Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311304
ทั่วไป:13278441
ทั้งหมด:13589745
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 22, 23, 24 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42772
Location: NECTEC

PostPosted: 02/11/2014 7:54 pm    Post subject: Reply with quote

ชมคลิป "ชัชชาติ" ประกาศหนุน เมกะโปรเจ็คท์ 3 ล้านล้านของ "บิ๊กตู่" แบบสุดลิ่ม
มติชน
วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 16:36:56 น.



อดีตรัฐมนตรีคมนาคมเห็นด้วยรัฐบาล คสช. ผลักดันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมวงเงินมากกว่า 3ล้านล้านบาทภายใน 8 ปี เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ พร้อมเอาใจช่วยรัฐบาลให้ทำโครงการต่างๆ ได้สำเร็จ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงคมนาคมจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่งในระยะเวลา 8 ปี มูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านบาท เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีและถือว่ามีความสำคัญต่อประเทศเพราะจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ลดต้นทุนทางด้านการขนส่งและช่วยเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาค ซึ่งโครงการต่างๆที่เห็นเป็นโครงการต่อเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านๆมา ซึ่งเห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนมาก

สำหรับโครงการเร่งด่วนที่รัฐบาลควรจะต้องเร่งดำเนินการนั้นนายชัชชาติกล่าวว่าเรื่องการขยายถนนเป็น 4 เลนทั่วประเทศ การแก้ไขปัญหาจุดตัด ทางแยกที่ไม่มีความปลอดภัยน้องให้มีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งเร่งก่อสร้างทางพิเศษจากกรุงเทพไปนครราชสีมา ส่วนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลนั้น การเร่งก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือร.ฟ.ม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายสีเขียวช่วงหมอดชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา สายสีชมพูช่วงปากเกร็ด-มีนบุรี สายสีส้มช่วงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์-มีนบุรี รวมทั้งการแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับรางรถไฟให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น

สำหรับการทำงานของรัฐบาลในช่วง5-6เดือนที่ผ่านมานายชัชชาติกล่าวว่าขอเอาใจช่วยให้โครงการต่างๆที่รัฐบาลทำสำเร็จไปด้วยดี เพราะหากสามารถดำเนินงานต่างๆได้จะเป็นผลดีต่อประเทศและประชาชน

http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=rCuku_jHyAE
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42772
Location: NECTEC

PostPosted: 04/11/2014 10:26 am    Post subject: Reply with quote

อดีตรองผู้ว่าฯกทม.เสนอยุทธศาสตร์คมนาคมใช้รถไฟความเร็วสูง250-300กม.ต่อชม.
มติชน
วันที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 12:47:22 น.



ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วันที่ 3 พฤศจิกายน

เมื่อไหร่ยุทธศาสตร์คมนาคมขนส่งจะนิ่ง

คงยังจำกันได้ว่าก่อนที่จะมีรัฐบาลประยุทธ์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ต่อ คสช. ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 5 แผนงาน วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท (แต่ผมรวมตัวเลขได้ 3.44 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 2.4 ล้านล้านบาท)



ในแผนยุทธศาสตร์นี้ มีโครงการที่โดดเด่นคือ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ (1) หนองคาย – นครราชสีมา – ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 737 กม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท (2) เชียงของ – เด่นชัย – บ้านภาชี ระยะทาง 655 กม. วงเงิน 348,890 ล้านบาท หรือวงเงินรวม 2 เส้นทาง 741,460 ล้านบาท



หลังจากนั้นยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนตลอดมา จนถึงวันนี้ได้ปรับเปลี่ยนวงเงินเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท อีกทั้ง โครงการรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 2 เส้นทาง ก็ถูกเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทาง ประกอบด้วย (1) กรุงเทพฯ-นครราชสีมาและนครราชสีมา-มาบตาพุด (2) กรุงเทพ-ระยอง และ (3) นครราชสีมา-หนองคาย พร้อมทั้งปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเปลี่ยนชื่อโครงการจากรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร เป็นรถไฟความเร็วสูง



ผมเห็นแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแล้วก็รู้ว่าได้ทันทีว่าเป็นการดัดแปลงจากแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่เป็นการดัดแปลงโดยยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ ทำให้ได้เส้นทางที่ดูแปลกๆ นั่นคือเส้นทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและนครราชสีมา-มาบตาพุด ผมนึกไม่ออกว่าจะมีใครคิดจะเดินทางหรือขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปมาบตาพุดโดยผ่านนครราชสีมาซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมให้เสียเวลา (ผมเข้าใจดีว่าเส้นทางจากนครราชสีมา-มาบตาพุด ต้องการรองรับสินค้าจากอีสาน

ดังนั้นจะต้องจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางให้เหมาะสม เส้นทางใดควรสร้างก่อนหรือหลัง) ผมฉงนและงุนงงกับ สนข. มากที่กล้าปรับเปลี่ยนแผนแม่บทที่ผ่านการศึกษาโดยตนเองมาแล้ว ส่งผลให้ได้รถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บ้าง หรือรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บ้าง

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมีความเห็นต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ดังนี้

1. หากต้องการจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงก็พูดให้ชัดไปเลย ไม่ต้องอ้อมๆ แอ้มๆ ว่าเป็นรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

2. ควรพิจารณาเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงเป็น 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

3. ควรกำหนดวงเงินของยุทธศาสตร์ให้แน่นอนและชัดเจน เพื่อที่จะหาแนวทางระดมเงินทุนได้

ทั้งหมดนี้ ผมอยากเห็น สนข. เป็นหลักที่ยืนหยัดอยู่บนเหตุผลทางวิชาการให้กับทุกรัฐบาล ไม่โอนเอนไปตามกระแสทางการเมืองครับ

//-------------------

“สามารถ” ท้วง สนข.หมกเม็ดแผนยุทธศาสตร์ระบบราง ผุดเส้นทางอ้อมโลก “กทม.-โคราช-มาบตาพุด”


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 พฤศจิกายน 2557 15:20 น.


อดีต ส.ส.ปชป.ท้วง สนข.มกเม็ดงบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาขนส่งระบบราง เปลี่ยนเส้นทางที่ศึกษาแล้ว กลายเป็น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด ชี้ทำไมต้องอ้อมให้เสียเวลา ถ้าต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูงก็ควรระบุให้ชัด

วันนี้ (3 พ.ย.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เสนอยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย ปี 2558 ถึง 2565 ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยยุทธศาสตร์นี้มี 5 แผนงาน ใช้วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทนั้นว่า ตนดูรายละเอียดแล้วพบว่าแผนงานนี้รวมตัวเลขได้ 3.44 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการที่โดดเด่นคือ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวม 2 เส้นทาง คือ (1) หนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท (2) เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท รวม 2 เส้นทาง 741,460 ล้านบาท

จากนั้นยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนตลอดมา จนถึงวันนี้ได้ปรับเปลี่ยนวงเงินเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท อีกทั้งโครงการรถไฟทางคู่ขนานราง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 2 เส้นทาง ก็ถูกเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทาง ประกอบด้วย (1) กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และ นครราชสีมา-มาบตาพุด (2) กรุงเทพฯ-ระยอง และ (3) นครราชสีมา-หนองคาย พร้อมทั้งปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเปลี่ยนชื่อโครงการจากรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร เป็นรถไฟความเร็วสูง

“เมื่อเห็นเส้นทางก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นการดัดแปลงจากแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงงงที่ สนข.กล้าปรับเปลี่ยนแผนแม่บทที่ผ่านการศึกษามาแล้ว มาเป็นเส้นทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด และนึกไม่ออกว่าจะมีใครคิดจะเดินทาง หรือขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปมาบตาพุดโดยผ่านนครราชสีมา ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมให้เสียเวลา จึงเห็นว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 หากต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็ควรระบุให้ชัดไปเลยว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงไม่ใช่รถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร และหากเป็นเช่นนั้นก็ควรพิจารณาเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงเป็น 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมกำหนดวงเงินของยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน เพื่อที่จะหาแนวทางระดมเงินทุนได้ ซึ่งทั้งหมดตนอยากเห็น สนข.เป็นหลักที่ยืนหยัดอยู่บนเหตุผลทางวิชาการให้กับทุกรัฐบาล ไม่โอนเอนไปตามกระแสทางการเมือง” นายสามารถระบุ

//-----------------------

ปชป.อัดสนข. หมกเม็ดงบฯ ขนส่งทางราง


โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 3 พฤศจิกายน 2557 20:49 น.


นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เสนอยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ของไทย พ.ศ. 2558 –2565 ต่อคสช. โดยยุทธศาสตร์นี้ มี 5 แผนงาน ใช้วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ว่า ตนดูรายละเอียดแล้วพบว่า แผนงานนี้รวมตัวเลขได้ 3.44 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการที่โดดเด่น คือ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งความเร็วสูงสุด 160 กม.ต่อชม. รวม 2 เส้นทาง คือ (1) หนองคาย–นครราชสีมา–ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 737 กม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท (2) เชียงของ–เด่นชัย–บ้านภาชี ระยะทาง 655 กม. วงเงิน 348,890 ล้านบาท รวม 2 เส้นทาง 741,460 ล้านบาท จากนั้นยุทธศาสตร์ดังกล่าว ถูกปรับเปลี่ยนตลอดมา จนถึงวันนี้ ได้ปรับเปลี่ยนวงเงินเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท อีกทั้งโครงการรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 2 เส้นทาง ก็ถูกเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทาง ประกอบด้วย (1) กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด (2) กรุงเทพฯ-ระยอง และ (3) นครราชสีมา-หนองคาย พร้อมทั้งปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเปลี่ยนชื่อโครงการจากรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร เป็นรถไฟความเร็วสูง
"เมื่อเห็นเส้นทางก็รู้ได้ทันทีว่า เป็นการดัดแปลงจากแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูง ที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงงง ที่สนข.กล้าปรับเปลี่ยนแผนแม่บทที่ผ่านการศึกษามาแล้ว มาเป็นเส้นทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และ นครราชสีมา-มาบตาพุด และนึกไม่ออกว่า จะมีใครคิดจะเดินทาง หรือขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯไปมาบตาพุด โดยผ่านนครราชสีมา ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมให้เสียเวลา จึงเห็นว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 58-65 หากต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็ควรระบุให้ชัดไปเลยว่า เป็นรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่รถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร และหากเป็นเช่นนั้น ก็ควรพิจารณาเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงเป็น 250-300 กม. ต่อชม. พร้อมกำหนดวงเงินของยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน เพื่อที่จะหาแนวทางระดมเงินทุนได้ ซึ่งทั้งหมดตนอยากเห็น สนข. เป็นหลักที่ยืนหยัดอยู่บนเหตุผลทางวิชาการ ให้กับทุกรัฐบาล ไม่โอนเอนไปตามกระแสทางการเมือง" นายสามารถ ระบุ
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44710
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 04/11/2014 5:02 pm    Post subject: Reply with quote

RWI ร่วมพันธมิตรเตรียมผลิตหมอนรถไฟคอนกรีตป้อนโครงการรางคู่-ไฮสปีด
ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 4 พฤศจิกายน 2557 16:25:44 น.

นายเชนินทร์ เชน กรรมการผู้จัดการ บมจ.ระยองไวร์ อินดัสตรีส์(RWI)เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ผลิตคอนกรีตขนาดใหญ่ระดับประเทศรายหนึ่งในการขยายธุรกิจผลิตหมอนรถไฟคอนกรีตป้อนงานโครงการรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่ทางรัฐบาลจะมีการลงทุนมูลค่าหลายแสนล้านบาท เบื้องต้นจะมีเส้นทางรถไฟรางคู่ 6 เส้นทาง รถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ระยะทางกว่า 2,279 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหมอนรถไฟคอนกรีตมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ปี 58 และตั้งเป้าปีแรกจะครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ไม่น้อยกว่า 25%
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42772
Location: NECTEC

PostPosted: 04/11/2014 5:23 pm    Post subject: Reply with quote

จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีขอทำทางคู่ คาด 10 พ.ย.ได้รูปแบบลงทุน "ประจิน" รอชัดเจนก่อนเคาะ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อังคารที่ 4 พฤศจิกายน 2557 เวลา 11:30:27 น.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่รางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร ระยะเร่งด่วน 3 ช่วง คือ

1.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด
2.กรุงเทพฯ-ระยอง และ
3.นครราชสีมา-หนองคาย

ว่านอกจากจีนและญี่ปุ่นที่แสดงความสนใจแล้ว ยังมีเกาหลีใต้สนใจเช่นกัน โดยวันที่ 3 พฤศจิกายน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คาดว่าน่าจะเป็นการแสดงความสนใจเข้าร่วม ส่วนจะให้ประเทศไหนดำเนินการนั้นต้องดูรูปแบบการลงทุนให้ชัดเจนก่อนเพราะ เบื้องต้นกำหนดไว้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (พีพีพี) และการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับรัฐ (จีทูจี) เป็นต้น คาดว่า หลังวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

"ท่านทูตเกาหลีใต้ได้พบ ผมตั้งแต่อยู่ในตำแหน่งรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสอบถามว่าเกาหลีใต้จะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใดได้บ้าง รวมถึงโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน ก็แสดงความสนใจด้วย" พล.อ.อ.ประจินกล่าว และขอยืนยันว่า จะพิจารณานโยบายของทุกโครงการให้ถูกต้องโปร่งใส ไม่มีปัญหาการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า วันที่ 4 พฤศจิกายน จะประชุมสรุปรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ (แอ๊กชั่นแพลน) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแผนยุทธศาสตร์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เรื่อง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหน่วยงานทางการบินหลายหน่วยงาน เกี่ยวข้องกับสนามบิน เส้นทางการบิน มาตรฐานตัวเครื่องบิน เป็นต้น รวมถึงเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมที่อาจกระทบต่อการบิน จัดทำเป็นมาตรการเกี่ยวกับบั้งไฟ โคมลอย และอากาศยานไร้คนขับ

นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า การปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในปี 2558 เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถร่างกฎหมายเพื่อปฏิบัติและควบคุมก่อนคือ การปฏิบัติการของอากาศยานเพราะปัจจุบันมีสายการบินให้บริการเป็นจำนวนมาก

//-------------


คุณชัชชาติก็ ร่วมวงด้วย
http://www.youtube.com/watch?v=QERx3Kprb78
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42772
Location: NECTEC

PostPosted: 06/11/2014 9:01 pm    Post subject: Reply with quote

ทูตเยอรมนีเข้าพบ'หม่อมอุ๋ย'สนใจโครงการรถไฟรางคู่ของไทย
โดย ณัฐญา เนตรหิน
คอลัมน์ :ข่าวรายวัน - ข่าวในประเทศ
ฐานเศรษฐกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 06 พฤศจิกายน 2014 เวลา 12:50 น.

altนายรอล์ฟ เพเทอร์ กอทท์ฟรีด ซุลเซอ (H.E. Mr. Rolf Peter Gottfried Schulze) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (6 พ.ย. 2557) เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายรอล์ฟ เพเทอร์ กอทท์ฟรีด ซุลเซอ (H.E. Mr. Rolf Peter Gottfried Schulze) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการสนทนาดังนี้


รองนายกฯแสดงความยินดีที่ได้พบกับเอกอัครราชทูตเยอรมนีในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เยอรมนี โดยรองนายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตเยอรมนีต่างเห็นพ้องว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-เยอรมนีดำเนินไปด้วยความราบรื่นทั้งในระดับรัฐบาลและระดับประชาชน ทั้งสองฝ่ายควรเดินหน้าและสานต่อความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและผลักดันประเด็นต่างๆ ที่ไทยและเยอรมนีสนใจร่วมกันต่อไป

สำหรับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ เอกอัครราชทูตเยอรมนีมีความประสงค์ให้บรรลุการเจรจาการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรปโดยเร็ว รวมถึงแสดงความสนใจในการประมูลโครงการรถไฟรางคู่ (Dual track)ของไทย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตเยอรมนีต่างเห็นพ้องว่า การมีส่วนร่วมในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบคมนาคมขนส่งของไทย จะช่วยเพิ่มพูนประโยชน์ทางด้านการลงทุนให้ไทยและเยอรมนีได้ในอนาคต

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อเอกอัครราชทูตเยอรมนีว่า รองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยอรมนีเพื่อหารือกับนักธุรกิจของเยอรมนีในวันที่ 16 พ.ย. 2557 โดยมีเป้าหมายสองประการ ประการแรกคือการหารือกับเยอรมนีในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการทำเหมืองโพแทสเซียม เพราะประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีโพแทสเซียมมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งหากนำโพแทสเซียมมาผลิตเป็นสินค้าจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย และทางเยอรมนีก็มีความเชี่ยวชาญในการทำเหมืองโพแทสเซียมที่มีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประการที่สอง คือ การเชิญชวนบริษัท Volkswagen ให้เข้ามาผลิตรถยนต์อีโคคาร์ในไทย โดยรถยนต์อีโคคาร์ของ Volkswagen ซึ่งมีความหรูหรา จะช่วยเพิ่มเติมภาพลักษณ์ให้วงการรถยนต์อีโคคาร์ของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42772
Location: NECTEC

PostPosted: 07/11/2014 7:35 pm    Post subject: Reply with quote

หม่อมอุ๋ยมั่นใจศก.ฟื้น ดันรัฐสร้างรถไฟทางคู่
ไทยโพสต์
วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2014
หม่อมอุ๋ยมั่นใจ เศรษฐกิจไทยในปีหน้าฟื้นโต 4% ผลจากแผนกระตุ้นของภาครัฐในปลายปี 2557 ดันรัฐสร้างความชัดเจนในแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟทางคู่ เผย 16 พ.ย.บินเยอรมนีหวังถกเอกชนดึงลงทุนไทย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง ”เศรษฐกิจปี 2558 ฟื้นหรือฟุบ” ว่า เศรษฐกิจปี 2558 ฟื้นอย่างแน่นอน ยอมรับจีดีพีในปีนี้ฟื้นตัวได้น้อย เนื่องจากการเบิกจ่ายงบภาครัฐค่อนข้างล่าช้าประมาณ 6 เดือน โดยเฉพาะงบลงทุน ประกอบกับการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่นและยุโรป ทำให้ไทยไม่สามารถพึ่งการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะฟื้นตัวขึ้นจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในปลายปี 2557 อาทิ การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 1 พันบาทต่อไร่ งบโครงการซ่อมสร้างระบบสาธารณูปโภค 2.3 หมื่นล้านบาท และงบลงทุนค้างท่อ 1.49 แสนล้านบาท ซึ่งงบทั้งหมดจะสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือน ธ.ค.นี้ และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเต็มที่ในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งมองว่าในระยะยาวไม่จำเป็นต้องมีงบลงทุนเพิ่มเติม หากสามารถเบิกจ่ายงบต่างๆ ให้เป็นไปตามแผน โดยจากนี้รัฐบาลต้องเร่งสร้างความชัดเจนในส่วนของ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งจะทำให้จีดีพีในปี 2558 ขยายต่อได้ 4-4.5%
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงความพร้อมในด้านเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยว่า ขณะนี้กฤษฎีกากำลังร่างกฎหมาย และเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันที ซึ่งคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะออกมาในเร็วๆ นี้ ระหว่างนี้เตรียมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีดึงบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อร่วมจัดทำแผนในการเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งขณะนี้มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจำนวน 6 คน เข้ามาช่วยในการจัดทำแผนดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 พ.ย.นี้จะเดินทางไปประเทศเยอรมนี เพื่อหารือกับนักธุรกิจของเยอรมนี 57 เพื่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำเหมืองโพแทสเซียม และการเชิญชวนบริษัทโฟล์คสวาเกนเข้ามาลงทุนผลิตรถอีโคคาร์ในไทย.
+++++++++++
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44710
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 09/11/2014 8:19 pm    Post subject: Reply with quote

‘ประยุทธ์’หารือ‘สี จิ้นผิง’รถไฟรางคู่ หนุนเงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล
คมชัดลึก 9 พ.ย. 57

เมื่อเวลา 15.30 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) วันที่ 9 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ร่วมหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง (Mr. Xi Jinping) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 22 ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือ ว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมยุทธศาสสตร์ของจีนในการพัฒนาเส้นทาง R3A เชื่อมต่อจากนครคุนหมิงมายังกรุงเทพ และการพัฒนาเส้นทางระบบรางมาถึงบริเวณชายแดน เพื่อเตรียมเชื่อมต่อไปถึงลาว ซึ่งไทยและจีนจะร่วมมือกันในการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในภูมิภาคให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจีนได้มีความริเริ่มเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล รวมทั้งยังมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือด้านรถไฟ ไทยยินดีที่จะร่วมมือกับจีนในการพัฒนารถไฟทางคู่เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงจีน ไทยและประเทศในภูมิภาค โดยอาจนำไปหารือให้มีผลเป็นรูปธรรมในกรอบการหารือไทย-จีน ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ ข้าวหอมมะลิและยางพารา โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือต่อไปเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน

“นายกรัฐมนตรี สนับสนุนนโยบายของจีนที่จะให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล โดยเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการธุรกรรมระหว่างกันในรูปแบบเงินสกุลท้องถิ่น เพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน และหวังว่าจะต่ออายุความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาทที่จะหมดอายุในเดือนธันวาคมนี้ และลงนามความร่วมมือว่าด้วยการตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยโดยเร็ว ส่วนด้านการศึกษา ไทยและจีนเห็นพ้องขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม เนื่องจากจีนมีความเจริญก้าวหน้าโดยอาจจัดเวทีให้นักวิทยาศาสตร์ได้พบปะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งขอให้จีนช่วยสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบอาชีวศึกษา” ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เชิญนายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Great Mekong Subregion- GMS Summit) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ โดยไทยจะผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนา ระเบียงเส้นทางการคมนาคม (Transport Corridors) ให้เป็น ระเบียงเศรษฐกิจ ( Economic Corridors) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งและการป้องกันการลักลอบการค้ามนุษย์ด้วย

----

นายกฯรับปากร่วมพัฒนาเส้นทางรถไฟไทย-จีนเต็มที่
INN New วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 20:24น.

นายกฯ ไทย รับปากร่วมมือจีน สร้างรถไฟเชื่อมระหว่างกัน หนุนการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศ

สื่อท้องถิ่นจีนรายงาน นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ประชุมร่วม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ที่ห้องประชุมแกรนด์ ฮอลล์ ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันนี้ ระหว่างการประชุมเอเปก ครั้งที่ 22

ซึ่งผู้นำทั้ง 2 ชาติ ตกลงร่วมมืออย่างเข้มแข็งในระดับทวิภาคี ในโครงการก่อสร้างทางรถไฟ การค้า และการเกตร โดย นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า ยินดีให้ความร่วมมือที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ ยังระบุด้วยว่า ทั้งสองประเทศได้บรรลุการเจรจาในความร่วมมือการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างกันเพื่อขนส่งสินค้าการเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและวัฒนธรรมระหว่างกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยรับปากจะดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44710
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 10/11/2014 12:45 pm    Post subject: Reply with quote

ดันแผนพัฒนา 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ
เดลินิวส์ วันอาทิตย์ 9 พฤศจิกายน 2557 เวลา 19:00 น.

คมนาคม สรุปแผนเร่งด่วน สร้างถนน สนามบิน รถไฟ 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ วงเงิน 3.5 หมื่นล้าน ชงสภาพัฒน์แล้ว ก่อนเสนอ นายกฯ ไฟเขียว

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้สรุปแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 ด่านชายแดนระยะเร่งด่วนแล้ว โดยเบื้องต้นมีกรอบงบประมาณใช้สร้างถนน สนามบิน ทางรถไฟ ในส่วนกระทรวงคมนาคมประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าตามด่านชายแดน รวมถึงได้เห็นชอบแผนพัฒนาด่านศุลกากรและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ของกรมศุลกากร และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ อีกหลายโครงการ

“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้นำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯและกรอบการใช้งบประมาณ เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้ว หากผ่านการเห็นชอบจะเสนอให้ที่ประชุมประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติโครงการต่อไป”

สำหรับแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก จะเสนอให้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ช่วงปี 59-61 วงเงิน 3,600 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางไทย-เมียนมาร์

ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เร่งรัดปรับปรุงทางช่วงคลองสิบเก้า-ฉะเชิงเทรา-คลองลึก ระยะทาง 200 กม.อยู่แล้ว คาดจะเสร็จในปี 59 และยังมีแผนเชื่อมต่อการเดินรถไฟไปถึงกัมพูชา ผ่านเส้นทางปอยเปต-ศรีโสภณ-พนมเปญ ขณะที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด จะของบประมาณ 900 ล้านบาท

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร จะของบปี 59 วงเงิน 5,400 ล้านบาท เพื่อขยายทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจร ตามเส้นทางทางหลวงระหว่างประเทศจากตะวันออกไปตะวันตก และทางหลวง 12 บ.นาไคร้-คำชะอี ขณะเดียวกันจะของบ 59 ล้านบาท

ด้านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา จ.สงขลา บริเวณด่านศุลกากรสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ จะของบประมาณปี 60 วงเงิน 23,900 ล้านบาท
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42772
Location: NECTEC

PostPosted: 10/11/2014 6:44 pm    Post subject: Reply with quote

“บิ๊กตู่” ทำราคาที่ดินโคราชบูมรอบใหม่ “วงแหวน-มอเตอร์เวย์-รถไฟรางคู่” กระหึ่ม


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤศจิกายน 2557 22:42 น.


“บิ๊กตู่” ทำราคาที่ดินโคราชบูมรอบใหม่ “วงแหวน-มอเตอร์เวย์-รถไฟรางคู่” กระหึ่ม



โฉมหน้ารถไฟรางคู่ ยุค “บิ๊กตู่” บรรดาทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องขานรับ ให้เป็นทั้งทางคู่และความเร็วสูง ขณะที่วงในคมนาคมเชื่อระบบนี้จะทำให้รัฐสูญเสียมากกว่า แต่ไม่มีใครกล้าคัดค้าน ส่วนรัฐบาลสมประโยชน์ เพราะเป็นนโยบาย “บิ๊กตู่” จริงๆ ไม่ได้เดินตาม 2 พี่น้องชินวัตร ด้านวงการค้าที่ดินโคราชคึกคักเพราะโครงการตัดถนนยุค คสช. ทั้งวงแหวนรอบเมือง มอเตอร์เวย์ และรถไฟรางคู่ทำให้เมืองโคราชบูมอีกครั้งหนึ่ง

นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ที่ค้างคามาหลายรัฐบาล ได้รับการผลักดันและเดินหน้าอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการเดินตามนโยบายของ 2 พี่น้องตระกูลชินวัตร และอาจมีการหมกเม็ดเกิดขึ้นในโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ที่มีการผสมผสานระหว่างความเร็วสูงและรางคู่เข้าด้วยกัน

ในแผนพัฒนาเดิมนั้น จะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-ระยอง, พร้อมกับมีการก่อสร้างรถไฟรางคู่ เพื่อใช้ในการเดินทางและบรรทุกสินค้าได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการก่อสร้างรถไฟรางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งความเร็วสูงสุด 160 กม.ต่อชั่วโมง รวม 2 เส้นทางคือ สาย หนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 737 กม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท และสายเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กม. วงเงิน 348,890 ล้านบาท รวม 2 เส้นทางวงเงิน 741,460 ล้านบาท

เปลี่ยนจาก 2 เป็น 3 เส้นทาง

อย่างไรก็ดี ภายหลังการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. ได้ให้นโยบายชัดเจนในเรื่องการก่อสร้างรถไฟรางคู่ แต่จะไม่ให้ความสำคัญกับรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างมาก อีกทั้งเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แต่ก็มีเสียงกระซิบจากคนในรัฐบาลเล็ดลอดออกไปถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า ความจริง พล.อ.ประยุทธ์ ก็สนใจและอยากให้มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาทั้งในเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยวในอนาคตภายหลังการเปิด AEC

“พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้โครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่เกิดทั้งคู่ แต่ต้องไม่ใช่เป็นการเดินตามนโยบายของอดีตนายกฯ ทักษิณ หรือ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และต้องเป็นโครงการที่เกิดจากรัฐบาล พล.อประยุทธ์จริงๆ”

แหล่งข่าวบอกว่า ด้วยสัญญาณดังกล่าวที่สื่อไปยังหน่วยงานปฏิบัติ ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคม จึงเป็นที่มาของการปรับแผนการก่อสร้างทั้งหมดเกิดขึ้น โดย สนข .ได้มีการสอบถามไปยัง รฟท.ในฐานะผู้ใช้ว่า ให้คัดเลือกโครงการเร่งด่วนมาว่าต้องการจะก่อสร้างเส้นทางสายใดบ้าง และจากนั้น สนข.ในฐานะหน่วยแผนจะดำเนินการศึกษา ออกแบบและนำไปสู่การประมูลงานก่อสร้างต่อไป

ดังนั้นด้วยนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ และความต้องการใช้ของ รฟท. จึงเป็นที่มาของการปรับแผนและเปลี่ยนเส้นทางพร้อมเปลี่ยนวงเงินเป็น 3 ล้านล้านบาท ด้วยการก่อสร้างเป็นรถไฟรางคู่ขนาดราง 1,435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 2 เส้นทางดังกล่าว ถูกเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-มาบตาพุด 2.กรุงเทพฯ-ระยอง 3. นครราชสีมา-หนองคาย พร้อมปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับการก่อสร้างรถไฟรางคู่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีรูปแบบเป็นรางทางคู่ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ใช้ระบบรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมกับ สปป.ลาวและจีนในอนาคตซึ่ง นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวไว้ว่า โครงการเดินรถรางคู่ดังกล่าว จะเป็นการนำโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ สนข. ได้ศึกษาไว้มาศึกษาเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนให้เป็นรถไฟรางคู่ระบบไฟฟ้าที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 160กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะใช้งบประมาณน้อยกว่าและมีความคุ้มค่ามากกว่ารถไฟความเร็วสูง เพราะสามารถขนส่งได้ทั้งคนและสินค้า และในอนาคตประเทศไทยจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงก็สามารถใช้รางขนาด 1.435 ที่จะมีการสร้างใน 2 เส้นทางนี้ในการเดินรถได้ด้วย

ที่สำคัญในการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศจีนให้ความสนใจร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-มาบตาพุด ด้วยเช่นกัน

สร้างรางคู่เผื่อความเร็วสูง ได้ไม่คุ้มเสีย

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การผลักดันโครงการรถไฟรางคู่ที่สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงได้นั้นเป็นการสมประโยชน์กันทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถือว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบาย ไม่ใช่ไปนำของรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจัดทำ เพราะต้องมีการศึกษาและออกแบบกันใหม่หมดเนื่องจากระบบรางทั้งรางคู่และความเร็วสูงนั้นต่างกัน แต่โครงการทางคู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมาใช้ด้วยกันได้ ขณะที่ รฟท.ก็สามารถผลักดันโครงการรถไฟรางคู่ออกมาได้ ส่วน สนข.ก็จะมีงบประมาณในการสำรวจ ศึกษา และออกแบบใหม่เช่นกัน

“บิ๊กตู่” ทำราคาที่ดินโคราชบูมรอบใหม่ “วงแหวน-มอเตอร์เวย์-รถไฟรางคู่” กระหึ่ม



“ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ โดยหารู้ไม่ว่า จริงๆ แล้วรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไม่ควรจะอยู่ในที่เดียวกัน หรือสร้างเผื่อเอาไว้มันไม่คุ้มค่าและสิ้นเปลือง ในด้านวิศวกรรมการออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์ 2 ประเภท บนรางเดียวกัน แม้จะทำได้ แต่เมื่อเราไม่รู้ว่ารถไฟความเร็วสูงจะเกิดเมื่อไหร่ และการขนส่งระบบรางที่ต้องใช้น้ำหนักกดทับจะทำให้รางเสียหายแค่ไหน หากต้องการใช้เพื่อความเร็วสูงก็อาจต้องยกเครื่องกันใหม่”

แหล่งข่าวอธิบายอีกว่า โดยทั่วไปอาจทำความเข้าใจกันว่าโครงการรถไฟทั้ง 2 ประเภท คือ “รถไฟความเร็วสูง” และ “รถไฟทางคู่” สามารถสร้างและออกแบบให้ไปด้วยกันได้ แต่ในความเป็นจริง ในทางเทคนิคจะมีปัญหา แม้ว่ารถไฟรางคู่จะมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า และการขนส่งคน แต่การปรับทางให้เป็นแบบรถไฟความเร็วสูงออกแบบให้เป็นลูกผสม คือเป็น “รถไฟรางคู่” ที่มีการออกแบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตพร้อมจะปรับมาเป็น “รถไฟความเร็วสูง” นั้น ในทางเทคนิควิศวกรรมไปด้วยกันไม่ได้ เพราะการออกแบบร่วมกันนั้น เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งถ้าจะสร้างต้องเลือกว่า รถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟรางคู่ จะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปรับเปลี่ยนเส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ทำให้รัฐเสียงบประมาณในการศึกษาและออกแบบ ซึ่งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการสำรวจและออกแบบรายละเอียดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากนครราชสีมา-หนองคายไว้แล้ว เหลือเพียงเส้นทางจากนครราชสีมา-มาบตาพุด

“รัฐบาล พล.อประยุทธ์ มาเปลี่ยนอีกก็ต้องศึกษากันใหม่ตลอดเส้นทาง เพราะไม่ใช่ความเร็วสูงแล้ว ต้องมาศึกษาออกแบบใหม่เป็นความเร็วสูงแต่เป็นรางคู่ ซึ่งก็ต้องมีการออกแบบใหม่ทั้งหมดด้วย ต้องมาใช้เงินจากการออกแบบครั้งนี้อีกครั้ง ทั้งที่หากว่าลองสืบค้นดูจะเห็นได้ว่า โครงการนี้เปลี่ยนมากี่รัฐบาลแล้วก็ยังไม่สามารถทำให้สำเร็จออกมาได้“

สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ ที่เริ่มอย่างจริงจังในวันนี้ และพร้อมวางแผนจะเปิดตัวเป็นรถไฟความเร็วสูงในอนาคตนั้น จะเกิดความเสียหาย และมีปัญหาตามมาเยอะมาก รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ ต้องคิดให้รอบครอบ และ สนข.ต้องเป็นมันสมอง เพราะจะต้องเสียงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด เนื่องจากอุปกรณ์ทั้งหมดไม่สามารถจะไปด้วยกันได้

“บิ๊กตู่” ทำราคาที่ดินโคราชบูมรอบใหม่ “วงแหวน-มอเตอร์เวย์-รถไฟรางคู่” กระหึ่ม



นับตั้งแต่ “ราง” ของรถไฟความเร็วสูง จะต้องมีความแข็งแรงของตัวยึดไม้หมอนและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับการวิ่งด้วยความเร็วสูงและเวลาเบรก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการออกแบบไม่เหมือนกันเลยโดยความเร็ว 180 กม./ชม. เหมาะสำหรับการจัดส่งสินค้า ซึ่งความเร็วสูงที่ใช้กันในต่างประเทศประมาณ 350 กม./ชม.ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวรถ

รวมทั้งในแง่ของ “พื้น” รางรถไฟรางคู่นั้นภายในรางจะโรยด้วยกรวดธรรมดา ส่วนพื้นรถไฟความเร็วสูงจะมีลักษณะคล้ายๆ กับบีทีเอส จะยึดด้วยตัวตะขอ “งอ” เพราะด้วยลักษณะการกดทับของการบรรทุกสินค้า และบรรทุกคน ที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน และเมื่อน้ำหนักของรถไฟรางคู่ที่กดลงบนเพลาจะมีน้ำหนักมาก เพราะบรรทุกสินค้าแล้วยังมีถ่านหินแร่ น้ำมัน เมื่อน้ำหนักส่วนนี้ไปกดลงในรางรถไฟความเร็วสูง จะมีความเสียหายทรุดโทรมอย่างรวดเร็วไม่เกิน 5 ปีรางจะพัง รวมทั้งอุปกรณ์ก็เสียหาย ซึ่งหากจะนำรถไฟความเร็วสูงมาวิ่งอาจต้องเปลี่ยนราง หรือมีการลงทุนอีกครั้งเพราะต้องรื้อทำใหม่ทั้งระบบ

“ถ้าการออกแบบสำหรับการวิ่งในความเร็ว 200 และ 300 กม./ชม. แล้วให้มาวิ่งเพียงแค่ 160 -180กม./ชม. อุปกรณ์ที่นำมาใช้สำหรับยึดรางนั้นจะเสียประโยชน์ไปเลย จึงทำให้เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่มีราคาแพง เพราะรางเหมือนกันแต่อุปกรณ์คนละแบบ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของราง ตัวยึดรางกับไม้หมอน สถานีควบคุม ระบบอาณัติสัญญาณทั่วประเทศ ซึ่งในความจริงแล้ว รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่นั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะวิถีโค้ง ลองนึกว่าล้อเหล็กของรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นล้อเหล็กที่ไม่สามารถหดตัวได้ ถ้าระยะวิถีโค้งไม่ได้ แล้วรถไฟวิ่งมาเร็วมาก จะเกิดปัญหากับชีวิตผู้โดยสาร”

“บิ๊กตู่”ทำราคาที่ดินบูมรอบใหม่

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศเปลี่ยนเส้นทางการก่อสร้างเป็นระบบรางคู่นั้น สร้างความคึกคักให้กับวงการค้าที่ดินจังหวัดนครราชสีมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังมีการสั่งการให้เร่งออกแบบและก่อสร้างถนนวงแหวนรอบใหม่ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ในตำบลต่างๆ เช่น ตำบลสีมุม พลกรัง ตำบลขามทะเลสอ และบริเวณโดยรอบ ซึ่งส่งผลให้ราคาที่ดินเริ่มมีการปรับราคาและมีการประกาศออกเสียงตามสายในงานทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่งที่ตำบลสีมุมว่า ขอให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นี้ทุกคน อย่ารีบร้อนขายที่ดิน

“บิ๊กตู่” ทำราคาที่ดินโคราชบูมรอบใหม่ “วงแหวน-มอเตอร์เวย์-รถไฟรางคู่” กระหึ่ม



“ขอให้ชาวบ้านอย่ารีบร้อนขายที่ดินกัน เพราะรัฐมีโครงการตัดถนนวงแหวนเข้ามาในพื้นที่ของเรา ตอนนี้มีการปั่นราคากันเป็นไร่ละ 1.5 ล้านแล้ว จากเดิมเพียงไร่ละ 4-5แสนบาท และเชื่อว่าราคาที่จะขยับขึ้นไปอีก ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ ถือไว้ก่อน”

นอกจากนี้ยังมีการประกาศซื้อ-ขายที่ในโลกออนไลน์กันมาก รวมไปถึงนายหน้าซื้อขายที่ดินพากันลงพื้นที่กันจำนวนมาก

สำหรับโคราชนอกจากจะมีโครงการตัดถนนวงแหวนแล้ว ยังมีการสำรวจเพื่อก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่ “บางปะอิน-โคราช” ระยะทาง 196 กิโลเมตร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เร่งโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ที่สามารถรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วยคือ สายหนองคาย-โคราช และโคราช-มาบตาพุด จะยิ่งเพิ่มศักยภาพให้จังหวัดนครราชสีมาบูมขึ้นไปอีก เพราะจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม แห่ไปลงทุนที่นี่มากขึ้น

“ยิ่งถ้ารัฐออกแบบสถานีรถไฟให้มีจุดสถานีเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินตรงบริเวณสถานีก็จะพุ่งขึ้นไปอีก ตอนนี้ต้องคอยฟังว่ารัฐจะกำหนดแบบออกมาอย่างไร บริเวณไหนจะถูกเปิดพื้นที่บ้าง”

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวบอกอีกว่า ในทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมาจะหาประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเหล่านี้มาก ด้วยการนำโครงการมาปัดฝุ่นศึกษากันใหม่ทุกรัฐบาล และบริษัทที่เป็นที่ปรึกษามาศึกษาโครงการต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นเครือข่ายนักการเมืองย่อมได้ประโยชน์ตามไปด้วย และทุกครั้งที่มีการสำรวจ ออกแบบกันใหม่ ก็มักจะมีใบสั่งให้มีการขยับเส้นทางไปผ่านที่ดินตนเองและพวกพ้องเพื่อให้ได้ประโยชน์เช่นกัน

“นักการเมืองปั้นกันทุกยุค ใครมานั่งคมนาคมก็หยิบโครงการมาปั้น มาปัดฝุ่นใหม่ ศึกษาใหม่ โดยเฉพาะสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นคนที่คิดโครงการพวกนี้เก่งมาก”

การปัดฝุ่นโครงการเก่ามาปั้นใหม่ จึงเป็น “สัจธรรม” ที่สามารถค้นพบได้ในการเข้ามาเป็นรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินตามรอยรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

แต่ที่แน่ ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำเสมอว่า การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันจะเป็นปัญหาที่ต้องจัดการใหม่เป็นอันดับแรกในการปฏิรูปประเทศ เพราะการคอร์รัปชันคือการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและชื่อเสียงของประเทศไทยโดยตรง!
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44710
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 10/11/2014 6:47 pm    Post subject: Reply with quote

วัชรินทร์ ยงศิริ : ไทยได้ประโยชน์อะไรจาก การเยือนกัมพูชาของพลเอกประยุทธ์
มติชนออนไลน์ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 18:15:20 น.

การเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้นำคนใหม่ของไทยจะต้องเดินทางไปเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีและถือเป็นโอกาสแนะนำตัว แม้ว่าการเดินทางเยือนได้เสร็จสิ้นลงแล้ว หากแต่ว่าการลงมือปฏิบัติตามข้อตกลงที่ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาได้เจรจาหารือไว้ร่วมกัน และบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ได้ลงนามร่วมกันคงจะต้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

จากการติดตามภารกิจของนายกรัฐมนตรีในการเยือนกัมพูชาครั้งนี้ ผู้เขียนได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของฝ่ายไทยอีกประการคือ ต้องการจะปรับปรุงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยมีอยู่กับกัมพูชาให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้เห็นพ้องด้วยว่า สมเหตุสมผลแล้วที่ผู้นำไทยและผู้นำกัมพูชาจะวางเรื่องบาดหมางระหว่างกันเอาไว้ก่อน แล้วหยิบเอาเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมาพูดคุยกัน เพราะว่ามาตรการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จะเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันให้บังเกิดขึ้น ซึ่งดีกว่ามาตรการทางการเมืองที่จะพูดเจรจากันแต่ยังแฝงไปด้วยความหวาดระแวง ทั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะเป็นหนทางให้ทั้งไทยและกัมพูชาได้รับผลประโยชน์อย่างเสมอภาค และผลลัพธ์ในบั้นปลายคือการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดีขึ้น

ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำประเด็นการเจรจาระหว่างผู้นำไทยและผู้นำกัมพูชา และบันทึกความเข้าใจที่ได้ลงนามร่วมกันมาศึกษาดูว่าฝ่ายไทยจะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง

ประเด็นที่ 1 การพัฒนาพื้นที่ชายแดนโดยใช้กลไกคณะกรรมการร่วมด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยกับกัมพูชา (Joint Commission Border Development-JCBD) เพื่อผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ความหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หมายถึง เป็นที่ตั้งศูนย์รวมทั้งหมดของนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์ธุรกิจการขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกและนำเข้า (Logistics) และที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนควรอยู่ไม่ไกลจากด่านชายแดน เพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขายชายแดนและการขนส่ง

จุดประสงค์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อการกระจายตัวของที่ตั้งเขตอุตสาหกรรมให้ขยายออกไปจากเขตเมืองหลวงและปริมณฑลไปยังจังหวัดชายแดนที่มีช่องทางติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนติดกับกัมพูชา ฝ่ายไทยมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งที่ จ.สระแก้ว และ จ.ตราดเป็นจุดทดลอง

ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

ผู้เขียนขอเสนอความคิดเห็นต่อคณะทำงาน (working group) ซึ่งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาจะจัดตั้งขึ้นมาทำงานร่วมกันว่า ในการลงทุนอุตสาหกรรมที่ชายแดน สิ่งแรกควรพิจารณาคือ จะลงทุนอุตสาหกรรมประเภทใดดี ขอเสนอว่าควรเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ทั้งในท้องถิ่นประเทศไทยและท้องถิ่นประเทศกัมพูชา เช่น ผลิตผลทางการเกษตรนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ อ้อยสามารถแปรรูปเป็นได้ทั้งอาหารคือ น้ำตาลและเอทานอล ข้าวโพดแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และเอทานอล และมันสำปะหลังแปรรูปเป็นได้ทั้งแป้งและเอทานอล

นอกจากนี้ ที่ชายแดนสามารถหาแรงงานได้ง่ายจากชาวกัมพูชา ทั้งนี้หมายถึงแรงงานที่ไร้ฝีมือ (unskill labour) มาทำงานในโรงงานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง และยังมีอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labour intensive) ได้แก่ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ ควรผลักดันให้อุตสาหกรรมประเภทนี้ออกมาอยู่ที่ชายแดน เพราะหาแรงงานไทยทำงานประเภทนี้ได้ยากและค่าแรงสูง

ที่ชายแดนสามารถหาแรงงานกัมพูชามาทดแทนได้ง่ายและค่าแรงไม่สูง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในส่วนค่าแรงลงได้

ประเด็นที่ 2 การเปิดจุดผ่านแดนถาวรระหว่างหนองเอี่ยนกับสตึงบท จากการที่นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจรจาหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ในเรื่องการเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กับบ้านสตึงบท จ.บันเตียเมียนเจย เพื่อเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการขนส่งสินค้า

ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้แก้ไขปัญหาการจราจรที่แออัดคับคั่งที่จุดผ่านแดนถาวรคลองลึก-ปอยเปต เนื่องจากในปัจจุบันจุดผ่านแดนถาวรแห่งนี้ใช้เป็นช่องทางทั้งขนส่งสินค้าและการเดินทางสัญจรของประชาชน เพื่อติดต่อค้าขายและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเช้าที่จุดผ่านแดนถาวรจะคับคั่งด้วยผู้คนที่จะเดินทางเข้า-ออก ที่หน้าด่านฝั่งกัมพูชามีชาวกัมพูชาเดินทางมารอเพื่อจะเข้ามาค้าขายในฝั่งไทยที่ตลาดโรงเกลือ และที่ด่านฝั่งไทยมีทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศที่มารอตรวจหนังสือเดินทางจากเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง เพื่อจะเดินทางออกไปท่องเที่ยวในกัมพูชา ทำให้ถนนหน้าด่านทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชาคับคั่งด้วยการเดินทางสัญจรของผู้คน ส่งผลกระทบให้การขนส่งสินค้าของรถบรรทุกที่จะออกไปยังฝั่งกัมพูชาต้องล่าช้าเสียเวลา เพราะไม่สะดวกที่จะแล่นผ่านด่านเข้าไปแม้จะได้ทำการตรวจผ่านพิธีการศุลกากรแล้วก็ตาม ต้องจอดรอที่หน้าด่านให้การเดินทางของผู้คนลดน้อยลงจึงจะค่อยทยอยแล่นเข้าไปในฝั่งกัมพูชา และในช่วงเย็นที่หน้าด่านก็จะคับคั่งในการจราจรเช่นเดียวกัน

อีกทั้งถนนในฝั่งปอยเปตคับแคบไม่สามารถขยายถนนได้อีก เพราะสองฝั่งถนนจากประตูด่านออกไปในเขตกรุงปอยเปตเป็นที่ตั้งของบ่อนกาสิโน และมีคนจากฝั่งไทยเดินทางออกไปเล่นการพนัน ทำให้เส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้าไม่สะดวก

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าหากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้สานต่อข้อเจรจาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากจัดประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการว่าด้วยการเปิดจุดผ่านแดนถาวรหนองเอี่ยน-สตึงบท ไทยจะได้รับประโยชน์จากการค้าชายแดนอย่างมาก ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเสนอความเห็นให้เปิดจุดผ่านแดนถาวรหนองเอี่ยน-สตึงบท ให้เป็นช่องทางเฉพาะของการขนส่งสินค้า เพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยละทิ้งจุดผ่านแดนถาวรคลองลึก-ปอยเปต ให้คงไว้เป็นช่องทางสัญจรของประชาชนเพียงอย่างเดียว

จากข่าวที่ผู้เขียนได้รับมาว่า ฝ่ายไทยกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบ ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้แสดงความคิดเห็นว่า ควรสร้างจุดผ่านแดนถาวรให้ครบวงจร เป็นการบริการอย่างเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service) ให้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจตราสินค้าเพื่อส่งออกและนำเข้ามาอยู่รวมเป็นศูนย์ราชการในที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าออกและนำเข้าสินค้าในการตรวจสินค้าตามระเบียบพิธีการศุลกากร

สำหรับถนนที่จะสร้างเชื่อมต่อระหว่างด่านหนองเอี่ยน-สตึงบท และถนนไปเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 5 ของกัมพูชา ผู้เขียนขอเสนอให้ก่อสร้างด้วยระบบแยกช่องทางจราจรเป็นฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก โดยมีฝั่งละ 2 ช่องจราจร เพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่งสินค้าในอนาคตเมื่อรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งนี้จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในการค้าชายแดนให้เพิ่มปริมาณและมูลค่าการค้า

ทั้งนี้ ไทยสามารถส่งสินค้าออกผ่านแดนกัมพูชาไปยังเวียดนามได้ด้วย

ประเด็นที่ 3 การลงนามร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลกัมพูชาในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางรถไฟ

แม้ว่าข้อมูลรายละเอียดในบันทึกความเข้าใจจะไม่ได้ระบุอะไรมาก แต่ผู้เขียนพอจะคาดการณ์ได้ว่าเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายตะวันออกจาก อ.อรัญประเทศเข้าไปยังกัมพูชาด้านกรุงปอยเปต ซึ่งเคยมีเส้นทางรถไฟเก่าอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันถูกบ่อนกาสิโนสร้างทับจนไม่เหลือร่องรอย

ทำไมไทยจึงต้องลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกัมพูชาเพื่อเชื่อมต่อในเส้นทางรถไฟ และเส้นทางรถไฟสายนี้สำคัญอย่างไร และสิ่งสำคัญไทยจะได้ประโยชน์อะไร

เนื่องจากเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่างไทยกับกัมพูชานี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย เริ่มต้นจากสิงคโปร์ถึงนครคุนหมิง มีเส้นทางผ่านดังนี้ จากสิงคโปร์ ผ่านมาเลเซีย มาผ่านไทยไปสายตะวันออกถึงอรัญประเทศ ผ่านเข้ากัมพูชาที่กรุงปอยเปต ไปบันเตียเมียนเจย ไปกรุงพนมเปญ ไปสวายเรียง ผ่านเข้าเวียดนามที่ไตนิง ไปกรุงฮานอย ขึ้นไปภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไปสิ้นสุดปลายทางที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ในอนาคตเมื่อเส้นทางรถไฟสายทรานส์เอเชียสร้างเชื่อมต่อเสร็จ จะมีระยะทางยาวรวม 5,000 กิโลเมตร

การที่ไทยลงนามร่วมกับกัมพูชาในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ เพราะต้องการให้แผนพัฒนาเส้นทางรถไฟของไทยระบบรางคู่ขนานสามารถเชื่อมต่อกับรางรถไฟของประเทศเพื่อนบ้านได้ และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย อีกทั้งเป็นการช่วยผลักดันกัมพูชาให้สร้างทางรถไฟระหว่างกรุงพนมเปญไป จ.สวายเรียง และต่อไปที่ชายแดนเวียดนามเพื่อเชื่อมต่อกับ จ.ไตนิง ซึ่งเรียกช่วงนี้ว่า Missing Link ให้เสร็จโดยเร็ว

ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

ผู้เขียนคาดการณ์ว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าผ่านแดนโดยใช้เส้นทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย ซึ่งสามารถจะบรรทุกสินค้าข้ามแดนไปยังประเทศต่างๆ ได้ตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะลงทางใต้ไปมาเลเซียและสิงคโปร์ ไปทางตะวันออกที่กัมพูชาและเวียดนาม และขึ้นเหนือไปถึงจีน อย่างไรก็ตาม แผนนี้เป็นแผนโครงการระยะยาว ซึ่งต้องผ่านรัฐบาลหลายสมัยต่อไปกว่าจะเห็นผล


ความลงท้าย

นับเป็นนิมิตหมายใหม่ที่ดีสำหรับประชาชนของทั้งไทยและกัมพูชา จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการก้าวข้ามมายาคติไปเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และการพึ่งพากันอย่างเท่าเทียม เมื่อนายกรัฐมนตรีของไทยและของกัมพูชาหันหน้ามาเจรจากัน ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้จากการเยือนของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาคงได้อย่างไม่สูญเปล่า อย่างน้อยก็มิตรไมตรีที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านกันและร่วมกันจูงมือเดินหน้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้

วัชรินทร์ ยงศิริ นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันเอเชียศึกษา
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 22, 23, 24 ... 121, 122, 123  Next
Page 23 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©