RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:312078
ทั่วไป:13684533
ทั้งหมด:13996611
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 51, 52, 53 ... 284, 285, 286  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44086
Location: NECTEC

PostPosted: 20/04/2012 10:46 am    Post subject: Reply with quote

ใครที่อยู่บา่งจากถึงแบริ่งถ้านำการ์ด แบบ 30 วันไปแลกเป็นบัตร Rabbit ที่จะมาแทน 30 วันของเดิม ที่จะออก มาให้แลก วันที่ 23 เมษายน ศกนี้ กรุณา เตรียมโหลดเงินที่จะต้องจ่ายเพิ่มอีก 750 บาท (15 บาท x 50 เที่ยว)

งานนี้ BTSC อ่วมแน่ ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่ โดน คนจากบา่งจากยันแบริ่งแถมคนจาก ปากน้ำ - สำโรง แจกกล้วยให้กิน

ส่วน กรณีั ตั๋วเติมเงิน นั้น Rabbit card จะมีให้แลก 1 พฤษภาคม ศกนี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44086
Location: NECTEC

PostPosted: 20/04/2012 6:22 pm    Post subject: Reply with quote

ตอนนี้ฝรั่งมาบ่นให้กระผมฟังว่าฝรั่งไม่มีสิทธิ์ที่จะซื้อ บัตรแบบ Rabbit card เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ้ ตาม Quote ต่อไปนี้:

Waerth wrote:
According to the ticketwoman at BTS Asoke station the Rabbit card is for Thais only not for foreigners because of "national security" (I speak Thai at a mediocre level btw). Please tell me this woman was talking out of her ass ..... or was she speaking the truth and are us pesky foreigners not allowed to have one?
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 20/04/2012 8:43 pm    Post subject: Reply with quote

สงสัยคงหิ้วลูกโป่งอัดแก๊สไปซื้อมั้ง ? Razz
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47486
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/04/2012 12:21 pm    Post subject: Reply with quote

แปลงสภาพคล่อง2ล้านล. ผุดรถไฟ 10 สาย-ทสภ.เฟส 2
วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 7815 ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังจากส่งสัญญาณอยากเห็นบาทอ่อน จนสะเทือนไปทั้งวงการเงินและเศรษฐกิจ

ล่าสุด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกมาระบุว่า ขณะนี้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมีมากเกินไป หากปล่อยทิ้งไว้จะย้อนกลับมาทำร้ายระบบเศรษฐกิจไทย

นายกิตติรัตน์อธิบายว่า เมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ไทยมีปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ เงินสำรองหาย การว่างงานสูง แต่หลังจากนั้น 10 ปีไทยก็สามารถแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจได้ดีมาก การส่งออกของไทยอยู่ในระดับที่ดีมาตลอด และเกินดุลการค้ามาตลอด ทุนสำรองของไทยเพิ่มขึ้น เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ทำให้เริ่มเกิดปัญหาสภาพคล่องที่มีมากเกินไป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อสภาพคล่องมีมากและไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ก็จะกลายเป็นการทำร้ายระบบ เนื่องจากธนาคารต้องให้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำคิดดอกเบี้ยเงินกู้สูง และอาจกดดันให้ผลักดันสภาพคล่องเหล่านั้นออกไปเป็นสินเชื่อคุณภาพต่ำ

ส่วนธนาคารกลางเมื่อสภาพคล่องมีมากต้องออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง และ จ่ายดอกเบี้ยให้พันธบัตรเหล่านั้น แม้จะไม่ คุ้มทุนแต่ต้องดำเนินการ ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยิ่งขาดทุนจากการดำเนินนโยบาย แม้ว่าบางคนจะบอกว่าเป็น การขาดทุนทางบัญชี แต่พอขาดทุนปัญหาหลายอย่างก็ตามมา

ปัญหาที่ทำให้เกิดสภาพคล่อง ส่วนหนึ่งเพราะไทยไม่ได้ลงทุนในระบบโครงสร้าง พื้นฐานอย่างจริงจัง จึงทำให้เงินเหลือค้าง ในระบบมากขึ้น ถ้าย้อนกลับไปได้เมื่อ 5 ปีที่ ผ่านมา ถ้าไทยเร่งลงทุนในระบบโครงสร้าง อาทิ รถไฟ ทางหลวง รถไฟฟ้า 10 สาย คงจะไม่เกิดปัญหาเหมือนในขณะนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือร่วมกับ กระทรวงคมนาคมแล้วว่าควรจะเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย รวมถึงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เฟส 2 เพื่อนำเงินที่ล้นอยู่ในระบบออกมาใช้

พร้อมกันนี้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจไทยที่มีศักยภาพ รวมทั้งภาคเอกชนของไทยออกไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวกลับสู่ประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังจะทบทวนการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักรต่างๆ ที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้น นอกเหนือจากของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

จากนี้ไปหากไทยจะขาดดุลบ้าง เพราะมีการนำเข้าสินค้าทุนเข้ามาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล ถ้าเป็นการขาดดุลที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจ

"ดีกว่าปล่อยให้เกินดุล และทำให้เงินล้นระบบ จนทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา" นายกิตติรัตน์ กล่าวสรุป

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้บริหารสภาพคล่องอย่างเหมาะสม

ปกติธนาคารกลางมีสภาพคล่องอยู่แล้ว โดยสภาพคล่องต้องมีส่วนเกิน ไม่ใช่พอดี เพราะถ้าพอดีอาจจะเกิดท้องผูก ธปท.จึงดูแลให้มีสภาพคล่องส่วนเกินไว้ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อภาวะเงินเฟ้อ ภาวะฟองสบู่

มีดัชนีบางอย่างที่สะท้อนว่าสภาพคล่องดีพอสมควร คือระบบธนาคารพาณิชย์มีสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องถึง 2 ล้านล้านบาท จากสินทรัพย์รวมทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ที่ 10 ล้านล้านบาท ตรงนี้ถือว่าไม่น้อย

หรือจะดูจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก บวกตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ก็ตกอยู่ที่ราว 80% ไม่นับรวมเงินกองทุน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มี สินเชื่อคงค้างอยู่ในระบบประมาณกว่า 80% แบบนี้เรียกว่ายังมีเหลือ หรือจะดูในตลาดเงินที่เป็นการกู้ยืมเงินกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ (Repo Market) ที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดนี้จะใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3%

ยอมรับว่าสภาพคล่องส่วนเกิน 2 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะ พอสมควร แต่ถ้าถามว่าระดับนี้เยอะมากไปหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะพิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่ระดับใด

ปัจจุบันอยู่ที่ 3% แต่หาก กนง.คิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.5% ผลก็จะต่างออกไป ก็ต้องขันนอตนโยบายการเงิน แต่กนง.คิดว่าช่วงนี้ต้องประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3% จะหย่อนกว่าเงินเฟ้อคาดการณ์เล็กน้อยที่ระดับ 3.3% ซึ่งก็ตีความได้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.อยู่ในช่วงผ่อนคลาย

การที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน 2 ล้านล้านบาท แปลว่าคนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมีของที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอีก 2 ล้านล้านบาท ถ้าสมมติ 2 ล้านล้านบาทหายไป ก็จะว่าทำไม ธปท.ไปบีบมากเกินไป คนก็จะท้องผูกมาก เหมือนในอดีตบางครั้งที่ต้องขันเกลียว แต่ตอนนี้มีพื้นที่ให้กระโดดให้ถึงเพดาน แต่ยังกระโดดไม่ถึง ไม่ใช่ไม่ให้กระโดด

ในการดูดซับสภาพคล่องที่ผ่านมาที่ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ และการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ

ส่วนการเกินดุลนั้นไม่ถือเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ และหากจะขาดดุลในบางครั้ง เพื่อการลงทุนก็ไม่เป็นไร

ก่อนสรุปว่า "อย่าเอาผมไปชนกับรมว.คลัง แค่อยากอธิบายเหตุผลให้ฟัง ไม่อยากให้เอาไปโต้ตอบกัน"

เมื่อได้รับไฟเขียวจากนายกิตติรัตน์ ในเรื่องรถไฟฟ้า 10 สายและสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทาง ภายในวาระของรัฐบาลชุดนี้

พร้อมทั้งให้ศึกษาระบบจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการสายแรกคือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ในปี 2558 หากสามารถเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้ รัฐบาลจะอุดหนุนค่าโดยสารบางส่วนระหว่างที่รอรถไฟฟ้า 10 สาย

ความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าล่าสุด พบว่า ภายในสิ้นปีนี้จะประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่า 48,150 ล้านบาท ส่วนในปี 2556 จะประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่า 38,730 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี มูลค่า 139,750 ล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 เส้นทาง ตามนโยบายพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย
Quote:
1.สายสีแดงเข้ม เส้นทางธรรมศาสตร์-มหาชัย ระยะทาง 80.8 กม.
2.สายสีแดงอ่อน เส้นทางศาลายา-หัวหมาก ระยะทาง 58.5 กม.
3.สายแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วง ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 50.3 กม.
4.สายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 42.8 กม.
5.สายสีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 55 ก.ม.
6.สายสีเขียวเข้ม เส้นทางลำลูกกา-สมุทรปราการ ระยะทาง 66.5
7.สายสีเขียวอ่อน เส้นทางยศเส-บางหว้า ระยะทาง 15.5 กม.
8.สายสีส้ม เส้นทางตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กม.
9.สายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 ก.ม. และ
10.สายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 ก.ม.

ส่วนการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงิน 62,503.2 ล้านบาท นั้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีนี้ โดยในช่วงเดือนเม.ย.นี้ คาดว่าจะสามารถจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการเสร็จ โดยมีมูลค่างานของที่ปรึกษา 720 ล้านบาท

หลังจากนี้จะเดินหน้าประกวดราคาเพื่อก่อสร้างและเชื่อว่าปี 2556 จะสามารถจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างและเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี เดียว กัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559

ต้องลุ้นว่าเมกะโปรเจ็กต์ทั้ง 2 โครงการจะสะดุดจากปัญหาการเมืองเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่

หน้า 8
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44086
Location: NECTEC

PostPosted: 23/04/2012 6:49 pm    Post subject: Reply with quote

รฟม.ตีกลับแบบสายสีชมพูหวั่นล็อกสเปก
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
หน้าอสังหา REAL ESTATE - อสังหาฯ REAL ESTATE
ออนไลน์เมื่อ วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2012 เวลา 10:52 น.
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,733 22-25 เมษายน พ.ศ. 2555

รฟม.ตีกลับแบบรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่ล่าสุดใช้รูปแบบโมโนเรล หวั่นที่ปรึกษาล็อกสเปกเอื้อผู้ประมูล อีกทั้งราคาก่อสร้าง รูปแบบสถานีและค่าเวนคืนยังไม่เคลียร์ ส่วนสายสีเขียวรอบิ๊กคมนาคมฟันธงรื้ออนุสาวรีย์หลักสี่ จี้ที่ปรึกษาเร่งหารือกรมศิลปากร จับตาสายสีน้ำเงินช่วงวังบูรพาอาจเป็นจุดเปลี่ยนทางธุรกิจในพื้นที่แซงย่านไชน่าทาวน์ อึ้ง!!!สายสีม่วงยังมีลุ้นศาลปกครองชี้ขาดกรณีประชาชนฟ้องร้องรฟม.อีกเพียบ

แหล่งข่าวระดับสูงจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูว่า ล่าสุดได้ให้บริษัทที่ปรึกษาคือบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรีกลับไปปรับรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น รูปแบบเส้นทาง รูปแบบสถานีช่วงวงเวียนหลักสี่ หรือค่าก่อสร้างตลอดจนค่าเวนคืนที่ยังเห็นว่าไม่มีความชัดเจนและไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้เพื่อให้รฟม.สามารถตอบคำถามผู้บริหารกระทรวงคมนาคมหรือรัฐบาลได้ชัดเจน

ประการสำคัญหวั่นจะเป็นการล็อกสเปกให้กับผู้รับเหมารายใดรายหนึ่ง จึงให้ที่ปรึกษาศึกษาข้อมูลบริษัทที่สร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลทั่วโลกว่ามีระบบใดบ้าง และแต่ละบริษัทมีข้อดีข้อเสียอย่างไรที่จะนำมาปรับใช้ในประเทศไทยจำนวน 3-4 รายให้เปรียบเทียบกัน

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาสถานีช่วงวงเวียนหลักสี่บดบังอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 จึงปรับย้ายที่ตั้งสถานีสายสีเขียวและสายสีชมพูมาอยู่โซนใกล้สำนักงานเขตบางเขนแทน ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม(คชก.)นำเสนอให้ย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏช่วงวงเวียนหลักสี่ไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมใหม่ ซึ่งต้องรอให้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือนายศิลปะชัย จารุเกษมรัตนะ รองปลัดกระทรวงคมนาคมและในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงคมนาคมจะให้ดำเนินงานอย่างไร

"น่าจะเป็นไปได้เพียงนำเสนอหลักการให้กระทรวงคมนาคมและครม.รับทราบก่อน เพราะกระบวนการหลาย ๆ ขั้นตอนยังมีปัญหาอีกมากมาย แม้กระทั่งสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นจนถึงขณะนี้มีคดีในศาลปกครองรอชี้ชัดอีกนับ 10 คดีที่ประชาชนฟ้องร้องเนื่องจากสร้างบดบังหน้าบ้านหรือสำนักงาน"

นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอสถานีเพิ่มเติมอีกจำนวน 6 สถานีจากเดิมมีจำนวน 24 สถานี สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสีชมพู เพื่อรองรับผู้ใช้บริการตามการขยายเส้นทางไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงแคราย พร้อมกับปรับระยะห่างของแต่ละสถานีให้ร่นระยะลงจากเดิมที่ห่างประมาณ 1.5-2 กิโลเมตรเหลือเพียง 1-1.2 กิโลเมตร ส่งผลให้งบประมาณจึงเพิ่มขึ้นจาก 42,067 ล้านบาท คาดว่าจะสูงกว่า 50,000 ล้านบาท โดยจุดจอดและสถานีซ่อมบำรุงเหลือเพียงจุดเดียวที่มีนบุรี ซึ่งสายสีชมพูจัดเป็นหนึ่งในรถไฟฟ้า 10 สายที่กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลเร่งรัด คาดว่าจะเร่งประกวดราคาและเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปีนี้เพื่อให้เปิดบริการในปี 2560

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)และในฐานะกรรมการ(บอร์ด)รฟม.กล่าวว่าได้เร่งรัดให้รฟม.ไปเร่งสรุปรายละเอียดทั้งหมดเพื่อนำมาร่วมกับสายต่าง ๆ ให้ครบทั้ง 10 สายรายงานสนข.เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมนำรายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.)และประชาชนให้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่าความคืบหน้าเป็นอย่างไร ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการในปัจจุบันที่ต้องให้เห็นภาพการประกวดราคา การก่อสร้างและการเปิดให้บริการอย่างชัดเจนจริงๆ

"การดำเนินงานยังรวมกับเส้นทางที่ไม่อยู่ในแผนทั้ง 10 สายทาง เช่น สายสีแดงช่วงศาลายา-ศิริราช หรือสายสีม่วง ช่วงบางไผ่-ไทรน้อยเพื่อให้เห็นภาพความชัดเจนของการพัฒนา สำหรับเส้นทางและสถานีของสายสีชมพูคาดว่าจะไม่กระทบพื้นที่เวนคืนมากนักเพราะโครงสร้างโมโนเรลจะใช้พื้นที่น้อยกว่าเฮฟวีเรล ยังได้กำชับเรื่องเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาจะต้องเปิดกว้างเพราะเป็นโครงการนำร่องจึงต้องเข้มงวดโดยรฟม.และที่ปรึกษาต้องประสานงานกันให้สื่อสารรายละเอียดในแนวทางเดียวกันให้มากที่สุด"

นางสร้อยทิพย์ยังกล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ว่า

สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ยังรอที่ปรึกษาไปหารือกรมศิลปากรในจุดสถานีช่วงวงเวียนหลักสี่ที่ได้ปรับย้ายมาอยู่ในโซนใกล้เขตบางเขนแทน

เช่นเดียวกับสายสีส้ม ช่วงดินแดง-มีนบุรี ที่มีเวลาน้อยในการจ้างออกแบบรายละเอียด จะใช้รถไฟฟ้ารูปแบบเฮฟวีเรล

สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่เจออุปสรรคท่อประปาขนาดใหญ่ช่วงเกาะกลาง จึงปรับเป็นโครงสร้างใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตรจากช่วงรัชดาฯ-ลาดพร้าวไปจนถึงแยกบางกะปิก่อนที่จะปรับเป็นทางยกระดับตั้งแต่ช่วงต้นถนนศรีนครินทร์เป็นต้นไปโดยใช้รถไฟฟ้ารูปแบบไรต์เรลให้บริการ

แต่ที่ยังเป็นห่วงคือสายสีน้ำเงินช่วงเยาวราชที่ยังรอฟังความชัดเจนจากการฟ้องร้องของประชาชนต่อศาลปกครอง แต่น่าสนใจอยู่ที่ว่าสถานีวังบูรพาน่าจะมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวให้แซงหน้าย่านเยาวราชหรือไชน่าทาวน์เมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47486
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/04/2012 7:22 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม(คชก.)นำเสนอให้ย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏช่วงวงเวียนหลักสี่ไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมใหม่

Smile ไม่ค่อยได้ยินใครเรียกอนุสาวรีย์หลักสี่ (อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ) ว่า"อนุสาวรีย์ปราบกบฏ" นานแล้ว โดนย้ายที่อีกแล้วหรือนี่ อาภัพจังครับอนุสาวรีย์แห่งนี้

สมัยผมเด็ก ๆ ผมสะสมแสตมป์ ได้แสตมป์ชุด"อนุสาวรียปราบกบถ" มา รู้ว่าหายาก แต่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ครับ สีไม่สวย กระดาษก็ดูคุณภาพต่ำ รอยปรุไม่สวย
เพิ่งมารู้ภายหลังว่าพิมพ์ในสมัยสงคราม ที่กรมแผนที่ทหารบก เลยออกมาแบบนี้

ว่าแต่สายสีม่วงบางไผ่-ไทรน้อย จะได้สร้างหรือเปล่าหนอ เห็นพูดถึงกันมานานแล้วครับ
เพราะย่านที่อยู่อาศัย บ้านจัดสรร ส่วนมากก็อยู่ในบริเวณถนนบ้านกล้วย-ไทรน้อย ถนนบางกรวย-ไทรน้อยทั้งนั้น ถ้าสุดทางแค่คลองบางไผ่ ก็จะครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่สะดวกในการต่อรถเข้าหมู่บ้าน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 23/04/2012 9:19 pm    Post subject: Reply with quote

ย้ายอนุสาวรีย์หรือ ? ผมว่าผู้ดำเนินการยังไม่ได้ใช้ความคิดอ่านให้เต็มที่เลยครับ Sad
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47486
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/04/2012 6:12 am    Post subject: Reply with quote

"โกร่ง" ฉุน สศช.ทำงานไม่ถูกใจ ไล่ส่งรื้อแผนลงทุนสร้างอนาคตประเทศใหม่
ไทยรัฐออนไลน์ 24 เมษายน 2555, 06:00 น.

กยอ.ยัวะ สศช.จัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาทไม่ถูกใจ ชี้โครงการที่ผ่าน กยอ.ต้องเป็นโครงการที่เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น ไม่ใช่โครงการลงทุนทั่วๆ ไป พร้อมสั่ง สศช.-กระทรวงการคลังเตรียมระดมเงินออมในประเทศมาใช้ในการลงทุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ได้สั่งให้ สศช.จัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2.27 ล้านล้านบาท ในระยะ 5 ปีจากนี้ไป เพื่อนำเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดเดินหน้าโครงการ ขณะเดียวกัน ให้ สศช.และกระทรวงการคลัง ไปดูวิธีการ และรูปแบบการหาเงินมาลงทุน ซึ่งครึ่งหนึ่งจะมาจากงบประมาณในระยะ 5 ปี และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการระดมทุน โดยให้โจทย์ว่าจะมีวิธีระดมเงินออมมาใช้ได้อย่างไร เนื่องจากขณะนี้เงินออมค่อนข้างมาก แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างต่ำ ดังนั้น การทำประเทศให้แข็งแกร่ง จึงมีความจำเป็นต้องเร่งรัดการลงทุน 2.27 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกัน กยอ.มอบให้ สศช.และกระทรวงการคลังไปพิจารณาโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมลงทุนในวงเงิน 10,000 ล้าน บาท เนื่องจากในวงเงินกู้เพื่อพัฒนาระบบน้ำ 350,000 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็นการลงทุนระบบน้ำ 340,000 ล้านบาท และ 10,000 ล้านบาท สำหรับ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กยอ.ไม่พอใจการจัดทำแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ สศช.เสนอมาในวงเงิน 2.27 ล้านล้านบาท เพราะเป็นการนำโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในแผนของกระทรวงต่างๆ มารวมกันจนครบวงเงิน แต่ กยอ.ต้องการให้การลงทุนในวงเงินนี้เป็นโครงการที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศเท่านั้น เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง เพราะโจทย์การทำงานของ กยอ. ต้องการสร้างความมั่นใจในอนาคต นอกจากนี้ กยอ. ยังมองว่า ทั้ง สศช.และหน่วยงานราชการอื่นขาดการบริหารประเทศในภาวะวิกฤติมาตั้งแต่ปี 2540 จึงอยากให้มองภาวะปัจจุบันนี้เป็นการบริหารภายใต้วิกฤติ และสั่งให้กลับไปทำแผนดังกล่าวมาเสนอที่ประชุมใหม่อีกครั้ง

ส่วนข้อเสนอของ สศช.ได้สรุปกรอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นมี 95 โครงการ ในช่วงปี 2555-2559 ประมาณ 2,270,085 ล้านบาท แยกเป็นรายสาขาการลงทุนได้ดังนี้ สาขาขนส่งทางบกวงเงิน 1,469,879 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองวงเงิน 187,305 ล้านบาท, การพัฒนาระบบรถไฟ และรถไฟสายใหม่วงเงิน 298,237 ล้านบาท, การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงวงเงิน 481,066 ล้านบาท, การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางวงเงิน 321,316 ล้านบาท, การพัฒนาโครงข่ายถนนและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบวงเงิน 181,954 ล้านบาท ส่วนสาขาขนส่งทางอากาศและทางน้ำวงเงิน 148,504 ล้านบาท สาขาพลังงานวงเงิน 499,449 ล้านบาท สาขาสื่อสารวงเงิน 35,181 ล้านบาท และสาขาสาธารณูปการวงเงิน 117,072 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามความคืบหน้า สามารถแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มที่สามารถดำเนินการได้ ทันที เพราะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 10 โครงการ วงเงิน 159,904 ล้านบาท เช่น แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปี 2553-2557 โครงการลงทุนภายใต้แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 10 ที่ได้ปรับปรุงใหม่ และฉบับที่ 11 ของการไฟฟ้านครหลวง โครงการ FTTx ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

(2) สำหรับกลุ่มที่สอง เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการเสนอ ครม.พิจารณามีจำนวน 20 โครงการ วงเงิน 216,965 ล้านบาท เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิปี 2554-2560 การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ การก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านเพื่อการเดินเรือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล การลงทุนก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย วงเงินลงทุนรวม 11,347 ล้านบาท โครงการลงทุนจัดหารถโดยสารใหม่ 3,183 คัน วงเงินลงทุนรวม 13,162 ล้านบาท เป็นต้น

(3) ขณะที่กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่อยู่ระหว่างการจัดเตรียมแผนงานโครงการ มีจำนวน 65 โครงการ วงเงิน 1,893,215 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสาขาขนส่ง วงเงินลงทุนรวม 1,408,286 ล้านบาท เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เช่น การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขต กทม.และปริมณฑล 10 สายทาง การพัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง การพัฒนารถไฟทางคู่และทางรถไฟสายใหม่ 9 สายทาง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางการพิจารณาแหล่งเงินที่ใช้ลงทุนคาดว่าจะใช้แหล่งเงินลงทุนจากเงินงบประมาณวงเงินรวม 1,136,371 ล้านบาท เงินรายได้รัฐวิสาหกิจและเงินกู้ 721,528 ล้านบาท และการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนวงเงิน 412,186 ล้านบาท.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
nathapong
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 3515
Location: Ayuthaya - Lamlukka - Navanakhon - Silom

PostPosted: 24/04/2012 12:54 pm    Post subject: Reply with quote

จากข่าวข้างบน

Quote:
การพัฒนาระบบรถไฟ และรถไฟสายใหม่วงเงิน 298,237 ล้านบาท, การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงวงเงิน 481,066 ล้านบาท, การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางวงเงิน 321,316 ล้านบาท


เอ ในข่าวไม่เห็นลงในเรื่อง การถ่ายทอดเทคโนโลยี จากเรื่องข้างต้น นี้มั่งเลยวุ้ย ในการประชุมบ่น ๆ ในรายละเอียด ตั้งเยอะ
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44086
Location: NECTEC

PostPosted: 27/04/2012 5:39 pm    Post subject: Reply with quote

เร่งรถไฟฟ้า 10 สาย เพื่อ (ไทย) ปู ดัน "ชมพู-เขียวต่อขยาย-ส้ม" ประมูลปีนี้
ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:48:04 น.

เป็นเวลาร่วม 9 เดือน ที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เข้ามานั่งบริหารประเทศ ล่าสุดเตรียมแถลงผลงานรัฐบาล 3 พฤษภาคมนี้ ซึ่งโครงการ "รถไฟฟ้า 10 สาย" นับเป็นโปรเจ็กต์ไฮไลต์ที่รัฐบาลเพื่อไทยเร่งสร้างผลงานให้ทันวาระ 4 ปี หากเป็นไปตามเป้าหมายนโยบายประชานิยมนั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อาจจะไม่ไกลเกินเอื้อม หลังถูกวิจารณ์หนักถึงความเป็นไปได้ดูจะริบหรี่

สถานะล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย มีทั้งที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 สาย กำลังเปิดประมูลปีนี้ 2 สาย และออกแบบรายละเอียด เริ่มเห็นความคืบหน้าบ้าง เบื้องลึกเบื้องหลัง เพราะเจ้ากระทรวงคมนาคม "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" ยื่นคำประกาศิต ทั้ง 10 สาย ต้องได้เริ่มต้นอย่างน้อยเปิดประมูล หรือตอกเสาเข็มใน 4 ปีนี้

ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้ง "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" และ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ต้องเร่งมือสร้างผลงานให้ประจักษ์โดยพลัน

บางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดวิ่ง พ.ค.นี้

เริ่มที่รถไฟชานเมืองสีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชัน" ก่อสร้าง 5 ปี คืบหน้างานโยธาเสร็จ 100% ผู้รับเหมา "บมจ.ยูนิคฯ" เตรียมส่งมอบงานให้ ร.ฟ.ท.เร็ว ๆ นี้ มีกำหนดเปิดใช้พฤษภาคม 2555 โดยนำรถไฟดีเซลรางมาวิ่งไปพลาง ๆ ระหว่างรอสายสีแดงส่วนเหนือ "บางซื่อ-รังสิต" จะแล้วเสร็จ คาดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพราะงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและระบบรถไฟฟ้า ผูกติดกับสายสีแดงส่วนเหนือ

สีม่วงคืบ 42.2%
สายสีม่วง "บางซื่อ-บางใหญ่" ตลอด 23 กิโลแมตร เวนคืนเสร็จเรียบร้อย 100% ปัจจุบันงานก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา นับจากเริ่มตอกเข็มเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2552 มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 42.2% ช้าจากแผน 19.16%

เหลืองานที่ยังไม่เริ่มต้น 2 โครงการ "งานราง" อยู่ระหว่างพิจารณาเปิดซองเทคนิคของผู้รับเหมา 2 ราย คือ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ วงเงินก่อสร้าง 3,663 ล้านบาท และ "ระบบรถไฟฟ้าและเดินรถ" ล่าสุด คณะกรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2535 กำลังต่อรองราคากับ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีเอ็มซีแอล) ที่เสนอวงเงินลงทุนตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี 93,000 ล้านบาท จากปัญหาที่ยังเคลียร์ไม่จบ ส่งผลให้กำหนดเปิดให้บริการเลื่อนจากเดิมปลายปี 2557 เป็นปี 2558

สีน้ำเงิน เวนคืนยังไม่เสร็จ
ขณะที่สีน้ำเงิน "บางซื่อ-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค" 27 กม. งานเวนคืนที่ดินคืบหน้า 88.62% ช้าจากแผน 6.33% ส่วนงานก่อสร้างทั้ง 5 สัญญา ผลงานโดยรวม นับจากวันที่สตาร์ต 4 เมษายน 2554 คืบ 13.3% ช้าจากแผนประมาณ 2% ส่วนการเดินรถและระบบรถไฟฟ้า รฟม.เตรียมเปิดประมูล

เร่งขยาย "แบริ่ง-สมุทรปราการ"
ที่กำลังเริ่มต้นด้วยดีคือสายสีเขียวต่อขยายจาก "แบริ่ง-สมุทรปราการ" ระยะทาง 13 กม. หลังการเวนคืนรุดหน้าไปได้กว่า 78.27% แม้จะช้าจากแผน 10.58% แต่เพื่อไม่ให้ทั้งโครงการล่าช้า รฟม.ได้ให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง "บมจ.ช.การช่าง" ลงพื้นที่เริ่มงานได้ทันทีเมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยผู้รับเหมาจะปิดการจราจรถนนสุขุมวิทตั้งแต่ 16 เมษายนนี้เป็นต้นไป ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี

งานด้านอื่น ๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้ง "งานวางราง" รฟม.อยู่ระหว่างจัดทำราคากลาง คาดว่าจะประมูลได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ "งานระบบไฟฟ้าและเดินรถ" อยู่ระหว่างเสนอให้บอร์ดรฟม.พิจารณาใช้รูปแบบ PPP หรือให้เอกชนร่วมลงทุนเหมือนสายสีม่วง ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเดือนพฤษภาคมนี้

แดง "บางซื่อ-รังสิต" วนอยู่กับที่
สำหรับสายสีแดง "บางซื่อ-รังสิต" ซึ่งเปิดประมูลมาร่วมปี ยังติดหล่มเรื่องราคาก่อสร้างสัญญาที่ 1 กับผู้รับเหมา "บมจ.ซิโน-ไทยฯ" ทั้งที่เปิดซองราคาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เพราะมีอุปสรรคบางอย่างระหว่างทาง (ซีโนไทยเรียกแพง กระทรวงการคลังรับไม่ได้) ทำให้ค่ายซิโน-ไทยฯ ยังไปไม่ถึงฝั่ง

ล่าสุด กระทรวงคมนาคมกำลังหาแนวทางที่จะผ่าทางตันให้งานเดินหน้าต่อไป โดยสั่งให้ ร.ฟ.ท.ขยายกรอบวงเงินก่อสร้างจากมติ ครม.อนุมัติไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ 75,548 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอยู่ดี ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ร.ฟ.ท.ทำงานแบบเอาง่ายเข้าว่า...ดีดลูกคิดทีเดียว 10% ทั้งโครงการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 80,000 ล้านบาท โดยไม่มีเหตุผลมารองรับว่าเพิ่มขึ้นจากอะไร มีรายการอะไรบ้าง จึงถูกตีกลับ จนป่านนี้ยังไม่รู้ว่าจะจบเร็วหรือช้า หากยังมีการเล่นเกมชักเย่ออยู่อย่างนี้


หมอชิต-สะพานใหม่ แบบยังวุ่น
ส่วนสีเขียวต่อขยาย "หมอชิต-สะพานใหม่" 12 กม. มีทีท่าจะออกสตาร์ตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ต้องมาชะลอหลังคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมให้ปรับตำแหน่งสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บริเวณวงเวียนหลักสี่ ให้เบี่ยงจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกแทน ส่งผลให้การเปิดประกวดราคาเลื่อนไปเป็นปลายปี 2555

ปัจจุบัน การเวนคืนที่ดินยังไม่ได้เริ่ม อยู่ระหว่างกำหนดแนวเขตที่ดินเวนคืน เพราะต้องรอแบบสถานีวัดพระศรีมหาธาตุให้จบ และตำแหน่งของศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) ที่ย้ายจากฐานทัพอากาศไปที่ลำลูกกา คลอง 2 อยู่ในแนวส่วนต่อขยายจาก "สะพานใหม่-คูคต" ระยะทาง 6.7 กม. จึงต้องรวมช่วงนี้ด้วย รฟม.ประเมินว่าจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินได้ในปลายปีนี้

ส่วน "งานระบบไฟฟ้าและเดินรถ" เตรียมเสนอบอร์ด รฟม.อนุมัติ ก่อนจะส่งผ่านกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในเดือนพฤษภาคมนี้

เลื่อนสีชมพู ประมูลปีนี้
มาดูที่สีชมพู "แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี" ระยะทาง 34.5 กม. ที่รัฐบาลชุดนี้กำลังเร่งรัดเป็นพิเศษ ปัจจุบัน รฟม.กำลังทบทวน ปรับปรุงแบบและจัดทำเอกสารประกวดราคา มีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะสร้างเป็นระบบโมโนเรล เพิ่มสถานีใหม่ 6 แห่ง จากเดิม 24 สถานี เป็น 30 สถานี

อีกทั้งจะต้องเวนคืนที่ดินเพิ่ม ทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มจาก 42,000 ล้านบาท เป็น 45,000-50,000 ล้านบาท พร้อมกับเลื่อนการเปิดประมูลจากแพลนไว้ในปี 2556 เป็นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ มีกำหนดเปิดใช้บริการในปี 2560 เร็วขึ้นจากแผนแม่บท 2 ปี


ส้มนำร่อง "ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี"
เช่นเดียวกับสีส้ม "ตลิ่งชัน-มีนบุรี" ระยะทาง 37.5 กม. ที่อยู่ในบัญชีเร่งประมูลในปีนี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา รฟม.ได้เซ็นสัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษา วงเงิน 208.9 ล้านบาท ศึกษาออกแบบและจัดทำเอกสารประกวดราคา จะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ตามแผนจะได้ข้อสรุปอีก 10 เดือนข้างหน้า

แต่บอร์ด รฟม.ได้สั่งให้ที่ปรึกษาเร่งงานเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะช่วง "ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี" ระยะทาง 20 กม. ให้เปิดประมูลภายในปีนี้ เพื่อจะได้รองรับกับสายสีชมพูที่จะมาบรรจบกับสถานีมีนบุรี

ขณะที่สีแดง "บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน" 19 กม. ได้รับนโยบายเร่งก่อสร้างช่วง "บางซื่อ-หัวลำโพง" 6.4 กม.ก่อน แผนงาน ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลในปีนี้ เพื่อให้เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ แต่ดูแนวโน้มแล้วน่าจะไม่ทัน อาจจะต้องเลื่อนเป็นปี 2556 แทน


เดินหน้าขยายสีม่วง-เหลือง
ด้านสีม่วงส่วนใต้ "เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ" 20 กม. และสายสีเหลือง "ลาดพร้าว-สำโรง" 30.4 กม. รฟม.เพิ่งจะออกประกาศจ้างที่ปรึกษามาศึกษา ออกแบบและจัดทำเอกสาร แบ่งเป็นสายสีม่วง 140 ล้านบาท และสีเหลือง 165 ล้านบาท ให้ยื่นข้อเสนอในเดือนมิถุนายน จะลงนามสัญญาจ้างได้ในเดือนกันยายนนี้

โดย "สีม่วง" จะเริ่มประกวดราคาและก่อสร้างก่อนช่วง "รัฐสภา-วังบูรพา" ในปี 2556 เพื่อรองรับกับการเปิดใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย จากนั้นในปี 2557 เปิดประมูลช่วง "วังบูรพา-ราษฏร์บูรณะ" ขณะที่ "สีเหลือง" จะประมูลในปี 2556

ส่วนสายไหนจะเข็นสำเร็จตามเป้า ยังต้องติดตามกันต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 51, 52, 53 ... 284, 285, 286  Next
Page 52 of 286

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©