RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311903
ทั่วไป:13575315
ทั้งหมด:13887218
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เตรียมเสนอบอร์ด ขอซื้อรถไฟเพิ่ม 7 ขบวน
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เตรียมเสนอบอร์ด ขอซื้อรถไฟเพิ่ม 7 ขบวน
Goto page Previous  1, 2
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> รถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ARL)
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43714
Location: NECTEC

PostPosted: 20/07/2012 10:59 am    Post subject: Reply with quote

ลองเปรียบเทียบข่าวดูสิครับ
แอร์พอร์ตลิ้งค์ชงครม. ทุ่มซื้อรถใหม่7ขบวน

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 19 กรกฎาคม 2555 21:34 น.



“ชัจจ์”เผยเสนอแผนซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์คลิ้งค์ 7 ขบวนมูลค่า 5.2 พันล้านบาทต่อครม.แล้วคาดพิจารณาใน 2 อาทิตย์นี้ หวังแก้ปัญหารถไม่พอบริการ และทุ่มอีก 300 ล้าน ปลดล็อคระบบเปิดทางขบวน Express Line วิ่งเชื่อมมักกะสันและพญาไท คาดอีก 8 เดือน เสร็จ ขณะที่เตรียมเสนอบอร์ดปรับเงินเดือนพนักงานตามเงื่อนไขก่อนถูกร้องศาลแรงงาน ขณะที่พนักงานแฉการปรับขึ้นเงินเดือนก็ไม่เป็นไปตามเกณฑ์กฎหมายหวั่นมั่วนิ่มเหมือนเดิมอ้างปรับขึ้นเงินเดือนให้แล้ว

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เสนอแผนการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ใหม่จำนวน 7 ขบวนๆ ละ 4ตู้ วงเงินประมาณ 5,200 ล้านบาท (รวมค่าอะไหล่ 10 5 และVAT7%) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว คาดว่าที่ประชุมจะมีการพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์นี้ โดยจะเป็นการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) ราคาตู้ละประมาณ 167 ล้านบาทโดยใช้เงินกู้ หากครม.อนุมัติจะใช้เวลาในการจัดซื้ออีก 1ปี 8 เดือน จึงจะได้รถใหม่มาให้บริการเพิ่ม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจำนวนรถไม่เพียงพอต่อความต้องการไม่สามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการได้ โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น เนื่องจากปัจจุบันมีรถให้บริการ 5 ขบวนเท่านั้น

นอกจากนี้จะมีการลงทุนอีก 300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถขบวน Express Line โดยการวางประแจควบคุมการเดินรถใหม่ที่สถานีมักกะสัน เพื่อเปิดให้ขบวน Express Line สามารถจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีมักกะสันและสถานีพญาไทได้ จากปัจจุบันรถ Express Line ที่วิ่งจากสุวรรณภูมิถึงพญาไทจะไม่สามารถจอดที่สถานีมักกะสันได้ จึงต้องแบ่งการเดินรถ Express Line เป็น 2 แบบ คือ สุวรรณภูมิ-มักกะสัน 2 ขบวนและ สุวรรณภูมิ-พญาไท โดยไม่จอดมักกะสัน 2 ขบวน ทำให้ส่งผลกระทบต่อความถี่ในการให้บริการ ซึ่งครม.อนุมัติการลงทุนแล้วอยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงการคลัง โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการปรับปรุง 8 เดือน

ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า ปัญหาหลักของการเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ในขณะนี้คือไม่สามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการได้ เนื่องจากจำนวนรถมีจำกัด โดยขบวนรถธรรมดา( City Line) มี 5 ขบวน (วิ่ง 4 ขบวน สำรอง 1 ขบวน) ขบวนรถด่วน( Express Line) มี 4 ขวน ชำรุด 1 ขบวน ซึ่งบริษัท
ซีเมนส์ จำกัด กำลังซ่อมแซมคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้ในช่วงเช้าจำนวนผู้โดยสารแออัดเกินความจุที่รองรับได้ 750 คนต่อขบวน โดยผู้โดยสารเฉลี่ย 44,000 คนต่อวัน แบ่งเป็น รถ City Line 42,000 คน รถ Express Line 1,700 คน โดยสถานีพญาไท มีผู้โดยสารประมาณ 12,000 คนตาอวัน มักกะสันประมาณ 4,300 คน สุวรรณภูมิประมาณ 7,000 คน

“การที่รถมีน้อย เพิ่มความถี่ไม่ได้ ทำให้ช่วงเช้าและเย็นที่มีผู้ใช้บริการมากเกิดความแออัด ผู้โดยสารต้องรอรถนาน ส่วนปัญหาอะไหล่ขาดแคลนนั้นยืนยันว่า อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ โดยแต่ละเดือนจะมีงบจัดซื้ออะไหล่ประมาณ 30 ล้านบาท “นายภากรณ์กล่าว

นายภากรณ์กล่าวถึงกรณีพนักงานแอร์พอร์ตลิ้งค์ยังมีปัญหาไม่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการตามข้อตกลงและอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อยื่นเรียกร้องไปยังศาลแรงงานหากฝ่ายบริหารไม่ดำเนินการนั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของบริษัทได้สรุปการปรับเงินเดือนพนักงานโอนย้ายจากศศินทร์ฯ ขึ้น 1 ขั้นแล้ว โดยใช้เกณฑ์ปรับค่าประสบการณ์ คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) แอร์พอร์ตลิ้งค์เห็นชอบได้ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ จากนั้นจะเสนอยังบอร์ดร.ฟ.ท.ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งการปรับจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 โดยยืนยันว่าเรื่องผลตอบแทนต่างๆนั้นพนักงานต้องได้รับตามกรอบกฎหมายรวมถึงมติครม.เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือน15,000 บาท แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเพราะแอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นบริษัทตั้งใหม่และยังไม่แยกออกจากร.ฟ.ท.

**พนักงานแฉมั่วนิ่มอ้างขึ้นเงินเดือน
แหล่งข่าวจากพนักงานแอร์พอร์ตลิ้งค์ กล่าวว่าการปรับขึ้นเงินเดือนให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นมีความล่าช้า ซึ่งผิดกฎหมายแรงงานยกตัวอย่างพนักงานขายตั๋วจบปริญญาตรีได้รับเงินเดือน 8,370 บาท หากมีการปรับขึ้นในการประชุมบอร์ดในวันที่ 25 ก.ค.นี้อีก 5% ก็ยังไม่ถึง 9,000 บาทก็ยังต่ำกว่ากฎหมายแรงงานที่กำหนด ซึ่งขั้นต่ำในระดับปริญญาตรีจะต้องได้รับ 15,000 บาท แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารทำผิดกฎหมายมาตลอด มักยกข้ออ้างว่าเป็นบริษัทใหม่และยังไม่แยกออกจาก ร.ฟ.ท. ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ยังได้รับค่าแรงงานในเกณฑ์ที่ต่ำ

"มีพนักงานจำนวนมากที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และยังต่ำกว่าพนักของบริษัทเอกชน เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัยในสถานีแอร์พอร์ตลิ้งค์เสียอีก ซึ่งขั้นตอนที่ถูกต้องนั้นจะต้องมีการปรับฐานเงินเดือนตามที่รัฐบาลกำหนดก่อน เช่น วันละ 300 บาท ซึ่งเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท แล้วจึงมาปรับฐานการขึ้นอีก 5% และนำขั้นและวุฒิการศึกษามาประกอบจึงถูกต้อง แต่การปรับขึ้นครั้งนี้คาดว่าเป็นการมั่วนิ่มอ้างว่าจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนแต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด" พนักงานแอร์พอร์ตลิ้งค์ กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43714
Location: NECTEC

PostPosted: 01/08/2013 2:02 pm    Post subject: Reply with quote

เตรียมชงซื้อรถแอร์พอร์ตลิงค์7ขบวน "ชัชชาติ"เร่งสรุปปลดล็อคระบบซีเมนส์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 31
31 กรกฎาคม 2556 21:54 น.

คมนาคมเตรียมชงครม. ซื้อรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ 7 ขบวน “ชัชชาติ”นัดถกร.ฟ.ท.-แอร์พอร์ตลิ้งค์ หาทางออก ปลดล็อคระบบอาณัติสัญญาณซีเมนส์ เปิดกว้างรถทุกยี่ห้อวิ่งได้ และเตรียมหารือคลัง ยุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.เป็นหน่วยธุรกิจหรือแยกออกจากร.ฟ.ท. CEO แอร์พอร์ตลิ้งค์เผยผู้โดยสารเพิ่ม คาดเปิด Sky Walk เชื่อมมักกะสันแตะ 6 หมื่นคน/วัน คลัง จับมือคมนาคมจีดเทศกาลหนังสือวันแม่@Airport Link เทิดพระเกียรติ รณรงค์ให้คนไทยรักการอ่าน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะเสนอแผนการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ 7 ขบวนวงเงินรวมประมาณ 5,200 ล้านบาท (รวมอะไหล่สำรอง) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้เข้าสู่ที่ประชุมครม.ทันทีหรือไม่ ยอมรับว่าปัจจุบันขบวนรถไม่เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้จะต้องพิจารณาเรื่องระบบอาณัติสัญญาณที่เป็นของซีเมนส์ในปัจจุบันด้วยว่าจะใช้ระบบเดิมหรือปรับใหม่ให้เป็นระบบที่เปิดกว้างซึ่งในระยะยาวจะมีผลดีมากกว่า

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ จะประชุมกับผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และผู้บริหารแอร์พอร์ตลิ้งค์ถึงการบริหารการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทางแอร์พอร์ตลิ้งค์เสนอจะตัดการเดินรถขบวนรถ Express Line พญาไท เหลือแต่ขบวนมักกะสันเพื่อลดระยะห่างของขบวนลงจากปัจจุบันที่ต้องรอรถ Express นานทำให้มีผู้โดยสารน้อยและไปใช้ขบวน City Line จนแออัด ส่วนการแยกบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ออกจาก ร.ฟ.ท.หรือจะให้กลับไปเป็นหน่วยธุรกิจของร.ฟ.ท.นั้นจะต้องหารือกับทางกระทรวงการคลังด้วย

นายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (CEO) แอร์พอร์ตลิ้งค์กล่าวว่า กรณียังคงใช้ระบบอาณัติสัญญาณของซีเมนส์อยู่จะไม่มีผลต่อยี่ห้อตัวรถที่จะจัดซื้อเพราะสามารถปรับระบบให้ใช้รถได้ทุกยี่ห้อ ซึ่งปัจจุบันจะมีทั้ง CNR,CSR รถของจีน หรือของสเปน ฝรั่งเศส เป็นตัวเลือกซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาลดลงและใช้ระยะเวลาจัดหาเร็วขึ้นโดยขณะที่ทางซีเมนส์พร้อมปรับลดราคาตัวรถทั้ง 7 ขบวนลงเกือบ 1,000 ล้านบาท

โดยปัจจุบันแอร์พอร์ตลิ้งค์มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 5.5-5.6 หมื่นคนต่อวันเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่มีประมาณ 4.2 หมื่นคนต่อวัน โดยเป็นผู้โดยสาร City Line ประมาณ 90% และคาดว่าหลังจากเปิดใช้ทางเดินเชื่อม ( Sky Way) สถานีมักกะสันกับรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่สถานีเพชรบุรี ในวันที่ 10 สิงหาคม คาดว่าการเข้าออกสถานีจะสะดวกขึ้นและผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6 หมื่นคนต่อวันภายในสิ้นปี 2556

ซึ่งระหว่างรอซื้อขบวนรถเพิ่มนั้นจะต้องเร่งซ่อมรถ Express ที่เสีย 1ขบวนให้กลับมาใช้งานได้ภายใน 2 เดือน เพื่อทำให้การเดินรถทั้ง City และ Express ครบทั้ง 9 ขบวน โดยในปี 2557 จะมีการซ่อมหนัก (Over hall)รถที่วิ่งครบ 1 ล้านกิโลเมตรซึ่งรอร.ฟ.ท.เปิดประมูล ,ปรับปรุงประแจควบคุมการเดินรถ ที่มักกะสันเพื่อให้ขบวน Express จอดได้ทั้งมักกะสันและพญาไท ประมารณ 400 ล้านบาทและค่าซ่อมบำรุงประจำปีอีกประมาณ 300 ล้านบาท

คลัง-คมนาคมจัดเทศกาลหนังสือวันแม่@Airport Link

โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน "เทศกาลหนังสือวันแม่@Airport Link" ระหว่างวันที่9 - 18 สิงหาคมนี้ ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นการรณรงค์ให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการอ่าน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์กว่า 100 สำนักพิมพ์ รวม 270 บูท จัดจำหน่ายหนังสือในราคถูก

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการประมูลหนังสือ โดยมีหนังสือพร้อมลายเซ็นต์ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรว่าการกระทรวงกลาโหม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รวมถึงหนังสือเล่มโปรดจากดารานักแสดงชื่อดังมาร่วมประมูล โดยเงินรายได้จากการประมูลจะมอบให้แก่โครงการ PUBAT charity เพื่อใช้งานการกุศลด้านการอ่านรวมถึงโครงการที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก

โดยนายกิตติรัตน์กล่าวว่า การจัดกิจกรรมที่สถานีมักกะสันของแอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นการใช้ทรัพย์สินของร.ฟ.ท.ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมักกะสันถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43714
Location: NECTEC

PostPosted: 06/08/2013 7:32 pm    Post subject: Reply with quote

"กิตติรัตน์-ชัชชาติ"ส่องอนาคตแอร์พอร์ตลิงก์ หนุนงบฯซื้อรถเพิ่ม7ขบวน5พันล้าน-ฟื้นชีพสถานีมักกะสัน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์:
6 สิงหาคม 2556 เวลา 09:23:36 น.


"โต้ง-ชัชชาติ" ยังไม่ฟันธงยุบ-ไม่ยุบแอร์พอร์ตลิงก์ ขอเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ เผยคนเริ่มใช้เยอะขึ้น เตรียมชงรัฐบาลปูเร่งซื้อรถเพิ่ม 7 ขบวน 5.2 พันล้านฟื้นสถานีมักกะสันรับไฮสปีดเทรนสาย "กทม.-ระยอง" ดีเดย์ 10 ส.ค.นี้ เปิดใช้ทางเชื่อมรถไฟใต้ดินดึงคนเข้าระบบ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ต้องรอข้อสรุปจากกระทรวงคมนาคมที่เสนอมา ประกอบการพิจารณาข้อเสนอของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ

ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการรถไฟฯ หรือหน่วยงานอื่น โดยต้องการพิจารณาอย่างรอบคอบ และกระทรวงการคลัง
พร้อมให้ความสนับสนุน



นอกจากนี้ จะต้องเร่งพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน เนื่องจากต่อไปในอนาคตระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จะเป็นรากฐานของรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก จากกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ดังนั้น เส้นทางและแนวทางการดำเนินการจะต้องเริ่มต้นจากกรอบนี้ กล่าวคือพัฒนาสถานีมักกะสันมารองรับ คาดว่ารถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเป็นสายแรกที่มีการดำเนินการ ทางกระทรวงคมนาคมคงจะใช้เวลาอีกไม่นานในการพิจารณาเรื่องโครงสร้างงานโยธา



เปิดทางเชื่อม 10 ส.ค.นี้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยังไม่ตัดสินใจถึงแนวทางการดำเนินการของบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์จะเป็นแนวทางไหน ระหว่างทำตามผลการศึกษาของศศินทร์ฯที่ให้แยกบริษัทและการบริหารดำเนินการออกมาจากการรถไฟฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว หรือจะเป็นแนวทางของนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฯ ที่ต้องการให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟฯเหมือนเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

"เรื่องนี้ไม่เร่งรีบพิจารณาเพราะยังมีเวลาปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เริ่มดีขึ้น มีคนมาใช้บริการมากขึ้นเฉลี่ยวันละ 3-4 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน"

ทั้งนี้ จะปรับปรุงเรื่องการเชื่อมต่อเพื่อให้การมาใช้บริการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จัดให้มีทางเดินเชื่อมกับรถไฟใต้ดินที่สถานีเพชรบุรี เป็นรูปแบบ SKywalk ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว เตรียมเปิดใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 10 สิงหาคมนี้ มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิด ในอนาคตทำให้การเดินทางเข้าออกของ 2 รถไฟฟ้าสะดวกมากขึ้น

ปรับเวลาเอ็กซ์เพรสไลน์

นอกจากนี้ มีปรับปรุงพื้นที่จอดรถ ภูมิทัศน์ด้านหน้า งานที่เหลือคือเรื่องซื้อขบวนรถไฟฟ้าใหม่ จำนวน 7 ขบวน วงเงินไม่เกิน 5,200 ล้านบาท การรถไฟฯเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว รอบรรจุเข้าสู่วาระประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

"สำหรับยี่ห้อรถไฟฟ้ายังไม่สามารถระบุได้ตอนนี้ว่าจะใช้ผู้ผลิตรายเดิมคือบริษัทซีเมนส์ฯหรือไม่ขอดูรายละเอียดก่อน เพราะมีข้อเสนอมา 2 ทางเลือก ใช้เจ้าเดิมหรือจะเปลี่ยนใหม่ แต่จะให้ทางซีเมนส์ปลดล็อกระบบอาณัติสัญญาณให้รถไฟฟ้ายี่ห้อไหนมาวิ่งให้บริการก็ได้เหมือนบีทีเอส เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เราจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด"

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า อีกทั้งจะมีการปรับปรุงการเดินรถให้รวดเร็วขึ้น มีการปรับรถด่วน Express Line บางขบวน วิ่งให้บริการเฉพาะสถานีมักกะสัน-สุวรรณภูมิ เนื่องจากคนใช้น้อย จากเดิมมีบริการจากสถานีพญาไท เนื่องจากสถานีพญาไทจะมีรถธรรมดา City Line ให้บริการอยู่แล้ว และคนใช้บริการมาก ซึ่งจะต้องค่อย ๆ บริหารจัดการไประหว่างรอรถขบวนใหม่ผลิตเสร็จใช้เวลา 2 ปี

ศศินทร์ฯเสนอโมเดลแก้ปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาของศศินทร์ฯที่ออกมา ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) สั่งให้กระทรวงคมนาคมหาแนวทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่มีภาระหนี้อยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยบริหารจัดการองค์กรใหม่ทั้งระบบ ปรับโครงสร้างทางการเงิน และการถ่ายโอนสินทรัพย์ระหว่างการรถไฟฯซึ่งเป็นบริษัทแม่ และบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ในฐานะบริษัทลูก

โดยศศินทร์ฯศึกษาภายใต้โจทย์ที่กระทรวงการคลังให้มา คือแยกบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ออกจากการบริหารจัดการของการรถไฟฯเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ดูความเหมาะสมในการถือหุ้นในบริษัทด้วยระหว่างการรถไฟฯกับกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ทางศศินทร์ฯเสนอแนะให้โอนทรัพย์สินที่เป็นงานระบบ 15,094 ล้านบาท อยู่กับบริษัททั้งหมด ส่วนภาระหนี้ที่ได้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 18,318 ล้านบาท ให้รัฐบาลรับภาระแทน ส่วนที่ดินควรจะให้บริษัทเช่าในราคาถูกจึงจะอยู่ได้ เพื่อสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ปีละ 600 ล้านบาท

วัดใจ "ที่ดินมักกะสัน" แลกหนี้

นอกจากนี้ จะต้องจัดหาเงินกู้ให้บริษัทในอนาคตสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 1,860 ล้านบาท และค่าซื้อรถไฟฟ้าใหม่ 7 ขบวน วงเงิน 5,200 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จภายหลังการโอนทรัพย์สินและแยกองค์กรออกมาแล้ว บริษัทจะมีภาระหนี้ประมาณ 18,765 ล้านบาท ภายใน 20 ปีและจากประมาณการผลดำเนินงานยังขาดทุนกระแสเงินสดอยู่ 7-8 ปี แต่จะไม่เป็นภาระให้กับกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ทางศศินทร์ฯได้จำลองโมเดลกรณีที่แอร์พอร์ตลิงก์เป็นบริษัทรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงอย่างเดียว โดยไม่รับภาระใด ๆ จะมีรายได้จากผลประกอบการจึงสามารถมีผลกำไรในปีแรกของการประกอบการ แต่มีข้อควรระวัง คือกรณียังไม่มีระบบต่าง ๆ ในการประกอบการบริษัทอาจจะต้องกู้ยืมเงินเพื่อจัดหาระบบ ซึ่งหมายถึงจะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ทางศศินทร์ฯได้เสนอผลการศึกษาเบื้องต้นมาแล้วเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2556 โดยยังยึดหลักการเดียวกัน คือแยกบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ออกจากการรถไฟฯ แต่เสนอวิธีการอื่นเป็นทางเลือกคู่ขนานไปด้วย คือให้แลกที่ดินมักกะสันกับหนี้สินของแอร์พอร์ตลิงก์ทั้งหมดกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงการคลังนำที่ดินมักกะสันพื้นที่ 497 ไร่ ไปพัฒนาประโยชน์เพื่อหารายได้ในเชิงพาณิชย์ 30 ปี ประมาณการรายได้อยู่ที่ 30,000-64,000 ล้านบาท แต่การรถไฟฯไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีแผนจะนำที่ดินแปลงนี้มาประมูลหารายได้ระยะยาวเช่นกัน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43714
Location: NECTEC

PostPosted: 30/06/2016 6:42 pm    Post subject: Reply with quote

สกู๊ปพิเศษ เกิดปมยกเลิก ARL7 ขบวน ส่อเสียค่าโง่ 4,400 ล้านบาท
Transport Journal
วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หนังสือพิมพ์ ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ประจำวันที่ 1 - 15 มิถุนายน 2559
เกิดอีก 1 ปมปัญหาในวงการคมนาคม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งค์ (ARL) 7 ขบวน มูลค่า 4,400 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เพื่อนำไปให้บริการเดินรถในเส้นทางแอร์พอร์ตลิ้งค์ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ได้รับคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิ์เสนอราคาเนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วนข้อเสนอทางเทคนิคมีความเหมาะสม


แต่เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา กิจการร่วมค้าซีซีอาร์ ได้รับแจ้งยกเลิกการจัดซื้อโครงการดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ได้มีมติให้ รฟท.ประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ จากประเด็นดังกล่าว ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา กิจการร่วมค้าซีซีอาร์ได้รับหนังสือแจ้งตกลงซื้อรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งค์ 7 ขบวนจาก รฟท.

โดยในข้อตกลงดังกล่าวที่กิจการร่วมค้าซีซีอาร์ ถือเป็นผู้ดำเนินการ จึงได้ติดต่อกับโรงงานผลิตรถไฟฟ้า 7 ขบวน คือโรงงาน Changchun Railway Vehicles ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับทราบ และได้รับแจ้งจากโรงงานผลิตว่าได้ดำเนินการในขั้นตอนผลิตและจัดหาอุปกรณ์ส่วนประกอบต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์สำคัญต้องใช้เวลานานในการสั่งผลิต และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องสั่งซื้อจากประเทศยุโรปไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว ฉะนั้นการแจ้งยกเลิกจาก รฟท. จึงอาจผลเสียหาย และส่อเสียค่าโง่ 4,400 ล้านบาท

ในประเด็นนี้ แหล่งข่าวจากกิจการร่วมค้าซีซีอาร์ ออกมาระบุว่า บริษัทได้ทำหนังสือถึง นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่า รฟท.ขอเร่งรัดนัดหมายทำสัญญาซื้อขายรถไฟฟ้าธรรมดา 7 ขบวน ซึ่งบริษัทขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามทีโออาร์ที่กำหนดไว้ทุกประการ ที่สำคัญ ร.ฟ.ท.ได้มีหนังสือแจ้งตกลงซื้อมายังบริษัท นอกจากนั้นกิจการร่วมค้าซีซีอาร์ยังได้ขยายระยะเวลาการยืนราคาไปจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จึงถือว่ายังได้รับการคุ้มครองการยืนราคาไปจนถึงวันดังกล่าว“ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ ยืนยันได้ดำเนินตามขั้นตอนและข้อกำหนดของการรถไฟฯ ครบทุกประการ และไม่ได้มีการล็อกสเปคอย่างที่มีการ กล่าวอ้างแต่อย่างใด และหลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ ได้รับหนังสือแจ้งตกลงซื้อจากการรถไฟฯ ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ก็ได้ติดต่อกับโรงงานผลิตรถไฟฟ้า 7 ขบวน คือ โรงงาน Changchun Railway Vehicles ประเทศจีน ได้รับทราบ และได้รับแจ้งจากโรงงานผลิตว่าได้ดำเนินการในขั้นตอนผลิตและจัดหาอุปกรณ์ส่วนประกอบต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์สำคัญต้องใช้เวลานานในการสั่งผลิต และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องสั่งซื้อจากประเทศยุโรปไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบหนักต่อ ซีซีอาร์ เป็นอย่างมาก”

ขณะที่ นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ หรือ บอร์ด รฟท. กล่าวว่า กรณีแจ้งยกเลิกการจัดซื้อ 7 ขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์นั้น เป็นไปตามที่ พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รฟฟท.ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถของการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ว่า ระบบอาณัติสัญญาณในปัจจุบันมีความถี่ในการเดินรถที่ 8 นาทีต่อขบวน เมื่อได้รับขบวนรถไฟฟ้าใหม่ 7 ขบวนแล้วก็ไม่สามารถปรับปรุงให้มีความถี่ในการเดินรถต่ำกว่านี้ได้ เนื่องจากมีขบวนรถรวมทั้งสิ้นเกินกว่าที่ระบบอาณัติ สัญญาณและการเดินรถจะรองรับได้ อีกทั้งปัจจุบันถึงกำหนดต้องปรับปรุงระบบและทำการซ่อมบำรุงจึงเห็นสมควรปรับปรุงระบบให้เป็นระบบเปิดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดซื้อ

พร้อมกันนี้ บอร์ด รฟท. ยังมีความเห็นให้ รฟท.ดำเนินการปรับปรุงรถไฟฟ้าด่วนจำนวน 4 ขบวนที่มีอยู่ (12 ตู้) ให้เป็นตู้โดยสารแบบรถไฟฟ้าธรรมดา เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เร่งรัดการทำสัญญาจ้างการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) และให้ รฟฟท.ทยอยส่งขบวนรถเข้าซ่อมบำรุงใหญ่โดยต้องไม่กระทบต่อกรณีให้บริการประชาชน ให้ รฟฟท.ศึกษาระบบอาณัติสัญญาณให้มีความชัดเจนด้วยความรอบคอบ และดำเนินการปรับปรุงให้เป็นระบบเปิดที่ทันสมัยเพื่อรองรับการเดินรถในอนาคต และให้ รฟท.ดำเนินการจัดซื้อรถไฟฟ้าธรรมดาที่รองรับระบบอาณัติสัญญาณที่ปรับปรุงใหม่โดยให้ดำเนินการคู่ขนานกับการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณของ รฟฟท.

ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตามที่การรถไฟฯได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคาซื้อขายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงค์ 7 ขบวน โดยอ้างว่ามีความจำเป็นต้องทบทวนเกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้า Airport Rail Link เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงให้เป็นระบบเปิดที่ทันสมัย รองรับการเดินรถในอนาคตตามความเห็นของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รฟฟท. ซึ่งได้สร้างความกังขาให้กับกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ เป็นอย่างมาก

“ทั้งมองว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคาซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยกระบวนการประกวดราคาเป็นไปโดยราคาถูกต้องโปร่งใสทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ทีโออาร์ และ สเปค ตามที่ รฟฟท.ได้กำหนดไว้ทุกข้อ อีกทั้งทุกกระบวนการยังได้ผ่านการพิจารณาตรวจสอบและกลั่นกรองเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการถไฟฯ คณะกรรมการรถไฟฯ รฟฟท. สนข. สนย. และสปค. สศธ. กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯได้ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบการพัสดุจนเสร็จสิ้นตามขั้นตอนแล้ว” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เสนอราคาจะต้องปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณให้เป็นไปตาม

ทีโออาร์ และ สเปค แต่เมื่อการรถไฟฯใช้เป็นข้ออ้างที่ยกเลิกนั้น เพราะจำเป็นต้องทบทวนเกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้า Airport Rail Link เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงให้เป็นระบบเปิดที่ทันสมัย รองรับการเดินรถในอนาคต จึงเป็นการขัดแย้งกับ ทีโออาร์ และ สเปค ที่ รฟฟท.กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาเลขที่ บฟ.อ/๕๘๐๐๑๓ จึงไม่เป็นธรรมแก่กิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ อีกด้วย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 46867
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/07/2016 11:39 am    Post subject: Reply with quote

แอร์พอร์ตลิงค์เล็งเปิดประมูลรถ9ขบวน
INN News ข่าวเศรษฐกิจ วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2559 10:29 น.

แอร์พอร์ตลิงค์ เล็งเปิดประมูลรถ 9 ขบวนรอบใหม่ คาดแล้วเสร็จภายใน ก.ย. 59 นี้
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง และผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหารถใหม่จำนวน 9 ขบวน ว่า หลังจากที่คณะกรรมการบริษัท ยกเลิกการประมูลครั้งก่อน เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดทางบริษัทฯ ได้ทำการเปิดประมูลขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะจัดขึ้นใหม่อีกครั้งภายใน 2 เดือน และขณะนี้ได้ส่งหนังสือเชิญเอกชน เข้าร่วมการประมูลแล้ว เป็นเอกชนรายเดิมที่ได้เคยยื่นซองเอกสารประกวดราคาแล้ว


ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเดินการประกวดราคาได้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2559 นี้ ขณะเดียวกัน ภายในปีนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. มีแผนสั่งซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จำนวน 7 ขบวน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2 แสนคน/เที่ยว/วัน ตามการเติบโตของนักท่องเที่ยว และขยายสนามบินสุวรรณภูมิ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 43714
Location: NECTEC

PostPosted: 16/03/2017 5:12 pm    Post subject: Reply with quote

ยุบไฮสปีด-อัพเกรดแอร์พอร์ตลิงก์วิ่งทะลุระยอง
16 มีนาคม 2560 เวลา 09:00:37 น.


รัฐเร่งลงทุนรถไฟเชื่อม "ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา" ดูดนักลงทุนบูม EEC พร้อมรื้อใหญ่ไฮสปีดเทรน ควบรวม ระบบแอร์พอร์ตลิงก์ ขยายเส้นทางถึงระยอง ประหยัดงบได้ถึง 40,000 ล้านบาท ดึงเอกชน PPP ก่อสร้าง ระบบ ขบวนรถ จับตา "CP-BTS" ชิงดำ ชี้เป้า 16 บริษัทชั้นนำดึงลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานภายหลังการประชุม คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) สิ้นสุดลง โดยมีข้อเสนอจาก กรศ.ให้รวมโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ให้เป็นโครงการเดียวกัน มีผู้เดินรถรายเดียวกัน (Single Project Single Operator) เพื่อให้เชื่อมโยง 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ในฐานะเมืองการบินภาคตะวันออก (Special EEC Zone : Eastern Aerotropolis หรือ EEC-EA) เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ

ยืดแอร์พอร์ตลิงก์ถึงระยอง

ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการได้ให้เวลาการรถไฟฯ 2 เดือนพิจารณาความเหมาะสม รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193 กม. จะใช้ระบบไหนมารองรับการเดินทางเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา

รวมถึงศึกษารูปแบบลงทุน PPP เนื่องจากโครงการนี้จะให้เอกชนร่วม PPP ทั้งงานโยธา ระบบ และขบวนรถ เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โดยรับสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่าก่อสร้าง ส่วนเอกชนได้สัมปทานเดินรถและพัฒนาเพื่อเชิงพาณิชย์สถานีระยะเวลา 30-50 ปี

"เป้าหมายก็คือ ต้องนั่งรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน จากดอนเมืองไปถึงอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อ โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องลงเปลี่ยนถ่ายรถที่สถานีลาดกระบัง ซึ่งเป็นจุดต้นทางของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ดังนั้นรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์จึงเป็นโครงการที่เหมาะสมที่สุด โดยสร้างไปถึงอู่ตะเภาและระยอง ซึ่งช่วงในเมืองจากดอนเมือง มักกะสัน สุวรรณภูมิ จะวิ่งด้วยความเร็ว 160-180 กม./ชม. แต่เมื่อเลยลาดกระบังแล้วก็เพิ่มความเร็วเป็น 200-250 กม./ชม. เท่ากับไฮสปีดเทรนได้ และให้เอกชนรายเดียวเป็นผู้เดินรถ" แหล่งข่าวกล่าว

ลดต้นทุน 40,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวไปอีกว่า นอกจากนี้ ต้นทุนก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ จะ "ถูกกว่า" ไฮสปีดเทรนสายกรุงเทพฯ-ระยอง ประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือจาก 152,528 ล้านบาท มาอยู่ที่ 110,000-120,000 ล้านบาท

"ถ้าไม่มีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ครบถ้วน จึงต้องเร่งสรุปเพื่อเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุน ที่ผ่านมากลุ่ม CP ก็สนใจจะเข้ามาลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-ระยอง ส่วนกลุ่ม BTS สนใจจะลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง"

จับตา CP-BTS ชิงดำ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่ม CP ได้ส่งรายงานผลสำรวจพื้นที่และข้อเสนอแนะให้กับการรถไฟฯ หลังยื่นข้อเสนอแสดงความสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง โดยร่วมกับพันธมิตรคือ บจ.ซิติก คอนสตรัคชั่นจากฮ่องกง บริษัทด้านก่อสร้าง ออกแบบ ที่ปรึกษา มีสถาบันการเงินสนับสนุน และ บจ.ไหหนาน กรุ๊ป เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ

ผลการลงพื้นที่พบว่า แนวเส้นทางทับซ้อน 4 โครงการ คือ ต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ไปสนามบินอู่ตะเภา, รถไฟไทย-จีนช่วงฉะเชิงเทรา-มาบตาพุด, รถไฟไทย-ญี่ปุ่นจากกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ทำให้มีข้อจำกัดในการก่อสร้าง จึงมีข้อเสนอว่า ถ้าจะทำให้โครงการเร็วขึ้น บริษัทจะลงทุนเฉพาะงานระบบรถและขอเช่ารางของการรถไฟฯแทน

ปั้นสถานีมักกะสันศูนย์กลาง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กรศ.ยังให้มีการปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบันรองรับ และให้สถานีมักกะสัน เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การเชื่อมโยงกรุงเทพฯกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือการเป็น "EEC Gateway" และส่งเสริมการเชื่อมโยง 3 สนามบินโดยรถไฟอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสันให้รองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น

ชี้เป้าบริษัทระดับโลก

สำหรับการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญของโลกให้เข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ล่าสุดคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ได้กำหนดให้มี "ผู้รับผิดชอบ (Account Man-agement)" ในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อจัดทำแผนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) โดยกำหนดรายชื่อนักลงทุนที่จะเป็นเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

1) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท Tesla (สหรัฐ), บริษัท Shanghai Motor (จีน), บริษัท BMW (เยอรมนี), บริษัท Suzuki (ญี่ปุ่น), บริษัท Mercedes-Benz (เยอรมนี) 2) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป้าหมายคือ บริษัท Foxconn (ไต้หวัน) 3) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ บริษัท Reliance Group (อินเดีย), บริษัท Otsuka (ญี่ปุ่น) 4) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ บริษัท Kuka (ญี่ปุ่น)

5) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร บริษัทเป้าหมายนักลงทุนคือ บริษัท Fujifilm (ญี่ปุ่น) 6) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน บริษัท Airbus (ฝรั่งเศส), บริษัท Boeing(อังกฤษ), บริษัท Tianjin(จีน) และ 7) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัล บริษัท Lazada (สิงคโปร์), บริษัท Alibaba (จีน), บริษัท IZP Group (จีน)

โดยสิทธิประโยชน์ที่จะเปิดการเจรจาตรงกับบริษัทเหล่านี้จะอยู่ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560-พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พ.ศ. 2560 และร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> รถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ARL) All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2
Page 2 of 2

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©