Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311317
ทั่วไป:13281560
ทั้งหมด:13592877
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าว รฟท จาก หนังสือพิมพ์
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 274, 275, 276 ... 475, 476, 477  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 17/05/2016 5:59 pm    Post subject: Reply with quote

คุ้มค่า 'เสี่ยงตาย' เส้นทาง 'รถไฟสายมรณะ' กาญจนบุรี
โดย ไทยรัฐออนไลน์
17 พฤษภาคม 2559 เวลา 06:05


นานๆ จะออกนอกเมืองสักที เธอบอกผมแบบนั้น จุดมุ่งหมาย คือ การชมวิว เส้นทางรถไฟสายมรณะ จริงๆ คือ สถานีถ้ำกระแซ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ทางรถไฟเก๋ตรงที่ทอดยาวข้ามแม่น้ำ คล้ายสะพานแขวน เลียบกับชะง่อนเขา

เธอเล่าอย่างออกรสว่า คนพื้นที่เล่าว่ารถไฟจะมาวันละ 2 รอบ เช้า-เที่ยง นาฬิกาข้อมือบอกเวลา 11 นาฬิกา รถไฟยังไม่มา จึงตัดสินใจเดินไต่รางรถไฟหวังจะไปถ่ายรูปสวยๆ แต่แล้ววินาทีหวาดเสียวก็เริ่มขึ้น เมื่อสองเท้าต้องก้าวไปตามร่องไม้หมอนที่เว้นระยะห่างๆ พอที่ตัวคนจะลอดหล่นไปได้ 2 ตาต้องจ้องเป้าหมายอย่าให้พลาด บางช่วงมีแผ่นเหล็กรองไว้ให้แต่ไร้หมุดใดๆ ตรึง ระยะทาง 400 เมตร รู้สึกเหมือนไกลมากๆ

"ระหว่างที่กำลังลุ้นให้เดินถึงปลายทางอย่างใจจดใจจ่อ จู่ๆ คนงานตะโกน 'รถไฟมา' ตอนนั้นตกใจและหันไปถามย้ำเพราะยังไม่ถึงเวลา จึงรีบเดินแต่ก็อยากได้ภาพสวยๆ สุดท้ายเดินหาที่หลบรถไฟได้ แถมยังคว้ามือถือขึ้นมากดรัวๆ เก็บภาพรถไฟที่วิ่งเข้ามาใกล้ๆ ก่อนเข้าไปกราบพระในถ้ำกระแซ ขากลับมีให้ลุ้นอีกรอบ จู่ๆ รถไฟก็มาอีกครั้ง คราวนี้เราอยู่ในที่ปลอดภัย ถ่ายภาพรัวๆ ให้คุ้มกับเหงื่อที่เสียไป ก่อนเดินฝ่าเปลวแดด และลุ้นกับการก้าวข้ามไม้หมอนกลับอีกรอบ"

ภาพเล่าเรื่องสัปดาห์นี้ 'กาญจนา ปลื้มจิตต์' สาวเก่งจากไทยรัฐทีวี เก็บภาพและเรื่องราวน่ารักมาฝากกัน เป็นภาพสวยงามและน่าเดินทางไปเก็บประสบการณ์ เก็บภาพเป็นเรื่องราวความประทับใจเก็บใส่กระเป๋า เก็บลงหัวใจของใครของมันกัน.

รู้ไว้ใช่ว่า

เส้นทางรถไฟสายมรณะเริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่ประเทศพม่า ทางรถไฟสายมรณะมีความยาวราวๆ 415 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟอยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 37 สถานี

ทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้แรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้าง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก ระยะทางจากสถานีกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตก เป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเดินรถบนเส้นทางนี้ทุกวัน และจัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ - น้ำตก ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ จุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากคือ ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแคว และช่วงโค้งมรณะหรือถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นสะพานโค้งเลียบแม่น้ำแควน้อย ยาวประมาณ 400 เมตร
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/05/2016 8:54 pm    Post subject: Reply with quote

ศาลสั่งคุก2ปีพนักงานตรวจตั๋ว หื่นนศ.สาวบนรถไฟ-ญาติฟ้อง1ล.
เดลินิวส์ วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559 เวลา 16:40 น.

ศาลสั่งคุก2ปีพนักงานตรวจตั๋ว หื่นนศ.สาวบนรถไฟ-ญาติฟ้อง1ล. ศาลสั่งจำคุก 2 ปี พนักงานตรวจตั๋วบนรถไฟทำอนาจาร-กักขังหน่วงเหนียวนักศึกสาว อายุ 16 ปี บนรถไฟ รับสารภาพ ศาลปราณีให้กลับตัวลดโทษ 1 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ครอบครัวผู้เสียหายฟ้องแพ่งเรียก 1 ล้าน

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ ศาลจังหวัดหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร นายปราโมทย์ ศรีสุข ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ออกนั่งบังลังค์ อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีเลขที่ อ.586/59 ระหว่างพนักงานอัยการโจทก์ กับ นายสุเมธ ทองไตรภพ จำเลย ในข้อหาทำอนาจารผู้เยาว์อายุเกินกว่า 15 ปี โดย นายสุเมธ ซึ่งเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้การรับสารภาพว่า ได้ทำอนาจารแก่ น.ส.อวบ อายุ 16 ปี นศ.ระดับอาชีวะ แห่งหนึ่งใน จ.ชุมพร จริง ต่อมานายสุเมธได้บรรเทาความเสียหาย ด้วยการนำเงินมาวางศาล 1 แสนบาท ศาลตัดสินว่า นายสุเมธ กระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร จำคุก 1 ปี ปรับ 6 พันบาท ความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวจำคุก1 ปี ปรับ 6 พันบาท รวมจำคุกจำเลย 2 ปี ปรับ 12,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ และ ไม่เคยทำความผิดมาก่อน สมควรให้กลับตัวเป็นพลเมืองดี ลดโทษจำคุกเหลือ1 ปี ปรับ 6 พัน บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และ คุมประพฤติ 1 ปี ค่าเสียหายที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อบรรเทาความเสียหายให้ผู้เสียหายรับไป ส่วนจะเรียกค่าเสียหายเพิ่มอีกให้ ผู้เสียหายไปฟ้องแพ่งเอง

คดีดังกล่าวเกิดเมื่อ วันที่ 26 ก.ย.2558 เมื่อ พ.ต.ท.พัฒนา กองช่าง พงส.ผนพ. สภ.สวี อ.สวี จ.ชุมพร เชิญ เด็กสาว อายุ 15 ปี ชาว ต.นาสัก อ.สวี จ.ชุมพร พร้อมด้วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง มาสอบปากคำเพิ่มเติม จากกรณีอ้างว่า ถูกพนักงานตรวจตั๋วบนรถไฟทำอนาจาร กักขังหน่วงเหนี่ยว บนตู้โดยสารขบวนรถไฟ ธนบุรี-หลังสวน ซึ่งผู้เสียหายเป็นนักศึกษา ปวช.วิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่ง ใน จ.ชุมพร ให้การว่า"เมื่อวันพุธที่ 23 ก.ย. เวลา 18.00 น. หลังจากเลิกเรียนได้ขึ้นรถไฟขบวนธนบุรี-หลังสวน ที่สถานีชุมพร เพื่อไปลงยังสถานีเขาสวนทุเรียน อ.สวี จ.ชุมพรต่อมาได้ มีนายสุเมธ ทองไตรภพ พนักงานตรวจตั๋วอายุ 53 ปี ได้เดินมาตรวจตั๋ว หลังจากนั้นได้ทำอนาจาร ด้วยการกอดจูบลูบตามร่างกาย และกีดกันไม่ให้ น.ศ.สาวลงรถไฟที่สถานีก่อนถึงปลายทาง ต่อมานักศึกษาและครอบครัว เข้าแจ้งความกับ ตร.สภ.สวี และ พนักงานรถไฟคนดังกล่าวพยายามขอไกล่เกลี่ย แต่ครอบครัวของนักศึกษาไม่ยอมพร้อมกับมาให้ปากคำรายละเอียดแก่ตำรวจในวันนี้เพื่อให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด จนกระทั่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในวันนี้

ต่อมาครอบครัวของ น.ส.อวบ ได้เดินทางเข้าพบ นายวีรยุทธ วิริยะวัฒน์ ทนายความเพื่อยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสีย 1 ล้านบาท ต่อไป.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 18/05/2016 2:31 am    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
ร.ฟ.ท.ทุ่มงบ1.7แสนลบ. ยกเครื่องแผนลงทุนโครงสร้างใหม่
by บุญญิสา เพ็งบุญมา
Voice TV
16 พฤษภาคม 2559 เวลา 22:25 น.


คค.รีวิว Action Plan 1.79 ลล. เพิ่มรถไฟฟ้า-ทางคู่สายใหม่กว่า 9 หมื่นล้าน ลงทุนในปี 60
โดย MGR Online
17 พฤษภาคม 2559 18:27 น. (แก้ไขล่าสุด 17 พฤษภาคม 2559 23:44 น.)

“อาคม” สั่งปรับแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559-2560 เพิ่มรถไฟฟ้าสีเขียวต่อขยายด้านเหนือและใต้ ด้านละ 4 สถานี และรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม ชี้โครงการพร้อมนำเสนอ ครม.ขออนุมัติเดินหน้าลงทุน และใช้ ม.44 เร่งประมูลคู่ขนานได้ พร้อมสั่ง ร.ฟ.ท.ทำแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้สอดคล้องกับ Action Plan คมนาคม หลังแผนลงทุนรถไฟ 1.7 แสนล้านเดิมได้งบจริงเพียง 5 หมื่นล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมปรับปรุงแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559-2560 ที่มีจำนวน 20 โครงการ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีหลายโครงการที่ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้ว และบางโครงการรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับการอนุมติแล้ว จึงเห็นว่าสามารถเร่งรัดผลักดันให้ลงทุนโครงการต่อเนื่องได้เพิ่มเติม ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. วงเงินลงทุน 13,701.21 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม. วงเงินลงทุน 11,989.33 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายสายสีเขียวออกไปด้านละ 4 สถานี และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม. วงเงินประมาณ 66,000 ล้านบาท

โดยเป็นโครงการที่ศึกษาเสร็จแล้วพร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการ และดำเนินโครงการในปี 2559-2560 โดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.มาตรา 44 ที่ให้ เรื่องการดำเนินการด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คู่ขนานไป โดยให้ปรับ Action Plan ภายใน 1-2 เดือน

ทั้งนี้ 20 โครงการใน Action Plan ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559-2560 เดิมมีวงเงินลงทุนรวม 1.796 ล้านล้านบาท โดยความร่วมมือไทย-จีน โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทาง หนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ศรีราชา-มาบตาพุด วงเงิน 369,148 ล้านบาท ต่อมาปรับเป็นรถไฟความเร็วสูง และก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาก่อน คาดว่าเงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และเมื่อเพิ่มงานอีก 3 โครงการ วงเงินกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท วงเงิน Action Plan รวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปรับปรุงแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และสอดคล้องกับแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) คมนาคมขนส่งปี 2559-2560 เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ และเป็นโครงการต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัด และแผนดังกล่าวจะเป็นกรอบในการขอรับการจัดสรรงบประมาณของ ร.ฟ.ท. รวมถึงการบรรจุโครงการไว้ในแผนด้านเงินกู้ของกระทรวงการคลังต่อไป

ทั้งนี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2553 เห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท. ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 วงเงินลงทุนรวม 176,808.28 ล้านบาท ร.ฟ.ท.ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ภายในประเทศ และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมแล้วจำนวน 50,888.44 ล้านบาท โดยได้เบิกจ่ายไปแล้วเป็นเงิน 41,809.99 ล้านบาท หรือ 82.16% ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร

โดยในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางความกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) 7 โครงการ คือ 6 โครงการเดิม ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, นครปฐม-หัวหิน, มาบกะเบา-ชุมทางจิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ และเพิ่มอีก 1 เส้นทาง คือ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) เพื่อให้เส้นทางลงภาคใต้ครบสมบูรณ์

พร้อมกับให้นำโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายบรรจุไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท.ใหม่ด้วย ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท, รถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. และรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กม. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 22/05/2016 8:26 pm    Post subject: Reply with quote

ลุ้นร.ฟ.ท.ทุ่ม5หมื่นล.รถไฟฟ้าขนสินค้าขอนแก่น-แหลมฉบัง
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ....
บอร์ดร.ฟ.ท.ตีกลับผลศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุนรถไฟขนส่งสินค้า ขอนแก่น-แหลมฉบัง กว่า 500 กม. คาดใช้งบไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้าน ใช้รถ 4 ขบวนต่อวัน ตั้งเป้าขนได้กว่า 3.8 ล้านตัน/ปี หลังกลุ่มทีพีไอ โพลีน นำร่องเจ้าแรกเสนอแผนจัดซื้อหัวรถจักร จำนวน 12 คัน ใช้ขนปูนซีเมนต์กระจายไปคลังไซโลและศูนย์จ่ายปูนซีเมนต์ทั่วประเทศ ล่าสุดเตรียมลงนามเอ็มโอยูกับกทท.เร่งขับเคลื่อนโครงการ ด้านบิ๊กบีทีเอสยังตามลุ้นจ้องลงทุนเดินรถเส้นทางนี้

นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย ว่าการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาได้ส่งเรื่องการศึกษาวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ในการขนส่งสินค้าทางรถไฟทางคู่เส้นทาง ขอนแก่น-แหลมฉบัง ระยะทาง 516 กิโลเมตร โดยใช้รถระบบรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการในเส้นทางนี้คืนให้กับร.ฟ.ท.เพื่อให้กลับไปทบทวนข้อมูลต่างๆ ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน อาทิ ปริมาณสินค้า และจำนวนขบวนรถที่จะนำไปใช้บริการ ตลอดจนกรอบวงเงินลงทุนและต้นทุนดำเนินโครงการให้ชัดเจน

"วัตถุประสงค์เพื่อประหยัดการลงทุนของภาครัฐจึงต้องนำเสนอเข้าสู่พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 โดยได้มีการศึกษารองรับไว้หลายรูปแบบแต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) จะพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป โครงการดังกล่าวนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นอีกโครงการที่เปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางภาคอีสาน โดยได้ส่งเรื่องคืนให้ร.ฟ.ท.ปรับปรุงข้อมูลให้ชัดเจน อาทิ ข้อมูลในการลงทุน ผลประ โยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับรวมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าการลงทุน ฯลฯ เพื่อจะได้นำเสนอให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ต่อไป" ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนี้ไม่ได้ถือเป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมาลงทุนแข่งขันขนส่งสินค้ากับร.ฟ.ท. แต่ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ประการสำคัญหากรัฐต้องลงทุนมหาศาลปัจจุบันนี้ภาครัฐยังไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะหลายโครงการที่เกิดขึ้นพร้อมกันก็จะเกิดไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยการลงทุนจำนวนมหาศาลนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนพีพีพี โดยอาจจะใช้เส้นทางร่วมกัน ส่วนการบริหารจัดการและควบคุมการเดินรถ ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่นเดียวกับกรณีที่ปตท.และปูนทีพีไอใช้บริการของร.ฟ.ท.ในปัจจุบัน "ล่าสุดนั้นยังได้หารือร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)เพื่อร่วมกันขนส่งสินค้าป้อนให้กับท่าเรือแหลมฉบัง (ทฉบ.) ด้วยรถไฟเนื่องจากปัจจุบัน ทฉบ.สามารถรองรับสินค้าได้จำนวนมากจากกรณีการพัฒนาพื้นที่เฟสต่างๆ โดยจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกันอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.เร่งเตรียมหัวรถจักรและแคร่ให้พร้อมใช้ขนส่งสินค้าป้อนให้กับท่าเรือแหลมฉบัง และจะส่งเสริมให้มีการขนส่งสินค้าผ่านทางระบบรถไฟให้มากขึ้นเพื่อลดความแออัดในเขตพื้นที่แหลมฉบังนั่นเอง" ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ก่อนที่จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาที่คาดว่าจะต้องมีการหารือในรายละเอียดต่างๆ อีกมาก ซึ่งบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหา ชน) ถือเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของประเทศที่สามารถจัดซื้อหัวรถจักรมาใช้ในกิจการของบริษัท จำนวนทั้งสิ้น 12 หัว และจัดทีมงานทำหน้าที่ซ่อมบำรุงรักษาหัวรถจักร เป็นลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าปูนซีเมนต์ทางรถไฟมายาวนาน กว่า 20 ปี และได้ลงทุนจัดหารถแคร่บรรทุกปูนซีเมนต์จำนวน 490 คัน พร้อมการซ่อมบำรุงรักษาเองมาใช้ในการขนส่งสินค้าจากโรงงานปูนซีเมนต์ที่สถานีหินลับ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ไปยังคลัง/ไซโล และศูนย์จ่ายต่างๆ ในเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ คาดว่าจะขนส่งได้ประมาณปีละ 3 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ปีละกว่า 220 ล้านบาท และยังมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรถไฟจากปัจจุบัน 7% เป็น 20% ของกำลังการผลิตของบริษัทในอนาคต นอกจากนี้ยังได้เช่าที่ดินของร.ฟ.ท.ก่อสร้างคลัง/ไซโลและศูนย์จ่ายของบริษัท รองรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟ สร้างรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท.ปีละกว่า 150 ล้านบาท "โดยตามแผนจะนำรถจักรมาใช้ในการขนส่งสินค้าเองบนเส้นทางของร.ฟ.ท.ก็จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือ ร.ฟ.ท.ได้ผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทีพีไอก็จะได้เพิ่มบริการขนส่งสินค้าประเภทต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นการเริ่มต้นนำร่องโครงการ อันจะนำไปสู่การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ดี" ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าบีทีเอสจุดประกายเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนด้านการขนส่งสินค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือเส้นทางนี้มีความเป็นไปได้มากในการลงทุน อีกทั้ง ร.ฟ.ท.ก่อสร้างมาแล้วหลายช่วง ประการสำคัญจากที่ได้สอบถามผู้ประกอบการผลิตสินค้าหลายรายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล้วนแสดงความสนใจ ซึ่งเส้นทางนี้ภาครัฐควรลงทุนงานด้านโครง สร้างพื้นฐานซึ่งเอกชนสามารถลงทุนให้ก่อนแล้วภาครัฐชดเชยให้ในภายหลัง แต่อย่างไรก็ตามขอรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนจากภาครัฐก่อนตัดสินใจอีกครั้ง ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางขอนแก่นท่าเรือแหลมฉบัง พบว่ามีกรอบวงเงินลงทุนทั้งโครงการคาดว่าไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ระยะทางรวมประมาณ 516 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถก่อ สร้างและเปิดให้บริการในปี 2565 ออกแบบให้ใช้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลระบบจ่ายไฟฟ้าผ่านบนหลังคารถแบบเดียวกับรถไฟฟ้าของมาเลเซีย เบื้องต้นจะใช้ 4 ขบวนรถให้บริการโดยขนสินค้าได้กว่า 3.8 ล้านตัน/ในปี 2565 มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ 15.62% โดยเตรียมเสนอแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุน 5 แนวทางวิเคราะห์ดังนี้คือ 1.เอกชนลงทุนในอู่จอดและซ่อมบำรุง ส่วนภาครัฐลงทุนงานทาง ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2.รูปแบบ Net Cost Concession จะก่อให้เกิดต้นทุนดำเนินการของภาครัฐน้อยที่สุด 3.ระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุน 60 ปี จะให้ประโยชน์ต่อ ร.ฟ.ท.ในระยะยาวและสามารถดึงดูดภาคเอกชนให้มาลงทุนได้ 4. ร.ฟ.ท. ไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการลงทุน การลงทุนต้องใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้หรืองบประมาณรัฐบาลเท่านั้น และ 5.กระแสเงินสดจากส่วนแบ่งรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ของร.ฟ.ท. โดยร.ฟ.ท.สามารถรับภาระลงทุนไม่เกิน 70% ของเงินลงทุนระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ที่มา
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 24/05/2016 1:27 am    Post subject: Reply with quote

รฟท. โดนเรียกคืนงบประมาณ เพราะสั่งการล่าช้าหลายรายการ
http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/d052659-01-1.pdf
http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/d052659-01-5.pdf
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 24/05/2016 11:22 am    Post subject: Reply with quote

คมนาคมรื้อแผนรถไฟ 1.76 แสนล้าน เพิ่ม "ทางคู่-ไฮสปีด" งบลงทุนบาน 1 ล้าน ล.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
24 พฤษภาคม 2559 เวลา 07:00:43 น.

เมื่อ "ระบบราง" กลายเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ ทำให้ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ที่รับหน้าเสื่อในการรันโครงการ ต้องปรับแผนลงทุนและโปรเจ็กต์ใหม่ให้สอดคล้องนโยบายรัฐบาล

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงทุนของ ร.ฟ.ท.จะปรับเพิ่มกรอบวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากเดิมมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 เม.ย. 2553 อนุมัติไว้ 176,888 ล้านบาท เป็นแผนเร่งด่วนปี 2553-2557 มีแก้ปัญหาจุดตัด ปรับปรุงทางรถไฟ ซื้อหัวรถจักร ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ สร้างรถไฟทางคู่ ซื้อขบวนรถต่าง ๆ เนื่องจากเป็นแผนการลงทุนที่กำหนดไว้นานแล้ว และในขณะนั้นยังไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูง จึงต้องปรับรายละเอียดโครงการและกรอบวงเงินใหม่

"เดิมในแผนเร่งด่วนปี′53 ไม่มีแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ จึงให้ ร.ฟ.ท.เปลี่ยนแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท.เป็นปี 2558-2564 และให้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ของสภาพัฒน์"

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับกรอบแผนงานใหม่ยังคงเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง ได้แก่ สายฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, มาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ให้แล้วเสร็จในปี 2562-2563 ตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้ให้ความเห็นให้เพิ่มเส้นทางที่ขาดช่วงทางภาคใต้คือ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ เข้ามาบรรจุในแผนเร่งด่วนปี 2559-2560 เพื่อไม่ให้เส้นทางขาดช่วง

นอกจากนี้ยังให้ ร.ฟ.ท.นำโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง เงินลงทุนรวม 850,669 ล้านบาท ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และรถไฟทางคู่สายใหม่จากบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 กม. เงินลงทุน 42,106 ล้านบาท ใส่เข้าไปในแผนลงทุนที่ระยะเร่งด่วนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ใช้มาตรา 44 ดำเนินการคู่ขนานไปกับการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า คาดว่าแผนลงทุนใหม่ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่ให้รวมทางคู่สายใหม่และรถไฟความเร็วสูงไปด้วย เมื่อรวมกับแผนลงทุนเดิมคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในแผนลงทุนเร่งด่วน ที่ผ่านมาได้ปรับกรอบวงเงินลงทุน 3 โครงการใหม่ คือ 1.ปรับปรุงทางรถไฟไม่ปลอดภัย เพิ่มวงเงิน 2 เส้นทาง รวม 657.18 ล้านบาท จากเดิม 23,670.75 ล้านบาท เป็น 24,727.93 ล้านบาท ได้แก่ สถานีสามเสน-ดอนเมือง 29.6 กม. และสถานีหลักสี่-ที่หยุดรถคลองรังสิต 13.96 กม.

2.โครงการรถจักรแก่งคอย ขอปรับวงเงินจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 1,826.50 ล้านบาท หลังปรับแบบรายละเอียด เช่น สร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทนทางรถเดิมที่ยกเลิก และ 3.ชะลอก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ ICD แห่งที่ 2 วงเงิน 6,066 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น รถไฟทางคู่ สายฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย และจิระ-ขอนแก่น, จัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คัน จะส่งมอบรถลอตแรกในเดือน พ.ค.นี้, ซื้อหัวรถจักร 20 คัน, ปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 11 เส้นทาง กำลังดำเนินการ 10 เส้นทาง,ปรับปรุงสะพานแล้ว 192 แห่ง กำลังดำเนินการ 109 แห่ง ติดตั้งเครื่องกั้นถนน 392 แห่ง จากทั้งหมด 1,284 แห่ง

สำหรับโครงการจะเปิดประมูลใหม่ เช่น จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าเพื่อทดแทนรถ GE 50 คัน, ซ่อมบูรณะรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตอมจำนวน 56 คัน ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วประเทศ เป็นต้น

เป็นความก้าวหน้าที่ "ร.ฟ.ท." ใช้เวลาผลักดันในห้วง 6 ปีที่ผ่านมา
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 24/05/2016 5:53 pm    Post subject: Reply with quote

การรถไฟยึดกรอบปี59 เมกะโปรเจ็กต์ต้องเซ็นสัญญา-ก่อสร้าง
โดย ฐานเศรษฐกิจ -
ออนไลน์เมื่อ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ตีพืมพ์ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 – 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การรถไฟยึดกรอบปี59 เมกะโปรเจ็กต์ต้องเซ็นสัญญา-ก่อสร้าง
ตามที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดยุทธ์ศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งนั้น ระบบรางจัดเป็นโครงการที่มีสัดส่วนการลงทุนก้อนใหญ่ โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทยมีบทบาทอย่างมาก ตรงที่มีการลงทุนโครงการใหม่ๆพาดผ่านทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น คิดแล้วมูลค่าการลงทุนของการรถไฟฯตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 รวมกันกว่า 3.6 แสนล้านบาท “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถึงความคืบหน้าภารกิจสนองนโยบายรัฐบาล

เร่งรถไฟทางคู่ 4+1 เป็นไปตามแผนรัฐบาล

ตามแผน ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินการโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามกรอบระยะเวลาคือภายในปี 2559 ประกอบด้วยโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน และโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ต้องพยายามขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลอยากเห็น เพราะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

โดยการรถไฟฯมีโครงการรถไฟทางคู่เร่งด่วนอยู่ทั้งสิ้น 6 เส้นทาง ดำเนินการไปแล้ว 2 เส้นทางคือ ช่วงคลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงจิระ-ขอนแก่น ส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 4 เส้นทาง ซึ่งจะต้องหาผู้รับจ้าง (เซ็นสัญญา) และลงมือก่อสร้างให้ได้ในปี 2559 ได้แก่ ช่วงมาบกะเบา-จิระ, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, นครปฐม-หัวหิน และ ลพบุรี-ปากน้ำโพ กับอีกหนึ่งเส้นทาง หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอาศัยมาตรา 44 ให้ดำเนินการในระหว่างการรอผลรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพื่อให้ได้ตัวผู้รับจ้าง แต่จะลงนามในสัญญาต่อเมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม

ดันโครงการเข้าคณะกรรมการคุณธรรม

เมื่อโครงการของการรถไฟมีจำนวนค่อนข้างมาก และแต่ละโครงการก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง ก็จะมีคำถามในสังคมเกี่ยวกับความโปร่งใส สำหรับผู้ที่ได้รับการว่าจ้างก็ไม่มีปัญหา แต่ผู้ที่ไม่ได้ก็อาจจะบอกว่าไม่โปร่งใส ดังนั้น คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. และการรถไฟฯ มีความเห็นร่วมกันว่า 5 โครงการรถไฟทางคู่ที่จะต้องเร่งดำเนินให้แล้วเสร็จในปี 2559 จะนำเข้าสู่ระบบโครงการคุณธรรม เพื่อลดข้อครหาว่า การรถไฟฯ ทำเอง รู้กันเอง เพราะโครงสร้างของโครงการคุณธรรมนอกจาก ผมที่เป็นประธานแล้ว ยังมีภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมพอสมควร เช่น ภาคประชาชน ด้านองค์กรด้านคอร์รัปชั่นเข้ามาร่วมในโครงการนี้

เนื่องจากการรถไฟมีกรอบการดำเนินงานอยู่ ดังนั้น หากมีโครงการใดที่มีประชาชนตั้งข้อสงสัยว่าจะไม่โปร่งใส ก็คงจะต้องประชุมมากกว่าปกติจนกว่าจะจบ โดยจะยึดถือกรอบว่าภายในเดือนธันวาคม 2559 ทุกอย่างจะต้องดำเนินการได้หมด

“ผมคาดหวังว่าทุกโครงการจะสามารถคิกออฟได้ในเดือนธันวาคมนี้ เพราะขณะนี้เรามีเวลา 7 เดือนสำหรับการดำเนินการ ผมฝันว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ต้องมีการลงนามในสัญญาต่างๆบ้างแล้ว”

เมื่อนำร่อง 5 โครงการ ทำได้ เกิดการยอมรับ โครงการใหม่อื่นๆที่จะออกตามมา จะทำแบบเดียวกัน หากการทำงานมีมาตรฐานเดียวกันเชื่อว่าน่าจะทำให้สามารถลดข้อครหาลงไปได้บ้าง

หวังเสริมแกร่งโลจิสติกส์ระบบราง

วันนี้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่จะขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์ และการรถไฟก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน โดย 60% เป็นเรื่องการขนส่ง และ 40% เป็นการให้บริการโดยสาร ดังนั้น โครงการรถไฟทางคู่ ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของการรถไฟ หลังจากหยุดนิ่งมาค่อนข้างนาน การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีเฉพาะรถไฟทางคู่ มีการวางแผนคู่ขนานกันไปว่าเมื่อทางคู่เสร็จแล้ว พัฒนาระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบอัตโนมัติเรียบร้อยแล้ว จะเพิ่มขบวนรถมากกว่าเดิม หากแล้วเสร็จจะเสริมตู้สินค้าใหม่ 308 ตู้ ในปลายปีนี้ และตู้โดยสารรุ่นใหม่อีก 115 ตู้ จะเริ่มทยอยเข้ามาในเดือนกรกฎาคมนี้จำนวนหนึ่ง จากนั้นวันที่ 11 ส.ค.2559 เปิดวิ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายของการรถไฟ จากที่ขณะนี้ภาคการขนส่งของการรถไฟทำได้แค่ 3% ของภาพรวมระบบโลจิสติกส์ ในปีต่อไปอาจจะเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 6%

แผนล้างหนี้การรถไฟ

ส่วนภาพรวมของหนี้การรถไฟฯ ที่มองกันมีประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท แบ่งเป็นหนี้แอร์พอร์ตลิงค์กว่า 3 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้ที่รัฐบาลต้องรับภาระอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการของการรถไฟฯจะมีบางส่วน

ขณะนี้ข้อตกลงที่ดินมักกะสัน เมื่อมีการตัดส่วนที่มีปัญหาออกบางส่วน อย่างเช่น ส่วนตัวโรงเรียน พื้นที่ 30 กว่าไร่ ทำให้จำนวนพื้นที่ลดลง เรื่องนี้ผมได้ประชุมร่วมกับกรมธนารักษ์วางกรอบระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี ตามที่ระดับนโยบายต้องการ เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจได้เกิดความมั่นใจ

แต่เมื่อมีการตัดพื้นที่บางส่วนออก จำนวนหนี้ที่จะต้องหักล้างกัน ทาง ร.ฟ.ท.กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ต้องมาหารือกันถึงตัวเลขที่แน่ชัด ซึ่งมูลค่าที่ดินมักกะสันเต็มผืนมีมูลค่ากว่า 6หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีระยะเวลาการเช่าที่ดินจะเป็นระยะเวลาเท่าใด ขณะนี้ยังไม่นิ่งว่าจะเป็น 99 ปีหรือไม่

เร่งศึกษาแปลงที่ดินสถานีแม่น้ำและก.ม.11

ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาตามมาตรา 24 เพื่อจะเข้ากับ พ.ร.บ.ร่วมทุน ศึกษาความเหมาะสมพื้นที่หลายแปลง เช่น โครงการสถานีแม่น้ำ โครงการ ก.ม.11 และโครงการบางซื่อ โดยขณะนี้โครงการสถานีกลางบางซื่อ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.เมื่อเดือนเมษายน 2559 และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. ซึ่งแจ้งให้ที่ปรึกษาปรับปรุงและจัดส่งมาให้ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป และวันอังคารที่ 24 พ.ค.นี้ จะมีผลการศึกษาของที่ปรึกษาแล้วเสร็จ เข้ามาอีก 2 โครงการ คือ โครงการสถานีแม่น้ำ และ โครงการ ก.ม.11

“ขณะนี้การรถไฟฯเริ่มเปิดรับให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในหลายโครงการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นกรุงเทพฯ-หัวหิน และ กรุงเทพฯ-ระยอง ผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อย คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.มีความเห็นเพิ่มเติมให้ที่ปรึกษา เราก็จะนำส่งกระทรวงคมนาคม ไป สคร. เพื่อไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ต่อไป”

โดยโครงการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟฯ ทั้ง 3 แปลงที่กล่าวมา รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง ถูกบรรจุอยู่ในมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี ฟาสต์แทร็ก ทั้งสิ้น

แผนการดำเนินงานหลังปลดหนี้สำเร็จ

สิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญในปัจจุบันคือการบริหารจัดการที่ดิน Non Coreเป็นที่ดินซึ่งไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ ที่มีอยู่ค่อนข้างมากทั่วประเทศมีประมาณ 3 หมื่นกว่าไร่ จากที่ดินรวมของการรถไฟที่มีกว่า 1 แสนไร่ทั่วประเทศ โดยจัดแบ่งพื้นที่เป็น 3 กลุ่มคือ มีศักยภาพสูง ปานกลาง และต่ำ ที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ต้องปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า โดยที่ดินที่มีศักยภาพของการรถไฟฯมีอยู่ในไพรม์ แอเรีย หลายแปลง เช่น ที่ดินมักกะสัน สถานีแม่น้ำ และ ก.ม.11 ตรงนี้จะเป็นทางรอดหนึ่งของการรถไฟฯ ขณะที่รายได้จากการเดินรถนั้นไม่สามารถขึ้นราคาได้ตามต้องการ เนื่องจากกิจการรถไฟเป็นการให้บริการกับผู้มีรายได้น้อย

“ในเรื่องที่ดินการรถไฟนี้ผมได้ประชุมร่วมกับ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่ง คนร.ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ดิน ให้การรถไฟฯทำแผนเสนอไป โดยให้มีความชัดเจนมากกว่าเดิมภายในระยะ 30 วัน”
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 26/05/2016 11:55 am    Post subject: Reply with quote

รถจาก CNR Changchun ชุดแรก 13 หลังตอนนี้ลงเรือแล้ว มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง 28 พฤษภาคม 2559
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1353396951341033&set=a.213819491965457.68088.100000122231436&type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 26/05/2016 9:32 pm    Post subject: Reply with quote

บอร์ดการรถไฟล้างท่อเมกะโปรเจ็กต์ค้างฟ้า สัมปทาน60ปีที่ดิน3แปลงใหญ่-ไฮสปีด-ทางคู่จูงใจเอกชนลงทุน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เวลา 19:30:40 น.


บอร์ดรถไฟสับเกียร์ประมูลโปรเจ็กต์ค้างฟ้า ล้างท่อทางคู่ ซื้อหัวรถจักร ดึงเอกชนร่วมทุน PPP ไฮสปีดเทรน เดินรถขนส่งสินค้าสาย "ขอนแก่น-แหลมฉบัง" และพัฒนาคอมเพล็กซ์ยักษ์บนที่ดิน 3 ทำเลทอง ให้สัมปทานยาว 25-60 ปีจูงใจ หวังสร้างรายได้ ปลดแอกภาระหนี้แสนล้าน

นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า งานด่วนของ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งให้เสร็จในปีนี้ คือเร่งประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางระยะเร่งด่วน รวม 993 กม. เงินลงทุน 136,931 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2562-2563

ล้างท่อประมูลทางคู่-ไฮสปีดเทรน



ขณะนี้เริ่มสร้างแล้วสายจิระ-ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และภายในเดือน มิ.ย.นี้มี 1 เส้นทางจะเปิดประมูลคือสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ที่เหลือจะเร่งขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่ สายมาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง 4 เส้นทางขอใช้มาตรา 44 เปิดประมูลคู่ขนานกับการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะยังไม่เซ็นสัญญาก่อสร้างจนกว่าอีไอเอจะผ่าน

อีกทั้งเร่งประมูลรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างปี 2560 ซึ่งโครงการจัดอยู่ใน PPP Fast Track จะทำให้การประมูลแล้วเสร็จใน 9 เดือน โดยการลงทุนจะใช้รูปแบบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 แบบ PPP Net Cost หรือสัมปทาน 25 ปี ซึ่งบอร์ดได้อนุมัติโครงการเสนอให้กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ PPP และ ครม.เห็นชอบแล้ว

เร่ง PPP เดินรถสายอีสาน

นอกจากนี้บอร์ดยังอนุมัติแผนลงทุนการขนส่งสินค้าด้วยหัวรถจักรไฟฟ้าเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-แหลมฉบังระยะทาง516 กม. จะให้เอกชนลงทุน PPP Net Cost หรือสัมปทาน 60 ปี ในงานขบวนรถและอู่จอดและซ่อมบำรุง ส่วนรัฐลงทุนงานทางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เงินลงทุนรวม 47,588 ล้านบาท

แยกเป็นค่างานก่อสร้างทางคู่และระบบอาณัติสัญญาณเดินรถดีเซลช่วงมาบกะเบา-จิระ วงเงิน 29,809 ล้านบาท เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้ก่อสร้างช่วงนี้ ส่วนที่เหลือจะเป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเพื่อให้สามารถนำรถไฟฟ้ามาเดินรถได้ วงเงิน 17,799 ล้านบาท จะเสนอ ครม.อนุมัติโครงการเดือน พ.ย.นี้ เริ่มคัดเลือกเอกชนและเสนอ ครม.อนุมัติเดือน ธ.ค. 2559-พ.ค. 2560 จากนั้นเดือนมิ.ย. 2560-2563 เริ่มก่อสร้างทางคู่ช่วงมาบกะเบา-จิระที่เอกชนที่รับสัมปทานจะเป็นผู้ก่อสร้าง แต่ ร.ฟ.ท.ออกเงินงบประมาณ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2565

"ก่อนหน้านี้บีทีเอสเคยเสนอผลศึกษาเบื้องต้นมาแล้ว สนใจจะลงทุนเดินรถขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางดังกล่าว แต่เราไม่ได้ปิดกั้น เปิดให้เอกชนทุกรายเข้าร่วมลงทุน" นายสราวุธกล่าวและว่า

ร.ฟ.ท.ได้ลงนามกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟภายในท่าเรือแทนรถบรรทุกที่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องรถติดซึ่งเมื่อการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 แล้วเสร็จ ทาง ร.ฟ.ท.เตรียมความพร้อมเรื่องหัวรถจักรไฟฟ้า แคร่ในการขนส่งสินค้าทั้งหมด ซึ่งการขนส่งทางรางจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความปลอดภัย และการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถตรวจสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ผ่านขบวนรถไฟได้แล้ว โดยได้รับการประสานความร่วมมือทั้งการท่าเรือ รถไฟ และศุลกากร

ซื้อหัวรถจักรเพิ่มการขนส่งสินค้า

"ปัญหาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ มีปัญหาคือขาดแคลนหัวรถจักรและตู้แคร่ เพราะจัดซื้อล่าช้า ทั้งที่เป็นหัวใจสำคัญในการขนส่งสินค้าทั้งระบบ ซึ่งผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนในการที่จะมีรถให้บริการ แต่มีเอกชนบางรายที่รอไม่ไหวได้ซื้อหัวรถจักรมาลากจูงเอง เช่น ทีพีไอ"

สำหรับการจัดหาหัวรถจักรและล้อเลื่อนในแผนใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้จัดซื้อแล้วมีดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 20 คัน วงเงิน 3,300 ล้านบาทซื้อจากจีน, จัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 115 คัน วงเงิน 4,981.05 ล้านบาทจากจีน ในเดือน พ.ค.นี้ จะได้รับรถชุดแรกจำนวน 13 คัน, รถบรรทุกสินค้า 308 คันกว่า 770 ล้านบาทจากจีน ใน 1 ปีจะส่งมอบรถลอตแรก 150 คัน

ส่วนโครงการกำลังจะประมูลมีรถจักรดีเซลไฟฟ้าทดแทนรถ GE 50 คัน วงเงิน 6,562.5 ล้านบาท คาดว่าเซ็นสัญญาเดือน ส.ค.นี้ และจัดหารถดีเซลราง 186 คัน วงเงิน 13,505 ล้านบาท อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการจาก ครม. คาดว่าเซ็นสัญญาเดือน ก.ย.นี้ รวมถึงซ่อมบูรณะรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตรอม 56 คัน วงเงิน 3,360 ล้านบาท กำลังพิจารณาจะซื้อใหม่แทนการซ่อม

ดึงเอกชนพัฒนา 3 ทำเลทอง

ด้านการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์นายสราวุธกล่าวว่า ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดให้ ร.ฟ.ท.นำที่ดินที่สามารถจัดหาประโยชน์ได้ ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่กว่า 3 หมื่นไร่ ให้นำมาพัฒนาให้เกิดรายได้มากที่สุด เพื่อลดภาระหนี้มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า มี 3 แปลงใหญ่ใจกลางเมืองจะนำมาพัฒนาได้ทันที แปลงแรกคือสถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ มูลค่าโครงการ 68,183 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดอนุมัติเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว จะแบ่งการพัฒนาเป็น 3 แปลง ได้แก่ โซน A 35 ไร่ ใกล้สถานีกลางบางซื่อ พัฒนาเป็นพื้นที่ทางธุรกิจ เช่น โรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้าและที่จอดรถ มูลค่าการลงทุน 9,363 ล้านบาท

โซน B 78 ไร่ ติดกับถนนกำแพงเพชรและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน พัฒนาเป็นแหล่งค้าปลีก-ค้าส่ง, ศูนย์กลางการ trading, ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม มูลค่าลงทุน 24,744 ล้านบาท และโซน C 105 ไร่ อยู่บนพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 พัฒนาเป็นเมืองใหม่ มีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งงานและการพักผ่อนหย่อนใจ มูลค่าลงทุน 34,076 ล้านบาท โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการจะให้เอกชน PPP ระยะเวลา 30 ปี เพื่อรองรับกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) จะเปิดใช้บริการในปี 2562 ส่วนสถานีแม่น้ำ 277 ไร่ มูลค่า 10,413 ล้านบาท และบริเวณ กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ มูลค่า 18,370 ล้านบาท กำลังทบทวนโครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556

ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งทำการย้ายโรงซ่อมจากมักกะสันไปยังแก่งคอย เพื่อนำที่ดินย่านมักกะสัน เนื้อที่ 497 ไร่มอบให้กับกรมธนารักษ์เพื่อชำระหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาทให้กับกระทรวงการคลัง จะทำให้ภาระหนี้ของ ร.ฟ.ท.ลดลงจากกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนจะทำให้ ร.ฟ.ท.พ้นจากภาวะขาดทุนนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่ เพราะรายได้หลักยังเป็นการเดินรถที่ยังขาดทุนอยู่ สิ่งที่เป็นกำไรคือการบริหารสินทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยกว่า 2-3 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 27/05/2016 1:01 pm    Post subject: Reply with quote

รถโดยสารชุดใหม่ 115 คัน จากประเทศจีน ชุดแรกจำนวน 13 คัน ขณะรอการลำเลียงลงเรือ จะออกจากท่าเรือต้าเหลียน วันที่ 29 พฤษภาคม 59 ปลายทางท่าเรือแหลมฉบัง จะถึงประมาณวันที่ 12 มิถุนายน นี้
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1085532194838641&id=222323771159492
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 274, 275, 276 ... 475, 476, 477  Next
Page 275 of 477

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©