กลับมาที่ประเทศญี่ปุ่น กันต่อ เพื่อไม่ให้ล้าหลัง รถไฟความเร็วสูง ของชาติอื่น ญี่ปุ่นจึงจำต้องหาวิธีการ เพิ่มความเร็วตามขึ้นไปเป็น 300 กม. / ชม. โดยการสร้าง NOZOMI (แปลว่า Hope) * ขึ้นมาใหม่ เป็นบริการ ควบคู่กับ ขบวนสายฟ้า (HIKARI) และ ขบวนเสียงก้องกังวาล (KODAMA) ที่วิ่งด้วยความเร็ว 210 กม. / ชม. ความจริงขบวนรถ ชินกังเซน ยังมีชื่ออื่นอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการแปรรูปแล้ว ได้มีกิจกรรมการ มีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ ให้มีการประกวด การตั้งชื่อขบวนรถใหม่ ทำให้ชื่อของรถแต่ละขบวน มีออกมา มากมายหลากหลาย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นเรื่อง ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า จะมีการแข่งขันที่บีบบังคับ ให้ต้องเพิ่มความเร็ว โครงสร้างเดิม จึงน่าจะเหมาะ แก่การใช้ความเร็ว 210 กม. / ชม. เท่านั้น ดังนั้น เวลารถวิ่งจึงดูวูบวาบน่ากลัว ปี 2536 เมื่อผู้เขียนไปเป็นวิศวกรตรวจ ยังได้รับทราบว่า มีปัญหาหินโรยทางถูกลมที่เกิดจากรถวิ่งผ่าน กระเด็นขึ้นมา ถูกอุปกรณ์ที่อยู่ใต้ท้องรถ การนั่งบนรถที่วิ่ง 300 กม. / ชม. จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากรถที่วิ่ง 210 กม. / ชม. อย่างเห็นได้ชัดทีเดียว เวลามองออกไปนอกหน้าต่าง จะรู้สึกเวียนหัว เพราะมองเห็นเสาไฟ บ้านเรือน และสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ริมทาง เคลื่อนผ่านเร็วจนตาลาย ทำเอาผู้แทนไทยท่านหนึ่ง ที่เดินทางไปร่วมประชุมด้วย ถึงกับนั่งคอพับคออ่อน ไปตลอดทาง ตั้งแต่ โตเกียว ถึง โอซาก้า แม้ผู้เขียนจะไม่เคยเป็นโรคเมารถ เมาเรือ มาก่อน แต่ไปนั่งเจ้า รถแห่งความหวัง หรือขบวน โนโซมิ ที่วิ่ง 300 กม. / ชม. ครั้งนี้ ก็เล่นเอาหูตาลายไปเหมือนกัน
500 Series Nozomi Shinkansen at Kyoto Station
Image by http://en.wikipedia.org
Series 700 "Hikari Rail Star" Electric Train for JR WEST
Image by http://www.khi.co.jp
ในไต้หวัน ซึ่งเป็นระบบ ชินกังเซน ระบบใหม่ ออกแบบเผื่อไว้ให้วิ่งได้ 350 กม. / ชม. แต่ในระยะแรกจะวิ่งแค่ 300 กม. / ชม. ไปก่อน ถ้าวิ่งเร็วกว่านี้ พวกฝรั่งจะตกใจกันยกใหญ่ ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ สามารถสรุปได้ว่า ในโลกของการแข่งขันนั้น ไม่มีใครยอมแพ้ง่ายๆ หรอก เว้นเสียแต่ว่าจะไม่ยอมสู้ตั้งแต่แรก คือ จะเป็นพระท่าเดียว แพ้เป็นพระไง !
มาดูเรื่องรถไฟความเร็วสูง ในประเทศสหรัฐอเมริกากันบ้าง ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นทวีป ๆ หนึ่ง ที่ขนาบสองข้าง ด้วยมหาสมุทรแอตแลนติค และแปซิฟิค ผู้เขียนอยากจะบอกว่า ไม่เชื่อ พวกไปดูระบบขนส่ง ที่อเมริกาแล้วกลับมาบอกว่า ที่อเมริกา เขาเลิกใช้รถไฟขนส่งกันแล้ว เพราะคนที่พูดไม่ได้ไปดูว่า การขนส่งในมลรัฐเท็กซัส เขาทำอย่างไร เพราะรัฐนี้เพียงรัฐเดียว ก็ใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศ
ขณะที่พวกนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ที่มาเป็นลูกจ้าง World Bank อยู่แถวประเทศสารขัณฑ์ เที่ยวบอก (หลอก) คนไทยว่า อย่าทำเลย รถไฟ ทำรถไฟแล้วไม่ดี เป็นภาระแก่รัฐบาล สู้ตัดถนนให้รถยนต์วิ่งไม่ได้ ตัดเสร็จ ชาวบ้านก็เอารถมาวิ่ง ไม่มีตัวเลขขาดทุนให้ใครว่าเอาได้ ก็ยังมีคนเห็นดีเห็นงามอยู่มาก ที่น่าประหลาดใจก็คือ ในบรรดาที่เห็นดีเห็นงาม ไปกับเขานั้น มีคนของการรถไฟฯ เราอยู่ด้วย
ในขณะที่ความเชื่อ เรื่องอเมริกากำลังจะเลิกใช้ รถไฟขนส่ง เข้ามาระบาดอยู่ในประเทศไทย ผู้เขียนก็มีโอกาสไป กรุงวอชิงตัน ดีซี. ได้ไปเห็นระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว เขาคุยว่า เป็นระบบขนส่งมวลชน ซึ่งดีที่สุดในโลก เห็นแล้วก็ต้องรำพึงว่า นี่เราถูกหลอกอีกแล้วหรือนี่ เขาทำรถไฟใต้ดินอย่างดี ให้คนของเขาใช้ รัฐบาลร่วมลงทุน ออกค่าก่อสร้าง เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อวิ่งรถแล้วขาดทุน ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้อีกด้วย แต่คนของเขาก็มาบอกพวกเราว่า อย่างนี้อย่าทำเลย เป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เราก็เชื่อเขา
ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจึงรู้ว่า เมืองนิวยอร์คใช้รถไฟขนส่งคนอยู่ 72 % ของคนที่เดินทาง และอเมริกาทั้งประเทศ ใช้รถไฟขนสินค้าอยู่มากถึง 35 % ของปริมาณสินค้าที่ขนส่งในประเทศ
......................................................
หมายเหตุ * ต้องขอประทานโทษที่ผมจำผิดไป ความจริง โนโซมิ แปลว่า ความหวัง (Hope) ส่วนที่แปลว่า Snow Flake หรือ เกล็ดหิมะ มีที่มาอย่างแน่นอน เพียงแต่ยังหาที่อ้างอิงไม่พบ ดังนั้นที่เขียนผิดไว้ตั้งแต่ต้น จึงขอแก้ไขด้วย |