Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44020
Location: NECTEC
Posted: 13/12/2009 1:05 am Post subject:
คมนาคมของบยกเครื่องร.ฟ.ท.อีก 5.6 หมื่นล.
ฟุ้ง 10 ปีมีกำไร/ยกระดับร.ร.วิศวะรถไฟถึงปริญญาตรี
สยามธุรกิจ 9-11 ธันวาคม 2552
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวง คมนาคม (คค.) และการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “รถไฟในทศวรรษหน้า” โดยในงานนี้มีพนักงานรถไฟจากทั่วประเทศเข้าร่วมสัมมนาถึง 2,000 คน นับว่าเป็นการรวมตัวกันของพนักงานรถไฟที่มากที่สุด
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในอนาคตกระทรวงคมนาคมต้องการยกระดับร.ฟ.ท. ให้เป็นองค์กรในระดับแนวหน้า โดยจะต้องดำเนินการตามแผนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจมีมติให้มีการปรับปรุงกิจการ ร.ฟ.ท. โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบราง การจัดหาหัวรถจักร รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยธุรกิจหรือ Business Unit ออกมาบริหาร จัดการ ซึ่งจะร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคม จะเร่งเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการทันทีที่ ครม.เห็นชอบ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการของ ร.ฟ.ท.
สำหรับการจัดหาหัวรถจักรจะดำเนินการจัดซื้อตามมติครม.นั้น จะมีการกำหนดให้ห้องคนขับต้องมีเครื่องปรับอากาศด้วย จากที่ปัจจุบันเป็นห้องธรรมดา และค่อนข้างร้อนเพราะอยู่ติดกับห้องเครื่อง นอกจากนี้ฝ่ายสนับสนุน อื่นๆ จะต้องมีระบบไอทีเข้ามาร่วมดำเนิน การเพื่อให้ทันสมัยขึ้นด้วย
“ในเรื่องของการจัดขบวนรถนั้นในปัจจุบัน ร.ฟ.ท.จะต้องใช้คนประมาณ 10 คนต่อขบวน ในอนาคตเมื่อรถไฟวิ่งได้เร็วขึ้นก็จะต้องไปดูเรื่องดังกล่าวด้วยถึงความ เหมาะสม และได้ทราบข่าวมาว่าคนขับรถไฟไม่ค่อยมีวันหยุด ซึ่งตามกฎหมายต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน ตรงนี้ก็ต้อง มาปรับเวลาดูใหม่ เพราะจุดดังกล่าวอาจจะไม่ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน” นายสุพจน์ กล่าว
ส่วนการจัดแบ่งหน่วยธุรกิจ (บียู) นั้น จะจัดตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นมาเพิ่มอีก 3 หน่วยธุรกิจ คือ
1. หน่วยธุรกิจด้านการเดินรถ
2. หน่วยธุรกิจซ่อมบำรุง และ
3. หน่วยธุรกิจการบริหารจัดการทรัพย์สิน
พร้อมทั้งบริษัทลูกอีก 1 แห่ง เพื่อทำหน้าที่เดินรถในเส้นทางของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารท่าอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต ลิงค์) อย่างไรก็ตามการจัดตั้งหน่วยธุรกิจดังกล่าว จะยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของร.ฟ.ท.
ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า กรณีที่ ครม.เศรษฐกิจได้อนุมัติงบประมาณ ในการพัฒนาและปรับปรุง ร.ฟ.ท.ระยะเร่งด่วน 100,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ยังไม่เพียงพอกับการพัฒนาตามแผนที่เสนอไป ดังนั้น สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้จัดทำรายละเอียดการขอเงินงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ วงเงิน 156,052 ล้านบาท โดยได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้ว ก่อนเสนอ ครม.ภายใต้กรอบเวลา 45 วัน
“ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีหนี้สะสมกว่า 70,000 ล้านบาท หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดๆ หนี้สินจะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาทได้”
ทั้งนื้บอร์ด ร.ฟ.ท.จะมีการประชุมในช่วงต้นเดือนธ.ค.2552 นี้ เพื่อพิจารณา แต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ไว้ทำหน้าที่พิจารณารายละเอียด และแนวทางการจัดตั้งหน่วยธุรกิจและบริษัทลูก รวมทั้งพิจารณาอัตรากำลัง ซึ่งคาดว่า ร.ฟ.ท.จะมีพนักงานจำนวน 1.5 หมื่นคน จากปัจจุบันมี 1.2 หมื่นคน หรือเพิ่มพนักงานอีก 3 พันคน โดยคาดว่าการจัดตั้งหน่วยธุรกิจและบริษัทลูกจะชัดเจนคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน หรือไม่เกินเดือน มี.ค.53
นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาแล้ว จะเน้นการยกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟให้มีศักดิ์ศรีและศักยภาพมากกว่า ปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันได้หยุดให้บริการมากว่า 2 ปี หลังจาก ครม.มีมติจำกัดพนักงาน ร.ฟ.ท. ทำให้โรงเรียนดังกล่าวหยุดกิจการ ชั่วคราวเพราะไม่สามารถหาตำแหน่งงาน ให้ได้ โดยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อพัฒนาวิศวกร รถไฟ สำหรับรองรับโครงการรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นทั้งส่วนของร.ฟ.ท. และรถไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นในกทม. และปริมณฑล
“กระทรวงคมนาคมอยากให้มีการยกระดับวุฒิการศึกษาของโรงเรียนดังกล่าวเป็น ระดับปริญญาตรีจากที่ปัจจุบันที่จบออกมามีวุฒิเทียบเท่ากับปวส.จะให้เหมือน กับที่กรมชลประทานร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดภาควิศวกรรมชลประทานขึ้นจนถึงปัจจุบัน หลังจากนี้จะไปกำหนดหลักสูตรร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คาดว่าน่าจะเปิดสอน ได้ในปี 2554 โดยทำให้สอดคล้องกับ ร.ฟ.ท.โดยรับคนที่จบมัธยมปลาย ส่วนระบบเดิมก็จะมีการทำหลักสูตรเฉพาะให้เพื่อรองรับการขับรถไฟในอนาคต” นายสุพจน์ กล่าว
Back to top
black_express
1st Class Pass (Air) Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
Posted: 13/12/2009 10:02 pm Post subject:
อ่า..อย่างน้อยๆ เราก็จะมีสถาบันวิชาการรถไฟแล้วล่ะ
คิดเผื่อนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยนะครับ
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44020
Location: NECTEC
Posted: 19/12/2009 2:40 am Post subject: ข่าวเดียวกันแต่เขีัยนไปคนละทาง
นิด้าแนะโอน รฟท.ให้รัฐดูแล เชื่อลดการผูกขาดองค์กร
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 ธันวาคม 2552 13:20 น.
การสัมมนาเส้นทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาของรถไฟไทย ผศ.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (สพบ.) หรือ นิด้า กล่าวว่า แผนพัฒนาการรถไฟไทย ฉบับที่กระทรวงคมนาคมได้ร่างไว้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน อาจไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ เนื่องจากการรถไฟเป็นองค์กรขนาดใหญ่ จึงอาจเกิดปัญหาความสามารถในการระดมเงินทุน ซึ่งมีผลต่อภาระหนี้สาธารณะในอนาคต
ดังนั้น จึงเสนอให้มีการโอนทรัพย์สินและหนี้สินของการรถไฟให้เป็นของรัฐบาลทั้งหมด และตั้งบริษัทจำกัดขึ้นมาดูแลการเดินรถ การขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และการดูแลทรัพย์สินของการรถไฟ พร้อมปรับสภาพพนักงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นข้าราชการ เพราะเชื่อว่า การนำเอกชนเข้ามามีบทบาทในการบริการ จะช่วยลดการผูกขาดขององค์กรมากขึ้น ขณะเดียวกัน ควรตั้งจุดรับส่งสินค้า เพื่อเชื่อมโครงข่ายขนส่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และพิจารณาแผนการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงในกรอบการลงทุนใหม่
//-----------------------------------------------------------------
เสนอตั้งกรมรถไฟ หวังสางปัญหารฟท.
โพสต์ ทูเดย์ วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552
นางณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คณะทำงานปัญญาสมาพันธ์ เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการเสวนาเรื่องเส้นทางขับเคลื่อนแผนพัฒนารถไฟไทย ว่า จะเสนอแผนการพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา
ทั้งนี้ จากการระดมความเห็นสรุปข้อมูลเบื้องต้นได้ว่า รัฐควรเร่งปรับโครงสร้างร.ฟ.ท. ให้เป็นหน่วยงานในรูปแบบองค์กรสาธารณะ โดยจะจัดทำเป็นกรมรถไฟ หรือองค์การมหาชน รับผิดชอบดูแลการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และประสานการลงทุนสำหรับระบบรางในภาพรวม
สำหรับส่วนอื่นรัฐจะต้องแยกการบริหารการจัดการให้ชัดเจน เช่น การเดินรถ อาจจะตั้งบริษัทลูกเข้ามาดูแล เช่นเดียวกันกับโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นควรทำเช่นเดียวกับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ โดยรัฐถือหุ้น 99% เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีรายได้เข้าสู่ร.ฟ.ท. อย่างแท้จริง ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันการรถไฟฯ เป็นรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่หลายอย่างจึงก่อให้เกิดปัญหา อีกทั้งยังมีหนี้สะสมจำนวนมาก ทำให้ไม่มีอำนาจในการต่อรอง
ดังนั้นรัฐบาลควรศึกษารายละเอียดที่แท้จริงเพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา โดยรัฐควรรับภาระหนี้สินสะสมทั้งหมด ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะสั้นควรจัดแบ่งระบบการทำงานเป็นหน่วยธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
//----------------------------------------------------------------
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44020
Location: NECTEC
Posted: 19/12/2009 3:13 am Post subject:
สตูลเร่งศึกษาออกแบบทางรถไฟเชื่อมโยงขนส่งอ่าวไทย-อันดามันเปิดประตูการค้าระหว่างประเทศ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 ธันวาคม 2552 16:33 น.
วันนี้ (17 ธ.ค.) นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมนายจุฬา สุขมานพ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร ร่วมวิเคราะห์การประชุมปฐมนิเทศการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น ทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จาก จ.สตูล จนถึง จ.สงขลา เพื่อที่จะเปิดประตูการค้าระหว่างประเทศ และในประเทศ โดยมีส่วนราชการ ประชาชน เข้าร่วม 100 คน ที่ห้องประชุมโรงแรมสินเกียรติ อ.เมือง จ.สตูล
นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการสร้างทางรถไฟ เพื่อเป็นการขนส่งสินค้า และต่อยอดมาจากโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อที่จะทำการเปิดประตูการค้า ขณะที่ทางรัฐบาล ได้ให้ สนข. (สำนักงานนโยบาย และแผนพัฒนาการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม) เพื่อเข้ามาศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการสร้างทางรถไฟ โดยเชื่อมต่อทางรถไฟจากสตูล จุดท่าเทียบเรือปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ไปท่าเทียบเรือ จ.สงขลา 2 เพื่อทำวิจัย หรือปฐมนิเทศดูว่าน่าจะทำพื้นที่ไหนดี ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาสร้างความเดือนร้อนให้ชาวบ้านได้
ทางด้านนายจุฬา สุขมานพ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางจังหวัดสตูลถือว่าเป็นประตูการค้าระดับประเทศ ซึ่งทางท่าเทียบเรือปากบารา เป็นประตูทางการค้าที่ จ.สตูล สะดวกแก่การขนสินค้าขึ้น และนำเข้าไปสู่ทางประเทศจีนได้ ซึ่งในวันนี้ทาง สนข. จะมีการตรวจสอบว่าพื้นที่จะเหมาะกับการทำทางรถไฟหรือไม่ และมีผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่
//-------------------------------------------------
รถไฟเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน
ข่าวสดรายวัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 6957 วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552
สตูล - นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. กำหนดให้กลุ่มที่ปรึกษาดำเนินการจัดประชุมปฐมนิเทศ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ ระหว่างเวลา 09.00-12.30 น. ณ โรงแรมสินเกียรติธานี อำเภอเมือง เพื่อชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นของการดำเนินการศึกษาดังกล่าวให้ผู้แทนส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนในทุกพื้นที่ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการศึกษา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่ดำเนินการศึกษาตลอดแนวเส้นทาง รวมถึงขอบเขตการศึกษาในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับฟังความคิดเห็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นต่อไป
สำหรับกลุ่มที่ปรึกษาในครั้งนี้ มีบริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาหลักและมีบริษัทที่ปรึกษาร่วมรวม 4 บริษัทเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เริ่มการปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 16 ก.ย. และกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนก.ย. 53 Last edited by Wisarut on 19/12/2009 7:24 am; edited 1 time in total
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44020
Location: NECTEC
Posted: 19/12/2009 4:32 am Post subject:
เมืองมังกรสนใจแผนลงทุนรถไฟ ขอกลับไปศึกษาก่อนสรุป
รฟท.อยากได้หัวจักรใหม่
คอลัมน์เศรษฐกิจ
หมวดข่าว / ข่าวออนไลน์
โดย บ้านเมืองออนไลน์ เมื่อเวลา 9:06:00 วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2552
นาย ถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการเดินทางไปประเทศจีนเพื่อหารือเรื่องแผนการลงทุน ว่า ขณะนี้ประเทศจีนได้ให้การสนใจแผนการลงทุนของการรถไฟหลังที่ได้มีการเสนอให้ มีการพิจารณา อาทิ การจัดหาหัวจักร โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และในส่วนของรถไฟความเร็วสูง รวมถึงแผนขอกู้เงิน 400 ล้านเหรียญ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดประเทศจีนจะขอพิจารณาศึกษารายละเอียดอีกครั้งก่อนจะสรุปแผนการลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนพัฒนา รฟท.ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโดยเบื้องต้นได้กำหนดวงเงิน 1 แสนล้านบาท ในการบูรณะการรถไฟ คือ
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 100,000 ล้านบาท ในทั้ง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย
กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร,
กรุงเทพฯ-หนองคาย 615 กิโลเมตร,
กรุงเทพฯ-จันทบุรี 330 กิโลเมตร และ
กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ 985 กิโลเมตร
และสำหรับเส้นทางเชื่อมต่อประเทศลาว เส้นทางบัวใหญ่-นครพนม-มุกดาหาร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มอบให้คณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาค เอกชน หรือ ppp (Public Private Partnership Committee) เพื่อหารือให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่ต้องดำเนินการการจัดซื้อหัวจักร ระบบรางไม้หมอน และจุดต่อการรถไฟด้วย ส่วนการจัดหาหัวจักรทดแทนหัวจักรที่ปลดระวางนั้น รฟท.ระบุว่า 77 หัวจักรเป็นจำนวนที่ต้องการนำมาทดแทนหัวรถจักรที่ถูกปลดระวาง
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44020
Location: NECTEC
Posted: 19/12/2009 7:34 am Post subject:
"โสภณ"โชว์ผลงาน 1 ปี "คมนาคม" แอร์พอร์ตลิงก์-รถไฟฟ้า 2 สาย-ถนนไร้ฝุ่น
คอลัมน์ Zoom Content
ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 4167 วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552
กิจกรรม "จิบน้ำชาตอบปัญหา ทุกสื่อ" เช้าวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา นอกจาก "โสภณ ซารัมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สังกัดพรรคภูมิใจไทย จะมาบอกกล่าวงานช้างแห่งปี 2553 ที่ประกาศเป็นปีแห่งความปลอดภัย โดยมีแผนจะเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย วันที่ 24 ธันวาคมนี้แล้ว
ยังแถลงถึงผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรม ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา หลังเข้ามานั่งเก้าอี้กระทรวงหูกวาง ภายใต้รัฐบาล "มาร์ค"
เริ่ม จากโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่ รมว.คมนาคมบอกว่า เปิดเดินรถได้แล้ว แต่ยังเก็บค่าโดยสารไม่ได้ เพราะต้องรอวิศวกรอิสระ (ICE) รับรองการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ก่อน ซึ่งคาดว่าจะเปิดบริการได้จริงเดือนเมษายน 2553
ขณะ ที่โครงการรถไฟฟ้าแต่ละสาย ก็คืบหน้าไปมาก "สายสีม่วง" ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ได้ตัวผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างทั้ง 3 สัญญาแล้ว "สายสีน้ำเงิน" ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค อยู่ระหว่างประเมินราคากลาง จะเปิดประมูลปีหน้า "สายสีเขียว" ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งยังเป็นปมปัญหากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) คมนาคมยังยืนยันเหมือนเดิม ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนการเดินรถจะร่วมกับ กทม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดประกวดราคา
นอก จากนี้ยังยกเครื่องการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่มีปัญหารุมเร้าทั้งภายนอกและภายในองค์กรให้เป็นรูปธรรม โดยจัดโครงสร้างองค์กรใหม่เป็น 3 หน่วยธุรกิจ "เดินรถ-ทรัพย์สิน-อำนวยการ" พร้อมตั้ง 1 บริษัทลูกเพื่อเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ และได้รับงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท จัดซื้ออุปกรณ์ งานโยธา สร้างเส้นทางเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน และรถไฟความเร็วสูงสายแรก กรุงเทพฯ-จันทบุรี
ก่อน รมว.คมนาคมจะสรุปสั้น ๆ ตอนท้ายว่า ทั้งหมดเป็นผลงานที่เกิดขึ้นอย่างรูปธรรม ไม่ใช่แค่กระดาษ ส่วนปีหน้าจะเป็นปีแห่งการท้าทายในการทำงานเพื่อรันโปรเจ็กต์ที่เหลือ
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44020
Location: NECTEC
Posted: 19/12/2009 8:25 am Post subject:
เปิดโมเดลรถไฟไทยทศวรรษหน้า
Written by Administrator
เผยแพร่ เมื่อ วันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2552 06:48
ตีพิมพ์ ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ประจำวันที่ 14 - 20 ธ.ค. 2552
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม และกรรมการการรถไฟแห่งประทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึง "การก้าวสู่ทศวรรษที่ 13 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย" ว่า โครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการให้บริการประชาชน นับตั้งแต่ราง ไม้หมอน หัวรถจักร ระบบอาณัติ สัญญาณ รวมทั้งสิ่งอำนวยความปลอด ภัย ซึ่งมีจำนวนมากที่จะต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาปรับปรุงทั้งหมด
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจึงจะต้องเข้าไปดูในส่วนของปัญหาและอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระราชบัญญัติการรถไฟ กฎระเบียบต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติงานว่ามีจุดใดที่จะต้องปรับปรุงบ้าง รวมทั้งทรัพย์สินของการรถไฟประมาณ 230,000 ไร่ ซึ่งใช้พื้นที่ในการเดินรถ รวมไปถึงพื้นที่ตามแนวทางรถไฟ พื้นที่ในย่านสถานีประมาณ 190,000 ไร่ โดยพบว่า มีพื้นที่เป็นที่ว่างสามารถดำเนินการในเชิงธุรกิจประมาณ 40,000 ไร่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ในการดำเนินการเชิงพาณิชย์สร้างรายได้เพียง 1,600 บาทต่อปี ทั้งๆที่มี พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการดำเนินการในเชิงธุรกิจที่จะหารายได้เข้าการรถไฟ ถึง 7,500 ไร่ และ พื้นที่รถไฟซึ่งมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ปานกลางตามหัวเมืองต่างๆ และตามสถานีรถไฟ อีกประมาณ 7,200 ไร่ ส่วน ที่เหลือ อีกประมาณ 25,000 ไร่ ที่มีศักยภาพต่ำ การทำในเชิงพาณิชย์ตอนนี้ค่อนข้างลำบาก
ดังนั้นจึงต้องมาดูว่าพื้นที่ทศักยภาพสูง และปานกลาง ที่จะดำเนินการโดยการสำรวจข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า พื้นที่สถานีมักกะสันประมาณ 400 ไร่ สถานีแม่น้ำ 130 ไร่ ส่วนสถานีหัวลำโพง อาจจะมีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ของการรถไฟ"
นายสุพจน์ กล่าวว่า การดำเนินงานของ ร.ฟ.ท. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 มีผลประกอบการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันการรถไฟเป็นหนี้กว่า 70,000 ล้านบาท หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีหนี้สินถึง 100,000 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงคมนาคม จึงได้เร่งดำเนินการวางรูปแบบแนวทางและแนวคิดในการพัฒนาและรักษาองค์กร รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็ง ความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ เนื่องจาก ร.ฟ.ท. เป็นองค์กรของประชาชนทุกคน พนักงานการรถไฟเป็นผู้ให้บริการประชาชน
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขที่กระทรวงคมนาคม ได้วางไว้ คือ
สภาพรางที่มีอยู่ 2,300 กิโลเมตร จะต้องปรับเปลี่ยนไม้หมอนประมาณ 1,300 กิโลเมตร เปลี่ยนจากไม้เป็นคอนกรีต และเปลี่ยนสะพานเหล็กที่รับน้ำหนักมาเป็นระยะเวลานานประมาณ 2,000 แห่ง รวมทั้งอาณัติสัญญาณอีกจำนวน 230 สถานี เปลี่ยนเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการปรับปรุงหัวรถจักรมีสภาพที่สมบูรณ์ จากหัวรถจักร 209 หัว จะต้อง หามาเปลี่ยนใหม่อีก 77 หัว ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานขับรถไฟใช้ช่วยในการควบคุมรถไฟได้อย่างปลอดภัย
จากระยะทางทั้งหมดประมาณ 4,300 กิโลเมตร มีจุดตัดของถนน ไม่ว่าจะเป็นถนนของกรมทางหลวง ถนนทางหลวงชนบท ถนนองค์กรปกครองท้องถิ่น หรือถนนจากประชาชนที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากการรถไฟทั้งหมดประมาณ 2,000 แห่ง เฉลี่ยแล้วระยะทาง 2 กิโลเมตร ของทางรถไฟ จะพบจุดตัดซึ่งเป็นทางหลวง 1 แห่ง ลักษณะดังกล่าวประมาณ 1,000 แห่ง ของจุดตัดไม่มีเครื่องกั้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาในเรื่องของความไม่ปลอดภัย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต
ดังนั้น จึงมีแนวทางในการแก้ไข คือ ให้กรมทางหลวงชนบท ดำเนินการตั้งงบประมาณในการก่อสร้างทางข้ามทางรถไฟใหม่ประมาณ 134 แห่ง โดยการปรับปรุงแก้ไขจากทางจุดตัดที่เป็นอาณัติสัญญาณเป็นทางต่างระดับไม่ว่าจะเป็นสะพานยกข้าม หรือเป็นทางลอด สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไม่มีอาณัติสัญญาณนั้น อาจจะมีการรวบ รวมทางเชื่อม 2-3 แห่ง เป็นจุดเดียว แล้วทำเป็นจุดข้าม หรือจุดลอดทางรถไฟให้มี ความปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ดำเนินการไปแล้วสิ่งที่ได้มาคือความปลอดภัย การให้บริการด้วยความเร็วมากขึ้น จากปัจจุบันความเร็วของรถไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จะส่งผลให้รถไฟวิ่งได้ด้วยความเร็วมากขึ้น"
นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การทำรางคู่อีกประมาณ 2,300 กิโลเมตร โดยเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการในระยะใกล้ 4 ภูมิภาค ระยะทาง 767 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ความเร็วของรถไฟเพิ่มขึ้นจาก 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนของรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 260 ขบวนต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขนส่งสินค้าโดยใช้รถไฟเพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 10% จากเดิมขนส่งสินค้า 12 ล้านตันต่อปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 60 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณมากขึ้น การรถไฟสามารถที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาในทรัพย์สินของการรถไฟ เพื่อให้บริการประชาชน และบริการขนส่งสินค้าไม่เกิน 5 ปี การรถไฟสามารถที่จะยืนอยู่ได้
การดำเนินการต่างๆ ภายใต้การรถไฟ ยังต้องยึดถือ พ.ร.บ.การรถไฟ พ.ศ 2494 ยังจะต้องยึดถือกฎระเบียบข้อบังคับของการรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบของการเดินรถ เพราะว่าเราเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แต่หากกฎระเบียบมีปัญหา หรืออุปสรรคกับการดำเนินงานของพนักงานการรถไฟก็สามารถที่จะแก้ไขได้"
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม มีความเห็นว่าพนักงานการรถไฟจะต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งฝ่ายผู้บริหารและผู้ปฏิบัติมาร่วมกันคิดวิเคราะห์ว่า พ.ร.บ.การรถไฟ ที่มีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ยึดถือปฏิบัติมีระเบียบตรงไหนที่เป็นปัญหาต่อการทำงานที่ควรจะต้องแก้ไข ซึ่งจุดนี้การรถไฟจะรับไปดำเนินการเพื่อที่จะสามารถดำเนินการได้
สำหรับภาระของการรถไฟที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาและดูแลพนักงานที่เกษียณอายุไปแล้วนั้น ยอมรับว่าจะต้องให้การดูแลตามกฎหมายของการรถไฟต่อไป โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้จุดนี้ประมาณ 2,700 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป้าหมายในการบริหารจัดการให้ได้เงินมา คือ จะเพิ่มรายได้จาก 1,600 ล้านบาท มาครอบคลุมงบประมาณดังกล่าวให้ได้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมที่จะต้องนำมาให้พนักงานการรถไฟ
นายสุพจน์ กล่าวว่า แนวคิดกระทรวงคมนาคม อยากให้การรถไฟอยู่ในลักษณะขององค์กรของการรถไฟ โดยการแบ่งเป็นหน่วยบริหารธุรกิจเป็น 3 หน่วย ประกอบด้วย
1. การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ โดยจะมีการดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการเดิน
รถ การบริหารการตลาด
2. ฝ่ายเครื่องกล ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการเดินรถโดยจะเป็นผู้บริหารจัดการหัวรถจักร ดูแลโบกี้ และการซ่อมบำรุง
3. การบริหารจัดการทรัพย์สิน
ทั้งนี้ คณะกรรมการรถไฟจะมีการประชุมในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ไว้ทำหน้าที่พิจารณารายละเอียด และแนวทางการจัดตั้งหน่วยธุรกิจและบริษัทลูก รวมทั้งพิจารณาอัตรากำลัง ซึ่งคาดว่าการรถไฟจะมีพนักงานจำนวน 15,000 คน จากปัจจุบัน 12,000 คน หรือเพิ่มพนักงานอีก 3,000 คน โดยคาดว่าการจัดตั้งหน่วยธุรกิจและบริษัทลูกจะชัดเจนในเดือนมีนาคม 2553
โดย ในแต่ละหน่วยจะมีการแยกบัญชี มีรายรับ-รายจ่าย เพื่อที่จะทำให้ทราบว่าผลออกมาเป็นบวกหรือลบ โดยมีผู้ว่าการการรถไฟแยกออกมา 3 คน ที่จะมีอำนาจสิทธิขาดในการดูแลทั้ง 3 หน่วย ในการติดตามบังคับนโยบาย ส่วนการดูแลโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของราง ไม้หมอน อาณัติสัญญาณ จุดตัดผ่านทาง ซึ่งไม่เกี่ยวกับระบบการจัดการเดินรถ ภาครัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ"
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44020
Location: NECTEC
Posted: 19/12/2009 8:27 am Post subject:
จี้รบ.ทบทวนงบไทยเข้มแข็ง พิรุธมอเตอร์เวย์ ๕.๙ หมื่นล. หอการค้า-ปชช.ดันรางคู่สุดลิ่ม
koratdaily ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ ๑๘:๐๒ น.
ส.ว.เปิดเวทีระดมความคิดเห็น มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ๕.๙ หมื่นล้าน ใครได้ใครเสีย?? เดิมแค่ ๒ หมื่นกว่าล้านแต่กลับพุ่งพรวด ซ้ำมีประชาชนร้องเรียนว่าตัดผ่าน "มรดกโลกเขาใหญ่" แต่กรมทางหลวงไม่รู้ไม่ชี้ เตือนฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบถ้าไม่มีผลประโยชน์ ด้านหอการค้าอีสานผนึกพลังสมัชชาประชาชนเดินหน้าผลักดันรถไฟรางคู่ ให้ถึงโคราช เต็มที่ เผยเวียดนามล้ำหน้าไทยไปลิบแบบก้าวกระโดด
ภาค ปชช.ประณามมอเตอร์เวย์โคราช ขู่ฟ้องศาลสั่งระงับ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 ธันวาคม 2552 16:30 น.
เครือข่ายสื่อต้านคอร์รัปชัน อัดสร้างมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ไม่โปร่งใส ขู่ฟ้องศาลปกครองระงับ แฉไม่ชอบธรรมตั้งแต่การทำประชาพิจารณ์ปี 49 โครงการ ไม่เข้าใจจะขยายเส้นทางคมนาคมไปอีกทำไม แนะให้นำงบแสนล้านไปพัฒนาระบบรถไฟรางคู่จะคุ้มการลงทุนกว่า “เลขาฯ หอการค้าอีสาน” แจง 11 ข้อ รับโครงการโกงไม่ได้
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44020
Location: NECTEC
Posted: 21/12/2009 1:32 am Post subject:
ดันรถไฟขนสินค้า ทะเลสงขลา-สตูล
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 20 ธันวาคม 2552 20:39 น.
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้เปิดเวทีสัมมนาการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นทางรถไฟเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ณ โรงแรมหาดใหญ่ พาราไดซ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่บ้านปากบารา จ.สตูล และพัฒนาศักยภาพท่าเรือน้ำลึกจะนะ ต.นาทับ จ.สงขลา และร่วมกันทำหน้าที่เป็นสะพานเศรษฐกิจ สร้างทางเลือกใหม่ในการขนส่งผ่านประเทศไทยแทนการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา
โดย สนข.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย
บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด,
บริษัท เอ็นริช คอนซันแตนท์ จำกัด,
บริษัท พีซีบีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด,
บริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด และ
บริษัท พีทีแอล คอนซัลแทนส์ จำกัด
ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น เป็นเวลา 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2552 - กันยายน 2553
นายสายันต์ อิ่มสม-สมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการ เผยว่า สะพานเศรษฐกิจที่จะเชื่อมต่อ 2 ฝั่งทะเล ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1. ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ซึ่งผ่าน EIA แล้วนั้นมียุทธศาสตร์เพื่อเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เน้นให้เป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ก่อนจะนำสู่
2. ท่าเรือน้ำลึกจะนะ จ.สงขลา เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนท่าเรือหลักของประเทศทางฝั่งอ่าวไทย เน้นสินค้าทั่วไปที่บรรจุตู้คอนเทรนเนอร์ โดยมี
3. เส้นทางรถไฟเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่มีต้นทุนการขนส่งต่ำที่สุด
โดยการดำเนินการศึกษาเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและอันดามันนั้น จะสำรวจรวบรวมข้อมูลผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมด้วยวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงินและแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นมีรูปแบบการลงทุนระหว่างรัฐ กับเอกชน หรือบริษัทลูกของ รฟท. ก่อนที่จะนำไปสู่การออกแบบเบื้องต้น และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมดำเนินงานประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1 ปี
นายสายันต์ ยังกล่าวถึงพื้นที่เป้าหมายในการศึกษาด้วยว่า ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สตูล ประกอบด้วย อ.ละงู, ท่าแพ, ควนกาหลง และควนโดน และ8 อำเภอของ จ.สงขลา ประกอบด้วย อ.รัตนภูมิ, ควนเนียง, บางกล่ำ, หาดใหญ่, นาหม่อม, จะนะ, คลองหอยโข่ง และสะเดา
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ เปิดเผยว่า เส้นทางสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย-อันดามันระหว่าง จ.สงขลา-สตูล ถือว่าได้เปรียบที่สุด เพราะมีระยะทางสั้นเพียง 140 กิโลเมตร แม้แต่ศักยภาพของประเทศมาเลเซียเองยังมีระยะทางสั้นถึง 300 กิโลเมตร ซึ่งนอกจากจะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศให้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ในอาเซียน ที่ดำเนินรอยตามประเทศสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ท่าเรือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจมาแล้ว
ทั้งนี้ แนวทางเลือกเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล-ท่าเรือน้ำลึกจะนะ ต.นาทับ จ.สงขลา เบื้องต้นมี 4 เส้นทาง ประกอบด้วย
1.เชื่อมต่อโครงข่ายของ รฟท.ที่สถานีควนเนียงและใช้เขตทาง รฟท.สายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก แม้จะมีระยะทางทั้งยาวที่สุดสิ้น 160.6 กิโลเมตร โดยเป็นระยะทางเขตทางรถไฟใหม่ 107.4 กิโลเมตร และเขตทางรถไฟเดิม 53.2 กิโลเมตร แต่มีการเวนคืนที่ดินน้อยที่สุด
2.เชื่อมต่อโครงข่าย รฟท. บริเวณด้านใต้ของชุมทางหาดใหญ่ และใช้เขตทางของ รฟท.สายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระยะทางทั้งสิ้น 139.1 กิโลเมตร เป็นเขตทางรถไฟใหม่ 112.6 กิโลเมตร และเขตทางรถไฟเดิม 26.5 กิโลเมตร เวนคืนที่ดินค่อนข้างน้อย
3.ระยะทางค่อนข้างสั้น เนื่องจากใช้เขตทางรถไฟใหม่ทั้งหมด 133.3 กิโลเมตร และก่อสร้างอุโมงค์ผ่านเทือกเขาบรรทัด 8 กิโลเมตร ตัดผ่านทางรถไฟสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก และ
4.ระยะทางสั้นที่สุด ใช้เขตทางรถไฟใหม่ทั้งหมด 131.9 กิโลเมตร และก่อสร้างอุโมงค์ผ่านเทือกเขาบรรทัด 8 กิโลเมตร ตัดผ่านทางรถไฟสายหาดใหญj-ปาดังเบซาร์ และหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตและจับตามองว่า ทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา, ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประตูเมืองสู่เซาเทิร์นซีบอร์ดที่จะรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุด ขณะเดียวกันภายใน จ.สงขลา กำลังเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 2 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกประมาณ 800 เมกะวัตต์ ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีกรรมราช มีความเคลื่อนไหวของการการศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้รอรับ
สวนทางกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวย้ำกับชาวใต้ระหว่างปฎิบัติภารกิจในภาคใต้ว่า ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะมีการลงทุนสูง จึงต้องใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และมีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมตามมา แต่ในแง่การศึกษาความเป็นไปได้กลับเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และระบุชัดถึงการเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกจะนะ โดยมีมูลค่าการก่อสร้างในเฟสแรก 3,923 ล้านบาท
โดยบริษัทที่ศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่างยังได้เสนอให้มีการดำเนินการขนส่งโดยทางรถไฟ 3 หัวรถจักร ซึ่งมีขีดความสามารถบรรทุกตู้คอนเทรนเนอร์ขนาด 400 TEUs มีความยาวขบวน 1,650 เมตร และไม่แวะหยุดจอดระหว่างทาง เพื่อให้มีต้นทุนต่ำ มีความน่าเชื่อถือ และมีความถี่ในการขนส่งมาก นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายถนนอีกหลายสายเพื่อรองรับสะพานเศรษฐกิจ ทั้งการขยายช่องจราจร ก่อสร้างสะพานบริเวณทางแยกเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด.
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47384
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 21/12/2009 9:02 am Post subject:
ถ้าจะสร้างจริง ๆ ขอสนับสนุนแนวเส้นทางที่ 1 (ปากบารา-ว่าที่ชุมทางควนเนียง-ชุมทางหาดใหญ่-ชุมทาง ? -ท่าเรือนาทับ) เพราะน่าจะประหยัดงบประมาณและทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดครับ
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group