Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311905
ทั่วไป:13576164
ทั้งหมด:13888069
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - เรื่องจากประวัติศาสตร์ : ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

เรื่องจากประวัติศาสตร์ : ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์
Goto page 1, 2, 3  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ
View previous topic :: View next topic  
Author Message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 08/05/2006 11:54 am    Post subject: เรื่องจากประวัติศาสตร์ : ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์ Reply with quote

สวัสดีครับ...

ผมได้รับหนังสือค้นคว้าข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ของเมืองอุตรดิตถ์อยู่เล่มหนึ่ง จากพี่ที่ทำงานเดิม ( ถึงแก่กรรมไปแล้ว ) โดยจัดพิมพ์แจกผู้มาร่วมงานฌาปนกิจศพของบิดา เมื่อปี พ.ศ.2540 อ่านไปแล้ว เหมือนก้าวเข้าไปดูสภาพเหตุการณ์ของตัวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น เพราะมีสถานที่จริง หลักฐานอ้างอิงประกอบ โดยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงก่อนปี พ.ศ.2490 ครับ

สำหรับหนังสือเล่มนี้ มีชื่อว่า “ ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์ " ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของจังหวัดในปัจจุบัน ซึ่งผู้เรียบเรียง ได้อรรถาธิบายว่า อักษรชื่อเมืองแต่เดิม ใช้คำว่า “ อุตรดิษฐ์ " ต่อมาเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษร ต สองตัว คือใช้คำว่า “ อุตตรดิตถ์ " และเปลี่ยนมาเป็น “ อุตรดิตถ์ " เช่นปัจจุบัน ดังนั้น ในการเรียบเรียง จึงเจตนาใช้คำว่า “ อุตรดิษฐ์ “ เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์เท่านั้น

ที่มาของเรื่องนี้ คุณตาวิบูลย์ บูรณารมย์ ผู้ถึงแก่กรรม ได้เล่าว่า ได้รับเรื่องมาจากการค้นคว้าข้อมูลและสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่เมืองอุตรดิตถ์ มาจากคุณตา อนันต์ เอี่ยมสรรพางค์ ( ถึงแก่กรรมแล้ว ) โดยมีความตั้งใจให้นำเผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่ผู้สนใจทั่วไป โดยที่คุณตาวิบูลย์ บูรณารมย์ เป็นผู้ก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรก" วิบูลย์การพิมพ์ " และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “ ประชาสาร " ซึ่งเป็นฉบับแรกในจังหวัดอุตรดิตถ์เช่นกัน จึงได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2491 จำนวน 1,000 เล่ม และดำริจัดพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง แต่ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน ทางบุตร หลาน ซึ่งสืบเจตนารมณ์ด้านกิจการพิมพ์และผู้สื่อข่าวท้องถิ่น จึงได้จัดพิมพ์เพื่อนำแจกแขกผู้มาร่วมงานฌาปนกิจศพคุณตาวิบูลย์ บูรณารมย์ ณ ฌาปนสถานวัดคลองโพธิ์ ( พระอารามหลวง ) อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540 จำนวน 2,000 เล่ม ครับ

ในที่นี้ ผมขอนำมาลงในส่วนที่เกี่ยวข้องเฉพาะเมืองอุตรดิตถ์ กับการรถไฟ เป็นระยะๆ ตามแต่ช่วงเวลาอำนวยนะครับ ส่วนชื่อ อักขระที่คัดมาจากหนังสือดังกล่าว หากไม่ถูกต้องประการใด ก็ขออภัยมา ณ โอกาสนี้ ด้วยครับ
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 08/05/2006 12:01 pm    Post subject: Reply with quote

ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์

อนันต์ เอี่ยมสรรพางค์ ค้นคว้า
วิบูลย์ บูรณารมย์ เรียบเรียง


Click on the image for full size

อุตรดิตถ์ เป็นเมืองที่มีพื้นที่ราบ มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ฤดูน้ำเรือเดินได้จากกรุงเทพฯ ถึงอุตรดิษฐ์ ขนาดเรือใหญ่บรรทุกสินค้าจากกรุงเทพฯ จะมาทำการขนถ่ายส่งขึ้นไปทางเหนือที่อุตรดิษฐ์เป็นจุดหมายปลายทางทางเรือที่จะขึ้นล่องได้สะดวกตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนมกราคม ถ้าเป็นฤดูแล้งก็จะใช้เรือขนาดเล็กขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ที่ปากน้ำโพขึ้นไปสุดทางที่อุตรดิษฐ์ แควน้ำกว้างไม่มีเกาะแก่ง น้ำไม่ไหลเชี่ยวแรง แต่จะเลยจากอุตรดิษฐ์ขึ้นไปทางเหนืออีกไม่ได้ เพราะตอนเหนือมีเกาะแก่งหินและน้ำไหลเชี่ยวแรง

ท่าโพ ท่าอิด ท่าเซา ท่าทั้งสามนี้ เป็นท่าต้นกำเนิด เกิดเป็นเมืองอุตรดิษฐ์ โดยทางการตั้งชื่อเรียกกันขึ้นภายหลัง
ท่าโพ คือ ตลาดบางโพเดี๋ยวนี้ ซึ่งครั้งก่อนบริเวณนี้มีต้นโพธิ์มาก เป็นป่าต้นโพธิ์หนาทึบตั้งแต่บริเวณวัดบางเตาหม้อ ( วัดท่าถนนปัจจุบันนี้ ) ไปถึงอำเภอบางโพ ( อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ปัจจุบันนี้ ) ซึ่งอยู่บริเวณห้างทองไพจิตรเดี๋ยวนี้

ท่าอิด เป็นท่าอยู่กลางซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นหมู่บ้านท่าอิฐและหาดท่าอิฐ เดิมที่เรียกว่า ท่าอิด นั้นเป็นคำพูดของชาวเหนือ ซึ่งเป็นเชื้อสายลาว
อิด แปลว่า เหนื่อย โดยที่พวกเขานำสินค้าป่า บรรทุกมาโดย ม้าต่าง วัวต่าง และลาต่าง กว่าจะมาถึงท่านี้ก็ อิด หรือ เหนื่อย จึงเรียกกันว่า ท่าอิด คือท่าที่กว่าจะมาถึงก็ เหนื่อย

ท่าเซา คือท่าเสาเดี๋ยวนี้ เมื่อครั้งก่อนปี พุทธศักราช ๒๔๓๐ ก็เป็นป่าดง แต่คำเหนือเรียกว่า ท่าเซา มีความหมายว่า เป็นที่พัก ซึ่งเป็นที่หยุดพักเช่นเดียวกับ ท่าอิด คือพูดว่า เซา – เซา ก็บอกให้หยุดพักนั่นเอง

ท่าทั้ง ๓ ท่านี้ ท่าอิด เป็นท่าที่มีความสำคัญกว่าอีก ๒ ท่าดังกล่าว เพราะเป็นต้นกำเนิดของอุตรดิษฐ์ ท่าอิดเป็นท่าจอดเรือค้าขายใหญ่ที่สุดในตอนเหนือ มีทั้งรับซื้อและแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งพ่อค้านำมาจากทางเหนือ เช่นมาจาก เชียงใหม่ ลำปาง เชียงตุง เชียงราย เชียงแสน หลวงพระบาง หัวพันทั้งห้า หัวพันทั้งหก สิบสองปันนา สิบสองจุไทย พ่อค้าจะบรรทุกสินค้ามาด้วยวัวต่าง ม้าต่าง ลาต่าง เดินทางมาถึงท่าอิด และทำการซื้อขายกับพ่อค้าที่มาทางเรือ ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ของตอนเหนือดังกล่าวข้างต้น


Last edited by black_express on 08/05/2006 4:37 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 08/05/2006 12:12 pm    Post subject: Reply with quote

ตลาดหาดท่าอิด

คำที่เรียกกันว่า “ ท่าอิด “ นั้น ชาวไทยเหนือหมายความว่า เหนื่อย ท่าโพธิ์นั้น ก็คือ บริเวณวัดบางเตาหม้อ ( วัดท่าถนนปัจจุบัน ) บริเวณเนื้อที่ของ ท่าโพธิ์ ตลอดจนไปถึงท่าว่าการอำเภอเมือง สมัยนั้นเรียกว่า อำเภอบางโพ คือบริเวณที่ตั้งห้างสรรพสินค้า และโรงภาพยนตร์ทองไพจิตรเดี๋ยวนี้ ที่เรียกกันว่า ท่าโพธิ์ ก็เพราะว่า ในสมัยนั้น มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่มาก เป๋นดงโพธิ์ทีเดียว

ส่วนคำที่ชาวเหนือเรียกกันว่า ท่าเซา นั้น หมายถึงที่ หยุดพัก คือที่ตลาดท่าเสาเดี๋ยวนี้นี่แหละ ท่าทั้งสามที่กล่าวมานี้ตั้งอยู่ริมแควแม่น้ำน่าน ส่วนท่าอิด เป็นท่าที่สำคัญกว่าอีกสองท่าดังกล่าว เพราะเป็นที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณติดต่อกันมาดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้น

ท่าอิด มี ๒ ท่า คือ ท่าอิดบน และ ท่าอิดล่าง ต่อมาเรียกกันว่า หาดท่าอิด
ท่าอิดบน เป็นที่รับส่งซื้อขายสินค้ากันมาตั้งแต่สมัยโบราณ อยู่ติดกับริมแม่น้ำน่าน ต่อมาแควน่านได้งอกยื่นเป็นหาดออกไปทางด้านทิศตะวันออก ท่าอิดก็ขยายตามที่งอกออกไปจึงเรียกว่า ท่าอิดล่าง

ตลาดหาดท่าอิด คือที่ท่าอิดล่างนั่นเอง มีถนนแยกจากหน้าวัดต้นมะขาม ( วัดธรรมาธิปไตยปัจจุบัน ) ลงไปท่าอิดล่าง ซึ่งเป็นท่าที่สำคัญที่สุดของไทยสมัยโบราณ ต่อมาทางการรถไฟได้ทำทางลงไปถึงตลาดหาดท่าอิด ถนนที่แยกจากหน้าวัดต้นมะขามลงไปนั้น สองฟากทางมีร้านค้าและบ้านเรือนราษฎรตลอดแนวลงไป มีชะงักอยู่ปลายทางเป็นที่ตั้งโรงต้มกลั่นสุรา จากนั้นเลี้ยวซ้ายลงไปตลาดท่าอิดล่าง และจะต้องผ่านวัดเก่าแก่ลงไปอีกสองวัด คือ วัดไผ่ล้อมล่าง เหนือขึ้นไปอีกวัดหนึ่งเรียกว่า วัดท่าทราย แต่ปัจจุบันนี้ วัดท่าทรายแห่งนี้ถูกน้ำเซาะพังหายลงไปกลางแม่น้ำ ชาวบ้านจึงพากันสร้างวัดขึ้นใหม่แทนวัดท่าทราย เรียกว่า วัดท้ายตลาด เดี๋ยวนี้ทางลงไปตลาดหาดท่าอิด มีสะพานข้ามคลองไปจนเหนือสุดหาดทรายริมน้ำ เพราะเวลานั้นฤดูน้ำมากน้ำจะท่วมตลอดแนว เพราะเป็นที่ลุ่มต่ำมาก ที่ตลาดหาดท่าอิดเวลานั้น เวลากลางคืนจะสว่างไสวไปด้วยโคมไฟ
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 08/05/2006 12:16 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size


รถไฟเตรียมทำทางมาอุตรดิษฐ์

ปี พ.ศ.๒๔๔๘ – ๒๔๔๙ กรมรถไฟได้ทำทางรถไฟมาทางสายเหนือ มีการตัดต้นไม้ปรับพื้นที่สูงให้ต่ำลง และที่ต่ำให้สูงขึ้น จัดระดับแนวทางตรงมายัง วัดบางเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) ผ่านป่าช้าซึ่งเป็นป่าไผ่ ป่าไม้สักและไม้อื่นๆ ร่มครึ้มน่ากลัว ป่าไม้ดังกล่าวมีตลอดไปถึงทางลับแล ถนนอินใจมีทุกวันนี้ และผ่านไปถึงที่ตั้งสถานีรถไฟท่าเสาเดี๋ยวนี้ ตัดทางรถไฟผ่านหน้า วัดท่าเสา ( วัดใหญ่ท่าเสา ) ไปหน้า วัดดอยท่าเสา ระยะทางดังกล่าวนี้เป็นป่าไม้ยางและต้นไม้ใหญ่ๆ หลายชนิดตลอดทาง

การทำทางรถไฟครั้งแรกนั้นต้องตัดต้นไม้ใหญ่และสูงๆ ปรับพื้นดินใช้หินถมยกระดับสูงขึ้น ชาวอุตรดิษฐ์ต่างก็ตั้งใจคอยดูว่าเมื่อไรจะวางรางรถวิ่งมาถึงสักที จะได้เห็นว่ารถไฟมีรูปร่างอย่างไร เคยได้ยินแต่เขาพูดกันว่ามันแรงกว่าช้างตั้งหลายเท่า ตัวมันยาวและใหญ่โตมาก มันกินน้ำและไม้ฟืนเป็นอาหารเท่านั้น บางคนก็ว่ารถไฟมันกินคน ถ้ามันวิ่งเข้ามามีคนอยู่ใกล้ๆ มันจะดูดเข้าไปทับตายทันที บางทีมันก็มีเสียงตะโกนดัง วู๊ด – วู๊ด ดังลั่น

รถไฟมาถึงอุตรดิษฐ์

เมื่อทางรถไฟทำทางเข้ามาถึงอุตรดิษฐ์แล้ว ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ – ๒๔๕๑ ได้วางรางสำหรับรถวิ่งมาตามเส้นทางที่วางไว้ แต่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน สะพานปรเมนทร์ ที่บ้านดารา ( เป็นความคลาดเคลื่อนในชื่อสะพานจากผู้ค้นคว้าครับ - ที่ถูกต้องสะพานปรมินทร์ - และยังมีชื่อวัดวังเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) ที่เขียนในครั้งแรกว่า วัดบางเตาหม้อ ) ยังทำไม่เสร็จเรียบร้อย ทางกองช่างทำการสร้างทางรถไฟ มีความจำเป็นต้องนำหัวรถจักรรถไฟและรถตู้พ่วง ข้ามไปใช้ในการสร้างทางต่อไปจนถึงอุตรดิษฐ์

การทำทางรถไฟครั้งนั้น พวกวางรางก็วางไป พวกรถงานก็ขนไม้หมอนและขนหินหว่านโรยตามไปทางรถไฟสายนี้ยาวขึ้นไปทางเหนือ ขณะทำการสร้างทาง รถจักรก็ลากจูงรถพ่วง บรรทุกดิน หิน วิ่งเทโรยบนทางตามไป ผู้คนที่ไม่เคยเห็นรถไฟก็พากันมาดูอย่างสนใจ

เมื่อได้มาเห็นรถไฟแล้ว ต่างพากันพูดว่า “ รถไฟเป็นอย่างนี้เองหนอ " บางคนก็พูดกันเซ็งแซ่ว่า “ เสียดายพ่อแม่เราตายไปเสียก่อนเลยไม่ได้เห็นรถไฟ พวกเรามีบุญที่ได้เห็น " ที่เขาพูดว่ารถไฟมีแรงมากกว่าช้าง เป็นความจริงแท้ๆ มันลากของหนักๆ มาได้เป็นแถวยาวมาก พ่วงกันลากมาได้ตั้งหลายสิบคัน บางคนก็คุยว่า “ ถ้าเขาทำสะพานข้ามแม่น้ำที่บ้านดาราเสร็จแล้ว รถไฟวิ่งข้ามได้ จะต้องลองนั่งไปบางกอกให้ได้ ได้ยินเขาพูดกันว่ารถจะต้องพักค้างคืนที่ปากน้ำโพ ๑ คืน รุ่งขึ้นก็วิ่งต่อไปถึงบางกอก"

เมื่อรถไฟหยุดจอดอยู่ ก็มีคนมายืนดูใกล้ๆ กันมากมาย ต่างก็สงสัยว่ามันวิ่งไปได้อย่างไร บางคนก็ว่ามันวิ่งด้วยไฟ เขาจึงเรียกว่ารถไฟ เขาเอาไม้ท่อนสั้นๆ ใส่ให้ลุกเป็นไฟ มีควันพุ่งออกทางปล่องยาวๆ

บางคนบางพวกต่างก็พูดว่ามันวิ่งด้วยของอย่างนั้นอย่างนี้แล้วแต่ใครจะมีความเห็นอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น ซึ่งรวมความจริงแล้ว ไม่มีใครถูกต้องตามความเป็นจริงสักคน

เวลารถไฟจะเคลื่อนที่ออกวิ่ง ก็พ่นเปลวลูกไฟออกทางปล่องคล้ายไฟพะเนียง และเปิดแตรดัง หวูด ! หวูด ! เสียงลั่น พวกที่เข้าไปดูต่างตกใจวิ่งหนีกันชุลมุน กลัวมันจะดูดเข้าไปทับตายตามที่เคยได้ฟังเขาพูดกันมาก่อนเพราะบางคนก็ว่ารถไฟมันมีผีด้วย

เมื่อสมัยเป็นเด็ก เคยได้ฟังคนผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า มีรถจักรคันหนึ่ง คนเขาเรียกว่า “ อีแหบ " เพราะมันร้องเสียงแหบ รถจักรคันนั้นมีผีสิงดุมาก มันออกวิ่งครั้งไรเป็นต้องทับคนตายทุกที คนที่ยืนใกล้มัน มันดูดเข้ามาทับได้ เวลาเขาเอามันจอดทิ้งไว้ มันจะวิ่งออกไปได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ จอดไว้ในโรงรถต้องใช้โซ่ใหญ่ๆ มัดล่ามไว้ ถึงบางวันโซ่ก็ยังขาดออกได้ เพราะมันวิ่งกระชากโซ่ขาดวิ่งไปได้เอง เรื่องรถอีแหบที่เขาเล่ากันดังกล่าวนี้ จะจริงจะเท็จอย่างไรก็ขอให้ท่านพิจารณากันเอาเอง

[ น่าจะเป็นเจ้าฮาโนแมก สมัยยังเป็น ยอร์ช อีเกสตอฟ แน่ๆ ] Witsarut

วางรางรถไฟไปหาดท่าอิด

ปี พ.ศ.๒๔๕๐ รถไฟได้วางรางผ่านบางโพไปถึงท่าเซา ( ท่าเสา ) ผ่านป่าไปเท่านั้น สองข้างทางรถไฟยังเป็นป่าอยู่ตลอด ที่บางโพเวลานั้นมีบ้านเรือนราษฎรทางด้านใต้วัดวังเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) ด้านใต้และด้านเหนือกรมทหาร ( โรงเรียนอนุบาลปัจจุบัน ) ก็มีบ้านราษฎรอยู่บ้าง ทางด้านเหนือวัดวังเตาหม้อขึ้นไป ถึงตอนบริเวณที่ตั้งศาลากลาง ศาล และสถานีตำรวจ มีบ้านอยู่ห่างๆ กัน ริมถนนสายริมน้ำ ส่วนที่ท่าเซาก็มีแต่ป่าไผ่ ป่าไม้ยางเป็นจำนวนมาก มีราษฎรปลูกบ้านอยู่กันบ้าง ห่างๆ กัน แต่ไม่มากนัก ที่บางโพและท่าเสาเวลานั้นไม่มีตลาดค้าขายอะไรเลย คงมีแต่บ้านราษฎรปลูกอยู่ห่างกันเป็นหย่อมๆ เท่านั้น

ส่วนตลาดค้าขายที่เจริญคึกคักคงอยู่ที่หาดท่าอิด มีตลาดและร้านค้าสองฟากถนนตั้งแต่สะพานข้ามคลองบุ่งท่าอิด ( สะพานนี้ลงตรงโรงเรียน โรงต้มกลั่นสุราปัจจุบัน ) ตลอดไปจนถึงหัวหาด ลงหาดทราย มีบ้านเรือปลูกกันอยู่มาก และมีห้างร้านที่ทำการค้า คือ ห้างกิมเซ่งหลีค้าไม้ ห้างบอมเบทำไม้ ห้องบอเนียวค้าไม้ ห้างแม่งาวค้าไม้ ที่ตลาดหาดท่าอิดมีโรงบ่อนดังกล่าวมาแล้วตอนต้น

ในแม่น้ำน่านหน้าตลาดหาดท่าอิด มีเรือสินค้าจอดเรียงซ้อนกันเป็นตับ เรือกลไฟก็วิ่งโยงลากเรือมาส่งแทบไม่ขาดระยะ เสียงหวูดจากเรือกลไฟดังอยู่เสมอ ตั้งแต่ต้นฤดูน้ำมากจนถึงปลายฤดู เมื่อสิ้นฤดูฝนเข้าฤดูแล้ง ก็มีพ่อค้าจากทางเหนือลงมารับซื้อสินค้าจากตลาดหาดท่าอิดแห่งนี้ แล้วบรรทุกต่าง นำกลับขึ้นเหนือดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้นเช่นกัน

เมื่อรถไฟมาถึงบางโพท่าอุตรดิษฐ์แล้ว กรมรถไฟได้เห็นว่าตลาดการค้าที่หาดท่าอิดอยู่ไม่ไกลจากบางโพมากนัก จึงได้มีการวางรางรถไฟไปถึงตลาดหาดท่าอิด เพื่อนำตู้บรรทุกสินค้าไปส่งให้พวกพ่อค้าที่ตลาดท่าอิดได้สะดวกและเร็วกว่าทางเรือ

ทางรถไฟที่ลงไปตลาดหาดท่าอิดนั้น ไปเชื่อมต่อแยกที่ด้านเหนือของที่ว่าการอำเภอบางโพ ( อยู่บริเวณที่ตั้งห้างสินค้าทองไพจิตรปัจจุบัน ) ไปแยกเข้าสวนและบ้านราษฎร ( ตรงที่ตั้งโรงเลื่อย พ.วานิช และโรงน้ำแข็งสุวัฒน์ เดี๋ยวนี้โรงเลื่อยเลิกกิจการไปแล้ว ) ตรงไปลงหาดท่าอิด ผ่านหน้าวัดไผ่ล้อม ( ล่าง ) ผ่านหน้าโรงบ่อนไปถึงหัวหาด

ระหว่างในช่วงเวลาที่กำลังวางรางรถไฟลงไปยังตลาดหาดท่าอิดอยู่นั้น เป็นเวลาที่สมเด็จกรมขุนเทพทวาราวดี (นาม ร.6 ก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเป็นมกุฏราชกุมาร ... ชาวบ้านเมืองพิชัย ยังไม่เรียกว่าสยามมกุฏราชกุมาร) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาประพาสอุตรดิษฐ์ พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรทางรถไฟที่จะแยกลงไปยังตลาดหาดท่าอิด ทรงเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ดังนั้น พระองค์จึงทรงมีพระดำรัสชี้แจงแก่บรรดาเจ้าของที่ดินซึ่งทางรถไฟจะต้องตัดทำทางผ่านไป เวลานั้นพวกเจ้าของที่ดินหวงแหนที่ดินของตนโดยไม่ยอมให้ตัดทางรถไฟผ่าน ต่อเมื่อได้ฟังพระดำรัสชี้แจงถึงประโยชน์ที่จะได้รับทั้งของประชาชนและของบ้านเมืองดังนั้นแล้ว ทุกคนก็เห็นด้วยและเชื่อตามพระดำรัสนั้น จึงยอมให้ทำทางรถไฟผ่านในที่ดินของพวกตนได้ เวลานั้น เจ้าเมืองอุตรดิษฐ์ คือ พระยาสุจริตรักษา ( เชื้อ )

Click on the image for full size

สร้างสถานีรถไฟอุตรดิตถ์

ปี พ.ศ.๒๔๕๒ – ๒๔๕๓ ทางกรมรถไฟได้สร้างสถานีสำหรับเป็นที่จอดพักรถขึ้นที่อุตรดิษฐ์ สร้างขึ้นที่บางโพหลังวัดวังเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) สถานที่สร้างอาคารสถานีนั้นเป็นป่าช้าเผาศพเก็บศพของวัดวังเตาหม้อ ซึ่งเป็นป่าไผ่ ป่าไม้สัก และไม้ใหญ่เล็กต่างๆ ทางรถไฟได้จ้างคนปั้นอิฐเพื่อก่อสร้างอาคารสถานี ช่างเยอรมัน (คารล ดอรริ่ง) เป็นผู้ออกแบบตัวอาคาร เป็นตึกใหญ่สูง บนหลังคาตึกสร้างป้อมไว้เป็นที่สำหรับตากอากาศด้วย สร้างไว้ตรงด้านหน้าของตึก ครั้นต่อมาป้อมดังกล่าวนี้ได้ถูกรื้อออกเสียแล้ว สถานีรถไฟอุตรดิษฐ์แห่งนี้ เป็นอาคารสถานีสูงและใหญ่สวยงามมากกว่าแห่งอื่นในภาคเหนือ สถานีอุตรดิษฐ์แห่งนี้เป็นที่จอดพักรถ มีอู่รถ รถไฟพักเติมน้ำและฟืน กับสร้างบ้านพักของพนักงานรถไฟไว้ด้วย สถานีดังกล่าวนี้ถูกระเบิดพังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผ่านไปนั้น

ฟากทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กรมทหารได้จัดให้เป็นสนามฝึกของเหล่าทหารม้า ชาวบ้านเรียกกันว่า สนามม้า

พระแท่นศิลาอาสน์ถูกไฟไหม้

พระแท่นศิลาอาสน์ถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๕๑ ทั้งนี้เพราะเหตุเกิดจากไฟไหม้ป่าในบริเวณใกล้เคียง มีลมพัดหอบเอาเปลวไฟเข้าไปติดรังนกที่หลังคาวิหาร ประกอบกับเป็นฤดูร้อน ไฟได้เผาตัววิหารจนมอดไหม้เป็นขี้เถ้า

หลังจากตัววิหารที่สร้างคลุมพระแท่นศิลาอาสน์ ถูกไฟเผาไหม้ไปหมดทั้งหลังแล้ว ทางการบ้านเมืองและพ่อค้าประชาชนจึงได้ร่วมกันก่อสร้างขึ้นใหม่

พระแท่นศิลาอาสน์แห่งนี้ เป็นแท่นหินศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีตำนานกล่าวกันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับพักพระอิริยาบถ บางแห่งก็กล่าวกันว่าเป็นพระแท่นที่ประทับทรงเสี่ยงอธิษฐานบารมีของพระเจ้า ๕ พระองค์ อันมี พระกกุสันโธ พระโคนาคมโน พระกัสสโป พระโคดม และพระเมตเตยยะ ( พระศรีอาริย์ ) แท่นหินดังกล่าวนี้ ได้มีการสร้างวิหาร สูงใหญ่กว้างขวางสวมครอบเอาไว้ ตั้งอยู่ในเขตท้องที่อำเภอลับแล ในตำบลทุ่งยั้ง ห่างจากตัวเมืองอุตรดิษฐ์ไม่ไกลนัก วิหารนี้ ช่างสมัยโบราณได้แกะสลักลวดลายซับซ้อนตามบานประตู หน้าต่างสวยงามมาก แต่ถูกไฟเผาไหม้จนหมด ปัจจุบันนี้ ทางวัดได้สร้างฐานซีเมนต์หุ้มแท่นไว้รอบด้าน คงเจาะเป็นช่องไว้ตรงกลาง ไม่ได้หุ้มแท่น แต่แท่นก็อยู่ลึกลงไปมาก จนแลเห็นไม่สะดวก

ตลาดหาดท่าอิดเริ่มอพยพ

ตลาดหาดท่าอิด เป็นตลาดการค้าและเป็นท่าเรือสินค้าของอุตรดิษฐ์ มาตั้งแต่สมัยขอมปกครองถิ่นไทย และได้มีทั้งเจริญและทั้งเสื่อม ตามวาระของเหตุการณ์บ้านเมืองตามยุคตามสมัย ถ้าหากยุคใดบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม การค้าที่ตลาดหาดท่าอิดก็เสื่อมลง ถ้ายุคใดบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ การค้าก็เจริญขึ้น

ตลาดการค้าท่าอิดแห่งนี้ ได้เริ่มเจริญขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ บ้านเมืองสงบไม่มีทัพศึก พม่าก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ นับแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๘ เป็นต้นมา ครั้นมาถึงปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้มีขบวนรถไฟวิ่งมาทางภาคเหนือโดยสร้างสถานีที่บางโพ และที่ท่าเซา ( ท่าเสา ) ด้านใต้ของวัดใหญ่ท่าเสา

บรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ตั้งร้านอยู่ที่ตลาดหาดท่าอิดแต่เดิม ต่างก็มีความเห็นว่าควรย้ายไปอยู่ใกล้สถานีอุตรดิษฐ์และสถานีท่าเสา เพื่อสะดวกและรวดเร็วจากการรับสินค้าซึ่งบรรทุกมาทางรถไฟ โดยมีเหตุผลประกอบอีกหลายอย่าง คือ

.....๑. ที่ตลาดหาดท่าอิด ฤดูน้ำ น้ำมักจะท่วม ต้องขนย้ายของหนีน้ำกับบ่อยๆ เฉพาะในปีที่รถไฟขยายทางลงมายังหาดท่าอิด ปีนั้นน้ำท่วมถึง ๖ – ๗ ครั้ง
.....๒. เมื่อรถไฟมาถึงอุตรดิตถ์แล้ว เช่นนี้ สินค้าโดยมากก็บรรทุกมากับขบวนรถไฟ เร็วกว่าการบรรทุกเรือมาก
.....๓. เมื่อรถไฟวิ่งถึงเองแพร่และลำปางได้แล้ว ก็จะเลิกใช้วัวต่าง ม้าต่าง บรรทุกของ และจะไม่ต้องลงมารับสินค้าที่ตลาดหาดท่าอิดนี้อีกต่อไป การค้ากับพ่อค้าทางเหนือก็จะต้องขาดติดต่อกัน
.....๔. แม้ว่าทางรถไฟจะทำทางแยกลงมา และบรรทุกสินค้าลงมาส่งให้ถึงตลาดนี้ได้ ก็เห็นว่าไม่สมควรจะอยู่อีกต่อไป เพราะน้ำท่วมทุกปี ๆ ละหลายครั้ง
.....๕. ตลาดหาดท่าอิดอยู่ไกลกับสถานที่ราชการของบ้านเมือง ไม่สะดวกแก่การไปมาติดต่อกัน
เมื่อพวกพ่อค้าแม่ค้ามีความเห็นร่วมกันดังนี้แล้ว ดังนั้น พวกเขาจึงย้ายร้านขึ้นไปปลูกสร้างใหม่ที่บางโพ และบางพวกก็ย้ายไปอยู่ท่าเสา

การเริ่มอพยพย้ายจากตลาดหาดท่าอิด ขึ้นไปอยู่ที่บางโพและท่าเสาครั้งนั้น ได้เริ่มย้ายกันตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๔ ซึ่งเป็นปีที่ขบวนรถไฟวิ่งขึ้นมาถึงอุตรดิษฐ์ และท่าเสา และได้สร้างสถานีที่จอดพักรถรับส่งสินค้าและผู้โดยสารขึ้นทั้งสองแห่งดังกล่าวไว้แล้วนั้น

ตั้งแต่นั้นมา บริเวณบางโพรอบวัดวังเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) ก็เป็นตลาดหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกที ที่ท่าเสาก็เช่นเดียวกัน มีร้านค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ป่ารกก็ถูกถากถางตัดฟันจนเตียน หาดท่าอิดก็เสื่อมลง รถไฟก็ต้องรื้อรางถอนกลับหมด จนที่สุด ตลาดหาดท่าอิดก็หมดสภาพลง ไม่มีการค้าเหลืออยู่อีกต่อไป.


Last edited by black_express on 15/07/2009 9:08 am; edited 6 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/05/2006 2:38 pm    Post subject: Reply with quote

สมเด็จพระพันปีเสด็จอุตรดิษฐ์

สมเด็จพระพันปีได้เสด็จประพาสหัวเมืองทางภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาถึง ทางการได้จัดสร้างพลับพลาเตรียมรับเสด็จที่อุตรดิษฐ์ วันที่เสด็จมาถึง ทหารม้าอุตรดิษฐ์ได้ตั้งแถวรับเสด็จที่สถานีอุตรดิษฐ์ จัดรถม้าเป็นรถพระที่นั่งนำเสด็จเข้าสู่พลับพลา ซึ่งสร้างไว้ตรงสถานที่บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ปัจจุบันนี้ เวลากลางคืน ทางราชการอุตรดิษฐ์ได้จัดให้มีการเชิดหุ่นกระบอกถวายให้ทอดพระเนตร

การเสด็จประพาสของพระองค์ครั้งนี้ ได้เสด็จโดยทางรถไฟ ซึ่งทางกรมรถไฟจัดถวายเป็นพิเศษ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จมาด้วยหลายท่าน พร้อมด้วยทหารมหาดเล็กของพระองค์

เมื่อพระองค์ประทับอยู่ที่อุตรดิษฐ์ ได้ทรงเสด็จไปเยี่ยมกรมทหารม้า ซึ่งมีการแสดงขี่ม้าท่าโลดโผนต่างๆ ของทหารม้าให้ทรงทอดพระเนตร จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปลับแล พระศรีพนมมาศ นายอำเภอลับแล ได้สร้างพลับพลาไว้รับเสด็จด้วย พระองค์ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่หลายแห่ง ทรงตรัสพอพระทัยที่ดินของลับแลมาก ในการเสด็จทอดพระเนตรพื้นที่ลับแลครั้งนั้น พระศรีพนมมาศได้ตามเสด็จโดยใกล้ชิด พร้อมกราบทูลถวายรายงานตลอดระยะทางที่พระองค์เสด็จ

จากลับแล พระองค์เสด็จทรงไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ พระศรีพนมมาศถวายการต้อนรับอย่างใกล้ชิด จนพระองค์ตรัสชมอย่างพอพระทัย

.............................

( เนื้อหาตอนนี้ ถึงแม้ว่าผู้ค้นคว้าจะกล่าวเฉพาะการเสด็จประพาสในตัวเมืองอุตรดิตถ์ และ อ.ลับแล แต่ผมคาดว่า จะต้องเป็นปีเดียวกันที่ทรงเสด็จไปเปิดอุโมงค์ปางตูบขอบ อย่างเป็นทางการด้วยครับ )

คราวหน้า เราจะดูบรรยากาศของ " เมืองอุตตรดิตถ์ " สมัยสงครามโลกครั้งที่สองกันบ้างนะครับ


Last edited by black_express on 31/05/2006 4:02 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/05/2006 4:56 pm    Post subject: Reply with quote

ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องราวเกริ่นความเป็นมาของมหาสงครามเอเซียบูรพา ก่อนเข้าสู่เหตุการณ์ทิ้งระเบิดตัวเมืองอุตรดิตถ์ และสะพานปรมินทร์ กันต่อไป Smile

สังเกตว่า ผู้เรียบเรียงได้เปลี่ยนชื่อเมืองจาก " อุตรดิษฐ์ " มาเป็น " อุตตรดิตถ์ " แล้วล่ะครับ เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเหตุการณ์นั้นๆ อย่าคิดว่าพิมพ์ผิดนะครับ Very Happy

..........................................

สงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ เยอรมันยกพลบุกประเทศโปแลนด์ เมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์ จึงทำให้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปกระทบกระเทือนไหวตัวไปตามกัน ประเทศใกล้เคียงกับเยอรมันก็ถูกเยอรมันบุก เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ ฯลฯ

ญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทย

เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดังกล่าวนี้ ไฟสงครามได้ลุกลามติดตามเข้ามาในภาคเอเชียตะวันออก โดยญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔

เหตุที่ญี่ปุ่นต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกานั้น มีความจำเป็นและความสำคัญของญี่ปุ่น ๕ ประการ คือ

.....๑.ญี่ปุ่นถือว่าภาคเอเชีย เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติผิวเหลือง ส่วนอังกฤษและอเมริกาเป็นพวกผิวขาว ไม่ควรยอมให้มาเป็นใหญ่ในภาคพื้นเอเชียนี้
.....๒.ญี่ปุ่นถือว่าอังกฤษและอเมริกาเป็นตัวสำคัญทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่สามารถขยายตัวได้ ถูกประเทศทั้งสองนั้นสกัดกั้นเสียหมด ตลอดจนการทหารด้วย
.....๓.อังกฤษและอเมริกา เข้าแทรกแซงในปัญหาความยุ่งยากในอินโดจีน อันเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นไม่พอใจ
.....๔.ญี่ปุ่นโกรธทั้งอังกฤษ - อเมริกา ในเรื่องการช่วยเหลือจีนนานกิงทั้งทางตรงและทางอ้อม
.....๕.ญี่ปุ่นถือว่า อังกฤษและอเมริกา พยายามล้อมญี่ปุ่นทุกด้านทุกทาง เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นมีโอกาสขยายตัวให้กว้างขวางออกไปได้

ด้วยเหตุผลทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นเหตุทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศสงครามกับอังกฤษ – อเมริกา ก่อสงครามทางภาคเอเชียตะวันออก

เมื่อญี่ปุ่นประกาศสงครามแล้ว ก็ยกพลเข้าโจมตีหมู่เกาะฮาวายของอเมริกาและยกพลขึ้นประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ในเวลาใกล้รุ่ง โดยญี่ปุ่นยกพลมาทางเรือ มาขึ้นที่หัวเมืองชายทะเล เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอีกหลายแห่ง ฝ่ายไทยได้มีการต่อสู้ต้านทานอย่างเต็มกำลัง แต่ไม่อาจหยุดยั้งการบุกของญี่ปุ่นได้ ในที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นต้องฝืนใจจำยอม เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในการสงครามเอเชีย ซึ่งเรียกกันว่า สงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือสงครามเอเชียตะวันออก

( ผมว่า น่าจะเป็นชื่อ “ มหาสงครามเอเชียบูรพา “ นะครับ )

ประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และ อเมริกา

ด้วยความจำใจและจำเป็นของไทย จึงจำต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕

ประเทศไทย เป็นประเทศที่รักความสงบ ไม่ต้องการรุกรานที่จะรุกรานใครให้ได้รับความเดือดร้อน และเมื่อวันที่ญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทย ไทยก็ได้พยายามต่อต้านขัดขวางอย่างเต็มความสามารถ แต่ก็ไม่อาจหยุดการบุกของญี่ปุ่นได้ เพราะญี่ปุ่นมีอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่าไทยมาก จึงต้องจำใจจำเป็นร่วมกับญี่ปุ่นด้วยความฝืนใจ และต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ญี่ปุ่นได้เดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปเข้ายึดพม่าโดยทางแม่สอด เครื่องบินของญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาประจำอยู่ในประเทศไทย ได้บินไปทำการรบร่วมกับกองทัพบกญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้อาศัยทางรถไฟของไทยลำเลียงพลขึ้นไปทางเชียงใหม่และออกไปทางพม่าด้านแม่ฮ่องสอน การประกาศสงครามของไทยนั้น ในที่สุด เมื่อสงครามสงบก็เป็นโมฆะไป

ทหารญี่ปุ่นพักที่อุตตรดิตถ์

สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ เป็นสถานีที่ทำการสับเปลี่ยนรถไฟที่จะเดินทางขึ้นไปทางเหนือ ทางรถไฟสายนี้จะต้องวิ่งขึ้นเนินสูงและภูเขา ทั้งทางก็คดโค้ง ต้องหลบหลีกวิ่งไปตามด้านข้างของภูเขาบ้าง วิ่งเลียบลำห้วยบ้าง ขณะที่รถไฟวิ่งขึ้นมาจากกรุงเทพฯ พอมาถึงอุตตรดิตถ์ จะตัดออกเป็นสองขบวนหรือสามขบวน เพื่อให้วิ่งขึ้นเขาได้ หากให้วิ่งขึ้นไปทั้งขบวนเท่าจำนวนที่ลากจูงมาจากกรุงเทพฯ หัวรถจักรจะลากขึ้นไปไม่ไหว จึงจำเป็นต้องตัดแบ่งออกเป็นขบวนเล็กๆ ดังกล่าว
สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ เป็นสถานีต้นทางที่จะไปทางเหนือ และต้องวิ่งขึ้นเขาบางตอน รถไฟจึงต้องจอดเติมน้ำและเติมฟืนนานกว่าสถานีแห่งอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ทหารญี่ปุ่นจึงต้องจัดตั้งหน่วยเสบียงหุงข้าวและจัดทำอาหารเตรียมไว้เพื่อทหารญี่ปุ่นที่จะขึ้นไปทางเหนือได้แวะรับเอาอาหาร นอกจากหน่วยเสบียงที่ทหารญี่ปุ่นได้จัดตั้งขึ้นนั้นแล้ว ญี่ปุ่นยังได้จัดตั้งหน่วยสื่อสารเพื่อติดต่อกับพวกของตนอีกด้วย หน่วยเสบียงของญี่ปุ่นดังกล่าวนั้น ได้ตั้งอยู่ที่หลังสถานีรถไฟเก่า ตรงร้านงุ่ยไคจั๊วเดี๋ยวนี้

ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นเหนือโดยขบวนรถไฟเสมอ และที่อุตตรดิตถ์ก็มีทหารญี่ปุ่นประจำอยู่จำนวนหนึ่ง มีทั้งหน่วยรบหน่วยสื่อสาร หน่วยเสบียงอาหารและหน่วยซ่อมเครื่องจักรกล ตลาดบางโพเวลานั้นจะมีทหารญี่ปุ่นเดินกันขวักไขว่ไปทั่วคล้ายกับเป็นเจ้าของบ้าน ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ นั้นเอง ที่ชาวอุตตรดิตถ์ได้รู้จักและได้เห็นพวกญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด

( ร้านงุ่ยไคจั๊ว เป็นร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ตั้งอยู่ริมรั้วด้านเหนือของโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ หัวมุมติดกับสี่แยกหอนาฬิกาหน้าสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ เดิม ตอนนี้ร้านย้ายไปอยู่ที่อื่น ตัวห้องแถวไม้ กลายเป็นตึกแถว คสล. ของกรมธนารักษ์หมดแล้วครับ )


Last edited by black_express on 26/05/2006 5:01 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 26/05/2006 4:59 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

อุตตรดิตถ์ถูกโจมตีทางเครื่องบิน

นับตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ- อเมริกา และยกพลบุกขึ้นประเทศไทยดังกล่าวแล้ว ไทยก็จำใจต้องทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น โดยไทยต้องจำยอมประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ในระหว่าง ๕ เดือนแรกที่ญี่ปุ่นประกาศสงคราม ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกอย่างเก่งกล้า ได้ยกทหารขึ้นที่จังหวัดสงขลา เข้ารบมลายูและยึดสิงคโปร์ได้ เปลี่ยนชื่อสิงคโปร์เป็นโชนันทันที จากนั้นก็เข้ายึดฟิลิปปินส์ ยึดเกาะฮ่องกง ยึดบอร์เนียว ชวา สุมาตรา และเดินทัพผ่านประเทศไทยไปเข้ายึดพม่าทางแม่สอด และเดินทัพผ่านไทยไปยึดพม่าทางด้านแม่ฮ่องสอนอีกทางหนึ่ง ญี่ปุ่นเข้ายึดพม่าได้เมืองร่างกุ้งและมัณฑะเล และมีท่าทีที่จะไปตีอินเดียอีกต่อไป แต่ก็หมดกำลังเสียก่อน

ส่วนการรบทางด้านยุโรปนั้น อังกฤษ-อเมริกา กับ เยอรมันครั้งแรกก็เป็นฝ่ายรุกเช่นเดียวกัน ครั้นมาตอนปลายปี พ.ศ.๒๔๘๖ เยอรมันก็อ่อนกำลังลง เมื่อเยอรมันอ่อนกำลังลงเช่นนั้น ซึ่งเป็นการแพ้แก่อังกฤษและอเมริกาโดยปริยาย อังกฤษและอเมริกาจึงจัดกำลังทัพมาเพิ่มทางเอเซียมากยิ่งขึ้นเพื่อจะปราบญี่ปุ่น

ส่วนทางด้านประเทศไทย อังกฤษและอเมริกา พอจะทราบความฝืนใจของไทยในการยอมร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงไม่ทำการรุนแรงอะไรกับไทยมากนัก คงมุ่งจะปราบฝ่ายญี่ปุ่นฝ่ายเดียว

ระหว่างสงครามดังกล่าวนั้น ทางราชการจังหวัดอุตตรดิตถ์ได้ประกาศให้ราษฎรทำหลุมหลบภัย กับทั้งให้อพยพย้านออกไปอยู่ในที่ห่างไกลชุมชนเพื่อป้องกันอันตรายจากการโจมตีทางอากาศของเครื่องบิน สถานที่ราชการก็อพยพย้ายออกไปอยู่ในที่ห่างไกลชุมชนเช่นเดียวกัน คือ ห่างจากทางรถไฟ ห่างจากสถานี ห่างสะพานข้ามแม่น้ำ เพราะอังกฤษ - อเมริกาประสงค์ที่จะทำลายตัดเส้นทางคมนาคมเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นได้อาศัยใช้ลำเลียงทหารและขนส่งสัมภาระได้สะดวก

ข่าวภัยทางอากาศในประเทศไทยมีมากขึ้น รู้ไปถึงทางกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ลำปาง ทางราชการจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้จัดหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ และหน่วยบอกสัญญาณระวังภัยโดยมีเจ้าหน้าที่ประจำทั้งกลางวันและกลางคืน สถานที่ต่างๆ รวมทั้งอาคารบ้านเรือนราษฎรและร้านค้ามีการพรางไฟทั่วไป

( หน่วยป้องกันภัยทางอากาศที่จัดตั้ง ในปัจจุบันได้แก่ ค่ายศรีพนมมาศ หรือ ป.พัน ๒๐ ตั้งอยู่ริมเส้นทางหลวงจังหวัดสายพระแท่นศิลาอาสน์ – อ.ลับแล ซึ่งทางการเห็นว่าเป็นช่องทางที่เครื่องบินเลือกบินผ่านเข้าตัวเมืองอุตรดิตถ์ จึงได้เลือกพื้นที่ตั้งหน่วยป้องกันภัยทางอากาศตรงบริเวณนั้น )

อุตตรดิตถ์ถูกบอมบ์ครั้งแรก

วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ ตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ มีเครื่องบิน บินมาจากทางทิศใต้ ๒ เครื่อง มาทิ้งบอมบ์สะพานข้ามแม่น้ำน่านที่บ้านดารา ( สะพานปรมินทร์ ) เสียงระเบิดดังไปถึงในตัวจังหวัด เครื่องบินได้ทิ้งระเบิดลงสะพาน ๑ ลูก แล้วบินมาที่หมู่บ้านวังกะพี้ ยิงปืนกลกราดบ้านวังกะพี้ บ้านท่าทอง และโรงงานน้ำตาลไทยวังกะพี้ ตลอดมาถึงบ้านป่าเซ่า ที่วังกะพี้ ปรากฎว่าลูกกระสุนปืนกลจากเครื่องบินถูกขาครูประชาบาล ชื่อนายมาด กลิ่นเชตุ และยิงกราดสถานีรถไฟวังกะพี้ กระสุนทะลุฝาเข้าไปถูกเด็กอ่อนที่กำลังนอนอยู่ในเปลตายคาที่ ชาวตลาดวังกะพี้พากันหนีหลบภัยเข้าไปอยู่ใต้ถุนตลาด กระสุนถูกชาวจีนคนหนึ่งที่ข้อมือ

ชาวจีนและนายมาด ผู้เคราะห์ร้าย ทนพิษของกระสุนปืนกลไม่ไหวได้ถึงแก่กรรมไปตามกัน ชาวบ้านและชาวตลาดวังกะพี้พากันอกสั่นขวัญหายไปตามกัน บางคนก็ไปอาศัยอยู่โคนต้นไม้เพื่อหลบภัย บ้างก็หมอบแอบอยู่ข้างขอนไม้ ที่มีหลุมหลบภัยก็หนีลงไปอยู่ในหลุม เสียงสวดมนต์ภาวนากันพึมพำ บ้างก็เสียงร้องคุณพระช่วยตามแต่ใครจะนึกได้อย่างไรก็ว่ากันไป ผิดบ้างถูกบ้างเพราะความตกใจกลัว บ้างก็ยกมือไหว้คุณปู่คุณเจ้า เมื่อเครื่องบินผ่านไปแล้ว คนที่ยังไม่ได้ทำหลุมหลบภัยต่างก็รีบทำทั้งกลางวันและกลางคืน

ในตอนบ่ายของวันที่เครื่องบินมาทิ้งระเบิดสะพานบ้านดารานั้น คนแถวบ้านท่าอิฐ บางโฑ และท่าเสา ได้ยินเสียงครืนๆ ก็สำคัญว่าฟ้าร้อง แต่ชั่วเวลาไม่นานก็ได้ยินเสียง ครืน ! ครืน ! ครืน ! และได้เห็นเครื่องบินโฉบไปๆ มาๆ อยู่ทางใต้

“ ไม่ใช่เสียงฟ้า เสียงเรือบินโจมตีโรงงานน้ำตาลโว้ย พวกเรารีบหนีลงหลุมหลบภัยเร็ว ” ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งหญิงและชาย เด็ก ผู้ใหญ่ต่างก็วิ่งหาหลุมหลบภัยกันให้วุ่นวายโกลาหล เสียงเครื่องบินดังกระหึ่มไปทางทิศเหนือ ไปทิ้งบอมบ์ที่สะพานแม่ต้า ลำน้ำยม อีกต่อไป

เมื่อเครื่องบินหายลับไปแล้ว คณะกรรมการอำเภอเมือง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทางจังหวัด พากันรีบไปที่วังกะพี้ทันที ได้เห็นเหตุการณ์ที่เครื่องบินกราดปืนกล สถานที่บางแห่งก็พรุนไปด้วยรอยกระสุนปืนกล ชาวบ้านพากันเก็บกระสุนปืนได้เป็นอันมาก

พนักงานรถไฟซึ่งประจำอยู่ที่สถานีบ้านดารา เมื่อเครื่องบินกลับไปแล้ว ก็ได้โทรเลขแจ้งมายังกองบำรุงทางที่อุตตรดิตถ์ ทางเจ้าหน้าที่กองบำรุงทางรถไฟจึงไปยังที่เกิดเหตุในตอนเย็นวันเดียวกันนั้น ได้เห็นอำนาจร้ายแรงของลูกระเบิดและปืนกลเช่นนั้น จึงแนะนำให้ชาวบ้านรีบทำหลุมหลบภัย กับทั้งทางสถานีก็รีบช่วยกันขุดหลุมหลบภัยไว้ที่ห่างจากสถานีอย่างรีบเร่งเช่นกัน

วันรุ่งขึ้นที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ พวกชาวบางโพ และชาวท่าเสา พร้อมกับข้าราชการบางคน ต่างก็อยากจะเห็นสะพานบ้านดาราถูกโจมตี จึงพากันไปดูมากมาย

วันเดียวกัน ๒๖ เมษายน เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. มีเครื่องบินมาจากทางทิศเหนืออีก ๖ เครื่อง บินตรงมาทิ้งระเบิดที่สะพานบ้านดาราซ้ำอีกเป็นรอบที่ ๒ พอบินมาเข้าเขตสะพานบ้านดารา และบินแยกขบวนเป็นวงกลมกราดกระสุนปืนกล เสียงรัวเป็นประทัดแตก บ้านที่อยู่ในรัศมีของกระสุนปืน มีบ้านเต่าไห บ้านไร่อ้อย บ้านพิชัย และอีกหลายหมู่บ้าน เครื่องบินกราดกระสุนปืนกลเสียงดังไม่ขาดระยะ และระดมการทิ้งบอมบ์ขนาดใหญ่ ลูกบอมบ์บางลูกพลาดเป้าหมาย ตกลงไปในน้ำ และบนหาดทราย บางลูกตกลงระหว่างช่องสะพาน บางลูกก็ถูกหัวสะพาน พวกที่พากันไปดู ต่างก็พากันวิ่งหนีเอาตัวรอดกันจ้าละหวั่น บางคนเคราะห์ร้ายถูกสะเก็ดระเบิด และถูกกระสุนปืนกลถึงแก่ล้มตายไปหลายคน เพราะหนีไม่ทัน

ขณะที่เครื่องบินกำลังบินโจมตีสะพานบ้านดาราอยู่นั้น เผอิญเป็นเวลาเดียวกับที่ขบวนรถไฟจากพิษณุโลกมาทำการขนถ่ายสัมภาระอยู่พอดี ขบวนที่มาจากพิษณุโลกมาจอดอยู่ฝั่งด้านใต้ของสะพาน ขบวนที่มาจากอุตตรดิตถ์จอดขนถ่ายอยู่ทางฟากด้านเหนือของสะพาน ผู้โดยสารกำลังเดินข้ามสะพานเพื่อสับเปลี่ยนรถพอดีกับที่เครื่องบินทั้ง ๖ เครื่องดังกล่าวนี้บินมาถึง จึงเป็นเวลาเคราะห์ร้ายรวมกันขนาดใหญ่ หัวรถจักรและรถตู้ก็ถูกกระสุนปืนกลเสียหายไม่น้อย

ภัยทางอากาศโดยเครื่องบินโจมตีสะพานบ้านดาราครั้งนี้ นับเป็นการถูกโจมตีทางเครื่องบินครั้งที่ ๒ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ คราวนี้ สถานที่ทำการของทางราชการบางแห่งที่ยังไม่ย้ายหนีภัย จึงทำการย้ายด่วนทันที ศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่อำเภอลับแล และหน่วยงานอื่นอีกหลายแห่งพากันขนย้ายกันอย่างรีบเร่งที่สุด

เครื่องบินกราดปืนกลที่บางโพและท่าเสา

นับตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นต้นมา เครื่องบินได้มาทิ้งระเบิดและยิงปืนกลกราดที่สะพานบ้านดารา จากนั้นก็มีเว้นเพียงระยะ ๓ – ๔ วัน จะมีเครื่องบินมาโจมตีอีกเป็นระลอกๆ เช่นนี้อยู่เสมอ จากโจมตีสะพานบ้านดาราแล้ว เครื่องก็จะบินเข้าไปในเขตตัวจังหวัดอุตตรดิตถ์ กราดปืนกลยิง ก่อนที่เครื่องบินจะเข้าไปในเขตตัวจังหวัดก็จะมีเสียงกระหึ่มมาแต่ไกล เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันภัยของจังหวัดได้ยินเสียงก็จะรีบเปิดไซเรน หวอ ! หวอ ! บอกสัญญาณภัย เวลาเครื่องบินกลับไปแล้ว ก็จะเปิด หวอ ! หวอ ! หวอ ! อีก เป็นการบอกสัญญาณหมดภัย

เรื่องการอพยพหนีภัยของสถานที่ราชการอีกครั้ง เช่น โรงเรียนประจำจังหวัดชาย อพยพไปทำการสอนอยู่ที่ศาลาวัดบรมธาตุทุ่งยั้ง โรงเรียนสตรีจังหวัด อพยพไปสอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดไผ่ล้อม หาดท่าอิฐ และเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๘๗ โรงเรียนประชาบาลตำบลท่าเสา ๙ วัดไผ่ล้อม ได้ย้ายไปเรียนอยู่บนกุฏิพระวัดไผ่ล้อม หาดท่าอิฐนั่นเอง

วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗ เวลาบ่าย มีเครื่องบินชนิด ๒ ลำคู่แฝดติดกัน ๒ เครื่อง บินมาจากทิศใต้ มาถึงก็บินโฉบลงระยะต่ำ ยิงกราดถังน้ำซึ่งเป็นหอสูงของรถไฟ และยิงกราดหัวรถจักรซึ่งจอดอยู่ในโรงพักรถที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ ปืนกลภาคพื้นดินของญี่ปุ่นได้ยิงขับไล่เครื่องบินแฝดทั้ง ๒ ลำนั้น เสียงดังสนั่นหวั่นไหว เครื่องบินแฝดทั้งคู่นั้นได้บินเลยไปที่ตลาดท่าเสา ยิงกราดรถจักรและตู้รถไฟ แล้วบินวกกลับมายิงกราดที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ซ้ำอีกเป็นรอบสอง แล้วกลับไปยิงที่ท่าเสาอีก โดยการบินกลับไปกลับมายิงถล่มเป็นว่าเล่น ทางภาคพื้นดินก็ยิงขับไล่ไม่ขาดเสียง แต่ไม่อาจทำให้เครื่องบินของข้าศึกเสียหายอะไรได้

นับเป็นครั้งแรกที่ชาวตลาดบางโพ และชาวตลาดท่าเสา ได้เห็นเครื่องบินเข้ามายิงกราดในตัวจังหวัดและได้เห็นเครื่องบินอย่างใกล้ชิด ทั้งกลัว และทั้งอยากดูอยากเห็น เสียงปืนกลดัง ครืน ! ครืน ! ทั้งที่ยิงกราดลงมาจากเครื่องบิน และทั้งที่ยิงขับไล่จากภาคพื้นดิน ดังประสานเสียงสนั่นหวั่นไหว คนเฒ่าคนแก่บางคนได้ยินเสียงถึงกับเป็นลมช็อคไปเลยก็มี บางคนไม่เคยได้พบได้เห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ก็ตกประหม่าขวัญหนี วิ่งหาที่หลบซ่อนกันชุลมุนวุ่นวาย บ้างก็วิ่งเข้าซุกในกระทอใส่ถ่านด้วยความตกตลึงกลัว บางคนคว้าได้ผ้าขี้ริ้ววิ่งลงหลุมหลบภัย ห่อเงินห่อทองของมีค่าอย่างอื่นไม่เอาไป เพราะความตกใจกลัวจนหยิบฉวยอะไรไม่ถูก ผู้ชายบางคนก็ห้อยพระเครื่องเต็มคอ บางคนก็มีตะกรุด ผ้าประเจียด เครื่องบินที่มาโจมตีนี้ มุ่งทำลายแต่สะพานและรถไฟเพื่อตัดทางคมนาคม ไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นลำเลียงสัมภาระและทหารได้สะดวก ส่วนอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในรัศมีของระเบิดและกระสุนปืนนั้น ถือเสียว่าเป็นคราวเคราะห์หามยามซวยไป

จากการโจมตีทางเครื่องบินครั้งนี้ ทำให้ชาวจังหวัดอุตตรดิตถ์เกิดความรู้ถึงภัยทางอากาศขึ้นมาก อย่างเช่น ลูกระเบิดครั้งแรกก็เข้าใจว่าคงจะเป็นลูกกลมๆ คล้ายลูกมะพร้าวหรือลูกฟุตบอล แต่เมื่อได้เห็นลูกระเบิดที่ไม่ระเบิดนอนกลิ้งอยู่ข้างสะพานบ้านดาราในลักษณะนอนตะแคงข้าง มีสีดำทำด้วยเหล็กหล่อรูปกลมๆ และยาวคล้ายหัวปลีกล้วย ขนาดใหญ่เท่าไหซองใหญ่ๆ ยาวประมาณ ๓ ศอก ตอนท้ายมีหางยาวออกมา ตอนหัวมีเหล็กขนาดใหญ่เกือบเท่าแขนเมื่อพวกทหารช่างได้มาถอดออกได้เห็นข้างใน ลูกระเบิดที่ตกลงมานอนตะแคงอยู่นั้น ทหารช่างบอกว่าเป็นระเบิดที่ทิ้งระยะต่ำ ไม่ทันตั้งตัวตรงจึงไม่ระเบิด หนักขนาดหามสี่คนยังไม่ไหว


Last edited by black_express on 29/05/2006 9:01 am; edited 2 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 26/05/2006 9:13 pm    Post subject: Reply with quote

ขออนุญาตแทรกนิดนึงนะครับพี่ตึ๋ง

เครื่องบินลำที่ตกที่พิชัยเนี่ย จุดที่ตกถ้าสังเกตจากทางรถไฟ ช่วงเลยทางตัด ที่ไปบ้านนาอิน ครับ

ยายผมเล่าว่า นักบินรอดจากการถูกยิงตก หลุดพ้นจากจากจับกุมของทหารญี่ปุ่น โดยความช่วยเหลือของตำรวจ อ่าครับ เส้นทางที่หลบหนี คือสายนายาง ที่พี่ไปกะเจ้าเจฟ เจ้าแมกซ์ ไปสำรวจแล้วผมอดไป อ่า....

แต่ยังเก็บของที่ระลึกจากเครื่องที่ตกไว้ ปัจจุบัน ได้แปรสภาพเป็น กาละมัง .....เรียบร้อยแย้ว ครับ
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 27/05/2006 10:35 am    Post subject: Reply with quote

อ่ะ...มีพยานหนึ่งราย แถมด้วยหลักฐานอีกหนึ่งชิ้น บ่งว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

ช่วงบ้านนายาง - นาอินสมัยโน้นเป็นป่าทึบ ยากนักที่ทหารญี่ปุ่นจะตามตัวได้ ยืนยันตามป๋าณัฐครับ Very Happy


Last edited by black_express on 27/05/2006 1:29 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 27/05/2006 1:27 pm    Post subject: Reply with quote

สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ถูกบอมบ์อีก

วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ เวลาย่ำรุ่งยังไม่ทันสว่างดี เครื่องบิน บี – ๒๔ ของอเมริกาชนิด ๔ เครื่องยนต์ จำนวน ๒ เครื่อง ได้มาบินร่อนอยู่เหนือตลาดท่าเสา และตลาดบางโพ ได้ยิงปืนกลกราดมายังบริเวณสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ เป็นประกายแดงพราวเสียงดัง ครืน ! ครืน ! ลูกระเบิดขนาดเล็กตกลงยังที่หุงข้าวของทหารญี่ปุ่นและที่พักของทหารญี่ปุ่นพัง อีกลูกหนึ่งตกลงในท้องร่องมุมตลาด ร้านค้าพังไปบ้างบางแห่ง อีกเครื่องหนึ่งบินไปทางสะพานบ้านดาราเพื่อจะยิงกราดและทิ้งระเบิดสะพานซ้ำอีก ระเบิดบางลูกที่ทิ้งสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ บ้างก็ตกลงเหนือสถานีบ้าง ใต้สถานีบ้าง เครื่องบินลำที่บินไปจะระเบิดซ้ำสะพานบ้านดารานั้น เคราะห์ร้ายไปถูกปืนทหารญี่ปุ่นซึ่งเฝ้ารักษาสะพานอยู่นั้น กระสุนโดนเข้าที่หางเสือทำให้เสียการทรงตัว บินพุ่งไปตกลงที่หมู่บ้านหม้อ อำเภอพิชัย ตกในป่าอ้อยเกิดไฟลุกไหม้ นักบินเสียชีวิตไป ๔ คน อีก ๔ คนรอดตาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจับได้ ปรากฏว่าเป็นชาติอังกฤษ อเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นจะเข้าแย่งตัวเชลยเหล่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้พาไปหลบซ่อนหนีญี่ปุ่นเสียก่อน เกรงว่าถ้าญี่ปุ่นแย่งเอาไปได้ คงจะต้องทำทารุณแก่พวกเซลยเหล่านั้นอย่างสาหัส หรือบางทีอาจแกล้งทรมานให้ตายก็เป็นได้ นับว่าเป็นโชคดีของพวกเชลยที่ได้มาตกมาอยู๋ในมือของฝ่ายไทย จึงได้รับความสุขความสบายในการกินการนอน งานการก็ไม่ให้ทำอะไร ถึงเวลาก็จัดอาหารมาให้กินเป็นพิเศษ

ส่วนเครื่องที่เหลืองวดนั้น ไม่เป็นอันตรายอย่างไรเลย คงบินกลับไปฐานทัพของเขา ในวันนี้ ขณะที่เครื่องบิน บี - ๒๔ ของฝ่ายอังกฤษ อเมริกา กำลังบินโจมตีสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์อยู่นั้น เป็นเวลาที่พวกแม่ค้ากำลังนำของขายเข้าสู่ตลาดกันชุลมุนวุ่นวายอยู่นั้น และได้ประสบกับเหตุการณ์อันน่าตกใจกลัวเช่นนั้น ต่างก็ขวัญหนีดีฝ่อไปตามๆ กัน บางคนกำลังเดินหาบของจะเข้าไปขายในตลาด ได้เห็นเครื่องบินกำลังแผลงฤทธิ์ก็ตกใจกลัวมาก ถึงกับพูดกับพวกเดียวกันว่า “ ฉันไม่ไปขายของแล้ว เห็นไหมเครื่องบินมันร่อนต่ำลงมา เห็นที่ปีกมีไฟแดงๆ ด้วย ” บางคนเมื่อได้ยินเสียงดัง ครืน ! ครืน ! ก็ทิ้งหาบวิ่งเข้ามุดใต้ถุนร้านขายของ บ้างก็วิ่งไปหมอบในท่อระบายน้ำข้างถนน บ่นภาวนาตัวสั่นเหมือนลูกนก เครื่องบินโจมตีจนหนำใจแล้วก็บินกลับ และไปตกที่พิชัยหนึ่งเครื่องดังกล่าว เช้าวันนั้น เป็นอันว่าตลาดว่างเปล่าไม่มีทั้งคนขายและคนซื้อ เพราะต่างก็พากันหลบหนีเครื่องบินกันไปหมด ไปกันคนละทิศละทาง

เมื่อเครื่องบินกลับไปแล้ว ต่างก็มาจับกลุ่มสนทนากันถึงเรื่องการวิ่งหลบหนีเครื่องบิน บางคนก็บอกว่าน่ากลัวมันจะมาโจมตีซ้ำอีก พวกเราต้องระวังกันไว้ดีกว่า

วันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น.เศษ เครื่องบิน บี – ๒๔ ได้บินเข้าถึงตัวจังหวัดอุตตรดิตถ์ จำนวน ๘ เครื่อง เสียงไซเรนสัญญาณบอกภัยทางอากาศดังกังวานขึ้น พอเสียงหวอสงบลงก็ปรากฏว่าเครื่องบิน ๘ เครื่องมาบินโฉบอยู่เหนือสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ แล้วเครื่องบินบินไปทางใต้ แล้ววนกลับมาทางเหนือพร้อมกับเสียงดังรัวจากปืนกลที่พ่นกระสุนลงมาจากเครื่องบิน ระคนกับเสียงระเบิดดัง ครืน ! ครืน ! เปรี้ยง ๆ ถล่มลงสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ซ้ำจากถูกถล่มเมื่อตอนเช้า ที่ตั้งกองเสบียงของญี่ปุ่นพังพินาศ ระเบิดตกถูกห้องแถวถนนราษฎร์สนาน หลังสถานีรถไฟพังไป ๒ ห้อง เครื่องบินทั้ง ๘ เครื่อง ได้ระดมยิงกราดและทิ้งระเบิดอย่างถี่ยิบ แล้วบินร่อนเป็นวงกลมไปๆ มาๆ

ปืนต่อสู้อากาศยาน ปตอ. ที่ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ก็ยิงโต้ตอบอย่างไม่ยอมหยุดเช่นเดียวกัน กระสุนปืน ปตอ. ไปโดนเครื่องบินเข้าลำหนึ่ง ไฟลุกแดง เสียงประชาชนที่อยู่หมู่บ้านป่าเซ่าทางฝั่งด้านตะวันออกของลำน้ำน่าน ร้องตะโกนกันว่า “ เครื่องบินไฟไหม้แล้วโว้ย โดนปืนเข้าบ้างแล้ว ” เครื่องบินหนึ่งในแปดเครื่องนั้น ไฟไหม้ใต้ท้องเห็นแสงไฟแดงโชติช่วง ได้บินออกจากหมู่บ้าน หัวปักต่ำลงและไปตกที่ป่าไม้ในหมู่บ้านม่อนดินแดง เสียงดังเหมือนฟ้าร้อง ไฟไหม้ลุกท่วมลำตัว ขณะที่เครื่องบินกำลังตกลงมาก่อนจะถึงแผ่นดิน นักบินได้โดดร่มชูชีพลงมา ๓ คน แต่ร่มกางลงมาได้เพียง ๒ คน อีก ๑ คน ร่มไม่กาง เลยตกลงกระแทกกับตอไม้ตายทันที เมื่อเครื่องบินตก มีประชาชนและพวกทหารม้าที่ตั้งอยู่บ้านท่าเสา พากันวิ่งไปดู เห็นเครื่องบินชนต้นไม้หักราบเป็นแนว เครื่องบินหกคะเมนเครื่องพังกระจัดกระจายกระเด็นไปคนละทิศละทาง รอยเครื่องบินเป็นทางยาวประมาณ ๒๐ วา กว้าง ๑๐ วา เครื่องบินที่ตกนี้ เป็นเครื่องบิน บี – ๒๔ สี่เครื่องยนต์ มีนักบินประจำมาด้วย ๑๒ คน ตายคาซากเครื่องบินดำเป็นตอตะโก ๙ คน

นักบินที่โดดร่มชูชีพรอดตายมาได้ ๒ คนนั้น ได้พากันดั้นด้นไปตามป่าเพื่อหวังว่าจะได้พบหมู่บ้าน คนหนึ่งเดินไปถึงบ้านน้ำริด เป็นชาวอังกฤษรุ่นหนุ่ม ได้ความว่าเป็นช่างถ่ายรูปประจำเครื่องบิน ชาวบ้านได้นำตัวไปมอบให้ตำรวจกองเมืองอุตตรดิตถ์ ส่วนนักบินอีกคนหนึ่งนั้นเดินเดาสุ่มไปจนเวลาพลบค่ำจึงไปเห็นโรงนาของชาวบ้าน จึงแวะเข้าไปขอข้าวกิน โรงนาแห่งนี้เป็นของชาวลับแล ถามกันพอฟังได้แต่คำว่า “ อินเดีย – อินเดีย - กัลกัตตา ” คนนี้เป็นชาวอังกฤษเหมือนกัน เป็นคนยิงปืนประจำเครื่องบิน ชาวลับแลเจ้าของโรงนาผู้นั้นเห็นเป็นฝรั่งและพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็จัดหาอาหารให้กิน แล้วพาไปมอบให้ตำรวจลับแล

นักบินที่โดดร่มรอดตายมาได้ทั้ง ๒ คนนี้ เมื่อได้ถามดูก็พอจับความได้ว่า มีความสมัครใจเป็นเชลยของไทย ไม่ยอมเป็นเชลยของญี่ปุ่น เมื่อเชลยได้อยู่ในความดูแลของตำรวจเช่นนั้น มีประชาชนไปดูกันมาก ตำรวจก็จัดอาหารให้กินอย่างดี

เครื่องบินทั้ง ๘ เครื่อง ได้ถูกกระสุนปืน ปตอ. ที่ยิงต่อสู้ที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์จนไฟลุกไหม้ไปตกที่หมู่บ้าน ม่อนดินแดง ห่างจากบ้านท่าเสาค่อนไปทางเหนือประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษๆ ต่อมาได้ทราบว่า มีเครื่องบินในจำนวน ๘ เครื่องดังกล่าวนั้น ได้ถูกกระสุนปืน ปตอ. ที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ ไฟลุกไหม้ที่ปีก แต่นักบินได้พยายามพาบินข้ามเขาไปทางทิศตะวันตก และทราบว่าไปตกในป่า กิ่งอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง นักบินตายหมดทั้งลำ

เครื่องบินที่เหลืออีก ๖ เครื่อง เมื่อเห็นพวกเดียวกันถูกยิงไฟไหม้ตกไป ๒ เครื่อง ต่างก็ระดมยิงปืนกลและทิ้งระเบิดลงมายังกับห่าฝน จนถึงเวลาพลบค่ำ จึงพากันบินกลับไปฐานทัพที่กัลกัตตา

( เครื่องบินตกที่บ้านหม้อ อ.พิชัย น่าจะมีพลประจำเครื่องตายมากกว่านี้ แต่ปรากฎตามที่บันทึกไว้แค่ ๔ คน ต้องเว้นเครื่องหมาย ? เอาไว้ก่อนครับ )

สถานีรถไฟและโรงฟ้าอุตตรดิตถ์ ถูกระเบิดพังราบไม่เหลือ

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗
เป็นวันมหาวิปโยคสำคัญยิ่งของจังหวัดอุตตรดิตถ์ นับเป็นวันที่สูญเสียสถานที่สำคัญและชีวิตประชาชนไม่น้อยในวันนี้

วันรุ่งขึ้นแต่เช้าตรู่ บรรดาพวกพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายต่างรีบจัดสินค้าใส่หาบนำไปขายที่ตลาด ซึ่งทางเทศบาลจัดเป็นตลาดชั่วคราวเพื่อหลบภัยทางอากาศ ที่สี่แยกวัดธรรมาธิปไตย ที่ตลาดบางโพนั้น เวลานั้นเป็นห้องว่างเปล่าใส่กุญแจทิ้งไว้ เจ้าของร้านบางรายได้อพยพไปอยู่ในที่ห่างไกลที่คาดว่าพ้นรัศมีการโจมตีของข้าศึก ส่วนด้านการรถไฟได้จัดตั้งโรงงานซ่อมเครื่องจักรกลขึ้นไว้ใกล้ถังน้ำที่เป็นหอสูง ในบริเวณที่ตั้งโรงงานของรถไฟในเวลานี้

เมื่อเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเพื่อทำลายสะพานบ้านดารา คือ สะพานปรมินทร์ ข้ามแม่น้ำน่านหลายครั้งหลายหน หัวรถจักรถูกระเบิด บ้างก็ถูกกระสุนจากเครื่องบิน บ้างเสียหายจนไม่อาจจะซ่อมได้ จึงสร้างโรงเก็บรถจักรเพื่อเก็บซ่อนให้พ้นสายตาของเครื่องบินข้าศึก ถ้าเขาได้เห็นรถจักรเป็นต้องระดมยิง และทิ้งระเบิดลงใส่ทันที เมื่อรถไฟข้ามไปมาไม่ได้ เพราะสะพานชำรุดเนื่องจากถูกโจมตีหลายครั้งหลายคราวดังกล่าว การลำเลียงพลและการลำเลียงสัมภาระของญี่ปุ่น ตลอดจนการติดต่อสื่อสารกันก็เป็นไปโดยยากลำบาก ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงระดมกำลังกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่านคู่ขนานไปกับสะพานปรมินทร์ เรียกว่า สะพานเบี่ยง เพื่อรถไฟวิ่งข้ามไปมาได้อย่างสะดวก ส่วนที่อาคารสถานีนั้น ได้ขนย้ายบัญชีและพัสดุสิ่งของต่างๆ ออกไปตั้งที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่อื่น เพราะเกรงจะถูกทำลาย

นับจากวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นต้นมา หลังจากที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ได้ถูกโจมตีทั้งเช้าและเย็น และเครื่องบินถูกยิงไปตกที่พิชัย เครื่องหนึ่ง ไปตกที่ลำปางอีกเครื่องหนึ่งในวันเดียวกันนับตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลาคมดังกล่าวนั้นเป็นต้นมา ไม่มีเครื่องบินมาโจมตีที่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์และบางโพอีกเลย ทำให้คิดว่า คงไม่มีเครื่องบินมาก่อกวนอีกแล้ว เพราะเป็นเวลาห่างมาตั้งเดือนกว่า ทำให้ชาวบางโพเกิดชล่าใจ

แต่แล้ว เมื่อมาถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ นั้น เวลาเช้า อากาศกำลังร่มเย็นสบาย บริเวณหลังสถานีอุตตรดิตถ์ มีประชาชนเดินดูรอยกระสุนและหลุมระเบิด ประกอบทั้งเวลานั้น เป็นเทศกาลงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ มีประชาชนจากหลายจังหวัดมางานนั้นด้วย พากันเดินอยู่ที่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์กันเป็นหมู่ๆ ทั้งเวลาเช้าและบ่าย บางพวกก็ไปรับประทานอาหารและดื่มสุรากันในร้านขายอาหาร พวกโรงงานของโรงซ่อมเครื่องจักรกล โรงกลึงของรถไฟบางพวกก็นั่งจับกลุ่มคุยกันโดยไม่มีใครนึกถึงเลยว่า พระยามัจจุราชอันเหี้ยมโหดจะมาถึง

วันนั้นเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. เครื่องบิน บี - ๒๔ ชนิด ๔ เครื่องยนต์ จำนวน ๖ เครื่อง บินพวดพราดครางกระหึ่มเข้ามาถึงตัวจังหวัดอุตรดิตถ์โดยไม่มีใครรู้ แม้สัญญาณบอกภัยทางอากาศซึ่งเคยเปิดหวอให้ร็แทบทุกครั้ง แต่น่าประหลาดใจที่ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยป้องกันภัยก็ไม่รู้ ไม่ทันจะเปิดหวอ เจ้ามัจจุราชทั้ง ๖ เครื่องก็เข้าถึงตัวเสียแล้ว เมื่อเข้ามาถึง เจ้าเครื่องบินทั้ง ๖ ก็จิกหัวลงต่ำ ระดมยิงด้วยปืนกลประจำเครื่องบิน พร้อมปล่อยระเบิดลงอย่างไม่นับ เสียงดัง เปรี้ยงๆๆ ครืนๆ สนั่นก้องไปทั่ว เมื่อได้กระหน่ำยิงแล้ว มันก็พากันไปเล่นงานโรงไฟฟ้า โรงซ่อมเครื่องจักรกล โรงกลึงของรถไฟ แล้วมาแสดงอิททธิฤทธิ์เล่นงานสถานีรถไฟ วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีกจนนับครั้งไม่ถ้วน ระเบิดที่โยนใส่ลงมาคราวนี้เป็นระเบิดขนาดใหญ่มาก จากนั้นมันบินไปท่าเสา และยิงกราดทางรถไฟไปทางทิศเหนือ มันกระหน่ำเสียจนพอใจแล้วก็บินผ่านกลับไปเลย ไม่กลับมาซ้ำอีกเหมือนครั้งแรก ขณะที่เจ้าพระยามัจจุราชทั้ง ๖ กำลังยิงกราดและทิ้งบอมบ์นั้น ประชาชนต่างพากันตกใจเพราะไม่ทันรู้ตัว จะวิ่งไปลงหลุมหลบภัยก็ไม่ทัน บางคนหมอบอยู่ในห้อง บางคนกำลังวิ่งจะไปลงหลุมหลบภัย ก็เลยสังเวยชีวิตจากกระสุนปืนกลจากเครื่องบินไปตามๆ กันหลายชีวิต หลังจากโจมตีที่อุตตรดิตถ์แล้ว เครื่องบินเลยไปยิงกราดที่หมู่บ้านทุ่งยั้งและไผ่ล้อม ขณะที่กำลังเดินต้อนวัวควายกลับเข้าบ้าน พวกสัตว์เหล่านั้นก็เลยตกเป็นเป้ากระสุนปืนของเครื่องบินตายไปหลายตัว

เครื่องบินทั้ง ๖ ได้ทำลายสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์พังพินาศเป็นเศษอิฐเศษปูนไป โรงฟ้าของเทศบาลก็พังราบ โรงซ่อม โรงกลึงของรถไฟก็ไม่มีเหลือ รถจักรซึ่งจอดอยู่บนรางก็ล้มนอนกลิ้งตะแคง ลูกบอมบ์แต่ละลูกโตขนาดใหญ่มาก หลุมระเบิดแต่ละหลุมกว้างใหญ่และลึก ระหว่างที่ลูกบอมบ์ตกลงมาระเบิดนั้น เสียงดังสะเทือนไปไกลกว่า ๒ กิโลเมตร รถจักร รถตู้หลายคันลงไปนอนกลิ้งอยู่นอกราง รางเหล็กรถไฟที่โดนระเบิด ขาดกระเด็นปลิวข้ามแม่น้ำไปตกที่บ้านหมอนไม้ ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ผู้ที่อยู่ในโรงกลึง โรงซ่อมของรถไฟตกเป็นเหยื่อกระสุนและระเบิดตายหลายสิบชีวิต

เมื่อเครื่องบินทั้ง ๖ ผ่านพ้นไปแล้ว เห็นว่าปลอดภัย เจ้าหน้าที่จึงออกมารีบจัดการนำคนเจ็บที่ถูกสะเก็ดระเบิดและถูกกระสุนปืนจากเครื่องบินนำไปส่งที่สุขศาลาซึ่งไปตั้งทำงานอยู่ที่วัดธรรมาธิปไตย บางคนไปตายที่สุขศาลานี้ก็มี เพราะบาดแผลขนาดหนักมาก ทนพิษไม่ไหว ประชาชนที่กำลังวิ้งหนีก็ตายเพราะลูกบอมบ์และกระสุนปืนจากเครื่องบินมีไม่น้อย เป็นที่น่าเอน็ดอนาถใจอย่างที่สุด

เหตุการณ์ของวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ ในวันนั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มากมายหลายเท่า

สะพานปรมินทร์ บ้านดาราพังยุบ
( ต้นฉบับ ผู้เรียบเรียงเขียนเป็นสะพานปรเมนทร์ )

สะพานปรมินทร์ เป็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำน่านที่บ้านดารา สำหรับรถไฟที่วิ่งผ่านข้ามไปมาของทางรถไฟ ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมกันระหว่างฝั่งด้านใต้และด้านเหนือ รถไฟวิ่งผ่านข้ามไปมาได้ตลอดสายตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ โดยช่างชาวเยอรมันเป็นผู้ทำการก่อสร้าง เป็นสะพานเหล็กแข็งแรง เริ่มสร้างเมื่อรถไฟได้ทำทางไปถึงอุตตรดิตถ์ ซึ่งเรียกกันว่า สะพานบ้านดารา

สงครามโลกครั้งที่ ๒ อังกฤษ – อเมริกา ใช้ลูกระเบิดขนาดใหญ่พิเศษเพื่อต้องการทำลาย เป็นการตัดการลำเลียงพล และสัมภาระเครื่องยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ สะพานปรมินทร์ หรือที่เรียกกันว่า สะพานบ้านดารา ถูกโจมตีทิ้งระเบิดครั้งแรกเมื่อตอนบ่ายวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นเหตุให้หัวสะพานชำรุด รถไฟข้ามไปมาไม่ได้ ช่างของกองบำรุงทางรถไฟได้รีบซ่อมเป็นการด่วน แต่พอวันรุ่งขึ้นเดือนเดียวกัน เครื่องบินของอังกฤษ – อเมริกา ก็มาทิ้งระเบิดซ้ำอีกหลายเครื่อง แต่ลูกระเบิดคราวนี้ที่นำมาใช้ เป็นระเบิดขนาดใหญ่ ทั้งยิงกราดด้วยปืนกล และทิ้งระเบิดซ้ำอีกเป็นเวลานาน เครื่องบินที่ทำการโจมตีครั้งนี้มาด้วยกัน ๖ เครื่อง เป็นเครื่องบินขนาดใญ่ทุกเครื่อง พยายามโจมตีวันเว้นวันทั้งเพิ่มขนาดร้ายแรงขึ้นทุกเที่ยวที่มา การมาถล่มเฉพาะสะพานบ้านดาราแห่งเดียว รวมได้ประมาณถึง ๒๙ ครั้ง คะเนว่าใช้ลูกบอมบ์ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ – ๖๐๐ ลูก

เฉพาะการมาทิ้งระเบิดและกราดด้วยปืนกล ที่สะพานบ้านดาราแห่งนี้ ในวันที่ ๒๕ ธํนวาคม พ.ศ.๒๔๘๘ คราวนี้มาทิ้งบอมบ์ในเวลาเย็น โดยลูกบอมบ์ขนาดใหญ่ร้อยโซ่เป็นพวงเหวี่ยงลงกลางสะพาน หวังทำลายเป็นครั้งสุดอย่างสุดฤทธิ์ และก็ได้ผลไม่ผิดหวัง ลูกบอมบ์ขนาดใหญ่ที่ร้อยโซ่เป็นพวงหย่อนลงมานั้น ลงมาโดนเสาสะพานเต็มแรง สะพานเหล็กได้ยุบฮวบลงทันที สะพานพังลงไปในแม่น้ำเป็นบางส่วน ใช้ข้ามไปมาไม่ได้เลย

การแผลงฤทธิ์โจมตีของฝ่ายอังกฤษ – อเมริกาครั้งนั้น ทำให้อุตตรดิตถ์ต้องสูญเสียสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ ไปหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว เป็นการตัดกำลังของญี่ปุ่น แต่ไทยเราก็พลอยได้รับผลเสียหายไปด้วย ทั้งสิ่งก่อสร้างและชีวิตของประชาชนไม่น้อย

การทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟวันสุดท้าย ที่สถานีอุตตรดิตถ์พังพินาศนั้น วันรุ่งขึ้นเช้า มีประชาชนพากันมาดูซากปรักหักพังของสถานี ทุกคนต่างตกใจ เพราะได้เห็นระเบิดลูกหนึ่งซึ่งไม่ระเบิด นอนกลิ้งสงบอยู่หลังสถานีตรงกับบริเวณที่ตั้งหอนาฬิกาปัจจุบันนี้ ระเบิดลูกนี้ใหญ่มาก ขนาดเท่าโอ่งมังกรขนาดใหญ่ ชนิดคนเดียวถ้าจะใช้มือโฮบคงไม่รอบ แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ คงได้แต่พากันยืนมองอยู่ห่างๆ เกรงว่ามันอาจจะระเบิดขึ้นเมื่อไรก็ได้

สงครามสงบ

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ชาวเมืองอุตตรดิตถ์ที่ไม่เคยเห็นเครื่องบินของข้าศึก ไม่เคยเห็นเครื่องบินยิงกราดด้วยปืนกล ไม่เคยเห็นลูกบอมบ์หรือลูกระเบิด สงครามคราวนี้ทำให้รู้ฤทธิ์เดชและพิษสงของอำนาจแห่งสงคราม ไม่เคยเห็นมีคนตายนอนเกลี่อนกลาดเลือดแดงไปทั่ว ก็ได้เห็น เป็นที่น่าสยดสยองหวาดเสียว ไม่เคยเห็นคนญี่ปุ่นก็ได้เห็นกันคราวนี้

นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นต้นมา ระหว่างที่หน่วยราชการและประชาชนต่างอพยพหลบภัยไปอยู่ที่อื่นกันวุ่นวายอยู่นั้น ก็เกิดมีมิจฉาชีพพวกหนึ่งออกทำการปล้นสะดม ลักทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ ทั้งของราชการและของชาวบ้าน รวมทั้งของวัดวาอาราม พวกสันดานชั่วเหล่านี้ก็ไม่ละเว้น สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมอยู่เสมอ

วันสิ้นสุดของสงคราม เนื่องมาจากกองทัพเรือ ทัพอากาศ และทัพบกของอังกฤษ - อเมริกาได้โจมตีเกาะญี่ปุ่นหลายแห่ง ครั้งหลังสุดได้ทิ้งระเบิดปรมาณูบนเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้ เพราะได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงขอสงบสงคราม

เมื่อสงครามสงบ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ชาวจังหวัดอุตตรดิตถ์ต่างพากันดีอกดีใจ ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สถานที่ราชการ และประชาชนที่พากันอพยพไปอยู่ในที่ต่างๆ ก็พากันกลับมาอยู่ในที่เดิมเป็นปกติ

วันสันติภาพ

ญี่ปุ่น ได้ถูกการปิดล้อมของอังกฤษ – อเมริกา ประชาชนและทหารญี่ปุ่นต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ญี่ปุ่นตกอยู่ในความยากลำบากทุกวิถีทาง จึงจำต้องขอยอมสงบศึก อังกฤษ – อเมริกาก็ไม่ขัดข้อง ยอมตามคำขอสงบศึกของญี่ปุ่นโดยดี แต่ข้างฝ่ายอังกฤษ – อเมริกาต้องให้ทหารญี่ปุ่นที่อยู่ทั้งในประเทศและนอกประเทศทุกแห่งวางอาวุธให้หมด เรียกว่าเป็นการปลดอาวุธกันทีเดียว ทางญี่ปุ่นก็จำยอมปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไขต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ทหารญี่ปุ่นที่มาอยู่ในอุตรดิตถ์หลายหมู่หลายพวกก็จำเป็นต้องถูกปลดอาวุธทั้งหมดเช่นเดียวกัน การถูกปลดอาวุธครั้งนี้ ทหารญี่ปุ่นเสียใจมาก บางคนถึงกับร้องไห้โฮไปเลยก็มี สิ่งของต่างๆ ของทหารญี่ปุ่น เช่น ปืนเล็กสั้น กระสุนปืน และสิ่งของต่างๆ บ้างก็เอาไปโยนทิ้งลงแม่น้ำ บางคนก็เอาเผาไฟ ทุกคนรู้ตัวดีว่าจะต้องกลับไปมือเปล่า

พวกเชลยฝรั่งชาติต่างๆ ที่ญี่ปุ่นจับมาควบคุมไว้ และใช้ให้ทำงานอย่างทารุณ ก็ต้องปล่อยตัวทุกคนและส่งกลับกรุงเทพฯ อย่างปลอดภัย

ทหารญี่ปุ่นจะถืออาวุธปืนอย่างแต่ก่อนไม่ได้อย่างเด็ดขาด เวลาอยู่เวรยามจะถือได้แต่ไม้ตะพดเท่านั้น

เมื่อญี่ปุ่นยอมสงบศึกแล้ว ก็มีทหารอังกฤษ – อเมริกา และทหารอินเดีย ได้เข้ามาในจังหวัดอุตตรดิตถ์ไม่น้อย และทหารญี่ปุ่นที่อุตตรดิตถ์ถูกส่งตัวไปรวมกันที่กรุงเทพฯ

เมื่อสงครามสงบแล้ว ทางรัฐบาลได้จัดงานฉลองสันติภาพขึ้นที่กรุงเทพฯ ๓ วัน ๓ คืน มีการประดับธงชาติของชาติต่างๆ มีมวย และมหรสพในวันที่ ๑๘ – ๑๙ – ๒๐ มกราคม

..........................................


Last edited by black_express on 29/05/2006 9:09 am; edited 4 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ All times are GMT + 7 Hours
Goto page 1, 2, 3  Next
Page 1 of 3

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©