RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311296
ทั่วไป:13274607
ทั้งหมด:13585903
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวรถไฟแลนด์บริดจ์สายชุมพร-ระนอง
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวรถไฟแลนด์บริดจ์สายชุมพร-ระนอง
Goto page Previous  1, 2, 3 ... , 18, 19, 20  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44656
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/01/2024 6:58 pm    Post subject: Reply with quote

“สุริยะ" สั่งตั้ง ”กองทุนแลนดบริดจ์” เยียวยาประชาชน สนข.เร่งสำรวจเวนคืน-หาทางแก้ปมไร้เอกสารสิทธิ์
ผู้จัดการออนไลน์ 24 ม.ค. 2567 18:35

ลดแรงต้านแลนดบริดจ์ ”สุริยะ" สั่ง เพิ่มเงื่อนไขใน RFP ให้เอกชนตั้ง ”กองทุนเยียวยาประชาชน” ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ พร้อมให้ สนข.เร่งสำรวจ พื้นที่และจำนวนประชาชน รวมถึงหาทางแก้ปัญหาชาวบ้านไร้เอกสารสิทธิ์ ยันโครงการคุ้มค่านักลงทุนบิ๊กเนมสนใจ ”ดูไบเวิล์ด” ขอลงดูพื้นที่จริง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่จังหวัดระนองในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ และได้รับความเห็นจากทุกฝ่าย ในการดำเนินโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ แลนด์บริดจ์ ซึ่งประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ มีความกังวลในเรื่องผลกระทบจากโครงการทั้งเรื่องการเวนคืน ซึ่งมีประชาชนบางส่วน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน หากมีการเวนคืนที่ดินจึงกังวลว่าจะไม่ได้รับการชดเชย และการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องอาชีพผลกระทบจากการทำการเกษตร ที่ผลผลิตมีมูลค่าสูง เช่น ทำสวนทุเรียน รายได้ปีละ 2 ล้านบาทจะหายไป

ดังนั้น จึงได้มีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้เอกชนที่เข้ามาลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบจัดตั้งกองทุนฯดังกล่าวเพื่อดูแลประชาชน โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำรวจข้อมูลพื้นที่ที่ต้องเวนคือนและสำรวจจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และรวบรวมข้อมูล ผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์การถือครองโฉนดที่ดิน ด้วย โดยในการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนี้ จะกำหนดไว้ในเงื่อนไขสำหรับการคัดเลือก (Request for Proposal : RFP) ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมจะไม่ทำให้โครงการล่าช้า เพราะจะเร่งทำคู่ขนาน

“โครงการนี้ มูลค่าการลงทุนในเฟสแรก ประมาณ 5 แสนล้านบาท ภาครัฐจะรับผิดชอบเรื่องการเวนคืนที่ดินอย่างเดียว โดยเอกชนลงทุนในด้านการก่อสร้าง ท่าเรือ ระบบราง มอเตอร์เวย์ และจะกำหนดเพิ่มเรื่องการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งจะตัดสินที่รายใด เสนอผลประโยชน์แก่รัฐมากที่สุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนกองทุนจะต้องมีวงเงินเท่าไร รอการศึกษาสำรวจเรื่องผลกระทบและการเยียวยาแก่ประชาชนก่อน ”นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะกล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่ทั่วโลก จะมีการตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนในประเทศไทยมีโครงการสนามบินสุวรรณภูมิที่มีจัดตั้งงบประมาณสำหรับเยียวยาเอกชน แต่โครงการแลนด์บริดจ์ จะให้เอกชนที่ตั้งกองทุนฯ

ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นความคุ้มค่าในการลงทุน นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้มีการโรดโชว์แก่นักลงทุนแล้วหลายประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา,อังกฤษ, สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ ขณะนี้พบว่ามีกลุ่มบริษัทดูไบเวิล์ด ที่แสดงความสนใจจะมาประเทศในต้นเดือน ก.พ.นี้ เพื่อลงพื้นที่โครงการฯ ด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน มีบริษัทจีน สนใจโครงการฯ ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปประเทศจีน เพื่อโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนบริษัทจีน

"เรามั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์ มีความเป็นไปได้ มีความคุ้มค่า มีนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่มีประสบการณ์ในการบริหารท่าเรือ และมีสาการเดินเรือแสดงความสนใจ และการที่นักลงทุนรายใหญ่จะมาลงทุน เขาจะต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าก่อนอยู่แล้ว"

สำหรับกรณีในโครงการไม่มีการศึกษาเรื่องระบบท่อน้ำมันนั้น นายสุริยะกล่าวว่า ระบบการส่งน้ำมันทางท่อ เป็นงานที่ต้องมีขีดความสามารถสูง ซึ่งต้องให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้เสนอและดำเนินการศึกษาและนำเสนอกรณีที่จะลงทุน ในขณะที่ภาครัฐ มีการวางแผนในเรื่องเวนคืนที่ดินเผื่อไว้อยู่แล้ว ตามแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์และรถไฟ และมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ไว้ครอบคลุม โดยอยู่ที่เอกชนว่าจะสนใจเสนอดำเนินการในเรื่องนี้หรือไม่
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44656
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 25/01/2024 1:38 pm    Post subject: Reply with quote

'รศ.หริรักษ์' เปิดข้อมูลอีกมุม ผลศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของจุฬาฯ
Source - เว็บไซต์ไทยโพสต์
Thursday, January 25, 2024 09:45

25 ม.ค.2567 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ความคิดที่จะทำโครงการ land bridge เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว มีข่าววงในซึ่งไม่ยืนยันบอกว่า หลังจากผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ว่าจ้างคือสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมาว่า โครงการนี้ไม่มีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่คุ้มที่จะลงทุน ซึ่งจำนวนเงินลงทุนที่ประมาณการคือ 538,542 ล้านบาท รัฐบาลชุดที่แล้วจึงดูจะชะลอโครงการนี้ ไม่ได้เร่งดำเนินการต่อ เหมือนกับปล่อยให้รัฐบาลชุดต่อไปเป็นผู้ตัดสินใจ

รัฐบาลชุดปัจจุบัน ในระยะแรกๆ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ดูเหมือนจะแบ่งรับแบ่งสู้เหมือนไม่อยากจะทำต่อ จึงไม่พูดชัดว่าจะผลักดันโครงการนี้ต่อหรือไม่ แต่แล้วจู่ๆรัฐบาลชุดนี้ก็กลับเดินหน้าโครงการนี้ต่อแบบเต็มสูบ ถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็น salesman เดินหน้าขายโครงการ land bridge ให้ต่างประเทศมาลงทุน ในเกือบทุกประเทศที่นายกรัฐมนตรีไปเยือนหรือไปประชุม ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร

คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับ โครงการ land bridge ความว่า

..... ท่านอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ สั่งให้ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิจนสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเดินทางและการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ แต่ตั้งแต่นั้นมากว่า 20 ปี ประเทศไทยก็ยังไม่มีโครงการใหญ่ระดับนี้เลย.....

จะตอบคำถามนักข่าวก็ยังไม่วายต้องยกความดีให้ ”นายใหญ่“ ซึ่งก็เป็นความจริงเพียงบางส่วน เพราะความจริงคือ โครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า ได้ยืดเยื้อคาราคาซังมานานกว่า 30 ปี จนในที่สุดรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งคุณ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณ 120,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสนาบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า และได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัท Murphy/Jahn จากประเทศเยอรมันนีเป็นผู้ออกแบบ และได้มีการดำเนิการโครงการไปบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างตัวอาคาร

มาถึงรัฐบาลคุณทักษิณ ได้มีการแก้แบบโดยปรับลดขนาดอาคารผู้โดยสารลง และเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ภายในอาคารหลายรายการ และดำเนินการก่อสร้างจนสำเร็จ ดังนั้นจึงไม่ผิดที่จะบอกว่าสนามบินสุวรรณภูมิสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ในรัฐบาลคุณทักษิณ แต่การยกความดีทั้งหมดให้คุณทักษิณคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องแต่อย่างใด

กลับมาเรื่องโครงการ land bridge สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข) กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบเป็นรัฐมนตรีว่าการ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 6 บริษัท ให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ land bridge ด้วยวงเงินค่าจ้าง 68 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นได้นำเสนอ ครม ชุดปัจจุบันไปแล้ว ผลการศึกษาที่ดำเนินการว่าจ้างโดยสนข.มีความแตกต่างกับผลการศึกษาของจุฬาหลายประการ ที่สำคัญคือ จำนวนเงินลงทุนมากกว่า 2 เท่าคือ 1,001,206.47 ล้านบาท และยังชี้ว่าโครงการนี้มีความคุ้มที่จะลงทุน

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้เดินหน้าที่จะทำโครงการ land bridge อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการนำผลการศึกษาทั้ง 2 ฉบับมาเปรียบเทียบ และพิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนที่จะเดินหน้าทำ road show โดยนายกรัฐมนตรี

ตัวเลขที่สำคัญที่สุดที่ต้องนำมาเปรียบเทียบผลการศึกษาทั้ง 2 คือ นอกจากตัวเลขการลงทุนแล้ว คือตัวเลขการประมาณการรายได้ ซึ่งต้องดูในรายละเอียดว่ามีที่มาอย่างไร มาจากไหน และตัวเลขระยะเวลาและต้นทุนของการขนถ่ายสินค้าแต่ละประเภทจากเรือลงมาขึ้นรถไฟ และการขนส่งโดยรถไฟไปถึงจุดหมายคือฝั่งอันดามัน และต้นทุนค่าขนถ่ายสินค้าแต่ละประเภท จากรถไฟขึ้นบนเรือ ขณะนี้ยังไม่ช้ดเจนว่าจะมีการขนถ่ายทางท่อหรือไม่

เงื่อนไขที่สำคัญมากคือ การจัดการและระบบข้อมูลเพื่อขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟ และจากรถไฟไปขึ้นเรืออีกฝั่ง จะต้องทำได้แบบไร้รอยต่อ คือรถไฟหรือการขนส่งแบบอื่นๆจะต้องมาถึงพอดีเวลาที่ต้องขนย้ายสินค้าจากเรือ และเมื่อขนส่งสินค้าไปยังอีกฝั่งก็จะต้องพอดีกับเวลาที่เรือมารอรับ พูดอีกอย่างหนึ่งคือจะต้องมีเวลารอให้น้อยที่สุด มิฉะนั้นเวลาที่อ้างว่าจะลดลงได้ 5 วัน ก็จะน้อยลง ยิ่งเวลารอมากขึ้นเท่าใด ระยะเวลาที่ลดลงได้ก็จะน้อยลงมากเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าต้นทุนค่าขนส่งก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ที่สำคัญอีกประการคือ โครงการ land bridge ไม่ควรหวังพึ่งความแออัดที่ช่องแคบมะละกา ไม่ควรหวังที่จะรองรับเรือส่วนเกินกว่าที่ช่องแคบมะละกาจะรองรับได้ ซึ่งขณะนี้ก็เห็นว่ายังเถึยงกันอยู่ว่า ช่องแคบมะละกาแออัดจริงหรือไม่ และยังไม่มีการยืนยันด้วยข้อเท็จจริงว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก แต่โครงการ land bridge จะต้องหวังที่จะสร้างความแตกต่าง นั่นคือสร้างความได้เปรียบด้านระยะเวลาและต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่า

ผมได้ถามความเห็นของผู้ที่ทำธุรกิจเดินเรือ และนักวิชาการในด้าน logistics และพาณิชย์นาวีบางท่าน ล้วนไม่เห็นด้วยกับโครงการ land bridge ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากรัฐบาลทำ road show ในขณะนี้ อาจหาผู้ลงทุนต่างชาติไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะคงไม่มีใครต้องการลงทุนเป็นแสนล้านหรือล้านล้านแล้วไม่อาจคืนทุนได้

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร หวังว่าจะไม่ตัดสินใจลงทุนเอง เพราะหากตัดสินใจเช่นนั้น จะแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่า

เรามาคอยดูกันต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44656
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 29/01/2024 11:53 am    Post subject: Reply with quote

ลุ้น'แลนด์บริดจ์'1ล้านล้าน ไทยหรือใครได้ประโยชน์
Source - เดลินิวส์
Monday, January 29, 2024 08:41
ทีมเศรษฐกิจ

พลันที่ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลอยลำลอยตัว รอดพ้นจากคดีถือหุ้นสื่อ ได้กลับเข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ก็เตรียมเขย่ารัฐบาล โดยจับตาเป็นพิเศษ ใน 3 โครงการ 'เรือธง" ของรัฐบาลเริ่มตั้งแต่โครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่ยังลูกผีลูกคน รัฐบาลเจอสารพัดขวากหนามไม่สามารถผลักดันโครงการออกมาได้ รวมไปถึงโครงการแลนด์บริดจ์ เมกะโปรเจกต์ มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ที่ยังไม่มีความชัดเจนในแทบทุกด้าน รวมไปถึงโครงการซอฟต์พาวเวอร์

เหตุผลที่น่าสนใจของ "พิธา" มองว่า เวลานี้เศรษฐกิจโตช้าและยังซบเซามานาน ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ ว่า เศรษฐกิจอาจโตช้าในรอบ 10 ปี ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามาบริหารเพียง 6 เดือน แต่เป็นสิ่งที่เป็นปัญหามาจากการเมืองไทยสูญหายมากว่า 10 ปี ไม่มีการปรับโครงสร้างทำให้ไทยโตช้ามาก ขณะเดียวกันกังวลว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ด้วยการใช้งบประมาณระยะยาว ทำให้ไม่มีพื้นที่การคลังในการแก้ไขปัญหาระยะยาว

เดินหน้าขายฝัน3เวทีโลก

เช่นเดียวกับ "โครงการแลนด์บริดจ์" ที่เวลานี้รัฐบาลโดย "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เดิน หน้าขายฝันอย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างการประชุมเอเปค ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐ ทั้งที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ ในช่วงการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม หรือดับเบิล อีเอฟที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหวังดึงดูดจาก นักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน ร่วมลงทุน โดยแลกกับสัมปทานยาว 50 ปี

ยักษ์ใหญ่ดูไบดูพื้นที่

รัฐบาลยืนยันว่าโครงการนี้ประโยชน์มหาศาลแน่นอน เพราะช่วยลดเวลา ช่วยลดระยะทางในการขนส่ง ดังนั้นต้นทุนของเอกชนจะลดลงไปแน่ ๆ และยังเป็นโครงการที่วางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้แข่งขันบนเวทีโลกได้ และที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีบริษัทใดบอกว่ารัฐบาลนำเสนอข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์น้อยเกินไป อีกทั้งสื่อต่างชาติก็ให้ความสนใจกับโครงการนี้เป็นอย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน ก.พ.นี้ บริษัท ดูไบ พอร์ต เวิลด์ ซึ่งเป็นบริษัทรายใหญ่ของโลกที่ประกอบธุรกิจบริหารท่าเรือและโลจิสติกส์ แสดงความสนใจที่จะเข้ามาดูพื้นที่จริง ๆ ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยอย่างไร

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์หรือสะพานเศรษฐกิจ เป็นการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างท่าเรือในชุมพรและระนอง (อ่าวไทย-อันดามัน) ประกอบด้วยทางหลวงพิเศษ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 90 กม. มีทางรถไฟเชื่อมทั้ง 2 จังหวัด มีการสร้างระบบการขนส่งทางท่อ รวมทั้งต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง ให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของช่องแคบมะละกา ช่วยลดการเดินทางได้มากถึง 4 วัน และช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 15%

ไม่เพียงเท่านี้!! ยังสามารถช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่ และที่เหนือกว่านั้น ทั้งหลายทั้งปวงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยวงเงินการลงทุนในครั้งนี้ ก็เป็นการนำไปใช้ในเรื่องของการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก พัฒนาพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างระบบขนส่ง โดยคาดหมายกันไว้ว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 72

ไม่ใช่โครงการใหม่ใดๆ

อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์นี้ ไม่ใช่โครงการใหม่และก็ไม่ใช่นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียงในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่โครงการนี้ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐบาลในขณะนั้นได้กำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือเอสอีซี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 64 ต่อมาในเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน ปรากฏว่า "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม ในช่วงนั้น ได้สั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมนำโครงการนี้ไปเปิดตัวเป็นครั้งแรกต่อผู้นำนานาชาติ ในการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 เมื่อ 14 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ความพยายามในการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่สามารถนำเสนอ ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทันเพราะรัฐบาลได้ยุบสภาไปเสียก่อน จึงทำให้โครงการนี้ต้องพับไปก่อน แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ ยังนำมาเป็นนโยบายในการหาเสียง และต้องการให้รัฐบาลของนายเศรษฐา สานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลก็ส่อแววแท้ง ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่ต้องควานหาโครงการลงทุน ที่มีอยู่แล้ว ที่มีความเป็นไปได้ มา "กู้หน้า" ให้รัฐบาลไปก่อน

ไทยหมิ่นเหม่ตกเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม หากหันมาดูความจริงในเวลานี้ ประเทศ ไทยแทบตกทุกเวทีในการแข่งขัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สภาพการเมือง และเวทีโลกที่ซวนเซ จากสารพัดปัจจัย ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มเดินไม่ตรงเพราะมีขวากหนามขวางกั้นอยู่มาก ซึ่งก็ไม่ใช่ประเทศ ไทยแต่เพียงเท่านั้น สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่การที่รัฐบาลยังไม่สามารถอวดฝีมือ ยังไม่สามารถจัดการปัญหา ได้ จากปัญหาการเมืองที่ทับถมอยู่ ก็ย่อมต้องหนีไม่พ้นที่เศรษฐกิจไทยก็มีแต่เตี้ยลง...เตี้ยลง

ความหวังที่จะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามา ก็น่าจะเหลือความหวังไม่มาก ซึ่งโครงการนี้ควรฉกฉวยประโยชน์ต่อเนื่องจากโครงการที่มีอยู่แล้ว จากวันเบลท์วันโรดของจีน ที่มีโครงการพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี รองรับอยู่ แล้วมาเชื่อมต่อกับแลนด์บริดจ์ ซึ่งมองแล้วน่าจะไปรอด!!

เสียโอกาสไม่ต่อยอดอีอีซี

แต่ปัญหาคือ.. การไม่ต่อยอดอีอีซี โครงการของรัฐบาลลุงตู่ ขณะที่ทั่วโลกกำลังเกิดปัญหา โดยเฉพาะจีน พี่ใหญ่ในซีกโลกตะวันออก ที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ราบรื่น หรือแม้กระทั่ง ญี่ปุ่น ที่ยังติดกับดักเศรษฐกิจไม่น้อย ส่วนการลงทุนจากฝั่งโลกตะวันออกกลาง ก็ไม่ได้มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นเหมือนกับจีน หรือญี่ปุ่น เช่นเดียวกับ อินเดีย ที่หลายฝ่ายมองว่าจากการเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก BIMSTEC หรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของสมาชิก 7 ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา รวมถึงไทย ที่มีประชากรรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1,730 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศ รวมกันแล้วก็มีไม่น้อยกว่า 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 ที่ผ่านมา และในกลุ่มนี้ อินเดียก็ถือว่าเป็นประเทศที่เข้ามามีบทบาทไม่น้อยทีเดียว แต่ถ้าดูการลงทุนของอินเดียในไทยแล้วแทบไม่มีโครงการขนาดใหญ่ด้วยซ้ำไป จึงเป็นเรื่องยากเช่นกัน ที่จะมีนักลงทุนจากอินเดียยอมควักเงินเข้ามาลงทุน

ณ เวลานี้ อย่าเพิ่งพูดไปถึงการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ เอาแค่ว่า การทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือบรรดาชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านใน จ.ชุมพร ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แม้ว่านายเศรษฐา จะยอมรับพร้อมตกปากรับคำว่าจะยอมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ก็ตาม

แต่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งบประมาณ ใช้เงินลงทุนของภาครัฐบาลโดยตรง แต่ผลประโยชน์ แต่แรงดึงดูด ที่ต้องนำไปแลกเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน จะแวะเวียนไปเข้ากระเป๋าใครบ้างหรือเปล่า หรือมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้!! ก็อดไม่ได้ที่รัฐบาลต้องถูกตั้งคำถามแน่นอน

ขณะเดียวกันความพร้อมทางด้านวิชาการ ความเป็นไปได้ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลดีผลเสีย ก็ยังถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามว่าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน หากดำเนินการอะไรลงไปผลเสียจะตกอยู่กับคนไทย ประเทศไทยอีกต่างหาก

เอาเป็นว่า ก็ต้องตามติดกันต่อไปว่า "แลนด์บริดจ์" หรือสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ครั้งนี้จะเดินหน้าไปถึงฝั่งฝันได้มากน้อยเพียงใด?.

ลุ้นเอกชนเห็นค่าแลนด์บริดจ์

"ธนวรรธน์ พลวิชัย" อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ หรือโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินลงทุนเอง แต่ให้เอกชนลงทุน ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งความสามารถในการกู้ยืมเงินจำนวนมากขนาดนี้จะต้องใจกล้ามาก เพราะที่เห็นอย่างโครงการพีพีพี แอร์พอร์ตลิงก์ยังติดปัญหาเวนคืนที่ดิน หากโครงการนี้สำเร็จได้ นั่นหมายความว่าเอกชนต้องเห็นความสำคัญมาก เพราะไม่ใช่โครงการที่รัฐบาลจะเลือกลงทุนทำเอง ดังนั้นโครงการนี้จึงเหมือนยืมจมูกคนอื่นหายใจ หากรัฐบาลสามารถดึงนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ได้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยโตถึง 5% ได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคใต้ไปพร้อมกัน

ขณะนี้ทุกคนต่างพูดคุยกันถึง การลดระยะเวลาการขนส่งจากทาง ฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกจากเดิมที่ผ่านช่องแคบมะละกาต้องใช้ 9 วัน เหลือ 4 วัน แต่ต้องดูในเงื่อนไขว่าระหว่างการขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือไปยังรถไฟ ด้วยว่าต้องรอคิวหรือไม่ หากเดินทางได้ต่อเนื่องไม่ต้องรอคิว ก็ลดเวลาขนส่งได้จริง ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ยังไม่เห็น ส่วนกรณีที่พบว่าไม่มีแรงจูงใจที่ทำให้บริษัทเดินเรือขนาดใหญ่สนใจมาลงทุน เนื่องจากยังมองไม่เห็นความคุ้มค่าในด้านโลจิสติกส์เพียงพอ แต่จะมีความคุ้มค่าด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากกว่า โดยเฉพาะคลังสำรองน้ำมันเท่านั้น

"มองว่าหากเอกชนเค้าเห็นว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน เค้าก็จะมา ซึ่งก็เชื่อว่าหากมีการลงทุนขนาด 1 ล้านล้านบาท ย่อมต้องช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ถึง 5% อยู่แล้วเพราะอยู่ในเขตเศรษฐกิจภาคใต้ หากมีการพัฒนาท่าเรือ มีการเดินเรือ เกิดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีคนมาใช้ชีวิตกันคึกคัก เกิดการท่องเที่ยว ก็ถือว่าเป็นผลดีในระยะยาว อย่างไรก็ตามในเรื่องของแลนด์บริดจ์นี้อยู่ระหว่างทำการศึกษา และยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนออกมาให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป".

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2567 (กรอบบ่าย)
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44656
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 03/02/2024 9:11 am    Post subject: Reply with quote

จับตา ‘จีน’ รุก ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21
Source - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Saturday, February 03, 2024 06:42

จับตาจีนรุกโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมเส้นทางสายไหมใหม่ หลังไทยประกาศเดินหน้าโครงการ ล่าสุด รมว.ต่างประเทศจีน เผยรัฐบาล - เอกชน จีนสนใจขอข้อมูลเพิ่ม "เศรษฐา" ส่ง "สุริยะ" โรดโชว์ ธนาคาร AIIB พบนายกฯ หนุนเดินหน้าโครงการ

Key points :

รัฐบาลจีนแสดงความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์ที่ประเทศไทยประกาศเดินหน้าก่อสร้างภายในปี2568
ล่าสุดรมว.ต่างประเทศ บอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่รัฐบาลและเอกชนจีนให้ความสนใจ
นายกรัฐมนตรีสั่ง รมว.คมนาคม ไปโรดโชว์ให้ข้อมูลเพิ่มที่จีน
ผู้บริหารธนาคาร AIIB ที่ก่อตั้งโดยจีน และจีนยังถือหุ้นใหญ่ พบนายกฯไทยลั่นพร้อมสนับสนุนโครงการ

แม้ว่าแนวคิดเรื่องเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) จะไม่ใช่แนวคิดใหม่เนื่องจาก สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนนั้นได้ประกาศแนวคิดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2013 และเชิญผู้นำจากนานาชาติไปประชุมหารือเกี่ยวกับการลงทุนด้านคมนาคมที่ครอบคลุม 65 ประเทศ ใน 3 ทวีปอยู่เป็นระยะๆในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในขณะนี้เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากขึ้นเมื่อรัฐบาลของไทยกำลังผลักดันให้มีการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท

แลนด์บริดจ์จะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมใหม่

แน่นอนว่าโครงการนี้อยู่ในความสนใจของรัฐบาล และนักลงทุนจีนเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างในพื้นที่ภาคใต้ของไทยซึ่งหากดูจากแผนที่ของเส้นทางสายไหมเส้นใหม่นั้นที่ตั้งของประเทศไทยเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมจากจีนตอนใต้ลงมาสู่มหาสมุทร และเชื่อมลงมาถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์

ลำดับการพูดคุยแลนด์บริดจ์ไทย-จีน

หากจำได้ตั้งแต่ไทยประกาศเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์หัวข้อเรื่องนี้เป็นประเด็นการพูดคุยระหว่างไทยและจีน ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.2566 ที่นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งครั้งนั้นก็มีการหยิบยกประเด็นเรื่องแลนด์บริดจ์ขึ้นมาพูดคุยกัน

ต่อมาในการเดินทางไปร่วมประชุม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 และเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี และคณะ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายหลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งพูดถึงความร่วมมือในการความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูง พร้อมเกื้อหนุนการค้าและการลงทุนสองทาง และเสริมสร้างความร่วมมือกับไทยในด้านต่างๆ ต่อไป เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ยานยนต์พลังงานใหม่ พลังงานสะอาด และ 5G นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มีการเปิดเวทีโรดโชว์เรื่องแลนด์บริดจ์ให้นักลงทุนจีนได้รับทราบข้อมูลแลนด์บริดจ์ด้วย

ต่อมาในเดือน พ.ย.ปีก่อนในการหารือกับทูตฯจีนประจำประเทศไทยอีกครั้ง นายกฯรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าโครงการแลนด์บริดจ์ นั้นนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้ความสนใจ และได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เดินทางไปจีน เพื่ออธิบายให้ฟังอย่างละเอียดให้เข้าใจมากขึ้น และพูดคุยว่าจะสามารถร่วมกันพัฒนาหรือลงทุนอย่างไรบ้าง

ล่าสุดในการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศของจีนนั้นก็มีความคืบหน้าที่สำคัญเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่นายกรัฐมนตรีของไทยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่ารัฐบาล และเอกชนของจีนให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์อย่างมาก และต้องการข้อมูลเพิ่ม ตนจึงสั่งการให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม รีบเดินทางไปจัดโรดโชว์ที่ประเทศจีนอีกครั้งเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้และเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย

เลขาธิการนายกฯยันรัฐบาล - เอกชน จีน สนใจโครงการ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารมว.ต่างประเทศของจีนนั้นได้กล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่าจีนให้ความสนใจโครงการนี้ และถือว่าเป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟไทยจีนที่ปัจจุบันก่อสร้างมาถึง สปป.ลาวแล้ว ซึ่งจีนเรียกเส้นทางนี้ว่าเป็น “เส้นทางกลาง” ที่ต้องมีการเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้เชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคทั้งทางทะเลและทางบก

> “วันนี้ความสนใจที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อโครงการแลนด์บริดจ์นั้นถือว่าเกินคาด นอกจากจีนที่สนใจโครงการนี้มากเห็นได้จากการที่ผู้นำทั้ง 3 ระดับของจีนทั้ง ประธานาธิบดี นายกฯ และ รมว.ต่างประเทศจีน พูดถึงการสนับสนุนโครงการนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่ขอข้อมูล หรือบางรายที่เป็นรายใหญ่ก็ติดต่อว่าจะเดินทางเข้ามาดูที่พื้นที่ซึ่งจะก่อสร้างด้วยตัวเอง”

ทั้งนี้สัญญาณอย่างหนึ่งว่าจีนนั้นเอาจริงเอาจังและให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์อีกข้อหนึ่งก็คือการที่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank ) หรือ “AIIB” เดินทางมาหารือกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากที่ รมว.ต่างประเทศของจีนพบกับ นายกรัฐมนตรีของไทยเพียง 2 วัน ทั้งนี้ธนาคาร AIIB นั้นถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการปล่อยเงินกู้ในการพัฒนาและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งในเอเชีย โดยจีนเป็นประเทศผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ และปัจจุบันถือหุ้นใหญ่ในธนาคารแห่งนี้ ร่วมกับสมาชิกอีกหลายประเทศ

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ทวิตข้อความใน X ว่า

> “เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย President ของ AIIB เห็นด้วยว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ ถ้าไทยได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ซึ่ง AIIB ยินดีสนับสนุนการระดมทุนเพื่อลงทุนในเมกะโปรเจกต์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลนด์บริดจ์หรือโครงการสร้างสนามบินต่าง ๆ ครับ”

คงต้องจับตาดูต่อไปว่าบทบาทของจีนในการสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะก่อสร้างในไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วประเทศไทยจะบริหารจัดการ ถ่วงดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจที่เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในบริเวณนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อเนื่องในระยะยาว เพราะโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้เป็นเพียงโครงการทางด้านการคมนาคมขนส่งเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่มีมิติเกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44656
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 07/02/2024 7:55 am    Post subject: Reply with quote

คอลัมน์ เขียนเพื่อคิด: โครงการ Landbridge เชื่อม 2 ฝั่งทะเลที่ภาคใต้ของไทย
Source - แนวหน้า
Wednesday, February 07, 2024 06:10
กษิต ภิรมย์

kasitfb@gmail.com

การที่ผู้นำประเทศจะมีวิสัยทัศน์ หรือความฝันอันสูงส่ง ในโครงการพัฒนาชาติใดๆ มิใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติแต่อย่างใด หากแต่มันจะผิดปกติ เมื่อเป็นเพียงแค่การใช้ วาทะเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ และการเพ้อเจ้อ

ซึ่ง ณ ที่นี้หมายถึง กรณีอภิมหาโครงการเชื่อมฝั่ง ทะเลอันดามันทางด้านมหาสมุทรอินเดีย กับฝั่งทะเลอ่าวไทย ทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยการจัดทำเส้นทางเสมือน สะพานบนบก (Landbridge) แทนที่จะขุดคลองเชื่อมโยง สองฝั่งดังเช่น คลองสุเอซที่ตะวันออกกลาง คลองปานามา ที่อเมริกาเหนือ-ใต้ และคลองคีลที่ยุโรปตอนเหนือ

เมื่อครั้งที่โครงการนี้ถูกประกาศออกมา ก็ได้สร้างความฮือฮาในแวดวงต่างๆ ของไทยเรา อีกทั้งเรื่องราวได้ขจรขจายไปทั่วโลกผ่านการป่าวประกาศของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย บนเวทีโลกหลายเวที เพื่อชักชวน เชิญชวน ให้ฝ่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะภาค เอกชน ทั้งนักลงทุน นักอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ให้มาร่วมลงทุนหรือรับสัมปทาน

นายกฯ เศรษฐา ได้แถลงว่า โครงการนี้จะช่วยย่นระยะเวลา และค่าใช้จ่ายการขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา หรือผ่านช่องแคบซุนดราและล็อมบ๊อกที่อินโดนีเซียอย่างมาก แถมยังอวดคุยอีกด้วยว่าจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยเพิ่มความเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านคมนาคมและอุตสาหกรรมต่างๆ ในระดับโลก ซึ่งมีนัยว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างใหญ่หลวง

จากที่ฟังๆ ดูแล้ว ปวงชนชาวไทยก็คงจะเคลิบเคลิ้ม ไปด้วยกับคำพูดโตๆ ของนายกรัฐมนตรีของไทย อีกทั้ง นักวิ่งเต้นทั้งหลายก็กำลังบวกลูกคิดอย่างเมามันว่า จะตักตวงหากำไรจากการกว้านซื้อที่ดิน จากการจะรับงาน ประมูลแบบไม่โปร่งใสกันได้มากน้อยเพียงใด และแถมจะมีเงินเข้ากระเป๋าเป็นเงินทุนให้กับราชวงศ์การเมือง (Political dynasty) ได้กันอีกกี่ราชวงศ์

แต่ทว่าในแวดวงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงสื่อ แวดวงการเงิน แวดวงอุตสาหกรรม และแวดวงกิจการเดินเรือ ก็ดูแต่จะเอาแต่นั่งรับฟังแล้วนิ่งเฉย บ้างก็อาจจะเพียงพยักหน้าคล้อยตามไปตามมารยาทเท่านั้น ดูได้จากการที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกมาพูดเห็นดีเห็นงามกับอภิมหาโครงการอันนี้ของนายกรัฐมนตรีของไทยเลยหลังจากการรับฟังข้อมูล ซึ่งก็น่าจะสะท้อนว่า เขาต่างก็คงจะคิดตรงกันว่า การใช้เส้นทางเดินเรือเดิมผ่านช่องแคบมะละกา หรือจะเลยออกไปอีกหน่อยไปผ่านน่านทะเลของ อินโดนีเซียนั้น ยังไงๆ ก็ยังคุ้มค่ากว่า เพราะการจะย่นระยะ เวลาเดินเรือออกไปก็คงทำได้เพียง 10-20 ชั่วโมง ไม่ใช่ 1-3 วันดังที่กล่าวอ้าง ด้วยการที่จะส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่าน Landbridge นั้น เรือจะต้องเสียเวลากับการขนถ่ายสินค้าลงที่ท่าเรือด้านทะเลอันดามัน เพื่อรอส่งขึ้นรถไฟ หรือรถบรรทุก หรือแม้กระทั่งทางเลื่อนไฟฟ้า ซึ่งจะใช้เวลา มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเร็ว และเมื่อไปถึงปลายทางที่อ่าวไทย ก็ยังต้องเสียเวลาขนสินค้าขึ้นเรือบรรทุกอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ไม่รวมระยะเวลาที่จะต้องเข้าคิวจอดเรือรอทั้ง 2 ด้านของสะพานบนบกนี้

นอกจากนั้น เมื่อคิดถึงค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ก็ต้อง กลับไปดูที่ต้นทุน โดยเรื่องใหญ่สุดก็คือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ การเวนคืนที่ดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็ยัง มิได้มีตัวเลขจริงๆ ว่าพื้นที่จะต้องกว้างใหญ่ไพศาลถึง กี่พันกี่หมื่นไร่ และยังไม่มีแผนที่จะอพยพทั้งคน สัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง ไปอยู่ที่ใด จึงไม่ทราบว่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่าย ส่วนนี้เป็นจำนวนเท่าใด (อีกทั้งต้นไม้ที่ตัดแล้วและก้อนหิน ก้อนดินที่ถูกเกลี่ยออกไป จะเอาไปกองไว้ที่ไหนอย่างไร) นอกจากนั้น ก็ยังประเมินไม่ได้ว่า ค่าก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เงินเท่าใด? อีกทั้งค่าสร้างท่าเรือ และเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งที่อยู่อาศัยทั้ง 2 ฝั่งของ สะพานบนบกนี้ ก็ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ส่วนการบริหารจัดการนั้น ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด หาก ภาครัฐจะทำเอง หรือจะร่วมทำกับภาคเอกชน หรือจะมอบสัมปทานให้กับภาคเอกชน? แล้วใครฝ่ายใดจะเป็น ผู้ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ทั้ง 2 ฟากของสะพานบกนี้?

เมื่อมองกว้างออกไปยังประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล ทั้งปะการัง วัชพืช สัตว์ มีชีวิต และความสมดุลของระบบนิเวศ ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะจัดการแบบไหน นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยแต่อย่างใด และที่สำคัญเรือขนส่งสินค้าที่มาใช้ประโยชน์นั้น จะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเรือทั้งหมดจากที่เคยล่องผ่านช่องแคบมะละกา และน่านทะเลของอินโดนีเซีย และจะต้องมีเรือใช้บริการเป็นจำนวนเท่าใด นานแค่ไหน ที่การลงทุนจะคุ้มทุน และจะเริ่มได้กำไรกันเมื่อใด

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินนี้ รวมทั้งลูกคู่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีคมนาคม ก็ยังไม่ได้มีการแถลงสถิติ และตัวเลขใดๆ ต่อสาธารณชนทั้งไทย และเทศเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานะโครงการนี้ ณ ปัจจุบันนี้ ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ จึงเป็นเพียงแค่เรื่องเพ้อเจ้อ หรือเป็นเรื่องการพูดจาที่เลอะเทอะ ไร้ความรับผิดชอบ และสร้างความสูญเสียให้แก่ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของประเทศไทยเรา ซึ่งสมควรจะได้ฝากกระซิบบอกให้ทางรัฐบาล และฝ่ายข้าราชการได้ทำการบ้าน หาข้อมูล รวมถึง สร้างแผนแม่บทเบื้องต้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะเสียก่อน ก่อนที่จะปล่อยให้นายกฯ เดินสายไปขายฝัน โครงการ Landbridge กับชาวโลกโดยไม่มีข้อมูลที่เป็นชิ้นเป็นอัน

อีกทั้งโครงการในระดับนี้ควรจะได้รับความเห็นชอบ ในหลักการจากประชาชนพลเมืองเสียก่อน โดยการจัดทำ การลงประชามติ 2 ระดับ หรือ 2 ครั้งด้วยกัน คือ ระดับแรก โดยประชาชนพลเมืองจากจังหวัดระนองและ ชุมพร และระดับที่ 2 จากประชาชนพลเมืองทั้งประเทศ เพราะเป็นผู้เสียภาษีและเจ้าของงบประมาณ

สำหรับผู้เขียนเองก็ไม่ตื่นเต้นกับโครงการนี้ เพราะดูไม่คุ้มทุน เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลได้ และ โดยเฉพาะในเรื่องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และยังมองไม่ออก ว่าจะมีอุตสาหกรรมใดที่จะมาตั้งอยู่ในบริเวณโครงการ ในเมื่อโลกกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางของอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีสูงมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้พื้นที่และแรงงานมากมาย

ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 ก.พ. 2567
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 08/02/2024 11:12 am    Post subject: Reply with quote

ผลักดันแลนด์บริดจ์ อย่าทิ้ง EEC
วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11:11 น.


บทบรรณาธิการ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลตั้งความหวังจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้าของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ โครงการแลนด์บริดจ์ โดยโครงการนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสู่สาธารณชนในช่วงท้าย ๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ก่อนที่จะเงียบหายไปช่วงเลือกตั้ง

ทว่าหลังการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน หากยังจำกันได้ในช่วงเริ่มต้นรัฐบาลก็มีการทวงถามถึง โครงการแลนด์บริดจ์ จะดำเนินการต่อหรือไม่อย่างไร และนำมาซึ่งการประชุม ครม. ในเดือนตุลาคม 2566 มีมติ “รับทราบหลักการ” โครงการแลนด์บริดจ์ โดยให้ กระทรวงคมนาคม ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่า Roadshow เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2568 หรืออีก 1 ปีข้างหน้า

แบงก์แห่ตัดขาย “หนี้เสียเช่าซื้อ” รถยึดล้นตลาด-ราคาร่วง 50%
เซเว่นอีเลฟเว่น ส่งร้านไร้พนักงานยึดทำเลคอนโด-โรงงาน
อัพเดต 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มเป็น 12 จังหวัด เช็กจังหวัด หน่วยบริการ
ADVERTISEMENT


และตั้งแต่ที่ ครม.มีมติ รับทราบหลักการ รัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็เริ่มต้น Roadshow โครงการแลนด์บริดจ์ ในทุกวาระ-เวทีการประชุมระดับโลก ท่ามกลางข้อถกเถียงกันเองในประเทศจากผู้ประกอบกิจการโลจิสติกส์-นักวิชาการ-นักการเมือง ที่แสดงให้เห็นถึง “ข้อสงสัย” ในผลการศึกษาและความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์ มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งถูกเปิดให้เห็นในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ ที่ทักท้วงความไม่สมบูรณ์ในรายงานจำนวน 10 หน้า ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.


ในอีกด้านก็เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนิน โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่มีมูลค่าอนุมัติการลงทุนไปแล้วถึง 2.2 ล้านล้านบาท (2560-2565) และตั้งเป้าหมายที่จะให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ของโครงการระยะที่ 2 (2566-2570) อีก 500,000 ล้านบาท ปรากฏโครงการหลัก ซึ่งเป็น Project List อย่าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่วันนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI มีมติไม่ขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือ C.P. เจ้าของโครงการแล้ว

สะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่บริษัท เอเชีย เอรา วัน ได้รับการส่งเสริมลงทุนในปี 2565 มาจนถึงปัจจุบัน (2567) บริษัทไม่มีความคืบหน้าใน “งานใหม่” ที่เป็นการลงทุนในโครงการนี้อย่างจริงจัง โดยอ้างสาเหตุการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้เรียบร้อยก่อน จึงควรที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลเร่งรัดการดำเนิน โครงการ EEC ให้เกิดการลงทุนจริง หากโครงการ EEC ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมยังไม่สามารถเกิดขึ้นตามแผนที่วางเอาไว้ ก็ยากที่รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ที่ยังเต็มไปด้วยข้อสงสัยต่อไปได้
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 08/02/2024 2:01 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
จับตา ‘จีน’ รุก ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21
Source - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Saturday, February 03, 2024 06:42


จีนต้องการแลนด์บริดจ์
สิ่งที่เราได้ฟื้นคืนมาคือ แก้ปัญหาต่างๆ และคบค้ากันมากขึ้น เปิดช่องกันมากขึ้น นายกฯ ไปศรีลังกา และ นายกฯ กัมพูชา มาเมืองไทย รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย

“ที่สำคัญคือการเปิดตลาด นายกฯ ประกาศว่าเราเป็นเซลส์แมน แต่ไม่ใช่เซลส์แมนธรรมดา ต้องเชิญชวนและสร้างความมั่นใจ จุดเด่นของประเทศไทยมี 2 เรื่องคือ เรื่องทางภูมิศาสตร์ เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เปิดออกทะเล ทั้งสองข้าง เราเป็น Geopolitics เราเดินนโยบายการต่างประเทศ เป็นผู้ที่สร้างบทบาทสำคัญในการสร้างความสงบ สันติสุข และความมั่งคั่งร่วมกัน เราจะไม่พยายามเป็นศัตรูกับฝ่ายไหนเลย เราไม่เป็นศัตรูกับทั้งสองฝ่าย”

“นึกถึงแลนด์บริดจ์ ผู้นำ 3 คนที่มาล้วนเห็นเรื่องแลนด์บริดจ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราบอกว่าการสร้างเส้นทางคมนาคมใหม่ เพราะปกติแล้วการสัญจรต้องผ่านช่องแคบมะละกา ขณะนี้มีการเติบโตที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกไม่กีปีข้างหน้า เราขอแบ่งส่วนหนึ่งในสามมาใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้”

“ท่าน หวัง อี้ พูดชัดมาก แลนด์บริดจ์เป็นยุทธศาสตร์ที่จีนให้ความสำคัญมาก เพราะเขาจะได้ประโยชน์ในการขนสินค้าไปยังประเทศเขา และเส้นนี้ยังมีความสำคัญ เร่งรัดให้ประเทศไทยสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับรถไฟของเขาที่มาจากจีนถึงลาว เชื่อมต่อให้ไปถึงสิงคโปร์ เป็นการเชื่อมเครือข่ายของการขนส่ง ตัดถนนไปที่ไหน ที่นั่นก็เจริญ เพราะมีการขนถ่ายสินค้า มีการค้าขาย การท่องเที่ยวและการคบค้าสมาคมต่างๆ”

“นี่คือโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเร่งรัด คือ รถไฟความเร็วสูง ให้เร็ว เพราะเป็นความต้องการร่วมกันในภูมิภาค พอเสร็จเซ็ตนี้ การลงทุนก็จะเข้ามาในประเทศไทย เพราะการลงทุนประเทศไทยสามารถขายได้ทั้ง 2 ข้าง มีเส้นทางที่เชื่อมต่อ คมนาคมและขนส่ง จากจีนลงมาแล้วไป 2 ข้างก็ได้ ทั้งมหาสมุทรอินเดีย ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก”

“รัฐบาลทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญอยู่แล้ว การไปโรดโชว์ก็เพื่อที่จะไปแจ้งให้ทราบว่ามีโอกาสแบบนี้มีความต้องการแบบนี้ มีใครสนมาลงทุนไหม ใครลงทุนแล้วอยากได้การใช้งานแบบไหนบ้าง เรามีตุ๊กตาใหญ่ๆ ให้ดู นายกฯ ไป World Economic Forum เจอนักธุรกิจต่างๆ 10-20 ราย มีประเทศที่แสดงความสนใจมาลงทุนหลายประเทศ รวมถึงนักลงทุนจีน”

“บอกได้เลยได้รับความสนใจเกินคาด เขาเห็นศักยภาพและให้ความสนใจ มีนักลงทุนจากต่างประเทศ หลายกลุ่มให้ความสนใจ รวมถึงรัฐบาลจีนอยากให้เราไปนำเสนอแผนการนี้ให้ชัด”
https://www.prachachat.net/politics/news-1496496
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44656
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 16/02/2024 10:27 pm    Post subject: Reply with quote

“ธนกร” หนุนเดินหน้า “แลนด์บริดจ์” พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจใต้ ดันไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค
Source - ผู้จัดการออนไลน์
Friday, February 16, 2024 15:35

“ธนกร” หนุนสภา-รัฐบาล เดินหน้า “แลนด์บริดจ์” พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจใต้เกิด หลังผ่านความเห็นชอบคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาฯ แล้ว เชื่อช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคเชื่อมโยงระหว่างทวีป หวัง ดึงประโยชน์มหาศาลเข้าประเทศ


วันที่ 16 ก.พ. 2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตนขอสนับสนุนมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบ รับรองรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดแล้ว เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาเดินหน้าโครงการในขั้นตอนต่อไปอย่างรอบคอบ

เมื่อถามว่า พรรคฝ่ายค้านมีข้อมูลมาอ้างอิงถึงความไม่คุ้มค่าของโครงการในหลายประเด็นนั้น นายธนกร กล่าวว่า ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ พยายามหาข้อมูลให้มากที่สุด แต่ข้อมูลของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ก็มีเหตุผลรองรับ ทำให้ผ่านความเห็นชอบรับรองผลการศึกษาดังกล่าวแล้ว เพื่อเป็นรากฐานให้นายกฯและรัฐบาล พิจารณาเดินหน้าเชิญชวนนักลงทุนมาร่วมในโครงการนี้ ตนเชื่อว่า นายกฯจะพิจารณาอย่างรอบคอบและนำข้อเสนอ ข้อท้วงติงของฝ่ายค้านมาประกอบการพิจารณาด้วย

“ไทย ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านขนส่งและการค้าของภูมิภาคเอเชีย จะเชื่อมโยงไปทวีปต่าง ๆ ในโลก หากเกิดโครงการแลนด์บริดจ์ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC และจะเป็นเครื่องมือ หรือ แม่เหล็กดึงดูดจูงใจผู้ประกอบการ นักลงทุนมาลงทุนในบ้านเรา เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมหลังท่าและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ จะทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน คนในพื้นที่อย่างมาก และมั่นใจว่าจะสร้างประโยชน์มหาศาล มาสู่ประเทศไทยอย่างแน่นอน“ นายธนกร ย้ำ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44656
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 16/02/2024 10:29 pm    Post subject: Reply with quote

'ธีรรัตน์'ดีใจผลศึกษา'แลนด์บริดจ์'ผ่านสภาฯ หวังเปลี่ยนประเทศสู่ผู้เล่นใหญ่ขนส่งเอเชีย
Source - เว็บไซต์แนวหน้า
Friday, February 16, 2024 09:31

'ธีรรัตน์'ดีใจผลศึกษา'แลนด์บริดจ์'ผ่านสภาฯ หวังเปลี่ยนประเทศสู่ผู้เล่นใหญ่ขนส่งเอเชีย

16 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นด้วย 267 เสียง จากทั้งหมด 415 เสียง รับรองรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ โครงการแลนด์บริดจ์ของ กมธ.แล้ว ซึ่งในการอภิปรายที่เกิดขึ้นวานนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ได้เข้ามาชี้แจงข้อซักถามต่อสมาชิกทั้งในส่วนที่ได้เคยชี้แจงไปแล้วในการประชุมของ กมธ.แลนด์บริดจ์ในหลายครั้งที่ผ่านมา และในการอภิปรายที่เกิดขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากนี้ไปเป็นขั้นตอนที่จะส่งผลการศึกษาของ กมธ.แลนด์บริดจ์ ให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ในฐานะ กมธ.เห็นว่าโครงการนี้ ถือเป็นการนับหนึ่งของเมกะโปรเจกต์หรือการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยการริเริ่มของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ดึงศักยภาพของประเทศไทย ให้กลับมาเด่นชัดขึ้นในแผนที่โลกอีกครั้ง แม้ที่ผ่านมา กมธ.แลนด์บริดจ์ จะต้องพบเจออุปสรรคระหว่างทางไปบ้าง ทั้งในเรื่องของการศึกษาภาพใหญ่ของโครงการที่มองภาพไม่ตรงกัน มองคนละมุม หรือโฟกัสไม่ตรงจุด หรือการลาออกของกรรมาธิการ แต่ กมธ.ไม่เคยท้อถอย เพราะเชื่อว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยกลายเป็นผู้เล่นใหญ่ของการขนส่งในภูมิภาคเอเชีย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44656
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 17/02/2024 9:25 pm    Post subject: Reply with quote

เปเปอร์ กมธ.แลนด์บริดจ์ ผลตอบแทน 2.5 แสนล้าน คืนทุน 24 ปี
Source - เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
Saturday, February 17, 2024 10:06

โครงการแลนด์บริดจ์ โปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โรดโชว์ไปแล้วทั่วโลก

ปักหมุดไทยเป็นศูนย์กลางการค้า เป็นทางเลือกในการขนส่ง เชื่อม 2 เส้นทางเดินเรือ ไม่ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกาที่เริ่มแน่น

แม้ว่านายกรัฐมนตรีเดินหน้าโรดโชว์ต่างประเทศ โครงการแลนด์บริจด์กลับยังไม่เป็นที่รับรู้ ยังมีเสียงต้าน

สภาผู้แทนราษฎร จึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ขึ้นมาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาล

# เหตุผลต้องมีแลนด์บริดจ์

คณะ กมธ.ศึกษาเหตุผลที่มีโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ดังนี้ เหตุผลของการเสนอให้มีการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มีลักษณะจุดแข็งของประเทศไทย สำคัญที่คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมาก ถ้านำจุดแข็งเหล่านี้มาสร้างมูลค่า หรือทำให้เป็นจุดเด่นทางด้านยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

1.ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก ซึ่งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์

ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมอาหาร ต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ และอุตสาหกรรม New S-curve เป็นต้น เพื่อการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก

2.ถ้าเกิดโครงการแลนด์บริดจ์อาจสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง

3.หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดในการเดินเรือของช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง แชร์ส่วนแบ่งการเดินเรือและค่าธรรมเนียมจากช่องแคบมะละกา

4.มีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางแลนด์บริดจ์นี้มากขึ้น เพราะสามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางจากเส้นทางเดิมได้ประมาณ 5 วัน

5.เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย

"โดยสรุปแล้วเหตุผลของการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) เพราะว่าประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก ซึ่งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ภาคใต้ของประเทศไทยนี้ เป็นจุดแข็งที่ทำให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ลดเวลาและระยะทางการขนส่ง เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยให้แลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือ หรือเป็นตัวนำในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้"

# ผลตอบแทน 2.5 แสนล้าน คืนทุน 24 ปี

โครงการนี้คาดการณ์ว่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ดังนี้ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท, อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35, อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 17.43, ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง ร้อยละ 9.52, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ร้อยละ 8.62, มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24

และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนองจำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี เป็นร้อยละ 5.5 ต่อปี

มีเป้าหมายให้ประเทศไทยพัฒนา 1.เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ และการลงทุนระดับนานาชาติ 2.เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและอุตสาหกรรม Green Mega Trend 3.ประสิทธิภาพของระบบ Digital Logistic Transportation Distribution 4.สร้างความเจริญ พัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ตลอดจนเพิ่ม GDP ของประเทศให้เพิ่มขึ้น 5.โอกาสของการจ้างงาน การเพิ่มรายได้

6.สิทธิประโยชน์ทางภาษี ศูนย์การค้าทางการเงิน ผู้นำด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสิ่งแวดล้อม 7.เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 8.รายได้จากการลงทุนในแลนด์บริดจ์ 9.โครงการแลนด์บริดจ์ช่วยลดระยะทางการขนส่ง ซึ่งเป็นการย่นระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

10.โครงการแลนด์บริดจ์ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่น ๆ 11.โครงการแลนด์บริดจ์เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช

# ควรตรากฎหมายเหมือน EEC

ในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์จำเป็นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมาย โดยคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตราเป็นพระราชบัญญัติที่คล้ายคลึงกับพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการดำเนินการ นอกจากนี้แล้วจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง และจะต้องพิจารณาพื้นที่ชุ่ม ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ด้วย

เช่น ในเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นี้จะต้องเกี่ยวข้องกับการตราพระราชบัญญัติและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามที่ได้กำหนดไว้ เช่น การทำการศึกษา ความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility Study) และ (Post-feasibility Study) จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางด้านสุขภาพ พระราชบัญญัติการเวนคืนที่ดิน (ถ้ามี) เป็นต้น จะต้องมีการประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับ No Man's Land บนพื้นที่ 3 เกาะ ซึ่งประกอบด้วย เกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก

# เอกชนยังกังวลความชัดเจน

ส่วนความคิดเห็นของเอกชนเกี่ยวกับการเดินเรือและการขนส่งสินค้านั้น ยังมีความกังวลกับความชัดเจนของโครงการ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีโครงการใหญ่ ดังเช่นโครงการแลนด์บริดจ์แม้จะมีกลุ่มประชาชนส่วนน้อยไม่เห็นด้วยก็ตาม

# หน่วยงานในพื้นที่ไฟเขียว

และหน่วยงานในพื้นที่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะหวังว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าทางการเกษตรในภาคใต้ ทั้งยางพารา มังคุด ทุเรียน ปาล์ม เป็นต้น ไปยังต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ยุโรป เป็นต้น

ตลอดจนให้เป็นศูนย์สนับสนุนการส่งออกอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพ การท่องเที่ยวครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเกษตรกรรมที่ทันสมัยและยั่งยืน ซึ่งหากมีโครงการนี้ก็จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชนในภาคใต้ และการมีท่าเรือจะทำให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้นแน่นอน

# ดาวดวงใหม่ในการแข่งขัน

และภาคเอกชนมองในระดับประเทศ ว่าประเทศไทยจะเป็นดาวดวงใหม่ในการ แข่งขันในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และการเวนคืนที่ดินของประชาชนที่รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ประชาชนพอใจ และควรเตรียมแผนการพัฒนาแรงงานในพื้นที่ เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

ตลอดจนควรเตรียมวางแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประมงพื้นบ้าน และที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะต้องมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน และมีส่วนร่วมในโครงการแลนด์บริดจ์นี้ด้วย

# ห่วงกระทบสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต

โดยสรุปแล้วโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน การคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน คือท่าเรือฝั่งอ่าวไทยจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือฝั่งอันดามันจังหวัดระนอง

โดยโครงการแลนด์บริดจ์เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือ หรือตัวนำที่เป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุนเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมหลังท่าและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้และประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน ความชัดเจนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งการชดเชยต่าง ๆ เอกสารสิทธิในที่ดิน สวัสดิการต่าง ๆ หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับ รวมถึงการจ้างแรงงาน การเตรียมความพร้อมแรงงาน การบริหารจัดการเกี่ยวกับน้ำและไฟฟ้า

หากรัฐบาลสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจน และพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการอย่างรอบคอบแล้ว อาจจะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... , 18, 19, 20  Next
Page 19 of 20

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©