Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44066
Location: NECTEC
Posted: 20/07/2011 1:07 pm Post subject:
คมนาคมชงรมต.ใหม่เปิดหวูดรถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย พ่วงรถไฟความเร็วสูง มติชน
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09:56:24 น.
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอแนวทางการคิดค่าบริการรถไฟฟ้าใต้ดินและบนดินในอัตรา 20 บาทตลอดสาย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่พิจารณา เบื้องต้นพิจารณาไว้ทั้งหมด 2 แนวทาง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อน มั่นใจว่าจะดำเนินการได้แน่นอน นอกจากนี้ยังเตรียมนำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อีกครั้ง หากทางการจีนพิจารณาเงื่อนไขข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ที่ทางการไทยส่งไปให้แล้วเสร็จ สาเหตุที่ทางการจีนยังไม่สามารถส่งร่างเอ็มโอยูให้ไทยได้ เนื่องจากร่างเอ็มโอยูของไทยและจีนมีข้อแตกต่างกัน ดังนั้น ทางการจีนจึงต้องพิจารณาในส่วนที่แตกต่างกับไทยอย่างรอบคอบ
นายสุพจน์กล่าวว่า สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ของพรรคเพื่อไทยนั้น จะส่งผลกระทบกับโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และการก่อสร้างถนน เป็นต้น เนื่องจากจะส่งผลให้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่ม แต่ก็คงจะไม่มากเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ใช้แรงงานมีฝีมือ เช่น ช่างเทคนิค เป็นต้น ดังนั้น จึงมีค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว หากเฉลี่ยระหว่างแรงงานทั่วไปกับแรงงานฝีมือในโครงการของกระทรวงคมนาคมปัจจุบัน ก็พบว่าค่าแรงโดยเฉลี่ยสูงว่า 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47461
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 21/07/2011 4:28 pm Post subject:
ระบบ ตั๋วร่วม ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าผู้โดยสารได้จริงหรือ?
สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1220 ประจำวันที่ 20-7-2011 ถึง 22-7-2011
มื่อหันมามองระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าที่เชื่อว่าจะสามารถรอง รับประชากรชาวกรุงได้ดี ก็มีเพียงแค่ 3 เส้นทาง ที่ประกอบด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และรถไฟฟ้า BTS ที่วิ่งได้เฉพาะจุด ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงยังไม่สามารถตอบโจทย์ให้คนใช้รถหันมาใช้รถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชนแทนใช้รถส่วนบุคคลได้ อีกประเด็นสำคัญ คือ ค่าโดยสารยังมีราคาที่แพงเกินไปสำหรับยุคที่ประชาชนทั่วไปกำลังแบกรับภาระค่าครองชีพที่มากเกินตัวทีมข่าวคมนาคม สยามธุรกิจ จึงได้ลงสำรวจสอบถามผู้โดยสารรถไฟฟ้า ดังนี้
อุดมรัตน์ โอนอ่อน พนักงานบริษัท บอกว่า จะเดินทางไปสยามพารากอน และด้วยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจึงอยากทดลองใช้รถไฟฟ้าแทนดูบ้าง เพื่อคำนวณราคาดูว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้จริงหรือไม่ จึงได้ขึ้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่สถานีรามคำแหงไปลงสถานีพญาไทเพื่อต่อรถไฟฟ้า BTS ไปสยามพารากอน เมื่อคำนวณแล้วไป-กลับมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 100 บาท ซึ่งคิดว่าการขับรถไปเองสะดวกกว่า และมีค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน
วัฒนา โกวิทวยากร บอกว่า ใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งซื้อบัตรโดยสารเป็นรายเดือนก็จะถูกลงเที่ยวละไม่เกิน 20 บาท แต่ก็ต้องใช้ได้เฉพาะเดือนนั้น แต่หากออกนอกเส้นทางไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ก็ต้องซื้อตั๋วใหม่ ทั้งนี้ อยากให้มีระบบตั๋วร่วมมาใช้ในประเทศ เพื่อจูงใจให้คนลดใช้พลังงาน และหากลดได้จริงตามนโยบายเพื่อไทยที่ว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟฟ้าใต้ดิน
20 บาทตลอดสาย ยิ่งจะเป็นเรื่องดีมากสำหรับคนกรุงเทพฯ
สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม บอกว่า นโยบายคิดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายนั้น คาดว่ามีความเป็นไปได้ แต่จะขอหารือกับรมว.คมนาคม คนใหม่ก่อน เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประมาณปี 2558 ระบบตั๋วร่วมจะนำมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนได้ทุกประเภท ทั้งระบบรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถบีอาร์ที ที่กทม.ดูแล, รถไฟฟ้าสายสีแดง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และรถไฟ ความเร็วสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), ระบบทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), มอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง รวมถึงรถโดยสารประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และเรือด่วนเจ้าพระยา
ซึ่งเมื่อระบบตั๋วร่วมเสร็จแล้วจะเกิดความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดการด้านระบบตั๋วต่อ-ตั๋วร่วม รวมทั้งระบบค่าโดย สารร่วมนั้นสำคัญมาก และมีความเหมาะ สมมากในยุคที่ค่าครองชีพของประชาชนกำลังจะทะยานขึ้นเกินตัวในอนาคต เนื่อง จากเป็นการสะท้อนค่าโดยสารบนความเป็นจริงตามการเดินทาง
ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นโครงสร้าง ซึ่งดึงดูดผู้โดยสารใช้บริการ, สร้างรายได้ในภาพรวมสูงสุด, เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน, และเป็นภาระทางการเงินแก่ภาครัฐน้อย
ว่ากันว่า จากแผนศึกษาระบบตั๋วร่วมนั้น จะเริ่มจากรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และ BTS ก่อน เพราะเป็นระบบที่ให้บริการใกล้เคียงกัน โดยอัตราที่เหมาะสมจะเสียค่าโดยสารแรกเข้าเพียงครั้งเดียว คือ 18 บาท และเสียค่าโดยสารตามระยะทาง 2 บาทต่อกิโลเมตร สูงสุดไม่เกิน 40 บาท
เริงศักดิ์ ทองสม หัวหน้ากลุ่มพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งและจราจรระหว่างเมือง สำนักนโยบายและแผนการ ขนส่งและจราจร (สนข.) บอกว่า อัตราดังกล่าว ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม เป็นธรรม และสามารถเริ่มนำมาใช้ได้กับรถไฟฟ้าทั้งสองระบบทันที โดยหลังจากผลการศึกษาแล้วเสร็จ และรับฟังความคิดเห็นแล้ว สนข.จะเสนอผลศึกษาให้คณะกรรมการตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม ที่มี สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อชี้ขาดอีกครั้งว่าจะรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าวหรือไม่
อย่างไรก็ดี ทั้งสองบริษัทได้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกันมาแล้วตั้งแต่ต้นปี 2552 และตามแผนที่วางไว้ทั้งสองบริษัทจะมีการวางระบบเพื่อใช้ตั๋วร่วมกันและเริ่มใช้งานจริงได้ปี 2554 และจะมีการขยายบริการตั๋วร่วมประเภทอื่น ทั้งรถเมล์ เรือด่วน รถไฟฟ้าชานเมือง และระบบทางด่วนต่อไป
ขณะนี้การผลักดันระบบตั๋วร่วมมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะด้านการจัดทำโครงสร้างสำนักงานพัฒนาระบบตั๋วร่วม พร้อมกับการจัดหาสถานที่ภายใน สนข.เป็นสำนักงาน ส่วนในอนาคตจะก่อตั้งเป็นองค์การมหาชนเพื่อความรวดเร็ว ในการบริหารจัดการหรือไม่นั้นน่าจะอยู่ในการตัดสินใจของกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร
สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวย การสนข. บอกว่า การจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมนั้น ขณะนี้ทางปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มีการเซ็นลงนามตั้งสำนักงานฯ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปต้องส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังเพื่อขอใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษา และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (เซ็นเตอร์ เคลียริ่งเฮาส์) ที่จะต้องใช้งบจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการ คลังต้องจัดหาแหล่งเงินทุนให้ ส่วนหน้าที่ของสำนักงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมนั้น จะเสนอนโยบายและแผนมาตรฐานและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋ว จัดทำระบบศูนย์บริการจัดการรายได้กลาง รวมทั้งประสาน งานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลังจากนี้สำนักงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมจะจัดหาบุคลากรจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง 11 คน เพื่อเตรียมความร่วมมือในด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ คือ ราคาค่าโดยสารที่ถูกลง จากการศึกษาในเบื้องต้นราคาค่าโดยสารจะเก็บแรกเข้าที่ 18 บาท เพิ่มกิโลเมตรละ 2 บาท และอัตราสูงสุดจะไม่เกิน 40 บาท ในเส้นทางกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่หากมีโครงการรถไฟฟ้าชาน เมืองระยะไกล ก็จะเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 60 บาท แต่ทั้งนี้ต้องแล้วแต่นโยบายรัฐบาลหากจะให้มีการจัดเก็บค่าโดย สารในกรุง 20 บาทตลอดสาย
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47461
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 25/07/2011 7:16 am Post subject:
เปิดแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าจ่อเสนอรัฐบาลใหม่ลุ้นเส้นทางไหนได้เกิดก่อน
เดลินิวส์ Monday, 25 July 2011 06:01
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา "ระบบราง" เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งการทำรถไฟรางคู่ รถไฟเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อภูมิภาค และที่ขาดไม่ได้ คือ "รถไฟฟ้าในเมือง" หลากหลายสายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีความหวังเพื่อลดเวลาการเดินทาง แก้ปัญหาการจราจรของเมืองกรุง
ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการอยู่ขณะนี้ 4 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ระยะทาง 24 กม. รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทาง 20 กม. รถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กม. และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ระยะทาง 28.5 กม. รวมระยะทางทั้งสิ้น 74.7 กม.
ขณะที่มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย
รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายบีทีเอส ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กม. จะเปิดให้บริการในวันที่ 12 ส.ค.นี้
รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายบีทีเอส ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กม. คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2555
โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. งานก่อสร้างคืบหน้า 71.32% ล่าช้ากว่าแผนงาน 16.94% กำหนดงานก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2555 เปิดให้บริการได้ในปี 2558
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กม. งานก่อสร้างมีความคืบหน้า 27.43% ช้ากว่าแผนงาน 1.63% กำหนดเปิดให้บริการปลายปี 2557
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. งานก่อสร้างอยู่ระหว่างเข้าพื้นที่รื้อย้ายสาธารณูปโภค มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2559
และยังมีอีก 2 โครงการ ที่อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาหาเอกชนมาดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. และ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม.
คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะได้ตัวผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2555 ตามแผนกำหนดเปิดให้บริการได้ในปี 2558 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.8 กม. สถานะโครงการพร้อมที่จะประกาศประกวดราคาแล้ว เหลือเพียงรอการอนุมัติการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ที่สถานีวัดพระศรีฯ หลังจากที่มีการปรับแก้แบบ เมื่อได้รับอนุมัติสามารถเดินหน้าประกวดราคาได้ทันที เพราะโครงการผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้ว คาดว่าจะประกาศประกวดราคาได้ปลายปี 2554 นี้ และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2559
สำหรับโครงการที่เหลืออีกหลายโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 12 เส้นทาง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อขออนุมัติเดินหน้าโครงการต่อไป โดยโครงการที่จะขออนุมัติเดินหน้าหน้าประกวดราคาก่อสร้างได้ภายในปี 2555 ได้แก่
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม. ก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับ เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือไลท์เรล อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเสนอโครงการขออนุมัติในที่ประชุม ครม.ได้ภายในปี 2554 นี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี กำหนดเปิดให้บริการในปี 2558
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กม. ออกแบบรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้มีความจำเป็นต้องก่อสร้าง เพราะหากไม่สร้างส่วนนี้ จะทำให้ส่วนของหมอชิต-สะพานใหม่ ไม่มีศูนย์ซ่อมบำรุง หรือเดปโป้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กม. ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำหนดเปิดให้บริการปี 2558
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ระยะทาง 19 กม. ออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กำหนดเปิดให้บริการปี 2559
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กม. อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามายื่นข้อเสนอเป็นที่ปรึกษาศึกษา ทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยจะให้ประกวดราคาก่อสร้างช่วงเตาปูนถึงวังบูรพาก่อน เพื่อรองรับการเดินทางเข้าสู่รัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณแยกเกียกกาย
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กม. อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดหาบริษัทที่ปรึกษามายื่นข้อเสนอเป็นที่ปรึกษาศึกษา ทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการสำโรง ระยะทาง 30.4 กม. เป็นโครงการที่เลื่อนขึ้นมาจากแผน 20 ปี และต้องการเดินหน้าให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี โดยจะขออนุมัติก่อสร้างในช่วง ลาดพร้าว-พัฒนาการ ระยะทาง 12.6 กม.ก่อน เนื่องจากปัจจุบันถนนลาดพร้าวมีปัญหาการจราจรติดขัดหนาแน่น หากปล่อยให้นานเกินไปจะยิ่งทำให้ปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้นจนเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง และ
โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานกรุงเทพ ส่วนต่อขยาย ช่วง พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 21 กม. ออกแบบรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรออนุมัติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าน้องใหม่ 2 สาย ได้แก่ สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ลาดพร้าว ระยะทาง 8 กม. ช่วงลาดพร้าว-พระราม 4 ระยะทาง 12 กม. และช่วงพระราม 4-สะพานพระราม 9 ระยะทาง 6 กม. รวมถึง
สายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร ระยะทาง 9 กม. จะยังไม่เสนอรัฐบาลใหม่เดินหน้าโครงการในตอนนี้ เพราะยังมีปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางน้อย อีกทั้งในแผนแม่บทฯ ระบุไว้ว่าทั้ง 2 สายนี้ ให้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่น
เมื่อดูจากแผนการเดินหน้าโครงการที่ สนข.เตรียมนำเสนอรัฐบาล ส่วนสายไหนจะได้เกิดก่อน-หลัง คงต้องอยู่ที่รัฐบาลใหม่ จะพิจารณา หากสามารถเดินหน้าตามแผนงานได้ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีรถไฟฟ้าใช้ในปี 2559 เพิ่มอีกกว่า 160 กม. ซึ่งจะครอบคลุมเกือบทั่วพื้นที่ เชื่อว่า จะสามารถแก้ปัญหาการจราจรได้พอสมควร
หากรัฐบาลนี้ทำได้จริง จะได้ใจคนกรุงเทพฯไปมากโข.
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44066
Location: NECTEC
Posted: 02/08/2011 12:27 am Post subject:
แนะ2ทางเลือก รถไฟฟ้า20บาท อุดหนุน-ซื้อหุ้น
หน้า เศรษฐกิจ
ไทยโพสต์ 2 สิงหาคม 2554 - 00:00
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางดำเนินการตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในเบื้องต้นทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยได้เสนอ 2 ทางเลือก คือ
1. ให้รัฐอุดหนุนเงินเพื่อจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้กับเอกชนที่บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ทั้ง บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยแนวทางนี้ทำได้ง่ายและเร็วที่สุด
2. นอกจากนี้ ให้รัฐเข้าไปซื้อหุ้นใน 2 บริษัทดังกล่าว เพื่อให้มีสัดส่วนหุ้นใหญ่ และสามารถเข้าไปบริหารจัดการได้ ซึ่งแนวทางนี้อาจใช้เงินน้อยกว่าแนวทางแรก แต่ต้องศึกษารายละเอียดและข้อกฎหมายรวมทั้งรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ก่อน
ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ จะไม่มีปัญหาในการควบคุมดูแลอัตราค่าโดยสาร เพราะรัฐใช้วิธีการจ้างเอกชนเดินรถ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นหน่วยงานที่กำหนดอัตราค่าโดยสารตามนโยบายของรัฐบาล.
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44066
Location: NECTEC
Posted: 02/08/2011 8:35 pm Post subject: PTP vs. SET Brokers on the matters of Nationalization of the Concessio
เสนอรัฐบาลใหม่ฮุบบีทีเอส-บีเอ็มซีแอล คมนาคมสนองคุมราคา 20 บาทตลอดสาย...
โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
ไทยรัฐออนไลน์ - 2 สิงหาคม 2554, 05:15 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางดำเนินการตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เบื้องต้นมี 2 ทางเลือกคือ ให้รัฐอุดหนุนเงิน เพื่อจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เอกชนที่บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าในปัจจุบัน คือ
1. บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีเอ็มซีแอล) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และ
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ผู้รับสัมปทานรถไฟลอยฟ้า ซึ่งแนวทางนี้ทำได้ง่าย และเร็วสุด ส่วนแนวทาง 2 รัฐจะซื้อหุ้นใน 2 บริษัทดังกล่าว เพื่อให้มีสัดส่วนหุ้นใหญ่ และเข้าไปบริหารจัดการได้ ซึ่งอาจใช้เงินน้อยกว่าแนวทางแรก แต่ต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ก่อน ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค จะไม่มีปัญหาในการดูแลค่าโดยสาร เพราะรัฐจะจ้างเอกชนเดินรถ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้กำหนดค่าโดยสารตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะโอนกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอสให้รวมเป็นหน่วยงานเดียวภายในการกำกับดูแลของ รฟม. โดยหากพรรคเพื่อไทยรับผิดชอบดูแลกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม ก็จะผลักดันให้มีการโอนกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอสให้มาอยู่ในความดูแลของ รฟม. ได้ง่ายขึ้น.
//----------------------------------------------------------------------
โบรกฯหักหน้า "คมนาคม" BTS 20 บาทไม่เกิดแน่
โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
ไทยรัฐออนไลน์ - 2 สิงหาคม 2554, 13:41 น.
โบรกฯ เชื่อ หากรัฐใช้ทางเลือกตามคมนาคมเสนอให้ถือหุ้นใหญ่ BTS-BMCL เพื่อทำตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คนไทยไม่ได้ใช้แน่ เหตุรัฐต้องใช้เงินขั้นต่ำในการเข้าซื้อหุ้นถึง 2.5 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีที่กระทรวงคมนาคมระบุว่า อยู่ระหว่างศึกษาแนวทาง ดำเนินการตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยเบื้องต้นมี 2 ทางเลือก คือ ให้รัฐฯอุดหนุนเงินเพื่อจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้กับเอกชนที่บริหารจัดการ เดินรถไฟฟ้าในปัจจุบัน คือบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ขณะที่อีก แนวทาง คือ ให้รัฐฯเข้าไปซื้อหุ้นทั้ง 2 บริษัท เพื่อให้รัฐฯเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และสามารถเข้าไปจัดการได้ แต่ทั้งหมดจะต้องพิจารณารายละเอียดการศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งรอความ ชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ก่อน
ส่วนฝ่ายวิจัยคาดว่าแนวทางการซื้อหุ้นโดยภาครัฐฯ เป็นได้ยากสุด เพราะ ณ ราคาหุ้นปัจจุบันของ BTS และ BMCLหากรัฐฯ ต้องการถือหุ้นใหญ่ต้องใช้เงินลงทุน ราว 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวยังไม่รวมผลบวกของ BTS และ BMCL จากการเปิดเส้นทางใหม่ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า ทำให้หากมีการซื้อขายกันจริง มูลค่าหุ้นจึงมีโอกาสที่จะสูงกว่าราคาปัจจุบันมาก ขณะที่การอุดหนุนเงินจากภาครัฐฯ ให้ทั้ง 2 แห่ง แม้จะเป็นวิธีง่ายสุด ด้วยระดับผู้โดยสารปัจจุบันของ BTS และ BMCL รัฐฯจะต้องอุดหนุนอย่างต่ำราวปีละ 1,084.4 ล้านบาท (อิงสมมติฐานจำนวน ผู้โดยสารในปี 2554 ของฝ่ายวิจัย) อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าว ยังขัดแย้งกับแนวทางของเพื่อไทยที่นายประภัสร์ จงสงวน หนึ่งในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจได้ออกมาระบุว่า การปรับใช้ 20 บาททุกเส้นทาง จะสามารถปรับได้โดยไม่ต้องดำเนินนโยบายเพิ่มเติมใดๆ เมื่อขยายครบ 10 เส้นทาง ทำให้บทสรุปจากภาครัฐฯ ยังคงขาดความชัดเจน
ทั้งนี้ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าปัจจุบันทั้ง BTS และ BMCL จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะการทำธุรกิจยังคงอยู่ภายใต้สัมปทานที่มี โดยฝ่ายวิจัยยังเลือก BTS เป็น Top Pick ของกลุ่มจากผลบวกโดยตรงในการเปิดเส้นทางต่อขยายจาก ระบบเดิมของ BTS คือ อ่อนนุช แบริ่ง ในวันที่ 12 ส.ค.นี้ ให้ราคาเป้าหมายของ BTS ไว้ที่ 1.07 บาทต่อหุ้น
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44066
Location: NECTEC
Posted: 05/08/2011 4:32 am Post subject:
'ยิ่งลักษณ์' ฟื้นบาร์เตอร์เทรดแก้สินค้าเกษตร เตรียมนำข้าวไทยแลกรถไฟฟ้ากับจีน !
โดย ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ 4 สิงหาคม 2554 09:14 น.
'เพื่อไทย'สบช่องฟื้นบาร์เตอร์เทรด แก้ปัญหาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ จำนำข้าว-ราคาข้าวสูง-ข้าวล้นสต๊อก เชื่อดันราคาข้าวไทยสูงขึ้นได้ ขณะที่ประเทศจีนพร้อมแลกข้าวกับรถไฟฟ้า เผยกรณีบาร์เตอร์เทรดยุครัฐบาลทักษิณส่อเค้าไม่โปร่งใส โดยเฉพาะกรณีนำไก่สุกแลกรถดับเพลิง บิ๊กกระทรวงพาณิชย์แนะ จับตารัฐมนตรี พาณิชย์-เกษตรและสหกรณ์ รับเละ ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยหวั่น ข้าวไทยเสียตลาดอีกเพียบ
ปัจจุบันสถานการณ์ข้าวไทยเป็นที่น่าเป็นห่วงในหลายกรณี ทั้งข้าวล้นตลาด, ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น, ถูกประเทศอื่นตีตลาดในหลายประเทศ ฯลฯ ขณะที่รัฐบาลใหม่ภายใต้การบริหารของพรรคเพื่อไทย เตรียมมาตรการแก้ไขญหาดังกล่าวด้วยการนำแนวทางการค้าแบบแลกเปลี่ยน หรือบาร์เตอร์เทรด ( Barter Trade ) มาใช้อุดช่องว่างเหล่านั้น
เนื่องจากการบาร์เตอร์เทรดจะเป็นช่องทางการระบายสินค้าที่ล้นตลาด อาทิ สินค้าเกษตร, อาหารแปรรูป, ฯลฯ และในครั้งนี้รัฐบาลเพื่อไทยนำร่องแก้ปัญหาข้าวที่อาจล้นตลาดจากนโยบายจำนำข้าวที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาดด้วยการนำข้าวไปแลก อีกทั้งยังช่วยลดภาระการคลังในการใช้เงินตราต่างประเทศจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดซัพพลายดันราคาข้าวให้สูงขึ้น อีกด้วย
'ปู'สบช่องบาร์เตอร์เทรด ข้าวไทย แลก รถไฟฟ้าจีน
แหล่งข่าวจากทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึง การเลือกวิธีการจำนำข้าว ว่า การที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ดังนั้นประเทศไทยจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางและราคาข้าวในตลาดโลกกว่า 70-80% และอยากให้มองว่าการจำนำข้าวจะเป็นการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ไม่ใช่ให้ความสำคัญเพียงจำนวนการส่งออกรวมเท่านั้น
ขณะเดียวกันหากมองรายได้จากการส่งออก แต่ต้องส่งออกข้าวในราคาต่ำซึ่งแม้จะขายได้จำนวนมาก หรือขายได้ทั้งหมดก็อาจนำรายได้เข้าสู่ประเทศในระดับหนึ่ง แต่หากขายข้าวในราคาสูงกว่า แต่ขายได้เพียง 80% ก็ยังคงได้เม็ดเงินมากกว่า ส่วนแนวทางการจัดการข้าวที่เหลือในสต็อก พรรคเพื่อไทยอาจใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดแลกกับเมกกะโปรเจคท์ใหญ่ เช่น นำข้าวไปแลกกับรถไฟฟ้าของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันจีนให้ความสำคัญด้านการบริโภคและสะสมอาหาร ตามนโยบายความมั่งคั่งทางอาหารของตนอยู่แล้ว เป็นต้น อีกทั้งทางพรรคเพื่อไทยยังยืนยันตามมาตรการนโยบายว่าสามารถทำได้จริงทุกข้อ
ในส่วนของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจข้าว ทางพรรคจะเข้าไปพูดคุยและหาแนวทางร่วมที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเหมาะสม โดยเน้นประโยชน์สู่เกษตรกรเป็นหลัก อีกทั้งพรรคฯยังมีแนวทางในการดูแลและควบคุมซัพพลายข้าวอีกด้วย โดยจะมีการพูดคุยกับประเทศผู้ส่งออกข้าว และคิดว่าตามหลักการดังกล่าวจะเป็นที่น่าจะพอใจและไม่น่าจะมีปัญหากับประเทศผู้ส่งออกข้าว อาทิ ประเทศเวียดนาม, อินเดีย
จับตา พาณิชย์-เกษตร รับเละ
อย่างไรก็ตามการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการใช้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในโครงการเม็กกะโปรเจ็คใหญ่ๆ ที่มาพร้อมเสียงวิพาท วิจารณ์ และข้อกังขาว่าเกิดการกระทำทุจริต คอร์รัปชั่นในหลายช่องทาง ไม่มีความโปร่งใสเท่าที่ควร
ตัวอย่างเช่น สินค้าที่แลกไม่ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริงจนเกิดภาวะจำยอม, สินค้าล่าช้า, ราคาสินค้าที่แลกสูงกว่ากำหนดหรือความเป็นจริงในตลาด, มีค่านายหน้าหรือใต้โต๊ะ, ขาดกลไกที่เป็นธรรม, เกิดการล็อกสเปก เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ หรือบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่ง ฯลฯ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมสินค้าจากเกษตรกรแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีการเปิดแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม ดังนั้นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ตกถึงประชาชน หรือเกษตรกรอย่างแท้จริง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณชิย์ เปิดเผยว่า บาร์เตอร์เทรดเป็นเรื่องที่มีขั้นตอน และความยุ่งยากในหลายกรณี จนเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งควรจับตามองที่รัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าไปบาร์เตอร์เทรดเป็นหลัก อาทิ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ตัวอย่างที่ผ่านมามีหลายกรณีที่เป็นข่าวถึงความชัดเจนในด้านแนวทาง ดูไม่มีความโปร่งใสเท่าที่ควร มีการเล่นตลกในหลายส่วน ทั้งเป็นส่วนให้สินค้าเกษตรเกิดความเสียหายจำนวนมาก ไม่มีความตรงไปตรงมา เช่น ราคาสินค้าที่นำมาแลกมีราคาสูงกว่าราคาตลาด, การปล่อยเวลาให้ราคาสินค้าเกษตรลด แล้วค่อยนำออกมาฮั้วประมูลให้เอกชน 2-3 ราย จากนั้นก็รอให้ราคาขึ้นแล้วเอาส่วนต่างประโยชน์เข้าตนเองเป็นต้น
แนะสอบ 3 ข้อก่อนบาร์เตอร์
แหล่งข่าว บอกว่า ในยุครัฐบาลเพื่อไทย หากต้องการนำสินค้าเกษตรไปบาร์เตอร์เทรดกับประเทศอื่นควรเลือกสินค้าที่มีความเข็มแข็ง เมื่อดึงสินค้าไปแล้วไม่ทำให้ราคาสูงจนเกินไป ไม่บิดเบือนราคาในด้านเศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็น เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง และไม่ควรส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ หรือเกิดภาวะขาดแคลนขึ้นตามมา ซึ่งการที่รัฐบาลจะใช้นโยบายบาร์เตอร์เทรดอาจเกิดได้จาก 2 กรณี ดังนี้
1.ไม่ต้องการให้เป็นภาระการคลัง
2.ต้องการผลักดันสินค้าให้มีราคาสูงขึ้นและไม่ล้นตลาด
นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่น คือ
1. รัฐบาลไม่เสียหาย ไม่ขาดทุน
2. บาร์เตอร์เทรดตามราคาจริงในเวลาที่เลกเปลี่ยน ซึ่งการนำสินค้าเกษตรไปแลกจะต้องมองถึงความผันผวนด้านราคาที่มีการปรับขึ้นลงบ่อยครั้ง หากจ่ายช้าก็จะราคาขึ้นลงไม่เท่ากัน อาจเป็นช่องให้เกิดการกระทำมิชอบ (เช่นเอากระสอบเปล่าโดยไม่มีข้าวไปแลกเป็นต้น)
3. สินค้ามีความชัดเจน ตรงตามที่ตกลง ไม่ควรเล่นแร่แปรธาตุ และควรเป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ตรงต่อความต้องการใช้ที่แท้จริง
ปิดจุดอ่อนบาร์เตอร์เทรดทักษิณ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า หากพรรคเพื่อไทยต้องการนำบาร์เตอร์เทรดมาใช้อีกครั้ง จำเป็นต้องดำเนินการอย่างชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการดูเรื่องเรื่องนี้ขึ้น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้แก่ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้บาร์เตอร์เทรดจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายหน่วยงานตามสินค้าที่ใช้แลกเปลี่ยน เช่น สำนักงบประมาณ, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, หน่วยงานที่ดูแลด้านการผลิตและส่งออก, คณะกรรมการนโยบายข้าว รองนายกดูแล, คณะกรรมการนโยบายและการช่วยเหลือเกษตรกร ฯลฯ
รูปแบบการบาร์เตอร์เทรดมีส่วนของเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีกรณี เอกชนทำหน้าที่เป็นตัวกลาง รับภาระแทน เช่น ประเทศไทยต้องการซื้อเรือ แต่ต้องการใช้ข้าวบาร์เตอร์เทรดแทน แต่สหรัฐฯไม่มีความรู้เรื่องข้าว และต้องการเงิน จึงมีเอกชนตัวกลางรับซื้อข้าวจากไทยและจ่ายเงินค่าเรือให้สหรัฐฯแทน เป็นต้น เป็นการบาร์เตอร์เทรดทางอ้อม และอาจเกิดการทุจริตได้ในหลายขั้นตอน ซึ่งในกรณีนี้อดีตประเทศไทยก็เคยใช้และมีกรณีข้อพิพาทกันอยู่ เช่น กรณีนำไก่สุกไปแลกรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงระหว่างไทย กับออสเตรียที่ยังคงมีการสอบสวนอยู่จนถึงทุกวันนี้
ข้อมูลที่ระบุไว้ในยุค รัฐบาลทักษิณ ปี 2549 มีการนำการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดมาใช้ในโครงการใหญ่ๆ อาทิ
1. กองทัพบกต้องการซื้อปืนใหญ่จากฝรั่งเศสมูลค่า 1,800 ล้านบาท
2. กระทรวงกลาโหมต้องการซื้อรถหุ้มเกราะจากแคนาดามูลค่า 7,900 ล้านบาท
3. กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยต้องการซื้อสินค้าเพื่อตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยจากออสเตรเลียมูลค่า 3,700 ล้านบาท
4. การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการซื้อหัวรถจักรจากจีนมูลค่า 1,800 ล้านบาท
5. โครงการซื้อรถไฟจากจีนมูลค่า 700 ล้านบาท แลกกับข้าวประมาณ 50,000 ตัน
6. โครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรไทยกับเครื่องจักรในโรงงานยาสูบ จ.เชียงใหม่
7. โครงการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ ตู้คอนเทนเนอร์ของกรมศุลกากร
8. โครงการซื้อเครื่องบินรบซู 30 จากรัสเซียคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น
//-----------------------------------------------
ยังจำกรณีเอากล่องลำไยเปล่าๆไปแลกรถจักรจีนแดงได้หรอืเปล่าหละหว่า?
Back to top
black_express
1st Class Pass (Air) Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
Posted: 05/08/2011 8:41 am Post subject:
หมดยุคเอาลำไยไปแลกรถจักรแล้วกระมัง ?
ยุคนี้ต้องยางพาราครับ
Back to top
kikoo
1st Class Pass (Air) Joined: 01/02/2010 Posts: 1667
Location: มอ.ตรัง และ สถานีตรัง
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44066
Location: NECTEC
Posted: 05/08/2011 10:17 am Post subject:
กลัวแต่ว่าแทนที่จะเป็นยางพาราแผ่นจะกลายร่างเป็นอย่างอื่นหนะสิ
//--------------------------------------------------------------------------------------------
กทม.ตอกประภัสร์ไล่ดูรายได้บีเอ็มซีแอลขาดทุนยับ
คมชัดลึก
3 สิงหาคม 2554
กทม.ตอกหน้า ประภัสร์ เล็งดึง บีทีเอส ให้ รฟม.คุม ไล่ไปย้อนดูรายได้ บีเอ็มซีแอล ขาดทุนยับหมื่นล้าน เย้ยรัฐบาลใหม่ขายฝัน นโยบายขึ้นรถไฟฟ้า 20 บาท
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงกรณีที่นายประภัสร์ จงสงวน หนึ่งในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ออกระบุอยากให้กิจการรถไฟฟ้าบีทีเอส ของกทม. มาอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ต้องถามว่านายประภัสจะอุ้มเอกชนหรือไม่ เพราะถ้าเข้าไปไปดูงบการเงินในเว็ปไซค์ของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล จะพบว่า เมื่อธ.ค. 2553 ขาดทุนอยู่ 9,887.8 ล้านบาท
"ขณะที่มีการจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 45 บาท ก็ยังขาดทุนเกือบหมื่นล้าน แต่รัฐบาลใหม่ประกาศจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาท จะขาดทุนอีกเท่าไหร่ แต่ถ้าจะทำจริงรัฐบาลใหม่ก็ต้องไปซื้อบริษัทบีเอ็มซีแอล ซึ่งเอกชนคงชอบเพราะกำลังขาดทุนอยู่ ที่มีรัฐบาลมารับหนี้เพื่อไม่ให้ขาดทุนต่อเนื่อง"
นายธีระชน กล่าวว่า ควรไปคิดให้ดี ๆ ก่อนจะคิดเรื่องนี้ โดยให้ไปเข้าอินเตอร์เน็ท ดูงบประมาณของบีเอ็มซีแอลก่อน จะพบว่า ขาดทุนปีละไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านติดต่อกัน ตั้งแต่เปิดให้บริการ เมื่อเดือนธ.ค.ปลายปี ที่แล้วขาดทุนถึง 9 พันล้าน แต่ปีนี้ผ่านมาครึ่งปี คงทะลุหมื่นล้านไปแล้ว
"รัฐบาลใหม่จะเอาเงินภาษีประชาชน ไปอุ้มบริษัทที่ขาดทุนเป็นหมื่นล้านหรือ ผมคิดว่า เอาหัวคิดไปแก้ปัญหาแอร์พอร์ทลิงค์ ให้เรียบร้อยดีกว่าหรือไม่ ผู้โดยสารแค่ 3 หมื่นคน จะทำอย่างไรให้รอด ไปคิดวิธีให้มันรอด รัฐบาลก็ต้องคิด ส่วนกทม.ไม่ต้องห่วงเราอยู่ได้ ผมกำลังจะหารายได้เข้ากทม.เป็นหมื่นล้าน จากการบริหารระบบขนส่งมวลชนของตัวเอง และข้อสำคัญ กทม. ดูแลสัมปทานบีทีเอส นายธีระชน กล่าว
Back to top
black_express
1st Class Pass (Air) Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
Posted: 05/08/2011 11:20 am Post subject:
BMCL ไม่ใช่กิจการ บขส.หรือ low cost airline นี่ครับ ไม่ต้องรับผิดชอบด้านโครงสร้าง จะได้เน้นกำไรแต่เนิ่น
กว่าจะตีกำไรคืนทุนได้ เขานับกันร่วม 20 - 30 ปีโน่น ถึงจะเป็น ARL ก็ตามเถอะ
คิดแบบนี้เล่า ? สายวงเวียนใหญ่ - บางหว้า สร้างไม่ถึงไหนสักที
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group