Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311896
ทั่วไป:13570959
ทั้งหมด:13882855
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


ชมทุ่งทานตะวันและเขื่อนป่าสักกับรถไฟไทย (ตอนที่ 2)





 
"แหม น้องขา นานๆ มาที ไม่แพงหรอกค่ะ ช่วยๆ ชาวบ้านชาวไร่นะคะ"
 
     บรรยากาศใน บ.ค.ร.อ.ก. ยังคึกคักเหมือนเดิมโดยไม่มีทีท่าว่าจะเหน็ดเหนื่อยกันเลย ยังออกลีลาร้องเล่นเต้นกันอย่างเมามัน เป็นอะไรที่ช่วยฆ่าเวลาได้ดีเหมือนกัน เพราะแว้บเดียวรถก็มาจอดที่สถานีชุมทางแก่งคอยซะแล้ว ขบวนนี้หยุดจอดที่นี่นานหน่อย ไม่รู้ว่ารอหลีกหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเพราะ Load ของกินล่ะก็เป็นไปได้ เพราะไก่ย่างแก่งคอยกว่า 40 ตัว โอเลี้ยงเลิศรสอีกกว่า 50 ขวด ข้าวโพดอีก 60 ฝัก ต่างถูกลำเลียงขนขึ้นรถเหมือนเป็นตู้สินค้าเกษตรยังไงยังงั้น แต่ก็เป็นสินค้าเกษตร ที่หอม และน่ากินมากๆ เลย ไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวท่านอื่นๆ จะได้ลิ้มของเลิศรสประจำสถานีอย่างพวกเราหรือเปล่า แต่นี่แหล่ะเสน่ห์ของการรับรองของคนรถไฟ ผ่านสถานีไหนมีของดีของอร่อย ก็ยกขึ้นขบวนมาเสริฟกันอย่างนี้แหล่ะ เป็นอีกสีสันหนึ่ง แต่ถ้าเดินทางมาเอง ก็สามารถพบเห็นและสัมผัสเสน่ห์เรื่องอาหารการกิน ที่มาเร่ขายเวลาขบวนรถจอดแต่ละสถานีนี้ได้เหมือนกัน
 
 
     หลังจากรถเริ่มเดินเข้าสู่เส้นทาง สายแก่งคอย-บัวใหญ่ ซึ่งปกติมีรถเดินไม่มากนัก สภาพทางก็ไม่ค่อยดีเท่าไร รถโคลงเหลือหลาย แถมรถก็วิ่งไปได้แบบเชื่องช้า อาจจะเป็นความตั้งใจ ที่อยากให้เห็นวิวดอกทานตะวันสองข้างทางก็เป็นได้ บางไร่กำลังปลูกเพิ่งเห็นต้นเขียวๆ อยู่ก็มี ที่กำลังเริ่มผลิดอกอยู่ก็มี หลังจากผ่านสถานีบ้านช่องใต้มาประมาณ 17 กิโลเมตร ที่ สทล. 145/11 ขบวนรถก็จอดแวะให้นักท่องเที่ยวและสื่อมวลชน ลงไปชื่นชมกับความงาม ของดอกทานตะวันสีเหลืองสด ที่บานอยู่เต็มทุ่ง บริเวณที่รถจะจอดเพื่อดูดอกทานตะวันนั้น ก็ต่างกันไปตามช่วงเวลา โดยดอกทานตะวันจะสลับกันบานทีละไร่ ดังนั้นที่เคยไปวันนี้ ไปอีกทีเดือนหน้า อาจจะได้ไปดูความงามที่ไร่ใหม่แล้ว ก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป รายได้ก็กระจายไปสู่ชุมชน ที่อาศัยริมสองข้างทางรถไฟ ที่อย่างน้อยตอบแทนการรุก right of way ของรถไฟ ด้วยการปลูกดอกไม้ เพื่อให้การรถไฟ ใช้เป็นจุดขายในการทำขบวนนำเที่ยว แถมตัวเองยังได้ประโยชน์ จากการตัดดอกทานตะวัน ขายให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย
 
 

     พอรถจอดผมกับคุณบอมบ์ ก็ลงไปถ่ายรูปความงามของทุ่งทานตะวันที่มีให้เห็นแค่ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูหนาว โดยมีน้องวิทยาตามมาสมทบ แต่เนื่องจากรถมาถึงจุดชมวิวทุ่งทานตะวันก็ค่อนข้างสายแล้ว ประมาณ 11 .20 น. ทำให้น้องทานตะวันทั้งหลายคอยไม่ไหว คอพับคออ่อนกันเป็นแถว ตอนถ่ายรูปก็เลยต้องช่วยจับให้น้องเขาเชิดหน้าชูคอหน่อย เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามสมใจ หลังจากนั้นคุณบอมบ์กับน้องวิทยา ก็ปลีกตัวไปถ่ายภาพหัวรถจักรที่ลากทำขบวนนี้มา โดยวันนี้ได้รถจักร GEA เลขที่ 4559 ทำขบวนมา ก็ไม่รู้ว่าไปสอยมาจากรถสินค้า หรือรถด่วนขบวนไหนหรือเปล่า แต่ก็นะ...ผู้ว่าการฯ มาด้วย จะให้ใช้ไอ้ต้อมน่ะเหรอไม่อาวๆ เด็ดขาด ส่วนผมนอกจากลงไปสัมผัสความงามด้วยตา และเก็บภาพแล้ว ก็ทนเสียงรบเร้าของความงามไม่ไหว

 

“ น้องขา 3 ดอก 10 ค่ะ สวยๆ ทั้งนั้นเลย ”

“3 บาท 10 ดอก ได้ไหมครับ ”
ผมแซวเล่นๆ

“ แหม น้องขา นานๆ มาที ไม่แพงหรอกค่ะ ช่วยๆ ชาวบ้านชาวไร่นะคะ ”

“ เอ กำละ 3 ดอกใช่มะ... เอากำนึง เอาดอกใหญ่ๆ สวยๆ นะครับ ”

“ ได้เลยค่ะน้อง เดี๋ยวกลับไปน้องเอากระทิงแดงหรือไม่ก็ทัมใจ ใส่ลงไปในน้ำนะคะ อยู่ได้เป็นอาทิตย์เลย ”
เพิ่งรู้เหมือนกันทานตะวันก็เป็นลูกค้ากระทิงแดง

 

     ผมก็ซื้อดอกทานตะวัน 1 กำกลับบ้านมาเป็นที่ระลึก อย่างน้อยก่อนมันจะเหี่ยวก็เอามาเป็น prop ประกอบฉากในการถ่ายรูปบนขบวนรถได้ นอกจากนี้ถ้าต้องการ packaging สำหรับถือด้วยแล้ว เขาก็มีกล่องกระดาษขายสำหรับไว้เสียบดอกทานตะวันให้เดินถือได้สะดวกขึ้น หน้าตาก็คล้ายๆ คบเพลิงเลยล่ะ ราคาก็แค่กล่องละ 4 บาท งานนี้คบเพลิงดอกทานตะวันเลยเบ่งบานกันเต็มขบวนรถเลย ขอปรบมือให้กับคนคิดค้นทำ packaging แบบนี้จริงๆ เลย ที่เพิ่ม value added ให้กับสินค้าธรรมดา ให้กลายเป็นของไม่ธรรมดาได้ดีทีเดียว

     หลังจากหยุดแวะให้ได้ชมความงามกันประมาณ 30 นาที ขบวนรถก็เตรียมออกมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางต่อไปคือ สะพานรถไฟเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็น unseen in Thailand ที่การรถไฟภาคภูมิใจ ขบวนรถก็ค่อยๆ ทะยานสู่เป้าหมายเบื้องหน้า และด้วยความที่การรถไฟฯ จัดขบวนนำเที่ยวเส้นทางนี้มาอย่างช่ำชอง จึงมีการเตรียมตัวและป้องกันอาการแพ้เกสรดอกไม้ให้กับคณะสื่อมวลชนได้เป็นอย่างดี ด้วยการเตรียมคาลาไมน์มาบริการ ซึ่งมีผู้สื่อข่าวและนักท่องเที่ยวไม่น้อย ที่ไม่ทันระวังตัว และไม่รู้ว่าตัวเองแพ้เกสรดอกไม้ จึงตะลุยดงดอกทานตะวันมาซะตัวเหลืองเลย

 

     ระหว่างทางช่วงเริ่มเข้าตัวเขื่อน ก็สังเกตเห็นรอยทางรถไฟเส้นเก่า ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนค่อยๆ ถูกน้ำท่วมจมหายลงไปใต้น้ำ พร้อมกับจังหวะที่ขบวนรถเริ่มชะลอ เพื่อหยุดให้นักท่องเที่ยว แวะชมวิวบนสะพานรถไฟเหนืออ่างเก็บน้ำ ที่เห็นผืนน้ำกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เมื่อขบวนรถจอดนิ่ง นักท่องเที่ยวต่างทยอยลงมา ถ่ายรูปกันตามอัธยาศัย ส่วนผมกับคุณบอมบ์ ได้มีโอกาสถ่ายรูปกับท่านผู้ว่าการฯ ด้วย ท่านยังเอ่ยปากชมเวบไซต์ของเรา ว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมมากกว่าเวบไซต์ ของการรถไฟเองเสียอีก หลังจากนั้นคุณเจี๊ยบ ประชาสัมพันธ์คนสวยของเรา ก็พาเราไปดูตู้จัดเฉพาะของท่านผู้ว่าฯ และให้คณะเราอยู่ชมวิวที่ deck ของตู้จัดเฉพาะระหว่างทาง ที่ต้องไปกลับหัวรถจักรที่สถานีโคกสลุง และงานนี้มีวิวไม่ธรรมดาซะด้วยสิ

     ระหว่างที่จอดรอให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปนั้น ขบวนรถด่วนดีเซลรางที่ 75 กรุงเทพ-อุดรธานี ก็มาจอดจ่ออยู่ห่างจากเราประมาณ 800 เมตร เหมือนจะเร่งให้เราถ่ายรูปกันเร็วๆ เดี๋ยววิ่งทำเวลาไม่ทัน เพราะขบวนนี้เสียเวลาไปประมาณ 30 นาทีแล้วก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ สักพักเมื่อนักท่องเที่ยวทยอยกันขึ้นขบวนรถจนหมด ขบวนรถก็ค่อยๆ มุ่งหน้าสู่สถานีโคกสลุงซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณเกือบ 10 กิโลเมตร โดยมีขบวน 75 วิ่งตามมาต้อยๆ โดยทิ้งระยะห่างเท่าๆ เดิม ที่ว่าหาดูยากเพราะว่าปกติแล้วรางรถไฟ 1 ตอน (จากสถานีที่มีทางหลีกหนึ่ง ไปยังอีกสถานีที่มีทางหลีก) จะอนุญาตให้มีรถเพียงขบวนเดียววิ่งอยู่ในตอนนั้นได้

 

“ โห 75 วิ่งตามมาด้วย พี่รีบถ่ายเลย โอกาสงี้หายาก ”
ผมบอกคุณบอมบ์ เพราะตอนนี้กล้องตัวเองนั้นงอแง ไม่ยอมถ่ายเอาดื้อๆ

“ ได้เลย อื้อ.......แต่ว่าซูมไม่ถึงว่ะ ไกลไปหน่อย ”

“ ว้า เสียดายจัง ไว้ตอนใกล้ๆ แถวโคกสลุงแล้วกัน ”

“ โทษนะคะ อะไรคือ 75 คะ งงค่ะ ”
นักข่าวจากช่อง 11 ถามเราด้วยความงงว่าอะไรวิ่งตามมา และมันน่าตื่นเต้นตรงไหน

 
     พวกเราก็ทำหน้าที่ ประชาสัมพันธ์ที่ดีของการรถไฟฯ ช่วยเล่ารายละเอียดให้นักข่าวท่านนั้นฟัง ฟังเสร็จเขาก็รีบสั่งช่างกล้องว่าจับภาพไว้ด้วย รถวิ่งไปประมาณ 8 นาทีก็มาถึงสถานีโคกสลุง โดยวิ่งเข้ารางหลีกเพื่อให้ขบวน 75 นั้นวิ่งผ่านเราไป ส่วนขบวนของเราก็ทำการสับเปลี่ยนหัวรถจักร เพื่อกลับทิศทาง นำนักท่องเที่ยวกลับไปสู่จุดแวะสุดท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ งานนี้คุณบอมบ์ไม่พลาดที่จะเก็บ shot เด็ดของหัวรถจักร GEA เปล่าที่วิ่งมาสับเปลี่ยนเช่นเคย ส่วนผมก็พยายามถ่ายเหมือนกัน แต่ว่ากล้องเจ้ากรรมดั๊น ถ่ายแล้วดับไปซะดื้อๆ คล้ายๆ กับอาการหูดับของท่านผู้นำยังไงยังงั้นเลย หลังจากทำการสับเปลี่ยนประมาณ 5 นาที ขบวนรถก็พาพวกเรากลับมาส่งที่ป้ายหยุดรถเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นักท่องเที่ยวทยอยกันลงไป ชมความทัศนียภาพของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ท่ามกลางความอบอ้าวของอากาศ โดยมีนัดหมายให้กลับมาขึ้นรถเวลา 14.40 น. ส่วนรถนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการขวางรถขบวนอื่น จึงเดินหน้าต่อไปเก็บไว้ที่รางหลีกสถานีแก่งเสือเต้น เพื่อรอถอยกลับมารับนักท่องเที่ยวตามเวลานัดที่ตกลงกัน
 
 
     พวกผมก็ ไหนๆ มาแล้ว ก็ต้องเดินตะลุยถ่ายรูปถึงอาคารระบายน้ำล้นให้ได้ แม้ว่าแดดจะร้อนเท่าไหร่ก็ต้องดั้นด้นไป ผมนั้นโชคดีที่เตรียมหมวกมา สงสารก็แต่คุณบอมบ์ ที่ไม่มีทั้งร่มและหมวก แค่เดินไปก็ โอ้ว ร้อนแทบคลั่ง ระหว่างทางก็ถ่ายรถตัวหนอนที่นำชมวิวทิวทัศน์รอบเขื่อน ซึ่งทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ย้ำหนักหนาว่าอย่าขึ้น เพราะจะกลับมาไม่ทันรถไฟ พวกคณะสื่อมวลชนก็ไม่มีใครกล้าขึ้นกันเลย เพราะกลัวถูกทิ้งให้ถูกแดดเผาจนแห้งอยู่ที่นี่ ทุกคนเลยต้องใช้สองเท้าคู่กายตะลุยไปยังจุดต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพตามที่แต่ละคนต้องการ ส่วนผมกับคุณบอมบ์ เมื่อเก็บภาพได้ตามต้องการแล้วก็เดินกลับมา พักร้อน ซื้อของฝากกลับไปฝากคนที่บ้านกัน ที่นี่เขาขึ้นชื่อเรื่องปลา มีทั้ง ปลาร้า ปลาส้ม ปลาเค็ม ปลาเผาเกลือ ฯลฯ ส่วนของทานเล่นอย่างเมล็ดทานตะวันก็มีให้เลือกหลากหลาย รวมไปถึงของใช้อย่างร่มดอกทานตะวัน หรือกระถางดอกทานตะวันปลอม อันเล็กๆ น่ารัก เหมาะที่จะเอาไปฝากคนทางบ้านให้ดูเป็นที่ระลึกเพราะราคาย่อมเยา
 
 

     พอกลับไปตามเวลานัด ก็ไม่มีวี่แววขบวนรถของเราจะมาจอดรออยู่เลย อ้อ....ที่แท้ต้องรอทางให้ขบวนรถด่วนดีเซลราง 76 หนองคายกรุงเทพ ที่วิ่งเข้ากรุงเทพ วิ่งไปถึงสถานีแก่งเสือเต้นเสียก่อน ทางจึงว่างให้ขบวนรถกลับมารับพวกเราได้ พอขบวนรถถอยกลับมารับ ทุกคนต่างหอบของพะรุงพะรังกลับขึ้นรถ ทุกถุงเต็มไปด้วยของฝาก แต่หารู้ไม่กว่าจะซื้อหาได้ก็เหนื่อยหน้าดำหน้าแดงกันทุกคน เพราะต้องสู้กับอากาศที่ร้อนเกือบๆ 40 องศาเซลเซียส

 “ ทั้งร้อนทั้งเหนื่อยอย่างงี้ อยากจะขอพนักงานตู้นอนมาปูเตียงนอนจัง...”

 

 
“ คุ้มค่ะ ตู้ที่นั่งก็ดี อาหารก็ดี ”
 

     รถออกจากเขื่อนป่าสักมาได้สักพัก ทางเจ้าหน้าที่ก็แจกไก่ย่างแก่งคอย กับข้าวเหนียว ให้ทานเป็นของว่างแกล้มด้วยน้ำข้าวโพด ถึงแม้ว่าไก่ย่างจะเย็น และเหนียวไปหน่อย เนื่องจากคอยคนกินซะนาน แต่แจ่วรสเด็ดก็ทำให้หยุดกินไม่ได้ซะงั้น ไม่ถึง 15 นาที ไก่บ้านย่างหนึ่งตัวก็หายแว้บไป เหลือแต่กระดูกห่อกระดาษ ทิ้งระยะให้ย่อยได้ไม่นานทางท่านผู้ว่าการฯ ก็เปิดให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ที่ บปช. ก็เลยต้องรีบตามไป เพื่อหาทำเลดีๆ เพราะเตรียมคำถามมาถาม เกี่ยวกับขบวนรถนำเที่ยวเยอะเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงก็แย่งถามท่านผู้ว่าการฯ ไม่ได้ซักคำถาม โดนผู้สื่อข่าวผู้เจนจัด จากสำนักอื่นปากไวชิงถามไปเสียก่อน และถามในส่วนเรื่องขบวนนำเที่ยวนี้นิดเดียว ทั้งๆ ที่โครงการพ่วงรถนำเที่ยวแบบนี้เป็น pilot project ที่น่าสนใจมาก และน่าจะมีอะไรให้พูดได้มากกว่านี้เยอะ แต่สรุปโดยรวมแล้ว การพ่วงขบวนรถแบบนี้ เป็นการหมุนเวียนใช้รถเพื่อหารายได้ให้เต็มที่อีกทางหนึ่ง เพราะการที่นำรถนอนที่วิ่งเฉพาะตอนกลางคืน มาใช้ทำขบวนกลางวันด้วย ทำให้เพิ่มรายได ้ในส่วนที่แต่เดิมต้องจอดไว้เฉยๆ รอทำขบวนในช่วงดึก นำมาใช้งานในขบวนนำเที่ยวแบบเช้าไป เย็นกลับซะ ซึ่งหลังจากเสร็จภารกิจตอนกลางวัน ก็นำรถกลับไปพ่วงทำขบวนรถด่วน รถเร็ว ที่วิ่งช่วงกลางคืนต่อไป

     โดยขบวนนำเที่ยวเขื่อนป่าสักนี้รองรับผู้โดยสารได้ขบวนละประมาณ 750 คน เดินวันละ 2 ขบวน ทำให้ทุกเสาร์อาทิตย์รองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อยกว่า 3,000 คน คิดแล้วคงเป็นรายได้ที่ช่วยให้การรถไฟฯ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น และเราคงเห็นการพัฒนาอะไรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับการรถไฟฯ อีกเป็นแน่ ภายใต้การบริหารงานของท่านผู้ว่าการฯ ที่มีวิสัยทัศน์คนนี้ โดยตลอดการซักถามของสื่อมวลชนจะถามเน้นหนักไปทางเรื่องการขาดทุนของการรถไฟฯ เป็นหลัก ซึ่งเป็นข่าวพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมไปถึงการปรับเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจ ว่าการรถไฟฯ ได้ปรับขึ้นอย่างไร โดยคำตอบจากท่านผู้ว่าการฯ เรื่องการขาดทุน ก็ทำเอานักข่าวงงๆ ไปบ้างเหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้วเลขผลประกอบการของการรถไฟฯ นั้นกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีก่อนหน้านี้ 24 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้ว 500 กว่าล้านบาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่ได้หักค่าบำเหน็จบำนาญพนักงานซึ่งมูลค่ารวมกว่าพันล้านบาท ซึ่งตัวเลขตรงนี้เราแก้ไขอะไรไม่ได้ ในส่วนที่แก้ไขได้เรื่องการปรับปรุงบริการ และทำรายได้นั้น ก็ทำจนเต็มความสามารถแล้ว และก็ยังคงพัฒนาต่อไปด้วย เช่น แนวคิดขบวนนำเที่ยวนี้ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ถ้าประสบผลสำเร็จ คงได้เห็นการพ่วงรถแบบนี้ไปกับขบวนรถนำเที่ยวอื่นๆ อีก ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไป ส่วนเรื่องปรับเงินเดือนก็เหมือนกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ คือขึ้น 3% บวกกับสองขั้นโดยมีผลย้อนไปถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา งานนี้ก็ยินดีกันถ้วนหน้า โดยท่านผู้ว่าการฯ ยังแซวพนักงานว่า เรื่องอย่างนี้ได้จำได้แม่นจริงๆ

     เรื่องสู้ศึกกับ Low cost airline นั้น ท่านผู้ว่าการฯ แจ้งว่าคงไม่ลดราคาไปสู้กับเขาเด็ดขาด เพราะว่าตัวเลขผู้โดยสารยังเท่าเดิม แถมเพิ่มขึ้นด้วย โดยให้ข้อสังเกตว่า ผู้โดยสารรถไฟคงมีส่วนหนึ่งหันไปใช้บริการกับ Low Cost Airline แต่การรถไฟฯ ก็ได้ส่วนแบ่งผู้โดยสารบางส่วนคืนมาจากรถทัวร์เช่นกัน ทำให้ตัวเลขผู้โดยสารไม่มีการปรับตัวลดลง อย่างที่คาดไว้ แต่ก็คิดอยู่เหมือนกันว่า การรถไฟฯ นอนใจอย่างนี้ ความหวังที่จะเห็นการปรับบริการรถนอนชั้น 1 สู้กับ Low cost airline คงต้องรอกันอีกยาว จริงอยู่ที่คนเลือกรถไฟมักเลือกความสบายไม่เลือกความเร็วอยู่แล้ว แต่ในราคาที่ใกล้เคียงกัน การเปลี่ยนใจไปเลือกความเร็วนั้นมันก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเราปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นอีก เช่น มีอาหารเสริฟ คนที่จะไปใช้ low cost คงต้องคิดหนักเหมือนกัน

     เรื่องผลกระทบจากราคาน้ำมันนั้น เป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกันที่ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของการรถไฟฯ กลับลดลงเดือนละเกือบๆ 20% สวนทางกับการขนส่งระบบอื่น ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ท่านผู้ว่าฯ ลงมาดูแลเรื่องน้ำมันอย่างจริงจัง ทำให้น้ำมันมันไม่ค่อยระเหย หายไปกับพนักงานบางคนง่ายๆ เหมือนก่อน และมีข่าวน่ายินดีเรื่องทางคู่ช่วงแก่งคอย-แหลมฉบังด้วย ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะอนุมัติสดๆ ร้อนๆ เพื่อช่วยให้ระบบ Logistic ของประเทศให้มีค่าใช้จ่ายประหยัดขึ้น โดยทางเส้นนี้จะสร้างทางคู่เพื่อเน้นประโยชน์เรื่องรถสินค้าเป็นหลัก

     หลังจากจบการสัมภาษณ์แล้ว ก็ทำหน้าหงุดหงิดเล็กน้อยไปหาคุณบอมบ์ ที่ขอตัวกลับมาตั้งแต่ผู้สื่อข่าวคนอื่น เริ่มถามคำถามออกนอกเรื่องขบวนนำเที่ยวแล้ว ส่วนผมนั้นจะลุกมาก็ไม่ได้เพราะนั่งประจันหน้ากับท่านผู้ว่าการฯ เลย จึงต้องทำใจนั่งและหาจังหวะถามคำถาม ซึ่งไม่มีโอกาสแม้แต่จะขยับปากเลยจริงๆ แต่อย่างน้อยในการนอกเรื่องนั้น ก็มีเรื่องที่น่าสนใจอย่างที่ได้เล่าไปแล้วข้างต้น คราวนี้ในเมื่อสัมภาษณ์เนื้อหาเรื่องขบวนนำเที่ยวจากท่านผู้ว่าการฯ ไม่ได้ ก็หาโอกาสไปสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวกันหน่อยดีกว่า ตอนแรกกะว่าจะไปหานักท่องเที่ยวจริงๆ แถวตู้หลังๆ ซะหน่อย แต่ติดที่มีทีวีกำลังถ่ายทำบทสัมภาษณ์กับผู้ว่าในตู้ บปช. อยู่ ผมกับคุณบอมบ์ก็เลยไปเล็งๆ หานักท่องเที่ยว(จำเป็น) ที่อยู่ในตู้นี่ก็แล้วกัน และก็ไปสะดุดตากับที่นั่งของผู้สื่อข่าวของหนังสือ อสท. ก็เลยไปขอสัมภาษณ์ซะหน่อย เพราะยังไงเขาคงสนใจเนื้อหาเรื่องการท่องเที่ยวเหมือนกับพวกเรา

 

 

 

“ ขอสัมภาษณ์เรื่องขบวนนำเที่ยวนี้หน่อยได้ไหมครับ สั้นๆ ครับ แป๊บเดียว ”
ผมลุยด้วยคำถามนำ

“ ถามประมาณไหนคะ ”

“ ก็เรื่องบริการ เรื่องนำเที่ยว และก็ทั่วๆ ไปน่ะครับ ”

“ มาจากสำนักไหนคะเนี่ย ”

“ เวบไซต์รถไฟไทยดอทคอมครับ ”

“ เหรอคะ ยินดีที่ได้รู้จัก เชิญนั่งค่ะ ”
สองผู้สื่อข่าวสาวจาก อสท. ยิ้มทักทายและเชิญนั่งอย่างเป็นมิตร

 
     การสัมภาษณ์ดำเนินไปด้วยความเป็นกันเอง พวกเราก็แนะนำตัวและแลกนามบัตรกัน พร้อมเล่าประวัติของเวบไซต์พวกเราให้ฟังอีกเล็กน้อย เพื่อให้พวกเธอรู้จักกับเรามากขึ้น
 

Rotfaithai.com: “ เดินทางด้วยรถไฟบ่อยไหมครับ ”

อสท. : “ ก็หลายครั้งค่ะ ”

Rotfaithai.com: “ แล้วกับขบวนนำเที่ยวล่ะครับ เคยใช้บริการหรือยัง ”

อสท. : “ เคยแล้วค่ะ ไปเมืองกาญจน์น่ะค่ะ เส้นอะไรนะจำไม่ได้ ”

Rotfaithai.com: “ อ้อ เคยไปเที่ยวสายน้ำตกด้วยเหรอครับ แล้วเป็นไงครับเทียบกับขบวนนี้ ”

อสท. : “ ก็ต่างกันน่ะค่ะ ตอนนั้นมีแต่ชั้น 3 แล้วก็ไม่ใช่รถแบบนี้ เป็นรถ..เอ่อ.. เขาเรียกดีเซลรางใช่หรือเปล่า ”

Rotfaithai.com: “ อ่อ ใช่ครับ ใช้รถ THN” เราก็แทรกศัพท์เทคนิคให้พวกเธองงๆ

Rotfaithai.com: “ แล้วมาครั้งนี้คาดหวังอะไรจากขบวนนี้มั่งครับ ”

อสท. : “ ก็หวังว่าจะเห็นทุ่งทานตะวันสวยๆ น่ะค่ะ ”

Rotfaithai.com: “ แล้วสมหวังหรือเปล่าครับ ”

อสท. : “ ก็มาสายไปนิด แล้วก็แวะน้อยไปนิดนึง น่าจะมาถึงนี่เร็วๆ และแวะนานๆ หน่อยน่ะค่ะ ”

Rotfaithai.com: “ แสดงว่าชอบทุ่งทานตะวันมากกว่ามาเขื่อน ”

อสท. : “ ประมาณนั้นค่ะ หวังตรงนี้มากกว่า ”

Rotfaithai.com: “ แล้วคิดว่าราคาของที่นั่งนี้ 500 คุ้มไหมครับ ”

อสท. : “ คุ้มค่ะ ตู้ที่นั่งก็ดี อาหารก็ดี ”

Rotfaithai.com: “ จะกลับไปแนะนำให้ใครมาเที่ยวไหมครับ ”

อสท. : “ อ้อ แน่นอนค่ะ ”

Rotfaithai.com: “ แล้วประทับใจอะไรที่สุดครับ ทริปนี้ ”

อสท. : “ ก็การบริการน่ะค่ะ ทำได้ดีมากๆ ”

Rotfaithai.com: “ อยากให้การรถไฟฯ ทำขบวนนำเที่ยวที่อื่นอีกไหม ที่ไหนบ้าง ”

อสท. : “ อยากให้พาไปแบบค้างคืนน่ะค่ะ 3 วัน 2 คืน อะไรเงี้ย คิดว่าคงสนุกมากๆ ”

Rotfaithai.com: “ ผมก็อยาก แล้วมีเส้นทางไหนในใจไหมครับ ”

อสท. : “ ก็ยังไม่ทราบนะค่ะ แต่ถ้ามีก็จะมาลองแน่นอนค่ะ ”

Rotfaithai.com: “ สุดท้ายครับ ทำไมถึงชอบเดินทางด้วยรถไฟ ”

อสท. : “ สะดวกสบายค่ะ โดยเฉพาะถ้าไปไกลๆ นอนไป เช้าก็ถึง สะดวกกว่ารถทัวร์เยอะเลยค่ะ ”

Rotfaithai.com: “ ขอบคุณมากนะครับ ที่ให้สัมภาษณ์ ได้อะไรกลับไปเขียนเยอะเลยครับ ”

อสท. : “ ไม่เป็นไรค่ะ ยินดีที่ช่วยค่ะ ”

 

 

     พวกเราจบการสัมภาษณ์ไปด้วยความชื่นมื่นทั้งสองฝ่าย พวกเราชื่นใจที่มีคนรักการเดินทางด้วยรถไฟเหมือนกับพวกเรา ส่วนพวกเธอก็ชื่นใจกับบริการที่การรถไฟฯ มีให้กับนักท่องเที่ยวและผู้สื่อข่าว ระหว่างการสัมภาษณ์ ท่านผู้ว่าการฯ ก็ลงทุนเดินแจกของที่ระลึก ให้กับคณะนักข่าวอย่างเป็นกันเอง ซึ่งพวกเราก็เก็บของที่ระลึกพวกนี้ ไว้สำหรับการจัดกิจกรรมของเวบไซต์ในโอกาสต่อไป

     หลังจากได้ข้อมูลประกอบบันทึกการเดินทาง มาพอสมควรแล้ว ก็กลับมานั่งพักที่ที่นั่งของพวกเราเพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้ พร้อมกับถ่ายรูปต่ออีกนิดหน่อย สักพักคุณเจี๊ยบจากกองประชาสัมพันธ์ ก็เข้ามาทักทายและขอสัมภาษณ์ พวกเราบ้างในฐานะสื่อใหม่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรถไฟล้วนๆ และพูดคุยถึงความร่วมมือที่จะมีต่อกันในอนาคต เริ่มแรกคุณเจี๊ยบก็สัมภาษณ์คุณบอมบ์ และผมถึงความเป็นมาของความรักรถไฟ รวมไปถึงที่มาของเวบไซต์ ซึ่งเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วทางกองประชาสัมพันธ์ก็รู้จักกับสมาชิกของเราไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่เคยแข่งแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย รวมไปถึงเนื้อหาและเรื่องราวต่างๆ ในเวบไซต์ของเราที่ทางฝั่งการรถไฟฯ เองก็คอยติดตามอ่านอยู่เหมือนกัน ระหว่างสัมภาษณ์ก็มีอาหารทยอยเสริฟมาจากตู้ บจพ.ของท่านผู้ว่าการฯ เริ่มจากเนื้อแดดเดียว ต่อด้วยยำเนื้อย่าง และลูกชิ้นหมูลวกราดน้ำจิ้ม ซึ่งเป็นอาหารเมนูเด็ดๆ ของตู้เสบียงรถไฟสมัยก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาให้ประมูลบริการตู้เสบียงอย่างในปัจจุบัน แต่ด้วยความที่พวกเรากำลังคุยกันอย่างออกรส ทำให้กินไปไม่ค่อยมากเท่าไร ประกอบกับไก่ทั้งตัวที่ไปนอนรอในท้องก่อนหน้า ทำให้งานนี้สัมผัสความอร่อยได้ไม่ค่อยเต็มที่

     สัมภาษณ์ได้อีกสักพัก รถก็ถึงสถานีดอนเมืองแล้ว คุณบอมบ์เลยขอตัวเก็บสัมภาระเพราะต้องลงที่สถานีหลักสี่ สถานีถัดไป ส่วนผมกับคุณเจี๊ยบนั้นนั่งยาวจนถึงหัวลำโพงเลย หลังจากคุณบอมบ์ลงแล้วก็คุยต่อกันอีกแป๊บ ก่อนที่คุณเจี๊ยบจะขอตัวไปล่ำลาผู้สื่อข่าวคณะอื่นๆ ส่วนผมก็เก็บสัมภาระต่างๆ รวมไปถึงดอกทานตะวันที่ตอนนี้ออกอาการขาดกระทิงแดงแล้ว ไว้ถึงบ้านจะเลี้ยงซักขวดเลย

     เวลา 18.25 น. ขบวนรถก็เข้าเทียบชานชาลา 3 สถานีกรุงเทพ ช้าไป 10 นาที นักท่องเที่ยวและผู้สื่อข่าวต่างทยอยลงจากขบวนรถ เกือบทุกคนสองมือเต็มไปด้วยของฝากและดอกไม้

 

“ ที่ขาดไม่ได้ รอยยิ้มของความประทับใจในการบริการ ที่รถทัวร์หรือเครื่องบินไม่อาจให้ได้”

 

- จบบริบูรณ์ -

 









สงวนลิขสิทธิ์โดย © Rotfaithai.Com : All Right Reserved.

อนุญาตให้นำเนื้อหาไปใช้ได้ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
หากจะนำไปเผยแพร่ยังเว็บไซต์ หรือสื่ออื่นๆ กรุณาขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
พร้อมระบุอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล ให้ถูกต้องและชัดเจน

ติดประกาศ: 2005-01-18 (2920 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]


Content ©