RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:312267
ทั่วไป:13899374
ทั้งหมด:14211641
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟแลนด์บริดจ์สายชุมพร-ระนอง
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟแลนด์บริดจ์สายชุมพร-ระนอง
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 13, 14, 15 ... 22, 23, 24  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44615
Location: NECTEC

PostPosted: 15/11/2023 9:12 pm    Post subject: Reply with quote

"สุริยะ" กางแผนโรดโชว์ "แลนด์บริดจ์" ดึงนักลงทุนต่างชาติร่วมทุน 50 ปี

ฐานเศรษฐกิจ
15 พฤศจิกายน 2566

“สุริยะ” เปิดแผนโรดโชว์ "แลนด์บริดจ์” ที่สหรัฐฯ ดึงนักลงทุนต่างชาติร่วมทุน สัมปทาน 50 ปี มั่นใจคืนทุนปีที่ 24 ขึ้นแท่นจุดศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค เผยนักลงทุนแห่สนใจ 4 ประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาโครงการ Thailand Landbridge Roadshow พัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่ง ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาว่า จากนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ผลักดันให้เดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอข้อมูลโครงการฯ (Roadshow) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566-มกราคม 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย



สำหรับการโรดโชว์ ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอความเป็นไปได้ที่ไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค และนำเสนอโอกาสในการลงทุนให้แก่นักธุรกิจที่สนใจที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในอนาคต



"จากข้อมูลและข้อหารือของนักธุรกิจจากการทำโรดโชว์ จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการฯและการพิจารณาในด้านการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่อไป ทั้งนี้จากการที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอรายละเอียดโครงการไปแล้วนั้น พบว่า นักลงทุนในหลายประเทศมีความสนใจ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง เป็นต้น"

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2568-2583 โดยจะมีการคัดเลือกเอกชนในรูปแบบการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) สัญญาเดียว มีระยะเวลาสัญญาในการบริหาร 50 ปี ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่ง, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางรถไฟ

"สุริยะ" กางแผนโรดโชว์ "แลนด์บริดจ์" ดึงนักลงทุนต่างชาติร่วมทุน 50 ปี

ส่วนของกลุ่มนักลงทุนนั้น จะต้องมีการรวมกลุ่มกันของทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการท่าเรือ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกฎหมายใหม่จะถูกร่างขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุน



ทั้งนี้ ภายใต้ระยะเวลาสัญญา 50 ปี จากการประเมิน พบว่า นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 24 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นการประเมินจากรายได้จากการบริหารท่าเรือ และขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น


"หากนักลงทุนมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากการอุตสาหกรรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น จะช่วยสร้างผลประโยชน์ด้านการเงิน และระยะเวลาคืนทุน จะดีกว่าการประเมินข้างต้นอย่างแน่นอน"

"สุริยะ" กางแผนโรดโชว์ "แลนด์บริดจ์" ดึงนักลงทุนต่างชาติร่วมทุน 50 ปี

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นเส้นทางการเดินเรือใหม่ของโลกและจะสามารถแก้ปัญหาของความล่าช้าในการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับนักลงทุนในหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการท่าเรือ ผู้ให้บริการการขนส่ง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรม นักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ โดยทางหน่วยงานรัฐบาลไทย พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อให้โครงการแลนด์บริดจ์ ออกมาเป็นรูปธรรม ตามแผนที่วางไว้ในการพัฒนาโครงการในพื้นที่ภาคใต้



ขณะเดียวกันไทยมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของตำแหน่งที่ตั้งโครงการ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายด้านการคมนาคมของไทยที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจนถึงตอนใต้ของประเทศจีนได้อย่างสะดวก และจะนำไปสู่การเป็นประตูการค้าในการนำเข้าและส่งออกที่สำคัญของภูมิภาค



นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ยังอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่ประกอบด้วย ท่าเรือฝั่งตะวันตกเปิดออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย และท่าเรือฝั่งตะวันออกที่เปิดออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยมีการเชื่อมต่อกันด้วยทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร (กม.) จึงทำให้แลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่จะเชื่อมโยงสองฝั่งมหาสมุทร



ขณะที่ปัญหาความหนาแน่นของการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ที่เกิดจากการที่มีปริมาณเรือสินค้าจำนวนมากต้องเดินทางผ่านช่องแคบนี้ ซึ่งจำนวนของเรือเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี จากสัดส่วนความต้องการในการบริโภคของประชากร ด้วยข้อจำกัดของการรับปริมาณเรือผ่านช่องแคบนี้ ทำให้เรือสินค้าจะต้องรอคิวเป็นระยะเวลานานในการผ่านไปสู้จุดหมายปลายทาง



นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยลดทั้งระยะทาง ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย และด้วยระยะเวลาที่สั้นลง และราคาที่ถูกลง ดังนั้น จึงมองว่าจะมีเรือสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะเรือสินค้าขนาดกลางจะหันมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อการเพิ่มปริมาณสินค้าผ่านโครงการแลนด์บริดจ์อย่างมีนัยสำคัญ



"ด้วยรายละเอียดตามที่กล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้เกิดการเชื่อมโยงของสินค้านำเข้าและส่งออกของประเทศที่อยู่รายรอบทั้งด้านตะวันตก และตะวันออก และเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนพื้นที่ตอนใต้ของไทย โดยกระทรวงคมนาคม จึงขอใช้โอกาสนี้ นำเสนอโอกาสในการเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผู้พัฒนาโครงการจากนักลงทุนทุกท่าน เพื่อความสำเร็จไปด้วยกัน“
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44615
Location: NECTEC

PostPosted: 15/11/2023 9:16 pm    Post subject: Reply with quote

แลนด์บริดจ์อันดามัน-อ่าวไทย ได้เสียคุ้มค่าไหม
คอลัมน์เปิดมุมคิดกับ ดร.ธนิต โสรัตน์ โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ อดีตคณะทำงานด้านความมั่นคง อนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (สมช.)
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3940
15 พฤศจิกายน 2566

อภิมหาโปรเจ็กต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมการขนส่งฝั่งตะวันออกและตะวันตก “East-West Ocean Landbridge Corridor” วาดฝันว่าจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นโกลบอลฮับระดับโลก เป็นโครงการใหญ่สุดที่ลงทุนในครั้งเดียวใช้เม็ดเงิน 1.0-1.4 ล้านล้านบาท ที่ผลักดัน โดย นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แห่งพรรคเพื่อไทยเป็นการลบและแซงสถิติโครงการ “EEC” ซึ่งปั้นโดยรัฐบาลสมัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

แนวคิดของโครงการ คือ การสร้างพื้นที่ภาคใต้ตอนบนให้เป็นเขตเศรษฐกิจ โดยสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ ทั้งที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนองโดยเชื่อมถึงกันด้วยโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่การลงทุนใหม่ของประเทศตามโรดแมปจะเริ่มเปิดบริการเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2573

มติครม.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการเพื่อเดินหน้าโครงการ คือ เฟสแรกเป็นการลงทุนสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นท่าเรือทันสมัยแบบสมาร์ทพอร์ต ในลักษณะออโตเมชั่นพอร์ต แต่ละท่าพิสัยรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ปีละ 20 ล้านTEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์เทียบเท่าขนาด 20 ฟิต) หรือประมาณ 2.2 เท่าของท่าเรือแหลมฉบังในปัจจุบัน ปักหมุดจะสร้างไว้ที่ ต.แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร และ แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกูด จ.ระนอง

โดยมีการสร้างรถไฟทางคู่ทั้งรางมาตรฐาน และรางขนาด 1.0 เมตร พร้อมทั้งถนนมอเตอร์เวย์ 6 ช่องทางจราจร ระยะทางประมาณ 91 กม. มีอุโมงค์ 3 แห่ง และระบบท่อขนส่งน้ำมัน-แก๊สธรรมชาติ


นอกจากนี้ ยังจะมีการลงทุนด้านนิคมอุตสาหกรรม-โรงกลั่นน้ำมันดิบและแยกแก๊ส ซึ่งจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคอล โดยคาดหวังจะทำให้พื้นที่ภาคใต้ตอนบน กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ในลักษณะ “SEC : Southern Economic Corridor” ซึ่งจะทำให้เกิดเมืองบริวารเชื่อมต่อกับโครงการได้อีกมากมาย

แนวคิดของโครงการแลนด์บริดจ์ คาดหวังว่าจะเปลี่ยนเส้นทางโลจิสติกส์ข้ามทวีป ที่เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่จะต้องผ่านช่องแคบมะละกา เพื่อเปลี่ยนตู้สินค้าที่ท่าเรือประเทศสิงคโปร์ (PSA : Port of Singapore Authority) หรือ ท่าเรือประเทศมาเลเซีย ทั้งที่ท่าเรือตันจุงปาราปัส (Tanjung Parapat Port) ที่อยู่ปากช่องแคบมะละกาและ/หรือท่าเรือกลัง หรือ บ้างเรียกว่า ท่าเรือแคลง (Port klang Authority) ตั้งอยู่กึ่งกลางช่องแคบมะละกา ที่กล่าวล้วนเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ระดับโลก

คาดหวังว่า โครงสร้างแลนด์บริดจ์จะเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ ให้หันมาใช้ท่าเรือทั้งสองของไทย โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลา 9 วัน เพื่ออ้อมแหลมมะละกา (Malaca Strait) โดยเรือที่มาเทียบท่าทั้งชุมพร และระนอง จะนำตู้คอนเทนเนอร์มาลงแลนด์ โดยเปลี่ยนถ่ายด้วยระบบขนส่งทางราง หรือ ทางถนนระยะทางเกือบร้อยกิโลเมตร เพื่อไปขึ้นเรืออีกท่าหนึ่ง ซึ่งจะทำให้สายการเดินเรือ (Liner Vessel) มีแรงจูงใจ เพราะประหยัดทั้งระยะทาง-ต้นทุนและเวลา ส่วนจะเป็นจริงคุ้มค่าการลงทุนมากน้อยเพียงใด อ่านคอลัมน์นี้จบอาจมีคำตอบ

โครงการแลนด์บริดจ์ประเมินมูลค่าโครงการประมาณ 1.0 ล้านล้านบาท (อาจถึง 1.4 ลล.บาท) แบ่งเป็นพัฒนาท่าเรือฝั่งชุมพร 3.0 แสนล้านบาทและท่าเรือระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงสร้างระบบเปลี่ยนโหมดขนส่ง (Multi Model Transport) ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ 2.2 แสนล้านบาท รูปแบบการลงทุนเป็นลักษณะร่วมทุนภาครัฐ-เอกชน (PPP) ระยะสัมปทาน 50 ปี โดยเปิดกว้างให้เอกชนต่างชาติถือหุ้นได้เกินร้อยละ 50

โครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว โดยกระทรวงคมนาคมซึ่งเจ้ากระทรวงเป็นระดับแกนนำของพรรคภูมิใจไทย ได้จ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สนง.สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้วิจัยเสร็จและนำออกเผยแพร่ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565

ผลวิจัยความเป็นไปได้ของโครงการระบุว่า อาจไม่คุ้มค่าการลงทุนทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ การยึดกรอบแผนพัฒนาที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก โดยอัตราผลตอบแทน (IRR) ของโครงการร้อยละ 16.8 ระยะเวลาคืน ทุนสูงถึง 40.49 ปี เสนอให้ทบทวนโครงการใหม่ เพราะอาจไม่คุ้มค่า พร้อมทั้งควรลดขนาดโครงการ เหลือเพียงเป็นการเชื่อมโยงด้านการผลิตและพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายฝั่งและขนส่งชายฝั่งทะเลในลักษณะ “Local Economic Link” มากกว่าที่จะเป็น “Global Landbridge Corridor”

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษาซึ่งต่างออกไป ระบุว่าโครงการมีความคุ้มค่าผลตอบแทน (IRR) ร้อยละ 17.43 ระยะเวลาคืนทุนลดเหลือ 24 ปี (ที่มา : www.isaranews.org)

จากข้อมูลเชิงประจักษ์โครงการเมกะแลนด์บริดจ์ จะต้องมีการพิจารณารอบด้านจะต้องมีการเข้าใจถึงบริบทการค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเดินเรือ และสายการเดินเรือ ซึ่งธุรกิจนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ปัจจุบันสายการเดินเรือหลักขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ประเภท “Ocean Vessel Liner” จำนวน 10 ราย ครอบคลุมส่วนแบ่งตลาดโลกถึงร้อยละ 83

ในจำนวนนี้เป็นสายเดินเรือสัญชาติฮอลแลนด์ และอียู (2M) จำนวนรวมกัน 2 ราย สัดส่วนการตลาดร้อยละ 33.3 รองลงมาเป็นสายเรือรัฐวิสาหกิจของจีน 3 ราย สัดส่วนการตลาดร้อยละ 26.4 สัญชาติเยอรมันส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.2 สัญชาติไต้หวันส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.3 สัญชาติเกาหลีใต้ส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 2.3 และ สิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 1.8

ที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ธุรกิจสายการเดินเรือเป็นบริษัทขนาด “Global Mega Company” มีอำนาจต่อรองสูงทั้งด้านค่าระวางเรือและการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ และกว่าครึ่งมีการลงทุนที่ท่าเรือตันจุงปาราปัส

อีกทั้งโครงการสร้างแลนด์บริดจ์ “ECRL : East-West Economic Corridor Land Link” ที่มาเลเซีย และ จีน ร่วมทุนสร้างท่าเรือกวนตัน (Kuantan Port) ตั้งอยู่ทะเลฝั่งตะวันออกรัฐปะหังประเทศมาเลเซีย โดยมีทางรถไฟเชื่อมกับท่าเรือพอร์ตกลัง ซึ่งอยู่กลางช่องแคบมะละกา เป็นแลนด์บริดจ์ ระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตร เชื่อมการขนส่งคอนเทนเนอร์ และน้ำมันสองชายฝั่งทะเลของมาเลเซีย แต่ก็ไม่ได้มุ่งหวังให้เป็น “Global Landbridge” เหมือนของไทย


แลนด์บริดจ์อันดามัน-อ่าวไทย ได้เสียคุ้มค่าไหม

ความเป็นไปได้ของการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ ทั้งที่ ชุมพร และ ระนอง พร้อมทั้งลงทุนสร้างระบบรางและมอเตอร์เวย์ เป็นโครงการระดับโลก ใช้เงินลงทุน 1.0-1.4 ล้านล้านบาท จำเป็นที่จะต้องประเมินความเป็นไปได้และความเสี่ยงคิดให้รอบด้าน

เนื่องจากข้อจำกัดทั้งที่ตั้งของประเทศไทย ไม่ได้อยู่ศูนย์กลางที่จะเชื่อมสองมหาสมุทร และไม่อยู่ในทำเลที่จะรับสินค้าจากประเทศรอบด้านที่อยู่ในโซน “Far East Asia” เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศที่อยู่ในโซนเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ ใต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ตลอดจนเส้นทาง “Trans Pacific” ซึ่งเชื่อมออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก

โดยทั่วไปเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่ จะไม่ขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก และอินเดีย เนื่องจากต้องมีปริมาณสินค้าที่เพียงพอที่เรือแต่ละลำจะเข้ามารับสินค้าได้ตามรอบ “Voy Schedule” ซึ่งเป็นตารางเรือที่กำหนดวันเข้า-ออกแน่นอน เรือที่เข้ามาส่งมอบสินค้าจะต้องมีปริมาณสินค้าเที่ยวกลับที่คุ้มค่าต้นทุนและทำกำไร

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าว จำเป็นที่จะต้องมีท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางรับสินค้า (Hub & Spoke Port) ทำเลที่ตั้งของท่าเรือสิงคโปร์ และท่าเรือมาเลเซีย อยู่ตรงปากช่องแคบมะละกา เป็นจุดที่เหมาะสม

ขณะที่ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือในอ่าว และ ภาคใต้ ไม่ใช่พื้นที่อุตสาหกรรมของไทย ยกเว้นจ.สงขลา ด้วยศักยภาพของพื้นที่เหมาะสมที่จะเป็นลักษณะเชื่อมโยงในประเทศในลักษณะ “Local Port & Land Link Corridor” ซึ่งคล้ายกับความเห็นของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้รับจ้างวิจัยความเป็นไปได้ของโครงการ

ประเด็นที่เป็นความเห็นส่วนตัวไม่มีข้อมูลสนับสนุน ผลลัพธ์ของโครงการอาจได้ไม่คุ้มกับเสีย ประเทศที่สนใจอาจเป็น “รัฐวิสาหกิจจีน” ซึ่งไม่คำนึงด้านความคุ้มค่าการลงทุน (IRR) เนื่องจากประโยชน์แฝงที่จะได้รับคือการขยายเส้นทางสายไหมทางทะเลภายใต้ “One Belt One Road Initiative”

สำหรับประเทศจีนเงินหนึ่งล้านล้านบาท หรือ ประมาณ 28,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นแค่เศษเงินไม่ถึงร้อยละ 1 ของเงินทุนสำรอง ผลประโยชน์ที่จีนได้รับด้านโลจิสติกส์ฮับอาจเป็นรอง แต่การใช้ประโยชน์ท่าเรือยุทธศาสตร์และฐานทัพเรือของจีนสามารถควบคุมประตูด้าน “East-West” ปากช่องแคบมะละกา และจ่อหลังบ้านประเทศอินเดีย ซึ่งความสัมพันธ์ลึกๆ ไม่ค่อยดีนัก

ประเด็นที่อยากให้รัฐบาลทบทวน เช่น ด้านความเสี่ยง-การเงินการคลังของประเทศ ประโยชน์ความคุ้มค่าการลงทุน กรณีหากจีนเข้ามาลงทุนและใช้เป็นฐานทัพเรือ อาจทำให้ไทยเสียความเป็นอิสระด้านการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงผลกระทบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และด้านภาวะสิ่งแวดล้อมซึ่งจะกลายเป็นภาระของประเทศในอนาคต
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 48290
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 19/11/2023 6:47 pm    Post subject: Reply with quote

Land Bridge เอายังไงต่อ ใครได้ใครเสีย ใครคุ้มสุด มาทำความเข้าใจกันใน รายการ อัพเดตประเทศไทย EP.6
โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure
Nov 19, 2023


https://www.youtube.com/watch?v=7psZuwYj744

แลนด์บริดจ์ {Land Bridge} เป็นอีกหนึ่ง Topic ที่กำลังเป็นที่สนใจในวงกว้าง ในด้านการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ {SEC}

ซึ่งล่าสุด ครม. มีการรับทราบในหลักการการพัฒนา Land Bridge ซึ่งมีการจัดเตรียมแผนการกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ประมูล และเริ่มดำเนินการในเวลา 5 ปี

มาฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน รายการ อัพเดตประเทศไทย EP.6

วันที่ 19/11/2566 เวลา 12:00 น. ผ่านช่องทางวิทยุ FM 101 และ PSI ช่อง 44
พร้อมกับทาง Facebook ได้ในเพจโครงสร้าวพื้นฐานประเทศไทย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 48290
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/11/2023 8:06 am    Post subject: Reply with quote

บทบรรณาธิการ: 'แลนด์บริดจ์' โอกาสเกิดยาก
Source - แนวหน้า
Tuesday, November 21, 2023 06:15

นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เปิดสัมมนาโครงการ "Thailand Landbridge Roadshow" โรงแรม Ritz-Carlton นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาไปแล้ว มีผู้คนสนใจมากมาย โดยมีเป้าหมายเพื่อชวนเชิญเอกชนพิจารณาการลงทุนในประเทศไทย ในอนาคตข้างหน้า

ซึ่งนายกฯเศรษฐา บรรยายสรรพคุณ ของโครงการนี้ ช่วยในการระบายสินค้า ข้ามโลกในเอเชียให้ได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ต้องผ่านช่องแคบสิงคโปร์โครงการนี้ จะเป็นเส้นทาง เพิ่มเติมที่สำคัญ เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่ง ที่โตวันโตคืนในอนาคตข้างหน้า ทั้งเชิญชวนคนไทยในสหรัฐฯ ตื่นจากฝัน ให้กลับประเทศไทยโดยรัฐบาลยืนยันทุกคนมีงานทำแน่นอน

แลนด์บริดจ์ คือ สะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมต่อระหว่าง 2 ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน เข้าด้วยกัน ระหว่าง จ.ชุมพร และจ.ระนอง โดยการสร้างเป็น ทางหลวง Motorway 6 เลน ควบคู่กับการสร้างทางรถไฟทางคู่ ความยาว 90 กม. พร้อมด้วย pipeline หรือ การขนส่งทางท่อ เพื่อ ขนของเหลวอย่างน้ำมันหรือก๊าซได้ด้วย

อธิบายง่ายๆ ก็ คล้ายๆ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด (Southern Seaboard) เชื่อม ระหว่าง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช กับจ.กระบี่ ที่สร้างมานานแล้ว

แต่ เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด ยังไม่มีการวางท่อขนส่งน้ำมัน ยังไม่ได้สร้างระบบ ขนส่งทางราง ในที่ว่างตรงกลางระหว่างถนน จึงรกรุงรัง ชาวบ้านเข้าไปจับจองปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา จนแทบมองไม่เห็นความ ทันสมัย

ข่าวว่า ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่ากำลังเตรียมกฎหมายพิเศษที่เป็นลักษณะเดียวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีซีซี) เป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุน ในแลนด์บริดจ์

เราเชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์ มีคนคัดค้านแน่นอน อย่างน้อยก็เอ็นจีโอ เหมือนที่เคยคัดค้านโครงการ เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด ให้เห็นกันไปแล้ว สิงคโปร์เองคงไม่นิ่งดูดาย คงไม่ปล่อยให้ตัดตอนการขนส่งสินค้าระดับโลก โดยไม่ผ่านสิงคโปร์แน่ๆ กลุ่ม สนับสนุนขุดคลองไทยเองก็ต้องออกมาคัดค้าน

มองว่าโครงการนี้เป็นงานหินเกินไปสำหรับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และกระทบ หลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ ซึ่งถ้าทำได้คุ้มค่าและเหมาะสม ก็คงขุดคอคอดกระที่มีการศึกษามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ถ้าอยากจะทำจริงๆ ก็ควรไปต่อยอดโครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเอกชนเขาพร้อมแล้วแต่ล่าช้าที่ภาครัฐ

ทะเลภาคใต้มีแม่น้ำ ภูเขา ทะเลกว้างไกลเป็นธรรมชาติที่สวยงามทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เราควรเก็บทะเลให้เป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ รักษาทะเล ไว้ให้ปลาทู ปลาเก๋า เจริญเติบโต เป็นอาหารให้ลูกหลานคนไทยจะดีกว่าเอาไปลองผิดลองถูก

ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 21 พ.ย. 2566
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 48290
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 28/11/2023 2:04 pm    Post subject: Reply with quote

รฟท.จัดเวทีฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร - ท่าเรือน้ำลึกระนอง
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 27 พ.ย. 2566

วันนี้ (27 พ.ย.66) เวลา 09.30 น. นายจีรศักดิ์ แสงหอย นายอำเภอหลังสวน เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร - ท่าเรือน้ำลึกระนอง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบในการปรับปรุงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยมี ส่วนราชการ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมอวยชัยแกรนด์ ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

ดร.สุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้ากองพัฒนาโครงการและควบคุมสิ่งแวดล้อม รฟท. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางที่กระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ โดยให้กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการงานสำรวจออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองนี้

สำหรับการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา โครงการได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14-14 พฤศจิกายน 2565 เพื่อนำเสนอขอบเขตการศึกษาของโครงการ การจัดประชุมกลุ่มย่อย ระหว่างวันที่ 4-8 กันยายน 2566 เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการศึกษาของโครงการ ร่างผลการศึกษาโครงการ ร่างผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสัมภาษณ์เชิงลึก และการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นด้วยแบบสอบถาม และนำมาสู่การประชุมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบในการปรับปรุงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีความเหมาะสมต่อไป

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : พอพล กล้าผจญ
ผู้เรียบเรียง : ธัญญารัตน์ ธีรหิรัญวัฒน์
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44615
Location: NECTEC

PostPosted: 28/11/2023 2:55 pm    Post subject: Reply with quote

เปิดเหตุผลสำคัญ ทำไม ‘จีน’ เมินโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ ของไทย
หน้าต่างประเทศ
27 พ.ย. 2566 เวลา 19:39 น.


สื่อฮ่องกงรายงานว่า อภิมหาโครงการลงทุน “แลนด์บริดจ์” ที่รัฐบาลไทยพยายามขายโปรเจกต์นี้ให้กับจีนนั้น ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร แม้ว่าจีนกำลังต้องการทางเลือกใหม่ๆ เพื่อการขนส่งสินค้า นอกเหนือจากช่องแคบมะละกาก็ตาม
Key Points

บรรดานักวิเคราะห์จีนให้หลายเหตุผลที่รัฐบาลจีนอาจไม่สนใจโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย
หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ ไม่ใช่โครงการระดับยุทธศาสตร์ที่ใหญ่พอที่รัฐบาลจีนจะเข้าร่วมด้วย
โครงการนี้อาจไม่ช่วยลดต้นทุน เมื่อเทียบกับการอ้อมช่องแคบมะละกา เพราะมีค่าใช้จ่ายขนย้ายสินค้าระหว่างท่าเรือระนอง-ชุมพร
ปัญหาเศรษฐกิจในบ้านกระทบต่อยุทธศาสตร์ BRI ซึ่งจะทำให้จีนลงทุนเมกะโปรเจกต์ในต่างประเทศได้น้อยลง

เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า อภิมหาโครงการลงทุน “แลนด์บริดจ์” มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลไทยพยายามขายโปรเจกต์นี้ให้กับจีนนั้น ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร แม้ว่าจีนกำลังต้องการทางเลือกใหม่ๆ เพื่อการขนส่งสินค้า นอกเหนือจากช่องแคบมะละกาที่ใช้เป็นหลักอยู่ในปัจจุบันก็ตาม




ช่องแคบมะละกาถือเป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงที่มีความอ่อนไหวอย่างมากในห่วงโซ่เส้นทางขนส่งทางเศรษฐกิจของจีน เพราะเป็นเส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญในเชิง “ยุทธศาสตร์” เช่น น้ำมันดิบและแร่ ทำให้จีนพยายามมองหาทางเลือกใหม่มาหลายสิบปีแล้ว เช่น การลงทุนท่อก๊าซในเอเชียกลาง, การทำระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน, การเชื่อมท่อส่งน้ำมันและก๊าซระหว่างเมียนมา-จีน (ยูนนาน), และการวางเครือข่ายรถไฟสินค้าระหว่างจีน-ยุโรป

และทางเลือกล่าสุดที่เข้ามาให้จีนพิจารณาก็คือ โครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ซึ่งมาแทนที่โครงการขุดคลองกระที่มีราคาแพงกว่าและเป็นที่ถกเถียงมากกว่า


นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้นำเสนอโปรเจกต์นี้กับทางการจีนเมื่อครั้งที่เข้าร่วมการประชุมความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ที่ประเทศจีน เมื่อกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา และถึงขั้นวาดรูปด้วยลายมือตัวเองระหว่างการนำเสนอ โดยจีนนั้นถือเป็นผู้ที่มีศักยภาพทั้งในแง่การลงทุนและการเป็นผู้ใช้งานโครงการนี้ เพราะจะเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกลางโดยไม่ต้องเสียเวลาผ่านช่องแคบมะละกา

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ในจีนสังเกตเห็นตรงกันว่า ทางการจีนแทบจะไม่สนใจโครงการแลนด์บริดจ์เท่าใดนัก หรืออย่างน้อยก็ในตอนนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญ ดังนี้

เปิดเหตุผลสำคัญ ทำไม ‘จีน’ เมินโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ ของไทย

ไม่ใช่โครงการยุทธศาสตร์ ทำแล้วอาจไม่คุ้ม
เซาท์ไชน่ามอนิ่งโพสต์ ระบุว่า หากมีการทำเส้นทางรถไฟหรือคลองเชื่อมสองฝั่งทะเลได้จริง ก็จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การลดระยะเวลาขนส่งสินค้าและการเดินทางเท่านั้น แต่ยังจะพลิกโฉมเศรษฐกิจและการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ของโครงการนี้ดูจะแตกต่างจากความเป็นจริงที่ซับซ้อนกว่านั้น

เดวิด ซวีก ศาสตราจารย์กิตติคุณมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ระบุว่า เมื่อเทียบกับการประหยัดน้ำมันที่ไม่ต้องเดินทางอ้อมช่องแคบมะละกาแล้ว ค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าและการขนส่งทางรถไฟที่แลนด์บริดจ์ดูจะมีราคาแพงกว่า

ลู่ เสียง นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (CASS) ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า จีนไม่คิดว่าจะคาดหวังอะไรกับโครงการนี้ได้มากนัก โดยจีนไม่ได้ให้น้ำหนักแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่มีชื่อเสียง หรือเป็นโครงการระดับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนจะเข้าไปร่วมด้วย โดยประเมินแล้วว่าไม่น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ได้

นอกจากนี้ หากต้องมีการขนถ่ายสินค้าเข้า-ออกระหว่างท่าเรือ จ.ระนอง - จ.ชุมพร ก็จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเนื่องจากเป็นสินค้าสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้เส้นทางนี้ไม่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากนัก เมื่อเทียบกับการต้องอ้อมเส้นทางเดิมที่มะละกา

ลู่กล่าวว่าที่สุดแล้วอาจกลายเป็นความร่วมมือกันในระดับบริษัทมากกว่า โดยบริษัทจีนอาจเป็นผู้ประเมินเองและมองหาทางเลือกต่างๆ กับพันธมิตรในไทย

ทางด้าน จู่ เฟิง คณบดีสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหนานจิง มองในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลจีนอาจไม่ได้เข้ามาลงทุน แต่บริษัทจีนมีแนวโน้มที่จะได้เข้ามาเป็นผู้รับเหมารายใหญ่หากมีการเดินหน้าโครงการนี้

คณบดี ม.หนานจิง ยังกล่าวด้วยว่า อนาคตของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทางการไทย และการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการเมืองในไทยด้วย

ขณะที่หลุยส์ ชาน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยขององค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์อาจช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้ 4-5 วัน อย่างไรก็ตาม การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจการเกษตร อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก่อสร้าง

"เรื่องเงินลงทุนก็ยังเป็นปัญหาด้วย บรรดาเวนเจอร์แคปิทัลค่อนข้างระมัดระวังกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้" ชาน กล่าว

เปิดเหตุผลสำคัญ ทำไม ‘จีน’ เมินโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ ของไทย

แลนด์บริดจ์ไม่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ BRI ของจีน
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของโครงการ BRI แต่ความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง กลับดำเนินไปอย่างช้าๆ

รายงานระบุด้วยว่า รัฐบาลจีนไม่ได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ และไม่ได้ใส่โครงการนี้ไว้ในรายชื่อโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทางที่ออกโดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ซึ่งเป็นทีมวางแผนเศรษฐกิจชั้นนำของจีน

ก่อนหน้านี้ ข้อเสนอโครงการขุดคลองกระก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเช่นกัน โดยในปี 2015 สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนระบุถึงโครงการนี้แค่ในแง่ของความยากในการดำเนินการ และแทบจะไม่มีการระบุถึงโครงการนี้ต่ออีกเลย

เดวิด ซวีก ระบุว่า ทางการจีนอาจยุ่งกับโครงการลงทุน BRI อื่นๆ ในต่างประเทศด้วย เช่น โครงการรถไฟคุนหมิง-กัวลาลัมเปอร์ (สิ้นสุดที่เวียงจันทน์) ดังนั้น จึงอาจยังไม่ต้องการลงทุโครงการอื่นในเวลานี้เพิ่ม

แผน BRI เปลี่ยน โอกาสลงทุนเมกะโปรเจกต์ต่างแดนน้อย
อีกประเด็นสำคัญก็คือ แผนยุทธศาสตร์การลงทุน BRI ของจีนนั้น “เปลี่ยนไปแล้ว” จากในอดีต โดยมุ่งโฟกัสเฉพาะธุรกิจที่มีความสำคัญ และอยู่บนการประเมินความคุ้มค่าของผลตอบแทนการลงทุนในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนระดับ “เมกะโปรเจกต์” ในต่างประเทศที่นำโดยรัฐบาลจีนน้อยลงด้วย

ปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) หรือจะเป็นรูปแบบที่เอกชนได้สัมปทานจากรัฐ (BOT)

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์จะเชื่อมท่าเรือในจังหวัดชุมพรและระนอง มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยจะมีทางรถไฟและถนนเป็นระยะทางรวม 90 กม. คาดว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างงานในท้องถิ่นและกรุงเทพฯ ได้กว่า 280,000 ตำแหน่ง โดยคาดว่าจะเริ่มต้นโครงการได้ในปี 2025

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ระบุว่า กระบวนการเปิดประมูลจะเริ่มขึ้นระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. ปีหน้า และคาดว่าการก่อสร้างเฟสแรกจะเริ่มได้ในปี 2030

เจี่ย ยิน นอร์ รองศาสตราจารย์ด้านกิจการสาธารณะมหาวิทยาลัยซิตี้ยูนิเวอร์ซิตี้ออฟฮ่องกง กล่าวว่า รัฐบาลจีนอาจยังไม่คิดที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ใดๆ ในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ได้ปรับแผน BRI ไปเป็นการลงทุนที่เล็กลงทว่าฉลาดขึ้น โดยเน้นที่ความคุ้มค่าระยะยาวในการลงทุนมากกว่า

"ความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับ BRI เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2019 ทั้งในแง่ของจำนวนโครงการและจำนวนเงินลงทุน"

"พวกเขาจะยิ่งรอบคอบเรื่องคุณภาพของโปรเจกต์ที่จะเข้าไปลงทุนด้วย"
https://www.youtube.com/watch?v=xDK_3881iz4
https://www.bangkokbiznews.com/world/1100911
https://www.youtube.com/watch?v=DW-n2qGvVBA
https://www.facebook.com/bangkokbiznews/posts/741686447996944


Last edited by Wisarut on 01/12/2023 3:52 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 48290
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 29/11/2023 4:34 pm    Post subject: Reply with quote

กางแผนสร้าง "ทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง" รองรับแลนด์บริดจ์
ฐานเศรษฐกิจ
29 พฤศจิกายน 2566

กางแผนสร้าง "ทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง" รองรับแลนด์บริดจ์
การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดประชุมร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(ครั้งที่2) โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง รองรับแลนด์บริดจ์
วันที่ 28 พ.ย.2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้กำหนดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ครั้งที่2) งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม

พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ สำหรับนำไปประกอบการศึกษาของโครงการให้มีความครบถ้วนและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนำมาสู่การยอมรับร่วมกัน ณ ห้องราชาวดี เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง โดยมี ว่าที่ร้อยตรีกิตติภพ รอดดอน ปลัดจังหวัดระนอง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป

โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565

โครงการมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ผ่าน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และมีจุดสิ้นสุดที่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง รายละเอียดโครงการเบื้องต้น เป็นระบบรางให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน(Land Bridge)

และแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง(MR-MAP) เส้นทางชุมพร-ระนอง (MR8) รวมระยะทาง 87.50 กิโลเมตร ทางรถไฟขนาดรางกว้าง 1 เมตร จำนวน 2 ทาง มี 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีท่าเรือชุมพร สถานีวังตะกอ สถานีพะโต๊ะ สถานีราชกรูด และสถานีท่าเรือระนอง โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 5.5 ปี


สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ คือ เพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อพัฒนาระบบดลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพตอบสนองต่การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) กับประตูการค้าภาคใต้ เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง ยุโรป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กางแผนสร้าง "ทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง" รองรับแลนด์บริดจ์

การประชุมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบ ในการปรับปรุงมาตรการต้านสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีความเหมาะสมต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 48290
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 01/12/2023 11:17 am    Post subject: Reply with quote

เอกชนจี้รัฐลุยต่อ รถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เทียบชั้นเมืองท่าอันดามัน
ฐานเศรษฐกิจ 01 ธันวาคม 2566

เอกชนระนอง กระตุ้นรัฐบาล เร่งขับเคลื่อนโครงการ เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เป็นโครงข่ายระบบรางเชื่อมโยงการขนส่ง 2 ฝั่งทะเล สู่ฮับขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน
ภายหลังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ทุกฝ่ายรอการอนุมัติให้ดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในขั้นตอนต่อไปนั้น

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานคณะกรรมการหอการค้า จ.ระนอง เปิดเผยว่าเอกชนระนองอยากกระตุ้นไปยังรัฐบาลอีกครั้ง ให้เร่งเดินหน้า โครงการเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพราะถือว่าเรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน มั่นใจว่าโครงการจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการขนส่งของไทย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเมืองท่าขนถ่ายสินค้าฝั่งอันดามัน ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีเมืองท่าในย่านนี้

หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง เชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพื่อมีการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการขยายฐานการผลิตตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมโยงชานเมืองและหัวเมืองหลักในเส้นทางที่มีความสำคัญ

การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพื่อขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟ ระหว่างพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยกับพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าในระบบรถไฟ (Feeder Line) จากพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจังหวัดต่างๆ เข้ากับโครงข่ายหลักของประเทศ

นายนิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันท่าเรือระนองให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน และประเทศในกลุ่มบริมเทคตามแผน AEC – BIMSTEC MODEL ที่พุ่งเป้าให้ท่าเรือเรือระนองเป็นตัวศูนย์กลางเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสจิกส์ทางทะเลจากอาเซียนสู่ประเทศกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นหลังบริษัทสายการเดินเรือได้เข้ามาเปิดเส้นทางการเดินเรือที่ท่าเรือระนอง แม้ว่าขณะนี้จะได้หยุดให้บริการเนื่องจากขาดการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งที่เป็นระบบ แต่หากระบบรางหรือเส้นทางรถไฟเกิดขึ้นการพัฒนาในจุดนี้คงจะเดินหน้าได้อย่างแน่นอน

ที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)ได้ปัดฝุ่นโครงการคอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ จ.ชุมพรอีกครั้ง หลังโครงการหยุดชะงักมาระยะหนึ่ง โดยมีการพูดคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทยที่จะดำเนินการต่อในโครงการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนท่าเรือระนอง และจะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการขนถ่ายสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์จากฝั่งอ่าวไทยมายังฝั่งอันดามัน โดยการขนส่งจากแหลมฉบังมายัง จ.ชุมพรพักถ่ายที่ศูนย์คอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ชุมพรเพื่อขนส่งต่อมายังท่าเรือระนอง กระจายสู่ประเทศในฝั่งทะเลอันดามันต่อไป

แม้ว่าจากการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้สูง รวมทั้งยังลดต้นทุนได้มากกว่าที่จะไปใช้ท่าเรือที่สิงคโปร์ ซึ่งอัตราค่าบริการสูงมาก ขณะนี้ทาง การท่าเรือกำลังศึกษารายละเอียดก่อนที่จะเสนอเรื่องงบการลงทุนต่อรัฐบาลต่อไป จะสามารถเชื่อมโยงท่าเรือระนองกับท่าเรือในอ่าวไทยได้และจะเป็นจุดสำคัญที่จะพัฒนาต่อยอดการเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์อื่นๆต่อไป และทราบว่าท่าเรือระนอง มีแผนการขยายท่าเรือ รองรับการขยายตัวในอนาคตข้างหน้า เพิ่มศักยภาพรองรับเรือใหญ่ได้ และการเข้าสู่อาเซียน และเป็นท่าเรือสากลที่จะเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคอาเซียนได้

โครงการพัฒนาและขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟสายใหม่จากจังหวัดชุมพร - ท่าเรือน้ำลึกระนอง สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะสนับสนุนการเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเข้าด้วยกัน และสนับสนุนศักยภาพกลุ่มจังหวัดภาคใต้จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44615
Location: NECTEC

PostPosted: 11/12/2023 8:49 am    Post subject: Reply with quote

”ท่าเรือระนอง” ศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าไป“ BIMSTEC” รับระเบียงเศรษฐกิจใต้


ฐานเศรษฐกิจ
05 ธันวาคม 2566

”ท่าเรือระนอง” วางหมุดหมาย ท่าเรือยุทธศาสตร์ ศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าไป“ BIMSTEC” รับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้


ท่าเรือระนองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันของไทยที่สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าได้เพียงแห่งเดียว อีกทั้งยังมีมาตรฐานสากลเมื่อเทียบกับท่าเรือเอกชนโดยรอบ ไม่เพียงแต่ในฐานะของท่าเรือที่่สนับสนุนกิจกรรมด้านการค้าระหว่างประเทศท่าเรือระนองยังเป็นท่าเรือที่รองรับการเติบโตของอุุตสาหกรรมการขุดเจาะและสํารวจก๊าซธรรมชาติ

กทท.ได้ ดำเนินการพัฒนาท่าเรือระนองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้เป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญกับการพัฒนาเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางฝั่งทะเลอันดามัน การขนส่งต่อเนื่องภายในประเทศ และระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC ประกอบด้วยบังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา และไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

รองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ภายใต้กรอบ Western Gateway โดยจะส่งผลให้การขนส่งสินค้าไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ทำได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ กทท. มีแผนพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือระนอง ตั้งเป้าให้สามารถรองรับตู้สินค้า ขยายหน้าท่าเทียบเรือให้สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีขนาด 12,000 เดทเวทตัน สำหรับท่าเทียบเรือที่ 2 จะดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้างที่ชำรุดเพื่อให้มีความปลอดภัยในการรองรับเรือบรรทุกสินค้า

สำหรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 และลานวางตู้สินค้าเป็นโครงการที่เสริมสร้างศักยภาพของท่าเทียบเรือและยกระดับการให้บริการของท่าเรือระนองในระยะยาวเพื่อรองรับตู้สินค้า จากกลุ่มประเทศ BIMSTEC และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ แนวตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) และมุ่งเน้นสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในปี 2558 - 2564 กทท. ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กทท. (ท่าเรือระนอง) กับท่าเรือ ในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้แก่ เมียนมา อินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศ โดยกรอบเนื้อหาของบันทึกความเข้าใจ กทท. (ทรน.) และท่าเรือในกลุ่มประเทศ BIMSTEC เป็นการสร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงเครือข่ายของท่าเรือ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่าเรือเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่ง มีการประชุมดำเนินงานเชิงปฏิบัติการร่วมกัน (Joint Working Group Meeting) ภายใต้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันโครงการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าทางรางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนานมาที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และมีปลายทางที่เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road Initiative) ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ในปี 2565 กทท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กทท. (ท่าเรือระนอง) กับบริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด

เพื่อส่งเสริมการขนส่งตู้สินค้าในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจาก สป.จีน - สปป.ลาว - ไทย ไปสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC ผ่านท่าเรือระนอง โดยไม่ผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ลดระยะเวลาการขนส่งและต้นทุนการขนส่งในภาพรวมการส่งเสริมธุรกิจบรรทุก - ขนถ่ายตู้สินค้า (Container) ภายใต้โครงการ Land to Sea ซึ่ง กทท. ได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของท่าเรือระนอง ยกระดับโครงข่ายการขนส่งและระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 44615
Location: NECTEC

PostPosted: 11/12/2023 8:51 am    Post subject: Reply with quote

"สุริยะ" เคลียร์ชัด ความคุ้มค่า-โอกาส "แลนด์บริดจ์" เทียบช่องแคบมะละกา

ฐานเศรษฐกิจ
07 ธันวาคม 2566

อ่านชัดๆ "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่การตอบกระทู้ถามจากสมาชิกวุฒิสภาของ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ประเด็นความคุ้มค่าและโอกาสในการลงทุนจาก "นโยบายแลนด์บริดจ์ : Landbridge" เมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกาและท่าอื่นๆ

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กระทู้ถามของ "นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา" เมื่อ 18 กันยายน 2566 เรื่อง "โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge)"

ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ตอบกระทู้ถามประเด็นนี้ด้วยตัวเอง

คําถามที่ 1 นาย สุรเดช ถามว่า การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) จะมีความคุ้มค่ากับ งบประมาณที่ต้องลงทุนหรือไม่

และหากดําเนินโครงการนี้ต่อไป กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดและหลักการ ในการคาดการณ์ความต้องการใช้บริการ (Demand Side) ของโครงการนี้หรือไม่ อย่างไร


นายสุริยะ ตอบว่า กระทรวงคมนาคม โดยสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ขอเรียนว่า จากผลการศึกษา เบื้องต้น ได้คาดการณ์ปริมาณสินค้าผ่านโครงการ Landbridge ตลอดระยะเวลาโครงการ โดยมีสินค้าที่มีแนวโน้มมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 เป็นสินค้านำเข้าและออกจาก ประเทศไทย
กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าที่ส่งไปมาระหว่างประเทศในมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก
กลุ่มที่ 3 เป็นสินค้าที่นําเข้าและส่งออกจากประเทศในกลุ่ม GMS ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงจีนตอนใต้
โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ฝั่งระนองประมาณ 19.4 ล้านตู้ และฝั่งชุมพรประมาณ 13.8 ล้านตู้ ตลอดระยะเวลาโครงการ



เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ใช้ ระหว่างการขนส่งผ่านโครงการ Landbridge กับการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา พบว่า โครงการ Landbridge จะช่วยลดระยะเวลาขนส่ง เฉลี่ยประมาณ 4 วัน และสามารถลดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 15% ซึ่งจะทําให้ประเทศไทยกลายเป็น ศูนย์กลางของการรวบรวมและกระจายสินค้าในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอาเซียน

นายสุริยะ ระบุด้วยว่า โครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง ที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง เชื่อมโยงด้วยเส้นทางประกอบด้วย รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ ระยะทาง ประมาณ 90 กิโลเมตร โดยจะออกแบบเป็นอุโมงค์ในช่วงที่ผ่านภูเขา เพื่อให้เส้นทางขนส่งไม่ลาดชัน เพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้า

ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการมูลค่าลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์นั้น การศึกษาได้แบ่งการพัฒนาโครงการออกเป็น 4 ระยะ ตามผลการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าที่จะมา ผ่านโครงการ มีมูลค่าลงทุนของโครงการรวมทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในระยะแรก ประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งรูปแบบการลงทุนเบื้องต้น ภาครัฐจะทําหน้าที่เวนคืนที่ดิน โดยจะให้ภาคเอกชนทําการลงทุนในโครงการ 100 %

คําถามที่ 2 สว.สุรเดช ถามว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) มีจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบกว่า เส้นทางเดินเรือและท่าเรือบริเวณใกล้เคียงอย่างไร

นายสุริยะ ตอบคำถามนี้ว่า กระทรวงคมนาคม โดยสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้ดําเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

โดยโครงการแลนด์บริดจ์ได้ศึกษาความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางและสามารถทําหน้าที่เป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการนี้จะช่วยลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทําให้ประหยัด ต้นทุนการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดบริเวณช่องแคบมะละกา และมีแนวโน้มในการจูงใจ ผู้ประกอบการขนส่ง และนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้

รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า ในการศึกษาได้กําหนดบทบาทของโครงการแลนด์บริดจ์ไว้ 3 บทบาท คือ

บทบาทการเป็น ประตูการค้า (Gateway) รองรับการนําเข้า - ส่งออกของไทย และของประเทศในกลุ่ม GMS รวมถึง จีนตอนใต้
บทบาทการเป็นเส้นทางลําเลียงสินค้าที่ขนส่งไปมาระหว่างกลุ่มประเทศในมหาสมุทรอินเดีย และกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก
บทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) ในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
สําหรับความก้าวหน้าของโครงการในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 รับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) และให้กระทรวง คมนาคมดําเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนา

โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนํามาประกอบในการจัดทําร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุน โดยสํานักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจรได้ดําเนินการวางกรอบแนวทางพัฒนาโครงการแล้วเสร็จ

ปัจจุบันกําลัง ดําเนินการออกแบบเบื้องต้นท่าเรือทั้งฝั่งระนอง และท่าเรือฝั่งชุมพร พร้อมกําลังดําเนินการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแผนการดําเนินการของโครงการในขั้นตอนต่อไป กระทรวงคมนาคมดําเนินการรับฟังความคิดเห็น จากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้สนใจลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 - มีนาคม 2567

หลังจากนั้นจะนําความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากนักลงทุนมาทําการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงรายละเอียด ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติดําเนินโครงการ โดยจะมีรายละเอียดที่มีความชัดเจนทั้งในด้านของข้อมูล รูปแบบการดําเนินโครงการ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ลงทุนโครงการ และก่อสร้างต่อไปตามแผนจะดําเนินการประกาศประกวดราคาในช่วงปลายปี 2568 และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี

นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า โครงการแลนด์บริดจ์นี้เป็นโครงการที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับ และมีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดระนองและชุมพร รวมถึงประเทศไทย ในภาพรวม กระทรวงคมนาคมจึงให้ความสําคัญในการรับฟังความเห็นทั้งด้านบวกและด้านลบจาก ทุกภาคส่วน เพื่อนํามาพิจารณาในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและกับ พี่น้องประชาชน
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 13, 14, 15 ... 22, 23, 24  Next
Page 14 of 24

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©