Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311391
ทั่วไป:13306668
ทั้งหมด:13618059
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 171, 172, 173 ... 550, 551, 552  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 17/10/2013 11:52 am    Post subject: Reply with quote

"จีน"ชิงดำประมูลไฮสปีดเทรนยาหอม"ไทย"ฮับเออีซี-วงในชี้เกมฮุบเค้กเชื่อมคุนหมิงทะลุสิงคโปร์
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 11:25:34 น.


ซัพพลายเออร์ทั่วโลกแห่งชิงเค้กประมูลงาน 2 ล้านล้าน จีนเสือปืนไวขนเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงโชว์คนไทย วงในชี้รัฐบาลจีนเดินเกมฮุบเค้กไฮสปีดเทรนไทย หวังเชื่อมคุนหมิง


-สิงคโปร์ ด้าน "ชัชชาติ" คาดเปิดประมูลคัดเลือกระบบรถไฟฟ้าไฮสปีดเทรน 4 สายมูลค่า 1.48 แสนล้านไตรมาส 3/57 เผยเดือนพ.ย.นี้บินถกรัฐบาลจีนอีกรอบ หารือข้อสรุปบาร์เตอร์เทรดรถไฟฟ้าแลกสินค้าเกษตร

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ตามที่รัฐบาลมีแผนลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาทโดยมุ่งเน้นระบบรางกว่า 80% มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.64 ล้านล้านบาท อาทิ รถไฟฟ้าทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีซัพพลายเออร์จากประเทศต่าง ๆ ทั้งในแถบเอเชียและยุโรปแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้าที่หลายประเทศต้องการมาเปิดตลาดในประเทศไทย เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน เบลเยียม อังกฤษ ออสเตรเลีย เป็นต้น


จีนรุกจัดอีเวนต์ไฮสปีดเทรน

ล่าสุด ในช่วงที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่าง 11-13 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางองค์กรประเทศจีนได้จัดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อให้คนไทยได้ชมเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนระหว่าง 12-13 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมี นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีประเทศจีน และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ร่วมกันเปิดงานดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในงานนิทรรศการทางจีนได้โชว์ความได้เปรียบของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของระบบรถไฟความเร็วสูง (ดูแผนที่ประกอบ) ที่จะสามารถต่อเชื่อมจากเส้นทางที่จีนจะลงทุนก่อสร้างจากคุนหมิงผ่าน สปป.ลาว ที่เมืองหลวงเวียงจันทน์ ลงมาทางใต้ผ่านประเทศไทยตามแนวเส้นทางสายอีสาน จากหนองคายลงมากรุงเทพฯ มุ่งหน้าลงภาคใต้ผ่านนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี หัวหิน ปาดังเบซาร์ เชื่อมกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศคือ มาเลเซียและสิงคโปร์ได้จับมือกันลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไว้รอแล้ว ตามกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2563



โชว์เทคโนโลยีสร้างเร็ว

นอกจากนี้ ยังนำเสนอระบบเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็วและครบวงจร ทั้งเทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง, รถไฟความเร็วสูง EMUs, การควบคุมรถไฟ, การจ่ายกระแสไฟฟ้าในการขับเคลื่อน, การบริหารจัดการเดินรถ, การป้องกันและควบคุมความเสี่ยง, การเชื่อมต่อระบบการทำงาน โดยมีความยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้กับประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลงานตลอด 8 ปีที่ผ่านมาว่า จีนมีสถิติถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สามารถสร้างรถไฟมีระยะทางรวม 9,700 กิโลเมตร ภายในปี 2563 มีเป้าหมายจะสร้างให้ถึง 20,000 กิโลเมตรตามที่รัฐบาลจีนได้กำหนดเป็นพิมพ์เขียวไว้

คนไทยแห่ดูโมเดลจีน

อย่างไรก็ตาม ภายในงานจีนนำโมเดลรถไฟจำลองนำมาแสดงโชว์ด้วย โดยเป็นระบบรถไฟรุ่นใหม่ที่จีนศึกษาและผลิตเองชื่อ "CRH380A" มีลักษณะเสียงรบกวนต่ำ ประหยัดพลังงาน สามารถจัดขบวนรถได้สั้นและยาวตามการขนส่ง วิ่งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่น่าสนใจคือมีสถิติวิ่งงานอย่างปลอดภัยมากกว่า 1.4 ร้อยล้านกิโลเมตรแล้ว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มีหลายประเทศทั้งเอเชียและยุโรปที่สนใจจะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีและลงทุนระบบรางกับประเทศไทยภายใต้โครงการลงทุน2 ล้านล้านบาท โดยแต่ละประเทศมีจุดแข็งแตกต่างกัน เช่น จีนจะสร้างได้เร็ว ญี่ปุ่นก็มีข้อดีคือเป็นผู้พัฒนาเจ้าแรก

อย่างไรก็ตาม การมาเยือนของนายกรัฐมนตรีจีนในครั้งนี้ มีความต้องการจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ โดยจะชำระค่าใช้จ่ายเป็นสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา แต่เพิ่งจะเป็นเพียงข้อหารือร่วมกัน ยังไม่มีการผูกมัดใด ๆ

"ต้องรอให้รายงานสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอผ่านก่อน ขณะนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นให้ 2 ประเทศมาหารือร่วมกัน ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะหารือกันอีกครั้งที่คุนหมิง ซึ่งเป็นจุดต้นทางเชื่อมรถไฟความเร็วสูงจากจีนลงมายังประเทศลาวที่นครเวียงจันทน์ อนาคตเราอาจจะไปเชื่อมกับเขาที่หนองคายก็ได้" นายชัชชาติกล่าว

ไตรมาส 3/57 ประมูล

สำหรับความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง นายชัชชาติกล่าวว่า คาดว่าประมาณไตรมาส 3/2557 จะเริ่มประมูลคัดเลือกระบบรถไฟความเร็วสูงได้ มูลค่างานประมาณ 148,240 ล้านบาท เมื่อคัดเลือกได้แล้วให้ใช้ระบบเดียวทั้ง 4 สายทาง จากนั้นจึงจะเริ่มประมูลงานโยธาเพื่อให้ผู้รับเหมาที่ชนะประมูลออกแบบรายละเอียดสอดรับกับงานระบบต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นการรุกคืบอีกก้าวของรัฐบาลจีน ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกันเซ็นเอ็มโอยูมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2555 ทางจีนสนใจในโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 สายคือ สายกรุงเทพฯ-หนองคาย เน้นทั้งผู้โดยสารและสินค้า และสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เน้นขนส่งผู้โดยสาร

โปรเจ็กต์นำร่อง กทม.-ภาชี

"ตอนนั้นจีนเสนอให้ประเทศไทยนำร่องช่วงกรุงเทพฯ-ชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 81.8 กิโลเมตร วงเงินกว่า 35,000 ล้านบาทเป็นเส้นทางทดสอบก่อน จากนั้นจึงก่อสร้างเส้นทางภาชี-หนองคายและภาชี-เชียงใหม่ต่อไป ดังนั้น เส้นทางกรุงเทพฯ-บ้านภาชีจึงเป็นหัวใจสำคัญของรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด หากใครได้สร้างก็เท่ากับจะได้ก่อสร้างเส้นทางอื่น ๆ ด้วยเพราะเป็นศูนย์กลางเชื่อมทุกสายทาง"

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่นสนใจรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง โดยจัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้กับกระทรวงคมนาคมด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงคมนาคมได้นำผลศึกษาของทั้ง 2 ประเทศนี้ให้กับบริษัทที่ปรึกษานำไปศึกษารายละเอียดโครงการด้วย

ออสเตรเลียสนใจผลิตคน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีวิศวะลาดกระบัง เปิดเผยว่า วันที่ 15 ตุลาคม 2556 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับสำนักการพาณิชย์ ประเทศออสเตรเลีย จัดโชว์เคสเทคโนโลยีระบบรางและการพัฒนาคนด้านระบบขนส่งที่จะพัฒนาคนมารองรับกับการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ ทางประเทศออสเตรเลียมีความโดดเด่นเรื่องการพัฒนาคนและเทคโนโลยีการขนส่ง ไม่เน้นขายของแต่จะนำเสนอเรื่องความสำเร็จด้านการบริหารคนมากกว่า
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 17/10/2013 11:55 am    Post subject: Reply with quote

เสนอไทยร่วมทุนจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง
ธุรกิจ-ตลาด
โพสต์ทูเดย์
16 ตุลาคม 2556 เวลา 18:15 น.

"สมชาย" เสนอไทยร่วมทุนจีนสร้างรถไฟความเร็วสูงแทนการกู้เงินทั้งหมด เรียกร้องจีนร่วมต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์พิเศษสถานีวิทยุซีอาร์ไอ ภาคภาษาไทย ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียงของจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า สนับสนุนแนวทางการขยายและพัฒนาเส้นทางรถไฟ แต่รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการลงทุนและประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ เพราะเส้นทางที่กำหนดไว้ ยังไม่เชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆได้อย่างครบวงจร

นายสมชาย กล่าวว่า การใช้เงินกู้ลงทุน จะมีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้น ขอเสนอให้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของจีนที่ต้องการเชื่อมและเปิดประเทศไปสู่ภูมิภาคได้อย่างรอบด้าน อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลจีน กำกับดูแลทั้งกลุ่มธุรกิจและการเมืองไม่ให้ร่วมมือกับกระบวนการทุจริตคอรัปชั่นทุกขั้นตอน หากจะมีขึ้นในการมาร่วมดำเนินโครงการใดๆ กับประเทศไทย เพื่อให้ประโยชน์ของโครงการตกแก่ประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงและจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงของทั้งสองฝ่ายในอนาคต

นายสมชาย ระบุว่า เห็นด้วยหากจีนจะขยายความสัมพันธ์ระหว่างกันกับทุกประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมจากจีน ไปลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทางตอนใต้ทั้งหมดผ่านไทย โดยเฉพาะด้านการรถไฟ จีนมีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่มีคุณภาพ และต้นทุนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรน้อยกว่าจีนมาก จึงมีงบประมาณจำกัด ดังนั้นควรขยายเส้นทางคมนาคมและสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่มากกว่า

"ขอเสนอให้เป็นความร่วมมือลงทุนระหว่างไทยจีนสำหรับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย เช่น ร่วมทุนกัน 50-50 โดยวางแผนให้เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างครอบคลุมทั้งหมด ขณะที่ไทยอาจลงทุนเองทั้งหมดในโครงการรถไฟรางคู่" นายสมชาย กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลไทย ยังตระหนักน้อยเกินไป เรื่องของภาระผูกพันในการชำระหนึ้จากเงินกู้ทั้งหมดในระยะยาว ซึ่งเป็นหนี้สินที่ตกทอดและส่งต่อให้ลูกหลาน ผมเห็นด้วยกับการพัฒนาความเจริญและการลงทุนในโครงการที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้า โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟและการขนส่งคมนาคม แต่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน เรื่องความคุ้มค่าและการลงทุนที่จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศอย่างแท้จริง การวางแผนเส้นทางที่จะไปเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านได้จริง

อย่างไรก็ตาม ขอให้การดำเนินโครงการด้วยความโปร่งใส เพราะขณะนี้มีข้อมูลว่า ตัวเลขการเรียกเงินจากการคอร์รัปชั่นสูงขึ้นไปถึง 30% จึงขอเรียกร้องไปยังผู้นำและรัฐบาลจีน หากจะมีโครงการร่วมทุนใดๆ กับประเทศไทย ต้องไม่ให้เกิดกรณีนี้เด็ดขาด

"ผมชื่นชมนโยบายของรัฐบาลจีนที่ออกกฎเหล็กและจัดการอย่างเด็ดขาดกับผู้ทุจริต ลงโทษอย่างจริงจังเห็นเป็นตัวอย่างหลายกรณี หากจีนคิดว่า ไทยเป็นมิตรที่ใกล้ชิดมากที่สุดประเทศหนึ่ง และจะช่วยเหลือกันได้ ก็ต้องช่วยในเรื่องนี้ให้กับเราด้วย อยากเห็นจีนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่สนับสนุนนักการเมืองไทยที่ไปเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆในทุกขั้นตอน นอกเหนือจากประโยชน์ของประเทศ และทุกๆ โครงการที่จะมีความร่วมมือต่อกัน รวมทั้งการซื้อขายข้าวและสินค้าเกษตร ความร่วมมืออื่นๆด้วย"

นายสมชาย ได้ยกตัวอย่างว่าโครงการแท็บเล็ตให้กับเด็กป.1 ที่รัฐบาลไทยซื้อจากประเทศจีน ขณะนี้ สินค้าเกิดปัญหาจำนวนมาก รู้ว่าจีนผลิตสินค้าหลายเกรด และอาจเป็นการเชื่อมโยงผลประโยชน์ระหว่างนักธุรกิจการเมืองกับพ่อค้าบางกลุ่มไม่ตรงไปตรงมาในการทำธุรกิจ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น กลายเป็นว่าจีนผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานส่งมาให้กับคนไทย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 21/10/2013 9:09 am    Post subject: Reply with quote

สนข.เล็งทำบาร์เตอร์เทรดสินค้าไทย-รถไฟความเร็วสูงจีนอีกรอบ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 ตุลาคม 2556 11:02 น.


นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า จะมีการเจรจากับทางการจีนถึงข้อเสนอในการจัดทำบาร์เตอร์เทรด (Barter Trade) สินค้าเกษตรไทย กับรถไฟความเร็วสูงของจีนอีกครั้งในเดือนหน้า ซึ่งหากสามารถตกลงกันได้ อาจจะให้ทางการจีนทำเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในเส้นทาง จ.หนองคาย เชื่อมต่อไปยังประเทศลาว ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่จีนแสดงความสนใจมากที่สุด ส่วนเส้นทางที่เหลือจะเปิดประมูลตามแผนเดิม
ส่วนรถไฟความเร็วสูงจีนนั้น จะมีมาตรฐานเดียวกันกับยุโรป เพราะจีนได้มีการพัฒนารูปแบบมาจากรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส และเยอรมนี ขณะที่รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นนั้น จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไป

//-------------------------

“ดร.ซุป” เตือนโครงการบาร์เตอร์เทรด “ข้าวแลกรถไฟ” ต้องดูความคุ้มค่า-อำนาจการต่อรอง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 ตุลาคม 2556 12:19 น.


อดีตเลขาฯ “อังค์ถัด” เตือนโครงการบาร์เตอร์เทรด “ข้าวแลกรถไฟ” ต้องศึกษาให้รอบคอบ เพราะการนำสินค้าเกษตรไปผูกโยงกับระบบคมนาคมรัฐจะต้องใช้ความระมัดระวังเรื่องความคุ้มค่าด้วย เพราะข้าวไทยไม่ได้มีปัญหา และรถไฟจีนก็ไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด จึงไม่จำเป็นต้องนำสินค้าราคาแพงไปแลก พร้อมแนะรัฐใช้กึ๋นเพิ่มขึ้น โดยกระจายความเสี่ยง-เพิ่มอำนาจการต่อรอง พร้อมเปิดกว้างให้ประเทศอื่นๆ ได้มีโอกาสแข่งขันด้วย

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการประธานสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวว่า กรณีรัฐบาลจะพิจารณาการทำโครงการการค้าต่างตอบแทน (บาร์เตอร์เทรด) อาทิ นโยบายนำสินค้าเกษตรของไทยแลกกับรถไฟนั้น ส่วนตัวไม่ขัดข้อง แต่รัฐบาลควรเปิดกว้างและศึกษาเทคโนโลยีด้านรถไฟจากประเทศอื่นด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะต้องตระหนักในเรื่องการเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถดูแลรักษาระบบเองได้ รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่าจะเป็นไปในลักษณะใด พร้อมให้คำแนะนำว่า การนำสินค้าเกษตรไปผูกโยงกับระบบคมนาคม รัฐบาลจะต้องใช้ความระมัดระวังเรื่องความคุ้มค่าด้วย

"แนวคิดการแลกเปลี่ยนสินค้า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่จะใช้ในกรณีที่เป็นสินค้าที่มีความต้องการตรงกัน และระบายสินค้าที่ล้นตลาดของไทย แต่ในปัจจุบันเห็นว่า สินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าว ยังเป็นที่ต้องการและสามารถขายในตลาดโลกได้"

นายศุภชัย กล่าวเสริมและย้ำว่า รถไฟฟ้าจากประเทศจีนนั้น ไม่ถือว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด และตลาดข้าวไทยในขณะนี้ ไม่ได้เป็นปัญหา จึงไม่จำเป็นต้องนำสินค้าราคาแพงของไทยไปใช้ในการทำบาร์เตอร์เทรด

นายศุภชัยยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2557 ว่ายังต้องมีความระมัดระวัง แม้ขณะนี้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ก็ยังมีความเปราะบาง และยังสร้างความผันผวนให้ตลาดเงิน ตลาดทุนได้ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ติดตามดูแลรักษาเสถียรภาพด้านต่างๆ แต่ประชาชนยังต้องศึกษาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนักลงทุนที่จะต้องติดตามนโยบายของสหรัฐอเมริกาว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ด้านนายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้โครงการบาร์เตอร์เทรด โดยการนำข้าวไปแลกหัวรถไฟกับจีนนั้น นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อหารือกับผู้บริหารจีนอย่างเป็นทางการในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศอาเซียนยังได้มีการหารือกันถึงการนำสินค้าเกษตรที่เหลือจากการสำรองด้านความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศไปแลกกับเทคโนโลยีของประเทศที่มีการพัฒนาเป็นอย่างดี เช่น จีน ที่มีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงรองรับการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว และจากการพัฒนาดังกล่าวทำให้จีนมีวิศวกรเหลือเพียงพอที่จะมาช่วยพัฒนาระบบรถไฟของไทยในโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทด้วย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 23/10/2013 12:02 am    Post subject: Reply with quote

ญี่ปุ่นดอดพบปลัดคมนาคม จี้ถามคืบหน้าไฮสปีดเทรน
ข่าวเศรษฐกิจ
ไทยโพสต์
22 ตุลาคม 2556 - 00:00

ญี่ปุ่นหวั่นตกขบวนเข้าพบปลัดคมนาคม เร่งหารือความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง ประกาศพร้อมร่วมลงทุนกับชาติอื่น ในขณะที่ไทยอยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาอีไอเอ
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายคิมิโนริ อิวามะอัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบพร้อมหารือถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อติดตามให้มีการประชุมร่วมให้ต่อเนื่องหลังจากที่ผ่านมาได้มีการประชุมกันระหว่างปลัดกระทรวงของไทยและญี่ปุ่น
“ญี่ปุ่นเสนอให้มีการประชุมให้ต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมร่วมกัน โดยสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับเรา เพราะเห็นว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงมีความสำคัญ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าแข่งขันกับประเทศอื่นที่สนใจเข้าลงทุน เช่น จีน เกาหลี อังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลีย แต่ก็ได้ชี้แจงว่าไทยยังไม่ได้เลือกใคร เพราะโครงการอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ“ นายสมชัยกล่าว
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาตำแหน่ง และแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีทุกเส้นทาง โดยเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ ใช้ที่ราชพัสดุของหน่วยราชการ และการจัดรูปที่ดินซึ่งไม่มีการเวนคืน แต่จะเป็นการนำที่ดินมารวมกันและจัดผังใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เจ้าของที่ดินเดิม
ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าตาละเส้นทาง ขณะนี้ได้ส่งผลศึกษาผลกระทบอีไอเอ เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ให้ สำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน และภายในเดือนพฤศจิกายน จะส่งผลศึกษาอีไอเอ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาได้ และในเดือนมกราคม 2557 จะส่งรายงานเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหินได้ ซึ่งเป็นไปตามแผน ส่วนการพิจารณาของ สผ.คาดว่าจะไม่ใช้เวลามากนัก.
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 23/10/2013 11:12 pm    Post subject: Reply with quote

ผ่าแนวคิดเนรมิตเมืองรับ 17 สถานีรถไฟความเร็วสูง
จากหนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556
23 ตุลาคม 2556 เวลา 09:40 น.
ที่มา : กรมโยธาธิการและผังเมือง

รถไฟความเร็วสูงจะพลิกโฉมการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ โดยจะกระจายการพัฒนาไปยังหัวเมืองสำคัญๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง ยิ่งระยะเวลาในการเดินทางสั้นลงมาก ทำให้คนต่างจังหวัดไม่จำเป็นต้องซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ เพราะใช้รถไฟความเร็วสูงเดินทางกลับถิ่นฐานได้สะดวก


เมืองขนาดใหญ่: พิษณุโลก - นครราชสีมา และ พัทยา - ยังไม่ลงตัว แม้ว่าที่ พัทยาจะเอาบริเวณตลาดน้ำสี่ภาค แถวจอมเทียนเป็นพื้นที่เป้าหมาย

เมืองขนาดกลาง: อยุธยา นครสวรรค์ นครปฐม หัวหิน ระยอง ชลบุรี ยังมีไม่ลงตัวแต่ ที่อยุธยาตกลงว่าจะเอาที่รอบสถานีอยุธยาที่มีมาแต่เดิมเป็นเหมาะ

เมืองขนาดเล็ก: สระบุรี ลพบุรีแถวป่าหวาย พิจิตรที่เหนือสถานีเดิม 1 กิโลเมตร ราชบุรีที่บ้านคูบัว เพชรบุรี ที่ลอยฟ้ามาเกาะกลางคร่อมถนนเพชรเกษม ปากช่อง และฉะเชิงเทราแถวสถานีเดิม

//-------------------

แนวคิดพัฒนาเมืองที่เป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง
จากหนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556
23 ตุลาคม 2556 เวลา 09:17 น.


สิริรักษ์ ไสยวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโยธาฯ ได้ร่างแนวคิดการพัฒนาเมืองตามที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงในเบื้องต้น โดยได้ดึงจุดเด่นของแต่ละจังหวัดที่เป็นที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง มาเป็นแนวคิดหลักในการวางผังเมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพของเมืองนั้นๆ ให้เป็นที่ดึงดูดความน่าสนใจมากขึ้น

เมืองขนาดใหญ่:
พิษณุโลก - ประตูเศรษฐกิจ สี่แยกอินโดจีน
นครราชสีมา - ประตูสู่อีสาน - ศูนย์กลางโลจิสติกส์
พัทยา - ที่หมายเอาบริเวณตลาดน้ำสี่ภาค แถวจอมเทียนเป็นพื้นที่เป้าหมาย - เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

เมืองขนาดกลาง:
อยุธยา - เมืองมรดกโลก และ เมืองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง
นครสวรรค์ - ศูนย์กลางการผลิตและการค้าข้าว
นครปฐม - เมืองการศึกษา และ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
หัวหิน - เมืองพักผ่อนวัยเกษียน
ระยอง - เมืองอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์
ชลบุรี ยังมีไม่ลงตัวแต่ ที่อยุธยาตกลงฝจว่าจะเอาที่รอบสถานีอยุธยาที่มีมาแต่เดิมเป็นเหมาะ

เมืองขนาดเล็ก:
สระบุรี - เมืองอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง
ลพบุรีแถวป่าหวาย - แหล่งผลิตอาหารและเกษตรปลอดภัย
พิจิตรที่เหนือสถานีเดิม 1 กิโลเมตร - แหล่งผลิตข้าวและสินค้าเกษตร
ราชบุรีที่บ้านคูบัว - เมืองเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป
เพชรบุรี ที่ลอยฟ้ามาเกาะกลางคร่อมถนนเพชรเกษม - เมืองท่องเที่ยวธรรมชาติและประวัติศาสตร์
ปากช่อง - ตลาดกลางและศูนย์วิจัยเกษตร
ฉะเชิงเทราแถวสถานีเดิม - เมืองพักอาศัยรองรับมหานคร
ศรีราชา - เมืองสีเขียวและสุขภาพ
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 24/10/2013 6:58 pm    Post subject: โฆษณาชวนเชื่อ Reply with quote

ดู "ไฮสปีดเทรน" นานาประเทศ รถไฟความเร็วสูงไทย...ตามหลังกี่ปี ?
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
updated: 24 ตุลาคม 2556 เวลา 12:16:01 น.


กำลังเป็นที่จับตาโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงที่ "รัฐบาลเพื่อไทย" กำลังผลักดัน 4 สายทาง ระยะทางรวม 1,356 กม. ด้วยเม็ดเงินลงทุน 783,553 ล้านบาท จะไปถึงดวงดาวหรือเป็นแพลนนิ่งที่...แพลนแล้วนิ่ง เป็นได้แค่ผลศึกษาในกระดาษ

มีการตั้งคำถามแบบชวนมองต่างมุมว่า ถ้าประเทศไทยไม่มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเหมือนนานาประเทศทั่วโลกที่ใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นตัวชี้นำพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ...ไทยจะตามหลังอยู่สักกี่ปี
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 25/10/2013 11:51 pm    Post subject: Reply with quote

แจกสัมปทานไฮสปีด-รถไฟฟ้า ดึงเอกชนลงขัน 4 แสนล. คลังรับลูกดันกม. 7 ฉบับ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
25 ตุลาคม 2556 เวลา 15:28:19 น.


ขุนคลัง "กิตติรัตน์" แจกสัมปทานดึงเอกชนร่วมลงทุน 4.4 แสนล้าน เปิด 3 เมกะโปรเจ็กต์ "จัดหาระบบรถไฟความเร็วสูง 4 สาย-รถไฟฟ้า 12 สายทาง-มอเตอร์เวย์ 3 สาย" ส่วนรถไฟทางคู่ยอมขาดทุนให้โอกาสการรถไฟฯเดินรถเอง เล็งใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นแหล่งเงินทุน ด้านคลังดันกฎหมายลูก 7 ฉบับรองรับ


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา "สร้างอนาคตไทย 2020" ที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า โครงการในส่วน 2 ล้านล้านบาท จะมีโครงการ 3 กลุ่มที่ประเมินแล้ว เอกชนมีศักยภาพเพียงพอในการลงทุน และสามารถทำให้เกิดผลตอบแทนคืนมาให้รัฐได้ วิธีการจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูง 2.โครงการรถไฟฟ้า และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าจะเป็นงาน 3 ส่วน คืองานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล การเดินรถและการบำรุงรักษา ส่วนรถไฟมีหัวรถจักรและตู้โดยสาร ด้านโครงการมอเตอร์เวย์จะเป็นการก่อสร้าง การเก็บค่าผ่านทางและการบำรุงรักษา ซึ่งในบางโครงการรัฐอาจจะมอบสิทธิในการลงทุนโดยรัฐไม่ต้องลงทุนเอง

แหล่งเงินจากอินฟราฯฟันด์

"กรอบของแผนลงทุน 2 ล้านล้าน เป็นวงเงินที่รัฐบาลเผื่อไว้กรณีเอกชนไม่สนใจเข้าร่วมลงทุนกับรัฐบาลในบางโครงการที่ผลตอบแทนไม่สูง อย่างรถไฟความเร็วสูงสามารถให้เอกชนร่วมลงทุน เพราะสร้างผลตอบแทนได้และมีความยืดหยุ่น ส่วนรถไฟทางคู่จะให้การรถไฟฯเดินรถเอง เพราะอาจจะต้องยอมขาดทุนบ้าง เพื่อให้บริการกับประชาชน แต่การรถไฟฯสามารถเดินรถด้วยความเร็วดีขึ้นกว่าเดิม"

นายกิตติรัตน์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีข้อกล่าวอ้างว่าทำไมรัฐบาลไม่เลือกวิธีให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐบาล เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ คำชี้แจงคือเอกชนไม่ได้เข้ามาลงทุนเปล่า ๆ แต่จะต้องได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนโครงการ

นอกจากนี้ มีบางโครงการที่เอกชนไม่สนใจลงทุน เช่น โครงการขยายถนนจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร เนื่องจากไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ขณะที่ บางโครงการได้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำ แต่รัฐบาลมองว่าจะเป็นโครงการที่สนับสนุนทำให้เศรษฐกิจโต จึงจำเป็นต้องหาเงินมาลงทุนเอง

"การลงทุน 3 กลุ่มดังกล่าวมีบางโครงการลงทุนโดยรูปแบบใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนที่สนใจ ขอยืนยันว่าการดำเนินการตรงนี้เป็นไปด้วยความมั่นใจ การที่รัฐบาลเตรียมพร้อมไว้ว่าถ้าเอกชนไม่ลงทุนรัฐจะเป็นผู้ลงทุนเอง เพราะต้นทุนการเงินต่ำกว่าเอกชน" นายกิตติรัตน์กล่าว

เอกชนร่วมได้ 4.4 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับวงเงินลงทุนที่จะดึงให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน 3 กลุ่ม ตามแนวคิดกระทรวงการคลัง มีมูลค่ารวม 439,964 ล้านบาท แบ่งเป็นระบบรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก 4 สายทาง คือสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง มีวงเงินรวม 148,240 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า วงเงินรวม 149,354 ล้าานบาท แยกเป็นรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 7 โครงการ วงเงินรวม 111,800 ล้านบาท เริ่มประมูลปี 2557 ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค), สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ)

ปี 2558 มีสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต), สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี), สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี), สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และปี 2559 มีสายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) และรถไฟชานเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 5 โครงการ วงเงิน 37,554 ล้านบาท

ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์ 3 สายทาง วงเงินลงทุนเฉพาะค่าก่อสร้าง ได้แก่ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 77,970 ล้านบาท, สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงิน 14,200 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงิน 50,200 ล้านบาท

คลังแจ้งเกิดโปรเจ็กต์นำร่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และหน่วยงานอื่นที่อยู่ในการกำกับดูแล ให้จัดทำรายละเอียดข้อมูลโครงการที่มีการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐทั้งหมด ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 และที่จะดำเนินการในปีงบฯ 2557-2562

เพื่อกระทรวงการคลังจะได้นำไปประกอบการจัดทำกรอบนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพื่อจะได้นำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนพิจารณา ก่อนจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐต่อไป หลังนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 เพื่อเร่งผลักดันโครงการร่วมทุนให้เกิดขึ้น หลัง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556

เร่ง กม.ลูกเปิดช่องเอกชนร่วมทุน

ทั้งนี้จะทยอยประกาศบังคับใช้กฎหมายลูก 7 ฉบับ อาทิ ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบาย รายละเอียดของผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ, ร่างประกาศการกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของที่ปรึกษา, ร่างข้อเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายชื่อที่ปรึกษา, ร่างข้อกำหนดมาตรฐานสัญญาร่วมทุน, ร่างประกาศลักษณะของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน, ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบาย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท, ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบาย ลักษณะของเอกชนและที่ปรึกษาที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

สำหรับรูปแบบการร่วมทุน เบื้องต้นจะเปิดกว้างให้เอกชนสามารถเข้าร่วมทุนกับหน่วยงานรัฐได้หลายรูปแบบ ตามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในแง่ของการลงทุน เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและส่วนรวม เช่น ลดภาระการใช้จ่ายวงเงินงบประมาณ เพื่อผลักดันให้โครงการสำคัญ ๆ รวมถึงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 26/10/2013 12:07 am    Post subject: Reply with quote

“ข้าวแลกรถไฟจีน” ยุทธการกลบข้าวเน่า “ยิ่งลักษณ์”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 ตุลาคม 2556 20:14 น.


นักวิชาการเกียรติคุณ ประเมินแนวทางข้าวแลกรถไฟฟ้ากับจีน แค่สร้างภาพขายข้าวได้ แก้ปัญหาสต๊อกล้น ล้างภาพล้มเหลว ชี้มีแต่ประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้นที่ทำ ต้นตอเกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากจุฬาฯ ระบุเป็นการหนีระบบตลาด ที่เป็นระบบที่ดีที่สุดในการแลกเปลี่ยน ด้านคนในวงการค้าข้าวเผยที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จ แถมช่องทางทุจริตเพียบ

ในช่วงที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 โดยที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเดินทางมาในครั้งนี้เป็นพิเศษ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการมาชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณอยู่ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล แต่ก็สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ทั้งจากการออกพระราชกำหนดความมั่นคงในพื้นที่โดยรอบและเจรจาจนผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่

ครั้งนี้มีการโหมโรงถึงหัวข้อในการหารือ ที่รัฐบาลจงใจให้เรื่องนี้กลายเป็นพระเอกจากการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีจีน นั่นคือ ข้อเสนอที่ทางการไทยมีแนวคิดที่จะนำสินค้าเกษตรของไทย ไปแลกหรือใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูงกับรัฐบาลจีน โดยมีการจัดทำเป็นเอกสารบันทึกความเข้าใจ (MOU)

นับว่าเป็นการผุดเอาแนวคิดบาร์เตอร์เทรด (BARTER) หรือการแลกเปลี่ยนสินค้า ด้วยการนำเอาสินค้าเกษตรของไทยมาแลกกับสินค้าหรือเทคโนโลยีต่างๆ จากประเทศคู่ค้า ด้วยการตีมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าจากประเทศคู่สัญญา ไม่ว่าจะเป็นข้าวแลกน้ำมัน หรือสินค้าเกษตรอื่นๆ แลกกับเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีอื่นๆ

แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้มากในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สินค้าเกษตรหลายรายการถูกจับคู่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการชำระค่าสินค้าที่ประเทศไทยต้องการซื้อ โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ

ข้อมูลที่ระบุไว้ในยุค ‘รัฐบาลทักษิณ’ ปี 2549 มีการนำการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดมาใช้ในโครงการใหญ่ๆ อาทิ 1. กองทัพบกต้องการซื้อปืนใหญ่จากฝรั่งเศสมูลค่า 1,800 ล้านบาท 2. กระทรวงกลาโหมต้องการซื้อรถหุ้มเกราะจากแคนาดามูลค่า 7,900 ล้านบาท 3. กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยต้องการซื้อสินค้าเพื่อตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยจากออสเตรเลีย มูลค่า 3,700 ล้านบาท 4. การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการซื้อหัวรถจักรจากจีนมูลค่า 1,800 ล้านบาท 5. โครงการซื้อรถไฟจากจีนมูลค่า 700 ล้านบาท แลกกับข้าวประมาณ 50,000 ตัน 6. โครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรไทยกับเครื่องจักรในโรงงานยาสูบ จ.เชียงใหม่ 7. โครงการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ ตู้คอนเทนเนอร์ของกรมศุลกากร 8. โครงการซื้อเครื่องบินรบซู 30 จากรัสเซีย คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

ยิ่งลักษณ์สานต่อทักษิณ

ส่วนใหญ่แล้วแนวคิดดังกล่าวมีความสำเร็จของโครงการต่ำมาก เพราะปัญหาและขั้นตอนต่างๆ ค่อนข้างยุ่งยาก แต่เมื่อการเลือกตั้งในปี 2554 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งน้องสาวอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาและเป็นนายกรัฐมนตรีสมใจพี่ชาย เธอก็สานต่อแนวคิดของพี่ชายอย่างต่อเนื่อง ที่เริ่มกล่าวถึงเรื่องการบาร์เตอร์เทรดสินค้าเกษตร ด้วยการนำข้าวไปแลกกับรถไฟฟ้ากับจีนตั้งแต่ช่วงที่ชนะเลือกตั้ง

แต่ในช่วง 2 ปีแรก รัฐบาลต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศและสาละวนอยู่กับโครงการประชานิยม ทั้งบ้านหลังแรก รถคันแรกและโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการเร่งแก้กฎหมายสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคเพื่อไทย

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีจีนครั้งนี้ รัฐบาลเพื่อไทยเริ่มให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศจีนมากขึ้น หลังจากที่ถูกข้อครหาเรื่องการเลือกเกาหลีใต้เป็นแกนหลักในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทและไม่ให้ความสำคัญกับจีน

แม้ความต้องการดึงเอาเทคโนโลยีรถไฟฟ้ากับจีนมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้านบาท แต่มีเงื่อนไขทั้งการชำระค่าสินค้าที่เป็นสินค้าเกษตร และในการเปิดประมูลนั้นการก่อสร้างจะเป็นการเปิดประมูลแบบทั่วไป

นั่นหมายถึงโอกาสที่จีนจะได้เข้ามาร่วมในโครงการนั้นยังคงต้องรอและต้องแข่งขันกับเจ้าของเทคโนโลยีสัญชาติอื่นๆ หากชนะการประมูลจึงจะเข้าสู่ข้อตกลงดังกล่าว

ที่ผ่านมาความสำเร็จในการนำเอาสินค้าเกษตรไปแลกหรือชำระค่าสินค้ากับประเทศอื่นนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นไปได้น้อยมาก แต่รัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ทั้งที่ในทางปฏิบัติแล้วมีปัญหาต่างๆ มากมาย

เลี่ยงระบบตลาด

ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำเอาสินค้าเกษตรไปแลกกับสินค้าหรือบริการอื่น ในรูปแบบการค้าแบบรัฐต่อรัฐ ถือเป็นวิธีการเลี่ยงระบบตลาด โดยทั่วไประบบตลาดถือว่าเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสินค้า ผู้ซื้อได้เลือกซื้อของที่ดีที่สุด

“การทำการค้าแบบรัฐต่อรัฐจะต้องโปร่งใส ต้องกำหนดว่าสินค้าอะไรที่จะนำไปแลกกับคู่ค้า มีการตีมูลค่าออกมาทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เช่นนั้นสินค้าของเราที่เป็นสินค้าเกษตรอาจถูกกดราคาลงมาจนต่ำกว่าราคาตลาด”


ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ



สร้างภาพ-กลบปัญหา

ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่รัฐบาลเสนอสินค้าเกษตรไปแลกกับรถไฟฟ้าของจีนนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะ MOU เป็นเพียงข้อตกลงไม่ใช่สัญญา อีกทั้งยังไม่มีใครรู้ว่ารถไฟฟ้าที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตรของไทยมีมูลค่าเท่าไหร่ มีการซ่อนราคากันไว้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริตได้

“โลกสมัยนี้ไม่ควรมีการค้าระบบนี้แล้ว การค้าแบบรัฐต่อรัฐเหมาะที่จะทำในช่วงที่ประเทศไม่มีเงิน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีใครทำกัน มีเพียงประเทศที่ด้อยพัฒนาเท่านั้นที่ต้องการทำ”

นักวิชาการเกียรติคุณจากทีดีอาร์ไอกล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเอาข้าวไปแลกรถไฟฟ้า แสดงว่ารัฐหมดปัญญาขายข้าวแล้ว ซึ่งที่จริงรัฐต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการขายข้าว หากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ข้าวก็สามารถขายได้ ทุกวันนี้ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลมีข้าวในฤดูกาลอื่นๆ เข้ามาปะปน มีทั้งข้าวปี 2548-2550

“รัฐบาลต้องการโชว์ว่าเราขายข้าวได้ เพื่อกลบปัญหาที่ตัวเองขายข้าวไม่ได้ ที่ผ่านมาเราขายอิรักสุดท้ายก็ถูกตีกลับ จนทักษิณออกมาโวย ข้าวในโกดังที่ขายไม่ได้ในเวลานี้ นับวันคุณภาพยิ่งลดลง ซึ่งจีนก็ทราบเรื่องนี้ จึงต้องการซื้อข้าวในราคาถูก เพื่อนำไปให้กับคนจนบริโภค”


ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร



ต้นเหตุจากจำนำข้าว

ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากความต้องการผูกขาดตลาดข้าว ด้วยการเก็บสต๊อกเอาไว้ เพื่อดึงให้ซัปพลายขาด หลังจากนั้นก็จะทำให้ราคาสูงขึ้น ทฤษฎีนี้เป็นของทีมงานที่ไม่เคยทำธุรกิจค้าข้าว ตอนนี้ทุกคนเงียบหมด เพราะทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คาด เดิมประเมินว่าอินเดียที่เกิดปัญหาภายในประเทศจนต้องงดส่งออกข้าว แต่ผิดคาด ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ดังนั้นจึงมีข้าวออกมาในตลาดมาก เวียดนามซึ่งเคยหวังว่าจะปรับราคาข้าวขึ้นตามไทยนั้น สุดท้ายก็ต้องปรับลดลงมาเมื่ออินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้อีกครั้ง

ต้นทุนของรัฐบาลการรับจำนำที่สูง เมื่อตลาดไม่เป็นไปตามคาด ราคาข้าวในตลาดโลกปรับลดลงมา จึงทำให้รัฐประสบปัญหาขายข้าวไม่ได้ และต้องแบกต้นทุนในการรับซื้อไว้จึงมีสต๊อกข้าว 17-18 ล้านตัน

สินค้าเกษตรไม่เหมือนสินค้าอุตสาหกรรม ความต้องการที่จะผูกขาดสินค้าเกษตรนั้นไม่มีทาง มีเรื่องของปริมาณ ฤดูกาลและคู่แข่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าราคาตลาดสูงก็มีคู่แข่งมาก แตกต่างจากน้ำมันที่เก็บอยู่ใต้ดินจะขายก็สูบออกมา ตอนนี้ทุกประเทศรู้ปริมาณสต๊อกข้าวของรัฐบาล รู้ว่ารัฐบาลร้อนเงิน ทำให้ราคาข้าวร่วงลงมา

อย่างข้อมูลที่อาจารย์ณรงค์ เพชรประเสริฐ บอกว่า รัฐบาลอ้างว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนาได้ประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วประโยชน์ตกอยู่กับชาวนาเป็นส่วนน้อย การเป็นนักการเมืองต้องไม่โกหกประชาชนหรือปิดบังข้อมูล เพื่อหลอกคนว่ารัฐบาลทำจริง


ช่องทุจริตเปิดกว้าง

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวว่า การนำเอาข้าวไปแลกกับรถไฟของจีนนั้น เป็นไปได้ทั้งการสร้างภาพว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการเรื่องสต๊อกข้าวที่เป็นปัญหาได้ ลดข้อครหาเรื่องความผิดพลาดของนโยบายจำนำข้าวได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อสต๊อกข้าวลดลง โอกาสที่ราคาข้าวจะปรับสูงขึ้นก็มี

แต่นั่นเป็นเรื่องของหลักการ เพราะยังไม่มีใครทราบว่าคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อตีราคาข้าวหรือมูลค่าของรถไฟฟ้าจากจีนจะเป็นเท่าไหร่ หากตีราคาข้าวออกมาแล้วต่ำกว่าราคาตลาด รัฐบาลก็จะขาดทุนหนักกว่าเดิม

ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลชุดนี้พยายามจะใช้วิธีนี้มาโดยตลอด ซึ่งในทางปฎิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย สินค้าเกษตรราคาขึ้นลงตามฤดูกาล มีคู่แข่งในตลาดมาก เน่าเสียง่าย ไม่สามารถจัดเก็บไว้ได้นานเพราะมีผลต่อคุณภาพของสินค้า

โครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลนั้น กว่าทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้นได้อาจต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ได้ รวมไปถึงข้อตกลงเรื่องการส่งมอบหากยืดเวลาออกไป ราคาสินค้าเกษตรย่อมมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงไปได้ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งที่เราจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากราคาสินค้าที่นำไปแลกกับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ประการต่อมาภายใต้ขั้นตอนการประเมินราคาหรือการส่งมอบสินค้า ย่อมต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ ช่องว่างเหล่านี้จะทำให้เกิดโอกาสของการทุจริตได้ทุกขั้นตอนทั้งจากฝ่ายไทยและฝ่ายคู่ค้า

ถัดมาคือโอกาสของความสำเร็จของแนวทางดังกล่าว มีความเป็นไปได้ต่ำ และไม่สามารถนำเอาสินค้าเกษตรไปชำระค่าสินค้าได้ทั้ง 100% ทั้งนี้เนื่องจากมีความยุ่งยากทั้งฝ่ายของผู้ขายและผู้ซื้อ ฝ่ายผู้ซื้อก็ต้องนำเอาสินค้าที่ได้รับมาไปกระจายต่อ ซึ่งจะตรงความต้องการของคนในประเทศผู้ซื้อในเวลานั้นหรือไม่ย่อมเป็นเรื่องที่ยากต่อการคาดเดา ขณะที่ฝ่ายผู้ชำระเงินในรูปของสินค้าเกษตร ก็ต้องจัดหาสินค้ามาให้เพียงพอต่อการส่งมอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะมีปัจจัยเรื่องดินฟ้าอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตกันได้ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย ตั้งแต่ขั้นตอนในการจัดหาสินค้าหรืออาจมีการนำเอาสินค้าด้อยคุณภาพอื่นเข้าไปปลอมปน รวมไปถึงเรื่องของการตีมูลค่าของสินค้า กลายเป็นเรื่องที่สมประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 26/10/2013 10:56 am    Post subject: Reply with quote

“ชัชชาติ” เปิดงานโรดโชว์รถไฟความเร็วสูงที่ขอนแก่น ชาวบ้านหนุนให้สร้างแต่เอกชนเตือนสร้างหนี้ระยะยาว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 ตุลาคม 2556 16:31 น.


เมื่อรถไฟความไวสูงมาถึงขอนแก่น จะได้อะไร

ศูนย์ข่าวขอนแก่น- “ชัชชาติ” เปิดนิทรรศการ “สร้างอนาคตไทย 2020” โรดโชว์โปรเจกต์ยักษ์รถไฟความเร็วสูงที่จังหวัดขอนแก่น เผยชาวขอนแก่นเห่อรถไฟความเร็วสูงเข้าคิวทดลองนั่งยาวเหยียด ชาวบ้านหนุนรัฐบาลสร้าง ขณะที่ประธานสภาอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วย ชี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอีสาน ทั้งสร้างภาระหนี้ให้คนทั้งชาติในระยะยาว

วันนี้ (25 ต.ค.) ที่หอประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “สร้างอนาคตไทย 2020” งานนิทรรศการนำเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งได้รับความสนใจมีประชาชนจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาร่วมชมนิทรรศการอย่างเนืองแน่น

โดยงานนิทรรศการ “สร้างอนาคตไทย 2020” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่งของประเทศ มีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020

ภายในงานนำเสนอนิทรรศการข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง จำลองตู้รถไฟความเร็วสูงให้ทดลองนั่ง แผนที่เส้นทางคมนาคมใหม่ โครงข่ายคมนาคมในอนาคต ร่วมหาคำตอบว่าประชาชนในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงจะได้รับประโยชน์อะไรทั้งด้านเศรษฐกิจ การเดินทาง และชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะรวบรวมนำไปปรับปรุงโครงการเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ ภายในงานในส่วนของบูทจำลองตู้รถไฟความเร็วสูงได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาร่วมชมนิทรรศการมาก โดยมีประชาชนต่างเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงจำลองกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกัน ในส่วนของพื้นที่อื่นก็ได้รับความสนใจเช่นกัน ทั้งการเขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่งประเทศ เป็นต้น

นายสุพจน์ ทุมแก้ว อายุ 57 ปี ชาวบ้านเวียงเก่า อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยหลังได้ชมนิทรรศการว่า เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อทราบข่าวจาก อบต.ในพื้นที่ว่าจะมีการจัดนิทรรศการสร้างอนาคตไทย 2020 ที่ จ.ขอนแก่น เป็นโอกาสดีที่จะได้มาศึกษารายละเอียดของโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางเดินรถ และได้ร่วมทดลองนั่งในระบบจำลองแล้วด้วย

เชื่อมั่นว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงหากมีการพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรมจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานมาก เป็นทางเลือกการเดินทางให้ชาวจังหวัดขอนแก่นและหลายจังหวัดในภาคอีสานสามารถเดินทางไปยังเมืองหลวงได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างงานและเสริมสร้างรายได้ให้แก่คนอีสาน จากโครงการลงทุนอื่นจะตามมาจากการมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาในอีสานด้วย

ด้านนายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท โดยนำมาพัฒนาระบบรางกว่า 1.6 ล้านล้านบาทนั้น จะมีการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) พบว่า ตามงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสานจะมาถึงแค่จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น

เชื่อว่าจะไม่เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแก่จังหวัดขอนแก่น หรือจังหวัดใกล้เคียงมากนัก โดยราคาตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงนั้นจะมีราคาสูงมาก ซึ่งการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ มาที่จังหวัดนครราชสีมาด้วยรถไฟความเร็วสูงต้องยอมรับว่ามีกระบวนการขั้นตอนมากพอสมควร เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์โดยสาร หรือรถยนต์ส่วนตัว จะใช้เวลาถึงจุดหมายไม่ต่างกัน ซึ่งคนที่มีกำลังซื้อตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงมีไม่กี่กลุ่มหรือมีจำนวนค่อนข้างน้อย

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ตามหลักการของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงจะมีเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นรัฐสวัสดิการให้แก่ประชากรในประเทศ ประเทศเหล่านี้จะนำเงินภาษีมาอุดหนุน ยอมขาดทุนไปกับการทุ่มเงินลงทุนทำรถไฟความเร็วสูง โดยในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ส่วนโซนอื่นคือสหภาพยุโรป ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถอุดหนุนเงินภาษีกับรถไฟความเร็วสูงได้

ขณะที่ประเทศไทยเงินคงคลังไม่มากพอ ต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนพัฒนารถไฟความเร็วสูง ทั้งต้องนำเงินภาษีมาอุดหนุน ประเทศจะแบกภาระขาดทุนได้หรือไม่ และปัญหาสำคัญคือ ต้องใช้หนี้เงินกู้ก้อนใหญ่ในระยะยาวด้วย ขณะที่สภาพเศรษฐกิจประเทศ ณ ปัจจุบันไม่เอื้อที่รัฐจะมาอุดหนุนและสร้างภาระหนี้แก่ประเทศระยะยาว ซึ่งการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง รัฐบาลชุดนี้ยังขาดการศึกษาที่รอบด้าน ไม่เข้าใจว่าจะเร่งรัดผลักดันโครงการไปเพื่ออะไร

โดยส่วนตัวภายใต้โครงการเงินกู้ปรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น สนับสนุนแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่น่าจะเหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจประเทศไทยมากกว่า การพัฒนาดังกล่าวใช้เงินลงทุนต่ำกว่ามาก อีกทั้งผลการศึกษาของ สนข.พบว่า เส้นทางรถไฟรางคู่จะเกิดประโยชน์ต่อการขนส่งมวลชน และการขนถ่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากระบบรถไฟรางเดี่ยวปัจจุบันถึง 5 เท่าตัว


Last edited by Wisarut on 26/10/2013 12:44 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42828
Location: NECTEC

PostPosted: 26/10/2013 12:42 pm    Post subject: Reply with quote

จีนโชว์เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ประกาศพร้อมหนุนการลงทุนในไทย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 ตุลาคม 2556 19:17 น.


องค์การรถไฟฟ้าแห่งประเทศจีน จัดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงที่แอร์พอร์ตลิ้งค์มักกะสัน โชว์เทคโนโลยีและศักยภาพ ปูทางลงทุนในไทย เผยพร้อมหนุนรถไฟความเร็วสูงกับไทยทุกรูปแบบ เห็นด้วยกับนโยบายการแลกสินค้าเกษตรของไทย

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม องค์การรถไฟฟ้าแห่งประเทศจีน ได้จัดแถลงข่าวเรื่องการจัดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงแห่งประเทศจีน ขึ้นที่ประเทศไทยบริเวณชั้น 3 โถงทางเข้า City Line สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน และจะตั้งนิทรรศการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.- 25พ.ย. 2556 ภายในนิทรรศการจะมีโมเดลรถไฟฟ้าจำลอง บอร์ดแสดงข้อมูลเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน โมเดลจำลองสถานีรถไฟ และสะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนารถไฟความเร็วสูงของไทย โดยจะเปิดให้ชมฟรี ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00น.

โดยนายโจว หลี ผู้อำนวยการหน่วยควบคุมเทคนิครถไฟสำนักงานใหญ่แห่งประเทศจีน กล่าวว่า ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น ต้นทุนในแต่ละเส้นทางขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทางที่ก่อสร้างในแต่ละพื้นที่รวมถึงความเร็วที่จะใช้ เช่น ความเร็วรถไฟที่ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กับความเร็วที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าก่อสร้างจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ยอมรับว่าประเทศไทยยังมีมุมมองที่ติดลบกับจีนในเรื่องการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เนื่องจากไม่เคยสัมผัสการใช้บริการ แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในประเทศไทยในเรื่องก่อสร้างรถไฟความเร็วได้

ซึ่งการจัดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงแห่งประเทศจีน ในประเทศไทยครั้งนี้เพื่อให้ชาวไทยรู้จักและเข้าถึงการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีของรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน รวมถึงความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน โดยใช้หัวข้อการจัดนิทรรศการว่า "การพัฒนาอย่างรวดเร็วของรถไฟความเร็วสูงแห่งประเทศจีน" โดยได้รวบรวมแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง โมเดลรถไฟฟ้าจำลอง ขบวนรถรุ่น CRH380A ซึ่งเป็นรถไฟที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวขบวนเอง และยังมีขบวนรถไฟความเร็วสูง ที่มีระบบการตรวจสอบที่ครอบคลุม บอร์ดแสดงข้อมูลเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน โมเดลจำลองสถานีรถไฟ และสะพานข้ามแม่น้ำ สะพานนานกิง สะพานความเร็วสูงเส้นทสงหลักของปักกิ่ง-เซี่ยงไฮห้ ความยาว 14.79 กิโลเมตร มาจัดแสดง เพื่อส่งเสริมพัฒนารถไฟความเร็วสูงของไทย รวมถึงกระบวนการปฏิบัติ คุณสมบัติทางเทคนิค โครงการใหญ่ที่สำคัญ และบทบาทการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนให้บริการรถไฟความเร็วสูง 29 เส้นทาง 9,700 กิโลเมตร และปลายปี 2556 จะขยายเส้นทางเป็น 12,000 กิโลเมตร พร้อมตั้งเป้าจะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมกว่า 20,000 กิโลเมตร ในปี 2020

ด้านนางหยิ่น ไห่หง ที่ปรึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนเรื่องแลกสินค้าเกษตรข้าวของไทยกับรถไฟความเร็วสูงของจีน ว่า ภายหลังการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีตรี โดยได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวกับรัฐบาลไทย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะใช้สินค้าเกษตรของไทยไปใช้กับจีน และทางรัฐบาลจีนมีจุดยืนในเรื่องมิตรภาพระหว่างไทยกับจีนเป็นหลักจึงจะใช้สินค้าทางเกษตรแลกเปลี่ยนซึ่งการปฏิบัติและแนวทางต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อไทย และอยากให้ไทยไว้วางใจกับจีนทั้งในเรื่องเทคโนโลยีซึ่งจีนจะมีนำเสนอนอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

ส่วนนายหวาง ตี้ฝู ผู้จัดการโครงการรถไฟไทยจีน การรถไฟแห่งประเทศจีน กล่าวว่า ขณะนี้จีนมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยทุกเส้นทางแต่สิทธิในการตัดสินใจขึ้นอยู่กับรัฐบาลของไทย เพราะรถไฟความเร็วสูงเป็นของไทยแต่หากไทยพร้อมจีนก็พร้อมอย่างเต็มที่เช่นกัน ซึ่งเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมาจีนก็พบปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในช่วงแรกถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน แต่เมื่อประชาชนเข้าใจสุดท้ายก็ให้การสนับสนุน

//--------------------------------------

จีนยกไทยชาติแรกข้าวแลกรถไฟ
โพสต์ทูเดย์
26 ตุลาคม 2556 เวลา 06:11 น.


จีนเผยเห็นแก่มิตรภาพ ยอมให้ไทยบาร์เตอร์เทรดแลกรถไฟชาติแรกในโลก วอนคนไทยมั่นใจ

หยิน ไห่หง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองสถานทูตจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยในงานนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงของจีน ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ มักกะสัน ว่า ไทยถือเป็นประเทศแรกในโลกที่รัฐบาลจีนยอมให้มีการเปิดการเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับรถไฟความเร็วสูงได้ เนื่องจากจีนเห็นความสำคัญในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และจีนต้องการสร้างสัมพันธ์ในระยะยาว

ด้าน โจว หลี่ อธิบดีกรมความร่วมมือและการจัดการเทคโนโลยีรถไฟจีน กล่าวว่า จีนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยทุกสายทาง แต่จะได้ดำเนินโครงการใดนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยเป็นผู้ตัดสินใจ ที่ผ่านมาจีนได้ศึกษาเบื้องต้น 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย ส่วนระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาใช้ในไทยนั้น จะเป็นระบบที่ดีที่สุด ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และขอให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย แม้ว่ารถไฟจีนจะเคยเกิดอุบัติเหตุบ้าง แต่เป็นอุบัติเหตุที่ไม่เกี่ยวกับระบบ และปัจจุบันอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถไฟจีนก็ลดลงแล้ว

“เส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีนที่สร้างอยู่ในเส้นทางเกาะไหหลำ มีสภาพอากาศคล้ายคลึงกับทางภาคเหนือของไทยที่มีอากาศร้อนชื้น จีนจึงพร้อมที่จะเข้ามาช่วยสร้างได้ทันที หากได้รับโอกาสจากทางการไทย”โจว หลี่ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่องค์การรถไฟจีนต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือ การสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นกับประชาชนชาวไทย เกี่ยวกับประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูงและระบบเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน เพราะจากการสำรวจพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและยังมีข้อสงสัยมากมายกับเทคโนโลยีของจีน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ระยะแรกประชาชนจะไม่เข้าใจ ที่ผ่านมาชาวจีนก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟของจีนเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี

นอกจากนี้ จีนและไทยมีความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบรถไฟ โดยมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกัน และทั้งสองประเทศได้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟร่วมกัน มีการฝึกอบรมบุคลากรร่วมกันแล้ว และจากการที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้มีการหารือกัน แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงอย่างดียิ่ง
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 171, 172, 173 ... 550, 551, 552  Next
Page 172 of 552

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©