Rotfaithai.Com :: View topic - EEC เชื่อมโลกให้ไทยแล่น 29/12/60
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46870
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 30/12/2017 8:50 am Post subject: EEC เชื่อมโลกให้ไทยแล่น 29/12/60
เชื่อมโลกของคุณกับทุกความเป็นไปได้
EEC WE CAN Published on Dec 29, 2017
EEC เชื่อมโลกให้ไทยแล่น เตรียมก้าวไปข้างหน้า และพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกันนะครับ
https://www.youtube.com/watch?v=0D3FdmTSoSA
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46870
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 05/01/2018 10:37 am Post subject:
โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ
1. ลักษณะโครงการ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจังหวัดระยอง พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 260 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน การเดินรถในช่วงที่ผ่านกรุงเทพฯ ชั้นใน จะลดความเร็วลงมาที่ 160 กม./ชม. และจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ในเขตนอกเมือง ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา และสถานีระยอง โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับ โดยมีส่วนที่เป็นอุโมงค์คือ ช่วงถนนพระรามที่ 6 ถึงถนนระนอง 1 ช่วงเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงผ่านเขาชีจรรย์ และช่วงเข้าออกสถานีอู่ตะเภา ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงบนพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ บริเวณฉะเชิงเทรา ค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภา อยู่ที่ประมาณ 500 และ 300 บาทต่อเที่ยว ตามลำดับ
นอกจากนี้ ที่ดินบริเวณย่านมักกะสันของการรถไฟฯ อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟฯ โดยจะเปิดให้เอกชนเช่าใช้พื้นที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยจ่ายผลตอบแทนให้การรถไฟฯ ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามศักยภาพของพื้นที่ โดยกรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของการรถไฟฯ
แนวทางการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน
2. ที่ตั้งโครงการ
แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เริ่มต้นที่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งขนานไปตามเขตทางรถไฟปัจจุบันเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ข้ามถนนประดิพัทธ์ และเชื่อมเข้ากับสถานีพญาไทของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) ซึ่งจะวิ่งบนโครงสร้างปัจจุบันของโครงการ ARL วิ่งผ่านสถานีมักกะสัน และเข้าสู่สถานีสุวรรณภูมิ ในส่วนเส้นทางจากสถานีสุวรรณภูมิจะใช้แนวเส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยอง เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งใช้แนวเส้นทางเรียบทางรถไฟสายตะวันออกในปัจจุบัน ยกเว้นบริเวณสถานีฉะเชิงเทราซึ่งจะต้องทำการเวนคืนที่ดินใหม่เพื่อให้รัศมีความโค้งของทางรถไฟสามารถทำความเร็วได้ โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทราจะตั้งอยู่ด้านข้างของถนนทางหลวงหมายเลข 304 ประมาณ 1.5 กิโลเมตรไปทางทิศเหนือของสถานีรถไฟเดิม หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าบรรจบกับเขตทางรถไฟเดิม และผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นปลายทางของรถไฟเดิม จากนั้นจะวิ่งอยู่บนเกาะกลางของถนนทางหลวงหมายเลข 363 และ 36 และสิ้นสุดที่สถานีปลายทางระยองซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจุดตัดของทางหลวงหมายเลข 36 กับ 3138
แนวเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุน
3. สภาพแวดล้อมที่ตั้งโครงการปัจจุบัน
ที่ตั้งโครงการปัจจุบันมีรถไฟที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ช่วงพญาไทถึงสนามบินสุวรรณภูมิ) รถไฟทางสาม (ช่วงหัวหมากถึงฉะเชิงเทรา) รถไฟทางคู่ (ช่วงดอนเมืองถึงยมราช และช่วงฉะเชิงเทราถึงแหลมฉบัง) และรถไฟทางเดี่ยว (ช่วงยมราชถึงหัวหมาก และช่วงแหลมฉบังถึงมาบตาพุด)
4. วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางรถไฟในกรุงเทพมหานครเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในภาพรวม
- ช่วยประหยัด ลดต้นทุนด้านพลังงานของประเทศและลดปัญหาทางด้านมลพิษทางอากาศ
- ส่งเสริมการขนส่งด้วยระบบราง
- ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัด
- ทำให้การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ EEC
- ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในด้านคมนาคมขนส่งให้ดีขึ้น
5. องค์ประกอบโครงการ
- งานโยธา ประกอบไปด้วย ทางรถไฟยกระดับ ทางรถไฟใต้ดิน (อุโมงค์) สถานีรถไฟความเร็วสูง ศูนย์ซ่อมบำรุง
- งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประกอบไปด้วย ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้ากำลังและไฟฟ้าเหนือศรีษะ
- ระบบสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ระบบประตูกั้นชานชาลา ขบวนรถไฟฟ้า
- การพัฒนาที่ดิน ที่สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีระยอง
- การเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ
6. มูลค่าการลงทุนโครงการให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ
เงินลงทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หน่วย (ล้านบาท)
ค่างานโยธาและงานวางราง 141,838
ค่างานระบบรถไฟ 32,577
การจัดหาตู้รถไฟฟ้า ระยะเริ่มต้น 19,175
ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,114
ค่าที่ปรึกษาโครงการ 5,673
รวมเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูง 203,377
เงินลงทุนพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมที่ดินมักกะสัน (ขนาดประมาณ 140 ไร่) 30,693
เงินลงทุนที่ดินรอบสถานีความเร็วสูง 4 สถานี (ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยอง) ใช้เขตทางเดิม 25,428
รวมเงินลงทุนการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม 56,120
รวมเงินลงทุนทั้งหมด* 259,497
หมายเหตุ * สัดส่วนการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
7. ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ (ก่อสร้างและให้บริการ) ให้เอกชนร่วมทุนฯ
ขึ้นอยู่กับรูปแบบร่วมลงทุนที่เหมาะสมสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการศึกษา คาดว่าจะมีระยะเวลาโครงการ 30 ปี ถึง 50 ปี
8. ผลตอบแทนโครงการ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินขาดความคุ้มค่าทางการเงินเช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้า/รถไฟความเร็วสูงอื่นๆทั่วโลก แต่โครงการมีคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และเมื่อพิจารณาการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์มีความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐกิจ โดยโครงการมีผลตอบแทนทางการเงินและเศรษฐกิจดังนี้
9. รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน
ปัจจุบันอยู่ในช่วงการศึกษาโดย รูปแบบร่วมลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP1 กล่าวคือ ภาครัฐจะดำเนินการเวนคืนที่ดิน และภาคเอกชนจะดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถ เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรูปแบบการรับรายได้ของเอกชน จะแบ่งเป็น City Line ในรูปแบบ Net Cost และ Inter-City Line ในรูปแบบ Gross Cost เพื่อแบ่งรับความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์จะเป็นรูปแบบ PPP1 เช่นเดียวกัน ภาคเอกชนจะได้รับรายได้จากการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ และภาครัฐจะได้รับค่าเช่าจากที่ดินมักกะสัน
10. แผนการปฎิบัติงาน (Timeline)
ประกาศเชิญชวนนักลงทุน กุมภาพันธ์ 2561
ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือก กรกฎาคม 2561
ลงนามในสัญญา กันยายน 2561
เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ พ.ศ. 2566
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46870
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 05/01/2018 5:28 pm Post subject:
สมคิดสั่งคมนาคมสร้างถนน-รถไฟเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวหัวเมืองรอง เร่งไทม์ไลน์โครงข่ายเชื่อมอีอีซี
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 5 มกราคม 2561 - 17:13 น.
สมคิด ลุยงานปี 61 เดินสายมอบนโยบายรายหน่วยงาน บุกกรมทางหลวง เร่งจัดสรรงบสร้างถนนเชื่อมอีอีซี-หัวเมืองรอง กระตุ้นเศรษฐกิจลงภูมิภาค สั่งใช้ยางพาราสร้างถนน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับกระทรวงคมนาคม 2-3 เรื่อง ได้แก่ การเชื่อมต่อโครงข่าย ถนน รถไฟ และท่าเรือให้เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างภาคกับภาค และกลุ่มจังหวัดกับจังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
รวมทั้งให้จัดลำดับความสำคัญโครงการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้อยู่ในงบประมาณปี 2562 เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศ
โครงการของกระทรวงคมนาคมมีจำนวนมากจะต้องเชื่อมโยงกับผู้รับเหมาทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็กในเรื่องความปลอดภัยมาตรฐาน การซื่อสัตย์ไม่ทิ้งงาน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ความสำคัญคือว่าต้องการให้ผู้รับเหมาในอนาคตข้างหน้าเข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างพื้นฐานของไทยในมิติใหม่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ PPP นายสมคิดกล่าว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงข่ายถนนเป็นฟีดเดอร์ที่สำคัญ ในการแก้ปัญหาจราจรโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ หากสร้างทางรถไฟเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมจะใช้ต้นทุนมาก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 ทางหลวงลงทุนไปแล้ว 27,944 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ลงทุนอยู่ที่ 9,251 ล้านบาท ปี 2562 อีก 18,490 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563-2565 อีก 30,000 ล้านบาท ส่วนนี้จะเร่งโครงการมาในงบประมาณปี 2562
ด้านรถไฟขณะนี้มี 2 เส้นทางใหม่ ได้แก่ บ้านไผ่-มุกดาหาร และเด่นชัย-เชียงของ ที่เชื่อมเมืองรอง ท่านรองนายกรัฐมนตรีให้นโยบายให้เชื่อมโยงตะวันออก-ตะวันตก จากเส้นทางแม่สอด-นครสวรรค์ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังศึกษาเหลือช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่มีองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นหรือไจก้าทำการศึกษาความเหมาะสม
การเชื่อมต่อระหว่างตะวันออก-ตะวันตก จะต้องผ่านจังหวัดนครสวรรค์หากมีการสร้างทางรถไฟเชื่อม จะทำให้จังหวัดมีการเติบโต และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และเวียดนาม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเมืองรองอื่นๆ ท่านรองนายกให้ไปดูว่ามีเส้นทางรถไฟไหน ที่เป็นเส้นเลือดฝอย สามารถเกาะเกี่ยวมาในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหรือทางคู่ เช่น ภาคอีสานมีเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-กาฬสินธุ์ และอีสานใต้จิระ-อุบลราชธานี คนที่อยู่ภาคอีสานตอนกลางและภาคอีสานตอนเหนือ จะลงมาอีสานตอนล่างยังไง อาจจะมีเส้นทางขอนแก่น-บุรีรัมย์ หรือยโสธร-ขอนแก่น เป็นต้น มอบให้รถไฟไปศึกษาแนวเส้นทางเพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตของเมืองเล็ก นายอาคมกล่าว และว่า
นอกจากนี้ยังได้ ขอให้ผู้รับเหมาใช้ยางพาราในการก่อสร้างถนนโดยในปี 2561 ตั้งเป้าใช้ยางพารา 4 หมื่นตัน ซึ่งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จะหารือกระทรวงเกษตรต่อไป เพื่อช่วยให้ส่งสริมเกษตรกร ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกับเอกชนผู้ผลิตยางแอลฟัลท์ขอความร่วมมือในการซื้อน้ำยางดิบด้วย
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46870
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 07/01/2018 12:45 pm Post subject:
เปิดไทม์ไลน์อีอีซี 6 โครงการยักษ์เร่งตอกหมุดปี61
ฐานเศรษฐกิจ 6 January 2018
ในปี 2561 นี้การขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ดูเหมือนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าจัดทำระเบียบ สิทธิประโยชน์ ข้อกฎหมายต่างๆ เกือบจะลุล่วงทั้งหมดแล้ว และพร้อมที่จะอ้าแขนเปิดรับนักลงทุนอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ในระยะ 5 ปี(2561-2565) ที่จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ หากมาไล่เลียงโครงการเร่งด่วนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี ที่พร้อมจะให้นักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุน(พีพีพี) ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ได้เห็นชอบกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานไว้แล้ว
++ออกTORไฮสปีดเทรน ก.พ.
โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) ชี้ให้เห็นว่า โครงการแรกที่จะสามารถเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาร่วมลงทุนได้ก่อน คงหนีไม่พ้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะประกาศทีโออาร์ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจะสามารถสรรหาผู้ร่วมทุนได้ในเดือนกรกฎาคม 2561 และหลังจากนั้นเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง ไปแล้วเสร็จเปิดดำเนินการได้ในปี 2566
สำหรับกรอบเงินลงทุนของโครงการนี้ จะแบ่งเป็นส่วนของรถไฟความเร็วสูงประมาณ 1.76 แสนล้านบาท และส่วนพัฒนาพื้นที่มักกะสันและการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.26 แสนล้านบาท
ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะเป็นลักษณะการร่วมลงทุน(พีพีพี) โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าเครื่องกลรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟ ค่าจ้างที่ปรึกษา และการดำเนินงานเดินรถไฟและซ่อมบำรุง ตลอดระยะเวลาโครงการ ขณะที่ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และจะทยอยให้การอุดหนุนเงินดำเนินโครงการเป็นรายปีในระยะยาว ในอัตราที่สอดคล้องกับกำลังงบประมาณของภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับผลตอบแทนทางการเงินที่จูงใจต่อการลงทุน โดยที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้เก็บรายได้จากค่าโดยสารและเป็นผู้รับความเสี่ยงในเรื่องรายได้
++ได้แอร์บัสร่วมลงทุนMRO
อีกทั้ง โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานโดยบริษัท การบินไทยฯ จะเสนอรายงานศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้กนศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พร้อมกับการประกาศเชิญชวนนักลงทุนหรือออกทีโออาร์ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และสามารถหาผู้ร่วมทุนหรือจัดตั้งกิจการร่วมทุนกับภาคเอกชนได้ในเดือนมีนาคม 2561
จากผลการศึกษาโครงการดังกล่าว บริษัท การบินไทยฯจะร่วมลงทุนกับแอร์บัส มีมูลค่าการลงทุนรวม 10,309 ล้านบาท โดยบริษัทร่วมทุนจะลงทุนในอุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยี มูลค่ารวม 3,977 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐจะลงทุนสิ่งปลูกสร้างและงานโยธา มูลค่ารวม 6,332 ล้านบาท
ส่วนโครงการร่วมทุนท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อพัฒนาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ทางกองทัพเรือจะจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะศึกษาเสร็จในเดือนมีนาคม 2561 และหลังจากนั้นจะประกาศทีโออาร์ได้ในเดือนพฤษภาคม 2561 คาดว่าคัดเลือกเอกชนในรูปแบบพีพีพีได้ในเดือนตุลาคม 2561 พร้อมเปิดดำเนินการได้ในช่วงปี 2566 ซึ่งประกอบด้วย 6 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยานประกอบด้วยเขตการค้าเสรีเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ส่วนเม็ดเงินลงทุนนั้น อยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท
++เร่งเดินหน้าขยายท่าเรือ
ต่อด้วยโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการถมทะเล 1 พันไร่ เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติและพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน โดยจะใช้งบลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานราว 1.1 หมื่นล้านบาท และมูลค่างานก่อสร้างท่าเรือ อุตสาหกรรมด้านพลังงาน และการบริหาร อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุนพีพีพีอยู่
โครงการนี้จะจัดทำรายงานความเหมาะสมแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะสามารถประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) ให้เอกชนร่วมทุนได้ในเดือนมิถุนายน 2561 และคัดเลือกและเจรจาต่อรองเอกชนแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2561ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2567
โดยปัจจุบันท่าเรือมาบตาพุด มี 12 ท่าเรือย่อย เป็นท่าเรือเฉพาะ 9 ท่า และท่าเรือสาธารณะ 3 ท่า สามารถขนถ่ายสินค้าโดยรวมประมาณ 43 ล้านตันต่อปีโดย57% เป็นการขนถ่ายนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติในรูปแอลเอ็นจีในอนาคตจะมีความต้องการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นประมาณ 16-32 ล้านตันต่อปี ซึ่งเกินความสามารถปัจจุบันรองรับได้เพียง 10 ล้านตันต่อปี และเชื่อว่าจะมีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมฐานเศรษฐกิจชีวภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
++แหลมฉบังประตูสู่เอเชีย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ เพื่อเป็นประตูสู่เอเชียทางทะเล และเป็นท่าเรือชั้นนำติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกในการขนส่งตู้สินค้า โดยจะมีการก่อสร้างสถานีขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระยะที่ 2 และปรับปรุงระบบในการรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านทางรถไฟให้ได้ 4 ล้านตู้ต่อปี โดยประมาณค่าก่อสร้างท่าเรือและปรับปรุงสถานีขนส่งฯราว 1.558 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะจัดทำรายงานความเหมาะสมแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะประกาศเชิญชวน(ทีโออาร์) ให้เอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) ได้ในเดือนมิถุนายน 2561 และคัดเลือกเอกชนได้ในเดือนกันยายน 2561 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2568
สำหรับโครงการนี้ จะศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการพัฒนาให้เป็นเมืองท่าเรือ สำหรับการเป็น ประตู่สู่เอเชียทางทะเล ในอนาคต โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายท่าเรือไปทางด้านตะวันตกของท่าเรือเดิม เพื่อเตรียมพื้นที่การพัฒนาในอนาคตประมาณ 100-200 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 7.7 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี เพิ่มความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าโดยรถไฟจาก 7% เป็น 30% ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจาก 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเหลือ 12% ของจีดีพี
++จัดสรรงบรัฐรถไฟรางคู่
อีกทั้ง การลงทุนของภาครัฐในโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ซึ่งรับผิดชอบโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ที่ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ไปแล้ว และได้ประกาศทีโออาร์ ให้ที่ปรึกษาโครงการ ยื่นข้อเสนอเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะศึกษา ออกแบบ ได้รับการอนุมัติในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ภายในปี 2562 เพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ คัดเลือกผู้รับเหมาได้ในปี 2563 และเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 ด้วยงบการลงทุนระยะแรก 3 โครงการราว 6.8 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชาระยะทาง 125 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-สัตหีบ-มาบตาพุด ระยะทาง 75 กิโลเมตร โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์(ICD) ที่ฉะเชิงเทราเพื่อรองรับการรวบรวมและกระจายสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชาผ่านจังหวัดสระแก้ว และระยะถัดไปอีก 6 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.4 แสนล้านบาท
++ปีแห่งการลงทุนภาคอุตฯ
ขณะที่การชักจูงนักลงทุนรายสำคัญ ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาลงทุนในพื้นที่อีอีซีนั้น จากที่มีการคาดการณ์ว่า พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะมีผลใช้บังคับได้ในช่วงเดือนมกราคม 2561 นี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้นจากเมื่อปีที่ผ่านมายังเกิดความลังเลอยู่ ทำให้การชักจูงนักลงทุนเข้ามาตํ่ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ 30 ราย โดยมีกลุ่มนักลงทุน 11 ราย ที่ได้ยื่นข้อเสนอการลงทุนมาให้ สกรศ. พิจารณา น่าจะตัดสินใจลงทุนได้ก่อน เช่น อุตสาหกรรมอากาศยาน มีบริษัท Airbus, Boeing, ST Aerospace, Air Asia อุตสาหกรรมดิจิตอล มีบริษัท LAZADA, R2GE และอาลีบาบา กรุ๊ป อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีบริษัทNissan และ BMW อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีบริษัท Shaman Technologies และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มีบริษัท ไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ปฯ เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอต่างๆ สกรศ. อยู่ระหว่างพิจารณา
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนรายสำคัญที่อยู่ระหว่างติดต่อและประสานงานอีก เช่น กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีบริษัท 3 เอ็มฯ กลุ่มอากาศยาน เช่น กลุ่มบริษัท มิตซูบิชิฯ, Senior Aerospace, PACMET, จีอี, โรลส์-รอยซ์, ลุฟท์ฮันซ่า, ทีเอเอส และทีเอไอ ส่วนอุตสาหกรรมดิจิตอล มีบริษัท Amazon, Google, ไมโครซอฟท์, ไอบีเอ็ม, เอ็นทีที, เอสเค เทเลคอม เป็นต้น อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีองค์การเภสัชกรรม และฟูจิฟิล์ม รวมทั้งbยานยนต์สมัยใหม่ มีบริษัท GM, Ford และ FOMM, มิตซูบิชิ มอเตอร์ เป็นต้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีบริษัท ฮิตาชิฯ, ซัมซุง, เอ็นอีซี เป็นต้น
ดังนั้นด้วยกรอบเวลาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่อีอีซีดังกล่าว ที่มีความชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2561 นี้ จะเป็นการดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้เกิดขึ้นได้ และจะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นของการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศอีกครั้งก็ว่าได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46870
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 21/01/2018 7:44 pm Post subject:
เจาะรายละเอียดงบ1ล้านล้าน ดันอีอีซีประตูเศรษฐกิจอาเซียน
ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 21 มกราคม 2561 - 07:00 น.
รายงานพิเศษ
การที่ไทยตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางกลุ่มประเทศในเอเชีย ทำให้ไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน ผลิต การค้า การส่งออกและการขนส่ง ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เอื้อให้ไทยสามารถผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ให้กระจายไปยังทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ง่าย เริ่มตั้งแต่จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา
ดังนั้น รัฐบาลจึงหันมาเร่งรัดจัดทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อ เร่งขยายการส่งเสริมการลงทุน และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
ผลักดันการเชื่อมโยงประตูเศรษฐกิจ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา กับโครงข่ายคมนาคมยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนถาวร
ระยะแรกมุ่งเน้นพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและ มีประสิทธิภาพ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วยตัวเอง ตั้งเป้าหมายยกระดับการลงทุนทุกด้านไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีแรก เพื่อให้เกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ และเกิดการพัฒนาคน ทำให้รายได้ประชาชาติขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี
คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) จึงมอบให้อนุกรรม กรศ. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้เห็นชอบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จำนวน 168 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 998,948.10 ล้านบาท
โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติลงทุนรวม 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน ระหว่างปี 2560-2561 ซึ่งเป็นแผนงานที่ต้องดำเนินการทันทีเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายในอีอีซี จำนวนรวม 8 แผนงานย่อย วงเงินรวม 217,412.63 ล้านบาท
ประกอบด้วยโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul : MRO) ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามท่าอากาศยาน, สถานีรถไฟอู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3, ท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์ เวย์) พัทยา-มาบตาพุด, อาคารผู้โดยสาร ท่าเรือจุกเสม็ด และการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง
2.แผนปฏิบัติการระยะกลาง ระหว่างปี 2562-2564 ซึ่งเป็นแผนงานที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน เพื่อให้โครงข่ายการขนส่งสามารถรองรับกิจการทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 7 แผนงานย่อย วงเงินรวม 414,360.60 ล้านบาท
ประกอบด้วยโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง-มาบตาพุด, ทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา, พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1, เขตปลอดอากร (Free Zone) ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา, มอเตอร์เวย์ ช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี, การปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง และการเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง
3.แผนปฏิบัติการระยะต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นแผนงานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนให้อีอีซีเป็นประตูเศรษฐกิจของ CLMV อย่างสมบูรณ์ จำนวน 7 แผนงานย่อย วงเงินรวม 357,174.87 ล้านบาท
ประกอบด้วย โครงการรถไฟ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด, รถไฟเชื่อมอีอีซี-ทวาย-กัมพูชา, สถานีบรรจุและยกสินค้ากล่อง (ICD) ฉะเชิงเทรา, อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อู่ตะเภา, พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เฟส ที่ 2, มอเตอร์เวย์ ชลบุรี-อ.แกลง จ.ระยอง และการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง
หากจัดแบ่งวงเงินลงทุนตามประเภทโครงสร้างพื้นฐานสามารถแบ่งออกได้ 6 ประเภท ประเภทที่ใช้วงเงินลงทุนสูงสุดอันดับที่ 1 คือ โครงข่ายทางราง 9 โครงการ วงเงิน 398,592 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ โครงข่ายถนน 90 โครงการ วงเงิน 214,636.83 ล้านบาท, โครงข่ายขนส่งทางอากาศและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง 20 โครงการ วงเงิน 173,844 ล้านบาท
โครงข่ายทางน้ำ 19 โครงการ วงเงิน 160,609.17 ล้านบาท, แผนพัฒนาระบบไฟฟ้า 12 โครงการ วงเงิน 40,459.73 ล้านบาท และแผนพัฒนาระบบประปา 18 โครงการ วงเงิน 806.36 ล้านบาท
การจัดหาแหล่งวงเงินลงทุนทั้งหมด 988,948.10 ล้านบาท รัฐบาลจัดหามาจากวงเงินงบประมาณ 30% วงเงินลงทุนของ รัฐวิสาหกิจ 10% วงเงินจากรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 59% และ กองทุนหมุนเวียนจากกองทัพเรือ 1% โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเดินหน้าเต็มสูบเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี
คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าในพื้นที่โครงการมากขึ้น ช่วยให้ลดต้นทุนของรถบรรทุกได้ประมาณ 35.6 ล้านบาทต่อวัน หรือ 2.7% ลดต้นทุนรถไฟได้ประมาณ 2.3 แสนบาทต่อวัน หรือ 19.7% พร้อมจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางลงได้
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า กรศ.เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครง สร้างพื้นฐานภายในพื้นที่อีอีซีในการพัฒนา โลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซีมุ่งสู่ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ตั้ง เป้าให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลาง และเมืองการบินของภูมิภาค และให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูเศรษฐกิจของซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และ อนุภูมิภาค
ทั้งนี้ แบ่งเป็นงบที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) 59% วงเงิน 583,500 ล้านบาท งบประมาณแผ่นดิน 30% วงเงิน 296,684 ล้านบาท งบรัฐวิสาหกิจ 10% วงเงิน 98,895 ล้านบาท และกองทุนหมุนเวียน (กองทัพเรือ) คิดเป็น 1% แบ่งแผนดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ และเมื่อรวมกับโครงข่ายภายนอกพื้นที่อีอีซีจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ถึง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือ ปีละ 200,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้กว่า 2.1-3.0 ล้านล้านบาท และประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึง ระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูง นายชัยวัฒน์กล่าว
ส่วน นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเห็น ชอบประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม 18 แห่ง ภายในเดือนก.พ.2561 เงินลงทุนประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท
แบ่งเป็นจังหวัดระยอง 5 แห่ง จังหวัดชลบุรี 12 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แห่ง จากเดิมที่มีการกำหนดไปแล้ว 2 นิคม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ต ปาร์ก (Smart Park) จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 4 จังหวัดระยอง
นอกจากนี้ เห็นชอบการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รองรับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สื่อสารด้วยภาษาจีนเป็นเขต ส่งเสริมแห่งที่ 19 ทำให้พื้นที่อีอีซีมีเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 21 แห่ง รวมพื้นที่ 86,775 ไร่ รองรับการลงทุน 28,666 ไร่ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท
รายละเอียดทั้งหมดจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี (กนศ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 1 ก.พ.นี้
ทั้งหมดเพื่อผลักดันให้อีอีซีเป็นศูนย์กลาง เป็นประตูเชื่อมเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 43714
Location: NECTEC
Posted: 20/04/2018 7:17 pm Post subject:
ดัน รถรางไฟฟ้า เกิดขึ้นจริงในนครแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียงรับพัฒนา EEC
โดย: MGR Online
เผยแพร่: 20 เมษายน พ.ศ. 2561 15:33:
ปรับปรุง: 20 เมษายน พ.ศ. 2561 15:50:
ศูนย์ข่าวศรีราชา - โครงการวิจัย การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง เปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เพื่อรองรับการเติบโต ตามแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC เผยทุกฝ่ายยอมรับระบบรถรางไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (20 เม.ย.) นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย โครงการวิจัย การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง โดยมีคณะวิจัย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เทศบาลแหลมฉบัง ผู้แทนสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ หอการค้า ผู้แทนจากภาครัฐ และเอกชน ประธานชุมชน กรรมการชุมชน และประชาชนโดยทั่วไปเข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน
นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา กล่าวว่า การประชุมร่วมรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะครั้งสุดท้ายของโครงการวิจัย การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง ในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญ คือ การวางโครงข่ายเส้นทาง และกำหนดตำแหน่งของสถานีขนส่งมวลชนในเขตเมืองศรีราชา และแหลมฉบัง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในถนนสายหลักในเขตในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า และเร่งด่วนเย็น
นอกจากนี้แล้ว เพื่อเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรอง หรือที่เรียกว่า Feeder Systems ในการเชื่อมกับระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ซึ่งจะเป็นการ่วมลงทุนกันระหว่างรัฐบาลและเอกชนที่กำลังอยู่ในระหว่างการประมูลในรูปแบบของ PPP ซึ่งภาคเอกชนต้องไปจับกับเจ้าของเทคโนโลยีเพื่อเข้าร่วมประมูล ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในปี 2561 นี้
สำหรับในส่วนของถนนสายรองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังนั้น ทางโครงการก็ได้มีการวางแผนโครงข่ายเส้นทาง และตำแหน่งของสถานีขนส่งมวลชนให้ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะครั้งสุดท้ายนี้นั้นถือว่าเป็นกิจกรรมสุดท้ายของโครงการนี้ที่มีความสำคัญมากอย่างยิ่ง เพราะจะเปิดโอกาสให้ทุกคนซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เมืองศรีราชา และแหลมฉบัง ได้เข้ามามีส่วนร่วม และได้แสดงข้อคิดเห็นอย่างเต็มที่ถึงผลการศึกษาที่คณะผู้วิจัยได้จัดการยกร่างขึ้น เพื่อให้ผลการศึกษานั้นจะถูกนำไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์ ต่อประชาชนในเขตเมืองศรีราชา และแหลมฉบัง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีเป็นเมืองทีมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งทางอุตสาหกรรม การค้าขายในภาคตะวันออก ทีมีท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักในการ นำเข้าและส่งออกสินค้า ทำให้สภาพการจราจรติดขัดภายในพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง เนื่องจากขาดระบบการขนส่งสาธารณะทีมีประสิทธิภาพในพื้นที่เทศบาลนครแหลมทฉบัง รวมทั้งมีปัญหาในด้ายของความปลอดภัย คุณภาพการให้บริการ และเส้นทางที่ไม่ครอบคลุม การพัฒนาเมืองโดยเน้นระบบสาธารณะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องศึกษาทิศทางการเติบโตของเมืองในอนาคตควบคู่กันไป
ดังนั้น จึงได้มีการวิจัยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังขึ้น โดยที่ผ่านมา ได้ทำการศึกษาในทุกๆ มิติ แล้วสรุปมาเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ระบบรถรางไฟฟ้า ใช้เงินลงทุนประมาณ 27,255 ล้านาท มีอายุการใช้ประมาณ 30-60 ปี 2.ระรถไฟฟ้าล้อยาง มีมูลค่าการลงทุน 3,684 ล้านบาท มีอายุการใช้งาน 5-10 ปี และ 3.ระบบรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า งบประมาณการลงทุนประมาณ 1,950 ล้านบาท มีอุการใช้งาน 5-10 ปี โดยมีทั้งหมด 14 สถานนี้
ด้าน นายสันติ ศิริตันหยง รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง เผยว่า โดยส่วนเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง ในรูปแบบของระบบรถรางไฟฟ้า (Monorail) ซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูงกว่ารูปแบบอื่นๆ แต่จะคุ้มค่ามากกว่าเมื่อสามารถจะใช้งานไปได้นานถึง 30-60 ปี ซึ่งจะลดปริมาณการใช้รถส่วนตัว ลดการจราจรที่ติดขัด สะดวกในการสัญจร และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ในอนาคตอำเภอศรีราชา จะเป็นเมืองที่เจริญ เป็นเมืองชุมชนที่จะมีผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ระบบขนส่งมวลชนจึงมีความจำเป็นที่จะนำมาใช้ในชุมชน ซึ่งจะมาผสานโครงสร้างระบบหลัก เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามายังตัวเมือง และเชื่อมต่อไปยังอำเภอใกล้เคียง ซึ่งจะต้องเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งโครงการนี้จะมีความเป็นไปได้ต้องให้ส่วนกลางเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เพราะเกินศักยภาพงบประมาณจากส่วนท้องถิ่น ก็อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้นในต่างจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครอีกสักแห่งหนึ่ง
ทางด้านตัวแทนผู้ประกอบการ นายเลอเลิศ อมรสังข์ ผู้จัดการประชาสัมพันธ์ โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ เผยว่า เห็นด้วยต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียงในระบบรถรางไฟฟ้า เนื่องจากในปัจจุบันการจราจรพื้นที่อำเภอศรีราชา มีปัญหาอย่างมาก และเห็นควรว่าจะมีการดำเนินการให้เร็วที่สุดเ นื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้ อำเภอศรีราชา ซึ้งถูกเลือกให้เป็นพื้นที่การพัฒนา EEC ดังนั้น การพัฒนาในทุกด้านจะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอศรีราชา ดังนั้น อนาคตการจราจรในพื้นที่จะหนาแน่นขึ้น หากไม่รีบดำเนินการการจราจรในเมือง และระหว่างเมืองมีปัญหาแน่นอน
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 43714
Location: NECTEC
Posted: 24/04/2018 10:27 am Post subject:
ชลบุรีเลือก "โมโนเรล" เจ้าค่ะ จากศรีราชา-แหลมฉบัง 45 บ.
อังคารที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 10.02 น.
ชาวชลบุรี เลือกโมโนเรลศรีราชา-แหลมฉบัง ช่วงสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา-แยกกระทิงลาย 23 กม. 14 สถานี อัตราค่าโดยสาร 45 บาท สปอร์ต-น่าใช้-ไม่เสียผิวจราจร-ไม่เพิ่มรถติด
ผศ.ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีเปิดเผยว่า มก.ศรีราชา ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยศึกษาโครงการจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อแก้ปัญหารถติดในพื้นที่ เทศบาลนครแหลมฉบังรวมทั้งรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ อ.ศรีราชา ไปสนามบินอู่ตะเภา
ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชน โดยเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นที่มีระบบขนส่งสาธารณะ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลยกระดับแบบคร่อมราง ช่วงสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา-แยกกระทิงลาย ระยะทาง 23 กม. 14 สถานี แนวเส้นทางเริ่มจาก 1.สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชาถนนศรีราชา-หนองค้อ 13 ออกซ้ายไปแนวถนน ค่ายลูกเสือ - ห้วยยายพรหม ผ่าน 2.สถานีวัดวังหิน แล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งตามถนนสุขุมวิท ผ่าน 3.เซ็นทรัลศรีราชา-ดาราสมุทร 4.เกาะลอย-ที่ว่าการอ.ศรีราชา 5.โรบินสันศรีราชา-อัสสัมชัญศีราชา-ตึกคอม 6.รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวีณ ศรีราชา 7.หมู่บ้านผาแดง 8.ม.เกษตรศาสตร์ศรีราชา 9.ไทยออยล์-บุญจิตวิทยา 10.รพ.วิภาราม-ดาวเทียม 11.ฮาเบอร์มอลล์ (Harbour Mall) 12.บ้านทุ่งกราด 13.ตลาดโรงโป๊ะและสิ้นสุดที่ 14.สถานีแยกกระทิงลายบริเวณจุดตัดทางแยกถนนสุขุมวิทและทางหลวงหมายเลข 36 มูลค่าลงทุน 30,742 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มออกแบบรายละเอียดปี 62 ก่อสร้างปี 63 เปิดบริการอย่างเร็วปี 66 หรือช้าสุดปี 67 อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท ต่อไปคิด กม. ละ 1.5 บาท หรือจากต้นทางถึงปลายทาง 45 บาท
ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวอีกว่า 2.ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Trolley Bus) มีระยะทางและแนวเส้นทางเดียวกับโมโนเรล มูลค่าลงทุน 4,092 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปีเปิดบริการปี 65 ค่าโดยสาร เริ่มต้น 10 บาท ต่อไป กม. ละ 1.2 บาทหรือตลอดสาย 38 บาท และ 3.ระบบรถชัตเติ้ลบัส ระยะทางและแนวเส้นทางเดียวกับโมโนเรล มูลค่าลงทุน 2,137 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี เปิดบริการปี 65 ค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท ต่อไป กม. ละ 1 บาท หรือ 33 บาทตลอดสาย ทั้ง 2 ระบบเพิ่มป้ายจอดรถให้มีความถี่ขึ้นได้ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ
ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวด้วยว่า ผลประชุมครั้งนี้ประชาชนแหลมฉบังศรีราชามีความตื่นตัวมากมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เสียงส่วนใหญ่อยากได้โมโนเรล เนื่องจากไม่กระทบผิวจราจร รวมทั้งรูปลักษณ์สปอร์ตดึงดูดน่าใช้งานขณะที่ระบบรถไฟฟ้าล้อยางต้องใช้สายไฟฟ้าโยงยางด้านบนไม่เหมาะกับไทย เพราะมีปัญหาเรื่องสายไฟอยู่แล้วถ้ามีระบบนี้จะยิ่งเพิ่มปัญหาสายไฟอีกส่วนระบบชัตเติ้ลบัสจะทำให้เสียผิวจราจรและยิ่งมีปัญหารถติดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มการศึกษาพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) เพื่อช่วยให้ผู้โดยสารใช้บริการเพื่มตลอดจนเพิ่มข้อมูลแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะสายรองด้วย
ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวเพิ่มว่า จะนำความคิดเห็นไปปรับปรุงโครงการให้สมบูรณ์ขึ้นโดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน พ.ค. นี้ ก่อนนำเสนอ สกว.ผู้บริหารเทศบาลนครแหลมฉบัง และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จ.ชลบุรีรวมทั้งเสนอคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน โครงการอีอีซี เพื่อผลักดันรวมทั้งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมทางหลวง (ทล.) ขอใช้พื้นที่ก่อสร้างด้วย
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46870
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 21/10/2019 3:08 pm Post subject:
สกพอ.ดันโมโนเรล 5 สถานี เชื่อมอู่ตะเภา-ระยอง
กรุงเทพธุรกิจ 21 ตุลาคม 2562
สกพอ.เล็งถก อบจ.ระยอง วางระบบขนส่งมวลชนเชื่อมอู่ตะเภา-ตัวเมืองระยอง 30 กม.นำร่องรถเมล์ไฟฟ้า เฟส 2 ดันไฟฟ้ารางเบา
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.เตรียมหารือองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) เกี่ยวกับแผนการเชื่อมต่อขนส่งมวลชนรอง หรือ ฟีดเดอร์ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภาและตัวเมืองระยองระยะทาง 31 กิโลเมตร รวมทั้งการวางระบบฟีดเดอร์เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูงกับตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเฟส 1 จะมาสิ้นสุดที่สถานีอู่ตะเภาจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง โดยรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี จึงต้อง
เตรียมการเชื่อมต่อขนส่งมวลชนไว้ โดยจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ
1.ระบบรถเมล์อัจฉริยะ ซึ่งจะให้บริการแบบตรงต่อเวลาและมีเส้นทางเดินทางที่เหมาะสมกับการเชื่อมต่อกับตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวได้ปรับเปลี่ยนจากมากับคณะทัวร์มาเป็นการเดินทางแบบส่วนตัว ดังนั้นจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วและตรงเวลา
2.ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (โมโนเรล) จะดำเนินการเมื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาได้ระยะหนึ่งและมีจำนวนผู้โดยสารที่มากพอ ซึ่งที่ผ่านมา อบจ.ระยอง ได้ใช้งบ 10 ล้านบาท ในการจ้างมหาวิทยาลัยบูรพาศึกษาในการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา
ผลการศึกษาเบื้องต้นกำหนดระยะทาง 31 กิโลเมตร จะมีสถานีประมาณ 5-6 สถานี ซึ่งแนวทางนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (ทีโอดี) มากกว่าการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพิ่มอีก 1 สถานี ช่วงสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง เนื่องจากจะเกิดพื้นที่รองรับการพัฒนารอบสถานี 5-6 พื้นที่ ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงจะมีพื้นที่พัฒนาเฉพาะที่สถานีระยอง 1 สถานี ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเฟส 2 จะขยายเส้นทางจากอู่ตะเภา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ก็จะขยายเส้นทางผ่านตัวเมืองระยอง
นายคณิศ กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองจะรองรับทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงสถานีอู่ตะเภา รวมทั้งจะรองรับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของภูมิภาค โดยในอนาคตจะมีการเดินทางเชื่อมต่อมากจึงต้องวางระบบขนส่งมวลชนไว้
ทั้งนี้ สนามบินอู่ตะเภาพื้นที่ 6,500 ไร่ จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนามหานครการบิน ซึ่งได้ศึกษาแผนการพัฒนามหานครการบินออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.พื้นที่เขตชั้นในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา มีพื้นที่ 1.41 แสนไร่
2.พื้นที่เขตชั้นกลางรัศมี 10-30 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ 6.76 แสนไร่
3.พื้นที่ชั้นนอกที่ครอบคลุมท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ มีพื้นที่ 2.23 แสนไร่ โดยมหานครการบินจะต้องแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาความหนาแน่นเหมือนพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง
นอกจากนี้ เขตศูนย์กลางจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก แต่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มมาก และไม่ก่อมลพิษ เช่น ชิ้นส่วนอากาศยานและธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเกษตรชั้นนำ โดยจะเน้นในเส้นทางพื้นที่ระหว่างเมืองพัทยาและเมืองระยอง ซึ่งจะมีการพัฒนาพื้นที่วางรายละเอียดอีกครั้ง
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46870
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 18/08/2020 6:54 am Post subject:
สนข.ดันพัทยาเมืองต้นแบบ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกในEEC
ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ศูนย์ข่าว ศรี ราชา - สนข.เปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวเมืองพัทยา ก่อนเดินหน้าแผนแม่บทพัฒนาเมืองต้นแบบศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกในพื้นที่ EEC รับการขยายตัวชุมชนเมือง เผยนำร่อง 3 จังหวัดแรกที่ พัทยา จ.ชลบุรี อยุธยา และขอนแก่น
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตัวแทนองค์กรต่างๆ หน่วยงานราชการ และกลุ่มผู้ลงทุนในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ เพื่อจัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบ หรือ TOD พัทยา ตามโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาพื้นที่รองรับการขยายตัวและการออกแบบชุมชนเมือง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 พื้นที่นำร่องของประเทศ ประกอบด้วย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี อยุธยา และขอนแก่น ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่โรงแรมแกรนซ์พาลาซโซ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและการจราจร ซึ่งเป็นประธานการประชุม กล่าวว่า ชลบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูมิภาค เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งสอดคล้องต่อนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และจังหวัด
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายการพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การคมนาคมและโลจิสติกส์ ที่สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งจะกระจายความเจริญสู่เมืองหลักในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่
ขณะที่ผลการศึกษาได้กำหนดให้มีแนวทางการพัฒนาเมือง TOD ในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยา จ.ชลบุรี ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรตามวิสัยทัศน์ "เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ศูนย์กลาง EEC เมืองสภาพแวดล้อมสำหรับทุกคน"
สำหรับแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยา มุ่งเสริมเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่กับรถไฟฟ้าความเร็วสูง และจะนำที่ดินบริเวณโดยรอบซึ่งลงทุนร่วมกันระหว่างชุมชนกับผู้ลงทุนในการจัดสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยรอบ
แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 2566-2570 ระยะกลาง 2571-2575 และระยะยาว 2576-2580
แบ่งพื้นที่พัฒนาตามแนวทางของ TOD เป็น 6 โซน ได้แก่ 1.Mice City การพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม รองรับศูนย์การค้าและการท่องเที่ยว เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม และศูนย์ประชุมสัมมนา เป็นต้น 2.Livable City การพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม หรือบ้านจัดสรร
3.Creativity Economy พัฒนาพาณิชยกรรมในลักษณะอาคารสำนักงาน เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนแบบครบวงจร 4.Active District การพัฒนาธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ เช่น Strat Up ธุรกิจดิจิทัล 5.Park Society เพิ่มพื้นที่สีเขียว และพื้นที่นันทนาการรองรับนักท่องเที่ยวและกิจกรรมทุกรูปแบบ และ 6.Society District สนับสนุนธุรกิจรูปแบบศูนย์การแพทย์และบริการด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้ สนข.จะประมวลผลการศึกษาเมืองต้นแบบ TOD ทั้ง 3 จังหวัด เพื่อให้เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเดินทางที่มีศักยภาพ สนับสนุนความเป็นเมืองน่าอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป.
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46870
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 16/09/2020 8:23 am Post subject:
'คมนาคม'ชงแผนอีอีซีเฟส2 ดันลงทุนขนส่ง3.8แสนล้าน
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563
วรรณิกา จิตตินรากร
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้การระบาดของโรค โควิด-19 จะทำให้มีการชะลอตัวลง เช่น การท่องเที่ยว แต่จำเป็นต้องวางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว ที่จะเพิ่มขึ้น 5.7 เท่า ภายในปี 2580
ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ผลักดัน แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในอีอีซีระยะที่ 1 โดยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการคมนาคมขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและระบบราง
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในอีอีซีระยะที่ 2 เน้นเพิ่มโครงข่ายรองเชื่อมต่อกับโครงการ หลักที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีอยู่แล้ว เพื่อสนับสนุนในด้านการเดินทาง การขนส่งสินค้า ตลอดจนการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งทบทวนรายละเอียด เพื่อเตรียมส่งกลับมายังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขานุการจัดทำโครงการภายในวันที่ 14 ก.ย.2563 หลังจากนั้น เมื่อ สนข.ตรวจสอบข้อมูลแล้วเสร็จ จะส่งกลับไปยังหน่วยงานอีกครั้ง เพื่อเตรียมเสนอแผนคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาอนุมัติ โครงการ ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ก่อนทำเรื่อง เสนอของบประมาณประจำปี 2565 ในเดือน พ.ย.2564
สำหรับแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งในอีอีซี ระยะที่ 2 ระหว่าง ปี 2565-2570 เบื้องต้นมี 131 โครงการ วงเงินลงทุน 3.86 แสนล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา และโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง ระยะที่ 1 แบ่งเป็น
ระยะเร่งด่วน (2565-2566) กระทรวงคมนาคมจะมีการพัฒนาโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในพื้นที่ เช่น โครงการศึกษาความเหมาะสมและก่อสร้างการเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M7 เข้าสู่สนามบิน อู่ตะเภา และโครงการปรับปรุงก่อสร้าง ท่าเทียบเรือเพื่อท่องเที่ยวเกาะล้าน
ระยะกลาง (2567-2570) มีโครงการสำคัญสนับสนุนการท่องเที่ยว อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวสายใหม่ ช่วงระยองจันทบุรี-ตราด ระยะทาง 150 กิโลเมตร ,โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงคลองสิบเก้า-กบินทร์บุรี- คลองเล็ก (จ.สระบุรี)-อรัญประเทศ
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองชลบุรี-นครราชสีมา (ช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ทล.359) หรือ M61 ,โครงการรถไฟความเร็วสูง ส่วนต่อขยายระยอง-จันทบุรี-ตราด ช่วง อู่ตะเภา-ระยอง และโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ แหลมบาลีฮาย ระยะที่ 2 และปรับปรุง ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 1 เป็นต้น
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เป้าหมายของการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในอีอีซี นอกจากกระทรวงคมนาคมจะต้องการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานหลัก เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจแล้ว ยังต้องการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจผ่านการเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งจังหวัดในอีอีซีเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยว สำคัญที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยงทางทะเลที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาเยือน
สำหรับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่อีอีซีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายใน อีอีซีนั้น ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดเชื่อมโยง แหล่งท่องเที่ยวจากจุดเริ่มต้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ วัดโสธรวราราม ตลาดน้ำบางคล้า และสวนปาล์มฟาร์มนก
หลังจากนั้นในแผนการพัฒนาได้เชื่อมโยงมาจังหวัดชลบุรี พื้นที่บริเวณท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะเป็นแนวท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ครอบครัว จัดประชุมสัมมนา กีฬาและ เรือสำราญ
ก่อนจะเชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่จังหวัดระยอง ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ปากน้ำประแส สวนทุเรียน หากแม่รำพึง เกาะเสม็ด และเขาแหลมหญ้า เป็นแนวท่องเที่ยวเชิงชุมชน เกษตร เกาะ เชื่อมต่อกับพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอ้างคุ้มกระเบน หาดเจ้าหลาว และเขาคิชกูฏ และเชื่อมต่อเข้าสู่จังหวัดตราด ที่มีแหล่ง ท่องเที่ยวทางทะเล เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะขาม บ้านน้ำเชี่ยว และกอนลาเมืองไทย อ่าวสลักคอก เป็นต้น
การศึกษาเส้นทางพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ตอนนี้กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแนวเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไว้แล้ว ส่วนการพัฒนาโครงข่ายก็จะหลากหลาย เช่น พัฒนาถนนเลี่ยงเมืองเพิ่มเติม ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ตลอดจนสร้างท่าเทียบเรือเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการ เดินทางไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล
รวมทั้งกระทรวงคมนาคมยังศึกษาพบว่าการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น จะเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น ด้วยความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อคมนาคม ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ภายในปี 2580 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 5.7 เท่า โดยปริมาณความต้องการเดินทางพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ใกล้เคียงในปี 2580 จะมีประมาณ 1.78 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน ดังนั้น กระทรวงฯ ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับ สำหรับการคาดการณ์ปริมาณความต้องการในการเดินทางของอีอีซีและพื้นที่ ใกล้เคียง ขณะนี้มีการประเมินแบ่งเป็นสัดส่วนพบว่า จะมีการเดินทางผ่านรถยนต์ส่วนบุคคล 50% รถโดยสารประจำทาง 26% รถไฟ 15% และอากาศ 9% โดยพบว่าพื้นที่ที่มีการเดินทาง มากที่สุด จะอยู่บริเวณจังหวัดชลบุรี
ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงต้องวางแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมให้สอดคล้อง โดยเน้นหลักไปที่การพัฒนา โครงข่ายทางถนน 44 โครงการ เม็ดเงินลงทุนกว่า 1.13 แสนล้านบาท และโครงข่ายทางรางและระบบขนส่งมวลชน 37 โครงการ วงเงินกว่า 1.65 แสนล้านบาท
แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอีอีซี ระยะที่ 2 เน้นเพิ่มโครงข่ายรองเชื่อมต่อกับโครงการหลักที่อยู่ในอีอีซีอยู่แล้ว
ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group