RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311329
ทั่วไป:13290906
ทั้งหมด:13602235
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - กสท.จะยกเลิกให้บริการโทรเลขตั้งแต่ 1 พ.ค.51
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

กสท.จะยกเลิกให้บริการโทรเลขตั้งแต่ 1 พ.ค.51
Goto page Previous  1, 2, 3, 4  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ
View previous topic :: View next topic  
Author Message
alderwood
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/04/2006
Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา

PostPosted: 28/02/2008 1:39 pm    Post subject: Reply with quote

ตามรอยโทรเลข

“สมัยยังเด็ก ราวปี ๒๕๐๔ ผมอายุประมาณ ๑๖ ปี เคยรับโทรเลขครั้งหนึ่ง เป็นข่าวการเสียชีวิตของยายซึ่งอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ตอนนั้นโทรเลขมาเป็นกระดาษ มีบุรุษไปรษณีย์ใส่เสื้อคอตั้งแขนยาว สวมรองเท้าบูต เป็นคนมาส่ง นับแต่นั้นจึงรู้จักโทรเลขมากขึ้น ทีนี้ได้รับทีไรเป็นตกใจมือสั่น อย่างที่รู้กันว่าโทรเลขใช้สำหรับส่งข่าวสำคัญ ซึ่งก็มักจะเป็นข่าวไม่ดีเสมอ”

สุรสิทธิ์ สุหทัยกุล อดีตเจ้าหน้าที่ที่ทำการโทรเลขกลาง บอกเล่าประสบการณ์ของตนที่มีต่อโทรเลขช่วง ๑๖ ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้เราฟัง

ลุงสุรสิทธิ์เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยังคงจำได้ถึงบรรยากาศเก่าๆ ในยุคที่โทรเลขยังมีบทบาทต่อชีวิตคนไทยอยู่มาก หรือจะเรียกว่าเป็นทางเลือกเดียวในการติดต่อบอกกล่าวข่าวสารสำคัญก็คงไม่ผิดนัก

Click on the image for full size

แม้ในยุคเฟื่องฟูของโทรเลขเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ทำการไปรษณีย์แต่ละแห่งจะมียอดรับ-ส่งโทรเลขนับพันฉบับต่อวัน แต่ดูเหมือนการติดตามร่องรอยเก่าๆ ของโทรเลข โดยเฉพาะโทรเลขที่อยู่ในวิถีชีวิตคนธรรมดาสามัญจะไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งคงเพราะคนส่วนใหญ่ใช้โทรเลขเพื่อแจ้งข่าวสาร เมื่อผู้รับได้ทราบข่าวเหล่านั้นแล้ว โทรเลขที่ไปถึงมือก็ดูจะหมดความหมาย พร้อมจะทิ้งลงถังได้ทุกเมื่อ ทั้งในส่วนต้นทางอย่างกรมไปรษณีย์โทรเลขเวลานั้น หรือแม้ไปรษณีย์ไทยในยุคนี้ หากไม่ใช่โทรเลขที่ใช้ติดต่อทางราชการ สำเนาโทรเลขเหล่านั้นก็จะถูกทำลายทิ้งหลังเก็บรักษาไว้ครบ ๒ ปี เพราะถือเป็นเอกสารที่ห้ามเผยแพร่

ดังนั้น นอกจากโทรเลขไม่กี่ฉบับที่อาจมีผู้เก็บรักษาเอาไว้ด้วยเหตุผลพิเศษบางประการแล้ว ร่องรอยโทรเลขที่เราพอติดตามได้จึงดูจะเหลืออยู่แต่ในความทรงจำของคนรุ่นเก่าที่เคยคุ้นต่อการสื่อสารชนิดนี้ กับคนอีกกลุ่มที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตคลุกคลีอยู่กับมัน ดังเช่นกลุ่มคุณลุงเจ้าหน้าที่ประจำที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ประจำที่ทำการโทรเลขกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบบโทรเลขของไทย

“มีบ้างเหมือนกันที่คนใช้โทรเลขส่งข้อความแบบอื่นที่ไม่ใช่ข่าวร้าย อย่างเช่น ‘เดินทางถึงที่หมายแล้ว’ ‘ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือ’ แต่ลักษณะนี้รู้สึกว่าเพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงหลัง และต้องเป็นคนที่รู้จักโทรเลขดีแล้วถึงจะใช้งานลักษณะนี้ โดยทั่วไป คนที่นานๆ ใช้ทีหรือนานๆ จะได้รับโทรเลขสักที พอพูดถึงโทรเลขก็มักจะนึกถึงข่าวร้ายก่อนเสมอ”

ลุงสุรสิทธิ์ยังจำบรรยากาศการทำงานในที่ทำการโทรเลขกลางช่วงก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ดี ช่วงนั้นถือเป็นยุคท้ายๆ ของการส่งโทรเลขด้วยเครื่องส่งรหัสมอร์ส เพราะได้มีการนำโทรพิมพ์ (ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒) มาใช้ส่งโทรเลขแทนเครื่องส่งรหัสมอร์สเป็นส่วนใหญ่แล้ว

“สมัยแรกๆ ใครเชี่ยวชาญรหัสมอร์สจะก้าวหน้าเร็วมาก เพราะถ้าคุณไม่เก่งวิชานี้ เวลาทำงานจะติดๆ ขัดๆ เรื่องนี้ทำให้หน้าตึกที่ทำการโทรเลขกลางสมัยก่อนกลายเป็นสนามมวยประจำ (หัวเราะ)

“เรื่องของเรื่องเกิดจากพนักงานที่ต้นทางกับปลายทางซึ่งต้องทำงานด้วยกันไม่เข้าใจกัน การรับ-ส่งโทรเลขด้วยเครื่องส่งรหัสมอร์ส นอกจากคนส่งต้องชำนาญแล้ว ยังต้องเข้าใจคนรับด้วย เพราะความสามารถของคนเราแตกต่างกัน เช่นส่งจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ปลายทางอาจ ‘เคาะเบรก’ คือกดตัวรับรหัสมอร์สฝั่งเขาค้าง เพื่อบอกว่าฟังสัญญาณไม่ทัน ต้นทางก็ต้องส่งอีกครั้ง พอโดนเบรกบ่อยๆ เข้าก็จะมีการด่าหรือต่อว่ากันด้วยรหัสมอร์สนั่นละ บางคนโดนว่าแล้วโมโห นั่งรถมาจากต่างจังหวัดแล้วเรียกคู่กรณีลงไปคุย เจ็บตัวทั้งคู่ ซึ่งจริงๆ ทุกคนก็พยายามอะลุ่มอล่วยเพราะเกิดเรื่องทะเลาะกันถือว่าผิดวินัยครับ”

Click on the image for full size

แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ มิตรภาพระหว่างการทำงานก็เกิดขึ้นได้ “ครั้งหนึ่งผมเคาะรหัสมอร์สส่งโทรเลขไปสระบุรี ฝ่ายรับฟังสัญญาณรับข้อความได้อย่างรวดเร็ว พอส่งข้อความเสร็จเลยถูกใจ เออเขาเก่งแฮะ ก็มีการเคาะรหัสถามชื่อเสียงเรียงนามกัน จากนั้นผมไปเยี่ยมพี่ชายที่สระบุรีทีไรก็ได้พึ่งเขาบ่อยๆ อย่างไรก็ตามเรื่องความผิดพลาด ความขัดแย้ง มันก็เป็นธรรมดาสำหรับคนทำงาน แต่ที่สำคัญต้องไม่พลาดแล้วส่งผลกระทบถึงผู้รับข่าวสาร”

นั่นหมายถึงการส่งข้อความประเภทที่อักษรตัวเดียวผิด แต่ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปทั้งประโยค เช่น “แม่หายแล้ว” แต่เจ้าหน้าที่ส่ง “ต” เข้าไปแทน “ห” ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงและสร้างความปั่นป่วนไม่น้อย

“ลูกที่อยู่กรุงเทพฯ ตกอกตกใจ ร้องห่มร้องไห้ เตรียมงานศพเสียเงินมากมายกว่าจะพบว่าแม่ยังมีชีวิตอยู่”

สิ่งที่ต้องทำก็คือ ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าเวรโทรเลขกะนั้นต้องพาลูกน้องที่ทำงานพลาดไปขอโทษผู้เสียหายถึงบ้าน ซึ่งก็ไม่เสมอไปที่จะยอมความกันได้ ยิ่งถ้าหากผู้เสียหายเป็นข้าราชการมีตำแหน่งใหญ่โตด้วยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็อาจโดนหักเงินเดือนหรือถูกลงโทษทางวินัยได้ง่ายๆ

“แต่กรณีแบบที่ว่าก็มีน้อยมาก เวลาขอโทษเราก็อธิบายถึงการทำงานของเราให้เขาฟังว่ามันหนักแค่ไหน สมัยนั้นโทรเลขแต่ละวันมีเข้ามาจำนวนมาก กะหนึ่ง ๘ ชั่วโมงนี่ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งอาจต้องส่งโทรเลขถึงเกือบๆ ๕๐ ฉบับ นึกดู ห้องทำงานบนตึกที่ทำการโทรเลขกลางเป็นห้องใหญ่ ยิ่งมีคนส่งโทรเลขมากขึ้น ก็ต้องเพิ่มเครื่องส่งรหัสมอร์สและเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น นั่งเรียงกันเป็นตับ เวียนกันทำงาน ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ร้อนขนาดต้องถอดเสื้อทำงาน หลายคนก็กินนอนกันอยู่แถวนั้น เป็นวัณโรคไปเลยก็มี เครียดจริงๆ เพราะต้องใช้สมาธิเคาะและฟังสัญญาณ คนไหนเข้ากะแล้วเจอเข้าสัก ๔๐ ฉบับนี่สลบเลย

“แต่มันก็มีเรื่องที่ทำให้ได้ยิ้มกันอยู่บ้าง อย่างข้อความประเภท ‘มาไม่ต้องมา ถ้าไม่มาให้บอกด้วย’ นี่ก็ส่งกันเยอะ (หัวเราะ) เดาว่าพวกเขาคงมีความสัมพันธ์กัน แต่อย่างว่า เรามีหน้าที่รับแล้วส่งข้อความต่อให้ถึงปลายทาง กระดาษข้อความผ่านไปที่ใครก็ยิ้มกันสนุกสนาน แต่แพร่งพรายไม่ได้เพราะมีระเบียบห้ามไว้”

แต่ในที่สุด บรรยากาศการทำงานแบบนี้ก็ค่อยๆ หายไปเมื่อระบบโทรพิมพ์เข้ามาแทนที่เต็มตัว

“โทรพิมพ์เข้ามาแทนเครื่องส่งรหัสมอร์สอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ แล้วครับ คนทำงานเรียกชื่อเล่นของมันว่า ‘ไอ้โม่ง’ เครื่องใหญ่มาก มันคือพิมพ์ดีดดีๆ นี่เอง แต่เหมือนโทรศัพท์ตรงที่มีหมายเลขประจำเครื่อง อยากส่งข้อความไปไหนก็กดหมายเลขเครื่องปลายทาง ถ้าทางนั้นออนไลน์ เครื่องจะบอกว่าพร้อมส่ง เราก็พิมพ์ข้อความ การส่งแบบโทรพิมพ์ใช้สัญญาณไฟฟ้าที่ไม่ใช่รหัสมอร์สในการส่งแล้วนะครับ”

ลุงสุรสิทธิ์ออกท่าทางยงโย่ยงหยก “เวลาพิมพ์ต้องใช้แรงเยอะ เสียงจะดังแป๊ะๆๆๆๆ ทำงานกับโทรพิมพ์นี่ก็หนักเหมือนกัน ถึงแม้ปริมาณงานต่อวันจะทำได้มากกว่าสมัยที่ใช้เครื่องส่งรหัสมอร์ส เพราะเป็นการพิมพ์ข้อความโดยตัดขั้นตอนการแปลงข้อความเป็นรหัสมอร์สออกไป แต่จำนวนโทรเลขที่ต้องส่งมันก็เพิ่มขึ้นด้วย กะหนึ่งนี่ผมเคยเจอถึง ๓๐๐ ฉบับมาแล้ว แย่เลย”

Click on the image for full size

หลังจาก “ไอ้โม่ง” เข้ามาแทนที่เครื่องส่งรหัสมอร์สในที่ทำการโทรเลขกลาง มันก็ค่อยๆ ขยับขยายไปยังชุมสายย่อยตามต่างจังหวัดซึ่งมีปริมาณการรับ-ส่งโทรเลขเกิน ๑๐๐ ฉบับต่อวัน โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ เช่นเชียงใหม่ รวมถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

“ส่วนในพื้นที่ห่างไกลที่จำนวนการรับ-ส่งโทรเลขเฉลี่ยต่ำกว่า ๑๐ ฉบับต่อวันก็ยังใช้ระบบเดิม ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีจัดการในกรณีที่ต้นทาง-ปลายทางมีเครื่องมือต่างชนิดกัน เช่นถ้าต้องการส่งโทรเลขไปอำเภอห่างไกลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องเริ่มจากส่งข้อความด้วยโทรพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ไปที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีโทรพิมพ์เหมือนกันก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่นั่นก็จะส่งข้อความต่อเป็นรหัสมอร์สไปยังที่ทำการโทรเลข ณ อำเภอปลายทางที่ผู้รับอาศัยอยู่ ซึ่งที่นั่นก็จะมีเครื่องรับสัญญาณรหัสมอร์สที่สามารถติดต่อกับอำเภอเมืองได้”

ยุคของโทรพิมพ์ดำเนินต่อไปจนมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ กล่าวคือ ที่ทำการโทรเลขกลางได้ถูกเปลี่ยนเป็นชุมสายโทรเลขอัตโนมัติ (Message Switching Center) โดยมีคอมพิวเตอร์ระดับเมนเฟรมขนาดใหญ่เท่าห้องรับแขกมาทำงานแทนระบบการรับ-ส่งโทรเลขแบบเดิม

“สาเหตุหนึ่งที่ต้องมีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ ก็เพราะถ้ามัวแต่ใช้ของเก่าคงไม่ทันกิน ตัวอย่างเช่น สมัยแรกเราส่งโทรเลขด้วยรหัสมอร์สฉบับหนึ่งใช้เวลาราว ๑๐ นาทีก็ถึงที่ทำการโทรเลขปลายทาง นี่เร็วแล้วนะครับ มาถึงยุคโทรพิมพ์ก็ใช้เวลาน้อยกว่า ส่วนคอมพิวเตอร์จะเร็วกว่านั้นอีก คือราว ๒ นาทีก็ถึง เรื่องความเร็วนี้ไม่นับรวมเวลาในการจัดส่งให้ถึงมือผู้รับนะครับ เพราะสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับคน”

ในที่สุดคอมพิวเตอร์ก็เข้ามาแทนที่เครื่องโทรพิมพ์ทั้งหมด ที่ทำการโทรเลขทุกแห่งทยอยเปลี่ยนเครื่องรับ-ส่งโทรเลขจากเครื่องส่งรหัสมอร์สและโทรพิมพ์มาเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ชุมสายโทรเลขอัตโนมัติลดกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายร้อยคนเหลือเพียงผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์กับผู้ดูแลศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขอีกไม่กี่สิบคนเท่านั้น ส่วนที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ประจำมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณงาน

แต่ไม่ว่าโทรเลขจะพยายามพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองไปเพียงไร มันก็ดูจะช้าเกินไปสำหรับโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน...
_________________
รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website MSN Messenger
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44891
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 28/02/2008 2:27 pm    Post subject: Reply with quote

ขอบคุณมากๆ ครับคุณ alderwood ที่นำบทความน่าสนใจมาเสนอให้อ่านกัน
ได้ความรู้ครับ Very Happy
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
beer45
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 18/06/2007
Posts: 4249
Location: ประเทศสยาม

PostPosted: 28/02/2008 3:43 pm    Post subject: Reply with quote

ไปทุ่งสงคราวนี้ ต้องออกโทรเลข พร้อมด้วย กรฟ.6 ซะแล้วครับ ไปแบบปลอด ส.แขวง แต่ต้องหาเครื่องโทรพิมพ์ก่อน 55555 นำมาเกี่ยวกันจนได้ครับ โทรเลข โทรพิมพ์
Back to top
View user's profile Send private message
palm_gea
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 03/07/2006
Posts: 1321
Location: ธ.ก.ส.

PostPosted: 28/02/2008 6:32 pm    Post subject: Reply with quote

black_express wrote:
นี่ " โทรเลข " กำลังจะกลายเป็นหนึ่งในอดีตไปอีกแล้วกระมังครับ ? ที่ประเทศไทยเคยใช้งาน และเคยมี...

สมัยก่อน หากได้รับโทรเลข มักจะเป็นข่าวที่ไม่สู้จะดี หรือเป็นข่าวฉุกเฉิน เช่น " พ่อ (แม่) ป่วยหนัก กลับบ้านด่วน " หรือว่า " ส่งเงินด่วน 1,000 บาท " Wink

ส่วนข่าวดีๆ อย่างเช่น " ไปรายงานตัวทำงานจันทร์นี้ " หรือ " สอบได้ " ไม่ค่อยจะเจอแฮะ Laughing

อาตึ๋งพอจะจำอัตราค่าบริการได้มั้ยครับว่าเค้าคิดยังไง เท่าไหร่ ผมจำได้ว่าตอนประถมครูสอนอยู่แต่ผมลืมไปหมดแล้วครับ Embarassed

เวลาผมไปเยี่ยมปู่กับย่าที่อ.วาปีปทุม ระหว่างทางช่วงผ่านอ.นาเชือก นาดูน จะมีซากเสาโทรเลขอยู่ทางซ้ายมือ สลับกับเสาไฟฟ้า ที่อื่นพอจะมีมั้ยครับเนี่ย

แถวบ้านผมสมัยก่อนเห็นผู้ใหญ่บอกว่าถ้าจะไปโทรเลขจะพูดว่า" ไปตีตะแล๊บแก๊บ " ครับ สงสัยเพี้ยนจากเทเลแกรม รึเปล่า Laughing
_________________
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message
Rakpong
President
President


Joined: 29/03/2006
Posts: 1716
Location: แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก

PostPosted: 28/02/2008 6:53 pm    Post subject: Reply with quote

เมื่อราวปี 2520+ ผมย้ายจากบ้านหลวง ออกไปอยู่บ้านที่คุณพ่อปลูกเอง ไกลเมืองพอควร ไม่มีคู่สายโทรศัพท์ ก็ได้อาศัยโทรเลขไว้ติดต่อกับญาติพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาจะเดินทางไปมาหาสู่กันทางรถไฟนี่แหละ

ยกตัวอย่าง ถ้าจะเดินทางจากทุ่งสง ไปลงที่บ้านโป่ง เพื่อมาเมืองกาญจน์ โดยรถเร็ว 44 ยะลา - กรุงเทพ ออกเดินทาง 27 ก.พ. ถึงเช้า 28 ก.พ. ราว 08.00 น. จะต้องคิดคำให้น้อยที่สุด เพื่อสื่อสารให้คนที่บ้านมารับที่บ้านโป่งได้ เพราะเขาคิดค่าบริการเป็นคำ ซึ่งรวมไปถึงชื่อที่อยู่ด้วย นับเป็นคำหมด

ลองคิดคำดูสิครับ ว่าจะส่งข้อความว่าอย่างไรดี ให้ประหยัดค่าส่งที่สุด

อีกอย่างที่เคยออกมาช่วงหนึ่ง คือโทรเลขอวยพร ที่หน้าซองจะเป็นลายดอกไม้สวย ๆ ส่งกันช่วงปีใหม่ เก๋ไก๋ไปอีกแบบ อยากที่ทราบกันว่าโทรเลขมักใช้กับข่าวไม่ค่อยดี นัยว่าผู้บริหารกรมไปรษณีย์โทรเลขยุคนั้น ก็รู้จักสร้างการตลาดพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย

อ้อ ยังมีโทรเลขแบบ "โทรเลขด่วน" คือเคาะปุ๊บ บุรุษไปรษณีย์ที่ปลายทางจะออกไปส่งถึงมือผู้รับทันทีเลย ซึ่งตามปกติ จะส่งกันแค่วันละรอบ หรือในเมืองใหญ่ อาจจะวันละ 2 รอบ
รู้สึกจะเสียค่าบริการเพิ่มอีก 10-20 บาท ซองจะเป็นสีชมพู ขนาดโทรเลขธรรมดาซองสีเขียว ยังใจแป้ว เมื่อได้รับ แล้วซองสีชมพูจะชวนหัวใจวายขนาดไหน

ที่บ้านผม เวลาที่บุรุษไปรษณีย์มาส่งโทรเลข ก็น่าแปลกว่ามักจะมาตอนหัวค่ำ ขี่มอเตอร์ไซค์แบบผู้ชาย เสียงดัง มีปึกโทรเลขหนีบอยู่ระหว่างแฮนด์ทั้งสองข้าง มาทีไร ที่บ้านผมก็เลี้ยงน้ำทุกที

ผมใช้โทรเลขครั้งสุดท้าย ราวปี 2539 ยุคนั้นโทรศัพท์มือถือ ยังตั้งเสาไม่ได้ครอบคลุมทั่วไทย ได้ส่งโทรเลขจากกรุงเทพ ไปหาเพื่อนที่มีบ้านอยู่หลังเขาแถวอำเภอไทรโยคเกือบถึงชายแดนบ้องตี้ นอกจากเสียค่าคำแล้ว ยังต้องเสียค่าพื้นที่ที่ไกลจากไปรษณีย์มาก ๆ ด้วยครับ ตอนนั้นเสียเพิ่มอีก 50 บาท


ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโทรเลข ก็กำลังจะปิดฉากลง แต่นั่นคงเป็นต้นกำเนิดของการสื่อสารของมนุษย์ ดั่งประวัติที่ทุกท่านเล่าให้ฟัง ผมเลยเอาเรื่องจริงที่เคยได้ใช้โทรเลขมาเล่าบ้าง ( เล่าหลังจากปีนี้ เดี๋ยวจะคิดว่า ผมอายุเกิน 60 ที่ยังเคยใช้โทรเลขอยู่ )


Last edited by Rakpong on 28/02/2008 7:06 pm; edited 3 times in total
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Compressor
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 05/12/2007
Posts: 1775
Location: ตลอดปลายทางอุบลราชธานี

PostPosted: 28/02/2008 7:04 pm    Post subject: Reply with quote

palm_gea wrote:
black_express wrote:
นี่ " โทรเลข " กำลังจะกลายเป็นหนึ่งในอดีตไปอีกแล้วกระมังครับ ? ที่ประเทศไทยเคยใช้งาน และเคยมี...

สมัยก่อน หากได้รับโทรเลข มักจะเป็นข่าวที่ไม่สู้จะดี หรือเป็นข่าวฉุกเฉิน เช่น " พ่อ (แม่) ป่วยหนัก กลับบ้านด่วน " หรือว่า " ส่งเงินด่วน 1,000 บาท " Wink

ส่วนข่าวดีๆ อย่างเช่น " ไปรายงานตัวทำงานจันทร์นี้ " หรือ " สอบได้ " ไม่ค่อยจะเจอแฮะ Laughing

อาตึ๋งพอจะจำอัตราค่าบริการได้มั้ยครับว่าเค้าคิดยังไง เท่าไหร่ ผมจำได้ว่าตอนประถมครูสอนอยู่แต่ผมลืมไปหมดแล้วครับ Embarassed

เวลาผมไปเยี่ยมปู่กับย่าที่อ.วาปีปทุม ระหว่างทางช่วงผ่านอ.นาเชือก นาดูน จะมีซากเสาโทรเลขอยู่ทางซ้ายมือ สลับกับเสาไฟฟ้า ที่อื่นพอจะมีมั้ยครับเนี่ย

แถวบ้านผมสมัยก่อนเห็นผู้ใหญ่บอกว่าถ้าจะไปโทรเลขจะพูดว่า" ไปตีตะแล๊บแก๊บ " ครับ สงสัยเพี้ยนจากเทเลแกรม รึเปล่า Laughing


อยู่กลางเมืองอุบลฯ ยังหลงเหลืออยู่ครับพี่

สังเกตดีๆนะ ที่แยกอุบลพลาซ่าน่ะ มาจากวาริน มองไปทางขวามือ ตั้งอยู้ใกล้ๆสัญญาณไฟสี เอ้ย สัญญาณไฟจราจร

แต่ตอนนี้ สายโทรเลขหายไปหมดแล้วครับ กลายเป็นสายเคเบิล (คุ้นๆเหมือนจะคล้ายๆเสาใกล้ๆทางรถไฟยังไงพิกล) ของ บมจ.ทศท. ไปหมดแล้วครับ
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail Visit poster's website MSN Messenger
alderwood
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/04/2006
Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา

PostPosted: 28/02/2008 9:54 pm    Post subject: Reply with quote

คลื่นเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่

หากคุณสมบัติเด่นของโทรเลข คือการส่งข้อความจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งภายในเวลาอันรวดเร็ว เราคงต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีการสื่อสารรุ่นหลังสามารถตอบโจทย์นี้ได้อย่างหมดจด ทั้งยังมีประสิทธิภาพและความรวดเร็วกว่าหลายเท่านัก

เริ่มจาก “โทรศัพท์” ซึ่งถือเป็นการสื่อสารสองทาง (two-way communication) แบบแรกในบ้านเรา ที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถโต้ตอบกันได้ในทันที

โทรศัพท์เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ตามโทรเลขเข้ามาในบ้านเราเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ โดยกรมกลาโหม (ซึ่งขณะนั้นรับผิดชอบกิจการโทรเลขอยู่ด้วย) ได้ทดลองนำมาติดตั้งที่กรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ แห่งละ ๑ เครื่อง เพื่อใช้แจ้งข่าวเรือเข้า-ออกที่ปากน้ำโดยอาศัยสายโทรเลขที่มีอยู่แล้ว

Click on the image for full size

ในยุคแรก โทรศัพท์ยังมีใช้อยู่ในวงจำกัด คือเฉพาะในหน่วยงานราชการเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงเปิดให้ประชาชนเช่าเป็นครั้งแรก ภายใต้การดำเนินงานของกรมไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ยุคนั้นมีชื่อเรียกติดปากคนทั่วไปว่า “โทรศัพท์แม็กนิโต” (Magneto System) เป็นโทรศัพท์แบบที่มีแบตเตอรี่ภายใน ไม่มีหน้าปัดเอาไว้หมุนเบอร์ และสามารถติดต่อโทรศัพท์เครื่องอื่นได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น (คือจากบ้านนาย ก. ไปถึงบ้านนาย ข. โทรไปบ้านอื่นไม่ได้) เวลาใช้งานต้องหมุนคันโยกข้างเครื่องซึ่งจะทำให้สัญญาณไปดังที่ตู้ต่อสายของพนักงานซึ่งประจำอยู่ที่ชุมสายโทรศัพท์ ที่จะคอยทำหน้าที่เสียบปลั๊กต่อสายโทรศัพท์ของเราให้เชื่อมกับสายโทรศัพท์อีกเครื่อง และเมื่อต้องการวางสาย ก็ต้องหมุนคันโยกอีกครั้ง เพื่อให้พนักงานโทรศัพท์ถอดปลั๊กออก

ต่อมาจึงมีการสร้างโทรศัพท์ระบบไฟกลาง (Central Battery - C.B.) ยุคนี้หน้าตาของเครื่องโทรศัพท์ยังเหมือนเดิม ต่างกันเพียงไม่มีแบตเตอรี่ในเครื่องอีกต่อไป เพราะใช้ไฟฟ้าจากส่วนกลาง โทรศัพท์แบบนี้สามารถติดต่อโทรศัพท์ได้หลายเครื่อง โดยอาศัยการบอกพนักงานที่ชุมสายโทรศัพท์ให้ทำการต่อสายเครื่องที่โทรออกให้เชื่อมกับสายของหมายเลขที่ต้องการสนทนาได้

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงได้มีการเปลี่ยนชุมสายโทรศัพท์เป็นระบบ step by step ซึ่งถือเป็นชุมสายอัตโนมัติแบบกลไกรุ่นแรกที่ผู้ใช้สามารถหมุนเบอร์ติดต่อถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านพนักงานต่อสาย จากนั้นจึงมีการนำชุมสายแบบ Cross Bar และชุมสายระบบ SPC (Stored Program Control) มาใช้ ซึ่งระบบหลังสุดนี้จะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด

แม้ผู้ใช้โทรศัพท์จะสามารถพูดคุยโต้ตอบกับคนที่อยู่ปลายทาง ติดต่อธุระได้รวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลารอถึงครึ่งค่อนวันแบบโทรเลข แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกๆ มาจนถึงราว ๒๐ ปีก่อน ระบบโทรศัพท์ก็ยังไม่ครอบคลุมหรือเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง จำนวนเลขหมายก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แม้ในเมืองใหญ่ๆ การขอโทรศัพท์สักเลขหมายยังต้องใช้เวลานานนับปี ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและการใช้งานค่อนข้างสูง ดังนั้นสำหรับคนทั่วไป การส่งข่าวด่วนด้วยโทรเลขแม้ว่าจะช้ากว่า แต่ก็ถือเป็นทางเลือกเดียวสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงระบบโทรศัพท์ โดยเฉพาะคนในชนบทซึ่งโครงข่ายการสื่อสารอื่นๆ ยังไปไม่ถึง

หลายปีต่อมา เมื่อความต้องการด้านการติดต่อสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ระบบการสื่อสารชนิดใหม่ๆ จึงถูกนำมาใช้มากขึ้นผ่านหน่วยงานด้านโทรคมนาคมต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการสื่อสารไทยในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือที่เรียกกันติดปากทั่วไปว่า “โทรศัพท์มือถือ” นั้น มีการแบ่งช่วงเวลาวิวัฒนาการออกเป็นยุคๆ ได้แก่ 1G (First Generation Mobile System) 2G (Second Generation Mobile System) และ 3G (Third Generation Mobile System)

Click on the image for full size

1G คือยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้เครือข่ายที่มีรูปแบบการรับ-ส่งข้อมูลแบบแอนtล็อก (Analog) 2G คือยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้เครือข่ายที่มีการรับ-ส่งข้อมูลรูปแบบดิจิทัล (ซึ่งทำให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้มากขึ้น) ส่วน 3G นั้น คือยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้เครือข่ายที่มีความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลสูงมาก จนสามารถรองรับการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ได้มากมาย นอกเหนือไปจากการโทรเข้าโทรออกและการส่งข้อความสั้นซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 2G

จุดเปลี่ยนครั้งแรกของไทยเกี่ยวกับระบบการสื่อสารไร้สายเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เมื่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ NMT (Nordic Mobile Telephone) ย่านความถี่ ๔๗๐ เมกะเฮิรตซ์ (MHz) มาให้บริการเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการเปิดยุคของการสื่อสารไร้สายอย่างจริงจังและเข้าสู่ยุค 1G เต็มตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองนำระบบโทรศัพท์ไร้สาย (Multi Access Radio Telephone) มาให้บริการประชาชนครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ทั้งยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ให้บริการที่ไม่ครอบคลุมกว้างขวางพอ

ไพโรจน์ ไววานิชกิจ นักวิชาการอิสระที่ทำงานในแวดวงธุรกิจการสื่อสารมานาน เล่าถึงสภาพการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคนั้นว่า “จะเห็นนักธุรกิจมีโทรศัพท์เครื่องใหญ่ติดอยู่ที่คอนโซลรถยนต์ มีตัว speaker แยกออกมาเหมือนกับเครื่องส่งวิทยุในรถแท็กซี่สมัยนี้ ซึ่งสมัยนั้นใครมีโทรศัพท์แบบนี้ถือว่าเท่มาก แม้มันจะมีน้ำหนักเท่ากับกระเป๋าเอกสารก็ตาม”

ความรวดเร็วของโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งผู้ใช้สามารถควบคุมการติดต่อสื่อสารได้เอง แสดงประสิทธิภาพของมันอย่างชัดเจนเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕

ครั้งนั้นโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆ กับกระเป๋าและกระติกน้ำของนักเรียนประถมได้ก่อปรากฏการณ์ทางการเมืองขึ้นหลังจากที่เผด็จการ รสช. ทำการปิดกั้นข่าวสารการชุมนุมประท้วงจากสื่อต่างๆ กระทั่งกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์มือถือต้องทำการตรวจสอบข่าวโดยตรงกับผู้ที่อยู่ในที่ชุมนุม เมื่อพบว่าถูกหลอก ปฏิกิริยาการต่อต้านจึงขยายวงกว้างออกไปจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ แม้ขณะนั้นรัฐบาลจะสามารถคุมสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์เอาไว้ได้ทั้งหมดก็ตาม

เมื่อเหตุการณ์จบลง กลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนั้นจึงได้รับการเรียกขานว่า “ม็อบมือถือ”

โทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มได้รับความนิยมในวงกว้างและกลุ่มผู้ใช้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีการพัฒนาเครือข่ายเข้าสู่ยุค 2G ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคนี้ยังผ่านการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยจากการดักขโมยสัญญาณ ความคมชัดของสัญญาณ ตลอดจนพื้นที่ให้บริการก็ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ที่สำคัญคือ เงินที่ต้องจ่ายเพื่อเป็นเจ้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกลงจนคนทั่วไปโดยเฉพาะชนชั้นกลางมีกำลังจ่ายได้

“การรุกตลาดการสื่อสารอย่างเข้มข้นของโทรศัพท์มือถือช่วง ๑ ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ทำให้การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย โทรศัพท์บ้าน หรือโทรเลข ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะโทรเลขนั้นแทบจะพูดได้ว่าไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป” ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ และนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยกล่าวกับนิตยสาร National Geographic (ฉบับภาษาไทย ตุลาคม ๒๕๔๗) ไว้เช่นนั้น

ยิ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่แพร่หลายขึ้น ข้อจำกัดของการสื่อสารก็นับวันจะลดน้อยลงทุกที เทคโนโลยีการสื่อสารรุ่นเก่าที่ไม่สามารถตอบสนองการใช้งานของคนยุคใหม่ได้ ย่อมได้รับผลกระทบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

Click on the image for full size

โดยเฉพาะเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินออกสู่ตลาด ผู้รู้ในธุรกิจการสื่อสารอย่าง ไพโรจน์ ไววานิชกิจ บอกว่า นี่คือปีที่เทคโนโลยีการสื่อสารรุ่นเก่าอย่างโทรเลข หรือแม้แต่เพจเจอร์ (Pager) ได้รับผลกระทบมหาศาล

“โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน ทำให้คนทุกกลุ่มครอบครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยและไม่ต้องการผูกพันเรื่องค่าใช้จ่ายรายเดือน เพราะสามารถคุมค่าใช้จ่ายในการโทรได้ ถ้าถามว่ามันได้รับความนิยมขนาดไหน บอกได้ว่าถ้าวันนี้ทั้งประเทศไทยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ ๑๐๐ เครื่อง จะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงินอยู่ราว ๘๐ เครื่อง โทรศัพท์เคลื่อนที่มีคุณสมบัติส่งข้อความสั้นๆ ได้ไม่ต่างจากโทรเลขหรือเพจเจอร์ แต่ที่สำคัญคือสามารถใช้โทรคุยได้ การหาซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่สักเครื่องย่อมดีกว่าเสียเงินค่าส่งโทรเลขบ่อยๆ หรือจ่ายเงินเพื่อครอบครองเครื่องมือสื่อสารทางเดียวในราคาไม่ต่างกันอย่างเพจเจอร์”

สถิติที่น่าตกใจอีกอย่างก็คือ จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้แซงหน้าโทรศัพท์บ้านเป็นครั้งแรก โดยในปีนั้นเรามีโทรศัพท์บ้านราว ๘ ล้านเลขหมาย ขณะที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ราว ๑๗ ล้านเลขหมาย ซึ่งถ้าเทียบกับเพียง ๑ ปีก่อนหน้า (พ.ศ. ๒๕๔๔) เรามีโทรศัพท์บ้าน ๗.๗ ล้านเลขหมาย ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่มีอยู่ ๗.๓ ล้านเลขหมายเท่านั้น ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และถึงวันนี้ จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ได้พุ่งขึ้นถึง ๓๐ ล้านเลขหมาย (จากประชากรทั้งประเทศ ๖๒ ล้านคน) ไปเรียบร้อยแล้ว

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personeal Computer - PC) รวมถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งเริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ก็ทำให้เกิดการสื่อสารรูปแบบใหม่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอีเมล หรือแม้กระทั่งการสนทนาผ่านอินเทอร์เน็ตแบบเห็นหน้าเห็นตากัน (web cam) ได้ทุกที่ทั่วโลก ผ่านโปรแกรมที่พ่วงมากับผู้ให้บริการอีเมลอย่าง MSN Messenger ของ Hotmail ฯลฯ

สิ่งที่ตามมาคือ พฤติกรรมผู้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในไทยเริ่มก้าวข้ามคำว่า “การสื่อสาร” ออกไปทุกที โดยเฉพาะเมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่มีบริการเสริมใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าสู่ยุคดิจิทัล (2G) เช่น การส่งข้อความสั้น (Short Messaging Service) การส่งภาพเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การเล่นอินเทอร์เน็ต (WAP)

รูปธรรมล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมการสื่อสารของคนยุคปัจจุบันปรากฏชัดจากการชุมนุมในคืนวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำคุณสมบัติของเทคโนโลยีการสื่อสารเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อต่อต้านการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบ

ใครที่ไปร่วมชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หรือติดตามข่าวคราวผ่านอินเทอร์เน็ต ก็คงจะได้พบว่า เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ (www.manager.co.th) มีการเปิดรับข้อความภาพ (Multimedia Messaging Service-MMS) ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จากคนไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยภาพเหล่านั้นจะถูกส่งขึ้นไปโชว์บนหน้าเว็บเพื่อเผยแพร่ออกไปทั่วโลก

ในเอกสารคู่มือของผู้จัดการชุมนุมยังระบุชัดว่า “โทรศัพท์มือถือเป็นอาวุธประจำกายของชาวประชาธิปไตยที่ทรงพลานุภาพที่สุดในยุคการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เพราะไม่ว่าเขาจะปิดข่าวทางวิทยุหรือโทรทัศน์ แต่เราสามารถใช้เสียงรายงานไปยังเพื่อนฝูงโดยตรง ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถ SMS แบบลูกโซ่ แจ้งข่าวและความเคลื่อนไหวของการชุมนุม...”

สอดคล้องกับที่เจ้าพ่อวงการซอฟต์แวร์โลกอย่างนายบิลล์ เกตส์ แห่งบริษัท Microsoft ผู้คิดค้นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากกว่าครึ่งโลก เคยกล่าวไว้ว่า “รัฐบาลในโลกยุคปัจจุบันไม่มีทางปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในระบบการสื่อสารยุคใหม่ได้”

เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารวิวัฒน์มาถึงขั้นนี้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับคลื่นลูกใหม่ที่ซัดคลื่นลูกเก่าให้จมหาย ...นี่ยังไม่นับถึงวันที่โลกของการสื่อสารไทยจะพลิกโฉมหน้าไปอีกครั้ง เมื่อเราก้าวสู่ยุค 3G
_________________
รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website MSN Messenger
alderwood
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/04/2006
Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา

PostPosted: 28/02/2008 9:56 pm    Post subject: Reply with quote

3G เทคโนโลยีที่มากกว่า “การสื่อสาร”

ปัจจุบันไทยก้าวเข้าใกล้ยุค 3G มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการเข้ารหัสสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ GPRS และ EDGE ที่ทำให้เครือข่ายสามารถรองรับการส่งข้อมูลได้มากขึ้น (บางคนจึงเรียกโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคนี้ว่า 2.5Gและ 2.75G) และทำให้เกิดบริการเสริมใหม่ๆ มากมาย ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า เมื่อถึงยุค 3G รูปแบบการบริการการสื่อสารของโทรศัพท์เคลื่อนที่จะครบวงจรมากยิ่งขึ้น คือสามารถรับส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ เช่น เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รับ-ส่งอีเมล รับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง หรือสามารถใช้ในการประชุมทางไกลแบบเห็นหน้ากันผ่านระบบ Video Conference มีโทรศัพท์แบบเห็นภาพ (Video Call) สามารถรับส่งสัญญาณภาพและเสียง (Video/Audio Content) เช่น ถ่ายทอดสดรายการโทรทัศน์และวิทยุ หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งข่าวสารและความบันเทิงต่างๆ ได้

นึกถึงเช้าวันหนึ่งที่เราเดินออกจากบ้านพร้อมโทรศัพท์มือถือ ระหว่างนั่งรถไปทำงาน เราอาจเปิดดูทีวีผ่านหน้าจอขนาดเล็ก ดาวน์โหลดเอกสารจากคอมพิวเตอร์ที่ทำงานมาดู ซื้อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับเช้ามาอ่านฆ่าเวลารถติด หรือเลือกฟังตัวอย่างเพลงล่าสุดที่เพิ่งวางจำหน่าย แล้วสั่งซื้อซีดีผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ทางร้านนำของมาส่งถึงประตูบ้านในตอนเย็น--หากเครือข่ายการสื่อสารของเราก้าวสู่ยุค 3G เรื่องสมมุติเหล่านี้อาจไม่ไกลเกินจริง

Click on the image for full size

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า บริการเสริมซึ่งกำลังกลายเป็นเนื้อหาหลักของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง ๑๔,๐๐๐ ล้านบาทในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ และจะพัฒนาต่อไปโดยเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การรับ-ส่งอีเมลที่เคยทำผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ก็จะสามารถทำได้บนโทรศัพท์มือถือ และหากมีการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3G แล้ว รูปแบบของบริการเสริมก็จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยียุค 3G จะทำให้เราก้าวไปไกลจากคำว่า “การสื่อสาร” ซึ่งเทคโนโลยีเดิมๆ เคยตอบสนองความต้องการของเรามาแล้ว

ขณะที่หลายคนอาจกำลังคิดว่า เทคโนโลยีการสื่อสารระดับนี้ “เกิน” จากความจำเป็นอยู่มาก ในเวลาเดียวกันก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่รอคอยการมาถึงของมัน วันนี้ หากคุณท่องอินเทอร์เน็ตแล้วแวะตามเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง pantip.com ก็จะพบกระทู้ที่ตั้งขึ้นเพื่อถามว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใดสามารถรองรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3G ได้บ้าง เพื่อที่จะซื้อเตรียมไว้ แม้ว่ายุค 3G จะยังเดินทางมาไม่ถึงเมืองไทยก็ตาม

ความต้องการ “เครื่องมือสื่อสาร” ที่ตอบสนองการใช้งานนอกเหนือจาก “การสื่อสาร” ที่ปรากฏชัดในคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้งานที่ต่างจากคนยุคก่อน ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่า เทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่เหล่านี้กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อสังคม ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวว่า มีเด็กสาวยอมขายตัวเพียงเพราะอยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดที่สามารถรองรับบริการเสริมใหม่ๆ ได้เหมือนที่เพื่อนมี หรือกรณีที่เด็กรุ่นใหม่มีสมาธิสั้นลงเพราะมัวง่วนอยู่กับมือถือ ฯลฯ

ผศ. ดร. พิรงรอง รามสูตร อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“การจะดูว่าเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ไปจริงหรือไม่ เราต้องพิจารณาบริบทและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทางสังคมด้วย เมื่อก่อนที่มีข่าวว่าเด็กสาวต้องขายตัวเพราะอยากได้มือถือ หลายคนมองว่านี่เกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเกิดจากกระบวนการสร้างความต้องการผ่านระบบการตลาดต่างหาก เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ที่เข้ามาอาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้คนเท่านั้น

“เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น มันก็มีทั้งด้านดีและด้านร้าย ดีคือการสื่อสารมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ชีวิตเราเบ็ดเสร็จมากขึ้น กระตุ้นให้คนบริโภคมากขึ้น และมีข้อมูลให้เรามากจนล้นเกิน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีเป็นดีที่สุด”

หากมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีการสื่อสารเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน ความน่าทึ่งของเครือข่ายโทรศัพท์ยุค 3G วันนี้ อาจไม่ต่างอะไรจากความน่าทึ่งของโทรเลขที่มีต่อผู้คนในยุคก่อน และการก้าวเข้ามาของยุค 3G ในอนาคตอันใกล้นี้ ในแง่หนึ่งก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความเปลี่ยนแปลงตามวัฏฏะของโลก ต่างกันก็เพียงเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่ย่อมมาแทนที่เทคโนโลยีเก่า และเทคโนโลยีที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของผู้คนได้ ก็อาจจะต้องเหลือเพียงความทรงจำเท่านั้น...
_________________
รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website MSN Messenger
alderwood
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/04/2006
Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา

PostPosted: 28/02/2008 9:59 pm    Post subject: Reply with quote

๒๕๔๙ อวสานโทรเลขไทย ?

พฤศจิกายน ๒๕๔๘, ที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้

ใกล้ค่ำ ที่ชั้น ๓ บริเวณปีกซ้ายของตึกที่ทำการไปรษณีย์กลาง พรินเตอร์ยังคงส่งเสียงแกรกกรากท่ามกลางความเงียบและแสงรำไรที่สาดลอดเข้ามาทางช่องหน้าต่างของที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้

เจ้าหน้าที่ยังคงทำงานกันต่อไปแม้จะเลยเวลาทำงานปรกติมานานแล้ว...

บนชั้น ๔ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ถ่ายทอดโทรเลข ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน

จากที่เคยมีเจ้าหน้าที่นับร้อยผลัดเปลี่ยนกันเข้ากะปฏิบัติงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง กงล้อของยุคสมัยก็ทำให้วันนี้เหลือพวกเขาอยู่เพียง ๔ คน เสียงก๊อกแก๊กของเครื่องส่งรหัสมอร์สและโทรพิมพ์หายไป เหลือเพียงเสียงเคาะแป้นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์

ภารกิจยามเย็นของพวกเขาไม่มีอะไรมากไปกว่าการเคลียร์โทรเลขฉบับที่คั่งค้างอยู่ในระบบชุมสายโทรเลขอัตโนมัติอันเนื่องมาจากปัญหาขัดข้องทั้งหลาย (สายเสีย เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้รับโทรเลขปลายทางเสีย ฯลฯ)

“พวกเราชินแล้ว” เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเอ่ยขึ้น

“เผลอๆ โทรเลขอาจจะเลิกพร้อมผมเกษียณกระมัง” เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งกล่าวติดตลก

เจ้าหน้าที่อีกคนหันมองคอมพิวเตอร์ราคา ๒๐ ล้านที่ตั้งอยู่ในห้องชุมสายโทรเลขอัตโนมัติ แล้วเปรยว่า “เหมือนขับรถเบนซ์ไปจ่ายตลาด”

เขาหมายถึงการที่รัฐต้องลงทุนกับระบบนี้มหาศาลแต่กลับมีคนใช้เพียงหยิบมือ แต่ละปี คอมพิวเตอร์ขนาดเท่าห้องประชุมเล็กๆ นี้มีค่าบำรุงรักษาหลายล้านบาท ขณะที่รายรับกลับลดน้อยลงจนน่าตกใจ

Click on the image for full size

เจ้าหน้าที่โทรเลขตามที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ ให้ข้อมูลตรงกันว่า จำนวนการส่งโทรเลขในประเทศไทยลดลงอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นมา ก่อนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีให้หลัง สถิติล่าสุดคือในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวนการส่งโทรเลขในประเทศมีทั้งหมด ๘.๔ แสนครั้ง (ขณะที่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวนการส่งอยู่ที่ ๒.๔๘ ล้านครั้ง)

“ยอดผู้ใช้บริการลดลงเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่อย่างพวกผมไม่รู้ตัวหรอกครับ มันลงมาช้าๆ เหมือนกราฟที่ค่อยๆ ตกลง” วิรัญพงศ์ แสงอินทร์ เจ้าหน้าที่โทรเลขประจำที่ทำการไปรษณีย์ราชดำเนิน เล่าให้เราฟังในวันที่ไปเยี่ยมเยือน

อาจด้วยเหตุนี้ ข่าวคราวการยกเลิกบริการโทรเลขที่มีให้เห็นอยู่เป็นระยะในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา จึงอาจไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างใด

คนในภาคธุรกิจการสื่อสารอย่าง วิจิตร เพิ่มเพียรเกียรติ มองเรื่องนี้ว่า

“สำหรับผม บริการโทรเลขถึงเวลาที่เราจะต้องนำไปรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ แค่ให้มันยังคงทำงานในขั้นสาธิตได้ก็พอ เช่น วางเครื่องส่งกับเครื่องรับไว้คนละห้อง แล้วแสดงให้คนที่มาเยี่ยมชมเห็นว่าโทรเลขทำงานได้อย่างไร แค่นั้นก็พอแล้วในความรู้สึกของผม”

ส่วนเด็กรุ่นใหม่อย่าง ศุภเกียรติ ศุภศักดิ์ศึกษากร หรือ “แบ๊งค์” นักศึกษาธรรมศาสตร์ปี ๓ บอกว่า “เคยเห็นตอนเรียนชั้นประถม ตอนนั้นบุรุษไปรษณีย์เป็นคนนำมาส่ง จำได้ว่าเป็นซองสีเขียว รู้สึกคล้ายซองที่ไว้ใช้ทวงค่าโทรศัพท์บ้านยุคนี้ พูดถึงระบบโทรเลขผมว่าล้าสมัย เพราะจะส่งข้อความตอนนี้ก็ใช้ SMS ได้ อย่าลืมว่าโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนยุคนี้ไปแล้ว”

และสำหรับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง ก็ให้คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนว่า โทรเลขคงถึงวาระที่จะต้องเลิก

สุภาพ เกษมุนี ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารข้อความ บมจ. กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า

“เราไม่มีแผนพัฒนาโทรเลขแล้วนับจากนี้ คอมพิวเตอร์ที่ชุมสายโทรเลขอัตโนมัติก็ไม่มีการอัปเกรดอีก ตอนนี้เหลือเพียงการเสนอเรื่องตามขั้นตอนเท่านั้น เพราะโทรเลขเป็นบริการสาธารณะตาม ‘พระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ. ๒๔๗๗‘ ก่อนจะเลิกจึงต้องทำการศึกษาและสำรวจความเห็น รวมทั้งต้องแจ้งประเทศต่างๆ ที่ยังคงมีบริการโทรเลข ตอนนี้ผมบอกผลการสำรวจได้แค่ว่า สังคมไทยจะเสียแค่คำว่า ‘โทรเลข’ ไปเท่านั้น ส่วนตัวผมผูกพันนะครับ แต่ถ้าเก็บมันไว้ก็มีต้นทุนสูงมาก เรียกว่าไม่คุ้ม”


--------------------------------------------------------------------------------

ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ หลังจากมอร์สสร้างระบบโทรเลขได้ ๑๖๒ ปี การสื่อสารที่ทำให้คน “มาชิดเคียงกัน” วันนี้ มิใช่โทรเลขอีกต่อไป

แต่จะอย่างไร สำหรับเจ้าหน้าที่โทรเลข ไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่ยังทำงานอยู่หรือรุ่นที่เกษียณไปแล้ว ความคุ้มค่า คุ้มทุนของโทรเลข คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

“มันเป็นความผูกพันครับ”

นี่คือถ้อยคำสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งบอกกับเรา ในช่วงเวลาที่วันพรุ่งนี้ของโทรเลขดูจะรางเลือนเต็มที...

Click on the image for full size

ข้อมูลและเอกสารประกอบการเขียน :
กองสื่อสารข้อความ การสื่อสารแห่งประเทศไทย. “บริการโทรเลข.” เอกสารสำหรับผู้ที่มาศึกษาดูงานเกี่ยวกับโทรเลข, ๒๕๓๘.
การสื่อสารแห่งประเทศไทย. หนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปี การโทรคมนาคม. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.
ไกรฤกษ์ นานา. ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
งามตา ลิ้มตระกูล. “กิจการไปรษณีย์โทรเลขในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๖๖).” วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๑.
ดาหาชาดา. “เมื่อชีวิตไร้สาย.” National Geographic ฉบับภาษาไทย. ตุลาคม ๒๕๔๗.
พีระ วีรวรรณนิชกุล. “วิวัฒนาการของโปรโมชั่นมือถือ.” วารสารเซมิคอนดักเตอร์. พฤศจิกายน ๒๕๔๕.
ไพโรจน์ ไววานิชกิจ. คัมภีร์เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือยุค 3G. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, ๒๕๔๘.
วัชรี สายสิงห์ทอง, บรรณาธิการ. ย้อนอดีตการสื่อสารไทย. การสื่อสารแห่งประเทศไทย, ๒๕๓๓.
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. “ละครชีวิต พ. พีระ สูงสุดคืนสู่สามัญ.” สารคดี. ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๖, กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑.
สถิติการปฏิบัติงานรับส่งโทรเลข ที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้ ปน.(ต) ประจำเดือนมกราคม- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ น.๔๖.๓/๘๔ เอกสารโต้ตอบกระทรวงโยธาธิการ รัชกาลที่ ๕ รศ. ๑๑๕-๑๒๒.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ น.๔๖.๓/๘๗ เอกสารโต้ตอบกระทรวงโยธาธิการ รัชกาลที่ ๕ รศ. ๑๑๕-๑๒๒.
เอนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงแดด, ๒๕๓๒.
เอนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม เล่ม ๔. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงแดด, ๒๕๓๒.
http://th.wikipedia.org
http://siweb.dss.go.th

Click on the image for full size

ขอขอบคุณ
มรว. นริศรา จักรพงษ์, คุณเอนก นาวิกมูล, คุณสุรสิทธิ์ สุหทัยกุล, คุณกนก คนโทเงิน, คุณสุภาพ เกษมุนี, คุณพงษ์ศักดิ์ คัมภิรานนท์, คุณวิชิต สงวนสุข, คุณวิรัญพงศ์ แสงอินทร์, คุณพงศธร กิจเวช, คุณไพโรจน์ ไววานิชกิจ, คุณอุเทน สงวนจิตต์, คุณวิจิตร เพิ่มเพียรเกียรติ, คุณสันติ เมธาวิกุล, นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, คุณจตุภูมิ พลวิเศษ, คุณชณิกา อรัณยกานนท์, เจ้าหน้าที่ทุกท่านของที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้, เจ้าหน้าที่ทุกท่านของศูนย์ถ่ายทอดโทรเลข, เจ้าหน้าที่ทุกท่านของคลังพัสดุ กสท
บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค), บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อุทยานการเรียนรู้ (TK Park)
_________________
รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website MSN Messenger
alderwood
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/04/2006
Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา

PostPosted: 28/02/2008 10:02 pm    Post subject: Reply with quote

ล้อมกรอบ: นับถอยหลังโทรเลขไทย

Quote:
SOS รหัสมอร์สที่คนทั่วโลกรู้จักดีที่สุด
แม้วันนี้คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งอาจจะไม่รู้จักโทรเลข แต่เมื่อพูดถึงสัญญาณ SOS หลายคนอาจจะร้องอ๋อ เพราะมันได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์หลายเรื่องและกลายเป็นความประทับใจของใครหลายคน โดยเฉพาะในสมัยที่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดเรื่อง Titanic ของผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ออกฉายในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรือเดินสมุทรที่ใหญ่โตและหรูหราที่สุดในโลก ซึ่งอับปางลงจากการชนภูเขาน้ำแข็งในปี ค.ศ. ๑๙๑๒ หนึ่งในฉากสำคัญนอกจากฉากที่พระเอกพลอดรักนางเอกที่หัวเรือ ก็คือฉากการส่งรหัส SOS ขอความช่วยเหลือจากห้องวิทยุมาร์โคนีบนเรือ ไททานิก ที่ใกล้อับปาง ไปยังเรือลำอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

หลายคนอาจเข้าใจว่า SOS ย่อมาจาก Save Our Souls (หมายถึง ช่วยปกปักรักษาดวงวิญญาณของพวกเรา) แต่แท้จริงแล้ว สัญญาณ SOS นี้คือ “สัญญาณแสดงภัยพิบัติสากล” ซึ่งบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๘ มีที่มาจากรหัสมอร์ส (Morse code) ที่ศึกษาแล้วพบว่าเป็นสัญญาณที่กดง่าย เพียงแค่จุด ๓ จุด ขีด ๓ ขีด และจุด ๓ จุด (O O O - - - O O O) ซึ่งแทนอักษร S O S เท่านั้น

_________________
รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website MSN Messenger
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4  Next
Page 3 of 4

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©