RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311296
ทั่วไป:13274173
ทั้งหมด:13585469
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - รวมข่าวเกี่ยวกับรถไฟฟ้า BTS
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

รวมข่าวเกี่ยวกับรถไฟฟ้า BTS
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 155, 156, 157
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> รถไฟฟ้า (BTS) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT)
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44653
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 12/02/2024 8:13 am    Post subject: Reply with quote

BTS สัญญาณบวกไหลเข้า ตัดขาย “เคอรี่ฯ” ปลดล็อกภาระ - หนุนโต
ผู้จัดการออนไลน์ 11 ก.พ. 2567 23:50

จับตา “กลุ่มบีทีเอส” ตัดสินใจขายหุ้น “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ผู้ถือหุ้นหวังช่วยปลดล็อกสภาพคล่องทางการเงิน เลิกแบกรับผลขาดทุนสะสมจากการแข่งขันขนส่งสินค้าที่ดุเดือด หลังได้สัญญาณบวกเตรียมรับเงินจาก “กรุงเทพธนาคม” 2.3 หมื่นล้านบาทต้นไตรมาส 2 ขณะที่ธุรกิจเดินรถไฟฟ้าเริ่มฟื้นตัว

การประกาศเจตนารมณ์เข้าซื้อกิจการหรือเทกโอเวอร์ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ของบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ S.F. Holding Co., Ltd. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น โดยจะทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้นสามัญของ KEX จำนวนทั้งสิ้น 1,275,202,145 หุ้น คิดเป็น 73.18% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่ง ราคาเสนอซื้อต่อหน่วยอยู่ที่ 5.50 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าเสนอซื้อ 7,013 ล้านบาท ถือเป็นข่าวที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่ถือครอง หุ้นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS)

นั่นเพราะการเทนเดอร์ออฟเฟอร์ครั้งนี้เหมือนการเปิดฟ้าให้ BTS และบริษัทในกลุ่มมีโอกาสหลุดพ้นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเติบโตทางธุรกิจ และกลับมาเป็นกลุ่มธุรกิจที่โดดเด่นได้อีกครั้ง และต้องเข้าใจว่าการทำธุรกิจมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ตามมาคือการแบกรับผลจากความผิดพลาดไว้กับตัว และน้อยครั้งที่จะได้พบโอกาสดี ๆ ในการตัดส่วนที่เสียออกไปได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับ KEX และ BTS ในเวลานี้

“เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนรายใหญ่ในประเทศไทย โดยมี Kerry Logistics Network Limited (KLN) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อม 49% และมีกลุ่มบริษัทของเครือ BTS ถือรวมกันกว่า 20% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 แต่หลังจากนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อ KEX กำลังจะได้ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ที่พร้อมจะรับซื้อหุ้นจากผู้ที่ต้องการขาย

ล่าสุด นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร BTS ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า บริษัทและบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) (VGI) อยู่ระหว่างการพิจารณาขายหุ้น KEX ออกไปทั้งหมด หลังจากที่ผ่านมาการถือหุ้น KEX ส่งผลกระทบต่องบของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าเป็นผลดีระยะยาวต่อบริษัท

จากข้อมูลพบว่า กลุ่มบีทีเอสถือหุ้น KEX ผ่าน บริษัท วี จี ไอ จำกัด (มหาชน) (VGI) สัดส่วน 15.45% ขณะที่ BTS ถืออยู่ 5.06% โดยหาก VGI ขายหุ้นทั้งหมดออกมาที่ราคาเทนเดอร์ฯ 5.50 บาทต่อหุ้น พบว่า VGI จะได้รับเงินประมาณ 1,480 ล้านบาท ส่วน BTS จะได้เงินประมาณ 485 ล้านบาท

โดยมีการประเมินว่า หาก BTS และ VGI ตัดสินใจขายหุ้น KEX ออกไป จะทำให้กลุ่มบริษัทไม่มีการรับรู้ขาดทุนเพิ่มเติมในอนาคต จากธุรกิจขนส่งที่แข่งขันกันกันดุเดือด และทั้งสองบริษัทจะกลับมามีผลดำเนินงานที่โดดเด่นอีกครั้ง จากธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้าและธุรกิจโฆษณานอกบ้านที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อราคาหุ้น BTS และ VGI ปรับตัวลดลงจากความกังวลงบไตรมาส 3/2566-2567 ของ VGI จะมีผลขาดทุนสุทธิ 2,700-2,900 ล้านบาท โดยหลักเป็นผลขาดทุนจากการตั้งสำรองการด้อยค่าเงินลงทุนในหุ้น KEX และขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 170-180 ล้านบาท ทำให้แนวโน้มงบปี 2566/2567 อาจมีผลขาดทุนสุทธิกว่า 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เพิ่งรายงานผลขาดทุนสุทธิส่วนของผู้เป็นเจ้าของบริษัทที่ 3,880.6 ล้านบาท สำหรับปี 2566 โดยขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 37.1 สาเหตุหลักมาจากปริมาณการจัดส่งที่ลดลงจากการช่องทางแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ไปสู่การซื้อตามหน้าร้านค้า (Physical offline shopping) หลังการเปิดประเทศ

โดยรายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 11,470.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน อันเนื่องมาจากการลดลงของปริมาณการจัดส่งพัสดุโดยยอดรวมของปริมาณกำรจัดส่งพัสดุลดลงร้อยละ 30 ซึ่งมีสำเหตุหลักมาจากปริมาณการซื้อขายผ่านทางตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ที่ต่ำกว่าบริษัทคาดการณ์ โดยเฉพาะการลดลงในช่วงไตรมาส 3/2566

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 หุ้น KEX เข้าเทรดในตลาดหุ้นไทยครั้งแรกอย่างสวยหรู แม้จะอยู่ในสถานการณ์เกิดการ แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่นักลงทุนก็พร้อมเทใจเชื่อมั่นในธุรกิจหุ้นขนส่งที่น่าจับตามอง เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซเติบโตสูง จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์เป็นหลัก ด้วยราคาปิดตลาดวันแรก 63.00 บาท จากราคาหุ้น IPO ที่ระดับ 28.00 บาท แต่ปัจจุบันราคาหุ้น KEX เคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 5.40 บาทต่อหุ้น

ด้วยราคาหุ้นในปัจจุบันของ KEX ถือว่าเป็นการสร้างความผิดหวังให้นักลงทุนที่คาดฝันเอาไว้มาก โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุนมาจากการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจขนส่งสินค้า จนทำให้ผู้บริหารของ KEX ตัดสินใจปรับกลยุทธ์ลดค่าส่งสินค้า เพื่อตีตลาดขนส่งแบบราคาประหยัด ด้วยหวังว่าปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะเข้ามาชดเชยรายได้ในส่วนที่หายไปได้ แต่จนแล้วจนรอดทุกอย่างไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขณะที่บริษัทก็เดินหน้าดัมพ์ราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ฟาก BTS หากไม่นับเรื่อง KEX ถือว่ากำลังอยู่ในช่วงแห่งการฟื้นตัวอย่างเด่นชัดจากปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและกำลังจะได้รับเงินก้อนใหญ่จากปัญหาคาราคาซังของภาครัฐ ดังนั้นหากตัดส่วนที่เป็นปัญหาออกไปได้บางส่วน น่าจะช่วย BTS ให้ดูดีขึ้นได้กว่าเป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเพราะ KEX และ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ที่กลุ่มบริษัทถือหุ้นประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE ของ BTS ออกมาแสดงความเห็นถึงแนวโน้มการดำเนินงานปี 2567/2568 (เม.ย. 2567-มี.ค. 2568) ว่าธุรกิจหลักคือรถไฟฟ้า จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปี 2566/2567 (เม.ย. 2566-มี.ค. 2567) แน่นอน เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เปิดให้บริการแบบเต็มที่แล้ว

โดยจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตขึ้นจากปัจจัยการเติบโตตามธรรมชาติของการให้บริการ ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นจากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อีกทั้งร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกไปแล้วและเริ่มมีการใช้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป

นอกจากนี้ BTS มีแผนทำโปรโมชั่นเพื่อจูงใจประชาชนให้หันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยล่าสุดได้จัดโปรโมชั่นในสายสีเหลือง แพ็กเกจเที่ยวเดินทางเหมาจ่ายรายสัปดาห์ ผู้โดยสารที่ซื้อแพ็กเกจจะได้รับเที่ยวเดินทางจำนวน 10 เที่ยว และมีระยะเวลาในการใช้งาน 7 วัน ราคา 250 บาท (25 บาทต่อเที่ยว) สามารถใช้เดินทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้ทั้ง 23 สถานี

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เกิดอุบัติเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดร่วงลงมากว่า 4.3 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 นั้น ขณะนี้ BTS ได้ทำการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มเปิดให้บริการครบทั้ง 30 สถานี (จากช่วงซ่อมบำรุงที่ให้บริการได้ 26 สถานี) พร้อมเก็บค่าโดยสารตามอัตราปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป ซึ่ง BTS จะรอดูสถานการณ์การเดินทางอีกระยะ เพื่อจัดทำโปรโมชั่นจูงใจเช่นกัน

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบคือสายหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน กับส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสถานีสะพานตากสิน-บางหว้า กับอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยาย 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 8.2 แสนคนต่อวัน โดยส่วนต่อขยายทั้ง 2 สายทางที่เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารมาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 นั้น ส่งผลให้ผู้โดยสารลดลงบ้างเล็กน้อย แต่มั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเติบโตเช่นกัน

“ผลประกอบการปีหน้าที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 เชื่อว่าจะดีขึ้นกว่าปี 2566 จากการที่เปิดบริการรถไฟฟ้าเต็มทุกสายแล้ว เศรษฐกิจจะดีขึ้นจากการที่ร่างงบประมาณฯ ผ่านแล้วจะเริ่มมีเงินอัดฉีดเข้ามาในระบบ สงครามต่าง ๆ ก็น่าจะเริ่มคลี่คลายลง ผู้โดยสารจะโตตามเศรษฐกิจ จากที่โตตามธรรมชาติอยู่แล้ว”

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันสายสีเหลืองมีผู้โดยสารเฉลี่ย 40,000 คนต่อวัน และสายสีชมพูเฉลี่ย 50,000 คนต่อวัน จากที่เคยคาดการณ์จะมีผู้โดยสารของแต่ละสายทางกว่า 100,000 คนต่อวันล่าสุดทางผู้บริหาร BTS ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีจากนี้จำนวนผู้โดยสารจึงจะเริ่มเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย BTS จะมีการประชุมคณะกรรมการ และแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปี 2566/2567 (ต.ค.-ธ.ค. 2566) วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

สำหรับกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เริ่มกระบวนการตามระเบียบของกทม.เพื่อเร่งชำระหนี้ระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรืองาน E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 วงเงิน 23,488.69 ล้านบาทนั้น ผู้บริหาร BTS เชื่อว่า จะได้รับชำระหนี้ภายในเดือนเมษายน 2567 ตามที่เคยเจรจากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งจะช่วยเรื่องกระแสเงินสดของ BTS ได้เป็นอย่างมาก

ส่วนกรณีที่ BTS ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง 2 ครั้ง เพื่อให้กทม.ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นเงินประมาณ 11,755 ล้านบาท และการฟ้องร้องครั้งที่ 2 มีวงเงิน 11,068.50 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาลปกครอง พร้อมย้ำว่า BTS ยังไม่มีแผนจะฟ้องร้องเพิ่มเติมจนกว่าทั้ง 2 คดีนี้จะสิ้นสุดก่อน

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ ประเมินสถานการณ์ของ BTS ว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะส่งผลดีต่อ KEX หลังจากผู้บริหารได้อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่จาก KLN เป็น SF International Holding (ประเทศไทย) เนื่องจากกลุ่ม SF มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจขนส่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า KEX จะยังคงขาดทุนจนถึงปี 68 F เทียบกับความคาดหวังของบริษัทว่าจะถึงจุดคุ้มทุน EBITDA ภายในไตรมาส 4 ปี 67 F และกลับมามีกำไรสุทธิในปี 68F เนื่องจากมองกลยุทธ์ของบริษัทในแง่ดีในการมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูง และลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ต่อการฝากขายในขณะที่ดำเนินโครงการลดต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของแผนและอัตราการปรับปรุงรายได้ที่เกิดขึ้นจริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ทำให้คงคำแนะนำขาย ในราคาที่เหมาะสม 4.80 บาท

ขณะที่ บล.หยวนต้า ประเมินทิศทางธุรกิจของ VGI ว่า คาดบริษัทมีผลขาดทุนปกติในไตรมาส 3 ปี 66/67 ที่ 211 ล้านบาท ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 2 ปี 66/67 ที่ขาดทุน 264 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 65/66 ที่ขาดทุน 34 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก

1)คาดรายได้รวมปรับเพิ่ม 22% เทียบไตรมาสก่อน ขณะที่ปรับลดลง 10% เทียบปีก่อน เหลือ 1,322 ล้านบาท เทียบปีก่อน ลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อน เมื่อแบ่งตามธุรกิจพบว่ารายได้จากสื่อป้ายโฆษณาในรถไฟฟ้าทรงตัว มีผลกระทบจากการทยอยเปลี่ยนป้ายโฆษณาจาก Static เป็น Digital ขณะที่รายได้จาก Digital Service ปรับตัวดีขึ้น22% จากปีก่อน เป็น 463 ล้านบาท จากการที่ธุรกิจ Rcare มีรายได้จากการขายประกันเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้จาก Distribution ลดลง 36% เทียบปีก่อน เหลือ 245 ล้านบาท จากการปรับกลยุทธ์ของ Fanslink ในการขายสินค้ามาขายสินค้า House brand มากขึ้น

2) ด้านประสิทธิภาพในการทำกำไรดีขึ้นจากปีก่อน ตามยอดขายที่ดีขึ้น และกลยุทธ์ในการเพิ่มอัตรากำไรของ Fanslink ในการเพิ่มสัดส่วนรายได้สินค้า House brand ที่มีมาร์จิ้นสูง

3) ส่วนแบ่งกำไรของบริษัทร่วมคาดขาดทุน 220 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 66/67 ที่ขาดทุน 264 ล้านบาทแต่มากกว่าปีก่อนที่ขาดทุน 94 ล้านบาท จาก KEX ที่มีผลขาดทุนมากขึ้น โดยคาดบันทึกรายการพิเศษเป็นลบ 2.7 พันล้านบาท แต่เป็นขาดทุนทางบัญชี ไม่กระทบเงินสด

และหาก VGI ตัดขายหุ้น KEX หากคำนวณตามมูลค่าทางบัญชีของ KEX ตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียที่ VGI บันทึก ณ สิ้น ก.ย.2566 ที่ 4,196 ล้านบาท หรือราว 15.60 บาทต่อหุ้น ตามสัดส่วนที่ VGI ถือ 15.45% คาดว่าบริษัทจะมีบันทึกรายการพิเศษ ขาดทุนด้อยค่าเงินลงทุนใน KEX ในไตรมาส 3 ปี 66/67 ราว 2,715 ล้านบาท ทำให้คงประมาณการมีผลขาดทุนปกติที่ 825 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุนปกติ 580 ล้านบาท แนะนำ “ซื้อ”

ส่วน BTS ด้านบล. ทิสโก้ ประเมินว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานและผลกำไรในไตรมาสถัด ๆ ไปยังดูไม่สดใส เพราะนอกจากจะไม่มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นแรบบิท-ไลน์เพย์ (RLP) ซึ่งเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2566/2567 แล้วธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (MOVE) แม้ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอส โกรท (BTSGIF) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสาร รวมทั้งความคืบหน้าคดีความ แต่บริษัทจะต้องบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่เพิ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าทั้งสายสีเหลืองและชมพูจะกำไร

ส่วนธุรกิจสื่อโมษณาและแพลตฟอร์มทางการตลาด (MIX) ธุรกิจหลักยังคงมีความท้าทายและยังคงต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าเช่า (MATCH) นั้น มอง บมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) จะยังคงเติบโตจากทิศทางธุรกิจใหม่ที่มุ่งสู่ธุรกิจบริการทางการเงิน

นั่นทำให้ BTS ยังอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการกำไร มูลค่าที่เหมาะสมและคำแนะนำการลงทุนต่อหุ้น BTS เนื่องจากผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566/2567 ต่ำกว่าที่คาด และมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการฟื้นตัวที่ช้า ค่าใช้จ่ายจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง มากกว่าคาด

ดังนั้น ด้วยสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น จึงทำให้ผู้ถือหุ้น BTS ต่างคาดหวังว่า บริษัทน่าจะตัวเบาขึ้น เพราะเงินที่ได้จาก กทม.จะถูกเอาไปใช้ชำระหนี้ที่ค้าง และทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงไปมาก ขณะเดียวกันหากเกิดการตัดขายหุ้น KEX จริง จะยิ่งทำให้สภาพคล่องทางการเงินของกลุ่มบริษัทคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้ BTS กลับมาสู่เส้นทางของตัวเองได้อย่างโดดเด่น จนมีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นจะเริ่มขยับตัวไปอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44653
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 12/02/2024 9:03 am    Post subject: Reply with quote

เปิดใช้งานแล้ว! ทางเลื่อนสกายวอล์คหมอชิต | พร้อมอัปเดตส่วนต่อขยายเข้าหมอชิตคอมเพล็กซ์
BANGKOK ON SITE
Feb 12, 2024 MOCHIT COMPLEX


https://www.youtube.com/watch?v=kCqUQ8NHAck

BANGKOK ON SITE พาไปชมทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อสถานี BTS หมอชิตกับคอนโดมิเนียม เดอะ ไลน์ จตุจักร-หมอชิต หลังปิดปรับปรุงครั้งใหญ่มานานเกือบปี ล่าสุดกลับมาเปิดให้ใช้งานแล้ว รับการมาของโครงการมิกซ์ยูส “หมอชิตคอมเพล็กซ์” ด้วยการติดตั้งทางเลื่อนอัตโนมัติยาว 70 เมตร!
สกายวอล์คแห่งนี้อยู่ตรงไหน เชื่อมต่อจากตรงไหนไปตรงไหนบ้าง? ทางเลื่อนใหม่เป็นยังไง ยาวแค่ไหน ใช้งานได้สะดวกมั้ย คนนั่งวีลแชร์ใช้งานด้วยได้รึเปล่า? แล้วสกายวอล์คที่กำลังสร้างต่อไปจนถึงหมอชิตคอมเพล็กซ์จะมีทางเลื่อนด้วยมั้ย?! และอีกหลายประเด็นน่าสนใจ!

งานนี้พาเดินชมยาว ๆ ตลอดแนว! กับภาพคมชัดเหมือนไปชมด้วยตัวเอง พร้อมเคลียร์คำตอบไปด้วยกันครับ!
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 12/02/2024 5:07 pm    Post subject: Reply with quote

"ชัชชาติ"ตั้งคณะกรรมการศึกษา หลังสัญญา"บีทีเอส"หมดปี 72 หาแนวทางใหม่หรือเดินตามคำสั่งคสช.สรุปใน5 เดือน
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 16:03 น.
ปรับปรุง: วันศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 16:03 น.

"ชัชชาติ"ตั้งคณะกรรมการ ศึกษาความเป็นไปได้หลัง"บีทีเอส"หมดสัมปทาน"ปี 72 หาแนวทางใหม่หรือเดินตามคำสั่งคสช.สรุปใน 5 เดือน ยันไม่ซ้ำซ้อนกับคำสั่งคสช.เพราะสุดท้ายต้องรอมติ ครม.และเตรียมทำหนังสือถึง'มหาดไทย’
แจ้งมติสภากทม.ไฟเขียวจ่ายค่าระบบเดินรถ ด้านสส.ภูมิใจไทย" ยื่นยกเลิกคำสั่ง ม.44 สายสีเขียว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีอายุ 30 ปี (ปี 2542 สิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานในปี 2572) ปัจจุบัน เหลือระยะเวลาอีก 5 ปี
โดยหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทรัพย์สินของโครงการ จะตกมาเป็นของ กทม. ซึ่งตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ จะมีการนำทั้งโครงการไปเข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) โดยจะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในแต่ละแนวทาง ซึ่งจะต้องรวบรวม นำเอาส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้งหมดมารวมกันเป็นสัมปทานเดียว แม้ว่าหลังหมดสัมปทานในปี 2572 จะยังมีสัญญาจ้างเดินรถที่จะหมดอายุตามมาในปี 2585 ก็ตาม โดยคาดหมายว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 5 เดือน

สำหรับ การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า จะไม่ซ้ำำซ้อนกับคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 ที่ระบุเรื่องการต่อสัญญาสัมปทาน โดย คณะกรรมการชุดนี้ คือการศึกษาของ กทม.เองก่อน เพราะสุดท้ายปลายทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเรื่องสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว ปัจจุบัน ผลการเจรจาต่างๆยังค้างอยู่ใน ครม. ซึ่ง ครม.ยังไม่มีท่าทีว่าจะเห็นชอบตามนั้นหรือไม่ คณะกรรมการชุดนี้จึงเป็นการศึกษาแนวทางก่อน เพราะหากเลือกต่อสัญญาสัมปทานนอกแนวทางคำสั่งหัวหน้า คสช. ก็จะต้องดำเนินกระบวนการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 อยู่ดี

“จริงๆรูปแบบเหมือนเป็นคณะที่ปรึกษาที่จะศึกษาแนวทางในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวก่อนว่าจะวิเคราะห์ในแนวทางไหนดี ได้สั่งการรองผู้ว่าฯกทม. (วิศณุ ทรัพย์สมพล ) ไปแล้ว โดยปลายทางหลังได้ผลการศึกษาแล้ว มีการตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน สุดท้ายก็ต้องให้ ครม.ตัดสินใจว่าจะเอาแนวทางใหม่หรือเอาแนวทางตามคำสั่งหัวหน้าคสช.” นายชัชชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในระหว่างที่กำลังศึกษาแนวทางการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ประชุม ครม. ได้มี การพิจารณาผลการเจรจาของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้าคสช. จะกระทบกับแนวทางที่วางไว้หรือไม่ ผู้ว่ากทม.ตอบว่า หาก ครม.พิจารณาตามผลการเจรจาจริง ก็ต้องรอดูก่อนว่า ที่ประชุมครม.จะมีความเห็นและคำสั่งการอย่างไรออกมา

@เตรียมแจ้ง ‘มหาดไทย’ รับทราบมติสภากทม.ไฟเขียวจ่ายค่างานระบบเดินรถ ต่อขยาย2

ผู้ว่ากทม.กล่าวว่า นอกจากการต่อสัญญาสัมปทานแล้ว อีกประเด็นที่สำคัญคือ ภายหลังจากที่สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) และผู้บริหาร กทม.เห็นชอบให้มีการจ่ายค่างานระบบเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 23,488,692,200 บาท อาจจะต้องมีการรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า กทม.และสภากทม.ได้ดำเนินการตามข้างต้นไปแล้ว และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในผลการเจรจาของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.

เนื่องจากผลการเจรจาของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.เมื่อวันที่ 2 และ 16 ส.ค. 2562 ระบุว่า บริษัทผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระค่าติดตั้งงานระบบส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมด ทำให้ กทม.ยุติการชำระหนี้ส่วนนี้ลง ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายค่างานตรงนี้ไป ก็จะต้องรายงานกระทรวงมหาดไทยให้ทราบ ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายชัชชาติกล่าวถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 7,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ โดยรูปแบบการลงทุน น่าจะศึกษาในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เป็นตัวเลขอาจจะต้องรอการศึกษาที่เป็นทางการก่อน

@"สส.ภูมิใจไทย" ยื่นยกเลิกคำสั่ง ม.44

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย พร้อมคณะเพิ่งยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ... ต่อ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่จะยกเลิกมีทั้งสิ้น 71 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วย โดยปรากฎอยู่ในลำดับที่ 68 ตามบัญชีแนบท้าย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44653
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 15/02/2024 5:20 am    Post subject: Reply with quote

BTS โดน 'เคอรี่' พ่นพิษ! งบ Q3 ขาดทุน 4.7 พันล้าน
Source - ข่าวหุ้น
Thursday, February 15, 2024 05:17

งบ Q3 ขาดทุน 4.7 พันล้าน

“บีทีเอส” ไตรมาส 3 ปี 66/67 (ต.ค.-ธ.ค. 66) พลิกขาดทุนกว่า 4.7 พันล้านบาท เหตุบุ๊กด้อยค่าเงินลงทุนหุ้น “เคอรี่-วีจีไอ-เจมาร์ท” ขณะที่ VGI โดนด้วย ขาดทุนสุทธิ 3,339 ล้านบาท โบรกฯ มองงบ VGI ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ลุ้นปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ตัดขายหุ้น KEX ทิ้ง ส่งผลบวกทันที ราคาเป้าหมาย 2.50 บาท

นางสาวชวดี รุ่งเรือง ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS แจ้งผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 3 ปี 2566/2567 (ตุลาคม-ธันวาคม 2566) มีผลขาดทุนสุทธิ 4,761.71 ล้านบาท เทียบไตรมาส 3/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 1,048.56 ล้านบาท โดยรายได้รวมไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 6,871.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2565 ที่ 6,620.50 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้ขาดทุนสุทธิจำนวนมากเกิดจากผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัทย่อย และบริษัทร่วมในไตรมาส 3/2566 จำนวน 4,985.95 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 โดยหลักมาจากการขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI และบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX และ บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART

ด้านนางจิตเกษม หมู่มิ่ง ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการเงิน บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566/2567 (ตุลาคม-ธันวาคม 2566) บริษัทพลิกขาดทุนสุทธิ 3,339.25 ล้านบาท ลดลง 3,363.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 102.31 ล้านบาท เนื่องจากมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 2,947 ล้านบาท

โดยมีสาเหตุหลักมาจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX, บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART และบริษัท แอดซ์ เจ้าพระยา จำกัด นอกจากนี้มีการบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากการลงทุนในกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วม จำนวน 266 ล้านบาท เทียบกับส่วนแบ่งขาดทุน 94 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2565/2566 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของ KEX และส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจาก JMART

สำหรับรายได้จากการให้บริการและการขายในไตรมาส 3 ปี 2566/2567 อยู่ที่ 1,331 ล้านบาท ลดลง 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการให้บริการและการขาย 1,373 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลงของ Fanslink ที่บันทึกภายใต้ธุรกิจการจัดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม รายได้จากสื่อโฆษณาในระบบขนส่งมวลชน และธุรกิจบริการด้านดิจิทัล รวมถึงธุรกิจค้าปลีก ภายใต้ TURTLE แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างแข็งแรงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน สำหรับสัดส่วนรายได้ของธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล และธุรกิจการจัดจำหน่ายมีสัดส่วนรายได้ที่ 45.8%, 32% และ 22.2% ตามลำดับ

ส่วนธุรกิจสื่อโฆษณาในไตรมาสนี้รายได้ลดลง 1.4% มีสาเหตุหลักมาจากรายได้สื่อโฆษณาในอาคารสำนักงาน และอื่นๆ ลดลง ขณะที่ธุรกิจการจัดจำหน่ายลดลง 22.3% มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ของ Fanslink โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตนเองที่มีอัตรากำไรสูง ได้แก่ Pando EZ Home และ WANAA นอกจากนี้ รายได้อื่นยังลดลง 64.6% สาเหตุหลักมาจากรายการพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่ กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่ได้มีการบันทึกในไตรมาส 3 ปี 2565/2566

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 24.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการขยายธุรกิจค้าปลีกของบริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน) หรือ TURTLE และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่ ค่าวิชาชีพทนายความจากการชนะคดีข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับบริษัท ไมดาส โกลบอล มีเดีย จำกัด ส่งผลทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 57.6% ในไตรมาส 3 ปี 2566/2567 จาก 44.9% ในไตรมาส 3 ปี 2565/2566

ดังนั้น จากผลการดำเนินงานที่ลดลงดังกล่าว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 2566/2567 (1 เมษายน-ธันวาคม 2566) บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 3,691.53 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 54.87 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4,262 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,461.39 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำรอ “ซื้อ” VGI ระยะสั้นคาดราคามีแนวโน้มปรับลดลงสะท้อนผลประกอบการที่ต่ำกว่าตลาดคาด อย่างไรก็ตาม มองว่าผลประกอบการผ่านช่วงต่ำสุดแล้ว และกรณีปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX หาก VGI มีการตัดขายทิ้งธุรกิจ KEX จะเป็นบวกต่อบริษัทโดยปรับลดมูลค่าพื้นฐานปี 2566/67 จากเดิมที่ 2.42 บาท เป็น 2.16 บาท สะท้อนการปรับลดประมาณการ อิงวิธี SOTP

บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุ แนวโน้มผลประกอบการ VGI ใน Q4/66/67 (ม.ค.-มี.ค. 2567) ของธุรกิจหลักคาดยังรับรู้ขาดทุน จากรายได้สื่อโฆษณาเป็นช่วง low season และบริษัทยังมีการรับรู้ขาดทุนของบริษัทร่วมทุน แนวโน้มผลประกอบการที่เหลือของปีนี้ ค่อนข้างท้าทาย จากธุรกิจสื่อนอกบ้านคาดเติบโตได้ดีจากภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณานอกบ้านที่กลับมาฟื้นตัว แต่บริษัทยังมีความท้าทายจากการปรับโครงสร้างธุรกิจจากกลุ่มธุรกิจ 1) Digital Services (สัดส่วนรายได้ 32% ของรายได้รวม) ในการเน้นทำการตลาดกลุ่ม Rabbit Group

2) ธุรกิจกลุ่มรายได้ค้าปลีก (สัดส่วนรายได้ 30% ของรายได้รวม) บริษัทได้เริ่มทำ own-brand ของธุรกิจค้าปลีก “Franslink” “ได้แก่แบรนด์ “WANAA” ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและอาหารเสริม และ “PANDO” สินค้าประเภท Gadget ช่วยเพิ่มอัตราทำกำไร และการขยายสาขา Super Turtle ให้บริการเช่าพื้นที่บนรถไฟฟ้าคาดยังรับรู้ขาดทุนใน 2 ปี นี้จากการขยายสาขา เป้าหมายบริษัทปี 2567 จำนวน 35 ร้านค้า สำหรับบริษัทร่วมทุน KEX ยังต้องใช้เวลาจากการแข่งขันด้านราคาในประเทศยังรับรู้ขาดทุน

โดยยังคงคำแนะนำ “ถือ” จากราคาหุ้นปัจจุบันปรับลดลง สะท้อนผลประกอบการที่ยังไม่สดใส และรอดูความชัดเจนการฟื้นตัวในปีนี้จากการปรับโครงสร้างธุรกิจ ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 2.5 บาท อ้างอิงวิธี sum-of-the part (SOTP) สถานะการเงินแข็งแกร่งคาด D/E 66/67 ที่ 0.1 เท่า

ที่มา: นสพ.ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 15 ก.พ. 2567
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44653
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 19/04/2024 8:34 am    Post subject: Reply with quote

เปิดตัวเลขผู้โดยสาร “รถไฟฟ้า BTS” เดือน ม.ค.-มี.ค.2567 เพิ่ม-ลด?
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 เมษายน 2567 - 08:15 น.

บลจ.บัวหลวง เผยจำนวนผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้า BTS ไตรมาส 1/2567 รวม 50 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 7.29% เดือน มี.ค. กลับมาฟื้นตัวจากเดือนก่อน

วันที่ 19 เมษายน 2567 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) รายงานจำนวนผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้า BTS (เฉพาะส่วนหลัก สถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน) ในช่วงปีไตรมาส 1 ของปี 2567

รวมจำนวน 50 ล้านเที่ยว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4 ล้านเที่ยว หรือ +7.29% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ประกอบด้วย

ม.ค.จำนวนผู้โดยสาร 16.7 ล้านเที่ยว ลดลง 3% จากเดือนก่อน เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน
ก.พ.จำนวนผู้โดยสาร 16.5 ล้านเที่ยว ลดลง 1.2% จากเดือนก่อน เพิ่มขึ้น 10.5% จากปีก่อน
มี.ค.จำนวนผู้โดยสาร 16.8 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 1.9% จากเดือนก่อน เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน

สำหรับรายละเอียดทรัพย์สินของ BTSGIF คือรายได้สุทธิที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพสายหลัก ซึ่งครอบคลุมระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสุขุมวิท ระยะทาง 17 กิโลเมตร จากสถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช และสายสีลม ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสถานีสะพานตากสิน ตามสัญญาสัมปทาน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 4 ธันวาคม 2572

โดยประเภททรัพย์สินคือ สิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคต จากกิจการโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางราง

ราคาประเมินอยู่ที่ 35,750 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) โดยบริษัท อเมริกัน แอ๊พเพรซัล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้ผู้ประเมินใช้วิธีพิจารณาจากรายได้ (Income approach) เป็นเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยคิดจากประมาณการรายได้ค่าโดยสารหักด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและรายจ่ายฝ่ายทุน ตลอดระยะเวลาสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่และนำมาคำนวณหามูลค่าทรัพย์สินด้วยวิธีการคิดลด ให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน โดยใช้อัตราส่วนลด (Discount rate) ที่ 6.7% ต่อปี

ทั้งนี้มูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนลงทุนในปัจจุบันจะลดลงตามอายุของสิทธิในรายได้สุทธิตามสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2572
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> รถไฟฟ้า (BTS) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 155, 156, 157
Page 157 of 157

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©