RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13179690
ทั้งหมด:13490922
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 209, 210, 211 ... 277, 278, 279  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 23/02/2020 3:04 am    Post subject: Reply with quote

รฟม.-BTS รอเซ็น MOU ตั๋วร่วม เร่งปรับหัวอ่านปักธง มิ.ย.เสร็จ
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 18:06
ปรับปรุง: 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 14:04

“แอร์พอร์ตลิงก์” จ่อเลิกสัญญา ปรับปรุงระบบตั๋วร่วม ยังให้โอกาสทดสอบรองสุดท้าย 24 ก.พ. เผยค่าปรับทะลุ 10% ของวงเงินจ้าง 10 ล.แล้ว ด้าน รฟม.-BTS พร้อมเร่งปรับหัวอ่าน รอ สนข.นัด เซ็นMOU ตกลงเงื่อนไขทางธุรกิจ

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดผู้รับจ้างในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในระยะเร่งด่วน เพื่อรองรับบัตรโดยสารของรถไฟฟ้า MRT และ BTS ได้ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดให้เริ่มใช้งานได้ในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้รับจ้างยังไม่ผ่านการทดสอบในห้องทดลอง ซึ่งจะมีการทดสอบครั้งสุดท้ายในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ หากผลยังไม่ผ่าน คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ซึ่งมีทั้งผู้แทนจาก แอร์พอร์ตลิงก์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะพิจารณาตามเงื่อนไขสัญญาจ้างต่อไป

ทั้งนี้ ยอมรับว่าสัญญาจ้างปรับปรุงระบบตั๋วร่วมได้สิ้นสุดไปแล้ว 11 เดือน ซึ่งค่าปรับคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10% ของมูลค่างานแล้ว ซึ่งตามระเบียบสามารถยกเลิกได้ และสาเหตุที่ยังไม่ได้ปรับผู้รับจ้างเพราะ ที่ผ่านมายังไม่มีการจ่ายค่าจ้าง เพราะผู้รับจ้างยังไม่ได้เริ่มติดตั้ง เพราะยังไม่ผ่านขั้นตอนการทดสอบระบบ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผ่านการทดสอบในวันที่24 ก.พ.นี้ ผู้รับจ้างจะต้องเร่งปรับปรุงระบบเพื่อให้ทันกำหนดเวลาเดือนมิ.ย. ที่คณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ให้เริ่มใช้งาน

โดยแอร์พอร์ตลิงก์ได้ลงนามสัญญาจ้างบริษัท สมาร์ทเทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจากประเทศจีน โครงการติดตั้งซอฟต์แวร์และหัวอ่านบัตรโดยสารร่วม (บัตรแมงมุม) วงเงิน 104 ล้านบาท ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2561 โดยสัญญาสิ้นสุดในเดือน เม.ย. 2562 แล้ว

@รฟม.-BTS พร้อมเร่งปรับหัวอ่าน รอ สนข.นัด เซ็นMOU ตกลงเงื่อนไขทางธุรกิจ



นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พร้อมพัฒนาปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถอ่านบัตรโดยสารข้ามระบบทุกบัตรได้ ในรูปแบบ Interoperability โดยอยู่ระหว่างทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกันทั้ง รฟม. ,BEM และกรุงเทพมหานคร (กทม.)และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่ง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ร่าง MOU และส่งให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้ว

ซึ่ง MOU มีความสำคัญ เพราะจะเป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายจะไม่น้ำความลับที่ได้รับการเปิดเผยจากอีกฝ่ายไปเผยแพร่ ซึ่งหลังลงนาม MOU จะเกิดความมั่นใจ และเริ่มกระบวนการออกแบบ และสั่งผลิต จัดซื้อ และปรับปรุงและทดลอง โดยเป้าหมายต้องให้ใช้ได้ในเดือน มิ.ย.

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า บริษัทพร้อมดำเนินการตามข้อตกลง โดยต้องรอ MOU ร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้ โดยระหว่างนี้เตรียมการไว้แล้ว ประเมินค่าใช้จ่ายที่ 120 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa) ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ให้แยกพัฒนาแบบคู่ขนาน โดยเร่งในส่วนของรับบัตรข้ามระบบก่อน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 03/03/2020 10:42 am    Post subject: Reply with quote

ถกด่วน แก้ปมคลื่น 2600 กวนรถไฟฟ้า
จันทร์ที่ 2 มีนาคม 2563

กสทช.นัด 5 หน่วยงานถกแก้ปมคลื่น 2600 MHz กวนรถไฟฟ้า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันที่ 6 มี.ค. 2563 นี้ เวลา 9.00 น. สำนักงาน กสทช. จะเป็นเจ้าภาพนัดผู้บริหารระดับสูง5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง หรือ ขร. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในเครือ AIS การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง



ร่วมประชุมตามที่ BTS ได้ทำหนังสือแจ้งข้อหารือมายังสำนักงาน กสทช. เนื่องจากมีข้อห่วงใยในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400-2500 MHz ที่ใช้ในระบบสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่ AWN ประมูลไปทำ 5G จะเกิดปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่

สำนักงาน กสทช. จะเป็นคนกลางในการประสานให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือกัน เพื่อตรวจสอบปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมหาวิธีป้องกัน กำหนดแนวทางเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่ที่จะส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟฟ้า และประชาชนผู้ใช้รถไฟฟ้าเป็นยานพาหนะในการเดินทาง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ


โดยผลของการประชุมดังกล่าว ทางผู้ให้บริการรถฟ้าจะได้ข้อมูลไปหารือกับบริษัทผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณเพื่อพัฒนาระบบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ (Filter) ให้มีประสิทธิสูงสุด เพื่อจะป้องกันการรบกวนจากการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เมื่อเปิดให้บริการ 5G เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการเดินรถไฟฟ้าในอนาคต ด้าน AWN เองก็จะได้ข้อมูลสำหรับวางแผนในการออกแบบ กำหนดจุดตั้ง อุปกรณ์เพื่อให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีการรบกวนกันของคลื่น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 06/03/2020 1:12 pm    Post subject: Reply with quote

กสทช. หารือ AIS-BTS-MRT หาแนวทางกัน 5G รบกวนระบบอาณัติสัญญาณ

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ BTIT3
6 มีนาคม 2563


กสทช. หารือ AIS-BTS-MRT แนวทางป้องกันสัญญาณ 5G รบกวนรถไฟฟ้า ตั้งคณะกรรมการพร้อมแก้ปัญหาและจะใช้เวลา 5-6 เดือนในการติดตั้งฟิลเตอร์กรองสัญญาณกันการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้า




ที่ สำนักงาน กสทช. ในการประชุมหารือ แนวทางการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าอย่างบูรณาการ โดยมี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. , นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) , นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS , นายสุเทพ เตมานุวัตร์ หัวหน้าหัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ในนาม AWN และ นายภูริทัต ผาณิตพจมาน ผู้จัดการส่วนระบบรถไฟฟ้า BEM

โดย เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า จากปัญหาคลื่นรบกวนในอดีตที่ผ่านมา เกิดจากการร่นลงมาใช้คลื่น 2400 MHz ต้น ๆ ซึ่งมีโอกาสให้เกิดการรบกวนคลื่นความถี่ ซึ่งปัจจุบัน BTS ได้ทำระบบป้องกันการรบกวนความถี่ในช่วงความถี่ใหม่ ขณะเดียวกันยังมีความกังวลอยู่ว่า การเปิดให้บริการ 5G ของ AIS อาจรบกวนอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้า ซึ่งในส่วนขแง BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ได้มีการร่วมทดลองอยู่และยังไม่พบการรบกวนเพิ่มเติม

นายฐากร เชื่อว่า ระบบที่กำลังดำเนินการเพื่อลดการรบกวน จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่าจะไม่มีปัญหาระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง ขณะที่อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้เสนอให้มีการแต่งตั้ง “คณะทำงานประสานงานและติดตามการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2500 MHz” เพื่อให้เกิดการติดตามผลและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น

อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า ทุกภาคส่วนยินดีที่ กสทช. และภาคส่วนอื่น ๆ ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งก่อนหน้านี้ AIS และ BTS ก็มีการร่วมทดลองระบบอาณัติสัญญาณกับสัญญาของ AIS มามากกว่า 3 ครั้งแล้ว ว่ารบกวนกันหรือไม่ ? ซึ่งเพื่อให้เกิดความยั่งยืน จะมีการติดตั้งฟิลเตอร์กรองสัญญาณ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนจึงจะติดตั้งแล้วเร็จ



นายสุเทพ เตมานุวัตร์ จาก AIS ในนาม AWN ระบุว่า ระบบกรองสัญญาณปัจจุบัน ทำอยู่บนระบบเดิมที่เคยมีปัญหา ซึ่งสิ่งที่บริษัททำ คือการเพิ่มตัวกรองสัญญาณเพิ่ม เมื่อมีการให้บริการ 5G แบบเต็มรูปแบบ หากสังเกตคลื่นที่ BTS ใช้คือ 2424-2477 MHz จะพบว่ามีสัญญาณรบกวนน้อยลงเมื่อใส่ตัวกรองสัญญาณแล้ว ซึ่งเป้าหมายของบริษัทคือให้สัญญาณรบกวนเป็นศูนย์

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา จาก BTS ระบุว่า สัญญาณที่ BTS ใช้เป็นความถี่ที่ใช้กันเป็นมาตรฐานทั่วโลกอยู่ที่ช่วง 2400 MHz ซึ่งหากการมีคลื่นความถี่เองก็เป็นเรื่องดีที่จะได้รับการคุ้มครอง แต่คำถามคือทาง กสทช. สามารถจัดสรรให้ได้หรือไม่ ? แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีสัญญาณเป็นของตนเอง อาจได้คลื่นที่มีโอกาสถูกรบกวนมากกว่า ขณะที่คลื่น 2400 MHz เองก็เป็นคลื่นความถี่ที่ไม่แรงมากและโอกาสรบกวนก็มีน้อย ซึ่งหากมีการติดตั้งตัวกรองสัญญาณกว่า 700 ตัวทั่วทั้งระบบของ BTS ก็จะทำให้ลดโอกาสการกวนสัญญาณที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งระบบใหม่ที่จะติดตั้งในระยะเวลา 5-6 เดือนหลังจากนี้จะไม่ช้าไป



นายฐากร กล่าวเสริมว่า ไม่อยากให้ย้ายช่วงความถี่ใหม่เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ มีการติดตั้งไปแล้ว ซึ่งหากมีการย้ายคลื่นสัญญาณอีกก็อาจเป็นเงินที่รถไฟฟ้าต้องลงทุนเองซึ่งอาจส่งผลให้ค่าบริการรถไฟฟ้าสูงขึ้น ก็เลยอยากให้ใช้คลื่นเดิม เพียงแต่ว่ามีการเพิ่มตัวกรองสัญญาณรบกวนมากขึ้น

อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่มีปัญหาการกวนสัญญาณอยู่แล้ว และส่วนต่อขยายที่เป็นช่วงยกระดับ(ลอยฟ้า) ก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ติดตังตัวกรองสัญญาณไว้แล้ว และสายสีม่วงเองก็ยังไม่พบปัญหาจากการรบกวน ซึ่งสำหรับรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ที่กำลังก่อสร้างก็จะมีการหลีกสัญญาณกันในช่วงความถี่ที่ กสทช. กันไว้ให้ ขณะที่รถไฟฟ้าความเร็วสูง กสทช. เอง ก็มีการกันคลื่นความที่ 870-930 MHz ไว้แล้ว



นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนว่าเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เอไอเอสและรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ศึกษาและทดสอบการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความอุ่นใจให้แก่คนไทยในการใช้งานระบบ สื่อสารและระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุด และทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐอย่างกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ทำการทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลในการป้องกันปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ทั้งช่วงก่อนเปิดประมูลและเข้มข้นยิ่งขึ้นหลังจากการประมูลเสร็จเรียบร้อย ในทุกช่วงเวลา และทุกเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ขยายเครือข่ายทั้ง 4G / 5G ทั้งนี้ การทดสอบในเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบแต่อย่างใด”

นอกจากนี้ เอไอเอส ยังได้เริ่มทดสอบและป้องกันผลกระทบจากคลื่นความถี่ ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (สายสีม่วงและสีน้ำเงิน) แล้วเช่นกัน
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44318
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 09/03/2020 2:13 pm    Post subject: Reply with quote

'สนข.'เล็งเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมรถไฟ-เรือโดยสาร
แนวหน้า ฉบับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองได้มีการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าประมาณ 50-60% และมีการเปิดให้บริการไปแล้วประมาณ 25% รวมถึงในอนาคตทุกๆปี หลังจากนี้ จะมีการเปิดให้รถไฟฟ้าเส้นทางใหม่และส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

โดยในปีนี้ทาง สนข.ก็มีแผนที่จะศึกษาระบบขนส่งสาธารณะรอง (Feeder) เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะหลัก โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ทั้งที่เปิดให้บริการแล้ว และอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จในช่วง 3-5 ปีนี้ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางสะดวกและจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางสนข.จะจัดลำดับความสำคัญในการกำหนด Feeder จากโครงการรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วเป็นลำดับแรก โดยในเบื้องต้นจะใช้ระบบขนส่งขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาให้บริการก่อน และคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สนข. มีแผนที่จะศึกษาการเชื่อมต่อระบบรางกับทางเรือเนื่องจากมองว่าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีคลองหลายเส้นทางที่สามารถใช้สัญจรได้ แต่ยังไม่มีท่าเรือที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า โดยการศึกษาดังกล่าวนั้นเพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางในเส้นทางคลองเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า รวมถึงจุดเชื่อมต่อ Feeder ต่างๆ ในกรณีที่สถานีไม่มีที่จอดรถ โดยหลังจากนี้จะต้องพิจารณาจำนวนของผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการก่อนเพื่อที่จะกำหนดท่าเรือต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 09/03/2020 7:36 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
'สนข.'เล็งเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมรถไฟ-เรือโดยสาร
แนวหน้า ฉบับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563


ฟรี 6 เดือนรถเมล์ขนคนขึ้นรถไฟฟ้า กทม.จ่อดึงเอกชน PPP เดินรถทั่วกรุง
อสังหาริมทรัพย์ : พร็อพเพอร์ตี้

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 - 15:48 น.

ดีเดย์ มี.ค. กทม.เปิดฟรี 6 เดือน ระบบฟีดเดอร์ 3 เส้นทางป้อนรถไฟฟ้า ลุย PPP ดึงเอกชนร่วมเดินรถทั่วกรุง ย้ำสายสีเขียวต่อขยายยังเปิดฟรีทั้งช่วงแบริ่ง-ปากน้ำ และหมอชิต-ม.เกษตร-วัดพระศรีฯ แบกภาระปีละพันล้าน รอ ครม.ไฟเขียวเซ็นสัมปทานบีทีเอส เคาะราคาใหม่ ไม่เกิน 65 บาท

นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน มี.ค.นี้ กทม.จะเปิดบริการระบบฟีดเดอร์เป็นการทดลองเดินรถ shuttle bus รับผู้โดยสารเข้าสู่รถไฟฟ้า จะนำร่อง 3 เส้นทาง ได้แก่ สถานีขนส่งสายใต้-บีทีเอสบางหว้า, ดินแดง-บีทีเอสสนามเป้า และเคหะร่มเกล้า-แอร์พอร์ตลิงก์ลาดกระบัง เวลา 05.00-21.00 น. จะทดลองวิ่งเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่เก็บค่าโดยสาร


“เป็นรถของบริษัทเอกชนที่สนใจจะทดลองเดินรถ เพื่อประเมินความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งเส้นทางที่ดำเนินการเป็นเส้นทางที่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการ จะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น”

ในปี 2564 ได้ขอจัดสรรงบประมาณจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP เดินรถฟีดเดอร์ เนื่องจากในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดบริการอีกหลายเส้นทาง เช่น สายสีเหลือง สีชมพู สีส้ม

ทั้งนี้ กทม.มีเส้นทางที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้ 10 เส้นทาง นำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วม PPP ด้วย นอกจาก 3 เส้นทางนำร่องแล้ว จะมี 1.พระราม 6-BTS อารีย์ 2.ทองหล่อ-เอกมัย 3.ท่าเรือกรุงเทพ-อ่อนนุช 4.ซอยเสนานิคม-BTS เสนานิคม 5.BTS สยาม-สนามหลวง 6.ถ.สามเสน (ดุสิต)-ถ.มิตรไมตรี (ดินแดง) และ 7.สายไหม-BTS สะพานใหม่

“การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน จะลดภาระรัฐ ทำให้โครงการเกิดได้เร็ว เพราะเอกชนจะคล่องตัวมากกว่า นอกจากนี้จะมีเปิด PPP รถไฟฟ้าไลต์เรลบางนา-สุวรรณภูมิ 18.3 กม. วงเงิน 27,892 ล้านบาท และสายสีเทาเฟสแรกวัชรพล-ทองหล่อ-ท่าพระ อยู่ระหว่างขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในปีหน้าจะของบฯศึกษารูปแบบ PPP”

นายพานุรักษ์กล่าวอีกว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ กทม.จะเปิดให้บริการฟรีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อีก 4 สถานี ถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จากปัจจุบันถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเปิดตลอดสายปลายปี 2563 เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในปี 2564

“ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ทั้งแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต ยังไม่กำหนดจะมีการเก็บค่าโดยสาร รอสัญญาสัมปทานใหม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน เพราะจะปรับโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เพดานสูงสุดไม่เกิน 65 บาท หากจะจัดเก็บเลยจะเป็นการซ้ำซ้อน และต้องออกประกาศอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า 30 วัน”

ปัจจุบัน กทม.รับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เก็บค่าโดยสารของสายสีเขียวต่อขยายทั้ง 2 ช่วงประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยใช้ฐานจากการเปิดส่วนต่อขยายของ กทม.ที่ขาดทุนปีละ 500 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 10/03/2020 10:10 am    Post subject: Reply with quote

ดึงปตท.ลุย‘ชัตเติลบัส’สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563
‘คมนาคม’ เร่งศึกษาแนวเส้นทางฟีดเดอร์รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต พร้อมจัดชัตเตอร์บัส รับส่งผู้โดยสารรอบพหลโยธิน เตรียมดึงปตท.-เอสซีจี ร่วมลงทุน หวังแก้ปัญหารถติดบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟสายสีแดง


นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ ว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ดำเนินการศึกษาสภาพปัญหาการจราจรบนถนนบริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต นั้น ขณะนี้ที่ประชุมเสนอให้กรมการขนส่งทางบก ไปศึกษากรอบแนวเส้นทางในการเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) ระหว่างรถโดยสารประจำทาง(Shuttle bus) และรถโดยสารไฟฟ้า บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจะเชื่อมต่อบริเวณรอบถนนพหลโยธิน โดยเส้นทางการเดินรถโดยสารที่จะเชื่อมนั้น มีลักษณะคล้ายกับรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) จะทำให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางมากขึ้น หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว ให้กรมขนส่งฯ กลับมารายงานความคืบหน้าในที่ประชุมครั้งถัดไป นายพีระพล กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดรถชัตเติลบัสและรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อระหว่างกัน จะใช้แนวเส้นทางการเดินรถแบบทวนเข็มนาฬิกา โดยมีจุดจอดรถทั้งหมด 6 ป้าย ระยะทางรวม 9.5 กิโลเมตร ซึ่งจะให้บริการทุกๆ 10 นาทีต่อรถชัตเตอร์บัส 2-3 คัน สามารถรองรับผู้โดยสาร ราว 100 คนต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันจะพิจารณาให้เอกชนที่มีศักยภาพมาสนับสนุนหรือร่วมลงทุน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

นอกจากนี้ในที่ประชุมมีข้อเสนอด้านการบริหารจัดการจราจร ของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่จะเปิดให้บริการในปี 64 นั้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อลดความสับสนในช่วงเปิดสถานีดังกล่าว เช่น การวางแผนและติดตั้งระบบป้ายบนโครงข่ายถนนโดยรอบ การปรับปรุงทางแยก ออกแบบและจัดรอบสัญญาณไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างเหมาะสม การกำหนดเส้นทางรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่จะเข้าสู่สถานีกลางบางซื่ออย่างเหมาะสม รวมถึงการวางแผนร่วมกันระหว่างตำรวจจราจรในพื้นที่และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง

เร่งแผนจัดจราจร “สถานีกลางบางซื่อ” วาง Shuttle Bus วิ่งเป็นวงกลม
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 20:36
ปรับปรุง: 10 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 09:31



“คมนาคม” หารือแผนบริหารจัดการการจราจรเพื่อรองรับการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อในต้นปี 64 จัดระบบ Shuttle Bus วิ่งเป็นวงกลมรอบสถานี 6 จุดจอด เร่งแผนขยายถนนเทอดดำริ และแลมป์เชื่อมทางด่วนลดความแออัดพื้นราบ

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแผนบริหารจัดการการจราจรเพื่อรองรับการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2564 โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการบริหารจัดการจราจรเพื่อรองรับการเปิดให้บริการของสถานีกลางบางซื่อเพื่อลดผลกระทบการจราจรที่จะส่งผลในวันที่เปิดสถานีกลางบางซื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการให้พร้อมกับการเปิดสถานีบางซื่อ โดยเน้นการบริหารจัดการจราจรภายในสถานีกลางบางซื่อว่าให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นระบบหลักในการขนส่งประชาชนเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าที่ใกล้เคียง

ให้กรมการขนส่งทางบก ( ขบ.) พิจารณาเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อภายในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ และการเดินทางเชื่อมต่อจากสถานีกลางบางซื่อกับสถานีขนส่งผู้โดยสารจตุจักรและสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต และพื้นที่โดยรอบสถานีบางซื่อ โดยเปิดสัมปทานการเดินรถรูปแบบรถโดยสารไฟฟ้า/Smart Shuttle Bus เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สถานีกลางบางซื่อ

เบื้องต้น ขบ.ได้วางระบบฟีดเดอร์เป็นรถ Shuttle Bus ลักษณะวิ่งเป็นวงกลม ทวนเข็มนาฬิกาเส้นทางวงกลมรอบสถานีกลางบางซื่อ โดยมีระยะทางประมาณ 9.5 กม. มี 6 จุดจอด ทั้งนี้ จะต้องรอการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำหนดรูปแบบการบริหารสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะมีการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ ว่าจะมีการให้บริการรถ Shuttle Bus รวมอยู่หรือไม่ หากไม่มี ขบ.จะพิจารณาเพื่อหาผู้ดำเนินการในส่วนของรถ Shuttle Bus ตามระเบียบต่อไป

นอกจากนี้ ขบ.ยังได้พิจารณาเส้นทางรถเมล์ ซึ่งอยู่ในแผนปฏิรูปรถเมล์ ซึ่งจะมีการขยายเส้นทางการเดินรถ เข้าสู่สถานีกลางบางซื่ออีกด้วย

นอกจากนี้ ยังให้ ร.ฟ.ท.เร่งรัดโครงการก่อสร้างถนนและทางลอดเลียบทางรถไฟ ช่วงสถานีบางซื่อ-วัดเสมียนนารี ให้สามารถเปิดใช้ได้ทันตามแผนในปี 2564 และพิจารณาความจำเป็นของโครงการก่อสร้างทางลอด-ทางเข้าสถานีกลางบางซื่อบริเวณถนนกำแพงเพชร และให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่ออนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างทางขึ้น-ลง ทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ 2) ทั้ง 3 ตำแหน่ง รวมถึงเร่งรัดปรับปรุงทางพิเศษ (ทางขึ้น-ลง) บริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ และโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนฯ ให้เป็นไปตามแผน


นอกจากนี้ ให้ประสานกรุงเทพมหานคร(กทม.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อวางแผนการจัดการจราจร โดยเฉพาะจุดทางเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อ ได้แก่ ถนนกำแพงเพชร ถนนกำแพงเพชร 2 และถนนเทอดดำริ พร้อมเร่งโครงการขยายถนนเทอดดำริ ช่วงแยกเทอดดำริ-สถานีบางซื่อ ให้เป็นไปตามแผน

ทั้งนี้ กทม.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงบริเวณถนนพหลโยธินและถนนกำแพงเพชร เพื่อรองรับการจราจรบริเวณสถานีกลางบางซื่อ


Last edited by Wisarut on 10/03/2020 11:30 am; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 10/03/2020 11:10 am    Post subject: Reply with quote

ลุย41โปรเจ็กต์ ชิงเค้ก7แสนล้าน
ออนไลน์เมื่อ 9 มีนาคม 2563
ตีพิมพ์ในข่าวหน้า 1
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3555
วันที่ 8-11 มีนาคม 2563

คมนาคมดับร้อนโคโรนา เทกระจาด 41 เมกะโปรเจ็กต์ 7 แสนล้าน เปิดเอกชนชิงดำพีพีพีกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังครม.ไฟเขียว

สายสีส้ม -ม่วงใต้พร้อมนายภคพงศ์ ศิริ-กันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่าโครงการรถไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. แล้ว ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์ บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงิน 124,791 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนรวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม บีทีเอสสนทุกโอกาสด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ระบุ ทันทีที่ รัฐบาลเปิดรายชื่อโครงการขนาดใหญ่ 41 โครงการ บริษัทยอมรับว่าสนใจประมูลเกือบทุกโครงการ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้ม มอเตอร์เวย์สาย 8นครปฐม-ชะอำ ซึ่งมองว่ามีความคุ้มค่า
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 10/03/2020 1:24 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้าไม่มาซะที 6 หัวเมืองจราจรหนึบ-PM 2.5 หนัก เอกชนยังเมิน ผลตอบแทนต่ำ-รฟม.จ่อปรับเงื่อนไข
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 9 มีนาคม 2563 14:23




รถไฟฟ้า...เป็นระบบขนส่งมวลชน สำหรับเมืองที่มีปัญหารถติด ซึ่งนอกจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) แล้ว หลายเมืองใหญ่ในภูมิภาคของไทย กำลังประสบปัญหาการจราจรอย่างหนัก รวมไปถึง มลพิษทางอากาศ จากไอเสียรถยนต์ ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

ซึ่งจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่11 ก.ย. 2561 ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ พังงา และภูเก็ตได้ และ มติครม. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ให้ รฟม. อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ให้รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.นครราชสีมา …ล่าสุด มติครม.เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 อนุมัติหลักการร่างพ.ร.ฎ.ให้รฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก

ทำให้รฟม.มีอำนาจในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นไว้ รวม 4 จังหวัด คือ “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก”

@รถไฟฟ้าภูเก็ตประเดิมเอกชนลงทุน 3.5 หมื่นล.

โดยปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา รถไฟฟ้าในภูมิภาค จำนวน 3 โครงการ โดยโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) ได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562แล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติ จาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.

”แทรมป์ภูเก็ต”เสียเวลาเรื่องการออกแบบอยู่นาน เพราะต้องมีการปรับแบบหลายรอบ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง และความปลอดภัย เนื่องจากมีข้อกังวลปัญหาจราจรและเรื่องอุบัติเหตุ เรื่องการแชร์เลนถนนระหว่างแทรมป์กับรถยนต์ ดังนั้น ในบางช่วงจึงต้องยกระดับเพื่อแก้ปัญหา จึงส่งผลให้ค่าก่อสร้างสูงเพิ่มขึ้น”

โดยตามผลการศึกษา ในการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. มี 21 สถานี มูลค่า 35,100 ล้านบาท จะลงทุนโดยใช้รูปแบบ PPP Net Cost ประเมินค่างานโยธาอยู่ที่กว่า 27,000 ล้านบาท งานระบบอยู่ที่ประมาณ 6,600 ล้านบาท ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ที่ประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุน (EIRR) ประมาณ 12.9 % ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง

ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเสนอบอร์ด รฟม. เพื่อขอความเห็นชอบ รายงาน PPP จากนั้นจะเสนอครม.อนุมัติ โดยวางไทม์ไลน์ การประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนช่วงกลางปี 2563 เปิดให้บริการเดือน มี.ค. 2568

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่บอร์ด รฟม.ยังติดใจ คือ เรื่องประมาณการณ์ผู้โดยสาร ที่คาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน นั้น อาจจะสูงเกินไปหรือไม่ ... ให้ประเมินพฤติกรรมการเดินทางอย่างรอบด้าน และเปรียบเทียบการเดินทางด้วยขนส่งอื่นๆ เช่น Airport Bus ผู้ใช้ที่เป็นนักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่

สำหรับ รถแทรมป์ภูเก็ตนั้น มีบริการ 2 ฟังก์ชั่น คือ ช่วงนอกเมือง กำหนดความเร็วสูงสุดที่ให้บริการ 80 กม./ชม. พื้นที่เมืองชั้นใน จะวิ่งด้วยความเร็ว 20-40 กม./ชม. โดยกำหนดอัตราค่าโดยสาร ณ ปีที่เปิดให้บริการ เริ่มต้น 22.50 บาท + ค่าโดยสารตามระยะทาง 3.12 บาท/กม.

@เอกชนเมินลงทุนแทรมป์“เชียงใหม่”– ติงค่าโดยสารต่ำ รีเทิร์นไม่คุ้ม

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกเเม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นโครงการที่ 2 ของรฟม. ที่ใกล้จะสรุปผลการศึกษาการร่วมลงทุน PPP แล้ว โครงการมีมูลค่ารวม 27,200 ล้านบาท โดยรัฐจะลงทุนค่าเวนคืน ประมาณ 4,400 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา (Civil Work) ประมาณ 15,000 ล้านบาท จัดหาขบวนรถไฟฟ้า (Rolling Stock) ประมาณ 5,000 ล้านบาท และบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดอายุ สัมปทาน 30 ปี โดยตามหลักรัฐจะอุดหนุนการลงทุนเอกชนไม่เกินมูลค่างานโยธา

รถไฟฟ้าเชียงใหม่ หรือแทรมป์สายสีแดง มีระยะทาง 16 กม. จำนวน 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี เป็นทางระดับดิน 6.5 กม. ใต้ดิน 9.5 กม. โดยทางระดับดิน จะใช้พื้นที่เกาะกลางถนน เป็นหลัก

เบื้องต้น กำหนดอัตราค่าโดยสาร ตามระยะทาง เริ่มต้น 15 -30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์ โครงการฯ มีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 13% ประมาณการณ์ผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการ ที่ 16,000 คน/ต่อวัน

โดยจะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 2562 คาดว่าจะได้ตัวผู้รับสัมปทานและเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี เปิดให้บริการ ในปี 2570

ล่าสุด รฟม.ได้มีการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(Market Sounding) ซึ่งภาคเอกชน มีความเห็นว่า โครงการมีผลตอบแทนการลงทุน (FIRR) ติดลบ จึงไม่จูงใจในการลงทุน และเอกชนได้เสนอความเห็น ว่า โครงการนี้ ควรใช้รูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐลงทุนและจ้างเอกชนเดินรถ หรือเปิดประมูลโดยให้คัดเลือกเอกชนรายที่ขอรัฐอุดหนุนน้อยที่สุด จึงจะมีความเป็นไปได้

ทั้งนี้เนื่องจาก โครงการออกแบบการก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินบางส่วน เพื่อลดผลกระทบ ทำให้วงเงินลงทุนโครงการสูง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า กรณีที่เอกชนมีความเห็นว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ ผลตอบแทนไม่คุ้มค่านั้น แม้จะเป็นความเห็นของเอกชนกลุ่มเดียว แต่ รฟม.ต้องนำมาพิจารณาประกอบผลการศึกษา โดยยังยืนยันว่า รูปแบบ PPP Gross Cost มีความเหมาะสม แล้ว

ดังนั้น กรณี FIRR ต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดค่าโดยสารที่อาจจะค่อนข้างต่ำ ซึ่ง อัตราค่าโดยสาร ตามระยะทาง มีค่าแรกเข้า 14 บาท บวกสถานีละ 1 บาท สูงสุด 30 บาทต่อเที่ยว ขณะที่ค่าเฉลี่ยปกติค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะบวกสถานีละ 2 บาท จึงเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับตัวเลขค่าโดยสารใหม่

@ รถไฟฟ้า”โคราช”ศึกษา PPP ลงทุน นำร่องสายสีเขียว วงเงิน 8 พันล.

ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา รฟม.ได้จ้างที่ปรึกษา ศึกษารายละเอียดความเหมาะสมและออกแบบ สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.10 กม. โดยประเมินมูลค่าลงทุนเบื้องต้นไว้ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท

รถไฟฟ้าสายสีเขียว จ.นครราชสีมา มีแนวเส้นทางเริ่มจาก ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ซึ่งผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ตลาดเซฟวัน ตลาดมิตรภาพ สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา คลังพลาซ่าใหม่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานจังหวัดนครราชสีมา สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นต้น

เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) หรือ Tram รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวตะวันออก - ตะวันตก บนถนนมิตรภาพ ถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถนนราชดำเนิน ถนนชุมพล และถนนสุรนารายณ์ มีสถานีจำนวน 20 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณบ้านนารีสวัสดิ์ ซึ่ง อัตราค่าโดยสาร ตามระยะทาง เบื้องต้นมีค่าแรกเข้า 10 บาท บวกสถานีละ 1 บาท

คาดว่าจะ เปิดให้บริการต้นปี 2568 มีผู้โดยสารประมาณ 1 หมื่นคน/วัน เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักที่ผ่านสถานที่สำคัญและมีสถานีเชื่อมต่อกับสถานรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง

@ เตรียมจ้างศึกษา PPP ”แทรมป์ล้อยาง”พิษณุโลก”3.6พันล.

สำหรับ รถไฟฟ้าใน จ.พิษณุโลก ซึ่งครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.ให้รฟม.ดำเนินกิจการนั้น ตามผลการศึกษาสนข. ได้ว่าจ้าง ม.นเรศวร ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยสรุปผลศึกษาระยะที่ 1 เส้นทางสายสีแดง(ม.พิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก) เป็นเส้นทางที่ควรพัฒนาก่อน เป็นระบบขนส่งรูปแบบ “รถรางล้อยาง” หรือ Auto Tram ระยะทาง 12.6 กม.จำนวน 15 สถานี

โดยใช้การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP- Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืน ค่าก่อสร้างงานโยธา และระบบรถไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุนจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 3,440 ล้านบาท

ตามแผน ประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนได้ในเดือนก.ย. 2565 – ต.ค. 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 โดยคาดว่าปริมาณผู้โดยสารตามแผนระยะที่ 1 มีผู้โดยสารประมาณ 5,700 คน-เที่ยววัน ในปีที่เปิดให้บริการและเพิ่มเป็น 13,700 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2574

@รถไฟฟ้ารางเบา”ขอนแก่น-หาดใหญ่”นิ่งสนิท

นโยบายการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาคและแก้ไขปัญหาจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาค ยังมี ที่ ขอนแก่น และ สงขลา ซึ่ง ท้องถิ่น รับดำเนินการเอง

โดยจังหวัด ขอนแก่น มีการศึกษารถไฟฟ้ารางเบา (สำราญ-ท่าพระ) มีระยะทาง 26 กม. จำนวน 20 สถานี ซึ่งประมาณการณ์ค่าก่อสร้างไว้กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการดำเนินการโดย บริษัทขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด(KKTS) ภายใต้ความร่วมมือกับเทศบาล

ขณะที่อัตราค่าโดยสาร กำหนดเริ่มต้นสถานีแรกที่ 15 บาท และคาดการณ์ปริมาณผู้ใช้บริการต่อวันอยู่ที่ 60,000 เที่ยว/วัน

สำหรับรถไฟฟ้ารางเดี่ยว “หาดใหญ่”นั้น ดำเนินการโดยองค์กรท้องถิ่นเช่นกัน คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เป็นระบบโมโนเรลหาดใหญ่ เส้นทางคลองหวะ-สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. 12 สถานี วงเงินลงทุน 16,186 ล้านบาท

ค่าโดยสารเบื้องต้น ที่ 20 บาท ประมาณการณ์ว่าจะมี ผู้ใช้บริการ 55,902 คน/วัน ในปีแรกที่เปิดและเพิ่มเป็น 75,165 คนในอีก 10 ปีต่อไป ซึ่งปัจจุบันโครงการออกแบบเสร็จแล้ว คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP และครม.อนุมัติ ได้ในปีนี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 2ปีครึ่ง กำหนดเปิดให้บริการเร็วสุดในปี 2565

สำหรับ รฟม.นั้น วางโมเดลการลงทุนรถไฟฟ้าในภูมิภาค ที่อยู่ในความรับผิดชอบ 4 จังหวัด “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก” ภายใต้ รูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน PPP- Net Cost แต่จากที่มีการเปิดเวที รับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) นักลงทุนไม่ค่อยตอบรับโมเดล PPP- Net Cost มากนัก เพราะขึ้นชื่อว่า รถไฟฟ้า ค่าลงทุนสูงมาก ไม่ว่าจะอยู่ในกทม.หรือต่างจังหวัด


X


รถแทรมป์... จะเน้นก่อสร้าง บนเกาะกลางถนน แต่ด้วยกายภาพ ก็ไม่สามารถที่จะสร้างไปบนเกาะกลางได้ตลอดเส้นทาง ต้องมีทั้งเวนคืนเพิ่ม มีทั้งปรับแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ เป็นใต้ดิน ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงทั้งสิ้น ขณะที่ค่าโดยสารจะกำหนดให้สอดคล้องกันต้นทุนไม่ได้ เพราะต้องนำตัวเลขทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ

โดยเฉพาะรายได้ของประชากร ว่าจะจ่ายไหว/ไม่ไหว...อีกด้วย

อีกประเด็นสำคัญคือ...ระบบเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) หากไม่มีป้อนจาก บ้าน ชุมชน หรือสถานที่สำคัญ เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า... ยังไงก็ เจ๊ง!

อย่างไรก็ตาม รฟม.ยังคงยืนยัน ในรูปแบบการลงทุน PPP- Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืน ส่วนเอกชน ลงทุนในส่วนของงานโยธาและระบบ และรับบริหารการเดินรถตลอดอายุสัมปทาน โดยรัฐจะอุดหนุนเอกชน ไม่เกินค่างานโยธา

แต่!หาก ข้อเสนอของรัฐไม่ตอบโจทย์ทางการเงิน ผลตอบแทนต่ำ...นักลงทุนไม่ร่วมประมูล...โครงการก็...ไม่เกิด รัฐต้องถอยกลับมาปรับเงื่อนไขใหม่ ซึ่งยังมีโมเดล สายสีส้ม ที่ใช้การร่วมลงทุน PPP- Net Cost ภาครัฐลงทุนค่าเวนคืน ส่วนเอกชนลงทุนค่างานโยธาและระบบ... โดยรัฐจะทยอยจ่ายคืนภายหลัง ซึ่งน่าจะจูงใจเอกชนได้มากขึ้น

ส่วนPPP- Gross Cost รัฐลงทุนทั้งหมดและจ้างเอกชนเดินรถ แบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะเป็นทางเลือกสุดท้าย!
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 11/03/2020 4:23 pm    Post subject: Reply with quote

สนข.ลุยสร้าง “ทางด่วน” ผ่าน ม.เกษตร เร่งผุดโครงข่ายใหม่เชื่อมโซนตะวันออก-ตะวันตก

วันที่ 10 มีนาคม 2563

รอเคาะ - ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N1 หลังปรับแนวใหม่ผ่านหลัง ม.เกษตร ล่าสุดแนวใหม่ติดพื้นที่กรมทหารราบที่ 11 และคลองบางบัว ท..ำให้ สนข.พับแผน กลับมาใช้แนวผ่านหน้า ม.เกษตรตามเดิม
สนข.ผ่าทางตันทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ หลังแนวใหม่เลียบคลองบางบัวติดหล่มพื้นที่ กลับมาใช้แนวเดิม ตัดผ่านหน้า ม.เกษตรฯเหมือนเดิม รอปรับรูปแบบเหมาะสมจะยกระดับหรืออุโมงค์ เพื่อลดเสียงต้าน เล็งลากแนวยกข้ามโทลล์เวย์เลาะไปตามคลองเปรมประชากร เชื่อมปลายทางที่ด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ลั่นยังไงก็ต้องสร้าง เป็นเส้นยุทธศาสตร์เชื่อมการเดินทาง ทะลวงรถติด แบ่งสร้าง 2 เฟส นำร่องช่วง N2 แยกเกษตร-นวมินทร์ทะลุวงแหวนฯ ระยะทาง 11.3 กม. กทพ.ใช้เงินกองทุน TFF ลงทุน 1.5 หมื่นล้าน กดปุ่มประมูลปีนี้ ตอกเข็ม ก.ค.ปี’64

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สนข.จะเดินหน้าก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N1 N2 และส่วนต่อขยาย E-W corridor ในเส้นทางเดิมเชื่อมการเดินทางโซนตะวันออก-ตะวันตก โดยจะกลับมาใช้แนวเส้นทางช่วง N1 พาดผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เหมือนเดิม จากก่อนหน้านี้ที่ปรึกษาเสนอแนวเส้นทางปรับใหม่อ้อมไปด้านหลังมหาวิทยาลัยแทน เพื่อเลี่ยงผลกระทบ


สนข.ลุยสร้าง “ทางด่วน” ผ่าน ม.เกษตร เร่งผุดโครงข่ายใหม่เชื่อมโซนตะวันออก-ตะวันตก

กลับมาใช้แนวผ่าน ม.เกษตรฯ
โดยแนวเส้นทางเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก มาตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ) ผ่านแยกนวมินทร์ นวลจันทร์ ทางด่วนศรีรัช สุคนธสวัสดิ์ เสนานิคม ลาดปลาเค้า แล้วเลี้ยวขึ้นเหนือเลียบคลองบางบัวตามแนวถนนผลาสินธุ์ จนถึงคลองบางเขนจึงเลี้ยวตามแนวคลองบางเขนจนถึงถนนวิภาวดี-รังสิต แล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งขนานกับโทลล์เวย์ ผ่านแยกบางเขน ไปเชื่อมกับทางยกระดับโทลล์เวย์เชื่อมกับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกที่จะสร้างในอนาคตบริเวณต่างระดับรัชวิภา แต่ล่าสุดมีปัญหาเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง จึงต้องกลับมาใช้แนวเส้นทางเดิมที่ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้

“เพื่อให้โครงการเดินหน้าและทำให้การเดินทางสมบูรณ์แบบในการเชื่อมต่อระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ยังไงโครงการนี้จะต้องสร้าง เพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการและระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ให้แล้ววงเงิน 14,382 ล้านบาท อาจจะปรับสร้างเป็น 2 ระยะ เริ่มช่วง N2 จากแยกเกษตร-นวมินทร์ไปเชื่อมกับวงแหวนรอบนอกตะวันออกก่อน ขณะเดียวกันก็เร่งสรุปรูปแบบช่วงผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสร้างเป็นทางยกระดับหรืออุโมงค์แทน คาดว่าทั้ง 2 ช่วงจะใช้เวลาสร้างและเปิดใช้ไม่ห่างกันมาก อาจจะช้าประมาณ 1-2 ปี ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลยังเดินหน้าโครงการไปพร้อมกันเหมือนเดิม”

พ่วงรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวเส้นทางโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือรวมช่วงทดแทน N1 ที่ สนข.ศึกษา กับตอน N2 และต่อขยายช่วง E-W corridor มีระยะทางรวม 17.2 กม. ใช้เงินลงทุน 23,266 ล้านบาท โดยจะสร้างควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี 22.1 กม. เงินลงทุน 48,386 ล้านบาท มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ เชื่อมการเดินทางพื้นที่ตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ และแก้รถติดถนนเกษตร-นวมินทร์ มีปริมาณจราจร 154,265 คัน/วัน

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากการที่งานก่อสร้างช่วง N1 แนวใหม่ที่ สนข.ศึกษาติดปัญหาพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้าง ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติให้ กทพ.ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมขออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างช่วง N2 และส่วนต่อขยายไปเชื่อมกับวงแหวนรอบนอกตะวันออกก่อน รวมระยะทาง 11.3 กม. วงเงิน 15,350 ล้านบาท เนื่องจากมีความพร้อมเรื่องเงินลงทุนและแบบก่อสร้าง

กทพ.ลุยช่วง N2 เชื่อมวงแหวน
ขณะนี้กำลังทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่ออนุมัติโครงการ แต่จะเปิดประมูลก่อสร้างคู่ขนานกันไป จะเร่งให้ทันภายในปี 2563 นี้ เมื่อ EIA ได้รับอนุมัติถึงจะเซ็นสัญญา คาดว่าจะเริ่มสร้างในเดือน ก.ค. 2564 ใช้เวลาสร้าง 36 เดือนหรือ 3 ปี เปิดบริการในปี 2567 จะมีปริมาณการจราจร 78,982 คันต่อวัน

ทั้งนี้การก่อสร้างช่วง N2 จะมีฐานตอม่อเดิมอยู่แล้ว 281 ต้น ที่จะนำมาใช้ก่อสร้างได้ นอกจากนี้แนวเส้นทางยังใช้โครงสร้างร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ด้วย ระยะทางประมาณ 8.1 กม. จากบริเวณคลองบางบัวถึงแยกนวลจันทร์-นวมินทร์ โดย รฟม. ให้ กทพ.เป็นผู้ก่อสร้างฐานรากของรถไฟฟ้าร่วมกับทางด่วนไปก่อน โดยมีวงเงินก่อสร้างอยู่ที่ 1,470 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตลอดแนวเส้นทางมีทางขึ้น-ลงรวม 3 แห่ง และทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง ได้แก่ จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณคลองบางบัว, ทางแยกต่างระดับฉลองรัช, ทางลงถนนรัชดาภิเษก-รามอินทรา เพื่อรองรับการเดินทางไปยังถนนนวมินทร์ ถนนเลียบวงแหวนตะวันออก ถนนรามอินทรา, ทางขึ้น-ลงถนนเลียบวงแหวนตะวันออก, ทางแยกต่างระดับลาดบัวขาว โดยจะมีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่แยกฉลองรัช จำนวน 6 แห่ง 48 ช่องจราจร เป็นระบบเปิด จ่ายค่าผ่านทางคงที่

ผุดแนวใหม่เลาะคลองเปรม
“ส่วนแนวเส้นทางช่วง N1 เบื้องต้นจะสร้างผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วยกข้ามโทลล์เวย์ แล้วไปเลี้ยวเข้าคลองเปรมประชากร แล้วสร้างขนานแนวคลองเพื่อไปเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก จากแนวเดิมตั้งแต่แรกจะมุ่งหน้าไปเชื่อมกับทางด่วนศรีรัชตรงงามวงศ์วาน ทั้งนี้ยังไม่มีข้อยุติ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กทพ.ให้บริษัทที่ปรึกษาออกแบบทางขึ้นลงช่วงแยกเกษตรฯใหม่ ไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรที่มีข้อกังวลว่าจะเป็นคอขวดทำให้รถติดหนักขึ้นกว่าเดิม หากสร้างจากวงแหวนรอบนอกตะวันออกมาถึงแยกเกษตรฯ เช่น สร้างทางขึ้นลงก่อนถึงอุโมงค์ทางลอดแยกเกษตรฯเพื่อระบายรถ เป็นต้น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 13/03/2020 6:19 pm    Post subject: Reply with quote

รฟม.ลุย PPP 7 หมื่นล้าน สร้างรถไฟฟ้า “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก”

วันที่ 13 มีนาคม 2563 - 15:49 น.

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองภูมิภาค ใน 4 จังหวัด เพื่อแก้ปัญหาการจราจร และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเป็นการลงทุนรูปแบบ PPP รัฐจะลงทุนงานโยธาคิดเป็นสัดส่วน 80% และเอกชนลงทุนระบบและรับสัมปทานเดินรถ คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 20%



ทั้ง 4 โครงการ คาดว่าใช้เงินลงทุนรวม 72,085 ล้านบาท ซึ่งพร้อมดำเนินการที่สุด คือ รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 41.7 กม. จำนวน 21 สถานี จากท่าอากาศยาน-ห้าแยกฉลอง วงเงินลงทุน 35,294 ล้านบาท รูปแบบโครงสร้างมีทั้งใต้ดิน-ระดับพื้นดิน จะเป็นรถไฟฟ้าระบบแทรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.อนุมัติรูปแบบ PPP ก่อนเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะเริ่มการคัดเลือกเอกชนในเดือน พ.ย.2563 ก่อสร้างเดือน ธ.ค.2564 เปิดเดือน มี.ค.2568

จากนั้นเป็นรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง จากโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. จำนวน 16 สถานี เงินลงทุน 27,211 ล้านบาท ตลอดเส้นทางมีทั้งโครงสร้างใต้ดินและระดับพื้นดิน เป็นรถไฟฟ้าระบบไรต์เรล ขณะนี้กำลังออกแบบรายละเอียดและทำรายงาน PPP ตามแผน จะคัดเลือกเอกชนในเดือน ก.พ.2564 เริ่มสร้างปี 2565 เปิดเดือน ธ.ค.2570

รฟม.ลุย PPP 7 หมื่นล้าน สร้างรถไฟฟ้า “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก”

ต่อมาเป็นรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียวจากตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดี ระยะทาง 11.7 กม. จำนวน 20 สถานี เงินลงทุน 7,914 ล้านบาท รูปแบบเป็นโครงสร้างระดับพื้นดินและเป็นรถไฟฟ้าระบบไรต์เรล อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดและรูปแบบการลงทุน PPP ตามแผนจะเริ่มคัดเลือกเอกชนในเดือน มี.ค.2564 ก่อสร้างเดือน เม.ย.2565 เปิดบริการเดือน ก.ค.2568

สุดท้ายเป็นรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดงจากมหาวิทยาลัยนเรศวร-เซ็นทรัลพิษณุโลก ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติให้ รฟม.เริ่มดำเนินโครงการทั้งศึกษา ออกแบบรายละเอียดและรูปแบบการลงทุน PPP มีระยะทาง 12.6 กม.จำนวน 15 สถานี เงินลงทุน 1,666.78 ล้านบาท รูปแบบโครงสร้างเป็นระดับพื้นดิน ส่วนรถไฟฟ้าจะเป็นระบบออโต้แทรม ตามแผนจะเสนอขออนุมัติรูปแบบลงทุนในเดือน พ.ค.2564 คัดเลือกเอกชนในเดือน ก.ย.2565 ก่อสร้างเดือน ต.ค.2566 เปิดบริการเดือน ธ.ค.2569
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 209, 210, 211 ... 277, 278, 279  Next
Page 210 of 279

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©