Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44085
Location: NECTEC
Posted: 12/01/2012 12:31 pm Post subject:
กมธ.คค.ให้เต็ม 10 งานรถไฟฟ้า 10 สาย-เมล์NGV คืบ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มกราคม 2555 16:00 น.
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมนโยบายกระทรวงคมนาคม หลังจากรับฟังนโยบายจาก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พบว่าโครงการต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้า 10 สาย การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี มีความคืบหน้ามาก ซึ่งให้คะแนนเต็ม 10
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา แนะนำให้เร่งรัดสร้างทางด่วน และถนนเพิ่ม เพื่อรองรับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น จากนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้จะต้องสร้างถนน 4 เลนในต่างจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
วันที่ 17 มกราคมนี้ คณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา เชิญการรถไฟแห่งประเทศไทย รายงานความคืบหน้าเรื่องการบริหารตลาดนัดสวนจตุจักร
'ยิ่งลักษณ์' สั่งฟื้นเมกะโปรเจกต์ ใช้งบล้านล้านบาทปูพรมทั่วประเทศ!
โดย ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ 12 มกราคม 2555 09:06 น.
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินตามรอย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งงัดสารพัดโปรเจกต์เก่า ผุดโปรเจกต์ใหม่ ลุยโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟฟ้า-รถไฟรางคู่-ไฮสปีดเทรน มั่นใจฉุดเศรษฐกิจฟื้น
การโหมลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ โดยมีเป้าหมายเป็นฟันเฟืองฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู เป็นงานถนัดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีก็ใช้การลงทุนเมกะโปรเจกต์เป็นตัวกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศในขณะนั้นกลับมาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
มาครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นผู้นำประเทศ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นกุนซือตัวจริงในการบริหารจัดการประเทศให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลชุดนี้ จะใช้วิธีการเร่งลงทุนสารพัดโครงการเมกะโปรเจกต์ เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้พลิกฟื้นขึ้นมาเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่รัฐบาลทักษิณ ทำสำเร็จมาแล้ว
โครงการเมกะโปรเจกต์อันดับต้น ๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก นั่นคือการลงทุนก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด เทรน) โครงการรถไฟทางคู่ ถนนวงแหวน ถนนสายหลักและสายรอง เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งอย่างสมบูรณ์
การลงทุนโครงการดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว เพราะจะช่วยให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเติบโตไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง มีการจ้างงานจำนวนมากทั่วประเทศ ที่สำคัญจะมีการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเมกะโปรเจกต์ที่สมัยรัฐบาล ทักษิณ ต้องการให้เกิดการลงทุน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ เพราะมีอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อนจนทำให้ต้องเปลี่ยนรัฐบาล
การลงทุนเมกะโปรเจกต์ไม่เพียงแค่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจเติบโต แต่ยังช่วยให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาประเทศ และยังเป็นการช่วยลดต้นทุน ระบบโลจิสติกส์อีกมาก โดยตั้งเป้าลดต้นทุนลงจากปัจจุบัน 17.9% เหลือ 15% ภายในปี 2561 หรือคิดเป็นมูลค่าที่ลดลงได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันในระดับประเทศได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าต้นทุนการขนส่งสินค้าเป็นต้นทุนหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มฐานเสียงให้รัฐบาลได้อีกด้วย เพราะหากภาวะเศรษฐกิจดี ประชาชนอยู่ดี กินดี ก็ต้องชื่นชอบรัฐบาลซึ่งเท่ากับว่า ช่วยยืดอายุรัฐบาลให้อยู่ครบเทอม
เร่งรถไฟฟ้า 10 สายทาง - มั่นใจปี 58 ใช้ระบบตั๋วร่วม
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทางให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้นจากเดิมที่วางเป้าหมายไว้ปี 2562 ใช้งบลงทุนรวมประมาณ 370,000 ล้านบาท โดย 6 สายทางแรก จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2558 จะเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย ได้ในปี 2558 รวมถึงจะเสนอให้รัฐบาลลงทุนระบบรถไฟฟ้าและจ้างเอกชนมาเดินรถในสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ)
โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง จาก
กรุงเทพฯ-เชียงใหม่
กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
กรุงเทพฯ-หัวหิน และ
ส่วนต่อขยายเส้นทางโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต ลิงก์) ไปยังจังหวัดระยอง รวมเงินลงทุน 780,000ล้านบาท
โครงการรถไฟทางคู่ ระยะทาง767 กิโลเมตร
ถนนมอเตอร์เวย์ 5 สาย ระยะทาง707 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 179,000 ล้านบาท โดยในปี 2556 จะดำเนินการสายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะ199 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 60,000ล้านบาท ซึ่งจะลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP
ทางด่วนสายใหม่ ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 17 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 27,000ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2555 โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 พร้อมเส้นทางน้ำหรือฟลัดเวย์ ระยะทาง100 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 160,000ล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพื่อบรรจุในแผนแก้น้ำท่วมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)
ขณะเดียวกัน มีแผนจะขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 ภายในปี 2560เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเร่งเปิดใช้ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ภายในปี 2555และอยู่ระหว่างพิจารณาการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา เชื่อมท่าเรือทวาย เขื่อนยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยา และสถานีขนส่งสินค้าชายแดน และจัดหารถเมล์ NGV 4,000 คัน ด้วยเสนอวิธีซื้อ 3,000 คัน วงเงินกว่า 10,000ล้านบาท
สำหรับโครงการที่กระทรวงคมนาคมเปิดดำเนินการแล้ว ในช่วง 4 เดือน ที่รัฐบาลเข้ามาบริหารราชการ ได้แก่ โครงการสะพานข้ามโขงแห่ง ที่ 3 นครพนม-คำม่วน เปิดใช้วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และโครงการรถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เปิดใช้ 12 มกราคมนี้
เล็งบาร์เตอร์เทรดไทย - จีน - นำร่องไฮสปีด เทรน
พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้ใช้วิธีการลงทุนแบบการค้าแลกเปลี่ยนหรือ BARTER TRADE (บาร์เตอร์เทรด) เพื่อประหยัดเงินลงทุนในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด เทรน) โดยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงกว่า 100,000ล้านบาท
ทั้งนี้ การเจรจารายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือรถไฟไทย-จีน จะเสนอแนวทางดังกล่าวด้วยเพื่อให้ไทยและจีนหารือร่วมกัน เบื้องต้นต้องการใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดอย่างน้อย 50% แต่หากสามารถเจรจาโดยใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดทั้งหมด 100% ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวม ซึ่งการเจรจานั้นจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำหน้าที่ในการดูแลสินค้าที่จะใช้แลกเปลี่ยน
หากใช้วิธีการลงทุนแบบบาร์เตอร์เทรดได้ก็จะช่วยลดการลงทุนได้มาก ส่วนการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น น่าจะทยอยดำเนินการก่อสร้างทีละสายทาง เพราะแต่ละสายทางใช้เงินลงทุนมาก หากต้องลงทุนพร้อมกันทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะของประเทศได้
สนข.เด้งรับลูก - เร่งศึกษา 4 สายทาง
ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงใน 4 สายทาง ได้แก่ 1. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ วงเงินประมาณ 220,000ล้านบาท
2.กรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงินประมาณ 82,100 ล้านบาท
3. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย วงเงินประมาณ 96,800 ล้านบาท และ
4. กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-อู่ตะเภา-ระยอง วงเงินประมาณ 72,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามแผนงานของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะสามารถลงนามก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ภายในปี 2557 และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2560
ขณะที่วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่พิจารณา เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ รวมถึงการขนส่งสินค้าภาคเหนือให้มีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เพราะปัจจุบันระยะทาง 180 กิโลเมตรแต่ต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่า 4 ชั่วโมง เชื่อว่าการสร้างมอเตอร์เวย์จะช่วยร่นระยะทางและประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าและอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น และสุดท้ายในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน คือ รถไฟรางคู่ ตามแผนของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งนานเกินไปจะมีการเสนอให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44085
Location: NECTEC
Posted: 13/01/2012 6:19 pm Post subject:
คมนาคมปัดฝุ่นสร้างโรงงานรถไฟฟ้าสมัย'ทักษิณ'ชงรัฐบาล'ปู'
ทีมข่าวเศรษฐกิจ
ไทยรัฐออนไลน์- 13 มกราคม 2555
คมนาคมปัดฝุ่นโปรเจกต์ตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในไทยเสนอรัฐบาล หวังป้อนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในอนาคตทั้ง 10 สาย เชื่อส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เกิดการจ้างงาน และทำให้ต้นทุนรถไฟฟ้าถูกลง...
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดเรื่องการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย ว่า เป็นข้อเสนอของนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ซึ่งตนเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีและน่าสนใจ ในการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งไม่ถึงขั้นเป็นโรงงานผลิต แต่จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม การกำหนดเงื่อนไขซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อาจมีความยุ่งยากในการทำงาน เพราะดูเหมือนเป็นการผูกขาด แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาสามารถดำเนินการได้ หากทำได้จริงจะเกิดผลดีกับประเทศไทย ส่วนขั้นตอนต้องให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สรุปรายละเอียดเสนอมา
ขณะที่นายประภัสร์ ยอมรับว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2545 สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่เริ่มมีแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 400 กม. หากคำนวณเบื้องต้นจากระยะทาง 1 กม. ใช้รถไฟฟ้า 1 ขบวน รวมต้องใช้รถไฟฟ้า 400 ขบวน และ 1 ขบวนใช้รถไฟฟ้าจำนวน 3 ตู้ ซึ่งเท่ากับ 1,200 ตู้ ถือว่าเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะสร้างแรงจูงให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศได้ และจะช่วยทำให้ต้นทุนของรถไฟฟ้าถูกลง เพราะมีปริมาณความต้องการสูง ในขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการจ้างงาน และเกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมด้วย
ที่ผ่านมากว่า 10 ปี ได้พยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด หากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทั้ง 10 เส้นทาง ดังนั้นหากจะใช้วิธีการสั่งซื้อรถไฟฟ้าสำเร็จรูปเข้ามาเหมือนที่ผ่านมาจะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ เพราะไม่เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ให้กับคนไทย และในอนาคตอาจมีการพัฒนาต่อยอดขยายเป็นธุรกิจได้ เช่นเดียวกับประเทศจีน ที่ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีจนถึงจุดหนึ่ง สามารถผลิตและประกอบรถไฟฟ้าของประเทศจีนได้เอง ซึ่งประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไปในจุดนี้ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม หากเห็นความสำคัญก็จะต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ เพราะมีขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการ และในการประกวดราคาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ นั้น ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ในส่วนของรถไฟฟ้ารัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาและว่าจ้างเอกชนเข้ามาเดินรถ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดแผนที่ชัดเจน กรอบเวลาในการประกอบและส่งมอบรถไฟฟ้า เพื่อให้ทันกับระยะเวลาของการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่จะแล้วเสร็จ โดยในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ อาจดำเนินการไม่ทัน แต่รถไฟฟ้าสายอื่นยังดำเนินการได้ซึ่งควรจะมีนโยบายที่ชัดเจนออกมา
ส่วนที่มองว่าอาจกลายเป็นการผูกขาดนั้น ในขั้นตอนการประกวดราคาเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้ามาลงทุน จะต้องพิจารณาข้อเสนอของเอกชนที่ดีที่สุด ทั้งระบบเทคโนโลยีและเงื่อนไข ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด เพราะถือว่าได้พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุดแล้ว ส่วนจำนวนปริมาณความต้องการใช้งานจะเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ หากมีความต้องการสูงราคาก็จะถูกลงตามไปด้วย เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา
นายรณชิต แย้มสะอาด รักษาการ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการกับงานก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายที่ยังไม่ได้ประกวดราคา แต่มีข้อจำกัดว่าอาจเข้าข่ายกีดกันทางการค้าได้ เพราะโครงการก่อสร้างของไทยใช้แบบพีพีพี จะต้องเปิดกว้างให้เอกชนสามารถที่จะแข่งขันได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับความชัดเจนของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมว่า จะมีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร โดยในส่วนของ รฟม.ก็พร้อมจะดำเนินการ
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2551 ในสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม พิจารณาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีการประชุมหลายครั้ง ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีการตรวจสอบความพร้อมของผู้ประกอบการเอกชน หรือผู้ประกอบการเอกชนบางรายมีการพัฒนาประสิทธิภาพของชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ต่างๆ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในเรื่องนี้รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่า จะมีการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย โดยกำหนดให้การประกวดราคางานในส่วนของการบริหารการเดินรถ จะต้องกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนที่ชนะประมูลจะต้องจัดหารถไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศไทย ซึ่งจะต้องมีจำนวนมากพอ หมายความว่าโครงการรถไฟฟ้า และส่วนต่อขยายที่จะต้องเปิดประมูลให้ครบ 10 สายหลังจากนี้ จะต้องจัดหารถไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศ จึงจะจูงใจให้เอกชนกล้าเข้ามาลงทุนได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจนออกมาโดยเร็วที่สุด เพราะขั้นตอนกระบวนการจัดหารถจะต้องเดินควบคู่ไปกับการก่อสร้างรถไฟฟ้า
นอกจากนี้ ในการประชุมหารือร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อใช้ในรถไฟฟ้าได้ เช่น ตัวโครงรถไฟฟ้า (Car body) อุปกรณ์ตกแต่งภายในตัวรถ (Car Interior) อุปกรณ์ไฟฟ้ากำลัง (Power Supply System) ระบบปรับอากาศ (Air condition System) และระบบประตู (Door System).
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47481
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 23/01/2012 9:43 am Post subject:
รถไฟฟ้าสีแดงเข้ม...ท้าทาย 'จารุพงศ์'
ข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- จันทร์ที่ 23 มกราคม 2555 00:00:04 น.
นายสบาย
"ผมพร้อมจะร่วมงานกับข้าราชการของกระทรวงคมนาคม และจะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำงานร่วมกับข้าราชการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการสำคัญที่จะเร่งผลักดันก็มี โครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น การจัดหารถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. การเปิดประมูลรถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 เส้นทาง ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญของพรรคเพื่อไทยจะเร่งสานต่อ โดยทั้งหมดเป็นโครงการที่จำเป็น และที่ผ่านมาล่าช้า
ผมเห็นว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะมีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความล่าช้าในอดีตทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส ทั้งที่ในความจริงแล้วประเทศไทยมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางในอาเซียนได้"
"จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ได้เข้ามาเป็น รมว.คมนาคม ในการปรับ ครม.ครั้งแรกของ นายกฯ ปู ให้สัมภาษณ์นักข่าวเมื่อวันศุกร์ 20 ม.ค.2555 ได้ยินแล้วดีมาก จากคำให้สัมภาษณ์นี้ สื่อมวลชนจับประเด็นมาพาดหัวข่าวว่าจารุพงศ์จะลุยงานรถไฟฟ้าเป็นงานแรก ก็คงเป็นที่ชื่นใจของประชาชนที่ได้ยิน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่อยากจะไปไหนมาไหนทั่วเมืองหลวงได้ด้วยรถไฟฟ้า และนั่นคือเหตุผลที่คนส่วนหนึ่งกาเบอร์ 1 ทั้ง 2 ใบให้คะแนนแก่พรรคเพื่อไทย
ท่านรัฐมนตรีจารุพงศ์ ตั้งมั่นมาเลย จะขับเคลื่อนรถไฟฟ้าให้ได้ 10 สายตามนโยบายพรรคแน่นะ
ดังนั้น...ก่อนที่จะเริ่มสายอื่นก็ขอให้ท่านรัฐมนตรีเข้าไปดูสายนี้ก่อน"สายสีแดงเข้ม" เปิดประมูลไปแล้ว แต่เวลานี้ผู้บริหารการรถไฟ (บางคน) ได้ทำให้เกิดอาการสะดุด จนทำให้ "ไจก้า" หรือ "องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศไทยแห่งญี่ปุ่น" เจ้าของเงินผู้ให้กู้มาทำโครงการนี้ ต้องทำหนังสือแจ้งไปให้หลายหน่วยงานของประเทศไทย ทั้ง กระทรวงการคลัง, สำนักบริหารหนี้สาธารณะ, กรมบัญชีกลาง ได้รับทราบพฤติกรรม รฟท. เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบิดเบือน และความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น
เงินของไจก้า...โกงไม่ได้หรอก ขอให้ท่านรัฐมนตรีจารุพงศ์เรียกดูเรื่องนี้เป็นงานแรก ในวันแรกที่เข้าไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ
กรุงเทพฯ เมืองหลวงประเทศไทย ประชากรเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ชัด แต่เชื่อว่ามากกว่า 10 ล้านคนขึ้นไปแล้ว ความหนาแน่นของพลเมืองระดับนี้ ระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าเท่านั้นจึงจะเอาอยู่ "โครงการรถไฟฟ้าสีแดงเข้ม" จากบางซื่อไปถึงรังสิต จึงเกิดขึ้น
วงเงิน 77,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้ลงนามกู้เงินกับ JICA เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ในเงื่อนไขผ่อนปรนดอกเบี้ย 1.4% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระ 25 ปี
ระยะทาง 26 กิโลเมตร จากสถานีบางซื่อถึงสถานีรังสิต แบ่งงานออกเป็น 3 สัญญา
สัญญาที่ 1 สถานีรถไฟบางซื่อ-รวมอาคารซ่อมบำรุง งานทางวิ่งยกระดับจากสถานีบางซื่อจาก กม.6-กม.12 รวมสถานีบางซื่อ, สถานีจตุจักร, อาคารซ่อมบำรุงรถชานเมือง และรถทางไกล, ถนน และสะพานยกระดับ
สัญญาที่ 2 โครงสร้างยกระดับบางซื่อ-รังสิต รวมสถานีรายทาง, งานทางวิ่งยกระดับจาก กม.12-กม.32 ที่สถานีรังสิต รวมงานสถานีรายทาง 8 สถานีคือ วัดเสมียนนารี (เฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน) บางเขน, ทุ่งสองห้อง, หลักสี่, การเคหะฯ, ดอนเมือง, หลักหก (เฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐาน) สถานีรังสิต, ถนนและสะพานยกระดับ
สัญญาที่ 3 งานสัญญาวางรางและระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วยงานวางราง, ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม, ระบบไฟฟ้ากำลัง, รวมงานระบบรถไฟฟ้าส่วนของสถานีบางซื่อ-ตลิ่งชันด้วย
โดยคาดว่าการก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 4 ปี "ประจักษ์ มโนธัม" รองผู้ว่าการ รฟท. เป็นประธานประมูล เปิดให้เอกชนเข้ามาสู้กันเมื่อช่วง พ.ค.2554 ซึ่งก็เป็นไปด้วยความมัน และโปร่งใส เพราะไจก้าคอยดูอยู่อย่างใกล้ชิด โดยมีการยกเลิกการประกวดราคาสัญญาที่ 3 ซึ่ง รฟท.ให้เหตุผลว่าผู้เข้าประกวดราคาคุณสมบัติไม่ผ่านทั้งหมด และจะมีการประมูลใหม่ ไจก้าโอเค.
แต่เวลานี้กำลังมีคนยึกยักจะยึดทั้งสาย ทั้ง 3 สัญญา จะเอาคนเดียวทั้ง 77,000 ล้านบาท
สัญญาที่ 1 ราคากลางตั้งไว้ที่ 31,173 ล้านบาท เมื่อเปิดซองผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 34,650 ล้านบาท ซึ่งวิถีของการประกวดราคาก็จะต้องมีการเรียกผู้เสนอราคาต่ำสุดมาต่อรองราคา
การต่อรองราคาเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2554 ผู้เสนอราคาต่ำสุด ลดราคาลงมาเหลือ 31,170 ล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าราคากลางแล้ว ก็จะต้องเรียกมาทำสัญญาและเริ่มก่อสร้าง เพราะทุกอย่างล่าช้าไปมากแล้ว
แต่เรื่องมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะมีคนใช้อิทธิฤทธิ์บงการให้คณะกรรมการประกวดราคา ไม่รับราคาที่ลดลงมาต่ำกว่าราคากลางแล้ว บอกว่าเป็นราคาที่ รฟท.ยังไม่พอใจ
และจะสั่งให้เรียกเจ้าที่เสนอราคารายที่ 2 มาเจรจา ซึ่งหากให้ราคาที่ต่ำกว่าก็จะให้ได้งานไปทำ
ไจก้า เป็นองค์กรของรัฐบาลญี่ปุ่น เขาจะยอมให้ความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นไม่ได้ จึงได้ทำหนังสือมาถึงการรถไฟ ระบุว่าผู้ชนะการประมูลที่ลดราคาลงมาจนต่ำกว่าราคากลางแล้ว...ต้องได้งาน
แต่ยังเอาไม่อยู่ ไจก้าจึงสำเนาหนังสือนี้ไปให้หน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยได้รับรู้พฤติกรรมของผู้บริหารการรถไฟ (บางคน) ที่เคย "ไล่บี้นายใหญ่" มาตลอด กำลังจะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกแล้ว
มันทำไม่ได้หรอก...ติดคุก ท่านรัฐมนตรีจารุพงศ์ เริ่มต้นงาน รมว.คมนาคมที่ปมนี้นะ
เวลานี้สร้างความเสียหายมากแล้ว งานช้า ทำให้ประชาชนเสียโอกาส
และ รฟท.ต้องเสียค่าปรับให้ไจก้า ฐานเบิกเงินออกมาใช้ล่าช้าไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47481
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 30/01/2012 6:58 pm Post subject:
ขุมกำลังรับเหมายุค เพื่อไทย ดาวรุ่ง "อิตาเลียนไทย-ซินเทค"
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:49:26 น.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 2 ปี ภายใต้ "รัฐบาลประชาธิปัตย์" โครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลโดย "พรรคภูมิใจไทย" ที่มี "โสภณ ซารัมย์" นั่งเก้าอี้ รมว. คมนาคม และ "ปลัดสุพจน์ ทรัพย์ล้อม" เป็นแม่บ้านกระทรวง
มีงานออกประมูลหลายโครงการร่วม ๆ 3 แสนล้านบาท ทั้งรถไฟฟ้าหลากสี "ม่วง-น้ำเงิน-แดง-สีเขียว" งานสะพาน ทางด่วน ถนน งานระบบรถไฟฟ้า ปรับปรุงทางรถไฟ เป็นต้น
"ช.การช่าง-ซิโน-ไทยฯ" เฟื่อง
แต่มีบริษัทรับเหมาแค่ 3-4 ค่ายที่ "ทุนหนา+คอนเน็กชั่นปึ้ก" คว้างานไปหลายหมื่นล้านบาท
กลุ่ม "ช.การช่าง" ของ "เสี่ยปลิว ตรีวิศวเวทย์" ทุบสถิติสูงสุดกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท ทั้งรถไฟฟ้า สีม่วง น้ำเงิน เขียว สัมปทานเดินรถสายสีม่วง และทางด่วนใหม่ (ศรีรัช-วงแหวนฯ)
ตามติดดวย "บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น" ของ "ตระกูลชาญวีรกูล" พรรคภูมิใจไทย รวมมูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท จากรถไฟฟ้าสีม่วง น้ำเงิน แดง (บางซื่อ-รังสิต) ถนน ปรับปรุงทางรถไฟ ระยะที่ 6
ส่วน "บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล ลอปเมนต์" ของ "เปรมชัย กรรณสูต" ได้อุโมงค์รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน สัญญาที่ 1 2.6 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ "บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น" ของ "ประสงค์ สุวิวัฒน์ธนชัย" แม้จะเพิ่งย้ายฐาน "กทม." เข้าประมูลงานใหญ่อย่างรถไฟฟ้า ทำได้ไม่น้อยหน้า 1.1 หมื่นล้านบาท
เมกะโปรเจ็กต์รอประมูล 6 แสน ล.
แต่พลันที่การเมืองเปลี่ยนขั้วเข้าสู่โหมด "รัฐบาลเพื่อไทย" ท่ามกลางงบประมาณประจำปีและนอกงบประมาณ มีมหาศาลหลัก "ล้านล้านบาท" โดยเฉพาะ "เมกะโปรเจ็กต์" ก็มีเค้าลางรับเหมาจับจองงานไว้ล่วงหน้าแล้ว
ล่าสุดโปรเจ็กต์สร้าง "รัฐสภาแห่งใหม่" 2 หมื่นล้านบาท ที่ "เจริญ จรรย์โกมล" ส.ส.เพื่อไทย จ้อง ล้มประมูล
ว่ากันว่างานนี้มีเป้าหมายเดียว มุ่งล้างไพ่รับเหมาขั้วเก่า "ซิโน-ไทยฯ" พรรคภูมิใจไทย หลังมีชื่อติดโผ 1 ใน 4 บริษัทผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น
คาดว่ามีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่ยังปิดดีลไม่จบ หากไม่ถูกรื้อจนนับหนึ่งใหม่ ก็อาจจะต้องใช้สรรพกำลังอย่างหนัก
เพื่อไทยมา "ITD-ซินเทคฯ" รุ่ง
"รับเหมาได้งานรัฐบาลที่แล้วเริ่มไม่ค่อยมั่นใจหลังเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ กลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก เพราะอะไรก็เกิดได้ทั้งนั้น ตราบใดยังไม่เซ็นสัญญา" แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
ขณะนี้มีบางบริษัทที่สายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคเพื่อไทยเริ่มเดินเกมใต้ดิน เพื่อหวังผลประโยชน์ สัญญาณบ่งชี้ชัดเจนที่สุดคือประมูลรถไฟฟ้า "สายสีแดง" สัญญาที่ 1 เปิดยื่นซองราคากลางปี 2554 เป็นการจับมือระหว่าง "ซิโน-ไทยและยูนิคฯ" เสนอราคาชนะ แต่ยังปิดจ็อบไม่ลง ทั้งที่ยอมลดราคาจาก 34,650 ล้านบาท เหลือ 31,170 ล้านบาท หรือลดไป 3,480 ล้านบาท
"ตอนนี้อิตาเลียนไทยมีการเคลื่อนไหว มากหลังการเมืองเปลี่ยน เพราะอยากได้งานเยอะ ๆ มาชดเชยปีที่แล้วขาดทุน และโปรเจ็กต์ทวายไม่เปรี้ยงอย่างที่คิด อย่างสายสีแดงเขาเสนอราคามาเป็นที่ 2 พยายามจะเสนอตัวโดยยอมลดราคาให้มากกว่าซิโน-ไทยฯ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็รับลูกเสนอไจก้าให้เชิญรายที่ 2 มาต่อรองราคา"
คงเพราะเป็นที่ทราบกันดีในวงการว่า "อิตาเลียนไทย" นั้นสนิทสนมกับพรรคเพื่อไทยมากขนาดไหน เมื่อครั้ง "พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย "เสี่ยเปรมชัย" คว้างานบิ๊กลอตโครงการก่อสร้างในสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท
จึงไม่แปลก พลันที่ "เพื่อไทย" ชนะการเลือกตั้ง วันนั้นกระดานหุ้น
"อิตาเลียนไทย" ดีดรับจนชนซีลลิ่ง ขณะที่หุ้น "ช.การช่าง" เพิ่มแค่ 2% ส่วน "ซิโน-ไทยฯ" นั้นทรง ๆ จึงเป็นที่น่าจับตาว่า ปีนี้จะเป็นยุคทองของ "อิตาเลียนไทย" เมื่อสายลมการเมืองพลัดผ่านมาซุกปีก "ตระกูลชินวัตร" อีกครั้ง
สอดคล้อง "เสี่ยเปรมชัย" บอกว่า ปีนี้จะหันมารับงานในประเทศมากขึ้น หลัง 2-3 ปีที่ผ่านมาออกรับงานต่างประเทศมาก คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมีงานใหม่อีก 3 แสนล้านบาท จากปัจจุบันมีงานในมือ 1.7 แสนล้านบาท
ส่วนรายได้รวมปีนี้ตั้งไว้ 7 หมื่นล้านบาท และจะเป็นปีที่พลิกกลับมามีกำไร หลังจากปีที่แล้วขาดทุน เพราะมีรายได้เพียง 4 หมื่นล้านบาท
"ปีนี้รัฐบาลมีงานเยอะ ทั้งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ งบประมาณประจำปี และงบฯฟื้นฟูน้ำท่วม บริษัทสนใจจะประมูลงานใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าปีนี้มี 2 สายประมูลแน่ ๆ คือสีเขียวและชมพู" บอสใหญ่อิตาเลียนไทยย้ำ
ไม่ใช่แค่รับเหมา "ตระกูลกรรณสูต" ที่จะเป่รงรัศมีในยุคเพื่อไทย ยังมีค่าย "บมจ.ซินเทค คอนสตรัคชั่น" ของ "เจ๊หว่าง-สว่าง มั่นคงเจริญ" ที่ว่ากันว่าสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ "คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร" แบบสุดสุดยุคพรรคไทยรักไทยบูม ซึ่ง "ซินเทค" คว้างานใหญ่ในสุวรรณภูมิไปหลายโปรเจ็กต์
นอกจากนี้ มีการคาดหมายกันให้แซดว่าโปรเจ็กต์สร้างรัฐสภาใหม่ มูลค่า 12,000 ล้านบาท รับเหมาค่ายนี้ ตีตั๋วจองไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน
"ช.การช่าง-ยูนิคฯ" เสมอตัว
ส่วนค่ายที่ไม่น่าจะกลายเป็นเสือลำบาก คือ "ช.การช่างและยูนิคฯ" ด้วยสไตล์ที่ออกกั๊ก ๆ ไม่เลือกข้าง จนได้ฉายารับเหมา "สีเทา" เพราะเข้าได้กับทุกพรรคการเมือง ในยุค "บิ๊กโอ๋-พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต" นั่ง รมว. คมนาคม รับเหมาที่อิงสายสัมพันธ์กับทหารมาโดยตลอดอย่าง "ช.การช่าง" ต่อติดกับเครือข่ายคมนาคมยุคเพื่อไทยอย่างไม่เคอะเขิน
จนได้ฉลองใหญ่โปรเจ็กต์รถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ตุนพอร์ตในมือส่งท้ายปี 2554 จนเข้าเป้ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ตามคาด การประมูลโครงการต่อ ๆ ไป จึงไม่น่าจะหลุดโผ
เช่นเดียวกับ "ยูนิคฯ" ที่มีคอนเน็ก ชั่นกับทุกพรรคการเมือง แถมยังได้แบ็กดีจาก "ก๊วนสุพรรณฯ" ดีกรีอดีตข้าราชการกระทรวงคมนาคม และกลุ่มวิศวะจุฬาฯ คอยหนุนหลัง ยิ่งมี "ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" นั่งเก้าอี้ รมช.คมนาคม คุมเมกะโปรเจ็กต์ จัดแถวจะออกประมูล ชื่อชั้น "ยูนิคฯ" ยังคงติดอยู่ในบัญชี ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน...อยู่ที่กำลังภายใน
"ซิโน-ไทยฯ" หลังชนตรอก
รับเหมาที่น่าจะเหนื่อยสุดสุดคือค่าย "ซิโน-ไทยฯ" เพราะด้วยชื่อนั้นฝังลึกกับพรรคการเมืองค่ายสีน้ำเงิน "ภูมิใจไทย" ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา จนโกยงานใหญ่ไปได้หลายโครงการ ปัจจุบันแบ็กล็อก (งานในมือ) พุ่งกระฉูดทะลุ 5 หมื่นล้านบาท สามารถรับรู้รายได้สบาย ๆ อีก 3 ปี ถึงปี 2557 ปีที่ผ่านมามีรายได้แตะ 1.4 หมื่นล้านบาท แถมเหลือกำไรจ่ายโบนัสพนักงานถึง 6 เดือน
ปีนี้ถึงไม่ใช่ยุคทองเหมือนเก่า แต่อานิสงส์งานล้นมือ ทำให้รายได้รวมปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือโต 20-30% นับว่าสูงสุดในรอบ 50 ปี
แหล่งข่าวจาก บมจ.ซิโน-ไทยฯ ยอมรับว่า งานใหม่ที่จะเข้ามาคงลดน้อยลง แต่ไม่เป็นไร เพราะงานในมือยังมีอยู่เยอะ
ทิศทางขาลงที่เห็นเบื้องหน้าคนเป็นเจ้าของกิจการจะทำอย่างไร ดูเหมือนว่าตอนนี้ "เสี่ยหนู-อนุทิน" กำลังแก้เกม ขอย้ายสังกัดจาก "ค่ายสีน้ำเงิน-พรรคภูมิใจไทย" ซบอก "ค่ายสีแดง-พรรคเพื่อไทย" หากเป็นจริงเมื่อไหร่ ชื่อชั้นของ "ซิโน-ไทยฯ" คงไม่อับแสงไปจากกระดานประมูลเมกะโปรเจ็กต์อย่างแน่นอน
เพราะในวงการ "รับเหมา-การเมือง" ได้ชื่อว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร แม้สายลมจะเปลี่ยนแปลงบ่อยแค่ไหนก็ ตาม ตราบใดที่คุยกันด้วยผลประโยชน์ คำตอบสุดท้ายมักจะมีทางออกให้เสมอ
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44085
Location: NECTEC
Posted: 01/02/2012 5:12 pm Post subject:
คมนาคมปรับแผนลงทุนรถไฟฟ้า จับคู้พันธมิตร"รฟม.-กคช."ผุดบ้านผู้มีรายได้น้อย
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 11:56:01 น.
รมช.คมนาคม "ชัชชาติ" เครื่องร้อน เล็งปรับกลยุทธ์แผนลงทุนระบบราง ให้ รฟม.เป็นผู้ลงทุนควบคู่ดึงการเคหะฯเป็นพันธมิตรพัฒนาที่ดินแนวรถไฟฟ้า สร้างที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย "การเคหะฯ" ขานรับ พร้อมแบเบอร์มีที่ดิน 1,000 ไร่ กระจายทุกทำเลตามแนวรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภารกิจหลักจะเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้แผนงานและโครงการลงทุนของกระทรวงมุ่งสู่แนวทางซินเนอร์ยีหรือบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในกระทรวงด้วยกันเอง หรือบูรณาการระหว่างกระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ
โดยหนึ่งในแผนงานหลักที่เป็นงานเร่งด่วน คือการจัดทำนโยบายลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งระบบถนน ทางด่วน และระบบราง โดยเฉพาะแผนลงทุนระบบรางของประเทศต่อไปจะต้องเป็นรูปแบบของการบูรณาการแผนงานและการทำงานร่วมกัน
"การลงทุนระบบรางมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เวลาคิดเรื่องระบบรางจะต้องคำนึงถึงระบบการเงินที่จะมาลงทุน แต่เดิมรัฐมุ่งลงทุนสร้างระบบราง แต่ปรากฏว่าระบบรางหรือรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นว่าสุดท้ายรัฐได้ประโยชน์เพียง นิดเดียว แต่เอกชนกลับเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการลงทุนระบบรางหรือสาธารณูปโภคต่อไปนี้ รัฐจะต้องเป็นผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุด"
รูปแบบที่มองไว้ กำลังดูเรื่องแผนลงทุนขององค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เป็นผู้ลงทุนระบบราง มีการเวนคืนที่ดินมาก่อสร้างโครงการ แต่ไม่สามารถพัฒนาที่ดินได้ด้วยตนเองเพราะกฎหมายจัดตั้งไม่เปิดช่อง ดังนั้นในอนาคต เมื่อรัฐบาลลงทุนระบบรางแล้ว ที่ดินแนวรถไฟฟ้าทางรัฐ ก็จะต้องเป็นผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินด้วย เพื่อให้รัฐได้เป็นผู้รับผลประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้แนวทางที่มองไว้คือ กระทรวงคมนาคม โดย รฟม.เป็นผู้ลงทุนระบบราง ขณะที่จะบูรณาการให้ทางการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นผู้พัฒนาที่ดินตามแนวโครงการเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งจะตรงกับที่พรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะออกนโยบายให้มีที่อยู่อาศัยให้เช่าในแนวรถไฟฟ้าหรืออยู่แนวสถานีรถไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อย
"นโยบายนี้มีการหารือระดับรัฐมนตรีของพรรคแล้ว โดยจะเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับการเคหะฯ ซึ่งอยู่ในกำกับดูแล ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอนนี้รอให้ทุกอย่างลงตัวจะมีการประกาศนโยบาย ต่อไป โดยเส้นทางที่น่าจะเริ่มได้ก่อนเป็นอันดับต้น ๆ คือแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนที่ดินที่จะนำมาพัฒนาอาจจะเป็นที่ดินของการเคหะฯหรือที่ราชพัสดุหรือรัฐลงทุนซื้อที่ดินเอกชนเข้ามาพัฒนาขึ้นกับความเหมาะสมและความคุ้มค่าการลงทุน" ดร.ชัชชาติกล่าว
นายวิฑูรย์ เจียสกุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" เพิ่มเติมเรื่องเดียวกันนี้ว่า ได้มีการเรียกไปหารือและรับทราบอย่างไม่เป็นทางการแล้วในระดับนโยบาย โดย กคช.มีความพร้อมสนองตอบนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ กคช.มีแลนด์แบงก์ในมืออยู่หลายแปลง โดยแปลงที่พร้อมที่สุดจะอยู่บริเวณบางปู บางปิ้ง จ.สมุทรปราการ รวมแล้วมีเป็น 500-1,000 ไร่ อยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง ขณะเดียวกัน กคช. เองก็มีแลนด์แบงก์สะสมทั้งแปลงเล็กแปลงใหญ่ กระจายอยู่ในแนวรถไฟฟ้าทุกเส้นทางที่รัฐมีนโยบายจะลงทุนสร้างอีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ เพียง แต่ทำเลอาจจะอยู่ย่านสถานีปลายทางออกไปนอกเมือง
ส่วนกรณีที่ทางกระทรวงคมนาคมมี นโยบายจะบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยให้ กคช.เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาโครงการตามแนวรถไฟฟ้า ถือเป็นนโยบายที่ดีและพร้อมจะสนองตอบ โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลจะเป็นผู้เจรจาเพื่อจัดหาที่ราชพัสดุมาให้ กคช.พัฒนาโครงการ ในอดีต กคช.เองก็เคยมีความพยายามขอที่ดินราชพัสดุมาพัฒนาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลชุดปัจจุบันเมื่อจะนำขึ้นมา ผลักดันอีกครั้งจึงถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้มีรายได้น้อยจะได้มีโอกาสได้พักอาศัยในเมือง
โดย กคช.มีแผนงานปกติที่เป็นแผนลงทุน 7 ปี (2555-2561) เป้าหมายคือจะพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการชุมชนน่าอยู่สบายอย่างยั่งยืน (Eco Village) ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 50,000 หน่วย โดยจะจัดสร้างก่อน เฟสแรก 25 โครงการ รวม 15,000 หน่วย คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ภายใน ปี 2556 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกันแผนงานนโยบายที่รับมอบหมายจากรัฐบาลในการสร้างที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามสถานีรถไฟฟ้านั้น เรื่องปริมาณหรือจำนวนหน่วยไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าทำได้จริงกลไกตลาดจะทำหน้าที่เอง เพราะดีมานด์มีอยู่มหาศาล เพียงแต่จะต้องจัดหาที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการให้ได้ โดยกรอบนโยบายคือทำเลจะต้องอยู่ห่างสถานีรถไฟฟ้าในรัศมี 8-10 กม.
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47481
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 01/02/2012 6:18 pm Post subject:
รฟม.เผยแผนงานโครงการรถไฟฟ้ามวลชน
INN News ข่าวเศรษฐกิจ วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 18:10น.
รฟม. เผย แผนงานพื้นที่ทำโครงการรถไฟฟ้ามวลชนฯ ถึงปริมณฑล เร่งหาบุคลากรมาดูแลโครงการรถไฟฟ้าฯ ตามนโยบายรัฐบาล
นายรณชิต แย้มสอาด รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในขณะนี้แผนงานในส่วนของพื้นที่ทำโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ขยายไปถึงเขตปริมณฑลแล้ว และโครงการรถไฟฟ้า 10 โครงการ ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ได้อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 6 โครงการ จึงต้องการจัดสรรบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายใหม่ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มีความต้องการอยากจะขอดูแลกำกับการเดินรถไฟฟ้าเอง 1 สายทาง เพื่อบุคลากรจะได้มีทักษะและประสบการณ์จริง ที่จะนำไปใช้ในการทำงาน
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44085
Location: NECTEC
Posted: 02/02/2012 2:04 am Post subject:
'ประภัสร์'พร้อมเดินหน้ารถไฟฟ้า10สาย
หน้าธุรกิจ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 15:33
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินหน้ารถไฟฟ้า 10 สาย เสร็จใน 3 ปีครึ่ง ชี้ พัฒนาระบบรางของไทยล่าช้า หวั่นพม่า ม้ามืดแซงไทย
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีระบบการทำงานและระบบการพัฒนารางได้ช้ามาก โดยเฉพาะถ้ามีการเปลี่ยนผู้บริหาร ย่อมส่งผลให้ทั้งนโยบาย และระบบการทำงานมีความไม่ต่อเนื่อง ซึ่งโครงการรถไฟฟ้า 10 โครงการ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนั้น ควรเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวให้สำเร็จทุกโครงการภายในรัฐบาลชุดนี้ หรือ 3 ปีครึ่ง ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องช่วยกันให้แผนโครงการบรรลุสำเร็จลุร่วงโดยเร็ว อีกทั้งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่คุ้มค่ามากกับประโยชน์ที่ได้รับ
ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2555 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ถ้าประเทศไทยยังมีระบบการที่ล่าช้าแบบนี้ อาจจะทำให้ประเทศพม่า เป็นคู่แข่งรายใหม่ของประเทศไทย ซึ่งรองจากประเทศเวียดนาม ได้
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44085
Location: NECTEC
Posted: 03/02/2012 1:35 am Post subject:
รมช.'ชัชชาติ' ขอเวลา 1 เดือนสรุปเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
โดย ณัฐญา เนตรหิน
หน้าข่าวรายวัน -
ข่าวในประเทศ
ฐานเศรษฐกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 02 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 19:26 น.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้สรุปเบื้องต้นว่าจะจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายในช่วงที่ไม่ใช่เวลาเร่งด่วนก่อน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้โครงข่ายรถไฟฟ้าครบ 10 สายทางตามนโยบาย เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวกสบายและรวดเร็วมากที่สุด แต่ทางกระทรวงคมนาคมจะเริ่มได้ก่อนที่โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งขอเวลาอีก 1 เดือนเพื่อให้ได้ข้อสรุป
ส่วนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ของ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ บีเอ็มซีแอลนั้นคงไม่สามารถดำเนินการได้ง่ายๆ เนื่องจากเป็นสัมปทานของเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมจะมีการเจรจากับ บีเอ็มซีแอล ด้วยเพื่อให้การเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนจะสามารถใช้รถไฟฟ้าทั้ง แอร์พอร์ตลิงก์ และ รถไฟฟ้าใต้ดิน เอ็มอาร์ที ซึ่งนโยบายดังกล่าวเชื่อมั่นว่า จะกระตุ้นการเดินทางในช่วงเวลาที่ปริมาณผู้โดยสารน้อยให้เพิ่มขึ้น และเป็นการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เบื้องต้นพบว่าวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลา 06.00-09.00 น. เป็นช่วงเวลาเร่งด่วนผู้โดยสารใช้บริการสูงกว่า 1.6 หมื่นคนต่อชั่วโมง ส่วนช่วงเวลา 10.00-15.30 น. มีผู้โดยสารใช้น้อยมากประมาณ 2,000-3,000 คนต่อชั่วโมง โดยเฉลี่ยผู้โดยสารจะใช้บริการรวม 5 สถานี คิดเป็นเงิน 25 บาท ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้น รถไฟในเมืองอยู่ที่วันละ 34,866 คน รถไฟด่วนสุวรรณภูมิอยู่ที่วันละ 2,451 คน
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44085
Location: NECTEC
Posted: 06/02/2012 10:13 pm Post subject:
รถไฟฟ้าอืดปี55สร้างแค่3สาย คลังชงครม.ขยายวงเงินพรบ.ร่วมทุน
เศรษฐกิจ
ไทยโพสต์ 7 กุมภาพันธ์ 2555 - 00:00
รถไฟฟ้ายังอืด คาดปี 55 จะเซ็นสัญญาได้ 3 สาย ด้าน ประภัสร์ จี้คมนาคม เดินหน้ารถไฟฟ้า 10 สาย หวั่นพม่าแซงหน้า เชื่อเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยโครงการสะดุดแน่ คลังเตรียมชง ครม.ขยายวงเงิน พ.ร.บ.ร่วมทุน จาก 1,000 ล้าน เป็น 5,000 ล้าน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบอร์ด รฟม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ว่า ภายในกลางปี 55 จะสามารถประกาศประกวดราคาได้ 3 สาย สายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูต ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร, สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กม. ส่วนอีก 1 สายคือ โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานดอนเมือง (ARL ส่วนต่อขยาย) ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ขณะนี้ออกแบบรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อม
สำหรับสายสีชมพูนั้น ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่ากระทรวงคมนาคมจะยึดตามแผนเดิมคือ การก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ สมัยที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.คมนาคม เห็นควรให้ทบทวนแบบก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยให้ก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ (Heavy Rail) แทนการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) เพราะเห็นว่ามีความคุ้มค่าการลงทุนมากกว่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมลงทุน 42,067 ล้านบาท
แต่หลังจากที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นั่งตำแหน่ง รมว.คมนาคม ทาง
สนข.ได้อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นต้องก่อสร้างเป็นแบบโมโนเรล ทางรัฐมนตรีเข้าใจและเห็นด้วย ดังนั้น จึงให้ยกเลิกการต้องทบทวนดังกล่าว และให้ใช้แบบก่อสร้างตามแผนเดิม ซึ่งได้ออกแบบรายละเอียดและว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าประเทศไทยมีระบบการทำงานและระบบการพัฒนารางได้ช้ามาก โดยเฉพาะถ้ามีการเปลี่ยนผู้บริหาร ย่อมส่งผลให้ทั้งนโยบายและระบบการทำงานมีความไม่ต่อเนื่อง ซึ่งโครงการรถไฟฟ้า 10 โครงการ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น ควรเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวให้สำเร็จทุกโครงการภายในรัฐบาลชุดนี้ หรือ 3 ปีครึ่ง ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันให้แผนโครงการบรรลุสำเร็จลุล่วงโดยเร็ว อีกทั้งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่คุ้มค่ามากกับประโยชน์ที่ได้รับ
ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 55 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) นั้น ถ้าประเทศไทยยังมีระบบการที่ล่าช้าแบบนี้ อาจจะทำให้ประเทศพม่า เป็นคู่แข่งรายใหม่ของประเทศไทย ซึ่งรองจากประเทศเวียดนามได้
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง กล่าวในงานสัมมนาระหว่างประเทศ ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย เกี่ยวกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ว่า เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้ไขพระราชบัญญัติ ร่วมทุนรัฐและเอกชน (พ.ร.บ.ร่วมทุน) โดยจะเสนอให้มีการขยายวงเงินโครงการจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท เพราะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน (พีพีพี) จะต้องใช้เงินทุนต่อเนื่องจำนวนมาก หากกำหนดวงเงินแค่ 1,000 ล้านบาท อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เอกชนไม่สนใจร่วมลงทุน
ที่ผ่านมา หลายรัฐบาลมีความพยายามจะแก้ไขวงเงินร่วมลงทุนรัฐและเอกชน และลดขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายลง จากที่ต้องใช้เวลา 2-3 ปี ให้เหลือ 1 ปี ซึ่งจะทำให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทันต่อสถานการณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การแก้ไข พ.ร.บ. ร่วมทุนดังกล่าว จะต้องมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต หรือเอื้อผลประโยชน์ให้แก่นายทุน ตามที่หลายฝ่ายกังวล นายวิรุฬ กล่าว
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รายละเอียดการจัดตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติ ทุนประเดิม 5 หมื่นล้านบาท ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดได้ เนื่องจากต้องรอรายชื่อคณะกรรมการกองทุนที่จะเสนอให้ ครม. พิจารณาแต่งตั้งในวันที่ 7 ก.พ.นี้.
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44085
Location: NECTEC
Posted: 13/02/2012 12:37 am Post subject:
บอร์ดบี้รถไฟสร้างสีแดงอืด
กรมบัญชีกลางชี้ธนารักษ์ไม่มีหน้าที่จ่ายหนี้บีทีเอส
หน้า เศรษฐกิจ
ไทยโพสต์
13 กุมภาพันธ์ 2555 - 00:00
บอร์ดบี้ รถไฟเดินหน้า สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต จัดหาหัวรถจักร หลังพบล่าช้าถึง 2 ปี เล็งหารือไจกาหาข้อสรุป ด้าน "ธนารักษ์" กุมขมับหลังกรมบัญชีกลางปัดไม่ให้เอารายจ่ายตัวเองจ่ายค่าโง่ BTSC คาดเจอดอกเบี้ยปรับเพิ่มอีกวันละ 2 แสนบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในวันที่ 13 ก.พ.2555 ซึ่งมีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
(สนข.) เป็นประธาน จะสอบถามถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม.หลังจากที่ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีความล่าช้าเกือบ 2 ปีแล้ว และจะเร่งรัดให้ทาง ร.ฟ.ท.เดินหน้าโครงการจัดหาหัวรถจักรตามแผนที่ได้กำหนดไว้ คือโครงการจัดหาหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 13 คัน, การจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าทดแทนGE 50 คันและการปรับปรุงรถจักร 56 คัน และการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 115 คัน ซึ่งมีความล่าช้าเช่นกัน ทำให้ไม่เพียงพอกับการใช้งานในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเพราะติดการพิจารณาผลราคาของสัญญาที่ 1 ซึ่งผู้รับเหมา ทั้งกลุ่มกิจการร่วมค้าเอสยูได้เสนอมาสูงกว่ารอบราคามติ ครม.ปี 2552 ซึ่งจะให้บอร์ดพิจารณาว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งได้หารือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจกา) แล้ว อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ไม่สามารถเปิดซองสัญญาที่ 2 ได้
"การประกวดราคาที่ตอนนี้ยังล่าช้า เพราะติดการพิจารณาผลราคาของสัญญาที่ 1 ที่ผู้รับเหมาคือกลุ่มซิโน-ไทยฯ เสนอมายังสูงกว่ากรอบราคามติ ครม.ปี 52 รอบอร์ดพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เราไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้ เนื่องจากไจกาได้มีการติงในเรื่องการให้ข่าวของ ร.ฟ.ท.กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาของสัญญาที่ 1 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอสยู เสนอราคาต่ำสุดที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ครม.อนุมัติวงเงินไว้ 27,170 ล้านบาท ดังนั้น ต้องเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอสยูให้ได้ หากไม่ได้ก็ต้องเจรจากับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้เสนอราคาต่ำเป็นอันดับ 2 แต่หากราคายังสูงอยู่ ก็จะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายมาเจรจา และอาจเสนอ ครม.พิจารณาเพิ่มกรอบวงเงิน ส่วนการยกเลิกและเปิดประกวดราคาใหม่จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะทำให้โครงการยิ่งล่าช้าออกไปอีก
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่กรมธนารักษ์ต้องชำระค่าชดเชยงานก่อสร้างค่าฐานราก ให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( BTSC ) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 1,097 ล้านบาท ว่า ล่าสุด ทางกรมบัญชีกลางส่งหนังสือถึงกรมธนารักษ์ว่าไม่มีระเบียบให้กรมธนารักษ์นำรายได้ของตัวเองไปชำระหนี้ให้ BTSC โดยแจ้งให้กรมธนารักษ์ทำเรื่องไปขอใช้งบกลางเพื่อนำมาใช้หนี้ส่วนนี้แทน
ส่งผลให้การเจรจาระหว่างกรมธนารักษ์กับ BTSC ที่ได้ข้อยุติว่า หากกรมธนารักษ์สามารถชำระครบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 31 ม.ค.2555 ทาง BTSC จะยกเว้นดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2554 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 60 วันนับแต่มีคำพิพากษาให้ชำระให้แล้วเสร็จ ทาง BTSC จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเกือบ 7 ล้านบาทนั้นมีอันต้องยกเลิกไป เนื่องจากกรมธนารักษ์จะต้องทำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอเงินจากงบกลางใหม่ ทำให้ต้องเลื่อนการจ่ายเงินชดเชยไปแบบไม่มีกำหนด และยิ่งยืดวันออกไปก็เท่ากับมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกวันละ 2 แสนบาท.
+++++++++++++++++++++++
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group