สถานีรถไฟคลองรังสิต ตั้งอยู่ที่ กม.28 บนเส้นทางรถไฟสายเหนือ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการก่อสร้างเส้นทางสายนี้ และเปิดใช้การตั้งแต่วันปฐมฤกษ์ การเดินรถคือตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2439 มีรูปทรงสถานี เป็นอาคารแบบชั้นเดียว สร้างด้วยไม้สัก หลังคาทรงปั้นหยา ตัวอาคารยาว 30 เมตร กว้าง 6 เมตร ด้านหน้าตัวอาคาร มีหลังคาต่อยื่นออกไป สำหรับผู้โดยสารนั่งพักรอขบวนรถ กว้าง 6.5 เมตร ยาว 30 เมตร สำหรับตัวอาคารสถานีแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นห้องโถงโล่ง สำหรับผู้โดยสารใช้เป็นที่ซื้อตั๋วโดยสาร ส่วนที่ 2 เป็นห้องสำหรับเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋ว ส่วนที่ 3 เป็นห้องพักสำหรับผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วชั้น 1 และชั้น 2 และผู้โดยสารชั้นพิเศษ ส่วนที่ 4 เป็นห้องทำงานของนายสถานี เมื่อเดินเลยจากห้องโถงส่วนที่ 1 ไปด้านหลังของสถานี จะมีบันไดลงไปทางเดินด้านล่างซึ่งเป็นปูนซิเมนต์ทั้งหมด แยกไปท่าเทียบเรือรับ – ส่งผู้โดยสารรวม 3 ท่าด้วยกัน ออกคลองย่อยซึ่งเชื่อมติดต่อกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไปยัง จ.ธัญบุรี และชุมชนตลอดฝั่งคลองรังสิต จนถึง จ.นครนายก ตัวอาคารสถานีรถไฟคลองรังสิต เมื่อครั้งยังเปิดทำการ สถานีคลองรังสิต ในอดีต จะพลุกพล่านด้วยผู้โดยสารและผู้มาส่งสินค้าผลผลิตการเกษตรไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ห่างไกล จนต้องตัดตู้สินค้าไว้ที่สถานีแห่งนี้ รวมทั้งมีขบวนรถไฟชานเมือง กรุงเทพ – คลองรังสิต เดินรถให้บริการด้วย หอสัญญาณ ของสถานีรถไฟคลองรังสิต ก่อนที่จะถูกรื้อถอน จวบจนปัจจุบัน ความเจริญได้เข้ามาแปรเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนย่านคลองรังสิต กลายเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม มีถนนตัดผ่านเส้นทางรถไฟทั้งด้านเหนือ – ใต้สถานีคลองรังสิต ทำให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์แทน สถานีคลองรังสิตได้เงียบเหงา ร้างราผู้คนตามลำดับ ต่อมา การรถไฟฯ ได้ร่วมกับบริษัท พงษ์ศิริเฮาส์ ก่อสร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่ ที่ กม.30+188 ซึ่งอยู่ใกล้ย่านชุมชน หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี และต้นทางรถประจำทางไปยังแห่งต่างๆ โดยใช้ชื่อสถานี “รังสิต” เป็นสถานีชั้น 4 เปิดให้บริการผู้โดยสารตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นมา สภาพอดีตสถานีรถไฟคลองรังสิต ในปัจจุบัน หลังจากย้ายเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ไปประจำที่สถานีรังสิตแล้ว อาคารสถานีคลองรังสิต ได้ถูกปิดร้าง และรื้อลงในที่สุด คงเหลือแต่เพียงป้ายชื่อที่หยุดรถ “คลองรังสิต” เป็นอนุสรณ์ของสถานีเก่าแก่ยาวนานแห่งนี้เท่านั้น |