RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311317
ทั่วไป:13281863
ทั้งหมด:13593180
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3, 4, 5, 6 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 03/01/2013 12:44 pm    Post subject: Reply with quote

“คลัง”ลุยกู้เงิน3.5แสนล. 10ม.ค.อนุมัติสร้างรถไฟ
ไทยโพสต์ 3 January 2556

รัฐสั่งเข้ม คลังลุยกู้ 3.5 แสนล้านบาท ตามแผนบริหารน้ำ ไม่แคร์แม้โครงการไม่พร้อม อ้างกฎหมายกำหนดให้กู้ภายใน มิ.ย.2556 คมนาคมเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนขั้นพื้นฐานภายใต้เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน คาดคลังได้ข้อสรุปโครงการบรรจุในแผน 10 ม.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ขณะนี้มีการกู้เงินไปเพียง 1 หมื่นล้านบาท และมีการเบิกจ่ายเพียง 2 พันล้านบาทนั้น เนื่องจากโครงการไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลทราบปัญหาดังกล่าวดี และได้พยายามผลักดันโครงการที่จะใช้เงินจาก พ.ร.ก. ดังกล่าวออกมาให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงการคลังทำสัญญาเงินกู้เงินกับสถาบันการเงิน วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ภายในเดือน มิ.ย.2556 ตามที่ พ.ร.ก. กำหนดไว้ แม้ว่ายังไม่มีโครงการที่ชัดเจนในการใช้เงินกู้ก็ตาม เพราะหากรอให้โครงการมีความชัดเจนทั้งหมด จะเลยเวลาการกู้เงินที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

"พ.ร.ก. เขียนไว้ต้องกู้เงินภายในเดือน มิ.ย.2556 ไม่ได้บอกว่าโครงการต้องเริ่มทำเมื่อไหร่ หรือต้องเบิกจ่ายเงินก่อน มิ.ย.2556 ซึ่งการสัญญาที่ทำกับสถาบันการเงินจะเป็นการขอวงเงินกู้ทั้งหมดไว้ และจะเบิกใช้ตามจริงเพื่อไม่ให้เป็นภาระดอกเบี้ยกู้เงินมากองไว้เฉยๆ" แหล่งข่าว กล่าว

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม เพื่อรองรับการพัฒนาอนาคตของประเทศในระยะยาวภายในปี 2563 รวมทั้งโครงการพัฒนาระบบคมนาคมรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 58 โดยจะใช้เงินลงทุนจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในวงเงินประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ของกระทรวงคมนาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท คาดว่าในวันที่ 10 ม.ค.56 จะสามารถสรุปได้ว่ามีโครงการใดบ้างที่จะบรรจุไว้ในแผนลงทุนเพื่อจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปลายเดือน ม.ค.56 เพื่อจะเสนอให้รัฐสภาต่อไป

สำหรับโครงการสำคัญๆ ที่ได้เร่งดำเนินการ คือ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะถูกบรรจุในแผนลงทุนทั้งหมดโดยจะดำเนินการไปพร้อมๆ กัน มีเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เส้นทาง เส้นทางกรุงเทพฯ- พิษณุโลก เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทางสุวรรณภูมิ-พัทยา-ระยอง ส่วนโครงการรถไฟฟ้าทั้งในส่วนของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะต้องเร่งดำเนินการในปี 56 โดยส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้า เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี, สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี, สายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 03/01/2013 4:10 pm    Post subject: Reply with quote

'ชัชชาติ'จ่อถกเชื่อมคค.กับประเทศเพื่อนบ้าน
INN News วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ.2556 14:25น.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมหารือเชื่อมต่อระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน 15-17 ม.ค.นี้ ยัน ไม่ได้รับผลกระทบขึ้นค่าแรง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนระบบการคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาว่า จะเน้นการเชื่อมต่อทางรถไฟเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบัน บริเวณอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วกับปอยเปต ประเทศกัมพูชา ยังไม่มีเส้นทางรถไฟ เพื่อเชื่อมการเดินทาง โดยในวันที่ 15-17 มกราคม 2556 จะมีการหารือกัน ระหว่างรัฐมนตรีคมนาคมของประเทศกัมพูชา เวียดนาม ลาว และไทย เรื่องระบบการเชื่อมต่อในภูมิภาค รวมทั้ง อาจมีการลงนามทำความตกลงร่วมกันด้วย ที่เมืองจำปาสัก ประเทศลาว

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า เรื่องนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ของรัฐบาลทั่วประเทศ ซึ่งมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมานั้น ในส่วนของการดำเนินงานกระทรวงคมนาคมนั้น ไม่ได้รับผลกระทบ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 06/01/2013 9:39 pm    Post subject: Reply with quote

จับตา"คมนาคม"แบ่งเค้กก้อนโตโครงสร้างพื้นฐาน 1.9 ล้านล้าน
ไทยโพสต์ คอลัมน์ อีโคโฟกัส 7 January 2556

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนโครงการในแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งปี 2556-2563 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท และสิ่งที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญมากที่สุดคือการพัฒนาระบบราง ซึ่งได้กำหนดวงเงินลงทุน 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 65.05%“

แผนการใช้งบประมาณอย่างมหาศาล ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้นำเอาแผนการก่อร่างสร้างหนี้วงเงิน 2 ล้านล้านบาทเข้ามาอยู่ในแผนการดำเนินการในครั้งนี้ด้วย โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังดำเนินการ ร่างกฎหมายในรูปพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ระยะเวลาการกู้ 7 ปี เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่งมี นายวีรพงษ์ รามางกูร (ดร.โกร่ง) ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน ซึ่งแผนดังกล่าวนั้น ครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน สื่อสาร สาธารณูปโภคและการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

ทั้งนี้ กรอบวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2,274,359.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 7 สาขา ได้แก่
1.ระบบราง 1,201,948.80 ล้านบาท (52.85%)
2.ขนส่งทางบก 222,347.48 ล้านบาท (9.78%)
3.ขนส่งทางน้ำ 128,422.20 ล้านบาท (5.65%)
4.ขนส่งทางอากาศ 69,849.66 ล้านบาท (3.07%)
5.สาธารณูปการ 99,204.69 ล้านบาท (4.36%)
6.พลังงาน 515,689.26 ล้านบาท (22.67%) และ
7.สื่อสาร 36,897 ล้านบาท (1.62%)

การลงทุนระบบราง เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 845,385.01 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 333,803.78 ล้านบาท กรมทางหลวง 16,550 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 6,210.01 ล้านบาท

ขนส่งทางบก เป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 13,162.20 ล้านบาท กรมทางหลวง 204,498 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก 4,687.28 ล้านบาท "ขนส่งทางน้ำ" กรมเจ้าท่า 33,075.60 ล้านบาท การท่าเรือแห่งประเทศไทย 93,492.24 ล้านบาท กรมธนารักษ์ 1,854.36 ล้านบาท การลงทุน ขนส่งทางอากาศ บมจ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) 69,849.66 ล้านบาท ระบบสาธารณูปการ มี 2 หน่วยงานคือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 69,686.89 ล้านบาท และการประปานครหลวง (กปน.) 29,517.80 ล้านบาท

การลงทุนด้านพลังงาน เป็นของ บมจ.ปตท. 135,655.88 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 206,431.36 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 108,594 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 59,060.35 ล้านบาท และ ด้านสื่อสาร แบ่งเป็น บมจ.กสท โทรคมนาคม 20,761 ล้านบาท และ บมจ.ทีโอที 16,136 ล้านบาท เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าของกระทรวง คมนาคมถือว่าเป็นหน่วยงานที่ได้งบประมาณมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท หรือ 80%ของวงเงินทั้งหมด

ส่วนแหล่งเงินนั้นตามกรอบแล้วจะมาจาก 5 ส่วน คือ เงินงบประมาณ 205,127.77 ล้านบาท เงินรายได้ 184,401.86 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 1,124,834.60 ล้านบาท เงินกู้ต่างประเทศ 449,172.52 ล้านบาท และจากการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในรูปแบบ PPP 310,822.33 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้ว ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวได้นำจุดดีของการกู้เงินในโครงการไทยเข้มแข็ง รวมถึงกฎหมายกู้เงินอื่นๆ มาดำเนินการ โดยจะมีรายชื่อและรายละเอียดโครงการทั้งหมด แนบไปกับร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หากไม่เห็นชอบก็สามารถตัดโครงการหรือเพิ่มโครงการใหม่ได้เหมือนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล คาดว่าจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ก่อนที่จะเสนอเข้าต่อที่ประชุมรับสภาต่อไป เพื่อให้สภาพิจารณาเห็นชอบเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างภายในเดือนมีนาคม 2556

สำหรับในส่วนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเยอะที่สุด ความคืบหน้าของโครงการ คือ ที่ผ่านมาได้จัดสัมมนาโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 ทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงคมนาคมต้องเฟ้นหาโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์และความเหมาะสมเป็นหลัก โดยจะจัดสรรในส่วนของขนส่งระบบราง 60% ขนส่งระบบถนน 33% ขนส่งทางน้ำ 3% และขนส่งทางอากาศ 1.9% จะเห็นว่างบประมาณถูกจัดสรรไปที่ระบบรางเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยทิ้งระบบรางไปนานและจำเป็นจะต้องเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียน และในอนาคตน้ำมันแพงขึ้นคนจะหันมาใช้รถไฟแทน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ได้ระบุว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนโครงการในแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งปี 2556-2563 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท และสิ่งที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญมากที่สุดคือการพัฒนาระบบราง ซึ่งได้กำหนดวงเงินลงทุน 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 65.05%“

ทั้งนี้ ในส่วนของระบบรางนั้นได้เสนอไป 33 โครงการ วงเงิน 1.164 ล้านล้านบาท เบื้องต้นกระทรวงการคลังส่งสัญญาณว่า ในส่วนของระบบรางที่ได้เสนอโครงการไปนั้นโครงการมีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง, รถไฟทางคู่, ปรับปรุงทางรถไฟ ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ เช่น
ระบบรถไฟทางคู่ 6 สาย 131,252 ล้านบาท มี
ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 11,348 ล้านบาท
ลพบุรี-ปากน้ำโพ 19,408 ล้านบาท
มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 28,087 ล้านบาท
ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 28,410 ล้านบาท
นครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน 27,332 ล้านบาท และ
ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 16,665 ล้านบาท


ยังมีโครงการสร้างรถไฟสายใหม่ 140,019 ล้านบาท 4 สาย อาทิ
ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 47,929 ล้านบาท
ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-มุกดาหาร 42,305 ล้านบาท
ช่วงอรัญประเทศ-ปอยเปต 2,822 ล้านบาท และ
สายเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ระยะที่ 1 วงเงิน 46,961 ล้านบาท


รถไฟความเร็วสูง 481,066 ล้านบาท 4 สาย วงเงิน 4.8 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย 475,498 ล้านบาท

รองลงมาคือการขนส่งทางบก หรือถนน 4.7 แสนล้านบาท สัดส่วน 24.2% เช่น การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 5 สาย วงเงิน 2 แสนล้านบาท เช่น ทางหลวงเชื่อมระหว่างประเทศ 6,434 ล้านบาท วงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 157,700 ล้านบาท ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1, N2 และ N3) 85,069 ล้านบาท, ขนส่งทางน้ำ 1.2 แสนล้านบาท สัดส่วน 6.51% เช่น เขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยา 1.4 หมื่นล้านบาท ทางอากาศ และขนส่งทางอากาศ 8.3 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 4.24% เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกฯ หญิงคนแรก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเน้นการบริหารงานแบบ ”ประชานิยม” 1 ปีกับ 5 เดือน กลับต้องปรับคณะรัฐมนตรีถึง 3 ครั้ง และทุกครั้งที่ปรับคณะรัฐมนตรีก็มักจะมีนโยบายต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์มานั่งบริหารประเทศเป็นมาอย่างไรทุกอย่างก็ยังอยู่เช่นนั้น

แม้ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ยังออกมาระบุเองว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาถือว่าโครงการรถไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลทั้ง 10 สายทางนั้นมีความล่าช้ามาก ทั้งในส่วนของที่รับผิดชอบโดยการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งจะต้องเร่งให้มีการดำเนินการให้ได้ภายในปี 2556

ประกอบด้วย
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม. วงเงิน 38,730 ล้าน
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 73,070 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 10,150 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท มักกะสัน/บางซื่อ-หัวลำโพง รวมวงเงิน 36,960 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน ระยะทาง 6 กม. วงเงิน 4,281 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 วงเงิน 5,252 ล้านบาท
รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ ระยะทาง 13.9 กม. วงเงิน 19,400 ล้านบาท

และยังมีอีก 4 โครงการแม้ว่าจะได้เริ่มกระบวนการไปแล้วบางส่วน แต่ก็มีความล่าช้าอย่างมาก เพราะตามแผนแล้วจะต้องมีการดำเนินการประกวดราคาในปี 2555 แต่จนแล้วจนรอดยังไม่เกิดขึ้นสักที จนนายกรัฐมนตรีต้องสั่งการให้เร่งรัดดำเนินการประกวดราคาในปี 2556 ประกอบด้วย
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กม. วงเงิน 36,405 ล้านบาท และ
ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 23,507 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14 กม. วงเงิน 9,950 ล้านบาท และ
รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 7.9 กม. วงเงิน 13,590 ล้านบาท
คาดว่าจะเริ่มประกวดราคาได้ประมาณต้นปี 2556

"ที่ผ่านมาถือว่าโครงการรถไฟฟ้ายังดำเนินการล่าช้าอยู่ ซึ่งภายในปี 2556 นี้ จะต้องมีการเร่งรัดการประกวดราคาให้เรียบร้อย" นายชัชชาติกล่าว

ส่วนความคืบหน้าสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรีนั้น ที่ก่อนหน้านี้ ส.ส.ในพื้นที่ต้องการให้สถานีปลายทางสิ้นสุดที่สุวินทวงศ์นั้น แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปที่จะสิ้นสุดที่มีนบุรี อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวได้สั่งการให้ รฟม.ไปศึกษาเรื่องการให้บริการประชาชนด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หลังจากปีเก่าผ่านไป ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ก็หวังว่าประชาชนจะได้รับสิ่งดีๆ จากรัฐบาลกันบ้าง โดยเฉพาะโครงการที่เป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง ทางบก ราง น้ำ และอากาศ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง และหากรัฐบาล ”ปู 3” เห็นความสำคัญก็ควรจะเร่งผลักดันและมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหากับความทุกข์ยากของประชาชน ก็ขอฝากความหวังว่ารัฐบาลจะหันมามองไม่ใช่เอาแต่ดูแลพวกพ้องน้องพี่ตัวเองเท่านั้น.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 07/01/2013 6:47 am    Post subject: Reply with quote

ห่วงวิกฤติอุตฯ ขั้นโคม่า
ส.อ.ท.ชี้ 6 ปัจจัยเสี่ยงนโยบายรัฐสู่วิกฤติแรงงาน

บ้านเมือง วันที่ 7/01/2556 เวลา 7:31 น

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปี 56 ส.อ.ท.แสดงความกังวล 6 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมให้ชะลอตัวหรือทรุดตัวลง ประกอบด้วย ผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และการขาดแคลนแรงงานทุกกลุ่ม, การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, ความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลก, การปรับราคาของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอย่างเหล็ก, เคมีภัณฑ์, กระดาษ, ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐ ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการลดต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่รัฐบาลน่าจะควบคุมไม่ให้เกิดปัญหากับภาคอุตสาหกรรมได้ เช่น นโยบายภาครัฐโดยพิจารณาทบทวนบางนโยบายใหม่ให้รอบคอบ อย่างเช่น นโยบายการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีให้อยู่ในระดับราคาตลาดโลก ที่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น, การขึ้นค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ รอบ 4 เดือน รวมถึงต้องเร่งแก้ปัญหาการต่อใบอนุญาตโรงงาน หรืออนุญาตจัดตั้งโรงงานใหม่ให้รวดเร็วกว่าเดิม เพราะผู้ประกอบการบางรายต้องใช้เวลารอนานนับปี เป็นต้น

นายธนิต กล่าวว่า ต้องการให้หามาตรการเยียวยาธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นรองรับต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะในอนาคตเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะยิ่งบานปลาย หลังจากที่ต่างชาติทยอยเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ต้องการไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการให้ผลตอบแทนหรือโบนัสที่ดีกว่า

“เบื้องต้น ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เช่น การเปิดให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศอินโดนีเซีย และบังกลาเทศเข้ามาทำงานในไทยด้วย หลังจากปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เพราะพึ่งแต่แรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ติดกับไทยก็คงลำบากแล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรเปิดกว้างให้มีการใช้แรงงานต่างด้าวจากที่อื่นด้วย”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรยกเครื่องการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการปรับโครงสร้างดำเนินการ เช่น การแปรรูปให้เอกชนเข้ามาบริหารบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ เช่น เร่งการสร้างรถไฟรางคู่เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้รถไฟในการขนส่งมีเพียง 2% ของการขนส่ง หากมีระบบรางคู่ก็จะทำให้การใช้ระบบรางมีมากขึ้น ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนการใช้ระบบรางที่ 15-16%

นายครรชิต จันทนพรชัย นายกสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ปี 56 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้า น่าจะเป็นปีที่เหนื่อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องปรับตัวกับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามามีผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะการปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญเฉพาะ ปัจจุบันกลุ่มรองเท้ายังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนประมาณกว่า 200 ราย มีการจ้างงานในระบบประมาณแสนคน ขณะนี้มีความกังวลในเรื่องการขาดแรงงานกว่าหมื่นคน ที่จะช่วยขับเคลื่อนในกระบวนการผลิตกลุ่มรองเท้าให้เดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก

นายครรชิต กล่าวว่า จากการปรับค่าแรง 300 บาทนั้น ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า ยังไม่พบว่าจะมีการปิดกิจการลง เนื่องจากได้มีการปรับตัวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่โรงงานก็อยู่แถบปริมณฑล และได้มีการปรับเพิ่มขึ้นก่อนแล้วแต่คาดว่ากลุ่มรายย่อยที่ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนในระบบอาจจะมีการปิดธุรกิจไปบ้าง เพราะต้องใช้แรงงานฝีมือเป็นหลัก ภาครัฐก็มีการช่วยเหลือบ้าง เช่น การอบรมผู้ประกอบการให้ความรู้ในการเปิดตลาด มีการสร้างแบรนด์ใหม่

สำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ผู้ผลิตรายเล็กๆ ซึ่งเน้นผลิตสินค้าราคาถูก ดีไซน์ตามแบบแบรนด์ดัง เวลานี้สูญเสียรายได้ ทั้งจากการรับจ้างผลิตจากบริษัทต่างชาติรวมถึงยอดขายในประเทศลดต่ำไปด้วย เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันผู้บริโภคจะหันมาเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เน้นความคุ้มค่าต่อการใช้งานมากกว่าซื้อตามแฟชั่นเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อจะช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวทางสมาคมฯ เตรียมจัดโครงการ “ดีไซเนอร์พบผู้ผลิต” พานักออกแบบมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศมาช่วยเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาสินค้าให้แก่ผู้ผลิตรายย่อย ให้มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์และดีไซน์ของตัวเองสามารถเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้นในปีนี้

----

Thailand's location drives transport investment plan
ACHARA DEBOONME, CHULARAT SAENGPASSA, PONGPHON SARNSAMAK
THE NATION January 7, 2013 1:00 am

Click on the image for full size

A modal shift in transport for greater competitiveness is the name of the game behind the government's massive infrastructure development programme, which will be kicked off this year with the tendering of four high-speed-rail projects.

Under the grand plan, 55 projects worth Bt2.27 trillion (US$66.29 billion) are to be completed by 2020.

These projects are part of the government's long-term development plan but are being expedited by a commitment to infrastructure investment, the opening up of Myanmar, and the implementation of the Asean Economic Community (AEC).

The Finance Ministry is expected to submit a draft Bt2.2-trillion borrowing bill for the Cabinet’s approval this month.

In the 2013 fiscal year, infrastructure spending of Bt100 billion is earmarked, according to Transport Minister Chadchart Sittipunt.

"The infrastructure development projects are designed to make Thailand the true centre stage of Asean. Under this plan, Bangkok will no longer singly represent Thailand. Major cities will gain greater prominence, thanks to the AEC, which will allow us to expand our territory without having to go to war, and extend regional connectivity," the minister said in an interview.

Of the total budget of Bt2.2 trillion, 64 per cent will fund 31 rail-related projects, 24 per cent will go to 13 road projects, 7 per cent to seven water-transport projects, and 4.75 per cent to four air-transport projects.

Ultimately, these projects are expected to improve linkages between Thailand and its Asean neighbours, reduce logistics costs, deal with growing traffic congestion, and boost tourism revenue.

Chadchart envisages Thailand as the centre of Asean through its presence in the Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (Bimstec), the Greater Mekong Subregion (GMS), the Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACEMECS), and the Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle.

To benefit fully from these connections, Thailand requires a new seamless network and new rules to facilitate cross-border transport.

Thailand will be linked with the regional groups through the Southern Economic Corridor (Bangkok-Phnom Penh-Ho Chi Minh City), the East-West Economic Corridor (Malamang-Phitsanulok-Khon Kaen-Savannakhet-Danang), and the North-South Economic Corridor (which links Thailand with Kunming, China, via Laos and Myanmar). Through Route R9, Thailand will link Vietnam, Cambodia and Myanmar.

The road links are expected to boost border trade, which totalled $22.7 billion in the first nine months of 2012.

"We need to be friends with all our neighbours and must not take advantage of them. This can be a win-win deal for all sides," Chadchart said.

New investments in rail projects are designed to reduce logistics costs, which now account for 15.2 per cent of gross domestic product, against 8.3 per cent in the United States.

The cost is high as freight transport is 86 per cent by road, though this mode is the most polluting and most dangerous to life.

From 71 billion kilotonnes equivalent of carbon emission in 2010, 35 per cent came from goods transport and 36 per cent from the manufacturing sector.

Shipment by rail and water, currently at 12 per cent and 2 per cent respectively, will be promoted because of their lower costs compared to road transport.

"Rail transport should be tentatively raised to 40 per cent," Chadchart said.

Costing a total of Bt900 billion, the four high-speed-rail routes will help the government achieve that goal.

While the high-speed trains will speed up travel for individual commuters, they will also promise a shorter transport period for goods.

In Bangkok, where new roads cannot be built, the combined length of the electric-train routes will be expanded by 10 times from 40 kilometres to 468.8km. Tendering of the MRT Pink Line is expected to take place next month.

"If the tendering of all 10 new projects can be launched within two years, they will all be completed seven years from now," he said.

In the air-transport segment, some airports will be improved to attract more tourism revenue.

"There are 38 airports in Thailand, but 72 per cent of tourist arrivals are seen through Suvarnabhumi Airport," Chadchart said.

"The bottleneck must be tackled. In this regard, the Mae Sot airport could be used for travel to Myanmar."

He said there was plenty of fiscal room to finance the projects.

"We can issue 3-per-cent bonds to finance the infrastructure projects.

"This is worthwhile as it will reduce energy consumption, pollution and logistics costs. We can invest first and pay back the investment through profits reaped from the projects," he said.

The government tentatively plans to finance 8 per cent of the needed funds through revenue of involved state enterprises, 69 per cent through borrowing by government and state enterprises, 9 per cent through annual fiscal budgets, and 14 per cent through public-private investment.

Unlike the Bt350-billion budget for the water-management scheme, which is backed by a borrowing decree, the minister said it was necessary for the government issue a law to back the Bt2.27-trillion transport-infrastructure investment.

"We need a law as we want to make it a national agenda, turning the projects into contingency plans that will bind all [subsequent] governments to follow through. It's a necessity for the nation. Whoever becomes the government must continue with it, as it will benefit the entire country."

To Chadchart, dealing with environmental concerns is key to the success of the scheme. Without public acceptance, the projects could face delays.

As much of the investment will go to rail projects, the government also needs to make sure that the State Railway of Thailand is capable of handling the projects.

He said the new SRT governor Prapat Chongsanguan and the labour uni0n had started to see the urgency of restructuring, as few want to take a train ride because of poor service.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 10/01/2013 9:56 pm    Post subject: Reply with quote

ประกาศิต รมต.เด็กปั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ "เงิน 2 ล้านล้านจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทย"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 10 ม.ค. 2556 เวลา 09:14:01 น.

เป้าหมายของรัฐบาลเพื่อไทยในการออก พ.ร.ก.เงินกู้ ภายใต้กรอบวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อวางรากฐานของประเทศให้มั่นคงในอนาคต

โดย เฉพาะการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่รัฐบาลคาดหวังจะเปลี่ยนประเทศกลายเป็นโฉมใหม่เท่าเทียมกับต่างประเทศ และเตรียมความพร้อมประตูการค้าทุกด้าน เพื่อรับการเปิดเออีซี ในปี 2558

งาน นี้ "กระทรวงคมนาคม" รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลัก คอยเฟ้นโครงการจัดลงบัญชีลงทุนก่อสร้างแต่ละปีให้เห็นผลเป็นรูปธรรม นับจากปี 2556-2563 เพราะกุมเม็ดเงินลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท

"ชัช ชาติ สิทธิพันธุ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดใจกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลกำลังจะลงทุนจะช่วยฟื้นฟูและเปลี่ยนประเทศให้ยั่งยืนใน อนาคต ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะตามมา เช่น การพัฒนาเมืองใหม่ ๆ ที่มาพร้อมการก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง

"ภาระหนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะอยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ แต่พลังงานที่สูญเสียไปแต่ละปีมันมากกว่า ผลตอบรับกับประเทศกลุ่มอาเซียนดีมากเมื่อรู้ว่าเราจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้น ฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะต่อไปจะเปิดการค้าเสรีแล้ว" คำกล่าวย้ำ

แต่ สิ่งสำคัญคือ...ประเทศไทยจะเปลี่ยนโหมดการขนส่งจาก "ถนน" มาสู่ "ราง" มากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ ปัจจุบันประเทศใช้พลังงานในการขนส่งประมาณ 7 แสนล้านบาท/ปี ถ้าประหยัดได้ปีละ 10% ใช้เวลาไม่กี่ปีจะคุ้มทุนแล้ว

"จะลดต้นทุน ได้เท่าไหร่พูดยาก แต่โหมดการขนส่งสินค้าเปลี่ยนแน่นอน ตอนนี้เราขนส่งทางถนน 86% ต่อไปเราจะพึ่งทางรางมากขึ้น มีทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ที่จะช่วยขนสินค้าและคนได้ปริมาณที่มากและตรงเวลามากขึ้น เป้า 5 ปีขนส่งทางรางจะเพิ่มจาก 2% เป็น 5% "

ทั้งนี้ "รถไฟความเร็วสูง" หรือไฮสปีดเทรนที่รัฐบาลกำลังเร่งลงทุนในปี 2556 "ชัชชาติ" บอกว่า ไม่ใช่แค่รถไฟแต่เป็นอะไรมากกว่านั้น และเปลี่ยนประเทศไทยในอนาคตได้ สมกับสโลแกนที่ว่า It"s not just a train, It"s the future

"ไม่ใช่แค่รถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ในแนวเส้นทางจะมีการเติบโตขึ้นอีกมากเป็นเมืองใหม่มารองรับ เมืองจะขยายตัวไปหัวเมืองใหญ่ ๆ มากขึ้น เช่น โคราชใช้เวลาเดินทางแค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง เช่นเดียวกับหัวหินและพัทยา"

นอกจากนี้ ธุรกิจการค้าจะเติบโตตามมา พร้อมกับการขยายตัวของคนและเมืองที่จะเปลี่ยนโหมดการอยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง รถไฟ ทำให้การขนส่งสินค้าต่อไปจะมีต้นทุนถูกลง ตรงเวลา และรวดเร็วขึ้น โดยรถไฟความเร็วสูงจะขนสินค้าได้ 100 เมตริกตัน/ขบวน

โดยเฉพาะสินค้า เกษตร เช่น ผัก ผลไม้ที่เน่าเสียง่าย เดิมขนส่งทางรถมีอัตราการเน่าเสียเฉลี่ย 17-35% เพราะแนวเส้นทางจะมีคลังสินค้าี่รองรับ้ใกล้กับสถานี การขนส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านสะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะโครงข่ายจะเชื่อมกับสปป.ลาวที่เวียงจันทน์ ทะลุไปเวียดนามและจีนได้

อีก ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและยกระดับสินค้าโอท็อป เช่น นำผ้าพื้นเมืองมาบุผนังเบาะนั่ง เป็นต้น รวมถึงเพิ่มรายได้จากการนำสินค้ามาสร้างแบรนด์ขายบนรถไฟได้ เช่น ข้าวเบนโตะของแต่ละภาค

และเพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะ เกิดขึ้น "รมว.ชัชชาติ" บอกว่า อย่างแรกที่ต้องเร่งทำนับจากนี้คือ จะยกเครื่อง "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ครั้งใหญ่ในรอบ 115 ปี หลังพบว่ามีปัญหาเรื้อรัง พร้อมภาระหนี้ร่วม 1 แสนล้านบาท เพื่อเป็นองค์กรเดินหน้าก้าวสู่สิ่งใหม่ ๆ

"ปัจจุบันรถไฟลดบทบาทลง ไปมากในชีวิตคนไทย มีคนใช้บริการขนส่งสินค้าแค่ 2% ผู้โดยสารก็ลดลงมาก ถ้าไม่ปรับอนาคตจะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ไม่ได้"

แผนบริหารจัดการ คือ จะต้องเร่งการลงทุน 1.76 แสนล้านบาทโดยเร็ว เพื่อเปลี่ยนด้านกายภาพ เช่น ซื้อหัวรถจักรและรถโดยสารใหม่ สร้างทางคู่ ฯลฯ เพื่อปรับโฉมการบริการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

พร้อมกับเข้าไปดู "ด้านบุคลากร" ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่ทำงานและอยู่ที่นี่มานาน ต้องจัดสรรคนให้เหมาะกับงาน ถ้าหากต้องลดไซซ์องค์กรก็ต้องทำ เพราะจะเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในอนาคต เรื่องบำเหน็จบำนาญที่นับว่าเป็นภาระผูกพันของคนรถไฟมานาน

นโยบาย การปรับลุกของ ร.ฟ.ท.ครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หลังรัฐบาลลงทุนรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ที่จะเชื่อมโยงการเดินทางในภูมิภาคนี้แล้ว
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
nutsiwat
2nd Class Pass
2nd Class Pass


Joined: 03/03/2011
Posts: 684
Location: สถานีเรณูนคร

PostPosted: 11/01/2013 11:56 am    Post subject: Reply with quote

ต่อไประบบรางไม่ใช่ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง หรือช้าเป็นชั่วโมง แต่จะเป็นระบบรางที่ไปถึงยังปลายทางแบบตรงเวลา รวดเร็ว ปลอดภัย และที่สำคัญสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ อีกประการสำคัญก็คือช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้พัฒนายิ่งขึ้น เหมือนกับสโลแกนที่ว่า It"s not just a train, It"s the future เพราะระบบรางจะต้องมีการพัฒนาต่อไป ไม่ใช่เพื่อวันนี้ หรือวันพรุ่งนี้ แต่จะก้าวต่อไปในอนาคตข้างหน้า 5 - 10 ปี ครับ แต่ก็ขึ้นอยู่แต่ละยุคที่ให้ความสำคัญกับระบบรางหรือไม่

-------------------------
สถานีต่อไป สถานีรถไฟเรณูนคร
Back to top
View user's profile Send private message Yahoo Messenger MSN Messenger
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/01/2013 6:29 am    Post subject: Reply with quote

"กิตติรัตน์" การันตีกู้ 2 ล้านล้านไม่ทำหนี้ท่วม-"ชัชชาติ" ขายฝันรถไฟทั่วปท.
วันพุธที่ 23 มกราคม 2013 เวลา 06:00 น. เขียนโดย isranews

“กิตติรัตน์” การันตีเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่สร้างปัญหา อ้างจีดีพีโตทุกปี ยันไม่มีวินาทีไหนหนี้สาธารณะเกิน 50%-“ชัชชาติ” ขายฝันรถไฟทั่วไทย ชี้มัวพึ่งถนน อีก 10 ปี แข่งเพื่อนบ้านไม่ได้

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างการสัมมนา เรื่อง การมอบนโยบายสำหรับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ และการชี้แจงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งมีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการมร่วมงาน ที่ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้กล่าวถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังจากกรณีที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานว่า ขณะนี้จีดีพีของประเทศอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท เชื่อว่าในปีที่ผ่านมาจะโตขึ้นอีก 5.5% หรือราว 1 ล้านล้านบาท ทำให้สามารถเก็บรายได้ได้เพิ่มในส่วนของภาษี ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะยังดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล แต่เชื่อว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า จะสามารถดำเนินนโยบายการคลังแบบสมดุลได้ เนื่องจากจีดีพีที่มากขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เป้าหมายการสร้างความเติบโตของประเทศสำหรับรัฐบาลชุดนี้ คือจะต้องมีเสถียรภาพและยั่งยืน จึงมีความจำเป็นต้องเดินหน้าลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เพราะเท่าที่ได้เปรียบเทียบ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ พบว่าของไทยยังด้อยว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเฉพาะการขนส่งทางราง ทั้งนี้ขอยืนยันว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท จะไม่ทำให้เกิดปัญหาวินัยการเงินการคลัง เพราะไม่ได้ใช้แค่ปีเดียวจบ แต่เป็นกรอบที่วางไว้สำหรับใช้ถึง 7 ปีครึ่ง นอกจากนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของไทยทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดหรืออัตราเงินเฟ้อก็ไม่มีปัญหาอะไร

“โดยหลักสากลตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะต้องไม่เกิน 60% แต่เนื่องจากจีดีพีของไทยจะโตขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงจะไม่มีทางเลยแม้แต่วินาทีเดียวที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยจะเกิน 50%” นายกิตติรัตน์กล่าวยืนยัน

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวถึงความจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งทางรางว่า การขนส่งของไทยยังยึดติดกับถนน โดยมีถนนกว่า 2 แสนกิโลเมตร มีแต่รางรถไฟแค่ 4 พันกิโลเมตรเท่านั้น ทั้งๆ ที่ต้นทุนการขนส่งด้วยรถไฟแค่ 0.93 บาทต่อกิโลเมตร ต่ำกว่าการขนส่งด้วยรถยนต์ที่สูงถึง 1.72 บาทต่อกิโลเมตร การขนส่งสินค้าในไทย 86% ยังใช้รถยนต์ มีแค่ 2% เท่านั้นที่ใช้รถไฟ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปอีก 10 ปี ไทยจะแข่งกับใครเขาไม่ได้เลย เพราะเวลานี้ไทยนำเข้าพลังงาน 71 ล้านตัน ใช้ในภาคขนส่ง 35% ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 36% แปลว่าเราใช้พลังงานในการผลิตกับขนใกล้เคียงกัน ซึ่งถือว่าสิ้นเปลืองมาก จากการคำนวณ ปีหนึ่งเราใช้ต้นทุนในการขนของ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ทำให้จีดีพีของไทยลดลง

“โจทย์ที่ท้าทายของประเทศในเวลานี้ก็คือการเปลี่ยนจากใช้รถยนต์มาสู่การใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น ต้องมีการเปลี่ยนโหมดจากการใช้ถนนมาสู่ระบบราง จาก 2% ต้องเป็น 5-10% ให้ได้” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า เป้าหมายสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรางจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท อาทิ ต้องมีการเดินทางระหว่างจังหวัดด้วยรถยนต์น้อยลงจาก 59% เหลือ 40% เพิ่มความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าจาก 39 เป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถไฟโดยสารจาก 60 เป็น 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปีละ 1 แสนล้านบาท การเดินทางจาก กทม.ไปในรัศมี 300 กิโลเมตรต้องใช้เวลาไม่เกิน 90 นาที ฯลฯ

รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า ความเร็วเฉลี่ยการขับรถยนต์ใน กทม. ตอนเช้า อยู่ที่ 16 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตอนเย็น 24 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ความเร็วจริงๆ น่าจะอยู่ที่ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง เทียบกับการใช้บีทีเอสหรือรถไฟใต้ดิน ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่หักเวลาจอดตามป้ายจะเหลือ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้นการแก้ปัญหาการจราจรใน กทม.จึงไม่ใช่การสร้างถนน แต่เป็นการสร้างระบบขนส่งมวลชนให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ระบบรถไฟฟ้า ทั้งบีทีเอส รถไฟใต้ดิน กับแอร์พอร์ตลิงก์มีความยาวรวมกัน 80 กิโลเมตร ปัจจุบันมีการก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่หลายสาย และจะเริ่มประมูลในปีนี้อีก 5 โครงการ ซึ่งตามแผนในปี 2562 จะมีระบบรถไฟฟ้า ความยาวรวม 410 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับกรุงลอนดอนของอังกฤษ ทำให้คนไทยจะใช้รถยนต์ลดลงและหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยจำนวนผู้ใช้บริการคาดว่าจากปัจจุบัน 8 แสนราย จะเพิ่มเป็น 5 ล้านราย นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงไปพร้อมๆ กัน

“งบจากเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทจะต้องเป็นทางลัดจริงๆ เพราะเมื่อมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ภูมิภาคนี้จะมีสภาพคล้ายกับไร้พรมแดน เราต้องเตรียมการสำหรับการเชื่อมต่อให้มีมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณการค้ากับเพื่อนบ้านบริเวณชายแดนให้มากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 23/01/2013 12:59 pm    Post subject: Reply with quote

เร่งผุดรถไฟฟ้า7สายหวังขยับจีดีพีโตอีก1%
23 มกราคม 2556 เวลา 10:37 น.

รัฐบาลหวังโครงการ 2 ล้านล้าน ดันจีดีพีโตเพิ่มปีละ 1% คมนาคมเร่งประมูลรถไฟฟ้า-รถไฟ รวม 7 สายปีนี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ประเมินว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งภายใน 7 ปีครึ่ง ภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่ากรณีไม่มีการลงทุนปีละ 1% โดยจะขยายตัว 5-6% ขณะที่หากไม่มีการลงทุนจะขยายตัว 4-5%

นอกจากนี้ จะส่งผลให้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปีละ 0.5% ของจีดีพี เพราะการลงทุนจะทำให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและวัสดุจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เงินบาทไม่แข็งค่า ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกและทำให้เงินเฟ้อเล็กน้อย 0.16% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 3%

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ปี 2556 กระทรวงคมนาคมจะเร่งเปิดประมูลรถไฟฟ้า 5 สาย วงเงินรวม 2.79 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้า แครายปากเกร็ด-มีนบุรี ตลิ่งชัน-มีนบุรี หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 2 เส้นทาง คือ พญาไท-บางซื่อ และบางซื่อ-ดอนเมือง นอกจากนี้จะเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมโครงข่ายระหว่างประเทศอีก 2 เส้นทาง คือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท และ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงินประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะดำเนินการแล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะต้องช่วยพิจารณา กรอบให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ได้นำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ม.ค. เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องการให้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานระดับท้องถิ่นก่อน

ทั้งนี้ แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556-2563 มีเป้าหมายลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี เหลือ 2% จากปัจจุบัน 15.2% ลดความสูญเสียจากน้ำมันปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ลดผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนตัวจาก 59% เหลือ 40%
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/01/2013 11:13 am    Post subject: Reply with quote

รมว./รมช.คมนาคม ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ 24 มกราคม 2556

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมรัฐมนตรีช่วยลงพื้นที่แก้ไขปัญหาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยพลเอกพฤณท์ สุวรรณทัต และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันท่าเทียบเรือแหลมฉบังส่งออกสินค้าถึงร้อยละ 53 แต่การขนส่งทางรถไฟ โครงข่ายถนนจากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เชื่อมมายังท่าเทียบเรือแหลมฉบังยังไม่สะดวก ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคม เข้าไปดูสิ่งอำนวยความสะดวกและกิจกรรมภายในท่าเทียบเรือแหลมฉบัง วันนี้(24 ม.ค.)จึงได้ลงพื้นที่พร้อมกับหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตนเองจะลงพื้นที่โดยทางรถไฟตั้งแต่ศูนย์กระจายสินค้าที่ลาดกระบัง ดูปัญหาการขนส่งทางราง พลเอกพฤณท์ลงพื้นที่กรมทางหลวง ดูปัญหาการขนส่งทางถนน และนายประเสริฐจะดูปัญหาการท่าเรือ เพื่อรวบรวมปัญหามาสรุปร่วมกับผู้ประกอบการ หากโครงการใดเร่งด่วน จะบรรจุเข้าแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 ของร่าง พรบ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...จำนวนเงิน 2.2 ล้านล้านบาท หรือบรรจุเข้าสู่งบประมาณปี 2557
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44763
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 04/02/2013 5:26 pm    Post subject: Reply with quote

เปิดแผนลงทุนเมกะโปรเจค1.9ล้านล้าน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 09:30

เปิดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.9 ล้านล้าน ทุ่มพัฒนาระบบราง 1.28 ล้านล้าน

กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ โดยงบประมาณส่วนใหญ่ใช้ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มีรายละเอียดดังนี้)

สาเหตุที่รัฐบาลต้องเร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนส่ง เนื่องจากปัจจุบันประสิทธิภาพการขนส่งของไทย ล้าหลังคู่แข่งมาก โดยจากรายงานความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดย Word economic forum ระบุว่า ไทยมีประสิทธิภาพการขนส่งทางถนน อันดับที่ 36 ของโลก ขณะที่สิงคโปร์ อยู่อันดับ 1 มาเลเซีย อันดับที่ 21

ส่วนประสิทธิภาพขนส่งทางรถไฟ ไทยอยู่อันดับที่ 57 ของโลก ขณะที่ฮ่องกง อยู่ที่อันดับ 2 มาเลเซีย อยู่อันดับที่ 20 การขนส่งทางเรือ ไทยอยู่อันดับ 43 ฮ่องกง อยู่อันดับ 1สิงคโปร์อันดับ 2 มาเลเซียอันดับ 19 ขนส่งทางอากาศ ไทยอันดับ 28 ฮ่องกง อันดับ 1 สิงคโปร์ อันดับ 2 มาเลเซีย อันดับ 29 รองจากไทย

แผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นโครงการเดิมของกระทรวงคมนาคมที่มีแผนมาก่อนหน้านั้น แต่ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการสำคัญประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะให้ความสำคัญกับระบบรางมากที่สุด โดยกำหนดวงเงินลงทุน 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 65.05% รองลงมาคือการขนส่งทางถนน วงเงิน 4.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.20% การขนส่งทางน้ำ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.51% และการขนส่งทางอากาศ วงเงิน 8.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.24%

เป้าหมายของแผนคือต้นทุนการขนส่งสินค้ารวมเฉลี่ยต้องอยู่ที่ 1.8669 บาท/ตัน-กิโลเมตร ในปี 2563 ซึ่งจะลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ปีละ 52,843 ล้านบาท ลดความสูญเสียจากการใช้น้ำมันปีละ 1.5 แสนล้านบาท และปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งจะลดความสูญเสียจากการใช้รถส่วนบุคคล 8 หมื่นล้านบาท ประหยัดมูลค่าของเวลาในการเดินทางคิดเป็นเงิน 1.08 แสนล้านบาท

การลงทุนขนส่งทางราง วงเงิน 1.28 ล้านล้านบาท มีดังนี้

1.โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง วงเงิน 4.8 แสนล้านบาท ได้แก่
เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
กรุงเทพฯ-หัวหิน และ
สุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยอง

2.โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน วงเงิน 4.75 แสนล้านบาท ได้แก่
สายสีแดงช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
สายสีแดงช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน
สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา
แอร์พอร์ตเรลลิงค์ ช่วงดอนเมือง-พญาไท
สายสีเขียว ช่วงสะพานใหม่-คูคต
สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี
สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ
สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่

3.ระบบรถไฟสายใหม่ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ได้แก่
ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-มุกดาหาร

ช่วงอรัญประเทศ-ปอยเปต และ
ช่วงเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามันระยะที่ 1

4.โครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ได้แก่
ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย
ลพบุรี-ปากน้ำโพ
มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ
ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น
นครปฐม-หัวหิน และ
ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร


ส่วนที่เหลือเป็นการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย การปรับปรุงสะพาน การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณไฟสี ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม การก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องหรือสถานีไอซีดีแห่งที่ 2

การลงทุนขนส่งทางถนน เป็นโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 5 สายทาง วงเงิน 2 แสนล้านบาท ได้แก่ ช่วงชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ช่วงบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ช่วงนครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ และช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์ โครงการทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ทางหลวงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่ 3

การลงทุนขนส่งทางน้ำ มีโครงการการก่อสร้างเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าน วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท

การลงทุนขนส่งทางอากาศ มีโครงการการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท

----
เอ...ช่วงอรัญประเทศ-ปอยเปต ได้งบประมาณแผ่นดินปี 2556 ปรับปรุงทางรถไฟแล้วมิใช่หรือ Rolling Eyes

----

ลุ้น พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านเข้า ครม. 5 ก.พ. "ชัชชาติ" รอนายกฯคัดโครงการแนบท้าย
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 04 ก.พ. 2556 เวลา 09:43:18 น.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ.... 2 ล้านล้านบาท ว่า กระทรวงคมนาคมเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับการจัดทำ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ส่วนโครงการทั้งหมดที่จะถูกบรรจุใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯแล้ว โดยนายกฯจะเรียกประชุมอีกครั้งเพื่อคัดเลือกโครงการทั้งหมดใน พ.ร.บ.ดังกล่าวว่ามีโครงการใดบ้างที่จะใช้เงินลงทุนตาม พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท และโครงการใดบ้างที่จะเป็นการลงทุนในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี)

นายชัชชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีบางโครงการที่สามารถใช้งบประมาณประจำปี เช่น การก่อสร้างถนนบางโครงการ โดยโครงการที่ใช้งบประมาณประจำปีและโครงการที่ลงทุนในรูปแบบพีพีพี จะตัดออกจากรายการการลงทุนใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนระบบราง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) รถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้า 10 สาย อยู่ในแผนการลงทุนตาม พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท คาดว่าจะสรุปโครงการต่างๆ ทั้งหมดได้เร็วๆ นี้ ก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป


แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ จะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว 7 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2563 ประกอบด้วยภารกิจเร่งด่วน 3 ด้านสำคัญคือ 1.การลงทุนคมนาคมขนส่งทางบก 2.การพัฒนาการขนส่งทางอากาศ 3.การการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ รวมทั้งจะเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งของไทยกับเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) 4 แนวทางคือ 1.เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่ง ณ ประตูการค้า 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง 3.พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ และ 4.การพัฒนาการด้านกฎหมาย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังส่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไปรอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของ ครม.แล้ว คาดว่าน่าจะนำเสนอที่ประชุม ครม.ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ โดยทำบัญชีแนบท้ายรายละเอียดโครงการทั้งหมดเข้าไปพร้อมกับร่างกฎหมาย โครงการหลักยังอยู่ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนโครงการสำรองที่เตรียมไว้จะมีวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับหากโครงการหลักไม่สามารถดำเนินการได้ทัน สามารถเลื่อนโครงการสำรองขึ้นมาแทนที่ได้ทันทีในระยะเวลา 7 ปีตามที่กฎหมายกำหนด

"โครงการที่บรรจุในแผนการกู้เงินดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหากเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นหรือมีผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ปรับให้เข้ากับแนวนโยบายของนายกฯแล้วในการสนับสนุนให้แต่ละพื้นที่หรือจังหวัดมีความชัดเจนในการเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่งทางด้านใดๆเพื่อให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุด" นายสมชัยกล่าว

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.เตรียมแผนการกู้เงินเพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทไว้แล้ว หากกฎหมายผ่านรัฐสภา จะกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการได้ทันที แต่อาจจะไม่ทันในปีงบประมาณ 2556 อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะกู้ได้ภายในปีปฏิทิน 2556 ซึ่งแผนการลงทุนจะใช้เงินปีละประมาณ 2-3 แสนล้านบาท จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศอย่างแน่นอน

"การกู้อาจไม่ต้องใช้เงินทั้ง 2 ล้านล้านบาท เนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (พีพีพี) ผ่านความเห็นชอบจากสภาและจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ จะทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ใช้พีพีพี โดย สบน.ประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะมีโครงการร่วมทุนประมาณ 30% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด จะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณได้มาก" น.ส.จุฬารัตน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายละเอียดแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นแผนลงทุนระบบขนส่งคมนาคม อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ใช้เงินลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือ 1 ใน 4 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนโครงการอื่นๆ ได้แก่ การขยายรถไฟรางคู่ทุกเส้นทางทั่วประเทศ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา รวมถึงโครงการรถไฟฟ้า 10 สายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการลงทุนท่าเรือขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง เช่น ท่าเรือสงขลา ท่าเรือปากบารา รวมทั้งโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพด่านศุลกากรประมาณ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ว่า จะหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจาก 2 ปัจจัยเสี่ยงนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ธุรกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หากไม่เร่งแก้ปัญหา อีกไม่นานลูกค้าต่างชาติจะยกเลิกสั่งซื้อสินค้าจากไทยแล้วหันไปซื้อจากเพื่อนบ้านแทน

"ผลกระทบจากค่าบาทและค่าแรงทำให้ผู้ประกอบการไทยขอปรับราคากับลูกค้าต่างประเทศเพราะราคาเดิมขาดทุน แต่ส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธจากลูกค้า และหลายรายหันไปซื้อสินค้าจากเพื่อนบ้านที่ถูกกว่าไทย อาทิ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และอินเดีย" นายวัลลภกล่าว

นายวัลลภกล่าวว่า ผลกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ส.อ.ท. จะเสนอแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอีแบบยาแรง เพราะมาตรการของรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เบื้องต้นจะนำเรื่องการตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (จากผลกระทบทั้ง 2 ปัญหา) โดยจะตั้งร่วมกันระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการ แต่จะเพิ่มเงื่อนไขให้รัฐบาลใช้งบประมาณน้อยที่สุด เช่น ช่วยเหลือแบบขั้นบันได หากกลุ่มใดต้นทุนสูงไม่เกิน 5% จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หากอยู่ระดับ 5-10% จะช่วยเหลือระดับหนึ่ง หากต้นทุนสูงเกิน 10% จะช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่น

นายวัลลภกล่าวว่า เรื่องค่าเงินบาทนั้น กกร.จะหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยเหลือ หลังจากที่ผ่านมาตัวแทน ส.อ.ท. เข้าพบ ธปท. มาแล้ว เบื้องต้นเอกชนต้องการให้ ธปท.เกาะติดสถานการณ์ค่าเงินประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกของไทย 13 ประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ และอีก 4 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศ เนื่องจากประเทศดังกล่าวส่งออกสินค้าในลักษณะที่คล้ายกับสินค้าไทย รวมทั้งตลาดยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไทยด้วย

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า ในการประชุม กกร.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ทางกลุ่มจะเสียสละไม่เข้าร่วมประชุม เพราะไม่ต้องการให้เสียภาพพจน์ ส.อ.ท. เนื่องจากหากเข้าประชุมในขณะที่ความขัดแย้งยังอยู่อาจเพิ่มปัญหาจน กกร. ตัด ส.อ.ท. ออกจากการเป็นสมาชิกได้ ส่วนความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสร้างความสัมพันธ์ ส.อ.ท. ขณะนี้กลุ่มนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ไม่ต้องการให้เกิดการเจรจาในองค์กร เพราะล่าสุดได้ล้มเลิกการเจรจาของคณะกรรมการ วันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา

"ต้องการให้นายพยุงศักดิ์กลับเข้ามาร่วมเจรจาปัญหาความขัดแย้งอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ และควรรับฟังความเห็นของสมาชิกในต่างจังหวัดบ้าง เพราะเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของ ส.อ.ท." นายธนิตกล่าว

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยไทยที่ 2.75% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐ เพียง 0.25% มีส่วนต่างที่มาก ทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นเข้ามาในตลาดทุนมากและเร็วเกินไป ราคาหุ้นและราคาทรัพย์สินจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มากทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากด้วย จะทำให้การส่งออก การจ้างงาน และรายได้รัฐบาลชะลอตัวลง ขณะที่ประเทศกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพยายามเพิ่มค่าจ้างและรายได้ประชาชน ทำให้ต้องกู้เงินมากขึ้น เงินบาทที่แข็งค่า จะทำให้การอุดหนุนราคาข้าวและสินค้าเกษตรมีส่วนขาดทุนมากขึ้นด้วย

นายสุชาติกล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจที่เปิดอย่างมากเช่นไทย เราใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงคุมอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศไม่ได้เลย อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ถ้าเงินทุนไหลเข้ามามาก ทำให้อำนาจซื้อเพิ่มขึ้น และทรัพย์สินก็ขึ้นราคา การคงอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยโลกมากๆ จะยิ่งทำให้เงินไหลเข้ามาก และเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินจึงควรลดอัตราดอกเบี้ยไทยไม่ให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยโลกมากนัก จนอาจทำลายระบบเศรษฐกิจไทยได้ ดังเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในช่วงปี 2537-2540
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4, 5, 6 ... 121, 122, 123  Next
Page 5 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©