Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311280
ทั่วไป:13262486
ทั้งหมด:13573766
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


ที่นี่ ... สถานีธนบุรี





 

ความเป็นมา

      ในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ "เซอร์ แอนดรู คล้าก" และ "บริษัท ปันชาร์ต แม็กทักการ์ท โลว์เธอร์" สำรวจและเริ่มการก่อสร้าง ทางรถไฟหลวงสายแรก จากกรุงเทพฯ - นคราชสีมา เมื่อการก่อสร้างเส้นทางสายนี้สำเร็จลงส่วนหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงกระทำพิธีเปิดการเดินรถเป็นปฐมฤกษ์ ระหว่างกรุงเทพฯ - อยุธยา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 ซึ่งถือว่าวันดังกล่าว เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทยสืบมา

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ได้ทรงพระกุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟ อีกสายหนึ่ง ขึ้นทางฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า "ทางรถไฟสายเพชรบุรี" เป็นทางขนาดกว้าง 1.00 เมตร โดยเริ่มจากปากคลองบางกอกน้อย ถึงจังหวัดเพชรบุรี สถานีต้นทางของทางรถไฟสายนี้ จึงมีชื่อว่า "บางกอกน้อย" เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จตลอดจนถึงเพชรบุรี และได้ทดลองเดินรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายนี้ ณ "สถานีบางกอกน้อย" เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 (ร.ศ.122)

 

Rotfaithai.Com

แบบสถานีรถไฟหลวงสายใต้ หรือสถานีรถไฟบางกอกน้อย ที่มีแผนจะดำเนินการสร้าง
แต่ไม่ได้สร้างจริง เนื่องจากนำงบประมาณไปใช้ในเส้นทางสายบางซื่อ-พระรามหก-ตลิ่งชัน
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เอื้อเฟื้อภาพโดย K. Wisarut

     จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือ ซึ่งควบคุมกิจการทางรถไฟสายเหนือ ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ และทางรถไฟสายตะวันออก เข้ากับกรมรถไฟสายใต้ ซึ่งควบคุมดูแลกิจการทางรถไฟสายตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อว่า "สะพานพระรามหก" เพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟทั้งสองฝั่ง และปรับแก้ทาง ให้เป็นขนาด 1.00 เมตร เท่ากันทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2468 สะพานพระรามหก แล้วเสร็จ ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่สถานีบางกอกน้อย ก็ยังคงความสำคัญและเป็นที่นิยมของประชาชนเช่นเดิม และมีชุมชนการค้าในบริเวณใกล้เคียงมากมาย

     ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2485 กรมรถไฟ ได้เปลี่ยนชื่อสถานีและที่หยุดรถไฟบางแห่ง ให้ตรงกับทำเนียบท้องที่ของส่วนภูมิภาค สถานีบางกอกน้อยจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สถานีธนบุรี" ตั้งแต่นั้นมา และในปีเดียวกันนั้นเอง ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ อันประกอบไปด้วย เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นได้ใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งบัญชาการสงครามใน๓ุมิภาคนี้ และใช้รถไฟเป็นทางลำเลียงหลักของกองทัพ ทำให้สถานีธนบุรี ต้องตกเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ในการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2487 สถานีรถไฟธนบุรี ได้ถูกโจมตีทางอากาศ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และถูกโจมตีทางอากาศอีกครั้ง ในวันที่ 4 และ 5 มีนาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงคราม

 

Rotfaithai.Com

รถไฟไทยดอทคอม

จากการโจมตีทางอากาศอย่างหนักของฝ่ายสัมพันธมิตร
ทำให้สถานีธนบุรีถูกทำลายจนเสียหายยับเยิน จนดูไม่ออกว่าสภาพเดิมเป็นอย่างไร
ภาพประกอบจากรายงานประจำปี 2542 ของการรถไฟฯ

 

     ความเสียหายอันเกิดจากการถูกโจมตี ทางอากาศดังกล่าว ทำให้ต้องสร้างสถานีธนบุรีหลังใหม่ขึ้นทดแทน แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2493 เป็นอาคารที่มีรูปลักษณ์โดดเด่น ด้วยหอนาฬิกาสูง และตัวอาคารก่อด้วยอิฐเผา บ่งบอกถึงความแข็งแรงมั่นคง ได้รับการออกแบบโดย ศ.มจ.โวฒยากร วรวรรณ ซึ่งรับราชการเป็นสถาปนิกของกรมรถไฟในขณะนั้น (มจ. โวฒยากร วรวรรณ ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เข้ารับราชการในตำแหน่งสถาปนิกของกรมรถไฟ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471 ทรงสร้างผลงานไว้มากมาย เช่น ตึกบัญชาการรถไฟ, สถานีรถไฟเชียงใหม่ และสถานีรถไฟธนบุรีเป็นต้น)

 

Rotfaithai.Com

สถานีธนบุรี เป็นสถานีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
ภาพประกอบจากรายงานประจำปี 2542 ของการรถไฟฯ

Rotfaithai.Com

เอกลักษณ์อันโดดเด่นของสถานีรถไฟธนบุรีเดิม ก็คือหอนาฬิกาสูง และตัวอาคารก่อด้วยอิฐเผา
ได้รับการออกแบบโดย ศ.มจ. โวฒยากร วรวรรณ
เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดย K. Bradycardia

 

     จะเห็นได้ว่าในอดีต สถานีรถไฟธนบุรี มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรถไฟ สู่ภาคใต้ของประเทศ แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสำคัญของสถานีธนบุรี ลดบทบาทลงตามลำดับ ซึ่งในปัจจุบัน สถานีที่เป็นศูนย์กลาง ของการขนส่งทางรถไฟที่สำคัญ คือ สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง ในขณะที่สถานีธนบุรี ได้รับความนิยมน้อยลง จนไม่ได้เป็น สถานีหลักของกรุงเทพมหานครอีกต่อไป

 

Rotfaithai.Com

ขบวนรถไฟโดยสาร ขณะเตรียมทำขบวนออกจาสถานีธนบุรีเดิม
เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดย K. Conrail

Rotfaithai.Com

บรรยากาศของสถานีธนบุรี และย่านสถานี เมื่อมองจากสะพานอรุณอัมรินทร์
เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดย K. Conrail

 

จุดเด่นในรอบปี 2542 ของสถานีรถไฟธนบุรี

รายการ
(Description)
ปีงบประมาณ : Fiscal Year หน่วย : Unit
2542 : 1999 2541 : 1998

การให้บริการ : Services

     ปริมาณผู้โดยสาร (Number of Passenger)
     ปริมาณสินค้า (Freight Volume)
     กิโลเมตรทำการ (Train Kilometres)
     กิโลเมตรผู้โดยสาร (Passenger Kilometres)

รายได้ : Revenues

     การขนส่งผู้โดยสาร (Traffic Revenues)
     การขนส่งสินค้า (Freight Revenues)
     การบริหารทรัพย์สิน (Property Revenues)



55.2
9.2
37.8
9.894.0



3,764.7
1,639.9
631.3



60.8
8.5
37.8
10,946.8



4,019.8
1,595.1
491.5



ล้านคน (Million Passenger)
ล้านตัน (Million Ton)
ล้านกิโลเมตร (Million Kms)
ล้านกิโลเมตร (Million Kms)



ล้านบาท (Million Baht)
ล้านบาท (Million Baht)
ล้านบาท (Million Baht)

 

 

     "โครงการมอบที่ดินให้โรงพยาบาลศิริราช สร้างศูนย์อุบัติเหตุ และพัฒนาปรับปรุงพื้นที่
สถานีรถไฟธนบุรี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล
เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542"

     

 

     ในปี พ.ศ. 2542 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ พระนักษัตร (72 พรรษา) กระทรวงคมนามคม จึงได้ร่วมกับส่วนราชการ และภาคเอกชน ประกอบด้วยสำนักนายกรัฐมนตรี (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย), กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลศิริราช, การรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน ดำเนินการปรับปรุง และสร้างศูนย์อุบัติเหตุขึ้นในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

     ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน จัดพื้นที่ให้โรงพยาบาลศิริราช ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ รวม 3 แปลง และมอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทยูนิลิเวอร์ ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด เพื่อร่วมพัฒนาปรับปรุงการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยรอบสถานีบางกอกน้อย (ธนบุรี) เพือประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชน โดยย้ายตลาดสดเดิมไปยังสถานีแห่งใหม่ พร้อมสาธารณูปโภค ปรับปรุงพื้นที่ตลาดเดิม เป็นลานจอดรถ ตลอดจนปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร และพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟธนบุรี ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว การขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าในภูมิภาค

 

Rotfaithai.Com

สภาพของสถานีรถไฟธนบุรี ภายหลังที่ส่งมอบพื้นที่ให้โรงพยาบาลศิริราชเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบัน ตัวชานชาลาสถานี และรางรถไฟถูกรื้ออก พร้อมทั้งปรับพื้นที่ให้เป็นลานจอดรถ
เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดย K. Wisarut

 

     พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) ที่การรถไฟฯ จัดให้โรงพยาบาลศิริราช เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการตามวัตถุประสงค์ของโรงพยาบาล รวม 3 รายการ ได้แก่

  • อาคารพาณิชย์ จำนวน 11 ห้อง (พื้นที่ประมาณ 2 งาน 71 ตารางวา) เพื่อเชื่อมต่อกับอาคารเดิม ของโรงพยาบาลศิริราช
  • อาคารกองกำกับการ 2 กอง บังคับการตำรวจรถไฟ (พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ 49 ตารางวา) เพื่อปรับปรุงใช้เป็นศุนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ
  • ที่ดินบริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟธนบุรี (พื้นที่ประมาณ 8 ไร่ งาน 18 ตารางวา) เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์อุบัติเหตุ ขนาด 100 เตียง สำหรับเป็นที่บริการตรวจรักษาบำบัดผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัย และภาวะฉุกเฉินต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมข่าวสาร ข้อมูลทางการแพทย์อีกด้วย โดยกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัด รวบรวมทุนทรัพย์ จำนวน 520 ล้านบาท จัดสร้างศูนย์อุบัติเหตุนี้ ให้กับโรงพยาบาลศิริราชต่อไป

     ในปีงบประมาณ 2542 การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณสถานีธนบุรี บริเวณที่ทำการรับ-ส่งสินค้า และบริเวณท่าเรือรถไฟริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะได้ปรับปรุงตัวอาคารสถานีธนบุรี ทั้งภายในและภายนอกในเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากเป็นอาคารเก่าแก่ มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์เชิงประวัติศาสตร์ กับได้สร้างสถานีรถไฟขึ้นใหม่ ทางทิศตะวันตกของสถานีธนบุรี คือ "สถานีบางกอกน้อย" และสร้างตลาดสดแห่งใหม่ขึ้น ใกล้กับสถานีแห่งนี้ เพื่อให้เป็นตลาดสดที่ได้มาตรฐานและถูกสุขลักษณะ

 

Rotfaithai.Com

ตัวอาคารสถานีรถไฟธนบุรีเดิมที่ถูกปรับปรุงใหม่

Rotfaithai.Com

ตัวอาคารที่ทำการรับส่งสินค้า สถานีธนบุรีที่ถูกปรับปรุงใหม่

Rotfaithai.Com

สถานีธนบุรีใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นห่างจากสถานีเดิมไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 800 เมตร

 
     ขบวนรถโดยสารขบวนสุดท้าย ที่ออกจากสถานีธนบุรีเดิม ก่อนที่ตัวสถานีจะถูกยุบเลิกไปในวันรุ่งขึ้น คือ ขบวนรถธรรมดาที่ 253 ธนบุรี-หลังสวน โดยออกจากสถานีธนบุรีเวลา 19.10 น. ในวันที่ 3 ตุลาคม 2546 ซึ่งในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 4 ตุลาคม 2546 สถานีธนบุรีเดิมนี้ ก็ถูกยกเลิกการใช้งาน และขบวนรถต่าง ๆ ที่ออกจากสถานีธนบุรี ก็เปลี่ยนต้นทาง-ปลายทาง เป็น สถานีบางกอกน้อย เช่น ขบวนที่ 253 ก็กลายเป็น บางกอกน้อย-หลังสวน จนมาเปลี่ยนเป็นขบวนรถเร็ว ที่ 177 เมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ก็ยังคงใช้เป็น บางกอกน้อย-หลังสวนอยู่ จนกระทั่ง ในวันที่ 1 มกราคม 2547 การรถไฟฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อสถานีบางกอกน้อย กลับไปเป็น "สถานีธนบุรี" อีกครั้ง

 
เรียบเรียงโดย : CivilSpice
ข้อมูลอ้างอิง :
การรถไฟแห่งประเทศไทย
หนังสือรายงานประจำปี พ.ศ. 2542
ขอขอบคุณภาพประกอบ และข้อมูลเพิ่มเติมโดย : สมาชิกเว็บไซต์รถไฟไทยดอทคอม









สงวนลิขสิทธิ์โดย © Rotfaithai.Com : All Right Reserved.

อนุญาตให้นำเนื้อหาไปใช้ได้ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
หากจะนำไปเผยแพร่ยังเว็บไซต์ หรือสื่ออื่นๆ กรุณาขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
พร้อมระบุอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล ให้ถูกต้องและชัดเจน

ติดประกาศ: 2005-04-15 (12542 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]


Content ©