Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 03/01/2011 12:41 am Post subject:
เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ "รถไฟฟ้า" ปีเถาะ ผลประโยชน์ 3 เส้า "ร.ฟ.ท.-รฟม.-กทม."
วันที่ 03 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4276 ประชาชาติธุรกิจ หน้า 7
มาสเตอร์แปลน หรือแผนแม่บทรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 12 สาย 487 กิโลเมตร มูลค่า 8.3 แสนล้านบาท ของกระทรวงคมนาคม ผ่านการประทับตราจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลมาร์คแล้ว เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553
ปัจจุบันรถไฟฟ้าหลากสีถูกแจกจ่ายไปตามสังกัด หลัก ๆ มี "ร.ฟ.ท." (การรถไฟแห่งประเทศไทย) และ "รฟม." (การรถ ไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ให้เร่งดำเนินการ โดยไล่เรียงครบถ้วนขั้นตอน ตั้งแต่สายทางที่ "เปิดบริการไปแล้ว-กำลังก่อสร้าง-เปิดประมูล-ขออนุมัติประกวดราคา"
"บีทีเอส" ส่วนต่อขยายฉลุย
เริ่มจากรถไฟฟ้าสายแรก "บีทีเอส" ของ เสี่ยคีรี กาญจนพาสน์ รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดบริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เวลาผ่านมา 10 ปี ดัชนีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 แสนเที่ยวคน/วัน มีรายได้ 10 ล้านบาท/วัน รวมระยะทาง 25.7 กิโลเมตร จากสายเดิม 23.5 กิโลเมตร
ล่าสุดสำหรับบีทีเอส คือเมื่อปี 2552 กทม.เพิ่มให้อีก 2.2 ก.ม. จากสถานีตากสิน-วงเวียนใหญ่ และในเดือนสิงหาคม 2554 กทม.เตรียมเปิดบริการเพิ่ม 5.25 กิโลเมตร ช่วง "อ่อนนุช-แบริ่ง" ถัดไป ในปี 2555 ระยะทางจะเพิ่มอีก 5.3 กิโลเมตร จากวงเวียนใหญ่-บางหว้า แน่นอนว่าย่อมทำให้ปริมาณผู้โดยสารบีทีเอสเพิ่มขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย
ใต้ดิน "หัวลำโพง-บางซื่อ" ยังหวิว
มาต่อที่รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก "หัวลำโพง-บางซื่อ" ระยะทาง 20 กิโลเมตร เปิดบริการไปเมื่อกรกฎาคม 2547 ภายใต้การบริหารของกลุ่ม ช.การช่าง ในนาม "บีเอ็มซีแอล" (บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ) ซึ่งรับสัมปทานจาก รฟม.
เผลอแผล็บเดียวรถไฟฟ้าสายนี้กำลังก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แต่ปริมาณผู้โดยสารยังไม่เข้าเป้า ยังเฉลี่ยอยู่ที่ 195,070 คน/วัน ตั้งความหวังว่าจะทะลุ 2 แสนคน/วัน ล่าสุด "คมนาคม" กำลังสาละวนหาหนทางเพิ่มปริมาณผู้โดยสารช่วยอีกแรง ทั้งใช้เทคโนโลยี "Real Time" เช็กที่จอดรถว่างตามสถานี และขอความร่วมมือเอกชนพัฒนาพื้นที่สำหรับทำที่จอดรถ (Park & Ride) มาเสริม
"แอร์พอร์ตลิงก์" เต็มรูปแบบ 4 ม.ค.นี้
อีกสาย "แอร์พอร์ตเรลลิงก์" (รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ของ ร.ฟ.ท.ที่เปิดบริการเชิงพาณิชย์ไปหมาด ๆ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย สำหรับ "รถธรรมดา" (City Line) และ 100 บาท/เที่ยว สาย "ด่วนสุวรรณภูมิ" (Express Line)
ปัจจุบันยังไม่ฉลุยอย่างที่คิด ปริมาณ ผู้โดยสารยังห่างจากประมาณการ คืออยู่ที่ 43,000 คน/วัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 42,200 คน/วัน ด่วนสุวรรณภูมิ 800 คน/วัน แถมยังติดขัดการจัดตั้งบริษัทลูก "บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด" เพื่อมาเดินรถ ล่าสุด ครม.เจียดงบฯ 140 ล้านบาท ไว้ใช้จ่ายเป็นทุนจดทะเบียน แต่ไม่เพียงพอ ยังขาดอีก 1,860 ล้านบาทจึงจะพอเพียง
ตามเป้าหมาย ร.ฟ.ท.เตรียมเปิดบริการเต็มรูปแบบ 4 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
สีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชัน" ยังอืด
ด้านสายทางที่เริ่มก่อสร้าง ตอนนี้เริ่มขึ้นโครงร่างให้เห็นก็มีรถไฟชานเมืองสายสีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชัน" ระยะทาง 15 กิโลเมตร ผู้รับเหมาออกสตาร์ตก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ตามแผนต้องเสร็จวันที่ 15 มกราคม 2555 ปัจจุบัน ผลงานคืบหน้า 40.01% ยังล่าช้าอยู่ 15.25% ติดปัญหารื้อย้ายชุมชนริมทางรถไฟที่เป็นอุปสรรคเหลืออยู่ 323 หลังคาเรือนมีแนวโน้มว่าจะเสร็จไม่ทันตามกำหนด
สีแดง "บางซื่อ-รังสิต" ประมูลข้ามปี
อีกสายที่น่าห่วงไม่แพ้กัน "สายสีแดง" (บางซื่อ-รังสิต) 26 กิโลเมตร ของ ร.ฟ.ท. ที่สุดอืดเป็นแรมปี ทั้งที่ได้เงินกู้จากไจก้า ตั้งแต่มีนาคม 2552 จนปัจจุบันเพิ่งเริ่มกระบวนการเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธา 2 สัญญา ร.ฟ.ท.เปิดให้ผู้รับเหมายื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนสัญญาที่ 3 งานระบบกำหนดยื่นซองวันที่ 17 มกราคม 2554 กว่าจะได้ ผู้รับเหมาน่าจะผ่านกลางปีไปแล้ว
แต่ว่ากันว่าหากผู้รับเหมาไม่เสนอราคาสูงเกินกรอบวงเงิน 75,548 ล้านบาท คาดว่ารถไฟฟ้าสายนี้น่าจะฉลุยเปิดบริการ ปี 2558 แต่ถ้าราคาเกินจนกดไม่ลง คงใช้เวลาพอสมควรที่จะเดินหน้าต่อ เพราะวงเงินที่เกินมาต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.อีกรอบ
สีม่วง "บางใหญ่-บางซื่อ" เร็วกว่าแผน
ขณะที่สายสีม่วง "บางซื่อ-บางใหญ่" ตลอดเส้นทาง 23 กิโลเมตร ผู้รับเหมา เริ่มขึ้นตอม่อบ้างแล้ว ภาพรวมงานโยธาทั้ง 3 สัญญา ผลงานก่อสร้างคืบหน้า 12.68% เร็วกว่าแผน 0.61% ส่วนงานระบบราง รฟม.กำลังเร่งเปิดประมูล หลังได้รับเงินกู้จาก "ไจก้า" องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นแล้ว 3,036 ล้านบาท ส่วนการเดินรถกำลังจัดหาเอกชนมาลงทุนรูปแบบ PPP Gross Cost วงเงิน 13,243 ล้านบาท ยื่นข้อเสนอวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 นี้
น้ำเงินยังลุ้นหลังติดหล่ม "มาร์ค"
ที่น่าสนใจคือ "สายสีน้ำเงิน" (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) 27 กิโลเมตร ที่กำลังจะฉลุย เหลือแค่รอเคาะวันเซ็นสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมา ทั้ง 5 สัญญา หลังปีใหม่ 2554 แท้ ๆ
แต่ต้องมาสะดุดกลางคัน เมื่อ "นายกฯมาร์ค" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ติดดิสก์เบรก รอให้ "คมนาคม" ภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย พิสูจน์ความโปร่งใสของโครงการ หลังมีเสียงร้องเรียนความไม่ชอบมาพากล ทั้งค่าก่อสร้างที่แพงและผู้รับเหมาได้งานล้วนคนคุ้นเคย เรื่องนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงว่ารถไฟฟ้าสายนี้ส่อแววจะถูกดึงจนกว่าวันเลือกตั้งจะมาถึงโน่นเลยทีเดียว
เขียวอ่อน-เขียวแก่ยังติดหล่ม
ส่วนที่จะเปิดประมูลปี 2554 มี 2 สาย คือสายสีเขียวอ่อน "แบริ่ง-สมุทรปราการ" หลัง รฟม.เคลียร์แบบเรียบร้อยแล้ว กำลังสำรวจการเวนคืนที่ดิน 243 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 93 หลังคาเรือน คาดเปิดขายแบบเดือนกุมภาพันธ์นี้ และเปิดบริการปี 2558
ตามมาด้วยสายสีเขียวแก่ "หมอชิต-สะพานใหม่" ขณะนี้ รฟม.กำลังเร่งเคลียร์แบบรายละเอียดโครงการและจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่ม หลัง กทม.ไม่ยอมให้ที่ดินสำนักงานเขตบางเขน สร้างอาคารจอดรถ และย้ายศูนย์ซ่อมบำรุง (ดีโป้) จากฐานทัพอากาศดอนเมืองไปที่ลำลูกกา คลอง 2 แทน
ดัน "ชมพู" เป็นโมโนเรล
ที่มาแรงอีกสายคือ สีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) หลังรัฐบาลสั่งให้เร่งรัดโครงการ เพื่อแก้ปัญหาจราจรย่านแจ้งวัฒนะที่วิกฤตหนักหลังเปิดศูนย์ราชการแห่งใหม่ ทาง รฟม.เจ้าของโครงการรับลูกทันที ปัจจุบันกำลังหาบริษัทที่ปรึกษาทบทวนแบบและทำเอกสารประกวดราคาในรูปแบบดีไซน์แอนด์บิลด์ให้เอกชนมาร่วมลงทุนทั้งหมด หลังเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นโมโนเรล
ม่วงใต้ "เกียกกาย" รับรัฐสภาใหม่
ตามมาด้วย "สายสีม่วงส่วนใต้" ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่เลื่อนชั้นโครงการแจ้งเกิดเร็วขึ้น เพื่อรับกับรัฐสภาแห่งใหม่ โดย รฟม.กำลังจ้างที่ปรึกษามาศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ โดยมอบโจทย์ให้ 3 ข้อ คือ ระยะที่ 1 "ช่วงเตาปูน-อาคารรัฐสภาใหม่" 1.5 กิโลเมตร ตั้งเป้าให้เสร็จพร้อมอาคารรัฐสภาใหม่ เดือนธันวาคม 2557 ระยะที่ 2 "ช่วงอาคารรัฐสภาใหม่-วังบูรพา" แผนเปิดบริการพฤศจิกายน 2557 และระยะที่ 3 "ช่วงวังบูรพา-ราษฎร์บูรณะ"มีแผนเปิดบริการธันวาคม 2562
สีส้มแบ่ง 3 เฟส
เช่นเดียวกับสายสีส้ม "ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี" หลังปรับแนวใหม่บางช่วง ล่าสุด รฟม.กำลังให้ที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ ที่ 1 "ช่วงดินแดง-บางกะปิ" ที่จะดำเนินการได้ก่อนเพราะผ่านอีไอเอและมีแบบเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว คาดว่าเปิดบริการเดือนธันวาคม 2559
ระยะที่ 2 "ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี" มีแบบเบื้องต้นแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม คาดเปิดบริการมกราคม 2561 ส่วนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ "ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม" คาดว่า เปิดบริการปี 2562
อีก 4 สายร้องเพลงรอ
ปิดท้ายที่ส่วนต่อขยายที่อยู่ระหว่างจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอ ครม. มีหลายสาย ทั้งสีแดง (รังสิต-ธรรมศาสตร์) เงินลงทุน 5,012 ล้านบาท ยังติดจัดทำรายงานอีไอเอและแหล่งเงินลงทุนโครงการ
สีแดง (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน) วงเงิน 36,947 ล้านบาท ออกแบบรายละเอียดแล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน อีไอเอ สีแดง (รถไฟเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง) "ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง" วงเงิน 32,989 ล้านบาท แบบรายละเอียดเสร็จแล้ว กำลังปรับปรุงรายงานอีไอเอ
สีเขียว (สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 22,134 ล้านบาท มีแบบรายละเอียดแล้ว รอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหลังขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใหม่
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 04/01/2011 2:37 am Post subject:
เปิดขุมทรัพย์เมกะโปรเจกท์1.6แสนล. อย่าให้เกิดข้อครหาไม่โปร่งใสซ้ำรอย (รายงานพิเศษ)
ข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อังคารที่ 4 มกราคม 2554 01:53:41 น.
ในปี2553ที่ผ่านมา โครงการลงทุนขนาดใหญ่(เมกะโปรเจกท์) ของ กระทรวงคมนาคม ภายใต้การกำกับดูแลของ "อดีตครูบ้านนอก" อย่าง โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม พบว่าหลายโครงการ "เข็นไม่ขึ้น" เจอข้อข้อครหาถึงความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะโดยตรวจสอบโครงการจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ โครงการเช่ารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หรือ "รถเมล์เอ็นจีวี" ฉาว 4,000 คัน ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่จนถึงเวลานี้ยังลงนามกับผู้รับเหมาไม่ได้
ดังนั้นต้องจับตาโครงการที่จะเปิดประมูลในปี2554จะอื้อฉาวซ้ำรอยหรือไม่
โดยโครงการลงทุนในปีนี้ที่น่าจับตาคือ โปรเจทค์รถไฟฟ้า มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทั้ง สายสีเขียว 2 เส้นทาง มูลค่ารวมประมาณ 64,832 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ปากเกร็ด-มีนบุรี ,สายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรม-ดินแดง และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วังบูรพา วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท
สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการ รฟม. เปิดแผนลงทุนในปี2554ว่า ในส่วนโครงการลงทุนก่อสร้างรถฟ้าสายสีเขียว 2 เส้นทาง จะแบ่งเป็น สายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 13 กิโลเมตร และสีเขียวอ่อน แบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 14 กิโลเมตร ซึ่งในเดือนมกราคม นี้ รฟม.จะมีการประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนก่อน เนื่องจากโครงการมีความพร้อม ทั้งแบบการก่อสร้าง รวมทั้งได้ผ่านความเห็นชอบการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนสายสีเขียวเข้ม ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพิ่มเติม หลังจากรฟม.ได้มีการปรับแบบก่อสร้างสถานีจากเดิมที่จะใช้พื้นที่ของ สำนักงานเขตบางเขน มาใช้พื้นที่บริเวณวงเวียนหลักสี่แทน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปี 2554 จากนั้นคาดว่าในช่วงกลางปี 2554 จะสามารถประกาศเชิญชวนผู้ที่สนในเข้าร่วมลงทุนได้
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู,สายสีส้ม และสายสีม่วง นั้น กระทรวงคมนาคมได้จัดเตรียมเอกสารรายละเอียดของโครงการไว้อย่างครบถ้วน เพื่อเตรียมที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการประกวดราคาหาผู้รับเหมาเข้าดำเนินโครงการแล้ว ในช่วงต้นปี 2554 นี้ กระทรวงคมนาคม จะมีการนำเสนอโครงการไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบและเสนอของบประมาณมาดำเนินโครงการโดยในสายแรกที่จะเร่งสร้างก่อนคือสายสีชมพู ซึ่งเป็นสายที่สอดรับกับการเปิดใช้ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เต็มรูปแบบ มีระยะทาง 29.9 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้างรวมประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบการก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล เพื่อความรวดเร็วและประหยัดพื้นที่การก่อสร้าง โดยรฟม.ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ช่วงประมาณปลายปี 2554 นี้จะเร่งเปิดประกาศเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนเข้าร่วมโครงการ
ส่วนสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรม-ดินแดง ระยะทาง 12 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท นั้น ล่าสุดรฟม.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ จะเร่งเปิดประมูล และดำเนินงานการก่อสร้าง ช่วงบางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรม-ดินแดง ก่อน เพราะเป็นโครงสร้างแบบใต้ติน และมีแนวเส้นทางที่ต้องเร่งก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร แต่คาดว่าคงจะเป็นประมาณปลายปี 2554 ไปแล้ว ที่ผ่านมาโครงการได้ผ่านการเห็นชอบรายงานผลศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ขณะที่เส้นทางในช่วงบางบำหรุ-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 12 กิโลเมตร และช่วงบางกะปิ-มีนบุรี ระยะทาง 11 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบยกระดับนั้น จะต้องมีการของบประมาณเพื่อศึกษาความเหมาะสมอีกครั้ง
ขณะที่สายสุดท้าย คือสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วังบูรพา ระยะทาง 8 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท นั้น จากเดิมที่โครงการดังกล่าวถือว่าถูกจัดลำดับให้อยู่ในลำดับท้ายๆ ของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท แต่เมื่อรัฐบาลมีโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณเกียกกาย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้อยู่ตามแนวเส้นทางของสายสีม่วงด้วย ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมีการจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยหยิบยกโครงการนี้ขึ้นมาเร่งก่อสร้าง โดยจากการศึกษาแนวเส้นทางเดิมนั้น ที่ปรึกษาได้ศึกษารูปแบบไว้ 3 แนวทาง คือ 1.การก่อสร้างสถานีเพิ่มเพียง 1 สถานี คือสถานีเกียกกาย ซึ่งเป็นสถานีแรกต่อมาจากสถานีเตาปูน 2.การก่อสร้างเส้นทางถึงสถานีวังบูรพา เพื่อเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ3.สร้างเส้นทางยาวถึงราษฎร์บูรณะ ซึ่งทางรฟม.ก็ได้สรุปว่าจะใช้แนวทางที่ 2 ซึ่งถือว่าเหมาะสมที่สุด เนื่องจากจะเป็นการเชื่อมต่อเส้นทาง และสามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารเข้าระบบได้มากขึ้น
คุณสุพจน์ บอกว่า ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น จะต้องรอความชัดเจนก่อนว่ารัฐบาลจะเริ่มการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ และสามารถก่อสร้างเสร็จสิ้นเมื่อใด เพื่อพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสมในการผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้มีระยะเวลาสอดคล้องกัน โดยในเบื้องต้นเมื่อกระทรวงคมนาคม ได้เสนอขออนุมัติโครงการในต้นปี 2554 นี้ คาดว่าในช่วงประมาณปลายปี 2554 จะเริ่มประกาศประกวดราคาได้
"สายสีชมพูจะเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล คงประกาศประกวดราคาได้ประมาณปลายปี 2554 ซึ่งใช้รูปแบบ PPP-Gross Cost โดยผู้ได้รับงานจะได้งานเพียงรายเดียว ทั้งสำรวจออกแบบ ก่อสร้าง และเดินรถ ส่วนรฟม.จะจ้างเอกชนเดินรถ และจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสารเอง ส่วนสายสีส้ม คงทำก่อนในช่วงที่เป็นอุโมงค์ เพราะมีความสำคัญเป็นอย่างมากและสีม่วงนั้นต้องเร่งสร้างเพราะจะใช้รองรับรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย"
นอกจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม. ทั้ง 5 เส้นทางแล้ว รวม1.6แสนล้านบาทแล้ว ยังโครงการที่ดำเนินการตามขั้นตอนประกวดราคาไปในปี2553 และคาบเกี่ยวมายังปี2554 เช่น โครงการ คือโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มูลค่า 77,000 ล้านบาท ที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดขายเอกสารการประกวดราคา และกำหนดให้ผู้ที่เข้าซื้อเอกสาร เข้ายื่นข้อเสนอการประกวดราคา ไปแล้วในสัญญาที่ 1 คืองานงก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและอาคารซ่อมบำรุง และสัญญาที่ คือ งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ - รังสิต ระยะทาง 21 กิโลเมตร ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า มีผู้สนใจประกอบด้วย
1.S.U. Joint Venture ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัทชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ,2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ3. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ส่วนสัญญาที่ 3 ซึ่งเป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า (ทั้งบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 26,272 ล้านบาท นั้น หลังจากที่ร.ฟ.ท.ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 20 กันยายนถึง 1 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ที่สนใจเข้าซื้อเอกสารรวม 19 ราย ซึ่งเป็นผู้รับเหมาของประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งในขั้นตอนต่อไปร.ฟ.ท.ได้กำหนดให้ผู้ที่สนใจซื้อเอกสารทั้งหมด เข้ายื่นข้อเสนอประกวดราคาในวันที่ 17 มกราคม 2554 นี้
คงต้องจับตาดูกันอีกครั้ง ว่า เมะกะโปรเจกท์ภายใต้การขับเคลื่อนของ "โสภณ" จะเจอตอเรื่องข้อครหาความโปร่งใสอีกหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงจะเร่งเดินหน้าก่อนอายุรัฐบาลนี้จะหมดลง
วสวัตติ์ โอดทวี รายงาน
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44054
Location: NECTEC
Posted: 04/01/2011 11:54 pm Post subject:
ขณะนีั้มีการจัดตั้งบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด เพื่อทำตั๋วร่วมระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอสและ รถไฟใต้ดิน และ ตั๋วร่วมอื่นๆ ดูได้ที่นี่ครับ
http://www.bss.co.th/index.php
หวังใจว่า จะทำตั๋วร่วม 3 ระบบเข้าด้วยกัน จะไปได้สวยมาก
ส่วนหัวข้อข่าวเรื่องตั๋วร่วม ของ BSS ที่จะทดลองใช้เดือนเมษายน 2011 นั้น ดูได้ที่นี่ครับ
Common ticket for Skytrain and subway
โดย Asina Pornwasin
หน้า Technology
The Nation 3 มกราคม 2011
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 11/01/2011 7:16 am Post subject:
เล็งผุด 3 สะพานข้ามเจ้าพระยาหมื่นล้าน
เขียนโดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
วันศุกร์ที่ 07 มกราคม 2011 เวลา 10:51 น.
กทม.แก้ปัญหาจราจรพื้นที่ฝั่งธนเข้ากรุง รองรับปริมาณจราจร 1.5 ล้านคันต่อวัน ทุ่มเฉียด10,000ล้าน ดันสร้าง อีก3 โปรเจ็กต์ยักษ์ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ สะพานบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง/ถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม /ถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร ขีดแนวเวนคืนไม่ต่ำกว่า 1,000 หลังคาเรือน หลังเดินหน้าลุยสะพานเกียกกาย จ้างที่ปรึกษา "เอฟซีลอน" 1 ปีศึกษาให้จบภายในปีนี้ / ลุยเวนคืนสร้างปี2555
นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในปีงบประมาณ2554 (ตุลาคม 2553-กันยายน 2554) กทม. ได้ว่าจ้างบริษัท เอฟซีลอน จำกัด วงเงินกว่า 100 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสม ของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง บริเวณ ถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒารามและโครงการก่อสร้างสะพานบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร ขนาด 6 ช่องจราจร โดยทั้ง 3โครงการใหม่ จะดำเนินการต่อจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายซึ่งอยู่ในกลุ่มแผนงานเดียวกัน
อย่างไรก็ดี มองว่ามีความจำเป็นและเหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ย่านฝั่งธน ยังขาดแคลนสาธารณูปโภคค่อนข้างมาก ที่จะใช้สัญจร เชื่อมมายังฝั่งพระนคร โดยเฉพาะ ตลอดแนวมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นกลาง มีความยาวเกือบ 100 กิโลเมตร แต่กลับมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยารองรับเพียง 5-6 สะพานในเขตพื้นที่ กทม. จากทั้งหมด 11 สะพาน เมื่อรวมจังหวัดในปริมณฑล ซึ่งแต่ละวันต้องใช้เวลาเดินทางค่อนข้างนานหลายชั่วโมง
ขณะเดียวกันจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ปริมาณจราจรผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณฝั่งธนที่เชื่อมกับฝั่งพระนคร มีปริมาณมากถึง 1,500,000 คันต่อวัน และแนวโน้มในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว แต่ปัจจุบันสะพานดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณจราจรได้เพียง 800,000-900,000 คันต่อวันเท่านั้น ส่งผลให้มีปริมาณจราจรหนาแน่นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน อย่างเช่น ย่านสาทร มีปริมาณรถสะสมมากและต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ถนนจันทน์ใช้เวลาเดินทาง 2ชั่วโมง ทางออก จึงต้องเร่งสร้าง สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด เพราะหากล่าช้าจะทำให้กทม.และพื้นที่โดยรอบมีผลกระทบมากขึ้นจากปัญหาจราจร
นายจุมพลกล่าวอีกว่า สำหรับ โครงการทั้ง 3 แห่งนี้ แต่ละโครงการจะใช้งบประมาณเฉลี่ย 2,000- 3,000 ล้านบาท เพราะนอกจากงานก่อสร้างตัวสะพานที่ใช้งบ1,000 ล้านบาท แล้ว ยังต้องสร้างถนนเชื่อมต่อด้วย อาทิ ทางขึ้น-ลง แต่จะให้กระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุดโดยจะเน้นก่อสร้างตัวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและใช้แนวถนนเดิมเป็นหลักซึ่งอาจจะขยายเขตทางเพิ่มจาก เดิม 4 ช่องจราจรเป็น 6-8 ช่องจราจร หรือ หากถนนเดิมมีความกว้างแล้ว อาจจะไม่จำเป็นต้องขยายเขตทางเพิ่มก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญโครงการนี้จะต้องเชื่อมโครงข่ายจราจรและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้รถใช้ถนนโดยภาพรวมได้
ขณะเดียวกันหากพบว่าผลการศึกษาไม่เหมาะสม อาจขยับแนวไปสร้างยังพื้นที่อื่นที่เหมาะสมได้ ที่สำคัญยังมอบให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมเพิ่มเติมที่จะสร้างสะพานในอนาคตต่อไป และหากผลการศึกษาได้ข้อสรุป ในปี 2555 สามารถเดินหน้าสำรวจเวนคืนที่ดินและก่อสร้างได้ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 1-2ปี
"สะพานทั้ง 3 แห่ง จะเป็น 1ใน4 ของแผนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสะพานแรกต้องเร่งก่อสร้างคือสะพานบริเวณถนนเกียกกาย ซึ่งบ้านเราถือว่ามีสะพานน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่มีนับร้อยสะพาน เพราะอะไรที่เป็นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ คู คลอง ที่ดินริมแม่น้ำ จะถือเป็นเขตหวงห้าม ไม่ให้เข้าใช้ประโยชน์ และภาครัฐสามารถเข้าทำสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ "
สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ท่าน้ำราชวงศ์-ท่าดินแดง มีจุดเริ่มต้นโครงการบนถนนราชวงศ์ บริเวณบรรจบกับถนนทรงวาดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปลงตามแนวถนนท่าดินแดง โดยมีขนาด 4-6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 450 เมตร มูลค่า 1,000-2,000 ล้านบาท ค่าชดเชยเพื่อการเวนคืน 100 ล้านบาท สะพานแห่งนี้ช่วยแบ่งเบาภาระจราจรท้องถิ่นบริเวณพื้นที่ส่วนกลางจากสะพานพุทธและสะพานพระปกเกล้าและจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ลดความแออัดคับคั่งและช่วยประหยัดพลังงานและเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร ขนาด 4-6 ช่องจราจร มูลค่า 3,260 ล้านบาท ค่าชดเชยเพื่อการเวนคืน 1,500 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณถนนเจริญกรุงบริเวณโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามแนวถนน เจริญนครจนไปบรรจบถนนราษฎร์บูรณะ และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณลาดหญ้า-มหาพฤฒารามมีจุดเริ่มต้นบริเวณถนนมหาพฤฒารามไปตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามแนวถนนลาดหญ้าจนบรรจบทางแยกคลองสาน มีขนาด 6ช่องจราจรระยะทาง 210 เมตร มูลค่า2,400ล้านบาท ค่าชดเชยเพื่อการเวนคืน กว่า 800ล้านบาท
" สะพานแห่งนี้จะช่วยเชื่อมโครงข่ายถนนระหว่าง2ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยบรรเทาความคับคั่งของปริมาณจราจรบนถนนพระราม4และเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟโดยจะเชื่อมต่อบริเวณสถานีหัวลำโพงกับศูนย์คมนาคมขนส่งตากสินและรถไฟสายแม่กลองในอนาคตซึ่งช่วยร่นระยะทางลงสู่ภาคใต้ได้ "
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,599 9-12 มกราคม พ.ศ. 2554
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 11/01/2011 10:18 am Post subject:
ส.ว.สวดยับ'ไทยไม่เข้มแข็ง'
เดลินิวส์ วันอังคาร ที่ 11 มกราคม 2554 เวลา 9:17 น
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ สั้นมากกว่าสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โครงการส่วนมากเป็นการกระตุ้นการบริโภค ไม่เห็นว่าจะมีโครงการไหนที่ทำให้คนไทย เข้มแข็งจริง จึงอยากเสนอให้การจัดทำงบประมาณปี 2555 เน้นโครงการขนาดใหญ่ที่จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า โดยภาครัฐควรเร่งเพิ่มการ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งและขนส่งมวลชน สร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เน้นลงทุนระบบชลประทานขนาดใหญ่ การนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต.
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 12/01/2011 8:03 am Post subject:
'สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์' แจงแผนเร่งรัดรถไฟฟ้า
Wednesday, 12 January 2011 05:48
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการจราจรติดขัดเป็นอันดับ 4 ของโลก เรามีรถยนต์ในกรุงเทพฯ ราว 3 ล้านคัน แต่ถนนของเรามีไม่เพียงพอกับปริมาณรถยนต์ดังกล่าว ปัจจุบันมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพียง 5% เท่านั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะเร่งรัดระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น
"สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์" ในฐานะหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรในเขตเมือง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และในฐานะอนุกรรมการด้านขนส่งมวลชนระบบรางของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย และร่วมจัดทำกรอบนโยบายการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน 5 สายทาง 7 โครงการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน สายสีเขียวเข้ม และสายสีเขียวอ่อน ตลอดจนการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นผู้พัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ระบบรถไฟด่วน และรถไฟความเร็วสูง ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าของไทยไว้ดังนี้
ปัจจุบัน โครงข่ายขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วเพียง 74 กิโลเมตร และกว่าที่จะพัฒนามาถึงตรงนี้ได้ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม โดยในระยะทาง 74 กิโลเมตรนี้เป็นของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ระยะทาง 20 กิโลเมตร มีปริมาณผู้ใช้บริการ 270,000 คน/วัน สายแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ระยะทาง 28 กิโลเมตร มีปริมาณผู้โดยสาร 43,000 คน/วัน โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส ระยะทาง 24 + 2.2 กิโลเมตร มีปริมาณผู้โดยสาร 430,000 คน/วัน 36
ทั้งนี้ การดำเนินงานของรัฐบาลในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ผ่านมาค่อนข้างมีความล่าช้า โดยหากย้อนกลับไปดูมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ครม. ได้เห็นชอบโครงข่ายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระยะ เร่งด่วน 7 สาย ระยะทาง 291 กิโลเมตร ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ได้ให้ดำเนินงานรถไฟฟ้าใน 5 เส้นทาง ระยะทาง 137 กิโลเมตร ถัดมาในปี 2550 ได้กำหนดนโยบายระบบขนส่งมวลชนทางราง จากนั้นในวันที่ 18 มีนาคม 2551 รัฐบาลได้ให้ดำเนินโครงการ 5 สายทาง 7 โครงการ ระยะทาง 145 กิโลเมตร และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ครม. ได้เห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน 12 สาย ระยะทาง 509 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
ในระยะ 10 ปีแรก ที่จะเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2562 มีระยะทางรวม 155 กิโลเมตร ซึ่งประกอบไปด้วย
1) สายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร
2) สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 17.5 กิโลเมตร ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร
3) สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กิโลเมตร
4) สายสีเขียว ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กิโลเมตร ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส ระยะทาง 1 กิโลเมตร
5) สายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-บางบอน ระยะทาง 18 กิโลเมตร
6) สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14 กิโลเมตร และ
7) สาย Airport Link ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 21 กิโลเมตร
สำหรับความความคืบหน้าในการดำเนินงานในรถไฟฟ้าสายต่างๆ นั้น ในส่วนของสายสีเขียว จากตากสิน- บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งอยู่ในการดำเนินงานของ กทม. จะดำเนินการอย่างไรให้ระบบใหม่นี้เข้ากันได้กับระบบเดิมที่บีทีเอสดำเนินการอยู่โดยไม่ขัดข้อง จึงทำให้ กทม. ต้องชะลอการเปิดให้บริการเพื่อทำให้ระบบเป็นระบบเดียวกัน โดยในช่วงตากสิน-บางหว้า จะเปิดให้บริการธันวาคม 2554 ส่วนช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวสิงหาคม 2554
ด้านสายสีแดง ช่วงจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน เริ่มมีความคืบหน้าแล้ว มีการก่อสร้างงานโยธา โดยทำโครงสร้างให้สามารถวิ่งรถได้ทุกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติให้มีการซื้อรถไฟฟ้าเพื่อให้บริการในช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยงานโยธาจะแล้วเสร็จในปี 2555 จากนั้นก็เป็นงานระบบ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2558 พร้อมกับช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ได้เปิดขายแบบไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าประมาณเดือนมิถุนายน 2554 จะเริ่มลงมือได้
สำหรับการก่อสร้างสถานีรถไฟกลางบางซื่อ ที่จะใช้แทนหัวลำโพง เป็นผลงานการออกแบบของ สนข. ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการออกแบบเป็นแบบโพสต์โมเดิร์น โดยนำรูปแบบของหัวลำโพงมาใช้ ที่นี่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ที่จะเป็นศูนย์การคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ และจะมีการพัฒนาทางด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่อยู่อาศัย และอาคารสูงอย่างมากในอนาคต ในอนาคตรูปแบบของย่านบางซื่อจะเปลี่ยนไป ที่ดินจะมีมูลค่ามากขึ้น
ส่วนช่วงบางซื่อ-รังสิต จะใช้ฐานรากของโฮปเวลล์ในบางส่วน และบางส่วนต้องกันไว้ใช้ในโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ที่จะเชื่อมสนามบินสองแห่งเข้าด้วยกัน สามารถเดินทางหากันได้ในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการสนามบิน
โดยในเส้นทางช่วงรังสิตเดิมที่จะหยุดแค่รังสิต แต่การรถไฟฯ มีแผนที่จะขยายเส้นทางไปถึงนวนคร เพื่อรองรับการใช้งานและทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ของศูนย์รังสิต ในการพัฒนาผังเมืองซึ่งขณะนี้การออกแบบได้แล้วเสร็จแล้ว และจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป และต้องร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดศูนย์การเรียนรู้สำหรับชุมชนเมืองต่อไป
ในส่วนของสายสีม่วง ขณะนี้การก่อสร้างในส่วนของงานโยธามีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยทาง สนข. ได้ออกแบบให้สถานีที่สะพานพระนั่งเกล้า สามารถที่จะเชื่อมต่อการเดินทางทางน้ำได้ด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน โดยในสิ้นปี 2557 ก็จะแล้วเสร็จ โดยรัฐลงทุนที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และจะให้เอกชนเข้ามาลงทุนในการเดินรถ และจัดเก็บรายได้โดยมีส่วนแบ่งให้รัฐ
หากเรามองไปข้างหน้าในปี 2572 รัฐจะมีโครงข่ายขนส่งระบบรางราว 250 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางในพื้นกรุงเทพฯ ราว 73 กิโลเมตร ซึ่งการเชื่อมเส้นทางต่างๆ เข้าด้วยกัน จะต้องทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไม่แพง โดย สนข. ได้ศึกษาในเรื่องการทำตั๋วร่วมซึ่งจะทำให้ราคาค่าโดยสารลดลงได้ โดยใช้สูตร ค่าแรกเข้า 18 บาท + 2 x (x = ระยะทาง) หมายความว่าทุก 1 กิโลเมตร ผู้ใช้บริการจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 2 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ทางฝ่ายรัฐเองไม่ได้คำนึงว่าจะต้องมีรายได้สูงสุดจากการให้บริการเหมือนกับที่ภาคเอกชนทำกัน แต่จะต้องให้บริการในราคาที่เป็นธรรมที่ผู้โดยสารอยากจ่าย และการให้บริการต้องมีคุณภาพด้วย ต้องมีรถให้บริการอย่างพอเพียงกับความต้องการในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้ใช้บริการจะมีใช้จ่ายในการเดินทางไป/กลับต่อวันไม่เกิน 80 บาท
นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะต่อขยายสายสีม่วงในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในให้ได้ภายใน 1 ปีข้างหน้า ส่วนสีน้ำเงินขณะนี้การประกวดราคาทั้งหมดเรียบร้อยหมดแล้ว ส่วนเรื่องการเดินรถรัฐบาลจะเป็นฝ่ายเก็บค่าโดยสารเอง และจ่ายค่าเดินทางให้เอกชนตามระยะทางที่ให้บริการจริง โดยจะสามารถเปิดให้บริการได้ราวปี 2559 ซึ่งจะทำให้การเดินทางเป็นวงรอบ และสามารถเชื่อมกับสายสีน้ำเงินที่บางแค และสายสีฟ้าที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ เดิมทีได้ออกแบบโดยจะใช้พื้นที่ของสำนักงานเขตบางเขนเป็นสถานที่สร้างสถานี ต่อมาทาง กทม. ได้ปฏิเสธที่จะให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว จึงต้องมีการออกแบบใหม่ให้ไปใช้สถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู แต่อย่างไรก็ตามเราจะดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
ในขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะขยายถนนด้านล่างหรือไม่ แต่ทั้งนี้จะดำเนินการให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด คาดว่าภายในเดือนมกราคมปีนี้ จะสามารถประกวดราคาได้ ส่วนการดำเนินงานในสายสีส้ม จะพยายามทำให้เร็วที่สุด คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า จะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ
ทั้งหมดนี้ เป็นความคืบหน้าของแผนและการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ที่ทุกฝ่ายต่างเฝ้ารอมานาน ที่จะมีความคืบหน้ามากที่สุดในปีนี้ เพราะเป็นปีที่เริ่มมีการประกวดราคาในสายต่างๆ กันค่อนข้างคึกคัก และในปีนี้จะเป็นปีที่มีงานก่อสร้างรถไฟฟ้ามากที่สุด ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-5 ปีกว่าที่งานโยธาจะแล้วเสร็จ ระหว่างนี้คงต้องอดทนกับปัญหาการจราจรติดขัดจากงานก่อสร้าง แต่อีกไม่นานกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีระบบการขนส่งในเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีความสะดวกและรวดเร็ว เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ทั่วโลก
สรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์
หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรในเขตเมือง สนข.
สำนักพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร (ชั้น 4) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เลขที่ 35 ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400
โทร. 0-2215-1515 ต่อ 4023
ประวัติการศึกษา
ปริญญาโท : คณะรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต, University of Kent at Canterbury ประเทศอังกฤษ
ประวัติการงาน
- เป็นผู้ดำเนินงานด้านโครงการรถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2547 - ปัจจุบัน
- เป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง
- เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการจัดทำแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 วงเงิน 176,808 ล้านบาท
- อนุกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย ด้านขนส่งมวลชน ระหว่างปี 2551-2552
--ที่มา: บิลเดอร์ นิวส์ ฉบับที่ 164 ปักษ์แรก มกราคม 2554
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 12/01/2011 2:57 pm Post subject:
การดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
มติคณะรัฐมนตรี -- พุธที่ 12 มกราคม 2554 14:07:22 น.
คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
1. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง
2. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เพื่อพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ ให้เกิดความชัดเจนเพื่อดำเนินการต่อไป
3. อนุมัติให้ รฟม. โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2552 ของโครงการศึกษาและออกแบบโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายวงแหวนรอบในตามแนวถนนรัชดาภิเษก จำนวน 400 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจากค่าจ้างที่ปรึกษาฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 34.154 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานช่วงก่อนการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จำนวน 140 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี จำนวน 210 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคม รายงานว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ และโครงการที่อยู่ระหว่างจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยสรุปสถานะโครงการต่างๆ ดังนี้
1. โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ
1.1 โครงการที่เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบรถไฟขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Airport Rail Link) ซึ่งเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 โดยเก็บค่าโดยสารในอัตราพิเศษ 15 บาทต่อเที่ยวสำหรับรถไฟฟ้าธรรมดาสุวรรณภูมิ (City Line) และ 100 บาทต่อเที่ยวสำหรับรถไฟฟ้าด่วนสุวรรรรณภูมิ (Express Line) พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึงระดับ 43,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าธรรมดาสุวรรณภูมิ 42,200 คนต่อวัน และผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าด่วนสุวรรรรณภูมิ 800 คนต่อวัน ทำให้จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 35,400 คนต่อวัน และ 27,900 คนต่อวันในช่วงวันหยุด ซึ่งเป็นปริมาณผู้โดยสารที่ใกล้เคียงกับประมาณการ ทั้งนี้ เมื่อระบบ Check-in สำหรับผู้โดยสารสายการบินที่สถานีมักกะสันเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2554 แล้ว จะเก็บค่าโดยสารในอัตราปกติ คือ รถไฟฟ้าธรรมดาสุวรรณภูมิ 15-45 บาทต่อเที่ยวตามระยะทาง และรถไฟฟ้าด่วนสุวรรณภูมิ 150 บาทต่อเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริมาณผู้โดยสารโดยเฉพาะผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าด่วนสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้น ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อบริหารจัดการเดินรถ Airport Link แล้ว
1.2 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาและประกวดราคา จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้าร้อยละ 36.00 (ช้ากว่าแผนร้อยละ 8.68) (สิ้นเดือนกันยายน 2553) คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
2) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อยู่ระหว่างการประกวดราคา โดยมีกำหนดยื่นข้อเสนอในเดือนธันวาคม 2553 คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้าร้อยละ 7.31 (แผนร้อยละ 7.93) (สิ้นเดือนกันยายน 2553) และ รฟม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวนและขอบเขตการดำเนินงาน คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2559
4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับจ้างงานโยธา ซึ่งคณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 มีมติอนุมัติให้ รฟม. ว่าจ้างผู้รับจ้างสัญญาที่ 1-5 วงเงินรวม 51,747.62 ล้านบาท โดยได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 มีมติรับทราบผลการประกวดราคางานโยธา สัญญาที่ 1-5 และให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการตรวจสอบและกำกับติดตามการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามข้อกฏหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันค่าเงินบาท ได้มีอัตราที่แข็งขึ้นกว่าช่วงเวลาที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินโครงการฯ ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 กระทรวงคมนาคมจึงควรรับไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการในขั้นการจัดทำสัญญาให้สะท้อนกับค่าเงินบาทในปัจจุบันด้วย สำหรับงานคัดเลือกผู้รับจ้างงานระบบรถไฟฟ้ากระทรวงคมนาคมได้นำเสนอ สศช. พิจารณารายงานการศึกษารูปแบบการลงทุนและการเดินรถในลักษณะ PPP-Gross Cost ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2559
1.3 โครงการที่เตรียมเปิดการประกวดราคา รวม 2 โครงการ ประกอบด้วย
1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ อยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคางานโยธา โดย รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน สำหรับงานคัดเลือกผู้รับจ้างงานระบบรถไฟฟ้า กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอ สศช. พิจารณารายงานศึกษารูปแบบการลงทุนและการเดินรถในลักษณะ PPP-Gross Cost ตามขั้นตอนว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ อยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคา สำหรับงานคัดเลือกผู้รับจ้างงานระบบรถไฟฟ้า กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอ สศช. พิจารณารายงานศึกษารูปแบบการลงทุนและการเดินรถในลักษณะ PPP-Gross Cost ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
2. โครงการที่อยู่ระหว่างจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมของโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ที่เห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในระยะ 10 ปีแรก (เปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2562) ประกอบด้วยโครงการที่ต้องเร่งจัดเตรียม รวม 7 โครงการ ดังนี้
1) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
2) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA ตามข้อเสนอของ สผ. คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2559
3) โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานกรุงเทพ (Airport Rail Link ส่วนต่อขยาย) ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ สนข. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA ตามข้อเสนอของ สผ.
4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสะพานใหม่-คูคต ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จอยู่ระหว่าง สผ. พิจารณารายงาน EIA ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อสร้างโครงการต่อไป
5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นแล้วเสร็จ โดยสำนักงบประมาณได้อนุมัติให้ รฟม. โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 ของโครงการศึกษาและออกแบบฯ โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายวงแหวนรอบในตามแนวถนนรัชดาภิเษก จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จำนวน 34.154 ล้านบาท
6) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ แบ่งแผนดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ช่วงเตาปูน-อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (1.5 กิโลเมตร) โดย รฟม. ได้วางแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมกับการเปิดใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2557 ระยะที่ 2 ช่วงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ - วังบูรพา เพื่อความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด ในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะที่ 3 ช่วงวังบูรพา-ราษฎร์บูรณะ
โดยคณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานช่วงก่อนการก่อสร้างโครงการฯ จำนวน 140 ล้านบาท (ทบทวนความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ในส่วนโครงสร้างยกระดับ และออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) ในส่วนโครงสร้างใต้ดิน จัดทำเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535)
7) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี แบ่งแผนดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ ระยะที่ 2 ช่วงบางกะปิ- มีนบุรี ระยะที่ 3 ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม
โดยคณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานช่วงก่อนการก่อสร้างโครงการฯ จำนวน 210 ล้านบาท (ศึกษา/ทบทวนความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) สำหรับโครงสร้างยกระดับ และออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) สำหรับโครงสร้างใต้ดิน จัดทำเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535)
3. ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไข
3.1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่
การปรับแบบเพื่อเป็นสถานีร่วมระหว่างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ กับสถานีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ รฟม. ได้ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่สำนักงานเขตบางเขนเพื่อก่อสร้างโครงการ เนื่องจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แจ้ง รฟม. ว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ จึงได้พิจารณาปรับปรุงการออกแบบสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ กับสถานีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ให้เป็นสถานีร่วม (Interchange Station) บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อให้อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการปรับแบบสถานีร่วมดังกล่าวแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงาน EIA เสนอ สผ. พิจารณาต่อไป
2) หน่วยงานเจ้าของโครงการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 เห็นชอบในหลักการของการต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม จากช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร เป็น 18.4 กิโลเมตร และยกเลิกศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบินดอนเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 และให้มีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณตำบลคูคตแทน โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (รฟม.) ดำเนินการให้ส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการ การเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้เกิดประสิทธิภาพเหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุด ในการให้บริการต่อประชาชนโดยรวม ซึ่งในคราวประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 มีมติมอบหมายให้ สนข. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ รายงานความเห็นของที่ประชุม และจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบ ข้อดีและข้อเสีย ในเรื่องการดำเนินการตามข้อเสนอของ กทม. เสนอประธานอนุกรรมการฯ ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอ คจร. ต่อไป โดยที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นเรื่องความเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการตามข้อเสนอของ กทม. ซึ่งต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ที่มีรายละเอียดกำหนดไว้ชัดเจน โดยมีประเด็นพิจารณา ดังนี้
1) กทม. อ้างสิทธิการบริหารจัดการในฐานะเจ้าของโครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ที่เห็นชอบให้ กทม. รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงอ่อนนุช-สำโรง
2) ในขณะที่ รฟม. ได้ดำเนินการตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบในหลักการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนระบบรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ ระบบตัวรถ และให้บริการ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด และให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (สายสีเขียว) ช่วงแบริ่ง-สำโรง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ โดยให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานประสานเพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียด และจัดทำเอกสารประกวดราคา สำหรับเตรียมการก่อสร้างต่อไป
- มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 รับทราบมติคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน ครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ซึ่งมีมติมอบหมายให้ รฟม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสองช่วงดังกล่าว
1) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 อนุมัติให้ รฟม. ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ กรอบวงเงินรวมประมาณ 40,322 ล้านบาท
2) รฟม. อยู่ระหว่างนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอสศช. ตามขั้นตอนต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบและชัดเจนในเรื่องหน่วยงานเจ้าของโครงการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 จึงเห็นสมควรเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาเรื่องหน่วยงานเจ้าของโครงการให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 13/01/2011 5:18 am Post subject:
รถไฟฟ้าสีชมพูนับหนึ่งใหม่
ไทยรัฐออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ.2554
รถไฟฟ้าสีชมพูนับหนึ่งใหม่ ให้ประมูลหาที่ปรึกษาใหม่หลังมียื่นรายเดียว-ใช้ทีโออาร์เดิม
รฟม.เปิดยื่นข้อเสนอที่ปรึกษารถไฟฟ้าสีชมพู รอบ 2 ใช้ทีโออาร์เดิม รอบแรกยื่นรายเดียวแต่ซื้อแบบ 33 ราย
นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่ รฟม.ประกาศเชิญชวนผู้สนใจมารับเอกสาร เชิญชวนจัดทำข้อเสนอเพื่อรับการคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาศึกษาทบทวนความเหมาะสม ปรับปรุงแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระหว่างวันที่ 26 ต.ค.-10 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีบริษัทสนใจมาลงทะเบียนรับเอกสารการจัดจ้างที่ปรึกษาถึง 33 ราย และ รฟม.กำหนดให้ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอราคาในวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า มีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษามายื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวนั้น ล่าสุดคณะกรรมว่าจ้างที่ปรึกษาได้พิจารณาและประเมินผลการยื่นข้อเสนอแล้ว โดยเห็นชอบให้เปิดยื่นข้อเสนอใหม่ภายในเดือน ม.ค.นี้ เนื่องจากไม่มีคู่แข่งขัน โดยจะยังใช้ขอบเขตงานหรือทีโออาร์เดิมทั้งหมดก่อน อย่างไรก็ตาม หากท้ายที่สุดยังมีการยื่นมาเพียงรายเดียวอีก กรรมการจะไปหาแนวทางอื่น ๆ ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกลุ่มที่ปรึกษารายเดียวที่มายื่นข้อเสนอมีบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นบริษัทหลัก และมีบริษัทในกลุ่มประกอบด้วย บริษัท ทีม โลจิสติกส์ แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัท ซี คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท วิศวกรที่ปรึกษา นิวโมเดิล จำกัด และบริษัท Tonichi Engineering Consultants, Inc ทั้งนี้ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) 34.5 กม. โครงสร้างทางยกระดับทั้งหมดมี 24 สถานี ตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย. 2555 และเปิดบริการปลายปี 2559
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 13/01/2011 8:33 am Post subject:
เทกระจาดบิ๊กโปรเจ็กต์4แสนล.ดันประมูลรถไฟฟ้า-รัฐสภา-สนามบิน/ยักษ์รับเหมารุมชิงเค้ก
ITS Thailand Thursday, 13 January 2011 05:32
เปิดโพยประมูลงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ปี 2554 มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทคมนาคมเร่งผลักดันรถไฟฟ้า 5 สายทั้งส่วนต่อขยาย สายสีเขียวและเส้นทางใหม่สายสีส้ม-ชมพู-แดง-ม่วง ฝ่ายรัฐสภายันเดินหน้าสร้างอาคารหลังใหม่ 1.2 หมื่นล้านเช่นเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิปรับทีโออาร์ประมูลเฟส 2 อีก 6.2 หมื่นล้าน ผู้รับเหมาตีปีกคึกคัก
การเริ่มศักราชใหม่ของรัฐบาลที่เปิดแคมเปญ "ประชาวิวัฒน์" ประกาศจะแจกของขวัญ 9 ชิ้นเอาใจคนจนประชาชนชั้นรากหญ้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อาจจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของพรรคประชาธิปัตย์ที่หวังคะแนนเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้เข้ามาแต่สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยคงมุ่งมั่นจะผลักดันโครงการขนาดใหญ่ภายใต้การกำกับดูแลให้มีการประมูลก่อสร้างเป็นรูปธรรมที่อาจจะส่งผลบวกต่อการสะสมเสบียงคลังก่อนการเลือกตั้ง
บิ๊กล็อตรถไฟฟ้า
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในปี 2554 จะมีโครงการขนาดใหญ่ออกประมูลให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลายแสนล้านบาทโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมซึ่งโครงการถนน สะพานรถไฟฟ้าต่างๆจะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้เป็นอย่างดีทั้งผู้รับเหมา แรงงาน วัสดุก่อสร้าง การจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าที่ผลักดันให้ประมูลได้ในปีนี้คือสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ระยะทาง 12 กิโลเมตร มูลค่างาน 33,212 ล้านบาทและส่วนต่อขยายสายแบริ่งสมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กิโลเมตรมูลค่างาน 25,900 ล้านบาท
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร มูลค่างาน34,000 ล้านบาทรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงดินแดงมีนบุรี ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร มูลค่างาน 137,750 ล้านบาท และรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง26 กิโลเมตรมูลค่างาน75,548 ล้านบาทเป็นต้น
งานทางหลวง-กทม.
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงชนบทกล่าวว่ากรมทางหลวงชนบทเตรียมนำโครงการขนาดใหญ่2 โครงการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาให้ดำเนินงานได้แก่โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี1 และถนนเชื่อมต่อระยะทาง 4.3 กิโลเมตร มูลค่างาน 3,796 ล้านบาทขณะนี้มีกลุ่มรับเหมาที่ซื้อแบบไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า ST บริษัทซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)กับบริษัทไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกิจการร่วมค้าITD-SMCCหรือ บริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทสุมิโตโม มิตชุยคอนสตรัคชั่นฯ โดยจะเปิดซองราคาประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
ขณะที่โครงการประมูลถนนเชื่อมถนนราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก ระยะทาง12 กิโลเมตร มูลค่างาน 33,212 ล้านบาท จะเปิดประมูลในวันที่ 18 มกราคม2554ขณะนี้มีผู้รับเหมาสนใจซื้อแบบจำนวน 7 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ได้แก่ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) บริษัทช.การช่าง จำกัด(มหาชน) บริษัทซิโนไทยฯกำแพงเพชรวิวัฒน์ เนาวรัตน์พัฒนาการฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะแข่งขันรุนแรง
ส่วนโครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่นที่เหลือทั่วประเทศอีก 4,100 กิโลเมตรมูลค่างาน19,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 จะซอยประมูลให้ผู้รับเหมาได้งานกันอย่างถ้วนหน้า จำนวน 615 กิโลเมตร มูลค่า 2,800 ล้านบาท
ด้านกรุงเทพมหานครนายสัญญาชีนิมิตรผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขายแบบก่อสร้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อบริเวณที่ดินสวนรถไฟ มูลค่างาน 2,500 ล้านบาท จากลาดพร้าว-แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯที่มีผู้รับเหมาให้ความสนใจจำนวนมาก ส่วนอุโมงค์ระบายน้ำอื่นๆอีก4โครงการจะทยอยประมูลต่อไป
สภาใหม่ประมูลแน่
ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่จัดประกวดออกแบบกันไปแล้วนั้น นายนิคม ไวยรัชพานิชรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่1 กล่าวว่า ประมาณเดือนเมษาฯ-พฤษภาคม2554 นี้ สำนักงานสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดประมูลโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณสี่แยกเกียกกาย มูลค่า12,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างเงื่อนไขทีโออาร์เพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมา อย่างไรก็ดีเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีมูลค่าสูงจึงต้องการบริษัทผู้รับเหมาที่มีสภาพคล่องที่ดีมีความชำนาญด้านงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ๆมาแล้วไม่ต่ำกว่า10-15ปีโดยเฉพาะงานของภาครัฐโดยโครงการก่อสร้าง จะใช้เวลา 900 วันนับจากวันเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาและมีกำหนดแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในราวต้นปี2557
"มั่นใจว่าโครงการนี้จะเกิดการจ้างงานในวงกว้าง เพราะที่ผ่านมา โครงการของภาครัฐเกิดน้อย เพราะงบประมาณมีจำกัด แต่โครงการนี้ เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วน จึงต้องรีบเข็นประมูลโครงการให้เร็วที่สุด"
นายนิคมกล่าวต่อถึงแผนแก้ปัญหาจราจรบริเวณสี่แยกเกียกกายว่ากทม.เตรียมวางแผนก่อสร้างสะพานเกียกกายแม้ว่าทางสภาต้องการให้เป็นอุโมงค์แต่ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษา เข้าใจว่า ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ทันภายในปีนี้ รวมถึงถนนเชื่อมต่อโดยรอบอาคารรัฐสภาเพราะงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาทเท่าที่ทราบยังไม่ได้รับในปีงบประมาณ 2554 ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งสภาจะเดินหน้าก่อสร้างโครงการนี้ให้แล้วเสร็จก่อนส่วนโครงข่ายจราจรเชื่อว่ากทม.จะเร่งดำเนินการเปิดใช้ได้ทัน
สุวรรณภูมิเฟส2
อีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะคลอดในปลายปี 2554 นั้นนายสมชัย สวัสดิผล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(สายงานวิศวกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ)บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า ทอท. อยู่ระหว่างการปรับแก้รายละเอียดของเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)สำหรับเตรียมเปิดประมูลจัดจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ(Project Management Consultant (PMC)) เพื่อเป็นที่ปรึกษาในโครงการขยายสุวรรณภูมิระยะที่2 วงเงินลงทุน62,503 ล้านบาทในการขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี เพื่อบรรเทาความแออัดของจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทอท.มีเป้าหมายให้ PMC เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นไปจนสิ้นสุดโครงการเป็นเวลาประมาณ 6 ปี(ระหว่างปีงบประมาณ2554-2559)ทั้งนี้การขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ทอท.ใช้เงินลงทุนของทอท.เอง45,053.214 ล้านบาทหรือราว72.08%ในช่วงปีงบประมาณ2554-2559ส่วนที่เหลืออีกราว17,450 ล้านบาทหรือราว27.92% เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศในช่วงปีงบประมาณ 2558-2559
รับเหมาตีปีกคึกคัก
ด้านนายพลพัฒ กรรณสูต นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการผู้จัดการบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ปีนี้ภาครัฐจะนำโครงการขนาดใหญ่ ออกมาประมูลให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นมูลค่าหลายแสนล้านบาทซึ่งมองว่าควรจะเร่งกำหนดวันประมูลให้ชัดเจนและเมื่อประมูลแล้วควรจะเซ็นสัญญาโดยเร็วที่ผ่านมามีความล่าช้าไม่เช่นนั้นแล้วการจ้างงานในส่วนอื่นจะล่าช้าไปด้วย
อย่างไรก็ดี มองว่า งานต่างๆ จะถึงมือผู้รับเหมามากขึ้นและชัดเจนมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ อาคารรัฐสภาใหม่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถนนสายใหม่ๆ อุโมงค์ระบายน้ำ อาคารของหน่วยงานต่างๆฯลฯซึ่งบริษัทรับเหมาค่ายใหญ่ๆต้องแข่งขันประมูลงานแน่นอน โครงการละไม่ต่ำกว่า10 รายและหากมีงานเกิดขึ้นมากการตัดราคาก็จะไม่เกิดขึ้นมากแต่ถ้างานออกมาน้อยก็จะเกิดการฟันราคาเพื่อชิงงานกันมากขึ้น
ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเนาวรัตน์ฯได้ซื้อแบบประกวดราคา 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก แนวตะวันออกตะวันตก มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทของกรมทางหลวงชนบทจากที่มีผู้รับเหมาค่ายใหญ่จำนวน 7 ราย และซื้อแบบประมูลโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อ ของกรุงเทพมหานคร แน่นอนว่าปีนี้น่าจะเป็นปีคึกคักของผู้รับเหมา
นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยกล่าวว่า ในปี 2554 ประเมินว่า การนำโครงการขนาดใหญ่ออกประมูลของภาครัฐ จะมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างสดใสขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่ผ่านมาอย่างไรก็ดี บริษัทรับเหมาจะเป็นค่ายใหญ่5-7บริษัทที่ได้งาน อาทิ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นจำกัด(มหาชน)บริษัท ช.การช่างจำกัด(มหาชน ) บริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน)เป็นต้นที่เร่งสร้างผลงานและมีสภาพคล่องสูง
ส่วนค่ายกลางและค่ายเล็กจะเข้าไม่ถึงนอกจากรับช่วงงานจากค่ายใหญ่อย่างไรก็ดี ธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะได้อานิสงส์เช่นวัสดุก่อสร้างแต่จะมีผลกระทบต่อผู้รับเหมาเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะราคาปูนซีเมนต์ จากราคาลูกละ100 บาทต้นๆ ได้ปรับราคาขายขึ้นอีกลูกละ 20 บาทจากตุลาคม 2553 ที่ผ่านมารวมถึงราคาเหล็กเส้นที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับราคาค่าน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อต้นทุน เกี่ยวกับค่าขนส่ง
2 ค่ายชิงดำ
ดร.อนุกูลตันติมาสน์กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรมนุษย์และบริหารทั่วไปบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยปีนี้จะมีโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐเกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจอื่นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ช.การช่างสนใจเข้าร่วมประมูลงานของภาครัฐทุกโครงการที่มีการเปิดประมูล อย่างโครงการทางด่วนของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยอีก 2 เส้นทาง อาทิ ทางด่วนศรีรัช วงแหวนรอบนอก โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอีก3 สัญญาที่กำลังอยู่ระหว่างการยื่นซองประกวดราคา 2 สัญญาและกำลังจะเปิดอีก สัญญา3 ภายในปีนี้โครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงสร้างคลองระบายน้ำของกรมชลประทานโครงการโมโนเรลของกทม. โครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งหมอชิต -สะพานใหม่ เป็นต้น
"บริษัทสนใจและจะเข้าร่วมอีกหลายโครงการเพราะต่างเป็นโครงการสำคัญที่ผู้รับเหมาให้ความสนใจ"
แหล่งข่าวจากบริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สนใจทุกโครงการที่ภาครัฐเปิดประมูลโดยเฉพาะปี2554 มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาก อาทิ รถไฟฟ้า สะพาน ถนนฯลฯโดยขณะนี้ได้สนใจประมูลโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี1 มูลค่ากว่า3,000 ล้านบาทและโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก มูลค่ากว่า2,000 ล้านบาทของกรมทางหลวงชนบท โครงการอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อของกทม. และโครงการรถไฟฟ้าที่สนใจร่วมประมูล
"เชื่อว่าหากรัฐผลักดันโครงการขนาดใหญ่ออกมาจะช่วยให้การกระจายงานไปสู่ผู้รับเหมาแรงงานตลอดจนวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้ แต่หากรัฐล่าช้า ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานตามไปด้วย"แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 13 - 15 ม.ค. 2554
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47445
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 13/01/2011 12:44 pm Post subject:
จับตา...แผนรถไฟฟ้าปี 54
สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1167 ประจำวันที่ 12-1-2011 ถึง 14-1-2011
เมกะโปรเจกต์แสนล้าน
จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2547 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ระยะที่ 1 (Bangkok Mass Transit Master Plan, BMT) โดยกำหนดระยะเวลาพัฒนาไว้ในช่วงปี 2547-2552 แผนแม่บทดังกล่าว จะผุดโครงการ รถไฟฟ้าสีรุ้งขึ้นมากว่า 12 สาย คือ สายสีแดงเข้ม, แดงอ่อน, เขียวเข้ม, เขียวอ่อน, น้ำเงิน, ม่วง, ส้ม, ชมพู, เหลือง, ฟ้า รวมทั้งแอร์พอร์ตลิงค์ จะเห็นได้ว่า เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ทุกรัฐบาลนำมาเป็นจุดขายให้กับตัวเอง แต่ปัญหาและอุปสรรคนั้นมีมากมายหลายประการ ทำให้โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางไม่สามารถดำเนินงานได้ตามกำหนด ทำได้เพียงเปเปอร์ขายฝันไปวันๆ
ปี 2553 ที่ผ่านมา โครงการรถไฟฟ้ามีความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มูลค่า 77,000 ล้านบาท ได้เปิดขายเอกสารการประกวดราคา และกำหนดให้ผู้ที่เข้าซื้อเอกสาร เข้ายื่นข้อเสนอการประกวดราคา ไปแล้วในสัญญาที่ 1 คืองานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและอาคารซ่อมบำรุง และสัญญาที่ 2 คือ งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 21 กิโลเมตร ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีผู้สนใจ ประกอบด้วย 1.S.U. Joint Venture ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), 2.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ 3.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ส่วน สัญญาที่ 3 ซึ่งเป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมตู้รถไฟฟ้า (ทั้งบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 26,272 ล้านบาทนั้น หลังจากที่ ร.ฟ.ท. ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 20 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ที่สนใจเข้าซื้อเอกสารรวม 19 รายซึ่งเป็นผู้รับเหมาของประเทศ ไทย และต่างประเทศ ซึ่งในขั้นตอนต่อไป ร.ฟ.ท.ได้กำหนดให้ผู้ที่สนใจซื้อเอกสารทั้งหมด เข้ายื่นข้อเสนอประกวดราคาในวันที่ 17 มกราคม 2554 นี้เมื่อก้าวผ่านมาปี 2554 ก็ยังมีโครงการที่น่าจับตามองอีก 5 โครงการ ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 25,900 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศประกวดราคาได้ในเดือนม.ค.54
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 33,212 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศประกวดราคาได้ในเดือนมี.ค.54
3.โครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 29.9 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท จะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบยกระดับ (โมโนเรล) ใช้วิธีจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ คาดว่าจะประกาศประกวดราคาได้ประมาณปลายปี 2554
4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรม-ดินแดง ระยะทาง 12 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ใช้รูปแบบ Design & Built
และ 5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วังบูรพา ระยะทาง 8 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท จะเร่งรัดเพื่อประกวดราคาให้ได้ภายในปลายปี 2554 แม้ว่าโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวนั้น ท่านรัฐมนตรี โสภณ ซารัมย์ พยายามดันให้เกิดโดยเร็ว แต่ก็อย่าลืมลงไปตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสด้วย!!! เนื่องจากปีที่ผ่านมา ข้อครหาด้านความไม่โปร่งใสยังเต็มหน้าตัก เห็นได้ชัดๆ ก็โครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CNG) จำนวน 4,000 คัน ด้วยวิธีการเช่าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่โดนท่านนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งการให้ตรวจแล้วตรวจอีก แม้ผลตรวจจะออกมาแบบสวยใสไร้กังวล
ก็ยังไม่เป็นที่พอใจท่านายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ตั้งธงไว้ว่า โครงการรถเมล์เช่าเอ็นจีวี 4,000 คน ต้องขาวใสกว่านี้ ยิ่งถ้าเป็นโครงการที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าแบบสุดๆ ร้อนๆ คือ โครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค ซึ่งทำการประมูลเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 แต่จนแล้วจนรอด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ไม่สามารถทำการเซ็นสัญญากับเอกชนผู้รับงานได้
ทั้งๆ ที่ตอนแรกนั้นกระทรวงคมนาคมเล็งว่าจะนัดลงนามกับผู้รับงานทั้ง 5 สัญญาได้ภายในเดือนธันวาคม 2553 โดยเอกชนที่เข้ารับงานก่อสร้าง ประกอบ ด้วย สัญญาที่ 1 เป็นการจ้างออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ระยะทาง 2.8 กม. สถานีใต้ดิน 2 แห่ง โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)หรือ ITD เป็นผู้รับงาน ในวงเงิน 11,441,075,580 บาท
สัญญาที่ 2 เป็นการจ้างออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ระยะทาง 2.6 กม. สถานีใต้ดิน 2 แห่ง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้รับงาน ในวงเงิน 10,687,643,224.84 บาท
สัญญาที่ 3 เป็นการจ้างก่อสร้างเส้นทางยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 11 กม. สถานียกระดับ 8 แห่ง สะพาน 1 สะพาน กลุ่ม SHUN Joint Venture (Sinohydro Corporation Limited และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ) เป็นผู้รับงาน ในวงเงิน 11,284,776,250.41 บาท
สัญญาที่ 4 เป็นการจ้างก่อสร้างเส้นทางยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กม. สถานียกระดับ 7 แห่ง ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารจอดแล้วจร 2 หลัง โดยบริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็นผู้รับงาน ในวงเงิน 13,334,993,000 บาท
และสัญญาที่ 5 เป็นการจ้างออก แบบควบคู่การก่อสร้างระบบรางรถไฟฟ้า ของทั้งโครงการ ระยะทางรวมประมาณ 70 กิโลเมตร CK เป็นผู้รับงาน ในวงเงิน 4,999,134,909 บาท
ดังนั้น ต้องจับตาโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดประมูลในปี 2554 ซึ่งมีวงเงินสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท ว่าจะสร้างเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาซ้ำรอยแผลเก่าอีกหรือไม่???
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group