View previous topic :: View next topic |
Author |
Message |
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 23/07/2011 3:21 pm Post subject: เรื่องน่ารู้ : รถจักรไอน้ำที่เคยใช้การใน รฟท. |
|
|
สวัสดีครับ...
เรื่องน่ารู้ในตอนนี้ จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรถจักรไอน้ำในอดีตที่เคยใช้การใน รฟท. จากข้อเขียนของ ครฟ.ในหนังสือ "สรุปกิจการครบรอบ 72 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย" ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งด้านประวัติความเป็นมา และวิชาการที่เกี่ยวข้องของอุปกรณ์กลไกรถจักร ที่กรมรถไฟในสมัยก่อนได้พิจารณาและกำหนดเป็นข้อสำคัญที่ต้องนำมาติดตั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดของรถจักรไอน้ำแต่ละรุ่นที่สั่งซื้อมาใช้การ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นภาระหน้าที่ของรถจักรดีเซล (Dieselization) ที่เป็นกำลังหลักของ รฟท.ในปัจจุบันนี้
ในข้อเขียนดังกล่าว จะไม่รวมรถจักรไอน้ำที่ใช้งานบนเส้นทางรถไฟสายแม่กลอง และอื่นๆ นะครับ
ถึงแม้ว่า ความรุ่งเรืองของรถจักรใน "ยุคขี้เถ้า" ได้ล่วงเลยไปตามกาลเวลา แต่ความสำคัญของรถจักรไอน้ำนั้น จะยังคงอยู่ในใจของบรรดาผู้รักรถไฟเช่นเราๆ ทั้งหลาย ไม่มีเสื่อมคลายตลอดไป
......................
รถจักรไอน้ำ
โดยฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย
รถจักรที่นำมาใช้ในกิจการรถไฟของรัฐเป็นคันแรกหรือรุ่นแรก คือ รถจักรไอน้ำใช้ในทางขนาดมาตรฐาน ซึ่งกรมรถไฟได้นำมาใช้ในการก่อสร้างและสับเปลี่ยนจำนวน 2 คัน ในปี พ.ศ.2436 สืบแต่นั้นมาก็ได้มีรถจักรไอน้ำใช้การเพิ่มจำนวนขึ้น เป็นรถจักรที่จัดหามาใช้การเพื่อการก่อสร้างทางรถไฟที่ยังคงดำเนินการต่อไป และใช้เป็นรถจักรสับเปลี่ยนบ้าง ตลอดจนใช้ลากจูงขบวนรถในเส้นทางที่เปิดการเดินรถขยายออกไป
รถจักรไอน้ำเหล่านี้ เป็นรถจักรที่ใช้กันเป็นสากลอยู่ในยุคนั้น ซึ่งมีอายุหลังจากการรถไฟของโลกได้กำเนิดมาแล้วหลายปี จึงได้รับการพัฒนามาด้วยดี เมื่อเริ่มแรกนำมาใช้การ เป็นรถจักรแบบมีถังน้ำและที่เก็บเชื้อเพลิงในตัว (Tank Locomotive) ต่อมาเป็นแบบรถกำลังมีรถลำเลียงพ่วง มีกำลังลากจูงแตกต่างกันตามความเหมาะสมของขบวนรถที่จะลากจูง ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้การนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะกำหนดใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงมาก่อนตลอดมา
รถจักรที่มีใช้การตั้งแต่เริ่มเปิดการเดินรถไฟจนถึง พ.ศ.2464 มีชนิดและคุณลักษณะตามบัญชีที่ 1
(กรุณาclick เพื่อขยายภาพตารางด้วยนะครับ)
ตามบัญชีข้างต้นปรากฎว่า รถจักรที่ใช้ในทางขนาดกว้างมาตรฐานรุ่นแรก ยังมิได้กำหนดให้มีมาตรฐานของตัวรถจักรและอุปกรณ์ให้แน่ชัดออกไป ต่อมา รถจักรใช้การทั้ง 2 ขนาดทางที่จัดหามาในระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ก็เริ่มมีมาตรฐานของตัวรถและอุปกรณ์ขึ้นไว้ ในระหว่างเวลานั้น การใช้ไอดง คือนำเอาไอน้ำในหม้อน้ำให้ได้รับความร้อนเพิ่มขึ้นอีก จะทำให้ไอน้ำนั้นแห้ง ปราศจากละอองน้ำ และลดการกลั่นตัวเป็นน้ำเมื่อกระทบกับสิ่งที่เย็นกว่า เป็นการช่วยให้รถจักรมีพลังงานมากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายใช้การ เป็นที่นิยมใช้การอยู่กับรถจักรของการรถไฟต่างประเทศ
ดังนั้น รถจักรที่สั่งซื้อรุ่น 209 และ 401 จึงได้ใช้ไอดง และติดตั้งอุปกรณ์ดงไอตามระบบของชมิตท์เป็นรุ่นแรกแทนการใช้ไอสด คือไอน้ำที่กำเนิดตรงจากหม้อน้ำซึ่งใช้การอยู่กับรถจักรทั่วไป จึงเป็นการแสดงให้เห็นความก้าวหน้าขั้นต่อไปของการปรับปรุงรถจักรของกรมรถไฟ นอกจากนี้แล้ว ลิ้นปิดเปิดไอยังผิดแผกไปจากรถรุ่นอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ ใช้ชนิดลิ้นเต้น (Puppet valve) แทนลิ้นเลื่อน และกลไกปิดเปิดลิ้นใช้แบบของเล็นทซ์
นอกจากนี้ จะสังเกตได้ว่า เนื่องจากความต้องการที่จะให้มีแรงฉุดสูงเพื่อใช้ลากจูงขบวนรถสินค้าหนัก รถจักรทั้ง 2 รุ่นนี้จึงมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก โดยเฉพาะให้มีน้ำหนักกดลงเพลาล้อขับสูงขึ้น ทำให้รถจักรมีกำลังฉุดลากได้มาก
Last edited by black_express on 24/07/2011 10:48 am; edited 5 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 23/07/2011 3:27 pm Post subject: |
|
|
สำหรับรถจักรรุ่น 151 (E class) ใช้ในทางสายใต้ขนาด 1 เมตร ซึ่งได้จัดหาเพิ่มขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2456 2464 ก็เกือบจะนับได้ว่าเป็นรถจักรมาตรฐานในสมัยนั้น และลากจูงขบวนรถรวมและสินค้า ต่อมาเมื่อมีการเดินรถด่วนก็ได้ใช้รถจักรนี้ 2 คันพ่วงกันลากจูงเพื่อให้รถจักรมีกำลังมากขึ้น ได้สมดุลกับน้ำหนักและความยาวของขบวนรถ รถจักรแบบ E นี้ มีบางคันติดตั้งอุปกรณ์ดงไอตามระบบของชมิตท์ และติดตั้งลิ้นเต้น และกลไกปิดเปิดลิ้นแบบคาปรอตตี้มาด้วย
ภายหลังที่กรมรถไฟได้แปลงทางกว้างขนาดมาตรฐานเป็นทางกว้างขนาด 1 เมตรทั่วไปทุกสายแล้ว เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2463 ทางการได้จัดหารถจักรขนาดทาง 1 เมตร มาใช้การทั้งสิ้นดังบัญชีที่ 2 ข้างล่างนี้ และได้ดัดแปลงรถจักรทางขนาดมาตรฐานหมายเลข 209 , 210 , 401 และรถจักรถังน้ำเลขที่ 51 56 ให้ใช้การได้ในทางขนาด 1 เมตรด้วย เพราะในขณะแปลงขนาดรางนั้น ยังมีอายุใช้การน้อย สภาพรถยังดีอยู่ ส่วนรถจักรขนาดทางมาตรฐานรุ่นอื่นๆ มีอายุใช้การมานาน ทั้งไม่สามารถจะดัดแปลงใช้การบนทางขนาด 1 เมตรได้ ก็ได้ปลดระวางเลิกใช้การไป
รถจักรที่จัดหามาใช้การในยุคนี้ ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น กล่าวคือ เป็นรถจักรที่มีขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพสูง มีแรงลากจูงหรือพลังงานสูง และมีความเร็วสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ได้กำหนดมาตรฐานของตัวรถจักร รถลำเลียง และอุปกรณ์ไว้เป็นหลักในการจัดหา เพื่อให้รถจักรมีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้การและใช้การซ่อมบำรุงรักษาได้เป็นไปโดยสะดวก อนึ่ง แม้ว่ารถจักรเหล่านี้สร้างโดยบริษัทผู้สร้างต่างๆ กันก็ตาม แต่มีลักษณะและคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน มีความสามารถใกล้เคียงกัน รถจักรชนิดต่างๆ ที่จัดหามาจากผู้สร้างรายเดียวกันก็กำหนดให้อุปกรณ์บางอย่าง อาทิ หม้อน้ำ และอุปกรณ์บางอย่างใช้สับเปลี่ยนระหว่างกันได้ ทำให้สะดวกต่อการซ่อมบำรุงและการจัดหาอุปกรณ์อะไหล่
(กรุณา click เพื่อขยายภาพตารางด้วยนะครับ)
ตามบัญชีที่ 2 จะเห็นได้ว่าทางการได้จัดหารถจักรมาใช้การเป็นแบบรถกำลัง มีรถลำเลียงพ่วงและมีอยู่เพียง 4 ชนิดเป็นส่วนใหญ่ คือ.-
Last edited by black_express on 23/07/2011 7:18 pm; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 23/07/2011 3:35 pm Post subject: |
|
|
1. ชนิดมิกาโด (2-8-2) ใช้ทำการลากจูงขบวนรถสินค้าหนักทั้งในทางราบและทางภูเขา รถรวมในทางภูเขา และรถรวมขนาดหนักทั้งในทางราบและภูเขา เพราะมีล้อกำลังขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ทำให้มีแรงฉุดสูง
2. ชนิดแปซิฟิค (4-6-2) ใช้ทำการลากจูงขบวนรถโดยสารทั้งด่วนและเร็ว รถรวมขนาดเบาในทางราบ เพราะมีล้อกำลังขนาดโต และมีจำนวนน้อยกว่า ทำให้สามารถลากจูงขบวนรถได้เร็ว
3. ชนิดคอนโซลิเดชั่น(2-8-0) ใช้ทำการลากจูงขบวนรถรวม รถสินค้าในทางภูเขา โดยเฉพาะทางรถไฟสายเหนือจากอุตรดิตถ์ถึงเชียงใหม่ ซึ่งมีแนวทางวางผ่านภูเขาเกือบตลอดทาง มีส่วนที่เป็นทางลาดชันมาก โดยบางตอนมีทางลาดชันสูงสุดถึง 25 ใน 1,000
4. รถกำลัง 2 เครื่องต่อกัน (Articulated Locomotive) ชนิดการัต (2-8-2+2-8-2) ได้แก่รถรุ่น 451 เป็นรถจักรอีกชนิดหนึ่งที่กรมรถไฟได้นำมาใช้ลากจูงขบวนรถสินค้าหนักในทางภูเขาสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนแก่งคอย ปากช่อง ซึ่งมีทางลาดชันสูงสุด 24 ใน 1,000 รถแบบการัตนี้เป็นรถจักรที่เหมาะสมที่จะใช้การในทางภูเขา โดยถือได้ว่านำเอารถชนิดมิกาโด 2 คันมาพ่วงต่อกันนั้นเอง แต่ใช้พนักงานรถจักรชุดเดียว ทำให้รถจักรมีแรงฉุดมาก คุณลักษณะอื่นๆ คือมีหม้อน้ำขนาดใหญ่ผลิตไอน้ำได้มาก ใช้ไอดงโดยมีอุปกรณ์ดงไอจามระบบของชมิดท์ การกลับคันเปลี่ยนอาการใช้บังคับโดยเครื่องกลไอน้ำแทนที่จะบังคับด้วยมือ และถจักรที่ซื้อภายหลัง 2 คันนั้น ได้รับการปรับปรุงแก้ไขส่วนประกอบบางอย่างให้ดีขึ้นเป็นต้นว่า ติดตั้งอุปกรณ์ Thermic Syphon แบบ Nicholson สำหรับช่วยให้ไอน้ำเกิดได้เร็ว และมีประสิทธิภาพดี ขยายเตาไฟให้กว้างขึ้น เพื่อจะได้อำนวยความร้อนให้ได้มาก
ในด้านเทคนิคการสร้างรถจักรข้างต้นปรากฎว่า ตัวรถกำลังของรถจักรที่สร้างในสหรัฐและญี่ปุ่น มีลักษณะตัวโครงประธานเป็นชนิดโครงท่อน (Bar type) ตามวิธีของอเมริกัน ซึ่งแตกต่างไปจากรถจักรที่สร้างโดยบริษัทในทวีปยุโรป ซึ่งนิยมออกแบบโครงประธานมีลักษณะเป็นโครงแผ่น (Plate type) |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 23/07/2011 3:40 pm Post subject: |
|
|
เกี่ยวกับเรือนสูบของตัวรถจักรชนิดต่างๆ โดยทั่วไปเป็นแบบสองสูบ ซึ่งติดตั้งอยู่ภายนอกโครงประธานข้างละสูบ แต่มีรถจักรมิกาโด เลขที่ 303-306 รถจักรแปซิฟิค รุ่นเลขที่ 226-251 และรุ่น 260-282 เป็นแบบ 3 สูบ ซึ่งติดตั้งอยู่ภายนอกโครงประธานข้างละสูบ และตรงกลางระหว่างโครงประธานอีก 1 สูบ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารถจักร 3 สูบมีข้อดีกว่ารถจักร 2 สูบ เนื่องด้วยมีแรงหมุนคงที่ ทั้งอำนวยแรงฉุดให้ได้มากที่สุดที่จะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ทางน้อยที่สุด แต่มีข้อเสียคือไม่สะดวกต่อการซ่อมบำรุง
รถจักรชนิดมิกาโดรุ่นเลขที่ 380-447 และชนิดแปซิฟิครุ่นเลขที่ 283-292 สร้างโดยบริษัทต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น ในนามของสมาคมผู้สร้างรถจักรแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่ารถรุ่นอื่นๆ ตามความก้าวหน้าของวิชาวิศวกรรมรถจักร อาทิ ได้มีการติดเครื่องสูบน้ำสำหรับชักน้ำเข้าหม้อ เฉพาะรถจักรชนิดแปซิฟิคยังมีกระบังควัน (Smoke Deflector) ติดตั้งไว้ด้วย รถลำเลียงก็ได้ขยายความจุในการบรรทุกน้ำและฟืนมากขึ้น ปรากฎว่ารถจักรรุ่นนี้มีประสิทธิภาพในการใช้การดีกว่ารถจักรรุ่นก่อนๆ
และเป็นรถจักรรุ่นสุดท้ายที่จัดหามาใช้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และภายใน 50 ปีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ก่อกำเนิดขึ้น
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมรถไฟได้ประสบความเสียหายในบริภัณฑ์รถไฟและสิ่งปลูกสร้างเป็นอย่างมาก เมื่อสงครามได้ยุติลง จึงปรากฎว่ากรมรถไฟขาดแคลนรถจักรและล้อเลื่อนที่จะมาใช้การรับใช้ประชาชนตามสถานะเดิมต่อไป ดังนั้นในปี พ.ศ.2489 ด้วยความเอื้อเฟื้อของสหประชาชาติได้จำหน่ายรถจักรไอน้ำที่เหลือใช้จากสงครามให้แก่กรมรถไฟจำนวน 68 คัน (รุ่นเลขที่ 380-447) เพื่อบรรเทาการขาดแคลนดังกล่าว รถจักรเหล่านี้เป็นชนิดมิกาโด (2-8-2) ซึ่งเรียกกันโดยเฉพาะในวงการของสหประชาชาติว่ารถจักร แมคอาเธอร์ เป็นรถจักรที่สร้างโดยบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ตามรายการจำเพาะที่กำหนดขึ้นโดยทางการทหารแห่งสหรัฐ
นอกจากนี้ยังได้รับรถจักรที่เหลือใช้จากสงครามของฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งนำมาใช้การในเอเซียอาคเนย์นี้ 50 คัน คือ รถจักรญี่ปุ่น รุ่นเลขที่ 701-746 (C-56) และ รุ่นเลขที่ 761- 764 (C-58)และเป็นรถจักรของการรถไฟสหพันธรัฐมลายู ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นนำมาใช้การในประเทศไทยระหว่างสงครามอีก 18 คัน คือรุ่นเลขที่ 801 (เจ้าของเดิมเรียกว่ารุ่น P) |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 23/07/2011 3:51 pm Post subject: |
|
|
ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ตามโครงการบูรณะกิจการรถไฟ ทางการได้จัดซื้อรถจักรไอน้ำจากผู้สร้างต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น 50 คัน และในปีถัดไปอีก 50 คัน เป็นรถจักรแบบมิกาโดและแปซิฟิค เหมือนกันกับรถจักรที่เคยซื้อจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังกล่าวข้างต้น แต่ได้มีการปรับปรุงบางสิ่งให้เหมาะสมขึ้นอีก
รถจักรจำนวน 100 คันนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นรถจักรไอน้ำรุ่นสุดท้ายที่จะมีใช้การในการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรถไฟฯ มีนโยบายที่จะนำเอารถจักรดีเซลมาใช้การแทนรถจักรไอน้ำ
ในระยะเวลาประมาณ 3 ใน 4 ของศตวรรษ รถจักรไอน้ำได้รับการปรับปรุงโดยเฉพาะอุปกรณ์ต่างๆ เป็นไปตามการปรับปรุงหลายรายการ จากการประดิษฐ์คิดค้นของนักประดิษฐ์ ในด้านสมรรถนะการใช้การนั้น แม้ว่าตัวรถจักรจะได้รับการปรับปรุงให้มีขนาดใหญ่และประสิทธิภาพดีขึ้นก็ตาม แต่ก็กระทำได้ภายในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากทางรถไฟของการรถไฟฯ มีขีดจำกัดความสามารถในการรับน้ำหนักรถได้เพียง 10.5 เมตริกตันต่อเพลาในขณะนั้น ถ้าหากว่ามีสูงกว่านั้นแล้ว สมรรถนะของรถจักรย่อมจะสูงขึ้น เช่น ลากจูงรถได้มาก มีความเร็วสูงขึ้น และมีรัศมีทำการไกล
ตั้งแต่เริ่มต้นตลอดมา รถจักรไอน้ำเหล่านี้ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง จึงอาจนับได้ว่าการรถไฟฯ เป็นผู้ใช้ไม้ฟืนรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ แต่ก็ไม่เป็นสิ่งที่พึงภูมิใจ เพราะป่าไม้ที่เป็นทรัพยากรของชาตินับวันจะร่อยหรอลงไปเนื่องจากนำไปใช้เป็นฟืน การรถไฟฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะสงวนป่าไม้ของชาติสมทบกับเหตุผลอื่นๆ จึงได้กำหนดแผนการเลิกใช้รถจักรไอน้ำเสียทั้งสิ้น โดยใช้รถจักรดีเซลแทน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
รถจักรไอน้ำซึ่งได้รับใช้และทำประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติในด้านขนส่งทางรถไฟ นับวันจะหมดไปจากการรถไฟไทย รวมทั้งจากโลก เพราะการรถไฟในนานาประเทศก็ได้เลิกใช้การรถจักรไอน้ำเช่นกัน
คงเหลือเป็นอนุสรณ์ให้เห็นและระลึกถึงคือการเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเก็บไว้ตามสถานีใหญ่ตามรายทางดังที่การรถไฟฯ ได้ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้ อาจเป็นเรื่องที่น่าเสียใจของบรรดาผู้เป็นมิตรของกิจการรถไฟที่ต่อไปจะไม่ได้เห็นรถจักรไอน้ำที่เข้มแข็ง มีพลัง แต่สวยงาม มีสมญาว่า ม้าเหล็ก ทำงานรับใช้ประชาชนต่อไป รถจักรไอน้ำอาจจะลดความประทับใจลงอย่างมากกับผู้ที่เคยใช้การ คือ คนรถไฟ เพราะรถจักรไอน้ำได้ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกทางใจต่อเขาเหล่านั้นซึ่งเป็นผู้คลุกเคล้าวินัย จิตใจที่ร่วมกันทำงานเป็นทีม การให้ความเอาใจใส่และการอุทิศตนในการทำงาน อย่างไรก็ตาม การที่ได้ยอมรับกันทั่วไปในโลกว่า รถจักรไอน้ำคือสัญญลักษณ์ของกิจการรถไฟนั้น คงเป็นสิ่งระลึกถึงกันต่อไป.
........................
ขอขอบคุณ
- การรถไฟแห่งประเทศไทย
- ฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย
- หนังสือ "งานฉลองรถไฟหลวงครบ 50 ปี" กรมรถไฟ พ.ศ.2490
- หนังสือ "อนุสรณ์ครบรอบ 72 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2439 - 2512"
- หนังสือ "รถจักรและรถพ่วงประวัติศาสตร์" การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2534 |
|
Back to top |
|
|
anusorn
1st Class Pass (Air)
Joined: 04/09/2006 Posts: 1642
Location: มณฑลอาคเนย์
|
Posted: 23/07/2011 4:15 pm Post subject: |
|
|
น่าเสียดายที่รถจักรไอน้ำสวยๆ อย่าง McArther มีซากหลงเหลือเพียงแค่โครงหลังคา Cab กับ Tender เท่านั้น กับภาพสีในความทรงจำ |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 23/07/2011 4:39 pm Post subject: |
|
|
"แม็คอาเธอร์"หุ่นหล่อครับ แต่ผอมบางไปหน่อย และเคยเห็นตัวเป็นๆ ที่วิ่งใช้งานได้ ทำขบวนรถสินค้าจอดรอทางสะดวกที่สถานีนครสวรรค์
Last edited by black_express on 28/07/2011 12:41 pm; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
alderwood
1st Class Pass (Air)
Joined: 10/04/2006 Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา
|
Posted: 23/07/2011 4:46 pm Post subject: |
|
|
^ ซากที่ธบ.ตอนนี้ ก็โดนชำแหละจนแทบไม่เหลือเป็นโครงแล้วครับ
=====================================
รถจักรไอน้ำรุ่นหลังสงครามนั้น ทั้งมิกาโด้ และแปซิฟิค ถ้าจำไม่ผิดจะสั่งซื้อมาอย่างละ 50 คัน แต่เกิดเปลี่ยนแปลง จัดซื้อมิกาโด้ 70 คัน และแปซิฟิค 30 คันครับ โดยแปซิฟิค 30 คันนั้น ทางญี่ปุ่นจะจัดขายให้อีก 5 คัน เพื่อเป็นรถอะหลั่ย แต่ทางการรถไฟมิได้จัดซื้อมาด้วย ทั้ง 5 คันที่เหลือจึงขายไปอยู่ประเทศ Jordan ครับ _________________ รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
|
|
Back to top |
|
|
bleach
3rd Class Pass
Joined: 05/07/2010 Posts: 50
Location: บางปู สมุทรปราการ
|
Posted: 23/07/2011 6:23 pm Post subject: |
|
|
น่าเสียดายนะครับ รถจักรไอน้ำแต่ละคันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น
ของคุณที่แบ่งปันความรู้นะครับ _________________
|
|
Back to top |
|
|
schoolvan9
3rd Class Pass
Joined: 03/06/2010 Posts: 23
|
Posted: 23/07/2011 8:07 pm Post subject: |
|
|
ขอพระคุณครับ...สำหรับความรู้ใหม่ |
|
Back to top |
|
|
|