Rotfaithai.Com :: View topic - ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) สนามบินสุวรรณภูมิ
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46845
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 23/10/2023 6:55 am Post subject:
ประเมิน1เดือนเปิดSAT-1ผ่านฉลุย
Source - เดลินิวส์
Monday, October 23, 2023 05:36
รับผู้โดยสาร3แอร์ไลน์88,537คน ชงบอร์ดพร้อมบริการเต็มรูปแบบ
นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. วันที่ 25 ต.ค. 66 ทสภ. จะรายงานผลการทดลอง (Soft Opening) เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) อย่างไม่เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมาให้ที่ประชุมรับทราบ พร้อมพิจารณาวันเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 อย่างเต็มรูปแบบต่อไป เบื้องต้นผลเปิดบริการเกือบ 1 เดือน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาใด รวมถึงการให้บริการระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก และอาคาร SAT-1 ก็ไม่พบปัญหาใดเช่นกัน
นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงแรกของการเปิดแบบ Soft Opening มี 2 สายการบินให้บริการ คือไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และไทยเวียตเจ็ท โดยไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ให้บริการเส้นทางไป-กลับประเทศญี่ปุ่น (โตเกียว, โอซากา, ซัปโปโร) ประเทศเกาหลีใต้ (กรุงโซล) และประเทศจีน (นครเซี่ยงไฮ้) ส่วนไทยเวียตเจ็ท ให้บริการ เส้นทางไป-กลับประเทศสิงคโปร์ เส้นทางไปประเทศเวียดนาม (นครโฮจิมินห์) และเส้นทางกลับจากไต้หวัน (ไทเป) ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 66 สายการบินไทย มาเปิดให้บริการเพิ่มที่อาคาร SAT-1 เป็นสายการบินที่ 3
นายกิตติพงศ์ กล่าวอีกว่า สายการบินไทย ให้บริการเฉพาะเที่ยวบินขาออก 3 เส้นทาง ได้แก่ TG 612 เส้นทาง ทสภ.-คุนหมิง (จีน) ทำการบินวันพุธ ศุกร์ และอาทิตย์, TG 668 เส้นทาง ทสภ.-กว่างโจว (จีน) บินทุกวัน, TG922 เส้นทาง ทสภ.-แฟรงก์เฟิร์ต (เยอรมนี) บินทุกวัน และ TG 303 เส้นทาง ทสภ.-ย่างกุ้ง (เมียนมา) บินทุกวัน โดย TG 612 และ TG 668 สายการบินไทย จะสลับการใช้ SAT-1 ขึ้นอยู่กับการหมุนเวียนอากาศยานของ TG อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.นี้ สายการบินมาฮานแอร์ (Mahan Air) จะมาให้บริการที่ SAT-1 เป็นสายการบินที่ 4 ด้วย โดยให้บริการเฉพาะเที่ยวบิน ขาออก W5 050 เส้นทาง ทสภ.-เตหะราน (อิหร่าน) 2 เที่ยวบิน ต่อสัปดาห์ (วันพุธ และศุกร์)
นายกิตติพงศ์ กล่าวด้วยว่า การเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.-19 ต.ค. 66 อาคาร SAT-1 มีเที่ยวบินให้บริการรวม 352 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารมารวม 88,537 คน คาดว่าหลังจากนี้ จะมีสายการบินมาให้บริการที่อาคาร SAT-1 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีหลายสายการบินแสดงความสนใจเข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตามในระหว่างที่รอการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบนั้น ทสภ. ได้พยายามสลับการใช้งานสะพานเทียบเครื่องบินทั้ง 28 สะพาน เพื่อให้ทุกสะพานได้ใช้งานอยู่ตลอด และหากพบปัญหาใดจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
นายกิตติพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอาคาร SAT-1 มีผู้โดยสารแสดงความสนใจอยากเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก แต่ต้องขอสงวนสิทธิ์ให้ใช้บริการได้เฉพาะผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารระบุประตูทางออกขึ้นเครื่อง (GATE) ตัวอักษร S เท่านั้น ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วโดยสารก่อนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า APM เพื่อไม่ให้ผู้โดยสาร GATE อื่นหลงเข้ามาผิดได้ เพราะหากเข้ามาผิดแล้ว เมื่อย้อนกลับไปจะเป็นผู้โดยสารขาเข้าทันที อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปี 67 จะเปลี่ยนเป็นเครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติ ซึ่งผู้โดยสารต้องสแกนตั๋วที่เครื่อง หากตั๋วระบุ GATE อื่น ประตูจะไม่เปิดให้ผู้โดยสารเข้าไปได้.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 ต.ค. 2566 (กรอบบ่าย)
Back to top
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46845
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 24/02/2024 7:52 am Post subject:
สนามบินสุวรรณภูมิ แจงแล้ว 'รถไฟฟ้าขัดข้อง' กระทบผู้โดยสารดีเลย์ 4 เที่ยวบิน
Source - เว็บไซต์คมชัดลึก
Friday, February 23, 2024 20:13
สนามบินสุวรรณภูมิ แถลงกรณี รถไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับใต้ดิน ( เอพีเอ็ม ) ขัดข้อง กระทบ 4 เที่ยวบิน ยันไม่มีผู้โดยสารตกเครื่อง
กรณีที่ รถไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับใต้ดิน ( เอพีเอ็ม ) ที่เชื่อมต่อระหว่าง เมนเทอร์นินอล กับ อาคารผู้โดยสาร Z1 สนามบินสุวรรณภูมิ เกิดขัดข้องไม่สามารถให้บริการได้ เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา เวลา 09.45 น วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ) ที่ผ่านมา และ หยุดวิ่งไป 2-3 ชั่วโมง ทำให้ส่งผลกระทบกับผู้โดยสาร จำนวน 4 เที่ยวบิน ทำให้เที่ยวบินดีเลย์ประมาณ 30 นาที แต่ ณ ปัจจุบัน นี้ รถไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับใต้ดิน ( เอพีเอ็ม ) ได้กลับมาให้บริการตามปกติแล้ว
ล่าสุด เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ห้องประชุม AOB 1 อาคารสำนักงาน AOB นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด พร้อมด้วย นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันแถลงข่าวแจงถึงกรณีรถไฟฟ้า APM ขัดข้องชั่วคราว นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด เผยว่า เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์ กรณีเกิดเหตุรถไฟฟ้า ( เอพีเอ็ม ) เกิดข้อขัดข้อง
ซึ่งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ได้เกิดเหตุรถไฟอัตโนมัติไร้คนขับใต้ดิน ที่เชื่อมระหว่างเมนเทอมินอลกับอาคารผู้โดยสาร Z1 เกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถให้บริการได้ เมื่อเวลา 09.45 น. จากการที่ได้ไปทดสอบเบื้องต้น ก็ได้พบว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากระบบไฟฟ้าเกิดข้อขัดข้อง ทำให้รถไฟฟ้าต้องหยุดวิ่งไป 2-3 ชั่วโมง แต่ ณ ปัจจุบันได้กลับมาให้บริการเป็นปกติแล้ว ซึ่งทาง ทอท.จะกลับไปตรวจสอบในเรื่องของสาเหตุข้อขัดข้องเพื่อทำให้ผู้โดยสารเกิดความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก
นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่เกิดข้อขัดข้อง ทาง ทอท.ได้จัดให้มีรถเวียนรับผู้โดยสารจากเกท DCA ซึ่งเป็นบัสเกท เพื่อรับผู้โดยสารจากเมนเทอมินอลไปที่อาคารและรับผู้โดยสารจากอาคารมาส่งที่เมนเทอมินอล ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการแก้สถานการณ์ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเที่ยวบินที่กระทบ 4 เที่ยวบิน โดย 4 เที่ยวบินมีเวลาดีเลย์ที่เกิดขึ้น 30 นาที และ ณ ปัจจุบันก็ไม่มีรายงานว่ามีผู้โดยสารตกเครื่องแต่อย่างใด และ ทอท.ได้มุ่งเน้นให้บริการกับผู้โดยสารและดูแลผู้โดยสารทุกท่านให้ขึ้นเครื่องได้ตามกำหนดเดิม
นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวเสริมว่า วันนี้ที่เกิดเหตุอาจจะเกิดความไม่สะดวกสบายแก้ผู้โดยสาร และ มีเที่ยงบินที่ได้รับผลกระทบถึง 4 เที่ยวบิน ทางเราได้เช็ดกับเที่ยวบินทุกสายการบินให้ผู้โดยสารได้ขึ้นเครื่องให้ครบทุกท่าน และ ได้กล่าวขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบาย ซึ่งวันนี้ต้องขอบคุณทางการบินไทยที่ได้ซัพพอร์ตรถบัสให้บริการรับส่งผู้โดยสาร และ ทางเราจะไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group