RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311296
ทั่วไป:13272941
ทั้งหมด:13584237
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 196, 197, 198 ... 547, 548, 549  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 07/06/2016 10:31 am    Post subject: Reply with quote

เคาะไฮสปีดไทย-จีนทุ่ม 500 ล้าน ปักหมุดกลางดง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
6 มิถุนายน 2559 เวลา: 20:00:56 น.


"ไทย-จีน" เคาะราคาสุดท้ายไฮสปีดเทรน "กทม.-โคราช" เงินลงทุน 189,999 ล้านบาท ทุ่ม 500 ล้าน ปักหมุด "กลางดง-ปางอโศก" ระยะทาง 3 กม. เป็นจุดคิกออฟโครงการให้ทัน ก.ย.นี้ตามข้อตกลง MOU หลังเลื่อนตอกเข็ม 2 ครั้ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มิ.ย.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 11 ที่ประเทศไทย จะหารือถึงข้อสรุปจากการประชุมครั้งที่ 10 ที่ปรับรายละเอียดกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ซึ่งจะต้องมีการลงนาม FOC (Framework of Cooperation) กันใหม่

เบื้องต้นได้ข้อสรุปร่วมกับจีนถึงกรอบเงินลงทุนในเฟสแรกกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. จะใช้เงินลงทุน 189,999 ล้านบาท ลดจากเดิมที่จีนเสนอ 220,000 ล้านบาท ส่วนราคา 1.7 แสนล้านบาทที่เคยระบุกันก่อนหน้านี้เป็นวงเงินที่ยังไม่รวมช่วงภาชี

"เงินปรับลดไป 3 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากที่ไทยเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้งหมด จึงต้องอ้างอิงราคาก่อสร้างของไทยเป็นหลัก อีกทั้งตัดงานก่อสร้างไม่จำเป็นออก คือ สถานี 3 แห่งที่ภาชี แก่งคอย และโคกสะอาด เหลือ 5 สถานีมี กรุงเทพฯ อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และโคราช เพราะเมื่อปรับเป็นไฮสปีดเทรนแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างสถานีถี่เกินไป เพราะรถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. พร้อมกับปรับขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีเชียงรากน้อย และขยับแนวใหม่ช่วงกรุงเทพฯ-ภาชีประมาณ 80 กม. เลี่ยงท่อก๊าซของ ปตท. และช่วงลำตะคอง" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ยังได้ข้อสรุปร่วมกับจีนจะสร้างบางช่วงให้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเริ่มต้นโครงการตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน จะเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ก.ย. 2559 นี้ โดยจะตัดงานก่อสร้างช่วงสถานีกลางดง-สถานีปางอโศกมาดำเนินการก่อนเป็นลำดับแรก มีระยะทางประมาณ 3 กม. คาดว่าจะใช้ค่าก่อสร้างประมาณ 500 ล้านบาท หลังจากนี้ จะเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

"การที่ตัดบางช่วงมาสร้างก่อน เพื่อให้เห็นว่าโครงการที่ทั้ง 2 รัฐบาลลงนามใน MOU ร่วมกันมีการเริ่มต้นได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ หลังจากที่เลื่อนการก่อสร้างมาแล้วหลายครั้งนับจากครั้งแรกในเดือน ก.ย. 2558 ครั้งที่ 2 เป็นเดือน พ.ค. 2559 และล่าสุดเป็นเดือน ส.ค.-ก.ย. 2559" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ผลประชุมครั้งที่ 10 ที่ผ่านมาประกอบด้วย รูปแบบโครงการเป็นความร่วมมือรูปแบบจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐ วงเงินลงทุนโครงการทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องหาข้อสรุปโดยเร็ว และทำแบบรายละเอียดก่อสร้างให้เสร็จใน 60 วัน รูปแบบการก่อสร้างโครงการแยกเป็น 2 ส่วน คือ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยเข้าร่วมโครงการ จะแบ่งเป็น 4-5 ตอนเพื่อให้ก่อสร้างได้เร็วที่สุด

ส่วนงานระบบและรถไฟความเร็วสูง ฝ่ายจีนจะคัดเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีผลงานให้ไทยพิจารณา ขณะที่การให้บริการเดินรถนั้นฝ่ายไทยจะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ โดยตั้งบริษัทเดินรถ และฝ่ายจีนให้ความช่วยเหลือในช่วงเริ่มต้นด้านการบริหารจัดการ ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร

สำหรับแหล่งเงินลงทุน ฝ่ายไทยจะเป็นผู้จัดหา ขณะเดียวกัน จะพิจารณาใช้เงินกู้จากจีนด้วยในส่วนของงานระบบ หากจีนมีข้อเสนอทางการเงินที่ดีที่สุดให้ โดยไทยขออัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% อีกทั้งยังมีความเห็นรวมกันจะเริ่มการก่อสร้างในส่วนแรกภายในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2559

//-------------

ออกสตาร์ท! เมืองโคราชเตรียมโตก้าวกระโดด เคาะรถไฟความเร็วสูงเริ่มก.ย.59 เชื่อมกทม.ชั่วโมงครึ่ง
โดย admin_koratstartup - มิถุนายน 6, 2016
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 07/06/2016 8:01 pm    Post subject: Reply with quote

สามารถ ชี้ รถไฟเร็วสูงเชียงใหม่ยุคบิ๊กตู่ แพงกว่ายุคปู 51% ฟันธงเจ๊งแน่ญี่ปุ่นหนี
มติชน

วันที่: 6 มิถุนายน 2559 เวลา: 16:34 น.

วันนี้ (6 มิ.ย.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เปรียบเทียบค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่า

เมื่อเร็วๆ นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นมีค่าก่อสร้างบานปลาย และให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ผมได้เปรียบเทียบค่าก่อสร้าง (รวมค่าเวนคืน ค่าระบบรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบตั๋ว ระบบสื่อสาร ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง) สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระหว่างรัฐบาลประยุทธ์กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ได้บรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ….หรือร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ปรากฏว่าได้ผลดังนี้

รัฐบาลประยุทธ์

ค่าก่อสร้าง 530,000 ล้านบาท
ระยะทาง 672 กิโลเมตร
ค่าก่อสร้างต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร 789 ล้านบาท

รัฐบาลยิ่งลักษณ์

ค่าก่อสร้าง 387,821 ล้านบาท
ระยะทาง 745 กิโลเมตร
ค่าก่อสร้างต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร 521 ล้านบาท

นั่นหมายความว่า ค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลประยุทธ์แพงกว่าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึง 268 ล้านบาทต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 51%

ผมได้โพสต์มาหลายครั้งแล้วว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน นั่นคือจะมีรายได้จากค่าโดยสารน้อยกว่ารายจ่ายในการบริหารจัดการเดินรถ รวมทั้งเงินลงทุนก่อสร้าง หรือที่พูดกันว่ามีผลตอบแทนทางด้านการเงินไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่มีความพยายามที่จะอธิบายว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น มีการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดเวลาการเดินทาง ลดการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง ลดอุบัติเหตุจราจร และช่วยให้มีการพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานี หรือที่พูดกันว่ามีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งท่านรมว.คมนาคมก็มีความเห็นเช่นนี้

แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต้องมีการบริหารจัดการให้มีผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเป็นจำนวนมาก โดยจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางรถไฟ โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ สถานี ควบคู่ไปกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะต้องใช้เวลาการพัฒนายาวนาน ไม่ใช่คิดจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงก็ลงมือก่อสร้างทันที ไม่คำนึงถึงสิ่งเกี่ยวข้องอื่น ซึ่งจะทำให้ได้รถไฟความเร็วสูงในลักษณะ “โดดเดี่ยว” หรือ “standalone” ไม่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งอื่น

โดยสรุป รัฐบาลไม่ควรเสียเวลาที่จะผลักดันโครงการถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่อีกต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลมีเงินมากพอที่จะก่อสร้างก็สุดแล้วแต่รัฐบาล หากจะหวังให้ญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะเขารู้ว่าจะเจ๊งแน่ เขาไม่เอาด้วยหรอกครับ

ที่สำคัญ หากคุณยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เห็นค่าก่อสร้างของรัฐบาลนี้ ท่านอาจจะพูดว่า “รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เจียงใหม่ของรัฐบาลตู่แปงขนาด แปงกว่าของปูจ้าดนัก”
แล้วรัฐบาลจะว่าอย่างไร?
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 13/06/2016 5:15 pm    Post subject: Reply with quote

ญี่ปุ่นขอพ่วง พื้นที่สถานีไฮสปีด เปิดศึก "จีน" ชิงราง กทม.-ภาชี
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
13 มิถุนายน 2559 เวลา:15:20:56 น.


แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การหารือร่วมกับญี่ปุ่นถึงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 669 กม.ยังมีข้อมูลไม่ตรงกับผลศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เรื่องเงินลงทุนที่ญี่ปุ่นเสนอ 546,000 ล้านบาท สูงกว่าของ สนข.ศึกษาไว้ 450,000 ล้านบาท ประมาณ 96,000 ล้านบาท เนื่องจากญี่ปุ่นคิดค่าก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-ภาชีที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนรถไฟไทย-จีนแยกออกมา จากเดิม สนข.จะคิดโดยให้ญี่ปุ่น-จีนใช้รางร่วมกัน จึงทำให้เงินลงทุนถูกกว่า

"เงินลงทุนโครงการที่เพิ่มขึ้น ทางญี่ปุ่นมีข้อเสนอแนะให้แบ่งสร้างเป็นเฟสเริ่มจากกรุงเทพฯ-ลพบุรี ขณะที่ไทยเสนอสร้างถึงนครสวรรค์ จากเดิมที่ไทยแบ่งสร้าง 2 เฟส คือ รุงเทพฯ-พิษณุโลกและพิษณุโลก-เชียงใหม่"





นอกจากนี้ปริมาณผู้โดยสารยังไม่ได้ข้อสรุปตรงกัน โดย สนข.ประมาณการไว้ปี 2568 ตลอดเส้นทางจะมีผู้โดยสาร 45,000 เที่ยวคน/วัน ขณะที่ญี่ปุ่นมองว่าสูงเกินไป เนื่องจากอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้การเดินทางลดลง ส่วนไทยมองว่าจะมีการโยกย้ายถิ่นฐานจากคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด หากการเดินทางไปในหัวเมืองต่าง ๆ ใช้เวลาน้อย อีกทั้งการก่อตั้งบริษัทขนาดกลาง ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เดือนมิ.ย.นี้จะได้ข้อสรุปเงินลงทุน แผนงานก่อสร้าง ปริมาณผู้โดยสาร เพื่อนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดและรูปแบบการดำเนินการ เนื่องจากยังอยู่ขั้นศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งญี่ปุ่นทำงานละเอียด จึงใช้เวลานาน จะเริ่มออกแบบรายละเอียดปี 2560 เปิดประมูลก่อสร้างปี 2561

"ญี่ปุ่นแนะให้ค่อย ๆ ทำไป เพราะใช้เงินลงทุนสูง และยังให้ไทยทำแผนพัฒนาเมืองมีรถไฟวิ่งผ่าน เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใช้เวลาคืนทุนนาน ต้องมีรายได้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สองข้างทางเสริม โครงการนี้ในเชิงเศรษฐกิจคุ้มค่า แต่ผลตอบแทนการเงินยังไม่ถึงเกณฑ์ 12% แนวทางการลงทุนที่เหมาะสม คือ รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเดินรถจะให้รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชนดำเนินการ"

ด้านเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-แหลมฉบังระยะทาง574 กม. อยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจร่วมกัน หลังญี่ปุ่นทดลองเดินรถขนส่งสินค้าขนาด 12 ฟุตจากหนองปลาดุก-แหลมฉบัง เส้นทางสายเหนือและสายอีสาน ยังมีปัญหาการขนส่งที่ยังไม่ตอบโจทย์ตลาด ต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อนจะจัดตั้ง SPV ซึ่งได้จัดตั้งสำนักงานเพื่อสำรวจและพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟที่บริษัท โตโยต้า ทูโซ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2559

"ลูกค้าที่ใช้บริการมีอยู่ แต่ต้องทำการตลาดมากขึ้น ซึ่งประเทศกัมพูชามีสินค้าที่จะลงมาท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้ระบบรางจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพราะมีทางรถไฟไปถึงปอยเปต"

ทั้งนี้ญี่ปุ่นยังเสนอให้ปรับปรุงทางรถไฟเดิมให้มีประสิทธิภาพในการเดินรถก่อนพร้อมกับจัดโซนนิ่งการเดินรถและปรับปรุงจุดเชื่อมต่อและการเข้าถึงระบบรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟชานเมืองสายสีแดง

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 12 สถานีตามที่ญี่ปุ่นมีข้อเสนอให้ไทยเร่งจัดทำแผนเพื่อประกอบการลงทุน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 16/06/2016 4:18 pm    Post subject: Reply with quote

ไทย-จีน ดีเดย์ตอกเข็มสถานีกลางดง 3.5 กม. นำร่องไฮสปีดกรุงเทพ-โคราช
โดย MGR Online
16 มิถุนายน 2559 15:06 น. (แก้ไขล่าสุด 16 มิถุนายน 2559 15:39 น.)

"อาคม"เคาะก.ย.59 ตอกเข็ม รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีนที่ สถานีกลางดง ระยะทาง 3.5 กม. เพื่อเริ่มต้นโครงการ พร้อมสั่งลดค่าลงทุนลงอีก หลังเห็นว่าราคาที่จีนเสนอสูงไป พร้อมเร่งจีนออกแบบรายละเอียดช่วงกรุงเทพ-โคราช แบ่งตอนและทำไทม์ไลน์ทยอยก่อสร้างแต่ละตอนให้ชัดเจน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2559 ที่ กรุงเทพ ว่า ได้ติดตามการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะแบ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-โคราช ระยะทาง 252.35 กม.ออกเป็นตอน ๆ โดยจะเริ่มก่อสร้างตอนที่ 1 ข่วงสถานีกลางดง (จ.นครราชสีมา) ระยะทาง 3.5 กม. ก่อนในเดือนก.ย.2559 เพื่อเป็นการเริ่มต้นโครงการ โดยได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนออกแบบรายละเอียด (Detail&Design) ให้แล้วเสร็จภายใน1 เดือน เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในเดือนส.ค.

ส่วนวงเงินลงทุนทั้งโครงการจะต้องสรุปให้ได้ภายในครั้งนี้ เพื่อเป็นกรอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งได้สั่งให้ฝ่ายเทคนิคของทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันเพื่อปรับลดวงเงินลงอีก เนื่องจากยังเห็นว่าตัวเลขที่จีนเสนอมายังสูงไป

"ค่าก่อสร้าง 2 ฝ่ายต้องคุยกันเพื่อปรับลดลงอีก แต่หลักการจะไม่ลดสถานี โดยจะมี 6 สถานีตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเดิมซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ออกแบบไว้ รวมถึงการลดต้นทุนจะต้องไม่กระทบต่อมาตรฐานโครงสร้าง ระบบ และความปลอดภัย"

โดย หลักการจะใช้งบประมาณสำหรับการเวนคืน ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จะใช้เงินกู้ภายในประเทศหรืออาจจะระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนระบบ รถไฟ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถใช้ได้ทั้ง กู้เงินในประเทศ กู้จากต่างประเทศ หรือกู้จากจีน ขึ้นกับกระทรวงการคลังจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาสมที่สุด

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สรุปราะเอียดการก่อสร้าง เมื่อเริ่มตอนแรก ช่วง สถานี กลางดง ระยะทาง 3.5 กม.ไปก่อนแล้ว จะต้องแบ่งตอนการก่อสร้างในส่วนที่เหลือให้ชัดเจนว่ามีกี่ตอน และแต่ละตอนการออกแบบรายละเอียดจะเสร็จเมื่อใด จะเริ่มก่อสร้างในแต่ละตอนช่วงเวลาใด เนื่องจาก ทางจีนระบุว่า จะออกแบบรายละเอียดตลอดเส้นทางระยะทางกว่า 250 กม.เสร็จในอีก 8 เดือน หรือเสร็จในเดือนก.พ.2560 ซี่งไทยมองว่าหากรอให้การออกแบบเสร็จทั้งโครงการแล้ว ค่อยก่อสร้างคงไม่ได้ เพราะต้องการให้ทยอยก่อสร้างในตอนต่อๆไป หลังจากเริ่มตอนแรกแบบต่อเนื่อง

"การเริ่มช่วงสถานีกลางดง โคราชก่อน เพราะระยะทางสั้น เป็นทางเรียบ ใช้พื้นที่เขตทางรถไฟตลอด ไม่ต้องเวนคืนเพิ่มเติม ถือว่าอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งจะใช้ม.44 ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นเสนอ EIA ดังนั้นเมื่อเปิดประมูลได้ผู้รับเหมาแล้วจะลงนามสัญญาได้ต้องรอ EIA ผ่านก่อน แต่ไม่น่ามีปัญหา"

โดยในช่วงบ่าย จะมีการหารือการปรับรายละเอียดของกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) ใหม่ เนื่องจากหลักการตามข้อตกลงเดิมมีการเปลี่ยนแปลง และช่วงเย็นวันนี้ (16 มิ.ย.) จะมีการลงนามเพื่อรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 11 ต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 17/06/2016 9:15 am    Post subject: Reply with quote

ได้ข้อยุติรถไฟไฮสปีดไทย – จีน ประเดิมสร้างก่อน 3.5 กม. สถานีกลางดง เริ่มสร้างสิงหาฯ-กันยาฯ
มติชน
วันที่: 16 มิถุนายน 2559 เวลา: 15:52 น.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยผลการประชุมร่วมคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 11 พร้อมด้วยนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่กระทรวงคมนาคมว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงแนวทางการพัฒนาโครงการช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.) ให้เกิดขึ้นโดยเร็วตามกำหนดก่อสร้าง เดือนสิงหาคม – กันยายนนี้ จึงจะเริ่มต้นออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง (ดีเทลดีไซน์) ในส่วนของพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน คือบริเวณสถานีกลางดง เพื่อเชื่อมต่อจ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา ระยะทาง 3.5 กม. โดยทางไทยยื่นเสนอให้จีนเร่งศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับจากนี้

“เริ่มต้นส่วนของเส้นทางที่มีความพร้อมก่อน อย่างสถานีกลางดงพบว่าเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ไม่มีแนวยกระดับ ไม่มีสิ่งกีดขวางแนวเส้นทาง จึงเป็นส่วนที่มีความพร้อมในการก่อสร้างได้เลย จึงเสนอให้จีนกลับไปออกแบบ ซึ่งจีนขอเวลา 2 เดือน แต่ไทยมองว่าช้าไปขอให้แล้วเสร็จใน 1 เดือนเพื่อเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาในช่วงที่เหลือและก่อสร้างโครงการทันกำหนดเดือนสิงหาคม – กันยายนนี้ และระหว่างนั้นให้คณะทำงานไทย-จีนร่วมกันออกแบบแนวเส้นทางช่วงอื่นๆ ขยายออกไปเป็นระยะๆ เพื่อทยอยก่อนสร้างโครงการให้เสร็จทั้ง 250 กม. ภายใน 8 เดือนนับจากนี้”

นายอาคม กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในส่วนของรายละเอียดความร่วมมือจะยังคงเป็นภายใต้การดำเนินงานรูปแบบ Engineering Procurement and Construction หรือ อีพีซี แบ่งออกเป็น 2 สัญญา คืองานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (อีพีซี -1) ไทยจะดำเนินการเอง โดยคัดเลือผู้รับเหมาไทยเข้าร่วม และงานระบบรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) หรืออีพีซี -2 จีนจะคัดเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีผลงานด้านรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เข้ามาดูแล ดังนั้นในส่วนนี้ไทยจึงมองว่าจีนควรจะมีส่วนรวมในการออกแบบโครงสร้างด้วยเพื่อใหสอดคล้องกับงานระบบและเทคโนโลยีของจีน ขณะที่ประเด็นวงเงินการลงทุนนั้น ฝ่ายไทยยังมีความเห็นว่าวงเงินที่จีนเสนอมายังสูง จึงมอบหมายให้คณะทำงานด้านเทคนิคกลับไปพิจารณารายละเอียดก่อสร้างว่าจะสามารถปรับลดวงเงินส่วนใดได้อย่างมีเหตุผล

นายอาคม กล่าวว่า เรื่องของวงเงินก่อสร้างจะต้องได้ข้อสรุปโดยเร็วเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบพร้อมกับรายละเอียดโครงการก่อสร้าง ส่วนวงเงินลงทุนโครงการส่วนแรกที่จะพัฒนา 3.5 กม.นั้น คาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนในประเทศ โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณา เช่นเดียวกันประเด็นของแหล่งเงินกู้โครงการทั้งหมด ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาโดยยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่าจะกู้จากทางจีนหรือกู้ในประเทศ “ยืนยันว่าการก่อสร้างในส่วนแรกที่จะเกิดขึ้นถือเป็นความพร้อมของโครงการและจะมีการก่อสร้างให้เกิดความต่อเนื่อง อีกทั้งรายละเอียดของสถานีก็ยังคงเป็นแผนเดิม คือพัฒนาทั้งสิ้น 6 สถานี ประกอบไปด้วย บางซื่อ – ดอนเมือง – อยุธยา – สระบุรี – ปากช่อง – นครราชสีมา หากถามว่าระยะทาง 3.5 กม.เป็นการพัฒนาเชิงลักษณ์หรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ใช่ แต่จะเป็นเซ็คชั่นแรกเหมือนการสร้างบ้านสร้างถนนมันต้องมีแบบ ถ้าไม่มีแบบจะไปถอดราคาไม่ได้ ประมูลไม่ได้ ส่วนประเด็นระยะทางสั้นไปไหม ก็อยู่ที่ว่าการออกแบบรายละเอียดทำได้เร็วไหม ถ้ายิ่งยาวจะยิ่งช้า”
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 17/06/2016 9:34 am    Post subject: Reply with quote

บีบลงทุนไฮสปีดกรุงเทพ-โคราช1.79แสนล. ตอกเข็มสถานีกลางดง นำร่อง ก.ย.นี้
โดย MGR Online
17 มิถุนายน 2559 06:41 น.

แบ่งสร้างไฮสปีดโคราช4เฟส
โพสต์ทูเดย์
18 มิถุนายน 2559 เวลา 08:35 น.

บีบลงทุนไฮสปีดกรุงเทพ-โคราช1.79แสนล. ตอกเข็มสถานีกลางดง นำร่อง ก.ย.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ H.E. Mr. Wang Xiaotao รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 11 ในวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรม รอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ

"อาคม"เคาะก.ย.59 ตอกเข็ม รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีนที่ สถานีกลางดง ระยะทาง 3.5 กม. เพื่อเริ่มต้นโครงการ เร่งจีนออกแบบรายละเอียดใน1 ด.เพื่อเร่งประมูล พร้อมเจรจาบีบค่าลงทุนโครงการลงอีก1 หมื่นล. จากที่จีนเสนอไว้ที่ 1.89 แสนล. มาอยู่ที่ 1.79 แสนล. ขณะที่แบ่ง 4 ช่วงก่อสร้าง



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2559 ที่ กรุงเทพ ว่า จะแบ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-โคราช ระยะทาง 252.35 กม.ออกเป็นตอนๅ โดยจะเริ่มก่อสร้างตอนที่ 1 ข่วงสถานีกลางดง (นครราชสีมา) ระยะทาง 3.5 กม.ก่อน ในเดือนก.ย.2559 เพื่อเป็นการเริ่มต้นโดยได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนออกแบบรายละเอียด (Detail&Design) ให้แล้วเสร็จภายใน1 เดือน เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในเดือนส.ค. นี้

ส่วนวงเงินลงทุนทั้งโครงการจะต้องเร่งสรุป เพื่อเป็นกรอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนก.ค. ซึ่งได้สั่งให้ฝ่ายเทคนิคของทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันเพื่อปรับลดวงเงินลงอีก เนื่องจากยังเห็นว่าตัวเลขที่จีนเสนอมายังสูงไป

"ค่าก่อสร้าง 2 ฝ่ายต้องคุยกันเพื่อปรับลดลงอีก แต่หลักการจะไม่ลดสถานี โดยจะมี 6 สถานีตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเดิมซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ออกแบบไว้ รวมถึงการลดต้นทุนจะต้องไม่กระทบต่อมาตรฐานโครงสร้าง ระบบ และความปลอดภัย"

โดย หลักการจะใช้งบประมาณสำหรับการเวนคืน ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จะใช้เงินกู้ภายในประเทศหรืออาจจะระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนระบบ รถไฟ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถใช้ได้ทั้ง กู้เงินในประเทศ กู้จากต่างประเทศ หรือกู้จากจีน ขึ้นกับกระทรวงการคลังจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาสมที่สุด

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สรุปรายละเอียดการก่อสร้าง เมื่อเริ่มตอนแรก ช่วง สถานี กลางดง ระยะทาง 3.5 กม.ไปก่อนแล้ว จะต้องแบ่งตอนการก่อสร้างในส่วนที่เหลือให้ชัดเจนว่ามีกี่ตอน และแต่ละตอนการออกแบบรายละเอียดจะเสร็จเมื่อใด จะเริ่มก่อสร้างในแต่ละตอนช่วงเวลาใด เนื่องจาก ทางจีนระบุว่า จะออกแบบรายละเอียดตลอดเส้นทางระยะทางกว่า 250 กม.เสร็จในอีก 8 เดือน หรือเสร็จในเดือนก.พ.2560 ซี่งไทยมองว่าหากรอให้การออกแบบเสร็จทั้งโครงการแล้ว ค่อยก่อสร้างคงไม่ได้ เพราะต้องการให้ทยอยก่อสร้างในตอนต่อๆไป หลังจากเริ่มตอนแรกแบบต่อเนื่อง

"การเริ่มช่วงสถานีกลางดง โคราชก่อน เพราะระยะทางสั้น เป็นทางเรียบ ใช้พื้นที่เขตทางรถไฟตลอด ไม่ต้องเวนคืนเพิ่มเติม ถือว่าอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งจะใช้ม.44 ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นเสนอ EIA ดังนั้นเมื่อเปิดประมูลได้ผู้รับเหมาแล้วจะลงนามสัญญาได้ต้องรอ EIA ผ่านก่อน แต่ไม่น่ามีปัญหา"

แหล่งข่าวกล่าวว่า

1. จุดก่อสร้างช่วงแรก สถานีกลางดง คือ ที่กม.150+500 ถึง กม.154 +500 ระหว่างสถานีกลางดง-สถานีปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (สถานีรถไฟปัจจุบันของรฟท.)

นายอาคมกล่าว การเจรจาช่วงบ่าย มีความชัดเจนเพิ่มเติมเรื่องแบ่งการก่อสร้างช่วงที่ 2 โดยกำหนดระยะทางที่ 10 กม. เป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากช่วงแรก โดยให้จีนส่งแบบรายละเอียดในสิ้นเดือนต.ค. -


ช่วงที่ 2 จาก กม.179-189 ซึ่งอยู่เลยจากสถานีปากช่องไปประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงสถานีคลองขนานจิตร 10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงอุโมงค์ โดยจีนจะส่งแบบก่อสร้างให้ไทยภายในเดือน ต.ค. 2559.


ช่วงที่ 3ระยะทาง 120.5 กม. คือ ช่วง จากแก่งคอย มา นครราชสีมา (กม. 119 - 253) โดยครอบคลุุม ส่วน เชื่อมต่อระหว่างช่วง ที่ 1 และ ช่วงที่ 2 - ให้จีนส่งแบบรายละเอียดในสิ้นเดือนธ.ค.59 จริงๆ จะแบ่งเป็นสามส่วนคือ
3.1 แก่งคอย - กลางดง (กม. 119 - กม. 150 + 500)
3.2 กลางดง - ปากช่อง - อุโมงค์ สีคิ้ว ที่ไปคลองขนานจิต (กม. 154 + 500 - กม. 179)
3.3 คลองขนานจิตร - นครราชสีมา (กม. 189 - กม. 253.25)

ช่วงที่ 4 ระยะทาง 119 กม. คือ ช่วงจากสถานีกลางบางซื่อ ไป แก่งคอย (กม. 0 - กม. 119) ส่งแบบละเอียดในเดือนก.พ. 2560


ส่วนราคาที่ทางจีนและไทยได้หารือกันล่าสุดอยู่ที่189,981 ล้านบาท ซึ่งรมว.คมนาคมเห็นว่าสูงไปและสามารถลดลงได้อีก โดยต้องการให้ลดลงอีกอย่างน้อย 7,000 ล้านบาท ขณะที่ คงจำนวน 6 สถานีคือ บางซื่อ,ดอนเมือง,อยุธยา,สระบุรี,ปากช่อง,นครราชสีมา โดยตัดสถานีภาชีและแก่งคอย ซึ่งกำหนดเป็นสถานีเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า โดยเพิ่มขึ้นในช่วงที่ทำเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง กรุงเทพ-หนองคาย แต่ไม่มีความจำเป็นแล้ว เมื่อปรับเป็นรถไฟความเร็วสูง

โดยในช่วงบ่าย ฝ่ายเทคนิคได้หารือถึงตัวเลขค่าลงทุน โดยไทยได้เคาะตัวเลขลงมาที่ 1.79 แสนล้านบาท หรือปรับลดลงประมาณ 1 หมื่นล.ซึ่งต้องรอฝ่ายจีนยังยอมรับ โดยตัวเลขที่ลดลงนี้ จะมีเงื่อนไขในการดำเนินงานเพิ่มเติม ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดของการออกแบบต่อไป

พร้อมกันนี้ ได้หารือการปรับรายละเอียดของกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) ใหม่ เป็น รูปแบบ Engineering Procurement and Construction (EPC) โดยแยกเป็น EPC-1 หรือ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Civil Work) ซึ่งเป็นงานใต้รางลงไป ไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเองโดยคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยดำเนินงาน และEPC-2 หรืองานออกแบบ และงานระบบรางและรถไฟความเร็วสูง (ระบบอาณัติสัญญา ตัวรถไฟ) ซึ่งเป็นความร่วมมือ จีทูจี


ส่วนวงเงินลงทุนในโครงสร้างหลักๆ เห็นตรงกันแล้ว เหลือที่ยังต้องเจรจาต่อรองกับจีน เพิ่มเติมในหมวดรายการอื่นๆ เช่น การฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้องกับรถที่จะเป็นรถจีน การฝึกอบรม การดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งบางรายการคิดค่าใช้จ่ายสูงไป หรือบางรายการอาจเป็นการให้เปล่าได้ เป็นต้น โดยจะมีการประชุมร่วมครั้งที่ 12 ในวันที่ 22 ก.ค. ที่ประเทศไทย


Last edited by Wisarut on 18/06/2016 3:54 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 17/06/2016 7:58 pm    Post subject: Reply with quote

ไฮสปีดเทรน 3.5 กม.เสียงแตก หอการค้าโคราชเชื่อให้นักลงทุนมั่นใจ อดีตเลขาฯแนะชะลอก่อน ชี้ทำแค่นี้นั่งจยย.ก็พอ
มติชน
วันที่: 17 มิถุนายน 2559เวลา: 17:30 น.

วันที่ 17 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเดิมมีแผนที่จะพัฒนา 6 สถานี ประกอบไปด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา แต่ระยะแรกจะมีการเริ่มสร้าง 3.5 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณการลงทุนภายในประเทศก่อน จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างนั้น

ล่าสุด นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนคิดว่าสาเหตุที่รัฐบาลต้องเคาะโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระยะแรก 3.5 กิโลเมตรนั้น เนื่องจากรัฐบาลต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า เพราะโดยตัวโครงการทั้งหมดนั้น มีมูลค่าสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท มีระยะทางรวมประมาณ 250 กิโลเมตร และมีรายละเอียดการออกแบบอีกมากมาย ซึ่งต้องจ้างวิศวกรผู้เชี่ยวชาญออกแบบ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี อีกทั้งค่าออกแบบลักษณะนี้ ก็มีมูลค่าเฉลี่ย 7% ของงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด จึงอาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ในขณะนี้

“เพราะการออกแบบเมกะโปรเจ็กต์เช่นนี้นั้นโดยปกติก็จะออกแบบครั้งเดียวเลย แต่รัฐบาลตัดสินใจที่จะแบ่งการออกแบบเป็นหลายช่วง โดยเลือกช่วงที่มีทางเรียบ ไม่มีภูเขาลาดชันมาใช้ในการออกแบบการก่อสร้างระยะแรกก่อน เพราะง่ายต่อการก่อสร้าง หลังจากนั้นจึงลงทุนก่อสร้างระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้นักลงทุนเห็นว่า โครงการนี้มาแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลเริ่มก่อสร้างให้เห็นแล้ว ส่วนโครงการระยะยาวนั้น ก็คงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร แต่ขอให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงมาแน่นอน” นายหัสดิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายทวิสัน โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ตนได้ยินโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ระยะแรก 3.5 กิโลเมตรแล้ว ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แน่ เพราะระยะทางแค่นี้จะไปใช้งานอะไรได้ แค่นั่งรถจักรยานยนต์ก็พอแล้ว เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ใช่มาทำเล่นๆ แล้วก็ทิ้งให้กลายเป็นความอัปยศ เหมือนหลายโครงการที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตนมองว่าถ้ารัฐบาลยังไม่พร้อมก็ขอให้ชะลอโครงการไว้ก่อน ไม่มีใครว่าอะไรอยู่แล้ว ขอแต่เพียงว่าให้มีแผนการดำเนินงานอย่างรอบคอบ แล้วดำเนินการก่อสร้างไปในคราวเดียวไปเลย แต่หากทำแค่เพียง 3.5 กิโลเมตรแล้ว เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ไม่เอาด้วย ก็จะเสียภาษีของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 18/06/2016 3:16 pm    Post subject: Reply with quote

ผู้รับเหมามึนไฮสปีดไทย-จีน เฟสแรกแค่ 3.5 กม. หวั่นไม่คุ้มทุน
ข่าวสด
วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เวลา 17:49 น.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการความร่วมมือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งรัฐบาล 2 ฝ่ายตกลงที่จะสร้างเฟสแรก ระยะทาง 3.5 กม.ว่า การก่อสร้างเฟสแรกระยะทาง 3.5 กิโลเมตร คาดว่าจะมีมูลค่าการก่อสร้างงานโยธาประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนมูลค่าโครงการก่อสร้างเฉพาะงานโยธารวมทั้งหมด 1.63 แสนล้านบาท คาดว่าจะเร่งรัดเปิดประมูลโครงการในส่วนแรกให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ และเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ก.ย.ที่จะถึง


สำหรับสาเหตุที่ทำให้ไทยและจีนยังไม่สามารถตกลงวงเงินก่อสร้างโครงการโดยรวมร่วมกันได้ เนื่องจากยังสรุปไม่ได้เรื่องค่าใช้จ่ายในการออกแบบก่อสร้าง โดยที่ผ่านมารัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนรูปแบบรถไฟจากความเร็วปานกลาง 180 กม./ชม. เป็น รถไฟไฮสปีดเทรนความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง ทำให้จีนต้องออกแบบใหม่เป็นครั้งที่2 รวมทั้งเปลี่ยนจากร่วมทุนกับจีนมาเป็นไทยลงทุนเอง ทำให้จีนคิดค่าใช้จ่ายในการออกแบบกับฝ่ายไทยจำนวน 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่จีนตกลงว่าจะออกแบบให้ฟรี ส่วนนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มูลค่าลงทุนโครงการลงทุนของจีนสูงกว่าไทยและยังตกลงกันไม่ได้


ด้านนายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าการก่อสร้างเฟสแรก 3.5 กม. บริเวณสถานีกลางดง จ.นครราชสีมา นั้นเป็นเรื่องที่แปลกใหม่มาก เนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ส่วนมากจะต้องมีความชัดเจนเรื่องแผนงาน และระยะของสัญญาการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเอกชนผู้รับเหมา แต่ในส่วนของโครงการไฮสปีดเทรนสายดังกล่าว กลับเริ่มพัฒนาในส่วนที่พร้อมโดยยังไม่รอแผนชัดเจนซึ่งตามหลักหากไม่พร้อมก็ยังไม่ควรเร่งรัด

“โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ตามปกติจะต้องรอแผนงานและแบ่งสัญญาให้ชัดเจน ต้องระบุให้ชัดว่าจะเปิดประมูลส่วนใดเมื่อไหร่ และจะแบ่งสัญญาออกเป็นอย่างไร เพราะเอกชนจะได้มีความเชื่อมั่น ส่วนการก่อสร้างที่เริ่มต้นเพียง 3.5 กม.นั้น ถือเป็นโครงการที่เล็กมาก อาจะส่งผลให้ราคาวัสดุค่าก่อสร้างต่างๆ แพงกว่าการประมูลและจัดซื้อวัสดุล็อตใหญ่ และอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการเข้ามาลงทุนของผู้รับเหมา”

//-----------------------

เอกชนห่วง รถไฟเร็วสูงแผนไม่ชัดอาจไม่คุ้ม โสภณ ซัดเล่นปาหี่ปักหมุด-จองกฐินให้จีน
มติชน
วันที่: 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เวลา: 10:58 น.

ห่วงไม่คุ้มทุน-จองกฐินให้จีน

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในฐานะเอกชนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ โดยโครงการลงทุนใหญ่ขนาดนี้ จริงๆ แล้วน่าจะต้องรอแผนงานและแบ่งสัญญาให้ชัดเจน ต้องระบุให้ชัดว่าจะเปิดประมูลส่วนใด เมื่อไร และจะแบ่งสัญญาออกเป็นอย่างไร เพราะเอกชนจะได้มีความเชื่อมั่น ทั้งนี้ ในฐานะเอกชนส่วนตัวมองภาพรวมของโครงการนี้มากกว่า โดยห่วงว่าการลงทุนจะคุ้มทุนหรือไม่ จะมีปริมาณการใช้งานคุ้มค่าแค่ไหน เพราะปัจจุบันพบว่า การเดินทางด้วยระบบราง ประชาชนที่เดินทางมาจะต้องไปต่อรถอีก

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้สัมภาษณ์ ว่า เปรียบเสมือนการเล่นปาหี่ของรัฐบาล ที่ต้องการปักหมุดและจองกฐินให้รัฐบาลจีนเพื่อให้ได้รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ไป ทั้งๆ ที่ยังไม่มีรูปแบบสัญญาที่ชัดเจน แต่รัฐบาลกลับตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการนี้ แทนที่จะมีการศึกษาและวางแผนการก่อสร้างให้ดี และรอบด้านมากกว่านี้เสียก่อน

//-----------------------------------

วิศวกรรมสถานฯยัน สร้างรถไฟเร็วสูง 3.5 กม.ไม่แปลก ช่วยสร้างความมั่นใจปชช.
มติชน
วันที่: 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เวลา : 11:12 น.

วสท.ชี้ไม่แปลก-ชูเริ่มต้นที่ดี

นายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพียง 3.5 กม.ก่อน ตามหลักวิศวกรรมถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในช่วงที่ผ่านมา เคยมีการก่อสร้างโครงการระยะทางสั้นๆ ก่อน อาทิ การตอกเสาเข็มเพื่อป้องกันการทรุดตัวของถนนบางนา-ตราด เหมือนกับการก่อสร้างเพื่อเป็นการทดลองไปก่อนว่า โครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หากพบว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงก็ดำเนินก่อสร้างไปจนจบโครงการ

“การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แม้จะเริ่มต้นเพียงระยะสั้นๆ แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะทำช่วยสร้างความเชื่อมั่นใจแก่ประชาชนว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยได้เกิดขึ้นแล้ว” นายเอนกกล่าว

//-----------------------------

เผยรถไฟเร็วสูง3.5 กม.ใช้งบ2พันล้าน จี้จีนเร่งออกแบบ เริ่มสร้างในก.ย.นี้
มติชน
วันที่: 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เวลา : 22:48 น.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการความร่วมมือไทย – จีนเพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.) ว่า สำหรับข้อสรุปของการหารือครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา ภายใน 1 เดือนนับจากนี้ ทางจีนจะต้องเร่งสรุปการออกแบบดีไซด์ในระยะทาง 3.5 กม. บริเวณสถานีกลางดงมาให้ไทยพร้อมทั้งต้องสรุปวงเงินก่อสร้างที่ชัดเจนว่าจะต้องจัดใช้เทคโนโลยีอย่างใดเพื่อจะนำไปสู่การเร่งรัดเปิดประมูลโครงการในส่วนแรกให้แล้วเสร็จภายในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคมนี้ และเริ่มก่อสร้างภายในเดือนกันยายนที่จะถึง

แหล่งข่าว กล่าวว่า การเริ่มต้นลงทุนเพียง 3.5 กม.นั้น แม้จะเป็นเรื่องแปลกใหม่ของการเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ผิดหลักการลงทุนเนื่องจากกระทรวงฯ มีความเห็นว่าหากจีนสามารถเร่งรัดออกแบบส่วนใดแล้วเสร็จก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ออกแบบเสร็จทั้งโครงการถึงจะเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูล โดยหากทยอยเปิดประมูลและเริ่มต้นก่อสร้างทันทีก็จะทำให้ตัวโครงการเดินหน้ารวดเร็วและต่อเนื่อง เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ว่าอยากให้เร่งรัดโครงการความร่วมมือพัฒนาไฮสปีดเทรนเส้นทางแรกให้เกิดขึ้นในไทย

แหล่งข่าว กล่าวว่า ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดของวงเงินการลงทุนส่วนแรก 3.5 กม.นั้น พบว่ามีมูลค่าราว 2 พันล้านบาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายการลงทุนงานโยธาทั้งหมดของโครงการมีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท เฉลี่ยเป็นวงเงินราว 590 ล้านบาท ต่อระยะ 1 กม. ขณะที่ปัญหาของการหารือครั้งล่าสุดยังไม่ได้ข้อยุติพบว่าประเด็นหลักอยู่ที่รายละเอียดวงเงินที่มีเพิ่มเติมเข้ามา เช่น วงเงินค่าออกแบบ ข้อตกลงเดิมจีนเป็นจะเป็นฝ่ายสนับสนุน แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีการออกแบบโครงการเป็นความเร็ว 180 กม./ชม. แล้วเสร็จ แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็น 250 กม./ชม. จึงต้องทำการออกแบบใหม่และไทยต้องรับผิดชอบค่าออกแบบเป็นวงเงิน 3 พันล้านบาท เป็นต้น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 21/06/2016 7:49 pm    Post subject: Reply with quote

รมว.คมนาคม เตรียมเสนอรถไฟไทย-จีนเข้าครม.ในก.ค. รอเคาะเงินลงทุนสัปดาห์นี้ เบื้องต้นคาดไม่เกิน 1.8 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) --
อังคารที่ 21 มิถุนายน 2559 16:49:13 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม คาดว่าจะนำเสนอโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน ก.ค.นี้ โดยในเบื้องต้นมูลค่าโครงการไม่เกิน 1.8 แสนล้านบาท ที่รวมงานโยธาและระบบราง ระบบอาณัติสัญญาน และตัวรถไฟ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะต้องได้ข้อตกลงมูลค่าการลงทุน

การดำเนินโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา มีระยะทาง 253 กม. สำหรับงานโยธาแบ่งเป็น 4 ช่วง โดย

1. ช่วงแรกมีระยะทาง 3.5 กม.ที่ทางจีนจะส่งแบบก่อสร้างได้เร็วภายใน 1 เดือนจากนั้นทางไทยจะถอดแบบรายละเอียดเพื่อพร้อมก่อสร้าง และจะเปิดประมูลได้ ส.ค.นี้และเริ่มก่อสร้าง ก.ย.นี้

2. ช่วงที่ 2 มีระยะทาง 10 กม. โดยทางจีนจะส่งแบบงานก่อสร้างในต.ค.
3. ช่วงที่ 3 มีระยะทาง 120.5 กม.จีนจะส่งแบบได้ในเดือนธ.ค. และ
4. ช่วงที่ 4 มีระยะทาง 119 กม.จีนจะส่งแบบในเดือน ก.พ. 60

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในส่วนงานโยธาจะเริ่มดำเนินการตามกันมา เพราะหากรอให้จีนออกแบบทั้งโครงการต้องใช้เวลา 8 เดือน จึงขอให้ทางจีนแบ่งทีมเป็น 4 ทีมเพื่อการออกแบบทั้ง 4 ช่วงซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ทางจีนเป็นผู้ออกแบบ และให้ทางฝ่ายไทยได้เริ่มงานประมูลและก่อสร้างได้เร็วขึ้น

"การนำเสนอโครงการแรกแค่ 3.5 กม.เพื่อใช้เวลาออกแบบได้ภายใน 1 เดือน และเป็นพื้นที่ไม่ต้องเวนคืน ไม่ได้เป็นพื้นที่ภูเขา ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเริ่มก่อสร้างได้เร็ว และก็จะสร้างต่อเนื่อง" รมว.คมนาคม ชี้แจง

สำหรับงานส่วนที่ 2 (EPC2) นอกเหนือจากส่วนงานโยธา (EPC1) จะเป็นงานส่วนที่เหนือจากพื้นผิวโครงสร้าง ประกอบด้วย ตัวรางรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ และตัวรถไฟ รวมค่าใช้จ่ายการออกแบบ ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างสัญญา EPC2

ด้านแหล่งเงินลงทุน ทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดหา โดยคาดว่าจะเป็นเงินกู้ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งพิจารณาจากข้อเสนอและเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยส่วนงาน EPC2 ที่จะต้องใช้ระบบของจีน อาจจะกู้เงินจากจีน แต่ต้องได้ข้อเสนอและเงื่อนไขที่ดีด้วย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42749
Location: NECTEC

PostPosted: 23/06/2016 5:28 pm    Post subject: Reply with quote

สร้างรถไฟเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เฟสแรกกทม.-พิษณุโลก 384 กม.ก่อน เริ่มออกแบบปี60
โดย MGR Online
23 มิถุนายน 2559 16:34 น.

คมนาคม เตรียมเสนอผลศึกษาขั้นกลางรถไฟไทย-ญี่ปุ่นต่อครม. ก.ค.นี้ แบ่งสร้างกทม.-พิษณุโลกก่อน
ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) --
พฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2559 15:30:14 น.

“คมนาคม”ถกญี่ปุ่นสรุปผลศึกษาเบื้องต้นรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ เคาะแบ่งก่อสร้าง 2 เฟส โดยเริ่มเฟสแรก กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 384 กม. พร้อมศึกษาการพัฒนาเชิงพาณิชย์ควบคู่ ช่วยดันผลตอบแทนลงทุน เตรียมชงครม.รับทราบก.ค.นี้ เดินหน้าสรุปผลศึกษาสมบูรณ์คาดเริ่มออกแบบ ปี 60

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ Mr. Tsutomo Shimura รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และคณะทำงานภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในส่วนของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. ว่า ทางญี่ปุ่นได้รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้น โดยจะแบ่งการก่อสร้างโดยเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทางประมาณ 384 กม.และช่วงที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 289 กิโลเมตร ซึ่งพบว่า แนวทางการก่อสร้างที่มีความเหมาะสมในระยะแรกคือก่อสร้าง ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก เพราะมีผลตอบแทนของโครงการดีกว่าการก่อสร้างพร้อมกันทั้งโครงการตั้งแต่กรุงเทพ-เชียงใหม่ โดยทางญี่ปุ่นจะสรุปรายงานขั้นกลางผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนก.ค.นี้

ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ในการลงทุนของการก่อสร้างช่วงที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลกก่อน จะต้องอยู่บนเงื่อนไข ของการพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากรายได้จากโครงการรถไฟความเร็วสูงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีธุรกิจ การพัฒนาพื้นที่ร่วมด้วย ทั้งการพัฒนาพื้นที่ในสถานี พื้นที่สองข้างทางหรือการพัฒนานิคมต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพัฒนาตลอดเส้นทาง แต่พิจารณาจุดที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นช่วงๆ ได้ ซึ่งจะช่วยทำให้ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการดีขึ้น

“หลังที่ได้ให้โจทย์กับทางญี่ปุ่น ให้ทำข้อมูลความคุ้มค่าในการลงทุนในแต่ละแนวทาง เช่น ก่อสร้างพร้อมกันตลอดโครงการ, กรณีแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ,หรือหากจะแบ่งการก่อสร้างแต่ละตอนสั้นลงอีก แต่ละแนวทางมีความคุ้มค่า อย่างไร พบว่า แบ่งสร้างช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก เป็นไปได้และมีผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่วนช่วงที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ จะก่อสร้างเมื่อมีการเจริญเติบโตของเมืองตามการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในช่วงที่ 1 แล้ว เพราะผลตอบแทนโครงการจะดีขึ้น ซึ่งทางญี่ปุ่น จะคำนวณเรื่องผลตอบแทนโครงการให้ชัดเจนต่อไป ส่วนการพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้น เป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เปลี่ยนวิธีการกคิด ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ว่าไม่ใช่เวนคืนที่ดินมาแล้วทำแค่รถไฟอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาว่าช่วงไหนของเส้นทางที่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้ผลตอบแทนต่อโครงการได้”นายอาคมกล่าว

โดยรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมจะเสร็จปลายปี 2559 จากนั้นในปี 2560 จะศึกษาและออกแบบรายละเอียด ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ส่วนการก่อสร้างในช่วงแรก กรุงเทพ-พิษณุโลกคาดว่าจะใช่เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และเมื่อเสร็จจะเปิดให้บริการก่อน ซึ่งถือว่าเร็ว เนื่องจาก รถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น ใช้เวลาศึกษา 3 ปี ออกแบบอีก 5 ปี สำหรับการลงทุนจะมีหลายรูปแบบ รัฐบาลลงทุนหรือเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งจะต้องสรุปรายละเอียดมูลค่าโครงการก่อสร้าง ส่วนการบริหารการเดินรถนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะ ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารงาน

อย่างไรก็ตาม ได้ขอให้ญี่ปุ่นช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพราะมีประสบการณ์ ซึ่งทางไจก้าตอบรับในการให้ความช่วยเหลือแล้ว ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการมองภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาช่วยอีกทาง โดยจะเสนอของบประมาณเพื่อทำการศึกษาควบคู่ไปกับญี่ปุ่น

“เราต้องเรียนรู้จากญี่ปุ่น กรณี ชินคันเซ็นของญี่ปุ่น ผ่านเมืองเล็กๆ การพัฒนาต่างๆยังใช้เวลาเป็น 10 ปี ซึ่งต้องอยู่ที่ว่าวิธีการจะพัฒนาอย่างไร รัฐจะพัฒนาเองหรือให้เอกชนพัฒนา ซึ่งการให้เอกชนพัฒนา สิ่งสำคัญคือเรื่องการวางผังพื้นที่วางผังการใช้ประโยชน์แล้วค่อยจัดรูปที่ดิน หากจุดไหนจำเป็นจะซื้อที่ดินเลย ญี่ปุ่นทำแบบนี้ เพราะมีกระทรวงที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว รวมงาน 4 เรื่องไว้กระทรวงเดียวกัน ดงนั้นการพัฒนาการก่อสร้างโครงการต่างๆ จะมีอำนาจในการเวนคืนและซื้อที่ดินด้วย”

//-------------
คมนาคมจ่อชง ครม.ไฟเขียว สร้างไฮสปีดเทรนไทย-ญี่ปุ่น เฟสแรก กทม.-พิษณุโลก 380 กิโลฯ ก.ค.นี้

วันที่: 23 มิถุนายน 2559 เวลา: 14:25 น.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับนาย Tsutomu Shimura รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นได้รายงานผลความคืบหน้าผลการศึกษาความเป็นไปขั้นกลางของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระบบรางไทย-ญี่ปุ่นเพิ่มเติม โดยเห็นว่าไทยควรแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. และระยะที่ 2 ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 292 กม.

ทั้งนี้ เห็นว่าควรจะต้องก่อสร้างระยะที่ 1 ก่อน เนื่องจากให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าการก่อสร้างครั้งเดียวตลอดทั้งเส้นทาง แต่ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขการที่ไทยสามารถนำที่ดินบริเวณสองข้างทางและโดยรอบสถานีมาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับเปิดให้บริการเดินรถด้วย โดยคาดว่าญี่ปุ่นจะเสนอผลการศึกษาขั้นกลางอย่างเป็นทางการให้ฝ่ายไทยเร็วๆ นี้ และจะนำเสนอผลการศึกษาให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในเดือนกรกฎาคมนี้

“หาก ครม.เห็นชอบรายงานผลการศึกษาขั้นกลาง ญี่ปุ่นจะเริ่มศึกษาความเหมาะสมขั้นสุดท้ายและทำการออกแบบการก่อสร้างอย่างละเอียดต่อไป ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปี 2560 จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างในปี 2561 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างอย่างต่ำ 3 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่เร่งให้เร็วขึ้นแล้ว จากเดิมที่ญี่ปุ่นระบุว่าต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 5 ปี” นายอาคม กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 196, 197, 198 ... 547, 548, 549  Next
Page 197 of 549

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©