RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:312080
ทั่วไป:13685079
ทั้งหมด:13997159
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 53, 54, 55 ... 284, 285, 286  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44090
Location: NECTEC

PostPosted: 12/06/2012 9:45 am    Post subject: Reply with quote

การเคหะฯ ชง 2 แนวขายฝันบ้านคนรายได้น้อยใกล้รถไฟฟ้า
ข่าว เศรษฐกิจ
โดย: ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
12 มิถุนายน 2555, 09:20 น.

การเคหะฯ เตรียมพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามแนวรถไฟฟ้า ร่วมถกสนข. รฟม. และรฟท. ชง 2 แนวทางในการใช้ที่ดิน ระหว่างซื้อที่ดินของ รฟม.หรือ รฟม.จัดซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาร่วมกัน...

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายวิฑูรย์ เจียสกุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจน สอดคล้องกับแผนการพัฒนารถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ที่ทางรัฐบาลให้พิจารณาเป็นการเร่งด่วน โดยการประชุมจะนำไปสู่การจัดทำร่างข้อตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การพัฒนาที่ดินของ กคช. ตรงตามวัตถุประสงค์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม กคช. ต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต 2 แนวทาง โดยแนวทางแรก กคช. จัดซื้อที่ดินบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าของรฟม. หรือ รฟม.จัดซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาร่วมกับ กคช.

ทั้งนี้ กคช. มีข้อเสนอในการใช้ที่ดินของ กคช. เพื่อก่อสร้างจุดจอดแล้วจร (Park&Ride) ดังนี้

1. สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เสนอให้รถไฟฟ้าผ่านหน้าโครงการเคหะชุมชนรามอินทรา (แฟลตการเคหะกม. 4)

2. สายสีเขียวเข้ม (สมุทรปราการ-บางปู) เสนอพัฒนาเป็นจุดจอดแล้วจร บริเวณโครงการเคหะชุมชนบางปู (ซอย เทศบาล 49 ถนนสุขุมวิท - บางปู)

3. สายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-คลอง 4) เสนอที่ดิน กคช.บริเวณลำลูกกา คลอง 12 ควรจัดระบบ Feeder เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่สถานีลำลูกกา คลอง 5 ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าปลายทาง

3. สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-พัฒนาการ) เสนอให้รถไฟฟ้าผ่านหน้าโครงการเคหะชุมชนคลองจั่น (ปากซอยเสรีไทย 7) โครงการบ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม (ปากซอยเสรีไทย 41) และหมู่บ้านศรีนวมินทร์ (ซอยนวมินทร์ 45) และ

4. สายสีเหลือง (พัฒนาการ-สำโรง) เสนอให้รถไฟฟ้าผ่านหน้าโครงการบ้านเอื้ออาทรเทพารักษ์ โครงการบ้านเอื้ออาทรสมุทรปราการ (พร้อมมิตร 1, พร้อมมิตร 18)

ทั้งนี้ สนข. รฟม. และรฟท. จะนำข้อเสนอของกคช. ไปพิจารณาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44090
Location: NECTEC

PostPosted: 12/06/2012 10:05 am    Post subject: Reply with quote

รฟม.เริ่มลุยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ′ลาดพร้าว-สำโรง′ ประมูลปลายปี′56
มติชน
วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 08:16:19 น.


นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ภายหลัง รฟม.เปิดให้ผู้สนใจเป็นที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ยื่นซองประกวดราคาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นซองประกวดราคาโครงการละ 2 กลุ่ม หลังจากนี้จะมีการประเมินข้อเสนอแต่ละกลุ่มให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามขั้นตอน รวมถึงราคาที่ยื่นเสนอมา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จึงจะได้ที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินโครงการ

"ที่ปรึกษาจะเข้ามากำหนดรายละเอียด ออกแบบการดำเนินโครงการทั้งหมด รวมถึงวงเงินงบประมาณ หลังจากนั้นจึงจะสามารถประกวดราคาหาบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างได้"

ทั้งนี้ กลุ่มที่เสนอตัวเข้าเป็นที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงดังกล่าว คือ 1.กลุ่มเออีซี ประกอบด้วยบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท Hamburg-Consult บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท ดีทู คอนซัลท์ เอเชีย จำกัด บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด

ส่วนกลุ่มที่ 2 กลุ่มเทสโก้ ประกอบด้วยบริษัท เทสโก้ จำกัด บริษัท ยูทิลิตี้ ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เชนี่ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท องศาสถาปนิก จำกัด บริษัท พีบี เอเชีย จำกัด และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายพีระยุทธกล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงดังกล่าว มีผู้เสนอตัว คือ
1.กลุ่มเออีซี ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสายสีม่วง และกลุ่มทีม ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท แอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด และบริษัท พีบี เอเชีย จำกัด โดยหลังจากคัดเลือกจนได้กลุ่มที่ชนะแล้ว คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาหาบริษัทเอกชนเข้ามาก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2556 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการทั้ง 2 โครงการประมาณปลายปี 2562

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงดังกล่าวระยะทางรวม 20 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.2 กิโลเมตร และทางยกระดับ 6.8 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี วงเงินดำเนินโครงการประมาณ 66,820 ล้านบาท เพื่อรองรับการเดินทางในแนวเหนือ-ใต้ จากพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในและสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ไปถึงพื้นที่ด้านใต้ของฝั่งธนบุรีใกล้บริเวณรอยต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงดังกล่าวระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงินโครงการประมาณ 46,000 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 12/06/2012 1:00 pm    Post subject: Reply with quote

สายสีเหลืองนี่ ตกลงเขาตัดสินใจได้แล้วหรือครับ ว่าจะเป็นโมโนเรล LRT หรือรถไฟฟ้ารางหนัก และบนดินหรือใต้ดิน

สมัยก่อนเคยมีแนวคิดจะทำถนนยกระดับคร่อมถนนลาดพร้าวมาแล้ว แต่โดนต่อต้านหนัก คราวนี้เสียงต่อต้านเงียบ ๆ ไปนะครับ หรือว่าย่านการค้าบนถนนลาดพร้าวซบเซาไปหมดแล้ว

----------------
ตรีศูล
นสพ. เดลินิวส์ ฉบับประจำวันพุธที่ 13 มิถุนายน 2555

............ ขยันเหลือเกินในความพยายามยึด “ของปรุงสำเร็จ” อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสมาเป็นของรัฐ... อยากให้ รมช.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มุ่งไปเร่งงานก่อสร้างรถไฟฟ้าที่คืบหน้าพลาดเป้าเยอะ ......... สายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ ตามคิวเดิมเปิดบริการปี 57 ตอนนี้เร็วสุดปี 58 ... สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน งานทางวิ่งเสร็จเรียบร้อยแต่ไม่มีระบบรถไฟฟ้าไม่มีขบวนรถ การรถไฟฯทำได้แค่เดินรถจักรดีเซลขัดตาทัพ... ภารกิจด่วนคมนาคมอยู่ที่จัดการตรงนี้! ............
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/06/2012 12:17 pm    Post subject: Reply with quote

แฉต้นเหตุรถไฟฟ้า รฟม.สุดอืด
ไทยรัฐออนไลน์ 14 มิถุนายน 2555, 05:30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมถึงความคืบหน้าในการสรรหาผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แทนนายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ 2 ปีก่อนว่า แม้ประธานบอร์ด รฟม.จะมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหาที่มีนายถวัลรัฐ อ่อนศิระ เป็นประธาน ตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.55 และกำชับให้เร่งรัดดำเนินการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่ให้แล้วเสร็จใน 2 เดือน เพื่อให้การขับเคลื่อนรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมแต่กระบวนการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.ใหม่กลับเต็มไปด้วยความล่าช้า

ล่าสุดคณะกรรมการสรรหาเพิ่งประกาศผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ โดยกำหนดให้เข้ารับการสัมภาษณ์ในช่วงวันที่ 22 มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ ขณะที่กระบวนการหลังจากนั้นยังจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน ในการนำเสนอผู้ได้รับการสรรหาต่อบอร์ดและกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า 1 ในผู้สมัครที่เข้ารับการสรรหาจำนวน 7 คน ที่ประกาศออกมาล่าสุดนั้นคือนายรณชิต แย้มสะอาด อดีตรองผู้ว่า การที่ถูกบอร์ด รฟม.ชุดนี้มีคำสั่งให้ไปนั่งเป็นที่ปรึกษา ทั้งที่ยังมีเรื่องฟ้องร้องอยู่กับบอร์ด รฟม.ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะมีความไม่ชอบมา พากลเกิดขึ้นและอาจทำให้กระบวนการสรรหาต้องล่าช้าออกไปอีก

“การที่ รฟม.ยังสรรหาผู้ว่าการใหม่ไม่แล้วเสร็จ ทำให้ว่างเว้นผู้บริหารมาร่วม 2 ปี ทั้งที่กฎหมายรัฐวิสาหกิจกำหนดไว้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น ทำให้เกิดสุญญากาศในการบริหารโครงการ ซึ่งล่าสุด นางกฤตยา สุมิตนันท์ รักษาการผู้ว่าการ รฟม.ออกมายอมรับว่าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ของ รฟม.ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่คืบหน้าไปได้แค่ 44% และต้องเลื่อนเปิดให้บริการจากปี 2557 ไปเป็นปี 2558 ขณะที่รถไฟฟ้าสายอื่นๆ ก็ล่าช้าไปกว่าแผนงานเช่นกัน”.

---------

พม่าดึงคนกลับลุยท่าเรือทวายรถไฟฟ้า10สายป่วน!ขาดแรงงาน
สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1309 ประจำวันที่ 16-6-2012 ถึง 19-6-2012

ก.คมนาคม - พบแล้ว! “ตัวการ” ทำคนกรุงฝันค้าง จำต้องทนกับปัญหารถติดต่อไปหลังโครงการรถไฟฟ้า10 สายอืด ล่าช้ากว่าแผน เหตุผู้รับเหมารายเดียวประมูลได้หลายสัญญา ทำให้เกิดปัญหาขาด แคลนคนงานก่อสร้าง โดยเฉพาะสายสีม่วงคืบหน้าเพียง 44% กว่า จะได้ใช้ต้องรอปี 58 ขณะที่วงการ ก่อสร้างระบุสาเหตุสำคัญที่ทำ ให้ขาดแคลนแรงงาน เพราะพม่าเปิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือทวาย ส่งผลแรงโสร่งพากันกลับประเทศ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทาง ว่า ขณะนี้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหลายสายมีความล่าช้ากว่าแผนมาก ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะผู้รับเหมาอ้างว่าขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากว่าผู้รับเหมารายเดียวได้รับชัยชนะในการประมูลรถไฟฟ้าหลายสายทาง และทุกสายเริ่มก่อสร้างในเวลาพร้อมๆ กัน เรื่องนี้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้รถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมี 3 สายทาง ประกอบด้วย สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ความคืบหน้า 44% มีกำหนดเปิดบริการปี 2558 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการปลายปี 2557 สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีความคืบหน้า 13% กำหนดเปิดให้บริการปี 2559 สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ได้ผู้รับเหมาในวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค

ส่วนอีก 5 โครงการที่คาดว่าจะเริ่มลงนามในสัญญาและลงมือก่อสร้างได้ภายในปี 2555 นี้ ประกอบด้วย
1.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ขณะนี้อยู่ระหว่างที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กลับไปทบทวนรูปแบบการใช้พื้นที่ วัดพระศรีมหาธาตุสร้างสถานี ซึ่งเดิมได้ออกแบบใช้พื้นที่เกาะกลางถนนพหลโยธินบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ไว้ แต่หลังจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา แล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม ควรที่จะกลับไปใช้พื้นที่สำนักงานเขตบางเขน ตามเดิมที่มีการออกแบบไว้ก่อนหน้านี้นั้นคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน
2.สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 27 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดเบา (โมโน เรล) ทาง รฟม.เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาต้นปี 2556 ตั้งเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2560
3.สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ได้ลงนามว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเอ็มเอเอฯ แล้วเพื่อศึกษาทบทวนรายละเอียดต่างๆ
4.สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และ
5.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาหาผู้รับเหมา หากได้ผู้ชนะก็สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ทันที

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คือ สายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ขณะนี้ ร.ฟ.ท.จะรับมอบงานโยธาแล้วพร้อมเปิดใช้โครงสร้างเดินรถไฟภายในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการดังกล่าวถูกออกแบบไว้รองรับระบบรถไฟฟ้า แต่ระยะแรก ร.ฟ.ท.จะนำรถไฟธรรมดาวิ่งให้บริการก่อน เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณสำหรับรถไฟฟ้าจะติดตั้งและเปิดให้บริการเดินรถพร้อมกับส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะใช้เวลาอีก 4 ปี จึงจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าได้สมบูรณ์ และสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ร.ฟ.ท.จะเสนอให้บอร์ดพิจารณาปรับเพิ่มกรอบวงเงิน 80,373 ล้านบาท จากเดิม 75,548 ล้านบาท และจะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ล่าช้ามากว่า 1 ปี เนื่องจากการเปิดซองราคาสัญญาที่ 1 หรืองานก่อสร้างงานโยธา สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง พบว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสนอราคาต่ำสุดเสนอราคาที่ต่อรองแล้วเหลือ 31,170 ล้านบาท ขณะที่กรอบวงเงินของ ร.ฟ.ท.อยู่ที่ 27,344 ล้านบาท ซึ่งตามระเบียบการประกวดราคาของไทยไม่สามารถดำเนินการได้

แหล่งข่าวในวงการก่อสร้าง เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่เฉพาะโครงการรถไฟฟ้าที่ต้องการแรงงาน ในภาคอสังหาฯก็ต้องการแรงงานเช่นกัน และหลายโครงการที่ต้องล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตามปัญหาขาดแคลนแรงงานส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงงานพม่ากลับประเทศเป็นจำนวนมาก หลังจากที่มีโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทวายและท่าเรือทวาย ซึ่งโครงการนี้มีความต้องการแรงงานมากถึง 50,000 คน นอกจากนี้ปัจจุบันค่าแรงในประเทศพม่าก็สูงขึ้นไม่ต่างจากไทยมากนัก ดังนั้นจากนี้ไปเชื่อว่า แรงงานพม่าอาจจะลดลงและปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็จะรุนแรงมากขึ้น
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/06/2012 9:48 pm    Post subject: Reply with quote

เมกะโปรอืด (เจ็กต์)
ไทยโพสต์ คอลัมน์กระจกไร้เงา 21 June 2555 โดย บุญช่วย ค้ายาดี

กระทรวงคมนาคมถือว่าเป็นกระทรวงขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) และมีงบประมาณการลงทุนมูลค่าแต่ละโครงการค่อนข้างสูง สำหรับในปี 2555 นี้ กระทรวงคมนาคมมีโครงการที่จะต้องเดินหน้าเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ด้านการขนส่งทางบก จะดำเนินโครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 3,183 คัน ใช้ ด้านการขนส่งทางน้ำ โดยกรมเจ้าท่ามีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ระยะที่ 1 ลงทุน 12,434 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่าน 2 แห่ง ที่อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี วงเงิน 14,442 ล้านบาท

ด้านการขนส่งทางอากาศ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี ใช้งบลงทุน 62,503 ล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 12.5 ล้านคน/ปี ใช้งบ 5,791 ล้านบาท

ด้าน การขนส่งทางราง โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟฟ้า 10 สายทาง ซึ่งรัฐบาลประกาศว่า ภายในปี 2557 จะต้องมีการประกวดราคาแล้วเสร็จทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีแดง (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน/บางซื่อ-หัวลำโพง), (รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) สายสีม่วง (บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี)

นอกจากนี้ยังมีระบบรางอื่นๆ อีก เช่น โครงการระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ 4 เส้นทาง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2560 ประกอบด้วย สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, สายกรุงเทพฯ-ระยอง, สายกรุงเทพฯ-หัวหิน, โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2 โครงการ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2556 คือ โครงการการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบัวใหญ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม

รวมถึงยังมีแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่อีก 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 1 โครงการ คือ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และอีก 2 โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ ระยะทาง 352 กิโลเมตร คือ ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ในปี 2555 ส่วนที่เหลืออีก 3 โครงการ ระยะทาง 415 กิโลเมตรนั้น ประกอบด้วย เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-ชุมทางจิระและนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน อยู่ระหว่างของบเพื่อศึกษารายละเอียด

ทั้งนี้ โครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ได้ประกาศเป็นนโยบายเดินหน้าเต็มที่ นับตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ 21 มิถุนายน 2555 ก็กว่า 10 เดือนเข้าไปแล้ว ยังไม่เห็นโครงการไหนจะเดินหน้าคืบเลยสักนิดเดียว ไม่รู้ว่าเวลาที่มีกว่า 10 เดือนนั้น บรรดาท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติและท่านรัฐมนตรีทั้งหลายเอาเวลาไปทำอะไรหมด ขนาดเปลี่ยนคนบริหารกระทรวงคมนาคมคนใหม่จากเดิมที่เป็น พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาเป็น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ แทน โครงการต่างๆ ก็ยังเหมือนเดิม อยู่นิ่ง โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ แม้กระทั่งรถไฟความเร็วสูง ที่รัฐบาลประกาศว่าภายในปี 2555 ได้เห็นการลงนามแน่ แต่ก็ยังเงียบ

ดูง่ายๆ แค่โครงการรถไฟฟ้าต่างๆ เช่น สายสีม่วง หลังน้ำลดโครงการยิ่งล่าช้าไปอีก เพราะติดปัญหาขาดแคลนแรงงาน, สายสีแดง ทั้ง 2 ส่วน ส่วนแรกบางซื่อ-ตลิ่งชัน งานโยธาเสร็จเรียบร้อย แต่ยังวิ่งไม่ได้ต้องใช้รถไฟธรรมดาวิ่งให้บริการก่อน เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณสำหรับรถไฟฟ้าจะติดตั้งและเปิดให้บริการเดินรถพร้อมกับส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะใช้เวลาอีก 4 ปี จึงจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าได้สมบูรณ์ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ล่าช้ามากว่า 1 ปีแล้ว เพราะติดขัดปัญหาการเปิดซองราคาสัญญาที่ 1 หรืองานก่อสร้างงานโยธา สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง พบว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสนอราคาต่ำสุดเสนอราคาที่ต่อรองแล้วเหลือ 31,170 ล้านบาท ขณะที่กรอบวงเงินของ ร.ฟ.ท.อยู่ที่ 27,344 ล้านบาท ซึ่งตามระเบียบการประกวดราคาของไทยไม่สามารถดำเนินการได้

ยังมีสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพ-ท่าพระ-บางแค สีเขียว 2 สาย ทั้งหมอชิต-สะพานใหม่-และแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่กำลังก่อสร้างโครงการอยู่ แต่ก็อืดเป็นเรือเกลือ และยังมีอีกสารพัดสีที่รัฐบาลคุยนักคุยหนาว่าจะเดินหน้าก่อสร้างได้ในปี 2555 นี้แน่ ก็ยังไม่คืบ ส่วนโครงการอื่นไม่ต้องพูดถึง อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น

ยังไม่รวมถึงบรรดาราคาของกินของใช้ที่ปรับตัวพุ่งกระฉูด แต่รัฐบาลก็ยังไม่สน ที่เห็นว่าสนใจและเร่งผลักดันแบบดันทุรังให้เดินหน้าไปโดยไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม หลับหูหลับตาผลักดันให้เดินหน้าเร็วยิ่งกว่ารถไฟชินคันเซ็น ก็น่าจะเป็นการเร่งแก้กฎหมายนั้นกฎหมายนี้ ทั้งนิรโทษกรรม พ.ร.บ.ปรองดอง เท่านั้น.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/06/2012 7:47 pm    Post subject: Reply with quote

จับชีพจรรถไฟฟ้า 12 สายอาการโคม่าล่าช้าเพียบ
สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1310 ประจำวันที่ 20-6-2012 ถึง 22-6-2012

โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะอยู่บนดินหรือใต้ดิน ก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางที่ไม่ต้องเสียเวลากับการจราจรติดขัดที่ต้องอยู่บนถนนนานเป็นชั่วโมงๆ ที่สำคัญที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ายังเป็นทำเลทอง ที่บรรดานักลงทุนอสังหาริมทรัพย์จ้องผุดคอนโดฯ รองรับ รวมถึงผุดห้างสรรพสินค้า รวมทั้งอาคารสำนักงานใหม่ๆ

แน่นอนว่า ผู้คนจำนวนมากฝากความหวังไว้กับโครงการรถไฟฟ้าไว้มาก หลายคนถามถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า 12 สายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ ว่าไปถึงไหนแล้ว ทีมข่าว “สยามธุรกิจ” ก็เลยหาคำตอบมาให้ทราบทั่วกันว่า ล่าสุด ความคืบหน้าโครงการถึงไหน และโครงการไหนมีอนาคต มีอุปสรรค โดยมีรายละเอียด ดังนี้

> รถไฟฟ้าที่ดูดีมีอนาคตแต่ล่าช้า

จากการติดตามความคืบหน้า ต้องยอมรับว่าหลายโครงการล่าช้าจริงๆ แต่ก็มีหลายโครงการที่ยังมีอนาคต สำหรับโครงการที่มีอนาคต ประกอบด้วย
1.รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
2.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่
3.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และ
4.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่

เริ่มที่สายสีเขียวอ่อน หลังรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนปลดล็อก ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง สำเร็จ และเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 54 ความต่อเนื่องก็ตามมาเพราะเริ่มก่อสร้าง ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ แล้ว โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนพ.ค. 55 ที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง 28,659.3 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 59 ส่วนสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ มูลค่าโครงการ 36,685 ล้านบาท คงจะปลดล็อกได้ในเร็ววันด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่มีกำหนดเปิดให้บริการมาที่สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีทั้งสิ้น 5 สัญญา เริ่มก่อสร้างเมื่อ 4 เม.ย. 54 และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 59 ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าของโครงการโดยรวม 13% และทุกสัญญาได้ผู้รับเหมาครบ มีเพียงอย่างเดียวที่ยังเป็นอุปสรรค คือ งานล่าช้ากว่าแผน 5%

ส่วนสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ถือว่าล่าช้ามากเช่นกัน มีทั้งสิ้น 6 สัญญา ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 52 และมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2558 ขณะนี้มีความ ก้าวหน้าของโครงการประมาณ 44% และสัญญาที่ 1-5 ได้ผู้รับเหมาแล้ว ยังเว้นสัญญาที่ 6 ซึ่งเป็นงานระบบราง ที่ยังอยู่ระหว่างการสรุปผลการเปิดซองที่ 2 ตามมติคณะกรรม การการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

> สีแดงตลิ่งชันใกล้เสร็จแต่ยังไม่ใช่รถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าที่ติดปัญหาและอุปสรรค ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบาง ซื่อ-ตลิ่งชัน และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต โดย 2 โครงการนี้ แม้ว่าจะอยู่ในแนว เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แต่ติดเงื่อนไขบางอย่างทำให้โครงสร้าง ซับซ้อนมาก จนทำให้โครงการล่าช้าไปนานมาก ที่สำคัญแม้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน ก็ไม่สามารถนำรถไฟฟ้ามาวิ่งได้ จนกว่าสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-รังสิต จะสร้างเสร็จ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิน 4 ปีแน่นอน

> สายสีชมพูยังอยู่บนกระดาษ

มาที่โครงการที่มีแต่แผนบนกระดาษ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ประกอบด้วยสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดเปิดให้บริการ แต่ได้ลงนามสัญญาจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทีม คอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด เพื่อศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมปรับปรุงแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ซึ่งได้เริ่มศึกษาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 55 แล้ว สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ก็ยังไม่มีกำหนดเปิดให้บริการ แต่ได้ลงนามสัญญาจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 55 เพื่อศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาและดำเนินงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ.2535 และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ยื่นซองประกวดราคาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นซองประกวดราคาโครงการละ 2 กลุ่ม หลังจากนี้จะมีการประเมินข้อเสนอแต่ละกลุ่มให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องต่างๆ ตามขั้นตอน รวมถึงราคาที่ยื่นเสนอมา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จึงจะได้ที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินโครงการ คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาหาบริษัทเอกชนเข้ามาก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2556 และพร้อมเปิดให้บริการ ประมาณปลายปี 2562

> สีเทาสมชื่อส่อดับ

ปิดท้ายที่โครงการรถไฟฟ้าที่อนาคตดับวูบไปแล้ว ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9) และสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) เป็นโครงการของกรุงเทพฯ ไม่ใช่โครงการของรัฐบาลแต่อย่างใด ว่ากันว่า เป็นโครงการที่เอามาใช้โฆษณาหาเสียง การที่รถไฟฟ้า 12 สายมีความล่าช้านั้นมี 3-4 ประการ
1.ต่างอ้างว่าขาด แคลนแรงงาน
2.น้ำท่วมทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามที่กำหนด
3.หน่วยงานเจ้าของเรื่องซึ่งก็คือ รฟม. สนข. ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคมไม่ติดตามความคืบหน้า
อย่างไรเสียคงต้องกะเทาะไปที่เจ้ากระทรวงคมนาคมให้เร่งรัดติดตามผลงานให้แล้ว เสร็จโดยเร็ว เพราะประชาชนกำลังตรวจสอบท่านอยู่ !
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44090
Location: NECTEC

PostPosted: 27/06/2012 11:28 am    Post subject: Reply with quote

คมนาคมเร่งประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ชมพูดึงต่างชาติร่วมทุนผู้รับเหมา
โดย คเณ มหายศ
ข่าวรายวัน - ข่าวในประเทศ
ออนไลน์เมื่อ วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2012 เวลา 22:58 น.
รฟม.เร่งประมูลรถไฟฟ้าสีชมพู-ส้มวงเงิน 2 แสนล้าน
หน้าเศรษฐกิจ
ไทยรัฐออนไลน์
วันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2012 เวลา 01:00 น.

คมนาคมเร่งสปีดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ใช้งบลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท “ชัชชาติ” เผยเล็งใช้แพ็คเก็จดึงต่างชาติร่วมทุนผู้รับเหมาไทย คาดเปิดประมูลต้นปี 56 ยันใช้รูปแบบดีไซน์แอนด์บิวด์ทั้ง 2 โครงการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรีและสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ว่า โครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายใช้งบลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) จากเดิม 24 สถานีปรับเพิ่มเป็น 30 สถานี มีระยะทาง 32 กิโลเมตร คณะกรรมการได้มีการทบทวนผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างระบบโมโนเรล (รถไฟฟ้าขนาดเบา) กับเฮฟวี่เรล (รถไฟฟ้าขนาดหนัก) ล่าสุดได้ข้อสรุปให้ใช้เป็นระบบโมโนเรล

ทั้งนี้ในส่วนของมูลค่าการลงทุนจากผลการศึกษาระบบโมโนเรลพบว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50,770 ล้านบาท แต่หากใช้ระบบเฮฟวี่เรลจะใช้งบลงทุนประมาณ 60,839 ล้านบาท โดยลักษณะจะเป็นระบบเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) กับโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่, โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อรัง-รังสิต,โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่(ที่สถานีแคราย)

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) วงเงินลงทุนรวม 1.5-1.6 แสนล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ - จะเริ่มประมูลก่อนในปี 2556 เพราะ พร้อมกว่าระยะอื่น
ระยะที่ 2 บางกะปิ-มีนบุรี และ
ระยะที่ 3 ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน (บางขุนนนท์)

“งบประมาณระยะที่ 1 รวมกับระยะที่ 2 (งานโยธา) คิดเป็นเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่วนระยะที่ 3 (งานโยธา) จะใช้งบประมาณราว 6 หมื่นล้านบาทเช่นกัน รวม 3 ระยะ (งานโยธา) ใช้วงเงินลงทุนรวม 1.3 แสนล้านบาท โดยส่วนที่เหลือจัดเป็นงบเดินรถและจัดหารถอีกประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท” นายชัชชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายจะสามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคาได้ในช่วงต้นปีหน้า ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็นการดีไซน์แอนด์บิวด์ คือ จะก่อสร้างและออกแบบไปพร้อมกัน ซึ่งวิธีการนี้จะคล้ายกับการลงทุนแบบเทิร์นคีย์ คือผู้รับเหมาก่อสร้าง คนออกแบบ และผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้าจะเป็นเจ้าเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ง่ายในการก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ อีกทั้งผู้ผลิตรถโมโนเรลในตลาดปัจจุบันพบว่าจะมีไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งเอกชนที่สนใจจะเสนอการลงทุนสามารถมาร่วมลงทุนกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทยแบบเป็นแพ็กเกจเดียวกันทั้งโครงการได้ทันที
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44090
Location: NECTEC

PostPosted: 02/07/2012 4:28 pm    Post subject: Reply with quote

รีวิวใหม่สายสีชมพู"แคราย-มีนบุรี" เพิ่ม30สถานีรถไฟฟ้า"สนามบินน้ำ-มีนบุรี"เฮสุดสุด
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 2 กรกฎาคม 2555 เวลา 14:25:44 น.

"จารุพงศ์" สั่งทบทวนแผนลงทุนรถไฟฟ้าสีชมพูใหม่ทั้งเส้น เหตุเพราะความเจริญในพื้นที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก ชี้แนวเส้นทางคงเดิม แต่จำนวนสถานีเพิ่มจาก 24 เป็น 30 สถานี "สนามบินน้ำ-มีนบุรี" ได้เฮมีที่จอดรถรวม 1.1 พันคัน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทบทวนผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 2552 โดยสรุปภาพรวมมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมพอสมควร จะเปลี่ยนระบบเดินรถเป็นโมโนเรล (รถไฟฟ้ารางเดี่ยว) วงเงินลงทุนจะถูกกว่ารถไฟฟ้าเฮฟวี่เรล (รถไฟฟ้าขนาดหนัก) ประมาณ 10,000 ล้านบาท

"ผมให้ รฟม.เดินหน้าโครงการนี้โดยเร็วแบบโมโนเรล เพราะผ่านสิ่งแวดล้อมแล้ว หากกลับไปเป็นเฮฟวี่เรลอีกจะเสียเวลาถึง 4 ปี"

นายจารุพงศ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสถานีใหม่อีก 6 สถานี จากเดิม 24 เป็น 30 สถานี โดยปรับตำแหน่งที่ตั้งสถานีให้สั้นลงเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลเมตรต่อสถานี รวมถึงวงเงินก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้น เพราะมีการเพิ่มสถานีใหม่



คงแนวเส้นทางเดิม
แหล่งข่าวจาก รฟม.เปิดเผยว่า รฟม. ได้จัดจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้งฯ วงเงินกว่า 30 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสมอีกครั้งโดยไม่ได้แตะแนวสายทางรูปแบบก่อสร้าง ยังคงเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นคงเดิมที่จุดเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางรถไฟสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ด้านหน้าศูนย์ราชการนนทบุรี แนวรถไฟฟ้าจะเลี้ยวซ้ายแยกแครายเข้า ถ.ติวานนท์ วิ่งไปตามเกาะกลางถนน เลี้ยวขวาที่แยกปากเกร็ดเข้า ถ.แจ้งวัฒนะ ผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 แยกหลักสี่ ผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ ตรงเข้า ถ.รามอินทรา ถึงแยกมีนบุรีตรงเข้าตัวเมืองมีนบุรี ตาม ถ.สีหบุรานุกิจ ไปสิ้นสุดทางแยก ถ.ร่มเกล้า รวมระยะทาง 34.5 กม.

ขยับจุด-เพิ่มใหม่ 6 สถานี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้มีการขยับตำแหน่งสถานีเดิมและเพิ่มสถานีใหม่จากเดิมมี 24 สถานีจะเพิ่มเป็น 30 สถานี พร้อมที่จอดรถ 2 สถานีคือ
สนามบินน้ำ 48 ไร่ จอดรถ 225 คัน และ
มีนบุรี 50 ไร่ อาคารจอดรถ 9 ชั้นสำหรับจอดรถ 1,500 คัน

รายละเอียดสถานี ได้แก่

1) สถานีศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี อยู่บน ถ.รัตนาธิเบศร์ หน้าศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี

2) สถานีแคราย ขยับจากเดิมมาอยู่บริเวณใกล้กับโรงพยาบาลทรวงอกนนทบุรี ระหว่างซอยติวานนท์ 13 และซอยติวานนท์ 15 รองรับแหล่งชุมชน โรงพยาบาล และตลาดมากขึ้น

3) สถานีสนามบินน้ำ ขยับจากเดิมมาอยู่หน้ากรมพลาธิการทหาร ใกล้ทางแยกถนนสนามบินน้ำ ระหว่างแยก ถ.สนามบินน้ำและซอยติวานนท์ 35 รองรับผู้โดยสารจากสนามบินน้ำ

4) สถานีสามัคคี ขยับจากเดิมไปทางซอยติวานนท์ 52 ก่อนแยกเข้า ถ.สามัคคี ให้ใกล้กับแหล่งชุมชนมากขึ้น

5) สถานีกรมชลประทาน ขยับจากเดิมมาใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา ระหว่างซอยติวานนท์ 4 และซอยติวานนท์ 6 เพื่อรองรับผู้โดยสารจากโรงพยาบาลชลประทาน กรมชลประทาน และโรงเรียนชลประทานวิทยาคม

6) สถานีปากเกร็ด ขยับจากตำแหน่งเดิมไปอยู่ระหว่างทางห้าแยกปากเกร็ดกับห้างคาร์ฟูร์ แจ้งวัฒนะ รองรับผู้โดยสารจากชุมชนห้าแยกปากเกร็ด

7) สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ขยับจากเดิมมาใกล้แยก ถ.เลี่ยงเมืองปากเกร็ด
ตัดกับ ถ.แจ้งวัฒนะ มาบริเวณมีพื้นที่ว่างที่จะสามารถสร้างอาคารจอดแล้วจรได้

8) สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 เป็นสถานีใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา อยู่บริเวณใกล้กับกระทรวงยุติธรรม รองรับผู้โดยสารจากซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 และหมู่บ้านสวัสดิการ กทม. (เซนทรัลปากเกร็ดก็ด้วย)

9) สถานีเมืองทองธานี (ม.สุโขทัย) ขยับใหม่ให้อยู่ใกล้ถนนเข้าเมืองทองธานี และสะพานข้ามทางแยกเมืองทองธานี

10) สถานีศรีรัช อยู่บริเวณใกล้ทางด่วนศรีรัช

11) สถานีเมืองทอง 1 ใกล้กับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และห้างบิ๊กซี แจ้งวัฒนะ

12) สถานีศูนย์ราชการ 1 ใกล้กรมการกงสุล ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 9 กับซอยแจ้งวัฒนะ 7

13) สถานีศูนย์ราชการ 2 (ควรใช้ว่า สถานีกระทรวงไอซีที) เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม อยู่ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7 รองรับผู้โดยสารที่เข้าศูนย์ราชการ

14) สถานีหลักสี่ อยู่บริเวณใกล้แยกหลักสี่

15) สถานีราชภัฏพระนคร อยู่หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

16) สถานีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ใกล้กับวงเวียนหลักสี่ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่)

17) สถานีรามอินทรา 3 (ควรใช้ว่ารามอินทรา กม. 1 หรือ อมรินทร์นิเวศน์) เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม ใกล้ห้างเซ็นทรัล รามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 3 และซอยรามอินทรา 5

18) สถานีลาดปลาเค้า อยู่ใกล้ทางเข้า ถ.ลาดปลาเค้า

19) สถานีรามอินทรา 31 (ควรใช้ว่ารามอินทรา กม. 3) เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม ใกล้ห้างสรรพสินค้าฟู้ดแลนด์ ระหว่างซอยรามอินทรา 29 และซอยรามอินทรา 31

20)สถานีมัยลาภ อยู่ระหว่างซอยรามอินทรา 12 และซอยรามอินทรา 14

21) สถานีวัชรพล ใกล้ซอยวัชรพล

22) สถานีรามอินทรา กม.6 เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม อยู่ระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42

23) สถานีรามอินทรา กม.8 อยู่แยกนวมินทร์ระหว่างซอยรามอินทรา 46 และซอยรามอินทรา 48

24) สถานีรามอินทรา 91 เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม อยู่แยกนวมินทร์รามอินทรา กม.8

25) สถานีคันนายาว หน้าห้างแฟชั่นไอส์แลนด์

26) สถานีนพรัตนราชธานี หน้าโรงพยาบาลนพรัตน์ ใกล้แยกเข้าสวนสยาม

27) สถานีบางชัน ใกล้ซอยรามอินทรา 109

28) สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ หน้าโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ

29) สถานีตลาดมีนบุรี ใกล้ตลาดมีนบุรี และ

30) สถานีมีนบุรี อยู่ใกล้ทางแยกร่มเกล้า

เวนคืน 147 ไร่ รื้อ 259 หลัง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ด้านการเวนคืนที่ดิน ตลอดเส้นทางคาดว่าจะมีการเวนคืนพื้นที่รวม 147 ไร่ รื้อสิ่งปลูกสร้าง 259 หลัง คิดเป็นเงินค่าชดเชยทั้งสิ้น 4,458 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 3,896 ล้านบาท และชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 562 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ปรึกษายังปรับระบบการเดินรถของรถไฟฟ้าสายนี้เป็นระบบโมโนเรล (รางเดี่ยว) เนื่องจากเป็นเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ชานเมือง ทำให้บางช่วงเวลาคนมาใช้บริการไม่มากนัก สามารถจัดการในช่วงเวลาที่มีคนน้อยได้ดีกว่า รวมทั้งเสนอแนะให้จัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อรองรับเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย

เงินลงทุนพุ่ง 5 หมื่นล้าน

ด้านงบประมาณลงทุนทั้งโครงการ แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการเพิ่มสถานีใหม่และซื้อขบวนรถเพิ่ม รวมถึงเพิ่มค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด ทำให้มีผลต่อต้นทุนการลงทุนโครงการ จากเดิมเมื่อปี 2552 อยู่ที่ 37,110 ล้านบาท ปรับใหม่เป็น 50,770 ล้านบาท แยกเป็น

ค่าเวนคืนที่ดิน 3,900 ล้านบาท
งานโยธา 19,490 ล้านบาท
งานไฟฟ้าและเครื่องกล 11,089 ล้านบาท
จัดหาขบวนรถ 12,126 ล้านบาท
งานประตูกั้นระหว่างรถไฟฟ้าและชานชาลา (platform screen door) 450 ล้านบาท
ค่าจ้างที่ปรึกษา 1,748 ล้านบาท และ
ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 2,418 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 04/07/2012 4:06 pm    Post subject: Reply with quote

เปิดพิมพ์เขียวแผนลงทุน1.6ล้านล.คมนาคมดึงตปท.ผุดไฮสปีดเทรน-รถไฟฟ้า-ท่าเรือ
ประชาชาติธุรกิจ Wednesday, 04 July 2012 05:52

เปิดพิมพ์เขียวโครงสร้างพื้นฐาน 1.6 ล้านล้านบาท ลุยรถไฟฟ้า 10 สาย รถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน ขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ท่าเรือ มอเตอร์เวย์ ระบบ โลจิสติกส์ รับเออีซี "จารุพงศ์" ย้ำ ทุกโครงการเดินหน้าพร้อมกัน ภายใน 7 ปี

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้วิกฤตยูโรยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากมีเงินกู้ในประเทศสำรองไว้แล้วประมาณ 3 แสนล้านบาท แหล่งเงินจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ขณะเดียวกันมีนักลงทุนต่างชาติสนใจร่วมลงทุนกับไทย ทั้งนี้กระทรวงมีโครงการลงทุนระบบราง 1.64 ล้านล้านบาท ใน 7 ปี (2555-2562) ประกอบด้วย รถไฟฟ้า 10 สาย วงเงิน 640,071 ล้านบาท และโครงการส่งเสริม ระบบโลจิสติกส์ที่จะรองรับการเปิดการค้าเสรีอาเซียน 26 โครงการ วงเงิน 1.001 ล้านล้านบาท

แยกเป็น
1)ทางบก 140,445 ล้านบาท
2)ทางน้ำ 63,215 ล้านบาท
3)ทางราง 712,164 ล้านบาท เช่น
รถไฟทางคู่ 767 กม. วงเงิน 98,315 ล้านบาท
รถไฟสายใหม่ 79,586 ล้านบาท
- สายเด่นชัยเชียงราย-เชียงของ
- ช่วงบัวใหญ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม
และ
- รถไฟเชื่อมกัมพูชา (อรัญประเทศ-ปอยเปต)
รถไฟความเร็วสูง 4 สาย วงเงิน 481,066 ล้านบาท มี
- กรุงเทพฯ-หนองคาย 256 กม. วงเงิน 96,826 ล้านบาท
- กรุงเทพฯ-หัวหิน 225 กม. วงเงิน 82,166 ล้านบาท
- กรุงเทพฯเชียงใหม่ 745 กม. วงเงิน 229,809 ล้านบาท และ
- กรุงเทพฯ-ระยอง 221 กม. วงเงิน 72,265 ล้านบาท

4)ทางอากาศ จะขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงิน 83,503 ล้านบาท และ
5)การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ 2,218 ล้านบาท จะสร้างสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่หนองคาย 969 ล้านบาท และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย 1,522 ล้านบาท

สิ้นปีนี้จะมีประมูลและเซ็นสัญญา 2-3 สาย คือ สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่) และสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เริ่มสร้างปี 2556

นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคม เสริมว่า งานเร่งด่วนคือจัดลำดับความสำคัญโครงการใหม่ มีทั้งโครงการใช้เงินงบประมาณประจำปีและเงินกู้พิเศษ เช่น รถไฟฟ้าจะต้องผลักดันให้เกิดในรัฐบาลชุดนี้ การเร่งมือโครงการรับมือน้ำท่วม การสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี เชื่อมกับท่าเรือนำลึกทวายต้องทำให้ได้ใน 3 ปี

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การเตรียมออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตามนโยบายของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง อยู่ภายใต้แผนการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2.27 ล้านล้านบาท ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่งจะมีเงินลงทุนทั้ง โดยรัฐวิสาหกิจ รัฐบาล และการร่วมทุนกับภาคเอกชน (พีพีพี) ระยะเวลา ดำเนินการ 7-10 ปี

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 - 8 ก.ค. 2555
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 05/07/2012 1:52 am    Post subject: Reply with quote

“โฆษิต” ทำนาย ศก.ไทยโต 6%
นสพ.บ้านเมือง วันที่ 5/07/2555 เวลา 1:46 น.

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คงจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5-6% เพราะฐานการเติบโตในปีที่แล้วต่ำมาก เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วม ทั้งนี้ถ้าการเติบโตในไตรมาสที่ 4 สามารถเติบโตได้เท่ากับไตรมาสที่ 3 ในปีที่แล้ว ก็ถือว่าเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตเลย

สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม นายโฆสิต มองว่าคงจะไม่มีแรงกระตุ้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง เพราะการใช้จ่ายคงจะหมดแล้วในครึ่งปีแรก หลังจากที่รัฐบาลได้เร่งการใช้จ่ายเพื่อการฟื้นฟูน้ำท่วมมาระยะหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของภาครัฐเพื่อการลงทุนในโครงการต่างๆ ควรจะบรรจุอยู่ในงบประมาณประจำปี เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้เงิน และให้สาธารณชนสามารถรับทราบความคืบหน้าของการใช้จ่าย เนื่องจากว่าการใช้เงินมีผลต่อสถานะการเงิน-การคลังของประเทศ เช่น สัดส่วนหนี้สาธารณะ

“การลงทุนของรัฐที่ผ่านมา บางส่วนเกินความจำเป็นและไม่สมดุล เช่น การลงทุนทางด้านถนนในบางพื้นที่มากเกินความจำเป็น แต่การลงทุนเพื่อพัฒนาการขนส่งด้านรถไฟควรจะต้องลงทุนนานแล้ว การลงทุนทางด้านการขนส่งในกรุงเทพฯ มีมาก แต่ขาดการลงทุนเพื่อพัฒนาการขนส่งในเมืองหลัก เช่น การขนส่งในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้โครงการลงทุนต้องเป็นโครงการที่ดี สามารถเพิ่มสถานะของประเทศ และต้องมีการเตรียมการที่ดี ต้องมีความพร้อมในการลงทุน เช่น หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องมีการจัดทำความเป็นไปได้ของโครงการก่อน” นายโฆสิต กล่าว

สำหรับการเติบโตทางด้านสินเชื่อของแบงก์ ประเมินว่าควรจะเติบโตในระยะที่ใกล้เคียงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือประมาณ 6-8% ส่วนการลงทุนของภาคธุรกิจไทยในอนาคต ควรจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้โอกาสในเรื่องการลดต้นทุนการลงทุน เช่น ค่าแรง ทรัพยากร เนื่องจากเป็นข้อจำกัดด้านการลงทุนในประเทศไทย

ด้านนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการหารือร่วมกันเพื่อหามาตรการรับมือวิกฤตการเงินในยุโรปถือเป็นสัญญาณที่ดีและสะท้อนถึงการตื่นตัวของไทย อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการต่างๆ จะต้องใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา โดยวิเคราะห์จากข้อมูล เช่น ผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรม ตัวเลขการส่งออก เพื่อแบ่งมาตรการเป็นระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งนี้ระยะสั้นจะต้องช่วยประคองไม่ให้ผู้ประกอบการเพลี่ยงพล้ำ ด้วยการช่วยดูแลต้นทุน หาที่ขายของให้และสนับสนุนการออกไปหาตลาดใหม่ ขณะที่ระยะยาวต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 53, 54, 55 ... 284, 285, 286  Next
Page 54 of 286

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©