View previous topic :: View next topic |
Author |
Message |
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 11:04 am Post subject: สะพานปรมินทร์ |
|
|
สวัสดีครับ....เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสลาพักผ่อนกลับไปบ้านอุตรดิตถ์ ฟังหนุ่ม maxell กับ คุณบอย เล่าผ่านมือถือ ระหว่างเดินทางไปเที่ยวหนองคาย คิดไปคิดมา ใจชักอยู่ไม่สุขแล้วสิ
จังหวะเหมาะ ได้การละ ผมขับรถออกจากบ้าน ไปทาง อ.พิชัย เลี้ยวซ้ายก่อนถึงทางรถไฟสายสวรรคโลก ไปจอดที่สวนสาธารณะใต้สะพานปรมินทร์ ต.บ้านดารา อ.พิชัย
สภาพพื้นที่ใต้สะพานก่อนการปรับปรุง
สภาพพื้นที่เดิมก่อนการปรับปรุง
สภาพพื้นที่ใต้สะพานในปัจจุบัน
สำหรับสะพานปรมินทร์แห่งนี้ ผมเคยเก็บภาพมาหนหนึ่ง คราวไปสำรวจเส้นทางรถไฟ สู่สวรรคโลก ลองดูเปรียบเทียบกันนิดหนึ่ง กับสภาพไร่ถั่วดั้งเดิมใต้สะพาน และทาง อ.พิชัย ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ กลายเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม สะอาดตา เมื่อปี พ.ศ.2549 นี่แหละ
ตรงนี้แหละครับ ที่ผมคิดว่า น่าจะมาเยี่ยมชม เก็บภาพมาฝากกันหน่อย
Last edited by black_express on 18/01/2007 3:49 pm; edited 3 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 11:31 am Post subject: |
|
|
เรามาดูประวัติ ความเป็นมา และข้อมูลที่น่าสนใจของสะพานปรมินทร์ กันสักนิด ดีไหมครับ ?
ในการสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือมุ่งขึ้นสู่เชียงใหม่ มีแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดที่ทางรถไฟจะต้องตัดข้ามอยู่ 1 แห่ง คือ แม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่านตอนที่ทางรถไฟจะต้องข้ามนี้ กว้างประมาณ 250 เมตร อยู่ใกล้กับตำบล บ้านดารา แขวงเมืองพิไชย มณฑลพิษณุโลก ดังนั้น จึงได้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้น ที่บริเวณแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.2449
ลักษณะสะพาน เป็น สะพานแบบคานยื่น ( Cantilever ) ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 3 ช่วง และมีสะพานช่วงธรรมดา แขวนห้อยอยู่ที่ตรงกลางของช่วงกลาง ในส่วนของสะพานช่วงริมฝั่งทั้งสองข้าง ยาวช่วงละ 80.60 เมตร ช่วงกลางยาว 101.20 เมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 262.40 เมตร
บนสะพานมีทางรถไฟ 1 เส้นทาง ขนาดกว้าง 1.435 เมตร ระดับสันรางสูงกว่าระดับน้ำทะเล 98.51 เมตร ( อย่าลืมนะครับว่า สมัยนั้น ความกว้างของรางสายเหนือ และสายนครราชสีมา ยังใช้ขนาดมาตรฐานยุโรปอยู่ )
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ประกอบพระราชพิธีเปิดสะพาน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2452 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า
สะพานปรมินทร์
Last edited by black_express on 07/11/2007 12:53 pm; edited 4 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 11:48 am Post subject: |
|
|
จนกระทั่ง ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี พ.ศ.2485 - 2488
ใต้ป้ายชื่อสะพานเป็นเปลือกลูกระเบิดของแท้ Made in USA สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
สะพานปรมินทร์ได้รับความเสียหายมาก เนื่องจากภัยทางอากาศ โดยฝูงบินของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งตั้งฐานบินอยู่ที่ เมืองกัลกัตตา อินเดียภายใต้การปกครองของจักรภพบริเตนใหญ่ ระดมทิ้งระเบิดทำลายในช่วงปลายสงคราม จนไม่สามารถซ่อมให้ใช้การได้ เป็นเหตุให้การเดินรถหยุดชะงัก ผ่านไปมาไม่ได้ จำเป็นต้องทำทางแยกจากทางเดิม ในบริเวณใกล้เคียงออกไป แล้วสร้างสะพานชั่วคราวขึ้นแทนตัวสะพานเดิม ใช้งานไปพลางก่อน
สำหรับเรื่องราวสีสันของเหตุการณ์ ช่วงสะพานปรมินทร์ถูกทิ้งระเบิด ต้องไปดูในกระทู้หัวข้อ เรื่องจากประวัติศาสตร์ : ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์ ที่นำมา link ให้อ่านนะครับ
จนเมื่อภาวะสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องเร่งซ่อมสร้าง และหน่วยทหารสหประชาชาติ ได้ให้ความช่วยเหลือ ซ่อมสร้างสะพานชั่วคราวให้ใช้แทนสะพานที่ถูกระเบิดทำลายเสียหายเป็นบางแห่ง ภายในระยะเวลา 6 เดือน หลังจากสงครามโลกได้สิ้นสุดลง ได้เปิดการเดินรถเป็นปกติในทางทุกสาย
ยกเว้นสะพานพระรามหก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลบางซ่อน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร กับสะพานจุลจอมเกล้า ข้ามแม่น้ำตาปี ที่ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้วิธีลำเลียงรถจักร รถพ่วง ผ่านแพขนานยนต์
.......................................
สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับสะพานปรมินทร์ช่วงเวลาที่สร้างสะพานชั่วคราวนั้น ขออนุญาตนำบทความจากหนังสือ " งานฉลองรถไฟหลวงครบ ๕๐ ปี " มาลงแทรกเพื่อใช้ศึกษาเป็นข้อมูลต่อยอด ณ ที่นี้นะครับ...
.......................................
สะพานปรมินทร
นายเจษฎา พัตระปาล
สารวัตรบำรุงทางบ้านดารา
กองบำรุงทางและสถานที่ ฝ่ายการช่างโยธา กรมรถไฟ
สะพานปรมินทร ซึ่งสร้างข้ามแม่น้ำน่านก่อนถึงชุมทางบ้านดาราในเขตต์จังหวัดอุตรดิตถ์ นับได้ว่า เป็นสะพานรถไฟใหญ่ที่สุดของทางสายเหนือ และเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของการคมนาคมในภาคนั้น สะพานนี้มีแบบคล้ายสะพานพระราม ๖ คือ เป็นสะพานแบบคานยื่นผสมกับสะพานธรรมดาซึ่งแขวนหิ้วอยู่ตรงกลาง ทำให้ช่วงกลางของสะพานมีโอกาสกว้างขึ้น ช่วงกลางวัดจากศูนย์กลางของตะม่อกลางน้ำทั้งสอง ๑๐๑.๒๐ เมตร สองฝั่งมีตะม่อริมฝั่ง วัดจากตะม่อกลางน้ำข้างละ ๘๐.๖๐ เมตร รวมทั้งหมดยาว ๒๖๒.๔๐ เมตร สันรางสูงจากระดับน้ำทะเล ๙๘.๕๑ เมตร ลงมือสร้างเมื่อปี ร.ศ. ๑๒๘ ( พุทธศักราช ๒๔๔๙ ) แล้วเสร็จ และประกอบพระราชพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๘ ( พุทธศักราช ๒๔๕๒ )
ในระหว่างที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงคราม สะพานปรมินทร ที่บ้านดารา ได้รับความเสียหายเนื่องจากภัยทางอากาศมาก จนไม่อาจซ่อมได้ เป็นเหตุให้รถผ่านไปมาไม่ได้ จำเป็นต้องทำทางแยกออกจากทางเดิมในบริเวณที่ใกล้เคียงนั้นออกไป แล้วสร้างสะพานชั่วคราวขึ้นแทนตัวสะพานถาวร โดยแยกเข้ารับกันทั้งสองด้าน คือ ทางด้านใต้แยกตรง ก.ม. ๔๕๕.๕๘๑ ก่อนถึงชุมทางบ้านดารา ทางด้านเหนือแยกออกจากสายสวรรคโลกตรง ก.ม. ๔๖๐.๘๔๘ ถึงแม้กระนั้น ตัวสะพานชั่วคราวที่สร้างด้วยไม้ ก็ไม่สามารถหลีกพ้นภัยทางอากาศได้ ในที่สุดก็ได้พยายามซ่อมสะพานปรมินทรโดยสร้างตับธรณีไม้ทับบนโครงเหล็กซึ่งยุบหักลง แล้ววางรางเพื่อให้รถผ่าน การซ่อมนี้ได้เริ่มกระทำตั้งแต่เดือน มีนาคม ๒๔๘๘ จนถึงวันที่ ๗ กันยายน ๒๔๘๘ จึงเสร็จ รถขนาดเบาแล่นผ่านไปมาได้แต่ไม่สู้ได้ผลนัก และเนื่องจากโครงสร้างทั้งเหล็กและไม้รวมกันอยู่มีระยะถี่มาก สวะที่ลอยตามกระแสน้ำมาปะทะอยู่ตามบริเวณสะพานแน่นมาก สะพานไม่อาจต้านทานแรงปะทะของกระแสน้ำที่ไหลแรงและเชี่ยวได้ จึงพังลงหมดทั้งสะพานตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๘
ภายหลังเมื่อการสงครามผ่านพ้นไป และสถานการณ์ของประเทศกลับคืนเข้าสู่สันติภาพแล้ว การเลือกแนวศูนย์กลางที่จะสร้างสะพานชั่วคราวในครั้งหลังสุดนี้ ตกลงเลือกใช้ที่ที่ห่างจากศูนย์กลางเก่าไปทางเหนือ ๘ เมตร โดยประสงค์ให้ไกลจากซากสะพานชั่วคราวเดิมที่พังเกะกะกีดขวางอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินไปโดยรวดเร็ว การสร้างสะพานชั่วคราวได้ลงมือกระทำเป็นชั้นๆ คือ ขั้นแรกต้องทำนั่งร้านก่อนเพื่อไว้สำหรับเดินเครื่องปั้นจั่นตอกเข็มไอน้ำ ปั้นจั่นนี้หนักไม่เกิน ๓๐ ตัน ใช้เข็มชนิดสั้นที่มีอยู่แล้วตอกด้วยเครื่องตอกเข็มขนาดเบาบรรทุกลงในเรือ ตอกเป็นระยะติดต่อกันไปตลอดท้องแม่น้ำตามแนวสะพานที่จะสร้าง ตับหนึ่งใช้เข็ม ๓ ต้น ตัดหัวเข็มให้ได้ระดับแล้วใส่ขื่อ ระยะต้นห่างกัน ๔ เมตร ขื่อนั้นใช้เสาเข็มชนิดเดียวกันยาว ๖ เมตรเศษ แต่งหน้าวางรับเสาเข็มแล้วยึดด้วยเหล็กก้ามปู บนขื่อใช้ลูกบวบรางเหล็กพาดเป็นตงรองรับเครื่องปั้นจั่นอีกที เวลาทำงานเลื่อนปั้นจั่นไปบนลูกบวบรางเหล็ก จนตรงจุดศูนย์กลางของเสาเข็มใหม่ที่กะไว้ จึงตอกเข็มได้ตามความต้องการ การเลื่อนเครื่องปั้นจั่นจากตลิ่งสูงลงไปสู่ระดับนั่งร้านนั้น ใช้ก่อคอกหมูรับ และถอดลดหลั่นลงไปจนถึงระดับที่จะเดินเข้าบนนั่งร้านได้ เข็มต้นแรกตอกเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๙ เข็มหมู่หนึ่งๆ หมายถึงตะม่อกลางน้ำตะม่อหนึ่ง มีทั้งหมด ๑๑ ตะม่อด้วยกัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเข็มต้นหนึ่ง ๓๐ ซ.ม. ใช้ ๑๘ ต้น แบ่งออกเป็นต้น ห่างกัน ๑.๕๐ เมตร หมู่ละ ๓ ตับ ๆ ละ ๖ ต้น ระยะตะม่อห่างกัน ๑๗.๕๕ เมตร ทั้งนี้เพื่อใช้กับสะพานแบบวอเร็นทรัส ช่วงยาว ๑๗.๔๐ เมตร เข็มต้นหนึ่ง ๆ ยาวตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๑๘ เมตร ( เข็มต่อ ) ตอกด้วยเครื่องปั้นจั่นไอน้ำนี้ โดยคำนวณให้รับความต้านทานต้นละอย่างน้อย ๑๐ ตัน ส่วนที่เป็นดินอ่อน คือ ทางฝั่งตลิ่งด้านที่กระแสน้ำกัดเข้าไปใหม่ เข็มจมลงในดินได้ถึง ๑๖ เมตร แต่ส่วนที่เป็นดินแข็งตรงกลางลำน้ำ เข็มจมลงในดินได้ ๘ เมตร
ตอกเข็มเสร็จแล้ว ตัดหัวเข็มส่วนที่ซ้ำออกเสียในระดับเดียวกัน แต่งเป็นเดือยเพื่อวางธรณี บนธรณีแต่งเป็นที่ใส่เดือยให้ตรงกับเสาเข็ม เพื่อใส่เสาตั้งต่อตะม่อให้สูงขึ้นอีกทอดหนึ่ง ที่ปลายเสาทุกต้นทำเดือยแล้วใส่เหล็กประกับเพื่อยึดหัวเข็มธรณีและเสาให้อยู่ในเส้นแรงเดียวกัน ที่ปลายเสาก็ทำเดือยเพื่อวางขื่อและยึดด้วยเหล็กประกับดุจกัน บนขื่อของหมู่ตะม่อหนึ่งซึ่งมีขื่อทำหน้าที่เป็นคานนี้ ก่อคอกหมูด้วยไม้เหลี่ยมขนาดหน้า ๓๐ x ๓๐ x ๔๐๐ ซ.ม. อีกต่อหนึ่ง เพื่อให้มีการเฉลี่ยน้ำหนักลงบนตะม่อให้สม่ำเสมอกัน ทุกๆ ชั้นยึดด้วยเหล็กประกับ คั่นสุดท้ายก็คือประกอบโครงเหล็กเข้ารูปวอเร็นทรัสเพื่อนำเข้าวางบนตะม่อ วอเร็นทรัสประกอบรอไว้บนบกแล้วแผงหนึ่งยาว ๑๗.๔๐ เมตร เคลื่อนเข้านั่งบนตะม่อได้โดยก่อคอกหมูบนรางลูกบวบของนั่งร้านขึ้นมารองรับรางซึ่งใช้เป็นสะพานเคลื่อนแผงของคู่ตะม่อนั้น และตั้งเสาชิงช้าคร่อมขึ้นทั้งสองตะม่อ เสาชิงช้านี้ต้องโยงยึดด้วยเชือกลวดให้มั่นคง คานของเสาชิงช้าใช้รางเหล็กเป็นคานเพื่อรับน้ำหนักมากๆ ได้ ติดรอกแม่แรงไว้ตรงกลางคานเพื่อคล้องปลายทั้งสองของแผงหย่อนลงบนที่รองรับบนตะม่อ เมื่อเคลื่อนแผงแรกเข้าที่ได้แล้ว การทำแผงต่อๆ ไปของช่วงนั้นก็สะดวกและเร็วขึ้นโดยยึดอาศัยแผงแรกเป็นกำลัง ช่วงหนึ่ง ๆ ใช้ ๖ แผง สำหรับช่วง ๑๗ เมตร ถ้าช่วงแคบเช่น ๙ เมตร หรือต่ำกว่านี้ อาจจะใช้ ๔ แผง หรือต่ำกว่าตามลำดับ การปฏิบัติงานในการทำแผงสั้นเข้าวางบนตะม่อนั้นง่ายกว่าทำแผงยาววาง เมื่อได้ใส่แผงสะพานครบทุกช่วงแล้ว ต่อไปก็คือวางไม้หมอนเหล็กทับบนแผงเพื่อวางราง ไม้หมอนเหล็กใช้กับสะพานเช่นนี้ได้ประโยชน์ในการเฉลี่ยน้ำหนักลงบนแผงเหล็กได้ดี มีสลักเกลียวรูปตัว U เป็นสาแหรกรัดไม้หมอนให้ติดกับแผงและยึดแผงทั้ง ๖ ไม่ให้แตกออกด้วย
วางรางเสร็จแล้วก็เริ่มถอนเสาเข็ม รื้อนั่งร้านออกเสียได้โดยใช้รอกแม่แรงผูกติดกับแผงแล้วหย่อนโซ่ลงไปถอนเสาเข็มที่หมดหน้าที่แล้วลากเก็บขึ้นไว้บนบก ทั้งนี้เพื่อมิให้เกะกะกีดขวางกระแสน้ำใต้สะพาน โครงสะพานเหล็กชั่วคราวแบบญี่ปุ่นชะนิดนี้เป็นโครงแบบง่าย ประกอบก็ง่ายคล้ายของเด็กเล่น ญี่ปุ่นได้เตรียมไว้ใช้ในงานสงคราม มีโครงเป็นรูปสามเหลี่ยมหลายๆ อันถอดได้ และประกอบให้ใช้กับความกว้างของช่วงสั้นหรือยาวขนาดใด ทำได้ง่ายและรวดเร็ว มีสลักรูปหัวกระสุนปืนใช้ใส่ตามข้อต่อระหว่างโครงหนึ่งต่ออีกโครงหนึ่ง เมื่อจะประกอบขึ้นใช้กับช่วงที่กว้างมากๆ ก็ซ้อนเพิ่มขึ้นข้างบนอีกชั้นหนึ่งสุดแท้แต่จะใช้งานอะไร สะพานรถไฟหรือสะพานทางหลวงขนาดหนักเบาแค่ไหน และสะพานวอเร็นทรัสนี้ เมื่อประกอบยิ่งยาวออกไปจะไม่ตกท้องช้าง เพราะได้แก้การตกท้องช้างไว้แล้วขนาด ๑ ใน ๖๐๐ สะพานแบบนี้กินเนื้อที่ใต้ท้องสะพานมาก
สะพานเบลี ซึ่งฝ่ายสหประชาชาติได้นำเข้ามาใช้ในเมืองไทย เช่นซ่อมที่สะพานพุทธยอดฟ้า และสะพานจุฬาลงกรณ์ ที่ราชบุรี ก็มีหลักและกฎเกณฑ์อันเดียวกัน คือเป็นโครงแบบ วอเร็น เหมือนกัน ทางราชการได้ขอซื้อสะพานแบบนี้จากสหประชาชาติเพื่อไว้ใช้เป็นสะพานชั่วคราว และใช้กับงานฉุกเฉินต่างๆ หรือเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานใหญ่ๆ ต่อไป โดยเฉพาะที่สะพานปรมินทร ต้องใช้เป็นจำนวนมาก เพราะลำแม่น้ำกว้าง ทางการได้พยายามเลือกทำเลที่แคบที่สุดแล้ว ใช้สะพานวอเร็นทรัสนี้ ๑๐ ช่วงยังไม่พอ ต้องสร้างสะพานไม้ออกไปรับอีกทั้งสองฝั่ง รวมยาวทั้งหมด ๒๐๓.๕๐ เมตร สันรางสูงจากระดับน้ำทะเล ๙๓.๘๙ เมตร เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ ได้ทดลองใช้รถจักรตั้งแต่ขนาดเบา ( รถสับเปลี่ยน ) จนขนาดหนัก เช่น รถสวิส มิกาโด และรถจักรแมคอาเธอร์ข้ามแล้วได้ผลเป็นที่พอใจ และเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ( นายสะพรั่ง เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา ) ได้ไปเป็นประธานประกอบพิธีเปิดให้ขบวนรถผ่านบนสะพานเป็นปฐมฤกษ์ สืบแต่นั้นมาจนถึงกาลปัจจุบัน สะพานชั่วคราวที่ใช้แทนสะพานปรมินทรนี้ ก็ได้อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนและขบวนรถที่ได้สัญจรไปมาเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปอีกนานจนกว่าการสร้างสะพานถาวรจะแล้วเสร็จสมบูรณ์.
.................................
( ภาคผนวก ค. หนังสือ งานฉลองรถไฟหลวงครบ ๕๐ ปี พิมพ์ที่ โรงพิมพ์กรมรถไฟ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม นายอุดม ปานพิพัฒน์ ผู้พิมพ์โฆษณา มีนาคม ๒๔๙๐ )
สะพานวอร์เร็น : http://www.sha.state.md.us/keepingcurrent/maintainRoadsBridges/bridges/OPPE/historicBridges/V-Warr.pdf
สะพานเบลลี่ย์ : http://www.john-knapton.com/natrust.htm
Last edited by black_express on 30/06/2011 10:13 am; edited 14 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 12:08 pm Post subject: |
|
|
ต่อมา กรมรถไฟ ได้จัดดำเนินการบูรณะซ่อมสร้างสะพานปรมินทร์ โดยจัดทำสัญญาลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 กับ บริษัท คลีฟแลนด์ บริดจ์ แอนด์ เอนจิเนียริง จำกัด เป็นผู้รับเหมา และ บริษัท ดอร์แมนลอง แห่งประเทศอังกฤษ ร่วมกับ บริษัท คริสเตียนี แอนด์ นีลเสน ไทย จำกัด เป็นผู้รับเหมาช่วง
สำหรับค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนแล้วเสร็จ ( จ่ายเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง ส่วนหนึ่ง นอกนั้นจ่ายเป็นเงินบาท ) ของสะพานปรมินทร์ คิดเป็นเงิน 110,887 ปอนด์สเตอร์ลิง + 7,205,872 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,091, 791 บาท
( ใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางราชการในขณะนั้น 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่ากับ 40 บาท )
การบูรณะซ่อมสร้างสะพานปรมินทร์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2496 และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ไปประกอบพิธีเปิดสะพาน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2496 |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 12:34 pm Post subject: |
|
|
ครับ สำหรับสะพานปรมินทร์ ที่บูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ จากสะพานเดิมที่ถูกทิ้งระเบิดทำลายในสงครามโลกครั้งที่สอง มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวสะพาน ดังนี้
สะพานปรมินทร์เดิม รับน้ำหนักบรรทุกได้เพียง 8 ตันต่อ 1 เพลาเท่านั้น ในการสร้างสะพานให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกเป็น 15 ตันต่อเพลา ซึ่งเป็นน้ำหนักบรรทุกมาตรฐานใหม่ของรถไฟ โดยใช้ฐานรากคือ ตอม่อเดิม จำเป็นต้องหาวิธีที่จะทำให้น้ำหนักของตัวสะพานเหล็กน้อยลง โดยการใช้ เหล็กชนิดแรงดึงสูง ( High Tensile Steel ) มาประกอบเป็นตัวสะพานส่วนบนและหมุดย้ำ
เหล็กชนิดนี้ มีความเค้นสูงกว่าเหล็กเหนียวธรรมดา ประมาณว่าเหล็กชนิดแรงดึงสูง มีความเค้นมากกว่าเหล็กเหนียวธรรมดาถึง 65 ส่วนในร้อย จึงทำให้น้ำหนักของตัวสะพานน้อยกว่าการใช้เหล็กเหนียวธรรมดา โดยจะเห็นได้จากน้ำหนักเปรียบเทียบของตัวสะพานเดิม กับสะพานที่สร้างใหม่
สะพานปรมินทร์ ( สะพานเดิม) หนัก 615 เมตริกตัน ( สะพานที่สร้างใหม่ ) หนัก 762 เมตริกตัน
เหตุที่สะพานสร้างใหม่มีน้ำหนักมากกว่าสะพานเดิมถึง 147 เมตริกตัน เพราะการออกแบบให้รับน้ำหนักได้มากเป็น 2 เท่าของสะพานเดิม และรับน้ำหนักบรรทุกตามเกณฑ์ที่กำหนด
สำหรับโครงสร้างตัวสะพาน ที่บูรณะซ่อมสร้างขึ้นใหม่ ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 3 ช่วง โดยช่วงริมฝั่งทั้งสองข้าง ยาวช่วงละ 80.60 เมตร ช่วงกลางสะพาน ยาว 101.20 เมตร ซึ่งประกอบด้วยคานช่วงยื่น ( Anchor arm ) ซึ่งต่อยื่นออกมาจากสะพานช่วงริมฝั่งทั้งสองข้าง มารองรับ สะพานช่วงแขวน ซึ่งมีความยาว 60.90 เมตร ที่อยู่กึ่งกลาง รวมความยาวทั้งสิ้น 262.40 เมตร
บนสะพานมีทางรถไฟ 1 ทาง ขนาดกว้าง 1.00 เมตร มีทางเดินเท้าข้างสะพานกว้าง 1.50 เมตร อยู่ด้านขวามือ ตามเส้นทางมาจากกรุงเทพ ครับ
( ข้อมูล : หนังสือ ครบรอบ 60 ปี และ ครบรอบ 72 ปี ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ) |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 12:50 pm Post subject: |
|
|
บ่ายของวันที่ผมไปแวะชมสะพานปรมินทร์นั้น หมายใจไว้ว่าจะเก็บภาพ ข.102 ที่แล่นผ่านบนสะพานด้วย แต่รอแล้วรอเล่า เงียบหาย ไม่มีแม้แต่เงา....
เพิ่งนึกออก ตอนขยับเท้าหนีฝูงมดตะนอยบริเวณสวนสาธารณะ เพื่อหามุมกล้องเหมาะๆ ได้ว่า เดินผ่านสถานีอุตรดิตถ์เมื่อเช้า ป้ายประกาศเขียนไว้ ขบวนรถขาล่องเสียเวลาร่วม 60 นาที
เวลาที่กะแต่คราวแรก อยู่ราวๆ 1 ชั่วโมง เลยขยับออกไปเป็น 3 ชั่วโมง เพราะเหตุนี้.... |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 1:07 pm Post subject: |
|
|
จากข้อสังเกต บริเวณตอม่อสะพาน จะอยู่ค่อนมาทางเหนือฝั่งแม่น้ำน่าน แต่แนวลำน้ำที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะโค้งออกไปทางด้านใต้เกือบถึงตอม่อรองคอสะพาน แสดงว่า กระแสน้ำได้เซาะตลิ่งห่างไปจากช่วงกลางสะพานออกไปเรื่อยๆ
ราวห้าปีข้างหน้า อาจมีโครงการก่อสร้างแนวรอ กันกระแสน้ำกัดเซาะคอสะพานปรมินทร์ด้านใต้ เกิดขึ้นมาก็ได้
ลองดูใกล้ๆ ตอม่อด้านเหนือ สักหน่อยเป็นไร....?
ตอม่อสะพานได้ทำการเสริมฐานรากของตอม่อเดิม โดยตอกเข็มคอนกรีต แล้วสร้างตัวต่อม่อขึ้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากฐานตอม่อเดิม ยังมีความแข็งแรงอยู่ ถึงแม้จะถูกฤทธิ์ระเบิดทำลายไปบางส่วนก็ตาม จึงเป็นตัวชี้สำคัญ ให้กรมรถไฟ ตัดสินใจบูรณะซ่อมแซมสะพานบนตอม่อเดิม ครับ
มีแนววัดระดับน้ำเขียนติดอยู่ที่ตอม่อด้วย นี่ถ้ามาเก็บภาพราวๆ ปี พ.ศ.2489 คงต้องพายเรือข้ามน้ำมาแน่ๆ
แนวคราบน้ำสีลูกรัง เป็นระดับน้ำที่เพิ่งท่วมใหญ่ไปเมื่อไม่นานนี้เองครับ
Last edited by black_express on 13/12/2006 5:55 pm; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 1:22 pm Post subject: |
|
|
เสียงดังกึงกัง...กึงกัง ใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว แล้วรูปลองฝีมือก็เริ่มขึ้น
ฮ่า....ข.101 ก่อนเลิกเดินอีกไม่กี่วันข้างหน้านั่นเองครับ
แล้ว ข.12 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทำขบวนล่องผ่านไปบ้าง แต่ไม่ทันเก็บภาพ ข.9 หรอกครับ เพราะมุมย้อนแสงอย่างแรง....
ทีสุด ยามบ่ายคล้อย ข.102 ทำขบวนข้ามสะพานปรมินทร์ เข้าสู่ปลายทางกรุงเทพ ไม่อยากเดาว่า ถึงปลายทางเวลากี่ทุ่มกันแน่ ?
Last edited by black_express on 13/09/2009 10:17 pm; edited 3 times in total |
|
Back to top |
|
|
tuie
1st Class Pass (Air)
Joined: 09/07/2006 Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย
|
Posted: 13/12/2006 1:39 pm Post subject: |
|
|
เพิ่งจะได้เห็นภาพสะพานปรมินทร์ชัดๆ ทุกมุมมองก็คราวนี้เอง ทุกทีได้แต่นั่งรถผ่านสะพานนี้ ขนาดรถดีเซลรางแดวูแล่นเร็วๆ ยังรู้สึกว่าสะพานยาวมากเลยครับ ขอบคุณพี่ตึ๋งที่กรุณาไปสำรวจและนำภาพมาให้ชมกันครับ
เห็นภาพแล้วชักอยากจะไปเดินเล่นแถวๆสะพานปรมินทร์บ้างแล้วสิ |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 13/12/2006 2:01 pm Post subject: |
|
|
ลองไปเยี่ยมชมก็ได้ครับ คุณตุ้ย เดินจาก ชุมทางบ้านดารา ไปตัวสะพานราวกิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น หรือว่า จะเอาเบ็ดตกปลาไปลองทำเลตรงตอม่อกลางน้ำก็ได้
ส่งท้ายหัวเรื่องนี้ กันอีกเล็กน้อยครับ เพราะนึกได้ว่า มี ข.111 ที่กำลังจะเป็นตัวหลักแทน ข.101 ในอีกไม่ช้านี้ เข้ามาอีกขบวนหนึ่งครับ ผมกะว่าไปเก็บภาพที่ชุมทางบ้านดาราดีกว่า
ก้มๆ เงยๆ ดูรางหลีก เจอยี่ห้อนี้ประทับอยู่ RODANGE - E 59 - RSR - B S ใช่หรือเปล่าครับ ? คุณวิศรุต
อ่า...มาแล้วครับ ข.111 เข้าเทียบชานชาลาพอดี วันนี้ Alsthom หมายเลข 4105 นำขบวนด้วยสิ
อ้อ..มีผู้โดยสารรอขึ้น ข.111 เที่ยวนี้ ที่ชุมทางบ้านดารา รวม 3 คนครับ
ครับ....ได้เวลา ข.111 ออกมุ่งหน้าไปสถานีท่าสัก เป็นลำดับต่อไป ผมได้ยินเจ้าหน้าที่สถานีคุยกันแว่วๆ ว่า ข.408 กำลังบ่ายหน้ามาที่วังกะพี้แล้ว คงรอหลีกกันที่ ท่าสัก ด้วยกระมัง ?
คงไม่รอล่ะครับ.... ร้อนแดด แสบผิวเต็มที่ ขอซิ่งกลับบ้านดีกว่า พร้อมๆ กับจบเรื่องราวของสะพานปรมินทร์ ไว้ตรงนี้แหละ
Last edited by black_express on 22/04/2009 9:29 am; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
|