Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311950
ทั่วไป:13597851
ทั้งหมด:13909801
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ขุดกรุ : งานวิศวกรรมไฟฟ้า จากความทรงจำของข้าพเจ้า
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ขุดกรุ : งานวิศวกรรมไฟฟ้า จากความทรงจำของข้าพเจ้า
Goto page 1, 2  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/10/2006 12:16 pm    Post subject: ขุดกรุ : งานวิศวกรรมไฟฟ้า จากความทรงจำของข้าพเจ้า Reply with quote

เมื่อเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2548) ผมไปค้นหนังสือเก่าๆ ในบ้าน มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากอยู่เรื่องหนึ่ง เก็บไว้ดูเองจนเกือบลืมแน่ะ

เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกิจการของกรมรถไฟหลวง โดยเฉพาะด้านการสั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า ทดแทนรถจักรไอน้ำในขณะนั้น ซึ่งตัวท่านผู้เขียนเอง ได้มีส่วนร่วมในการเดินทางไปควบคุมตรวจรับการสร้างหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าที่บริษัท "ซูลเซอร์" ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และต้องติดค้างอยู่ที่นั่นด้วยเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเวลาถึง 7 ปี

นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องด้านการบริหารกิจการโรงไฟฟ้าที่ วัดเลียบ จากบริษัทไฟฟ้าสยาม และกำเนิดโรงไฟฟ้ายันฮี ที่เชิงสะพานพระรามหก ท่านผู้นั้นคือ หลวงประสิทธิกลมัย (ประสิทธิ์ เมนะเศวต) วิศวกรไฟฟ้าคนแรกของประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา โดยทุนของกรมรถไฟหลวง ราวปี พ.ศ. 2466
เรื่องราวของท่าน ได้นำลงในวารสารประชาสัมพันธ์ "ข่าวสาร กฟผ." ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยได้รับความเอื้อเฟื้อบทความจากศาสตราจารย์ เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ทายาทของท่าน

วันนี้ขอลงประวัติของท่าน นำเรื่องสร้างความรู้จักกันก่อนนะครับ...

Click on the image for full size
หลวงประสิทธิกลมัย (ประสิทธิ์ เมนะเศวต)

ประวัติโดยสังเขปของหลวงประสิทธิกลมัย

หลวงประสิทธิกลมัย นามเดิม รองอำมาตย์เอกประสิทธิ์ เมนะเศวต เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๔๑ เป็นบุตรของ อำมาตย์ตรี หลวงสมาหารสรรพกิจ (เชิด เมนะเศวต และ นางพวง เมนะเศวต)

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนยันตรศึกษาตามลำดับแล้ว ได้รับทุนจากกระทรวงโยธาธิการไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โทรเลข โทรศัพท์ และอาณัติสัญญาณทีประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.๒๔๕๙ และโอนมาใช้ทุนของกรมรถไฟหลวง จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาโดยได้รับปริญญา Professional Degree in Electrical Engineering ซึ่งเป็นปริญญาที่สูงกว่าระดับปริญญาตรีระดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล

นับว่าเป็นวิศวกรไฟฟ้าท่านแรกในประเทศไทย

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้เข้ารับราชการที่กรมรถไฟหลวงในตำแหน่ง นายช่างไฟฟ้าผู้ช่วย และได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก ก่อนที่จะย้ายมาทำงานที่การไฟฟ้านครหลวงสามเสนและการไฟฟ้ากรุงเทพฯ ตามลำดับ โดยในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประสิทธิกลมัย จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๙ จึงได้ออกจากการไฟฟ้ากรุงเทพฯ โดยได้รับบำเหน็จในตำแหน่งรองผู้จัดการการไฟฟ้ากรุงเทพฯ

สำหรับราชการพิเศษในอดีต นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้รับเชิญเป็นผู้ตรวจและให้การแนะนำบริษัทเอกชนที่ได้สัมปทานไฟฟ้าต่างจังหวัด รวมทั้งเป็นกรรมการพิจารณาการสั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้โรงงานทำกระดาษของกระทรวงกลาโหมที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกรรมการสอบชิงทุน ก.พ. ไปเรียนวิศวกรรมช่างกลที่สหรัฐอเมริกา เป็นกรรมการปรับปรุงการไฟฟ้าและประปากรุงเทพฯ เป็นกรรมการซ่อมสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งชำรุดเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และกรรมการตรวจรับโรงงานต่างๆ ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม

ครั้งหลังสุด หลวงประสิทธิกลมัย เป็นราชบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕

วารสารรายเดือน " ข่าวสาร กฟผ." ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้นำบทความจากปลายปากกาของท่านมาเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๑๒ ปี ของกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๗ อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยนำลงพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ฉบับที่ ๙ ปีที่ ๒๖ ประจำเดือนกันยายน ถึงฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๒๖ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๓๙ โดยได้รับความเอื้อเฟื้อบทความจาก ศาสตราจารย์ เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิตนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ผู้เป็นทายาท

..................................

Click on the image for full size
หลวงประสิทธิกลมัย เมื่อสำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้รับปริญญา Electrical Engineer ( E.E.) จาก Cornell Universityในปี ๒๔๖๗ แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ปฏิบัติงานตรงกับสาขาวิชาที่ได้เล่าเรียนมาโดยตลอด

เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ควบคุมกิจการเกี่ยวกับการไฟฟ้าที่โรงงานมักกะสัน กรมรถไฟหลวง จากนั้นก็ย้ายจากโรงงานมักกะสันไปเป็นนายช่างควบคุมการตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า การผลิตกระแสไฟฟ้า การบริการไฟฟ้า และติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าแก่บุคคลทั่วไปของการไฟฟ้าสามเสน

ต่อมาเมื่อกรมรถไฟหลวง สั่งรถจักรดีเซลไฟฟ้าเข้ามาใช้ ข้าพเจ้าได้ถูกส่งให้กลับมาอยู่ฝ่ายช่างกล โดยถูกส่งให้ไปศึกษาดูการสร้างรถจักรดีเซลไฟฟ้าในยุโรป เพื่อจะได้กลับมาฝึกอบรมพนักงานให้รู้วิธีการใช้งานและการซ่อมบำรุง

หลังจากการต่อสู้แย่งชิงการปกครองเมื่อครั้งพระองค์เจ้าบวรเดช ก็ได้มีคำสั่งให้ข้าพเจ้าไปเป็นนายช่างโทรเลข โทรศัพท์และอาณัติสัญญาณ แทนนายช่างคนเดิมซึ่งได้ถูกปลดออกจากตำแหน่ง เพราะถูกสงสัยว่ามีส่วนร่วมกับฝ่ายกบฎ ต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้ย้ายกลับมาอยู่ฝ่ายช่างกล เป็นหัวหน้ากองไฟฟ้า มีการเปลี่ยนระบบใหม่ โดยตั้งนายช่างกลเอกขึ้น มีกองไฟฟ้า กองลากเลื่อน กองแบบแผนช่างกลอยู่ใต้บังคับบัญชา

ในระหว่างนั้น ข้าพเจ้าได้ถูกส่งให้ไปตรวจสอบการสร้างรถจักรดีเซลที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าติดสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) อยู่ถึง ๗ ปี หลังจากกลับมาประจำที่เดิมอยู่พักหนึ่ง ก็ได้มีคำสั่งให้ข้าพเจ้าไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของกรรมการผู้จัดการทั่วไปของการไฟฟ้ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ

สิ่งที่ข้าพเจ้าจะบรรยายต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวและเหตุการณ์บางตอนจากความทรงจำในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานวิศวกรรมไฟฟ้าตามลำดับหน้าที่ต่างๆ ดังที่ได้แจ้งไว้ข้างต้น

หน้าที่ของนายช่างไฟฟ้าผู้ช่วย คือ การควบคุมโรงไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าส่งให้โรงงานต่างๆ ของโรงงานมักกะสัน ซ่อมเครื่องไฟฟ้าต่างๆ ของกิจการรถไฟ ซ่อมเชื่อมโลหะด้วยแก๊สและไฟฟ้า มีนายงานญี่ปุ่นเป็นผู้ดูแล และโรงแบตเตอรี่ ทำการติดตั้งบำรุงรักษาเครื่องไฟฟ้ารถโดยสาร มีนายงานผู้จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแล

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาให้มีการทดสอบการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ในรถโดยสารได้ ในโรงแบตเตอรี่ เพื่อพนักงานจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ได้จัดการให้ทำน้ำกลั่นบริสุทธิ์ขึ้นเอง เพื่อใช้กับแบตเตอรี่ และการจัดซื้อน้ำกรดสำหรับใช้ในแบตเตอรี่ ต้องได้รับการตรวจสอบว่าถูกต้องตามข้อกำหนดของความบริสุทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก่อนกำหนด ได้จัดการให้ทำแผ่นธาตุบวกของแบตเตอรี่รถโดยสารขึ้นเองสำเร็จและใช้การได้เรียบร้อย เป็นการประหยัด ไม่ต้องสั่งจากต่างประเทศ

เมื่อข้าพเจ้ากลับมาเป็นหัวหน้ากองไฟฟ้า ทางด้านโรงไฟฟ้าได้ให้ทำ Auto Transformer เครื่องเปลี่ยนแรงไฟ ให้คุณพระอร่ามฯ ผู้ควบคุมเครื่องวิทยุซึ่งเสด็จในกรมฯ พึ่งนำมาทดลองใช้ ๑ เครื่อง โดยเหตุแรงไฟที่นั่นไม่ปกติ เสด็จในกรมฯ ได้มีคำสั่งด้วยวาจาโดยตรงแก่ข้าพเจ้าที่สถานีกรุงเทพฯ ตอนที่ท่านจะเสด็จพระดำเนินไปตรวจการ

หลายปีต่อมา พบกับคุณพระอร่ามฯ ท่านบอกว่าเครื่องที่นำไปให้ ใช้การได้ดีตลอดมา


Click on the image for full size

การที่ทางราชการให้ กรมรถไฟ ดำเนินกิจการ การไฟฟ้าสามเสน กรมรถไฟได้แต่งตั้งให้พระยาสฤษดิการบรรจง นายช่างเอกไฟฟ้า เป็นผู้อำนวยการทั่วไป ผู้อำนวยการบัญชีกรมรถไฟไปควบคุมการบัญชี และข้าพเจ้าซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายช่างเอกไฟฟ้า

ในการเปลี่ยนมือกันคราวนี้ นายช่างอาวุโสสองท่านที่ทำงานในโรงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ลาออกไป นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ต่างๆ คงอยู่ตามเดิม งานชิ้นแรกก็คือ การพัฒนาวิธีการปรับเครื่องมิเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตามบ้านให้ทำงานถูกต้อง ได้อบรมเจ้าหน้าที่ให้ทำงานได้ทัดเทียมกับงานประเภทเดียวกันของบริษัท ไฟฟ้าสยาม เสร็จแล้วจึงได้รับคำสั่งให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรงผลิตกระแสไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ต่างๆ ได้ทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีนายช่างเยอรมันชื่อนายไวดอร์ เป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง มีความรู้ความชำนาญอย่างไม่มีที่ติ

เมื่อได้เข้าประจำอยู่ในหน้าที่เป็นเวลาอันสมควรแล้ว ก็ได้รับคำสั่งให้มารับหน้าที่ควบคุมแผนกจำหน่ายไฟฟ้าและรับติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าแก่ประชาชนทั่วไป ระหว่างนี้ได้วิศวกรนายหนึ่งเป็นผู้ช่วย เป็นผู้ที่ข้าพเจ้าเคยสอนเมื่อครั้งเป็นผู้บรรยายพิเศษวิชาไฟฟ้าที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

วิธีของข้าพเจ้าในการบริการคือ เมื่อมีผู้มาขอให้ไปติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เราจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียด เช่น สายไฟ ขนาดของสาย และวัสดุประกอบ ให้หัวหน้าช่างไปเบิกจากพัสดุ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างในเรื่องค่าของและค่าแรงติดตั้ง และผลงานที่ถูกต้องในการจำหน่ายงานไป ข้าพเจ้าหรือผู้ช่วยจะติดตามไปดูด้วยตนเองบ้างเป็นครั้งคราว วิธีนี้คนงานของเราก็ชอบใจที่ผู้บังคับบัญชาได้มาดูฝีมือเขาด้วยตัวเอง และผู้ว่าจ้างก็พอใจที่มีผู้ใหญ่มาตรวจสอบ

ข้าพเจ้าได้ทำงานใหญ่ๆ กับกระทรวง ทบวง กรม และเอกชนตลอดมา ไม่เคยได้รับการติฉินและไม่เคยพลาดในเรื่องการประมาณการ เมื่อกรมรถไฟย้ายข้าพเจ้ากลับฝ่ายช่างกลเกี่ยวกับการสั่งรถจักรดีเซลจากยุโรป ผู้ช่วยของข้าพเจ้าสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่มีปัญหา


Last edited by black_express on 10/11/2015 3:47 pm; edited 4 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/10/2006 12:52 pm    Post subject: Reply with quote

การนำรถจักรดีเซลไฟฟ้ามาใช้ เป็นพระดำริของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เข้าใจว่าคงเนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นการประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นหัวใจของการขนส่งทางรถไฟ ในประวัติวงการรถไฟทั่วโลกยังไม่เคยมีใครนำมาใช้ก่อน เนื่องจากตัวรถจักรมีขนาดและน้ำหนักที่จำกัด การออกแบบและการใช้วัสดุเครื่องประกอบต่างๆ จึงต้องจัดทำกันเป็นพิเศษ ไม่เหมือนเครื่องที่ใช้ในเรือเดินสมุทรหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าธรรมดา ได้มีการพัฒนากันเรื่อยมาจนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการรถไฟทั่วไป

Click on the image for full size

กรมรถไฟหลวงสั่งซื้อรถจักรดีเซลจากบริษัท ฟริก ประเทศเดนมาร์ก รถขนาด ๑,๔๐๐ แรงม้า (ร.ม.) ๙๐๐ ร.ม. และจากบริษัท ซูลเซอร์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ขนาด ๔๕๐ ร.ม. ขนาด ๑๕๐ ร.ม. เครื่องไฟฟ้าของทั้งสองบริษัทต้องสั่งจากบริษัท เออร์ลิคอน สวิสเซอร์แลนด์แห่งเดียว กรมฯ จ้างบริษัทที่ปรึกษาอังกฤษชื่อแซนเบอร์ก เป็นผู้ควบคุมตรวจสอบ พวกเราสามคน นายซุ้ย ศิริสุข (หลวงวิทูรฯ) นายช่างกล นายประสิทธิ์ เมนะเศวต นายช่างไฟฟ้า และนายโรเบิร์ต สงวนชาติ สารวัตรรถจักร ซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาและดูงาน ได้เดินทางไปยังเมือง ออฮูส ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท ฟริก ขณะนั้น บริษัทกำลังทำชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องดีเซล ส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องไฟฟ้ามีเพียงออกแบบวงจรไฟฟ้า มีการทดลองเครื่องดีเซลซึ่งทำขึ้นชนิด ๑ สูบ โดยนายช่างชาวรัสเซีย เพื่อค้นคว้าหาความเหมาะสมในวัสดุที่จะสร้างเครื่องดีเซลสำหรับรถจักรต่อไป บริษัทนี้สร้างตัวรถจักรเอง โรงงานของบริษัทนี้ไม่ใหญ่โตนัก ใหญ่กว่าโรงงานมักกะสันเล็กน้อย

เมื่อได้รับแจ้งว่าทางแซนเบอร์กส่งเจ้าหน้าที่ของเขามาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นายช่างกลและข้าพเจ้าจึงออกเดินทางไปบริษัท ซูลเซอร์ ส่วนโรเบิร์ตยังอยู่ที่ฟริกต่อไป

ในการเดินทางครั้งนี้ได้แวะไปดูบริษัทเฮนเซลที่เมืองคาเซลในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำตัวรถจักรให้บริษัทซูลเซอร์ อยู่ดูงานดูการทำชิ้นส่วนการทดสอบเครื่องรถจักรดีเซลของซูลเซอร์ และเออร์ลิคอน ตลอดจนประกอบเสร็จเป็นรถจักรดีเซล ซูลเซอร์ได้ทำการทดลองลากจูงบนเส้นทางรถไฟของบริษัทเอกชนซึ่งใช้รางชนิดมิเตอร์เกจ์อย่างของเรา จากเมืองคัวร์ถึงเมืองดิสเซนทริทเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ได้ผลด้วยความเรียบร้อย ท่านผู้บัญชาการรถไฟพระยาสารศาสตร์ฯ และคุณพระสุวพันธ์ฯ ผู้อำนวยการรถจักรได้เดินทางมาตรวจดูรถจักรที่ฟริกและที่ซูลเซอร์ด้วย ขากลับกรุงเทพฯ ต้องจับเรือจากอังกฤษ ผ่านกรุงปารีสเลยได้ดูงานแสดงสินค้านานาชาติเป็นงานใหญ่ในขณะนั้น ได้พักที่กรุงลอนดอนราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนขึ้นเรือกลับบ้าน

....................................

ออฮูส (ARHUS)เมืองที่ตั้งโรงงานบริษัท Frichs ต้งอยู่บนด้านตะวันออกของคาบสมุทรจัตแลนด์ตอนเหนือ ฝั่งช่องแคบคัตเจอรัต ประเทศเดนมาร์ก
คาเซล (KASSEL) เมืองที่ตั้งโรงงานบริษัท Henschel อยู่ที่รัฐ Hessen ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
คัวร์ (CHUR) , ดิสเซนทริท ( DISENTRIS ) เมืองเอกในมณฑล (Cantan - กังต็อง) ทางตะวันออกของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระยะทางระหว่างสองเมืองประมาณ 70 กม.

Click on the image for full size

เมื่อเริ่มการใช้รถ ๙๐๐ ร.ม. ทำขบวนรถด่วนสายใต้ กรุงเทพฯ ไปปีนังได้ไม่นานนัก ปรากฎว่ามีความบกพร่องบางประการทำให้รถเสียเวลา นายช่างกลเอก (ช.ก.อ.) ได้ให้บรรดานายช่างของเขาผลัดเปลี่ยนกันขึ้นรถจักรหลายเที่ยว เพื่อไปสังเกตการณ์ว่าสาเหตุเพราะอะไร ก็ยังไม่ได้ผลชัดเจน จึงให้ข้าพเจ้าลองไปสังเกตการณ์โดยปกติ ข้าพเจ้าไม่มีหน้าที่ขึ้นรถจักร เที่ยวแรกที่ขึ้นไปนั้น บังเอิญคราวนั้น นายโรเบิร์ตที่เคยไปดูงานมาด้วยกันเป็นคนขับ จากการอ่านมิเตอร์หน้าคนขับเมื่อรถกำลังเคลื่อนขบวนจากหัวลำโพงแล้วมาคำนวณ ปรากฎว่าเครื่องดีเซลถูกใช้งานเกินกำลัง

ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจมาก เที่ยวนั้นไม่มีเหตุการณ์รุนแรงจนทำให้รถเสียเวลา

ขากลับพอรถเข้าเทียบสถานีกรุงเทพหัวลำโพง พอลงจากรถก็พบ ช.ก.อ.อยู่ที่นั่น เมื่อฟังรายงานเขาไม่พูดอะไร แต่แสดงกิริยาไม่พอใจ เขาเดินกลับดูคล้ายกับว่า “เขารู้กันอยู่แล้ว”

การผลัดเปลี่ยนเวรนายช่างข้างต้นคงดำเนินต่อไป ข้าพเจ้าลองค้นเอกสารจากเออร์ลิคอนที่ติดมือจากการไปดูงานครั้งนั้นก็พบว่า การที่เกิดปฏิกิริยาการเกินกำลังของเครื่องดีเซลเกี่ยวกับการที่เร่งความเร็วของขบวนรถ เร็วเกินไปไม่ได้จังหวะ พูดกันง่ายๆ ก็คือ ของที่มีน้ำหนักเมื่อจะทำให้เคลื่อนที่ต้องใช้กำลังมาก แต่เมื่อเคลื่อนที่ไปแล้วใช้กำลังน้อยกว่า ก็ทำให้รถเคลื่อนไปได้ง่าย

ข้าพเจ้าจึงได้ทำหน้าปัดขึ้น ความเร็วของรถต้องได้เท่านั้นกิโลเมตรต่อชั่วโมงจึงจะขยับคันเร่งความเร็วขึ้น เป็นวิธีที่ง่าย พนักงานขับรถใช้ได้สะดวก พวกเขาชอบมากเป็นการแก้ไขการขับซึ่งไม่ก่อให้เกิดการใช้งานเกินกำลังของเครื่องดีเซลได้โดยเด็ดขาด ช.ก.อ.ชอบใจมาก เรียกให้ข้าพเจ้าเข้าไปพบในห้องทำงานของเขา คราวนี้ยิ้มแย้มแจ่มใส ชี้ไปข้างหลังมีปฏิทินว่าชอบใจอันไหนก็เอาไป ช.ก.อ. นายซากาเรีย ซึ่งเป็นชาวเดนมาร์กได้ลาออกไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

Click on the image for full size

เกี่ยวกับการชิงอำนาจการปกครองครั้งพระองค์เจ้าบวรเดชที่นำขบวนมาจากโคราช นายทหารชั้นสูงท่านหนึ่ง (พันตรี หลวงอำนวยสงคราม - ถม เกษะโกมล) นำรถจักรดีเซล ๔๕๐ ร.ม. ไปต้านทาน ถูกฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชยิงทะลุกระจกด้านหน้าที่คนขับถึงแก่ความตาย โรงงานมักกะสันต้องรีบทำงานทั้งวันทั้งคืน ทำการหุ้มเกราะให้แก่รถจักรดีเซลอีกคันหนึ่งส่งให้ทหารไปใช้การ เมื่อเหตุการณ์สงบแล้วข้าพเจ้าได้รับเหรียญป้องกันรัฐธรรมนูญ (เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ)

ในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ นายช่างชาวเดนมาร์กสองนายที่บริษัทส่งมา ลาออกเดินทางกลับบ้าน นายฟูรูซาวา นายช่างโรงไฟฟ้าเข้ามารายงานด้วยความตกใจว่า รถ ๙๐๐ ร.ม. ซึ่งเข้ามาซ่อมพร้อมที่จะส่งคืนใช้งาน เคลื่อนไหวไม่ได้ สงสัยว่านายช่างชาวเดนมาร์กจะเล่นพิเรน ข้าพเจ้าไปตรวจสอบพบว่า สายไฟฟ้าเกี่ยวกับโครงสร้างแม่เหล็กของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าลงดิน เมื่อแก้ถุงผ้าใบที่หุ้มห่อออก พบเศษเหล็กอันหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุ

เศษเหล็กอันนี้กระเด็นเข้าไประหว่างการประกอบในโรงงานที่เมืองนอกโดยบังเอิญ รถคันนี้ใช้งานมาแรมปีพึ่งจะมาสำแดงออกในคราวนี้ ทั้งนี้ก็เพราะการสั่นสะเทือนในระหว่างรถใช้งาน ทำให้ความคมของเศษเหล็กค่อยๆ ตัดเครื่องหุ้มห่อสายไฟฟ้าทะลุผ้าใบแตะกับเหล็กโครงรถ เมื่อเอาเศษเหล็กอันนี้ออกมา รถก็ใช้งานได้โดยปกติ

Wisarut wrote:
พี่ด่วนดำ, ภาพรถจักรฟริตซ์ 601 ที่บางซื่อ และรถจักรฟริตซ์ที่หัวลำโพง นี้ ไม่ทราบว่าพี่ได้สแกนเต็มความคมชัด ก่อนจะ ย่อส่วนให้ฟิตกะ Rotfaithai.com ครับ

ถ้าภาพที่เห็นเป็นการย่อส่วน, กรุณา ส่งภาพดังกล่าวในเวอร์ชั่นสแกนเต็มความคมชัด [Highest Resolution] ส่งให้ผมและคุณบอมด้วยครับ ->

ของผมส่งมาที่ wisarut.bholsithi@nectec.or.th นะครับ


conrail wrote:
สุดยอดจริงๆครับ ....อยากหาประวัติหลวงวิฑูรวิธีกลด้วยอีกคนครับ


เรื่องนี้ได้มาโดยบังเอิญครับ ถ้าไม่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ทาง กฟผ.อาจไม่นำลงเหมือนกัน

ผมมีเฉพาะเรื่องของคุณหลวงประสิทธิฯ เท่านั้นครับ คุณก้อง คงต้องใช้เวลาหาอีกระยะหนึ่ง ฝากสมาชิกรายอื่นช่วยสอดส่องดูด้วยครับ


Last edited by black_express on 30/11/2010 9:50 am; edited 9 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43772
Location: NECTEC

PostPosted: 30/10/2006 2:10 pm    Post subject: Reply with quote

สงสัยต้องเสริมข้อมูล ที่ดูดจาก หจช. เรื่องรถจักรดีเซลสวิส 7 คันที่ติดสงคราม กว่าจะเอาออกมาได้ ก็ต้องให้ในหลวงฯ และ กองทัพสหรัฐฯ ไปเอาออกมา กระมัง Laughing Embarassed
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/10/2006 2:13 pm    Post subject: Reply with quote

ถ้าได้มา...ก็เยี่ยมยุทธ์เชียวครับ คุณวิศรุต Very Happy
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/10/2006 2:24 pm    Post subject: Reply with quote

หลังเหตุการณ์ชิงอำนาจการปกครอง ข้าพเจ้าก็ได้รับคำสั่งให้ไปเป็นนายช่างโทรเลข โทรศัพท์ และอาณัติสัญญาณ

งานในแผนกนี้มีการบำรุงรักษาเสาโทรเลขตามทางรถไฟ มีสารวัตรโทรเลขกำลังทำการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เสารางเหล็กที่หมดอายุใช้งานแล้วแทนเสาไม้ ซึ่งได้ประโยชน์มากในเชิงมีความทนทาน ลดค่าบำรุงรักษา และปลอดภัยจากอันตรายฟ้าผ่า

Click on the image for full size
โทรศัพท์แบบมือหมุน (แมกนีโต) ยืมภาพจากหนุ่มเจฟ (KTTA 50 L)

สารวัตรโทรเลขเป็นผู้มีความชำนาญมากเกี่ยวกับเครื่องโทรเลข เป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับความรักใคร่และนับถือของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั่วไป ทางด้านโทรศัพท์ สารวัตรโทรศัพท์ก็เช่นเดียวกัน กรมรถไฟใช้โทรศัพท์มือหมุนเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก่อนโทรศัพท์ของกรมไปรษณีย์โทรเลขมาหลายปี

ส่วนการอาณัติสัญญาณก็กำลังก่อสร้างซึ่งอยู่ในความดูแลของนายช่างผู้ช่วย นายช่างโทรเลขจึงเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ในด้านการไฟฟ้าเพิ่งจะมีการดำเนินการหอไฟฉายย่านสถานีบางซื่อและหัวลำโพงสร้างขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้เดินสายติดตั้งดวงโคม การที่รถไฟซื้อไฟฟ้าแรงสูงมาจำหน่ายในหน่วยงานต่างๆก็ต้องปรับปรุง ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้ดำเนินการ ต่อไปได้ทำงานติดตั้งไฟฟ้าย่านบางซื่อ โรงรถจักรบางซื่อย่านกรุงเทพฯ และชานชาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ปรับปรุงและติดตั้งดวงโคมสถานีกรุงเทพฯ ให้ได้รับแสงสว่างตามมาตรฐานสากลโดยมีการทดสอบด้วยเครื่องวัดแสง ติดตั้งไฟฟ้าย่านแก่งคอย ย่านโคราช ย่านหาดใหญ่ ส่วนตามสถานีย่อยใช้ดวงโคมติดตั้งบนเสารางเหล็ก ตามหัวประแจราง

ในระหว่างนี้ บริษัทรถไฟสายปากน้ำหมดสัมปทาน เมื่อ 12 กันยายน 2479 ต้องดูแลกิจการไฟฟ้าซึ่งมีเครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าที่บางนา (ใกล้กรมสรรพาวุธบางนา) อีกงานหนึ่ง สร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นใหม่เพื่อใช้ในกิจการของกรมฯ เองเพื่อจำหน่ายให้กับเอกชนบริเวณหัวหินและบ้านพักตากอากาศของเอกชนตามชายทะเลตลอดไปถึงหนองแก ได้ทำการศึกษาออกประมูลพิจารณาสั่งซื้อและติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องประกอบลากฯ ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีผู้จัดการทั่วไป พนักงานบัญชี มีพนักงานรับการติดตั้งเครื่องไฟฟ้าให้เอกชน ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าเช่นเดียวกับที่ใช้การกันทั่วๆ ไป การเดินสายเพื่อส่งไปจำหน่ายไฟฟ้าใช้เสาโทรเลขที่ปลดประจำการใช้รางเหล็กแทน วางบนฐานคอนกรีตเพื่อกันปลวก ส่วนสายแรงสูงก็ใช้สายเปลือยที่มีอยู่ในพัสดุ การสร้างโรงไฟฟ้าโรงนี้จึงเป็นไปโดยประหยัดอย่างยิ่ง

เมื่อมีการย้ายพระอุดมฯ อธิบดีกรมรถไฟฯ ไปอยู่กรมชลประทาน เมื่อปี 2479 หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นอธิบดีใหม่ ได้เปลี่ยนระบบฝ่ายช่างกล โดยให้มีกองโรงงาน กองแบบแผนช่างกล กองลากเลื่อนและกองไฟฟ้าขึ้นกับนายช่างกลเอก ข้าพเจ้าได้ถูกย้ายจากนายช่างโทรเลขฯ มาเป็นหัวหน้ากองไฟฟ้า มีหน้าที่เช่นเดียวกับที่ได้เคยทำมาแล้วก่อนย้ายไปเป็นนายช่างโทรเลขฯ และ มีพิเศษโดยรับกิจการไฟฟ้าทั้งหมดพ่วงมาด้วย

Click on the image for full size

เนื่องด้วยการขาดแคลนเครื่องอะไหล่สำหรับรถ ๙๐๐ ร.ม. ที่ทำการลากจูงขบวนรถด่วนระหว่างประเทศ ช.ก.อ.เรียกประชุมหัวหน้ากองเพื่อพิจารณาการใช้รถจักรไอน้ำแทน มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเวลาเดินรถด่วนใหม่ เพื่อที่จะได้แจ้งให้ทางมลายูทราบ

โดยสามัญสำนึก ข้าพเจ้าเสนอว่าใช้รถ ๔๕๐ ร.ม. สองคัน น่าจะทำการแทนได้ แต่เพื่อความแน่นอนต้องทำการทดลองเสียก่อน

ได้มีการจัดการทดลองโดยจัดขบวนพิเศษจากกรุงเทพฯ ไปปาดังเบซาร์ มี ช.ก.อ. หัวหน้ากองลากเลื่อนและผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถไปด้วย ปรากฎว่าจากตลิ่งชันไปนครปฐม การทำงานของรถทั้งสองคันไม่ผสมผสานกันดี ข้าพเจ้าสั่งการแก้ไขได้เรียบร้อย ทุกคนดีใจ

ถึงเวลานอนก็เข้านอน นึกว่าคงไม่มีอุปสรรคอะไรอีก ตอนดึกข้าพเจ้ารู้สึกว่าขบวนรถไฟหยุดนานผิดสังเกตจึงลงไปดู ปรากฎว่ารถอยู่ที่สถานีมาบอำมะริด รถอีกคันหนึ่งเสีย เพราะแบตเตอรี่ไม่มีกำลังจะสตาร์ทเครื่องได้

ข้าพเจ้าได้ลงไปหาสายไฟฟ้าเพื่อต่อให้รถที่ใช้การได้เดินเครื่องอัดแบตเตอรี่ ต้องใช้สายโทรเลขที่หาได้จากสถานีนั้นแทน ก็ทำการได้สำเร็จ นำขบวนได้ต่อไปโดยเรียบร้อยจนถึงสถานีปลายทางที่ปาดังเบซาร์

ขากลับผู้อำนวยการเดินรถปรารภว่า เขากำลังจะทำการต้อนรับนักทัศนาจร ถ้าจะเพิ่มรถโดยสารในขบวนได้อีกคันหนึ่งจะสะดวกมาก ข้าพเจ้าลองคำนวณดูก็เห็นว่าเป็นไปได้ จึงตกลงเพิ่มรถโดยสารอีกหนึ่งคัน ส่วนรถจักรไอน้ำที่ทำหน้าที่ช่วยดุนให้ขับตามไปห่างๆ ถ้าไม่ไหวจึงจะเปิดหวูดเป็นสัญญาณให้ช่วย

ขบวนรถได้เดินทางซึ่งเป็นทางเขาถึงทุ่งสงได้ด้วยความเรียบร้อยโดยไม่ต้องใช้เครื่องจักรไอน้ำช่วยขบวนรถด่วนสายใต้ตอนทางเขาตามที่ได้เคยปฏิบัติกันมา นับว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินรถขึ้น

ก่อนเดินทางไปต่างประเทศครั้งที่ ๒ ได้ทำการตั้งเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าให้โรงเรือนและบังกะโลที่กรมรถไฟสร้างขึ้นในที่ระหว่างโรงแรมกับวังพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ตลอดจนการปักเสาพาดสายติดตั้งดวงโคมถนนให้ทางเดินในบริเวณนั้น งานเสร็จเรียบร้อยในกำหนดเวลา


Last edited by black_express on 30/11/2010 9:54 am; edited 4 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/10/2006 2:39 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

ในการสั่งรถจักรดีเซลขนาด ๗๐๐ ร.ม. ครั้งที่ ๒ มีผู้เสนอ ๒ ราย คือ บริษัท เอ.อี.จี. เยอรมัน และ ซูลเซอร์ สวิส ฯลฯ ทางการตกลงซื้อจากซูลเซอร์ กรมฯ ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุม ๓ นาย ไปทำหน้าที่เป็นครั้งแรก ที่แล้วๆ มาเคยจ้างบริษัทแซนเบอร์ก ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายแพงมาก ผู้ที่ส่งไปคราวนี้มีหัวหน้ากองแบบแผนช่างกล หัวหน้ากองไฟฟ้า (ข้าพเจ้า) และสารวัตรรถจักร เราออกจากกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่เยอรมันบุกเดนมาร์กในสงครามโลกครั้งที่ ๒ จับเรืออิตาเลียนจากสิงคโปร์ไปขึ้นที่เมืองเนเปิล อิตาลี

จากนั้นเดินทางต่อโดยทางรถไฟไปซูริค สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อไปถึงพบว่าซูริคเงียบเหงาผิดธรรมดา ผู้คนเกรงว่าเยอรมันจะบุก ผู้แทนซูลเซอร์ถึงกับบอกพวกเราว่าให้เตรียมตัว หากเหตุการณ์เกิดขึ้นจะต้องหนีไปทางกรุงเจนีวา แต่ไม่มีเหตุการณ์อะไร นัยว่ามุสโสลินีขอร้องไว้ได้

กิจกรรมของซูลเซอร์และเออร์ลิคอนดำเนินไปตามปกติ

หัวหน้ากองแบบแผนช่างกล (...ไม่ขอเอ่ยนาม เพราะเป็นราชสกุล...) เกิดล้มเจ็บเป็นโรคประสาทอย่างแรง ได้รับอนุญาตจากกรมฯ ให้กลับได้ตามความเห็นของแพทย์ เดินทางกลับพร้อมคณะของเจ้าคุณวิชิตฯโดยผ่านประเทศรัสเซียซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้น เมื่อปี 2484

ในขณะเดียวกันข้าพเจ้ากับนายช่างเอกของซูลเซอร์และผู้ช่วยของเขาอีกคนหนึ่ง เดินทางไปคาเซล ประเทศเยอรมัน เพื่อตรวจตัวรถจักรของเราที่บริษัทเฮนเซล

เมื่อถึงคาเซล ก็ทราบว่าเยอรมันประกาศสงครามกับรัสเซีย เจ้าหน้าที่เฮนเซลแจกคูปองสำหรับการซื้ออาหารรับประทาน อาหารจำกัดมาก เช่น มื้อเย็นจะมีมันฝรั่งบดกับน้ำเกรวี่เท่านั้น กาแฟไม่มีต้องกินกาแฟเทียม ตอนกลางคืนมีการพรางไฟ แต่เมื่อพบกับพวกลูกครึ่งพูดไทยได้ชัด ดูเขาไม่วิตกกังวลนัก ยังเชื่อฝีมือพวกเขา

พวกเราเมื่อทำการติดต่อเสร็จก็รีบเดินทางกลับ เพราะไม่ใคร่วางใจสถานการณ์

เมื่อเฮนเซลส่งตัวรถคันแรกมา และทางซูลเซอร์ได้ประกอบเครื่องต่างๆ เสร็จ เขานำไปชั่งในโรงรถจักรรัฐบาล เพื่อทดสอบน้ำหนักบนเพลารถว่าถูกต้องตามสเป็กหรือไม่ ข้าพเจ้าไปดูผลออกมาเป็นที่สงสัยจึงยังไม่ยอมลงนามรับ จึงได้มีการประชุมกันที่บริษัทดีทแฮล์ม ซูลเซอร์แก้ตัวว่า เป็นเพราะใช้เครื่องชนิดใช้สปริง เครื่องที่ดีกว่าชนิดตาเต็งไม่มี ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า เขาคงลืมไปเพราะเขาเคยให้ข้าพเจ้าดูเครื่องตาเต็งที่นั้น

ตกลงยอมไปทำการชั่งกันใหม่โดยใช้ตาเต็ง มีเจ้าหน้าที่ของดีทแฮล์มชั้นผู้อำนวยการไปดูด้วย ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่พอใจ

ในการทดลองการลากจูง ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระอนุชา และสมเด็จพระราชชนนี เสด็จฯ ทอดพระเนตร ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จจากโลซานน์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2484 ประทับที่ซูริคหนึ่งคืน รุ่งขึ้นเช้า (3 กรกฎาคม 2484) จึงเสด็จฯ โรงงานซูลเซอร์ ในการนี้ได้มีหลวงอรรถกิติกำจรรักษา รักษาราชการแทนเอกอัครราชฑูตที่สวิสเซอร์แลนด์ตามเสด็จ นายซูลเซอร์ ประธานบริษัทได้ต้อนรับและนำทอดพระเนตรโรงงาน แล้วจึงเสด็จฯ ไปเมืองคัวร์ เพื่อทอดพระเนตรการทดลองรถ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระอนุชา ทรงประทับบนรถจักรฯ ที่พนักงานขับรถ สมเด็จพระราชชนนีประทับในรถโดยสาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระอนุชา ได้ทรงขับรถจักรเอง มีนายช่างเอกของซูลเซอร์ ผู้ออกแบบและควบคุมรถจักรถวายคำแนะนำอยู่ข้างๆ ทั้ง ๒ พระองค์โปรดมาก ทรงขับไปตลอดทางจากคัวร์ถึงเซนต์มอรีส ระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร เป็นทางเขา สองข้างทางมีทิวทัศน์สวยงามมาก

ซูลเซอร์จัดถวายพระกระยาหารกลางวันที่โฮเต็ลเซนต์มอรีส และผู้จัดการโฮเต็ลได้เชิญเสด็จฯ ทอดพระเนตรโฮเต็ล จัดการรับรองเป็นงานใหญ่ ผู้ตามเสด็จและเจ้าหน้าที่ของซูลเซอร์ที่ทำการทดลอง ได้ร่วมรับประทานอาหารที่โต๊ะเสวยด้วย การทดลองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยทั้งไปและกลับ สมเด็จพระราชชนนีได้พระราชทานเลี้ยงอาหารเย็นแก่ข้าพเจ้าและหลวงอรรถฯ ในวันนั้นที่ซูริค ก่อนเสด็จฯ กลับโลซานน์

..............................................................

(ดูกระทู้เพิ่มเติม เรื่องย้อนอดีต : องค์พระประมุขแห่งชาติกับรถจักรดีเซล)

เซนต์มอรีส ( ST. MORITZ ) เมืองเอกในมณฑล ( Cantan - กังต็อง) ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ห่างจากเมืองคัวร์ ไปทางใต้ประมาณ 130 กม.

Wisarut wrote:
พี่ด่วนดำ, ไปเอาเรื่องนี้จาก ข่าวสาร กฟผ. ฉบับไหนหนะครับ จะได้ไปก็อปปี้มาเก็บไว้ดูหนะ


ยกให้ครับ มีอยู่สี่เล่ม (ฉบับที่ ๙ ปีที่ ๒๖ ประจำเดือนกันยายน ถึงฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๒๖ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๓๙) เดี๋ยวผมจะส่งให้ทางไปรษณีย์

Wisarut wrote:
ถ้าพี่ด่วนดำจะก็อปปี้มาให้ผมก็คงต้องจ่ายเป็นรูปที่ค้นได้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นการตอบแทนกระมัง ?


สำหรับคลังความรู้ของเราคนนี้ ผมยกให้ฟรีครับ ได้ประโยชน์กว่าเก็บไว้ที่บ้านผมเฉยๆ โดยไม่ขอรับอะไรใดๆ ทั้งสิ้น (ไม่ต้องส่งมานะครับ)

วารสาร " ข่าวสาร กฟผ. " ทางเขื่อนสิริกิติ์เขาแจกประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานเดิมของผม พออ่านกันเสร็จก็ทิ้งเป็นขยะแถวตู้หนังสือนั่นแหละครับ ผมเลยเก็บเฉพาะเรื่องมาไว้ดูเอง (แถมเอาเรื่องของเขามาลงในนี้ด้วยด้วยสิ) หุ..หุ..

ไปกันต่อนะครับ....


Last edited by black_express on 30/11/2010 10:05 am; edited 7 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/10/2006 2:52 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

หลังจากการทดลองการลากจูงขบวนรถจักรคันแรกไม่นานนัก นายช่างเอกซูลเซอร์มาปรารภกับข้าพเจ้าว่า สงครามที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่รู้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด การจอดรถจักรฯ ไว้เฉยๆ เป็นเวลานานอาจเกิดการเสียหายกับเครื่องไฟฟ้าต่างๆ ได้ จำเป็นต้องให้มีการขยับเขยื้อนเป็นครั้งคราว นอกจากนั้นต้องไปฝากเก็บไว้ที่อื่น ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการวางราง ค่าฝากเก็บ ฯลฯ

ข้าพเจ้าตัดบทไปเลยว่า เสียใจที่ทางเราไม่สามารถจะจ่ายอะไรให้ได้ เพราะในสัญญามีบอกไว้ว่า ซูลเซอร์จะต้องส่งรถจักรให้ถึงที่ด้วยความเรียบร้อย ต่อมาสืบได้ว่า เขาไปฝากไว้กับบริษัทที่เราไปทดลองการลากจูง ข้าพเจ้าได้ไปพบกับผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนั้น ซึ่งได้รับการยืนยันว่า บริษัทไม่ได้คิดค่าป่วยการอย่างใด เป็นการแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในระหว่างสงคราม รัฐบาลสวิสฯ บังคับให้มีรถจักรไอน้ำที่พร้อมที่จะปฏิบัติการทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพราะในเวลาปกติเขาใช้รถไฟฟ้า เมื่อเขาได้รถจักรดีเซลมาสำรอง เขาก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับรถจักรไอน้ำ

เพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ทำงานอยู่กับ บริษัท บราวน์ โบเวอร์รี่ ( Brown Boverey ) เป็นบริษัททำเครื่องไฟฟ้าใหญ่บริษัทหนึ่ง มาหาบอกว่าบริษัทอยากจะเชิญเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานของเขา ข้าพเจ้าจึงขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนี เป็นพระมหากรุณาธิคุณทรงรับสั่งว่า " หลวงประสิทธิ์ ฉันช่วย " ทั้งนี้ก็เพราะระหว่างนั้น พวกซูลเซอร์ทำท่าทีออกจะตึงๆ

สมเด็จพระราชชนนีพร้อมพระโอรสทั้งสองพระองค์ ตามเสด็จโดยคุณพระพหิทาฯ เอกอัครราชฑูต เสด็จฯ เยี่ยมโรงงาน นายบราวน์ เจ้าของต้อนรับนำเสด็จทอดพระเนตรกิจการ ได้แสดงฟ้าผ่า ( artificial lighting ) โดยใช้ voltage สูง และการเดินเครืองกังหันแก๊สเทอร์ไบน์ ซึ่งเป็นเครื่องประดิษฐ์ใหม่ให้ทอดพระเนตร บริษัทนี้ได้สร้างรถจักรใช้แก๊สเทอร์ไบน์หนึ่งคัน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง ถ้าสำเร็จอาจดีกว่าดีเซลไฟฟ้า

เกี่ยวกับเรื่องการทดลองรถและการเก็บรักษารถ ข้าพเจ้าได้รีบโทรเลขให้กรมฯ ทราบโดยละเอียด โดยพระบารมีของสมเด็จพระราชชนนี ได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากท่านเอกอัครราชฑูต โดยท่านจัดการส่งโทรเลขของข้าพเจ้าโดยใช้โค้ตผ่านกระทรวงต่างประเทศให้กรมรถไฟ

ขณะนั้น ข้าพเจ้ากำลังขัดสนเรื่องเงินเป็นอันมาก ก่อนสงครามโลกจะยุติเล็กน้อย ข้าพเจ้าได้ไปที่ซูลเซอร์ พบกับนายช่างคนหนึ่งซึ่งพึ่งกลับมาจากคาเซล ทักทายกันฉันเพื่อน ถามว่า ได้ทราบว่าคาเซลถูกอเมริกันทิ้งระเบิด เฮนเซลเป็นอย่างไรบ้าง เขาหัวเราะและตอบว่าจริง คาเซลถูกทิ้งระเบิดแต่โรงงานเฮนเซลไม่เป็นอะไรเลย คล้ายๆ กับว่าเป็นเจตนาของพวกอเมริกันเช่นนั้น

พอสงครามโลกยุติลง ก็ได้รับหนังสือจากซูลเซอร์แจ้งว่า การสั่งซื้อรถจักรของเราเป็นโมฆะเพราะโรงงานเฮนเซลถูกทิ้งระเบิด ส่งรถที่เหลืออีก 5 คันให้ไม่ได้ ต่อมาเมื่อได้คุยกับเพื่อนฝูงที่สันทัดกรณีได้ความว่า เนื่องจากความเสียหายอย่างหนักในยุโรป ได้มีการสั่งของจากโรงงานในสวิสฯ กันมากมาย จนคาดว่าในช่วงเวลา ๓ ปี จะรับอะไรอีกไม่ไหว ซูลเซอร์คงจะขายรถของเราได้ราคาอาจขึ้นไปเกือบเท่าตัวก็ได้ จึงหันมาเล่นงานเรา

คุณภาดาสวัสดิ์ พลางกูร นักเรียนกฎหมายคนหนึ่ง นำเรื่องไปหารือศาสตราจารย์ของเขาได้ความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลเราฟ้อง คงได้รถฯ แน่ เพราะเราได้อยู่ตรวจทดสอบเครื่องทุกชิ้นจนหมด นอกจากโครงตัวรถที่เฮนเซล คดีเช่นนี้เคยมีคดีตัวอย่างที่ทางศาลสวิสฯ ตัดสินให้กับผู้สั่งซื้อ ข้าพเจ้าจึงได้ทำหนังสือรายงานโดยละเอียดฝากไปกับท่านราชเลขาฯ ( มีหลักฐานเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ โดยเครื่องบินรบที่สหรัฐอเมริกาจัดถวายเมื่อ 5 ธันวาคม 2488 พวกเราที่ติดสงครามยังต้องรอต่อไป จนได้ทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการถวายบังคมไว้อาลัยกันที่พระตำหนักโลซานน์ จวบจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ กลับมาศึกษาต่อที่โลซานน์ จึงได้มีโอกาสเดินทางกลับบ้านโดยเรือของบริษัท อิสเอเซียติค จากมาลเซล ฝรั่งเศส โดยให้พวกเรามาก่อนแล้วจึงคิดเงินกับรัฐบาลภายหลัง เมื่อปี 2489

เมื่อกลับมาถึง เรื่องรถฯ รายนี้เงียบกริบ ไม่มีใครถามถึง ท่านราชเลขาฯ อุตส่าห์พาข้าพเจ้าไปพบหลวงธำรงฯ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่บ้านท่าน ได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังแต่ก็ยังเงียบอยู่อย่างเดิม จนวันหนึ่งขณะที่ทำงานในโรงงานมักกะสัน ก็ได้รับโทรศัพท์จากท่านปลัดกระทรวงว่า ท่านรัฐมนตรีต้องการพบหลวงเดชาติวงศ์ เป็นรัฐมนตรี ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอด ท่านบอกว่าจะขอให้ทางสหรัฐอเมริกาตรวจสอบดูว่า เฮนเซลถูกทิ้งระเบิดเสียหายจริงหรือไม่ จากนั้นไม่นานท่านรัฐมนตรีก็เสียชีวิต เมื่อ 1 กพ. 2490 โดยขบวนรถที่ท่านเดินทางตามทางรถไฟสายมรณะตกเหวที่แก่งคอยท่า เรื่องก็เงียบไปอีก

จนตอนที่ข้าพเจ้ากำลังจะย้ายไปอยู่การไฟฟ้า กรุงเทพฯ นายช่างกลเอก ( ช.ก.อ.) จึงมาบอกว่า เราจะได้รถจักรที่สั่งไว้คืน เขาเจรจากับเหนือหัว เป็นเวลาล่วงเลยมาราว ๓ ปีเศษ ข้าพเจ้าดีใจมากเพราะทราบว่า เนื่องจากยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ทางรัฐบาลสั่งจากยุโรปเป็นโมฆะกันไปหมด เช่นเรือลาดตระเวน นเรศวร และตากสิน ที่ราชนาวีสั่งจากอิตาลี มีนายทหารเรือชั้นสูงหลายคนไปควบคุม ก็เป็นโมฆะ ต้องเจรจาเพื่อจ่ายเงินปอนด์คืนมา

การไปปฏิบัติงานคราวนี้ไม่ราบรื่นเหมือนคราวที่แล้วเพราะขาดแคลนทางการเงิน ถ้าไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระราชชนนีทดรองให้ ก็ไม่รู้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร การติดต่อกับทางบ้านทางไปรษณีย์ถูกตัดขาดหมดเมื่อเยอรมันประกาศสงครามกับรัสเซีย ตลอดเวลาราว ๗ ปี ได้ขึ้นเงินเดือนหนึ่งขั้น แต่เกือบจะไม่ได้ คุณจรูญ สืบแสง บอกว่าเมื่อมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนกันครั้งนั้น ทางผู้บังคับบัญชาไม่พิจารณาให้ คงจะเห็นว่าเป็นเพราะได้ทั้งเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงอยู่แล้ว แต่ท่านเป็นผู้เห็นว่าควรพิจารณาให้ ส่วนผู้ทำงานร่วมกันได้ทราบข่าวสลดใจว่า ภรรยานายช่างเอกเฮนเซลถูกจับไป โดยพวกนาซีหาว่ามีเลือดยิวและเสียชีวิตในที่คุมขังพร้อมกับพวกยิวด้วยกัน

ทางฝ่ายซูลเซอร์ก็ต้องน่าเห็นใจที่เขาต้องดิ้นรนในเรื่องเงิน เพราะเขาไม่ได้รับจากทางเราเลย แต่เขาต้องจ่ายให้พนักงานของเขา รวมทั้งให้เออร์ลิคอน และเฮนเซล

ภายหลัง ทางซุลเซอร์ ติอต่อกับโรงงานที่เบลเยี่ยมให้ประกอบแคร่ให้แทนเฮนสเชล เนื่องจากโรงงานเฮนสเชล ติดภาระกิจประกอบรถจักรให้กองทัพสหรัฐที่ตั้งรัฐบาลทหาร ในเยอรมนีฝั่งตะวันตก
...................................

Witsarut wrote:
เรือหลวงที่สั่งต่อในประเทศอิตาลี แล้วสัญญาเป็นโมฆะ คือเรือหลวง " นเรศวร " และ เรือหลวง"ตากสิน" เพราะรัฐบาลอิตาลียึดไปใช้งานทั้งๆที่ประกอบแล้ว 50-60% ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ( เรียกว่า " เบี้ยว " กระมัง ? แต่มาตรวจสอบจริงๆ พบว่าเป็นเงื่อนไขในสัญญาการต่อเรือ ลาดตระเวณน้ำลึก ระวางขับน้ำลำละ 4,000 ตัน ที่ อนุญาตให้รัฐบาลอิตาลียึดไปใช้งานได้ตามความจำเป็นของสงคราม )


Last edited by black_express on 18/04/2011 10:36 pm; edited 10 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/10/2006 3:00 pm    Post subject: Reply with quote

ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งนายช่างกลเอก เพราะ ช.ก.อ.เดินทางไปต่างประเทศพร้อมคณะเพื่อจัดหาวัสดุต่างๆ ให้กรมรถไฟ ช.ก.อ.ขอให้ทบทวนสัญญาการสั่งซื้อรถจักรดีเซลเพื่อใช้กับรถด่วนสายใต้ แล้วส่งตามไปโดยเร็วที่สุด สาระสำคัญที่ต่อเติมไปคือ ได้ส่งแผนผังแสดงทางขึ้นลงทางโค้ง ฯลฯ ของทางรถไฟสายใต้ ทั้งนี้เพื่อลองให้ผู้สร้างหาขนาดกำลังของรถจักรฯ ที่เหมาะสม การสร้างให้ใช้ BSS (British Standard Specification)และเพื่อความโปร่งใส มีข้อความว่า ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาทันทีถ้าปรากฎว่า มีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่จะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

นอกจากนี้กิจการที่ได้ทำไปคือ การเปลี่ยนแปลงรถตู้บรรทุกเป็นรถโดยสารชั้น ๓ เพราะขาดแคลนรถโดยสาร พิจารณาการสั่งซื้อเครื่องมือกลให้ให้โรงงานมักกะสัน สำรวจรถบรรทุกของรถไฟมลายูที่ตกค้างอยู่หลังสงครามเพื่อส่งคืน ในโอกาสนี้ได้ทำการหาข้อมูลค่าใช้จ่ายการใช้รถจักรไอน้ำกับรถจักรดีเซล เพื่อดูว่าการลงทุนต่างกันอย่างใด ปรากฎว่าถึงแม้ราคารถจักรดีเซลจะสูงกว่ารถจักรไอน้ำ แต่เมื่อใช้ไปราว ๓ ปีเศษ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งราคาตัวรถจะเท่าๆ กัน ดังนั้นการใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้าแทนรถจักรไอน้ำ จึงเป็นการประหยัดโดยไม่มีปัญหา

เรื่องรถจักรดีเซลไฟฟ้าที่คณะเดินทางไปติดต่อมีการเสนอประมูลมา ๕ ราย เป็นบริษัทจากอเมริกา ๓ ราย จากอังกฤษ ๑ ราย และจากซูลเซอร์ ทางการมีคำสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้พิจารณารายการประมูลแต่ผู้เดียว

การตรวจรายการก็ต้องทำที่สำนักงานปลัดกระทรวง เอกสารต่างๆ เอาออกไปไม่ได้ บริษัท General Electric ของอเมริกัน และบริษัท English Electric ของอังกฤษ ได้ส่งผู้แทนมาติดต่อชี้แจงรายละเอียดและสังเกตการณ์ ในการพิจารณาได้ตัดซูลเซอร์ออกไปเพราะราคาสูงมาก ส่วนที่เหลือได้แก่บริษัท General Motors , English Electric , General Electric และ Davenport ได้ทำรายการเปรียบเทียบราคา น้ำหนัก กำลังลากจูงฯ ตามลำดับ ส่งเป็นรายงานลับเฉพาะ

Click on the image for full size

ทางการได้ตัดสินให้บริษัท Davenport ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด ทุกอย่างได้ดำเนินไปโดยความเรียบร้อย ไม่มีการทักท้วงอย่างใดจากผู้เสนอและคณะผู้พิจารณาในรายงานพิจารณาการประมูล

ข้าพเจ้าได้เสนอการเปรียบเทียบการใช้รถจักรไอน้ำกับรถจักรดีเซล ที่ข้าพเจ้าทำการตรวจสอบดังที่ได้เขียนไว้ข้างต้น เพราะเท่าที่เป็นมาเป็นเพียงรู้ๆ กันว่า รถจักรดีเซลประหยัดเชื้อเพลิง แต่ยังไม่มีตัวเลขว่าประหยัดได้เท่าใด ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงเป็นหัวใจในกำไรขาดทุนของการรถไฟ เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเงินเดือนและค่าบำรุงรักษาทั่วไปผนวกเข้าไปด้วย เพื่อเป็นข้อคิดสำหรับการที่จะสั่งรถจักรเข้ามาเพิ่มเติมต่อไปในเวลาข้างหน้า ในขณะนั้นทราบว่า ขบวนรถสินค้าสายโคราชโดยใช้รถจักรไอน้ำต้องไปตัดขบวนที่บ้านภาชี ทำให้มีการลักขโมยของอยู่เสมอ

Click on the image for full size

ข้าพเจ้าได้ให้ความเห็นว่าถ้าใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาด ๙๐๐ ร.ม. แทน จะทำการตลอดไปได้โดยไม่ต้องตัดขบวน แต่ทั้งนี้ต้องดูว่า ขอลากจูงจะทนไหวหรือไม่ เรื่อง “ขอ” เลยได้รับความสนใจจากฝ่ายช่างกลเป็นอันมาก ได้มีการตรวจสอบ และดูเหมือนได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีความแข็งแรงขึ้นจนใช้การได้ดี

การปฏิบัติราชการของข้าพเจ้าในกรมรถไฟหลวงได้สิ้นสุดลง เมื่อได้รับคำสั่งจากกระทรวงฯ ให้ไปทำงานเป็น รองผู้จัดการทั่วไปของการไฟฟ้ากรุงเทพฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทยขอมาเป็นทางการ ให้รับบำเหน็จทดแทนที่สำนักปลัดกระทรวงคมนาคม กรมรถไฟฯ ได้ให้ใบเบิกทางตลอดชีวิตเป็นบำเหน็จ ให้เดินทางได้ตลอดทางทุกสายโดยไม่จำกัดครั้งชั้นที่หนึ่ง และผู้ติดตามสองคนเดินทางชั้นที่สาม


Last edited by black_express on 30/11/2010 10:42 pm; edited 5 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 30/10/2006 3:20 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

สัมปทานของ บริษัทไฟฟ้าสยาม จำกัด ได้สิ้นสุดลง เมื่อ 31 ธันวาคม 2492 บริษัทจึงคืนกิจการทั้งหมดให้รัฐบาล เมื่อทางรัฐบาลรับมาแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2493 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น การไฟฟ้ากรุงเทพฯ นายช่างชาวต่างประเทศของบริษัทกับข้าพเจ้ารู้จักกันดีตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่กรมรถไฟ

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงก็พบนายโรงเล่ นายช่างใหญ่รับรองชี้แจงกิจการ และให้เข้านั่งในที่ทำงานของเขาเพื่อทำงานต่อไป

ที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าวัดเลียบ ได้พบนายช่างที่ควบคุม ปรากฎว่าเป็นผู้ที่เคยทำงานในบังคับบัญชาของข้าพเจ้า ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นนายช่างโทรเลข โทรศัพท์และอาณัติสัญญาณ ได้ตรวจดูโดยทั่วไปเข้าใจดี เพราะได้เคยศึกษาและปฏิบัติมาแล้ว

เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องหนึ่ง ท่านผู้จัดการทั่วไปได้ให้ข้าพเจ้ารีบเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อหาซื้อเครื่องใหม่มาทดแทน

เพื่อความโปร่งใส ข้าพเจ้าได้เชิญข้าราชการไทยที่อยู่ในญี่ปุ่นขณะนั้นมาช่วยเป็นสักขีพยานในการพิจารณาข้อเสนอของบริษัทต่างๆ ด้วย โชคดีที่บริษัทหนึ่งมีเครื่องและขนาดยี่ห้อเดียวกันกับที่เราใช้ พร้อมที่จะส่งได้ทันที ได้ตกลงราคากันโดยยืนยันว่าไม่มีคนกลาง เป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างการไฟฟ้ากรุงเทพฯ กับบริษัท

ในการไปญี่ปุ่นครั้งนี้ ได้มีโอกาสดูโรงงานหลายแห่ง โรงงานฮิตาชิ , โรงงานทำหม้อน้ำที่นางาซากิ , โรงงานทำสายไฟฟ้าที่นิโก ฯลฯ พบว่าญึ่ปุ่นซื้อลิขสิทธิ์มาทำจากยุโรปและอเมริกา เช่น หลอดไฟฟ้าจากเวสติงเฮาส์ , เครื่องหม้อน้ำจาก แมบค๊อก วิลค๊อก และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากสวีเดน เป็นต้น ขณะนั้น ญึ่ปุ่นยังอยู่ใต้นายพลอเมริกันแมคอาเธอร์ ยังถูกห้ามทำอุตสาหกรรมขนาดหนัก ค่ากินอยู่ยังไม่แพง เมื่อกลับมา ได้มีการนำเรื่องซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ข้าพเจ้าดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ จำได้ว่าคุณเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นผู้อ่านรายงาน ในสุดท้ายได้ยินท่านพูดดังๆ ว่า ราคาถูกกว่างบตั้งล้าน แต่เมื่อกลับมาถึงที่ๆ ทำการ กลับพบว่าท่านผู้จัดการฯ ไม่ค่อยพอใจนัก ท่านตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการต่อไปจนเสร็จ โดยที่ข้าพเจ้าไม่ต้องไปเกี่ยวข้องด้วย

ในระหว่างที่มีความคลุมเครืออยู่นั้น วันหนึ่ง ท่านผู้จัดการฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าว่า “คุณหลวง ท่านจอมพลให้คุณหลวงพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ส่วนสายส่งออกจำหน่ายผมจะให้นายเล็กๆ เขามาช่วย” ตามความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้น จากควันดำที่ลอยไปตกลงมารบกวนบริเวณใกล้เคียง จากเชื้อเพลิงที่ไหม้ไม่หมดปนมากับขี้เถ้า จากความไม่สะดวกในการลำเลียงเชื้อเพลิง โดยไม่ต้องใช้เครื่องวัดตรวจสอบ ก็คงจะลงความเห็นได้ว่าถึงเวลาที่จะต้องลงมือทำอะไรกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ดำเนินการวางโครงการโดยอาศัยข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น เป็นพื้นฐานในการพิจารณา

ท่านผู้จัดการได้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาโครงการดังกล่าว โดยเชิญไม่เฉพาะแต่กรรมการ แต่ได้เชิญคนนอก เช่น อธิบดีกรมต่างๆ ฯลฯ มาด้วย เมื่อเปิดประชุม ได้มีการอ่านโครงการ

ในระหว่างนั้นได้มีผู้หนึ่งถามว่าจะเอาเชื้อเพลิงมาจากไหน ท่านประธานได้ทิ้งโครงการลงบนโต๊ะทันที พูดเป็นทำนองว่าเอะอะก็จะให้ซื้อกันใหม่ จึงปิดประชุมโดยปริยาย ผู้ที่มาประชุมต่างพากันกลับโดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ คงมีแต่ พล.ต.กัลย์ กุญชร ณ อยุธยา ท่านเดียวเดินมาหาข้าพเจ้า ขอโครงการที่ที้งอยู่ไปดู ข้าพเจ้าไม่ขัดข้อง เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอันยุติกันไปแล้ว

หลายเดือนต่อมาในการประชุมคณะกรรมการประจำเดือน มี พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน รมต.มหาดไทย เป็นประธาน ได้รับรายงานว่า ห้างดีทแฮล์ม จะงดการส่งถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิง เพราะเขาไม่ได้รับเงินที่ค้างชำระอยู่ นอกจากนั้นราคาเชื้อเพลิงก็แพงขึ้นมาก การประกอบการเริ่มขาดทุน

กรรมการท่านหนึ่งได้เสนอโครงการที่ข้าพเจ้าเคยทำขึ้น ท่านประธานเห็นด้วย สั่งให้ดำเนินการทันที กับมีคำสั่งให้เลขานุการ โทรเลขเรียกท่านผู้จัดการฯ ( หลวงบุรกรรมโกวิท ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาเทศบาลในกระทรวงมหาดไทยด้วย) ที่กำลังอยู่ต่างประเทศ กลับทันที

ข้าพเจ้าได้ไปชี้แจงแก่ท่าน รมต.ว่า โครงการที่ข้าพเจ้าทำขึ้นนั้น ยังไม่เคยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันเลยเพื่อความรอบคอบถ้าจะลองส่งเรื่องให้ USOM ( USAID ขณะนั้น ) สอบดูว่ามีข้อควรแก้ไขอย่างใดบ้าง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็ก มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ท่าน รมต.เห็นด้วย แต่การที่จะส่งเรื่องไปในทางปฏิบัติ จะต้องขอให้หลวงเดชสหกรณ์ อธิบดีกรมวิเทศสหการ เป็นผู้ดำเนินการ หลวงเดชฯ ท่านว่า ท่านจะทำให้ได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะถ้าท่านทำไปเอง ถ้าคุณหลวงบุรกรรมโกวิท กลับมาชี้แจงกับท่านจอมพล ท่านจอมพลไม่เห็นด้วย ท่านไม่รู้ว่าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ท่าน รมต. ตกลงทำหนังสือกราบเรียนท่านจอมพล

เข้าใจว่าเรื่องคงดำเนินต่อไปจนถึง USOM เพราะนายช่างของเขามาพบข้าพเจ้าด้วยความตื่นเต้น มาคุยกับข้าพเจ้าว่า นอกจากการสูญเสียในเรื่องเชื้อเพลิง , การสูญเสียในสาย ( Line Loss ) ราวร้อยละ ๒๐ เขาว่าการตรวจสอบทาง USOM จะหาผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนเรื่องเงินทองก็จะช่วยเจรจากับธนาคารโลก ซึ่งคงจะได้โดยไม่มีปัญหา การแพร่ข่าวเป็นไปโดยรวดเร็ว หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวถึงการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

เมื่อท่านผู้จัดการฯ กลับมา ได้เสนอท่านจอมพลว่า เรื่องโครงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ควรผ่านคณะกรรมการพลังงาน ทราบว่ามีผู้เสนอว่าจะทำการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าที่มีอยู่นี้ให้ดีขึ้นได้ ท่านจอมพลจึงสั่งให้ระงับโครงการที่กำลังเป็นปัญหา

ผลกระทบต่อเรื่องข้างบน หลวงเดชสหกรณ์ได้พูดกับข้าพเจ้าว่า “ ผมต้องลาออก เพราะเขาหาว่าผมยุ่งกับเรื่องนี้ แต่หลวงประสิทธิฯ เขาว่าเขาจะไม่ทำอะไร ” ท่านลาออกจากกรมที่ท่านเป็นอธิบดี แต่ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ส่วน พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ถูกย้ายไปเป็น รมต. กระทรวงอุตสาหกรรม

Click on the image for full size

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะออกจากการไฟฟ้ากรุงเทพฯ นายโชลท์ นายห้างอินเตอร์แนทชั่นนัล เอนยีเนียร์ริ่ง (ปัจจุบัน คือ IEC) กลับมาจากเมืองนอกได้มาเยี่ยมที่ ๆ ทำงาน เขาสนใจเรื่องโครงการไฟฟ้าที่ข้าพเจ้าทำขึ้น เขาว่าสำหรับเรื่องเงินทอง เขาเชื่อว่าจะช่วยพูดให้กับธนาคารโลกได้ เขาขอเรื่องราวไปดู ข้าพเจ้าก็ให้ไปโดยเห็นว่า เป็นข้อมูลทางเทคนิค และไม่ได้ใช้แล้วและไม่ใช่ความลับอะไร

ต่อจากนั้นไม่นาน ก็เกิดการปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านผู้จัดการฯ ต้องพ้นหน้าที่ไป ในเวลาต่อมาก็ได้มีการสร้างโรงไฟฟ้าที่บางกรวย เชิงสะพานพระรามหก โดยมีนายโชลท์ เป็นผู้แทนบริษัทที่ขายเครื่องให้ ในหลักการดูคล้ายคลึงกับโครงการของข้าพเจ้ามาก ส่วนกำลังผลิตสูงกว่าข้าพเจ้าทำไว้เล็กน้อย เป็นคำตอบดีที่สุดสำหรับผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าท่านจะสนใจหรือไม่ก็ตาม.

...................................

จบบทความของคุณหลวงประสิทธิกลมัย เพียงเท่านี้ครับ แต่พอเดาได้อย่างหนึ่งว่า ผู้จัดการบริษัทไฟฟ้ากรุงเทพฯ (คุณหลวงบุรกรรมโกวิท) ขณะนั้น เป็นคนสนิทของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงมีอิทธิพลพอสมควรที่จะยับยั้งโครงการที่ตนไม่เห็นพ้อง หรือ สามารถให้ข้อมูลกับผู้ใหญ่ระดับสูงได้โดยสะดวก น่าเชื่อถือ

แต่เนื่องจากท่านผู้เขียน ได้มีมิตรสหายชาวต่างประเทศระดับคีย์แมนในวงการไฟฟ้ามากพอสมควร โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ายันฮีดังกล่าว ที่เชิงสะพานพระรามหก โดยผ่านทางที่ปรึกษาธนาคารโลก และสภาพัฒน์ฯ ถึงสำเร็จได้โดยง่าย และยังผลไปถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล ตลอดจนโครงการที่ติดตามมาอีกหลายโครงการ

หากใครสงสัยว่าทำไม ? ถึงต้องเลิกโรงไฟฟ้าวัดเลียบ เมื่อปี 2508 เพราะนอกจากกำลังจ่ายไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งานของชาวพระนครค่อนเมือง จนถึงต้องระงับการขอใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านแล้ว ยังต้องดับไฟเป็นเขตๆ หมุนเวียนกันไปอีกด้วย แต่ไฟฟ้าตามบ้านสมัยนั้นยังริบหรี่ ติดๆ ดับๆ ตลอดเวลา แถมมีปัญหาเรื่องเขม่าควันจากเผาถ่านหินและแกลบซึ่งลอยจากโรงไฟฟ้าที่ปลิวไปตกตามบ้านเรือนชาวบ้านติดตามมาอีก ถ้าจะเปรียบเทียบ คงเหมือนกับเอาโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ไปตั้งอยู่แถวจักรวรรดิ - พาหุรัดยังไงยังงั้น

แต่ฝั่งธนบุรี จะเป็นโรงไฟฟ้าดีเซล ผมเคยเห็นแว่บๆ อยู่แถวบางยี่เรือ - สี่แยกท่าพระนี่แหละครับ เข้าใจว่ากลายเป็นสำนักงานไฟฟ้านครหลวง เขตธนบุรี ในปัจจุบัน Laughing

Wisarut wrote:
ครับ, โรงไฟฟ้าวัดเลียบนี่ปิดไปเมื่อปี 2508 หนะ และผลิตได้สูงสุดก็ 31 ธันวาคม 2501

จะว่าไปแล้วที่เลิกรถรางทั้งที่กรุงเทพและลพบุรี และ การเลิกโรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน ก็เพราะกรณี การไฟฟ้ากรุงเทพ ที่สนิทสนมกะท่านผู้นำแต่เป็นไม้เบื่อไม้เมากะท่านจอมพลผ้าขาวม้าแดงเป็นแน่แท้

ครับ สมัยหลังสงครามโลกใหม่ๆ โรงไฟฟ้าวัดเลียบต้องปล่อยกระแสไฟแบบวันเว้นวันหมุนเวียนกันไประหว่างฝั่งพระนครและธนบุรี เพราะโรงไฟฟ้าสามเสนโดนระเบิดพินาศ และกว่าจะเริ่มมีการซ่อมแซมโรงไฟฟ้าสามเสนด้วยเงินช่วยเหลือจากอเมริกา ( ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของ ยีอี. มาแทนซากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เอ อี จี.จากเยอรมนี ) ก็ปี 2494

โรงไฟฟ้าวัดเลียบยังโชคดี ที่ยังมีเครื่องมือที่ยังไม่แหลกไปพร้อมกะวัดเลียบที่โดนเทกระจาดพร้อมกะโรงไฟฟ้าสามเสนเมื่อวันเนาสงกรานต์ 14 เมษายน 2488 เลยฟื้นตัวมาให้บริการในอีก 3 เดือนต่อมา ในช่วงเวลานั้นต้องใช้ไฟฟ้าจากเรือดำน้ำ มาขับรถรางสายหลักเมือง - ถนนตก พร้อมต่อรถม้าแทนรถรางไฟฟ้าให้ด้วย เวลารถรางไม่เดินเพราะกำลังไฟฟ้าไม่พอ


เข้าใจว่าเครื่องบินเทกระจาดระเบิดผิดเป้าหมาย แทนที่จะเป็นโรงไฟฟ้า กลายเป็นวัดเลียบเสียนี่

Wisarut wrote:
ไม่หรอกครับ, กองทัพอเมริกันเทกระจาดแบบปูพรมทั้งโรงไฟฟ้าวัดเลียบ และ วิหารวัดเลียบก็แหลกไปด้วย มีแต่อาคารด้านหน้า และพระปรางค์วัดเลีคยบที่รอดจากการเทกระจาดระเบิดอเมริกันหงะ


nathapong wrote:
ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ พี่ตึ๋ง ที่เริ่มนำเรื่องดีๆ มานำเสนอกัน

คงสักพักนะพี่ ค่อยเรียบเรียง ในรูปแบบ pdf file นะครับ


จะรอดูครับ ต้นฉบับไม่ทราบว่าทางคุณวิศรุตได้รับหรือยัง ?

Wisarut wrote:
ได้รับต้นฉบับแล้วครับ

ตอนนี้ที่มาบตาพุด และ แหลมฉบังขาดน้ำรุนแรงขนาดส่งเรือสูบเอาน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไปใช้เลยเทียว แถม ปตท.เองก็ต่อท่อน้ำสูบน้ำไปใช้ในโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกแก๊สเสียด้วยสิ


บริษัท East Water เป็นวิสาหกิจในเครือการประปาภูมิภาคครับ แต่ใช้น้ำจากอ่างชลประทานหนองค้อ , หนองปลาไหล , ดอกกราย , บางพระ

ฝั่งทะเลตะวันออกเนี่ยขาดแคลนน้ำเป็นประจำ ใช้น้ำมากทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว

ต้องรอโครงการผันน้ำจากเขื่อนสตรึงนัม จากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ( ถ้าแล้วเสร็จนะครับ ) อยู่ถัดเขาบรรทัดฝั่งตรงข้าม อ.คลองใหญ่ จ.ตราด แค่นั้นเอง

tongchit wrote:
สุดยอดของแหล่งความรู้ เลยครับขอคาราวะด้วยใจจรงครับ คุณด่วนดำ ขออนุญาตเรียกว่าพี่ดีกว่าครับ


ยังไม่แก่ขนาดนั้นนะครับ ต้องขอร้อง..อย่าเพิ่งเรียกผมว่าพี่เลย หุ..หุ..

nathapong wrote:
black_express บันทึก:
ยังไม่แก่ขนาดนั้นนะครับ ต้องขอร้อง..อย่าเพิ่งเรียกผมว่าพี่เลย

หุ..หุ..

งุงิ.... แต่เวลาที่ร้านเส่ย ครายหนอที่ สมิง.... เขาเรียกป๋า.ขา.. หุหุ...


Wisarut wrote:
แต่ที่ร้านเส่ยนั้นถ้าใส่ชุดหูแมว พร้อมชุดเหมด จะวิเศษมากเลย


nathapong wrote:
black_express บันทึก:
บริษัท East Water เป็นวิสาหกิจในเครือการประปาฯ ครับ แต่ใช้น้ำจากอ่างชลประทานหนองค้อ , หนองปลาไหล , ดอกกราย , บางพระ

ฝั่งทะเลตะวันออกเนี่ยขาดแคลนน้ำเป็นประจำ ใช้น้ำมากทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว

ต้องรอโครงการผันน้ำจากเขื่อนสตรึงนัม จากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ( ถ้าแล้วเสร็จนะครับ ) อยู่ถัดเขาบรรทัดฝั่งตรงข้าม อ.คลองใหญ่ จ.ตราด แค่นั้นเอง


อิอิ งานนี้ คุณหมูของเราโบนัสถ้าจะดีหนะ ใช้ 12.7 กะ 15.9 ตรึม เท่าที่ทราบถ้าเอากันจริง 7 เสือโรงท่อ คงจะใช้หนี้ที่เป็น NPL หมดซะกะที

เฮ้อ...ที่นี่ประเทศไทย


Last edited by black_express on 30/11/2010 10:40 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43772
Location: NECTEC

PostPosted: 11/12/2007 9:57 am    Post subject: Reply with quote

รถจักรฟริกซ์ 601 ถ่ายโดย คุณ Bob Rail Asia ถ่ายปี 2529

http://img503.imageshack.us/img503/315/4220002es5.jpg

http://img508.imageshack.us/img508/5558/4220001hd8.jpg
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page 1, 2  Next
Page 1 of 2

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©