============================
เส้นทางรถไฟสายใต้ ธนบุรี - สุไหงโกลก
============================
ทางรถไฟสายใต้ ได้เริ่มสร้าง เมื่อเส้นทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ใกล้จะเสร็จเรียบร้อย และระหว่างนั้น เส้นทางสายเหนือ ก็สร้างไปจนเกือบถึง สถานีลพบุรีแล้ว
พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ทางฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็สมควรสร้างทางรถไฟ ลงไปทางภาคใต้ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวง ไปดำเนินการสร้าง ทางรถไฟขึ้น โดยเริ่มต้นจาก สถานีธนบุรี (สถานีบางกอกน้อย) ไปจนถึง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2444) แต่เป็นการสร้างทางขนาด 1.00 เมตร (Meter Guage) ระยะทาง 150 กิโลเมตร โดยใช้รางขนาด 40 ปอนด์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดทางรถไฟสายนี้ด้วยพระองค์เอง ณ สถานีธนบุรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 สิ้นค่าใช้จ่าย ในการก่อสร้างประมาณ 7,880,000 บาท เฉลี่ยประมาณ กิโลเมตรละ 52,000 บาท
โรงรถจักรธนบุรี ศูนย์ซ่อมบำรุงรถจักรที่สำคัญแห่งหนึ่งของรถไฟสายใต้
ภาพโดย ชยาภิวัฒน์ อินเล็ก (Black Express)
ใน พ.ศ. 2455 โปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมรถไฟหลวงออกเป็น 2 กรม คือ กรมรถไฟหลวงสายเหนือ และ กรมรถไฟหลวงสายใต้ เพื่อความสะดวก ต่อการควบคุมการก่อสร้าง โดยกรมรถไฟหลวงสายใต้ มีหน้าที่อำนวยการก่อสร้าง ทางจากสถานีเพชรบุรีลงไป โดยมี นายเอช กิตตินส์ ชาวอังกฤษ เป็นผู้อำนวยการ ทางรถไฟสายใต้มีการก่อสร้างพร้อมๆ กัน หลายตอนเพื่อความรวดเร็ว และเนื่องจากทางภาคใต้ มีฝั่งทะเลยาวตลอด ซึ่งค่อนข้างสะดวกในการลำเลียงสินค้า กรมรถไฟหลวง จึงได้สร้างท่าเรือขึ้น 3 แห่ง คือ ท่าเรือกันตัง ท่าเรือสงขลา และท่าเรือบ้านดอน พร้อมทั้งสร้างโรงงานชั่วคราวขึ้น ที่สงขลาและกันตัง เพื่อประกอบรถจักร และล้อเลื่อนที่จะใช้งาน ในภาคใต้ขึ้นเอง
การสร้างทางรถไฟสายใต้ เริ่มจากเพชรบุรีลงไปทางใต้ และจากสงขลา กับกันตัง ขึ้นมาทางเหนือ แล้วมาบรรจบกันที่ จังหวัดชุมพร โดยเปิดการเดินรถเป็นระยะๆ เรื่อยมา ดังต่อไปนี้
9 มิถุนายน พ.ศ. 2454 |
เปิดเดินรถจากสถานี บ้านชะอำ - หัวหิน - วังก์พง
ระยะทาง 20 กิโลเมตร
|
1 มิถุนายน พ.ศ. 2457 |
เปิดเดินรถจากสถานี วังก์พง - ประจวบคีรีขันธ์
ระยะทาง 69 กิโลเมตร |
1 ธันวาคม พ.ศ. 2458 |
เปิดเดินรถจากสถานี ประจวบคีรีขันธ์ - บ้านกรูด
ระยะทาง 59 กิโลเมตร |
15 มีนาคม พ.ศ. 2458 |
เปิดเดินรถจากสถานี บ้านกรูด - บางสะพานใหญ่
ระยะทาง 16 กิโลเมตร |
1 ตุลาคม พ.ศ. 2457 |
เปิดเดินรถจากสถานี ชุมทางทุ่งสง - ร่อนพิบูลย์ - พัทลุง
ระยะทาง 89 กิโลเมตร |
1 มกราคม พ.ศ. 2456 |
เปิดเดินรถจากสถานี พัทลุง - อู่ตะเภา
ระยะทาง 84 กิโลเมตร |
1 เมษายน พ.ศ. 2460 |
เปิดเดินรถจากสถานี อู่ตะเภา - ชุมทางหาดใหญ่ - คลองทราย
ระยะทาง 100 กิโลเมตร
(ภายหลังได้ย้ายสถานีชุมทางอู่ตะเภาไปอยู่ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่
ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางใต้ 3 กิโลเมตร) |
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 |
เปิดเดินรถจากสถานี คลองทราย - บาลอ
ระยะทาง 36 กิโลเมตร |
1 มีนาคม พ.ศ. 2463 |
เปิดเดินรถจากสถานี บาลอ - ตันหยงมัส
ระยะทาง 38 กิโลเมตร |
17 กันยายน พ.ศ. 2464 |
เปิดเดินรถจากสถานี ตันหยงมัส - สุไหงโกลก
ระยะทาง 45 กิโลเมตร |
|
รวมระยะทาง ในทางประธานสายใต้ จากสถานีธนบุรีถึงสุไหงโกลก ทั้งสิ้น 1,144 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2464 สิ้นค่าก่อสร้าง 62,435,195 บาท ปลายทางได้เชื่อมต่อกับทางรถไฟของมลายู ที่มาจากรัฐกลันตัน ซึ่งเป็นทางขนาด 1.00 เมตร เช่นเดียวกัน โดยมีสถานีสุไหง-โกลก เป็นสถานีร่วมที่ชายแดน
ทางแยกสายต่างๆ ของทางรถไฟสายใต้
นอกจากเส้นทางสายธนบุรี - สุไหงโกลกแล้ว ทางรถไฟยังได้แยกไปยังพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย ดังต่อไปนี้
ทางแยกสายอู่ตะเภา - สงขลา
ทางสายนี้ถือเป็นสายที่สำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้น ในการสร้างทางรถไฟ ขึ้นไปทางเหนือ เนื่องจากกรมรถไฟหลวง มีท่าเรืออยู่ที่สงขลา สำหรับลำเลียงรางเหล็ก สะพาน รถจักร ฯลฯ ที่ส่งจากต่างประเทศเข้ามา และนำขึ้นที่ท่าเรือนี้ ทางแยกสายนี้ยาว 29 กิโลเมตร เปิดเดินรถเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2456 พร้อมกับเส้นทางสายอู่ตะเภา - พัทลุง ระยะทางอีก 112 กิโลเมตร
ปัจจุบันเส้นทางสายนี้ ไม่มีการใช้งานอีกต่อไปแล้ว สภาพเส้นทาง ก็ชำรุดทรุดโทรม และถูกบุกรุกพื้นที่ จากประชาชน ในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย
สถานีรถไฟสงขลา ปัจจุบันเส้นทางสายนี้เลิกใช้งานไปแล้ว
ภาพโดย หมวดช่างภาพ การรถไฟแห่งประเทศไทย
ทางแยกสายชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์
เส้นทางสายนี้ได้เชื่อมโยงกับรถไฟมลายู ทางฝั่งตะวันออก โดยกรมรถไฟหลวง ได้สร้างทางแยก จาก สถานีชุมทางหาดใหญ่ ไปสถานีปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นสถานีชายแดน และอยู่ในเขตของประเทศมาเลเซีย ระยะทาง 45 กิโลเมตร โดยเปิดเดินรถเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2461
ทางแยกสายชุมทางเขาชุมทอง - นครศรีธรรมราช
เส้นทางสายนี้แยกจาก สถานีชุมทางเขาชุมทอง ไปยังสถานีนครศรีธรรมราช ระยะทาง 35 กิโลเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดเดินรถได้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2457
สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง จุดเริ่มต้นของทางแยกไป จ.นครศรีธรรมราช
ภาพโดย หมวดช่างภาพ การรถไฟแห่งประเทศไทย
ทางแยกสายชุมทางทุ่งสง - กันตัง
เนื่องจากที่กันตัง ซึ่งอยู่ด้านมหาสมุทรอินเดีย มีท่าเรือซึ่งเป็นท่าขนถ่ายวัสดุก่อสร้าง และล้อเลื่อนที่ซื้อมาจากต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อความสะดวก จึงก่อสร้างทางจากท่าเรือกันตัง ขึ้นมาทางทุ่งสง ที่ รวมระยะทาง 93 กิโลเมตร เปิดเดินรถเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก กันตัง - ห้วยยอด ระยะทาง 49 กิโลเมตร เปิดเดินรถเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 และช่วงที่สอง ห้วยยอด - ทุ่งสง ระยะทาง 44 กิโลเมตร เปิดเดินรถเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2456
ทางแยกสายสุราษฎร์ธานี - พังงา - ท่านุ่น
เนื่องจากพื้นที่ทางฝั่งทะเลอันดามัน รวมถึงเกาะภูเก็ต อุดมไปด้วยแร่ธาตุ และพืชผลทางการเกษตรต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีเส้นทางคมนาคมที่ดี ทำได้เพียงทางเรือเท่านั้น หากทะเลเกิดมรสุม การเดินทางก็ต้องระงับ เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงสั่งการให้กรมรถไฟ ดำเนินการสำรวจและก่อสร้าง ทางรถไฟสายนี้ขึ้น
กรมรถไฟ เริ่มการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และเวนคืนที่ดินไว้ตลอดสาย ตั้งแต่สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ถึงสถานีท่านุ่น จังหวัดพังงา ระยะทาง 162 กิโลเมตร แล้วมีโครงการจะต่อแนว ข้ามฝั่งไปยังเกาะภูเก็ตอีกด้วย โดยสร้างสะพานข้ามทะเล ระหว่างท่านุ่นและท่าฉัตรไชย ถึงอ่าวมะขาม อีก 49 กิโลเมตร แต่ยังไม่ได้สำรวจ โครงการก็ระงับไปเสียก่อน เพราะไม่ได้รับเงินงบประมาณ
ในปี พ.ศ. 2484 ได้เริ่มทำการก่อสร้าง โดยถมดินเป็นตอนๆ จากทุ่งโพธิ์ลงไป แต่เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน จึงได้ชะงักโครงการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2494 ได้รับงบประมาณมาดำเนินการต่อ จึงก่อสร้างทางอีก โดยเริ่มจาก สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ไปจนถึงสถานีคีรีรัฐนิคม ระยะทาง 31 กิโลเมตร โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดเดินรถได้เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2499 สิ้นค่าก่อสร้าง 33,147,800 บาท ส่วนเส้นทางที่เหลือจากคีรีรัฐนิคม ไปจนถึงท่านุ่นนั้น ก็ไม่ได้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก คงค้างไว้เพียงแค่นั้น
จนถึงปี พ.ศ. 2520 ได้มีการรื้อฟื้นโครงการ สร้างทางรถไฟสายนี้ ขึ้นอีกครั้ง จุดมุ่งหมายก็เพื่อสนับสนุน ท่าเรือน้ำลึก ที่จังหวัดภูเก็ต ตลอดจนสนับสนุนการท่องเที่ยว และการพัฒนา ระบบทางรถไฟ ให้เป็นโครงข่าย ในจังหวัด พื้นที่ภาคใต้ตอนบน และในปี พ.ศ. 2530 การรถไฟฯ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแคนาดา โดยการจัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญ มาทำการศึกษาความเหมาะสม ในด้านเศรษฐกิจ และวิศวกรรม ของการสร้างทางรถไฟสายคีรีรัฐนิคม-ภูเก็ต ระยะทางประมาณ 186 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อทำการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ปรับปรุง แผนการก่อสร้าง ถึงเพียงแค่ท่านุ่น ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร แต่ปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติม แต่อย่างใด
สถานีรถไฟคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายพังงา-ท่านุ่น
ภาพโดย วันชัย ห่อรัตนาเรือง (Outruns)
ทางแยกสายชุมทางหนองปลาดุก - น้ำตก (ทางรถไฟสายไทย - พม่า)
ปลายปี พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้บุกรุกเข้าประเทศไทย เกิดการสู้รบกันขึ้น ภายหลังได้มีการเจรจาตกลง และระงับการสู้รบ โดยรัฐบาลไทย ยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ และทำการสู้รบต่อไปยังประเทศพม่า อินเดีย ฯลฯ กองทัพญี่ปุ่นได้ก่อสร้างทางรถไฟจากประเทศไทย ไปยังประเทศพม่า เพื่อขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ และสัมภาระเพื่อการทำสงคราม ทั้งสิ้น 2 สายคือ
-
แยกจากสถานีหนองปลาดุกไปกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ และเลียบแม่น้ำแควน้อยไปจนถึงพรมแดนไทย-พม่า ที่ด่านเจดีย์สามองค์ จากนั้นสร้างเลยเข้าไปในเขตประเทศพม่า โดยไปบรรจบกับทางรถไฟสายมะละแหม่ง-เย ที่สถานีทันบีอูซายัต
-
แยกจากสถานีชุมพร ไประนอง (ตำบลละอุ่น) ระยะทางยาว 91 กิโลเมตร แต่สร้างได้เพียง 68 กิโลเมตร พอถึงกระบุรี ก็หยุด เพราะสงครามสิ้นสุดลงก่อน จากนั้นกองทัพสัมพันธมิตร ก็สั่งให้รื้อถอน เอารางรถไฟ และเครื่องประกอบทั้งหมด กลับไปมลายูตามเดิม
การสร้างทางรถไฟสายไทย - พม่า นั้น เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2485 ช่วงแรกเริ่มจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก ถึงกาญจนบุรี ระยะทาง 50 กิโลเมตร เป็นทางราบตลอด ส่วนทางจากกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตก เริ่มมีภูมิประเทศเป็นเนินสูง มีภูเขาเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับชันมากนัก แต่จากสถานีน้ำตกขึ้นไป เป็นทางขึ้นเขา มีความลาดชันสูง จนถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า "ถ้ำผี" จากนั้นทางรถไฟจะลาดลงผ่านหมู่บ้าน และตัวน้ำตกไทรโยค จนถึงท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ ระยะทางรวม 88 กิโลเมตร
สะพานข้ามแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี ส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายมรณะ
ภาพโดย หมวดช่างภาพ การรถไฟแห่งประเทศไทย
จากสถานีท่าขนุนไป ทางรถไฟจะเลียบแม่น้ำแควน้อย ขึ้นไปจนถึงนิเกะ อำเภอสังขละบุรี และไปถึงพรมแดนไทย-พม่า ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เป็นระยะทาง 303 กิโลเมตร
กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างทางรถไฟ เข้าไปในเขตประเทศพม่าอีก 112 กิโลเมตร ไปบรรจบกับทางรถไฟของพม่า สายมะละแหม่ง-เย ที่สถานีทันบีอูซายัต การก่อสร้างใช้แรงงานเชลยที่มีทั้งชาวอังกฤษ ฮอลันดา ออสเตรเลีย โดยกองทัพญี่ปุ่น ต้องการเร่งรัดให้สร้างเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะใช้ลำเลียงทหาร และยุทธโธปกรณ์ จึงดำเนินการสร้าง ทีละหลายๆ จุด พร้อมๆ กัน แล้วเข้ามาต่อกัน เชลยศึกต่างล้มตาย เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเส้นทาง ผ่านช่วงป่าเขา เต็มไปด้วยอันตรายและไข้ป่าชุกชุม จนได้ชื่อว่าเป็น "เส้นทางรถไฟสายมรณะ"
ในที่สุดแล้ว เส้นทางสายนี้ก็แล้วเสร็จ จากชุมทางหนองปลาดุก ในประเทศไทย จนถึง ทันบีอูซายัต ในประเทศพม่า ระยะทาง 415 กิโลเมตร ใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 2 ปี
สงครามยุติลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม เส้นทางสายนี้ จึงตกเป็นสมบัติของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งก็ได้ทำการรื้อถอนทาง ในช่วงพรมแดนของทั้งสองประเทศ ออกเสียส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือในประเทศไทยประมาณ 300 กิโลเมตรนั้น ทางฝ่ายสัมพันธมิตร ได้เสนอขายทางรถไฟ รวมทั้งล้อเลื่อนและเครื่องประกอบต่างๆ ให้รัฐบาลไทย ในราคา 50 ล้านบาท
สะพานถ้ำกระแซ สะพานเหล็กเลียบหน้าผาและแม่น้ำแควน้อยอันเลื่องชื่อ
ภาพโดย หมวดช่างภาพ การรถไฟแห่งประเทศไทย
หลังรับมอบเส้นทางดังกล่าวแล้ว กรมรถไฟหลวงจึงได้ปรับปรุง ให้ใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้า และการโดยสาร แต่ได้ปรับปรุงสภาพทางให้ใช้การได้เฉพาะช่วง ชุมทางหนองปลาดุก - น้ำตก เท่านั้น เป็นระยะทาง 130 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางต่อจากนั้นไป เป็นอันตรายต่อการเดินรถ เนื่องจากก่อสร้างด้วยความเร่งรีบ ไม่มั่นคงแข็งแรง และไม่คุ้มค่า กับค่าใช้จ่าย ในการบำรุงดูแลรักษา จึงได้ทำการรื้อถอนรางออกทั้งหมด โดยรางที่ยังมีคุณภาพดี ได้นำไปเปลี่ยน ในเส้นทางสายชุมทางหนองปลาดุก - สุพรรณบุรี ตลอดสาย ตลอดจนนำไปวางในเส้นทางสุราษฎร์ธานี - คีรีรัฐนิคม ตลอดสาย และเส้นทางสายแก่งคอย - ชัยบาดาล อีกส่วนหนึ่งด้วย
การปรับปรุงทางช่วงแรก จากหนองปลาดุก ถึงกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 53 กิโลเมตร แล้วเสร็จเปิดการเดินรถได้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ช่วงกาญจนบุรี ถึง วังโพ ซึ่งมีความยาวประมาณ 61 กิโลเมตร มีสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำแควใหญ่ สะพานเลียบแม่น้ำแควน้อย และภูเขาถ้ำกระแซ เป็นอุปสรรคสำคัญ แล้วเสร็จเปิดการเดินรถได้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2495 ส่วนที่เหลืออีก 16 กิโลเมตร จากวังโพ ถึงน้ำตกนั้น เมื่อปรับปรุงสะพานเหล็กตอนถ้ำชะนีแล้วเสร็จ ก็ได้เปิดการเดินรถตลอดสาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทางแยกสายชุมทางหนองปลาดุก - สุพรรณบุรี
เส้นทางสายนี้ แต่เดิมได้วางแผน จะสร้างทางจากหนองปลาดุก ผ่านสถพรรณบุรี แล้วไปบรรจบกับเส้นทางรถไฟสายเหนือ ที่สถานีบ้านป่าหวาย จังหวัดลพบุรี เพื่อเป็นการติดต่อโดยตรง ระหว่างเส้นทางสายเหนือ และสายใต้ โดยที่ไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ และในระยะยาว ก็วางแผน จะสร้างทางแยก จากสุพรรณบุรี ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านกำแพงเพชร ตาก ไปสุดพรมแดน ที่ อ.แม่สอด แต่ได้รับงบประมาณ ให้สร้างเพียงแค่สุพรรณบุรี เท่านั้น งานส่วนที่เหลือก็ถูกระงับ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เส้นทางตอนชุมทางหนองปลาดุก ถึงสุพรรณบุรี เริ่มก่อสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2493 ระยะทาง 79 กิโลเมตร เปิดการเดินรถได้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 สิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง 58,069,153 บาท |