RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311232
ทั่วไป:13179761
ทั้งหมด:13490993
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - เมื่อเมืองพัทยาจะมีระบบรถไฟฟ้าบ้าง
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

เมื่อเมืองพัทยาจะมีระบบรถไฟฟ้าบ้าง
Goto page Previous  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44319
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 06/10/2020 10:19 am    Post subject: Reply with quote

ผลศึกษารถไฟฟ้ารางเบาพัทยาใกล้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมให้ ครม.พิจารณา
เผยแพร่: 6 ต.ค. 2563 09:59 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์ข่าวศรีราชา – ผู้รับจ้างโครงการศึกษาการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยา เผยผลศึกษาใกล้สมบูรณ์พร้อมส่งแผนแม่บทให้เมืองพัทยาและ ครม.พิจารณาในเร็วนี้ ส่วนกระแสย้ายพื้นที่สถานีจอดรถไฟฟ้าไปยัง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง ยังไม่ชัดเจน

วันนี้ ( 6 ต.ค.) นายสิรภพ สุวรรณเกรส์ ผู้ประสานงานโครงการศึกษาและวางแผนแม่บทการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยา หรือโมโนเรล ได้เปิดเผยถึงกระแสเรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ก่อสร้างสถานีจอดรถไฟฟ้าความเร็วสูงพัทยาไปยังพื้นที่บ้านชากแง้ว ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่อาจส่งผลกระทบต่อแผนการก่อสร้างสถานีจอดในเมืองพัทยา และอาจกระทบต่อระบบการขนส่งออกเดิมที่วางไว้ซึ่งจะไม่เชื่อมโยงกันว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร

และในเบื้องต้นคณะทำงาน ยังคงเสนอแผนการใช้พื้นที่เดิมตาม TOR ที่กำหนดไว้ ส่วนอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเขต ต.ห้วยใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้รับจ้างซึ่งมีที่ดินว่างเปล่านับร้อยไร่ หรือจะ ใช้พื้นที่บริเวณโรงบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ซึ่งมีพื้นที่จัดสรรรองรับไว้ประมาณ 60 ไร่ คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งเดินหน้าพิจารณาเพื่อให้ได้คำตอบอย่างเร็วที่สุด

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยา หรือโมโนเรล เกิดขึ้นตามนโยบายของคณะกรรมการ EEC ที่มีแผนในการพัฒนา 3 พื้นที่หลักได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาหลายด้าน อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และระบบโลจิสติกส์

รวมทั้งการผลักดันให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก จึงต้องวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนของนโยบายหลักของ EEC โดยเฉพาะระบบโครงข่ายด้านขนส่งสาธารณะในเมืองที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก

โดยเมืองพัทยา ได้กำหนดให้มีการศึกษาการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้าในเมืองพัทยา ซึ่งผลการศึกษาได้กำหนดรูปแบบของรถไฟฟ้าไว้ 3 ประเภท คือ แบบบนพื้นถนนหรือ Tram แบบยกระดับหรือ BTS หรือ Monorail และแบบใต้ดินหรืออุโมงค์ และได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยหลักทั้งด้านกายภาพ สภาพถนนเดิม เส้นทาง และการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงบประมาณการลงทุน

และจากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา พบว่า โครงสร้างรถไฟฟ้าแบบคร่อมรางยกระดับ หรือระบบโนโรเรล ( Monorial ) เป็นโครงสร้างที่เหมาะสมกับพื้นที่เมืองพัทยามากที่สุด จึงแร่งดำเนินการออกแบบและวางแผนในเรื่องเส้นทาง สถานีรับส่ง สถานีจอด และศูนย์ซ่อม โดย พิจารณาความเหมาะสมของเส้นทาง ผลกระทบด้านการเดินทาง และทัศนียภาพ รวมถึงการเวนคืนที่ดิน

นอกจากนั้นผลการเสนอแนะ 4 เส้นทางการเดินรถเสียงส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนการใช้เส้นทางสีเขียวระยะทางรวม 8.3 กม.และอีก 1.8 กม.เพื่อมุ่งหน้าสู่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย จาก 13 สถานีจอด

โดยจะวิ่งตามเส้นทางจากสถานีรถไฟพัทยาที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง มาตามถนนสายมอร์เตอร์เวย์เข้าถนนพัทยาเหนือไปถึงวงเวียนปลาโลมา ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนพัทยาสายสอง ไปจนถึงแยกทัพพระยาและมุ่งตรงสู่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ซึ่งมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารแรก 16 บาท และ กม.ต่อไปอีก กม.ละ 2.80 บาท แต่ไม่เกิน 45 บาทตลอดเส้นทาง

ขณะที่แผนการดำเนินงานจะแบ่งระยะเวลาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นระหว่างปี 2563-2564 กำหนดเส้นทางเดินรถครอบคลุม

ส่วนระยะกลางช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2565-2569 จะดำเนินการพัฒนารถ ไฟฟ้าสายสีเขียว และเส้นทางสายสีเหลือง ซึ่งเป็นระบบรถไฟรางคู่สายชลบุรี-สัตหีบ

และระยะกลางช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2570-2574 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่วิ่งจากพื้นที่เทศบาลเมืองหนองปรือ เข้าสู่ถนนพัทยาใต้มุ่งหน้าสู่สถานีพักรถบริเวณโรงเรียนเมืองพัทยา 8 ซึ่งจะมีการจัดทำเป็น Station หรือจุดเชื่อมโยงระหว่างกัน

ส่วนแผนระยะยาวระหว่างปี 2575-2579 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีแดง ที่วิ่งจากซอยชัยพฤกษ์ 2 เข้าสู่ถนนจอมเทียนสายสอง ถนนพัทยาสาย 2 และวงเวียนปลาโลมา

ทั้งนี้รถไฟฟ้าระบบ “โนโนเรล” จะมีลักษณะของการจัดทำเป็น 2 รางวิ่งสวนกันบนสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยกสูงกว่าระดับถนนเดิมประมาณ 18 เมตร การก่อสร้างจะเน้นใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเป็นหลัก หรือแนวถนนที่มีผลกระทบน้อยเพราะจะมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อหรือ Pier ที่กว้างเพียง 1.8 เมตร เท่านั้น

โครงการนี้จะมีการเวนคืนที่ดินไม่มากนัก แต่จะใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 20,805 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการจัดทำอาคารจอดและจรหรือ TOD ในพื้นที่กว่า 40 ไร่ที่พรั่งพร้อมไปด้วย ช้อปปิ้งมอลล์ โรงแรม คอนโดมิเนียม และสกายพาร์ค ในพื้นที่กว่า 3.8 แสน ตร.ม.อีก 8.7 พันล้านบาท

ขณะที่แนวทางการลงทุนได้มีการนำเสนอทั้งในรูปแบบของ PSC หรือ PPP ในลักษณะการร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อพิจารณา โดยคาดว่าจะเสนอผลการศึกษาต่อเมืองพัทยาและ ครม.ได้ในเร็ววันนี้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 16/11/2020 6:07 pm    Post subject: สัตหีบก็เอากะเข้าด้วย Reply with quote

“ รถไฟฟ้า Monorial 9 สถานี อำเภอสัตหีบ “ 🚝🚝 ขณะนี้อยู่แผนและโครงการศึกษา เป็นที่เรียบร้อยครับ
ผู้แทนบ้านบ้าน - ดร.สะถิระ เผือกประพันธุ์ - ดร.เอ
13 พฤศจิกายน 2563 เวลา 20:23 น.

📣ผมอภิปรายและผลักดันสิ่งนี้ มาโดยตลอดว่า “ สัตหีบไม่ควรเป็นเมืองทางผ่าน”
ระบบที่เราต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงของรายได้สู่ชุมชนในท้องถิ่น ร้านเล็ก ร้านน้อย, ความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของนักเรียนและพี่น้องประชาชนสัตหีบ รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งอนาคตจะสร้างรายได้ให้สัตหีบเป็นอย่างมาก
คือ “ ระบบขนส่งสาธารณะท้องถิ่น “
ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ในกิจกรรมศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางและแผนปฏิบัติ เพื่อแก้ไขและควบคุมปัญหาการขนส่งอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนพัฒนาภาคตะวันออก
ข้อมูลอ้างอิง (จังหวัดชลบุรีและ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา )
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า
โครงการนี้จะเป็นรูปธรรมในไม่ช้านี้
จึงขอนำเรียนพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบมาเพื่อทราบครับ
https://www.facebook.com/dr.sathira/posts/3411118722446637
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 03/12/2020 10:57 am    Post subject: Reply with quote

CP ย้ายสถานีป่วนไฮสปีดเทรน กระทบเวนคืนที่ดิน-โมโนเรลพัทยา
26 พฤศจิกายน 2563

ร.ฟ.ท.-สกพอ.เร่ง “ซีพี” เคลียร์ปมย้ายสถานีไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ส่งข้อมูลภายใน พ.ย.นี้ ชี้ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสาร ไม่กระทบชุมชน หวั่นแผนเวนคืนสะดุด “เมืองพัทยา”ห่วงกระทบโมโนเรล กรมโยธาฯ เช็คข้อมูลย้ายสถานี ประกอบทำผังเมืองระดับอำเภอ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ลงนามร่วมลงทุนระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) ครบ 1 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้หารือกับเอกชนต่อเนื่องและเตรียมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชน ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก ช่วงสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าดำเนินงานตามสัญญากำหนดในสัญญาภายในเดือน ต.ค.2564

ส่วนข้อเสนอทางเอกชนที่ขอปรับแนวสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่ง ร.ฟ.ท.กำลังพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียดร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยการพิจารณาจะต้องสอดรับความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนรอบสถานี และไม่ก่อให้เกิดความแออัดของที่อยู่อาศัย ตลอดจนต้องสร้างความสุขให้กับทุกคนในพื้นที่

ทั้งนี้ การขอย้ายที่ตั้งสถานีดำเนินการได้ตามสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นสิทธิของเอกชนที่จะพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุดของโครงการ แต่การย้ายสถานีจะต้องมีเหตุผลประกอบให้ชัดเจน ซึ่งภาคเอกชนยังไม่สรุปชัดเจนว่าจะย้ายสถานีไปพื้นที่ใด หรือมีวัตถุประสงค์อย่างไรของการย้ายสถานี โดยที่ผ่านมาเคยมีการระบุถึงการขอย้ายสถานีฉะเชิงเทรา ชลบุรีและพัทยา ส่วนสถานีศรีราชาอาจไม่ย้าย เพราะ ร.ฟ.ท.ให้สิทธิในพื้นที่เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ 25 ไร่

นอกจากนี้ หากเอกชนผลักดันให้ย้ายสถานีอาจต้องเร่งเสนอพื้นที่ใหม่และเหตุผลการย้ายสถานีภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ ร.ฟ.ท.พิจารณา เพราะภาครัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินการเวนคืนที่ดิน และเตรียมส่งมอบพื้นที่ตามกำหนดในสัญญา


และเมื่อเดินหน้าเวนคืนที่ดินตามแผนแล้ว แต่เอกชนยืนยันปรับแนวสถานีจะกระทบต่อชุมชนที่ถูกเวนคืนที่ดิน และทำให้การเวนคืนไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งทำให้เอกชนต้องเร่งเสนอข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเวนคืนที่ไปแล้วและต้องมาเวนคืนเพิ่มในภายหลัง

สำหรับการเวนคืนได้ออกพระราชกฤษฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2562 ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง

ส่วนขั้นตอนการเวนคืนที่ดินขณะนี้ อยู่ขั้นตอนรอประกาศราคาที่จะชดเชยให้ผู้ถูกเวนคืน โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ในอีกไม่นานและหากภายในเดือน พ.ย.นี้ เอกชนไม่ให้ข้อมูลประกอบข้อเสนอย้ายแนวสถานีเพิ่มอีก ซึ่งกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อไม่ให้โครงการเกิดความล่าช้าและมีปัญหาการส่งมอบที่ดิน

รวมทั้งในกรณีที่ ร.ฟ.ท.อนุมัติให้เอกชนเปลี่ยนจุดก่อสร้างสถานี เอกชนต้องเป็นผู้จัดการเวนคืนที่ดินใหม่เพื่อก่อสร้างแนวสถานีเอง เพราะผิดไปจากข้อตกลงสัญญา รวมทั้งการปรับเปลี่ยนแบบหรือการก่อสร้างสถานีใหม่ต้องไม่กระทบข้อตกลงในสัญญา เพราะการเปลี่ยนสถานีที่ส่งผลต่อการปรับปรุงแบบอาจทำให้งานล่าช้ากว่าแผน ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนแผนของเอกชนไม่ได้เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดของภาครัฐ

นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า หากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปลี่ยนแนวเส้นทางจะกระทบรถไฟฟ้าโมโนเรลของเมืองพัทยามาก เพราะเดิมสถานีรถไฟความเร็วสูงตั้งอยู่ในตัวเมืองและห่างจากสถานีรถไฟฟ้าโมโนเรลไม่มาก ทำให้เชื่อมการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมทั้งรถไฟฟ้าโมโนเรลได้สะดวก และกระจายผู้โดยสารไปยังพื้นที่อื่นในพัทยาได้เร็ว

สำหรับที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยาที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลง สถานีพัทยาจะห่างจากสถานีโมโนเรลพัทยาเหนือถึง 15 กิโลเมตร ถือว่าไกลจนเปลี่ยนแนวเส้นโมโนเรลไม่ได้ เพราะต้นทุนก่อสร้างจะสูงมาก โดยขณะนี้เมืองพัทยากำลังเจรจากับผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งอาจสร้างระบบขนส่งรองมาเชื่อมโมโนเรล เช่น ชัตเติลบัส

“ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ารถไฟความเร็วสูงจะเปลี่ยนแนวเส้นทางหรือไม่ แต่ทั้งนี้อยากให้คงเส้นทางเดิม เพื่อให้ระบบคมนาคมเชื่อมต่อกันสะดวก เพราะถ้าขยายเส้นทางโมโนเรลจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป” นายมาโนช กล่าว

Top 8 Most Fun Sylvester Stallone Movies
Brainberries
Which Country Is The Most Romantic In The World?
Brainberries
From Enemies To Friends: 10 TV Characters Who Became Close
Brainberries
14 Hilarious Comics Made By Women You Need To Follow Right Now
Brainberries
สาวติด 'โควิด-19' ทำป่วน โรงเรียนสั่งปิดหลายแห่ง
SCB ติด DJSI 3 ปีซ้อน สะท้อน แบงก์ที่มีความยั่งยืนระดับโลก
'ไอลอว์' มาสภาอีกครั้งชี้แจงกมธ. ย้ำ ส.ส.ร.ต้องมาจากเลือกตั้ง
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า หลังจากประกาศใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562

ขณะนี้กรมโยธาธิการฯ กำลังร่างผังเมืองอำเภอที่ลงรายละเอียดเพิ่มจากแผนผังอีอีซี โดยทำ 30 ผังเมือง ครอบคลุม 30 อำเภอ แบ่งเป็น ชลบุรี 11 อำเภอ ฉะเชิงเทรา 11 อำเภอ ระยอง 8 อำเภอ ซึ่งจะรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ การร่างผังเมืองดังกล่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าครอบคลุมการเตรียมพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ของสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา ศรีราชา อู่ตะเภา โดยจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม) และพื้นที่สีส้ม (ที่ดินประเภทชุมชนเมือง)

โดยถ้าเปลี่ยนที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงอาจต้องขยายพื้นที่สีแดงหรือสีส้มเพิ่มขึ้น หากจุดที่ย้ายสถานีไปไม่ใช่สีดังกล่าว โดยยังดำเนินการในขั้นตอนการทำผังเมืองอำเภอ แต่กลุ่มซีพีควรรีบสรุปที่ตั้งสถานีเพื่อไม่ให้กระทบการทำผังเมือง
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 24/12/2020 11:00 am    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
ที่ดินขึ้น5เท่าทุนใหญ่ยึดEEC
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ท้องถิ่นขานรับไฮสปีด


ซีพี ย้ายสถานีไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน พัทยาวุ่นรื้อแผนโมโนเรล
ฐานเศรษฐกิจ
ฉบับวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 06:30:16 น.
เมืองพัทยา รีไวท์แผนลงทุนโมโนเรล รับกลุ่มซีพี เปลี่ยนแนวไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ย้ายที่ตั้งสถานีพัทยาออกไปอยู่นอกเขตเมือง ตั้งงบ 60 ล้านบาทศึกษาออกแบบเพิ่มเติม ปรับปรุงแผนแม่บท ส่อเค้าอาจปรับแผนลงทุนใหม่

เมืองพัทยา รีไวท์แผนลงทุนโมโนเรล รับ กลุ่มซีพี เปลี่ยนแนวไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ย้ายที่ตั้งสถานีพัทยาออกไปอยู่นอกเขตเมือง ตั้งงบ 60 ล้านบาทศึกษาออกแบบเพิ่มเติม ปรับปรุงแผนแม่บท ส่อเค้าอาจปรับแผนลงทุนใหม่จากเดิมเฟส 1 สายสีเขียว 3 หมื่นล้านบาท มาเป็นสายสีแดงก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเอกชน 6 รายสนใจร่วมลงทุน PPP
จากกรณีที่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) ที่ทาง กลุ่มซีพี มีแผนเปลี่ยนแนวเส้นทางเดินรถ และจะย้าย สถานีรถไฟฟ้าพัทยา จากในเมืองพัทยา ออกไปอยู่บริเวณ สถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง (ใกล้ตลาดนํ้า 4 ภาคและสวนนงนุช) ห่างจากที่ตั้งสถานีเดิมที่เคยวางไว้ราว 15 กิโลเมตร
ส่งผลกระทบต่อ โครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า หรือ โมโนเรล ที่จะต้องมีการศึกษาแผนแม่บทในโครงการนี้เพิ่มเติม จากเงื่อนไขสถานีหลักของกลุ่มซีพีที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตเมืองพัทยา อีกทั้งยังอาจจะส่งผลให้ต้องมีการปรับแผนลงทุนโมโนเรล พัทยาใหม่ จากก่อนหน้านี้ที่ได้ข้อสรุปไปแล้วจะผลักดัน รถไฟฟ้าโมโนเรล พัทยา เส้นทางสายสีเขียว (สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา-แหลมบาลีฮาย) ก่อนเป็นเฟสแรก

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแบบโมโนเรล เชื่อมระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ 3 สายทาง ระยะทาง 34 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบโครงการร่วมลงทุน PPP เป็น 1 ใน 7 โครงการของการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองพัทยา ตามยุทธศาสตร์ นีโอ พัทยา
โครงการดังกล่าวจะมีทั้งหมด 4 เส้นทาง ซึ่งเป็นในส่วนของโมโนเรล 3 สาย คือ
สายสีเขียว (สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา-แหลมบาลีฮาย),
สายสีแดง (วงเวียนปลาโลมา พัทยาเหนือ-แยกทัพพระยา (ทับกับสายสีเขียว)-จอมเทียน ,
สายสีม่วง (แยกทัพพระยา-หนองปรือ)
ส่วน สายสีเหลือง จะเป็นโครงการรถไฟชานเมืองของรฟท. เชื่อมศรีราชา-พัทยา-อู่ตะเภา โดยโครงการเหล่านี้จะเป็นโครงการร่วมลงทุนPPP



ทั้งนี้จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่มีส่วนได้เสีย (มาร์เก็ตซาวด์ดิ้ง)ทั้ง 3 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่าจะผลักดันโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าโมโนเรล พัทยา เส้นทางสายสีเขียว เป็นการลงทุนในเฟสแรกที่จะเกิดขึ้น มูลค่าการลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท(ลงทุน+เวรคืนที่ดิน) สัญญา 30 ปี



โดยโมโนเรลสายสีเขียวมีเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนและก่อสร้างกว่า 6 ราย อาทิ บีทีเอส,ช.การช่าง,บริษัท CRSC Railway Vehicle (จีน),สถาบันวิจัยThe Korea instate of Machinery and Materials ร่วมกับบริษัทRETD จำกัด,บริษัทพาวเวอร์ 21 จำกัด,บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)

แต่ล่าสุดเมื่อกลุ่มซีพี มีแผนจะย้ายสถานีไฮสปีดเทรน ไปยังพื้นที่สถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง ซึ่งอยู่นอกเขตเมืองพัทยา ทำให้เมืองพัทยาต้องศึกษาแผนลงทุนโมโนเรล เพิ่มเติมจากการย้ายสถานีหลัก ในพื้นที่ดังกล่าว เข้ามาเมืองพัทยา เพื่อรองรับการเชื่อมโยงกับโมโนเรล สายสีเขียว รวมถึงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทใหม่จากการเปลี่ยนแปลงสถานีหลักของซีพี โดยใช้งบศึกษาเพิ่มเติมอีก 60 ล้านบาท จากเดิมที่ดำเนินการศึกษาสำรวจ ออกแบบ เบื้องต้นแล้วเสร็จเรียบร้อยใช้งบศึกษาไปกว่า 70 ล้านบาท


เนื่องจากพื้นที่สถานีไฮสปีดพัทยา ที่จะย้ายไปอยู่บริเวณพื้นที่สถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง จะอยู่ใกล้กับโมโนเรล สายสีแดง มากกว่า เพราะต่อจากถนนเทพประสิทธิ เข้ามาเชื่อมโมโนเรล สายสีแดง ได้ ก็อาจจะปรับจากการลงทุนเฟส 1 จากสายสีเขียว มาเป็นสายสีแดง ก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลการศึกษาเพิ่มเติมที่จะเกิดขึ้น

“การย้ายพื้นที่สร้างสถานี ก็เป็นสิทธิของผู้ลงทุน เราคงไปบอกไม่ให้เขาย้ายไม่ได้ เมืองพัทยาทำได้แค่ปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาโมโนเรล ให้เหมาะสม เพราะการพัฒนาดังกล่าวไม่เพียงแก้ปัญหาเรื่องการจราจร ยังส่งเสริมให้เกิดการเข้าลงทุนในพื้นที่เมืองพัทยาเพิ่มขึ้น



ล่าสุดก็มีกลุ่มทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน ก็มองหาพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตร จากสถานีรถไฟฟ้าเมืองพัทยา เพื่อเข้ามาลงทุนในลักษณะมิกซ์ยูส โดยที่สนใจเข้ามาก่อน ก็จะเป็นจากจีน ที่มองหาพื้นที่เน้นการพัฒนาอาคารสำนักงาน (ออฟฟิศ บิวดิ้ง )เพื่อรองรับการพัฒนาในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เพราะปัจจุบันเมืองพัทยาไม่มีออฟฟิศ บิว ดิ้ง มีเพียงแต่ทาวน์โฮม ให้เช่าเท่านั้น” นายสนธยา กล่าวทิ้งท้าย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44319
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 15/02/2021 1:13 pm    Post subject: Reply with quote

เมืองพัทยาเร่งศึกษาเส้นทางใหม่รถไฟโมโนเรลรับการย้ายสถานีจอดไปบ้านห้วยขวาง
เผยแพร่: 15 ก.พ. 2564 10:45 ปรับปรุง: 15 ก.พ. 2564 10:45 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์ข่าว​ศรี​ราชา ​- เมืองพัทยาเดินหน้าศึกษาโครงการขยายเส้นทางรถไฟรางเบา หรือโมโนเรล รองรับการย้ายสถานีจอดรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากสถานีพัทยาไปยังบ้านห้วยขวาง

วันนี้ (15 ก.พ.)​ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เผยถึงความคืบหน้าแผนพัฒนาโครงการรถไฟรางเบา หรือโมโนเรล ด้วยการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการย้ายสถานีจอดจากเมืองพัทยา ไปยังเส้นทางใหม่ซึ่งอยู่แถบชานเมืองหลีกเลี่ยงปัญหา​ความแออัดด้านการจราจร และลดปัญหา​ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่า

ในเบื้องต้น เมืองพัทยาได้จัดตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาเพิ่มเติมโครงการขยายเส้นทางโครงการรถไฟรางเบา หรือโมโนเรล ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการเปลี่ยนสถานีจอดจากพื้นที่เมืองพัทยา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนว่าจะย้ายไปลงที่ใด

"ในส่วนของโครงการรถไฟรางเบานั้นที่ผ่านมา เมืองพัทยา ได้มีการให้มีการศึกษาการขยายเส้นใหม่ในเบื้องต้นไว้แล้ว โดยให้มีการศึกษาความพร้อมสำหรับสถานีจอดแห่งใหม่ที่บริเวณบ้านห้วยขวาง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเทศบาลห้วยใหญ่และนาจอมเทียน แต่ทราบว่ามีแนวโน้มชัดเจนที่จะมีการเปลี่ยนสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง"

ทั้งนี้ การขยายสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะทำให้เส้นทางวิ่งรถไฟฟ้ารางเบามีระยะทางที่ยาวขึ้น โดยเมืองพัทยาจะต้องขออนุญาตในเรื่องของการดำเนินโครงการนอกพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับ แต่จะไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหาที่จะร่วมทำงานกับทั้ง 2 เทศบาลเพราะได้มีการหารือกันแล้ว

"กรณีที่จะมีการย้ายสถานีจากเมืองพัทยาไปยังบ้านห้วยขวาง ต.ห้วยใหญ่นั้น เมืองพัทยา คงไม่ได้จะคิดเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใด เพียงแต่การดำเนินการโครงการรถไฟรางเบา หรือโมโนเรล เป็นเพียงการศึกษาออกแบบเพิ่มเติมในการขยายเส้นทางเพื่อให้ครอบคลุม โดยจะใช้ระบบ PPP หรือให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะในระยะยาว ตามประกาศของเมืองพัทยา"

นายสนธยา​ ยังเผยอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีคู่สัญญา ส่วนเมืองพัทยา เป็นผู้ดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้สอดรับสัญญาสัมปทานการสร้างรถไฟฟ้าความสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 27/04/2021 7:32 pm    Post subject: Reply with quote

เล็งดึง 3 ฝ่ายร่วมลงทุน พัฒนา TOD - รถไฟฟ้ารางเบาชลบุรี
UCDnews
27 เมษายน 2564 เวลา 10:23 น.

ม.เกษตรฯ-สจล.เล็งดึง 3 ฝ่ายร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวร่วมกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียงรวม 5 เทศบาลของพื้นที่อบจ.ชลบุรี ดีเดย์จัดประชุมสรุปทุกภาคส่วน 30 เม.ย.นี้ผ่านระบบออนไลน์ก่อนชงบพท.ภายใน พ.ค.64
รศ.ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน์ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย "การพัฒนาระบบบริหารจัดการการเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวบูรณาการร่วมกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เปิดเผยว่า ชุดโครงการวิจัยนี้ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่

1) โครงการย่อยที่ 1 การพัฒนาระบบการเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวโดยการประยุกต์ใช้แบบจําลองสภาพการจราจรในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียง (การวางโครงข่าย ระบบการเดินรถ ระบบปฏิบัติการ ความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์การลงทุน ออกแบบการเดินรถเสมอระดับถนน ไฟจราจร)

2) โครงการย่อยที่ 2 การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นท่ีใกล้เคียง โดยมีรศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ 2

โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ด้านโครงการประสานงานจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมือง โดยเป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมที่ได้มีการศึกษาการพัฒนาโครงการเฉพาะพื้นที่แหลมฉบังรองรับไว้แล้ว ได้มีการขยายพื้นที่ให้กว้างมากขึ้น และประยุกต์ปัญหาจากโครงการก่อนนี้มาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ทั้งเรื่องเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และระบบปฏิบัติการ ทั้งเรื่องการเดินรถ ความถี่ ความเร็ว
ปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าพร้อมเร่งส่งมอบบพท.ตามสัญญาภายในเดือนพฤษภาคมนี้โดยอยู่ระหว่างการสรุปผลรายงานเบื้องต้นกำหนดจะมีจัดประชุมทุกภาคส่วนในวันที่ 30 เมษายนนี้ก่อนนำเสนอโครงการวิจัยต่อบพท.ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ต่อไป
สำหรับการร่วมหารือกับเทศบาลแหลมฉบังนั้นต่างเห็นชอบด้วยกันทุกฝ่าย สถานีที่แนะนำ ตลอดจนกรณีที่บริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด แสดงความสนใจพร้อมกับนำผลการศึกษาเดิมไปจัดระบบเส้นทาง มีเพิ่มเติมคือต้องการเพิ่มเส้นทางเข้าไปเชื่อมถึงประชาชนในจุดต่างๆให้มากขึ้น อาจจะต้องใช้ระบบฟีดเดอร์เข้าไปเชื่อมโยง
ขณะนี้ขอเพียงรัฐบาลหรือหน่วยงานที่สนใจมีงบประมาณการลงทุนเท่านั้นก็สามารถจะขับเคลื่อนโครงการนี้ได้ทันที มั่นใจว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วโครงการนี้คงจะมีความคืบหน้าเรื่องแนวทางดำเนินการมากขึ้น
“ระหว่างนี้ทราบว่าในพื้นที่จังหวัดชลบุรีจะมีการปรับปรุงผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกับพื้นที่ TOD ของรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ซึ่งเชื่อมได้กับ 5 เทศบาล ทั้งนี้เมื่อสรุปผลการศึกษาครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็จะเร่งเสนอบพท.เสนอผู้เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้าต่อไป”
โดยแนวทางนั้นจะนำเสนอองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี(อบจ.)และทั้ง 5 เทศบาลเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาขับเคลื่อนโครงการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยจะผลักดันทั้งเรื่องโครงข่ายเส้นทาง จุดสถานี TOD โดยเฉพาะสถานีนำร่องเกาะลอย และศรีราชาให้เห็นว่าหากจะพัฒนาระบบขนส่งมวลชนควรจะพัฒนารูปแบบ TOD ควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้หากพิจารณาถึงเรื่องความคุ้มค่าการลงทุน ตลอดจนเรื่องเอกสารร่วมลงทุนเพื่อเป็นรายละเอียดให้นักลงทุนนำไปศึกษาก่อนจะมาร่วมลงทุนนั้น คาดว่าในครั้งนี้จะสามารถแนบรายละเอียดให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้นักลงทุนสามารถเตรียมความพร้อมได้ก่อน
“แนวทางคงจะออกมาในรูปการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือ PPPs เป็นไปได้ทั้งสิ้นสำหรับการลงทุนระหว่างอบจ.ชลบุรีร่วมกับ 5 เทศบาล กับบริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ตลอดจนภาครัฐลงทุนเองทั้งหมด โครงการนี้ได้วิจัยเผื่อไว้มากกว่าที่ได้รับงบประมาณมาจากบพท.อย่างมาก ผลสรุปขั้นตอนมีความชัดเจน พร้อมเสิร์ฟด้านการลงทุนให้สำเร็จได้ทันที แต่ก็ยังเป็นห่วงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งคงต้องเว้นระยะเวลาอีกนาน เมื่อกลับสู่ภาวะปกติอาจจะมีบางสิ่งต้องปรับเปลี่ยนไปก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น”
รศ.ดร.ศักรธร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในอนาคตหากมีโครงการอื่นๆ ที่จะต่อยอดจากโครงการวิจัยในครั้งนี้ได้สามารถดำเนินการได้ทันที อีกทั้งโครงการวิจัยดังกล่าวยังจัดทำแผนปฏิบัติการได้พร้อมนำเสนออบจ.ชลบุรีและอีก 5 เทศบาลนำไปพิจารณารายละเอียดต่อไป
เล็งดึง 3 ฝ่ายร่วมลงทุนพีพีพี
ประการสำคัญนักวิจัยของโครงการยังพร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่าง 5 เทศบาลในจังหวัดชลบุรี กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (อบจ.) และบริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ดังที่จังหวัดขอนแก่นร่วมมือหลายฝ่ายขับเคลื่อนโครงการจนเป็นรูปธรรมได้จริง
“เกาะลอย-ศรีราชาน่าจะได้เห็นภาพชัดเจนก่อนที่จะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อไปเพื่อให้เกิดการพลิกโฉมในหลายๆด้านที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเมืองตามแนวทางที่ถูกต้องโดยเฉพาะรอบๆสถานีขนส่งมวลชน ซึ่งเหตุที่เลือกพื้นที่เกาะลอยและศรีราชามาดำเนินการก่อนเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม มีปริมาณประชาชนหนาแน่น เป็นพื้นที่ย่านธุรกิจใหม่ ศูนย์ราชการและเป็นพื้นที่เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีศักยภาพมาก”
ทั้งนี้รูปแบบการเดินรถไฟฟ้ารางเดี่ยวและรางเบา รอบพื้นที่การพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการบูรณาการร่วมกับ 5 เทศบาลเมืองในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ได้แก่
เทศบาลเมืองแหลมฉบัง
เทศบาลเมืองแสนสุข
เทศบาลเมืองชลบุรี
เมืองพัทยา และ
เทศบาลเมืองศรีราชา

มีแนวเส้นทางจากเทศบาลเมืองชลบุรี แสนสุข ศรีราชา แหลมฉบัง และพัทยา แนวเส้นทางการศึกษาแล้วเสร็จ ระยะทางประมาณ 74 กิโลเมตร จำนวน 54 สถานี
สำหรับโครงข่ายตามผลการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 5 เมือง 3 อำเภอของจังหวัดชลบุรี โดยร่วมขับเคลื่อนในเบื้องต้นกับเทศบาลแหลมฉบัง มีการรวมรายละเอียดการเดินรถช่วงทางแยกเสมอระดับไว้ด้วยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเดินรถ ใช้เทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้สัญญาณแก่รถไฟฟ้าสามารถเคลื่อนตัวไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ก่อปัญหาจราจรตามที่หลายฝ่ายมีความกังวล
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 11/10/2021 11:00 pm    Post subject: Reply with quote

“พัทยา”รื้อแผนโมโนเรล ต่อเส้นทางเชื่อมไฮสปีด
By ประภาศรี โอสถานนท์
วันอาทิตย์ ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10:00 น.

“นายกเมืองพัทยา” เผย เมืองพัทยา เดินหน้าศึกษา ออกแบบ เส้นทางรถไฟรางเบา รองรับส่วนต่อขยายไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ หลังมีกระแสข่าวซีพีย้ายสถานีออกไปนอกเมือง
เมืองพัทยามีแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งรองเพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมจากสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยาเข้ามาในตัวเมืองพัทยา โดยที่ผ่านมามีการรับฟังความเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวตล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี รวม 2 ครั้ง

การเปิดรับฟังความเห็นครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.2563 และหลังจากนั้นมีการหารือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับ บริษัทเอเชียเอรา วัน จำกัด ผู้ได้สิทธิพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีการเจรจาเพื่อขอปรับแบบโครงการ และขอย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงบางแห่ง เช่น สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา

สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า จากการที่เอกชนผู้รับสิทธิพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีแผนย้ายสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงพัทยาออกไปอยู่บริเวณสถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง (ใกล้ตลาดน้ำ 4 ภาคและสวนนงนุช) ห่างจากที่ตั้งสถานีเดิมที่เคยวางไว้ราว 15 กิโลเมตร นั้น โดยในเบื้องต้นเมืองพัทยาได้จัดตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาเพิ่มเติมโครงการขยายเส้นทางโครงการรถไฟรางเบา (โมโนเรล) ซึ่งที่มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการเปลี่ยนสถานีจอดจากพื้นที่เมืองพัทยาออกไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนว่าจะย้ายไปลงที่ใด

อ่านข่าว : เปิดเมือง “พัทยา มูฟออน” “สนธยา”พร้อมนักรับท่องเที่ยว

ทั้งนี้เดิมทางเมืองพัทยาได้มีการศึกษาเส้นทางโครงการโมโนเรลเพื่อเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงพัทยาไปแล้ว ซึ่งหลังจากที่ดำเนินการศึกษาสำรวจและออกแบบเบื้องต้นไปแล้ว แต่เมื่อมีประเด็นการย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงทำให้เมืองพัทยาต้องเตรียมศึกษาเส้นทางใหม่ในส่วนต่อขยาย เพื่อเชื่อมโยงกับสถานีใหม่และเตรียมความพร้อมหากมีการย้ายสถานีจริง ซึ่งเบื้องต้นเส้นทางใหม่จะเป็นพื้นที่เลียบรางรถไฟเดิมที่อยู่แล้ว รวมทั้งมีการออกแบบใหม่เพื่อรองรับการย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูง และคาดว่าไม่น่าจะดำเนินการยากกว่าในเขตเมืองทั้งการศึกษา ออกแบบ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม

“ที่เราได้ศึกษาเพิ่มเติมเป็นส่วนต่อขยายในเส้นทางรถไฟเดิม ไม่ใช่การศึกษาเส้นทางเดินรถหรือสถานีในเขตพื้นที่เมืองพัทยา คาดว่าจะอีกไม่นานคงมีความชัดเจน“

นอกจากนี้ หากมีการย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงเมืองพัทยาออกไปนอกเมืองจริงจะส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ซึ่งต้องมีการศึกษาแผนแม่บทในโครงการนี้เพิ่มเติมเพราะเงื่อนไขที่ตั้งสถานีพัทยาเปลี่ยนแปลงไป โดยพื้นที่ใหม่อยู่นอกเขตเมืองพัทยา

“ขณะนี้ก็มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและยุโรป ที่มีความสนใจในการลงทุนในส่วนต่อขยายไปยังสถานีใหม่”

รายงานข่าวจากเมืองพัทยาระบุว่า เมืองพัทยาได้สรุปข้อมูลโครงการสำหรับใช้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) 2 ครั้ง เมื่อเดือน ก.ย.2563 โดยระบุว่าการศึกษารถไฟฟ้ารางเบาของเมืองพัทยาเดิมกำหนดรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อม (Straddle monorail) ระยะทางรวม 9.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.เส้นทางสายหลัก (Main Line) เป็นทางคู่ยกระดับสถานีที่ 1-12 (สถานีรถไฟพัทยา-ศูนย์ซ่อมบำรุง) ระยะทาง 8.30 กิโลเมตร

2.เส้นทางสายรอง (Spur Line) ทางเดี่ยวยกระดับสถานีที่ 12-13 (ศูนย์ซ่อมบำรุง-แหลมบาลีฮาย) ระยะทาง 1.60 กิโลเมตร

ทั้งนี้ รถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยามี 13 สถานี ประกอบด้วย สถานีพัทยา, มอเตอร์เวย์, ขนส่ง, แยกสายสาม, ศาลาว่าการ, วงเวียนปลาโลมา, พัทยาซอยห้า, สายสองซอยหก, ซอยเมดอินไทยแลนด์, สำนักงานหนังสือเดินทาง, พัทยานุกูล ,ทัพพระยาซอยสาม (ศูนย์ซ่อมบำรุง) และแหลมบาลีฮาย

สำหรับรูปแบบระบบขนส่งสาธารณะของโครงการ ออกแบบเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ที่มีโครงสร้างทาง วิ่งเป็นทางยกระดับ ส่วนใหญ่แนวเส้นทางก่อสร้างไปตามแนวถนนเดิม โดยจะมีการเวนคืนพื้นที่ด้านข้างถนนเดิมเพิ่มเติม ไม่มากนักเพื่อการก่อสร้างบันไดและลิฟต์สำหรับทางขึ้น-ลงสถานี

นอกจากนี้ ประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ มูลค่าการลงทุนของโครงการ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

1.ช่วงการก่อสร้าง ต้นทุนในการลงทุนเริ่มแรกในช่วงการก่อสร้าง ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ ส ารวจและออกแบบ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ งานโครงสร้าง โยธา โรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงงานก่อสร้างทางวิ่ง งานเครื่องกลและไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธาและงานไฟฟ้าเครื่องกล และมาตรการลดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม รวมเงินลงทุนเริ่มแรกเท่ากับ 16,484 ล้านบาท

2.ช่วงเปิดให้บริการ (Operation Stage) ต้นทุนในการบริหารและดำเนินการ (OPEX) ในช่วงเปิดให้บริการ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา และค่ามาตรการตรวจสอบติดตามด้านสิ่งแวดล้อม รวมเงินลงทุนเท่ากับ 10,438 ล้านบาท

ดังนั้น ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโครงการรวม ทั้งสิ้น 26,922 ล้านบาท

ส่วนค่าโดยสารได้มีการศึกษา ดังนี้ การคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 16 บาท บวกด้วยค่าโดยสารตามระยะทาง 2.80 บาทต่อกิโลเมตร (ราคา ณ ปี 2563) และกำหนดให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% โดยระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุนที่เหมาะสม คือ 35 ปี รวมระยะเวลาในการก่อสร้างและดำเนินการ

ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่าโครงการมีความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐกิจ โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,198 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.96% และมีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อทุน (B/C) เท่ากับ 1.11 เท่า
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44319
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 06/03/2022 4:00 pm    Post subject: Reply with quote

นายกเมืองพัทยาเผยทุนต่างชาติสนใจโครงการรถไฟรางเบาพัทยาจำนวนมาก
สยามรัฐออนไลน์ 5 มีนาคม 2565 17:10 น. ภูมิภาค

นายกเมืองพัทยา เผยโครงการรถไฟรางเบาพัทยาเนื้อหอม บริษัททุนต่างชาติสนใจจำนวนมาก ชี้อยู่ระหว่างขั้นตอนจัดทำ PPP คาดเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 20,000 ล้านบาท

วันที่ 5 มีนาคม 2565 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟรางเบาพัทยา หรือ Tram ว่าสำหรับโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาเส้นทาง การศึกษาผลบกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นไปแล้ว ซึ่งเป็นขั้น ตอนในการดำเนินการและพร้อมที่จะเปิดหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อมาดำเนินการร่วมกับเมืองพัทยาต่อไป อีกทั้งยังได้มีการกำหนดรูปแบบทางเลือกของรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบาของเมืองพัทยาไว้แล้ว 2 ทางเลือกด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก คือ รถที่วิ่งอยู่บนราง ทั้งเป็นระบบขับเคลื่อนและเป็นระบบแม่เหล็ก ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งจะเป็นรูปแบบในลักษณะแขวน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามกระบวนการ

ส่วนกระบวนการ PPP นั้นคาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงปี 2565-2566 จากนั้นจะเป็นการดำเนินการก่อสร้างและการลงทุน รวมระยะเวลาประมาณ 5 ปี สำหรับรถไฟรางเบาพัทยามีด้วยกัน 3 เส้นทาง แบ่งการดำเนินการออกเป็นเฟสๆ ซึ่งจะสอดรับกับการลงทุนการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟฟ้าความเร็วสูงของรัฐบาล ทั้งนี้ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติสนใจที่จะยื่นข้อเสนอเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ที่มีการเริ่มจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่มีผู้สนใจเข้ามาร่วมทุนในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในพื้นที่เมืองพัทยา ที่จะต่อเชื่อมจากรถไฟฟ้าความเร็วสูง

นายกเมืองพัทยา เปิดเผยต่ออีกว่าในส่วนของขั้นตอนกระบวนการจัดทำ PPP ในทางเลือก 2 แบบจาก 3 เทคโนโลยีหลักนั้น การดำเนินการและการลงทุนจะมีการคำนึงถึงราคา ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการใช้งานเป็นหลัก เพื่อที่จะทำให้คนที่เข้ามาลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ พร้อมทั้งสามารถให้บริการกับประ ชาชนได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้การดำเนินการก่อสร้างในส่วนเฟสแรกนั้นจะเริ่มจากสถานีรถไฟฟ้าพัทยา บริเวณซอยสยามคันทรีคลับไปบรรจบที่ท่าเรือ แหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ โดยจะใช้เส้นทางผ่านถนนมอร์เตอร์เวย์ เข้าสู่ถนนพัทยาเหนือก่อนจะเลี้ยววิ่งไปบนถนนพัทยาสาย 2 และตรงสู่ท่าเทียบเรือพัทยาใต้ ระยะทางประมาณ 9 กม. ทั้งนี้มีการประมาณการเม็ดเงินลงทุนไว้ประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44319
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 21/05/2022 5:14 pm    Post subject: Reply with quote

ส่งต่อการบ้าน แก้โจทย์ "พัทยา" ต้อนรับนายกเมืองคนใหม่
กรุงเทพธุรกิจ 21 พ.ค. 2565 เวลา 17:00 น.

ดีเดย์ วันอาทิตย์นี้ (22 พ.ค. 2565) ชาวพัทยาเตรียมเลือกตั้ง "นายกเมืองพัทยา" รับโจทย์ฟื้นเมืองท่องที่ยว รับช่วงแก้โจทย์ปัญหาเมือง สานต่อโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

เมืองพัทยามีการปกครองด้วยองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพียงแต่มีพื้นที่รับผิดชอบ 54 ตารางกิโลเมตรไม่เต็มพื้นที่จังหวัด สาเหตุที่พัทยาได้รับการยกฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษมาจากลักษณะพิเศษของเมืองพัทยา ที่มีความเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาจำนวนมากจนการปกครองรูปแบบเดิมไม่สามารถรองรับและบริหารจัดการได้เพียงพอ

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมืองพัทยาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "นีโอพัทยา" เตรียมรองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งระยะ 5 ปีข้างหน้าคาดว่ามีเม็ดเงินลงทุนมากโดยเฉพาะในอีอีซีถึง 2.2 ล้านล้านบาท ทั้งการลงทุนต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานใหม่สู่ความเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

จึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของเมืองพัทยาที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ที่พักอาศัย การขนส่งคมนาคม ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวริมชายหาด และวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ซึ่งการดำเนินในช่วงที่ผ่านมายังมีหลายส่วนต้องดำเนินการต่อ รวมถึงยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (2566-2570) เพื่อสร้างเมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน

โจทย์การท่องเที่ยว

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบหนักให้เมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งเริ่มมีการปรับตัวและให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ภายหลังการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดการท่องเที่ยวพัทยาจึงกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งแม้จะยังมีจำนวนไม่มากเท่าช่วงก่อนโควิด

โดยเมืองพัทยาได้มีการวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมา รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ทั้งด้านการปรับปรุงทัศนียภาพ มีโครงการนำสายไฟลงดินซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ลานจอดรถในบริเวณแหลมบาลีฮาย ให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเกาะล้านได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา ประกอบด้วย

1.แผนพัฒนาตลาดลานโพธิ์นาเกลือ (Old Town นาเกลือ) ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน

2.แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเมืองพัทยา เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล อาทิ เชื่อมต่อสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่

3.แผนพัฒนาระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ได้ร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง

แลนด์มาร์ค Old Town นาเกลือ

โครงการพัฒนาพื้นที่ “ลานโพธิ์-นาเกลือ” สู่ตลาดอาหารทะเลระดับโลกเป็นแลนด์มาร์คใหม่ ได้รับงบประมาณและเริ่มก่อสร้างอาคารจอดรถ รองรับได้ 239 คัน และจะปรับปรุงตลาดขายอาหารทะเลสดและของฝาก เปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเมืองพัทยามาร่วมสร้างรายได้

การปรับปรุงสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสนามเด็กเล่น สะพานและจุดชมทัศนียภาพ ปากคลองนาเกลือ และคลองนกยาง (สะพานยาว) ซึ่งเป็นป่าชายเลนผืนสุดท้ายเมืองพัทยา

ดันขนส่งสาธารณะ
เมืองพัทยายังมีแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ รถไฟฟ้ารางเบา จะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยมีเป้าหมายยกระดับการขนส่งเพื่อคนพัทยา นักท่องเที่ยว และประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก คาดว่าภายในปี 2565 จะจัดทำ TOR ประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนในเส้นทางดังกล่าว โดยการดำเนินงานจะเริ่มชัดเจนขึ้นภายหลังการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา

สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็น Feeder ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนท้องถิ่นเมืองพัทยา เช่น รถสองแถว รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถแท็กซี่และรถประจำทางด้วย ซึ่งจะเชื่อมกับ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

นอกจากนี้ เมืองพัทยายังได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2566 สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบและผลกระทบในอีก 3 เส้นทางที่เหลือให้แล้วเสร็จ

สำหรับรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ โมโนเรล สายสีเขียว กำหนดรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อม (Straddle monorail) ที่มีโครงสร้างทางวิ่งเป็นทางยกระดับ ส่วนใหญ่แนวเส้นทางก่อสร้างไปตามแนวถนนเดิม โดยจะมีการเวนคืนพื้นที่ด้านข้างถนนเดิมเพิ่มเติมไม่มากนัก เพื่อการก่อสร้างบันไดและลิฟต์สำหรับทางขึ้น-ลงสถานี รวมมีระยะทาง 9.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.เส้นทางสายหลัก (Main Line) เป็นทางคู่ยกระดับสถานีที่ 1-12 (สถานีรถไฟพัทยา-ศูนย์ซ่อมบำรุง) ระยะทาง 8.30 กิโลเมตร

2.เส้นทางสายรอง (Spur Line) ทางเดี่ยวยกระดับสถานีที่ 12-13 (ศูนย์ซ่อมบำรุง-แหลมบาลีฮาย) ระยะทาง 1.60 กิโลเมตร

ทั้งนี้ รถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยามี 13 สถานี ประกอบด้วย สถานีพัทยา, มอเตอร์เวย์, ขนส่ง, แยกสายสาม, ศาลาว่าการ, วงเวียนปลาโลมา, พัทยาซอยห้า, สายสองซอยหก, ซอยเมดอินไทยแลนด์, สำนักงานหนังสือเดินทาง, พัทยานุกูล ,ทัพพระยาซอยสาม (ศูนย์ซ่อมบำรุง) และแหลมบาลีฮาย

โดยประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 26,922 ล้านบาท จะมีการคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 16 บาท บวกด้วยค่าโดยสารตามระยะทาง 2.80 บาทต่อกิโลเมตร (ราคา ณ ปี 2563) และกำหนดให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% สำหรับระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุนที่เหมาะสม คือ 35 ปี รวมระยะเวลาในการก่อสร้างและดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่านายกและทีมบริหารเมืองพัทยาชุดใหม่ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเมือง และขับเคลื่อนเมืองพัทยาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนอย่างไร
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42623
Location: NECTEC

PostPosted: 26/08/2022 3:50 pm    Post subject: Reply with quote

สภาเมืองพัทยาลุยต่อโครงการศึกษาเส้นทางระบบรถไฟรางเบา (Tram Way)
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันศุกร์ ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13:25 น.
ปรับปรุง: วันศุกร์ ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13:25 น.


ศูนย์ข่าว​ศรี​ราชา​ -​ สภาเมืองพัทยา ลุยต่อโครงการศึกษาเส้นทางระบบรถไฟรางเบา (Tram Way) แม้ผลกระทบระบาดโควิด-19 ทำไม่สามารถจัดประชาพิจารณ์ประชาชนในรอบที่ 2ได้ ล่าสุด ขออนุมัติ​งบจ่ายค่าศึกษาเพิ่มงวดสุดท้ายอีก 1.5 ล้านบาท จากยอดรวม 70 ล้านบาท

วันนี้ (26 ส.ค.)​ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการผลักดันโครงการระบบรถไฟรางเบา (Tram Way) เมื่องพัทยา เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ​และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ว่า ล่าสุด ในการประชุม​สภาเมืองพัทยาเมื่อวานนี้ นายวุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ รองนายกเมืองพัทยา ได้เสนอขออนุมติใช้จ่ายเงินสะสมโครงการจ้างที่ปรึกษาความเหมาะสมออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tram Way) อีกจำนวน 1.52 ล้านบาท

หลังที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจการส่วนกลางประจำปี 2562 เพื่อดำเนินโครงการ ในวงเงิน 70 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาที่จะต้องให้เบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563

แต่ด้วยสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการยังขาดการจัดทำประชาพิจารณ์จากประชาชนในครั้งที่ 2 จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินงานได้ทันจนต้องพับโครงการไปก่อนจนส่งผลกระทบต่อการส่งงวดงานที่ 3, 4, 5 และ 6 ซึ่งเมืองพัทยาได้ทำสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่มีข้อกำหนดในการตรวจรับและส่งงวดงาน จำนวน 6 ครั้ง



อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาจากการที่สภาเมืองพัทยา ไม่สามารถจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ หลังสมาชิกสภาเมืองพัทยา มีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และเมืองพัทยาไม่สามารถจัดสรรงบประมาณรายจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2564 จึงส่งเรื่องคืนส่วนงานจราจร เพื่อพิจาณาขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีถัดไป

โดยการประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยแรกเมื่อวานนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะอนุมัติยืนยันตามเดิมให้จ่ายเงินสะสมชดเชยงบประมาณสะสมเฉพาะกิจที่พับไป

พร้อมข้อเสนอให้สภาเมืองพัทยาพิจารณาอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมสมโครงการที่ปรึกษาศึกษาระบบออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram Way เพิ่มเติมจำนวน 1,528,380 บาท



ขณะที่ นายไพรวัลย์ อารมณ์ชื่น รองประธานสภาเมืองพัทยา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการศึกษาเพื่อต่อยอดด้านการขนส่งสาธารณะเชื่อมกับระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น

แต่ด้วยขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสถานีจอดรถไฟฟ้าพัทยา ซึ่งจะใช้พื้นที่ของสถานีจอดรถไฟเดิมบริเวณซอยสนามกอล์ฟสยามคันทรคีลับ หรืออาจจะมีการเปลี่ยนไปบริเวณสถานีห้วยขวางใกล้กับตลาดน้ำ 4 ภาค ซึ่งอาจทำให้การวางแผนศึกษาไว้เกิดผลกระทบได้

เช่นเดียวกับ นายมณเฑียร จันทร์สุข ผู้อำนวยการสำนักการช่างเมืองพัทยา บอกว่าโครงการนี้ได้ทำตามการออกแบบเดิมที่รัฐบาลเซ็นสัญญาว่าจ้างไว้ เมืองพัทยาจึงได้เร่งในการวางแผนระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนโดยทั่วไป


อย่างไรก็ตาม หากมีการย้ายพื้นที่การจัดสร้างสถานีจอดไฟฟ้าใหม่ไปยังสถานีห้วยขวาง ซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดน้ำ 4 ภาค เมืองพัทยา จะต้องมีการปรับแผนศึกษาเพื่อรองรับให้ครอบคลุมและสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

"แต่ขณะนี้ยังไมมีความชัดเจน ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จริงคงต้องมาปรับแผนและเสนอต่อสภาเมืองพัทยาอีกครั้ง" ผู้อำนวยการ สำนักการช่างเมืองพัทยา กล่าว
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคต All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9  Next
Page 8 of 9

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©