ในตอนก่อน เมื่อรัฐบาลไต้หวัน ตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ของประเทศญี่ปุ่นมาใช้นั้น ญี่ปุ่นดีใจ จนแทบจะยอมลงทุนสร้างให้ฟรี ถ้าไม่ติดขัดว่า ของมันแพง เหตุที่ดีใจขนาดนั้น ก็เพราะคาดหวังว่า หลังจากนี้ จะมีสิ่งที่ดีตามมาอีกอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่เริ่มต้นส่งออก เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ให้ได้ อาชีพสร้างรถไฟความเร็วสูง อาจจะไปตกอยู่ที่ฝรั่งเศสทั้งหมด สำหรับจีน กับเกาหลีนั้น เชื่อมั่นได้เลย ประตูบ้านไม่เปิดรับญี่ปุ่นแน่นอน ด้วยเหตุผลสองประการ คือ ประการแรก ไม่ชอบหน้าคนญี่ปุ่น ก็คงจะเข้าใจกันแล้วว่า เหตุใดจึงไม่ชอบ เหตุผลประการที่สอง คือ ทั้งสองชาตินั่น ไม่ได้สร้างค่านิยม ให้คนของเขา เป็นนักบริโภคเทคโนโลยี ด้วยการวิ่งซื้อไปทั่ว มีแต่จะคิดสร้างเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแข่งกับญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อมีใคร จะมาขายรถไฟความเร็วสูง พวกเขาก็จะขอให้ทำสัญญา ถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น เกาหลียอมรับเทคโนโลยี รถไฟความเร็วสูง ของฝรั่งเศส โดยขอให้ใช้สินค้า ที่ผลิตภายในประเทศ 40% ในเบื้องต้นที่เริ่มก่อสร้าง และขอให้ถ่ายทอด เทคโนโลยีการผลิตให้ด้วย หลังจากปีที่แปดเป็นต้นไป TGV Korea จะต้องใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศเกาหลีทั้งหมด ประเทศจีน ซึ่งตอนแรก ตั้งท่าจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ขึ้นทั่วประเทศ โดยใช้เทคโนโลยี ของฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน แต่ภายหลัง อยากจะกระโดดออกหน้า ไปไกลกว่านั้น จึงหยุดรอดูผล การใช้งานรถไฟความเร็วสูง แบบแม่เหล็ก หรือที่เรียกว่า Magnetic Levitation ซึ่งเป็นเทคโนโลยี ของประเทศเยอรมนี ที่สร้างเชื่อมสนามบินใหม่ กับใจกลางเมืองที่เซียงไฮ้ก่อน หากประสบความสำเร็จด้วยดี ก็จะโดดข้าม ไปสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงแบบ Maglev ซึ่งวิ่งได้เร็วกว่า 500 กม./ชม. ดีกว่ารถไฟความเร็วสูงที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงแบบแม่เหล็ก (Maglev) Image by (http://bacterio.uc3m.es) มีคนไม่ทราบข้อเท็จจริง ชอบคิดว่ารถไฟความเร็วสูง ที่ทำกันอยู่นี่ ทำแล้วร่ำรวย ก็ต้องขอบอกว่า ที่ การรถไฟฝรั่งเศส (SNCF) คิดจะทำ TGV มีหนี้สินอยู่ 64,000 ล้านฟรังซ์เท่านั้น แต่ภายหลัง เมื่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง TGV สายตะวันตก (TGV Atlantique) เลียบชายฝั่ง มหาสมุทรแอตแลนติค ลงไปทางใต้เสร็จ ปรากฏว่าหนี้สิน เพิ่มพูนขึ้นไปถึง 200,000 ล้านฟรังซ์ (เป็นกี่บาทไทย คูณออกมาแล้วจะตกใจ) เพิ่งจะปรับโครงสร้าง เอาหนี้ไปแปะไว้ที่ RFF เมื่อปี 2540 นี่เอง กิจการรถไฟ ในทุกประเทศ ที่สร้างระบบรถไฟความเร็วสูง กันอยู่ในเวลานี้ ต่างก็ใช้เงินของรัฐบาล มาก่อสร้างกันทั้งนั้น ผู้ประกอบการ เดินรถไฟทุกประเทศ เอาแค่ซื้อรถมาวิ่ง แล้วบริหารตรงนั้นให้มีกำไรก็เก่งมากแล้ว ใครที่อยากร่ำรวย โดยการหลอกรัฐบาลว่า จะมาลงทุนสร้างรถไฟ (ทั้งความเร็วสูงและไม่สูง) แล้วมีกำไร ก็อยากจะขอฝากเป็นข้อมูลไว้ว่า "อย่ามาโกหกกันเลย ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมาหลอกกัน โดยออกเงินสร้างไปก่อน แล้วหาวิธีทำให้คนใช้บริการติด เมื่อใดก็ตาม ที่กลายเป็นสิ่งที่ ซึ่งคนจำเป็น ต้องอาศัยใช้ประกอบอาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตแล้ว รัฐบาลก็ไม่อาจปล่อย ให้กิจการล้มไปได้ สุดท้ายก็ขายคืนให้รัฐบาล กะว่าจะไปฟันกำไร เอาตอนนั้น ซึ่งก็เป็นความคิด ที่แยบยลในการหากำไร จากโครงการสาธารณะไปอีกแบบหนึ่ง" ผู้เขียนได้พยายามมานานแล้ว ในการที่จะบอกว่า รัฐบาลสร้างถนน แต่ไม่สร้างทางรถไฟ เสร็จแล้ว ให้ผู้ประกอบการ ขนส่งบนถนน กับผู้ประกอบการ ขนส่งบนรางรถไฟ มาวิ่งรถแข่งกัน แบบนี้ ถึงอย่างไรก็ไม่รอด และไม่มีใครในโลกนี้เขาทำกัน ความพยายามที่ผ่านมา ก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ก็คงต้องเพียรพยายาม กันต่อไป เข้าตำรา “ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ไม่รู้อีกกี่ชาติจะสัมฤทธิ์ผล |