Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:312077
ทั่วไป:13684198
ทั้งหมด:13996275
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 47, 48, 49 ... 284, 285, 286  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 27/11/2011 12:37 am    Post subject: Reply with quote

เปิดสัญญาจ้างรถไฟฟ้า "น้ำเงิน-ม่วง-แดง" ที่มาข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในกระทรวงคมนาคม
คอลัมน์เคียงข่าว
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 17:21:15 น

จากเรื่อง "ปล้นเงิน" บ้าน "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" ปลัดกระทรวงคมนาคม ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กลายเป็นเรื่อง "การทุจริต" โครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ กระทรวงคมนาคม

ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นำมาแฉกันกลางสภาแบบจะจะ ว่าเงินส่วนนี้อาจเกี่ยวพันกับโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร มีทั้งหมด 6 สัญญา

สัญญา 1 เป็นงานออกแบบควบคู่กับการก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามชัย ผู้ดำเนินโครงการ คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 11,441 ล้านบาท



สัญญา 2 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงสนามชัย-ท่าพระ ผู้ดำเนินโครงการ คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) วงเงิน 10,687 ล้านบาท

สัญญา 3 งานก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ และงานก่อสร้างทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 แห่ง ผู้ดำเนินโครงการ คือ กิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น ประกอบด้วย บริษัท ซิโน ไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงิน 11,284 ล้านบาท



สัญญา 4 งานก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง และงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดรถ 2 แห่ง ผู้ดำเนินการ คือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงิน 13,334 ล้านบาท

สัญญา 5 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างระบบรางทั้งโครงการ ผู้ดำเนินโครงการ คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)



และ สัญญา 6 งานระบบรถไฟฟ้า อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคา



โดยทุกสัญญาที่ดำเนินโครงการแล้ว ลงนามเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ในช่วงที่นายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เป็นปลัดกระทรวงคมนาคม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร มีทั้งหมด 6 สัญญา

สัญญา 1 เป็นโครงสร้างทางยกระดับตะวันออกช่วงบางซื่อ-เตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้า ผู้ดำเนินโครงการ คือ กิจการร่วมค้าซีเคทีซี ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด วงเงิน 14,842 ล้านบาท ลงนามเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ในช่วงที่นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ เป็นปลัดกระทรวงคมนาคม



สัญญา 2 เป็นโครงสร้างยกระดับส่วนตะวันตก ช่วงสะพานพระนั่งเกล้า-คลองบางไผ่ และงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ดำเนินโครงการ คือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงิน 13,050 ล้านบาท ลงนามเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553

สัญญา 3 เป็นงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ ผู้ดำเนินโครงการ คือ กิจการร่วมค้าพีเออาร์ ประกอบด้วย บริษัท เพาเวอร์ไลน์ จำกัด และบริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด วงเงิน 5,050 ล้านบาท ลงนามเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553



สัญญา 4 งานระบบรถไฟฟ้า ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ผู้ดำเนินโครงการ คือ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล วงเงิน 93,475 ล้านบาท ลงนามเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2554



สัญญา 5 งานระบบรถไฟฟ้า ช่วงเตาปูน-บางซื่อ อยู่ระหว่างเตรียมลงนามกับบีเอ็มซีแอล



และ สัญญา 6 งานระบบราง วงเงิน 3,663 ล้านบาท อยู่ระหว่างประกวดราคา



ทุกสัญญาที่ลงนามแล้วอยู่ในช่วงที่นายโสภณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และตั้งแต่สัญญา 2-6 อยู่ในช่วงนายสุพจน์ เป็นปลัดกระทรวงคมนาคม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร แยกเป็น

ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีสัญญาเดียว คือ งานโยธา ก่อสร้างสถานีรถไฟบางซื่อ และอาคารซ่อมบำรุง ผู้ดำเนินโครงการ คือ กิจการร่วมค้า Unique-Chun Wo Joint Ventuer วงเงิน 8,748 ล้านบาท ลงนาม 12 ธันวาคม 2551

ในช่วงที่นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ เป็นปลัดกระทรวงคมนาคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ส่วนนายโสภณเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ส่วนช่วงบางซื่อ-รังสิต มี 3 สัญญา ระยะทางรวม 20 กิโลเมตร
สัญญา 1 เป็นงานโยธาสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง อยู่ระหว่างประกวดราคา

สัญญา 2 งานโยธา ช่วงบางซื่อ-รังสิต อยู่ระหว่างประกวดราคา และ
สัญญา 3 งานระบบราง อาณัติสัญญาณ และขบวนรถไฟฟ้า อยู่ระหว่างประกวดราคาเช่นเดียวกัน
โดยวงเงินงบประมาณทั้ง 3 สัญญา ประมาณ 45,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2551-9 สิงหาคม 2554 ส่วนนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 28/11/2011 10:42 am    Post subject: Reply with quote

"สุพจน์"หลบสื่อ บอร์ดรฟม.กู้1.5หมื่นล.รถไฟฟ้าสีเขียว-น้ำเงิน
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 25 พฤศจิกายน 2554 22:20 น.

ASTVผู้จัดการรายวัน - “สุพจน์” หลบสื่อ เบี้ยวประชุมบอร์ด รฟม. อ้างติดธุระด่วน ขณะที่บอร์ดไฟเขียวเงินกู้อีกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท จ้างค่าก่อสร้างสีน้ำเงินงวดที่2 และสีเขียว พร้อมสั่งชะลอสอบวินัย ”ชัยสิทธิ์” ว่าที่ผู้ว่าฯ กรณีปัญหาไจก้าตีกลับประมูลวางรางสีม่วง โยนอนุกรรมการด้านกฎหมายตรวจสอบก่อนชี้รวบรัดเกินไป

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วานนี้ (25 พ.ย.) แจ้งว่า การประชุมบอร์ดได้นัดประชุมในเวลา 10.00น. แต่นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานบอร์ดไม่มาเข้าร่วม ซึ่งหลังจากมีการติดต่อไปยังนายสุพจน์ได้แจ้งขอลาประชุม เนื่องจากติดธุระด่วน ในขณะที่ กรรมการรฟม.มาประชุมจำนวน 7 คนซึ่งถือว่าครบองค์ประชุมโดยมีนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

นายถวัลย์รัฐ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เลือกให้ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมแทนนายสุพจน์ ที่ไม่มาประชุมเพื่อไม่ให้งานต่างๆหยุดชะงัก โดยที่ประชุมได้มีมติให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ซึ่งมีนายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุดเป็นประธานพิจารณากรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นายชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ รองผู้ว่าฯรฟม.ประธานกรรมการประกวดราคาระบบราง (สัญญาที่ 6) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และนายชาญศักดิ์ ศิริสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรม เลขานุการ และสรุปผลรายงานบอร์ดโดยเร็วที่สุด โดยในระหว่างนี้ให้ชะลอการสอบวินัยร้ายแรงไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ

ทั้งนี้พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้บอร์ดช่วยพิจารณาในเรื่องการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เนื่องจากต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและปรากฏในข้อเท็จจริงโดยบอร์ดได้พิจารณาถึงข้อบังคับระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการตั้งกรรมการสอบวินัย และเห็นว่า มีความเกี่ยวข้องไปถึงกรรมการประกวดราคาซึ่งเป็นคนภายนอก 3 คน

นอกจากนี้กรรมการสอบข้อเท็จจริงได้พิจารณาจากเอกสารอย่างเดียว ขณะที่ควรดูรายละเอียดมากกว่านี้ ก่อนจะตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง

“บอร์ดเห็นว่า การสรุปสอบวินัยร้ายแรงรวบรัดเกินไป การสอบสวนข้อเท็จจริงควรตรวจสอบเอกสารและตัวบุคคลด้วย การชี้ว่าผิดจะต้องรอบคอบมากๆ โดยอนุด้านกฎหมายฯจะต้องตรวจสอบทุกเรื่อง รวมถึงกฎหมายและข้อตกลงกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น(ไจก้า) ด้วย ส่วนการประกวดราคาเห็นว่า ให้ดำเนินตามขั้นตอนต่อไป เพราะถือเป็นเรื่องของหน่วยงานที่จะต้องประสานกับไจก้า จะไม่เกี่ยวกับการสอบวินัย ซึ่งรฟม.รายงานว่า การที่ไจก้าไม่ให้บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิค (ซองที่2) ซึ่งไม่ตรงกับที่กรรมการประกวดราคาเสนอ เป็นเรื่องเกณฑ์การให้คะแนนที่ไจก้าเห็นว่ารฟม.ทำไม่ตรงกับทีโออาร์กำหนด”นายถวัลย์รัฐกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติให้รฟม.กู้เงินในประเทศสำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ งวดที่ 2 วงเงิน 12,300 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างงานโยธาและที่ปรึกษาทยอยเบิกจ่ายจนครบถึงเดือนธันวาคม 2555 และอนุมัติกู้เงินในประเทศ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ งวดที่ 1 วงเงิน 3,069 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างงานโยธาและที่ปรึกษา ทยอยเบิกจ่ายจนครบถึงกลางปี 2555 โดยจะเป็นการกู้จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มาดำเนินการ โดยคาดว่าจะลงนามในสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บริษัท ช.การช่างเป็นจำกัด (มหาชน) หรือ CK ได้ในต้นเดือนธันวาคมนี้.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 28/11/2011 2:52 pm    Post subject: Reply with quote

รัฐบาลเดินหน้ารถไฟฟ้า10สาย 'สุกำพล'สั่งลุยต่อไปถึง 'คูคต'
หน้ากทม.
เดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 28 พฤศจิกายน 2554 เวลา 9:36 น

เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง "สุกำพล" เชื่อจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณแม้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม สนข.แนะประกวดราคาสายสีเขียวควบคู่ส่วนต่อขยายสะพานใหม่-คูคต เหตุงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ในงานช่วงสะพานใหม่-คูคต

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทางตามนโยบายของกระทรวงฯ ว่า ยังเดินหน้าต่อแม้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่โครงการรถไฟฟ้าใช้เงินกู้ก่อสร้างโครงการเชื่อว่าจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณรัฐบาล

นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ รักษาการปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการติดตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. วงเงินลงทุน 25,000 ล้านบาท และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กม. วงเงินลงทุน 33,000 ล้านบาท มีข้อสังเกตถึงแนวทางการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ในส่วนของการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายของทั้ง 2 โครงการ ซึ่งตามแผนงานจะขยายแนวเส้นทางจากสมุทร ปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กม. และจากสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กม.

ทั้งนี้เห็นว่าจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดการจัดระบบเดินรถว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะส่วนต่อขยายระยะทางสั้น การจะให้เอกชนรายใหม่เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถอาจมีปัญหาภายหลัง และผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการเดินรถในช่วงแรกที่เปิดให้บริการจะไม่คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งจากการหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดให้เอกชนเดินรถในโครงการส่วนแรก คือ แบริ่ง-สมุทรปราการก่อน และหากภายหลังมีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงขยายการเดินรถไปยังบางปู โดยให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้ให้บริการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ อยู่ระหว่างการศึกษากรณีการปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างบริเวณสถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมก่อน

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า การประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ควรดำเนินการช่วงสะพานใหม่-คูคต ควบคู่กัน เพราะงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ อยู่ในงานช่วงสะพานใหม่-คูคต ส่วนรูปแบบการเดินรถนั้น หากช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู เปิดให้เอกชนรายเดียวบริหารจัดการเดินรถ ก็ควรใช้รูปแบบนี้ในช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้วยเช่นกัน.
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47481
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 02/12/2011 7:06 pm    Post subject: Reply with quote

เข็นเมกะโปรเจกต์แสนล. หั่น‘เอ็นจีวี’เหลือ 2 พันคัน
สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1255 ประจำวันที่ 3-12-2011 ถึง 6-12-2011

ก.คมนาคม >> “สุกำพล” ประกาศเดินหน้าโครงการ เมกะโปรเจกต์ ตั้งแต่รถไฟฟ้า 10 สาย-รถไฟทางคู่-รถเมล์เอ็นจีวี เล็งชงเข้าครม.ในเดือนธ.ค.นี้ สั่งหั่นราคารถเมล์เอ็นจีวีลงจากแผนเดิมเช่ารถ 40,000 ล้านบาท เป็นซื้อ 20,000 ล้านบาท และ ลดจำนวนเหลือ 2,000 คันจากเดิม 4,000 คัน

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่า การกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานของ กระทรวงคมนาคมติดตามแผนการดำเนินงาน และแผนการใช้งบประมาณในโครงการต่างๆ ของแผนนโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย รถไฟทางคู่ รวมทั้งโครงการจัดซื้อรถเมล์โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) โดยได้ให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ประสานงาน กับปลัดกระทรวงการคลัง และเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อจัดหาทำแนวทางการจัดหาเงินทุนในการดำเนินการโครงการตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงิน หรือการค้าต่างตอบแทน(บาร์เตอร์ เทรด) เนื่องจากโครงการก่อสร้างต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ใช้เงินงบประมาณสูงมาก จึงต้องมีการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความเหมาะสมคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเดือนธันวาคม 2554 นี้

“แม้ว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ยังต้องเดินหน้าต่อ เพราะว่าโครงการรถไฟฟ้าใช้เงินกู้ก่อสร้างโครงการ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐบาล”

สำหรับโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงานจัดหา เพื่อนำรถมาทดแทนรถเก่า ในเบื้องต้นคาดว่าจะจัดหารถใหม่ทั้งหมดประมาณ 3,000 คัน ทั้งนี้ จากแผนงานเดิมที่จะหารถเมล์เอ็นจีวีที่เป็นวิธีการเช่าวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท แต่การจัดหารถเมล์ใหม่ในครั้งนี้จะใช้วิธีการซื้อ วงเงินน่าจะใช้เงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเร่งเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ทันเดือนธันวาคมนี้

“กรอบวงเงินที่ลดลงมานั้นมาจากการดำเนินการจัดหารถเมล์ใหม่ ซึ่งจะมีการจัดหารถเมล์ร้อนเข้าไปด้วย จากเดิมจะเป็นรถปรับอากาศอย่างเดียว และเดิมจะรวมค่าซ่อมบำรุงด้วย แต่โครงการจัดหาวิธีใหม่จะตัดออกไป”

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ส่งผลให้รัฐบาลมีนโยบายปรับลดงบประมาณประจำปี 2555 ลง 10% เพื่อนำไปฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด ในส่วนของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลนั้น กรมทางหลวงชนบท (ทช.)ถูกปรับลดค่อนข้างมาก โดยคาดว่าจะได้งบประมาณปี 2555 ไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาท จากที่เสนอไปประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่มีน้อยจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางของ ทช.แน่นอนซึ่งต้องมีการปรับการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องยอมรับเพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลต้องการงบไปฟื้นฟูประเทศ ส่วนหน่วยงานอื่นๆทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด และบริษัท ไทย-อะมาดิอุสเซาท์อีสต์เอเชีย จำกัด ในภาพรวมไม่ได้รับผลกระทบ

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า กรมฯได้ทำรายละเอียดเพื่อเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2555 ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท และถูกตัดเหลือ 2.6 หมื่นล้านบาทไปแล้วก่อนหน้านี้ และหลังจากปรับลดงบอีก10% ตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ขณะนี้เหลืองบประมาณปี 2555 ที่จะได้รับจัดสรรจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ที่กรมฯได้รับงบประมาณจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาทโดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดในงบก่อสร้างส่วนการซ่อมบำรุงเส้นทางที่ได้รับความเสียหายจากการเกิดอุทกภัย จะต้องเสนอของบต่างหาก ไม่เกี่ยวกับงบประมาณประจำปี

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้เสนอของบประมาณปี 2555 จำนวน 37,476 ล้านบาท และถูกตัดเหลือ 16,783 ล้านบาทแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนการปรับลดงบลง 10% ตามนโยบายรัฐบาลนั้น ล่าสุดเหลืองบประมาณที่จะได้รับจำนวน 16,160 ล้านบาท โดยการปรับลดได้พิจารณาเป็นรายโครงการจำนวน 4 รายการ วงเงิน 623 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสี ในส่วนของการว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำเอกสารประกวดราคา ปรับลดจาก 88 ล้านบาทเหลือ 60 ล้านบาท (ถูกตัด 28 ล้านบาท)
2.โครงการว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง118 กิโลเมตร ลดลงจาก 90 ล้านบาท เหลือ 18 ล้านบาท (ถูกตัด 72 ล้านบาท)
3. โครงการเสริมความมั่นคงของสะพานเพื่อรองรับน้ำหนักกดเพลา 20 ตันปรับลดจาก 187 ล้านบาท เหลือ 135 ล้านบาท (ถูกตัด 52 ล้านบาท) และ
4. การชดเชยผลขาดทุน จาก 4,711 ล้านบาทเหลือ 4,240 ล้านบาท (ถูกตัด 471 ล้านบาท)


อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ถูกปรับลดลงในปี 2555 นั้น จะเป็นปรับลดโดยเลื่อนการดำเนินงานบางส่วนไปใช้งบปี 2556 แทน ไม่ได้ถูกตัดทิ้ง จึงถือว่าไม่กระทบต่อการดำเนินโครงการในแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 176,808 ล้านบาทแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการประมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ของ ร.ฟ.ท.ค่อนข้างล่าช้าหลายโครงการต้องเปิดประมูลหลายครั้ง ซึ่งพบว่า สาเหตุเกิดจากการตั้งเงื่อนไขหรือสเปคค่อนข้างสูง และกำหนดราคากลางค่อนข้างต่ำทำให้มีผู้ยื่นประมูลน้อยหรือบางครั้งไม่มีผู้ยื่นเลย ดังนั้นจะต้องมีการทบทวนการกำหนดสเปคและการกำหนดราคากลางเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปฏิบัติได้จริง
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 04/12/2011 3:46 am    Post subject: Reply with quote

รฟม.ยืนยันขาด"สุพจน์"รถไฟฟ้า 10 สายไม่ชะงัก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 ธันวาคม 2554 17:22 น.

นายรณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปิดเผยว่า หลังจากที่นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ลาออกจากตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการ รฟม. ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ที่นายสุพจน์ ได้ลงนามอนุมัติไปก่อนหน้านี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งการลาออกของปลัดกระทรวงคมนาคม ไม่ทำให้การดำเนินการก่อสร้างล่าช้า เพราะมีการดำเนินการก่อสร้างที่ได้ดำเนินไปตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนการสรรหา ประธานคณะกรรมการ รฟม.คนใหม่ ซึ่งขณะนี้ ทางกระทรวงคมนาคม อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการสรรหาอยู่ ซึ่งคาดว่า เร็วๆ นี้ ทางกระทรวงจะสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานบอร์ดคนใหม่ได้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 06/12/2011 7:46 pm    Post subject: Reply with quote

ขับรถไฟฟ้ากระตุ้นศก.55
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
หน้า อสังหา Real Estate - อสังหาฯ Real Estate
ออนไลน์เมื่อ วันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม 2011 เวลา 09:58 น.
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,693 4-7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คมนาคมชูเมกะโปรเจ็กต์รถไฟ-รถไฟฟ้า กระตุ้นเศรษฐกิจปี 55 หลังมหาอุทกภัย 54 ทำหลายโครงการสะดุด จี้ สนข.-รฟม.-ร.ฟ.ท.เร่งสรุปกระบวนการให้แล้วเสร็จภายใน ธ.ค.นี้ ก่อนเปิดประมูลและก่อสร้างในปีหน้า เผยงานนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน- มีนบุรี วงเงิน 143,254 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ พร้อมรถไฟรางคู่จ่อคิวรวมงบกว่า 4 แสนล้าน

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนการขับเคลื่อนโครงการต่างๆของกระทรวงหลังจากที่ได้สะดุดปัญหาอุทกภัยในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมาว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ไปเร่งสรุปกระบวนการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อต้องการให้มีการเปิดขายซองเอกสารประกวดราคาหรือเปิดประมูลตลอดจนการเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2555 ตามแผนการดำเนินโครงการที่กระทรวงคมนาคมกำหนดไว้

"ช่วง 2-3 เดือนนี้บางรายการต้องยุติหรือเลื่อนออกไปบ้าง เมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็เร่งดำเนินการต่อไป เช่น การพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ การเตรียมเอกสารประกวดราคา เพื่อให้เปิดการขายหรือกำหนดไว้เปิดประมูลให้ชัดเจนต่อไปเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาบางโครงการอาจจะล่าช้าจากการตรวจสอบหรือมีการร้องเรียนแต่เชื่อว่าหลังจากนี้กระบวนการต่าง ๆ น่าจะสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ดังนั้นในปีหน้าก็หวังว่าจะเป็นปีทองของการผลักดันรถไฟและรถไฟฟ้าเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ"

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในส่วนที่ตนรับผิดชอบจะเน้นไปที่การรถไฟฯ โดยเฉพาะโครงการภายใต้กรอบงบประมาณ 1.7 แสนล้านบาทที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติเรียบร้อยแล้ว มีทั้งก่อสร้างรางเพื่อเสริมความแข็งแรง การจัดหาหัวรถจักรเพิ่มตลอดจนการก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งน่าจะให้มีการเปิดประมูลได้ภายในปีหน้าได้อย่างน้อย 2 เส้นทางที่ได้มีผลการศึกษารองรับไว้แล้ว อีกทั้งบางเส้นทางยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าของประเทศ

"การลงทุนรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งสินค้าเส้นทางที่สำคัญคือการเชื่อมจากหนองคาย-กรุงเทพฯ-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือปากบารา แต่รัฐบาลมีปัญหาเงินทุนไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนหรือสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่ให้ความสนใจเช่นจีน ที่สนใจเพราะได้ประโยชน์จากการใช้เส้นทางเพื่อส่งสินค้าของตนเอง แต่รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติและทำให้การพัฒนาประเทศทำได้ยาก นอกจากนี้ยังมีเส้นทางตะวันออก-ตะวันตกหรือ (East-West Corridoor) ตามข้อตกลงอาเซียนที่ตัดผ่านประเทศไทย จากย่างกุ้ง(พม่า)-เมียวดี-แม่สาย(ไทย)-ตาก-สุโขทัย-พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร-ลาว-เวียดนามระยะทาง 1,213 กิโลเมตรอีกด้วยซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าทางรางไปยังทั่วโลก" พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าว

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสนข.กล่าวว่า รถไฟและรถไฟฟ้าในหลายเส้นทางจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลในปีหน้า เนื่องจากปีนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการศึกษาความเหมาะสมและการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อพร้อมที่จะให้มีการประกวดราคาก็สามารถเริ่มได้ทันทีโดยเฉพาะเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวเส้นทาง งบประมาณที่ผ่านมาได้ถกเถียงกันพอสมควรจนได้ข้อสรุป

สำหรับโครงการรถไฟและรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันของกระทรวงคมนาคมที่จะเห็นผลในปี 2555 ได้แก่

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ วงเงิน 33,212 ล้านบาท(อยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคา)
2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่า 40,129 ล้านบาท(อยู่ระหว่างการศึกษาเป็นระบบเฮฟวี่เรล)
3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน- มีนบุรี วงเงิน 143,254 ล้านบา
4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 28,436 ล้านบาท(ทำช่วงเตาปูน-วังบูรพาเพื่อเชื่อมรัฐสภาแห่งใหม่ก่อนในช่วงแรก)
5. โครงการรถไฟสายตะวันออก(บางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก) มูลค่า 36,947 ล้านบาท
6. โครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางคือ
6.1.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ วงเงินรวม 11,640 ล้านบาท และ
6.2. ช่วงนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน วงเงิน 16,600 ล้านบาท
7. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย วงเงิน 90,189 ล้านบาท

"นับเป็นสิ่งที่เดินมาถูกทางแล้วที่รัฐบาลจะใช้การก่อสร้างรถไฟและรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่ถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์ไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่ดูเหมือนว่าจะส่งผลให้ไปลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่พอสมควร เพราะเมื่อมีการก่อสร้างผู้ที่ได้รับอานิสงส์จะไม่ใช่เฉพาะผู้รับเหมาเท่านั้นแต่แรงงาน แม้กระทั่งผู้ผลิตและจำหน่ายอิฐ หิน ปูน ทรายยังได้รับผลดีตามไปด้วย อีกทั้งยังเป็นรายได้ระยะยาว สิ่งสำคัญยังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้หันมาลงทุนในโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันมากยิ่งขึ้นอีกด้วย"

นายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการ(ฝ่ายปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่าขณะนี้งานการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินการแล้ว ล่าสุดการประชุมบอร์ดที่ผ่านมายังได้อนุมัติงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาทเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงบางซื่อ-ท่าพระ

สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 33,212 ล้านบาท นั้นขณะนี้การออกแบบสถานีช่วงวงเวียนบางเขนสรุปเรียบร้อยแล้วรอแก้ไขเฉพาะผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่คณะกรรมการชำนาญการของสำนักนโยบายและแผนเพื่อสิ่งแวดล้อม(สผ.) นำเสนอให้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมเปิดการประกวดราคาโดยรอเพียงอัยการสูงสุดเห็นชอบเอกสารประกวดราคาเท่านั้นโดยคาดว่าจะสามารถประกาศขายซองประกวดราคาเพื่อทำการประมูลงานก่อสร้างได้ในเดือนธันวาคมนี้หรือต้นปี 2555

นายรณชิต กล่าวอีกว่า ในส่วนสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร กรอบวงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 40,129 ล้านบาท นั้นหลังจากที่รฟม.ได้ประกาศขายซองเชิญบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการลงทุนและร่างทีโออาร์ภายใต้วงเงิน 35 ล้านบาทไปจำนวน 2 ครั้งนั้นขณะนี้ปรากฏว่าได้พยายามให้ปรับรูปแบบเป็นเฮฟวี่เรลแทนเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาวซึ่งจะได้เร่งรัดสรุปในเรื่องงบประมาณเพื่อนำเสนอผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง

"คาดว่าปี 2555 จะได้รับความสนใจจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ โดยเฉพาะงานโยธาและบริหารจัดการเดินรถ ไม่ว่าจะเป็นบีทีเอสหรือบีเอ็มซีแอลแต่คิดว่าบางรายการอาจยังต้องใช้เวลาตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ อีกสัก 2-3 เดือนก่อนเสนอประกาศขายซองประกวดราคาต่อไป ซึ่งหากรายการไหนเร่งรัดได้จะรีบดำเนินการทันที" นายรณชิตกล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 12/12/2011 7:22 pm    Post subject: Reply with quote

ปั้นศูนย์ข้อมูลระบบรางรถไฟ-รถไฟฟ้า10สาย
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
หน้า อสังหา Real Estate - อสังหาฯ-คมนาคม
ออนไลน์เมื่อ วันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม 2011 เวลา 10:02 น.
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,695 11-14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ช่วงที่ผ่านมาแม้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จะก่อสร้างคืบหน้าไปมาก ควบคู่กับสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่เริ่มเข้าพื้นที่เพื่อรื้อระบบสาธารณูปโภคออกจากเส้นทาง เช่นเดียวกับสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันที่งานก่อสร้างคืบหน้าไปในหลายส่วน แต่มีเหตุต้องหยุดชั่วคราวช่วงเกิดอุทกภัยใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกันนั้นสายอื่น ๆ ที่ยังจ่อประกาศขายซองประกวดราคา ซึ่งได้มีการเร่งเตรียมการควบคู่ไปกับการรอฟังผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก(สผ.)ในปี 2555 กระทรวงคมนาคมก็อยู่ระหว่างเร่งผลักดันให้ครบ 10 สายตามแผนที่รัฐบาลกำหนดไว้
-เร่งดันตามแผนปฏิบัติการระบบราง
โดยความเคลื่อนไหวในการเร่งขับเคลื่อนระบบรางอย่างโครงการรถไฟและรถไฟฟ้าเพื่อให้บริการประชาชนของกระทรวงคมนาคมตามแผน 10 สายภายใน 4 ปีนั้น นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลระบบรางขึ้นมา โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสนข.เพื่อขับเคลื่อนโครงข่ายระบบรางอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการป้อนองค์ความรู้และแผนการปฏิบัติ นโยบาย โครงการเร่งด่วน แผนพัฒนาโครงข่าย การติดตามผลและความคืบหน้าด้านต่างๆ ของแต่ละเส้นทางให้ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอกและจากต่างประเทศที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน สืบเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว คือ บีทีเอสสายสุขุมวิทช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 16.5 กิโลเมตร สายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 7 กิโลเมตร ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตรและช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร ระบบรถไฟใต้ดิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 20 กิโลเมตร และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือแอร์พอร์ตลิงค์ระยะทาง 28.5 กิโลเมตร
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค และโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวอ่อน ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กิโลเมตรที่อยู่ในการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานคร
-จี้ 6 โครงการให้พร้อมประกวดราคาปี 55
ในปี 2555 ยังมีอีกหลายสัญญาที่จะเปิดประมูลในปีนี้ นับตั้งแต่สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เป็นเจ้าของโครงการขณะนี้สัญญาที่ 1 (งานโยธาสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง)ได้เปิดซองข้อเสนอด้านราคาและแจ้งผลการพิจารณาไปให้ไจก้าพิจารณาแล้ว ส่วนสัญญาที่ 2 (งานโยธาช่วงบางซื่อ-รังสิต) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเปิดซองข้อเสนอด้านราคา และสัญญาที่ 3 (งานระบบราง อาณัติสัญญาณ และขบวนรถไฟฟ้า) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารซองที่ 1 โดยร.ฟ.ท.มีหนังสือหารือประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุเรื่องการตีความและคำวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบพัสดุของผู้รับเหมา
สายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ระยะทาง 19 กิโลเมตร และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ล่าสุดออกแบบรายละเอียดและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ พร้อมรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) ด้านสิ่งแวดล้อมแล้วอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กกวล.)พิจารณาต่อไป
นอกจากนั้นยังมีสายสีแดงช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตรที่ต่อเนื่องจากช่วงบางซื่อ-รังสิต ขณะนี้การออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบจาก คชก.แล้วอยู่ระหว่างการนำเสนอกกวล. โดยร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างรอการจัดสรรเงินงบประมาณปี 2555 เพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาตามขั้นตอนต่อไป
สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์-ปัญหาสายสีเขียวยังไม่จบง่าย ๆ
สำหรับเส้นทางที่ยังไม่ชัดเจนระหว่างใครจะบริหารจัดการเรื่องการเดินรถ ระหว่างรฟม.หรือกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กิโลเมตร ที่อยู่ในการบริหารจัดการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคางานโยธา สัญญาที่ 1 (งานโครงสร้างทางวิ่งและศูนย์ซ่อมบำรุง) แล้วเสร็จโดยคณะกรรมการรฟม.เห็นชอบให้บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน)ชนะการประกวดราคาโดยอยู่ระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบเอกสารสัญญาเพื่อลงนามสัญญาระหว่างรฟม.กับบริษัท ช.การช่างฯคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนมกราคม ปี 2555 ส่วนสัญญาที่ 2 (ระบบราง) อยู่ระหว่างการจัดเตรียมรูปเล่มเอกสารประกวดราคาและจัดทำราคากลาง ส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งรฟม.อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการโดยครอบคลุมส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู และกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเรื่องการบริหารจัดการและการเดินรถให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กิโลเมตรที่ดูเหมือนว่าจะล่าช้ามานานและเป็นข้อพิพาทระหว่างกทม.กับรฟม.มาโดยตลอดนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 คชก.ด้านสิ่งแวดล้อมมีมติไม่เห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับปรับปรุงโดยให้กลับไปใช้แนวด้านตะวันออกของวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญตามเดิมซึ่งสนข.ยืนยันว่าจะเร่งชี้แจงถึงข้อดีของการใช้แนวเส้นทางตามที่สนข.และรฟม.นำเสนอให้พิจารณาตามเดิมอีกครั้ง
ในกรณีของสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร ขณะนี้คณะกรรมการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาที่รฟม.แต่งตั้งขึ้นเห็นชอบให้ว่าจ้างกลุ่มบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาศึกษาและทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคาและดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนเพื่อที่จะได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาในปี 2555 ต่อไป
สำหรับสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กิโลเมตร รฟม.อยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคาและดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งแนวเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญเช่น อาคารรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกาย ถนนสามเสน วงเวียนใหญ่ บางปะกอก และราษฎร์บูรณะ ตามแผนจะก่อสร้างช่วงเตาปูน-วังบูรพาเพื่อให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงใต้ดินระหว่างหัวลำโพง-บางแคเพื่อรองรับการเปิดใช้รัฐสภาแห่งใหม่
และสุดท้ายคือสายสีส้ม ช่วงวัฒนธรรม - บางกะปิ -มีนบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างใต้ดิน ซึ่งล่าสุดได้เสนอให้มีการปรับลดระยะทางจากเดิมสิ้นสุดที่สถานีตลิ่งชัน เป็นสิ้นสุดที่สถานีบางขุนนนท์แทน และขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญากับบริษัทเอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคาและดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
จึงเป็นที่จับตามอง คือ ศูนย์ข้อมูลระบบรางที่สนข.กระทรวงคมนาคมจัดตั้งขึ้นมาจะสามารถขับเคลื่อนแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบรางได้ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะหลายโครงการยังมีอุปสรรคขวางอยู่
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 26/12/2011 1:31 pm    Post subject: Reply with quote

"บิ๊กโอ๋" โชว์ผลงาน 4 เดือน เข็นรถเมล์ 4 พันคัน ดันรถไฟฟ้า 10 สาย ติดปีกไฮสปีดเทรน รื้อสัมปทานคิง เพาเวอร์
ประชาชาติธุรกิจ หน้า 9
ปีที่ 35 ฉบับที่ 4378 วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

http://www.prachachat.net/news-photo/prachachat/2011/12/rea04261254p1.jpg
สถานรถไฟฟ้า 10 สาย

ร่วม 4 เดือนที่ "บิ๊กโอ๋-พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต" นั่งคุมกระทรวงคมนาคม ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย นับเป็น 4 เดือนที่ผลงานไม่มีปรากฏ เพราะหมดไปกับการกู้วิกฤตน้ำท่วมร่วม 2 เดือน

"บิ๊กโอ๋" กลางศึกใน-ศึกนอก

เสร็จศึกน้ำท่วมไม่กี่วัน ต้องมาเจอศึกเกาเหลาภายในกับ 2 รมช. "พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก-กิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์" ท่ามกลางกระแสการปรับเก้าอี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พรรคเพื่อไทยมีโปรแกรมเขย่าหลังปีใหม่นี้

แม้ "บิ๊กโอ๋" จะเปิดห้องทำงานเคลียร์ใจไปแล้ว แต่กระแสข่าวเกาเหลา 3 รมต.คมนาคมยังคุกรุ่นต่อเนื่อง เมื่อ "ชัจจ์" บินด่วนไปประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาจนลือให้แซดไปพบ "พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร" ช่วยเคลียร์ปัญหาคาใจกันที่นั่น

14 ธ.ค. เมื่อกระแสเกาเหลาเชี่ยวกรากขึ้นทุกที นายกฯ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เรียก 3 รมต.คมนาคมเข้าพบที่ตึกไทย คู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แต่เมื่อ 1 คนบินไปกัมพูชา จึงมีแค่ "บิ๊กโอ๋-กิตติศักดิ์" ที่เข้าพบนายกรัฐมนตรี ใช้เวลา 45 นาที

ไม่มีข่าวหลุดข่าวรั่ว แต่ "บิ๊กโอ๋" มีสีหน้าเปื้อนยิ้มจนถึงบัดนี้ ทำให้ประเมินกันว่า "รมว.คมนาคม" ยังเป็นคนหน้าเดิมหลังปรับ ครม. เพราะความสัมพันธ์แนบแน่นกับเพื่อนรุ่น 10 เตรียมทหาร "ทักษิณ ชินวัตร" เข้าขั้น...ไม่ธรรมดา

"ยอมรับว่าเข้ามาเป็น รมว.คมนาคมตำแหน่งสูงสุดในชีวิตหลังเกษียณ เพราะอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ผม อยู่กับความจริง คนเราอยู่ในความไม่จริงตลอดไม่ไหว จะปรับผมออกผมก็ออก ได้นั่งเป็น รมว.คมนาคม 4-5 เดือนถือกว่ากำไรแล้วในชีวิต" บิ๊กโอ๋ย้ำ

ขณะที่ "ชัจจ์-กิตติศักดิ์" ต้องลุ้นกันอีกเฮือกใครจะถูกโหวตให้ออก

พบ "ปู" แจงผลงาน 4 เดือน

"ไม่มีอะไร นายกรัฐมนตรีท่านเรียกไปรายงานผลงาน 4 เดือน โครงการที่เป็นนโยบายพรรคหาเสียงไว้ถึงไหน เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ สุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่ง คมนาคมเป็นกระทรวงแรกที่ท่านเชิญไปติดตามงานหลังผ่านวิกฤตน้ำท่วม ไม่ได้ถามเรื่องเกาเหลาเลยสักคำ" บิ๊กโอ๋บอกเล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ หลังจากกลับจากทำเนียบรัฐบาล

พร้อมขยายความให้ฟังอีกว่า เพราะเดือน ม.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาตรวจเยี่ยม จะทำรายงานโครงการต่าง ๆ ที่เป็นนโยบายของพรรครูปแบบไทม์เฟรม ให้นายกฯ ถือเป็นคัมภีร์ไว้ติดตามผลงาน

"ท่านนายกฯยังให้ข้อคิดรถไฟฟ้า 10 สาย จะต่อขยายไปชานเมืองได้ไหม ไม่ใชแค่ในเมือง รถไฟฟ้า 10 สายนี้ต้องประมูลและเซ็นสัญญาได้ในรัฐบาลชุดนี้ ส่วนจะต่อเพิ่มไปอีกแค่ไหนต้องดูก่อน"

ประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้า "20 บาทตลอดสาย" ให้ดูความเป็นไปได้ว่าจะเลื่อนให้เร็วขึ้นจากปี 2558 ที่เปิดบริการพร้อมกับตั๋วร่วมที่ระบบจะเสร็จในปี 2558 และรถไฟฟ้าสายใหม่คือ สายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) หากจะ ให้เร็วขึ้นอาจจะต้องชดเชยเงินให้กับเอกชนที่รับสัมปทานสายเดิมอยู่แล้ว ทั้ง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส และ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือบีเอ็มซีแอล

เร่งรถไฟ-รถเมล์-สุวรรณภูมิ 2

ขณะที่ "รถไฟความเร็วสูง" จะสร้างจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ โคราช หัวหิน และระยอง ในปีหน้าจะต้องมีรายละเอียดและแบบชัดเจน พร้อมเริ่มต้นนับหนึ่งได้ แม้ "บิ๊กโอ๋" จะกระซิบว่าได้ฤกษ์ดี ปีหน้า แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางรัฐบาลจีนได้มาเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับรัฐบาลไทยแล้ว จับจองเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทาง อื่น ๆ เชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียน

ว่ากันว่า ที่เร็วติดจรวดทันใจ เป็นผล พลอยได้จากอดีตนายกฯทักษิณ ที่เดินทางไปค้างแรมอยู่ที่เมืองจีนอยู่หลายวัน

"รถไฟทางคู่" เป็นอีกโปรเจ็กต์ที่หมายมั่นจะให้เห็นผลงานปีหน้า เพราะมีบางสายเปิดประมูล เช่น ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพรและโคราช-ขอนแก่น

เช่นเดียวกับจัดหา "รถเมล์เอ็นจีวี" ที่ปรับลดจาก 4,000 คัน เหลือ 3,000 คัน เงินลงทุนจากกว่า 6 หมื่นล้านเหลือกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีแผนใน ธ.ค.นี้ หรือต้น ม.ค.นี้จะเสนอให้ ครม.อนุมัติ เหลือพิจารณาว่าจะซื้อหรือเช่าจึงจะไม่ถูกสังคมครหา

ส่วน "สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2" วงเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท เร่ง บมจ. ทอท. สร้างให้เสร็จเร็วขึ้น 1 ปี เสร็จ ปี 2559

บี้สัมปทาน "คิง พาวเวอร์"

ขณะเดียวกันสัมปทานของกลุ่ม "คิง เพาวเวอร์" ผู้รับสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ สั่งให้ต้นสังกัด "ทอท." ตรวจสอบเป็นการด่วน

"ผมให้เวลา 1 เดือนไปดูว่าเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ ไม่ได้แกล้งใคร ผมเป็นลูกผู้ชาย คำไหนคำนั้น สัญญาก็คือสัญญา เซ็นกันมา 2 ฝ่ายแล้วต้องเคารพ หากถูกต้องก็จบ ไม่ถูกก็ต้องมาดูกัน พูดไม่เต็มปากว่าจะเกี่ยวกับการเมืองหรือเพราะคนละพรรคกัน และผมกับคุณวิชัย (รักศรีอักษร) ไม่รู้จักกันมาก่อน"

ปัญหาอื่น ๆ "บิ๊กโอ๋" บอกว่า ได้รายงานนายกรัฐมนตรีไปหมดแล้ว ทั้งปัญหาตลาดนัดจตุจักรระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ กทม.ที่คนมองว่ามีปัญหามาก ให้ร.ฟ.ท.แก้ไข

"ผลงาน 4 เดือนมีความก้าวหน้า แม้จะติดน้ำท่วม 2 เดือน เช่น รถเมล์ 4,000 คัน ยอมรับว่าผลงานของคมนาคมออกยากเพราะใช้เวลาก่อสร้างนาน อย่างรถไฟฟ้า 10 สาย ต้องใช้เวลา 4 ปีถึงจะครบ"

จากข้อจำกัดเงื่อนเวลาที่ทำให้ผลงานออกมาช้า ล่าสุด "บิ๊กโอ๋" จะติดตามความคืบหน้าแต่ละโครงการทุกเดือน เร่งรัดให้เป็นไปตามเป้า

ชงโปรเจ็กต์ขุด "เจ้าพระยา 2"

อีกปัญหาหนึ่งที่เจ้ากระทรวงคมนาคมเป็นห่วงคือ เรื่องของแหล่งเงินทุนมหาศาลที่จะมาก่อสร้าง

"คมนาคมเป็นผู้ใช้เงินมาก ทั้งจัดหารถเมล์ รถไฟฟ้า แต่คนหาเงินให้ใช้คือกระทรวงการคลัง จะส่งทีมงานไปคุยกับคลังว่าเราใช้เงินมหาศาล ในปี 2555 จะใช้เงินจากไหนให้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ได้ข้อสรุปชัดเจนก่อนเข้า ครม. อนุมัติ จะทำให้เร็วขึ้น"

ในเวลาเดียวกัน ผลงานที่จะต้องเร่งทำควบคู่กันไปคือ มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เร่งประมูลงานโครงการฟื้นฟูถนนหลังน้ำท่วมด้วยวิธีพิเศษแทนการอีออกชั่น เพื่อให้เสร็จในเดือน ม.ค. 2555 นี้

ส่วนการแก้น้ำท่วมระยะยาว จะเสนอโครงการก่อสร้างถนนวงแหวน รอบที่ 3 พร้อมขุดคลองรับน้ำอยู่ด้านข้าง ยาว 100 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โมเดลเดียวกับประเทศเนเธอร์แลนด์ให้รัฐบาลพิจารณา

ตอนนี้ทุกกระทรวงต้องเร่งเข็นนโยบายสร้างผลงานโดยเร็ว หลังประชานิยมที่เพื่อไทยหาเสียงไว้จมไปกับน้ำท่วม หวังเป็นผลงานชิ้นโบแดงในห้วงเวลาที่เหลือน้อยนิดก่อนนับถอยหลังเข้าสู่โหมดปรับ ครม.อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 30/12/2011 9:20 am    Post subject: Reply with quote

แจ้งเกิดรถไฟฟ้า2สาย สุกำพลเครื่องร้อน
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
หน้าอสังหา REAL ESTATE - อสังหาฯ REAL ESTATE
ออนไลน์เมื่อ วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2011 เวลา 09:39 น.
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,700 29-31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

"สุกำพล" ไฟเขียว รฟม.เร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอ่อนและสีเหลืองเข้มเชื่อมลาดพร้าว-สำโรงให้แล้วเสร็จในปี 62 หลังมีการขยับให้เร็วขึ้นมา 10 ปี รฟม.ชี้ชัดควรเป็นระบบใต้ดิน เพื่อเลี่ยงปัญหาจราจร แต่อาจกระทบเวนคืนจุดสถานีขึ้น-ลงในบางช่วง และใช้ระบบเฮฟวีเรล แบ่งเป็น 2 ช่วงลาดพร้าว-พัฒนาการและพัฒนาการ-สำโรง ส่วนสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ ยันผู้รับเหมาเตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้างต้นปี 55

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าล่าสุดได้มอบหลักการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ไปเร่งศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอ่อนช่วงลาดพร้าว-พัฒนาการ และสายสีเหลืองเข้มช่วงพัฒนาการ-สำโรง ซึ่งตามแผนกำหนดเปิดให้บริการในปี 2562 เพื่อให้เชื่อมโยงกับสายอื่นๆได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

"ปัจจุบันถนนลาดพร้าวมีปัญหาจราจรอย่างมาก อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าใต้ดินและแอร์พอร์ตลิงค์ตลอดจนสายสีส้มได้อีกด้วย จึงต้องเร่งรัดการศึกษาออกแบบและจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อมเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการและเสนองบประมาณเพื่อการศึกษาในโครงการนี้ต่อไป"

นายชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ รองผู้ว่าการ(วิศวกรรมและก่อสร้าง)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า ล่าสุดโครงการนี้ที่ปรึกษานำเสนอเป็นโครงสร้างใต้ดินในช่วงตั้งแต่ลาดพร้าว-พัฒนาการที่จะเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตลิงค์ เพื่อเลี่ยงการเกิดปัญหาจราจรในช่วงการก่อสร้าง เนื่องจากถนนลาดพร้าวคับแคบ หลังจากนั้นจะเป็นทางยกระดับไปจนถึงสำโรง

"โครงการได้มีการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นไว้แล้ว ที่สำคัญการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว ค่าก่อสร้างประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายสนับสนุนให้ใช้ระบบเฮฟวีเรล เนื่องจากเป็นเส้นทางไกลและเชื่อมโยงหลายสถานี ผ่านพื้นที่สำคัญ ๆ ที่มีผู้คนจำนวนมากอย่างลาดพร้าว บางกะปิ แต่อาจจะต้องกระทบด้านการเวนคืนในจุดขึ้น-ลงสถานีบ้างในบางจุด โดยช่วงลาดพร้าวสามารถเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าวได้ทันที"

นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการ(ปฏิบัติการ) รักษาการผู้ว่าการรฟม. กล่าวถึงความคืบหน้าของการเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการตามที่ได้เซ็นสัญญากับกลุ่มบริษัท ช.การช่างฯไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาว่า รฟม.จะเร่งส่งมอบพื้นที่เพื่อให้ผู้รับเหมาได้เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคได้ตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะก่อสร้างได้เร็วกว่าเนื่องจากสภาพถนนกว้างและเอื้ออำนวยต่อการก่อสร้างได้ดีกว่า ซึ่งรฟม.จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ใช้เส้นทางทราบโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) รับผิดชอบโครงการ กระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้เร่งรัดแผนงานจากกำหนดการเดิมในปี 2572 มาอยู่ในช่วงแผนงานปัจจุบันคือ 2562 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนลาดพร้าว โดยแนวเส้นทางอยู่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครและสิ้นสุดเส้นทางในจังหวัดสมุทรปราการ เริ่มต้นจากปากทางถนนลาดพร้าว แล้ววิ่งไปจนถึงด้านหน้าของแฮปปี้แลนด์ จากนั้นก็จะเปลี่ยนระบบเพื่อวิ่งไปต่อบนถนนศรีนครินทร์จนถึงปลายทางย่านสำโรงในจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทางรวมทั้งหมด 30.4 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าสีเหลืองจะแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงที่ 1 ลาดพร้าว-บางกะปิ (แฮปปี้แลนด์) -พัฒนาการ ช่วงที่ 2 พัฒนาการ-สำโรง จะเป็นรถไฟฟ้าที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปูได้อีกด้วย ผ่านพื้นที่เขตจตุจักร ห้วยขวาง วังทองหลาง บางกะปิ สวนหลวง ประเวศ บางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยโครงการช่วงรัชดาภิเษก/ลาดพร้าว-พัฒนาการ (สีเหลืองอ่อน) จุดต้นทางเริ่มจากบริเวณแยกรัชดาฯ/ลาดพร้าว โดยเป็นโครงสร้างใต้ดินเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(ใต้ดิน) วิ่งตามถนนลาดพร้าว แล้วเลี้ยวขวาที่แยกบางกะปิ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้มที่สถานีลำสาลี ไปสิ้นสุดที่ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 บริเวณแยกหัวหมาก แล้วเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีหัวหมาก ซึ่งสถานีดังกล่าวสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปสายสีเหลืองเข้มได้ มีสถานีทั้งหมด 10 สถานี รวมระยะทาง 12.6 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินย่านลาดพร้าว หลังพิจารณาแนวเวนคืนที่ดินเรียบร้อยแล้ว

//---------------------------------------------------

ทุด, แยกสายเหลืองเป็นสองสายแบบนี้ มันเป็นการแจกกล้วยให้คนกรุงชัดๆ - คิดผิดคิดใหม่ได้นะบิ๊กโอ๋
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44085
Location: NECTEC

PostPosted: 10/01/2012 9:17 am    Post subject: Reply with quote

'บิ๊กโอ๋' ยัน ภายในปี 58 ได้ใช้ตั๋วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
ไทยรัฐออนไลน์
9 มกราคม 2555, 14:17 น.

“บิ๊กโอ๋” ส่งการบ้านนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทาง เพื่อใช้ตั๋วร่วม 20 บาทตลอดสาย ในปี 2558 พร้อมเสนอโครงการจัดซื้อรถโดยสาร ขสมก.กว่า 3 พันคัน คาดเข้า ครม.เดือนนี้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 ม.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมรับฟังแนวนโยบายการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน กระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งผลักดันในโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากหลายโครงการเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ โดยมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก และนายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายศิลปะชัย จารุเกษมรัตนะ รักษาการปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ร่วมต้อนรับ

พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงคมนาคม ว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการในโครงการ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทาง ว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งดำเนินการให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้รถไฟฟ้าสามารถใช้ระบบตั๋วร่วม 20 บาทตลอดสายได้ จากเดิมการลงนามในสัญญารถไฟฟ้าทั้ง 10 สายทาง จะแล้วเสร็จในปี 2562 ส่วนการเจรจากับกรุงเทพมหานคร ในการนำโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส เข้ามาร่วมโครงการตั๋วร่วม 20 บาทตลอดสายด้วยนั้น ในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมจะยังไม่เจรจากับ กทม. จนกว่าการดำเนินการรถไฟฟ้า 10 สายทางของกระทรวงคมนาคม จะแล้วเสร็จก่อนถึงจะเจรจา เพราะมองว่าหากเจรจาช่วงนี้ ก็จะไม่บรรลุผล เนื่องจากการเจรจาอาจจะเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการจัดหาโครงการรถเมล์ โดยใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 3,506 คัน มูลค่าประมาณ 13,700 ล้านบาท ว่า แบ่งเป็นการจัดซื้อรถโดยสารจำนวน 3,183 คัน และเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้สามารถใช้เอ็นจี 323 คัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยตั้งเป้าเข้า ครม.พิจารณาได้ภายในเดือนนี้

พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังได้รายงานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 มูลค่า 83,500 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 วงเงิน 62,500 ล้านบาท ซึ่งจะมีงานขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 งานระบบสาธารณูปโภค และงานจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ รวมถึงงานก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังใหม่ และงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 มูลค่า 21,000 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาระบบรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น จะเร่งดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เบื้องต้นเส้นทางแรกที่จะสามารถดำเนินการได้ก่อน คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช , กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ-หัวหิน นอกจากนั้น จะเร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณปริมณฑล สามารถใช้รถไฟทางคู่สัญจรเข้า กทม.
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 47, 48, 49 ... 284, 285, 286  Next
Page 48 of 286

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©