RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311329
ทั่วไป:13291352
ทั้งหมด:13602681
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 275, 276, 277 ... 279, 280, 281  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44893
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 09/12/2023 11:49 am    Post subject: Reply with quote

ผลงาน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ 4 เดือน ไร้แววประมูล ‘เมกะโปรเจกต์’
กรุงเทพธุรกิจ 09 ธ.ค. 2566 เวลา 6:25 น.

เช็คผลงาน “รัฐบาลเศรษฐา” หลังรับตำแหน่ง 4 เดือน ยังไร้แววประมูลเมกะโปรเจกต์ พบโครงการระบบรางยังค้างท่อจำนวนมาก ขณะที่ “คมนาคม” กางแผนปีหน้าลุย 14 โครงการ เม็ดเงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท

นับจากวันที่ 23 ส.ค.2566 พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นว่า “จะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ มั่นใจว่า 4 ปีต่อจากนี้ จะเป็น 4 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง”

เป็นระยะเวลาเกือบ 4 เดือนของการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลงานที่เห็นชัดจากนโยบายหลัก “เพื่อไทย” ที่ใช้ในการหาเสียงที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายด้านคมนาคม คือ การปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งขณะนี้พบว่าสามารถนำร่องดำเนินการได้แล้วในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟชานเมืองสายสีแดง

ขณะที่นโยบายเกี่ยวกับการผลักดันเม็ดเงินลงทุนด้านคมนาคมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ต้องยอมรับว่าในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมายังไม่เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ ยังคงไร้แววการเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาครัฐ

โดยภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาลเศรษฐา พบว่ามีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเพียงโครงการเดียวในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการค้างท่อจากรัฐบาลก่อน และถือว่ามีความพร้อมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ทันที แต่ถึงแม้จะผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว ปัจจุบันสถานะโครงการก็ยังคงไม่ประกาศประกวดราคา

ส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่คั่งค้างจากรัฐบาลก่อนหน้ามีจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนระบบราง ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาท อาทิ

ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท
ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,200 ล้านบาท
ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,300 ล้านบาท
ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,800 ล้านบาท
ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท
ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,660 ล้านบาท
รวมไปถึงโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) 3 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลการศึกษาแล้วเสร็จ และรัฐบาลเศรษฐาโดยกระทรวงคมนาคม เคยประกาศเมื่อครั้งรับตำแหน่งว่าจะเร่งผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายในปีนี้ แต่ปัจจุบันยังคงมีสถานะรอนำเสนอ โดยโครงการดัวกล่าวประกอบด้วย

ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท
ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท
ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
ขณะที่ปัญหาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีมูลค่าการลงทุนระดับแสนล้านบาท โดยปัจจุบันยังมีสถานะไม่ขยับไปจากเดิม สืบเนื่องจากรอการพิจารณาจากรัฐบาล รวมไปถึงยังมีข้อพิพาทอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล ประกอบด้วย

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี งานโยธาฝั่งตะวันตก และงานระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท
โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาการผลักดันเม็ดเงินลงทุนเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ในปี 2567 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ประกาศแผนดำเนินงานจะเริ่มต้นตอกเสาเข็ม 14 โครงการ วงเงินลงทุนมากกว่า 5.7 แสนล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42793
Location: NECTEC

PostPosted: 15/12/2023 7:22 pm    Post subject: Reply with quote

🚝วันนี้เดินทางไปสถานีไหนดีคะ
โปรเจคออกแบบตราสัญลักษณ์สถานีรถไฟฟ้ากรุงเทพ
ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานการออกแบบของนศ.ชั้นปีที่ 3 ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ ลาดกระบังฯ
https://www.facebook.com/shopsom.nitessilp/posts/781134927155717
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42793
Location: NECTEC

PostPosted: 18/12/2023 4:03 pm    Post subject: Reply with quote

เริ่มสำรวจและทำทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพูและ MRT สายสีส้มแล้ว! ที่สถานีมีนบุรี (PK30, OR28) ซึ่งทั้ง 2 สถานีอยู่ห่างกันประมาณ 200 ม. มาลุ้นกันว่าจะออกมาในรูปแบบไหน
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=328697903372567&id=100086970807579
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44893
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/12/2023 9:31 am    Post subject: Reply with quote

วุ่นหา8พันล./ปีชดเชยรถไฟฟ้า20บ.
Source - เดลินิวส์
Thursday, December 21, 2023 08:34

ทำทุกสายตามนโยบายปี68 'สุริยะ'แถลงผลงานโบแดง

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม พร้อมนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ร่วมแถลงข่าวผลงาน "99 วัน 9 เรื่องเด่น" โครงการสำคัญเร่งด่วน พร้อมขับเคลื่อน ตามนโยบาย Quick win ผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด ไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 66 นำร่องสาย สีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน

2. การเปิดใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 66 เพื่อสนับสนุน และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว, 3. เปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) พร้อมระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ตั้งแต่เดือน ก.ย.66 รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี, 4. เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) เตรียมเปิดบริการฟรี 2 เส้นทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 67 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ช่วงปากช่อง-ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กม.และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ช่วงนครปฐม ฝั่งตะวันตกกาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม.

ขณะเดียวกันยังเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เส้นทางนครปฐมชุมพร และเปิดช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 66 เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางไม่เสียเวลารอหลีกขบวนรถอีกต่อไป, 5. การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ 29 ท่า ปรับปรุงเสร็จแล้ว 9 ท่า อยู่ระหว่างปรับปรุงและก่อสร้าง 5 ท่า เหลืออีก 15 ท่า จะปรับปรุงต่อเนื่อง, 6. เดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge) ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นโครงการจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) แล้วที่สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในปี 67 เตรียม Road Show ประเทศจีน กลุ่มตะวันออกกลาง และยุโรป เปิดประมูลปี 68

7. การปรับเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กระทรวงคมนาคมมอบหมายหน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์สันดาปที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์ EV, 8.โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมจังหวัดภูเก็ต อาทิ การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) คาดว่าจะเปิดบริการปี 72, โครงการขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วงบ้านพารา-บ้านเมืองใหม่, โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง, การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 จ.พังงาและ 9.การปราบส่วยทางหลวง และแก้ปัญหาการทุจริต

นายสุริยะ กล่าวว่า พอใจผลงานช่วง 99 วัน ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินและให้คะแนน และจะแถลงผลงานอีกครั้งช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ สำหรับผลงานชิ้นโบแดงเป็นโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน กำลัง เร่งหารือทุกภาคส่วน เพื่อใช้นโยบายกับรถไฟฟ้าทุกสายให้ได้ภายใน 2 ปี มั่นใจ ว่าทำได้แน่นอน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างผลักดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม และคาด ว่าจะเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรประมาณต้นปี 67

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ไม่สามารถบังคับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ให้ลดราคาลงได้ เพราะมีสัญญาสัมปทานที่ลงนามไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงต้องพยายามหาแนวทางนำเงินไปจ่ายชดเชยให้เอกชน ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษา เบื้องต้นจะใช้เงินชดเชย 7-8 พันล้านบาทต่อปี ใน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะกำหนดให้จัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมนำเงินจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน อาทิ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล นอกจากนี้ยังพิจารณาแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น เฉพาะสถานีน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ระหว่างพิจารณา อาทิ 50 สตางค์, 25 สตางค์ เป็นต้น จะช่วยจูงใจให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้น ปัจจุบันมีรถยนต์ในกรุงเทพฯ ประมาณ 10 ล้านคันต่อวัน.

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 ธ.ค. 2566 (กรอบบ่าย)
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42793
Location: NECTEC

PostPosted: 21/12/2023 1:06 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
วุ่นหา8พันล./ปีชดเชยรถไฟฟ้า20บ.
Source - เดลินิวส์
Thursday, December 21, 2023 08:34

ทำทุกสายตามนโยบายปี68 'สุริยะ'แถลงผลงานโบแดง


Wisarut wrote:
‘คมนาคม’ ผุดตั้งกองทุนตั๋วร่วมเดินหน้ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง
20 ธันวาคม 2566 เวลา 14:07 น.


ลิงก์มาแล้วครับ:
ขึ้นภาษีวุ่นหาเงิน8พันล./ปีชดเชยเอกชนรถไฟฟ้า20บ.
*ยืนยันทำทุกสายภายในปี 68ตามนโยบายหาเสียง
*สุริยะนำทีมรมช.คมนาคมแถลงผลงานชิ้นโบว์แดง
https://www.facebook.com/TransportDailynews/posts/906253567618545
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42793
Location: NECTEC

PostPosted: 22/12/2023 11:30 am    Post subject: Reply with quote

เส้นทางรถไฟฟ้า อัปเดต พร้อมสวนสาธารณะและตลาดต้นไม้ใกล้สถานี
Home Garden Ideas
บ้านและสวน

22 ธันวาคม 2566 เวลา 11:03 น.

อัปเดต เส้นทางรถไฟฟ้า เพิ่มขึ้นทั้งสายสีเหลือง และสายสีชมพู มาช่วยให้การเดินทางเชื่อมต่อถึงกัน และเดินทางได้ง่ายขึ้น
ไม่ว่าจะไปสวนสาธารณะ หรือ ตลาดต้นไม้ ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าไปได้ตาม เส้นทางรถไฟฟ้า แม้ตลาดใหญ่ชานเมืองจะไม่ได้ติดสถานีรถไฟฟ้าซะทีเดียว แต่ก็เดินทางต่อไปอีกไม่ไกลเลย มาดูกันเลยว่ามีที่ไหนกันบ้าง

สวนสาธารณะ


สวนเบญจกิติ สถานี อโศก (สายสีเขียวอ่อน) , สถานี ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (สายสีน้ำเงิน)
สวนวชิรเบญจทัศ หรือ สวนรถไฟ สถานี หมอชิต (สายสีเขียวอ่อน, สถานี สวนจตุจักร (สายสีน้ำเงิน)
สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สถานี หมอชิต (สายสีเขียวอ่อน), สถานี สวนจตุจักร (สายสีน้ำเงิน)
อุทยาน 100 ปี จุฬา สถานี สนามกีฬาแห่งชาติ (สายสีเขียวเข้ม), สถานี สามย่าน (สายสีน้ำเงิน)
สวนลุมพินี สถานี ศาลาแดง (สายสีเขียวเข้ม) , สถานี สีลม, สถานี ลุมพินี (สายสีน้ำเงิน)
สวนสันติภาพ สถานี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (สายสีเขียวอ่อน)
สวนเพชรกาญจนารมย์ สถานี หลักสอง (สายสีน้ำเงิน)
สวนรมณีนาถ สถานี สามยอด (สายสีน้ำเงิน)
สวนสราญรมย์ สถานี สนามไชย (สายสีน้ำเงิน)
สวนหลวง ร.9 สถานี สวนหลวงร.9 (สายสีเหลือง)
อุทยานมกุฏรมยสราญ สถานี ศูนย์ราชการนนทบุรี (สายสีม่วง)
สวนมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา สถานี ศรีรัช (สายสีชมพู)
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สถานี สนามไชย (สายสีน้ำเงิน)
สวนหลวงพระราม 8 สถานี บางยี่ขัน (สายสีน้ำเงิน)

ตลาดต้นไม้
ตลาดต้นไม้กรมทหารราบที่ 11 สถานี กรมทหารราบ 11 (สายสีเขียวอ่อน)
ตลาดนัดสวนจตุจักร สถานี หมอชิต (สายสีเขียวอ่อน), สถานี สวนจตุจักร / สถานี กำแพงเพชร (สายสีน้ำเงิน)
ตลาดธนบุรี (สนามหลวง2) สถานีหลักสอง (สายสีน้ำเงิน)
ตลาดแสงอารี, ตลาดบิ๊กการ์เด้น, ตลาดต้นไม้ซอยวัดพระเงิน, ตลาดการ์เด้นเซ็นเตอร์, บุญยงตลาดต้นไม้ สถานี บางใหญ่ (สายสีม่วง)
ตลาดสมบัติบุรี สถานี คลองบางไผ่ (สายสีม่วง)
ตลาดต้นไม้เจ้าจอม Airport Rail Link สถานี ลาดกระบัง
ตลาดนัดจตุจักร 2 มีนบุรี สถานี ตลาดมีนบุรี (สายสีชมพู)
งานบ้านและสวนแฟร์

บ้านและสวนแฟร์ ไบเทคบางนา สถานี บางนา (สายสีเขียวอ่อน)
บ้านและสวนแฟร์ อิมแพค เมืองทองธานี สถานี ศรีรัช (สายสีชมพู)
https://www.facebook.com/baanlaesuanmag/posts/767779915393398
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42793
Location: NECTEC

PostPosted: 22/12/2023 4:45 pm    Post subject: Reply with quote

'คมนาคม' ลุยกองทุนตั๋วร่วม ชงขึ้นราคาน้ำมันเขตกรุงเทพฯ ชดเชยรายได้รถไฟฟ้า
หน้าเศรษฐกิจ
วันพุธ ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 12:54 น.

“คมนาคม” ดันตั้งกองทุนตั๋วร่วมต้นปีหน้า หนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางเกิดภายใน 2 ปี พร้อมเร่งศึกษาโมเดลหางบ 7 – 8 พันล้านบาทจ่ายชดเชยเอกชน เล็งขอเงินสนับสนุนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และปรับขึ้นราคาน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพฯ 50 สตางค์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยระบุว่า ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ใน 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล

ส่วนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ นั้น ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุกสายอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้ตามเป้าหมายภายใน 2 ปีหลังจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดัน พรบ.ตั๋วร่วม และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า


อย่างไรก็ดี การผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าที่มีสัญญาสัมปทานร่วมกับเอกชน นอกจากต้องใช้ พรบ.ตั๋วร่วมเพื่อขับเคลื่อนแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องชดเชยส่วนต่างที่หายไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาสัมปทาน ดังนั้นกระทรวงฯ จึงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางที่จะนำเงินไปจ่ายชดเชยเอกชน โดยเบื้องต้นจะจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมที่นำเงินมาจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล

รวมไปถึงการระบุใน พรบ.ตั๋วร่วม เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น อาทิ ในอัตรา 50 สตางค์ เฉพาะสถานีน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำเงินสนับสนุนเข้ากองทุน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น แต่สามารถจูงใจประชาชนให้เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่จะปรับราคาลงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนปรับลดลง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นกระทรวงฯ ประเมินวงเงินที่ใช้หมุนเวียนในกองทุนตั๋วร่วมเพื่อชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 7 – 8 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งมั่นใจว่าแนวทางที่อยู่ระหว่างศึกษาขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นโมเดลที่หลายประเทศใช้กัน อีกทั้งจากการตรวจสอบพบว่าการนำเงินจากกองทุนดังกล่าวมาสนับสนุนไม่ขัดต่อหลักการของการจัดตั้งกองทุน เนื่องจากบริการรถไฟฟ้านับเป็นบริการที่เข้าข่ายอนุรักษ์พลังงาน

สุริยะ ผุดไอเดียขึ้นภาษีน้ำมัน กทม.-ปริมณฑล จูงใจประชาชนใช้รถไฟฟ้า
วันที่ 20 ธันวาคม 2566 - 13:34 น.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ผ่านการพิจารณา กระทรวงฯ จะหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม วงเงินประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท โดยมีแนวคิดว่าปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เบนซิน ในปั๊มน้ำมันในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมัน ที่จะสูงกว่าปกติประมาณ 0.50 บาทต่อลิตร เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น และเป็นการนำเงินจากภาษีดังกล่าวเข้ากองทุน เพื่อนำมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ต่อไป


“ในส่วนของการเจรจากับเอกชนในการร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ทางกระทรวงฯ ไม่ได้มีการบังคับภาคเอกชนให้ร่วมดำเนินการ เนื่องจากเอกชนมีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งภาครัฐไม่สามารถขอให้เอกชนลดราคาค่าโดยสารได้ ทำให้ต้องใช้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้” นายสุริยะ กล่าว

อ่าน พีระพันธุ์ ย้ำตรึงดีเซลนาน 3 เดือน ดึง กฟผ.-ปตท.ลดค่าไฟ กลุ่มเปราะบางจ่ายแค่ 3.99 บาท


ด้าน นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สนข.อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วม พ.ศ. … ในเรื่องของการหาที่มาของแหล่งเงินในกองทุนตั๋วร่วม ว่าจะนำมาจากแหล่งทุนใด หากดำเนินการแล้วเสร็จ หลังจากนั้น จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ต่อคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (คตร.) และกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรได้ในช่วงไตรมาสที่ 1/2567
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42793
Location: NECTEC

PostPosted: 23/12/2023 4:00 am    Post subject: Reply with quote

“สุริยะ”ขอโทษประชาชน ชี้สื่อสารคลาดเคลื่อน ยันไม่เก็บภาษีน้ำมัน อุดหนุนไฟฟ้า20 บาท
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13:36 น.
ปรับปรุง: วันศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15:45 น.


“สุริยะ” ขอโทษประชาชน สื่อสารคลาดเคลื่อนปมจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินเพิ่ม 50 สตางค์ต่อลิตรในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล นำเงินเข้ากองทุนหนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระบุไม่มีแนวคิด-นโยบายที่ส่งผลกระทบและเพิ่มลดครองชีพประชาชนเด็ดขาด

จากกรณีที่สื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวในประเด็นกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดจะจัดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.50 บาทต่อลิตร เฉพาะสถานีน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น และนำเงินจากภาษีดังกล่าวเข้ากองทุนฯ เพื่อนำสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวต้องขอโทษพี่น้องประชาชนที่อาจจะสื่อสารและทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งในการกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นเพียงการหยิบยกตัวอย่างจากต้นแบบในต่างประเทศเท่านั้น รวมถึงยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นถึงกรณีศึกษา และการเปรียบเทียบถึงข้อดีและข้อเสีย โดยไม่ได้มีแนวคิดจะนำมาดำเนินการแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน

ส่วนมาตรการค่ารถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท นั้น กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายใน 2 ปี โดยจะไม่มีการเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นตามที่มีกระแสข่าวอย่างแน่นอน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42793
Location: NECTEC

PostPosted: 29/12/2023 10:46 pm    Post subject: Reply with quote

รฟม.กำชับผู้รับจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายคืนพื้นผิวจราจร รองรับเดินทางช่วงปีใหม่ 67
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันพฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15:51 น.
ปรับปรุง: วันพฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15:51 น.

รฟม.กำชับผู้รับจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายคืนพื้นผิวจราจรและจัดการบริเวณพื้นที่โครงการให้มีความปลอดภัยรองรับการเดินทางในช่วงปีใหม่ 2567 ตามนโยบาย “เดินทางทั่วไทย คมนาคม สะดวก ปลอดภัย ใส่ใจให้บริการประชาชน”
ตามที่ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว หรือทำบุญด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นจำนวนมาก ด้วยความห่วงใยจึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมมาตรการอำนวยความสะดวกและปลอดภัย เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 อีกทั้งได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีโครงการก่อสร้างในเส้นทางต่าง ๆ จะต้องคืนพื้นผิวจราจรและจัดการบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างให้มีความปลอดภัย นั้น


การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้เตรียมพร้อมมาตรการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบทุกสาย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยกำชับให้ผู้รับจ้างงานโยธาทุกโครงการ ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจสอบและจัดสภาพหน้างานให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย

เช่น การขยับแนวแบริเออร์เพื่อเพิ่มช่องจราจร การจัดแนวแบริเออร์ให้เป็นระเบียบ การปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้างและช่องเปิดต่างๆ การจัดเก็บอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรให้เรียบร้อยและปลอดภัยไม่กีดขวางการจราจร ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายทางเบี่ยง ทางเลี่ยง และปิดกั้นแนวรั้วคอนกรีตบริเวณจุดที่เป็นอันตรายให้เรียบร้อย รวมถึงการติดตั้งไฟส่องสว่างให้ชัดเจน การตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและการจัดเก็บวัตถุไวไฟหรือสารไวไฟให้ปลอดภัย นอกจากนี้ยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและจัดเตรียมอุปกรณ์ด้านจราจร เพื่อเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน รวมทั้งป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น


สำหรับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง (MRT สายสีเหลือง) ที่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์แก่ประชาชน และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี (MRT สายสีชมพู) ที่อยู่ระหว่างการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการนั้น รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานโครงการจัดสภาพหน้างานให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และดำเนินงานปรับปรุงสภาพพื้นผิวจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมกันนี้ รฟม. ยังได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยให้มีการกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น และจะต้องมีการกำกับดูแลควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามขั้นตอนความปลอดภัยในการก่อสร้าง


นอกจากนี้ รฟม. ได้ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ภายใต้แคมเปญ “เดินทางทั่วไทย คมนาคม สะดวก ปลอดภัย ใส่ใจให้บริการประชาชน” ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ภายในสถานีและขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ตลอดแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44893
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 30/12/2023 2:47 pm    Post subject: Reply with quote

เปิดพิกัดรถไฟฟ้า 8 สี ทั่ว กทม.-ปริมณฑล เดินทางอย่างไรให้สะดวก แบบไร้รอยต่อ
ไทยรัฐออนไลน์ 30 ธ.ค. 2566 06:20 น.

Click on the image for full size

“
Summary
“
ใกล้เป็นจริงมากขึ้นทุกที สำหรับการเดินทางในฝันของชาวเมืองกรุง และปริมณฑล ด้วยระบบรถไฟฟ้าเครือข่ายใยแมงมุมที่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกสบาย เชื่อมต่อสลับสาย เปลี่ยนสีได้ ทันใจเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว

ใกล้เป็นจริงมากขึ้นทุกที สำหรับการเดินทางในฝันของชาวเมืองกรุง และปริมณฑล ด้วยระบบรถไฟฟ้าเครือข่ายใยแมงมุมที่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกสบาย เชื่อมต่อสลับสาย เปลี่ยนสีได้ ทันใจเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในโอกาสที่กำลังเปลี่ยนปฏิทินเข้าสู่ศักราชใหม่ “ทีมข่าวเศรษฐกิจหัวเขียว ไทยรัฐ” ขอพาไปอัปเดตความก้าวหน้าของรถไฟฟ้าแต่ละสาย ว่าเสร็จแล้วกี่แห่ง และแต่ละสาย สามารถเชื่อมต่อกับสายไหนกันได้บ้าง...

เปิดภาพรวมรถไฟฟ้า 13 สายทาง

เริ่มจากภาพรวมปัจจุบัน ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค.66 มีโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เปิดให้บริการได้แล้วทั้งสิ้น 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสีเขียวอ่อน 2 เส้นทาง 1.หมอชิต-สมุทรปราการ (37.10 กม.) 2.หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (18.70 กม.) สายสีเขียวเข้ม 3.สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า (14 กม.) สายสีน้ำเงิน 3 เส้นทาง

4.บางซื่อ-หัวลำโพง (20 กม.) 5. หัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) (14 กม.) 6. บางซื่อ-ท่าพระ (13 กม.) แอร์พอร์ต เรลลิงก์ 7.พญาไท-สุวรรณภูมิ (28.70 กม.) สายสีม่วง 8.คลองบางไผ่-เตาปูน (23 กม.) สายสีทอง 9.กรุงธนบุรี-คลองสาน (1.88 กม.) สายสีแดงเหนือ 10.บางซื่อ-รังสิต (26.30 กม.) สายสีแดงตะวันตก 11.บางซื่อ-ตลิ่งชัน (15.26 กม.) สายสีเหลือง 12.ลาดพร้าว-สำโรง (30.40 กม.) และ สายสีชมพู 13. แคราย-มีนบุรี (34.50 กม.) อยู่ระหว่างการเปิดทดลองให้บริการ

เมื่อรถไฟฟ้าหลายสายมีความพร้อมเปิดให้บริการแล้ว หลายคนก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าแต่ละสายจะไปไหนได้บ้าง และเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆได้อย่างไร คราวนี้จะไปดูรายละเอียดกัน

จุดเชื่อมต่อสายสีเขียว

เริ่มจากรถไฟฟ้าสายยาวที่สุด และมีคนใช้มากที่สุดในประเทศก่อนอย่างสายสีเขียวหรือที่เรารู้จักกันในชื่อรถไฟฟ้าบีทีเอส มีเส้นทางพาดผ่านถึง 3 จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ที่งานนี้บีทีเอสโปรโมตว่าเป็นการเดินทางที่แสนสะดวกสบายที่สุด เพราะเชื่อมต่อได้กับรถ เรือ และรถไฟฟ้าอื่นอีกหลายเส้นทาง

สำหรับบีทีเอสสายสุขุมวิท ซึ่งมีเส้นทาง หมอชิต-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพาน ใหม่-คูคต มีจุดเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นอย่างหลากหลาย ได้แก่ สถานีราชเทวี N1 เชื่อมต่อกับเรือคลองแสนแสบ สถานีพญาไท N2 เชื่อมต่อกับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ไปสนามบินสุวรรณภูมิ และจุดเปลี่ยนเส้นทางไปรถไฟไทย สถานีหมอชิต N8 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีสวน จตุจักร) และจุดเปลี่ยนเส้นทางไปรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และรถเมล์ A1 ไปสนามบินดอนเมือง

ขณะที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว N9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีพหลโยธิน) สถานีอโศก E4 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีสุขุมวิท) สถานีเอกมัย E7 เชื่อมต่อกับรถทัวร์สายตะวันออก สถานีสำโรง E15 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (สุขุมวิท) และสถานีปากน้ำ E19 เชื่อมต่อกับเรือข้ามฟากปากน้ำ-พระสมุทรเจดีย์

ส่วนบีทีเอส สายสีลม ก็มีจุดเชื่อมต่อสำคัญ ได้แก่ สถานีศาลาแดง S2 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีสีลม) สถานีช่องนนทรี S3 เชื่อมต่อกับรถ BRT (สาทร) สถานีสะพานตากสิน S6 เชื่อมต่อกับเรือด่วนเจ้าพระยา สถานีกรุงธนบุรี S7 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีตลาดพลู S10 เชื่อมต่อกับ BRT (ราชพฤกษ์) สถานีวุฒากาศ S11 เชื่อมต่อกับ รฟท.สายวงเวียนใหญ่-มหาชัย และสถานีบางหว้า S12 เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีบางหว้า)

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของรถไฟฟ้าบีทีเอสก็คือ แม้เป็นระบบขนส่งหลักที่เชื่อมต่อได้หลายระบบการขนส่ง แต่ระบบการเดินทางยังไม่เชื่อมต่อกับขนส่งอื่นๆ ทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย จะต้องพกใบหลายใบ และมีค่าใช้จ่ายสูง หากจะไปต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น เพราะเป็นคนละเจ้าของกัน

จุดเชื่อมต่อสายสีน้ำเงิน

ต่อมาเป็นระบบขนส่งมวลชนสายหลักอีกสาย ที่เชื่อมโยงการเดินทางเข้าใจกลางกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวม 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี แบ่งเป็น ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่สำคัญ ดังนี้

1.สถานีหัวลำโพง และสถานีบางซื่อ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายสีแดง 2.สถานีสีลม สถานีสุขุมวิท สถานีพหลโยธิน สถานีสวนจตุจักร และสถานีบางหว้า สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอส

3.สถานีเพชรบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 4.สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แต่ตอนนี้ต้องรอไปก่อนเพราะสายสีส้มยังสร้างไม่เสร็จ 5.สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว- สำโรง 6.สถานีเตาปูน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง


8.สถานีบางขุนนนท์ ที่ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์- ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย และรถไฟชานเมืองสายสีแดง และ 9.สถานีสามยอด ที่ในอนาคตเตรียมจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ หลังจากสายสีม่วงสร้างส่วนต่อขยายเสร็จแล้ว

จุดเชื่อมต่อสายสีเหลือง

ไปต่อที่ “น้องเก๊กฮวย” รถไฟฟ้าสายน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยถูกออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง เพื่อใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทร ปราการ เข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลัก มีระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย จำนวน 23 สถานี


มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่สำคัญ ดังนี้ 1.สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน 2.สถานีแยกลำสาลี ในอนาคตสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์ วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อสายสีส้มก่อสร้างแล้วเสร็จ 3.สถานีหัวหมาก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก 4.สถานีสําโรง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

จุดเชื่อมต่อสายสีชมพู

ขณะนี้สายสีชมพูกำลังอยู่ระหว่างทดลองให้บริการ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ที่วิ่งให้บริการในเส้นทางแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ 17,000 คนต่อชั่วโมง มีจุดเด่นในการเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง เพราะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักมากถึง 5 สถานี ได้แก่

1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 2.สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายสีแดง 3.สถานีวัดพระ ศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต- สะพานใหม่-คูคต 4.สถานีวัชรพล เชื่อมต่อกับโครง การรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต

5.สถานี มีนบุรี ในอนาคตเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้เช่นกัน จึงสามารถขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลักที่วิ่งให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็วทันใจ โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท ตั้งแต่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

แง้มแผนอนาคต สายไหนมีโอกาสเกิดอีกบ้าง
จุดเชื่อมต่อสายสีแดง

มีระยะทางรวม 41 กม. วิ่งขนานกับทางรถไฟเดิม ประกอบด้วย 15 สถานี วิ่งผ่านจากทางเหนือ จังหวัดปทุมธานี มุ่งตรงเข้าสู่ใจกลางกรุง ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และแฉลบออกไปทิศตะวันตกไปตลิ่งชัน ที่สำคัญถือเป็นรถไฟฟ้าที่รัฐบาลได้นำร่องการเก็บค่าโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสายอีกด้วย

สายสีแดงมีจุดเชื่อมต่อสำคัญ ได้แก่ สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู, สถานีบางซ่อน เชื่อมต่อกับสายสีม่วง ซึ่งสามารถไปมาข้ามสายได้โดยไม่เสียค่าโดยสาร หรือค่าแรกเข้าเพิ่มและสถานีบางซื่อเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน รวมถึงยังสามารถใช้เดินทางไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางขนส่งระบบรางได้อย่างสะดวก เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟทางคู่ และอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนอีกด้วย

จุดเชื่อมต่อสายสีม่วง

สายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง (ช่วงสถานีคลองบางไผ่-เตาปูน) ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรางที่รองรับการเดินทางจากตอนเหนือของกรุงเทพฯ เข้าสู่ใจกลางเมือง โดยเป็นอีกสายที่รัฐบาลนำร่องคิดค่าโดยสารเพียง 20 บาทเช่นกัน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 23 กิโลเมตร 16 สถานี

มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้แก่ สถานีเตาปูน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีนํ้าเงิน ต่อมาเป็นสถานีบางซ่อน เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงโดยไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่ม (ลําสาลี) อีกด้วย ที่สำคัญข้อดีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปสายสีแดงได้ โดยไม่เสียค่าเปลี่ยนผ่าน ค่าเชื่อมต่ออะไรอีกด้วย เรียกว่าเป็นสายที่มีความประหยัดแบบมินิมอลจริงๆ

จุดเชื่อมต่อแอร์พอร์ตเรลลิงก์

แอร์พอร์ตเรลลิงก์ เป็นรถไฟฟ้าที่สร้างขึ้น เพื่อเป้าหมายในการขนส่งผู้โดยสารจากสนามบินสุวรรณภูมิเข้าสู่เมือง มีเส้นทางตั้งแต่สุวรรณภูมิถึงพญาไท ประกอบด้วย 8 สถานี โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่สำคัญ ได้แก่ สถานีพญาไท เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว สถานีมักกะสัน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสถานีหัวหมาก เชื่อมการเดินทางเข้ากับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

จุดเชื่อมต่อสายสีทอง

เป็นรถไฟฟ้าสายสั้นๆ ใช้ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ เพียง 3 สถานี โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้ากับสายสีเขียว หรือบีทีเอส บริเวณสถานีกรุงธนบุรี วิ่งหลบเข้าไปตามแนวถนนเจริญนคร ผ่านศูนย์การค้าไอคอนสยาม สำนักงานเขตคลองสาน และระยะต่อไปมีแผนสร้างขยายไปถึงสถานีสำนักงานเขตคลองสาน-สถานีประชาธิปกเพิ่มเติมอีกด้วย

รวมพลังสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสาย
จากความสะดวกสบายที่มากขึ้นของการเชื่อมต่อเส้นทาง มาที่อีกไฮไลต์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเดินทางเชื่อมต่อ ก็คือการเชื่อมระบบของตั๋วโดยสารแบบไร้รอยต่อ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้จัดทำขึ้น โดยได้นำร่องระหว่างสายสีม่วง กับสายสีแดง ที่สถานีบางซ่อน ทำให้ผู้โดยสารทั้ง 2 สาย สามารถเดินทางข้ามสายไปกันมาได้อย่างสะดวก ในราคาโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสาย อีกทั้งไม่ต้องมีค่าแรกเข้า

เพียงแต่ผู้โดยสารจะต้องชำระเงินผ่าน บัตร EMV (Europay, MasterCard, VISA) หรือบัตรเครดิตของทุกธนาคาร ส่วนใครที่ถือบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต เฉพาะบัตรของธนาคารยูโอบี และ ธนาคารกรุงไทยเท่านั้น โดยจะใช้บริการข้ามสายได้เฉพาะสถานีบางซ่อน ของรถไฟฟ้าชานเมืองสีแดง และมีข้อแม้ว่าทุกการเข้าออก จะต้องเดินทางข้ามระบบภายใน 30 นาที

ขณะที่การจ่ายเงินผ่านบัตรต้องเป็นบัตรใบเดียวกันในการชำระเงิน หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดจะคิดตามอัตราค่าโดยสารสูงสุดคือ 42 บาท ส่วนตัวผู้โดยสารควรมีเงินสำรองภายในบัตรไม่ต่ำกว่า 40 บาท เพื่อรองรับการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารผ่านบัตร EMV จากทางธนาคาร โดยหากการเดินทางเข้าเงื่อนไขตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน

สายสีอื่นรอไปก่อน “คนละเจ้าของกัน”

ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัย แล้วรถไฟฟ้าสายสีอื่นล่ะ นอกจากสายสีแดงกับสีม่วง จะมีสายไหนที่เดินทางเชื่อมต่อได้แบบสะดวก ประหยัดแบบนี้ไหม คำตอบตอนนี้คือ ยังไม่มี เนื่องจากนโยบายรัฐบาล การเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย บังคับใช้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง เพราะทั้ง 2 สาย อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีชมพู และสีเหลือง ไปอยู่ในมือของเอกชน ซึ่งมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นผู้รับสัมปทาน

ดังนั้น หากนั่งรถไฟฟ้าสายสีชมพู มาตัดกับสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีฯ ผู้โดยสารก็ต้องเสียค่าโดยสารแบบเต็มอัตรายกเว้นว่าอนาคตเอกชนผู้รับสัมปทานจะเข้าร่วมนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ข้อดีของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู คือยังสามารถชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV (บัตรเครดิต) ของทุกธนาคาร หรือจะชำระผ่านเอทีเอ็ม เฉพาะบัตรของธนาคารยูโอบี และธนาคารกรุงไทยได้

อัปเดต 4 โครงการสร้างแล้วไปถึงไหน
หลังจากดูวิธีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายไปมาหากันแล้ว ก็เลยขอพาไปอัปเดตความก้าวหน้าของรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่กำลังสร้าง หรือที่มีแผนในอนาคตกัน เริ่มจาก 4 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะทาง 70.40 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธา ดังนี้ สายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร ก้าวหน้า 44.75% สายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.60 กิโลเมตร ก้าวหน้า 22.69%สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.50 กิโลเมตร ก้าวหน้าครบ 100% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนบริหารเดินรถ และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร ซึ่งรวมอยู่ในโครงการเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนที่ดิน ก้าวหน้า 97.21%

โครงข่ายรถไฟฟ้าใยแมงมุมในอนาคต
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนผุดรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก โดยอยู่ระหว่างให้กรมการขนส่งทางรางไปศึกษาพัฒนาแบบจำลองเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 4 รูปแบบ ประกอบด้วย เส้นทางที่มีความจำเป็น มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันที มี 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีแดงรังสิต–ธรรมศาสตร์ 2.รถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน–ศาลายา 3.รถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน–ศิริราช ทั้งหมดอยู่ระหว่างรอ ครม.อนุมัติ ส่วน 4.สายสีน้ำตาลแคราย–บึงกุ่ม ได้ศึกษารูปแบบการลงทุนเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านอื่นอย่างรอบด้าน

กลุ่มต่อมาเป็นเส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน และคาดว่าดำเนินการภายในปี 72 จำนวน 6 เส้นทาง ดังนี้ 1.สายสีแดงบางซื่อ–หัวลำโพง ที่จะสร้างเป็นรถใต้ดินทั้งหมด และอยู่ระหว่างการกำหนดจุดสถานีใหม่ 2.สายสีเขียวสนามกีฬาแห่งชาติ–ยศเส จะสร้างพร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-พญาไท -หัวลำโพง 3.สายสีเขียวบางหว้า–ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างการขออนุมัติผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 4.สายสีแดงวงเวียนใหญ่–บางบอน อยู่ระหว่างออกแบบตามแนวเส้นทางใหม่ เนื่องจากเขตทางเดิมมีขนาดไม่เพียงพอไม่สามารถก่อสร้างได้ 5.สายสีเงินบางนา–สุวรรณภูมิ ต้องรอการพัฒนาสนามบินด้านใต้แล้วเสร็จ เพื่อให้รถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบินได้โดยตรง และ6.รถไฟฟ้าสายสีเทาวัชรพล–ทองหล่อ อยู่ระหว่างการขออนุมัติอีไอเอ

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่มีศักยภาพ ซึ่งผ่านการศึกษาความคุ้มค่าไปแล้ว รวมถึงเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้อีก 9 เส้นทาง ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีฟ้า สาธร-ดินแดง 2.รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต-วงแหวนรอบนอก 3.รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ลำลูกกา 4.รถไฟฟ้าสายสีเทา พระโขนง-ท่าพระ 5.รถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ 6.รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน-มหาชัย-ปากท่อ 7.รถไฟฟ้าสายสีเขียว สมุทรปราการ-บางปู 8.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑล และ 9.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน-รัตนาธิเบศร์

ฟีดเดอร์ การเชื่อมต่อที่มากกว่ารถไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ในการเชื่อมต่อการเดินทางนอกจากจะเชื่อมต่อด้วยรถไฟฟ้าเข้าหากันแล้ว กระทรวงคมนาคมยังเตรียมระบบขนส่งสาธารณะอื่น หรือเป็นฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าให้บริการแก่ประชาชนด้วย โดยล่าสุด การรถไฟฯได้ร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ทดลองเพิ่มจุดจอดรถโดยสาร เฉพาะรถ บขส.ขาเข้ากรุงเทพฯ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ประตู 3 ทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯได้รับความสะดวกสามารถเลือกลงจุดจอดที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อต่อรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน สถานีบางซื่อ หรือลงจุดจอดที่ชานชาลาขาเข้า สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางราง ยังอยู่ระหว่างศึกษา การทำระบบขนส่งรองอื่นๆ เป็นฟีดเดอร์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง เช่น รถแทรม รถล้อยาง รถเมล์ไฟฟ้า อีก 26 เส้นทาง ซึ่งศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.66 รวมทั้งรายงานผลการศึกษาถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลผลการศึกษาไปบูรณาการต่อไป อาทิ เส้นทางลาดพร้าว- รัชโยธิน-ท่าน้ำนนท์ เส้นทางดอนเมือง-ศรีสมาน เส้นทางศาลายา-มหาชัย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่านับวันการเดินทางของชาวเมืองกรุงและปริมณฑล มีความสะดวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทัดเทียมกับมหานครอื่นของหลายประเทศที่พัฒนาไปแล้ว แต่โจทย์สำคัญต่อไปของรัฐบาล คือจะทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้คนไทยที่เสพติดการใช้รถส่วนตัวหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น

นั่นคือประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการบ้านเรื่องการเชื่อมต่อระบบตั๋วโดยสารให้สามารถใช้ใบเดียว ราคาเดียว และคิดค่าโดยสารในราคาไม่แพงจนเกินไป จะถือเป็นหัวใจหลักที่ช่วยปรับพฤติกรรมคนไทยได้ และเป็นอีกบทพิสูจน์ฝีมืออีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้.

ทีมข่าวเศรษฐกิจ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 275, 276, 277 ... 279, 280, 281  Next
Page 276 of 281

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©