View previous topic :: View next topic |
Author |
Message |
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 03/01/2007 1:45 pm Post subject: ขุดกรุ : เส้นทางรถไฟโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ |
|
|
สวัสดีปีใหม่ 2550 ครับ...
" มังคละ " วงดนตรีพื้นเมืองพิชัย
ช่วงหยุดพักส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั้น ผมไปค้นดูเรื่องเก่าๆ ที่ลงในเวปไซด์ version เดิม เจอบางเรื่องที่ขุดนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะสมาชิกรายใหม่ เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟอุตสาหกรรม ของโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ อดีตรัฐวิสาหกิจ สังกัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อก่อนโน้น ซึ่งปัจจุบันได้ขายให้แก่กลุ่มบริษัทในเครือเจ้าสัวเจริญ ไปแล้วครับ
แนวทางรถไฟขนอ้อยโดยสังเขป
ที่น่าสนใจคือว่า โรงงานน้ำตาลแห่งนี้ เคยมีเส้นทางรถไฟขนอ้อยจากลูกไร่ เข้าสู่โรงงาน เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลไทย อ.เกาะคา จ.ลำปาง ของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ที่นี่ พิเศษกว่าตรงที่วางรางตัดกับเส้นทางรถไฟสายเหนือ เป็นมุม 90 องศา บริเวณด้านเหนือย่านสถานีรถไฟวังกะพี้ เวลาขบวนรถไฟสายเหนือแล่นผ่านจุดตัดดังกล่าว จะชลอความเร็วลง แล่นผ่านฟังชัดถนัดหู เชียวครับ ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ก็จุดตัดเส้นทางขบวนรถสินค้ากับเส้นทางสายเหนือ ด้านเหนือย่านพหลโยธิน เข้าเส้นทางสายใต้นั่นแหละครับ เสียงครือๆ กัน
หลังจากคุยถกกันเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายนี้ ก็มีทีมงานอาสาเดินสำรวจ 3 ราย คือ หนุ่มเจฟ ( KTTA-50-L ) , หนุ่มแม็กซ์ ( Maxell ) และผม เมื่อช่วงสงกรานต์ ปี 2548 ตอนแรกว่าจะมีป๋าณัฐ กับ ป้อเลี้ยงอาร์ต ( Bradycardia ) ไปร่วมทีมด้วย แต่ป๋าณัฐติดภารกิจไปติดต่องานยังต่างประเทศ และป้อเลี้ยงอาร์ต ได้งานทำที่โรงพยาบาลใน อ.ศรีราชา ก็เหลือแค่สามหน่อ แถมด้วยภารกิจเดินสำรวจเส้นทางขนฟืนสายไร่อ้อย - นายาง ด้วย ซึ่งจะนำมาลงต่อทีหลังนะครับ
อ้อ...มีคุณหมอรักษ์พงศ์ ประธานเวปไซด์ ด้วยสิครับ โทรฯให้กำลังใจจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ติดภาระนำครอบครัวแอ่วเหนือตอนสงกรานต์พอดี มีจุดหมายวันนั้น ที่ เชียงราย...
รถจักรใช้งานของโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์
หลังจากรวบรวมพล อิ่มท้องกันดีแล้ว ก็เริ่มออกเดินทาง โดยมีจุดหมายที่หน้าโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ ที่ ต.วังกะพี้ อ.เมืองฯ ซึ่งห่างจากตัวเมืองราว 8 กม.เท่านั้น
สำหรับโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ เป็นโรงงาน 1 ใน 2 แห่ง สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนั้น โดยในปี พ.ศ.2482 ได้มีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงาน โดย พันเอก พระยาพหลพยุหเสนา ( พจน์ พหลโยธิน ) เป็นประธาน และโรงงานได้เริ่มเดินเครื่องทำงานราวปีเศษต่อมา รับกับมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี
พร้อมๆ กับการก่อสร้างโรงงาน ได้มีการวางรางรถไฟเล็ก ( 60 ซม.หรือ 75 ซม.? )สำหรับขนอ้อยจากลูกไร่ โดยใช้รางและรถจักรไอน้ำที่รับซื้อจากกิจการรถไฟสายพระพุทธบาท ตัดทางรถไฟสายหนือ สู่ไร่อ้อยในพื้นที่ใกล้เคียง โดยมุ่งหน้าลงสู่ทิศใต้ ผ่านบ้านชุมทาง ต.หาดสองแคว อ.ตรอน โดยมีแยกปลายสายทางที่ บ้านปลายราง อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ( ในปัจจุบัน )ไปสุดสายที่ ต.บ้านดารา และ ต.ไร่อ้อย อ.พิชัย
ดังนั้น หนุ่มเจฟ ถึงได้ชื่นชม มีความสุขยิ่งนัก เมื่อเห็นรถไฟจากบ้านเกิดตัวเองมาเป็นตั้งสง่าอยู๋ที่นี่
รถจักรไอน้ำของโรงงาน ขนาดทาง 1 เมตร ใช้งานนำตู้ ตญ.ขนน้ำตาลทราย มาที่สถานีวังกะพี้
ภายหลัง เส้นทางถนนมีความสะดวก และกระจายทั่วถึงยิ่งขึ้น จนลูกไร่นิยมใช้รถบรรทุกขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานมากกว่า ทางโรงงานฯ ได้รื้อเส้นทางรถไฟขนอ้อยทั้งหมด และวางรางรถไฟจากสถานีวังกะพี้ มายังโรงงานน้ำตาล โดยซื้อรถจักรไอน้ำ ( เดิม ) จากสายปากน้ำ เพราะใช้กับขนาดทางกว้าง 1 เมตรเหมือนกัน พร้อมดัดแปลงติดขอพ่วงอเมริกัน สำหรับพ่วงตู้ ตญ. ระหว่างโรงงาน กับ สถานีวังกะพี้ รอพ่วงกับขบวนสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป
เส้นทางสายนี้ ก็ถูกรื้อถอนไปหมดแล้วเช่นกัน เหลือเพียงแนวคันทางให้สำรวจเท่านั้นครับ
ข้อสันนิษฐานที่ระบุ เป็นรถจักรใช้เฉพาะขนาดทาง 1 เมตร ระหว่างสถานีวังกะพี้ กับ โรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์
Last edited by black_express on 26/12/2009 3:17 pm; edited 6 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 03/01/2007 2:32 pm Post subject: |
|
|
ออกจากบริเวณหน้าโรงงานน้ำตาล ทีมงานก็ล่องใต้ไปจนบรรจบเส้นทางหลวงหมายเลข 1104 ( สามแยกวังกะพี้ - พิชัย - เขื่อนนเรศวร ) ที่แยกออกไปด้านขวามือ ไปตามเส้นทางอีกเล็กน้อย จะพบแนวทางรถไฟจากสถานีวังกะพี้ เข้าสู่โรงงานน้ำตาลครับ เส้นทางสายนี้จะทับแนวเดิมไปสู่ไร่อ้อยตามที่กล่าว ขอเริ่มต้นตรงจุดหลังโรงงานครับ ตอนนี้ ถูกถางลงกลายเปินลานโล่งจนหมดแล้ว
ปลายแนวทางรถไฟเดิม ก่อนกลายสภาพเป็นทุ่งหลังโรงงาน
ต้นทางรถไฟหลังโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์
จากสุดแนวทางที่คงเหลืออยู่ มองย้อนออกมา กลายเป็นถนนในหมู่บ้านไปแล้วครับ
แนวเส้นทางรถไฟเดิม เข้าไปยังบริเวณหมู๋บ้าน
จะว่าไปแล้ว ตำบลนี้ จะเป็นเขตเทศบาลตำบลวังกะพี้ ทั้งหมด เพราะราวปี 2545 - 46 ที่ผ่านมา ทาง อบต. กับ เทศบาลตำบล ได้ตกลงรวมเขตเข้าด้วยกัน โดย อบต.ยอมเป็นฝ่ายยุบตัวเองลง นับว่าเป็นเทศบาลตำบลไม่กี่แห่ง ที่มีอาณาเขตครอบคลุมทั้งตำบลแบบนี้ครับ
แนวทางรถไฟสายโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์
ตัดเส้นทางหลวงสาย สามแยกวังกะพี้ - เขื่อนนเรศวร
ครับ ย้อนเส้นทางผ่านบริเวณหมู่บ้านมาเรื่อยๆ แล้วพบกับทางหลวงหมายเลข 1104 ( สามแยกวังกะพี้ - พิชัย - เขื่อนนเรศวร ) แต่แนวทางรถไฟจะข้ามเส้นทางหลวงต่อไปอีกครับ
แนวทางรถไฟสายโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ มองย้อนไปจุดตัดทางหลวง 1104
แล้วก็เจอสี่แยกในหมู่บ้าน ซึ่งสันนิษฐานว่า แยกด้านขวามือ จะเป็นแนวทางรถไฟขนอ้อย ( เดิม ) พอข้ามสี่แยกไปแล้ว กลายเป็นทางตันไปเฉยๆ งั้นแหละ
สี่แยกถนนในหมู่บ้าน ก่อนเจอทางตันข้างหน้า
ตันแล้วครับ ต่อไป จะกลายเป็นป่าบนคันทาง ด้านหลังรั้วโรงเรียนชุมชนวังกะพี้ ก่อนบรรจบทางรถไฟสายเหนือ ทีมงานต้องหาทางอ้อมไปตั้งต้นใหม่บริเวณสถานีรถไฟวังกะพี้ แล้วเดินย้อนมาอีกครั้งหนึ่ง
ด้านเหนือสถานีวังกะพี้
เดินย้อนไปตามเส้นทางรถไฟ ขึ้นไปด้านเหนือสถานีรถไฟวังกะพี้ จนถึงแนวรั้วหลังโรงเรียนชุมชนวังกะพี้ครับ พร้อมกับเก็บภาพแนวคันทางเดิมหลังรั้วโรงเรียน ส่วนหนุ่มแม็กซ์นั้น ก้มเก็บหินโรยรางมาพิสูจน์หลักฐาน เงยหน้าขึ้นมาบอกว่าใช่แล้ว...
ผมไม่แปลกใจครับ เพราะเคยเห็นรางนี้ก่อนรื้อทิ้งเมื่อ 7 ปีก่อน เพราะทางโรงงานฯ ใช้รถบรรทุกสิบล้อขนน้ำตาลแทนการใช้รถไฟ
บริเวณหัวประแจเดิมแยกเข้าสู่โรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์
ก่อนถึงย่านสถานี ราว 20 เมตร เคยมีประแจทางแยกเข้าโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ติดตั้งอยู่ครับ ผมเก็บภาพใกล้ๆ พอมีร่องรอยที่ตั้งหัวประแจทางแยกเข้าโรงงานน้ำตาล สังเกตจากราง มีช่วงยาวเท่าๆ กับหัวประแจเดิมเป๊ะเลย
ช่วงหัวประแจเดิม ทางแยกเข้าโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ แยกไปด้านขวาภาพ
ถ้าโครงการ rehab ราง 100 ปอนด์มาถึงที่นี่ คงไม่มีให้สังเกตอีกแล้วครับ....
Last edited by black_express on 09/11/2007 5:16 pm; edited 3 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 03/01/2007 3:07 pm Post subject: |
|
|
แนวทางรถไฟเข้าไปไร่อ้อย
ข้ามมาอีกฝั่งทางย่านสถานีวังกะพี้ มีถนน คสล.ในหมู่บ้านผ่านหน้า สภ.ต.วังกะพี้ ขึ้นมาทางเหนือนิดหนึ่ง ดูร่องรอบแนวทางจากโรงงานไปไร่อ้อย เป็นป่าคลุมทางเข้ามิดเชียวล่ะ
บ้านพักพนักงานกั้นทาง อยู่บริเวณแนวทางรถไฟขนอ้อยเข้าโรงงาน
ด้านตรงข้ามเป็นบ้านพักพนักงานกั้นทางข้ามรถไฟ กับถนนสายสามแยกวังกะพี้ - เขื่อนนเรศวร
ที่เจฟถ่ายภาพไว้นั่นแหละครับ ลืมปีนขึ้นไปสำรวจบนทางรถไฟสายเหนือ เผื่อมีร่องรอยทางตัดรถไฟ 90 องศา เหลืออยู่บ้าง
น่าเขกหัวตัวเองชะมัด หาก rehab ทางใหม่ ก็ไม่มีร่องรอยอีกเหมือนกัน
งานนี้ หนุ่มเจฟกับหนุ่มแม็กซ์ ว่องไวมากครับ
โจนไปดูข้างในแนวทางกันเลย เหลือภาพเท่าที่เห็นเป็นอนุสรณ์ เพราะแนวทางเลยจากนี้ จะโดนอิทธิฤทธิ์เจ้าประคุณรถไถนาคันใหญ่ เกลี่ยเอาเป็นแปลงนาจนเกลี้ยงเกลาหมดแล้ว
อนุสรณ์แนวทางรถไฟของโรงงานน้ำตาลไปไร่อ้อยแถบ อ.ตรอน , พิชัย จ.อุตรดิตถ์
นาข้าวที่นี่ น่าลงทุนบุกเบิกอยู่หรอก....ทำนาปีละสามครั้งเท่านั้น เพราะมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านเป็นระยะๆ จนถึงเขต จ.พิษณุโลก โน่นแหละครับ
สำหรับสมาชิกบางรายที่สงสัยว่า ทำไมต้องเลิกทางรถไฟสายนี้ ? คงตอบเพียงว่า มีถนนมากขึ้น รถสิบล้อคล่องตัวกว่า ขนอ้อยได้มากกว่า เส้นทางรถไฟของโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ก็ถึงแก่เอวัง....
มุ่งต่อไป เข้าถนนสายอุตรดิตถ์ - สามแยกวังกะพี้ - พิชัย - เขื่อนนเรศวร เตรียมเข้าเส้นทางรถไฟขนฟืนสาย ไร่อ้อย - นายาง
จบเรื่องทางรถไฟของโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ ( วังกะพี้ ) ล่ะครับ
แต่ทีมงานยังมุ่งหน้าต่อไปที่ ชุมทางบ้านดารา เพราะหนุ่มเจฟรับฝากงานเก็บภาพที่นั่น และเดินสำรวจทางรถไฟขนฟืนสายไร่อ้อย - นายาง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักกันต่อไปครับ ตาม link ในกระทู้ข้างล่างนี้
ขุดกรุ : ตามรอยเส้นทางรถไฟขนฟืนสายไร่อ้อย - นายาง |
|
Back to top |
|
|
Mongwin
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/09/2007 Posts: 46845
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
|
Posted: 11/02/2008 3:08 pm Post subject: |
|
|
ไม่ทราบว่าเป็นทางเส้นเดียวกับทางรถไฟเล็กขนน้ำตาล ที่กล่าวถึงในเรื่องสั้น "ชำหนึ่ง" ของ อ.อุดากร (พ.ศ.๒๔๙๑) หรือเปล่านะครับ ในนั้นระบุว่ารางขนาด ๗๕ ซม. ไว้ชัดเจน พร้อมรายชื่อสถานีรายทางครับ
ไว้จะค้นหามาให้อ่านกันเป็นบางตอนที่เกี่ยวกับรถไฟนะครับ |
|
Back to top |
|
|
Wisarut
1st Class Pass (Air)
Joined: 27/03/2006 Posts: 43709
Location: NECTEC
|
Posted: 11/02/2008 3:11 pm Post subject: |
|
|
พี่ตึ๋ง เจ้ารถจักรเบอร์ 1 ราง 1 เมตรหนะ แต่ก่อน ใช้กะทางสายใต้ตั้งแต่ปี 2456 น่อ
พอต่อกันติดก็โยนไป อยู่ที่วังกะพี้นั่นแหละ |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 12/02/2008 8:06 am Post subject: |
|
|
ขอบคุณเฮียวิศครับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ตอนแรกผมยังเข้าใจว่า ซื้อมาจากสายปากน้ำเสียอีก |
|
Back to top |
|
|
Mongwin
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/09/2007 Posts: 46845
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
|
Posted: 12/02/2008 10:23 am Post subject: ชำหนึ่ง : มองทางรถไฟจากวรรณกรรม |
|
|
ชำหนึ่ง
โดย อ.อุดากร
เชื่อผมเถอะ, คุณ, สิ่งใดที่พระท่านเรียกว่าความชั่ว ขออย่าได้ไปแตะต้องมันเข้า แม้มันอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่มีมนุษย์ผู้ใดประจักษ์ และแม้มันอาจจะเป็นการกระทำที่ปราศจากผลสนองในทันตาเห็น เพราะว่าอกุศลกรรมนั้นมันจะวนเวียนหลอกหลอน หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็นอีก ไม่มีความสุขได้เลยจนนิดเดียว และมโนธรรม เสียงของเขาแหบและสั่นสะท้านด้วยความทรงจำ มโนธรรมของตัวเราเองนั้น มันบีบคั้น บีบกระทั่งหัวใจจะแตกออกมาเป็นชิ้นๆ กระทั่งสมองจะแยกเป็นเสี่ยงๆ ดูแต่ผมเถิด กว่าห้าปีมาแล้วที่ศาลสถิตยุติธรรมพิพากษายกฟ้องของอัยการ ในข้อหาที่กล่าวว่าผมฆ่าคนโดยเจตนา เพราะโจทก์ไม่อาจสืบพยานให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าผมได้กระทำผิดอันควรต้องรับอาญา แต่ระยะเวลาและคำพิพากษานั้นให้อะไรผมบ้าง? ไม่มี ไม่มีเลยจริงๆ ผมกลายเป็นมนุษย์ที่ไร้ซึ่งความภาคภูมิในชีวิต ไร้ความกระตือรือร้น ไร้ความสุข และไร้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ความรัก ศาลอาจจะยกฟ้อง แต่มันจะช่วยอะไรได้เล่า ที่จะให้หัวใจพ้นจากการบีบคั้นของมโนธรรม เพราะว่าผมจำได้ว่าผมสับไกถึงสองครั้งซ้อนๆ ในคืนนั้น คืนที่ฝนตกพรำ, คืนที่ฟ้ามืดสนิทคล้ายโอบอุ้มไว้ด้วยมือดำของอสูร และคืนที่ลมฝนพัดวู่หวิวคล้ายเสียงกู่ของปีศาจ เสียงร้องนั้นแหลมเหมือนหมาป่าที่ถูกพุ่งด้วยหลาวจากมือพราน เลือดนั้นสาดเปรอะสีแดงฉาน อนิจจา ห้าปีไม่ช่วยให้ผมได้พ้นจากเสียงและสีซึ่งเต็มไปด้วยความหลังนี้เลย...
ความภาคภูมิในชีวิต...เออ, จริงซี แม้บัดนี้มันจะหลีกลี้จากผมไป กระทั่งจะควานไปบนทุกตารางนิ้วของพื้นน้ำและดิน จนทั่วจักรวาล ก็ไม่มีวันจะพบพานมันอีก แต่ทว่าครั้งหนึ่ง มันเป็นของผม เป็นของผมอย่างบริบูรณ์ ไม่น้อยกว่าราชะที่เสวยสุขอยู่ในราชสำนักอันโอ่อ่านั้นแต่อย่างใดเลย ตั้งแต่ปล่องน้ำ หนองลี เขาไก่เขี่ย ท่าสัก หนองอีเต่า ชำหนึ่ง ร้องมะแพบ ชำสอง และกระทั่งวังตอ ซึ่งมีทางรถไฟเล็กของโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ผ่านไปนั้น ถามใครดูเถิดว่า มีใครบ้างที่ไม่รู้จักนายกาจ เทพนิมิตร, นายด่านบำรุงทางสายท่าสัก ไม่มีหรอกครับ ใครๆ ก็รู้ว่านายกาจเป็นนายด่านที่หนุ่มมากเหลือเกิน รูปสวย และมีใจกว้างราวแม่น้ำ และมากกว่าอะไรทั้งหมด นายกาจเป็นคนที่ไม่ถือตัวเอาเสียจริงๆ สาวๆ แถวนั้นมักจะยิ้มอย่างกระมิดกระเมี้ยนเสมอ เมื่อใครคนหนึ่งพูดถึงนายกาจ เทพนิมิตร ชาวไร่อ้อยมักจะยกมือขึ้นท่วมหัวอย่างบูชาเมื่อกล่าวชื่อนายกาจ และคนงานกองบำรุงทางของทางรถไฟเล็กนั้นจะยิ้มอย่างแจ่มใสและสายตามีประกายวาวเมื่อใครเอ่ยชื่อของเขา อา, จริงนะ ใครคนหนึ่งกล่าวไว้อย่างถูกต้องเหลือเกิน ว่าคนชั่วนั้นมักมีเสน่ห์ทำให้คนรักเขาถึงกับเสี่ยงชีวิตยอมตายด้วยได้เสมอ
ทางรถไฟเล็กซึ่งด่านชุมทางท่าสักของผมจะต้องรับผิดชอบบำรุงและรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้อยู่เสมอนั้นยาวถึงยี่สิบกิโลเมตร อันเป็นสายที่ค่อนข้างจะยาวกว่าสายใดๆ ทางรถไฟนี้เป็นทางขนาดเจ็ดสิบห้าเซ็นติเมตร เส้นรางค่อนข้างเล็ก แต่แข็งแกร่งพอทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ไม้หมอนซึ่งรับรางนั้นวางอยู่บนดินธรรมดา ไม่ใช่บนหินเช่นทางรถไฟใหญ่ ด้วยเหตุนี้เอง พวกเราต้องมีงานทำกันมากเสมอ เมื่อฝนตกลงมาหนักๆ และดินนั้นทรุดลงไป เราจะต้องยกรางนั้นขึ้นอัดดินเข้าไปใหม่ เล็งระดับรางจนอยู่ในระดับเดิม และยัดปลาสเตอร์จนแน่น บ่อยครั้งเราต้องเปลี่ยนไม้หมอนผุๆ นั้นออก และเปลี่ยนเอาหมอนใหม่ใส่เข้าไปแทนที่ และนอกนั้น หญ้าคา กอพง และสาบเสือซึ่งมักจะขึ้นคลุมรางเสมอ ทำให้เรามีงานกันตลอดปี แม้ว่าระยะเวลาที่โรงงานเปิดหีบ และรถไฟจะต้องขนอ้อยจากเส้นทางนี้ จะมีเพียงราวๆ ไม่ถึงหกเดือนก็ตาม เพื่อให้งานอยู่ในสภาพเรียบร้อย, กองบำรุงทางท่าสักจะแบ่งเป็นสี่หมู่ หมู่หนึ่งรับผิดชอบในเส้นทางของตัวยาวประมาณห้ากิโลเมตร หมู่หนึ่งมีคนงานราวสิบคนและมีนายงานคนหนึ่ง ซึ่งเราเรียกกันว่านายหมู่ คนงานทั้งหมดนี้มีรายได้เป็นรายวันทั้งนั้น นายหมู่เป็นคนรายงาน เวลาทำงานของคนในหมู่ของเขา และรายงานนี้จะต้องส่งเสมียนสถิติ ณ ที่ทำการ ซึ่งที่นี้เองเป็นที่อยู่ของผมด้วย ทุกๆ วันเมื่องานได้สุดสิ้นลง
ผมต้องไปตรวจงานเสมอทุกๆ วัน ด้วยรถถ่อเล็กๆ ซึ่งมีคนงานส่วนกลางสี่คนเป็นผู้ถ่อแล่นกึงกังไปบนรางนั้น เกือบทุกครั้งนายชัย, เสมียนสถิติ และนายนิคม, เสมียนพัสดุ มักจะติดรถไปกับผมด้วย เขาเป็นคนหนุ่มที่เอาใจใส่ต่องานดีทั้งคู่ นิคมเป็นคนมีลูกมีเมียแล้ว ส่วนชัยยังเป็นโสดและเขาค่อนข้างจะกรุ้มกริ่มเจ้าชู้อยู่สักหน่อย นิคมมีบ้านเล็กๆ อยู่ใกล้บริเวณนั้น ส่วนชัยอยู่กับผมบนที่ทำการนั้นเอง ที่หลักกิโล ๘ ซึ่งห่างจากปล่องน้ำต้นทางแปดกิโลเมตรและห่างจากวังตอปลายทางสิบสองกิโลเมตรพอดี รถถ่อที่ผมนั่งไปตรวจงานนี้จะแล่นไปกึงกัง มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ว่าหัวต่อรองรางจะสูงต่ำเหลื่อมล้ำกันมากแค่ไหน บางครั้งมันจะดังเอี๊ยดอ๊าดเมื่อคนงานคนหนึ่งเปลี่ยนเส้นรางและวางใหม่เบียดระยะที่กำหนดไว้จนเกินไป ชัยมักจะร้องด่าโขมงโฉงเฉงเมื่อมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น บางแห่งทางรถไฟเล็กนี้ตัดเข้าไประหว่างป่าสูงซึ่งมีไม้ใหญ่ยืนต้นทะมึนระเกะระกะ, บางแห่งเป็นไร่อ้อยยาวเหยียดปลูกขนานไปกับทางน้ำ....
........
ขออนุญาตคัดลอกมาให้อ่านเพื่อเป็นข้อมูลทางวิชาการเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
ท่านที่สนใจ หาอ่านได้จากหนังสือ ตึกกรอสส์:รวมเรื่องเอก ของ อ.อุดากร ได้ครับ
ป.ล. อ.อุดากร เป็นชาวนครชัยศรี แต่ย้ายไปอยู่อุตรดิตถ์ตั้งแต่เด็กๆ ครับ เลยมีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นเป็นอย่างดีครับ เป็นผู้ประพันธ์เรื่องตึกกรอสส์ ที่เรารู้จักกันดีครับ
|
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 12/02/2008 11:36 am Post subject: |
|
|
นั่นแหละครับ เส้นทางรถไฟของบริษัทโรงงานน้ำตาลไทย ( อุตรดิตถ์ ) ไปไร่อ้อยของลูกไร่ล่ะ
จากโรงงานน้ำตาล จะมีสามเส้นทาง เท่าที่นึกออกตอนนี้นะครับ
เส้นทางแรกไปทางตะวันตก ข้ามทางรถไฟสายเหนือ ไปยังบ้านปลายราง ต.ด่านแม่คำมัน อ.ลับแล
เส้นทางที่สอง เป็นทางแยกจากสายแรกลงไปทางใต้ ผ่าน ต.วังแดง ต.หาดสองแคว อ.ตรอน มีทางแยกไปยังไร่อ้อยลูกไร่ที่บ้านชุมทาง ต.หาดสองแคว เลยไปยังบ้านชำหนึ่ง ชำสอง ชำตก ต.ท่าสัก อ.พิชัย สุดปลายรางใกล้ๆ บึงช่อ ต.บ้านดารา อ.พิชัย
เส้นทางที่สาม นัยว่าข้ามแม่น้ำน่าน ตรงบริเวณวัดท่าทอง ไปยังไร่อ้อยลูกไร่ที่ ต.วังกะพี้ อ.เมืองฯ แต่แนวทางนี้สาบสูญไปนานแล้ว ต้องถามคนเก่าแก่แถวนั้นน่ะครับ ถึงจะได้ความ |
|
Back to top |
|
|
pak_nampho
1st Class Pass (Air)
Joined: 25/06/2007 Posts: 2371
Location: คนสี่แควพลัดถิ่น ทำมาหากิน ที่เกาะภูเก็ต
|
Posted: 12/02/2008 1:20 pm Post subject: |
|
|
black_express wrote: | นั่นแหละครับ เส้นทางรถไฟของบริษัทโรงงานน้ำตาลไทย ( อุตรดิตถ์ ) |
สมัยก่อนคนสูงอายุเรียกโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ว่าโรงงานน้ำตาล วังกะพี้ ตามชื่อบ้านที่ตั้งโรงงานครับ เหมือนโรงงานน้ำตาลที่นครสวรรค์
เรียกคนสูงอายุเรียกโรงงานน้ำตาล บ้านแก่ง ... _________________ +++++++++++++++++ ๑๑๖ ปี รถไฟไทยก้าวไกล....จากรถจักรไอน้ำ +++++++++++++++++
....................บุตร ครฟ. พขร.ตรี แขวงรถพ่วงปากน้ำโพ ................... |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 12/02/2008 1:51 pm Post subject: |
|
|
ใช่ครับ โรงงานแห่งเดียวกัน ชื่อเรียกติดปากชาวอุตรดิตถ์จริงๆ คือ โรงงานน้ำตาลวังกะพี้ ไม่ค่อยเรียกชื่อทางการของโรงงานว่า โรงงานน้ำตาลไทย
ช่วงตกงานหมาดๆ หลังเรียนจบรามฯ ผมเคยไปทำงานช่วงหน้าหีบที่โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ต.ตุ้งตะเภา อ.เมืองฯ ทางบริษัทไทยรวมผล เข้ามาทำกิจการปีแรก มีเด็กนครสวรรค์มาทำงานเพียบ...
ไปๆ มาๆ กิจการเจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นกลุ่มเครือข่ายเอกลักษณ์ ล่ะแฮะ |
|
Back to top |
|
|
|