ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ ได้แผ่อิทธิพลเข้ายึดครองประเทศในแถบอินโดจีน และมีแผน ที่จะเข้ายึดครองดินแดนไทย ให้เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตัดสินพระทัย ให้สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพ ถึงนครราชสีมา เพื่อให้เป็นเส้นทางการคมนาคม และใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง กรมรถไฟ (Thai State Railways) ขึ้น ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2433 และให้ มิสเตอร์ เค. เบทเก ชาวเยอรมันเป็นเจ้ากรมรถไฟคนแรก ภายใต้ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ (กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา) ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 (ร.ศ.110) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนิน มาทรงประกอบพระราชพิธีทำพระฤกษ์ และทรงขุดดินประเดิมทางรถไฟ เพื่อเริ่มก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพนครราชสีมา บริเวณย่านสถานีหัวลำโพงในปัจจุบัน และทรงเปิดดำเนินการ ให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง สถานีกรุงเทพกรุงเก่า (อยุธยา) ซึ่งเป็นระยะทาง 71 กม.ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 (ร.ศ.115) เป็นต้นมา
ตั๋วหนาที่ใช้ในอดีต เป็นไปตาม มาตรฐาน Edmonson คือ ต้องมีความหนาระหว่าง 0.6 - 0.8 มม. กว้าง 30.5 มม. และ ยาว 57 มม. ผิวหน้าหลังตั๋วต้องซับซึมหมึกชัดเจนเรียบลื่น และมีความแข็งเพียงพอ ไม่หักงอขณะพิมพ์ โดยตั๋วหนาที่ใช้สมัยก่อน เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
เนื่องจากมีผู้เสนอขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ที่มีราคาต่ำกว่า แต่คุณภาพเท่าเทียมของต่างประเทศ แรกๆ ก็มีผู้ขายเพียงรายเดียว ต่อมาระยะหลัง มีผู้ขายเพิ่มขึ้นเป็นหลายราย ทำให้เกิดการแข่งขันกันด้วยราคา เนื่องจากทางการรถไฟฯ ได้มีการกำหนดพิจารณา โดยใช้ราคาต่ำเป็นเกณฑ์ จึงทำให้ผู้ขาย ได้ลดคุณภาพตั๋วลง
สันนิษฐานว่า ต้นแบบของตั๋วหนา นำมาจากประเทศเยอรมันนี เพราะในอดีตต้องสั่งตั๋วหนานำเข้ามาจากยุโรป แม้แต่การรถไฟของประเทศมาเลเซีย (รฟม.) ก็มีตั๋วหนาขนาดเดียวกับของเราเช่นกัน โดยแรกเริ่มสีของตั๋วหนา จะบ่งบอกถึงชั้นที่นั่งของตั๋ว เช่น ชั้นที่ 1 ใช้ตั๋วหนาสีเหลือง ส่วน ชั้นที่ 2 ใช้ตั๋วหนาสีเขียว และ ชั้นที่ 3 ใช้ตั๋วหนาสีส้ม โดยมีลักษณะเด่น ของตั๋วทุกใบจะมีการพิมพ์คำว่า The State Railway of Thailand ติดต่อกันเต็มด้านหน้าของของตั๋ว เพื่อกันการปลอมของตั๋วเหมือนการพิมพ์ธนบัตร
กรมรถไฟฯ ได้สั่งซื้อเครื่องพิมพ์ตั๋วรุ่น G.Goebel Masch No.781, 1219 ประเทศเยอรมันนี และได้ขึ้นบัญชีไว้ เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2494 โดยได้ให้จัดพิมพ์ตั๋วหนาภายในประเทศ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาได้สั่งซื้อเครื่องพิมพ์ตั๋ว Kunitomo No. 1205, 1216 จากประเทศญี่ปุ่น และขึ้นบัญชีเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2497 และได้สั่งซื้อเครื่องพิมพ์ตั๋วรุ่น G. Goebel Masch No.1384, 1385 Mod. FDO. เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2519 เพื่อทดแทนเครื่องเดิม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 การรถไฟฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตั๋วใหม่ มาให้บริการประชาชน โดยออกตั๋วด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แบบสมัยใหม่ โดยใช้ควบคู่กับตั๋วหนา เนื่องจากสถานีที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็คงให้ใช้ตั๋วหนา จนกระทั่ง ทุกสถานีมีคอมพิวเตอร์ใช้ แล้วจึงค่อยยกเลิกการใช้ตั๋วหนา
การรถไฟฯ มีแผนกพิมพ์ตั๋วโดยสารและเอกสารการเงิน ที่ฝ่ายการเงินและการบัญชี โดยมีตั๋วหนาสีต่างๆ และมีลายหลายแบบ เช่น ตั๋วสีฟ้า ตั๋วสีขาวทแยงมุมเขียว ตั๋วสีเหลือง ตั๋วสีเหลืองคาดส้มวงกลมขาว ตั๋วสีชมพู ตั๋วลดครึ่งราคาชั้นสาม และมีการลดราคาแบบลดขาดหรือลดไม่ขาด
"การลดขาด" หมายถึง ตั๋วที่การรถไฟฯ ลดให้โดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ ได้แก่ ครฟ. ผอ. และเด็ก ส่วน "การลดไม่ขาด" หมายถึง ตั๋วที่การรถไฟ ได้รับเงินชดเชย จากรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่น ที่มีการตกลงร่วมกับการรถไฟฯ
แรกเริ่มมีการแบ่งตั๋วแยกกัน ระหว่างค่าโดยสารและค่าธรรมเนียม โดยมีตั๋วหนาค่าธรรมเนียมรถเร็ว 20 บาท ตั๋วหนาค่าธรรมเนียมรถด่วน 30 บาท และ ตั๋วหนาค่าธรรมเนียมรถปรับอากาศ 50 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 มีการรวมค่าธรรมเนียมรถด่วนหรือรถเร็ว ค่าธรรมเนียมรถด่วนรถปรับอากาศ เข้ากับค่าโดยสารเป็นตั๋วใบเดียวเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร ไม่ต้องถือตั๋วหลายใบ และเป็นการลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย เช่น ตั๋วหนา กรุงเทพ-นครสวรรค์ ชั้น 3 รวม ค่าธรรมเนียมรถเร็ว เป็นเงิน 68 บาท ต่อมา เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2525 ได้มีการกำหนดระเบียบใหม่ ในการพิมพ์ตั๋วหนาเที่ยวเดียวรวมค่าธรรมเนียมต่างๆขึ้นใหม่
ก่อนปี พ.ศ. 2529 ตามสถานีต่างๆ ยังมีการจำหน่ายตั๋วครึ่งราคา โดยวิธีตัดครึ่งตั๋วหนา ทำให้การจำหน่ายตั๋ว ไม่สะดวกรวดเร็ว และทำให้เกิดความยุ่งยากทางบัญชี จึงได้มีการกำหนดตั๋วครึ่งราคาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ประเภท "ลดค่าโดยสารขาด" และ "ลดค่าโดยสารไม่ขาด" โดยมีการกำหนดสีของตั๋ว และเครื่องหมายสังเกต แตกต่างจากตั๋วหนาทั่วไป เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 โดยกำหนดพิมพ์บนตั๋วหนาเที่ยวเดียวว่า ครึ่งราคา ครฟ. และเด็ก มีเฉพาะชั้นที่ 2 เป็นสีฟ้า ส่วนชั้น 3 เป็นสีชมพู
ปี พ.ศ. 2529 เสนอให้นำตั๋วสีขาวทแยงส้มพิมพ์เป็นตั๋วไป-กลับ แทนการพิมพ์ตั๋วสีขาวคาดน้ำเงิน (ฟ้า) หลังจากนั้นมีการยกเลิก การพิมพ์ตั๋วเป็นตั๋วไป-กลับ ให้ใช้พิมพ์ตั๋วสีขาวทแยงส้ม เป็นตั๋วราคาพิเศษรวมค่าธรรมเนียมรถเร็วชั้น 3 เช่น ด้านหน้าตั๋ว กำหนดพิมพ์ กรุงเทพ- พิษณุโลก ราคาพิเศษรวมค่าธรรมเนียมรถเร็ว ชั้นที่ 3 ราคา 80 บาท ด้านหลังตั๋ว พิมพ์ ใช้กับขบวนธรรมดาไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมรถเร็วให้ คันที่.........เลขที่นั่ง............ ต่อมา มีการร้องเรียนจากประชาชนที่ต้องการให้มีตั๋วไป-กลับ เพื่อสะดวกแก่การโดยสารสำหรับระยะทางไม่เกิน 100 กม. ฝ่ายการเดินรถพิจารณาแล้ว จึงให้พิมพ์ตั๋วไป-กลับ ขึ้นใหม่ โดยใช้ตั๋วสีขาวคาดเหลือง ต่อมามีตั๋วสีบางชนิดค้างสต็อก เช่น ตั๋วสีขาวคาดเหลือง ตั๋วสีขาวทแยงมุมส้ม จึงได้นำมาพิมพ์เป็นตั๋วไปกลับจนกว่า จะมีการสั่งซื้อใหม่
การลดค่าโดยสารไม่ขาด หรือการลดค่าโดยสารขาด จะมีสีของตั๋วและเครื่องหมายสังเกต แตกต่างไปจากตั๋วหนาทั่วไป ชั้นสองใช้สีฟ้า ชั้นสามใช้สีชมพู เช่นตั๋วหนาเที่ยวเดียวพิมพ์ว่า "ครึ่งราคา ครฟ. และเด็ก" มีเฉพาะชั้นที่สองและสามเท่านั้น ส่วนการจำหน่ายตั๋วผู้โดยสารต้องมีบัตร ครฟ. มาแสดงหรือเด็กที่มีความสูงอยู่ในเกณฑ์เสียค่าโดยสารครึ่งราคา
|