Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311296
ทั่วไป:13273054
ทั้งหมด:13584350
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 341, 342, 343 ... 547, 548, 549  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 07/10/2019 10:23 am    Post subject: Reply with quote

คำถาม6ข้อที่ "อนุทิน-ศักดิ์สยาม"ต้องตอบสังคม รื้อสายสีส้มตะวันตกเพื่ออะไร ? เกมกวนน้ำ"รถไฟ 3 สนามบิน"ให้ขุ่นบีบ CPH เพื่อใคร ? "พาราควอต-กัญชา"ทำเพื่อประชาชนได้ แต่เมกะโปรเจกต์เพื่อตัวเอง ?
ข่าวปนคน คนปนข่าว

โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: จันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 เวลา 00:44
ปรับปรุง: จันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 เวลา 07:15

**คำถาม 6 ข้อที่ "อนุทิน-ศักดิ์สยาม" ต้องตอบสังคม รื้อสายสีส้มตะวันตก เพื่ออะไร ? เกมกวนน้ำ "รถไฟ 3 สนามบิน"ให้ขุ่น บีบ CPH เพื่อใคร ? "พาราควอต-กัญชา" ทำเพื่อประชาชนได้ แต่เมกะโปรเจกต์ เพื่อตัวเอง ?

เมกะโปรเจกต์ 1.94 ล้านล้าน ที่รัฐบาลฝากความหวังไว้ว่าจะเป็น "ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ" มาถึงตรงนี้ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ถ้ารมว.คมนาคม"ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" และ รองนายกฯ "อนุทิน ชาญวีรกูล" พรรคภูมิใจไทย ยังทำตัวให้คนครหาว่า มาทำงานเป็น "ตัวแทนกลุ่มทุนตัวเอง" มากกว่า "ตัวแทนประชาชน" ผลประโยชน์ของชาติ ก็เลยยักแย่ยักยัน กันอย่างที่เห็น

เรื่องนี้เป็นเส้นบางๆ ของ "conflict of interest"ผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างการเมือง-ธุรกิจ ที่ก่อนจะจัดตั้ง"รัฐบาลลุงตู่ 2" คนเขาก็ห่วงว่า ภูมิใจไทย ที่ต่อรองจะเอา"คมนาคม"ให้ได้นั้น เพราะมี "วาระซ่อนเร้น" ?

ใครๆก็รู้ว่า "ซิโน-ไทย" หรือ STEC ของตระกูล "ชาญวีรกูล" เป็นยักษ์ใหญ่ก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มทุนพันธมิตร ที่ร่วมทุนรับงานภาครัฐ-เมกะโปรเจกต์ อยู่หลายโครงการ และยังมีโอกาสเข้าประมูลงานที่ "คมนาคม" คุมอยู่อีกหลายโปรเจกต์ ค่างานว่ากันหลายแสนล้าน ถึงล้านล้าน !

เวลานี้ ร่ำลือกันไปทั่ว คมนาคม ยุคนี้ คิด และ ทำเหมือน "ใครเป็นคู่แข่งกลุ่มทุนของตนเอง" ต้องโดนหมด ต้องกินรวบหมด ? ประกาศจะแบล็กลิสต์คู่แข่งสำคัญ และ ประกาศจะเข้าประมูลแทนที่อย่างโจ่งครึ่ม

แน่นอนว่า "เสี่ยหนู" อนุทิน อาจจะไม่คิด ไม่เคยคิด แต่นักวิเคราะห์หุ้นเขาคิด ไปไล่เรียงดูได้จากบทวิเคราะห์หุ้น "STEC"ได้เลย ตั้งแต่มีข่าว "ศักดิ์สยาม" จะรื้อนั่น เปลี่ยนนี่ มีคำแนะนำให้เก็บหุ้น "STEC"เข้าพอร์ตกันทั้งนั้น

แมลงเม่าบินกันให้ว่อนทั่วตลาดหุ้น มีความหวังกับหุ้น STEC จะทำให้ "เป๋าตุง" ไม่ต้องพึ่ง "ชิมช้อปใช้"

เรื่องที่ผ่านขั้นตอนกฎหมาย ผ่านสภามาแล้ว เรื่องที่ควรไปต่อ "ท่านรมว.ศักดิ์สยาม" ทำเหมือนกำลังประมูลงานก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ไปรื้อใหม่ เปลี่ยนใหม่ แยกสัญญาออก ทำให้ป่วนซะงั้น เลยมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ทำแบบนี้ หรือเพื่อเคาะกะลา ? แทนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จะพารัฐบาลถอยหลังเอา...

นี่มันโครงการใหญ่ มีกฎหมาย มีกติกา จะมาเล่นขายของ "ลุยถั่ว" ทำมั่วๆ กันหรืออย่างไร นักลงทุน ภาคเอกชน ใครเขาจะรับได้ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเคลียร์ให้ชัด ถ้ายังยืนยันจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เรื่องครหาพวกนี้ต้องจบ ต้องมีคำตอบที่โปร่งใสให้ประชาชน

ยกตัวอย่าง "สายสีส้มตะวันตก 1.2แสนล้าน" โครงการนี้เป็นโครงการร่วมลงทุน PPP ซึ่งต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน พ.ศ.2562 โดย รฟม.ได้เสนอผลการศึกษาฯ ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด รฟม. กระทรวงคมนาคม สภาพัฒน์ และ คณะกรรมการ PPP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อเปิดประมูล ย้ำว่า เหลือเพียงนำเข้า ที่ประชุมครม.เท่านั้น !

รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost

ให้เอกชนลงทุนทั้งหมด โดยรัฐ ทยอยจ่ายคืนค่างานก่อสร้างโยธา เพื่อลดปริมาณหนี้สาธารณะของรัฐ และให้เอกชนผู้ลงทุนรับความเสี่ยงดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน เพราะที่ผ่านมาพอแยกสัญญาจะไม่มีผู้รับผิดชอบ ทำให้งานแล้วเสร็จไม่พร้อมกัน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

"เสี่ยหนู-ศักดิ์สยาม" บอกว่า "มั่ว" จะขอเปลี่ยนใหม่ ล้ม ppp เล่นเอา "งง" ไปทั้งบาง !

ทั้งๆ ที่ รูปแบบนี้ใช้กับโครงการ Hispeed Train เชื่อม 3 สนามบิน และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง มาแล้ว

สำคัญ คือ ทั้งสองสาย ชมพู/เหลือง ผู้ชนะการประมูล คือ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture:BSR JV) ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS),บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)โดยให้เอกชน ร่วมลงทุนเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี

แบบเดียวกันเป๊ะ! กับสายสีสัมตะวันตก !

คำถามที่เกิดขึ้น คือ

1. รื้อรูปแบบการลงทุน เพื่ออะไร ทั้งที่ผ่านคณะกรรมการ PPP ซึ่งตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2562 นายกฯ เป็นประธาน (รองฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปฏิบัติหน้าที่แทน )

2.รูปแบบที่ "อนุทิน-ศักดิ์สยาม" ต้องการเปลี่ยนแยกงานโยธามาประมูลต่างหาก ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถ้าแยกแล้วใครได้ประโยชน์ ?

3. ทำไมไม่ทบทวนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาล แต่พอเรื่องผ่าน PPP จนจะเข้าครม. ค่อยมาขอทบทวน

4. เป็นเกมการเมือง ต่อรองกับรัฐบาล หรือไม่

5. มีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง ต้องการผลประโยชน์จากการแยกสัญญา และการลงทุน หรือไม่

6. รูปแบบนี้ ได้ทำมาแล้วใน Hispeed train และ สายสีชมพู/เหลือง แต่พอสีส้ม กลับบอกว่าไม่เห็นด้วย ทั้งที่ตนเองมีส่วนร่วมใน สายสีชมพู/เหลืองมาแล้ว

ส่วนเรื่อง"ทางด่วน" ยิ่งหนักถึงขั้นที่ว่า "ไม่รับรู้ กติกา มารยาทใดๆ" หรือ ที่ชาวบ้านเขาว่า "บ้าอำนาจ" ก็ ครม. ประยุทธ์ 1 มีหลักการเจรจาให้รัฐ-เอกชน ยุติเรื่องพิพาท รัฐได้ประโยชน์ลดค่าโง่ แถมประชาชนได้ประโยชน์จากการสร้างทางด่วน ชั้นสอง "Double Deck"แต่ "รมว.ศักดิ์สยาม" หาว่า ครม.เก่ามั่ว ทำไม่ถูก ไม่รอบคอบ และ อ้างว่า ก.คมนาคม ไม่รู้เรื่อง

เรื่องนี้ "ศักดิ์สยาม" พูดไม่หมด อ้างว่า คมนาคมไม่รู้เรื่องได้อย่างไร เพราะ กทพ. เสนอ ครม.ทราบแนวทางเจรจาหมดแล้ว ผ่านกระทรวงคมนาคม รมว.-รมช. ขณะนั้น ทั้ง "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" และ"ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" กำกับดูแลเอง

ครม.เองให้ "รองฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์" และ "วิษณุ เครืองาม" กำกับเพราะ รองฯสมคิด ดูเรื่องการเงินการลงทุน PPP ขณะที่รองฯวิษณุ ดูเรื่องกฎหมาย-คดี ส่วน ก.คมนาคม ก็กำกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

สัญญานี้เป็นสัญญาร่วมทุน ต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน การเจรจาแก้สัญญา ตาม มาตรา 47 ต้องผ่าน กทพ. -กรรมการกำกับดูแล มาตรา 43 และ กรรมการ PPP ที่รองฯสมคิด เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรี ดูแลภาพรวม เจรจาจบ เสนอ กระทรวงคมนาคม เสนอ ครม. ไม่ใช่ให้อำนาจ รมว.คมนาคม ดูแลเจรจาเองทั้งหมด

การที่จะไปยกเลิก มติครม. แล้ว"ขอดูเองทั้งหมด" ไม่สน พ.ร.บ. ร่วมทุน อ้างว่า มติครม. เก่ามั่ว ตัวเองนั้นใหญ่กว่าครม. ใหญ่กว่าลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ไม่ให้เกียรติ รองฯสมคิด และรองฯวิษณุ ... จะให้เข้าใจเป็นอย่างอื่น คงไม่ได้

นี่ขนาดสภาฯ ผ่านมาแล้ว พอเรื่องจะจบ กลับจะมายึดไปดูเอง ยังเพี้ยนได้อีก มีเบื้องหลังอะไร ?


ที "กัญชา-พาราควอต" บอกว่า เอาประชาชนเป็นหลักแต่ "ทางด่วน" กลับไม่เอาประชาชน อยากแยกประมูลอย่างเดียว ผู้รับเหมาคนไหนได้ประโยชน์ ?

เรื่องโฮปเวลล์ ก็เช่นเดียวกัน จะขอสู้ ไม่หารือรัฐบาล ถ้าแพ้มาอีก ค่าโง่และดอกเบี้ยที่เดินทุกวัน "ศักดิ์สยาม"จะยอมจ่ายเองหรือไม่ ?

คำถามคาใจยุ่บยั่บไปหมด กับแนวทางการทำงานของ พรรคภูมิใจไทย ในกระทรวงคมนาคม ยุคนี้
แม้แต่เรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เหมือนทุกอย่างจะจบด้วยดีแต่ก็ยังอุตส่าห์ "กวนน้ำให้ขุ่น" จนได้ อนุทิน ให้สัมภาษณ์ ราว CPHผู้ชนะเป็น"ผู้ร้าย" ขีดเส้นตายต้องเซ็นวันนั้นวันนี้ ถ้าไม่เซ็นจะถูกแบล็กลิสต์จากรัฐ

ขู่ว่า วันที่ 15 ตุลาคมนี้ หาก "กลุ่ม CPH"ไม่มาลงนามสัญญาก่อสร้าง จะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้น มันหมายถึงว่า นอกจาก CP แล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้ง บมจ.ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ. ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐ ในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริง ๆ

คำถามมีว่า บ้านเราผู้รับเหมารายใหญ่ ที่มีคุณสมบัติที่จะประมูลงานเมกะโปรเจกต์ได้ จะมีสักกี่เจ้า ถ้าไม่ใช่ ช.การช่าง อิตาเลียนไทย และ ซิโน-ไทย ของตระกูลชาญวีรกูล ถ้าสองเจ้าถูกแบล็กลิสต์ หมายความว่า จะเหลือแค่ "ชิโน-ไทย" รายเดียว! ที่จะรอรับเมกะโปรเจกต์

"อนุทิน"ต้องการเช่นนั้นจริงๆ หรือ ?

เบื้องลึกจริงๆ ปัญหาแท้ๆ ของไฮสปีดเทรน ก็อยู่ที่คมนาคมในกำกับของ "อนุทินและรมว.ศักดิ์สยาม" เองนั่นแหละ

เรื่องหลักเลยคือ "การส่งมอบพื้นที่" เอกชนลงทุน ก็ต้องการเงื่อนไขให้รัฐจัดการส่งมอบพื้นที่ต้อง 100% เพื่อให้มั่นใจในการเจรจากับสถาบันการเงินปล่อยกู้ลงทุน แต่ อนุทิน บอกว่ารัฐรับปากได้แค่ 50% ก็พอแล้ว อ้างว่าในทีโออาร์ บอกไว้ แล้วค่อยว่ากัน ทำไป แก้ไป หรือ ถ้าสุดวิสัยจะชดเชยให้เรื่องเวลาการดำเนินงาน อนุญาตให้ช้าได้ ไม่เสียค่าปรับ

ความจริงอีกด้านกลับกลายเป็นว่าในทีโออาร์ ไม่ได้บอกว่า 50% แต่ให้เป็นเงื่อนไขที่ต้องคุยกันระหว่างรัฐกับเอกชน เจรจากันในกรอบได้

เรื่องที่สอง "บอร์ดรถไฟ" ที่ลาออกทั้งชุด โดยที่มาเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ย่อมส่งผลต่อเรื่องนี้โดยตรง และหากว่าภายหลัง เมื่อ CPH ถูกเขี่ยทิ้งไป เกิดเจรจากับรายที่เข้ามาแทนที่ ทั้งการส่งมอบพื้นที่สามารถทำได้ทั้ง100% และเงื่อนไขอื่นๆ เปย์ให้เต็มที่ เพียงเพราะเป็นพวกพ้องตัวเอง ความยุติธรรมในเรื่องนี้อยู่ตรงไหน ?

ถ้าสมการ "อำมหิต" บีบเขาแล้ว เราจะได้ที่วางไว้เกิดขึ้นจริงๆไม่อยากจะคิดว่าจะเป็นอย่างไร

"อนุทิน และ ศักดิ์สยาม" ต้องไม่ลืมว่า EEC เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลลุงตู่ ทำคลอดมาเองตลอดเวลาที่ฟูมฟักมา 3 ปี รถไฟเชื่อม 3 สนามบินถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะขับเคลื่อน EEC ให้บรรลุฝั่งฝัน มาพังเพราะ ความไม่แฟร์ของท่าน ก็ไม่รู้ "ลุงตู่" จะว่าอย่างไร

ไหนๆ"ภูมิใจไทย" ก็มาดีแล้วทั้ง เรื่องกัญชา-พาราควอต เรื่องเมกะโปรเจกต์ ก็ต้องแฟร์ๆ เชื่อว่าเรื่องนี้"อนุทิน" ก็ย่อมเข้าใจ ท่านชัดเจนมาตลอด คงไม่อยากให้เกิดคำถามที่สังคมคลางแคลงใจแบบนี้

"ไม่เอา พาราควอตเพื่อประชาชน...ไม่เอา CPH เพื่อใคร ? "
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 07/10/2019 10:24 am    Post subject: Reply with quote

เกมล้มโต๊ะCPH ตั้งเงื่อนไข"ไฮสปีดฯ3สนามบิน" "ซิโน-ไทย"รอกินรวบ
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: จันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 เวลา 07:15


เกมจ้องล้มโต๊ะ "ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน" ตั้งเงื่อนไขบีบ "CPH" เซ็นสัญญาสัมปทานกับร.ฟ.ท. 15 ต.ค.นี้ ทั้งที่ยังส่งมอบพื้นที่ไม่ครบ แถมบอร์ด ร.ฟ.ท. เพิ่งลาออกยกชุด สมการอำมหิต "ซิโน-ไทย" ของ "เสี่ยหนู" รอกินรวบ ด้าน CP ประกาศสู้เต็มที่

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นไปอย่างไร เมื่อ นายอนุทิน ช่าญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ระบุว่าภายในวันที่15 ต.ค.นี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ กลุ่มCPH ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา จะต้องเซ็นสัญญาสัมปทานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ถือเป็นเส้นตาย ที่ทุกฝ่ายกำลังจับจ้องตาไม่กะพริบว่า CPHจะมาตามนัดหรือไม่

แน่นอนว่า หากกลุ่ม CPHไม่มาเซ็นสัญญาตามกำหนดเวลา จะถูกจะยึดหลักประกันซอง 2,000 ล้านบาท และจะถูกขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์

"คิดว่าวันที่ 15 ต.ค. กลุ่ม CPHมาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าหากไม่มา จะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้นมันหมายถึงว่า นอกจาก CPแล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริงๆ" นายอนุทิน เคยกล่าว

ตั้งแง่เงื่อนไขโหดบีบ CPH

แหล่งข่าวเชื่อถือได้ ระบุว่าตามเส้นตายดังกล่าว หรือภายในวันที่15 ต.ค.นี้ กลุ่ม CPHจะมาตามนัดแน่นอน โดยจะขอสู้จนถึงที่สุด เพราะชนะการประมูลมาแล้ว ที่ผ่านมาทุกอย่างควรน่าจะเรียบร้อย แต่ก็ถูกกวนน้ำให้ขุ่น ด้วยการตั้งแง่เงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะการส่งมอบพื้นที่ที่ยังไม่ลงตัว

ทั้งนี้กลุ่ม CPHต้องการให้รัฐ ส่งมอบพื้นที่ครบ 100% จึงจะลงนามสัญญาก่อสร้าง แตนายอนุทิน บ่ายเบี่ยงไม่ยอม โดยอ้างว่าตามทีโออาร์ กำหนดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไว้ที่ 50% และรัฐได้ทำตามสัญญาแล้ว หากจะขอเพิ่มเป็น 100% การรถไฟที่ดูแลรับผิดชอบคงไม่ยอม นอกจากก่อสร้างไปก่อน แล้วทยอยส่งมอบ หรือขยายเวลาการก่อ สร้างเพิ่มเติม โดยไม่ถึอว่าผิดสัญญา และไม่ปรับ

ทว่า การส่งมอบพื้นที่ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับกลุ่ม CPH เพราะ เมื่อรฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ครบ100% ตามกำหนดเวลาและแผนการก่อสร้างได้ ก็จะทำให้โครงการมีความเสี่ยง ส่งผลสถาบันการเงินอาจไม่เชื่อมั่น การหาแหล่งเงินกู้ ก็จะลำบาก

ประเด็นนี้อยู่ในกรอบของทีโออาร์ อยู่แล้ว เพราะระบุให้ CPHและรัฐเจรจากันได้ ไม่ใช่จะระบุไว้แค่ 50% ตามที่นายอนุทิน ระบุ และยังชี้นำให้ รฟท.กระทำตามที่ตนเองว่าด้วย

สัญญาร่วมลงทุนฯ วิเคราะห์ให้เห็นภาพชัด คือ หากส่งมอบพื้นที่ 50% หรือ แบบตารางหมากฮอส แล้วเริ่มนับเวลาการก่อสร้าง ก็จะไม่มีทางทำสำเร็จ

ก่อนนี้ รฟท.และCPH ได้เจรจากัน เห็นว่าข้อมูลพื้นที่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วน และยังไม่ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ทำให้รฟท.ทำแผนการส่งมอบด้วยความยากลำบาก และใช้เวลานานเกินกว่าที่ประมาณการ ที่ประชุมจึงพิจารณาให้หาทางออกการทำแผนส่งมอบพื้นที่

หากวิเคราะห์ประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่า เป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อเอกชน เพราะเป็นการดำเนินการแบบ Build Transfer Operate หมายถึง เอกชนรับความเสี่ยงไปก่อน หากส่งมอบพื้นที่ล่าช้า รฟท.ไม่มีค่าปรับ แต่เอกชนรับความเสี่ยง 2 เด้ง คือ จากภาระดอกเบี้ย และยังเสี่ยงต่อค่าปรับ วันละ 9 ล้านบาท หากไม่สามารถสร้าง และส่งมอบได้ทันในเวลา 5 ปี หรือถ้าขยายเวลาการก่อสร้างออกไป โครงการคงล้มละลายไปก่อน เพราะไม่สามารถเดินรถได้ ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ วิ่งด้วยความเร็วไฮสปีด

มีข้อเสนอกันว่า ระยะเวลาในการส่งมอบพื้นที่ของโครงการ ให้ระบุเป็นระยะเวลาโดยประมาณที่เหมาะสม หากในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนครบกําหนดหาก รฟท. และกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ เห็นร่วมกันว่ามีพื้นที่ไม่สามารถส่งมอบได้ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ คู่สัญญาอาจจะพิจารณาร่วมกัน ในการหาทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว และกําหนดระยะเวลาส่งมอบพื้นที่ของโครงการในส่วนดังกล่าวใหม่

น่าสังเกตว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวของนายอนุทิน ที่จะไม่ยอมเจรจาเพิ่มนั้น เหมือนต้องการบีบ CPHไม่มีทางเลือก และหาก รฟท. ยืนยันตามจะเกิดอะไรขึ้น ?

แนวทางเลือกล็อกไว้ว่า รัฐบาลก็อาจจะมอบหมายให้ รายที่ 2 เข้ามาดำเนินโครงการแทน !

บอร์ดรฟท.ออกยกชุด จุดเปลี่ยน?

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของรฟท. ที่ผ่านมาค่อนข้างประนีประนอม โดยได้หารือกับกลุ่ม CPH มาตลอด ทั้งการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันเรื่องค่าปรับ และ การฟ้องร้องกรณี การส่งมอบพื้นที้ไม่ได้

ที่ผ่านมา คณะกรรมการควรจะต้องประชุมกัน และหาข้อยุติซึ่งก็จะลงนามในสัญญาได้ แต่บังเอิญเกิดเหตุที่เป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่ง คือการลาออกของบอร์ด รฟท.ทั้งชุด เมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา

แม้ว่า นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ดรฟท. จะยืนยันไม่ได้ถูกการเมืองบีบ และไม่กระทบกับการลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แม้ไม่มีบอร์ด เนื่องจากโครงการมีคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ดำเนินการอยู่ และมีการรายงานผลดำเนินการ ลงสู่คณะกรรมการอีอีซีชุดใหญ่ ก็ตาม

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ทางรฟท.เอง ก็ทำงานใกล้ชิดกลุ่ม CPH เรื่องการส่งมอบพื้นที่รับรู้ปัญหามาตลอด เมื่อรฟท.ไม่มีบอร์ด ก็เป็นจุดที่น่ากังวล เพราะการเมืองจะเข้ามาตัดสินใจแทน

ขย่ม CPH เพิ่อใคร?

ประเด็นสำคัญที่ต้องวิเคราะห์กันต่อคือ เมื่อเรื่องนี้เป็นเกมการเมือง บทสรุปจะเป็นอย่างไร

หนึ่งนั้นต้องดูว่า โครงการนี้หากไปต่อไม่ได้ บริษัททุกบริษัท ในกลุ่ม CPHถูกแบล็กลิสต์ ไม่สามารถรับงานภาครัฐได้อีกต่อไป ใครจะได้รับผลประโยชน์ ?

กลุ่ม CPHประกอบด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท China Railway Construction Corporation Limited และ บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)


แน่นอนว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านก่อสร้างเบอร์ต้นๆ ของประเทศ จะเหลือเพียง ชิโน-ไทย หรือ STEC ของตระกูล ชาญวีรกูล ที่จะมีโอกาสรับประมูลงานภาครัฐอย่างไร้คู่แข่ง

จากการตรวจสอบ ปัจจุบันในพอร์ตงานภาครัฐ ของชิโน-ไทย พบว่า ประมูลไดัโครงการภาครัฐอยู่จำนวนมาก และประกาศจะเข้าร่วมประมูลอีกหลายโครงการ อาทิ ที่ประมูลได้แล้ว รถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง ก่อสร้างรัฐสภา ที่มีปัญหาต่อสัญญากันหลายครั้ง รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่กำลังของบประมาณเพิ่ม โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายตะวันตก ที่ประกาศจะแข่งขัน และงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า อีกหลายแห่ง

เรียกได้ว่า ชิโน-ไทย หรือ STEC เป็นหุ้นที่ขาขึ้น นักวิเคราะห์ต่างพากันแนะนำ ให้ลงทุน

กรณีที่ CPHไม่ได้ทำโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งนายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็พูดชี้นำหลายครั้งว่า แนวทางปฏิบัติ การรถไฟสามารถจะเรียกรายที่สอง คือกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ที่ ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น , และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เข้ามารับงานแทน CPH

รายที่สอง ที่รอเสียบนี้ก็กลุ่มทุนที่ ชิโน-ไทย รวมอยู่ด้วยนั่นเอง

สอง. ต้องไม่ลืมว่า กลุ่ม CPH ชนะการประมูลด้วยการขอเงินสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุด คือ 117,226.87 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินเพดานที่รัฐกำหนดไว้ 119,425.75 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีวงเงินทั้งหมด 224,544.36 ล้านบาท รัฐลงทุน 117,226.87 ล้านบาท คิดเป็น 52% นับว่าเป็นสัดส่วนการลงทุนร่วมกับเอกชนที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่รัฐต้องร่วมลงทุนถึง 80-85%

ต้องให้ความเป็นธรรมกับ กลุ่ม CPHว่า เมื่อการลงทุนมีความเสี่ยง ก็ต้องการเงื่อนไขที่ดีที่สุด ที่จะดำเนินธุรกิจให้ไปต่อได้ จากการที่กลุ่ม CPHขอให้รัฐร่วมทุนน้อย ทำให้กลุ่ม CPH ต้องลงทุนมาก ส่งผลให้โอกาสที่จะได้กำไรยากมากอยู่แล้ว

นายอนุทิน ก็พูดเองว่า เมื่อทางเอกชนเสนอราคาต่ำสุด ถูกกว่าคู่แข่งประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก็ต้องยอมรับว่าภาครัฐเอง ยังตะลึงกับราคานี้ และพอใจมาก

โครงการนี้เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เมื่อพอใจมาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ ก็ควรจะว่าด้วยหลักความเป็นธรรม และเห็นผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ข่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไป

พรรคภูมิใจไทย กำลังมาดีๆ ได้รับคำชมจากนโยบายกัญชาเสรี และแบนสารพิษเคมีเกษตร แต่จะมาเสียเพราะเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อน Conflict of interest "การเมืองเรื่องธุรกิจ" หรือไม่ ต้องติดตามกันห้ามกระพริบตา .
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 07/10/2019 10:43 am    Post subject: Reply with quote

เจ้าสัวธนินท์ จี้รัฐต้องร่วมเสี่ยง ลงทุนไฮสปีด
อาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2562

เจ้าสัวธนินท์ ย้ำลงทุนรถไฮสปีดมีความเสี่ยง รัฐต้องเสี่ยงด้วยอย่าโยนให้เอกชนอย่างเดียว แนะฉวยโอกาส เทรดวอร์อเมริกา-จีน ดึงนักธุรกิจโยกฐานมาไทย แทนที่เวียดนาม อินโดฯ

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า ในยุค 4.0 ซึ่งโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การลงทุนก็จำเป็นต้องมีอยู่ และต้องคำนึงถึงความเสี่ยง การลงทุนในรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน มีความเสี่ยงแต่ก็มีโอกาสสำเร็จ ถ้ารัฐบาลเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องเศรษฐกิจแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน การทำ PPP รัฐบาลต้องร่วมกับเอกชน เอาจุดเด่นของเอกชนมาบวกรวมกัน มาลดจุดอ่อนของรัฐบาล แต่ TOR ไม่ใช่ รัฐบาลต้องพร้อมร่วมรับผิดกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็ต้องเสี่ยงด้วยกัน ถ้าล้มก็ต้องล้มด้วยกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนเสี่ยง รัฐบาลไม่เสี่ยง

เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ยุคนี้ต้องเร็ว การเชื่อมต่อ 3 สนามบิน จะทำให้คนอยู่ระยอง เดินทางมากรุงเทพฯได้ในระยะเวลาแค่ 45 นาที ซึ่งในหลายประเทศทำแล้ว เช่นจีน ต่อไปทุกอย่างต้องรวดเร็ว วันนี้ถ้า EEC ไม่เกิด เรากำลังถดถอย เพราะเขาจะย้ายฐานไปลงทุนในเวียดนาม อินโดนีเซีย ฐานปิโตรเลียมของเราค่อยๆ ลดลง ทั้งจากการถูกต่อต้าน ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว รถยนต์ก็เช่นกันวันนี้ถึงจุดเปลี่ยนแปลง จากอดีตที่เรายิ่งใหญ่สุดในอาเซียน แต่วันนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เป็นรถไฟฟ้า ทุกบริษัทหันไปผลิตรถไฟฟ้า ก็จะหาแหล่งผลิต แต่ไทยยังทำแบบเดิมต่อไปอีก 10 ปี ไม่ลงทุนใหม่ ทำไปขายไป แต่รถไฟฟ้าย้ายฐานผลิตไปลงอินโดฯ ซึ่งมีประชากรกว่า 300 ล้านคน เวียดนามกว่า 100 ล้านคน ตลาดเขาก็โต ถ้าเราไม่ให้เขาย้ายก็ต้องให้อินเทนซีพกับเขา


“สงครามการค้าอเมริกากับจีนยังเป็นโอกาสของไทย ทำไมเรายังนอนหลับ ปล่อยให้เขาย้ายฐานไปเวียดนาม อินโดฯ สิงคโปร์”

นายธนินท์ ย้ำว่า ตอนนี้เศรษฐกิจถดถอย พื้นฐานเศรษฐกิจไทย มาจากการลงทุนของญี่ปุ่น 70% ซึ่งเกิดขึ้นมายาวนาน วันนี้ทุกคนมีโอกาส ไทยเองก็มีโอกาสจากสงครามการค้าอเมริกา-จีนที่เกิดขึ้น ก็ต้องฉวยโอกาสไว้

“บริษัทใหญ่ก็ล้มได้ การลงทุนอะไรจึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงถ้าบอกว่าเสี่ยง 30% ได้ 70% ผมทำ เช่นวันนี้โลกเปลี่ยน เราต้องปรับให้ทัน คนหันมาหาอาหารสุขภาพมากขึ้น เราก็ต้องศึกษา วิจัยพัฒนา การจะผลิตอาหารมังสวิรัติ โดยใช้ถั่ว ใช้ยีนส์สร้างเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ปลอม ต้นทุนสูงแต่มีโอกาส วันนี้เราจับมือกับฮาร์เวิร์ด ค้นคว้าเรื่องยีนส์ของหมู พัฒนาสายพันธุ์ ให้เป็นโอเมก้า 3 เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เหมือนกับไข่ไก่ที่เราสามารถทานได้ทุกวัน”
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 07/10/2019 4:23 pm    Post subject: Reply with quote

'อนุทิน' ชี้หาก CPH ไม่เซ็นรับงาน เตรียมจ่ายส่วนต่าง 6 หมื่นล้าน
การเมือง
Last update 4 ตุลาคม 2562 14:03

"อนุทิน" แจงหากกลุ่ม CPH ไม่ยอมเซ็นรับงาน เตรียมจ่ายส่วนต่างสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน "6 หมื่นล้าน"

กรณีความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่างาน ซึ่งผู้ชนะการประมูล คือ กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ชนะประมูล หรือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ซึ่งกำหนดเซ็นสัญญาดำเนินงานวันที่ 15 ต.ค. 2562

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางภาครัฐมีความพร้อมเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกให้แก่เอกชนผู้ชนะประมูล เพียงแต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา รู้สึกยินดีมากที่ได้กลุ่มนี้เข้ามาประมูลเพราะเสนอต่ำกว่าราคากลาง และต่ำกว่าคู่แข่งถึงประมาณ 5 - 6 หมื่นล้านบาท ราคาแบบนี้ หาไม่ได้อีกแล้ว ภาครัฐต้องขอบคุณที่เสนอราคานี้มา

โดยก่อนที่จะมาประมูล ฝ่ายเอกชนต้องอ่านเงื่อนไข และยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดแล้ว ซึ่งมีระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของทางภาครัฐ ว่าหากประมูลราคา และภาครัฐปฏิบัติตามเงื่อนไข ผู้ชนะประมูลต้องมาลงนามตามสัญญา แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามนอกจากจะถูกยึดเงินประกัน ยังจะถูกพิจารณาเป็นผูละทิ้งงาน และโดนขึ้นบัญชีไม่ให้ประมูลงานกับภาครัฐอีกต่อไป ผลเสียมากมายมหาศาล และยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อผู้ชนะการประมูล ไม่ดำเนินการ ภาครัฐต้องไปเรียกผู้ชนะการประมูลอันดับ 2 มาทำแทน ซึ่งราคาที่เสนอมาแพงกว่าของผู้ชนะรายแรกประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างตรงนี้ กลุ่ม CPH ต้องจ่าย ทั้งนี้ เมื่อเห็นราคาของคู่แข่งรายอื่นสูงกว่ามาก แล้วจะมาตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติม เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะภาครัฐทำตามกฎกรอบการประมูล ฝ่ายเอกชนก็ต้องทำตามด้วย

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ต้องทำความเข้าใจว่างานสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เป็นงานที่มีความสำคัญมาก เป็นประตูสู่ EEC ซึ่งความคืบหน้าของโครงการรถไฟ จะเป็นสิ่งยืนยันความจริงจังที่รัฐบาลมีต่อโครงการ EEC ดังนั้น โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ก็ต้องเกิด เช่นเดียวกับการสร้างท่าเรือ และสาธารณูปโภคอื่น สมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทย มีโครงการอิสเทิร์น ซีบอร์ด เป็นที่เชิดหน้าชูตา วันนี้ในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านจะเป็นผู้ก่อตั้ง EEC คนสำคัญ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต นี่จะเป็นตำนานของท่าน และท่านเอาจริงกับโครงการนี้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 07/10/2019 4:24 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
เกมล้มโต๊ะCPH ตั้งเงื่อนไข"ไฮสปีดฯ3สนามบิน" "ซิโน-ไทย"รอกินรวบ
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: จันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 เวลา 07:15




ใครส้มหล่น หากอนุทินแบล็คลิสต์อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง โครงการไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน
วันที่ 5 ตุลาคม 2562 เวลา 19:17 น.

อนุทินนั่งหัวโต๊ะทุบไฮสปีด 3 สนามบิน ยื่นคำขาด CPH และพันธมิตรประกอบด้วยอิตาเลียนไทยและ ช.การช่าง ต้องลงนาม 15.ตค มิเช่นนั้น ถือว่าจบดีล ทั้ง อิตาเลียนไทย และช.การช่าง จะถูกแบล็คลิสต์ ไม่ให้รับงานภาครัฐ หากเป็นเช่นนายอนุทินกล่าว เท่ากับซิโนไทยจะมีความแข็งแกร่งสูง เพราะเข้าร่วมประมูลในกลุ่มบีทีเอส และมีลุ้นเสียบแทนเมกะโปรเจกต์

นับว่าหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเร่งรัดการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เบอร์สามอย่างซิโน-ไทยซึ่งอยู่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และระบบคมนาคมได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ถึงแม้ว่า หากจัดอันดับแล้ว “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ธุรกิจใต้ปีก ตระกูลชาญวีรกูล จะเป็นอันดับ3 รองจาก อิตาเลียนไทย และช.การช่าง แต่จะสังเกตว่า ทั้งอิตาเลียนไทย และ ช.การช่าง ต่างมีรายได้ที่ลดลง ส่วนทางบริษัทอันดับสามอย่างซิโน-ไทยเติบโตมีกำไร โดยซิโน-ไทยมีรายได้รวม 28,000.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,810.33 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้รวม 21,190.58 ล้านบาท 3,000 ล้านบาท ซึ่งได้โครงการรัฐตุนในมือหลายโครงการ เช่น สร้างอาคารรัฐสภาที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ยังมีงานด้านคมนาคมล้นหน้าตัก ทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองที่นอกจากจะลงแรงยังร่วมลงขันกับ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี รวมถึงสายสีเขียว รถไฟทางคู่ และสายสีส้ม ทำให้ซิโน-ไทยมีลุ้นขึ้นชิงตำแหน่งเบอร์ 1 กับอิตาเลียนไทย หรือ ช.การช่าง หากบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่สะดุดในโครงการเมกะโปรเจกต์ย่างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้ซิโน-ไทยที่ร่วมกับบีทีเอส จะมีโอกาสลุ้นเสียบแทนกลุ่มผู้ชนะการประมูลซึ่งประกอบด้วยอิตาเลียนไทยและ ช.การช่าง

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาขีดเส้นว่า วันที่ 15 ต.ค. กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าหากไม่มา จะต้องโดนแบล็คลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้น มันหมายถึงว่านอกจาก CP แล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.ช.การช่าง และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย!! ซึ่งหากเป็นไปตามที่นายอนุทินกล่าว จะถือว่าส้มจะหล่นไปที่ซิโน-ไทยทันที เพราะหากอิตาเลียนไทย และ ช.การช่างถูกแบล็คลิสต์ตามที่นายอนุทินกล่าว จะทำให้ซิโน-ไทยขึ้นมาเป็นผู้นำในก่อสร้างทันที ซึ่งถือได้ว่าซิโน-ไทยเป็นบริษัทเก่าแก่ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นรายแรกในเมืองไทย

ทั้งนี้ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2505 โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล โดยเริ่มเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจแปรสภาพโครงสร้างเหล็กที่ใช้เทคนิคการเชื่อมและดัดแปลงขั้นพื้นฐาน ในปี พ.ศ. 2510 ได้เข้าสู่รูปแบบบริษัท และได้ขยายธุรกิจสู่งานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2536 เข้าสู่การแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 07/10/2019 4:58 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
เจ้าสัวธนินท์ จี้รัฐต้องร่วมเสี่ยง ลงทุนไฮสปีด
อาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2562

“เจ้าสัวซี.พี.” ย้ำลงทุนไฮสปีดอีอีซีเสี่ยงแต่มีโอกาสสำเร็จรัฐ-เอกชนต้องร่วมมือกัน
พร็อพเพอร์ตี้
วันที่ 6 ตุลาคม 2562 เวลา 16:42 น.


นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ”ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ที่ห้องเดอะพอตเทล บอลรูม อิมแพคเมืองทองธานี ช่วงหนึ่งเกี่ยวกับโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า โครงการนี้มีความเสี่ยงมาก แต่ที่ซี.พี.เลือกเข้ามาลงทุนเพราะมองเห็นโอกาสว่ามันจะสำเร็จได้ ถ้ารัฐบาลมีความเข้าใจ ซึ่งโครงการนี้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศแท้ๆ

แต่ทีโออาร์ไม่ใช่ เอกชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระทุกอย่างอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งๆที่โครงการเขียนว่า เป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาล หรือ PPP เป็นการเอาจุดเด่นของเอกชนและรัฐบาล มาลบจุดอ่อนของรัฐบาล แต่ทีโออาร์ที่ทำมามันไม่ใช่ เอาความเสี่ยงทั้งหมดให้เอกชนฝ่ายเดียว จริงๆแล้วต้องแบ่งความเสี่ยงร่วมกัน เหมือนเป็นคู่ชีวิตกัน ถ้าล่มก็ล่มด้วยกัน ถ้าสำเร็จก็สำเร็จด้วยกัน

“จีนนำเราไปหลาย10,000กม.แล้ว เรายังช้าอยู่ และโครงการนี้มีผลกับนโยบายอีอีซี เพราะทุกวันนี้ต่างชาติย้ายฐานไปเวียดนามและอินโดนีเซียเรื่อยๆ ประเทศเราเริ่มอิ่มตัวและถึงจุดเปลี่ยนแล้ว เราเป็นฐานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด แต่รถระบบไฟฟ้ากำลังมา ถ้ารัฐบาลยังมองไม่เห็น ทุกบริษัทก็จะย้ายฐานไปที่อื่น ส่วนเราก็กินบุญเก่าไปถ้ายังมองไม่เห็น”

นายธนินท์ยังกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลยังทำเหมือนหลับอยู่ ไม่มีมาตรการดีๆที่จะดึงดูดไม่ให้ประเทศต่างๆย้ายฐานออกไป คิดว่าอยู่แบบเดิมดีอยู่แล้ว บริษัทต่างๆก็จะย้ายฐานออกไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 08/10/2019 10:30 am    Post subject: Reply with quote

“ศักดิ์สยาม” เมิน “เจ้าสัว” ยันประมูลไฮสปีด 3 สนามบินยึดเงื่อนไข RFP และข้อกฎหมาย
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: จันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 เวลา 19:58
ปรับปรุง: อังคารที่ 8 ตุลาคม 2562 เวลา 08:47


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้เสนอราคามาในอันดับ 1 ในกรณีที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) ได้กล่าวถึง ระบุว่า ภาครัฐควรรับความเสี่ยงร่วมกับเอกชนด้วยนั้น

ในส่วนของภาครัฐยินดีทำงานร่วมกับภาคเอกชนภายใต้กรอบโครงการ PPP แต่ทั้งนี้จะต้องดูเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ REQUEST FOR PROPOSAL (RFP) ว่ากำหนดให้รัฐทำอะไรได้บ้าง หาก RFP ให้รัฐทำอะไรได้จะทำให้หมด ซึ่งในเรื่องที่ให้รัฐไปร่วมรับความเสี่ยง ตนเห็นว่าที่ได้มีการเจรจากันเป็นการดำเนินการเต็มที่ตามที่กฎหมายระบุไว้แล้วว่าทำได้เท่านั้น เพราะเราทำเกินกฎหมายไม่ได้ ซึ่งใน RFP ข้อ 50.1 ระบุไว้ชัดเจนว่า “เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอต้องรับภาระความเสี่ยง” และเอกชนต้องรู้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่อ่านเงื่อนไขใน RFP

ส่วนเรื่องการระบุว่ารัฐไม่มีสิทธิ์ริบเงินหลักประกันซอง จำนวน 2,000 ล้านบาทกรณีที่เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกไม่มาลงนามสัญญาตามเวลาที่กำหนด หรือในวันที่ 15 ต.ค. 2562 นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รัฐจะดำเนินการตามเงื่อนไข RFP ทุกข้อ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ส่งหนังสือแจ้งเอกชนให้มาลงนามสัญญานั้น โดยทางกลุ่ม CPH ได้รับเอกสารไปเมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้น รอดูว่าจะมาเซ็นสัญญาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในเงื่อนไขข้อ 56.3 “สำหรับผู้ที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งไม่ไปทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนด จะถูกริบหลักประกันซองหรือถูกเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซองทันที และอาจพิจารณาให้ชดใช้ความเสียหายอื่น (ถ้ามี) รวมทั้งอาจพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ”

ส่วนเรื่องการขึ้นบัญชีดำ (Black list) ไม่ได้ ซึ่งอ้างว่าใช้กฎหมาย PPP นั้น ได้มอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมการคัดเลือกฯ ไปตรวจสอบว่ากฎหมาย PPP และ เงื่อนไข RFP เขียนไว้อย่างไร

“ผมว่ากรณีที่เจ้าสัวธนินท์ได้กล่าวนั้นเป็นสิทธิ์ที่เอกชนจะแสดงความเห็น รัฐเองต้องดูว่าความเห็นนั้น ทางกฎหมายและ RFP ทำได้หรือไม่ หากทำได้ก็ทำ หากไม่ได้ก็ไม่ได้ เพราะความเป็นรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติภายใต้ที่กฎหมายกำหนด” นายศักดิ์สยาม

@ อนุฯ กพอ.นัดถก 9 ต.ค. ความพร้อมส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด 3 สนามบิน
อย่างไรก็ตาม จากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดกพอ.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ตั้งอนุกรรมการฯ ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน จะมีการประชุมในวันที่ 9 ต.ค.นี้ เพื่อกำหนดกรอบและติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีประเด็นหารือความพร้อมในการส่งพื้นที่รถไฟเชื่อม 3 สนามบินด้วย โดยจะดูรายละเอียดการส่งมอบ 72% หลังลงนามสัญญา และจุดที่ยังเหลืออยู่เป็นอย่างไร ติดขัดหรือต้องประสานงานกับหน่วยงานใดบ้าง มีงบประมาณจัดสรรหรือไม่ เป็นต้น
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44637
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 08/10/2019 1:24 pm    Post subject: Reply with quote

เลื่อนเซ็นไฮสปีดซีพีไป25ตุลาฯ
ฐานเศรษฐกิจ 08 Oct 2019

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กำหนดการลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร คงต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค.จากกำหนดเดิมวันที่ 15 ต.ค. เนื่องจากคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลาออกทั้งคณะ จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อน โดยจะสรุปการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 15 ต.ค.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 08/10/2019 1:32 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
เลื่อนเซ็นไฮสปีดซีพีไป25ตุลาฯ
ฐานเศรษฐกิจ 08 ตุลาคม 2562


ศักดิ์สยาม" ขยายเวลาให้"ซีพีเอช"ถึง 25 ต.ค.ลงนามไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 8 ตุลาคม 2562 11:20
ปรับปรุง: 8 ตุลาคม 2562 13:34


“ศักดิ์สยาม” เผยขยายเวลาลงนามไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินให้ “ซีพีเอช” อีก 10 วัน รอ ครม.เคาะบอร์ดรถไฟชุดใหม่อังคารหน้า พร้อมชง ครม.เคาะสัญญารถไฟไทย-จีน 5 หมื่นล้าน ก่อนรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนปลายปีนี้

วันนี้ (8 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) ระบุถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้เสนอราคามาในอันดับ 1 ซึ่งนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขอให้รัฐบาลร่วมรับความเสี่ยงกับภาคเอกชนในการลงทุนด้วยนั้นว่า เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของท่าน แต่รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Propasa : RFP) ซึ่งได้พูดถึงไว้ในข้อ 50.1 บอกว่า ผู้ยื่นเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง แต่เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหา ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อะไรที่รัฐบาลจะสามารถทำให้ผู้ประกวดราคา ดำเนินการได้ตามกฎหมาย และตาม RFP แล้วเรายินดีจะทำ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องช่วยกันดูว่ามีอะไรที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ เช่น การส่งมอบพื้นที่ เป็นต้น โดยขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ขณะนี้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ประมาณร้อยละ 72 เหลือร้อยละ 28 ที่รอดูการย้ายสาธารณูปโภค และการบุกรุก

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตน เป็นรองประธาน รวมถึงปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก็คงมีการดำเนินการซึ่งไม่ใช่เฉพาะโครงการนี้ เนื่องจากในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) มีหลายโครงการย่อยอยู่ในนั้น เพื่อจะดูว่าจะทำอย่างไรให้ดำเนินการตามบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในพื้นที่ร้อยละ 72 นั้น ทางผู้ชนะการประกวดราคาซึ่งเป็นคู่สัญญา คงต้องใช้เวลาในการเคลียร์เรื่องส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี ตนจึงคิดว่าทุกอย่างจะทันตามกรอบเวลา เนื่องจากหลังจากที่คณะอนุกรรมการมีการประชุมจะได้ดูว่าส่วนรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีสาธารณูปโภคอยู่ในโครงการ เขามีแผนการอย่างไร หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จะเปิดให้มีการขยายเวลาได้อยู่แล้ว และไม่มีเบี้ยปรับ ถือเป็นหลักปกติในการปฏิบัติงาน

เมื่อถามว่าประชาชนสามารถมั่นใจได้เต็มที่ว่าโครงการดังกล่าวจะเดินหน้า นายศักดิ์สยามกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาว่าเรื่องนี้ต้องเดินหน้า เพราะจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย และต้องพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส อะไรที่รัฐดำเนินการถูกต้องแล้วต้องทำต่อไป ส่วนอะไรที่ภาคเอกชนสงสัย เราจะอธิบายให้ฟัง และช่วยกันเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้

เมื่อถามว่าจะมีการขยายกำหนดการลงนามในวันที่ 15 ตุลาคมนี้หรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เรื่องการลงนามนั้น คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็บอกไปเรียบร้อยแล้วว่าเขาเจรจาตามกรอบ RFP ครบถ้วนแล้ว ขณะนี้จะต้องเลื่อนออกไปอีก 10 วัน เนื่องจากบอร์ดรถไฟ (ร.ฟ.ท.) ได้ลาออกทั้งคณะเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อไปดูในวาระการพิจารณากลับพบว่าบอร์ด ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้มีการประชุมเรื่องนี้จึงไม่สามารถนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ จึงต้องมีการแต่งตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน ได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว พร้อมมีบัญชาให้รีบดำเนินการ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างเสนอชื่อบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ และจะส่งกลับไปกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ก่อนตนจะนำเข้าสู่ ครม.พิจารณาในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

เมื่อถามอีกว่า การแต่งตั้งบอร์ดใหม่จะกระทบในการเดินหน้าโครงการหรือไม่นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ส่งกระทบ เพราะเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการตาม RFP ในข้อ 63 ระบุชัดเจนว่า กฎหมายที่ต้องดำเนินการ นอกจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ต้องมีกฎหมายไทยเองที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายรถไฟ ส่วนการยืดระยะเวลาลงนามออกไปอีก 10 วันนั้น ยืนยันไม่ผลกระทบ เพราะการยื่นราคาของผู้เสนอราคา เปิดให้ยื่นเสนอราคาได้จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน

“สำหรับการลาออกของบอร์ด ร.ฟ.ท.เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะมีการลาออก เพราะคณะกรรมการคัดเลือกเพิ่งจะมีการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา และวันที่ 30 กันยายนได้ออกหนังสือแจ้งการลงนามให้แก่ผู้ชนะประกวดราคา ต่อมาเวลา 11.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม เมื่อผู้ชนะการประกวดราคามารับหนังสือ ปรากฏว่าบอร์ด รฟม.กลับลาออกในวันเดียวกัน เราจึงต้องดำเนินการต่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากไม่มีบอร์ด รฟม. เราก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ ครม.รับทราบได้” นายศักดิ์สยามกล่าว

เมื่อถามถึงสาเหตุการลาออกของบอร์ด รฟม.ในช่วงที่จะมีการลงนามสัญญา นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามบอร์ด เพราะตนพยายามยับยั้งแล้ว

เมื่อถามอีกว่าการขยายเวลา 10 วันนั้น แม้ตามสัญญาเดิมระบุให้ส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 แต่ล่าสุดทางภาคเอกชนที่ได้รับงานขอให้ส่งมอบพื้นที่ร้อยละ 100 นั้นก่อนการลงนาม นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จะต้องไปดูในเงื่อนไข RFP ว่าระบุว่าอย่างไร คิดว่าคณะกรรมการคัดเลือกได้ดูเรียบร้อยแล้วว่าการส่งมอบพื้นที่อยู่ในแผนอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษญกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดไปพร้อมกัน ขอให้อย่ากังวล เรื่องนี้ต้องเร่งรัดเพราะสำคัญกับประเทศมาก ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการคัดเลือกยังอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือไปแจ้งบริษัทในการลงนามสัญญาใหม่อีกครั้ง เดิมกำหนดวันที่ 24 ตุลาคม แต่เนื่องจากเป็นวันสำคัญจึงกำหนดให้เป็นวันที่ 25 ตุลาคมนี้

“คิดว่าการขยายเวลา กลับมีเวลาให้ทางภาคเอกชนได้ตรวจสอบเรื่องเอกสารให้เรียบร้อยครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ร้อยละ 72 นั้น เรียนว่ามีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่พร้อม แต่ยังรวมถึงจะมีนำแผนที่การก่อสร้างทั้งหมดในร้อยละ 72 นั้นอยู่บริเวณใดบ้าง ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการวันที่ 10 ตุลาคมนี้” นายศักดิ์สยามกล่าว และว่าสำหรับโครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี บวกเวลาในการมอบพื้นที่ รวมเป็น 6 ปี จึงมีเวลาพอ โดยคิดว่าจะบริหารเรื่องนี้ โดยจะใช้หลักเดิมที่กระทรวงคมนาคมเคยบริหารในการก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์สายใต้ ซึ่งขณะนั้นได้รับเงินจากไจก้า ก็สามารถเอามิติปัญหา 7 เรื่องของตนมาดำเนินการ จึงคิดว่าน่าโครงการจะดำเนินการได้

นอกจากนั้้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในวันที่ 15 ตุลาคมจะมีการนำเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เข้าสู่ ครม.ด้วยเพื่อให้พิจารณาเห็นชอบงานสัญญา 2.3 (งานระบบ) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพราะเรื่องนี้จะนำเข้าสู่ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 อีกด้วย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 08/10/2019 6:51 pm    Post subject: Reply with quote

สะดุดอีก เลื่อนเซ็นสัญญาไฮสปีดเทรน เป็น 25 ต.ค. เหตุไม่มีบอร์ด รฟท.
ข่าวเศรษฐกิจ
ไทยรัฐออนไลน์
วันอังคาร ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562 11:00 น.

เลื่อนเซ็นสัญญาไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน “ศักดิ์สยาม” สะดุดขาตัวเอง จาก 15 ต.ค. เป็น 25 ต.ค. เหตุบอร์ดรฟท.ลาออกยกชุด เร่งเสนอ ครม.ตั้งบอร์ดชุดใหม่ มั่นใจเซ็นสัญญา "ซีพี" ได้ทันกำหนดแน่

วันที่ 8 ต.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มีการหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีเอกสารแนบท้ายสัญญาโครงการดังกล่าว ขัดกับข้อกำหนดเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal หรือ RFP)

ขณะเดียวกันยังได้ขีดเส้นที่จะให้กลุ่มกิจการร่วมค้า กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณา ต้องมาเซ็นสัญญาวันที่ 15ต.ค. หากไม่มาเซ็นสัญญาตามกำหนด จะต้องถูกริบหลักประกันซอง และอาจถูกพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งทำให้ต้องถูกแบล็กลิสต์รับงานในอนาคต

ล่าสุด แนวทางต่างๆ ที่ร่วมกับนายอนุทิน ได้พยายามแก้ไขมาโดยตลอด กลับมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้การเซ็นสัญญาในโครงการฯ จากเดิมกำหนดว่าจะต้องเซ็นในวันที่ 15 ต.ค.นี้ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากขณะนี้ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ยื่นหนังสือลาออกทั้งชุดไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นหากมีการลงนามตามกำหนดการเดิมในวันที่ 15 ต.ค.นี้จะส่งผลให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะทันที เนื่องจากหากไม่มีบอร์ด รฟท. สัญญาจะไม่มีผลผูกพันกับการรถไฟจากกรณีนี้ จึงถือเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง คือ รฟท.สามารถที่จะแจ้งเลื่อนวันเซ็นสัญญาได้ สาเหตุมาจากความจำเป็นดังกล่าว

"ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีการเสนอรายชื่อบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว โดยเป็นการเสนอรายชื่อคู่เทียบไปให้สคร.พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งนี้ ผู้เสนอ ไม่มีอำนาจไปกำหนดว่าจะเลือกใคร อย่างไรก็ตามเมื่อ สคร.พิจารณาแล้วเสร็จ จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อเห็นชอบ จากนั้นจะส่งกลับมาให้กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อ ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า"

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม คาดว่าแม้ว่าจะมีเวลากระชั้นชิด แต่ก็มั่นใจว่าเมื่อได้บอร์ด รฟท.ชุดใหม่แล้ว จะยังเดินหน้าเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพีได้ทันภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้แน่นอน

สำหรับข้อเสนอของกลุ่ม CPH (ซีพี) พบว่ามีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่ม BSR ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท.


‘อนุทิน’ ย้ำไม่ได้บีบบอร์ดรถไฟลาออก เปิดช่องยืดระยะเวลาลงนามหลัง 7 พ.ย.หากทั้งสองฝ่ายยินยอม

วันอังคาร ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นายอนุทินกล่าว่า สาเหตุที่เซ็นสัญญาไม่ได้เนื่องจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลาออก ซึ่งเป็นการลาออกทั้งที่รู้ว่าจะมีการลงนามในรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งตนให้สัมภาษณ์มาโดยตลอดว่าผู้ที่จะกำหนดวันที่จะลงนามในสัญญาได้แน่นอนคือ รฟท. แต่เมื่อขณะนี้ไม่มีบอร์ด รฟท.เราก็ต้องตั้งบอร์ดก่อน โดยรายชื่อได้มีการส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

“การลาออกของบอร์ดรถไฟ ไม่ได้มีการกดดัน หรือบีบให้ลาออก มีแต่บีบให้อยู่ก่อน ซึ่งบางคนก็ให้เหตุผลว่าต้องภารกิจในด้านอื่นๆ เหมือนที่บอกนั่นแหละว่าพระจะสึก คนจะคลอด บอร์ดจะออก ห้ามกันไม่ได้” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่ยังไม่สามารถลงนามในสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ภายในวันที่ 7 พ.ย.ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สิ้นสุดการยืนระยะเวลาประมูล จะถือว่าสามารถยึดเงินประกันของเอกชนในโครงการนี้ที่มีการวางเงินประกัน 2,000 ล้านบาทได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่าต้องดูว่าในส่วนนี้ต้องดูว่าข้อกำหนดใน RFP กำหนดไว้ว่าอย่างไรหากภาครัฐมีความไม่พร้อมในการลงนามและสามารถเจรจาในการขอยืดระยะเวลาการลงนามในสัญญาออกไปได้หากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกัน ส่วนหาก รฟท.มีความพร้อมแล้วเอกชนมีการตกลงวันที่จะเซ็นสัญญากันแล้วแล้วถึงวันไม่มาเซ็นสัญญาก็สามารถที่จะพิจารณายึดเงินประกันได้

“ขณะนี้ยังถือว่าโครงการไม่ล่าช้าเพราะยังกำหนดวันเซ็นสัญญาไว้กับเอกชนก่อนวันที่ 7 พ.ย. หากยังไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ก็จะถือว่ามีความล่าช้า ซึ่งหากโครงการนี้ล่าช้าและไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดก็จะทำให้โครงการอีอีซีได้รับผลกระทบในเรื่องของความเชื่อมั่นด้วย” นายอนุทิน กล่าว


ศักดิ์สยาม ถอยเลื่อนเซ็นสัญญา ซีพี ไฮสปีด 3 สนามบิน หลังกดดันให้บอร์ดรถไฟลาออก

วันที่ 8 ตุลาคม 2562

ศักดิ์สยาม ถอยเลื่อนเซ็นสัญญา ซีพี ไฮสปีด 3 สนามบิน หลังกดดันให้บอร์ดรถไฟลาออก
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมว่า ภายหลังจากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มีการหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยกำหนดให้กลุ่มกิจการร่วมค้า กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณา ต้องมาเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ต.ค.หากปฏิเสธจะถูกริบหลักประกันซอง 2 พันล้านบาทแบะอาจถูกแบล็กลิสต์เป็นผู้ทิ้งงานนั้น

ล่าสุดเกิดปัญหาเกี่ยวกับวันที่รัฐกำหนดให้กลุ่มซีพีมาเซ็นต์สัญญา อาจจะต้องเลื่อนออกไปจากเดิมกำหนดเป็นวันที่ 15 ต.ค. เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ยื่นหนังสือลาออกไปแล้ว หากซีพีมาลงนามจะทำให้สัญญาเป็นโมฆะทันที เนื่องจากสัญญาจะไม่มีผลผูกพันธ์กับรถไฟซึ่งจากกรณีดังกล่าว จึงถือเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง คือ รฟท.สามารถที่จะแจ้งเลื่อนวันเซ็นสัญญาได้ สาเหตุมาจากความจำเป็น

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สาเหตุที่บอร์ดรถไฟต้องลาออกเกิดจากถูกนายศักดิ์สยามออกมากดดันให้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้มีการเสนอรายชื่อบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว โดยเป็นการเสนอรายชื่อคู่เทียบไปให้สคร.พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งนี้ผู้เสนอไม่มีอำนาจไปกำหนดว่าจะเลือกใคร

อย่างไรก็ตาม เมื่อ สคร. พิจารณาแล้วเสร็จ จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อเห็นชอบ จากนั้นจะส่งกลับมาให้กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อให้ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า โดยในเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม คาดว่าแม้ว่าจะมีเวลากระชั้นชิดแต่อย่างไรก็มั่นใจว่าเมื่อได้บอร์ด รฟท.ชุดใหม่แล้วจะยังคงเดินหน้าเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพีได้ทันภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่ม CPH (ซีพี) พบว่ามีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่ม BSR ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 341, 342, 343 ... 547, 548, 549  Next
Page 342 of 549

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©