Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44644
Location: NECTEC
Posted: 24/04/2025 1:39 am Post subject:
ผ่า ร่างพ.ร.บ.ขนส่งรางฯ เปิดทางเอกชนลงทุนทางรถไฟ-คุมตั๋วร่วม
ฐานเศรษฐกิจ
วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2568 เวลา 05:30 น.
ตีพิมพ์ใน เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,090
วันที่ 24 - 26 เมษายน พ.ศ. 2568
กรมราง กางแผนคืบหน้าร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ฉบับใหม่
ลุ้นสภาฯเคาะร่างกฎหมายวาระ 2-วาระ ภายในพ.ค.นี้ คาดมีผลบังคับใช้ปลายปี 68
เตรียมเปิดทางเอกชนร่วมทุนทางรถไฟ คุมระบบตั๋วร่วม ลดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนอุ้มผู้โดยสาร
ที่ผ่านมาร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติหลักการแล้ว และเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 พิจารณาในวาระที่ 1 มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ เห็นด้วยถึง 250 เสียง แต่ปิดสภาไปก่อน ส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ทันการพิจารณา เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า สำหรับความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... นั้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว
ขณะเดียวกันตามขั้นตอนจะต้องนำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาฯ โดยร่าง พรบ.ฉบับนี้ได้ผ่านชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ได้ดำเนินการพิจารณาแล้วเสร็จในการประชุมครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารับรองรายงานการประชุมก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ภายในเดือนพฤษภาคม 2568 เมื่อการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้น จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาทั้ง 3 วาระ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ คาดว่าพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... จะประกาศใช้ในปลายปี 2568
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า หากร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ มีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้สามารถควบคุมค่าโดยสารและพัฒนาระบบตั๋วร่วมได้ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโดยใช้โครงข่ายทางรถไฟได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกรมฯ ปัจจุบันกรมฯอยู่ในขั้นตอนเตรียมการ เพื่อหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในส่วนนี้ภายในเดือนพฤษภาคม 2568 ก่อนประกาศใช้แผนดังกล่าวต่อไป
ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯฉบับใหม่ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบรางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการบูรณาการระบบตั๋วโดยสารและการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ของร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯจะมีประโยชน์หลัก 2 ประการ คือ 1.ไม่มีการเก็บค่าแรกเข้าในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าที่ซ้ำซ้อนกัน 2.การใช้ระบบบัตรโดยสารแบบเดียวกัน นายพิเชฐ กล่าว
อย่างไรก็ดียืนยันว่าการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ในช่วงปลายปี 2568 ที่ไม่อาจไม่ทันต่อมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ที่มีเป้าหมายดำเนินการภายในเดือนกันยายนนี้ จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากในปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ได้นำร่องในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ยังสามารถดำเนินการได้โดยอยู่ภายใต้กฎหมายเดิมที่มีในปัจจุบัน
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ มี 10 หมวด165 มาตรา สาระสำคัญ กำหนดให้มี คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โครงการของหน่วยงานรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางรางและแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง
ขณะเดียวกันยังมีการกําหนดให้มีการจัดทำโครงการขนส่งทางราง ประกอบด้วย1.การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางรางเพื่อประโยชน์ ในการกำหนดแนวเส้นทางเพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง
2. การเสนอโครงการการขนส่งทางราง โดยแยกเป็นกรณีรถไฟและรถไฟฟ้า ให้จัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานผล การศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการ และกรณีรถรางให้จัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการ เสนอต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบแล้วเสนอต่อคณะกรรมการ โดยโครงการใดที่มีเอกชนร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
3.การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือ ก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาการขนส่งทางราง กำหนดเขตระบบรถขนส่งทาง รางและเขตปลอดภัยระบบขนส่งทางรางโดยกำหนดเงื่อนไขการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ในเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง รวมทั้งกำหนดข้อห้ามกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือเป็นอุปสรรค ต่อการขนส่งทางราง
ผ่า ร่างพ.ร.บ.ขนส่งรางฯ เปิดทางเอกชนลงทุนทางรถไฟ-คุมตั๋วร่วม
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง โดยมี 3 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง ,ใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง และใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง โดยกำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางใน การจัดให้มีประกันความเสียหาย หน้าที่ในการแจ้งเหตุที่จะทำให้การเดินรถขนส่งทางรางหยุดชะงัก เหตุฉุกเฉิน หรืออุปสรรคต่อการขนส่งทางราง
อย่างไรก็ตามยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง และไกล่เกลี่ยข้อ ขัดแย้งที่เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางรางและกําหนดให้มีคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและ อุบัติการณ์ของการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และ อุบัติการณ์ ตลอดจนกําหนดให้มีผู้ตรวจการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางราง ฯลฯ
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44644
Location: NECTEC
Posted: 14/05/2025 12:52 am Post subject:
คมนาคมดันเต็มสูบรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย เร่งแก้สัญญาสัมปทาน-พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯปี 2543ควักชดเชย 9,500 ล้านบาท/ปี
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เวลา 05:54 น.
ปรับปรุง: วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เวลา 09:39 น.
กรมราง ชง คมนาคม ชู้ตรถไฟฟ้า 20 บาท เฟส 2 ใช้กับทุกสาย เข้า ครม.แล้ว
ข่าวนวัตกรรมขนส่ง
วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เวลา 08:18 น.
กรมราง ชง คมนาคม ชู้ตมาตรการรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย เฟส 2 ใช้กับทุกสาย เข้า ครม.แล้ว ลุ้น ครม. เคาะภายใน พ.ค.นี้ ก่อนเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ ส.ค.นี้ เปิดบริการ 30 ก.ย.
การขับเคลื่อนนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลฯที่จะดำเนินการทันที โดยจะเป็นการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับนโยบาย ค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายเพื่อลดภาระค่าเดินทางของประชาชน
มีการดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 นำร่องโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย คือ 1. รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 16 สถานี และ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 4 สถานี
ค่ารถไฟฟ้าจะปรับลด จากราคาเริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลือสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
โดยสรุปผลดำเนินการในปีแรก พบว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 50% จากเดิมที่มีเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นคน-เที่ยว/วัน เป็นเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นคน-เที่ยว/วัน ซึ่งสูงกว่าประมาณการณ์ที่นำเสนอ ครม.เห็นชอบ โดยคาดว่า สายสีแดงจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จากมาตรการ 20 บาทตลอดสาย 10-15 % หรือสูงสุด ประมาณ 20% ถือว่า เกินความคาดหมายและประสบความสำเร็จอย่างมาก
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอชดเชยส่วนต่างรายได้สายสีแดง เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประมาณ 6.43 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 77.15 ล้านบาทต่อปี
ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงมีปริมาณผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นกว่า 17 % จากเดิมมีเฉลี่ยประมาณ 5-6 หมื่นคน-เที่ยว /วัน โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมาณการณ์กรณีสายสีม่วง ลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสายว่ารายได้ จะลดลงจากปัจจุบันประมาณ 56-60 ล้านบาท/ปี ในขณะที่ประเมินว่า จำนวนผู้โดยสารจะมีเพิ่มขึ้น 10 -20 % หรือเพิ่มเป็น 6-7 หมื่นคน-เที่ยว/วัน และคาดว่ารายได้ที่ลดลง จะกลับมาเท่าเดิมได้ภายใน 2 ปี
ปัจจุบัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดำเนินการเป็นปีที่ 2 แล้ว ขณะที่นโยบายในปีที่ 3 ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำหนดว่า จะมีการขยายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทให้ใช้ได้กับรถไฟฟ้าทุกสาย สามารถขึ้นกี่ต่อก็ได้ ตลอดการเดินทางจ่าย 20 บาท เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระบบราง ทุกเส้นทาง ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2568
@สุริยะยืนยัน 30 ก.ย. 68 ใช้ครบทุกสี 8 สายทาง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า คนไทยทุกคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ได้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2568 เป็นต้นไป ซึ่งผู้โดยสารที่ใช้สิทธิ์นี้ ต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ทางรัฐ เพื่อยืนยันตัวตน โดยกรอกตัวเลขข้อมูลบัตรที่จะใช้ชำระค่าโดยสาร เพื่อเชื่อมโยงกับระบบบริหารจัดการรายได้กลาง โดยจะเริ่มลงทะเบียนในเดือนส.ค. 2568
พร้อมยืนยันว่า จะไม่ทำให้เกิดความยุ่งยาก ในการเชื่อมเดินทางข้ามสายจ่ายที่ 20 บาท โดยใช้แอปทางรัฐเป็นระบบเคลียร์รายได้ ซึ่งกำหนดให้ประชาชน เริ่มลงทะเบียนในเดือนส.ค. 2568 ขณะที่ ปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ Digital Government Development Agency (Public Organization) (DGA) กำลังพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง(Central Clearing House : CCH) และทดสอบการเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ให้บริการแก่ผู้รับบัตร (Acquirer) สำหรับบัตรโดยสาร EMV และ Rabbit ABT
รายงานข่าวระบุว่า สพร.ตั้งงบประมาณ สำหรับพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง ไว้ 156 ล้านบาท ได้แก่ ค่าพัฒนาระบบ Clearing House (CCH) และระบบที่เกี่ยวข้อง 76 ล้านบาท ค่าเช่าบริการคลาวด์(จานวนการเดินทาง 2.18 คนเที่ยว/วัน) (ระยะเวลา 12 เดือน) 50 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบ 30 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
@เปิดเกณฑ์ลงทะเบียนแอปทางรัฐ ใช้ได้เฉพาะ EMVและ Rabbit
ตามแผนงานที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เสนอดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสายของรัฐบาล ระยะที่ 2ที่จะใช้กับรถไฟฟ้าทุกสายที่ให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ 1.สายสีแดง 2.สายสีม่วง 3.สายสีน้ำเงิน 4. แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 5.สายสีเขียว 6.สายสีทอง 7.สายสีเหลือง 8.สายสีชมพู ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2568 นั้น
ระบุว่า ผู้ได้รับสิทธิ์นั้น จะเป็นเฉพาะผู้โดยสารที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน แอปทางรัฐ และเดินทางด้วยบัตร EMV หรือ บัตรเติมเงินประเภท ABT ซึ่งปัจจุบันมีเฉพาะ บัตร Rabbit ที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนบัตรนอกเหนือจากข้อ 2 หรือบัตรที่ไม่ได้ลงทะเบียน ต้องเสียค่าโดยสารราคาตามอัตราปกติ
โดยการใช้งานบัตรโดยสารปัจจุบัน มีดังนี้
-บัตรแรบบิท ใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย มี บีทีเอส เป็นผู้ให้บริการ คือ สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง และสายสีชมพู
-บัตร MRT Plus ใช้กับรถไฟฟ้า 2 สาย ของ รฟม. โดย BEM ให้บริการคือ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง
-บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) Contactless Card ใช้กับรถไฟฟ้า 6 สาย ได้แก่ สายสีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู และสายสีเหลือง ส่วนสายสีเขียวของบีทีเอส ไม่รับบัตร EMV
-บัตรประเภทเติมเงิน ของรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL)
@ใช้เงินสด จ่ายราคาเต็ม บัตรอื่นหมดสิทธิ์
ความหมายคือ บัตร MRT ทั้งหมด ของรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน สีม่วง บัตรเติมเงินของสายสีแดง และแอร์พอร์ตลิงก์ ที่ผู้โดยสารใช้อยู่ในปัจจุบัน และ ผู้โดยสารจ่ายเงินสด ไม่ได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสาย ผู้โดยสารแต่ทำไม บัตร Rabbit ของบีทีเอส จึงได้รับเพียงผู้ประกอบการรายเดียว
นอกจากนี้ EMV ในส่วนของบัตรเดบิต ยังให้ใช้เฉพาะ บัตรของธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ส่วนธนาคารอื่นยังไม่ร่วม ซึ่งมีคำอธิบายว่า เพราะ ธนาคารเห็นว่าไม่คุ้ม
ประเด็นข้อสงสัยนี้ กรมรางและกระทรวงคมนาคม ยังไม่มีคำตอบว่า คนกลุ่มนี้จะทำอย่างไร เพียงชี้แจงว่า ต้องการให้ทุกคน ผูกบัญชีกับแอปทางรัฐ ซึ่งจะมีสิทธิประโยชน์อีกมากมาย ขณะที่ส่วนใหญ่ ประชาชนมีบัตรเครดิต กันอยู่แล้ว ก็แค่ลงทะเบียนผู้เลขบัตรที่จะใช้ชำระค่าโดยสาร เข้ากับแอปทางรัฐ ส่วนกรณีบัตรเดบิต ของธนาคารกรุงไทย หากต้องไปออกบัตรใหม่ จะมีค่าใช้จ่าย 200 บาทเท่านั้น อยากให้พิจารณาว่า ค่าออกบัตร 200 บาท เทียบกับ การประหยัดค่าเดินทางเพราะจ่ายเพียง 20 บาท จากเดิมที่ต้องจ่ายค่าเดินทาง 80 บาท เดินทางไม่กี่วัน ก็คุ้มกับค่าออก เดบิตที่จ่ายไปแล้ว
@บัตรต่างค่าย
ใช้ข้ามสายไม่ได้
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ปัจจุบันบัตรส่วนใหญ่ที่ประชาชนที่ใช้เดินทางด้วยรถไฟฟ้ามี 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 1. บัตรแรบบิท ใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย คือ สีเขียว สีทอง สีชมพู สีเหลือง 2. บัตร MRT Plus ใช้กับ รถไฟฟ้า 2 สาย คือ สีน้ำเงิน สีม่วง 3. บัตร EMV ใช้กับรถไฟฟ้า 6 สาย ได้แก่ สีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู, สีเหลือง ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) รับเฉพาะบัตร ARL
ซึ่งการได้บัตร EMV หรือ บัตรแรบบิท มานั้น ต้องลงทะเบียนยืนยันด้วยหมายเลขบัตรประชาชนมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำตัวเลขที่อยู่บนบัตรเหล่านั้นมาลงทะเบียนบนแอปทางรัฐก็สามารถใช้รถไฟฟ้า 20 บาทได้แล้ว
โดย วันที่ 30 ก.ย. 2568 ที่จะเริ่มใช้ 20 บาทกับรถไฟฟ้าทุกสาย กรณีต้องการเดินทางข้ามสาย ผู้โดยสารจะต้องถือบัตร 2 ใบคือ EMV กับ บัตรแรมบิท โดยใช้ EMV กับรถไฟฟ้าทุกสาย กี่ต่อก็ได้ แต่หากจะเข้าใช้ระบบของสายสีเขียว ต้องใช้บัตรแรบบิทแตะเท่านั้น
ส่วนผู้โดยสารที่ใช้งานเฉพาะสาย ไม่ข้ามระบบ ใช้ได้ทั้ง EMV และ บัตรของแต่ละสาย
ยังรอความชัดเจนว่า จะใช้สิทธิ์ 20 บาทได้อย่างไร
ขณะที่ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ต้องเร่งรัดผู้ให้บริการ และ ธนาคารกรุงไทย ติดตั้งอุปกรณ์ EMV เพิ่มเติมและเชื่อมต่อระบบ ซึ่งปัจจุบัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (ระบบ ARL ) ยังไม่มี ระบบ EMV
@พ.ค.นี้ ชงครม.อนุมัติรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ทุกสาย
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานเร่งรัด โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธาน ซึ่งมีการหารือกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อเร่งรัดทุกมิติที่เกี่ยวข้องให้พร้อมในวันที่ 30 ก.ย. 2568 โดยขณะนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการดำเนินอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ภายในเดือนพ.ค.นี้
นอกจากนี้ ยังต้องรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คาดว่าจะ ประกาศใช้ในเดือน ก.ย. 2568 ตามกรอบเวลา
หลักการในการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปัจจัยสำคัญ คือ ทุกกระบวนการทุกขั้นตอนต้องเสร็จเรียบร้อยครบถ้วน ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย เพื่อความรอบคอบ กว่าปัจจัยเรื่องเวลาจึงจะสามารถเดินหน้า เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายการเงิน ที่ กระทรวงการคลังกำกับอยู่ด้วยปลัดคมนาคมย้ำ
@ส่องปัญหาแก้สัญญาสัมปทาน-แก้พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ปี 2543 ดึงเงินรฟม.จ่ายชดเชย
ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ เคยระบุว่า นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย มีการประเมินว่ารัฐจะต้องชดเชยรายได้ให้ผู้ประกอบการปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท จะใช้เงินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และใช้ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ จัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมฯ เป็นเครื่องมือในการชดเชย โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมขึ้นมา
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การประเมินตัวเลขล่าสุด คาดว่าจะใช้วงเงินชดเชยหรืออุดหนุนถึง 9,500 ล้านบาท การจะนำเงินรายได้สะสมของรฟม.มาใช้นั้น จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เพิ่มเติม เรื่องการสนับสนุนเพื่อบูรณาการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เป็นการเปิดทางให้นำเงินรายได้สะสม ของ รฟม.มาใช้ได้ในนโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ เนื่องจาก ในพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ พ.ศ.2543 ไม่มีการระบุเรื่องการนำเงินสะสมของรฟม.มาใช้ทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นการจะนำมาใช้ทันที จึงเสี่ยงผิดระเบียบและกฎหมาย รวมถึง วินัยการเงินการคลัง
รฟม.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นรายได้สะสมที่มีก็ถือเป็นเงินของรัฐ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล เงินสะสมเหล่านี้มาจากเงินรายได้ที่เหลือจ่ายในแต่ละปีของรฟม. ซึ่งปัจจุบันมีสะสมประมาณ 7,000 ล้านบาท
ดังนั้น ความท้ายทายและสิ่งที่ต้องดำเนินการให้เสร็จทันวันที่ 30 ก.ย. 2568 เพื่อ ให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายทำได้ตามเป้าหมาย คือ กระทรวงคมนาคมต้องเสนอครม. ขอความเห็นชอบนโยบาย, เจรจาเอกชนผู้ให้บริการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ทุกรายเพื่อเข้าร่วม ,สพร.พัฒนาระบบระบบ CCH , รฟท.และรฟม. ปรับปรุงกายภาพระบบ บัตร EMV เชื่อมต่อ CCH , พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ประกาศมีผลบังคับใช้ ,จัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม, แก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ พ.ศ. 2543
@กทม.กางต้นทุน สีเขียวส่วนต่อขยาย 1,2 ปีละ 8 พันล้านบาท
แหล่งข่าวระบุว่า อันดับแรก ต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานให้ชัดเจนก่อนว่า ยอมรับการเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งทางเอกชนต้องมีเงื่อนไข ขอชดเชยรายได้ที่ลดลงจากรัฐ ซึ่งไม่ง่ายเลย เนื่องจากปัจจุบันเอกชนดำเนินการตามเงื่อนไข สัญญาสัมปทาน ที่มีการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร และจัดเก็บค่าโดยสารเอง เท่ากับเอกชนมีรายได้เข้าทันที การเปลี่ยนให้มา จัดเก็บไม่เกิน 20 บาท และรัฐชดเชยส่วนต่าง ซึ่งอาจจะไม่ได้ชดเชยทันที เพราะอาจได้ส่วนต่างรายได้ เป็นรายเดือน รายปี ระยะเวลาที่เอกชนขาดรายได้ จากที่เคยได้ทันที จะเกี่ยวไปถึงดอกเบี้ยที่ควรจะได้อีกด้วย ตรงนี้ เอกชนคงมีเงื่อนไขให้รัฐชดเชย รวมไปถึง ต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานอีกด้วย
โดยเฉพาะ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ กทม. กำกับดูแล ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้น กทม.ระบุว่า มีต้นทุนค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่งและช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ปีละ 8,000 ล้านบาท โดยกทม.แบกภาระขาดทุนอยู่ 6,000 ล้านบาท เพราะเก็บค่าโดยสารได้เพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอนี้ไปแล้ว ส่วน สายสีเขียว ที่มี บมจ.บีทีเอส รับสัมปทาน ยังรอตัวเลขและต้องเจรจากับทางบีทีเอส
นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 เดือน รถไฟฟ้า 20 บาททุกสายทุกสีข้ามระบบได้ จะทำได้จริงแค่ไหน เพราะยังมีโจทย์ใหญ่ ทั้งเรื่อง เงินชดเชยเอกชนที่ตัวเลขพุ่งเพิ่มไปถึง 9,500 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะล้วงเอาจากเงินสะสมของรฟม. แต่ก็ต้องแก้ไขกฎหมายเสียก่อน ส่วน กองทุนตั๋วร่วม ยังจัดตั้งไม่ได้จนกว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯประกาศใช้ ไม่รวมถึงข้อจำกัดมากมายจนถูกมองว่ารถไฟฟ้า 20 บาทรอบนี้ ยุ่งยากมากไปจนคนไทยใช้ได้ไม่ทั่วถึง!!
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 44644
Location: NECTEC
Posted: 16/05/2025 1:31 pm Post subject:
'คลัง' ดึงนโยบาย 'รถไฟฟ้า 20 บาท' จี้ รฟม.หารือใช้เงินอุดหนุนเอกชน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์
เศรษฐกิจ
วันพฤหัสบดี 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เวลา 8:00 น.
สุริยะ ยันใช้เงิน รฟม. 8,000 ล้านบาท ดัน รถไฟฟ้า 20 บาท เริ่ม ก.ย.นี้ เผยอยู่ระหว่างหารือ คลัง กำหนดแนวทางจัดใช้เงินให้ถูกระเบียบกฎหมาย คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงฯ มีเป้าหมายจะนำร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (พ.ร.บ.รฟม.) ซึ่งจะเป็นฉบับปรับปรุงให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค.68 ที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาได้ เนื่องจากกระทรวงการคลังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดใช้เงินกำไรสะสมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อไปใช้ชดเชยส่วนต่างรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ นั้นอาจไม่สามารถดำเนินการได้โดยตรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการหารือในรูปแบบการใช้เงินให้รอบคอบ เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย คาดว่าจะหารือแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้
พ.ร.บ.รฟม. เป้าหมายของกระทรวงฯ จะเอาเข้า ครม.เมื่อ 13 พ.ค.68 ที่ผ่านมา เพื่อเสนอเรื่องนี้ให้ทันการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 28 - 30 พ.ค.68 นี้ แต่ทราบว่าการปรับแก้ พ.ร.บ.รฟม.ที่ต้องนำเงินกำไรสะสมไปส่งให้กองทุนตั๋วร่วมที่จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมนั้น ต้องหารือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังก่อน แต่ รฟม.ไม่ได้หารือในรายละเอียดนี้ ทำให้ตอนนี้ รฟม.ต้องกลับไปหารือกรมบัญชีกลางก่อน ว่าจะสามารถนำเงินนี้มาใช้ในรูปแบบใด เพื่อแก้ พ.ร.บ.รฟม.ต่อไป
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ ยังมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ตามเป้าหมายภายใน 30 ก.ย.นี้ เนื่องจากปัจจุบันมีความพร้อมในผลการศึกษาทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงการหารือเพื่อนำเงินกำไรของ รฟม.มาเข้ากองทุนตั๋วร่วม และชดเชยส่วนต่างรายได้ที่จะเกิดขึ้นในรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ซึ่งกระทรวงฯ ยังยืนยันว่ามาตรการนี้ จะใช้เงินชดเชยเพียง 8,000 ล้านบาทต่อปี ไม่มีการปรับเพิ่มกรอบวงเงินเป็น 9,500 ล้านบาท
"เรื่องตัวเลข 9,500 ล้านบาท ไม่ทราบว่าใครประเมินแล้วเป็นตัวเลขมาจากไหน เพราะกระทรวงฯ ยังคงประเมินกรอบวงเงินไว้ที่ 8,000 ล้านบาทในปีแรก รวมทั้งเรื่องที่ตัวเลขชดเชยรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.ขอชดเชย 8,000 ล้านบาท ก็ยืนยันว่าไม่เคยมีการเจรจาเรื่องนี้ และไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป"
ขณะเดียวกัน ระหว่างนี้กรรมาธิการยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม และการกำกับดูแล ชดเชยส่วนต่างค่ารายได้ของผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทั้งหมด โดยขณะนี้ได้พิจารณาผ่านวาระ 1 แล้ว และกระทรวงฯ จะมีการเสนอเพิ่มรายละเอียดของการเปิดรับเงินเข้ากองทุนตั๋วร่วม จากเดิมกำหนดรับได้เพียงเงินบริจาค จะปรับเพิ่มให้มีเงื่อนไขรับเงินเข้ากองทุนได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดว่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ควรมีผู้บริหารจัดการหน่วยงานเดียว (Single Owner) เพราะจะทำให้การบริหารจัดการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อโอนสิทธิในการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับกระทรวงคมนาคมนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจากกระทรวงฯ ต้องการบริหารรถไฟฟ้าให้เป็นระบบ และมาตรฐานเดียวกันอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่ กทม.มีแนวคิดขอแก้ระเบียบกฎหมายในการนำกิจการรถเมล์มาดูแลเอง เพราะปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม หาก กทม.ได้กำกับจะทำให้การบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนใน กทม.ดีขึ้นนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดีเนื่องจาก ขสมก.ปัจจุบันให้บริการรถเมล์ในพื้นที่ กทม.เป็นส่วนใหญ่ น่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการบริหารจัดการ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้คงต้องหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1180310?
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group