View previous topic :: View next topic |
Author |
Message |
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 21/08/2007 4:34 pm Post subject: เรื่องน่ารู้ : รถไฟในสมรภูมิ |
|
|
..................เดือนตุลาคม เป็นเดือนครบรอบของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงหนึ่งครับ ซึ่งคนรุ่นหลังๆ แทบไม่ทราบกันว่า ในช่วงต้นๆ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ยังมีข้อขัดแย้งด้านความคิดของผู้คนกลุ่มต่างๆ ว่า รวดเร็วเกินไปไหม ? ที่นำประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองสมัยใหม่ โดยประชาชนยังไม่มีความพร้อม และที่สำคัญ คือ อำนาจซึ่งตกอยู่ในกำมือกลุ่มบุคคลใหม่ ซึ่งแตกต่างด้านความคิด วิธีการ บางสิ่งเพื่อพวกพ้อง ทำให้กลุ่มเก่าไม่พอใจ ถึงขั้นยกกำลังและอาวุธเข้าตัดสินปัญหา สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชิวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อย นั่นเป็นที่มาของประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า " กบฎบวรเดช "
..................สำหรับข้อความและภาพประกอบ ขออนุญาตนำมาเล่าเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจค้นคว้าต่อไป จากวารสาร " รถไฟสัมพันธ์ " ฉบับ ประจำเดือน กันยายน 2527 โดยคุณ " พรพุทธ ทิพารัตน์ " ในหัวเรื่อง " รถไฟในสมรภูมิ " ซึ่งผมขอขอบคุณท่านผู้เรียบเรียง และการรถไฟแห่งประเทศไทยมา ณ โอกาสนี้
.............................................
รถจักรสวิส 450 แรงม้า หมายเลข 504 ขณะสวมเกราะกันกระสุน
รถไฟในสมรภูมิ
โดย : พรพุทธ ทิพารัตน์
.............................................
....................ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 โดย " คณะราษฎร์ " ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีคณะนายทหารฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นความรีบร้อนช่วงชิงอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ทรงดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในกาลเวลาอันเหมาะสมอยู่แล้ว เพียงแต่ทรงต้องการให้ราษฎรมีความเข้าใจในวิถีทางรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้เสียก่อนเท่านั้น
......................11 ตุลาคม 2476 ประวัติศาสตร์การนองเลือดอันเกิดจากคนไทยด้วยกัน เปิดฉากรบราฆ่าฟันกันขึ้น ซึ่งเป็นทหารฝ่ายรัฐบาลกับทหารปฏิวัติ โดยการนำของพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเคยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมมาแต่ก่อน ยกกำลังจากหัวเมือง คือ จากกองทัพนครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ ราชบุรี ปราจีนบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี พร้อมกับมุ่งหน้าสู่พระนคร เพื่อบังคับให้รัฐบาลกราบถวายบังคมลาออก
......................เมื่อฝ่ายรัฐบาล อันมีพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี รู้ข่าวแต่ต้น จึงได้ส่งกำลังตำรวจในความควบคุมของนายพันตำรวจโทพระกล้ากลางสมร ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษมุ่งหน้าไปยังนครราชสีมา
......................ขบวนรถไฟของกองกำลังทหารฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช ได้ปะทะกับฝ่ายตำรวจสันติบาลของรัฐบาลที่ปากช่อง ฝ่ายปฏิวัติระดมยิงฝ่ายตำรวจทันที กระสุนปลิดชีวิตนายร้อยตำรวจโทขุนประดิษฐสกลการ กับนายดาบตำรวจทองแก่น อบเชย และพลตำรวจอีก 2 ราย นอกจากนั้น ได้รับบาดเจ็บอีกหลายนาย การยิงต่อสู้กันดำเนินไปไม่นาน ตำรวจทั้งหมดก็ต้องยกธงขาว ตกอยู่ในความควบคุมของทหารฝ่ายปฏิวัติ
......................นายพันตำรวจโทพระกล้ากลางสมร ถูกควบคุมตัวมากับขบวนของทหารฝ่ายปฏิวัติจนกระทั่งถึงดอนเมือง ทหารฝ่ายปฏิวัติเข้ายึดดอนเมืองไว้ได้เมื่อ 12 ตุลาคม 2476 แต่พระกล้ากลางสมรได้เล็ดลอดหนีจากการควบคุมของฝ่ายปฏิวัติออกมาได้ในความมืด แล้วมุ่งกลับพระนครทันที
......................เมื่อฝ่ายปฏิวัติยึดดอนเมืองไว้แล้ว ได้ส่งตัวแทนไปติดต่อกับรัฐบาลพร้อมกับยื่นหนังสือเป็นคำขาดให้รัฐบาลลาออกภายใน 1 ชั่วโมง ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ทางฝ่ายปฏิวัติจะยกกำลังเข้าบังคับ
......................ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ( ผู้ว่าการรถไฟในสมัยต่อมา ) เป็นตัวแทนไปเจรจากับฝ่ายปฏิวัติให้เลิกทัพกลับไปแต่โดยดี เพื่อมิให้เสียเลือดเนื้อคนไทยด้วยกัน โดยจะกราบบังคมทูลขอนิรโทษกรรมให้
......................เมื่อฝ่ายปฏิวัติไม่ได้รับผลจากการยื่นคำขาดเช่นนั้น จึงให้กักตัวพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไว้ พร้อมกับยื่นข้อเสนอใหม่ รวม 6 ข้อต่อรัฐบาล คือ.-
................1. ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
................2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก
................3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
................4. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง
................5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกจริงๆ
................6. การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง
................สุดท้ายได้ขอประกาศนิรโทษกรรมแก่คณะปฏิวัติ ซึ่งคำขอทั้งหมดนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอม
................คณะปฏิวัติจึงเคลื่อนกำลังเข้าสู่พระนครทันที โดยยึดพื่นที่เรื่อยมาจากดอนเมืองถึงบางเขน
................บ่ายวันนั้น 12 ตุลาคม 2476 เสียงปืนใหญ่ระเบิดกึกก้องไปทั่วท้องทุ่งบางเขน ฝ่ายปฏิวัติรอกำลังทหารจากจังหวัดหัวเมืองต่างๆ ที่จะตามมาสมทบ
Last edited by black_express on 27/08/2007 11:47 pm; edited 7 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 21/08/2007 4:46 pm Post subject: |
|
|
ทหารฝ่ายรัฐบาลได้ยกพลมาถึงสถานีโคราชแล้ว วีนที่ 25 ตุลาคม 2476
..................ฝ่ายรัฐบาลนั้น นายพันโท พระเริงรุกปัจจามิตร ผู้บังคับการปราบปรามแนวหน้า นำคณะทหารเข้าต่อสู้โดยลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ปืนกลหนัก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ( ปตอ. ) ขึ้นรถ ขต. และใช้รถจักรไอน้ำดุนวิ่งไปตามราง เข้ากระหน่ำยิงอย่างไม่ลดละ
..................ฝ่ายปฏิวัติเสียเปรียบในด้านกำลังอาวุธ พระยาศรีสิทธิสงคราม แม่ทัพหน้าของฝ่ายปฏิวัติ สั่งให้พวกของตนถอยทัพมาตั้งมั่นอยู่ที่สถานีหลักสี่
ทหารฝ่ายรัฐบาลตั้งกองบก. ข้างโรงปูนซีเมนต์ไทยบางซื่อ
..................ส่วนกำลังทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์ ซึ่งขณะยกกำลังมาเพื่อสมทบกับกำลังฝ่ายปฏิวัตินั้น ได้ถูกกองกำลังฝ่ายรัฐบาลที่สถานีโคกกระเทียมตีสกัดไว้จนถอยร่นกระจายกลับคืนไป ส่วนพระยาเสนาสงครามแม่กองได้พยายามหนีเล็ดลอดลอบมาสมทบได้ในภายหลัง
..................กองทหารเพชรบุรีก็เช่นกัน ถูกทหารฝ่ายรัฐบาลที่ราชบุรีตีสกัดกั้นไว้ที่สถานีบ้านน้อย (สถานีเขาย้อย) ไม่สามารถจะผ่านมารวมกำลังกับฝ่ายปฏิวัติได้
..................ส่วนทหารจากปราจีนบุรีนั้นเล่า ไม่มั่นใจว่าฝ่ายปฏิวัติจะมีชัยชนะต่อรัฐบาลได้ จึงประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลทำการปราบปรามฝ่ายปฏิวัติเสียอีกด้วย เหตุการณ์ระส่ำระสายทำให้ฝ่ายปฏิวัติสูญเสียกำลังใจในการสู้รบเป็นอย่างมาก
การส่งกำลังบำรุงฝ่ายรัฐบาลที่ย่านสถานีบางซื่อ
..................การรบขับเคี่ยวกันอยู่ถึง 2 วัน 2 คืน กระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม ฝ่ายปฏิวัติยังคงปักหลักอย่างเหนียวแน่นที่สถานีหลักสี่ มีกำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยของนครราชสีมาประจำแนวรบอย่างทรหด แม้จะมีปืนกลอยู่เพียง 5 กระบอกเท่านั้นก็ตาม ยังสามารถรุกไล่ทหารฝ่ายรัฐบาลถอยร่น จนเข้ายึดคลองบางเขนไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง
รถจักรฮาโนแมก 277 ชนรถ บทน. 4 ผล ทหารรัฐบาลตาย 9-10 คน รวมถึงนายร้อยโทที่โดนรถ ปตอ. 76 ทับขาตายคาที่
..................รุ่งขึ้น วันที่ 15 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลได้หนุนกำลังพร้อมอาวุธหนักนำขึ้นรถไฟ มีทั้งรถเกราะและปืนกล รุกไล่ฝ่ายปฏิวัติจนเกือบประชิดแนวหน้าฝ่ายปฏิวัติซึ่งเป็นรองทั้งกำลังสนับสนุนและอาวุธต่างๆ จำเป็นต้องถอยกลับ
..................ระหว่างที่ยกกำลังถอยร่นนั้น ได้ปล่อยรถจักรเปล่าซึ่งเปิดฝีจักรเต็มที่พุ่งเข้าชนขบวนรถเกราะ ปืนกลของฝ่ายรัฐบาลตกรางพินาศยับเยิน ทหารของฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย ทำให้ชะงักการรุกไล่ของทหารฝ่ายรัฐบาลไปได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
..................เมื่อประเมินกำลังการต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลแล้วเห็นว่า ฝ่ายตรงข้ามมีกำลังเหนือกว่าเพราะ โดนฝ่ายรัฐบาลสั่งให้เอานัดดินออกจาก ลูกกระสุนปืนใหญ่หมดไปก่อนหน้าที่จะก่อกบฏ พระองค์เจ้าบวรเดชก็สั่งให้ถอยทัพไปยึดช่องแคบสถานีปากช่อง เตรียมการต่อสู้กับรัฐบาลต่อไป ขณะที่เคลื่อนกำลังถอยไปนั้น ก็ได้ทำการระเบิดทำลายสะพานและทางรถไฟเสียหายหลายแห่ง เพื่อเป็นการประวิงเวลาการติดตามรุกไล่ของฝ่ายรัฐบาล
Last edited by black_express on 14/02/2012 8:25 am; edited 3 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 21/08/2007 4:50 pm Post subject: |
|
|
การขนทหารฝ่ายรัฐบาลที่บางซื่อคราวกบฏบวรเดช (ต้นฉบับ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
...................ฝ่ายปฏิวัติถูกกำลังฝ่ายรัฐบาลติดตามปราบปรามถึงสถานีหินลับ และปากช่อง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก พระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศ และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้สำเร็จ
...................การยุทธครั้งนั้น ทรัพย์สินของชาติโดยเฉพาะกิจการรถไฟได้รับความเสียหายมาก เป็นภาระของกรมรถไฟหลวงต้องดำเนินการซ่อมบำรุงทั้งล้อเลื่อนและทางรถไฟให้เรียบร้อยใช้การได้ ในเวลาต่อมาจะเห็นได้ว่า รถไฟ มีภารกิจต่อประเทศชาติในภาวะปกติ โดยการรับใช้ประชาชนด้วยบริการโดยสารและการขนส่งสินค้าในฐานะรถไฟเป็นกิจการสาธารณูปโภค อีกทั้งในภาวะสงคราม " รถไฟ " ก็พร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับกองทัพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการป้องกันประเทศเช่นเดียวกัน ภารกิจดังกล่าว คนรถไฟทุกคนตระหนักในความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงนี้ด้วยความภาคภูมิใจ นับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน และแม้ในอนาคตข้างหน้าต่อไป.
Last edited by black_express on 14/02/2012 8:22 am; edited 1 time in total |
|
Back to top |
|
|
sittipon
3rd Class Pass
Joined: 16/08/2007 Posts: 32
|
Posted: 18/10/2007 9:24 am Post subject: |
|
|
รูปภาพคลาสสิคมากครับ
เนื้อเรื่องก็อ่านแล้วได้บรรยากาศเก่าๆ ดี เหมือนหนังไทยย้อนยุคดีครับ |
|
Back to top |
|
|
Wisarut
1st Class Pass (Air)
Joined: 27/03/2006 Posts: 43714
Location: NECTEC
|
Posted: 18/10/2007 10:15 am Post subject: |
|
|
พี่ตึ๋ง ภาพเหล่านี้มีใน Collection ภาพถ่ายของ หอจดหมายเหตุแห่งชาติด้วยครับ บางรูปก็ได้รับการตีพิมพ์ ในหนังสือ เกี่ยวกับการปราบกบฎบวรเดชซึ่งคุณเอนก นาวิกมูลได้นำเสนอมาแล้วนะครับ |
|
Back to top |
|
|
pitsanume
3rd Class Pass
Joined: 03/07/2006 Posts: 95
Location: แหลมฉบัง จ.ชลบุรี
|
Posted: 18/10/2007 10:21 am Post subject: |
|
|
รถไฟของเรานี้ อยู่คู่กับประเทศไทยในทุกเหตุการณืเลยนะครับ
เป็นความรู้ที่ดีครับ ขอขอบคุณในความรู่ที่ได้เพิ่มเติมครับ |
|
Back to top |
|
|
TomThumb
3rd Class Pass
Joined: 14/01/2007 Posts: 29
|
Posted: 18/10/2007 11:17 am Post subject: |
|
|
ขอสดุดีและไว้อาลัยแด่วีรชนผู้สละชีวิตพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย
เมื่อใดที่ผมเดินทางผ่านอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ณ วงเวียนหลักสี่ ที่บางเขน
ผมจะรู้สึกชื่นชมในวีรกรรมของทหารผู้กล้าในเหตุการณ์ครั้งนั้นเสมอ |
|
Back to top |
|
|
Guitar
1st Class Pass (Air)
Joined: 11/10/2007 Posts: 1057
Location: บุรีรัมย์ - นครราชสีมา
|
Posted: 18/10/2007 2:42 pm Post subject: |
|
|
เป็นความรู้ใหม่สำหรับผมเลยครับ สนุกดี |
|
Back to top |
|
|
Wisarut
1st Class Pass (Air)
Joined: 27/03/2006 Posts: 43714
Location: NECTEC
|
Posted: 18/10/2007 8:02 pm Post subject: |
|
|
นี่ยังไม่รวมกรณี รถไฟไทยต้องทำขบวนเข้ามลายูโดยไม่เปลี่ยนหัวที่ปาดังเบซาร์
รถไฟไทย เข้าไปทำงานตามคำสั่งกองทัพญี่ปุ่นตอนศึกยึดสิงคโปร์
รถไฟไทย ต้องคุมการเดินรถขนทหารญี่ปุ่นจากกรุงเทพ - ปาดังเบซาร์ วันละ 3 เที่ยวไป 3 เที่ยวกลับ แถมล่าช้ากว่ากำหนด 41 ชั่วโมง ไปตั้ง 10 ชั่วโมง จนโดนด่ากันกลางที่ประชุมร่วมพันธมิตรไทย - ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังมีกรณีคนรถไฟโดนญี่ปุ่นซ้อมปางตาย เพราะทำงานงุ่มง่ามๆ สื่อกันไม่รู้เรื่อง แถมญี่ปุ่นชอบปีนระเบียบการบรรทุกและเดินรถ
อา ... ยังไม่รวมกรณี ถล่มสถานีชุมพร ถล่มมักกะสัน และ สะพานท้ง 3 ( ปรมินทร์ พระราม 6 และ สะพานท่าข้าม ที่บ้านดอน - สุราษฎร์ธานี ) |
|
Back to top |
|
|
Paniti23
3rd Class Pass (Air)
Joined: 28/09/2007 Posts: 445
Location: พญาไท-ประสานมิตร-องครักษ์
|
Posted: 18/10/2007 10:26 pm Post subject: อืม น่าสนใจ |
|
|
พี่ๆ มีคนคนเข้ากล่าวกันว่า รถไฟไทย รัชกาลที่ 5 ของเรา สร้างรางรถไฟขึ้นมาเอาไว้ปราบ
กบฎ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ครับ |
|
Back to top |
|
|
|