RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Ads Service

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311296
ทั่วไป:13273780
ทั้งหมด:13585076
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวแผนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 2558-65
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 79, 80, 81 ... 121, 122, 123  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 27/04/2016 1:01 pm    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:


สำนักข่าวซินหัว พูดถึงเรื่องรถไฟไทย - จีน - ที่ จีนปวดใจ กะ วิธีคิดแบบไทย ที่เน้นให้ใช้ของไทยให้มากๆ และ การตัดระยะทาง ไปที่โคราช ไม่ต่อรวดเดียวไปหนองคาย และ มาบตาพุด เพื่อจะได้ต่อไปคุนหมิงได้ ที่เรารู้ว่า เราต้องทำแบบนี้เพื่อ ไม่ให้มีปัญหาเรื่องงบประมาณมากเกินไป ซึ่งวิธีคิดของเราดังกล่าวจีนเห็นว่า ผิดหลักการที่จีนกำหนดไว้และ คราวนี้สำนักข่าวซินหัวยังพาดพิงสื่อไทยและปัญญาชนชาวไทย ที่ บอกว่า จีน ค้ากำไรเกินควรกะโครงการรถไฟไทยจีน ทั้งในเรื่องดอกเบี้ย และ ที่ดิน สองข้างทางรถไฟ ว่า สื่อไทยกล่าวคำเท็จ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกรณีที่เห็น ว่า จีนหนะ ต้องการรถไฟไทย - จีนมากกว่าที่คนไทยต้องการซะอีก

งานนี้บริษัทรถไฟจีนแดงและ สถานทูตจีน ต้องโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อ เปลี่ยนมุมองของ สื่อไทย ปัญญาชนชาวไทย และ มหาชนชาวไทย ให้ สนับสนุนโครงการ รถไฟไทยจีนแบบเต็มรูปแบบกว่าที่เป็นอยู่นี่ แทนที่จะกุดแค่โคราช เพราะ สื่อไทย และ ปัญญาชนชาวไทยไม่ยอมเอามุมมองที่จีนแดงต้องการมาร่วมพิจารณาด้วย จะเอาแต่มุมมองของคนไทยอย่างเดียวนั้น จีนไม่ยอมเด็ดขาดแน่
http://news.xinhuanet.com/thailand/2016-04/11/c_128883791.htm
http://news.xinhuanet.com/thailand/2016-04/11/c_128883791_2.htm



นี่คือความเห็นหลังที่ผมโพสต์

Wanchai Meesiri wrote:
กรณีโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ที่ทำท่าจะวืดอีกแล้ว จึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า ไทยหรือจีนเดือดร้อนกว่ากัน

สาระสำคัญคือ เส้นทางจีนลาวและจีนเวียดนามเชื่อมโยงกันแล้ว ส่วนลาวก็เชื่อมโยงกับไทยอยู่แล้ว ไทยเองก็กำลังสร้างทางคู่ทั่วประเทศ ในที่สุดแล้วเส้นทางรถไฟจากจีนก็เชื่อมถึงไทยอยู่ดี โดยที่จีนไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างเส้นทางในประเทศไทย ก็สามารถขนส่งสินค้าทางโดยทางรถไฟมาถึงไทยได้ในเวลาอีกไม่นาน

กลับกลายเป็นว่าแรงกดดันจะมาตกที่รัฐบาลไทยไม่น้อย ภายหลังจากวางแผนแล้ววางแผนอีก เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ตัดเส้นทางให้สั้นแล้ว..อาจจะต้องตัดอีก จนเหลือแค่กรุงเทพ-โคราช ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะไม่มีปัญญาสร้าง ดีไม่ดีอาจจะตัดเหลือแค่กรุงเทพ-อยุธยา จึงไม่แน่ใจว่าคนจีนหรือคนไทยต้องปวดใจกันแน่

http://www.dailynews.co.th/article/390813
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44648
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 06/05/2016 10:23 am    Post subject: Reply with quote

ผู้นำจีนเริ่มเข้าใจ รถไฟจีนเอาเปรียบไทยเกินไป
ไทยรัฐออนไลน์ โดย ลม เปลี่ยนทิศ 6 พ.ค. 2559 05:01

เรื่องราว รถไฟไทย–จีน ยังไม่จบลงง่ายๆ แม้รัฐบาลตัดสินใจล้มเลิกโครงการไปแล้ว เพราะจีนเอาเปรียบมากเกินไป เรียกร้องเอาที่ดินสองข้างทางรถไฟหาประโยชน์ทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ แต่รัฐบาลเปลี่ยนเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูง 250 กม.ต่อชั่วโมง หดเส้นทางเหลือ กรุงเทพฯ–นครราชสีมา และใช้เทคโนโลยีรถไฟจีนทั้งหมดเหมือนเดิม โดยไม่มีการเปิดประมูลทั่วไป

การต่อรองยังไม่จบ เพราะจีนตั้งราคาโครงการไว้สูงลิ่ว เกินราคากลางที่ฝ่ายไทยตั้งไว้ และยังไม่ยอมลดราคากลางลงมา โครงการจึงไม่คืบหน้า

ความล้มเหลวของโครงการรถไฟไทย–จีน สำนักข่าวซินหัวจีน รายงานว่า ส่งผลให้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ต้องหารือกับ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ โปลิตบูโร ที่มีอำนาจสูงสุดของจีน เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นกับไทย และเห็นพ้องต้องกันว่า จีนจำเป็นต้องปรับปรุงโครงการลงทุนในเส้นทางสายไหม หรือ ซิลค์ โรด ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้ริเริ่ม โครงการ ซิลค์ โรด ใหม่ ภายใต้นโยบาย “Belt and Road” เมื่อปี 2013 เพื่อสร้างเส้นทางสายไหมใหม่ทั้งทางบกและทะเล และ ประเทศไทย คือ หัวใจของเส้นทางสายไหม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ผู้นำจีน ได้พูดกับ คณะกรรมการโปลิตบูโร ว่า “ขณะที่เราดูแลผลประโยชน์ของเรา เราก็ต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ดูแลประโยชน์ของประเทศอื่นด้วย ผมหวังว่าประชาชนในทุกประเทศ ในเส้นทางสายไหมใหม่นี้จะรู้สึกได้ถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง จากข้อเสนอที่เกิดจากความคิดริเริ่มของเรา บริษัทต่างๆของจีน ต้องไม่คิดถึงแต่กำไรจากโครงการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงชื่อเสียงของประเทศจีนในระยะยาวด้วย”

ผมอ่านข่าวซินหัวที่รายงานถึงคำพูดของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแล้ว ต้องขอคารวะด้วยสุราชั้นดี 3 จอก ผู้นำจีนไม่โกรธที่โครงการรถไฟไทย-จีนล้มไป แต่ตำหนิบริษัทจีนที่คิดเอากำไรมากเกินไป ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งกำราบบริษัทจีนอย่าทำให้ชื่อเสียงประเทศจีนเสียหายเพราะโลภเกินไป เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ความจริงต้อง โทษนายหน้าไทย ที่วิ่งเต้นเรื่องนี้ด้วย โลภเกินไป ทำให้ โครงการรถไฟไทย–จีน มีเงินลงทุนสูงเกินไป แถมยังเอาเปรียบไทยมากเกินไป ยื่นเงื่อนไขเอาที่ดินสองข้างทางรถไฟหลายร้อยกิโลเมตรไปหาผลประโยชน์ จนคนไทยทุกคนรับไม่ได้

คุณริชาร์ด เจอร์แรม หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ ธนาคารแห่งสิงคโปร์ วิเคราะห์ว่าจีนกำลังประสบความยากลำบากในการทำโครงการ ซิลค์ โรด ในหลายประเทศ เช่น ประเทศไทย เพราะ ขาดความชัดเจนในแนวคิดของโครงการ แท้ที่จริงแล้ว โครงการซิลค์ โรด เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือ โครงการลงทุนที่เป็นความช่วยเหลือจากจีน หรือ ต้องการหากำไรกันแน่ เพราะในเอเชียทุกวันนี้มีความต้องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทุกประเทศ และไม่มีใครขาดแคลนเงินทุน ถ้าเป็นโครงการที่คุ้มค่าในการลงทุน

เช่นเดียวกับ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคมนาคม ที่ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า ไทยไม่ได้ขาดแคลนเงินลงทุน เรามีเงินในประเทศจำนวนมาก เราบอกกับจีนว่า จะไม่ยอมให้สิทธิประโยชน์ที่ดินสองข้างทางรถไฟเด็ดขาด ประเทศไทยไม่เหมือนลาว (ที่จีนเรียกร้องเอาที่ดินสองข้างทางรถไฟจีน-ลาว ไปหาประโยชน์ได้)

ผมคิดว่า จุดยืนของรัฐบาลไทยวันนี้มาถูกทางแล้ว ไม่เสียค่าโง่ซ้ำซากให้พ่อค้าจีนที่ยังเห็น คนไทยเป็นเซียมตือ (หมูสยาม) ให้เคี้ยวกินง่ายๆ ผมเองก็คัดค้านเรื่องนี้มาตลอด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติไทยและคนไทย วันนี้ผมดีใจที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนเริ่มตระหนักในเรื่องนี้ และเห็นว่าไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เลยต้องนำมาเล่าสู่กันฟังครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 09/05/2016 9:39 pm    Post subject: Reply with quote

บริษัทรถไฟจีน‘หนี้บาน’ ไทยต้องทบทวนให้หนัก
การเมือง.. เรื่องเงินๆ
พัสณช เหาตะวานิช
แนวหน้า
9 พฤษภาคม 2559





เรื่อง “รถไฟ” ของไทยพูดกันมายาวนานมาก ไม่จบเสียที ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจน

รถไฟไทยของเรามีมาตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมองการณ์ไกลอย่างยิ่งยวด ต้องการให้สยามประเทศ มีความเจริญทัดเทียม ตะวันตก ทัดเทียมยุโรป และปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่เราพยายามสร้างความเจริญทัดเทียมนั้น ก็เป็นหนึ่ง
ในสาเหตุที่เราไม่ได้ถูกจัดเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนให้ตะวันตกต้องเข้ามายึดครอง เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ผมเคยอ่านเจอในบทความฝรั่งครับ เขายกย่องชื่นชม ประเทศเอเชีย 3 ประเทศเท่านั้นที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของยุโรป นั่นคือ 1.ญี่ปุ่น 2.เกาหลี (แต่เคยตกเป็นของญี่ปุ่น) 3.ไทย

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ของไทยเรา ช่วงนั้นถือเป็นกษัตริย์นักวิศวกรรม ลงทุน “โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์”
เอาไว้หลักๆ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.ระบบน้ำ 2.ระบบราง 3.ระบบถนน

“ระบบน้ำ” มีการขยายขุดคลอง มีการสร้างท่าริมเจ้าพระยาขึ้นอย่างมาก ขนานนามว่า “เวนิสตะวันออก” คือ กรุงเทพมหานคร เราได้มาเพราะเรื่องนี้จริงๆ ครับ เพียงแต่ ลำคลองหลายแหล่งที่เป็นเส้นทางคมนาคมนั้น ถูกนักการเมืองในยุคคณะราษฎร ถมทำถนนและตั้งชื่อถนนเป็นนามสกุลตัวเองกันไปเสียส่วนใหญ่ จนกระทั่งการคมนาคมทางน้ำของเรา ถูกลดความสำคัญลง ซึ่งตั้งแต่กาลก่อน วิสัยทัศน์ของรัชกาลที่ 5 ท่านเล็งเห็นความสำคัญของ “สินค้าเกษตร” ของไทยที่จะถูกขนถ่ายล่องเรือลงมายาวจากปากน้ำโพ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน มีแหล่งกระจายสินค้า ต่อเนื่องผ่านเส้นทางเรือ เพื่อออกทางอ่าวไทยไปค้าขายกับนานาอารยประเทศ

ต่อมา เมื่อระบบน้ำถูกลดความสำคัญ “ระบบราง” ที่พระองค์ท่านทรงเริ่มไว้อย่างไร ทุกวันนี้หลายเส้นหลายพื้นที่ยังคงเป็นของที่สร้างตั้งแต่สมัยนั้น คำถามคือ การรถไฟฯพัฒนาอะไร เป็นรูปธรรมบ้างในช่วงที่ผ่านมา หลายร้อยปี !? จนกระทั่งระบบรางก็ถูกลดความสำคัญลง จนตอนนี้ เป็นปัญหาข้อถกเถียงกันใหญ่ในสังคมปัจจุบันว่าเราควรจะทำอย่างไรดีกับระบบรางของไทยเรา

เพราะว่า อะไรๆ ก็จะสู้การสร้าง “ระบบถนน” ไม่ได้ นักการเมืองในอดีตถึงกับชื่นชอบออกนอกหน้าหลุดปากว่า การกินหิน ดิน ปูน ทรายนั้น กินง่ายกว่าอย่างอื่น ท่านลองมองย้อนตามไปคิดสิครับว่า การพัฒนาหยุดตั้งแต่การคิดคอร์รัปชั่น ถ้าหากนักการเมืองไม่ได้กินหิน ปูน ดิน ทราย และสร้างถนนมันไปเรื่อยๆ แบบเดิมๆ นี้ ระบบอื่นก็คงพัฒนาไปไม่น้อยกว่านี้ และที่บอกว่า สร้างแต่ถนนกันคือ ไม่ใช่ว่าสร้างอย่างมีประสิทธิภาพนะครับ วิศวกรอาวุโส เคยเขียนบทความว่า สร้างแต่กรรมวิธีเดิมๆ คือ สร้างเก่งในทางราบเจอภูเขาก็โค้งราบๆ ไป ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีขั้นสูงเช่นการขุดเจาะภูเขาเพื่อทำให้เส้นทางตรง ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุน และลดอุบัติเหตุนั้นกลับไม่ทำ ที่สำคัญ งบซ่อมบำรุง สูงกว่างบพัฒนาลงทุนใหม่ นี่ก็ผิดในหลักการแล้วครับ

กลับมาเรื่องหลักของเราดีกว่า ยิ่งเขียนก็ยิ่งหดหู่ใจ เราเริ่มต้นได้ดีกว่าใครเพราะกษัตริย์ไทยในอดีตทรงมีวิสัยทัศน์ ตอนนั้นนี่เรียกได้ว่า แข่งกันเจริญกับญี่ปุ่นกันเป็นเมืองคู่ค้า คู่คิด กันเลยทีเดียว ตอนนี้ ไม่เห็นฝุ่น เป็นคำที่เอามาอธิบายประเทศของเราสองประเทศได้เลย

ตอนนี้สังคมไทยติดหล่มอยู่กับการถกเถียงเรื่อง “รถไฟ” เพราะเรื่องระบบรางกลับมาฮิตอีกครั้ง ตั้งแต่ ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งใจจะกู้นอกระบบงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบยาก โกงง่าย ด้วยพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทและเอางบเกือบ 1,000 ล้านบาท ไปให้หน่วยงานในรัฐบาลตัวเองโดยเฉพาะตัวเจ้าภาพ “กระทรวงคมนาคม” สมัยนั้น สร้างภาพใหญ่โต ต่างๆ นานา เพื่อเรียกคะแนนในการที่จะให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เอาเงิน 2 ล้านล้านออกมาถลุงเล่นได้อย่างคล่องมือ แต่แล้ว การร่างกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในหมวดวินัยการคลัง ก็มีอันต้องล้มไป เพราะจิตคิดไม่ซื่อแต่แรก !

ข้อถกเถียงต่อมาคือ มี 2 เจ้าใหญ่จะมาร่วมลงทุนระบบรางยุคใหม่นี้กับไทย นั่นคือ ญี่ปุ่น คู่ค้าคู่คิดเก่า กับ จีน ประเทศพัฒนาใหม่ ที่ระบบรถไฟทัดเทียมญี่ปุ่นและยุโรป ด้านคุณภาพทำได้ดี แต่วันนี้ มีการเปิดเผยจากหน่วยงานในจีนเอง ที่สำนักข่าว AFP ไปทำรายงาน แปลออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า...

...บริษัทการรถไฟ ไชน่า เรลเวย์คอร์ปอเรชัน ของรัฐบาลจีน มีหนี้สินมหาศาลกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 2 เท่าของหนี้สาธารณะกรีซ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ว่า บริษัทไชน่า เรลเวย์คอร์ปอเรชัน หรือ ซีอาร์ซี บริษัทการรถไฟของรัฐบาลจีน ตกเป็นหนี้มากกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 2 เท่าของหนี้สาธารณะของรัฐบาลกรีซ จากการรายงานของเว็บไซต์ข่าว ไคซิน ออนไลน์ ของจีน ซีอาร์ซีประกอบกิจการรถไฟของประเทศ รวมถึง เครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูง รวมระยะทาง 19,000 กม. ทำลายสถิติโลก และมีแผนจะก่อสร้างเพิ่มอีกอย่างน้อย 11,000 กม.

แต่จากรายงานด้านการเงินที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงสิ้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซีอาร์ซี เป็นหนี้ 4.14 ล้านล้านหยวน (614,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 22.3 ล้านล้านบาท ในทางเปรียบเทียบ กรีซซึ่งวิกฤติหนี้สินเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มยูโรโซน และจำเป็นต้องได้เงินช่วยเหลือกอบกู้เศรษฐกิจซ้ำหลายครั้ง มีหนี้สาธารณะตามประเมินที่ 311,000 ล้านยูโร (356,000 ล้านดอลลาร์) เมื่อถึงสิ้นปีที่แล้ว จากข้อมูลของสำนักงานสถิติ ยูโรสแตท ของสหภาพยุโรป

ข้อมูลจากรายงานการกู้ยืมของซีอาร์ซีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8 เมื่อเทียบอัตราปีต่อปี ตัวเลขสูงขึ้นเป็นผลจากแรงผลักดันของกระแสความต้องการในประเทศ ในการขยายเครือข่ายรถไฟสุดยอดความเร็วสูง (super-fast trains) ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาติ แต่จีนเผชิญกับภาวะตกต่ำของการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งเป็นรายได้หลักของซีอาร์ซี

จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ โกลบอลไทม์ส ของจีน เมื่อวันพฤหัสบดี นายจ้าว เจี้ยน อาจารย์มหาวิทยาลัยเป่ยจิงเจี่ยตง กล่าวว่า จำนวนตัวเลขหนี้สินของซีอาร์ซี “เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” และว่า รูปแบบของธุรกิจนี้ “ไม่ยั่งยืน” โกลบอลไทม์ส รายงานอีกว่า ตัวเลขขาดทุนปีต่อปีของซีอาร์ซี เพิ่มขึ้นร้อยละ 35อยู่ที่ 8.73 พันล้านหยวน ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2559

รัฐบาลจีนกำลังใช้ความพยายาม ปรับเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจ จากการพึ่งพาโครงการก่อสร้างขนาดยักษ์ และการส่งออก เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต แต่การเสพติดการอัดฉีดระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นการขยายตัว
ของจีดีพี ได้รับการพิสูจน์ว่ายากที่จะละเลิก โดยเฉพาะการรถไฟ ที่ยังคงดูดกลืนเงินทุนจำนวนมหาศาล ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งยังเดินหน้าผลักดันระบบรถไฟทันสมัยล้ำยุค ไปสู่พื้นที่ภาคตะวันตกที่มีประชากรอยู่อาศัยเบาบาง

เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เติบโตร้อยละ 6.9 เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่อ่อนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลครับ

เรายืนยันย้ำกันอีกครั้งตรงนี้ …การลงทุนนั้นดี ไม่มีใครเถียงแล้วว่าไม่ควรสร้างแต่ที่พวกท่านทั้งหลายต้องคิดให้ถี่ถ้วนตระหนักให้รอบด้านนั้นคือเรื่องทางการเงิน

เหมือนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลยครับ การสร้างทั้งหมดที่ว่ามานั้นดีหมดแล้ว แต่ “วิธีทางการเงินไม่ดี”เพราะจงใจกู้มาโกง ปิดประตูระบบตรวจสอบ และมีพฤติกรรมส่อทุจริตตั้งแต่ในร่างพ.ร.บ.กู้เงิน

ส่วนของรัฐบาลประยุทธ์ คือ ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนใดๆ กระทรวงคมนาคมยังไปคุยมาว่าอย่างหนึ่ง แต่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์อีกอย่างหนึ่ง และจากที่ประกาศกร้าวว่าจะสร้างเองนั้นก็...ช่วยรบกวนให้ทีมงานอ่านรายงานของ “การรถไฟจีน” ฉบับนี้ดูครับว่า สถานะทางการเงินเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกับจีน ประเทศที่รู้ทั่วกันว่า กำลังซื้อคนเยอะขึ้นและจำนวนคนก็มหาศาลยังเจ๊งได้ขนาดนี้ แล้วไทยเราล่ะ !?

คิดให้ดีก่อนจะกลายเป็นจุดเริ่มของปัญหาใหม่เถอะครับ ด้วยความเคารพ และเชื่อมั่นใจตัวท่านเสมอมา
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44648
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 18/05/2016 9:23 pm    Post subject: Reply with quote

ล่าสุดของรถไฟไทย-จีน : ทำอย่างไรจึงไม่ ‘ตกราง’?
กรุงเทพธุรกิจ โดย : กาแฟดำ วันที่ 18 พฤษภาคม 2559, 03:00

การประชุมร่วมไทย-จีน ว่าด้วยโครงการรถไฟครั้งที่ 10 ที่ปักกิ่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จบลงด้วยการตกลงว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไป

ยืนยันว่าโครงการนี้ยังไม่ “ตกราง”

และดูเหมือนว่าจีนจะมีท่าผ่อนปรนขึ้นบ้าง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากเดิม 2.5% อาจลดลงเหลือ 2% โดยภาษาที่รัฐมนตรีคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ใช้คือ “ฝ่ายไทยพร้อมจะพิจารณาเงินกู้จากจีน” ในส่วนการจัดหาระบบรถไฟความเร็วสูง โดยคำนึงถึงต้นทุนและเงื่อนไขทางการเงินที่เหมาะสม”

ทั้งสองฝ่ายสรุปด้วยว่าโครงการนี้ “มีความสำคัญและเร่งด่วน” และ “ต้องมาก่อน” โดยกำหนดให้ตอกเสาเข็มภายใน 3-4 เดือนจากนี้ไป

ฝ่ายจีนตกลงที่จะทบทวนวงเงินก่อสร้าง และวางระบบรถไฟให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่ยังต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัย

ฝ่ายไทยยังยืนยันวงเงินก่อสร้างที่ 1.7 แสนล้านบาท ต่ำกว่าที่จีนเคยเสนอไว้ที่ 1.9 แสนล้านบาท

ฝ่ายจีนตกลงจะออกแบบรายละเอียดโครงการให้เสร็จภายใน 60 วัน

และเพื่อให้ก่อสร้างได้เร็ว จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 4-5 ตอน เดิมรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา จะแบ่งเป็น 2 ตอนคือ กรุงเทพ-แก่งคอย และแก่งคอย-นครราชสีมา เพื่อจะเริ่มงานได้เร็วขึ้น

เรื่องของการให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูงนั้น ฝ่ายไทยบอกว่าจะเป็นผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงเอง ไทยจะจัดตั้งบริษัทเดินรถเอง ฝ่ายจีนให้ความช่วยเหลือและฝึกอบรม ตลอดจนพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ต้น

ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่ฝ่ายไทยกับจีนจะร่วมกันจัดตั้งบริษัทเดินรถ

ฟังรายละเอียดที่รัฐมนตรีคมนาคมไทยแถลง หลังการประชุมครั้งล่าสุดที่ปักกิ่ง ดูเหมือนจะมีการ “เร่งรัด” ทั้งสองฝ่ายเพื่อมิให้โครงการร่วมมือ ที่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองนี้ กลายเป็นประเด็นที่เกิดการ “แท้ง” เพราะมีความระแวงคลางแคลงซึ่งกันและกัน

การที่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศหลังพบกับนายกฯ จีนหลี่เค่อเฉียง ที่ไหหลำเมื่อเดือนมีนาคม ว่าไทยจะสร้างเส้นทางรถไฟกรุงเทพ-นครราชสีมาด้วยตนเอง ไม่รอการตกลงกับฝ่ายจีนนั้นทำให้เกิด “อาการชะงัก” ต่อโครงการใหญ่ระหว่างสองประเทศขึ้นมา

เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย “หนิงฟู่ขุ่ย” บอกผมว่าฝ่ายจีนไม่ได้รู้เบาะแสอะไรมาก่อนเลยว่าฝ่ายไทยจะประกาศ “ลุย” สร้างไปเองก่อน

ขณะเดียวกันท่านทูตก็ยืนยันกับผมว่า ฝ่ายจีนไม่ต้องการจะเอารัดเอาเปรียบฝ่ายไทย อีกทั้งข่าวที่บอกว่าจีนมีเงื่อนไข จะต้องได้สิทธิบริหารเพื่อทำประโยชน์ จากที่ดินบริเวณสองข้างทางรถไฟนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร

“เราไม่เคยเสนอเรื่องนี้ และไม่เคยมีการพูดกันเรื่องนี้” ท่านทูตบอกผม

และย้ำว่าประเด็นต่าง ๆ ของการทำโครงการรถไฟร่วมกันระหว่างไทยกับจีนนั้น ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันได้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเลขประเมินการลงทุน หรืออัตราการร่วมทุนทั้งสองฝ่าย ตลอดจนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จีนจะคิดกับไทย
ท่านบอกว่าฝ่ายจีนก็พร้อมที่จะยืดหยุ่นเจรจา ให้สามารถสรุปเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ลักษณะ “win-win” ด้วยกันแน่นอน

ผมพิเคราะห์จากการแถลงข่าวของรัฐมนตรีคมนาคมไทยหลังการประชุมรอบที่ 10 ครั้งนี้ คิดว่าน่าจะเป็นความพยายามที่จะเดินหน้าโครงการนี้ให้ได้ เพราะจีนถือว่าโครงการนี้เป็นส่วนสำคัญของนโยบาย “เส้นทางสายแพรไหมยุคใหม่” หรือ One Belt, One Road ที่จีนต้องการเชื่อมเส้นทางคมนาคมทางบกจากจีนไปถึงยุโรปให้จงได้

จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะแจกแจงรายละเอียดของข้อตกลงล่าสุด ต่อประชาชนคนไทยที่ยังต้องการคำตอบ ต่อคำถามที่ว่าไทยจะได้ประโยชน์อันใด และเรายืนอยู่ตรงจุดได้เปรียบ, เสียเปรียบอย่างไร?

ความโปร่งใสชัดเจนและมองไกลไปข้างหน้าถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเท่านั้น ที่จะผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44648
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/05/2016 2:38 pm    Post subject: Reply with quote

คมนาคมรื้อแผนรถไฟ 1.76 แสนล้าน เพิ่ม "ทางคู่-ไฮสปีด" งบลงทุนบาน 1 ล้าน ล.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 24 พ.ค. 2559 เวลา 07:00:43 น.

เมื่อ "ระบบราง" กลายเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ ทำให้ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ที่รับหน้าเสื่อในการรันโครงการ ต้องปรับแผนลงทุนและโปรเจ็กต์ใหม่ให้สอดคล้องนโยบายรัฐบาล

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงทุนของ ร.ฟ.ท.จะปรับเพิ่มกรอบวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากเดิมมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 เม.ย. 2553 อนุมัติไว้ 176,888 ล้านบาท เป็นแผนเร่งด่วนปี 2553-2557 มีแก้ปัญหาจุดตัด ปรับปรุงทางรถไฟ ซื้อหัวรถจักร ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ สร้างรถไฟทางคู่ ซื้อขบวนรถต่าง ๆ เนื่องจากเป็นแผนการลงทุนที่กำหนดไว้นานแล้ว และในขณะนั้นยังไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูง จึงต้องปรับรายละเอียดโครงการและกรอบวงเงินใหม่

"เดิมในแผนเร่งด่วนปี′53 ไม่มีแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ จึงให้ ร.ฟ.ท.เปลี่ยนแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท.เป็นปี 2558-2564 และให้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ของสภาพัฒน์"

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับกรอบแผนงานใหม่ยังคงเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง ได้แก่ สายฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, มาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ให้แล้วเสร็จในปี 2562-2563 ตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้ให้ความเห็นให้เพิ่มเส้นทางที่ขาดช่วงทางภาคใต้คือ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ เข้ามาบรรจุในแผนเร่งด่วนปี 2559-2560 เพื่อไม่ให้เส้นทางขาดช่วง

นอกจากนี้ยังให้ ร.ฟ.ท.นำโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง เงินลงทุนรวม 850,669 ล้านบาท ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และรถไฟทางคู่สายใหม่จากบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 กม. เงินลงทุน 42,106 ล้านบาท ใส่เข้าไปในแผนลงทุนที่ระยะเร่งด่วนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ใช้มาตรา 44 ดำเนินการคู่ขนานไปกับการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า คาดว่าแผนลงทุนใหม่ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่ให้รวมทางคู่สายใหม่และรถไฟความเร็วสูงไปด้วย เมื่อรวมกับแผนลงทุนเดิมคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในแผนลงทุนเร่งด่วน ที่ผ่านมาได้ปรับกรอบวงเงินลงทุน 3 โครงการใหม่ คือ 1.ปรับปรุงทางรถไฟไม่ปลอดภัย เพิ่มวงเงิน 2 เส้นทาง รวม 657.18 ล้านบาท จากเดิม 23,670.75 ล้านบาท เป็น 24,727.93 ล้านบาท ได้แก่ สถานีสามเสน-ดอนเมือง 29.6 กม. และสถานีหลักสี่-ที่หยุดรถคลองรังสิต 13.96 กม.

2.โครงการรถจักรแก่งคอย ขอปรับวงเงินจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 1,826.50 ล้านบาท หลังปรับแบบรายละเอียด เช่น สร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทนทางรถเดิมที่ยกเลิก และ 3.ชะลอก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ ICD แห่งที่ 2 วงเงิน 6,066 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น รถไฟทางคู่ สายฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย และจิระ-ขอนแก่น, จัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คัน จะส่งมอบรถลอตแรกในเดือน พ.ค.นี้, ซื้อหัวรถจักร 20 คัน, ปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 11 เส้นทาง กำลังดำเนินการ 10 เส้นทาง,ปรับปรุงสะพานแล้ว 192 แห่ง กำลังดำเนินการ 109 แห่ง ติดตั้งเครื่องกั้นถนน 392 แห่ง จากทั้งหมด 1,284 แห่ง

สำหรับโครงการจะเปิดประมูลใหม่ เช่น จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าเพื่อทดแทนรถ GE 50 คัน, ซ่อมบูรณะรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตอมจำนวน 56 คัน ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วประเทศ เป็นต้น

เป็นความก้าวหน้าที่ "ร.ฟ.ท." ใช้เวลาผลักดันในห้วง 6 ปีที่ผ่านมา
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 31/05/2016 2:27 am    Post subject: Reply with quote

คมนาคมคืนงบค้างท่อปี 59 กว่า 4 พันล้าน “รถไฟไทย-จีน - แอร์พอร์ตลิงก์” ช้ากว่าแผน
โดย MGR Online
30 พฤษภาคม 2559 17:25 น. (แก้ไขล่าสุด 30 พฤษภาคม 2559 18:38 น.)

“คมนาคม” คืนงบปี 2559 ที่ค้างท่อ 4 พันล้านเข้า พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย หลังหลายโครงการถูกต่อต้านและเริ่มประมูลไม่ทัน เช่น ยกสะพานนวลฉวี ขณะที่ ร.ฟ.ท.ส่งคืนงบเวนคืนรวม 824 ล้าน เหตุรถไฟ ไทย- จีน, แอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และสายสีแดงช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ยังไม่คืบ พร้อมสั่งเร่งเคลียร์เวนคืนทางคู่ 4 สายส่งมอบผู้รับเหมา

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่ากระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณปี 2559 รวม 187,893 ล้านบาท โดยถึงวันที่ 20 พ.ค. 2559 สามารถเบิกจ่ายได้รวม 108,573 ล้านบาท หรือ 57.78% แบ่งเป็นหน่วยงานราชการเบิกจ่ายได้ 68,767 ล้านบาท หรือ 50.53% รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายได้ 39,800 ล้านบาท หรือ 76.86% โดยมีโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันหรือลงนามสัญญาล่าช้า และต้องนำเข้า พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2559 รวมเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การถูกดึงงบประมาณคืนเป็นการปรับการใช้งบให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริง เป็นการเกลี่ยงบประมาณและนำเงินดังกล่าวไปใช้ดำเนินการในงานที่จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า โดยในส่วนของกรมทางหลวง คืนงบเข้า พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย2559 ประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยงานที่ไม่สามารถดำเนินการได้เช่น โครงการยกสะพานนวลฉวี และสะพานข้ามทางรถไฟที่เด่นชัย เป็นต้น กรมทางหลวงชนบท คืนประมาณ 1,100 ล้านบาท เช่น ถนนสาย ฉช.3001 แยก ทล.314-ลาดกระบัง ยังดำเนินการไม่ได้เนื่องจากมีประชาชนต่อต้าน เป็นต้น

ส่วน ร.ฟ.ท.ต้องส่งคืนงบรวม 824 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประกอบด้วย โครงการรถไฟ ไทย-จีน (กรุงเทพ-โคราช) ซึ่งได้รับงบ 491 ล้านบาท ส่งคืน 340 ล้านบาท เหลือ 150 ล้านบาท, แอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่อขยาย (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) ได้รับงบ 420 ล้านบาท ส่งคืน 380 ล้านบาท เหลือ 140 ล้านบาท และรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ได้รับงบ 45 ล้านบาทต้องส่งคืนทั้งหมด

พร้อมกันนี้ได้ให้ ร.ฟ.ท.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบเวนคืนในปี 2559 ของโครงการรถไฟทางคู่ ได้แก่ ช่วง จิระ-ขอนแก่น ได้รับจัดสรรวงเงิน 304 ล้านบาท ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 59 ล้านบาท ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 170 ล้านบาท ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 28 ล้านบาท และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 40 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาอุปสรรคในการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมา โดยการเวนคืนจะเริ่มได้เมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอ ครม.ขออนุมัติ 4 สาย

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงได้รับงบปี 2559 จำนวน 77,509 ล้านบาท ผูกพันสัญญาแล้ว 80.24% โดยเป็นงบลงทุนที่เบิกจ่ายไปแล้ว 36,000 ล้านบาท หรือประมาณ 50% กรมทางหลวงชนบท ได้รับงบ 46,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 26,950 ล้านบาท หรือ 58.49% ส่วนงบลงทุนได้รับ 44,615 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 25,909 ล้านบาท หรือ 58% ร.ฟ.ท.ได้รับงบ 24,637 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 65.79% เป็นงบลงทุน 5,429 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,336 ล้านบาท หรือ 24.66% ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงคมนาคมยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44648
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 03/06/2016 6:34 am    Post subject: Reply with quote

เปิด สนง.พัฒนาขนส่งสินค้าทางรถไฟ
สำนักข่าวไทย กอง บก.ข่าวเศรษฐกิจ 2016/06/02 6:30 PM

Click on the image for full size

กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสำนักงานเพื่อเตรียมการสำรวจและพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ภายใต้ความร่วมมือรถไฟระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ว่า การจัดตั้งสำนักงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือรถไฟระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการศึกษารายละเอียดด้านแผนงานและเงื่อนไขการดำเนินธุรกิจการขนส่งสินค้าทางราง

สำหรับแผนการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟไทย-ญี่ปุ่น หลังจากนี้จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพทางรถไฟเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ อีก 472 จุด ที่มีปัญหาให้เสร็จโดยเร็ว รวมถึงจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อจัดทำแผนธุรกิจและทำการตลาดเพื่อส่งเสริมการขนส่งทางรางร่วมกัน คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในปี 2559

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมฯ เพื่อรองรับการพัฒนาทางรถไฟในแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้และการพัฒนาการบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่มีส่วนส่งเสริมในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในภูมิภาคอาเซียนตามเจตนารมณ์ของไทยและญี่ปุ่น

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นมีความประสงค์ที่จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมฯ เพื่อดำเนินการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม การลดต้นทุนด้านการขนส่งสินค้า และส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยสำนักงานใหม่นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการศึกษารายละเอียดด้านแผนงานและเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจการขนส่งสินค้า

จากนั้นจะมีการรายงานผลเกี่ยวกับธุรกิจการขนส่งสินค้าให้ภาครัฐในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนนี้ การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมฯ ถือเป็นความก้าวหน้าในการพัฒนาตามกรอบความร่วมมือด้านรถไฟของรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นปล่อยขบวนรถสินค้า ทดลองขนส่งคอนเทรนเนอร์ขนาดเล็กขนาด 12 ฟุต เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ เส้นทางสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว ซึ่งปัญหาจากการทดลองขนส่งสินค้าจะมีการศึกษาเพื่อแก้ไขและปรับปรุงต่อไป.-สำนักข่าวไทย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 04/06/2016 12:03 am    Post subject: Reply with quote

จ่อดึงเกาหลีเสียบญี่ปุ่น ทางคู่"ตาก-มุกดาหาร"
ไทยโพสต์
4 มิถุนายน 2016

คมนาคมเปิดทางเกาหลีใต้ศึกษารถไฟทางคู่ อีสต์-เวสต์คอริดอร์ เส้นตาก-มุกดาหาร จับตาเสียบแทนญี่ปุ่น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายโน กวังอิล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ว่า หลังจากนายสมคิด จาตุรีศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐเกาหลีครั้งล่าสุด ได้มีการหารือถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย พร้อมเชิญชวนเกาหลีเข้ามาร่วมศึกษารถไฟทางคู่ในเส้นทางอีสต์-เวสคอริดอร์ ช่วงแม่สอด จ.ตาก-มุกดาหาร ควบคู่ไปกับการศึกษาของญี่ปุ่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งได้ชี้แจงให้เกาหลีรีบกลับไปวางแผนงานเบื้องต้นมานำเสนอ และคาดว่าอีก 1-2 เดือนหลังจากนี้จะเริ่มลงพื้นที่ศึกษา แต่ไม่ใช่ว่าไทยจะไม่เอาผลการศึกษาของญี่ปุ่น เพียงแต่จะดูของทั้งคู่เพื่อพิจารณาว่าแผนใดเหมาะสมกับไทยมากที่สุด หากของเกาหลีมีความเป็นไป จะดึงขึ้นมาเพื่อให้ไปทำแผนต่อไป

นายอาคมกล่าวว่า ขณะนี้ผลการศึกษาของญี่ปุ่นยังขาดช่วงนครสวรรค์-ขอนแก่น ดังนั้น การศึกษาของเกาหลีครั้งนี้จึงมอบให้ดำเนินการจัดทำทั้งเส้นทางเชื่อมโยงไปถึงขอนแก่น มุกดาหาร และนครพนม เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายด้วย โดยเบื้องต้นจากการประเมินของไทยคาดว่าเส้นทางดังกล่าวเนื่องจากเป็นเส้นทางใหม่และพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารไม่สูงนัก จึงจะพัฒนาขึ้นเป็นรถไฟขนาดราง 1 เมตร

นอกจากนี้ เกาหลียังแจ้งว่า ต้องการเข้ามาลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่อยู่ระหว่างเตรียมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน เช่น สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยองอีกด้วย.

//------------------

เกาหลีสนใจลงทุนโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล
Written by: กอง บก.ข่าวเศรษฐกิจ
3 มิถุนายน 2559 4:52 PM

กรุงเทพฯ 3 มิ.ย.-รัฐมนตรีคมนาคมระบุเกาหลีสนใจที่จะลงทุนในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงมีนบุรี-แคราย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ทางเกาหลีมีความสนใจที่จะลงทุนในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงมีนบุรี-แคราย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง และเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน โดยทางบริษัทเอกชนของเกาหลีที่สนใจลงทุนจะต้องเข้าร่วมกับบริษัทไทยในการเข้าประมูล ส่วนของความร่วมมือระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) และการท่าเรือแห่งปูซานของเกาหลี ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในด้านการบริหารจัดการ และการพัฒนาท่าเรือ เพื่อให้มีการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างการท่าเรือของเกาหลีและไทยที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ทั้งนี้ ความร่วมมือในส่วนของระบบรางนั้น ทางเกาหลีจะส่งคณะทำงานเข้าร่วมในการศึกษา เพื่อความร่วมมือด้านวิชาการในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านระบบและเทคโนโลยี และทำการสำรวจโครงการเส้นทางแนวตะวันออก-ตะวันตก ในเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ภายใน 2-3 เดือนนี้ เนื่องจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการให้เส้นทางดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วที่สุด และได้มีการขอให้ทางเกาหลีจัดทำแผนการดำเนินโครงการหลังจากที่ลงพื้นที่ทำการสำรวจแล้วเพื่อนำผลกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยทางญี่ปุ่นที่เป็นผู้ศึกษาและสำรวจโครงการอยู่แล้วก็จะมีการศึกษาคู่ขนานกันไปส่วนการลงทุนโครงการนั้นจะต้องพิจารณาจากผลการศึกษาและความเป็นไปได้ของทั้ง 2 ประเทศอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 09/06/2016 6:03 pm    Post subject: Reply with quote

เกาหลีขอเจรจาทำรถไฟความไวสูง ถ้า ญี่ปุ่นไม่ยอมทำ และ เตรียมศึกษาการทำรถไฟ เชื่อม มุกดาหาร ไป ตาก
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1364881466859248&set=a.109195855761155.16402.100000122231436&type=3&theater
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 10/06/2016 12:35 pm    Post subject: Reply with quote

จากข่าวที่ธนาคารกลางของเกาหลีประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเรี่ยติดดินด้วยพิษเศรษฐกิจตกต่ำ อุตสาหกรรมซบเซา คงทำให้รัฐบาลเกาหลีให้ความสนใจที่รัฐบาลไทยเสนอนี้อย่างแน่นอน
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 79, 80, 81 ... 121, 122, 123  Next
Page 80 of 123

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©