ ล้านบาท เพื่อลงทุนในการจัดหาหัวรถจักร ล้อเลื่อน การปรับปรุงสภาพทาง การสร้างทางคู่ การปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินงานดังกล่าว ต้องใช้ระยะเวลานานไม่น้อยกว่า ๒-๓ ปี การรถไฟฯ จึงมีแนวนโยบาย ในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ มาให้บริการกับประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในช่วงนี้อย่างเหมาะสม เบื้องต้นได้กำหนดเป็นนโยบาย เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายและสร้างภาพลักษณ์ให้กับการรถไฟฯ โดยจะปรับปรุงขบวนรถโดยสาร รวม ๔ ขบวน ให้เป็นรถตัวอย่าง มีบริการที่ดี คือ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ ๑ กรุงเทพ - เชียงใหม่ และขบวนรถด่วนพิเศษที่ ๒ เชียงใหม่ - กรุงเทพ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ ๓๕ กรุงเทพ - บัตเตอร์เวอร์ธ และขบวนรถด่วนพิเศษที่ ๓๖ (บัตเตอร์เวอร์ธ - กรุงเทพ) การรถไฟฯ เน้นการบริการ ให้ขบวนรถตัวอย่างดังกล่าว ต้องมีความตรงเวลา, รถจักรรถพ่วง มีสภาพดีสมบูรณ์ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินรถ, มีการตรวจสอบการทำความสะอาด ของผู้รับจ้างอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เห็น ถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก-ภายในตัวรถ ,มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์รถโดยสาร รวมถึง ให้มีการติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi ในขบวนรถโดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารได้ใช้บริการ ได้ตลอดการเดินทาง และจะคัดเลือกพนักงาน ที่มีจิตใจพร้อมให้บริการ ขึ้นประจำขบวนรถต่อไป ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวจะสร้างภาพลักษณ์ในการด้านการให้บริการที่ดีแก่กิจการรถไฟได้ระดับหนึ่ง

     สำหรับการเพิ่มรายได้นั้นเห็นว่า ทางรถไฟ ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชาเป็นทางคู่เรียบร้อย จึงตั้งเป้าหมายว่าจะทำการเดินขบวนรถคอนเทนเนอร์ระหว่าง ICD ลาดกระบัง ถึง ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้น เป็น ๓๔ ขบวนต่อวัน (ปัจจุบันมีขบวนรถคอนเทนเนอร์วิ่งอยู่ ๒๘ ขบวนต่อวัน) โดยจะเดินขบวนรถเพิ่มโดยในช่วง ๒ เดือนแรก (กันยายน-ตุลาคม ๒๕๕๕ ) เพิ่มเป็น ๓๐ ขบวนต่อวัน ส่วนเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๕๕ กำหนดให้มีเดิน ๓๒ ขบวนต่อวัน และจะทยอยเดินขบวนรถ เพิ่มขึ้นให้เป็นไปตามเป้าหมาย ให้ครบ ๓๔ ขบวนต่อวัน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

     รองผู้ว่าการฯ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การรถไฟฯ ยังมีนโยบายเพื่อลดรายจ่าย ด้วยการนำตู้สินค้าคอนเทนเนอร์มาพ่วงเข้ากับขบวนรถโดยสาร ที่วิ่งให้บริการประจำ เพื่อเป็นช่องทางในการขนส่งสินค้าจากภาคต่างๆ มายังบางซื่อ หรือมากองเก็บไว้ที่ ICD ลาดกระบัง แล้วส่งต่อไปยัง ปลายทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งสินค้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีทั้ง ข้าว แป้ง และน้ำตาล ส่วนภาคใต้จะมีสินค้าเป็น ยางพารา ซึ่งแนวทางการรวมรถโดยสารและพ่วงรถสินค้าคอนเทนเนอร์เข้าด้วยกัน จะทำให้การรถไฟฯ สามารถบริหารจัดการ เรื่องความจำกัดของหัวรถจักร ที่มีไม่เพียงพอ และนำรถจักรออกมาซ่อมบำรุงตามวาระ ได้อย่างเหมาะสม สำหรับขบวนรถที่กำหนด ให้มีการพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ เข้ากับรถโดยสาร ประกอบด้วย ขบวนรถที่ ๒๕๑/๒๕๒ (ธนบุรี - ประจวบคีรีขันธ์ - ธนบุรี) ขบวนรถที่ ๒๕๕/๒๕๔ (ธนบุรี - หลังสวน - ธนบุรี) ขบวนรถที่ ๔๔๕/๔๔๖ (ชุมพร - หาดใหญ่ - ชุมพร) ขบวนรถที่ ๒๓๓/๒๓๔ (กรุงเทพ - สุรินทร์ - กรุงเทพ) ขบวนรถที่ ๔๑๕/๔๑๘ (นครราชสีมา - หนองคาย - นครราชสีมา)

ที่มา : กองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย
วันที่ : 26/09/55









บทความนี้มาจาก Rotfaithai.Com
http://portal.rotfaithai.com

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=News&file=article&sid=320