Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311319
ทั่วไป:13282420
ทั้งหมด:13593739
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 88, 89, 90 ... 278, 279, 280  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44774
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 09/01/2014 9:03 pm    Post subject: Reply with quote

ประชานิยมจนลีมรถไฟฟ้า
บุญช่วย ค้ายาดี
ไทยโพสต์ กระจกไร้เงา 10 January 2557

หลายสิบปีแล้วที่คนไทยตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะมีระบบรถสาธารณะที่เดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสะบายแบบประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ได้เพียงแค่ 2 สายทางที่มีความชัดเจน คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินที่วิ่งให้บริการทุกวันนี้ ส่วนอีกหลายๆ สายที่มีนโยบายต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาล และประกาศว่าจะมีการประกวดราคา และก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทาง และภายในปี 2562 จะเปิดให้บริการได้ทั้งหมด ประกอบด้วย

1.รถไฟสายชานเมืองสายสีแดงเข้ม (ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย)
2.รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ศาลายา-หัวหมาก
3.Airport Rail Link (สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ) ระยะทาง 50.3 กม.,
4.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-บางปู) ระยะทาง 66.5 กม.,
5.รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ยศเส-บางหว้า ระยะทาง 15.5 กม. กรุงเทพมหานคร (กทม.)บริหารโครงการ,
6.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง, ท่าพระ-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 55 กม.,
7.รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 42.8 กม.
8.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงจรัญสนิทวงศ์-มีนบุรี ระยะทาง 32.5,
9.รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม. และช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม. และ
10.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม.

ซึ่งก็มีหลายสายทางที่ได้เริ่มก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นบางแล้ว แต่ก็ยังพบว่าการก่อสร้างแทบทุกสายทางยังขรุขระ, สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งเป็นเส้นทางต่อขยายจากรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคลเดิม โดยช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 13 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่ดูดีมีความคืบหน้าให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ก็มีความล่าช้าเพราะมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2559

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้านเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กม. คาดว่าเปิดให้บริการปี 60 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะเดินหน้าประกวดราคาได้ โครงการยังคงนอนเล่นในแผ่นกระดาษถูกแก้แบบไปแก้แบบมาจนงงไปหมด

สายสีเขียวด้านใต้ ช่วงแบร์ริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม. ซึ่งเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิท ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน เม.ย.2556 ที่ผ่านมา

สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างความก้าวหน้าร้อยละ 80.67 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2559

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สร้างเสร็จนานแล้วตั้งแต่ปี 2555 แต่ยังไม่มีรถวิ่ง ต้องใช้รถดีเซลรางมาวิ่งแทนก่อน เพราะเนื่องจากสัญญางานระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันนั้นรวมอยู่กับสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งขณะนี้เพิ่งเริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2560-2561

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสายที่คาดว่าจะประกวดราคาในปี 2556 แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม.ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ก็ยังมีความหวังว่าภายในกลางปี 2557 จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมยื่นซองประมูลโครงการ และเปิดปี 60 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี ระยะทาง 20 กม. คาดจะเปิดยื่นซองประมูลโครงการได้กลางปี 2557 และแล้วเสร็จปี 2561-62

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะการเมืองที่กำลังวุ่นวาย ภายใต้การบริหารประเทศที่มีแต่ประชานิยม และชอบอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง มีเสียงสนับสนุนกว่า 15 ล้านเสียง แต่ทุกโครงการที่ได้มีการประกาศและดำเนินการไปนั้นกลับสร้างความเสียหายให้กับประเทศจนแทบล่มสยาม ไม่ว่าจะเป็นโครงการ จำนำข้าวที่สร้างหนี้หลายแสนล้านบาท, โครงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่ประกาศว่าจะปรับขึ้นค่าแรงก็ดึงให้ราคาสินค้าข้าวปลาอาหารขยับพุ่งขึ้นไปหลายสิบบาท และเมื่อประกาศใช้จริงๆ ก็ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการลง และบางรายก็หนีการลงทุนไปต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีโครงการถคันแรก โครงการแจกแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.1, กองทุนสตรี

ซึ่งทุกโครงการนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ แต่ในทางกลับกันโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับเมินเฉย ไม่กระตุ้นหรือจี้ให้เดินหน้าโครงการก่อสร้างเหล่านี้เลย ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะนำการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทางมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง ส่วนประชาชนก็นั่งรอนอนรอกันไปเถอะไม่รู้ว่าจะกี่ชาติถึงจะได้ใช้.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44774
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/01/2014 7:08 am    Post subject: Reply with quote

โลกธุรกิจ - รายงานพิเศษ : ทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างปีม้าไม่คึกคัก เผชิญศึกปัจจัยท้าทายรอบด้าน
แนวหน้า วันอังคาร ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557, 06.00 น.

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างมีความคึกคักมาก ทั้งการก่อสร้างในส่วนของโครงการภาครัฐ ที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล การก่อสร้าง และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอื่น อาทิ การขยายโครงข่ายถนนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และการปรับปรุงโครงสร้างทางรถไฟโดยเปลี่ยนมาใช้รางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและใช้หมอนคอนกรีตแทนหมอนไม้ ระยะที่ 5 (สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทางแก่งคอย-แก่งเสือเต้น ช่วงสุรนารายณ์-ชุมทางบัวใหญ่ และช่วงชุมทางถนนจิระ-ชุมทางบัวใหญ่ รวมระยะทางทั้งสิ้น 308 กม.) และระยะที่ 6 (สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทางบัวใหญ่-หนองคาย ระยะทาง 278 กม.) เป็นต้น

ส่วนการก่อสร้างของภาคเอกชน ก็มีการเติบโตออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เนื่องจากกิจกรรมเศรษฐกิจของภาคเอกชนขยายตัวไปในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเติบโตของการค้าและการลงทุน เช่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และเชียงราย เป็นต้น แม้ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างจะหนุนให้กลุ่มผู้รับเหมาปรับตัวดีขึ้น แต่ก็กลับสร้างแรงกดดันและนำมาซึ่งอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น การเติบโตของโครงการก่อสร้างหลายโครงการในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีผลกระตุ้นให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ เนื่องจากอุปสงค์สินค้าวัสดุก่อสร้างขยายตัว นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้าง น่าจะชะลอตัวลงจากในช่วงที่ผ่านมา เพราะผลจากปัจจัยเฉพาะของภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพานโยบายการลงทุนของภาครัฐ และผลจากประเด็นการเมือง ก็กระทบต่อบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ทำให้ภาคเอกชนโดยรวมชะลอการลงทุนออกไป

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 ว่า ภาวะอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 นี้ มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2556 ซึ่งมีผลมาจากอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่จะมีผลต่อเนื่องไปยังการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องติดตามเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจะมีผลต่อกิจกรรมการลงทุนในประเทศไทยจากนักลงทุนต่างชาติในระยะข้างหน้า”

อย่างไรก็ตาม ภาคก่อสร้างยังมีแรงหนุนจากกิจกรรมเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะผลประโยชน์ต่อเนื่องจากการค้าและการลงทุนที่คึกคักตามแนวชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียง จะส่งผลให้การลงทุนก่อสร้างในกลุ่มพาณิชยกรรมเติบโตตามไปด้วย และอาจทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งจำเป็นพื้นฐานจากภาครัฐตามมา เช่น การปรับปรุงโครงข่ายถนนและระบบราง

นอกจากนี้การเร่งลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ทันและพร้อมสำหรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ก็เป็นอีกปัจจัยบวกหนึ่งสำหรับกลุ่มผู้รับเหมาในต่างจังหวัด ให้สามารถมีโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การก่อสร้างและตกแต่งบ้านเรือนในลาว ดังนั้นจึงน่าจะส่งผลให้ภาพรวม
อุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 ยังคงขยายตัว แม้ว่าอัตราการเติบโตของปริมาณงานก่อสร้างมีแนวโน้มต่ำกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาพรวมการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนในปี 2557 เอาไว้ว่า การก่อสร้างภาครัฐส่วนใหญ่ น่าจะมาจากโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้แล้วเสร็จทันกำหนด ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ส่งผลให้การพิจารณาลงทุนโครงการต่างๆ ชะลอออกไป นอกจากนี้การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ก็ยังหยุดชะงัก เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยังต้องรอนโยบายลงทุนจากรัฐบาลใหม่

แม้แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมดังกล่าวจะล่าช้าออกไป แต่การก่อสร้างภาครัฐในปี 2557 นี้ จะยังได้รับอานิสงส์จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อย่าง โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ วงเงิน 12,224 ล้านบาท (มีความเป็นไปได้ที่งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2557) และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ วงเงิน 20,458 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งจะลงทุนต่อเนื่องจากปี 2556 ที่ผ่านมา

อีกทั้งยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้งบปกติ ประจำปีงบประมาณ 2557 เช่น โครงการเร่งรัดขยายถนน 4 ช่องจราจรระยะที่ 2 (เช่น สายอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ และสายอำเภอแก่งคร้อ-ชุมแพ) วงเงิน 3,780 ล้านบาท และการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ สะพานและอุโมงค์ 7 โครงการ (เช่น แยกเดชาติวงศ์ และเลี่ยงเมืองนครสวรรค์) และวงเงิน 4,890 ล้านบาท จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การก่อสร้างโครงการภาครัฐน่าจะยังขับเคลื่อนได้ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสจะลงทุนเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ซึ่งวางแผนเปิดประมูลในปี 2557 คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 116,000 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา วงเงิน 38,168 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลจากการยุบสภา อาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณ และการอนุมัติโครงการต่างๆมีความล่าช้า ทั้งนี้การก่อสร้างของภาครัฐในแต่ละปี มีการเบิกจ่ายเพื่อใช้ลงทุนก่อสร้างสูงในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่คลี่คลาย ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการภาครัฐ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ กิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐน่าจะเติบโตประมาณ 0.5-3.0% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2556 ที่คาดว่าจะเติบโต 0.3%

สำหรับทิศทางการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2557 นี้ โดยภาพรวมคาดว่าจะเติบโตชะลอลง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยที่คาดว่าการลงทุนโครงการใหม่ในปี 2557 คงจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มการพัฒนาคอนโดมิเนียม เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยมีปัจจัยเฉพาะที่เข้ามากดดันกิจกรรมการลงทุน เช่น กำลังซื้อที่อ่อนตัวลงเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรม คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ยังคงมีแผนการขยายการลงทุนไปในต่างจังหวัด เพื่อรองรับกับการเติบโตของสังคมเมือง ประกอบกับจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ของเออีซี และจังหวัดที่เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวยังมีภาพของกิจกรรมการลงทุนในการก่อสร้าง

ขณะที่การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมบางส่วนอาจเลื่อนแผนลงทุนไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเฝ้ารอความชัดเจนทางการเมือง โดยภาพรวมการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2557 น่าจะขยายตัวในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะได้รับแรงผลักดันจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่มุ่งเน้นการส่งออก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ กิจกรรมการก่อสร้างของภาคเอกชน น่าจะเติบโตประมาณ 4.0-6.7% ชะลอลงจากปี 2556 ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 8.2%

จากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองอีกว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้รับแรงผลักดันจากภาคเอกชนเป็นหลัก และคาดว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างในปี 2557 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอลงประมาณ 2.5-5.0% หรือมีมูลค่าประมาณ 994,500-1,018,500 ล้านบาท จากมูลค่าการก่อสร้างในปี 2556 ที่ประเมินไว้ที่ 970,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปว่า แม้การชะลอการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... เป็นข้อจำกัด ให้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 ขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นช่วงเวลาที่ภาคก่อสร้างจะได้ปรับตัว จากประเด็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเติบโตค่อนข้างมาก จากกิจกรรมการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีหลายโครงการพร้อมกันทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ทั้งนี้การเลื่อนระยะเวลาลงทุนออกไป ทำให้กลุ่มผู้รับเหมาจะสามารถรับผิดชอบงานที่มีอยู่มากในมือให้แล้วเสร็จทันเวลาและมีประสิทธิภาพได้

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ที่เป็นสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีสัดส่วนการใช้สูงในอันดับต้นๆ โดยในปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 7% เมื่อเทียบกับที่หดตัว 1.7% ในปี 2555 เนื่องจากความต้องการใช้ที่เติบโตตามกิจกรรมก่อสร้าง ดังนั้นการชะลอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็อาจจะมีผลช่วยชะลอการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการก่อสร้าง ให้มีเวลาในการเตรียมพร้อมแผนจัดการกับปัญหาต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าจะสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 นี้ผู้ประกอบการอาจต้องวางแผนตั้งรับและปรับตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่รุมเร้า โดยเฉพาะประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลกระทบกับแผนลงทุนก่อสร้างโครงการภาครัฐ ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44774
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/01/2014 7:18 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ส่อล่าช้า หลังการเมืองยุ่งไม่จบ เพราะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพิจารณาแทน
เดลินิวส์ วันศุกร์ 17 มกราคม 2557 เวลา 19:00 น.

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาล 2 โครงการ คือ การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21.8 กม.เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 54.5 กม. ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือกับฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯและปริมณฑล

ทั้งนี้ทั้ง 2 โครงการได้เสนอเพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลได้ประกาศยุบสภาฯก็ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพิจารณาแทน หากยังไม่มีรัฐบาลเข้ามาดำเนินงานตามที่กำหนดจะส่งผลให้การดำเนินโครงการต่อ ล่าช้าออกไปอีกอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆที่จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจาก รฟม.ได้กำหนดแผนงานที่จะยื่นให้ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการภายในไตรมาส 1 ปีนี้ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นระยะที่ 2 ของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กมด้านซึ่งจะเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบัน

ด้านนาย บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า โครงการที่สำคัญของ ร.ฟ.ท.ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบหากไม่มีรัฐบาล หรือรัฐบาลชุดใหม่ไม่นำโครงการกลับมาพิจารณา แต่ยังเชื่อว่าจะมีการดำเนินโครงการต่อไป เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นแล้วว่ารถไฟทางคู่มีความจำเป็น เพราะจะสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น โดยโครงการรถไฟทางคู่ที่ ร.ฟ.ท.จะดำเนินการ คือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม. และจากนครปฐม-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44774
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/01/2014 12:44 pm    Post subject: Reply with quote

ไร้ 2 ล้านล้านไฮสปีดเทรนส่อล้ม "รถไฟฟ้า-ทางคู่" ได้ลุ้นเดินหน้า รฟม.เล็งใช้เงิน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 ม.ค. 2557 เวลา 11:50:24 น.

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.จะดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ตามแผนที่กำหนด แม้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ก็ตาม เพราะสามารถดำเนินโครงการภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ที่กำหนดให้รัฐบาลก่อหนี้ได้ไม่เกิน 20% ต่อปี หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครบทุกสายแล้ว การก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สามารถใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากแต่ละโครงการไม่ได้จ่ายเงินคราวเดียว เป็นการทยอยจ่าย ดังนั้น วงเงินการก่อหนี้ในแต่ละปีจะไม่เกินกรอบวงเงินตามที่ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ กำหนด

"เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ช่วยให้การดำเนินงานรวดเร็ว ตามกรอบระยะเวลาคือ 7 ปี แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องกลับไปใช้การกู้เงินตามกรอบ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ น่าจะเพียงพอกับการก่อสร้างตามแผนงาน" นายยงสิทธิ์กล่าว และว่า แต่การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ทุกเส้นทางจะได้รับผลกระทบเพราะจะไม่มีวงเงินงบประมาณเหลือพอให้ก่อสร้างได้ หากจะดำเนินการจริงอาจต้องเลือกมาเพียง 1 สาย และต้องทยอยทำไปเรื่อยๆ ไม่สามารถเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปีได้ เพื่อไม่ให้กรอบวงเงินการก่อหนี้ในแต่ละปีเกินกว่าที่กำหนดไว้

นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เดินหน้าไม่ได้ แต่ทุกรัฐบาลสนับสนุนให้ ร.ฟ.ท.เดินหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศตามแผนงานที่กำหนด จะสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในระยะเวลา 4 ปีอย่างแน่นอน โดยมั่นใจว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาจะเดินหน้ารถไฟทางคู่ต่อไป เพราะที่ผ่านมามีเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่ายให้เดินหน้าก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพราะช่วยให้การเดินทางและขนส่งสินค้าสะดวกมากขึ้น

ที่มา : นสพ.มติชน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44774
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/01/2014 4:41 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมมึนโปรเจ็กต์2ล้านล. "การรถไฟ" วิกฤตสุด แตะเบรกรถไฟฟ้าสายสีแดง "บางซื่อ-รังสิต"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 ม.ค. 2557 เวลา 16:16:42 น.

คมนาคมหวั่นการเมืองฉุดการลงทุนโครงการใหม่สะดุด เผยงานด่วนติดล็อกรัฐบาลใหม่มาอนุมัติอื้อ หลังการเมืองไม่นิ่ง ทำกรอบงบประมาณปี"58 ไม่ได้ ส่อเค้าชะลอหลายโปรเจ็กต์ การรถไฟฯเตรียมสั่งผู้รับเหมาหยุดก่อสร้างรถไฟสายสีแดง "บางซื่อ-รังสิต" หากเกินเดดไลน์ 1-2 เดือนนี้ เหตุไม่มีคน

ไฟเขียวแบบใหม่รับไฮสปีดเทรน เลื่อนเซ็นซื้อรถโดยสารใหม่ 115 คัน รถไฟฟ้า 2 สาย "ชมพู-ส้ม" รฟม.รอประมูลกว่า 1.6 แสนล้านบาท ทางหลวงชงมอเตอร์เวย์ใหม่ 2 สาย "บางปะอิน-โคราช และพัทยา-มาบตาพุด" หาแหล่งเงินก่อสร้างใหม่ โครงการหมื่นล้าน "สะพานเกียกกาย" กทม.เลื่อนยาว

แหล่ง ข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากความไม่แน่นอนจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เมื่อไหร่ แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้ แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความไม่แน่ไม่นอนจึงมีอยู่สูง มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อโครงการใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่จำเป็นเร่งด่วน และรอการอนุมัติจากรัฐบาลชุดใหม่ ยังรวมถึงจัดทำกรอบงบประมาณประจำ ปี 2558 จะต้องล่าช้าไป เพราะต้องรอให้รัฐบาลใหม่มาอนุมัติกรอบวงเงินทั้งหมด ซึ่งในปี 2558 นี้ กระทรวงเตรียมจะดึงโครงการเร่งด่วนใน 2 ล้านล้านบาท มาขอจัดสรรงบลงทุนด้วย คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการได้เดินหน้าต่อไป แต่หากล่าช้าไป อาจจะทำให้การลงทุนสะดุด

"ถึงโครงการของคมนาคมจะไม่เร่งด่วนมาก หากไม่มีรัฐบาลใหม่มาอนุมัติ จะกระทบ ทำให้ล่าช้าได้" แหล่งข่าวกล่าวย้ำ

รถไฟสายสีแดงอาจหยุดก่อสร้าง

นาย ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า โครงการเร่งด่วนของ ร.ฟ.ท.ที่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ คือขอปรับแบบก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร ให้รับรถไฟความเร็วสูง ถ้าไม่มีรัฐบาลใหม่มาอนุมัติ ทาง ร.ฟ.ท.จะให้ผู้รับเหมาหยุดการก่อสร้างไว้ก่อน รอจนกว่าจะมีแบบใหม่ จากนั้นให้ผู้รับเหมาขยายเวลาภายหลัง โดยใช้เหตุผลจากการได้รับผลกระทบมาจากการเมือง

"ประเด็น อยู่ที่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าไม่มีเลื่อนไปจากเดือนกุมภาพันธ์นี้ เราต้องให้ผู้รับเหมาหยุดก่อสร้าง ปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างตามแบบเดิม ยังดำเนินการได้แค่ 1-2 เดือนนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่จะสร้างตามแบบใหม่แล้วไม่สามารถทำได้ ก็ต้องหยุด"

สำหรับ โครงการอื่น นายประภัสร์กล่าวต่อว่า มีรอขออนุมัติเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชนที่ชนะประมูลจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน วงเงิน 4,981 ล้านบาท และจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า จำนวน 308 คัน วงเงิน 770 ล้านบาท ส่วนการประมูลบริหารพื้นที่ไอซีดีลาดกระบังก็เป็นโครงการสำคัญที่ต้องให้ รัฐบาลใหม่พิจารณา เนื่องจากสัญญาสัมปทานเดิมหมดอายุไปปี 2554 แล้ว ร.ฟ.ท.รอประมูลใหม่เช่นกัน

รฟม.รอ ครม.เคาะสายสีชมพู-ส้ม

นาย ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าใหม่ที่เร่งด่วนรอการอนุมัติจาก ครม.ชุดใหม่ มี 2 สายที่พร้อมจะประมูลได้ทันที คือ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร เงินลงทุน 56,691 ล้านบาท และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร เงินลงทุน 110,117 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุน 166,808 ล้านบาท

"สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่กำลังเปิดประมูล กว่าจะได้ผู้รับเหมา คาดว่าน่าจะมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศแล้ว คงไม่ทำให้การขออนุมัติเซ็นสัญญาก่อสร้างล่าช้าจากกำหนดเดิมภายในเดือน ตุลาคมนี้"

ทล.เตรียมชงมอเตอร์เวย์สายใหม่

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า โครงการเร่งด่วนที่จะเสนอให้ ครม.ใหม่พิจารณาของกรมยังไม่มี แต่มีการลงทุนโครงการใหญ่ เช่น มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่พร้อมประมูลก็ต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลใหม่ เพื่อจัดหาแหล่งเงินลงทุนแทนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่ชะลอไป เนื่องจากโครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูง รวมค่าเวนคืนและก่อสร้างอยู่ที่ 84,600 ล้านบาท จะของบประมาณปี 2558 คงจะไม่เพียงพอ

สำหรับการจัดทำกรอบงบ ประมาณปี 2558 คาดว่าจะล่าช้าออกไป ทำให้โครงการใหม่ไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น โดยเบื้องต้นกรมเตรียมกรอบวงเงินคำขอไว้ประมาณ 142,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะได้รับจัดสรรอยู่ที่ประมาณ 53,000-54,000 ล้านบาทเท่ากับทุกปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นงบฯผูกพันประจำปี

"โครงการ ใน 2 ล้านล้านบาทที่จำเป็นเร่งด่วน กรมจะดึงมาของบฯปี"58 คิดเป็นวงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท เช่น ขยาย 4 เลน ถนนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน บูรณะบำรุงทาง ส่วนมอเตอร์เวย์จะขอค่าเวนคืนสายพัทยา-มาบตาพุดมาดำเนินการก่อน จำนวน 1,800 ล้านบาท เพราะสายนี้จะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้าง อีก 2 สายที่เหลือจะพิจารณาจากแหล่งเงินอื่นแทน"

ทช.หวั่นงบฯ 6.9 หมื่นล้านดีเลย์

นาย ชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในส่วนของกรมที่จะต้องรอ ครม.ใหม่อนุมัติ คือการจัดทำกรอบงบประมาณปี 2558 ที่จะต้องเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา ยังไม่รู้จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่

"ปี"58 เบื้องต้นกรมเตรียมคำขอจัดสรรงบประมาณไว้ 69,000 ล้านบาท ที่จะมาดำเนินการก่อสร้างโครงการใหม่ บางส่วนจะเป็นโครงการเร่งด่วนจากโครงการ 2 ล้านล้านด้วย"

สะพานเกียกกาย กทม.สะดุด

แหล่ง ข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ยังไม่สามารถเดินหน้าเปิดประมูลก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้า พระยาบริเวณเกียกกาย ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร และถนนต่อเชื่อม ระยะทาง 4 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,500 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท และค่าเวนคืน 6,000 ล้านบาท เพื่อจะมารองรับการจราจรโดยรอบอาคารรัฐสภาใหม่ เนื่องจากจะต้องขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาก่อสร้างโครงการ และปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศแต่อย่างใด ทำให้โครงการต้องชะลอออกไป ซึ่งโครงการนี้นับว่ามีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยแก้ปัญหารถติดในบริเวณดังกล่าวได้ หลังจากรัฐสภาใหม่เปิดใช้ปลายปี 2558 จากเดิม กทม.คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 2557 นี้ จะต้องเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 27/01/2014 9:57 am    Post subject: Reply with quote

รฟม.หวั่นการชุมนุมยืดเยื้อส่งผลโครงการต่างๆ ล่าช้า


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2557 17:05 น.


นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ ของ รฟม. และหากการชุมนุมมีความยืดเยื้อยาวนานออกไป อาจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ตามสัญญาได้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีน้ำเงิน ซึ่งอาจจะส่งผลให้การดำเนินโครงการมีความล่าช้ากว่าเดิมที่ได้มีการกำหนดไว้ และหากปล่อยให้มีการชุมนุมเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเชิงลบ เนื่องจาก รฟม.ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ได้ ทั้งการประกวดราคา และงานด้านโยธา เพราะผู้ชุมนุมได้มีการเรียกร้องให้ รฟม.ปิดหน่วยงาน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 28/01/2014 6:29 pm    Post subject: Reply with quote

"รฟม." วุ่นหาตังค์ จ่ายรับเหมาหมื่นล. สบน.ยันไร้ปัญหา
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
28 มกราคม 2557 เวลา 12:53:40 น.


เมกะโปรเจ็กต์ดีเลย์อื้อ สบน.ดึงเงินกู้ 2 ล้านล้าน 1.2 แสนล้านออกจากแผนก่อหนี้ปี"57 กระทบแผนก่อสร้างรถไฟฟ้า "เขียว-ชมพู-ส้ม" ทางคู่ มอเตอร์เวย์ สี่เลน รฟม.หวั่นสาย "สีม่วง" ไม่มีเงินจ่ายรับเหมาหมื่นล้าน ด้าน สบน.การันตีหาเงินกู้ให้ได้ทันเดดไลน์

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่กระทรวงการคลังมีแผนจะลดการกู้เงินในโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท กระทรวงคมนาคมเป็นห่วงว่าอาจกระทบโครงการที่พร้อมประมูลและจะก่อหนี้ในปี 2557 ทุกโครงการอยู่ในบัญชี 2 ล้านล้านบาท ยกเว้นรถไฟความเร็วสูงในปีนี้ยังไม่มีการใช้วงเงินงบประมาณกระทบเมกะโปรเจ็กต์

เบื้องต้นประเมินหากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในปีนี้ 81,597 ล้านบาท ทั้งค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเวนคืน ค่าก่อสร้าง ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ 5 สาย วงเงินรวม 10,731 ล้านบาท 2.รถไฟฟ้า วงเงินรวม 45,871 ล้านบาท 3.โครงการถนนของกรมทางหลวง (ทล.) วงเงินรวม 13,520 ล้านบาท 4.โครงการถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) 1,384 ล้านบาท 5.สถานีขนส่งสินค้า 222 ล้านบาท 6.ก่อสร้างท่าเรือลำน้ำและชายฝั่ง 29,581 ล้านบาท 7.ปรับปรุงด่านศุลกากร 3,667 ล้านบาท และ 8.ปรับปรุงทาง ราง หมอน และอื่น ๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 5,250 ล้านบาท

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ผลกระทบที่จะเกิดกับการลงทุนรถไฟฟ้า จะเป็นสายใหม่ 3 สายที่ยังไม่ได้ประมูลและก่อหนี้ เงินลงทุนรวม 227,398 ล้านบาท ได้แก่ สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงินลงทุน 58,590 ล้านบาท สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 58,691 ล้านบาท และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 110,117 ล้านบาท ซึ่งสายสีเขียวคาดว่าจะก่อหนี้ไม่ทันปีงบฯ 2557 เพราะกำหนดเซ็นสัญญาก่อสร้างเดือนตุลาคมนี้

หวั่นชอร์ตเงินกู้สีม่วง

"แต่ สายสีม่วง สีน้ำเงิน และสีเขียวใต้จะไม่กระทบ เพราะก่อสร้างไปแล้ว ที่กังวลคือสายสีม่วง ซึ่งคลังได้ยกเลิกเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) งวดสุดท้าย 12,224 ล้านบาท แล้วโยกโครงการไปใส่ไว้ในเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อบริหารต้นทุนการเงิน เมื่อ พ.ร.บ.ยังไม่บังคับใช้ก็ต้องหาเงินกู้แหล่งอื่น ซึ่งเงินที่เหลือจะจ่ายให้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้เท่า นั้น"

สาเหตุที่กังวลเนื่องจากไม่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเงินกู้ก้อนนี้ ซึ่งจากการหารือไปยังสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้รับชี้แจงว่า รัฐบาลรักษาการจะต้องยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาว่าสามารถกู้เงินก้อนนี้ได้หรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้จะอนุมัติให้กู้เงินแล้วก็ตาม ส่วนสายสีน้ำเงินที่จะใช้เงินอีก 50,620 ล้านบาท และสีเขียวใต้ 20,458 ล้านบาท ไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากกู้ในประเทศก้อนเดิมได้

สบน.ยันกู้จ่ายทันกำหนด

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สบน. เปิดเผยว่า สบน.จะกู้เงินในประเทศให้ รฟม.ใช้ลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 3 วงเงิน 1.27 หมื่นล้านบาท ให้ได้ทันตามกำหนดจ่ายเงินงวดผู้รับเหมา โดยจะกู้เป็นเทอมโลน และทยอยให้เบิกจ่ายตามความต้องการใช้เงินจริง

ชี้ไม่กระทบรถไฟฟ้า 3 สาย

ขณะที่นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สบน. ยืนยันว่า แผนการกู้เงินเพื่อลงทุนโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.ทั้ง 3 สาย ในปีงบฯ 2557 จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ เพราะกำหนดไว้ในแผนที่รัฐบาลจะ "กู้เงินในประเทศเพื่อให้กู้ต่อ" แก่ รฟม. วงเงินรวม 17,117 ล้านบาท ตั้งแต่แผนแรกที่ ครม.อนุมัติแล้ว และไม่ได้ปรับออกแต่อย่างใด
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 29/01/2014 11:27 pm    Post subject: Reply with quote

รฟม.ชี้ม็อบยื้อฉุดสร้างรถไฟฟ้า
ข่าวเศรษฐกิจ
ไทยโพสต์
อังคารที่ 28 มกราคม 2557 - 00:00
รฟม.ระบุยอมรับว่าการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อ อาจกระทบสร้างรถไฟฟ้าล่าช้าตามรอบที่วางไว้ อ้างไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ ทั้งการประกวดราคาและงานด้านโยธา
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ ของ รฟม. และหากการชุมนุมมีความยืดเยื้อยาวนานออกไป ซึ้งอาจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ตามสัญญาได้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีน้ำเงินนั้นเอง
“ส่งผลให้การดำเนินโครงการมีความล่าช้ากว่า จากรอบเดิมที่ได้มีการกำหนดไว้ และถ้าหากปล่อยให้มีการชุมนุมเช่นนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบ เนื่องจากทาง รฟม.ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ได้ ทั้งการประกวดราคาและงานด้านโยธาต่างๆ เพราะทางผู้ชุมนุมได้มีการเรียกร้องให้ รฟม.ปิดหน่วยงาน" นายยงสิทธิ์กล่าว
สำหรับโครงการลงทุนรถไฟฟ้าสีส้มก่อนหน้านี้ได้รับการเห็นชอบจากบอร์ดสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นโครงการลงทุนในเฟสที่ 1 ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์ วงเงินประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท โดยตามกำหนดจะต้องมีการเปิดประกวดราคาในปี 2556 แต่ก็ล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ได้มีการจัดทำการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วคาดว่าหลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบเพื่อดำเนินการเปิดการประกวดราคาภายในปี 2557 ต่อไป
ส่วนความคืบหน้าสายสีน้ำเงิน งานก่อสร้างโดยรวม 5 สัญญา คืบหน้า 45.01% เร็วอยู่ 0.03% สัญญาที่ 1 อุโมงค์ใต้ดินช่วงหัวลำโพง-สนามไชย เร็วกว่าแผน 0.10%, สัญญาที่ 2 อุโมงค์ใต้ดินช่วงสนามไชย-ท่าพระ ช้ากว่าแผน 1.15%, สัญญาที่ 3 ทางยกระดับช่วงเตาปูน-ท่าพระ ช้ากว่าแผน 0.79%, สัญญาที่ 4 ทางยกระดับช่วงท่าพระ-หลักสอง เร็วกว่าแผน 2.05% และสัญญาที่ 5 วางระบบรางล่าช้า 1.14% สายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ ตามแผนคาดว่าเปิดได้ตามแผนในปี 2560 ปัจจุบันคืบหน้า 18.85%.

//-------------------------------------
เมินซื้อซองปั้น"ตั๋วร่วม" สนข.ฟุ้ง6ประเทศสนใจ
ข่าวเศรษฐกิจ
ไทยโพสต์
จันทร์ที่ 27 มกราคม 2557 - 00:00


“ตั๋วร่วม” เดินหน้า แม้ไม่มีผู้สนใจรับซองประกวดราคา เตรียมขยาย 20-30 วัน มั่นใจเปิดให้บริการต้นปี 2558
แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข). เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นเอกสารแสดงความสนใจโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (ซีซีเอช) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบตั๋วร่วม พบว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครมารับเอกสารประกวดราคา เนื่องจากวันดังกล่าวรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่สนใจไม่สามารถเดินทางมาได้ คาดว่าหลังจากนี้จะมีการขยายเวลาเปิดรับออกไป 20-30 วัน
“ขณะนี้ 6 ประเทศให้ความสนใจเข้ามาดำเนินการระบบตั๋วร่วม คาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้ จะสรุปว่าบริษัทที่ได้รับเลือก เพื่อที่จะได้ดำเนินการจัดทำซีซีเอช ส่วนเดือน พ.ค. จะเร่งให้ดำเนินการมีการออกแบบและพัฒนา โดยมั่นใจว่าทั้งระบบจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยจะเริ่มใช้กับระบบภายในต้นปี 2558 นำร่อง เช่น ระบบทางด่วนและแอร์พอร์ตลิงค์ รวมถึงบีทีเอส และบีเอ็มซีแอล" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ระบบตั๋วร่วมจะมีประโยชน์กับผู้ใช้บริการอย่างมาก เพราะไม่ต้องจ่ายค่าแรกเข้าหลายครั้ง โดยปัจจุบันผู้ใช้ที่ต้องเดินทางผ่านระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน จะจ่ายค่าแรกเข้า 2 ครั้ง เมื่อใช้ตั๋วร่วมจะจ่ายเพียงครั้งเดียว ขณะที่ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้า จะได้รับประโยชน์ที่สามารถประหยัดค่าดำเนินการจัดเก็บเงินสด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3-5% ของรายได้ ขณะที่ค่าบริหารจัดเก็บจากระบบตั๋วร่วมจะไม่เกิน 1.5% ของรายได้.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 03/02/2014 9:48 am    Post subject: Reply with quote

รฟม.ดันแก้กฎหมายปั้นแนวคิด TOD พัฒนารอบสถานีผุดห้าง-คอนโดฯ สร้างรายได้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 กุมภาพันธ์ 2557 23:22 น.



การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พยายามผลักดันแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า พร้อมกับการพัฒนาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้จากพื้นที่รอบสถานีที่มีมูลค่าเพิ่มจากที่มีรถไฟฟ้าเข้าถึง กลับมาที่ รฟม.เพื่อนำมาเป็นค่าก่อสร้างค่าบริหารจัดการโครงการโดยไม่ต้องให้รัฐอุดหนุนเป็นภาระอีกต่อไป ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเรียกว่า การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง, รถไฟฟ้า (Transit Oriented Development : TOD) หลายประเทศประสบความสำเร็จ ทำรถไฟฟ้าไม่ขาดทุนแถมมีรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มหาศาล เช่น รถไฟฟ้าญี่ปุ่น และที่ประสบความสำเร็จมากคือ ฮ่องกง โดย รฟม.ฮ่องกง หรือ MTRC บริหาร 11 สาย ระยะทาง 218.2 กิโลเมตร 84 สถานี โดยมี 14 สถานีมีการพัฒนาพื้นที่เหนือสถานี

แนวคิดของ รฟม.ฮ่องกงคือ ออกแบบการพัฒนาพื้นที่ไปพร้อมๆ กับการออกแบบรถไฟฟ้า เส้นไหนที่คำนวณวิเคราะห์ด้านการตลาดแล้วพบว่ามีรายได้ในการพัฒนาพื้นที่น้อย เช่น ตัดเข้าไปในชุมชนที่พื้นที่มีการพัฒนาเต็มที่แล้ว รฟม.ฮ่องกงพัฒนาอะไรไม่ได้ก็ไม่ทำ ถ้าจะทำรัฐบาลฮ่องกงต้องอุดหนุนค่าก่อสร้างทั้งหมด หรือเจรจาในส่วนเส้นทางอื่นเพื่อเอารายได้มาช่วย สถานีใดมีการพัฒนาช้าจะมีมาตรการด้านภาษีมากระตุ้น เป็นต้น เช่น รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน หรือ Airport Express ของฮ่องกงมีการพัฒนา 2 สถานี มีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นค่าก่อสร้างโครงการได้ตลอดสาย

หลักการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรัศมี 500 เมตรมีทางเดินเชื่อมถึงกัน มีห้างสรรพสินค้าและที่อยู่อาศัยครบวงจร โดย รฟม.ฮ่องกงจะเป็นเจ้าของพื้นที่ ควบคุมการใช้ที่ดิน 100% และเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาตามรูปแบบที่ รฟม.ฮ่องกงออกแบบและจัดผังไว้แล้ว ตัวอย่างการพัฒนาสถานีเกาลูน พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ เป็นศูนย์กลางรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินมีการพัฒนารอบสถานีเป็นที่อยู่อาศัยราคาสูง ที่แพงสุดยูนิตละ 100 ล้านบาทเพราะมีเรื่องฮวงจุ้ยด้วย มีห้างสรรพสินค้าหรูที่สุด โดยมีทางเดินเชื่อมแบบไร้รอยต่อไปในทุกพื้นที่ โดยแบ่งการพัฒนาเป็นเฟสเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด

สถานีโลฮาสสปาร์ก มีการเปิดพื้นที่ใหม่กว่า 200 ไร่ โดย MTRC แบ่งพื้นที่พัฒนาเปิดให้เอกชนเข้ามา 2 เฟส โดยเฟส 1 มูลค่า 5 พันล้านเหรียญฮ่องกง หรือกว่า 2 หมื่นล้านบาท เฟส 2 แบ่งเป็น A, B มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญฮ่องกง หรือกว่า 6 หมื่นล้านบาท ราคาเฉลี่ยยูนิตละประมาณ 10 ล้านบาท รวมที่อยู่อาศัยกว่า 50 ตึก 21,500 ยูนิต รองรับได้กว่า 6 หมื่นคน ใช้เวลาพัฒนาช่วงปี 2002-2015 โดยแบ่งพื้นที่ 40% เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม อีก 60% เป็นที่อยู่อาศัย ที่สำคัญ รายได้จากการพัฒนาเฟสแรกสามารถนำมาก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ทั้งสาย สถานีทุงชุง จะผสมผสานการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งระดับผู้มีรายได้สูง และผู้มีรายได้น้อยแบบการเคหะ และมีห้างสรรพสินค้า Outlet สถานที่ท่องเที่ยวเป็นจุดดึงดูดเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

โดยในปี 2545 MTRC มีรายได้ถึง 3.34 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท มีกำไรปรัมาณ 1.48 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รูปแบบ TOD จะต้องมีการออกแบบโครงสร้างฐานรากเผื่อไว้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเพื่อให้สามารถต่อยอดได้ โดยหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมจะสามารถหารายได้ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เพียงพอ แต่ที่ผ่านมาการลงทุนรถไฟฟ้าต้องอาศัยรัฐบาลอุดหนุนและค้ำประกัน ในแต่ละขั้นตอนจะมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้องทำให้รูปแบบที่ออกมาไม่กลมกลืน

ปัจจุบัน รฟม.ลงทุนโครงการมูลค่าหลายแสนล้านบาทแต่มีรายได้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท โดย รฟม.ได้รับส่วนแบ่งเพียง 100 กว่าล้านบาทที่เหลือเป็นของเอกชนที่รับสัมปทาน หรือคิดเป็นรายได้จากค่าโดยสาร (รายได้ทางตรง) แค่ 5% ไม่มีรายได้ทางอ้อมจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ MTRC หรือ รฟม.ฮ่องกงมีรายได้ทางอ้อมกว่า 80% และสามารถนำรายได้ดังกล่าวมาใช้เป็นค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ทั้งสาย โดยรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุนเลย

โดย รฟม.เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ไปยังกระทรวงคมนาคมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 แต่ไม่มีการเสนอต่อไปตามขั้นตอนจนกระทั่งยุบสภา ซึ่งเมื่อมีรัฐบาลใหม่ รฟม.จะผลักดันอีกครั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกเป็นปี โดยร่างแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ ใหม่นั้นจะทำให้ รฟม.สามารถหารายได้เอง

“กลับมาที่ รฟม.เพื่อนำมาเป็นค่าก่อสร้างค่าบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าจะไปตรงไหน ราคาที่ดินจะขึ้นไปรอก่อน นายทุน เอกชนไปกว้านซื้อทำคอนโดฯ มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นตกเป็นของเอกชน รฟม.ไม่ได้อะไร ช่วงที่รอแก้ กม.รฟม.ได้วางแนวทางพัฒนาไปก่อน เช่น อู่จอด (เดปโป้) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เวนคืนที่ดินโดยเจ้าของตกลงขายให้ประมาณ 200 ไร่ จึงออกแบบฐานรากเผื่อไว้สำหรับการพัฒนาด้านบนค่าก่อสร้างฐานรากประมาณ 1,000 ล้านบาท วงเงินโครงการรวม 58,000 ล้านบาท แต่ถูกกรรมาธิการฯ ตัดออก บอกว่าไม่จำเป็น ได้มาแค่ 56,000 ล้านบาทเศษ รฟม.ต้องหาแนวทางใหม่ อาจให้เอกชนเข้ามาลงทุนฐานรากแทน แต่ขั้นตอนจะยุ่งยากกว่าการที่ รฟม.ทำเองเพราะอาจต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ นี่เป็นอีกปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องไม่เข้าใจ เทียบจากมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านกับเผื่อค่าฐานราก 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมหาศาล กลับไม่ให้”

แนวคิด หลักการ ทฤษฎี TOD มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าสร้างรายได้ให้ รฟม.ฮ่องกงมหาศาล มีกำไร การเดินรถมีประสิทธิภาพแก้ปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน แต่ รฟม.จะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ และเมื่อไร ยังไร้วี่แวว

//--------------------------------

รฟม.ยึดโมเดลฮ่องกง ต้นแบบพัฒนาพื้นที่เดโปรถไฟฟ้าสีส้ม-สีชมพู
กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา REAL ESTATE -
คอลัมน์ : อสังหาฯ REAL ESTATE
ออนไลน์เมื่อ วันอังคารที่ 28 มกราคม 2014 เวลา 14:52 น.
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,918
วันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 255

บิ๊กรฟม. ไอเดียกระฉูด เตรียมนำโมเดลการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าเมืองฮ่องกงมาเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เดโปรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพูที่มีนบุรีบนพื้นที่ราว 200 ไร่ ใน 3 ขนาดห้อง มี 24 อาคาร อาคารละ 720 ยูนิต "ยงสิทธิ์" ไล่บี้ผู้เกี่ยวข้องเร่งสรุปรูปแบบก่อนชงบอร์ดรฟม.เห็นชอบเพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ เล็งมอบการเคหะฯเป็นผู้บริหารจัดการ
alt นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า มีแนวคิดที่จะนำรูปแบบการพัฒนาพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนในประเทศฮ่องกงมาเป็นต้นแบบการพัฒนาในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ราว 200 ไร่ของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี)และสายสีชมพู(ช่วงแคราย-มีนบุรี) เนื่องจากสามารถตอบโจทย์และยังเป็นต้นแบบที่จะสามารถขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆได้อย่างดีอีกด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันความต้องการบ้านหรือที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีโอกาสและความต้องการอีกมากเพราะเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถก่อสร้างได้สูงเช่นที่ฮ่องกง อีกทั้งเรื่องราคาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของต้นทุนที่ไม่น่าจะต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยอาจมอบให้การเคหะแห่งชาติเป็นผู้บริหารจัดการ
โดยจุดเด่นอยู่ที่การจัดสรรพื้นที่ให้เชื่อมโยงไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รองรับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถแท็กซี่ รถเมล์โดยสารขนาดใหญ่ รถมินิบัส ได้อย่างกลมกลืนให้เดินทางไปยังจุดต่างๆได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แม้ว่าบางจุดจะเดินไกลกว่า 500 เมตร แต่ก็ใช้สกายวอล์กพร้อมกับพื้นที่เชิงพาณิชย์อำนวยความสะดวกเป็นช่วงๆให้การเดินเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน นอกจากนั้นพื้นที่ตามอาคารต่างๆยังมีโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถาบันการเงิน ร้านสะดวกซื้อให้บริการผู้โดยสารและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ จึงเป็นการขยายพื้นที่เมืองใหม่โดยไม่ต้องสร้างบนเดโปเท่านั้น
"จะดำเนินการเช่นที่ฮ่องกงโมเดลโดยเปิดเป็นเฟสหรือโซน ซึ่งพื้นที่ราว 200 ไร่ จึงทำได้หลายเฟสให้เป็นทั้งในส่วนที่การเคหะแห่งชาติดำเนินการและให้เอกชน ซึ่งในจุดเดโปมีนบุรีทำได้ทั้งบนพื้นที่ศูนย์ซ่อมทั้งหมด ในส่วนปมปัญหาการตัดราคาค่าเสาเข็มฐานรากในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมานั้นตามหนังสือที่นำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี(ครม.)ยังสามารถชงเรื่องให้มีการพิจารณารอบใหม่ได้ เนื่องจากงบประมาณตามร่างพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาทล่าช้าออกไปแล้ว ดังนั้นหากครม.ของรัฐบาลชุดใหม่เห็นชอบก็สามารถดำเนินการต่อไปได้เลย"
นายยงสิทธิ์กล่าวอีกว่าการพัฒนาพื้นที่เดโปของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายย่านมีนบุรีนั้นอยู่ระหว่างจุดเชื่อมต่อของถนนรามคำแหงกับถนนร่มเกล้า จะให้มีทั้งออฟฟิศบิลดิ้ง คอมเมอร์เชียล ที่อยู่อาศัยขนาด 30 ชั้น จำนวน 24 อาคาร อาคารละประมาณ 720 ยูนิต อาคารที่จอดรถประมาณ 8,000 คัน โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โดยห้องพักอาศัยมีทั้งขนาด 1 ห้องนอนพื้นที่ 28 ตารางเมตร ขนาด 2 ห้องนอนพื้นที่ 42 ตารางเมตร และขนาด 3 ห้องนอน พื้นที่ 56 ตารางเมตร
ขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ควรมองข้ามประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งที่จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นได้เตรียมการและจัดหาที่อยู่อาศัย และระบบการสัญจรที่หลากหลายแก่ประชาชนได้ง่ายและเป็นไปตามแผนมากขึ้น การช่วยประหยัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันระหว่างชุมชนให้สอดคล้องกับระบบขนส่งมวลชน การสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการขนส่งมวลชนจากการเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบ
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในหลายด้าน นอกเหนือจากการประหยัดพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงลดลงในแต่ละปี โดยได้ให้ผู้เกี่ยวข้องไปเร่งสรุปรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อนำเสนอบอร์ดรฟม. ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติให้ดำเนินการโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะให้การเคหะแห่งชาติเป็นผู้บริหารจัดการ
ด้านรศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพื้นที่ TOD ของฮ่องกง กล่าวว่าพื้นที่การพัฒนาโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าของฮ่องกง ทางรฟม.ของฮ่องกงเป็นผู้ดำเนินการเองในโซนราคาแพง ซึ่งติดกับทะเล ส่วนโซนที่อยู่อีกฟากของถนนจะเป็นพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติของฮ่องกงดำเนินการซึ่งราคาจะถูกกว่า
"พบว่าประชาชนในบริเวณรัศมี 500 เมตรของระบบรถไฟฟ้ามีประมาณ 41% ของประชากรฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันฮ่องกงมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน จึงพบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าค่อนข้างมาก สำหรับการพัฒนานั้นพื้นที่เดียวกันแต่ไม่ได้กำหนดว่าเอกชนจะเป็นรายเดียวกัน แต่ไทยมีข้อกฎหมายเกี่ยวข้องที่ไม่เอื้อประโยชน์อย่างมาก ดังนั้นการพัฒนา TOD ของฮ่องกงจึงถือว่าเป็นตัวอย่างของการพัฒนาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน"


//-----------------------------------
น่าคิดอยู่นะ ว่าหนังสือพิมพ์อย่างสยามธุรกิจจะว่ากระไร เพราะ สยามธุรกิจได้สาปส่งความคิดเช่นนี้ขนาดไม่เผาผีกันเลยทีเดียว


Last edited by Wisarut on 03/02/2014 8:36 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42784
Location: NECTEC

PostPosted: 03/02/2014 8:34 pm    Post subject: Reply with quote

รถไฟฟ้า 3 สีบูม บางซื่อยันบางโพ พฤกษา-แลนด์ซื้อตึกขึ้นคอนโด
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
31 มกราคม 2557 เวลา 18:04:44 น.


ยักษ์อสังหาฯ "พฤกษาฯ-แลนด์ฯ" กว้านซื้อตึกแถวเก่า "บางซื่อ-เตาปูน-บางโพ" ขึ้นคอนโดฯรับรถไฟฟ้า "ม่วง-น้ำเงิน-แดง" อนาคตบูมสถานีเตาปูนเป็นสยามสแควร์ 2 ทุนนอกตลาด "บางซื่อแลนด์" ดอดซื้ออาคารพาณิชย์ 26 ห้อง รวมแปลงขึ้นตึกสูง ร้านไอศกรีมทิพย์รสขาย 7 คูหา 90 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทำเลแยก 3 จุดหลัก ได้แก่ แยกบางซื่อ แยกเตาปูน และแยกบางโพ กำลังเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาโครงการ รองรับกับรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง 3 สายทางที่จะเปิดบริการในปี 2560 คือ สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค) และสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่)



กว้านซื้อตึกแถว 3 ทำเลฮอต

โดย "บางซื่อ" จะได้อานิสงส์จากสายสีแดง โดยมี "สถานีกลางบางซื่อ" เนื้อที่กว่า 400 ไร่ เป็นจุดต่อเชื่อมการเดินทาง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง ขณะที่ทำเล "เตาปูน" จะมี "สถานีเตาปูน" เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางรถไฟฟ้า 3 สายทาง คือ สายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สีม่วงต่อขยาย (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสีน้ำเงิน ในอนาคตจะเป็นทำเลบูมเหมือน "สถานีสยามสแควร์" ของรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน ส่วน "แยกบางโพ" จะเป็นที่ตั้งของสถานีบางโพ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ทั้งนี้ ย่านบางซื่อ ทาง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทยเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ย่านนี้ จากการลงสำรวจพื้นที่พบด้วยว่าในละแวกใกล้เคียงมีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

ที่น่าสนใจ โดยตึกแถวเก่าติดถนนเตชะวณิช อายุร่วม 50-60 ปี ตั้งอยู่บริเวณทางลงสะพานข้ามแยกเตาปูน ใกล้ถนนพระรามที่ 6 ซอย 36 (ซอยเตาปูนแมนชั่น) ปัจจุบันเป็นบ้านพักอาศัยและทำการค้า อาทิ ขายเครื่องเขียน ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ ได้ถูกบริษัทพัฒนาที่ดินรายหนึ่งมากว้านซื้อไป 26 คูหา แบ่งเป็นตึกแถวฝั่งติดถนน 5 คูหา กับตึกแถวด้านหลังที่อยู่ถัดเข้าไปในซอยอีก 21 คูหา

เสือซุ่ม "บางซื่อแลนด์"

แหล่งข่าวจากผู้เช่าอาคารพาณิชย์ใกล้กับซอยเตาปูนแมนชั่นรายหนึ่งเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปลายปีที่ผ่านมา บจ.บางซื่อแลนด์ ผู้พัฒนาโครงการบางซื่อพลาซ่า ได้เข้ามากว้านซื้อตึกแถวในบริเวณนี้จำนวน 26 คูหา ไปในราคา 45 ล้านบาท แบ่งเป็นตึกแถวติดถนนเตชะวณิช 5 คูหา ปัจจุบันเป็นร้านเครื่องเขียนพรประเสริฐ 1 คูหา ร้านเครื่องเขียนทวีภัณฑ์ 1 คูหา บ้านพักอาศัย 1 คูหา และร้านตัดเย็บเสื้อบูรพาชนะ 2 คูหา พร้อมด้วยตึกแถวติดกันที่อยู่ด้านหลังอีก 21 คูหา

"เท่าที่ทราบบริษัทมีแผนจะสร้างคอนโดฯเพราะใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าเตาปูนและบางซื่อ รัศมีไม่เกิน 500-600 เมตร น่าจะนำไปรวมแปลงกับที่ดินเดิมด้านหลังอยู่ติดกันเนื้อที่กว่า 4 ไร่ ปัจจุบันให้บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยเช่าเป็นที่จอดรถอยู่"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ตนเองเช่าตึกแถวบริเวณนี้มา 50-60 ปี ตั้งแต่สมัยพ่อ-แม่ จากค่าเช่าเดือนละไม่กี่ร้อยเป็นเดือนละ 5 พันบาท ล่าสุดได้ขอต่อสัญญาเช่ากับบริษัทบางซื่อแลนด์ไปอีก 1 ปี จากเดือนพฤศจิกายน 2556-ตุลาคม 2557 เนื่องจากหาที่อยู่ใหม่ไม่ทัน ขณะที่ค่าเช่าถูกปรับขึ้นเป็นเดือนละ 1.65 หมื่นบาท

จ่อลงทุนคอนโดมิเนียม

สำหรับเจ้าของตึกแถวทั้ง 26 คูหาเดิม คือ คุณหญิงประหยัด (ไม่ทราบนามสกุล) แต่เดิมทราบว่าไม่มีนโยบายจะขายตึกแถวบริเวณนี้ออกไป อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าของที่ดินเสียชีวิต ทรัพย์สินได้ตกเป็นของลูกหลานและได้มอบหมายให้ทนายเข้ามาดำเนินการติดต่อหาผู้ซื้อ ราคาซื้อขายเฉลี่ยคูหาละกว่า 1.7 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างถูก ระหว่างนี้คงต้องหาที่อยู่ใหม่ แต่ติดปัญหาว่าจะค้าขายได้เหมือนบริเวณนี้หรือไม่

แหล่งข่าวจาก บจ.บางซื่อแลนด์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ซื้อตึกแถวกว่า 20 คูหาจริง เพราะเป็นทำเลที่ดีไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า ประกอบกับบริษัทมีที่ดินแปลงติดกันทางด้านหลังอีกกว่า 4 ไร่ รวมทั้งมีที่ดินในซอย (ถนนพระรามที่ 6 ซอย 36) ฝั่งตรงข้ามอีกกว่า 3 ไร่ บริษัทจึงมีแผนนำมาพัฒนาเป็นโครงการคอนโดฯ แต่คงต้องรออีกสักระยะเพราะก่อนหน้านี้ทางผู้เช่าบางส่วนได้ขอต่อสัญญาไปบ้างแล้ว

รถไฟฟ้าดันตึกแถวราคาพุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนของย่านเตาปูนไปจนถึงแยกบางโพ พบว่าบริเวณโดยรอบ "สถานีเตาปูน" มีการติดป้ายประกาศขายตึกแถวเก่าแก่หลายราย โดยเจ้าของร้านไอศกรีมทิพย์รสกล่าวว่า ทางร้านติดป้ายประกาศขายตึกที่เป็นทั้งบ้านและร้านขายไอศกรีมด้านหน้าติดตลาดเตาปูน จำนวน 3 คูหา ด้านหลังเข้าไปในซอยอีก 4 คูหา รวม 7 คูหา (พื้นที่คูหาละ 17 ตร.ว.) ราคาเหมารวมแปลง 90 ล้านบาท เนื่องจากจะย้ายไปอยู่ที่อื่น

ด้านเจ้าของตึกแถวเก่าแยกบางโพที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้ากล่าวว่า ได้ประกาศขายตึกแถว 4 คูหา ราคารวมกว่า 70 ล้านบาท เฉลี่ยตารางวาละ 3.5 แสนบาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่ อาทิ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท และ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มาติดต่อขอซื้อ แต่ยังไม่รีบร้อนขายเพราะรถไฟฟ้ายังสร้างไม่เสร็จ

"ก่อนหน้านี้มีเจ้าของโครงการอสังหาฯมาซื้อที่ดินของเครือญาติแปลงติดกันไปแล้ว บอกว่าจะสร้างคอนโดฯและมาขอซื้อที่ดินจากผมอีก แต่ผมยังไม่ขาย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้จากทำเลแยกบางโพเลี้ยวซ้าย มีนายทุนอสังหาฯซื้อตึกเก่าไว้หลายห้อง รวมถึงโรงเรียนนวพัฒน์ที่ตอนนี้มีการทุบตึกเก่าทิ้ง เพื่อรอสร้างคอนโดฯรองรับรถไฟฟ้าสายใหม่

จับตาทำเลทองตลาดเตาปูน

สำหรับความเคลื่อนไหวของบริษัทอสังหาฯเข้าไปซื้อที่ดินพัฒนาโครงการอยู่แล้วหลายค่าย อาทิ โครงการเดอะทรี อินเตอร์เชนจ์ ของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท, โครงการรีชชี่พาร์ค 2 ของบริษัท ริชี่เพลส 2002, โครงการเดอะมาร์เก็ต คอมมูนิตี้มอลล์ ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ไปซื้อห้างบางลำภูเดิมเมื่อปี 2552
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 88, 89, 90 ... 278, 279, 280  Next
Page 89 of 280

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©