Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311318
ทั่วไป:13282049
ทั้งหมด:13593367
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - เล่าถึงเหล่าเพื่อนผองของตั๋วแข็ง
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

เล่าถึงเหล่าเพื่อนผองของตั๋วแข็ง
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 5, 6, 7 ... 12, 13, 14  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mahachai
3rd Class Pass (Air)
3rd Class Pass (Air)


Joined: 05/07/2006
Posts: 407
Location: ชั.

PostPosted: 06/09/2006 10:30 pm    Post subject: Reply with quote

สวัสดีพี่ตุ้ย!! ผมว่า ตั๋วแบบนี้ดูสวยไปอีกแบบนะครับ หรือเพราะผมไม่เคยเห็น จึงดูเป็นของแปลกก็ไม่รู้ อิอิ Laughing


เอ้อ.พี่ตุ้ย(ท่านอื่นๆด้วยก็ได้ครับ)เรียกผมว่า อั้ม ก็ได้ครับ ชื่อผมเอง.... Very Happy ตามผลงานมานานแล้วแต่ยังไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไหร่เลยบอกซะเลย อิอิ


แล้วจะมาค่อยๆเก็บเรื่องต่อครับ วันนี้ บะบาย
Back to top
View user's profile Send private message Send e-mail
tuie
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 09/07/2006
Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย

PostPosted: 08/09/2006 5:25 pm    Post subject: Reply with quote

เล่าต่อนะครับ

ต่อมาประมาณปี ๒๕๓๑ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของตั๋วบางทั่วไปจากเดิมที่แยกแบบฟอร์ม และสีสันแตกต่างกันเป็นเอกเทศระหว่างตั๋วบางเที่ยวเดียว กับตั๋วบางไปกลับดังที่นำเสนอไปในตอนก่อนๆแล้ว เป็นตั๋วบางทั่วไปแบบฟอร์มเดียวกัน สามารถใช้เป็นตั๋วบางสำหรับเดินทางเที่ยวเดียวหรือไปกลับก็ได้ โดยตั๋วบางทั่วไปแบบใหม่ฉบับผู้โดยสารใช้เดินทางนี้เป็นสีเหลือง พิมพ์เป็นชุดรวมอยู่ในเล่ม ในแต่ละชุดมีสามใบ แต่ละใบเป็นแบบฟอร์มเดียวกัน ใบแรกกับใบที่สองเป็นกระดาษสีขาวบางๆ ส่วนใบที่สามเป็นกระดาษสีเหลืองหนากว่าสองใบแรก ลักษณะตามภาพนี้ครับ

Click on the image for full size

ตามภาพด้านซ้ายเป็นภาพด้านหน้าตั๋ว ส่วนด้านขวาเป็นภาพด้านหลังตั๋ว ชมภาพแล้วเหมือนกับตั๋วบางทั่วไปในยุคปัจจุบันไหมครับ ขอเฉลยไว้ล่วงหน้าก่อนเลยว่า แม้สีสันจะเหมือนกันแต่ก็มีความแตกต่างด้านการจัดวางข้อความและแบบฟอร์มตั๋วอยู่บ้าง เดี๋ยวผมนำเสนอถึงภาพตั๋วบางทั่วไปในยุคปัจจุบันแล้ว ท่านจะสังเกตเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน สำหรับวิธีการเขียนตั๋วยังคงเป็นไปเช่นเดิม คือ เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วต้องเอากระดาษคาร์บอนสอดระหว่างตั๋วแผ่นแรกกับแผ่นที่สอง และระหว่างแผ่นที่สองกับแผ่นที่สามแล้วจึงเขียนตั๋ว ระบบการใช้รหัสที่พิมพ์อยู่บนหน้าตั๋ว เช่น เต็มราคา ลดราคา เด็ก ผู้ใหญ่ฯลฯ จากเดิมที่ให้วงรอบรหัสที่ใช้ ก็เป็นการขีด(ติ๊ก)เครื่องหมายถูกในช่องสี่เหลี่ยมหน้าข้อความที่จะใช้ ซึ่งตั๋วบางตามภาพข้างต้นออกให้สำหรับผู้โดยสารผู้ใหญ่ เต็มราคา เดินทางด้วยรถนอนปรับอากาศชั้นหนึ่ง ห้องเตียงเดี่ยวเที่ยวเดียว ก็มีการขีดเครื่องหมายถูกในช่องสี่เหลี่ยมช่องต่างๆในแบบฟอร์มตั๋วแสดงข้อมูลข้างต้น ถ้าท่านสังเกตรหัสสถานีที่จำหน่ายซึ่งระบุไว้ตอนล่างซ้ายว่า ๑๐๐๑ ให้ดีๆแล้ว จะเห็นข้อผิดพลาดเล็กๆน้อยในการออกตั๋วใบนี้ เนื่องจากรหัส ๑๐๐๑ แสดงว่าตั๋วใบนี้เป็นตั๋วเที่ยวกลับซึ่งสถานีกรุงเทพจำหน่ายตั๋วแทนสถานีเชียงใหม่ ในยุคที่ระบบยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ใช้ในการจำหน่ายตั๋ว ตามปกติการจำหน่ายตั๋วเที่ยวกลับในลักษณะนี้ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแข็งหรือตั๋วบางก็ต้องระบุข้อความว่า “จำหน่ายแทน”ไว้ แต่เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วใบนี้ลืมเขียนหรือประทับตรายางว่า “จำหน่ายแทน” ในตั๋วตามภาพดังกล่าว

ส่วนตั๋วบางด้านขวาของภาพดังกล่าวเป็นด้านหลังตั๋วซึ่งเป็นตั๋วคนละใบกับด้านหน้าที่อยู่ด้านซ้ายของภาพ ยังพอมองเห็นรอยตราครุฑดุนนูนอยู่ตอยบนของตั๋ว มีการประทับตรายางแสดงวันที่ดินทาง รถคันที่ เลขที่นั่ง/นอน(สองหมายเลขต่อหนึ่งห้องเตียงคู่) หมายเลขขบวนรถพร้อมเวลาที่ขบวนรถออกจากสถานีต้นทางตามตั๋ว คือ สถานีเชียงใหม่ ถ้าท่านสังเกตหมายเลขที่นั่ง/นอนด้านหลังตั๋วตามภาพที่ระบุไว้ว่าหมายเลข ๑๒,๑๓ ท่านอาจสงสัยว่าผู้โดยสารสองคนที่ถือตั๋วใบนี้จะได้นอนห้องเดียวกันหรือไม่ เพราะหากเทียบกับหมายเลขที่นั่ง/นอนรถ บนอ.ป.๒๔ ที่(ฮุนได)สมัยนี้ หมายเลขที่นั่ง/นอนตั้งแต่ห้องแรกจะเริ่มที่หมายเลข ๑-๒,ห้องที่สองหมายเลข๓-๔ เรื่อยไปทีละสองหมายเลขจนถึงห้องที่ ๑๒ หมายเลข ๒๓-๒๔ การที่ตั๋วระบุเลขที่นั่ง/นอน หมายเลข ๑๒ ก็ต้องอยู่คนละห้องกับหมายเลข ๑๓ แน่ๆในกรณีที่เป็นรถบนอ.ป.ยุคปัจจุบัน

แต่สำหรับรถ บนอ.ป. รุ่นเก่า ๙ ห้องหมายเลข ๑-๑๓ ในยุคก่อนมีการนำไปดัดแปลงเป็นห้องเตียงคู่ทั้งหมดจะไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเลขที่นั่ง/นอน ห้องเตียงเดี่ยวสำหรับรถรุ่นนี้จะเริ่มที่หมายเลข ๑-๓ หมายเลขละหนึ่งห้อง รวม ๓ ห้องต่อโบกี้ ส่วนห้องที่เหลืออีก ๖ ห้องเป็นเตียงคู่ เริ่มหมายเลขที่นั่ง/นอนห้องเตียงคู่ห้องแรก คือ ๔-๕,ห้องที่สอง ๖-๗ เรื่อยไปจนถึงห้องสุดท้าย คือหมายเลข ๑๔-๑๕ ฉะนั้นเลขที่นั่ง/นอนในตั๋วตามภาพเลขที่ ๑๒-๑๓ จึงอยู่ในห้องเดียวกันครับ จนกระทั่งต่อมาเมื่อมีการดัดแปลงรถ บนอ.ป.รุ่นนี้เป็นห้องเตียงคู่ทั้งหมด หมายเลขที่นั่ง/นอนแต่ละห้องจึงไล่เรียงจากเลข ๑-๒,๓-๔ จนถึงหมายเลข ๑๗-๑๘ เป็นห้องสุดท้าย ทำนองเดียวกันกับระบบการกำหนดหมายเลขที่นั่ง/นอนในห้องเตียงคู่ในรถ บนอ.ป.ยุคปัจจุบัน

หลังจากตั๋วบางทั่วไปแบบใหม่(สีเหลือง)ออกจำหน่ายได้สักพักหนึ่ง ก็มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยบริเวณด้านหน้าตั๋วตามภาพต่อไปนี้

Click on the image for full size

ด้านซ้ายของภาพเป็นตั๋วบางทั่วไปสีเหลืองแบบแรกดังที่นำเสนอไปแล้ว ส่วนด้านขวาของภาพเป็นตั๋วบางทั่วไปสีเหลืองที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย ที่เห็นเด่นชัดก็คือ เส้นคู่เป็นกรอบล้อมรอบแบบฟอร์มตั๋ว กับการจัดวางข้อความซึ่งเคลื่อนที่ไปจากเดิมเล็กน้อยโดยถูกบีบให้อยู่ในกรอบ

ตั๋วบางในภาพด้านซ้ายมีข้อความระบุว่า “อัตราพิเศษ” เพราะว่าในยุคนั้นมีการลดราคาค่าโดยสารรถไฟบางระยะทาง เช่น กรุงเทพ-ชุมพร ให้สามารถแข่งขันกับการขนส่งทางถนนได้ หมายเลขขบวน ๔๕ ก็คือขบวน ๑๗๑ ในปัจจุบัน ส่วนตั๋วบางในภาพด้านขวาเป็นตั๋วเที่ยวกลับจากเชียงใหม่-กรุงเทพ ซึ่งซื้อล่วงหน้ามาจากสถานีกรุงเทพตามรหัสสถานีที่จำหน่ายคือ ๑๐๐๑ จึงต้องมีการประทับตรายางระบุว่า “จำหน่ายแทน” หมายเลขขบวน ๖ ก็คือขบวน ๒ ในปัจจุบัน

โปรดติดตามชมตอนต่อไปนะครับ Very Happy
Back to top
View user's profile Send private message
tuie
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 09/07/2006
Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย

PostPosted: 11/09/2006 8:46 pm    Post subject: Reply with quote

เล่าต่อนะครับ

ดำเนินเรื่องถึงตอนนี้แล้ว พอดีผมมีบัตรสำรองที่ และแผนผังที่นั่งซึ่งใช้สำหรับการจำหน่ายตั๋วโดยสารชั้นหนึ่ง ชั้นสองของห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า สถานีกรุงเทพ เมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน ในยุคที่ยังไม่มีการนำระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์มาใช้ในการจำหน่ายตั๋ว เลยอยากจะนำมาให้ชมพร้อมกับเล่าถึงกระบวนการในการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าในสมัยนั้นประกอบการนำเสนอ ให้เห็นว่ากว่าจะได้ซื้อตั๋วแข็ง หรือตั๋วบางสำหรับขบวนรถที่มีการสำรองที่นั่ง(รถด่วน รถเร็ว)นั้น มีขั้นตอนแตกต่างจากการซื้อตั๋วล่วงหน้าในสมัยนี้อย่างไรบ้าง ถ้าจะทำให้การเล่าเรื่องนี้ช้าไปบ้าง ก็ถือเสียว่าขบวนรถ(กระทู้)นี้กำลังเข้าทางหลีก ระหว่างรอหลีกก็ชมวิวไปพลางๆนะครับ Laughing

ขั้นตอนที่หนึ่ง เวลาท่านจะไปซื้อตั๋วล่วงหน้าที่ห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า สถานีกรุงเทพ ท่านจะต้องติดต่อที่เคาน์เตอร์หมายเลข ๑ ด้านหน้าสุด แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ผู้แจกบัตรสำรองที่ตามภาพต่อไปนี้ ก่อนว่าท่านจะเดินทางวันที่เท่าไร ไปไหน ชั้นใด ถ้าทราบขบวนที่ต้องการโดยสารก็แจ้งได้เลยครับ

Click on the image for full size

พอเจ้าหน้าที่ทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว หากวันเดินทางเป็นวันที่มีผู้โดยสารหนาแน่น รถชั้นที่ต้องการโดยสารเต็มแล้ว ก็จะมีการบันทึกข้อมูลไว้ในไวท์บอร์ดขนาดใหญ่ด้านหลังเคาน์เตอร์ ตีตารางเป็นช่องหมายเลขขบวนรถ ช่องรถชั้นต่างๆที่ขบวนรถนั้นมีบริการโดยระบุ วันที่ เดือนที่รถชั้นนั้นๆเต็มเอาไว้ เจ้าหน้าที่หันไปดูก็แจ้งได้ทันทีว่าขบวนรถในวันที่ที่ผู้ซื้อตั๋วประสงค์จะเดินทางนั้นเต็ม ไม่แจกบัตรสำรองที่ให้ นอกจากจะเปลี่ยนวันเดินทาง หรือเป็นกรณีที่ประสงค์จะเดินทางในวันที่ขบวนรถมีที่ว่างอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ถึงจะแจกบัตรสำรองที่ตามภาพข้างต้น ซึ่งทำหน้าที่เป็นบัตรคิวไปด้วยในตัวให้นำไปติดต่อสำรองที่ที่เคาน์เตอร์ถัดไป คือ เคาน์เตอร์หมายเลข ๒,๓ สำหรับขบวนรถสายเหนือ-อีสาน เคาน์เตอร์หมายเลข ๔,๕ สำหรับขบวนรถสายใต้ ซึ่งใช้บัตรสำรองที่สีขาว ข้อความในบัตรสำรองที่ขบวนรถสายใต้เป็นทำนองเดียวกันกับบัตรสำรองที่ตามภาพข้างต้น

ตามแบบฟอร์มในบัตรสำรองที่ตามภาพนั้น บางท่านอาจสงสัยข้อความที่ว่า “ขึ้นที่สถานี” มีไว้ทำไม ในเมื่อมีข้อความว่า “จาก.....ถึง......” อยู่แล้ว เดินทางจากสถานีใดก็ต้องขึ้นสถานีนั้นสิ จากประสบการณ์ในฐานะผู้โดยสารตัวเล็กๆ(ตอนนั้นยังเป็นเด็ก)คนหนึ่ง พออธิบายได้ว่า ข้อความว่า ขึ้นที่สถานีนั้นใช้ในกรณีที่ผู้โดยสารจะเดินทางในระยะทางต่ำกว่าที่อนุญาตให้ซื้อตั๋วล่วงหน้า เช่น การเดินทางรถด่วนสายใต้เที่ยวกลับ สมัยก่อนกำหนดระยะทางขั้นต่ำที่เปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าให้ คือ ชุมพร-กรุงเทพ เท่านั้น หากจะเดินทางจากบางสะพานใหญ่ถึงกรุงเทพซึ่งเป็นระยะทางสั้นกว่าชุมพร-กรุงเทพ เจ้าหน้าที่ไม่อาจจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าให้ได้ นอกจากจะซื้อตั๋วตามระยะทางขั้นต่ำที่สามารถจำหน่ายตั๋วให้ได้ คือ ชุมพร-กรุงเทพ แล้วแจ้งว่าขึ้นที่สถานีบางสะพานใหญ่ เจ้าหน้าที่ก็จะจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าให้ได้โดยบันทึกในแบบฟอร์มบัตรสำรองที่ว่า จากชุมพร ถึงกรุงเทพ ขึ้นที่สถานี บางสะพานใหญ่ ครับ

ถ้าไม่มีการบันทึกไว้แบบนี้ก็จะไม่มีข้อมูลสำหรับ พรร.ขบวนรถใช้ตรวจตั๋ว พอถึงวันเดินทาง พรร.ไม่เห็นผู้โดยสารขึ้นที่ชุมพรก็จะถือว่าสละสิทธิสามารถจำหน่ายตั๋วเลขที่นั่งนี้แก่ผู้โดยสารอื่นได้ โดยไม่ต้องรอให้ขบวนรถถึงบางสะพานใหญ่เสียก่อน แต่ถ้ามีการบันทึกข้อมูลว่าขึ้นสถานีใดไว้ พรร. ก็จะยังเก็บที่นั่งนี้ไว้จนกว่าผู้โดยสารคนนี้ขึ้นรถที่สถานีบางสะพานใหญ่

สำหรับกรณีที่ขึ้นโดยสารตรงตามสถานีต้นทางในตั๋วอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะปล่อยว่างไว้ ไม่ต้องระบุในช่อง “ขึ้นที่สถานี” ให้ซ้ำกันอีก หรือในกรณีต้นทางเป็นสถานีกรุงเทพ หากจะขึ้นโดยสารจริงที่สถานีสามเสน ชุมทางบางซื่อ ก็ทำได้โดยไม่ต้องแจ้งในขั้นตอนการสำรองที่ว่าขึ้นสถานีใดแน่

ขั้นตอนที่สอง นำบัตรสำรองที่ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์สำรองที่นั่ง/นอน เจ้าหน้าที่จะถามข้อมูลอีกครั้งว่าจะเดินทางจากสถานีใดถึงสถานีใด วันไหน ขบวนรถอะไร โดยสารชั้นใด กี่คนเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ฯลฯ แล้วก็ไปพลิกดูข้อมูลในผังที่นั่งว่างของขบวนรถ ชั้นที่และวันที่ต้องการโดยสาร ลักษณะของผังที่นั่งเป็นไปตามภาพนี้ครับ

Click on the image for full size

ผังที่นั่งตามภาพเป็นผังของรถ บชท.ป. เวลาใช้งานจริงจะมีการกรอกข้อมูลหมายเลขขบวนรถ วันที่ ปลายทาง รถคันที่ เอาไว้ครบถ้วนเก็บรวมกันกับผังที่นั่งสำหรับวันเดินทางวันอื่นๆไว้ในแฟ้ม หน้าปกแฟ้มมีระบุหมายเลขขบวนรถ บชท.ป.คันที่ เอาไว้ชัดเจนสะดวกแก่การหยิบมาเปิดดูที่นั่งว่าง หากที่นั่งใดมีการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าไปแล้ว เจ้าหน้าที่จะลงข้อมูลหมายเลขตั๋ว จากสถานีใดถึงสถานีใดเอาไว้ในช่องตารางสำหรับที่นั่งหมายเลขนั้นๆ แต่ถ้าช่องตารางของที่นั่งหมายเลขใดยังไม่มีการกรอกข้อมูลดังกล่าว ก็แสดงว่าที่นั่งยังว่างอยู่สามารถสำรองที่นั่งนั้นได้ เจ้าหน้าที่ก็จะกรอกข้อมูลลงในผังที่นั่งว่างแสดงว่ามีการสำรองที่นั่งเลขที่นี้แล้ว และกรอกแบบฟอร์มบัตรสำรองที่ให้ครบถ้วนโดยระบุหมายเลขรถคันที่ เลขที่นั่งเอาไว้ เว้นแต่ยังไม่กรอกเลขที่ตั๋ว เพราะในขั้นตอนนี้ยังไม่ได้ออกตั๋วให้ ผู้ซื้อตั๋วต้องนำบัตรสำรองที่ที่ผ่านการกรอกข้อมูลดังกล่าวไปติดต่อซื้อตั๋วเคาน์เตอร์ต่อไป ตามที่ระบุในบัตรสำรองที่ว่าให้ไปรับตั๋วที่เคาน์เตอร์หมายเลขใด

นอกจากการระบุข้อมูลที่นั่งว่างไว้ในผังตามภาพข้างต้นแล้ว ยังมีการลงข้อมูลที่นั่งว่างไว้อีกรูปแบบหนึ่ง คือ ลงข้อมูลในสมุดปกแข็งเล่มใหญ่ หน้าปกเขียนหมายเลขขบวนรถไว้ ภายในสมุดเป็นกระดาษเส้นบรรทัดประทับวันเดือนปี รถคันที่ ชั้นและประเภทรถไว้บนหัวกระดาษ แล้วเขียนหมายเลขที่นั่งเรียงไปตามแต่ละบรรทัดจากบนลงล่าง ส่วนมากการลงข้อมูลที่นั่งว่างในสมุดแบบนี้จะใช้สำหรับขบวนรถเที่ยวกลับ ซึ่งมีการกำหนดโควต้าที่นั่งเที่ยวกลับให้สถานีกรุงเทพจำหน่ายตั๋วแทนสถานีต้นทางที่ผู้โดยสารจะเดินทางเที่ยวกลับ เช่น เที่ยวกลับขบวน ๑๒ (ขบวน ๓๖ ในปัจจุบัน) ระยะทางจากหาดใหญ่-กรุงเทพ ก็จะมีข้อมูลลงไว้ในสมุดปกแข็งหน้าปกมีเลข ๑๒ ตัวใหญ่ๆ เปิดภายในก็จะไล่เรียงตั้งแต่หน้ากระดาษโควต้าที่นั่ง/นอนรถ บนอ.ป.คันที่ ๒ รถ บนอ.คันที่ ๓ รถ บนท.ป. คันที่ ๔ ของแต่ละวันเดินทาง โดยระบุหมายเลขที่นั่ง/นอนที่สถานีกรุงเทพได้โควต้ามาจำหน่ายตั๋วแทนเอาไว้ อย่างรถ บนท.ป. คันที่ ๔ ก็จะมีโควต้าหมายเลขที่นั่ง/นอน เลขที่ ๑-๑๒ เท่านั้น ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วเที่ยวกลับที่สถานีกรุงเทพจะเลือกหมายเลขอื่นไม่ได้ นอกจากที่นั่งตามโควต้าเต็มหมดแล้ว เจ้าหน้าที่อาจโทรศัพท์ติดต่อขอสำรองที่นั่งหมายเลขอื่นของรถบนท.ป.คันนี้จากสถานีชุมทางหาดใหญ่ให้เป็นรายๆไป ซึ่งจะสำเร็จสมประสงค์หรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างครับ ถ้าที่นั่งของสถานีชุมทางหาดใหญ่ก็เต็ม หรือเจ้าหน้าที่บางคนไม่โทรติดต่อให้ใช้วิธีบอกเอาง่ายๆตามข้อมูลในสมุดว่าเต็มแล้ว ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่โดนแบบนี้ก็ยอมจำนน แต่พวกแฟนรถไฟแบบเราๆท่านๆทราบว่า สามารถโทรขอโควต้าได้ก็จะบอกให้เจ้าหน้าที่คนนั้นช่วยโทรให้หน่อย แต่ถ้ายังบอกว่าโทรติดต่อไม่ได้ก็อดซื้อตั๋วล่วงหน้าเที่ยวกลับกันละครับ

แต่ถ้าเจ้าหน้าที่โทรขอโควต้าที่นั่งเที่ยวกลับให้สำเร็จ ก็จะกรอกข้อมูลการติดต่อสำรองที่จากสถานีต้นทางเที่ยวกลับลงในแบบฟอร์มอีกแบบหนึ่ง ลักษณะเป็นเอกสารโรเนียวลงกระดาษสีขาวขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษเอ ๔(ผมยังหาแบบฟอร์มนี้ไม่พบเลยครับ เลยไม่ได้นำภาพมาให้ชมกัน) มอบให้ผู้ซื้อตั๋วนำไปติดต่อรับตั๋วแทนบัตรสำรองที่ตามภาพข้างต้น เป็นอย่างไรครับ เริ่มเห็นความลำบาก ยุ่งยากในการซื้อตั๋วล่วงหน้ายุคโบราณแล้วหรือยัง ช่างผิดกับยุคคอมพิวเตอร์นะครับ ถ้าไม่เล่าไว้ก็จะไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้อนุชนได้ศึกษาถึงวิวัฒนาการในการจำหน่ายตั๋ว(ว่าเข้าไปนั่น)

การจองตั๋ว(ซื้อตั๋ว)รถบนท.ป.สมัย ๒๐ กว่าปีที่แล้วนั้นซื้อได้ยากจริงๆ ถ้าไม่รีบซื้อตั๋วล่วงหน้านานๆรถ บนท.ป.มักจะเต็มก่อนเสมอ เนื่องจากสมัยปี ๒๕๒๕-๒๕๓๐ ยุคก่อนที่จะมีรถบนท.ป.๔๐ ที่ ล็อตใหญ่เข้ามาให้บริการในปี ๒๕๓๑ รถบนท.ป. มีแต่รุ่นเก่า ๓๒ ที่ เพียงรุ่นเดียว ทั้งประเทศมี ๑๖ คัน ปกติพ่วงกับขบวน ๑/๒(กรุงเทพ-อุบลฯ) ๗/๘(กรุงเทพ-เชียงใหม่) ๑๑/๑๒หรือ๑๕/๑๖(กรุงเทพ-บัตเตอร์เวอร์ธ/สุไหงโกลก) ๔๗/๔๘(กรุงเทพ-นครศรีธรรมราช)ขบวนละหนึ่งคัน พ่วงขบวน ๑๙/๒๐(กรุงเทพ-ยะลา ซึ่งต่อมาขยายปลายทางไปถึงสุไหงโกลก เป็นขบวน ๓๗/๓๘ ในปัจจุบัน) ขบวนละสองคัน รวมรถบนท.ป.ที่นำออกให้บริการจริงตามปกติแค่ ๑๒ คันเท่านั้นเอง ไม่เหมือนกับรถ บนท. ในยุคนั้นที่มีเยอะ แต่ไปๆมาๆสมัยนี้กลับกันเสียแล้วนะครับ รถที่หาโดยสารยากกลับเป็นรถ บนท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่เดินทางด้วยขบวนรถด่วนพิเศษจะไม่มีทางเลือกโดยสารรถ บนท.เลย เพราะรถนอนชั้นสองของขบวนรถด่วนพิเศษมีแต่รถ บนท.ป. ทั้งนั้น เล่าๆไปชักจะบ่นมากอีกแล้วกลับมาขั้นตอนต่อไปกันดีกว่าครับ

ขั้นตอนที่สาม ผู้ซื้อตั๋วนำบัตรสำรองที่ที่ผ่านการกรอกข้อมูลการสำรองที่ มีการระบุหมายเลขรถคันที่และเลขที่นั่งไว้เรียบร้อยแล้ว ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วตามที่ระบุไว้ในบัตรสำรองที่ว่า “โปรดรับตั๋วหมายเลข” เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วก็จะออกตั๋วให้ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในบัตรสำรองที่ว่าเดินทางวันไหน รถขบวนใด ชั้นใด คันที่เท่าไร เลขที่นั่ง/นอนใด จะได้ตั๋วแข็งหรือตั๋วบางก็ลุ้นระทึกกันตอนนี้ละครับ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะกรอกหมายเลขตั๋วลงในบัตรสำรองที่เพื่อสงไปลงข้อมูลหมายเลขตั๋วในผังหรือสมุดแสดงที่นั่งว่างตามแต่กรณีต่อไป ถ้าเป็นกรณีที่ออกตั๋วแข็งให้หลายใบสำหรับผู้โดยสารคนหนึ่งเป็นตั๋วค่าโดยสาร ตั๋วค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็ไม่ต้องกรอกหมายเลขตั๋วสำรับนั้นทุกใบลงในบัตรสำรองที่นะครับ กรอกแค่ข้อมูลหมายเลขตั๋วโดยสารซึ่งเป็นตั๋วใบหลักก็พอ เพราะว่าตั๋วค่าธรรมเนียมต่างๆไม่ว่าจะมีกี่ใบก็ต้องอ้างถึงตั๋วโดยสารอยู่แล้วว่าใช้ควบตั๋วโดยสารหมายเลขใด

พอเจ้าหน้าที่ออกตั๋วให้เสร็จก็จะเขียนซองตั๋วให้ด้วย สมัยก่อนข้อมูลหน้าซองตั๋วเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้โดยสารทั่วๆไปนะครับ เพราะข้อความตามตั๋ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั๋วแข็งยังมีข้อมูลที่จำเป็นในการเดินทางไม่ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างตั๋วคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน เช่น ไม่มีข้อมูลเวลารถออก ตั๋วบางใบก็ไม่ระบุรถคันที่ หมายเลขที่นั่ง/นอนไว้เลย เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะประทับตรายางแล้วกรอกข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมให้ดังที่เคยนำเสนอไปแล้ว ผู้โดยสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติก็สามารถดูข้อมูลการเดินทางที่หน้าซองตั๋วได้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยรักษาตั๋วแข็งไม่ให้กระจัดกระจายสูญหายไปก่อนใช้เดินทางด้วยครับ ส่วนการชำระค่าตั๋วก็ต้องเป็นเงินสดเท่านั้น ไม่รับบัตรเครดิตเหมือนปัจจุบัน

โปรดติดตามชมตอนต่อไปนะครับ Very Happy
Back to top
View user's profile Send private message
tuie
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 09/07/2006
Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย

PostPosted: 13/09/2006 8:54 pm    Post subject: Reply with quote

ออกจากทางหลีก(ให้ท่านรับชมเรื่องราวของกระบวนการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าสมัยก่อนยุคตั๋วคอมพิวเตอร์ในตอนที่แล้ว) กลับเข้าทางหลัก(กลับเข้ามาที่เรื่องของตั๋วบางทั่วไปต่อนะครับ) แต่ต้องเบาทางโดยใช้ความเร็วสัก ๒๐ ก.ม./ช.ม. (คือจะเล่าแบบลงรายละเอียดเล็กน้อย) แม้จะทำให้ขบวนรถเสียเวลาเพิ่มขึ้น(กระทู้เรื่องนี้จบช้ากว่ากำหนดเดิมที่ตั้งใจไว้ คือ ต้นเดือนกันยายน) แต่ก็ทำให้ผู้โดยสาร(ท่านผู้ชม)ถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ อิ่มเอมกับทิวทัศน์รายทาง คงไม่ว่ากันนะครับ Smile

พอถึงยุคของตั๋วคอมพิวเตอร์แล้ว ตั๋วบางยังไม่หายไปจากวงการตั๋วรถไฟไทยแบบตั๋วแข็ง ยังยืนยงคงอยู่มีจำหน่ายตามปกติถึงยุคปัจจุบัน อาจเป็นเพราะยังมีความจำเป็นในการใช้งานอยู่หลายกรณี เช่น การซื้อตั๋ว หรือเลื่อนชั้น หรือขยายปลายทางบนขบวนรถ หรือในบางกรณีตั๋วบางทั่วไปก็ต้องรับบทบาทในการทำงานควบคู่กับตั๋วแข็งอย่างเต็มภาคภูมิ ดังเช่น กรณีตามภาพต่อไปนี้เป็นภาพตั๋วทั้งสองชนิดเย็บติดกัน ใช้เป็นตั๋วสำหรับผู้โดยสารรถ บนอ.ป.ห้องเตียงคู่ที่ประสงค์จะใช้ห้องนั้นเพียงคนเดียว(เหมาห้อง) สมัยที่มีการนำรถ บนอ.ป. รุ่นเก่า ๑๘ ที่ ไปพ่วงกับขบวนรถเร็วที่ ๔๕/๔๖ (ขบวน ๑๗๑/๑๗๒ ในปัจจุบัน)

[/img]Click on the image for full size

เห็นตั๋วแล้วก็คิดถึงรถ บนอ.ป.รุ่นนี้จังเลย Sad Crying or Very sad ขอนำภาพโฉมสุดท้ายของรถ บนอ.ป. ๑๘ ที่ซึ่งถ่ายสำเนามาจากวารสารรถไฟสัมพันธ์ ฉบับที่ ๓/๒๕๓๗ มาลงไว้เป็นที่ระลึกสักภาพนะครับ

[img]Click on the image for full size[/img]

เห็นตั๋วทั้งสองใบเย็บติดกันในภาพดังกล่าวแล้วก็ต้องเล่าถึงสาเหตุ ความเป็นมาที่ผู้โดยสารรถชั้นหนึ่งที่เหมาห้องเดินทางคนเดียวแล้วได้ตั๋วคอมพิวเตอร์ใบหนึ่ง ตั๋วบางใบหนึ่งควบกัน แทนที่จะเป็นตั๋วใบเดียวเหมือนกับการโดยสารปกติทั่วไปที่ออกตั๋วคอมฯให้หนึ่งใบต่อผู้โดยสารหนึ่งคนสำหรับเดินทางหนึ่งเที่ยวไว้สักนิดนะครับ แต่ขอยังไม่ลงรายละเอียดในเรื่องตั๋วคอมฯเนื่องจากจะมีหัวข้อเฉพาะของตั๋วคอมฯอยู่แล้วในตอนท้ายๆของกระทู้เรื่องนี้

ตั้งแต่การรถไฟยกเลิกการให้บริการห้องเตียงเดี่ยว(แท้ๆ)ที่เคยมีอยู่คันละ ๓ ห้อง ในรถ บนอ.ป.รุ่นเก่า เนื่องจากนำรถรุ่นดังกล่าวไปดัดแปลงเป็นห้องเตียงคู่ทั้งหมด พอสั่งรถ บนอ.ป. ๒๔ ที่(ฮุนได)รุ่นปัจจุบันเข้ามาก็เป็นห้องเตียงคู่ล้วนอีก ทำให้ผู้โดยสารรถ บนอ.ป.ที่เดินทางคนเดียวและชอบความเป็นส่วนตัวประสบปัญหาในการโดยสาร เพราะในแต่ละห้องเตียงคู่จะมีเลขที่นั่ง/นอนสองหมายเลข เช่น ๑-๒ เป็นหนึ่งห้อง เลขคี่เป็นเตียงบน เลขคู่เป็นเตียงล่าง ผู้ที่เดินทางคนเดียวก็เลยต้องใช้ห้องเดียวกันร่วมกับผู้โดยสารอีกคนหนึ่ง นอกเสียจากจะยอมทุ่มทุนซื้อตั๋วสองใบทั้งเลขที่นั่ง/นอน ๑-๒ เพื่อจะได้ครอบครองห้องนั้นแต่ผู้เดียว ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะทำเช่นนั้นแล้วจะได้ใช้ห้องทั้งห้องเสมอไปหรือไม่ เนื่องจากตั๋วที่ไม่มีผู้โดยสารขึ้นโดยสารจริงนั้น ถ้าจะว่าตามกฎระเบียบของการรถไฟฯแล้ว ต้องถือว่าสละสิทธิที่นั่ง/นอนเลขที่นั้นๆไป เจ้าหน้าที่อาจจำหน่ายตั๋วให้ผู้โดยสารอื่น(ถ้ามี)มาร่วมห้องกับเราได้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้ผมซึ่งปกติชอบเดินทางด้วยรถ บนอ.ป. สมัยมีห้องเตียงเดี่ยวก็เลยไม่กล้าเสี่ยงใช้วิธีการดังกล่าวทุ่มทุนซื้อตั๋วเต็มราคาสองใบ เพื่อให้ได้สิทธิครอบครองห้องเตียงคู่แต่เพียงผู้เดียว

ต่อมาช่วงปลายปี ๒๕๔๐ การรถไฟประกาศอนุญาตให้ผู้โดยสารรถ บนอ.ป.ที่เดินทางคนเดียวแต่ประสงค์จะใช้ห้องเตียงคู่ทั้งห้อง ไม่มีผู้โดยสารอื่นมาปะปนในห้องเดียวกันสามารถ “เหมาห้อง” ได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากค่าโดยสารปกติสำหรับคนเดียวอีก ๓๐๐ บาท เท่านั้น ช่างถูกใจผมและแฟนๆรถ บนอ.ป. ห้องเตียงเดี่ยวในอดีตยิ่งนัก Very Happy ที่ผมชอบโดยสารรถ บนอ.ป. แบบเหมาห้องเวลาเดินทางคนเดียว ไม่ใช่เพราะเป็นคนฟุ่มเฟือย ชอบจ่ายแพงๆหรอกครับ มีเหตุผลแบบคนชอบ(บ้า)รถไฟอยู่หลายประการ ตัวอย่างเช่น การที่ผมประสบปัญหาดัชนีความพึงพอใจลดต่ำลงอย่างมากในเวลาเดินทางด้วยรถ บนท.ป. รถ บนท. ซึ่งต้องนั่งตรงข้ามกับผู้โดยสารอื่น ผมชอบดูวิวทิวทัศน์ข้างทาง ชอบดูขบวนรถที่สวนหรือแซง หรือจอดรอหลีกตามสถานีรายทางฯลฯ แม้จะต้องตากแดดที่ส่องเข้ามาทางหน้าต่างเพียงใดก็ไม่ย่อท้อ แต่บางทีผมเจอผู้โดยสารที่กลัวแดดมาก แดดส่องมาสักนิดเขาก็รีบรูดม่านหน้าต่างหรือดึงมู่ลี่มากันแดดเสียแล้ว Mad จะห้ามก็จะขัดใจกันเปล่าๆ อีกทั้งก็น่าเห็นใจเพราะเขาอาจจะร้อนจริงๆหรือกลัวผิวจะเสีย แต่ผมก็อดดูวิวเท่านั้นเอง ในขณะที่การโดยสารรถ บนอ.ป. แบบเหมาห้องคนเดียว นอกจากจะได้รับความสะดวกสบายอันพึงมีพึงได้เช่นเดียวกับผู้โดยสารรถ บนอ.ป. คนอื่นแล้ว ผมยังมีสิทธิขาดในการควบคุมการเปิดปิดม่านหน้าต่าง ดวงไฟในห้อง โดยไม่ต้องเกรงใจผู้โดยสารอื่นที่จะโดนแดดส่อง ถึงแดดจะร้อนแต่ตัวผมเองก็ไม่ต้องตากแดดชมวิวเพราะสามารถขยับหลบแดดไปนั่งกลางห้องได้ 8) เวลากลางคืนก็ปิดไฟในห้องนอนดูดาว แสงสีจากภายนอกรถฯลฯได้ถนัด ไม่เกิดเงาสะท้อนแบบรถปรับอากาศชั้นสองที่เปิดไฟสว่างภายในรถตอนกลางคืนจนแทบมองไม่เห็นทิวทัศน์ภายนอก นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งในหลายๆเหตุผลนะครับ ถ้าขยายความมากกว่านี้เดี๋ยวท่านจะหาว่าผมเพี้ยน Laughing

แต่เวลาออกตั๋วคอมฯในการโดยสารลักษณะดังกล่าวสิครับ มีปัญหาเล็กน้อย กล่าวคือ เจ้าหน้าที่จะกดคอมฯสั่งพิมพ์ออกเป็นตั๋วโดยสารรวมค่าธรรมเนียมเต็มราคาสองใบระบุเลขที่นั่ง/นอนเลขที่ ๑ ใบหนึ่ง กับเลขที่ ๒ อีกใบหนึ่ง ราคาตั๋วในฐานข้อมูลทางบัญชีก็จะกลายเป็นค่าโดยสารเต็มราคาสองที่นั่ง ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะกรณีนี้คิดค่าโดยสารรวมค่าธรรมเนียมเต็มราคาที่นั่งเดียว บวกค่าธรรมเนียมพิเศษ(เหมาห้อง)อีก ๓๐๐ บาท ในทางปฏิบัติเท่าที่ผมสังเกต เจ้าหน้าที่จะกดคอมสั่งพิมพ์ตั๋วโดยสารระบุหมายเลขที่นั่ง/นอนเลขคู่ เช่น เลข ๒ ซึ่งเป็นเตียงล่างออกมาใบเดียว ส่วนหมายเลขที่นั่ง/นอนเลขคี่ซึ่งเป็นเตียงบนในห้องเดียวกัน เช่น เลข ๑ จะปล่อยไว้เป็นที่ว่างในฐานข้อมูลคอมฯก็ไม่ได้ เดี๋ยวมีการจำหน่ายที่นั่งนี้แก่ผู้โดยสารอื่นไปก็เท่ากับไม่ได้เหมาห้อง เลยต้องมีการออกเป็นตั๋วคอมฯที่เรียกว่า “ตั๋วผ่าน-ห้ามใช้โดยสาร” เพื่อตัดไม่ให้ที่นั่ง/นอนเตียงบนเลข ๑ ที่เหลือนั้นเป็นที่ว่างไว้จำหน่ายผู้โดยสารรายอื่นอีกต่อไป โดยเจ้าหน้าที่จะเขียนตั๋วบางคิดค่าธรรมเนียมเหมาห้อง ๓๐๐ บาท สำหรับที่นั่ง/นอนเลขที่๑ ให้แทนตั๋วคอมฯที่เป็น “ตั๋วผ่าน” ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเก็บไว้ไม่มอบให้ผู้โดยสารนำไปใช้

ลองพลิกดูตั๋วบางในกรณีนี้ที่ออกแนบท้ายตั๋วคอมฯตามภาพก่อนก็ได้ครับ สังเกตการจัดวางข้อความและแบบฟอร์มในตั๋วบาง(สีเหลือง)ในภาพต่อไปนี้ให้ดีนะครับ ท่านจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปจากตั๋วบางสีเหลืองใบก่อนๆที่นำเสนอไปแล้ว ตั๋วบางทั่วไปตามภาพนี้เป็นแบบที่ยังคงใช้ต่อมาถึงปัจจุบันด้วยนะครับ

[img]Click on the image for full size[/img]

สรุปว่าผู้โดยสารรถ บนอ.ป. ที่เหมาห้องเตียงคู่เพื่อเดินทางคนเดียว จะได้ตั๋วคอมฯเป็นตั๋วโดยสารรวมค่าธรรมเนียมครบถ้วนสำหรับเลขที่นั่ง/นอน เลข ๒ จำนวนหนึ่งใบ ตั๋วบางทั่วไปเป็นตั๋วค่าธรรมเนียมเหมาห้อง ๓๐๐ บาท ระบุเลขที่นั่ง/นอน เลข ๑ อีกหนึ่งใบ เย็บติดกันใช้โดยสารที่นั่ง/นอนเลขที่ ๑-๒ รวมเป็นหนึ่งห้องได้สมใจอยาก(ตั๋วตามภาพเป็นเลขที่นั่ง/นอน ๑๕-๑๖ รวมเป็นหนึ่งห้อง) ถ้าสังเกตด้านบนตั๋วบางข้างต้นจะเห็นหมายเลขกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นรหัสตั๋วผ่านที่เจ้าหน้าที่นำมากรอกไว้เพื่ออ้างอิงและตรวจสอบ ส่วนเวลานอนพนักงานรถนอนจะปูที่นอนให้เฉพาะเตียงล่างเพียงที่เดียวแล้วเก็บบันไดเตียงบนซึ่งเว้นว่างไว้ไป ไม่ใช่ว่าเหมาห้องแล้วฉันจะนอนเตียงล่างชมแสงเดือนแสงดาวสักครึ่งคืน แล้วค่อยย้ายมานอนเตียงบนอีกสักครึ่งคืนเพื่อจะได้ใกล้ช่องแอร์และได้สัมผัสบรรยากาศคล้ายการนอนบนเปลที่แกว่งไกวไม่ได้นะครับ นอกจากจะขยันแอบขนย้ายที่นอนเองภายในห้องระหว่างเตียงล่างกับเตียงบน อย่างไรก็อย่าลืมรีบทำให้เหมือนเดิมก่อนพนักงานฯมาเก็บเตียงก็แล้วกัน

โปรดติดตามชมตอนต่อไปนะครับ Smile
Back to top
View user's profile Send private message
Rakpong
President
President


Joined: 29/03/2006
Posts: 1716
Location: แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก

PostPosted: 14/09/2006 8:51 am    Post subject: Reply with quote

Quote:
Click on the image for full size


ผังที่นั่งในขบวนนี่ คุณตุ้ยไปหามาจากไหนครับ หรือว่าทำเอง ( แบบพัฒนาขึ้น เมื่อก่อนใช้มือเขียน thumbsup )

ผังที่นั่งนี่ ทุกคนที่เคยไปจองตั๋วจะคุ้นเคย เวลาไปจองตั๋ว โดยเฉพาะเมื่อไปจองหน้าเทศกาล ที่นั่งมักจะเต็ม จนท. สำรองที่ จะเปิดให้เราดูทีละหน้า ว่ายังมีที่ว่างวันไหน

เมื่อเลือกขบวนและวันเดินทางแล้ว จนท. จะทวนและให้เรายืนยันวันเดินทางอีกครั้ง เพราะถ้าเลือกวันผิด เวลาขอเลื่อนการเดินทาง ทั้งหาที่นั่งยาก และเสียค่าธรรมเนียมด้วยครับ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
tuie
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 09/07/2006
Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย

PostPosted: 14/09/2006 7:39 pm    Post subject: Reply with quote

คุณหมอถามว่า

Quote:
ผังที่นั่งในขบวนนี่ คุณตุ้ยไปหามาจากไหนครับ หรือว่าทำเอง ( แบบพัฒนาขึ้น เมื่อก่อนใช้มือเขียน )


ผังที่นั่งรถ บชท.ป. ตามภาพนั้น ผมไม่ได้ทำขึ้นเองหรอกครับ กี่ปีฝีมือวาดเขียนก็หยุดแค่ชั้นประถมเลยไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย Laughing ผมขอผังดังกล่าวมาจากเจ้าหน้าที่ห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าที่ผมไปซื้อตั๋วกับเขาบ่อยๆ โยกโย้จะเอาตั๋วแข็งหลายๆใบจนจำกันได้ เลยกล้าขอพี่เขาครับ แต่ตอนนั้นก็ไม่กล้าบอกตรงๆว่าอยากได้มาถ่ายเอกสารเอาไปเล่นขายตั๋วกับน้องๆที่บ้าน กลัวพี่เขาจะไม่ให้ เลยต้องบอกว่าจะเอาไปใช้ประกอบการทำรายงานครับ 8)

เวลาผ่านไป ๒๐ กว่าปี ผมถึงเพิ่งจะนำผังดังกล่าวมาประกอบ "รายงาน" (กระทู้เรื่องนี้) ถ้าพี่คนที่ให้ผังตามภาพอ่านพบ ผมขอขอบคุณและขออภัยไปพร้อมๆกันด้วยนะครับ Embarassed
Back to top
View user's profile Send private message
tuie
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 09/07/2006
Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย

PostPosted: 15/09/2006 8:29 pm    Post subject: Reply with quote

ชมตั๋วบางทั่วไปที่ควบกับตั๋วคอมฯในกรณีผู้โดยสารคนเดียวเหมาห้องรถ บนอ.ป. อีกสักภาพนะครับ

Click on the image for full size

สังเกตหมายเลขขบวนรถในตั๋วคอมฯตามภาพข้างต้นนะครับ หมายเลข ๗๑๗๑ ก็คือขบวนรถเร็วที่ ๑๗๑ กรุงเทพ-สุไหงโกลก ในปัจจุบันนี่เอง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีอยู่ช่วงหนึ่งในปี ๒๕๔๑ มีการกำหนดหมายเลขขบวนรถเป็นเลขสี่หลัก อย่างขบวนรถด่วนพิเศษที่ ๓๕ กรุงเทพ-บัตเตอร์เวอร์ธตอนนั้นก็เป็นหมายเลข ๗๐๓๕ ครับ

นอกจากการออกตั๋วคอมฯให้ ๑ ใบ กับตั๋วบางทั่วไป(สีเหลือง)อีก ๑ ใบ สำหรับผู้โดยสารที่เหมาห้องนอนรถ บนอ.ป. เพื่อใช้ห้องเตียงคู่นั้นเพียงผู้เดียวแล้ว บางครั้งเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วก็เคยออกเป็นตั๋วบางทั่วไปให้ใบเดียว ระบุหมายเลขที่นั่งสองหมายเลขซึ่งรวมเป็นหนึ่งห้อง เช่นหมายเลข ๙-๑๐ จำหน่ายในราคาค่าโดยสารรวมค่าธรรมเนียมสำหรับผู้โดยสารคนเดียว บวกค่าธรรมเนียมเหมาห้องอีก ๓๐๐ บาทได้ โดยเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วใช้วิธีการสั่งพิมพ์ตั๋วคอมฯที่เป็น “ตั๋วผ่าน-ห้ามใช้โดยสาร” ออกมาสองใบ สองหมายเลขที่นั่ง/นอนซึ่งอยู่ห้องเดียวกัน เช่น หมายเลขที่นั่ง/นอน ๙ ใบหนึ่งกับ ๑๐ อีกใบหนึ่ง แล้วนำข้อมูลตามตั๋วดังกล่าวมาเขียนออกเป็นตั๋วบางทั่วไปใบเดียวให้ผู้โดยสารใช้เดินทาง มีการลงข้อมูลรหัสตั๋วคอมฯที่เป็นตั๋วผ่านลงในตั๋วบางไว้เพื่อการตรวจสอบด้วย ที่เป็นหมายเลขชุดยาวๆในช่องหมายเหตุตั๋วบางด้านซ้ายของภาพ และที่อยู่บนสุดของตั๋วบางด้านขวาของภาพต่อไปนี้ครับ

Click on the image for full size

หากตั๋วคอมฯพูดได้คงต้องอุทานว่า งานนี้ข้าพเจ้าถูกคุณน้าตั๋วบางทั่วไป “แย่งซีน” เสียแล้ว Laughing ปัจจุบันเป็นยุคตั๋วคอมพิวเตอร์แท้ๆ ยังมีกรณีที่สามารถออกตั๋วคอมฯให้ได้แต่กลับให้ใช้ตั๋วบางทั่วไป(สีเหลือง)แทนตั๋วคอมฯอีก

นอกจากตั๋วบางจะยังใช้งานในกรณีดังกล่าวได้แล้ว ตั๋วบางยังเข้ามาเสริมการใช้งานของตั๋วคอมฯได้อีกหลายกรณี ดังจะเห็นได้จาก การขยายต้นทางหรือปลายทางจากหน้าตั๋วที่ซื้อเอาไว้เดิม เช่น เดิมซื้อตั๋วรถ บนอ.ป.ขบวน ๘๖ จากชุมทางทุ่งสง-บางบำหรุ แต่พอถึงวันเดินทางเกิดเปลี่ยนใจจะขึ้นรถที่ต้นทางสถานีนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นการขยายต้นทาง เจ้าหน้าที่ก็จะออกตั๋วบางทั่วไปเป็นตั๋วเฉพาะค่าโดยสารชั้นหนึ่งในระยะทางจากนครศรีธรรมราช-ชุมทางทุ่งสง ให้ผู้โดยสารใช้ควบกับตั๋วใบเดิมที่ซื้อไว้ ปรากฎตามตั๋วบางด้านซ้ายของภาพต่อไปนี้ครับ

Click on the image for full size

ส่วนตั๋วบางทั่วไปด้านขวาของภาพ เป็นกรณีที่สถานีสวรรคโลกซึ่งเป็นสถานีต้นทางขบวนรถดีเซลรางท้องถิ่นที่ ๔๐๖ ในสมัยปี ๒๕๔๒ ไม่มีการจำหน่ายตั๋วในระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ก็ต้องใช้ตั๋วบางทั่วไปแทนตั๋วคอมพิวเตอร์ครับ ถึงตอนนี้ท่านเห็นเหมือนกับผมไหมว่า ตั๋วบางนั้นเป็นตั๋วเอนกประสงค์ มีความยืดหยุ่นสูงในการใช้งาน เนื่องจากใช้เป็นตั๋วค่าโดยสาร หรือตั๋วค่าธรรมเนียม หรือเป็นตั๋วรวมทั้งค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมก็ได้ จะใช้เดินทางเที่ยวเดียวหรือไปกลับก็ได้ ระยะทางจากต้นทางและถึงปลายทางก็ระบุได้ตามสถานการณ์ที่จะใช้งาน จะจำหน่ายที่สถานีหรือบนขบวนรถก็ได้ คุณลักษณะเช่นนี้น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่ง(ตามความเห็นของผม)ที่ทำให้ตั๋วบางยังคงต้องมีจำหน่ายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เสริมการทำงานของตั๋วคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ตั๋วแข็งหาได้มีคุณลักษณะเด่นดังเช่นตั๋วบางทั่วไปไม่ เนื่องจากต้องพิมพ์ข้อความตามหน้าตั๋วแข็งเอาไว้ตายตัว จะมีช่องให้กรอกบ้างก็เล็กน้อย เช่น รถคันที่.... เลขที่นั่ง.... ควบตั๋วเลขที่.... เท่านั้น จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการยกเลิกจำหน่ายตั๋วแข็งตามปกติทั่วไปในที่สุด โดยจำหน่ายเป็นตั๋วคอมฯหรือตั๋วบางแทน 8)

ชมตั๋วบางทั่วไปมาพอสมควรแล้ว ถึงคิวของตั๋วบางสำเร็จรูปเสียที ตั๋วประเภทนี้มีสองสี คือ สีขาวสำหรับการโดยสารขบวนรถเที่ยวขึ้น(ขบวนรถหมายเลขคี่) กับสีฟ้าสำหรับการโดยสารขบวนรถเที่ยวล่อง(ขบวนรถหมายเลขคู่) ตั๋วทั้งสองสีมีราคาพิมพ์ไว้ตายตัวที่หน้าตั๋วหลายราคา ในปัจจุบันได้แก่ ราคา ๒,๓,๕,๑๐ และ ๕๐ บาท โดยตั๋วแต่ละราคามีข้อความและแบบฟอร์มหน้าตั๋วเป็นแบบเดียวกัน ส่วนมากจะจำหน่ายตั๋วประเภทนี้กันบนขบวนรถสำหรับผู้โดยสารที่ขึ้นจากที่หยุดรถ หรือป้ายหยุดรถซึ่งไม่มีการจำหน่ายตั๋วให้ก่อนขบวนรถมาถึง สมัยก่อนตั๋วบางสำเร็จรูปมีชนิดราคา ๑ บาท ด้วย การจัดวางข้อความและแบบฟอร์มหน้าตั๋วก็แตกต่างไปจากปัจจุบันตามภาพต่อไปนี้

Click on the image for full size

สำหรับตั๋วบางสำเร็จรูปในปัจจุบันมีข้อความและแบบฟอร์มดังนี้ ลองเปรียบเทียบกันนะครับ

Click on the image for full size

เมื่อพิจารณาข้อความและแบบฟอร์มหน้าตั๋วบางสำเร็จรูปสมัยก่อนตามภาพแรกแล้ว จะเห็นได้ว่า สามารถใช้งานได้แต่เป็นตั๋วค่าโดยสาร ตามเส้นทางสายที่และสถานีที่มีการพิมพ์ระบุไว้เป็นอักษร/สระย่อ ซึ่งตอนนั้นตั๋วสายตะวันออกพิมพ์ชื่อสถานีถึงสัตหีบด้วยนะครับ ถ้าไม่ใช่แฟนรถไฟตัวจริงเห็นแต่ตั๋วแล้วคงมึน Confused เพราะว่าตัวย่อบางตัวดูแล้วแทบเดาไม่ออกว่าคือสถานี หรือที่หยุดรถ หรือป้ายหยุดรถชื่ออะไร ตามตั๋วดังกล่าวใช้โดยสารจาก งข.ถึง ปจ. หมายถึงจากหนองน้ำขาวถึงปราจีนบุรี ก็จะมีการขีดเครื่องหมายในช่องตัวย่อชื่อนั้นๆไว้ แล้วตัดตั๋วให้ตรงช่องต้นทางและปลายทาง

ในขณะที่ตั๋วบางสำเร็จรูปในยุคปัจจุบัน สามารถใช้งานได้หลากหลายมากกว่า เพราะไม่มีการพิมพ์ข้อความกำหนดเส้นทาง ชื่อสถานี ที่หยุดรถและป้ายหยุดรถในเส้นทางไว้ตายตัว โดยสามารถกรอกต้นทางและปลายทางได้ตามที่ใช้งานจริง จะใช้เป็นตั๋วค่าโดยสาร หรือตั๋วค่าโดยสารรวมค่าธรรมเนียมก็ได้ แต่ที่เหมือนกันก็คือ ใช้ในการโดยสารชั้นสาม และมีการใช้ตั๋วบางประเภทนี้หลายๆใบรวมกันให้ได้ราคาครบตามค่าโดยสารสำหรับระยะทางที่เดินทางจริง เช่น ค่าโดยสาร ๒๕ บาท ก็อาจได้ตั๋วบางสำเร็จรูปราคา ๑๐ บาท สองใบ ราคา ๕ บาท หนึ่งใบเย็บรวมกันครับ

ผมคงจะจบหัวข้อตั๋วบางไว้เพียงเท่านี้ หากท่านใดมีภาพตั๋วบางอื่นๆอีก ก็ขอความกรุณาส่งมาให้ชมกันบ้างนะครับ ตอนต่อไปว่าจะนำเสนอเรื่องราวของตั๋วรถนำเที่ยว โปรดติดตามชมนะครับ
Very Happy Smile
Back to top
View user's profile Send private message
Rakpong
President
President


Joined: 29/03/2006
Posts: 1716
Location: แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก

PostPosted: 16/09/2006 10:05 am    Post subject: Reply with quote

tuie wrote:
Click on the image for full size


ตั๋วบางสำเร็จรูปแบบนี้ ยังมีอีกหลายสายที่จอดรับผู้โดยสารตามที่หยุดรถ และ พหล. เป็นผู้ขายบนขบวนรถ หลากหลายไปตามสายต่าง ๆ

ตัวย่อสถานีบนตั๋วเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบมาก ถ้าเป็นเส้นทางที่เรานั่งรถไฟผ่านก็จะรู้ได้ทันทีเมื่อนั่งไล่สถานี แต่เส้นทางที่เราไม่เคยไปก็จะเดาดูว่าเป็นสถานีอะไร บางทีก็เอาไปเทียบที่ตารางค่าโดยสารที่แปะหน้าห้องจำหน่ายตั๋ว สนุกดีครับ

เนื่องจากผมไม่ค่อยได้ขึ้นตามที่หยุดรถเท่าไหร่ ได้แต่เก็บตามพื้นที่ผู้โดยสารไม่ใช้แล้วทิ้งเอาไว้ ไม่ได้สวยปิ๊งแบบของคุณตุ้ยน่ะ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 18/09/2006 9:44 am    Post subject: Reply with quote

ใครจะรู้บ้างว่า...คนที่ก้มๆ เงยๆ เก็บตั๋วที่ทิ้งตามขบวนรถไฟ เป็นถึงคุณหมอเชียวนะ Laughing
Back to top
View user's profile Send private message
tuie
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 09/07/2006
Posts: 12156
Location: สถานีบ้านตุ้ย

PostPosted: 20/09/2006 8:32 pm    Post subject: Reply with quote

๓ ตั๋วขบวนรถนำเที่ยว

ตั๋วรถไฟที่ไม่ใช่ตั๋วแข็งอีกประเภทหนึ่งตามความเห็นในการแบ่งประเภทของผมก็คือ ตั๋วขบวนรถนำเที่ยว ความจริงแล้วตั๋วขบวนรถนำเที่ยวบางสายในสมัยก่อน เช่น นำเที่ยวน้ำตกเขาพัง(ไทรโยคน้อย) ชายทะเลหัวหิน น้ำตกมวกเหล็ก/เจ็ดสาวน้อย ก็เคยออกให้ในรูปแบบของตั๋วแข็งนะครับ บางท่านอาจเคยชมภาพมาแล้วในกระทู้เรื่องเล่าเรื่องตั๋วแข็งฯ ถ้าท่านใดยังไม่ได้ชมก็เชิญชมได้จากกระทู้เรื่องดังกล่าวได้เลยนะครับ เพราะในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะตั๋วขบวนรถนำเที่ยวที่มิใช่ตั๋วแข็ง ซึ่งผมยังมีเก็บไว้ในกรุสมบัติได้แก่ ตั๋วขบวนรถนำเที่ยวชะอำ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่วนตั๋วขบวนรถนำเที่ยวรายการอื่นๆที่มิได้จำหน่ายเป็นตั๋วแข็ง เช่น นำเที่ยวน้ำตกวังก้านเหลือง พัทยา/เกาะล้าน ราชบุรี/ถ้ำเขาบินฯลฯ ผมยังหาไม่พบเลยถ้าหาพบเมื่อใดจะนำมาให้ชมในโอกาสต่อไปครับ

ตั๋วขบวนรถนำเที่ยวชะอำ(ด้านหน้าตั๋ว)

Click on the image for full size

ตั๋วขบวนรถนำเที่ยวชะอำ(ด้านหลังตั๋ว)

Click on the image for full size

ตั๋วขบวนรถนำเที่ยวชะอำนี้ มีสามส่วน ส่วนแรกเป็นต้นขั้ว ส่วนที่สองตามภาพข้างต้นใช้สำหรับโดยสารรถไฟเดินทางไปกับขบวนรถนำเที่ยวชายทะเลหัวหิน ส่วนที่สามใช้สำหรับโดยสารรถยนต์ที่มารับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟไปเที่ยวตามรายการนำเที่ยว ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง ในยุคแรกๆที่มีการจัดขบวนรถนำเที่ยวชะอำประมาณปี ๒๕๒๖-๒๕๒๗ กำหนดให้ผู้โดยสารลงรถที่สถานีบ้านชะอำในเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. แล้วมีรถยนต์มารับไปเที่ยวหุบกะพง รับประทานอาหารกลางวันมีเมนูเด็ดเป็นผัดหน่อไม้ฝรั่งสดใหม่ หวานกรอบจากหุบกะพง ซึ่งตอนนั้นหน่อไม้ฝรั่งยังไม่มีจำหน่ายแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน พอช่วงบ่ายก็พาไปชายหาดชะอำพักผ่อนตามอัธยาศัยจนกระทั่ง ๑๕.๓๐ น. จึงนำมาส่งที่สถานีบ้านชะอำขึ้นขบวนรถนำเที่ยวที่ทำขบวนกลับจากหัวหินเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพ

ต่อมาประมาณปี ๒๕๒๘-๒๕๒๙ ก็มีการเปลี่ยนแปลงรายการนำเที่ยวโดยให้ผู้โดยสารลงรถที่สถานีเพชรบุรี แล้วมีรถยนต์มารับไปเที่ยวเขาวัง สมัยนั้นไม่มีรถรางไฟฟ้าขึ้นเขาวังอย่างในปัจจุบันนะครับ ต้องเดินขึ้นเขาสถานเดียว เวลาเดินขึ้นทางชันๆเดินได้ช้าๆก็จินตนาการ(แบบคนบ้ารถไฟ)ว่ากำลังทำขบวนในทางตอนภูเขา เช่น แม่ตานน้อย-ขุนตาน,บ้านปิน-ผาคันฯลฯตามแต่กรณี Laughing จากนั้นก็ไปเที่ยวพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งตอนนั้นพระตำหนักชำรุดทรุดโทรมมาก ยังไม่ได้รับการบูรณะให้สวยสดงดงามเหมือนอย่างในปัจจุบัน พอรับประทานอาหารกลางวันเสร็จถึงพาไปพักผ่อนที่หาดชะอำ

ในบรรดาตั๋วขบวนรถนำเที่ยวผมมีตั๋วนำเที่ยวชะอำมากที่สุดเพราะมีโอกาสได้ไปเที่ยวสายนี้บ่อยกว่าสายอื่นๆน่ะครับ สนุกสนานกันตามประสาเด็กๆตั้งแต่ได้นั่งรถไฟออกจากกรุงเทพ ชมวิว-ป้าย-สัญญาณต่างๆข้างทาง คอยดูขบวนรถที่รอหลีก/แล่นสวนตลอดทาง แล้วยังได้แวะเที่ยวสถานที่ต่างๆที่น่าสนใจโดยเฉพาะชายทะเล จำได้ว่าได้เช่ารถจักรยานขับชมวิวไปตามชายหาดซึ่งมีต้นสนปลูกไว้เป็นทิวแถว รับประทานอาหารทะเล เล่นน้ำ ฯลฯ เพลิดเพลินมีความสุขมากเลยครับ Very Happy Smile แม้ในยุคนั้นจะยังไม่มี “เรือกล้วย” มาให้ขี่เล่นก็ตาม ชีวิตตอนเด็กๆนี่ดีจริงๆไม่ค่อยจะมีเรื่องต่างนานาให้ปวดเศียรเวียนเกล้าเลย ท่านเห็นด้วยไหมครับ

ตั๋วขบวนรถนำเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

Click on the image for full size

ลักษณะของตั๋วขบวนรถนำเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็มีสามส่วนเช่นเดียวกันกับตั๋วขบวนรถนำเที่ยวชะอำครับ รายการนำเที่ยวเขาใหญ่นี้แต่เดิมเมื่อประมาณปี ๒๕๒๕ กำหนดให้เดินทางไปกับขบวนรถเร็วที่ ๓๑ กรุงเทพ-อุบลราชธานี (ขบวน ๑๓๕ ในปัจจุบัน) ลงรถที่สถานีปากช่อง แล้วมีรถมารับไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนช่วงเย็นกลับมาสถานีปากช่องขึ้นขบวนรถดีเซลรางที่ ๒๑๔ นครราชสีมา-กรุงเทพ (ปัจจุบันคือ ขบวนรถธรรมดา ๒๓๒ นครราชสีมา-ชุมทางบางซื่อ) เดินทางกลับกรุงเทพ ที่ต้องไปลงรถไฟที่สถานีปากช่อง เนื่องจากสมัยนั้นมีถนนตัดขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-น้ำตกเหวสุวัติ คือ ถนนธนะรัชต์ จากปากช่องตรงถึงที่ทำการอุทยานฯเพียงเส้นทางเดียว ต่อมาประมาณปี ๒๕๒๗-๒๕๒๘ การตัดถนนจากทางด้านปราจีนบุรี(แยกจากถนนสุวรรณศรตรงสี่แยกเนินหอม ผ่านมาทางน้ำตกเหวนรก)ขึ้นมาที่อุทยานฯเสร็จอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งมีระยะทางใกล้กรุงเทพมากกว่า เลยมีการเปลี่ยนแปลงรายการนำเที่ยวจากเดิมเป็นให้เดินทางด้วยขบวนรถดีเซลรางที่ ๑๐๙ กรุงเทพ-อรัญประเทศ (ขบวนรถธรรมดาที่ ๒๗๕ ในปัจจุบัน) ลงรถที่สถานีปราจีนบุรี ส่วนเที่ยวกลับก็ขึ้นขบวนรถดีเซลรางที่ ๑๑๐ อรัญประเทศ-กรุงเทพ (ปัจจุบันคือ ขบวนรถธรรมดาที่ ๒๗๖) เดินทางกลับกรุงเทพในช่วงเย็นครับ

ชมภาพตั๋วขบวนรถนำเที่ยวแล้ว ลองชมแผ่นพับโฆษณาขบวนรถนำเที่ยวสมัยเกือบ ๒๐ ปีก่อน ซึ่งมีสีสันสวยสดงดงามกันบ้างนะครับ

Click on the image for full size

Click on the image for full size

โปรดติดตามชมตอนต่อไปนะครับ Very Happy


Last edited by tuie on 22/09/2006 8:42 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สาระความรู้วิชาการรถไฟและประวัติศาสตร์รถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 5, 6, 7 ... 12, 13, 14  Next
Page 6 of 14

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©