View previous topic :: View next topic |
Author |
Message |
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 14/12/2007 2:52 pm Post subject: เรื่องน่ารู้ : องค์ประมุขแห่งชาติกับรถจักรดีเซล |
|
|
วันนี้ผมขออนุญาตนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับองค์ประมุขของชาติทั้ง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ครั้งยังทรงพระเยาว์ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ประทับบนรถจักรดีเซลไฟฟ้า Sulzer ที่กรมรถไฟได้สั่งซื้อมาใช้งาน เพื่อทดลองวิ่งใช้งานบนเส้นทางในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนส่งมอบ ทว่า เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้รถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นดังกล่าว ต้องติดค้างอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์เป็นระยะเวลาร่วม 7 ปี ถึงได้ส่งมายังกรมรถไฟ เมื่อปี พ.ศ.2492
สำหรับเรื่องราวน่ารู้ประกอบภาพนี้ ได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ งานรัฐพิธีเปิดสะพานพระราม 6 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2496 และจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 ในวารสาร “ รถไฟสัมพันธ์ ” ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 / 2545 ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งผมขออนุญาตนำเผยแพร่เพื่อเป็นข้อมูลด้านวิชาการแก่ผู้สนใจศึกษา พร้อมภาพประกอบเพิ่มเติมจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงใน Rotfaithai.Com แห่งนี้ด้วยครับ
หากท่านใดสนใจที่จะทราบเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวกับการสร้างรถจักรดีเซลไฟฟ้า ซูลเซอร์ ติดตามได้จากกระทู้ ขุดกรุ : งานวิศวกรรมไฟฟ้า จากความทรงจำของข้าพเจ้า ของคุณหลวงประสิทธิกลมัย ซึ่งเป็นตัวแทนของกรมรถไฟ ไปควบคุมการสร้างรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นนี้ ของบริษัทซูลเซอร์ ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ด้วย
..........................
องค์ประมุขแห่งชาติกับรถจักรดีเซล
........แม้ประเทศไทยจักอุดมไปด้วยไม้นานาพันธุ์สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง เฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจการที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เช่น ในกิจการรถไฟเป็นต้น ก็ดี แต่ก็ไม่วายที่จะต้องประสบกับความยากลำบากในการจัดหา เพราะยิ่งตัดไม้มาเผาเป็นเชื้อเพลิงนานวันขึ้น ป่าที่สะดวกแก่การนำไม้มาใช้ทำฟืนก็ยิ่งทรุดโทรมร่อยหรอหนักลงเป็นลำดับ ถ้าคิดจะใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงต่อไป ย่อมต้องอาศัยไม้จากป่าที่อยู่ห่างเส้นทางรถไฟลึกเข้าไปทุกที เป็นการสิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้วยประการทั้งปวง
........เห็นจะเป็นเพราะเหตุที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับปรีชาญาณที่หยั่งเห็นประโยชน์ของการใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้า ซึ่งนอกจากไม่ต้องเสียเวลาเติมน้ำ เติมฟืนเช่นรถจักรไอน้ำ เท่ากับช่วยประหยัดการเผาทำลายไม้ลงไปในตัวแล้ว ยังเป็นโอกาสให้มีเวลาทำนุบำรุงกิจการป่าไม้ให้เจริญงอกงามตามนโยบายของแผ่นดินได้อีกประการหนึ่งด้วย ดังนั้น กรมรถไฟหลวงในสมัยที่ พลเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จึงได้ตกลงสั่งซื้อรถจักรดีเซลจากต่างประเทศมาทดลองใช้ในการสับเปลี่ยน เป็นจำนวน 2 คันก่อน
( รถจักรดีเซลจำนวน 2 คันที่กล่าวนั้น ได้แก่ หมายเลข 21 - 22 ได้สั่งซื้อจากบริษัท Swiss Locomotive & Mechanics ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาถึงประเทศไทยและนำออกใช้การในปี พ.ศ. 2471 )
........ต่อจากนั้น ได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าล้อโบกี้ ขนาด 450 แรงม้า จากบริษัท Sulzer ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 6 คัน ( หมายเลข 501 - 506 ) กับรถจักรดีเซลไฟฟ้าล้อตายตัว จากบริษัท Frichs ในประเทศเดนมาร์ค อีก 13 คัน โดยมีรถดีเซลรางขนาด 150 แรงม้า 6 คัน ( หมายเลข 11 - 16 ) รถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาด 900 แรงม้า 6 คัน ( หมายเลข 551 - 556 ) และขนาด 1,400 แรงม้า 1 คัน ( หมายเลข 601 )
........รถรุ่นที่กล่าวนี้ มาถึงประเทศไทยในปี พ.ศ. 2474 - 2475 และได้นำออกใช้ลากจูงขบวนรถโดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ใช้รถจักรฟริตซ์ ( Frichs ) ทำขบวนรถด่วนผ่านแดนระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองปีนัง ( สถานีไปร ) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ปรากฎว่าเป็นที่นิยมแก่ประชาชนเป็นอันมาก เพราะแต่เดิมมา ขณะที่ยังใช้รถจักรไอน้ำทำขบวนรถด่วนผ่านแดนระหว่าง กรุงเทพฯ กับเมืองปีนัง นั้น ผู้โดยสารต้องเสียเวลาเดินทางถึง 31 ชั่วโมงครึ่ง ครั้นเปลี่ยนมาใช้รถจักรดีเซลลากจูงขบวนแทน ทำให้ย่นเวลาเดินทางได้ 5 ชั่วโมง คือ รถจักรดีเซลใช้เวลาทำขบวนแต่ต้น ถึงปลายทางเพียง 26 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
........ในปี พ.ศ. 2482 กรมรถไฟ สมัยที่ พลเอก จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีในครั้งแรก ได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าจากบริษัท Sulzer ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 7 คัน เป็นรถจักรดีเซลใช้โบกี้แบบ Bo-Bo ขนาด 735 แรงม้า 4 คัน กับรถจักรดีเซลใช้โบกี้แบบ แบบ A1A-A1A ขนาด 960 แรงม้า 3 คัน เพราะรถจักรดีเซลเท่าที่มีใช้การอยู่ ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการ และรถจักรล้อโบกี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า คุณภาพการขับเคลื่อนดีกว่ารถจักรล้อตายตัว และบังใบล้อสึกหรอน้อยกว่าด้วย
........ในการนี้ ได้พิจารณาเห็นว่า ถ้าจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปควบคุมตรวจสอบการสร้างรถที่สั่งซื้อ แทนการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศด้วย ( บริษัทแซนเบิร์ก - ตั้งโดยอดีต ครฟ. ที่เป็นฝรั่ง สำนักงานใหญ่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ) นอกจากจะได้รถที่ประกอบขึ้นด้วยคุณภาพสมกับความประสงค์ ยังจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ความชำนาญ เฉพาะอย่างยิ่งทางด้านซ่อมบูรณะ และบำรุงรักษารถจักรดีเซล อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่กิจการรถไฟไทยในกาลต่อไปอีกโสดหนึ่งด้วย จึงได้จัดส่งวิศวกรคณะหนึ่ง ประกอบด้วย หม่อมเจ้าสิทธิยากร วรวรรณ , หลวงประสิทธิ์กลมัย , และนายแสวง กาญจนาลัย ออกไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อปฏิบัติงานตามความมุ่งหมายที่กล่าว
........ถ้าเป็นยามปกติ ควรจะได้รถจักรดีเซลที่สั่งซื้อเมื่อ พ.ศ. 2482 มาใช้งานในราว พ.ศ. 2484 แต่บังเอิญสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น การสร้างและจัดส่งรถจึงประสบอุปสรรค กล่าวคือ แม้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นประเทศที่เป็นกลางก็ตาม ก็ต้องเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ารับราชการทหาร และตระเตรียมสร้างสมอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้เพื่อป้องกันตัว เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การสร้างรถจักรดีเซลล่าช้า
........ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวรถ และส่วนล่างของรถ สั่งทำจากบริษัท Henschel ในประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังทำสงครามอยู่ กว่าจะได้ตัวรถมาทำการประกอบ ย่อมเต็มไปด้วยความยากลำบากและเสียเวลามาก เพราะโรงงานของ Henschel ถูกกองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดแหลกราญ และตอนหลังโรงงานถูกกองทัพอเมริกันยึดครองด้วย
........ดังนั้น กรมรถไฟจึงได้รับรถจักรรุ่นที่กล่าวนี้ 2 คันแรกใน พ.ศ. 2489 แม้จะสร้างเสร็จแต่ปี พ.ศ. 2484 แล้ว และคันสุดท้ายที่ประกอบใหม่ หลังจากรวบรวมชิ้นส่วนจากโรงงาน Henschel ได้แล้วใน พ.ศ. 2494 แต่ประโยชน์จากการล่าช้าก็มีอยู่บ้าง กล่าวคือ เป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ซึ่งส่งไปประจำอยู่ที่โรงงานสร้างรถตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีเวลาทำการตรวจทดลอง และแก้ไขส่วนบกพร่องต่างๆ ได้ทั่วถึง
........การสร้างรถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาด 735 แรงม้าคันแรก สำเร็จลงพร้อมที่จะทำการทดลองลากขบวนได้ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2484 รถคันนี้คือรถจักร “ บุรฉัตรเลขที่ 651 ”
........ตามสัญญาสั่งซื้อ ก่อนที่จะส่งลงเรือมาประเทศไทย รถจักรดีเซลแต่ละแบบ จะต้องได้รับการทดลองกำลังลากจูง และความเร็วให้ได้ตามรายการละเอียดที่ระบุไว้ และเป็นการเหมาะมาก ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ยังมีทางรถไฟขนาดแคบ ( ขนาดกว้าง 1.000 เมตร ) เป็นระยะยาวถึง 1,570 กิโลเมตร อันเป็นทางชนิดเดียวกับที่กรมรถไฟไทยใช้อยู่ ทำให้กระทำการทดลองได้อย่างจริงจัง
........บริษัท Sulzer ได้จัดส่งรถจักรคันนี้จากโรงงานประกอบ และติดตั้งเครื่องจักรกล และอุปกรณ์ไฟฟ้าของบริษัท Oerlikon ที่เมือง Zurich โดยบรรทุกรถไฟทางมาตรฐาน ( ขนาดกว้าง 1.435 เมตร ) ขนมาถ่ายลงทางขนาดแคบ ( ขนาด 1.000 เมตร ) ที่สถานี Landquart ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Zurich 104 กิโลเมตร
........สถานี Landquart นี้ เป็นศูนย์กลางของบริษัทรถไฟ Rhatischen – Bahn. ทางรถไฟของบริษัทนี้ ต้องตัดผ่านภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา คดเคี้ยวเลี้ยวลด ข้ามห้วยข้ามเหว และลอดถ้ำ การก่อสร้างสิ้นเปลืองเงินมาก จึงจำเป็นต้องสร้างทางขนาด 1.000 เมตร แทนขนาดมาตรฐาน ตามเส้นทางของรถไฟสายนี้มีสถานที่ตากอากาศดี ๆ หลายแห่ง เช่นที่ Arosa , St. Moritz และ Davos ( เมืองตากอากาศดาโวส ) ซึ่งเป็นที่พักฟื้นและพักรักษาวัณโรค
........ในการทดลองรถจักรดีเซลครั้งนี้ บริษัท Sulzer ได้ติดต่อไปทางสถานทูตไทยในกรุงเบอร์น ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อานันทมหิดล พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน ( ขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ให้เสด็จเยี่ยมทอดพระเนตรกิจการโรงงานของบริษัท ตลอดจนการทดลองขับรถจักรด้วย
........พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ได้เสด็จจากเมือง Lausanne โดยทางรถไฟมาถึงเมือง Winterthur ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 มี ม.จ.สนิทประยูรศักดิ์ รังสิต กับ หลวงประสิทธิกลมัย ได้ไปคอยรับเสด็จอยู่ที่สถานีรถไฟ และโดยเสด็จไปยังโรงงาน Sulzer นาย Roburt Sulzer ผู้อำนวยการบริษัท นาย Adolf Brunner วิศวกรใหญ่ฝ่ายรถจักรดีเซล กับนาย Walther Deithalm ประธานกรรมการบริษัท Deithalm ได้คอยต้อนรับ และนำเสด็จทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ของโรงงาน
........โรงงาน Sulzer เป็นโรงงานที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผลิตภัณฑ์ของโรงงานนี้มี อาทิเช่น เครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่สำหรับเรือเดินทะเล เครื่องยนต์ดีเซลสำหรับรถจักร เครื่องจักรไอน้ำ กังหันไอน้ำ หม้อน้ำ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องอัดลมขนาดใหญ่ ฯลฯ
........หลังจากทอดพระเนตรกิจการของโรงงานพอสมควรแล้ว บริษัท Sulzer ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จเสวยพระกระยาหารกลางวันที่โรงแรม Eintrach และในตอนเย็นวันนั้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังเมือง Chur เพื่อทอดพระเนตรการทดลองรถจักรดีเซลในวันรุ่งขึ้น ประทับแรม ณ เมืองนี้หนึ่งคืน
........ในการทดลอง บริษัท Rhatischen – Bahn ได้เตรียมรถพ่วงไว้ 3 หลัง เป็นรถพระที่นั่ง 1 หลัง รถชั้น 1 – 2 หนึ่งหลัง และรถภาระ 1 หลัง เฉพาะรถพระที่นั่ง ได้ประดับประดาด้วยดอกไม้สีต่างๆ เป็นรูปธงชาติทั้ง 2 ประเทศ
........วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 เวลา 7.40 น. ขบวนรถทดลองได้ออกจากสถานี Chur โดยมีผู้แทนบริษัท Sulzer คือ นาย Edward V. Salis , นายและนาง J. E. Davis , Dr. Wulfer jr. , นาย Brunner และ นาย Schlepfer วิศวกรใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ผู้แทนบริษัท Deithalm คือ นาย Deithalm นาย Sceish และมี นาย E. Lang แห่งบริษัทรถไฟ Rhatischen – Bahn ร่วมเดินทางไปด้วย
........สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ประทับในรถพระที่นั่ง ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 8 กับรัชกาลปัจจุบัน ประทับที่ห้องขับของรถจักรดีเซล เริ่มแต่ออกจากสถานี Chur จนถึงสถานี St. Moritz เป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของบริษัท Sulzer กับบริษัท Deithalm นาย E. Lang , หลวงประสิทธิ์กลมัย และ นายแสวง กาญจนาลัย โดยเสด็จอยู่บนรถจักรด้วย
........ทัศนียภาพสองข้างทางรถไฟสายนั้นสวยงามยิ่ง ขบวนรถแล่นลัดเลาะไปตามไหล่เขา เลียบห้วย ข้ามเหว และลอดถ้ำ เมื่อถึงที่ใดอันเป็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ก็หยุดขบวนรถให้ทอดพระเนตร เช่น ตอนถึงสะพานข้ามเหวซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก หรือเมื่อถึงปากถ้ำ ซึ่งนับจำนวนได้ถึง 39 ถ้ำ แต่ละถ้ำมีความยาวต่างๆ กัน รวมทั้งสิ้น 16,000 เมตร ที่ยาวที่สุด คือ ถ้ำ Albula ยาว 5,865 เมตร ( สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2446 สิ้นค่าสร้าง 7 ล้านฟรังสวิส)
........ตอนสูงสุดของเส้นทางรถไฟสายนี้อยู่ภายในถ้ำแห่งนี้ คือ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,823 เมตร ตลอดทางที่ผ่านไป รถวิ่งบนทางราบก็เพียงบริเวณสถานีเท่านั้น นอกนั้นเป็นทางขึ้น มีลาดชันสูงสุด 35 ใน 1,000 จากสถานี Chur ถึงสถานี St. Moritz ซึ่งเป็นสถานีสิ้นสุดของการทดลอง ขบวนรถต้องไต่ขึ้นสูง 964 เมตร ในระยะทาง 90 กิโลเมตร
........ระหว่างทาง นาย Brunner วิศวกรใหญ่ของบริษัท Sulzer ได้กราบบังคมทูลชี้แจงถึงหน้าที่ของส่วนต่างๆ ของเครื่องจักรโดยละเอียด อันเป็นที่สบพระราชหฤทัยยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั้งสองพระองค์ ได้ทดลองขับรถจักรนั้นด้วย ขบวนรถถึงสถานี St. Moritz เมื่อเวลา 11.45 น.
........St. Moritz เป็นสถานที่ตากอากาศชั้นหนึ่งอยู่ใกล้ทะเลสาบ ภูมิประเทศสวยงามยิ่ง ในฤดูหนาวมีผู้นิยมไปพักผ่อนและเล่นสกีกันมาก บริษัท Sulzer ได้จัดให้มีการต้อนรับเสด็จอย่างมโหฬารที่ Palace Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของ ST. Moritz หลังจากเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว เจ้าภาพได้เชิญเสด็จประพาสรถยนต์ไปตามถนนเลียบฝั่งทะเลสาบ Upper Engadin
........ครั้นเวลา 16.00 น.ตรง ขบวนรถทดลองเดินทางกลับสถานี Chur ถึงเมื่อเวลา 18.45 น. เป็นอันถึงต้นทางที่เริ่มใช้รถจักรบุรฉัตรเลขที่ 651 ทดลองทำการลากจูงขบวน ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั้งสองพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เสด็จกลับสถานี Zurich โดยขบวนรถเร็ว ถึงเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น.
........สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่บรรดาผู้ตามเสด็จ อันมีข้าราชการกรมรถไฟ ที่กล่าวนามมาแล้วรวมอยู่ด้วย ณ ร้านขายอาหาร St. Peter มีอาหารพิเศษ คือ ข้าว ซึ่งขณะนั้นหารับประทานได้ยากยิ่ง ได้ประทับแรมที่เมือง Zurich หนึ่งคืน รุ่งขึ้นจึงเสด็จกลับเมือง Lausanne
.............
Last edited by black_express on 16/12/2007 1:14 am; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
Paniti23
3rd Class Pass (Air)
Joined: 28/09/2007 Posts: 445
Location: พญาไท-ประสานมิตร-องครักษ์
|
Posted: 14/12/2007 10:58 pm Post subject: |
|
|
ยังไม่ได้อ่านจริงๆจัง ครับ (เพิ่งเข้ามา ขออ่านแบบไปเรื่อยๆดีกว่า ครัย อ่านแบบรีบร้อน
ไม่งั้น ความรู้ไม่เข้าหัวแน่เลย) แต่ดูแล้วน่าสนใจครับผม น่าสมควรค่าแก่การเก็บไว้อย่างยิ่งครับผม _________________
Call me "Prince of SWU" |
|
Back to top |
|
|
pitsanume
3rd Class Pass
Joined: 03/07/2006 Posts: 95
Location: แหลมฉบัง จ.ชลบุรี
|
Posted: 15/12/2007 8:25 am Post subject: |
|
|
ขอขอบคุณมาก ๆ เลยครับกับความรู้ดี ๆ แบบนี้
ผมขออนุญาตเก็บไว้เป็นความรู้นะครับ |
|
Back to top |
|
|
tuie
1st Class Pass (Air)
Joined: 09/07/2006 Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย
|
Posted: 15/12/2007 1:30 pm Post subject: |
|
|
ขอบพระคุณครับพี่ตึ๋งสำหรับข้อมูลการเสด็จฯทางรถไฟสวิสฯของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙
พอดีผมมีภาพจุดที่เป็นไฮไลท์ของเส้นทางช่วงสถานีคูร์ (Chur)- เซนต์มอริท (ST. Moritz) จากโบร์ชัวร์ของกลาเซียเอ็กซ์เพรส ซึ่งเคยนำมาให้ชมในกระทู้เรื่อง "ของฝากจากสวิส" แล้ว ขอนำมาให้ชม ณ ที่นี่อีกครั้งนะครับ
ภาพแรกเป็นภาพกลาเซียเอ็กซ์เพรสขณะกำลังแล่นข้ามสะพานเสาหินโค้ง Landwasser (The Landwasser Viaduct) สูง ๖๕ เมตร(ประมาณตึกสูง ๒๕ ชั้น) ยาว ๑๓๐ เมตร ครับ
ภาพที่สองเป็นภาพเส้นทางโค้งขึ้นภูเขาจนเกือบจะเป็นวงกลม กล่าวคือ เส้นทางด้านล่างตามภาพนี้เลี้ยวโค้งเข้าอุโมงค์พร้อมกับเพิ่มระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงระดับสะพานเสาหินโค้งด้านบนครับ
ทางช่วงนี้อยู่ในส่วนของ Albula Line ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางจากเมือง Filisur ไปยังเซนต์มอริท เป็นการยกระดับความสูง ๔๐๐ เมตร ภายในระยะทาง ๕ กิโลเมตรครับ
ปัจจุบันเส้นทางสายนี้มีร่องฟันเฟืองติดตั้งอยู่เป็นระยะๆ นึกถึงความสูงชันของเส้นทางแล้ว ยังสงสัยว่ารถจักรดีเซลซุลเซอร์คันที่ไทยเราสั่งซื้อ และทดลองวิ่งในปี ๒๔๘๔ มีการติดตั้งระบบฟันเฟืองหรือไม่ เพราะพอมาถึงเมืองไทยก็คงไม่ได้ใช้ระบบฟันเฟืองนะครับ
ปล.เห็นแล้วชักจะอยากตามรอยเสด็จฯไปนั่งรถไฟสวิสอีกสักครั้งแล้วละครับ |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
|
Back to top |
|
|
siam35
3rd Class Pass
Joined: 14/01/2008 Posts: 7
Location: ศรีสะเกษ-นครราชสีมา
|
Posted: 14/02/2008 8:46 pm Post subject: |
|
|
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ |
|
Back to top |
|
|
Mongwin
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/09/2007 Posts: 46988
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
|
Posted: 15/02/2008 9:28 am Post subject: |
|
|
ขอขอบพระคุณสำหรับการนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามาเผยแพร่ครับ
ไม่ทราบว่าวารสารรถไฟสัมพันธ์ทุกฉบับผมจะสามารถอ่านได้ที่ไหนบ้างครับ
ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรีมีไหมครับ
หรือว่าที่การรถไฟฯ มีห้องสมุดที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนไหมครับ |
|
Back to top |
|
|
acaraweradatchm
3rd Class Pass (Air)
Joined: 29/03/2006 Posts: 390
Location: พระประแดง
|
Posted: 20/09/2010 6:10 am Post subject: |
|
|
อ่านข้อมูลพี่ตึ๋งแล้ว นึกถึงปัจจุบันแล้วเศร้าใจครับ กว่า10ปีแล้ว รถจักรเราไม่มีการสั่งเข้ามาเลย ที่มีอยู่ก็แย่มากแล้ว _________________ .อีตาเอ๋บ้า"(รถไฟ)
|
|
Back to top |
|
|
boatteam
2nd Class Pass (Air)
Joined: 05/04/2010 Posts: 910
Location: แจ้งวัฒนะ หลักสี่ ปากเกร็ด
|
Posted: 20/09/2010 7:39 am Post subject: |
|
|
ขอขอบคุณ สำหรับข้อมูลดีๆๆ และภาพประกอบ ที่นำมาให้ชมครับ
ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีก
_________________ สถานีบ้านเกิดอรัญประเทศ สุดเขตแดนสยามฝั่งตะวันออก |
|
Back to top |
|
|
Wisarut
1st Class Pass (Air)
Joined: 27/03/2006 Posts: 43772
Location: NECTEC
|
|
Back to top |
|
|
|