Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 06/07/2012 8:01 pm Post subject:
กระทรวงวิทย์ขอ 4 พันล้านตั้งสถาบันขนส่งทางราง
เนชั่นทันข่าว 6 ก.ค. 55 19:44 น.
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้าจัดตั้งสถาบันขนส่งทางราง เตรียมพร้อมรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ยึดโมเดลเดียวกับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ปักธงไทยเป็นศูนย์กลางพัฒนาระบบรางภูมิภาคอาเซียน
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้เดินหน้าก่อตั้งสถาบันขนส่งทางรางเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน และวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งในระบบราง รองรับโครงการก่อสร้างรถไฟลอยฟ้า รถไฟใต้ดิน และรถไฟความเร็วสูง ตามงบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้กว่า 1.6 ล้านล้านบาท สถาบันดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 4 พันล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี ในการเตรียมพร้อมกำลังคน งานวิจัย และพัฒนาศัยภาพในการดูแลรักษาระบบราง โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่ง ปัจจุบันสถาบันดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัย โดยในปี 2555 ได้จัดอบรมวิศวกรไปแล้ว 2 รุ่น รุ่นละ 35 คน ทั้งนี้ การพัฒนาสถาบันขนส่งทางราง จะใช้โมเดลเดียวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ที่ใช้เวลาประมาณ 15 ปี ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำภาคการผลิตชิ้นส่วนยานยนตร์ส่งออกที่สำคัญของโลก แต่เชื่อว่าระบบรางจะไปได้เร็วกว่า เนื่องจากมีงานวิจัยรองรับ
"ประเทศไทยจะมีความแข็งแกร่งในเรื่องระบบรางได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการดึงให้เอกชนเข้ามาลงทุน ตลอดจนพัฒนากำลังคนในส่วนของวิศวกรให้มีความสามารถในการบำรุงรักษา ตลอดจนสามารถประกอบตัวรถไฟได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติเพียงอย่างเดียวอย่างที่ผ่านมา" นายพรชัยกล่าว
ณ ปัจจุบัน โครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างจัดทำข้อสรุปเรื่องงบประมาณรายจ่าย และรายได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะหัก 0.1% ของรายได้จากค่าโดยสาร ตลอดจนเขียนแผนที่นำทาง (โร้ดแมพ) ที่ชัดเจน ก่อนที่จะยื่นโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเข้าครม. ได้ภายในเดือนกรกฏาคม
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 07/07/2012 8:35 am Post subject:
คอลัมน์: โฟกัส: หุ้นรับเหมา แรงข้ามปี อานิสงส์รถไฟฟ้า-งานรัฐ
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- เสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2555 00:00:58 น.
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. มีมติอนุมัติวงเงินสัญญาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงหรืองานสัญญาที่ 1 ของโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อรังสิต วงเงิน 29,826 ล้านบาท น่าจะส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง
เพราะหุ้นกลุ่มนี้เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีงานใหญ่รอประมูลจำนวนมากเช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง และอีก 5 สายในปี 2556 ขณะที่รัฐบาลทุ่มงบปฏิรูปภาคขนส่งโดยเฉพาะภาคการขนส่งทั้งทางบก น้ำ และอากาศ รวมไปถึงทางรถไฟรางคู่ อีกปีละ 2 แสนล้านบาท ระยะเวลา 5 ปีต่อเนื่อง
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาเก็งกำไรหุ้นรับเหมาอย่างต่อเนื่อง
บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า งานเมกะโปร เจ็กต์ของบรรดากลุ่มรับเหมาก่อสร้าง คือ โครง การรถไฟฟ้าที่รัฐบาลยังคงเป้าหมายก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สาย ให้มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 4 ปี ในสมัยรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งประเมินว่า แม้การประมูลรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ยังไม่มีเกิดขึ้นเลยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีแดง สัญญาที่ 2 หลังจากที่งานรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)สัญญาที่ 1 มีแนวโน้มที่เซ็นสัญญาได้ที่วงเงิน 29,826 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ปรับขึ้นจากกรอบเดิม 10%
ทั้งนี้ หากสัญญาที่ 1 เซ็นสัญญาได้เรียบ ร้อย จะสามารถเปิดซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีแดง สัญญาที่ 2 มูลค่า 21,406 ล้านบาทได้ โดย รฟท. คาดว่าจะประกาศผลประมูลได้ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ โดยมี CK และ ITD เป็นผู้แข่งขันในการประมูลสัญญาที่ 2
ขณะที่รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายในการลงทุนไว้ที่ 438,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1% จากปีก่อนที่ 355,485 ล้านบาท ซึ่งรายจ่ายในการลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 18.1% ของวงเงินงบประมาณปี 2555 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ16.4% ในปีงบประมาณ 2554
ทั้งนี้ ในปีนี้ภาครัฐจะมีการลงทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะงานของกระทรวงคมนาคม โดยจะมีการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่กาญจนบุรี 3 หมื่นล้านบาท,โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่า 7 พันล้านบาท, โครง การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 งบลงทุน 62,503 ล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต งบ 5,791 ล้านบาท, รถไฟฟ้า 10 สายทาง มูลค่า 7.8 แสนล้านบาท,
รถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทาง มูลค่า 6 แสนล้านบาท และรถไฟฟ้าทางคู่ 6 เส้นทาง มูลค่า 8.6 หมื่นล้านบาทโดยมูลค่าลงทุนรวมเฉลี่ยปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ระยะ 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ประเมิน STEC เป็น Top Pick ราคาเป้าหมายที่ 15.30 บาท แนะนำ "ซื้อ" ส่วนราคาเป้าหมาย CK ที่ 8.80 บาท แนะนำ "ซื้อ" และประเมินราคาเป้าหมาย ITD ที่ 4.30 บาท แนะนำ "ซื้อเก็งกำไร" และตามข่าวการประมูล.
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44090
Location: NECTEC
Posted: 09/07/2012 4:41 pm Post subject:
เร่งประมูลรถไฟฟ้า-รางคู่-ไฮสปีด
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวหน้า1 - ข่าวหน้า1
ออนไลน์เมื่อ วันศุกร์ที่ 06 กรกฏาคม 2012 เวลา 23:39 น.
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,755 8-11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
คมนาคมก้นร้อนเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้า-ไฮสปีดเทรน-รางคู่ "ชัจจ์"หวังปลายปีนี้ทยอยเซ็นสัญญา "สร้อยทิพย์"เผยปี 55 เปิดประมูลสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ส่วนสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญา1 เซ็นสัญญาว่าจ้างกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เร่งศึกษาความเหมาะสม ทบทวนและออกแบบรายละเอียดสายสีส้ม สีชมพูและสีเหลือง ข้างบิ๊กรฟม.เผยคณะกรรมการมาตรา 13 เร่งสรุปอีกหลายเส้นทาง
พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า
ขณะนี้กระทรวงกำลังเร่งรัดโครงการรถไฟและรถไฟฟ้าทุกเส้นทางผ่านคณะกรรมการติดตามโครงการ รวมทั้งมีคณะกรรมการจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าทุกเดือน แต่ยังมี ปัญหาความล่าช้าของโครงการเกิดจากการรอผลการรับรองผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ หรือยังอยู่ในช่วงการทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียด การจัดทำเอกสารประกวดราคา และการรอพิจารณารายละเอียดจากหน่วยงานภายนอกกระทรวงคมนาคม เช่น แหล่งทุนไจก้าประเทศญี่ปุ่น การขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กระทรวงการคลังหรืออัยการสูงสุด
+จีน-ญี่ปุ่นชิงไฮสปีดเทรน
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ขณะนี้กำหนดเส้นทางชัดเจนแล้ว และอยู่ระหว่างเร่งสำรวจความเป็นไปได้ โดยมีจีนและญี่ปุ่นให้ความสนใจมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นให้เปรียบเทียบแล้ว
"อยากเห็นการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาสายแรกในปลายปีนี้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงสัก 1 เส้นทาง ส่วนรถไฟฟ้า 10 สายและรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางก็คาดว่าตั้งแต่ปลายปีนี้จะทยอยเซ็นสัญญาได้เช่นกัน" พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าว
ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ในฐานะรักษาการรองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าสำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดประมูลได้ในปี 2555 นี้คือ สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ส่วนสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต(สัญญาที่ 1) จะเซ็นสัญญาว่าจ้างประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมเร่งศึกษาความเหมาะสม-ทบทวน และออกแบบรายละเอียดในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร คณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2555 มีมติรับทราบผลการศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการเปรียบเทียบทางเลือกระบบรถไฟฟ้าได้สรุปว่าระบบโมโนเรลมีความเหมาะสมและได้มีหนังสือนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้หรือช่วงต้นปี 2556
+บางขุนนนท์-มีนบุรี สำโรง-ลาดพร้าวประมูลปีหน้า
สายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร ขณะนี้ที่ปรึกษาได้เริ่มงานช่วงที่ 1 เมื่อ 2 เมษายน 2555 สำหรับการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน ขณะนี้ผลงานมีความก้าวหน้าประมาณ 22% และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ล่าสุดอยู่ระหว่างคณะกรรมการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาพิจารณากำหนดเกณฑ์ประเมินและคัดเลือกข้อเสนอด้านเทคนิค คาดว่าจะสรุปผลประเมินเสนอคณะกรรมการได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้และคาดว่าปีนี้หรือปีหน้าจะทยอยเปิดประมูลก่อสร้างได้อีกหลายเส้นทาง
"ในฐานะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)ร.ฟ.ท.และบอร์ดรฟม.ยืนยันว่าการขับเคลื่อนโครงการรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคมเป็นไปตามแผน โดยสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่อยู่ระหว่างการนำเสนอแบบที่ปรับใหม่ให้คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมเห็นชอบก่อนเปิดประมูล ส่วนสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ สัญญาที่ 4 งานเดินรถขณะนี้คณะกรรมการตามมาตรา 13 ของรฟม.ได้ต่อรองกับบีเอ็มซีแอลเพื่อขอลดราคาลงอีก ส่วนช่วงบางซื่อ-วังบูรพา-ราษฎร์บูรณะ,สายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี, สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรงขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนผลการศึกษา ออกแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะทยอยเปิดประมูลในปี 2556 นี้"
+เปิดความคืบหน้าสายสีน้ำเงิน
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการ(วิศวกรรมและก่อสร้าง)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่าในช่วงเริ่มต้นโครงการรถไฟฟ้าช่วงปีที่ผ่านมาอาจมีปัญหาบ้างในแต่ละสัญญา โดยเฉพาะสัญญาแรก ส่วนสัญญาต่อๆ มาปรากฏว่ารวดเร็วขึ้น สำหรับแนวทางแก้ไขความล่าช้าในเบื้องต้นได้เร่งรัดผู้รับเหมาเร่งชดเชยเวลาในงานก่อสร้างภายหลัง และอีกแนวทางหนึ่งคือการเร่งประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 13 และคณะกรรมการส่วนอื่นๆ ให้บ่อยครั้งขึ้น
สำหรับความคืบหน้าปัจจุบัน(ดูตารางประกอบ) สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค,บางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จประมาณ 95% ช้ากว่าแผน 5.70% ส่วนงานโยธา(สัญญาที่ 1-5) ผลงานแล้วเสร็จประมาณ 16.54% ช้ากว่าแผน 2.94% งานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถ(สัญญาที่ 6) กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการมาตรา 13 ไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมาโดยได้นัดประชุมร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาอีกครั้งเพื่อหารือเรื่องรูปแบบการเดินรถที่เหมาะสม แม้จะยังรอลุ้นศาลปกครองชี้ชัดช่วงก่อสร้างสถานีวัดมังกรกมลาวาส(เล่งเน่ยยี่) ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินแต่ช่วงอื่นๆก็มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
+เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ พร้อมเปิดซอง
ในกรณีสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเสร็จแล้ว 100% ส่วนสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 20 กิโลเมตร งานศึกษาออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ในวงเงิน 140 ล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการดำเนินการที่ปรึกษาได้พิจารณากำหนดเกณฑ์ประเมินและคัดเลือกข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมทั้งได้เปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคของที่ปรึกษาทุกราย คาดว่าจะสรุปผลประเมินเสนอคณะกรรมการภายในเดือนกรกฎาคมนี้ต่อไป
เช่นเดียวกับสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จประมาณ 80% ล่าสุดคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 มีมติอนุมัติให้ขยายกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ครม.อนุมัติเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2551 จากเดิม 675 ล้านบาท เป็น 1,305 ล้านบาท ส่วนงานโยธา-ทางวิ่ง/สถานี/เดโป(สัญญาที่ 1)เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ 1 มีนาคม 2555 ผลงานคืบหน้า 0.16% เร็วกว่าแผน 0.12% ในส่วนงานโยธา-ราง(สัญญาที่ 2) อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารประกวดราคาและจัดทำราคากลาง โดยคณะกรรมการได้มีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 คาดว่าจะเปิดประมูลใน 1-2 เดือนนี้ งานระบบรถไฟฟ้า-เดินรถ(สัญญาที่ 3) คณะกรรมการรฟม.ได้เห็นชอบการปรับปรุงรายงานตามร่างพระราชบัญญัติการร่วมทุนกับเอกชนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการเดินรถบีทีเอส และงานที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง ล่าสุดได้ลงนามสัญญากับกลุ่มบริษัทโชติจินดามูเซล คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปผลการศึกษาดังกล่าว
สำหรับช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตรนั้นยังอยู่ระหว่างการรอความเห็นชอบผลการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ กรณีปรับแบบบริเวณสถานีวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ส่วนงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อออกพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดิน
+เท29.8หมื่นล.ผุดศูนย์ซ่อมบางซื่อ
นายจเร รุ่งฐานีย์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ร.ฟ.ท.เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ- รังสิต ว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ได้อนุมัติวงเงินสัญญาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงเป็น 29,826 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวได้มีการประกวดราคาและยื่นซองเสนอราคามาตั้งแต่ธันวาคม 2553 โดยมีการเสนอราคาต่ำสุด 34,650 ล้านบาท(ลดลงจากราคาเดิมประมาณ 5,000 ล้านบาท) ส่วนงานสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ - รังสิต) การพิจารณาเอกสารประกวดราคาด้านเทคนิคผ่านการเห็นชอบจาก JICA เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับงานสัญญา 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า) รอการเปิดซองราคา เมื่อพิจารณาผลการประกวดราคาสัญญา 1 เรียบร้อยแล้ว
สำหรับช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันปัจจุบันงานการก่อสร้างเส้นทางแล้วเสร็จสมบูรณ์ เหลือเพียงงานตกแต่งสถานีและการวางระบบอาณัติสัญญาณ งานส่วนต่อขยายจากสถานีตลิ่งชัน - ศิริราชนั้นการรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อสำรวจออกแบบและจัดทำเอกสารประกวดราคาฯ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ไปเมื่อ 27 เมษายน 2555 และที่ปรึกษาได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2555 เป็นต้นมาขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 11/07/2012 11:04 pm Post subject:
เตรียมแจ้งเกิดตั๋วร่วมจ่ายใบเดียวเชื่อมต่อขนส่งทุกระบบใน 1 ปี
เดลินิวส์ วันพุธที่ 11 กรกฎาคม 2555 เวลา 22:39 น.
ปลัดกระทรวงคมนาคม เผย เตรียมทำตั๋วร่วมใช้งานร่วมกับระบบของการขนส่งทุกประเภท ขสมก. ร.ฟ.ท บขส. เรือด่วนเจ้าพระยา และทางด่วน เริ่มทดลองใช้งานได้ภายใน 1 ปี
วันนี้ (11 ก.ค.) นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดรูปแบบ และแนวทางการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เร่งจัดทำระบบตั๋วร่วมให้ใช้งานร่วมกับระบบของการขนส่งทุกประเภท เช่น รถไฟฟ้าทุกประเภท รถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) เรือด่วนเจ้าพระยา ทางด่วน โดยจะเริ่มทดลองใช้งานได้ภายใน 1 ปี หากใช้ระบบตั๋วร่วมกับการขนส่งทุกระบบได้ จะช่วยประหยัดและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้มาก ได้เสนอให้ทำโปรโมชั่นสำหรับการเดินทางแบบ 1 วัน 3 วัน 7 วันหรือ1 เดือนให้เดินทางได้ทุกระบบ แต่รายละเอียดเรื่องส่วนแบ่งรายได้แต่ละระบบต้องหารือให้ได้ข้อยุติร่วมกันก่อน
ทั้งนี้ภายใน 2 3 เดือนนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลระบบตั๋วร่วม จะต้องเร่งว่าจ้างที่ปรึกษา เสนอแนวทาง และการวางระบบของตั๋วร่วมที่จะใช้ร่วมกันให้แล้วเสร็จ ส่วนระบบชำระเงินแบบหักบัญชีร่วมกัน (เคลียร์ริ่งเฮาส์) เสนอให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามาดำเนินการ เพราะอยู่ระหว่างการทำระบบตั๋วค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ ให้กับกรมทางหลวง หลังวางระบบแล้วเสร็จ จะเปิดให้ทุกสถาบันการเงินเข้ามาเชื่อมต่อระบบได้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วน สนข. ต้องว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษา และกำหนดรายละเอียดของแผนในการดำเนินโครงการ วงเงิน 714 .3 ล้านบาท ศึกษาเพื่อจัดทำทำระบบการใช้ตั๋วร่วม 305.3 ล้านบาท และติดตั้งระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์ 409 ล้านบาท ระยะดำเนินการ 4 ปี ช่วงแรกอาจนำระบบมาทดลองใช้กับระบบขนส่งที่ใช้อยู่และพัฒนาเชื่อมกับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีแผนจะแล้วเสร็จในปี 58.
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44090
Location: NECTEC
Posted: 11/07/2012 11:18 pm Post subject:
^^^
เวอร์ชัน ผู้จัดการรายวันจะเป็นแบบนี้
ตั๋วร่วมได้ฤกษ์ตรียมจ้างที่ปรึกษาวางระบบ ตั้งกรุงไทย Clearing House เริ่มใช้ปี 58
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 กรกฎาคม 2555 20:52 น.
ศิลปชัย เผย สนข.เตรียมจ้างที่ปรึกษาวางกรอบและมาตรฐานระบบตั๋วร่วม เสร็จใน 6 เดือนนี้ และให้แบงก์กรุงไทยเป็น Clearing House บริหารรายได้ทั้งหมด ชี้ทำมาตรฐานกลางทั้ง BTS -BMCL ใช้ร่วมได้ ตั้งเป้าใช้จริงปี 58 พร้อมเปิดเดินรถสายสีม่วง
นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ว่า ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วมที่ทุกระบบขนส่งสามารถใช้ร่วมกันได้ (Program Management Service : PMS) ภายใน 2 เดือนนี้ โดยจะต้องสรุปแบบมาตรฐานบัตรและกำหนดกรอบนโยบายในการดำเนินงานภายใน 6 เดือน และประมาณกลางปี 2556 จะมีการทำระบบเชื่อมต่อ และเริ่มทดสอบระบบในปี 2557 เพื่อให้ทันการใช้จริงในปี 2558 ซึ่งจะเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ)
ทั้งนี้ ทางบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS แจ้งว่า ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ BTS และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL จะเริ่มใช้สมาร์ทการ์ด หรือบัตร Rabbit (แรบบิต) เป็นระบบตั๋วร่วมของรถไฟฟ้า BTS กับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ส่วนกระทรวงคมนาคมนั้นจะกำหนดระบบกลางของตั๋วร่วมที่ใช้กับรถไฟฟ้า 10 สาย ซึ่งเป็นของรัฐ และเป็นระบบที่ทาง BTS และ MRT สามารถเข้ามาใช้ร่วมได้ด้วย และอนาคตจะใช้ร่วมกับรถเมล์ เรือ ทางด่วน รถ บขส. จนถึงการซื้อของในร้านค้าต่างๆ ได้ด้วย
สำหรับศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางสำหรับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Clearing House Central) นั้น นายศิลปชัยกล่าวว่า ตามนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้นโยบายว่า หากงานใดไม่มีความชำนาญอย่าทำเอง ดังนั้นจะมอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นแบงก์รัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันกรุงไทยทำหน้าที่เป็น Clearing House ให้กรมทางหลวง (ทล.) ในการบริหารรายได้ของมอเตอร์เวย์อยู่แล้ว ส่วน BTS นั้นใช้ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งจะมีการเจรจาเพื่อเข้ามาร่วมถือหุ้นใน Clearing House กลางก็ได้
โดยการว่าจ้าง PMS จะใช้เงินจากโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL) วงเงิน 305.30 ล้านบบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดสรรงบประมาณในปี 2555 ให้ โดย PMS มีระยะดำเนินงานรวม 4 ปี
ตั๋วร่วมมีหลายระบบ ที่ปรึกษาจะศึกษาหาระบบที่ดีที่สุดมาใช้ ซึ่งอาจจะตรงกับที่ทาง BTS และ BMCL ใช้ก็ได้ แต่หลักการคือทุกระบบขนส่งต้องใช้ร่วมกันได้ ซึ่งใน 4 ปีรถไฟฟ้าครบ 10 สาย ใช้ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จำนวนผู้โดยสารจะมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งจะเป็นระบบหลัก และเชื่อว่า BTS ก็คงต้องการมาใช้ตั๋วร่วมกัน
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 17/07/2012 6:43 am Post subject:
สนข.ชงแผนลงทุน 8 ปี 1.9 ล้านล้านโหมสร้างรางมากสุดถึง 1.2 ล้าน ล.
มติชน Tuesday, 17 July 2012 06:09
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า จากที่กรณีกระทรวงการคลังเตรียมออก พ.ร.บ.กู้เงินฉบับใหม่วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท รวมแล้วไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอาเซียนนั้น สนข.ได้ส่งกรอบแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งให้กระทรวงคมนาคมแล้ว โดยเป็นแผนลงทุน 8 ปี คือ ปี 2556-2563 วงเงิน 1,990,608.88 ล้านบาท รวม 55 โครงการ ประกอบด้วย สาขาการขนส่งทางถนน 479,122.10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.07 สาขาการขนส่งราง 1,288,034.96 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.71 สาขาการขนส่งทางน้ำ 128,959.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.48 และสาขาการขนส่งทางอากาศ 94,492 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 4.75
ทั้งนี้ ในส่วนของโครงข่ายถนน ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทางหลวงสายหลักเชื่อมภูมิภาค เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้า และสนับสนุนกรอบความร่วมมืออาเซียน โครงการถนนวงแหวนรอบที่ 3 (แนวเส้นทางด้านตะวันออก) ซึ่งจะสามารถรองรับการระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ส่วนโครงข่ายรถไฟ จะเป็นการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วงเงิน 176,808 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 เส้นทาง ได้แก่ สายเหนือ (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) สายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี) สายใต้ (กรุงเทพฯหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ สายตะวันออก (กรุงเทพฯฉะเชิงเทรา-ระยอง) และโครงการหลักจะเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 สาย
อย่างไรก็ตามโครงข่ายทางอากาศ จะเป็นโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 65 ล้านคนต่อปี โครงข่ายทางน้ำ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือปากบารา เพื่อรองรับการค้ากับอินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป
นายจุฬากล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยในปี 2563 จะลดต้นทุนการขนส่งสินค้ารวมเฉลี่ยเหลือ 1.8669 บาท/ตัน จากปัจจุบัน 1.9949 บาท/ตัน คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 52,843 ล้านบาทต่อปี สามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะร้อยละ 6 ลดค่าใช้จ่ายสูญเสียจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล 80,000 ล้านบาท ประหยัดมูลค่าของเวลาในการเดินทาง 108,000 ล้านบาท ลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม 3,600 ล้านบาท และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง จากร้อยละ 2.5 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 5 ในปี 2563 เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำจากร้อยละ 8.5 เป็นร้อยละ 10.5 เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางชายฝั่งจากร้อยละ 6.0 เป็นร้อยละ 7.5 เพิ่มปริมาณผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จาก 47.4 ล้านคนเป็น 77.3 ล้านคน และลดความสูญเสียจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 155,000 ล้านบาทต่อปี
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 17/07/2012 6:06 pm Post subject:
นายกรัฐมนตรีสั่งระดมสมองรับเออีซี 26 ก.ค.นี้
สำนักข่าวไทย วันอังคาร ที่ 17 ก.ค. 2555
ทำเนียบรัฐบาล 17 ก.ค. - น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบว่า ครม.จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์คช็อป เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ครั้งแรกวันที่ 26 กรกฎาคม นี้ เวลา 09.00-16.00 น. โดยการประชุมจะเน้นสามเสาหลักที่เกี่ยวข้องประชาคมอาเซียน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ด้านความมั่นคงและการเมือง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมในภาพรวม มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเลขานุการ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ปลัดกระทรวง หรือผู้แทนเพียงคนเดียว เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดและนำเสนอข้อมูลเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุมก่อน จากนั้น สศช. เตรียมชี้แจงกรอบในการทำงานว่าแต่ละกระทรวงต้องร่วมกันดำเนินการอย่างไร พร้อมให้ทุกกระทรวงเสนอผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในการเข้าร่วมเป็นประชาคม อาเซียน รวมทั้งกำหนดให้แต่ละหน่วยงานชี้แจงรายละเอียดตลอดจนแผนงานและกรอบเวลา เตรียมความพร้อม และประเด็นเร่งด่วนที่ต้องนำมาพิจารณา เช่น อุปสรรคหรือข้อจำกัดที่เกิดจากกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น
น.ส.ศันสนีย์ กล่าวว่า ผลการจัดเวิร์คช็อปครั้งนี้ จะเป็นการประเมินหาทางแก้ไข และวิเคราะห์เป็นรายกระทรวง โอกาสต่อไปจะมีการประชุมแยกเฉพาะสาขา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังต้องการให้แต่ละกระทรวงมีผู้ที่รับผิดชอบเรื่องของอาเซียน โดยเฉพาะเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซี ไทยต้องเร่งปรับตัวใน 6 ด้าน คือ ไทยต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมระยะต่อไปจากพื้นฐานอุตสาหกรรมที่มีอยู่, การปรับตัวของอุตสาหกรรมที่ไทยเสียเปรียบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยางพารา และเอสเอ็มอี, การพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์, การพัฒนาพลังงานทดแทน ให้มีการใช้มากขึ้น, การเร่งพัฒนาทางด้านการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนประเทศในอาเซียน และการเร่งปรับระบบการการเรียนการศึกษาให้ใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมระยะต่อไปต้องเน้นการดึงอุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนาในทุกๆ ด้าน เข้ามาตั้งในไทย การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมการเกษตร การเพิ่มมูลค่าของสินค้าในภาคบริการ การลงทุนผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะในอีก 5-20 ปีข้างหน้า เรื่องสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้ามากขึ้น รวมไปถึงการต่อยอดการผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ในอนาคตจะพัฒนาเป็นไบโอ เคมีคัลที่ไทยได้เปรียบ
ส่วนการเร่งปรับตัวของอุตสาหกรรมที่เสียเปรียบ เช่น กรณีของอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขั้นกลาง เช่น การตัดเย็บ ไทยยังเสียเปรียบเรื่องค่าแรง ซึ่งอาจต้องย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าด้านอุตสาหกรรม ต้นน้ำ เช่น การผลิตผ้าผืน ฟอกย้อมนั้น ไทยได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าพอสมควรแล้ว ส่วนยางพาราไทยต้องเร่งพัฒนาให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น ขณะที่การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับไปสู่ระบบรางให้มากขึ้นเพื่อให้เชื่อมโยงกับเพื่อน บ้าน รวมทั้งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ลดลงด้วยจากปัจจุบันที่สูงถึงร้อยละ 15 ต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี โดยจำนวนนี้ร้อยละ 7 มาจากต้นทุนจากการขนส่งทางถนน โดยคาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้ ระบบรถไฟไทยจะสามารถเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้ทั้งหมด รวมถึงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า
นายอาคม กล่าวด้วยว่า การพัฒนาให้ใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการใช้น้ำมันและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้เร่งใช้ระบบศุลกากรอาเซียน ทั้งระบบซิงเกิล วินโดว์ หรือการใช้ระบบฮาร์โมไนซ์ ซึ่งเป็นระบบสากลที่จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ขณะที่การปรับระบบการเรียนการศึกษาให้ใกล้เคียงกันนั้น เพื่อป้องกันการเสียเปรียบการหางานทำให้อนาคต.- สำนักข่าวไทย
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 18/07/2012 1:01 am Post subject:
ลุ้น...สถาบันขนส่งทางราง
เดลินิวส์ วันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:04 น.
นาตยา คชินทร
ลุ้น..การจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง ที่คาดกันว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเสนอและนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจัดตั้งจากคณะรัฐมนตรีภายในเดือนนี้
เพราะเรื่องนี้... ไม่ควรที่จะรออีกต่อไป
โดยเฉพาะเมื่อมองจากแผนพัฒนาการขนส่งของประเทศ ในระยะไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ที่จะมีการลงทุนในการขนส่งระบบรางอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านบาท ตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และจะสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ในแผน 20 ปีข้างหน้า
...แต่ประเทศไทยกลับตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านนี้อย่างแรง!!!
นคร จันทศร อดีตรองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของประเทศไทย ของ สวทช. บอกว่า ในอดีตที่ผ่านมาการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยใช้วิธีซื้อเทคโนโลยีและจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด และไม่มีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศอย่างเพียงพอ
ผลก็คือเราทำอะไรไม่เป็น ไม่สามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้ จึงต้องพึ่งพาต่างประเทศทุกอย่าง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว โดยเมื่อ 2 ปีก่อน ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคม
ซึ่งจากการศึกษาถึงศักยภาพของประเทศไทย พบว่า เนื่องจากสินค้าในอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นสินค้าเฉพาะทางมีลูกค้าไม่กี่รายในไทย ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะลงทุน ประกอบกับด้วยระเบียบวิธีจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ไม่เอื้อหรือเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะก้าวเข้ามา ปัญหาดังกล่าวทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการขนส่งระบบรางอยู่ในวงจำกัด แม้ว่าไทยจะมีการรถไฟฯมานานกว่า 100 ปีก็ตาม
จากแผนโครงการขนส่งระบบรางมากมาย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเป็นสิ่งจำเป็น คุณนคร บอกว่า สวทช.ได้ร่วมกับ สวทน. หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดโครงการนำร่องในการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ไปแล้ว 1 รุ่น และกำลังรับสมัครรุ่นที่ 2
นอกจากการอบรมเพิ่มเติมเทคโนโลยีเบื้องต้นให้กับผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี แล้ว ยังมีการต่อยอดพัฒนาความสามารถให้ผลิตผลงานออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การเข้าไปร่วมศึกษาและพัฒนาประตูกั้นรางรถไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาคนตกลงไป ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา พัฒนาระบบจำลองการฝึกหัดขับรถไฟ
และจากโครงการนำร่อง ปัจจุบันโครงการพร้อมที่จะก้าวไปสู่การจัดตั้งเป็นสถาบันทางด้านนี้โดยตรง โดยมีเป้าหมายคือ การบูรณาการร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการรถไฟ ภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถไฟ สถาบันการศึกษา และภาครัฐ และสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญรองรับ
งบประมาณต่อเนื่องที่คาดว่าจะต้องใช้คือ ประมาณ 4 พันล้านบาทใน 7 ปี ใช้ทั้งด้านการบริหารงาน การพัฒนาบุคลากร และการสร้างโครงสร้างโรงงานประกอบรถไฟ รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือทดสอบต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนและการประกอบรถไฟ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ทำไม... ภารกิจเหล่านี้จึงอยู่ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่ใช่กระทรวงคมนาคมอย่างที่หลายคนคิด
คุณนคร บอกว่า เพราะเป็นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี และผู้ที่สามารถบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ควรที่จะเป็นคนกลาง ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
คุณนคร ยอมรับว่า อุปสรรคใหญ่หลวงของภารกิจเหล่านี้ก็คือวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างคนต่างอยู่ ทำให้การบูรณาการเป็นเรื่องยาก
และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หากรัฐบาลตระหนักและสนใจที่จะใช้กลไกของสถาบันฯ เป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างยั่งยืนแล้ว
ต้องไม่มีนโยบายซื้ออย่างเดียว เพราะไปไม่รอด ชัวร์!!!.
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 18/07/2012 1:05 am Post subject:
เปิดแผนกู้ 2 ล้านล้านสร้างประเทศ เร่งตอกหมุดโครงสร้างพื้นฐานปี 56
เดลินิวส์ วันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:00 น.
วสวัตติ์ โอดทวี
รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังวางแผนกู้เงินลอตมโหฬาร อีกครั้ง โดยผ่านกระบวนการจัดทำเป็น พ.ร.บ. วงเงินกว่า 1.6-2 ล้านล้านบาท หลังจากที่ลอตแรกได้กู้เงินมาเพื่อซ่อมประเทศหลังเกิดวิกฤติอุทกภัยไปแล้วหลายแสนล้านบาท โดยการกู้เงินครั้งนี้รัฐบาลได้อ้างถึงความจำเป็นที่ต้องจัดเตรียมวงเงินไว้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก น้ำ อากาศ และทางราง ที่ในอนาคตจะล้าหลังหลายประเทศภายในภูมิภาคไม่ได้
เพื่อให้เรื่องราวกระจ่างขึ้นคงต้องให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ผู้ผลักดันการกู้เงินรอบใหม่ ออกมาถอดรหัสเหตุผลสำคัญที่ต้องกู้เงินมหาศาลในครั้งนี้
ถาม : เหตุผลความจำเป็นของการกู้เงิน
ตอบ : การที่รัฐบาลเตรียมกู้เงินครั้งนี้ เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอนัก เมื่อมองการเติบโตระยะยาวที่อยู่ในกรอบ 1-2 ทศวรรษ เห็นว่าการเติบโตได้คงต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยง และระบบโลจิสติกส์ โดยในสายตาของรัฐบาลเองมองว่าประเทศมีความพร้อม เพราะระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ในภาวะเหมาะสม
แม้ว่ายอดหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี จะอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท และรวมเงินกู้เรื่องบริหารจัดงานน้ำแบบบูรณาการ การจัดทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จนสมดุลใน 3-4 ปีข้างหน้า รวมเบ็ดเสร็จแล้วจะเป็นการขาดดุล 500,000 600,000 ล้านบาท ถ้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ การกู้หนี้สาธารณะเพิ่มเพื่อลงทุน ไม่ได้ผิดวิสัยอะไร และการกู้เงินในกรอบ 1.6-2 ล้านล้านบาท จะดำเนินการใน 7 ปี ปีละ 300,000 ล้านบาทเท่านั้น และยังสอดคล้องกับแผนงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีตัวเลขโครงการลงทุนด้านคมนาคมกว่า 2.27 ล้านล้านบาทด้วย
ถาม : กรอบโครงการลงทุนใช้เวลาแค่ไหน
ตอบ : ขั้นตอนปัจจุบันยังต้องพิจารณาโครงการก่อน และคงใช้เวลา 6-7 เดือน จึงจะสรุปได้ โดยล่าสุดได้สั่งการไปยังหน่วยงานราชการที่เป็นเจ้าของโครงการ เช่น กระทรวงคมนาคม ไปจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ก่อนสรุปรายละเอียดเสนอ จากนั้นจึงพิจารณาว่า กระทรวงการคลังจะมีเงินสนับสนุนไหม หรือพร้อมจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ถ้าโครงการไหนคุ้มค่าลงทุน และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะรวมเรื่องเสนอต่อที่ประชุมครม. และรัฐสภาพิจารณาต่อไป
แต่เมื่อทางครม. หรือรัฐสภาพิจารณาแล้วว่า บางโครงการอาจมีปัญหา รัฐบาลไม่ได้ผลักดันโครงการอย่างไม่มีเหตุผล เช่นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังเป็นอีกหน่วยงานที่คอยคัดกรองโครงการว่า แต่ละโครงการเหมาะสมจะเดินต่อหรือไม่ โดยพิจารณาที่ความคุ้มค่าของโครงการเป็นหลัก
ส่วนโครงการลงทุนที่มองไว้หลายโครงการยังเป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือที่เป็นโครงการใหม่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางทั่วประเทศ การก่อสร้างทางหลวงบางเส้นทาง การให้ความสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่สหภาพพม่า ที่รัฐบาลไทยจะสร้างถนนเป็นเส้นทางเชื่อมต่อบริเวณชายแดนไทย-พม่า เพื่อสร้างความสะดวกในการขนส่งสินค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากการสร้างท่าเรือแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตามโครงการเดิมบางโครงการพูดกันมาหลายครั้งแล้ว เช่น การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่เชื่อมระหว่างสถานีพญาไทกับสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน ที่ล่าสุดรัฐบาลมีแนวคิดทำให้สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ดังนั้นจึงต้องเชื่อมต่อสนามบินทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกัน แม้ว่าในอดีตมีหลายคนบอกว่าสนามบินดอนเมืองจะยกเลิกไปแล้ว
ขณะเดียวกันอาจพัฒนาเส้นทางดังกล่าวต่อไปทางภาคตะวันออก เชื่อมเส้นทางถึงจังหวัดชลบุรี แหลมฉบัง พัทยา และอาจต่อเส้นทางไปถึงสนามบินที่สัตหีบได้ หากนโยบายรัฐบาลชัดเจนว่าจะทำสนามบินแห่งที่ 3 ซึ่งไม่แปลกที่เมืองใหญ่ ๆ ในโลกจะมีสนามบิน 2-3 แห่ง แต่ต้องศึกษารายละเอียดก่อน โดยเรื่องทั้งหมดทางกระทรวงคมนาคม ต้องประชุมหารือตัดสินใจอีกครั้ง เพื่อดูความคุ้มค่า ไม่ใช่ทำโครงการเพื่อเอา เงินทอน อย่างเดียว
ถาม : จะเห็นโครงการทั้งหมดได้เมื่อใด
ตอบ : ที่ผ่านมามีหลายคนถามเรื่องนี้มาก โดยส่วนตัว อยากให้หลายโครงการเกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะถ้ายิ่งเกิดเร็วจะเป็นผลดี และมองว่าการดำเนินการต่อจากนี้มีโอกาสสูงที่ทุกโครงการต้องเริ่มพร้อมกัน เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่โครงการนี้เสร็จก่อนแล้วค่อยเริ่มโครงการนั้น เช่น สนามบินสุวรรณภูมิก็ต้องเร่งสร้างรันเวย์ที่ 3 อาคารผู้โดยสาร ทางบกก็มีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา
ส่วนทางรางได้เร่งสร้างทางรถไฟทางคู่ โดยเฉพาะเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่ผ่านความเห็นจากที่ประชุมครม.ไปเร็ว ๆ นี้ ควรเร่งดำเนินการ เพราะมีความสำคัญในการขนส่งสินค้าจากภาคอีสานมายังท่าเรือแหลมฉบังได้เร็วขึ้น ทำให้ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง รวมทั้งเป็นการเชื่อมต่อทางคู่ที่มีอยู่แล้วที่ฉะเชิงเทราด้วย โดยโครงการทั้งหมด เมื่อสั่งให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาความเหมาะสมแล้ว เชื่อว่าตามกรอบที่วางไว้ 6 เดือนคงเสร็จสิ้น และเชื่อว่าในไตรมาสแรกปี 56 การสร้างรันเวย์ที่ 3 จะเริ่มได้เป็นโครงการแรก
ถาม : รูปแบบการลงทุนเป็นอย่างไร
ตอบ : ล่าสุดยังไม่ได้สรุปว่ารูปแบบการลงทุนจะเป็นแบบใด แต่ถ้าศึกษาคำนวณแล้วต้นทุนทั้งหมดอยู่ในกรอบ 1.6-2 ล้านล้านบาทจริง จะทำเรื่องเสนอครม.และรัฐสภาได้เลย และในกรณีที่อาจไม่มีใครมาสนใจลงทุนเลย รัฐบาลพร้อมทำเอง แต่ไม่ใช่รัฐบาลจะดั้นด้นทำเองให้ได้ทั้งหมด เพราะระหว่างที่โครงการต่าง ๆ พร้อม ก็มั่นใจว่า อาจมีผู้เข้ามาติดต่อประสานงานขอทำ หรือร่วมงานกับรัฐด้วยก็เป็นได้ หากเงื่อนไขที่ติดต่อเข้ามาเท่ากับหรือดีกว่าที่ทำเอง พอถึงขั้นสุดท้ายก็คงพิจารณาอีกที
ที่ผ่านมามีคำถามว่า ในอดีตการสร้างโครงการพื้นฐานใหญ่ ๆ ดี แต่ทำไมไม่ทำ มักได้คำตอบว่างบประมาณไม่พอ แต่ทำไมหนี้สาธารณะถึงต่ำ บางโครงการสนใจจัดสรรงบปีแรก คืองบผูกพัน ใช้ปีแรก ๆ ได้ออกแบบ สำรวจ ซึ่งใช้เงินน้อย แต่โครงการใช้เวลาหลายปีและใช้งบผูกพันไปเรื่อย ถึงเวลาเสนอโครงการก็ไม่ค่อยโปร่งใส ว่าใช้เงินรวมกี่หมื่นล้านบาทกันแน่ และที่มีถามมาว่าทำอย่างนี้เลี่ยงงบประจำปีหรือไม่ ก็ไม่ได้ตั้งใจให้เลี่ยง และที่บอกว่าทำแบบนี้คือไปซุกหนี้ ถามว่า...ถ้าทำแบบที่ผ่านมาไม่ง่ายกว่าหรือ ใช้งบปีแรกน้อย ๆ ใช้งบผูกพันเท่าไหร่ไม่บอกถึงเวลาค่อยว่ากัน รองนายกฯ กล่าวทิ้งท้าย.
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 47494
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 21/07/2012 9:18 am Post subject:
ร.ฟ.ท.เร่งโครงการระบบราง
ฐานเศรษฐกิจ Saturday, 21 July 2012 06:16
ร.ฟ.ท.เร่งดันโครงการรถไฟฟ้าทั้งระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ หวั่นอุปสรรคปัญหามวลชนและอีไอเอทำให้ล่าช้า เตรียมเปิดประมูลบางสายในเร็วๆ นี้ด้านสายสีแดงช่วงหัวลำโพงที่ปรึกษานำเสนอขอปรับแบบเป็นสถานีใต้ดิน เหตุบดบังทัศนียภาพแหล่งประวัติศาสตร์หัวลำโพง
แหล่งข่าวระดับสูงการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชนและการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริการจำนวน 13 โครงการว่าล่าสุดแต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปมากแล้วโดยขณะนี้มีการศึกษารายละเอียดและออกแบบเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯเชียงใหม่วงเงิน 100 ล้านบาท,กรุงเทพฯนครราชสีมา วงเงิน 50ล้านบาท, กรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 50 ล้านบาท และเส้นทางรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยาวงเงิน50 ล้านบาทขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)และร.ฟ.ท.หาที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียด คาดว่าภายใน2-3 เดือนนี้จะแล้วเสร็จ
โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 779 ล้านบาท (รวมวงเงินประกวดราคางานควบคุมและก่อสร้าง) ขณะนี้ร.ฟ.ท.ออกแบบแล้วเสร็จ พร้อมขอตั้งงบประมาณปี 2556 เพื่อเตรียมการประกวดราคาเช่นเดียวกับช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 40 ล้านบาทขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดเพื่อเตรียมเอกสารการประกวดราคาต่อไป โดยสนข.เร่งติดตามความคืบหน้า
โครงการรถไฟชานเมืองช่วงบางซื่อพญาไท-มักกะสันวงเงิน150 ล้านบาทและช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนการออกแบบและเตรียมเอกสารประกวดราคาโดยสนข.ได้ส่งเรื่องคืนให้ ร.ฟ.ท.เพื่อเตรียมประกวดราคาในเร็วๆ นี้ ล่าสุดได้รับการรับรองเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วทั้ง 2 ช่วง
สำหรับช่วงหัวลำโพง-มหาชัยนั้นร.ฟ.ท.ได้หารือที่ปรึกษาเพื่อขอปรับแบบตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม(คชก.) นำเสนอเพื่อไม่ให้แนวเส้นทางยกระดับไปบดบังทัศนียภาพหัวลำโพงที่เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ โดยขอให้ปรับเป็นสถานีใต้ดินในช่วงนั้นแทน
"ปัญหาใหญ่ๆที่อาจส่งผลให้โครงการล่าช้ายังเป็นเรื่องมวลชนในบางพื้นที่ไม่ต้องการทางยกระดับเพราะไปบดบังทัศนียภาพสถานที่สำคัญต่างๆจึงต้องเร่งทำความเข้าใจโดยเร็ว ส่วนปัญหาอีไอเอยังมีลุ้นอีกหลายเส้นทาง นอกเหนือจากปัญหาการรองบประมาณจากรัฐบาลที่บางโครงการจะต้องไปตั้งขออนุมัติงบประมาณในปี 2556 และปี 2557 เพื่อมาใช้ดำเนินการทั้งการจ้างที่ปรึกษาและออกแบบรายละเอียดหรือเตรียมประกวดราคาซึ่งทางร.ฟ.ท.ได้พยายามเร่งรัดอย่างต่อเนื่อง"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าสำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย บริเวณจังหวัดระนอง-ชุมพร วงเงินศึกษาจำนวน 15 ล้านบาทนั้นจนถึงขณะนี้นโยบายยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการหรือไม่ ส่วนโครงการศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดราง 1 เมตร สายระยอง-จันทบุรีตราด และทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตรเส้นทางกรุงเทพฯ-ตราด วงเงิน 150 ล้านบาทนั้นยังรองบประมาณจากรัฐบาลเพื่อให้สอดรับกับแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงชลบุรีพัทยาต่อไป
"ส่วนที่ยังกังวลคือโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางโดย 3 เส้นทางที่สนข.ศึกษาเบื้องต้นแล้วเสร็จนั้น คือช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 7,860 ล้านบาท, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระวงเงิน 11,640 ล้านบาท และช่วงนครปฐม-หัวหินวงเงิน 16,600 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามเพื่อทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียด และรอผลอีไอเอซึ่งคงต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน โดยพบว่าปัญหาหลายชุมชนไม่ต้องการให้สร้างเป็นทางยกระดับเช่นเดียวกับช่วงนครปฐม-หัวหินที่คชก.ด้านสิ่งแวดล้อมท้วงติงว่าไม่ควรสร้างเป็นทางยกระดับเพราะไปบดบังพระราชวังที่ประทับ ส่วนช่วงจิระขอนแก่น ยังมีปัญหาด้านมวลชนในพื้นที่เช่นกันแต่ที่น่าจับตาคือช่วงประจวบชุมพรที่น่าจะก่อสร้างได้ก่อนเส้นทางอื่นๆเพราะปัญหามีไม่มาก "
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 22 - 25 ก.ค. 2555
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group