Rotfaithai.Com :: View topic - โมโนเรลปทุมธานี เชื่อมโครงข่าย กทม.
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46844
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 20/04/2024 7:40 am Post subject: โมโนเรลปทุมธานี เชื่อมโครงข่าย กทม.
'อบจ.ปทุมฯ 'ทุ่ม3หมื่นล้าน ดัน5โมโนเรลเชื่อมโครงข่ายกทม.
Source - ฐานเศรษฐกิจ
Saturday, April 20, 2024 06:17
โยน 4 มหาลัยดัง ศึกษา
อบจ.ปทุมฯ "บิ๊กแจ๊ส" ทุ่ม 3 หมื่นล้าน ปูพรมรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) 5 เส้นทางเร่งด่วน เชื่อมโครงข่ายกทม. แก้รถติด มอบ 4 มหาวิทยาลัยดังศึกษา ออกแบบ รับวิกฤตจราจร-การเปิดสวนสัตว์แห่งใหม่ ด้านอดีตนายกฯเทศมนตรีนครรังสิต ย้ำเคยลงมือทำแล้วต้องล้มแผนเหตุหาจุดเชื่อมโครงข่ายสายสีแดง -สีเขียวไม่ได้
วิกฤตจราจรในจังหวัดปทุมธานี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ตามการขยายตัวของเมือง โดยจังหวัดและท้องถิ่นมีความพยายามผลักดันโครงข่ายระบบราง เชื่อมเข้าสู่กรุงเทพมหานครแบบไร้รอยต่อ แต่ต้องยกเลิกโครงการออกไป เนื่องจากแนวต่อหน้าเส้นทางไม่สามารถเชื่อมต่อกัน
ล่าสุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) ผลักดันโครงการรูปแบบดังกล่าวอีกรอบ รูปแบบ รถไฟฟ้ารางเดี่ยว(โมโนเรล) จำนวน 5 เส้นทาง ประเมินมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายเชื่อมโยงการเดินทางระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บริเวณรังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณคูคต เข้าด้วยกัน
โดยจัดสัมมนาฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี โดยมีนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังมากกว่า 400 คน ณ ห้องประชุมนครรังสิต 2-3โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เมื่อไม่นานมานี้
นายพงศธร กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แม้ว่าโครงการ อาจจะไม่เสร็จใน 2 ปี 3 ปี แต่หากไม่เริ่มนับหนึ่งประเมินว่า อีก 10 ปีอาจไม่ได้ดำเนินการ เพราะปัญหาของปทุมธานีวันนี้คือการจราจร ที่แก้ไขในระดับอำเภอ ตำรวจแก้จราจรแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่หากแก้แบบโครงสร้างต้องเอาระบบขนส่งมวลชนมาช่วย จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะปทุมธานีอยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร ความเจริญต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาทำให้เกิดความหนาแน่น ผิวจราจรก็เท่าเดิมวันนี้เป็นการนับหนึ่งที่น่าชื่นชม
โดยแนวเส้นทาง บริษัทที่ปรึกษานำเสนอเบื้องต้น ประกอบด้วย 5 เส้นทาง เส้นทาง A สถานีรังสิต-สวนสัตว์แห่งใหม่ (คลอง6) เส้นทาง B รังสิต-ปทุมธานี เส้นทาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สวนสัตว์แห่งใหม่ เส้นทางD สถานีคลองสี่(สายสีเขียว)-รังสิต-นครนายก เส้นทางE รังสิต-นครนายก-คลองหลวง (ดูจากแผนที่เส้นทาง)
พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่างนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล 5 เส้นทางว่าโครงการดังกล่าวผ่าน การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่1เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องรอผลการศึกษา ซึ่ง จังหวัดปทุมธานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี เพื่อตอบสนองการพัฒนาโครงการให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาระดับประเทศและ แผนพัฒนาจังหวัดปทุมธานี จึงได้จัดทำ โครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี ขึ้น
โดยมอบหมายให้ที่ปรึกษาทั้ง 4 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันดำเนินการศึกษาและพัฒนา เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางระหว่างตัวเมืองกรุงเทพมหานครและจังหวัดปทุมธานี โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว และแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ซึ่งในอนาคตจะมีโครงการส่วนต่อขยายตามแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อันจะนำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
"การร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการเพื่อพัฒนาโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป"
นายสมศักดิ์ วิริยะวงศานุกูล รองประธานหอการค้า จังหวัดปทุมธานีกล่าวว่าอยากเสนอให้มีเส้นทางเชื่อมจากคลองหลวง-เชียงรากเพิ่มเติม เพราะถ้ามีจะทำให้ครบลูปพอดี เป็นการเชื่อมเส้น B กับเส้น C ส่วนเส้น A รังสิต-นครนายก หากสร้างตามแนวริมคลอง น่าจะสะดวกกว่าสร้างบนถนนรังสิต-นครนายกที่กินผิวจราจร และเห็นว่าเส้นนี้เร่งด่วน โดยหากผนวกเป็นเส้นเดียวกับ D จะส่งผลดีเพราะเชื่อมสีแดงกับสีเขียว
นายอนันต์ ยศพลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเมือง Rangsit Knowledge Center ภาคประชาสังคมปทุมธานี เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับแนวเส้นทางเบื้องต้นที่ทางที่ปรึกษาวางเป็นตุ๊กตา ทั้ง 5 เส้นทาง เพราะสะท้อนถึงการพัฒนาเมือง ควบคู่ไปกับการมีโครงสร้างพื้นที่ฐานระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder ) เข้าไปเสริม โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญของเส้นA และ D ที่เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงจากรังสิต กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คูคตเป็นโครงการเร่งด่วน ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ข้อดีของปทุมธานี จังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาตั้งอยู่มากที่สุด และมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับ 5 ของประเทศในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
เมื่อทำรถไฟฟ้าตามหลังกรุงเทพมหานคร จะได้ถอดบทเรียนความล้มเหลวของกรุงเทพมหานครมาปรับปรุงแก้ไขว่า ในการพัฒนาเมือง และระบบขนส่งมวลชนที่ไม่สอดประสานจึงทำให้กรุงเทพมหานครเผชิญวิกฤตจราจรแม้ว่าจะมีรถไฟฟ้าหลายสายก็ตาม การวางแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนระบบรองทั้ง5 สายของจังหวัดปทุมธานี ไปพร้อมกับการชี้นำการเติบโตของเมืองในอนาคตจึงถือว่ามาถูกทางแล้ว ส่วนระบบรถที่จะนำมาใช้ ถ้าเป็นโมโนเรลที่หลายเมืองสำคัญๆ ในโลกก็ใช้ระบบนี้ซึ่งลงทุนไม่สูงทำให้ค่าโดยสารพอดีๆน่าจะเหมาะกับปทุมธานี
"สมมติเส้นแรก A+D ระยะทางประมาณ 25-27 กิโลเมตร ชวนเอกชนมาลงทุน หากเป็นระบบโมโนเรลน่าจะกิโลเมตรละ กว่า1,000 ล้านบาทแปลว่า ในเส้นทางเร่งด่วน ใช้เงินลงทุน 27,000 ล้านบาท หรือไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ก็ปักหมุดรถไฟฟ้าปทุมได้ในยุคที่ผู้บริหารตระหนักต่อวิกฤตจราจร"
นายวิเศษ กิตติสุนทร ผู้ประกอบการธุรกิจรถโดยสารในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งทำธุรกิจมานกว่า 30-40 ปีกล่าวว่า ตามเส้นทางที่จัดลำดับความสำคัญถือว่าตรงจุด เพราะกำลังเผชิญกับวิกฤตจราจร แต่จะเสนอว่าตามแนวรังสิต-นครนายก หากต้องมีตอม่อก็อยากให้สามารถรองรับหลายๆ โครงการ เพราะทราบว่ามีทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน เพื่อลดปัญหาผิวจราจร ในส่วนบริษัทมีความสนใจอยากทำงานร่วมกับที่ปรึกษาฯเพราะเดินรถในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดออกรถใหม่มา 70 คัน หากสามารถช่วยสนับสนุนการเดินทางของประชาชนน่าจะมีประโยชน์
ด้านนายธีระวุฒิ กลิ่นกุสุม อดีตนายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวเสริมว่า เห็นด้วยกับการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล 5 เส้นทาง ของอบจ.ปทุมธานี แต่ หากดำเนินการต้องสามารถเชื่อมต่อโครงข่าย รถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร บริเวณคูคต
ที่ผ่านมา ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี นครรังสิต เคยผลักดัน โครงการโมโนเรล จำนวน 3 เส้นทาง ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือ สนข. ไม่สามารถสรุปแนวเส้นทางลงตัวได้ และในที่สุดต้องยกเลิกไป เพราะ กรมทางหลวงไม่มีความชัดเจน ที่จะก่อสร้างและขยายเขตทาง ถนนรังสิต-นครนายก จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าจะวาง ระบบรถไฟฟ้า ของปทุมธานี ไว้บริเวณ ส่วนกึ่งกลาง หรือด้านข้างของเขตทาง
แต่ผลการศึกษาครั้งที่ผ่านมาไม่มีความเหมาะสม แนวเส้นทางรถไฟฟ้าของปทุมธานีไม่เชื่อมต่อกับ สายสีแดง และไม่เชื่อมต่อสายสีเขียว เพราะหากไม่เชื่อมต่อกัน มองว่าไม่มีประโยชน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าท้องถิ่นจะลงทุนทำโครงการรถไฟฟ้าเอง แต่ พอเอาเข้าจริงอาจเหมือน กรุงเทพ มหานคร ที่ ไม่มีกำลังพอ ที่จะพัฒนาโครงการใหญ่ได้
โดยช่วงแรกเห็นด้วยกับท้องถิ่น ลงทุนระบบรางเอง แต่ในที่สุดแล้วมีปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลาง สุดท้ายแล้วมองว่า ท้องถิ่นไม่ควรทำเอง เพราะจะมีปัญหาการเชื่อมระบบ การจ่ายเงิน ยกตัวอย่างอยู่รังสิตจะมาใช้สายสีแดง ไม่สามารถใช้ได้ ไม่มีจุดเชื่อม มีแต่ Shuttle Bus ซึ่งเป็นแค่รถสองแถวทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางมาใช้สายสีเขียว โดยเฉพาะปัญหากรมทางหลวง ก่อสร้างและขยาย ถนน รังสิตนครนายก ยังไม่ลงตัว
แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า กรณีที่อบจ.ปทุมธานีผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล)ในจังหวัดปทุมธานีทั้ง 5 เส้นทางนั้น ปัจจุบันรฟม.ยังไม่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในเรื่องนี้และยังไม่ทราบว่าต้องใช้งบประมาณจากไหนมาดำเนินการ เพราะขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และกระทรวงคมนาคม เป็นผู้พิจารณาให้รฟม.ดำเนินการได้หรือไม่
"ส่วนความเป็นไปได้ที่จะเกิดโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลในปทุมธานีทั้ง 5 เส้นทางนั้น มองว่าคงรอดูผลการศึกษาก่อนว่าเป็นอย่างไร สามารถทำได้หรือไม่ หากให้รฟม.ดำเนินการ เชื่อว่าเรามีองค์ความรู้และความสามารถที่พร้อมดำเนินการอยู่แล้ว"
ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 21 - 24 เม.ย. 2567
Pathum Thani Invests 30 Billion in Monorail Project to Connect with Bangkok Network
Pathum Thani Province plans to build a 30 billion baht monorail system. The goal is to connect with Bangkok's Red and Green Line suburban rail networks to ease traffic congestion. The project includes five routes and is currently in the study and design phase.
- Pathum Thani Provincial Administrative Organization (PAO) held a public hearing for the project.
- The initial five routes will connect major areas within the province, including universities and a planned new zoo.
- The PAO is working with four universities to study the project's feasibility and environmental impacts.
- Leaders, businesses, and residents express support, but concerns remain about seamless connection to Bangkok's lines.
- Past monorail projects in the province failed due to unclear road expansion plans.
Key Quotes :
Police Lieutenant General Khamronwit Thupkrajang, Pathum Thani PAO President: "Pathum Thani Province realizes the importance of developing a mass transit system to align with national development plans."
Mr. Anant Yotsapholwat, Director of the Rangsit Knowledge Center: " The 5 routes reflect the development of the city and prioritize connections with Bangkok's Red and Green lines."
Source: Thansettakij newspaper, issue 21 - 24 April 2024
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group