เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะเป็นสถานที่จัดแสดงงานที่สำคัญ และยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของแผ่นดิน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ และถวายความจงรักภักดี ของพสกนิกรชาวไทย แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 และจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 นี้ ซึ่งก็คือ "งานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติ" หรือ "งานราชพฤกษ์ 2549" ที่ ณ ขณะนี้ เป็นที่สนใจของประชาชนทุกคน อย่างใจจดใจจ่อ ตลอดจน ทุกสื่อ ทุกแขนง ต่างก็พร้อมใจกัน ทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว เดินทางไปชมมหกรรมระดับโลกดังกล่าว อย่างต่อเนื่องมาตลอดทั้งเดือน
ผมทราบข่าวการจัดงานดังกล่าว มาเป็นเวลาพอสมควร พร้อมทั้งร่วมประชาสัมพันธ์ข่าว ในเว็บรถไฟไทยฯ มาเรื่อยๆ โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรงของงานพืชสวนโลก กับการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วก็ทราบมาอีกว่า การรถไฟฯ จะจัดเดินขบวนรถด่วนพิเศษราชพฤกษ์ ซึ่งใช้รถโดยสารปรับอากาศ JR-West ทำขบวน หรือที่เราๆ ท่านๆ ในเว็บฯ มักจะเรียกกันโดยติดปากว่า "บลูเทรน" เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดช่วงเวลาการจัดงาน 3 เดือน ต่อจากนี้ไป โดยมีชื่อเรียกเสียเก๋ไก๋ เข้ากับบรรยากาศของงาน ว่า "ด่วนพิเศษราชพฤกษ์"
โดยส่วนตัวของผมเอง ก็ไม่ค่อยได้สัมผัสกับบลูเทรน เท่าไหร่นัก ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสหลายๆ ครั้ง แต่ส่วนมากที่ผ่านๆ มา ก็มักจะมาชนกับช่วงที่ผมต้องไปเรียน ป.โท ในวันเสาร์-อาทิตย์ เลยเป็นเหตุให้แคล้วคลาดกันมาโดยตลอด ผิดกับน้องๆ หลายๆ คนในเว็บ ที่พอผมเห็นรูปที่เอามาโพสต์กันทีไร ต้องอดอิจฉาไม่ได้สักที
"แล้วเมื่อไหร่ ตรูจะได้นั่งบลูเทรนจริงๆ จังๆ สักทีล่ะเนี่ย"
ก็ได้แต่บ่นแบบนี้มาเรื่อยๆ จนเมื่ออาทิตย์ก่อน ผมก็ได้รับโทรสาร จากทางกองประชาสัมพันธ์ รฟท. ฉบับนึง พร้อมกับโทรศัพท์ที่โทรมากำชับ จากป๋านัท ว่าในวันที่ 26-28 ต.ค. 49 นี้ รฟท. และ การบินไทยฯ จะจัดเดินขบวนรถด่วนพิเศษราชพฤกษ์ รอบสื่อมวลชน ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งพาไปเยี่ยมชมงาน มหกรรมพืชสวนโลกฯ อีกด้วย
"งานนี้ต้องไปเองนะท่าน เพราะมีผู้ใหญ่ไปกันหลายคน ลาพักร้อนไม่ได้ ก็ต้องลาป่วยไปล่ะ
ห้ามเบี้ยวนะเฟ้ย ไม่งั้นมีเคือง
"
แหม .... เล่นดักคอกันเสียตั้งแต่แรกแบบนี้ จะปฏิเสธป๋านัทไป ก็กระไรอยู่ เพราะก่อนหน้านี้ก็หักคอปฏิเสธมาหลายรอบ ผมไม่รอช้า นั่งเปิดเว็บอินทราเน็ต เพื่อตรวจสอบสิทธิการลาป่วยล่วงหน้า เอ๊ย ลาพักร้อน ว่ายังพอมีหลงเหลืออยู่หรือไม่ สุดท้ายก็แจ้งกลับไปยังป๋านัท ว่า
"ไปก็ไปนะป๋า ถ้าผมไปแล้ว ป๋าห้ามเบี้ยวล่ะ ถ้าถึงเวลา แล้วป๋าหักคอโดดร่มหนีผม เจอดีแน่"
"เออ น่า .... ป๋าขอวีซ่าเมียเรียบร้อยแล้ว ทางสะดวก"
|
ท่ามกลางความงงๆ เล็กน้อย ว่าอยู่ดีๆ ป๋านัทแกขอวีซ่าเมียสุดที่รัก ไปโลดแล่นถึงเชียงใหม่ได้ยังไง แต่ไม่อยากไปซักไซร้มาก เพราะเดี๋ยวแกเปลี่ยนใจไม่ไปขึ้นมา ผมจะเดือดร้อน ในที่สุดผมก็ Fax เอกสารกลับไปยังทาง รฟท. เพื่อยืนยันการเข้าร่วมเดินทาง ไปกับขบวนรถด่วนพิเศษดอกไม้ขบวนนี้ ในนามเว็บไซต์รถไฟไทยดอทคอม ก่อนเดตไลน์ทันพอดี สรุปก็มีผู้ร่วมเดินทางในทริปนี้ 3 คนจาก RFT คือผม, ป๋านัท และพ่อหนุ่มนักขี่เสือภูเขา หรือน้องตั้ม ที่กระโดดเกาะรถไฟขบวนนี้ได้อย่างเฉียดฉิว
ตามกำหนดการที่เราได้รับมานั้น ขบวนรถพิเศษฯ รอบสื่อมวลชนนี้ จะเดินทางออกจาก สถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง ในเวลาประมาณ 17.45 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 49 แต่พวกผมจะต้องมาลงทะเบียนกันก่อน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ซึ่งในวันนั้น ผมมาถึงหัวลำโพงประมาณ 16.30 น. ก่อนเวลานัดพอสมควร ระหว่างนั่งรอผู้ร่วมทางทั้งสอง ก็เลยถือโอกาสเดินไปสำรวจอะไรแถวๆ นั้น นิดๆ หน่อยๆ ก็ได้ใจความว่า ขบวนรถของเราจอดอยู่ในชานชาลาที่ 4 มีรถทั้งหมดในขบวนก็ 10 คัน 3 คันแรกเป็นบลูเทรน (รถนอน+รถนั่ง+รถนอน) ส่วนที่เหลือก็เป็นรถนอน (แดวู) ปรับอากาศ ชั้นสอง 2 คัน รถนอนปรับอากาศชั้นหนึ่ง 2 คัน อีกสามคัน ก็เป็นรถเสบียงปรับอากาศ, รถประชุม และรถจัดเฉพาะ อย่างละคัน ...
พอได้เวลาลงทะเบียน ประมาณ 17.00 น. ป๋านัท ก็โผล่มา พร้อมด้วยเป้ใบใหญ่ พร้อมกล่าวทักทาย จนท. และผู้ใหญ่จาก รฟท. ตามสไตล์ โดยหลังจากลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า คณะของ RFT ได้ที่นั่งเป็นรถคันที่ 4 เป็นรถนอนปรับอากาศชั้นสอง จากค่ายแดวู รุ่นใหม่ ซึ่งไม่ทราบว่าไปฉกมาจากขบวนไหน ระหว่างด่วนนครพิงค์ หรือ ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ .... สำหรับผม จะนั่งคันไหนๆ ก็เหมือนๆ ล่ะครับ ได้นั่งรถไฟ ก็โอเคแล้วล่ะ
จัดหาที่นั่งบนขบวนรถเป็นที่เรียบร้อย สักพักพ่อหนุ่มเสือภูเขาก็โผล่มา ส่วนป๋านัท ก็วิ่งขึ้นวิ่งลงรถเป็นระยะๆ เนื่องจากต้องไปหาเสบียงมาตุนไว้ โดยเฉพาะน้ำดื่ม ยิ่งเดินทางไกลๆ แบบนี้ ป๋าเลยต้องตุนน้ำไว้เยอะเป็นพิเศษ (เหมือนตัวอะไรแถวๆ ทะเลทรายล่ะเนี่ย ????) ก็ไม่ว่ากันครับ เพราะอย่างน้อยๆ อานิสงฆ์ก็จะเผื่อแผ่มาถึงผมด้วย
เสียงตึง ดังมาจากต้นขบวน พร้อมทั้งแรงส่งที่ทำให้คนที่ไม่ทันตั้งหลัก อาจจะหัวทิ่มหัวตำได้เล็กน้อย นั่นเป็นสัญญาณบอกว่า ขณะนี้ รถจักรดีเซล ได้เข้ามาต่อกับขบวนรถ ที่จอดรออยู่เป็นที่เรียบร้อย และแน่นอนครับ ตามประสาคนบ้ารถไฟ ก็ต้องถือโอกาสเดินลงไปดู ว่าเป็นรุ่นอะไร เท่าที่เดาในตอนแรก ผมคาดว่าน่าจะเป็น GEA เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นรุ่นนี้ แต่วันนี้ผิดคาดเล็กน้อย เพราะรถจักรดีเซล ที่จะพาคณะสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ทั้งหมด กว่า 300 ชีวิต ไปตะลุยเชียงใหม่ และงานพืชสวนโลก ดันกลายเป็น Hitachi หมายเลข 4507 ซะนี่ ดูแล้วก็เข้ากันดีนะครับ ยิ่งถ้าเป็นบลูเทรนทั้งชุด คงจะยิ่งเข้าชุดสีน้ำเงินไปหมดทั้งขบวน |
17.45 น. ตามเวลาแล้ว ขบวนรถของเรา น่าจะเริ่มออกเดินทาง แต่มีการเปลี่ยนแผนเล็กน้อย โดยจะเปลี่ยนไปออก ในเวลาประมาณ 18.00 น. ก่อนหน้าด่วนพิเศษนครพิงค์เล็กน้อย พร้อมทั้งเริ่มการแถลงข่าว จากผู้ใหญ่ของทาง รฟท. และ การบินไทย ในรถประชุมปรับอากาศด้วย โดยคณะของเรา เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ไปจับจองที่นั่งในรถประชุม เพื่อที่จะถ่ายภาพได้สะดวก และหากมีโอกาสดีๆ ก็อาจจะได้สัมภาษณ์ผู้บริหาร ที่ร่วมเดินทางไปกับคณะสื่อมวลชนในวันนั้นอีกด้วย
งานแถลงข่าวเริ่มต้น ในเวลาประมาณ 18.30 น. พร้อมๆ กับขบวนรถ น่าจะแล่นมาถึงชุมทางบางซื่อ โดยผู้บริหารจาก รฟท. คือ คุณสุขุมาลย์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ และบริการการท่องเที่ยว การรถไฟฯ เป็นผู้กล่าวต้อนรับคณะสื่อมวลชน พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดคร่าวๆ เกี่ยวกับการเดินทาง โดยขบวนรถด่วนพิเศษราชพฤกษ์ พร้อมทั้งแนะนำกิจกรรมต่างๆ ตามกำหนดการในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งได้รับการต้อนรับจากคณะสื่อมวลชน หลายๆ แขนงเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางโทรทัศน์, วิทยุ (จส.100), หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมถึงเว็บไซต์เล็กๆ อย่างรถไฟไทยดอทคอมอีกด้วย ซึ่งหลังจากที่คุณสุขุมาลย์ หรือ "พี่จิ๋ม" กล่าวต้อนรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นการแถลงข่าวจากผู้บริหาร โดยในส่วนของ รฟท. แถลงข่าวโดย คุณอนุวงศ์ สุขศรีวงศ์ รองผู้ว่าการด้านพัฒนาและวางแผน ส่วนของการบินไทยนั้น แถลงข่าวโดย คุณปรีดี บุญซื่อ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายพันธมิตรการบิน (Vice President Alliance) ซึ่งเนื้อหาสาระในการแถลงข่าวส่วนใหญ่ จะเป็นเกี่ยวกับทางด้านความร่วมมือกัน ระหว่าง รฟท. และการบินไทย ในการจัดบัตรโดยสาร Ratchaphruek Travelling Pass ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ในการที่จะเลือกเดินทาง ไป/กลับ ระหว่าง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ - กรุงเทพฯ ในช่วงระหว่างมหกรรมพืชสวนโลกนี้ ซึ่งผู้โดยสารสามารถเลือกได้ว่า จะไปด้วยรถไฟ กลับด้วยเครื่องบิน หรือจะไปด้วยเครื่องบิน แต่กลับด้วยรถไฟ ก็ได้ตามสะดวก แต่เลือกได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการเดินทาง 1 เที่ยว เท่านั้นนะครับ โดยราคาค่าโดยสาร ต่อคน คือ 3,300 บาท |
|
นอกจากแถลงข่าวแล้ว ทางการบินไทย ยังนำอาหารตัวอย่าง ที่จะให้บริการแก่ผู้โดยสารในเที่ยวบินจริงๆ มาโชว์ในรถประชุมปรับอากาศด้วย งานนี้เล่นเอาสื่อมวลชนแทบทุกคน รวมทั้งผม เริ่มท้องร้อง + น้ำลายหกกันเป็นแถวๆ แถมป๋านัท ยังไม่วายไปแซวนักข่าวที่อยู่ข้างๆ อีก เล่นเอาฮากันไปทั้งตู้
"ตอนส่งต่อๆ กันน่ะ ระวังดีๆ นะ ระวังอาหารในกล่อง มันจะกลับมาไม่ครบ"
จบงานแถลงข่าว นักข่าวส่วนใหญ่ ก็เริ่มทะยอยกลับไปที่ตู้ของตัวเอง เพื่อรับประทานอาหารเย็น แต่ป๋าของเรา ก็ยังวาดลวดลาย ร่วมถ่ายภาพหมู่ เป็นที่ระลึกกับทางผู้บริหารของการรถไฟฯ, ผู้บริหารของการบินไทย ตลอดจนทีมประชาสัมพันธ์ ของการบินไทยอีกด้วย ที่ผมจำได้แม่นๆ ก็มี คุณปรีดี บุญชื่อ Vice President ของการบินไทย, คุณอารักษ์ ราษฎร์บริหาร CFO ของการรถไฟ และ คุณจิระประภา เศวตนันท์ อดีตนางสาวไทย ประจำปี 2534 ซึ่งเป็นทีม PR ของการบินไทย ร่วมอยู่ในกลุ่มด้วย ... แหม ! ดังไม่ใช่เล่นนะป๋านัทของเรา ส่วนผม หลังจากที่ถ่ายภาพให้ป๋าเสร็จแล้ว ก็ขอตัวกลับมาที่ตู้ของตัวเอง ปล่อยให้ป๋าเข้าไปติวเข้มนอกรอบ กับ CFO ของการรถไฟฯ ต่อ
อาหารมื้อเย็นสำหรับผม และคณะในเย็นนั้น คืออาหารอันขึ้นชื่อ ของรถเสบียง นั่นก็คือ ข้าวผัดรถไฟ ซึ่งปัจจุบันหาทานได้ค่อนข้างยาก พร้อมน้ำซุปเห็ดหอมร้อนๆ อีก 1 ถ้วย หลังจากที่ทานอาหารเย็นเสร็จแล้ว ก็แยกย้ายไปพักผ่อน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามอัธยาศัย บางส่วนก็เริ่มนอนพักผ่อนเอาแรง บางส่วนก็ไปร้องคาราโอเกะกันที่รถประชุมปรับอากาศ ตามสไตล์และความชอบของแต่ละคน
ผมนั่งคุยกับน้องตั้ม ไปเรื่อยๆ พร้อมๆ ป๋านัท ที่ตามมาสมทบ จนกระทั่งขบวนรถมาเข้ารางหลีกที่สถานีนครสวรรค์ ในเวลาประมาณ 4 ทุ่ม 15 นาที ซึ่ง ณ ที่นั้น เราพบกับขบวนรถเร็วที่ 116 พิษณุโลก-กรุงเทพ จอดรออยู่ในทางที่สาม ต่อจากนั้นอีกไม่นาน ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 1 หรือด่วนนครพิงค์ก็เข้าเทียบชานชาลาที่ 1 พร้อมทั้งแซงนำหน้ารถด่วนราชพฤกษ์ของเราไปต่อหน้าต่อตา .... ก็พึ่งรู้นะครับเนี่ย ด่วนพิเศษ ยังมีการแซงกันเองด้วย
พอรถออกจากสถานีนครสวรรค์ได้เล็กน้อย ผมก็ขอตัวมุดเข้าที่นอนก่อน คงปล่อยให้ป๋านั่งเมาท์แตกกับ บก. จากหนังสือ Leader Times ที่นั่งอยู่ติดกับพวกเรา พร้อมนั่งดวลน้ำสีอัมพันกันเล็กๆ น้อยๆ พอหอมปากหอมคอ โดยมาทราบภายหลังว่า กว่าจะปิดโต๊ะ แล้วกลับที่นอนของใครของมัน ก็ปาเข้าไปตีสามเศษๆ ซึ่งเป็นเวลาที่รถกำลังแล่นผ่านสถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ พอดี หลังจากที่ป๋าเข้านอนไปแล้วไม่นาน ผมก็สะดุ้งตื่นไปเป็นพักๆ เพราะได้ยินเสียงเครื่องยนต์คัมมิ่นส์ ดังคำรามมาจากเตียงนอนของป๋านัทเป็นระยะๆ ฮ่าๆๆๆๆๆ จะว่าไปแล้ว เสียงดังแข่งกับเครื่องของปู่ GE ได้เลยนะครับเนี่ย ขอบอก
ขบวนรถมาถึงสถานีนครลำปาง ราวๆ หกโมงเช้า กับอีก 30 นาที โดยใช้เวลาจอดพอสมควร ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนเวร ของพนักงานขับรถที่นี่ด้วย ถ้าเป็นปกติ ผมคงลงจากขบวนรถไปแล้ว เพราะบ้านผมอยู่ที่ลำปาง แต่งานนี้เป้าหมายของผมอยู่ที่เชียงใหม่ ก็เลยทำให้ยังคงต้องมานั่งหน้าสลอนอยู่บนรถอีก แล้วก็เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ด้วยครับ ที่ผมจะมีโอกาสนั่งรถไฟสายเหนือ ยาวๆ แบบม้วนเดียวจบ ตั้งแต่กรุงเทพ มาจนถึงเชียงใหม่อีกด้วย อากาศในเช้าวันนี้ค่อนข้างดี มีหมอกนิดหน่อยระหว่างทาง รับกับแสงสีทองของพระอาทิตย์ยามเช้า ขบวนรถค่อยๆ คืบคลาน ลัดเลาะไปตามลำห้วย และเชิงเขา อย่างเนิบๆ เนื่องจากทำความเร็วได้ไม่เกิน 45 กม./ชม. ผ่านสถานีปางม่วง ห้วยเรียน แม่ตานน้อย มุ่งหน้าสู่อุโมงค์ขุนตาน อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยอาศัยกำลังของ Hitachi 4507 เพียงคันเดียวก็เอาอยู่
จากขุนตาน สู่สถานีเชียงใหม่ ถ้าดูตามเวลาที่คาดคะเนไว้ ขบวนรถด่วนพิเศษราชพฤกษ์ น่าจะถึงสถานีเชียงใหม่ ราวๆ 08.45 น. ซึ่งช้ากว่ากำหนดเวลาเดินรถจริงๆ ไปประมาณ 1 ชั่วโมงเศษๆ แล้วก็เป็นไปตามคาดจริงๆ เพราะขบวนรถของเรามาถึงเชียงใหม่ ตามเวลาที่คาดคะเนไว้แบบเกือบเป๊ะ โดยเข้าจอดที่ชานชาลาที่ 4 จากนั้น บรรดาคณะสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ ก็จะเดินทางไปที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว โดยรถบัส เพื่อรับประทานอาหารเช้ากัน ซึ่งมื้อนี้ ทางการบินไทยเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่พวกเราทานขนมจีบและซาละเปา รองท้องกันมาตั้งแต่บนรถไฟไปแล้วรอบนึง
เสร็จจากอาหารมื้อเช้าแล้ว ตามโปรแกรมที่วางเอาไว้ เราจะไปเยี่ยมเจ้า ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย สองหมีแพนด้าชื่อดัง ดาราประจำสวนสัตว์เชียงใหม่กันก่อน เนื่องจากทางงานพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ยังมีพิธีส่งมอบพื้นที่กันในช่วงเช้า ซึ่งอาจจะไม่ค่อยสะดวกในการเข้าไปเยี่ยมชมเท่าใดนัก โดยขณะนี้ เจ้าหมีแพนด้าสองตัว ต้องย้ายมาอยู่บ้านชั่วคราวข้างๆ บ้านเดิมก่อน เนื่องจากบ้านเดิมกำลังปิดปรับปรุง เห็นแล้วก็อิจฉาเจ้าสองตัวนี่เหมือนกัน เพราะได้แต่นอนกลิ้งไปกลิ้งมา สบายเฉิบ แต่ที่ผมสงสัยในใจตะหงิดๆ ก็คือ แล้วตัวไหนมันคือ เจ้าช่วงช่วง และเจ้าหลินฮุ่ย กันล่ะเนี่ย เพราะหน้าตามันเหมือนกันทั้งคู่เลย
|
สวนสัตว์เชียงใหม่ในวันนี้ กับเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเปลี่ยนไปเยอะ จำได้ว่าเมื่อก่อนนี้ หลังจากจอดรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราจะต้องเดินๆ กันอย่างเดียว เพื่อจะเข้าไปชมสัตว์ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ขืนไปเดิน มีหวังต้องเดินกันขาลาก แถมน่องปูดกันเป็นแถวๆ เนื่องจากกรงสัตว์แต่ละที่อยู่ห่างกันพอสมควร ต้องใช้บริการรถยนต์ หรือนำรถส่วนตัวเข้าไป จึงจะสะดวก แถมถนนหนทางในสวนสัตว์ ยังเป็นเส้นทางที่ขึ้นเขาลงเขา ค่อนข้างชัน ใครที่ฝีมือการขับรถยังไม่ชำนาญ อาจจะมีสิทธิลงไปนอนกองอยู่แถวๆ หุบเขาข้างๆ ทางได้อีกต่างหาก ขนาดพวกผมนั่งอยู่บนรถยนต์ของสวนสัตว์ บางครั้งยังออกอาการเหวอเลยครับ ที่เหวอน่ะก็ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะว่ารถคันที่ผมนั่งมานั้น เป็นรถคันสุดท้ายของคณะสื่อมวลชน ดังนั้น จึงเป็นรถคันที่อัดแน่นเป็นปลากระป๋องที่สุดครับ ก็กลัวว่ามันจะขึ้นดอยไม่ไหว หรือจะไถลตกดอยเสียมากกว่า ไม่งั้นอาจจะได้เป็นข่าวหน้าหนึ่งกันแน่ๆ
คณะสื่อมวลชนใช้เวลาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่เป็นเวลาพอสมควร ก็ได้เวลาเดินทางกันต่อ โดยคณะสื่อมวลชนทั้งหมด จะไปทานอาหารกลางวันที่ร้าน "ข้าวซอยเสมอใจ" แถวๆ ถนนฟ้าฮ่าม เห็นคุยว่าอร่อย ไอ้ผมเองก็ไม่ค่อยได้ไปที่เชียงใหม่ เลยไม่ค่อยรู้จักร้านอะไรมากนัก ไปทีไรก็มักจะหนีไม่พ้น Central Airport Plaza เสียทุกที เพราะอยู่ใกล้ๆ กับสนามบิน ส่วนใหญ่ก็มาเดินห้างฯ ฆ่าเวลาก่อนที่จะไปเช็คอิน แล้วขึ้นเครื่องบินกลับ กทม. ร้านข้าวซอยนี้เป็นลักษณะบ้านไม้ ตัวร้านอยู่ใต้ถุนบ้านแล้วเลยออกไปด้านหลัง ดูจากด้านนอก ดูเหมือนว่าไม่น่าจะจับคณะของเราเข้าไปอยู่ในนั้นได้ทั้งหมด แต่ก็ผิดคาด เพราะยังเหลือที่นั่งให้นั่งได้อีกเหลือเฟือครับ อาหารขึ้นชื่อประจำร้าน คงหนีไม่พ้นข้าวซอย และหมูสะเต๊ะ แต่ถ้าใครอยากจะทานขนมจีนน้ำเงี้ยว ที่นี่ก็มีให้ทานนะครับ โดยผม ป๋านัท งาบไปเสียคนละ 2 ชาม เป็นข้าวซอยและขนมจีน อย่างละ 1 ชาม ส่วนน้องตั้ม ดูยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับข้าวซอยเท่าไหร่นัก เลยสอยไปได้เพียงแค่ชามเดียว (สงสัยจะลดความอ้วนด้วยกระมัง) |
ทานอาหารกลางวันกันเสร็จสรรพ์ ก็ได้เวลาเดินทางไปยังงานพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2549 กันแล้ว โดยรถบัสทั้ง 4 คัน ก็นำคณะของเรา แล่นไปตามทางหลวงหมายเลข 11 แล้วก็ตรงดิ่งไปตามถนนสู่อำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ ระหว่างทางที่รถผ่าน ไม่ว่าจะเป็นสี่แยก หรือตามถนน ก็จะเห็นการประชาสัมพันธ์งานอยู่เป็นระยะๆ ทั้งตัวมาสค็อตรูปดอกกุหลาบ (ที่ตอนแรกผมดันไปเรียกซะเต็มปาก ว่าน้องหัวหอม ... แหม เสียราคาหมด) ธงสีเหลืองงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สลับกับธงสีขาวงานราชพฤกษ์ ดูแล้วช่างเป็นงานที่อลังการ และยิ่งใหญ่สมการรอคอยของคนไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว
|
|
ใช้เวลาประมาณ 15 นาที กับระยะทางอีกประมาณ 8 กม. รถบัสก็นำคณะมาถึงงาน ท่ามกลางความตะลึงของทุกคนๆ ว่างานนี้ช่างดูยิ่งใหญ่ สมกับเป็นมหกรรมแห่งแผ่นดินจริงๆ ตั้งแต่ ซุ้มทางเข้าที่ดูสวยงาม มองขึ้นไปเห็นหอคำหลวง ไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดของงานนี้ โดดเด่นเป็นสง่าแต่ไกล ตลอดจนกลุ่มของสวนต่างๆ ที่ประดับประดา และตกแต่งได้อย่างลงตัว จุดเริ่มต้นของคณะของเราที่งานนี้ ก็คือในส่วนของ Press Center ที่ตามกำหนด จะต้องเป็นการเปิดแถลงข่าว ต่อสื่อมวลชน แต่ไม่ทราบว่าติดขัดประการใด จึงทำให้ไม่สามารถแถลงข่าวได้ เลยต้องเปลี่ยนโปรแกรม ไปนั่งรถตัวหนอน หรือรถยนต์ราง นำชมรอบสวนแทน
|
แต่เนื่องจากสวนที่นำชมส่วนใหญ่ เป็นสวนของต่างประเทศ ที่เข้ามาร่วมแสดง และบางส่วนกำลังตกแต่งกันอยู่ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ จึงไม่สามารถให้พวกเราเข้าไปชมภายในได้ คงทำได้แต่เพียงนั่งชมผ่านรถที่ขับวนไปวนมาตามทางเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะได้เข้าไปชมเพียงแค่อยู่บนรถ แต่กล้องทุกตัวในมือของทุกๆ คนในรถ ก็กดชัตเตอร์กันกระหน่ำแบบซัมเมอร์เซลล์ แบบไม่มีว่างเลย ชนิดที่ว่าทุกซอกทุกอณู ขอให้ฉันได้ถ่ายเถอะ สำหรับผมเอง ตอนแรกกะว่าจะกดให้เต็มที่ เพราะอุตส่าห์ไปไถเมมโมรี่จากน้องที่บริษัทฯ มา 2 GB ก็ถ่ายได้ตกราวๆ 3 พันกว่ารูป วันนั้นเองเพิ่งจะถ่ายไปแค่ 80 รูป สุดท้ายก็รู้สึกผิดหวังเล็กน้อย ที่ทางงานราชพฤกษ์ แทบจะไม่เปิดโอกาสให้ถ่ายอะไรแบบเป็นเรื่องเป็นราวเลย คงได้แต่ถ่ายมาจากในรถนี่ล่ะครับ สื่อหลายๆ คนที่ไปในวันนั้น ก็บ่นกันอุบ หลังจากที่กลับมาสมทบกันที่รถบัสแล้วในตอนเย็น
รถตัวหนอน พาพวกเราวนผ่านสวนทั้งของไทย และต่างประเทศไปเรื่อยๆ ตามถนน ผ่านสวนไทย, บ้านเรือนไทย, สวนของประเทศภูฏาน, ประเทศเคนย่า, ประเทศจีน, ประเทศอินเดีย, ประเทศเบลเยี่ยม แต่ละสวนก็ประดับตกแต่งกันหลากหลายสไตล์ แต่สิ่งที่เหมือนๆ กัน ก็คงจะเป็นการดึงเอาเอกลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรม ประจำชาติของตนเอง นำออกมาแสดงได้อย่างชัดเจนและสวยงาม นอกจากเรื่องของวัฒนธรรมที่ต้องการจะสื่อออกมาแล้ว ยังมีการงัดเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประกอบการจัดสวนด้วย อย่างเช่น ของประเทศเบลเยี่ยม ที่ลงทุนใช้หญ้าเทียมแต่งสวนกันเลย โดยยังเป็นการจัดสวนโดยใช้หญ้าเทียมครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งคงต้องไปพิสูจน์กันด้วยตาตัวเองล่ะครับ ว่าจะสวยงามสู้หญ้าจริงๆ ได้หรือเปล่า
มีคำถามถามขึ้นมาในรถ ว่าเจ้าตุ๊กตารูปคน ที่เห็นกันอยู่มากมายในสวนนั้น ต้องการจะสื่อความหมายถึงอะไร ซึ่งเจ้าตุ๊กตาพวกนี้ เป็นไอเดียสุดเก๋ของ "คุณกำพล ตันสัจจา" แห่งสวนนงนุช ถ้าจำไม่ผิด คุณกำพลจะเรียกตุ๊กตาพวกนี้ว่า "ตุ๊กตาหน้าม้า" สร้างขึ้นมาเพื่อให้เหมือนว่ามีคนอยู่ในงานเยอะๆ อีกทั้งยังเป็นหน้าม้า คอยเรียกแขก และนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมงานพืชสวนโลกฯ มากๆ นั่นเอง |
|
|
ตุ๊กตาหน้าม้า |
บ้านเรือนไทย 4 ภาค |
|
|
ลานไม้ดอกไม้ประดับ |
บ้านเรือนไทย 4 ภาค |
|
|
ลานไม้ดอกไม้ประดับ |
สวนจากประเทศเคนย่า |
|
|
ซุ้มประตูสวนของประเทศจีน |
สวนหญ้าเทียมจากประเทศเบลเยี่ยม |
|
|
|
หอชมวิว |
ซุ้มประตูสวนของประเทศภูฏาน |
สวนของประเทศจีน |
และแล้ว รถตัวหนอนก็มาหยุดที่บริเวณหน้า หอคำหลวง (Royal Pavilion) จุดศูนย์กลางของงานที่สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งก่อสร้างเพียงสิ่งเดียว ที่จะคงยังหลงเหลืออยู่ ณ ที่แห่งนี้ หลังจากที่จบงานพืชสวนโลกลงไปแล้ว โดยหอคำหลวงนี้ คือ อาคารประธานของงานราชพฤกษ์ 2549 ตั้งอยู่บนเนินดิน มีเนื้อที่ประมาณ 30,000 ตารางเมตร บริเวณทางเข้าตกแต่งด้วย ซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ตกแต่งอย่างสวยงาม จำนวน 30 ซุ้ม แต่ละซุ้มมีกรอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์สี่ด้านติดกัน นำเสนอพระราชกรณียกิจ และพระบรมราโชวาท ขนาบด้วยต้นราชพฤกษ์ตลอดสองข้างทาง ตัวอาคารเป็นเรือนไม้ครึ่งตึกสองชั้น ที่มีความสง่างาม ที่สร้างอย่างวิจิตรบรรจง ด้วยสถาปัตยกรรมล้านนา ภายในตัวอาคารจะเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้านการเกษตร และนิทรรศการโครงการหลวงต่างๆ
หอคำหลวง (Royal Pavilian)
|
|
ซุ้มเฉลิมพระเกียรติหน้าหอคำหลวง |
อีกมุมหนึ่งของหอคำหลวง |
จากหอคำหลวง รถตัวหนอนก็พาผมลัดเลาะผ่านเวทีวัฒนธรรม (Grand Amphitheater), หอเกียรติยศพืชสวนไทย, โดมพรรณไม้เขตร้อนชื้น ไม้หายาก (Tropical Dome), อาคารพืชทะเลทราย (Dessert Plant Greenhouse) ไล่มาเรื่อยๆ เพื่อกลับมายังจุดเริ่มต้น ที่สวนพรมบุปผา (Flower Carpet) ซึ่งก็น่าเสียดายอีกเหมือนกัน ที่ยังไม่เปิดให้เข้าชม อีกทั้งตอนถ่ายรูป รถก็แล่นผ่านค่อนข้างเร็ว เวลาถ่ายภาพ จึงต้องเป็นประเภท กดชัตเตอร์โดยไม่ต้องเล็ง ก็เลยได้รูปสวยบ้างไม่สวยบ้าง ไปตามโอกาสและจังหวะจะอำนวยครับ
คณะของเราอำลางานพืชสวนโลก ราวๆ 4 โมงกว่าๆ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการในตารางไปพอสมควร ถ้าถามผมว่าจุใจมั้ยกับการมาชมงานในครั้งนี้ คงตอบได้ว่ายังไม่จุใจเท่าไหร่นัก เพราะเนื่องจากเวลาค่อนข้างจำกัด และในหลายๆ พื้นที่ยังไม่เปิดให้เข้าชม แต่ก็เข้าใจครับ อีกเหตุผลนึงที่ทำให้อะไรๆ หลายๆ อย่างยังไม่ลงตัว ก็อาจจะเป็นเพราะคณะของเรา มาชมงานก่อนเวลาที่เปิดให้ชมจริงด้วยกระมัง แต่หากมองในภาพรวมๆ แล้ว ด้วยอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาล ขนาด 470 ไร่ ความตระการตาของพืชพรรณ และสวนดอกไม้ จากหลายๆ หน่วยงาน ทั้งไทยและต่างประเทศ ตลอดจนหอคำหลวง ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมในแบบไทยล้านนา ที่สวยงามอลังการ ประดับประดาด้วยดอกไม้งามนานาพรรณ เพียงเท่านี้ ก็ถือว่าคุ้มค่ามากๆ แล้วครับ สำหรับใครก็ตามที่มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ที่ได้สัมผัสมหกรรมการเฉลิมฉลองแห่งแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ อย่างงาน "มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ" หรือ "ราชพฤกษ์ 2549" นี้ ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมเอง ที่ภายในรอบระยะเวลาสามเดือนต่อไปนี้ คงต้องหาโอกาสเหมาะๆ สักวัน ในการกลับไปเก็บรายละเอียดหลายๆ ส่วน ที่พลาดโอกาสมา ให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน
|
|
บริเวณหอเกียรติยศพืชสวนไทย |
โดมพรรณไม้เขตร้อนชื้น ไม้หายาก (Tropical Dome) |
|
|
สวนพรมบุปผา (Flower Carpet) |
จากงานพืชสวนโลกฯ ที่เป็นภารกิจหลักของการเดินทางมาในครั้งนี้ ผ่านพ้นไปแล้ว ส่วนที่เหลือคงหนีไม่พ้น การไปหาซื้อของฝาก กลับไปฝากคนกรุงเทพตามธรรมเนียม โดยเราจะไปแวะกันที่ตลาดวโรรส ตลาดชื่อดัง ริมแม่น้ำปิง กลางเมืองเชียงใหม่ ที่หลายๆ คนรู้จักกันดี โดยของผม รับออเดอร์ล่วงหน้ามาก่อนเดินทางแล้วว่า ยังไงๆ ของให้หยิบเอาน้ำพริกหนุ่ม และแคบหมู มาฝากด้วยนะ ไม่งั้นเดี๋ยวมีรายการงอนเกิดขึ้นแน่ๆ ส่วนของป๋านัท ก็ไม่แพ้กันครับ เพราะหลังจากที่หายตัวเข้าไปในตลาดได้พักเดียว ทั้งผมและป๋านัท ต่างก็แบกถุงแคบหมูและน้ำพริกถุงเบ้อเร่อ กลับมาขึ้นรถ ไอ้หนักกระเป๋าเดินทางนี่ไม่เท่าไหร่หรอกครับ แต่หนักของฝากนี่สิ เรื่องใหญ่ เพราะแต่ละคนก็ขี้เกียจแบกกันทั้งนั้น
จบจากตลาด ก็กลับมาที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เพื่อรอเวลานัดทานอาหารเย็น ตอนเวลา 18.30 น. โดยรถบัสที่นำพวกเราไปปล่อยที่ตลาดวโรรฐ กลับมาจอดรอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วงเวลานี้ เรียกว่าเป็นนาทีทอง ของคนที่ต้องการจะทำธุระส่วนตัว เช่น อาบน้ำ เก็บของ เปลี่ยนชุดเป็นต้น สำหรับสถานที่ก็ไม่ต้องไปหาไกลหรอกครับ ก็อาบมันในห้องน้ำรถไฟนี่แหล่ะ บางส่วนก็ลงไปอาบกันที่ห้องอาบน้ำของสถานี ว่าไปแล้วก็เป็นประสบการณ์ประหลาดๆ เรื่องนึงในชีวิตผมเลยนะครับเนี่ย ที่ต้องมาอาบน้ำในห้องน้ำรถไฟแคบๆ (แต่ยังดีที่มีฝักบัวให้นะครับ แถมน้ำยังแรงดีอีกต่างหาก) อาบไปก็ต้องคอยระวัง เดี๋ยวเสื้อผ้าที่แขวนไว้จะพลอยเปียกไปด้วย ก็แหม ... ตัวผมเองก็ใช่ว่าจะผอมๆ นะครับ ปกติเวลาเข้าไปอยู่ในห้องน้ำรถไฟ ก็เกือบคับห้องซะแล้วล่ะ แล้วถ้าเป็นป๋านัทล่ะ จะขนาดไหน ไม่อยากจะคิดเลยจริงๆ
ตกเย็นเราเหลืออีกสองโปรแกรมสุดท้ายประจำวัน คือไปทานอาหารเย็น และไปชอปปิ้งต่อที่ตลาดไนต์พลาซ่า โดยอาหารเย็นนั้น เจ้าภาพจัดเลี้ยงที่ร้านอาหารเฮือนโบราณ ริมแม่น้ำปิง ลักษณะร้านเป็นเรือนไม้ อยู่ริมน้ำ บรรยากาศเย็นสบาย พร้อมกับมีเพลงสไตล์เหนือๆ อย่างของคุณจรัล มโนเพชร ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขับกล่อมให้เพลิดเพลินเจริญอาหาร ตั้งแต่ที่ก้าวแรกที่เข้ามาในร้าน ซึ่งก็เข้ากันดีกับชุดอาหารที่จัดเตรียมไว้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นอาหารทางเหนือทั้งนั้น อาทิ น้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว แกงฮังเล เป็นต้นครับ แหม ... พูดแล้วน้ำลายจะไหล หลังจากที่อาหารมาถึงแล้ว อีกไม่นานหลังจากนั้น ก็เหลือแต่จานและถ้วยเปล่าๆ ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะพวกเราต้องทานตุนเอาแรงไว้ก่อน เพื่อที่จะไปเดินชอปปิ้งกันต่อที่ตลาดไนต์พลาซ่า ในเวลาประมาณ 20.30 น. ระหว่างทางที่ไปตลาดไนต์พลาซ่า ป๋านัทกับตั้ม ก็สอดส่ายสายตาหาร้านอินเทอร์เน็ตกันยกใหญ่ ว่าตั้งอยู่ตรงไหนบ้าง สงสัยจะลงแดง ที่ไม่ได้เข้าเว็บรถไฟไทยมาหลายวัน เพราะพอรถจอดปุ๊บ ทั้งสองคนก็วิ่งหายเข้าไปในร้านอินเทอร์เน็ตทันที ส่วนผมขอปลีกวิเวก ไปเดินเล่นชมตลาดเป็นการส่วนตัว ฆ่าเวลาไปพลางๆ ที่เห็นบ่อยๆ ตลอดทางที่เดินผ่าน ก็คือบรรดาชาวเขา ที่เดินเสนอขายสินค้าพื้นเมือง เช่น กำไลเงิน แก่นักท่องเที่ยวกันสลอน แรกๆ ก็พูดจากันด้วยภาษาชาวเขา ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง แบบที่เราเคยได้ยินกันทางทีวี หรือที่ชอบเอามาล้อเลียนเล่นกันประจำ แต่เมื่อผมเดินเข้าไปใกล้ๆ ชาวเขาเหล่านั้น ดันพูดภาษาไทยคล่องปร๋อ เล่นเอาผม ยืนงงไปพักใหญ่ แล้วก็อดไม่ได้ที่จะขำอยู่เพียงคนเดียว
|
คณะของเราถอยทัพจากตลาดไนต์พลาซ่า ประมาณสามทุ่มเศษ ตามเวลานัดหมาย แต่เนื่องจากดันทะลึ่ง ไปนัดเจอกันที่หน้าร้านแม็คโดนัลด์ ก็เลยหันไปหม่ำไอศกรีม อีกคนละนิดละหน่อย เป้าหมายของเราในลำดับต่อไปก็คือ กลับไปยังสถานีเชียงใหม่ เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับกรุงเทพในเวลา 24.00 น. รถตุ๊กๆ พาเราฝ่าสายลมยามค่ำๆ ไปตามถนน ข้ามแม่น้ำปิงที่สะพานนวรัฐ ซึ่งที่นี่เราได้ค้นพบสัจธรรมอีกอย่างหนึ่งว่า รถตุ๊กๆ ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ หรือที่เชียงใหม่ ต่างก็ขับซิ่งพอๆ กันเลย แต่ก็สนุกและได้สีสันไปอีกแบบนึง
ขบวนรถด่วนราชพฤกษ์ในเที่ยวกลับนี้ ผู้คนค่อนข้างบางตา โดยเฉพาะบรรดาผู้สื่อข่าวทั้งหลาย ต่างก็หายหน้าหายตาไปเกือบหมด เป็นเพราะส่วนใหญ่ เลือกที่จะเดินทางกลับโดยเครื่องบินของการบินไทย จึงเหลือเพียงไม่ที่คน ที่เดินทางกลับโดยรถไฟ รวมถึงพวกเราสามคนจากรถไฟไทยดอทคอมด้วย ที่ยังรักเดียวใจเดียวอย่างเหนียวแน่น เพราะยังไงๆ เราก็กลับรถไฟอยู่แล้ว ระหว่างรอรถออก ก็ไปทำกิจกรรมฆ่าเวลา โดยไปเดินสำรวจตรงโน้นตรงนี้ ภายในบริเวณสถานีเชียงใหม่ รวมถึงรอส่งขบวนรถเร็วที่ 110 ปลายทางกรุงเทพ ซึ่งออกจากเชียงใหม่ในเวลา 21.50 ด้วย จนกระทั่งเหลือเวลาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากที่รถจักร Hitachi 4507 คันเดิม เข้ามาต่อขบวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็พากันกลับไปประจำการ ยังที่นั่งของแต่ละคน ซึ่งบัดนี้กลายสภาพมาเป็นที่นอนเรียบร้อยแล้ว
ผมนั่งคุยกับป๋านัท พร้อมทั้งสรุปงานต่างๆ ที่ได้ไปทำมา และที่กำลังจะทำต่อหลังจากที่กลับถึง กรุงเทพมหานครแล้ว จนใกล้จะได้ที่รถจะออก ตอนนี้ตาของแต่ละคนเริ่มปรือๆ เป็นระยะๆ พร้อมด้วยสติสตัง ที่กำลังจะเริ่มหลุดออกจากร่าง เตรียมไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ จนสุดท้ายทนไม่ไหว ค่อยๆ ตะเกียกตะกายกลับที่นอนของตัวเอง โดยไม่ได้สนใจคำชวนของพี่ๆ จนท. ที่ชวนไปดวลเพลงคาราโอเกะ กับคณะของ จส.100 ที่ประจำการอยู่ที่รถประชุมปรับอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่อย่างใด เพราะ ณ วินาทีนั้น รู้สึกได้อย่างเดียวว่า การที่ได้นอนอยู่บนที่นอน พร้อมผ้าห่มอุ่นๆ เป็นอะไรที่ประเสริฐที่สุดแล้ว พรุ่งนี้เช้าค่อยว่ากันต่อก็แล้วกัน แต่ก็ยังพอรู้สึกได้ว่า พอเริ่มจะเคลิ้มๆ หลับ ขบวนรถด่วนพิเศษราชพฤกษ์ ก็กำลังค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากชานชาลาที่ 3 ของสถานีรถไฟเชียงใหม่ พร้อมกับทิ้งภาพแห่งความเงียบสงบ ของสถานี ยามที่ไร้ซึ่งขบวนรถใดๆ อยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งหายไปลับตา เพื่อรอวันที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ในช่วงเวลาเช้ามืดของวันใหม่ เมื่อขบวนรถเร็วที่ 109 จากกรุงเทพ นำพาผู้โดยสารมาถึงยังจุดหมายปลายทางนั่นเอง |
นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 สถานีเชียงใหม่ คงจะมีสีสัน และความคึกคัก มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากต้องต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตา ที่จะเดินทาง มายังมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรตินี้ โดยเฉพาะการเดินทางโดยรถไฟ ที่มีให้เลือกมากมายหลายราคา ทั้งแบบประหยัด หรือมาแบบไฮโซ ถึงแม้ว่าระยะเวลาในการเดินทางนั้น อาจจะช้ากว่าการเดินทางในรูปแบบอื่นๆ ไปบ้างก็ตามที แต่สำหรับคนที่ไม่รีบร้อน อยากจะนั่งผ่อนคลาย ชมวิวทิวทัศน์ระหว่างสองข้างทางในยามเช้าๆ ไปด้วย ขบวนรถด่วนพิเศษราชพฤกษ์ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกนึง ที่น่าสนใจ และตอบโจทย์สำหรับการเดินทางไกลของคุณ เพื่อมาเยือนเมืองเชียงใหม่ พร้อมเข้าร่วมงานมหกรรมเทอดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก "ราชพฤกษ์ 49" ได้เป็นอย่างดี
"คืนที่สอง บนขบวนรถด่วนพิเศษราชพฤกษ์ เสียงเครื่องยนต์คัมมิ่นส์ ที่เคยคำรามมาจากเตียงของป๋านัท เงียบหายไป
แต่ภายใต้ความเงียบสงัดนั้น ดันมีเสียงเครื่องยนต์พีลสติก ดังแผ่วๆ จากเตียงของผมมาแทนที่"
- จบบริบูรณ์ -
ขอขอบคุณ
หมายเหตุ
|