ความจริงการออกแบบ โดยใช้มาตรฐานสูง ก็มีข้อที่ดีอยู่มาก เพราะทำให้เกิดความปลอดภัย จะเห็นว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุทางรถไฟ ผู้โดยสารมักไม่เป็นอันตรายมาก ตัวรถสามารถทนแรงกระแทก ไม่ยุบง่าย ต่างจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อหลายปีมาแล้ว เกิดอุบัติเหตุรถพ่วงของรถยนต์ บรรทุกสินค้าวิ่งสวน กับรถทัวร์ แล้วเซไปถูกกันเข้า ผลก็คือผนังรถทัวร์พังหายไปทั้งแถบ ผู้โดยสารเสียชีวิต 35 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ถ้าเป็นโรงงานชั้นดี เมื่อสร้างรถต้นแบบคันแรกเสร็จ ก็จะนำมาติดอุปกรณ์วัด ที่เรียกว่า "Strain Gauge" เสร็จแล้วจึงดึง ดันและกด ด้วยแรงตามที่กำหนดไว้ในรายการทดสอบตามมาตรฐาน เพื่อดูว่าวิศวกรออกแบบถูกต้อง และช่างสร้างได้ตามที่ออกแบบไว้ รถที่ผ่านการทดสอบ จะต้องไม่บิดเบี้ยว เสียรูปทรงไปจากเดิม หลังจากนั้น จึงจะทำการสร้างรถคันต่อๆ ไป ขบวนการตรวจสอบนี้ หมายถึง วิธีการของผู้ผลิต ที่ซื่อสัตย์ ไม่ขี้โกง เท่านั้น แต่ถ้าเป็นพวกที่ชอบ ไปประมูลตัดราคาคนอื่นมา ก็อาจจะไม่ทำ เพราะเสียเวลา และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนมากก็ใช้วิธีดูหน้าดูตา วิศวกรตรวจที่ไปคุมสร้าง ถ้าเห็นว่าเป็นประเภท ที่ไม่ค่อยเอาใจใส่สักหน่อย หรือผู้ดูแลโครงการ ที่ประเทศสารขัณฑ์ ส่งสัญญาณไปว่าเคลียร์เรียบร้อยแล้ว ก็อาจจะข้ามขั้นตอนนี้ไปได้ ไปเสี่ยงดวงเอาข้างหน้า ซึ่งส่วนมาก ก็พอจะกล้อมแกล้มกันไปได้ ไม่ค่อยมีหรอก ที่จะเห็นมันพังคาตา เว้นไว้แต่ว่าโชคไม่ดี หรือเคราะห์ร้ายแบบสุด ๆ ดังที่เคยปรากฏว่า เมื่อนำของขึ้นบรรทุกแล้ว รถโครงประธานแอ่น อยู่กลางราง ต้องวิ่งกันขาพลิก เพื่อจะแก้ไข ให้กรรมการตรวจรับพอใจ หากหนักหนานัก ก็ไม่ผ่านการตรวจรับ คาราคาซังกันไปเป็นสิบปี เรื่องแบบนี้ มักจะมาจาก พวกยอดมนุษย์ที่อ้างว่า ต้องการสรรหา ของราคาถูกมาขาย จะช่วยประเทศชาติ ประหยัดงบประมาณ ตอนตกลงซื้อหากัน ก็เป็นพระเอก คุยเอาความดีเข้าตัว เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้น คนที่มาแก้ไข จะต้องปวดเศียรเวียนเกล้า ทำดีก็เสมอตัว ทำไม่ดีจะถูกหาว่า อุ้มพ่อค้า เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่เอากระดูกมาแขวนคอโดยแท้ พวกพระเอก ก็พากันเผ่นไปไกลเสียแล้ว ถ้าเรื่องมาไกลถึงขั้นนี้ ส่วนมากก็จะลากกันยาว ไปเป็นสิบปี เพราะไม่มีใครอยากเอามือไปซุกหีบ ทิ้งไว้นานๆ พอคนลืม สื่อมวลชนเผลอ หรือรกที่ทางเต็มทีแล้ว เกะกะ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ก็จะหาวิธีกำจัดให้พ้นทางไป ความจริงเรื่องนี้ น่าจะยกย่องญี่ปุ่นว่า มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ เป็น Professional Consultant เมื่อลูกค้าให้ Design Criteria ไปอย่างนี้ ก็ต้องศึกษา ออกมาอย่างนี้ ดีกว่าที่ปรึกษา ประเภทดูใจนายจ้าง โดยหวังเพียงเพื่อรับเงิน ค่าจ้างอย่างเดียว คือ เป็นที่ปรึกษาประเภท “….won’t tell what the customer need to know……will tell what the customer want to know” ที่ปรึกษา ซึ่งขาดจริยธรรม อย่างนั้น จะบอกสิ่ง ที่ลูกค้า ต้องการรู้ แต่จะไม่บอกว่า ลูกค้าจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง ที่ปรึกษาอย่างนี้ ก็จะหลอกเอาสตางค์ จากนายจ้างที่ไม่ค่อยฉลาดไปได้นานนาน ! ญี่ปุ่นบอกว่า ปัจจุบันนี้ ระบบควบคุมการเดินรถไฟ มีความทันสมัย กว่าแต่ก่อนมาก โอกาสที่จะเกิด อุบัติเหตุรถไฟชนกัน แบบแต่ก่อนมีน้อย แนวคิดในการออกแบบ เปลี่ยนแปลงไป ด้านวิศวกรรม การออกแบบรถไฟ ของญี่ปุ่น จึงมีแนวคิดว่า รถไม่ได้มีไว้ เอาไปวิ่งชนกัน แตกต่างจากแนวคิด สมัยโบราณที่ว่า เมื่อรถชนกันแล้ว จะต้องไม่มีอันตราย การเปลี่ยนแปลงแนวคิดตรงนี้ ทำให้การสร้างรถไฟสมัยใหม่ มีความบอบบางลง มีน้ำหนักเบา และผลจากการที่ตัวรถเบาลง ก็สามารถสร้างทางรถไฟให้บอบบาง และแข็งแรงน้อยลงได้ด้วย แม้ว่าแนวคิดนี้ จะเป็นเหตุให้ ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างระบบควบคุม การจราจรที่ดี สามารถป้องกัน ไม่ให้รถชนกัน สูงกว่าแต่ก่อน แต่โดยรวมแล้ว ค่าใช้จ่ายทั้งโครงการ จะมีมูลค่าถูกลง นั่งฟังแล้ว นึกถึงการเลือกซื้อ รถญี่ปุ่น กับรถฝรั่ง บังเอิญผู้เขียน ใช้รถฝรั่งอยู่สองคัน และใช้รถญี่ปุ่นคันหนึ่ง ก็พอจะนึกถึง ความแตกต่างได้ ถ้าเราตัดสินใจ ซื้อรถฝรั่ง ก็ไม่ได้คาดหวังว่า จะประหยัดน้ำมัน ไม่ได้คาดหวังว่า จะมีสมรรถนะสูงส่ง และไม่ได้คาดหวังว่า จะประหยัดค่าซ่อม ความคาดหวัง คือ น่าจะนั่งสบาย เพราะฝรั่งตัวโต และน่าจะปลอดภัย เหล่านี้เป็นสิ่งตรงกันข้าม กับการเลือกซื้อรถญี่ปุ่น ถ้าซื้อรถญี่ปุ่น เราก็หวังว่า จะมีสมรรถนะดี ประหยัดน้ำมัน หาช่างซ่อมง่าย ใช้งานง่าย แต่ถ้าพูด เรื่องความปลอดภัย เราคงต้องทำใจว่า รถไม่ได้มีเอาไว้ สำหรับไปวิ่งชนกัน ฟังดูแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยาก ต่อการทำความเข้าใจ แต่ในทางปฏิบัติ ใครจะกล้าตัดสินใจ ยอมลดสเปค เพื่อเอาเงินที่ไม่ใช่ของเรา ไปซื้อระบบรถไฟ อย่างเช่นที่ญี่ปุ่นแนะนำ เว้นเสียแต่ว่า คนที่ตัดสินใจ จะไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรนัก ซึ่งก็จะถูกใครต่อใคร หลอกให้ไหลหลง และงงงวยกันไป เสร็จแล้วก็ถูกงาบ โครงสร้างของทางรถไฟยกระดับ ในประเทศญี่ปุ่น
สมมุติว่า วิศวกรที่รับผิดชอบ เกิดไปรับความคิดของญี่ปุ่นมา แล้วยอมรับหลักการ ที่จะลดการออกแบบ โดยใช้น้ำหนักกดเพลาแค่ 15 ตัน แทนที่จะเป็น 21 ตัน ค่าก่อสร้างก็จะลดลง โครงการสร้างทางรถไฟ เชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะคนที่ตัดสินใจ มีความพอใจเรื่องราคาค่าก่อสร้าง แต่เส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นนี้ จะมีสภาพเป็นรถไฟ ที่ทำหน้าที่เฉพาะกิจเพื่อการนี้เท่านั้น จะใช้ทำอย่างอื่นไม่ได้ แต่บังเอิญ เส้นทางรถไฟนี้ ถูกสร้างอยู่ในที่ดินรถไฟ โดยการรถไฟฯ เส้นทางรถไฟ ก็พัวพันอยู่กับทางรถไฟเดิม วันหนึ่ง ก็อาจจะมีผู้ตั้งคำถามว่า อยากจะเอารถสินค้าซึ่งมีน้ำหนักกดเพลา 21 ตัน ขึ้นไปวิ่ง วิศวกรของการรถไฟ ก็ต้องชี้แจงว่าวิ่งไม่ได้ ก็อาจจะมีคำถามต่อว่า จะทำให้วิ่งได้ต้องใช้เงินอีกเท่าใด ถ้าเผลอตอบคำถามนี้ออกไป วันรุ่งขึ้นก็จะเป็นข่าวว่า วิศวกรของการรถไฟ ทำให้รัฐบาลเสียค่าโง่ xxxx ล้านบาท สร้างทางรถไฟต่ำกว่ามาตรฐาน ใช้วิ่งรถสินค้าไม่ได้ ถ้าจะนำรถสินค้าขึ้นไปวิ่ง ต้องเสียสตางค์เพิ่มเพื่อทำการแก้ไข จะว่าไม่คิดว่า ระบบที่ออกแบบมา เพื่อวิ่งรถไฟฟ้ารับส่งผู้โดยสารระหว่างเมือง กับสนามบิน ในรอบ 365 วัน จะมีผู้ประสงค์ จะเอารถสินค้าขึ้นไปวิ่งอยู่แค่ 2 วัน ก็ทำไม่ได้ เพราะเป็น ครฟ. ย่อมต้องรู้จัก รถไฟสินค้าดีอยู่แล้ว เหตุใด จึงไม่คิดเผื่อเอาไว้บ้าง ถ้าเป็นคนรถไฟอื่น ที่ไม่เคยวิ่งรถไฟสินค้า ก็ยังจะพอฟังขึ้นว่าไม่รู้จัก อย่าทำเป็นเล่นไปว่า คนคิดอะไรแบบนี้ ไม่มีอยู่ในบ้านเมือง ดังนั้น ปลอดภัยที่สุด ก็คือ ยึดมาตรฐาน ข้อกำหนดของเรา ให้แน่นเข้าไว้ ถ้าเขาว่าแพง ก็แค่ไม่ได้ทำโครงการ ประเทศก็แค่ไม่มีทางรถไฟ เชื่อมสนามบิน ซึ่งก็เป็นอย่างนั้น มาตั้งนานแล้ว ดีกว่าทำอะไร ที่เสี่ยงไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้ตัวเอง และครอบครัวเดือดร้อน คิดได้ดังนี้แล้ว ก็ปล่อยให้การสนทนา กับพวกญี่ปุ่น เป็นเพียงลมพัดผ่านหูไป หรือใครจะเป็นผู้กล้า ลดสเปค ตามที่ญี่ปุ่นแนะนำ? ก็คงจะหมดเรื่อง ที่ประชุมกันสองวัน ซึ่งความจริง ยังได้พูดกัน ในรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก แต่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องที่ลงไป ในทางลึก เช่นการทำ Traffic Forecast เขียนไปแล้ว ก็จะลำบาก ทั้งคนเขียนและคนอ่าน จึงใคร่ขอยุติ เรื่องประชุมไว้แต่เพียงเท่านี้ |