RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311296
ทั่วไป:13276176
ทั้งหมด:13587472
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ไทย-ลาว-จีน
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ไทย-ลาว-จีน
Goto page Previous  1, 2, 3, 4  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงสร้างทางวิศวกรรมที่เกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 08/10/2022 8:15 am    Post subject: Reply with quote

ไฮสปีดเชื่อมไทย - ลาว - จีน โอกาสอาเซียนบูมฮับท่องเที่ยว
กรุงเทพธุรกิจ 08 ต.ค. 2565 เวลา 8:00 น.

คมนาคมเร่งไฮสปีดเทรนเชื่อมไทย - ลาว - จีน จ่อชง ครม.อนุมัติแผนก่อสร้างระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคายภายในปีนี้ พร้อมยกเป็นโครงข่ายหนุนฮับการท่องเที่ยวอาเซียน ลั่นภายในปี 2572 เตรียมเปิดให้บริการ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว วันนี้มีนโยบายชัดเจนกับการผลักดันประเทศจาก Land Lock กลายเป็น Land Link ประเทศเดียวที่เชื่อมโยง 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง ไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนามผ่านโครงข่ายคมนาคมสำคัญอย่างระบบราง หรือรถไฟภายใต้ความร่วมมือลาว – จีน ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว และโครงข่ายคมนาคมด้านอื่นๆ ที่กำลังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้กางแผนสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคขนส่งในภูมิภาคอาเซียน และการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยหยิบยกโครงการสำคัญที่จะเชื่อมต่อกับ Land Link สปป.ลาว ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) กรุงเทพฯ - หนองคาย และโครงการรถไฟทางคู่ ที่สามารถเชื่อมต่อจากสถานีหนองคายมายังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งโครงการเหล่านี้มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการภายในปี 2572

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยถึงเรื่องนี้ว่า วันนี้ฝ่ายลาวมีเป้าหมายผลักดันประเทศในการเป็น Land Link เชื่อมจีนและอาเซียน ซึ่งไทยได้เล็งเห็นในศักยภาพดังกล่าว พร้อมสนับสนุนและยังได้เสนอถึงการเพิ่มโอกาสเชื่อมต่ออาเซียนไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ จากการใช้เส้นทางรถไฟไทย - ลาว - จีน และเชื่อมต่อมาเลเซียด้วยระบบรถไฟทางคู่ รวมไปถึงเชื่อมต่อสิงคโปร์ด้วยท่าเรือในโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ดังนั้นฝ่ายไทยจึงได้เสนอให้มีการบูรณาการตั้งคณะทำงาน 5 ประเทศ จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อบูรณาการระบบรางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รองรับระบบรถไฟระหว่างประเทศ

สำหรับความคืบหน้าโครงการไฮสปีดเทรน ภายใต้ความร่วมมือไทย - จีน ปัจจุบันการพัฒนาระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา คืบหน้าราว 90% คาดว่าเปิดให้บริการปี 2569 ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ขณะนี้ออกแบบโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะเสนอขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ โดยภาพรวมโครงการไฮสปีดนี้จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2572 เช่นเดียวกับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติภายในปีนี้

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ฉายภาพถึงแผนเชื่อมโยงระบบรางระหว่างไทย - ลาว - จีน โดยระบุว่า ปัจจุบันระบบรางระหว่างไทยและลาวสามารถเชื่อมต่อกันในด้านของการขนส่งสินค้าอยู่แล้ว โดยสามารถขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ผ่านรางขนาดความกว้าง 1 เมตร หรือ Meter Gauge (มีเตอร์เกจ) โดยมีสถานีปลายทางอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว

แต่ปัจจุบันฝ่ายไทยและลาวกำลังมีการเจรจาเพื่อความร่วมมือในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารบนมาตรฐานรางขนาด 1.435 เมตร หรือ Standard Gauge (สแตนดาร์ดเกจ) ซึ่งเป็นขนาดรางมาตรฐานที่นิยมใช้กันมากที่สุด รวมทั้งยังเป็นขนาดรางมาตรฐานของรถไฟลาว - จีน และไฮสปีดไทย – จีนที่ไทยอยู่ระหว่างพัฒนาด้วย จึงเป็นอีกนิมิตหมายของการเชื่อมโยงภาคขนส่งและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวจากการเดินรถไฟขนส่งผู้โดยสารที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของการเชื่อมต่อรถไฟระหว่างไทย - ลาว - จีน คือการพัฒนาสะพานเชื่อมไทย – ลาวแห่งใหม่ เนื่องจากสะพานแห่งนี้จะประกอบด้วยรางรถไฟขนาด 1.435 เมตร จำนวน 2 ราง รองรับไฮสปีดเทรนจากไทย และรางขนาด 1 เมตร จำนวน 2 ราง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟทางคู่ ซึ่งปัจจุบันโครงการก่อสร้างสะพาน ฝ่ายไทยโดยกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างเตรียมศึกษาและออกแบบ คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปี 2567 แล้วเสร็จกลางปี 2568

Click on the image for full size

“สะพานแห่งใหม่นี้จะอยู่ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ประมาณ 30 เมตร เป็นสะพานที่มีความสำคัญในการทำให้ระบบรางของไทยและลาวสามารถเชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์ โครงการไฮสปีดเทรนจะเชื่อมโยง 3 ประเทศ จากสถานีหนองคายฝั่งไทย เชื่อมผ่านไปทางสถานีขนส่งสินค้าท่านาแล้ง สถานีขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ใต้ และเชื่อมต่อกับรถไฟลาว – จีน ขนส่งผู้โดยสารที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ และไปสิ้นสุดที่สถานีคุนหมิงทางตอนใต้ของจีน”

พิเชฐ เผยด้วยว่า ในปี 2572 เมื่อไฮสปีดเทรนของไทยแล้วเสร็จ จะเห็นภาพชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน สร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว เพราะความสะดวกสบายจากการขนส่งผู้โดยสารด้วยระบบรางเชื่อมต่อระหว่างประเทศนั้น จะทำให้เกิดการเดินทางเพิ่มขึ้น ผู้โดยสารที่ใช้บริการไฮสปีดเทรนจากไทย อาจจะสามารถนั่งเชื่อมต่อไปลาวและจีนได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทย - ลาว - จีน เพื่อให้ขบวนรถไฟของแต่ละประเทศสามารถให้บริการระหว่างประเทศได้

ทั้งนี้ การเจรจาทวิภาคีระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีการหยิบยกมาหารือในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า เมื่อการพัฒนาไฮสปีดเทรนของไทยแล้วเสร็จ เพื่อทำให้รถไฟของแต่ละประเทศสนับสนุนซึ่งกันและกัน ขณะที่เรื่องขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง ปัจจุบันก็พบว่ามีโมเดลที่เห็นอย่างกลุ่ม Schengen (เชงเก้น) ผู้โดยสารที่มีวีซ่าเชงเก้นสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้ในกลุ่มประเทศเชงเก้น หรืออาจจะมีการตรวจวีซ่าผู้โดยสารบนขบวนรถก็สามารถทำได้


ไทย – สปป.ลาว หารือรถไฟ หนองคาย-เวียงจันทน์ เชื่อมขนส่ง ไทย-ลาว-จีน | โชว์ข่าวเช้านี้ | 8 ต.ค. 65
PPTV HD 36
Oct 8, 2022


https://www.youtube.com/watch?v=JfaXDrfSQtc

มาดูความคืบหน้าโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟความเร็วสูง "หนองคาย-เวียงจันทน์" ซึ่งเป็นเส้นทางที่ส่งเสริมการขนส่งระหว่างไทย ลาว และจีน ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นำทีมไทยแลนด์ หารือกับ สปป.ลาว ถึงความคืบหน้าโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 12/10/2022 6:48 am    Post subject: Reply with quote

รถไฟไทยในฝันเชื่อม4ประเทศ ลาว-จีน(คุนหมิง)-มาเลย์-สิงคโปร์
เดลินิวส์ 11 ตุลาคม 2565 8:00 น.
มุมคนเมือง, เศรษฐกิจ-ยานยนต์

รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม นำทีมไทยแลนด์ประชุมกระชับแผนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมลาว-จีน และขยายโครงข่ายรถไฟไทยในฝันเชื่อม 4 ประเทศ เพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทางและเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ แต่อีกกี่ปีถึงจะใกล้ความจริง...ก็ต้องมาลุ้นกัน!!!

อีก 2 เดือนจะครบ 5 ปีเต็มๆ สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) สายแรกของประเทศไทย สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท

เพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทาง การขนส่งของประเทศและระหว่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเริ่มงานก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ปี 60 แต่เดิมวางเป้าหมายเปิดบริการในปี 66 จนถึงขณะนี้ได้ผลงานก่อสร้าง 15.49%


สัปดาห์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นำคณะผู้แทนไทยเยือนกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ร่วมหารือกับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รมว.โยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เพื่อขับเคลื่อนโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) รวมทั้งร่วมทดลองนั่งรถไฟลาว-จีน เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม. ทางรถไฟสายนี้เชื่อมต่อจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน


นายศักดิ์สยาม สรุปผลการหารือและแผนดำเนินงานเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมร่วมกันระหว่างสองประเทศและจีน ดังนี้

1.การก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกอบด้วย โครงการรถไฟไฮสปีด เฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะเร่งรัดให้เปิดบริการปี 69, โครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย 356 กม. วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในปี 65 คาดว่า เปิดบริการปี 72 และโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท จะเสนอ ครม.พิจารณาได้ภายในปี 65 เริ่มก่อสร้างปี 66 แล้วเสร็จประมาณปี 68

2.การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟ และการใช้สะพาน สปป.ลาว เห็นชอบแนวทางการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ตามที่กรมทางหลวง (ทล.) เสนอ ประกอบด้วย สะพานเฉพาะรถไฟ 1 แห่ง และสะพานรถยนต์ 1 แห่ง โดยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย ที่ใช้เดินรถไฟและรถยนต์ร่วมกันในปัจจุบันจะอยู่ระหว่างกลาง 2 สะพานใหม่ สะพานรถไฟใหม่ห่างสะพานตัวเก่า 30 เมตร มี 4 ราง แบ่งเป็น Meter Gauge ขนาดราง 1 เมตร 2 ราง สำหรับรถไฟทางคู่ และ Standard Gauge ขนาดราง 1.435 เมตร 2 ราง สำหรับรถไฟไฮสปีด ขณะที่สะพานรถยนต์อยู่ติดสะพานเดิมมีขนาด 2 ช่องจราจร

ฝ่ายลาวเสนอให้พัฒนาระบบรางก่อน ที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปว่าจะออกแบบตามแนวทางที่ ทล.เสนอ แต่ระยะแรกจะสร้างสะพานรถไฟก่อน ในอนาคตหากถนนบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เกินขีดความสามารถรองรับ จะสร้างสะพานรถยนต์ในระยะต่อไป สำหรับการสร้างสะพานแห่งใหม่ ฝ่ายไทย และฝ่ายลาวจะลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ส่วนการศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ทล.เป็นผู้ศึกษา 1-2 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสะพานรถไฟได้ลางปี 67 แล้วเสร็จประมาณกลางปี 68-69

เมื่อก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เสร็จ รถไฟไฮสปีดของไทยสามารถใช้สะพานข้ามไปยังฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน ได้ทันที ช่วง 2-3 ปีนี้ต้องเจรจากับฝ่าย สปป.ลาว ทำทวิภาคีร่วมกันให้รถไฟไฮสปีดไทยเดินรถข้ามสะพานรถไฟแห่งใหม่ และใช้รางของลาวเดินรถตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน ไปยังคุนหมิงได้เลย ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ แต่เมื่อใช้รางของลาวต้องลดความเร็วเดินรถให้เท่ากับความเร็วของรถไฟลาว-จีน เพราะระบบอาณัติสัญญาณไม่ได้รองรับความเร็วสูง รถไฟลาว-จีน ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 160 กม.ต่อ ชม. รถไฟไฮสปีดอยู่ที่ 250 กม.ต่อ ชม.

3.การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย-ลาวระยะเร่งด่วน พัฒนาสถานีหนองคาย รองรับการขนส่งสะพานเดิมโดยเพิ่มรถจาก 4 ขบวนต่อวัน เป็น 14 ขบวนต่อวัน และเพิ่มจาก 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ รวมถึงพัฒนาบริเวณสถานี 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง และระยะยาวพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย รองรับการขนส่งจากลาว-จีน และส่งออกไปยัง สปป.ลาว

การเดินรถไฟจากไทย-ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ยังสิ้นสุดอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ขณะนี้ฝ่ายลาวได้ก่อสร้างเส้นทางจากท่านาแล้งไปสถานีบ้านคำสะหวาด (เวียงจันทน์) เสร็จเรียบร้อยแล้ว รฟท.มีแผนเปิดเดินขบวนรถโดยสารเพิ่มเติม 3 ระยะ ระยะเร่งด่วน (ปลายปี 65 หรือต้นปี 66) จะขยายต้นทาง/ปลายทางในฝั่งลาว (หนองคาย-ท่านาแล้ง) จากสถานีท่านาแล้ง เป็นสถานีบ้านคำสะหวาด วันละ 4 ขบวนไป-กลับ หากต้องการใช้บริการรถไฟลาว-จีน ต่อรถโดยสารสาธารณะ 16 กม. ไปขึ้นที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ได้

ระยะกลาง (ปี 67) ขยายต้นทาง/ปลายทางในฝั่งไทย จากสถานีหนองคาย เป็นสถานีอุดรธานี วันละ 4 ขบวนไป-กลับ และเปิดเดินขบวนรถระหว่าง สถานีนครราชสีมา-สถานีบ้านคำสะหวาด วันละ 2 ขบวนไป-กลับ และแผนระยะยาว (ปี 68) จัดเดินขบวนรถโดยสารทางไกล ระหว่างสถานีบางซื่อ/พัทยา-สถานีบ้านคำสะหวาด วันละ 2 ขบวนไป-กลับ

รมว.คมนาคม บอกด้วยว่า ฝ่ายลาวมีเป้าหมายผลักดันประเทศเป็น Land-Linked เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างไทย จีน และเวียดนาม ไทยเล็งเห็นศักยภาพ จึงเสนอเพิ่มโอกาสเชื่อมต่ออาเซียนไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์ จากการใช้เส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีนด้วย โดยเชื่อมต่อมาเลเซียด้วยระบบรถไฟทางคู่ รวมถึงเชื่อมต่อสิงคโปร์ด้วยท่าเรือในโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ฝ่ายไทยจึงเสนอตั้งคณะทำงาน 5 ประเทศ จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อบูรณาการระบบรางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รองรับระบบรถไฟระหว่างประเทศ

รองนายกฯ และรมว.คมนาคม นำทีมไทยแลนด์ประชุมกระชับแผนรถไฟไทยเชื่อมลาว–จีน และขยายโครงข่ายรถไฟไทยในฝันเชื่อม 4 ประเทศ แต่!!….อีกกี่ปี??….ถึงจะใกล้ความจริง

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 14/10/2022 7:54 am    Post subject: Reply with quote

ไทยปั้น ”ไฮสปีด”แกนกลางเชื่อมระบบราง”จีน-อาเซียน” เร่งแก้คอขวด’หนองคาย-เวียงจันทน์’ สร้าง’ไทย-จีน’คืบแค่ 15.49%
เผยแพร่: 13 ต.ค. 2565 09:08
ปรับปรุง: 13 ต.ค. 2565 09:08
โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เมื่อวันที่ 6-7 ต.ค. 2565 “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในนาม”ทีมไทยแลนด์” ซึ่งมีทั้งผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน หอการค้า ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทย เดินทางไปประชุมเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ร่วมกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หลังจากนั้นได้เข้าเยี่ยมชม การบริหารจัดการขนส่งสินค้า ของ โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ก (Vientiane Logistics Park : VLP) ต่อด้วยการทดลองนั่งรถไฟ”ลาว-จีน” จากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังเมืองหลวงพระบาง (ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง 5 นาที)

การเจรจาบนโต๊ะ บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมประชุมกันไปหลายรอบ ในขณะที่ข้อสรุป ก็ถือว่าแทบจะยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะฝั่งไทยทุกประเด็น ยังเป็นขั้นตอนศึกษา จะมีเพียงการใช้ประโยชน์ สะพานมิตรภาพที่ได้เริ่มการบริหารจัดการใช้ทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขงเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ ด้วยการเพิ่มขบวนรถไฟขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ ทำให้ขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้นจากเดิม

@ไทยเร่งพัฒนาจุดเชื่อมโยงสินค้าและผู้โดยสาร
ประเด็นที่กำหนดไว้ เกี่ยวกับการเชื่อมโยงผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน สองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาและปรับปรุงความร่วมมือด้านการคมนาคมทั้ง 4 มิติ เพื่อที่การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมร่วมกันระหว่างสองประเทศจะมีความคืบหน้าและบรรลุเป้าหมายโดยมีประเด็นหลัก คือ

1. แนวทางการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย – ลาว – จีน ซึ่งฝ่ายไทยนำเสนอ ความก้าวหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. ว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งงานโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา ส่วนงานระบบอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2569

ความก้าวหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 355 กม. มีจำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA คาดว่าเปิดให้บริการปี 2572
ความก้าวหน้า โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2565 เปิดให้บริการปี 2569

Click on the image for full size

@ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ไม่จบ! ลาวไม่ตอบรับ ”สะพานรถไฟใช้ร่วมรถยนต์” เหตุเกินความจำเป็น
สำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามแดนนั้น นอกจากการเพิ่มการเดินรถไฟบนสะพานเดิมเป็น 14 ขบวนต่อวัน ไปแล้ว ประเด็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ได้ข้อสรุปตรงกันคือ ตำแหน่งสะพานใหม่ รองรับรถไฟขนาดมาตรฐาน (1.435 เมตร) จำนวน 2 ทาง (รองรับรถไฟความเร็วสูง) และขนาด 1 เมตร จำนวน 2 ทาง (รองรับรถไฟปัจจุบัน) โดยเมื่อก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เสร็จ จะปรับสะพานเดิม รับเฉพาะรถยนต์ โดยฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย
ล่าสุด กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง ออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ให้สามารถรองรับการใช้งานของรถไฟ และรถยนต์ควบคู่กัน ซึ่งฝ่ายไทยรับที่จะออกค่าศึกษาออกแบบให้ โดยกรมทางหลวง ได้รับงบประมาณเหลือจ่ายปี 2565 วงเงิน 40 ล้านบาท จ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบสะพานมิตรภาพหนองคายแห่งที่ 2

ระยะที่ 1 การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS Study) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) ประมาณ 9 เดือน แล้วเสร็จปลายเดือนมิถุนายน 2566

ระยะที่ 2 งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และงานศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระยะเวลา 12 เดือน
เบื้องต้นฝ่ายลาวไม่ขัดข้องที่ไทย จะรับผิดชอบการศึกษาออกแบบ แต่มีข้อเสนอว่าสะพานรถไฟและรถยนต์ควรแยกออกจากกัน และฝ่ายลาวเห็นว่าการเชื่อมต่อระหว่างไทยและลาว ควรเป็นการดาเนินการระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายลาว เหมือนกับสะพานมิตรภาพระหว่างไทย – ลาว ทั้ง 6 แห่งที่ผ่านมา

เท่ากับลาว...ยังยืนยันแนวคิด สะพานรถไฟแยกจากรถยนต์ ไม่ตรงกับข้อเสนอของไทยที่ขอโครงสร้างสะพานที่ใช้งานร่วมทั้งรถไฟและรถยนต์ ซึ่งคาดว่า น่าจะต้องหารือกันอีกหลายรอบ เหตุผลหลักของลาว คือ ไม่ควรสร้างเกินความจำเป็นและทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้น

Click on the image for full size

@ รฟท.ศึกษา PPP พัฒนาย่านสถานีนาทา เสร็จปี 66

สำหรับ การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าสถานีนาทา เนื้อที่ประมาณ 268 ไร่ มีเป้าหมายเพื่อรองรับการขนส่งจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาว ปัจจุบัน รฟท. อนุมัติให้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางรางจังหวัดหนองคาย (อนุมัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ระยะเวลาสัญญา 16 มิถุนายน 2565 – 11 มีนาคม 2566 (210 วัน)

ในขณะที่ฝั่งลาวมี”โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์”บริการด้านขนส่งสินค้าครบวงจร ซึ่งกว่า”ย่านสถานีนาทา”เปิดบริการ เชื่อว่าการขนส่งโลจิสติสก์ของลาวคงขยับหนีไปอีกไกล

ในระหว่างนี้ ไทยจึงมีแผนระยะเร่งด่วน คือ การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า เพื่อใช้รองรับเส้นทางรถไฟจีน - ลาว โดยการขนส่งผ่านสะพานเดิมไปก่อน ซึ่งบริเวณสถานีหนองคาย มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ จะเป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดย รฟท. ใช้งบ 4.22 ล้านบาทปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้าเรียบร้อยแล้ว กรมศุลกากรดำเนินการขอออกประกาศใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย จำนวน 46,800 ตารางเมตร

ส่วนพื้นที่คงเหลือ รฟท. พิจารณาแบ่งออกเป็น 5 แปลง พื้นที่แปลงละ 11,200 ตารางเมตร โดยเพื่อออกประกาศเชิญชวน จำนวน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 1 แปลง

Click on the image for full size

@ข้อจำกัดสะพานมิตรภาพ คอขวดขนส่งข้ามแดน อุปสรรคปริมาณคอนเทนเนอร์ทางรางไม่พุ่ง

จากข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางประเภทสินค้าคอนเทนเนอร์ เส้นทางหนองคาย – ท่านาแล้ง ในช่วงเดือนพ.ย. 2564 –ส.ค. 2565 มีจำนวน 25,387 ตัน โดยเฉพาะในเดือนส.ค. 2565 พบว่า มีปริมาณการขนส่งสินค้า ถึง 5,500 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค. 2565 ที่มี 3,121 ตัน เป็นการเพิ่มขึ้น ถึง 76 %

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง วิเคราะห์ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจาก การบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานให้มีความเหมาะสม โดยเพิ่มความถี่การเดินรถไฟจากเดิม 4 เที่ยว ไป/กลับ และขนส่งสินค้าขบวนละ 12 แคร่ เป็น 14 เที่ยว ไป/กลับ และขนส่งสินค้าขบวนละ 25 แคร่ โดยใช้หัวลาก ขนาด 15 ตัน/เพลา ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไปยังท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว เช่น ปัญหาการบริหารจัดการสินค้าระหว่างย่านสถานีเวียงจันทน์ใต้กับท่าบกท่านาแล้ง ,ข้อจำกัดของ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ทำให้การรับน้ำหนักบรรทุกไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ,ค่าบริการฝั่งสปป.ลาว ที่ยังสูงมาก เป็นต้น

Click on the image for full size
ไซด์ก่อสร้างรถไฟไทย-จีน

@เร่งไม่ขึ้น!รถไฟไทย-จีน ระยะแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 3 สัญญา ติดหล่มไม่ขยับ

สำหรับการก่อสร้างงานโยธา”รถไฟความเร็วสูง” ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77กม. จำนวน 14 สัญญา นั้นแล้วเสร็จไปเพียงสัญญาเดียวคือ 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565 ภาพรวมทั้งโครงการมีความคืบหน้า 15.49 % ขณะที่แผนงานวางไว้ที่ 37.33%

สัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ประกอบด้วย
-สัญญา 2–1 ช่วงสีคิ้ว–กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 94.44%

-สัญญา 3–2 อุโมงค์มวกเหล็กและลาตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 4.16 %

-สัญญา 3–3 ช่วง บันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 13.93 %

-สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 38.20 %

-สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 2.36 %

- สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท มี บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.08%

- สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 4.08 %

-สัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้างนั้น ลงนามแล้ว แจ้ง NTP ให้เริ่มงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 อยู่ระหว่างจัดเตรียมพื้นที่

- สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.13%

- สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท มี บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 127.92%

อีก 3 สัญญานั้นมี 2 สัญญาที่ประกวดราคาแล้วแต่ยังไม่สามารถลงนามได้ คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท เนื่องจากสถานีอยุธยาติดมรดกโลก ล่าสุดรฟท.เตรียมลงนามจ้างผู้รับเหมาแบบมีเงื่อนไขในช่วงรอ EIA ฉบับปรับปรุง สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท ต้องรอคำสั่งศาลอย่างเดียว ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เหลือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ยังต้องรอข้อสรุปแก้สัญญาสัมปทานของ ซี.พี.
ส่วนงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) อยู่ระหว่างออกแบบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รถไฟลาว-จีน เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม. จีนวางแผนก่อสร้าง 4 ปี โดยเสร็จเร็วกว่ากำหนด 1 เดือน เพราะพยายามทำเส้นทางให้ตรง ผ่านภูเขาก็เจาะอุโมงค์ ผ่านเหวก็ทำสะพาน มองแล้วอาจจะเห็นว่าแพง แต่ในระยะยาวเป็นแนวทางที่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า เพราะเส้นทางสั้นและใช้เวลาเดินทางน้อยลง สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย ของไทย ถือว่าไม่ได้ล่าช้าอะไร หากเปรียบเทียบ รถไฟลาวระยะทางกว่า 400 กม.เป็นทางเดี่ยว ก่อสร้าง 4 ปี รถไฟของไทยระยะทางกว่า 600 กม. เป็นระบบทางคู่ ซึ่งไทยกำหนดเสร็จเปิดบริการปี 2572 ผมว่าไม่ได้ล่าช้า “ปัญหาคือ ไทยเป็นทางคู่ ทางลาวเป็นทางเดี่ยว จะเกิดคอขวดขึ้นในอนาคต

“ลาวบอกว่าจะพัฒนาประเทศจาก Landlocked หรือประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เป็น Land link เชื่อมโยงจากจีนลงด้านใต้ สู่อาเซียนต้องผ่านลาว ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง ดังนั้น ทั้งไทย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ดำเนินการในแนวทางเดียวกันเพื่อเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์และไม่เกิดคอขวดการขนส่งสามารถวิ่งทะลุและเช็คสินค้าที่ต้นทางและปลายทางเท่านั้น ไม่ต้องตรวจกันหลายครั้ง ซึ่งทำให้ลดต้นทุนได้อย่างแท้จริง”

ทั้งนี้ ตามแผนภายในปี 2565 จะพัฒนาสถานีรถไฟหนองคายและติดตั้ง โมบาย เอ็กซ์เรย์ สำหรับตรวจสินค้า ปี 2569 เปิด บริการรถไฟไทย-จีน ระยะ 1(กรุงเทพ-นครราชสีมา) ,เปิดบริการรถไฟทางคู่ ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย ,ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เสร็จ ปี 2571 เปิดบริการรถไฟไทย-จีน ระยะ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) และเปิดบริการย่านสถานีนาทา”ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางราง “

ไทยเริ่มก่อสร้างถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เมื่อ ธ.ค. 2560 ปรับแผนล่าสุดกำหนดเปิดปี 2569 ปัจจุบันมีผลงานก่อสร้าง 15.49 % ใช้เวลาเกือบ 5 ปี ประเมินงานที่เหลือกับเวลาอีก 4 ปี เชื่อว่าคงต้องปรับแผนกันอีกหลายรอบ ตามสไตล์ไทยแลนด์!!!
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 19/10/2022 1:35 pm    Post subject: Reply with quote

รับโลจิสติกส์โต! ไทย-ลาวลงขันสร้างสะพานคู่ขนานที่หนองคาย เขต ศก.พิเศษเกิดแน่หลังถูกเมินหลายปี
เผยแพร่: 18 ต.ค. 2565 10:56
ปรับปรุง: 18 ต.ค. 2565 10:56
โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หนองคาย - รออีกไม่นาน! สะพานมิตรภาพไทย-ลาว คู่ขนานจะเกิดขึ้น ห่างจากสะพานเดิมเพียง 500 เมตร คาดก่อสร้างได้ปี 2567 สร้างเสร็จภายใน 3 ปี ไทย-ลาวร่วมมือกันลงทุนคนละครึ่ง หนองคายขานรับผุดโครงการรองรับการขยายตัวทางโลจิสติกส์ คาดรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงมาถึงหนองคาย นักลงทุนจะแห่เข้าประมูลทำประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังถูกเมินมานานหลายปี

ในระยะเวลาอันใกล้นี้จังหวัดหนองคายจะมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ทั้งโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา เจรจา และนำเสนอ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเจริญเติบโตและให้สอดรับกับขบวนรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ซึ่งนับตั้งแต่มีการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน แม้เดินทางไปถึงได้แค่สถานีบ่อเต็น ยังไม่สามารถเข้าเมืองคุนหมิงได้ ก็มีผู้ใช้บริการขบวนรถไฟสายนี้แล้วกว่า 2 ล้าน 8 หมื่นคน เป็นคนไทยมากถึง 2 ล้านคน

โดยในช่วงเดือนตุลาคมนี้รัฐบาลจีนจะมีการประชุมหารือว่าจะสามารถเปิดเดินรถไฟถึงสถานีคุนหมิงได้ในช่วงใด เนื่องจากรัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญต่อซีโร่โควิดอยู่ และยังมีประเด็นให้พิจารณารอบด้าน ซึ่งปัญหาการเดินรถไฟขบวนขนสินค้าที่หยุดอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ไม่ได้เชื่อมต่อไปยังท่าเรือบกของลาวเพื่อขึ้นรถไฟความเร็วสูงขึ้น ต้องมีการยกแคร่สินค้าโดยทางการลาว


อย่างไรก็ตาม แม้ขบวนรถไฟสายนี้จะหยุดอยู่แค่ สปป.ลาว ไม่ได้ข้ามฝั่งมายังประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจมีการจัดทำโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยโครงการใหญ่ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดหนองคายในปี 2566 คือการเริ่มก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว คู่ขนานกับสะพานแห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย จุดที่ตั้งตัวสะพานห่างกันเพียง 500 เมตร ใกล้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ชุมชนจอมมณี เขตเทศบาลเมืองหนองคาย

ซึ่งการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นจากสภาพความแออัดของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ที่มีปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุกสินค้า รถโดยสารเข้าออกในแต่ละวันจำนวนมาก ยิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ การจราจรจะหนาแน่น ประกอบกับมีรางรถไฟไทย-ลาว อยู่ตรงกลางสะพาน ทำให้เมื่อเวลารถไฟจะแล่นผ่านต้องหยุดรถยนต์ทุกชนิด ดังนั้นการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่นี้จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาวลงทุนก่อสร้างร่วมกันคนละครึ่ง และจะมีเอกสิทธิ์ อำนาจการบริหารจัดการเท่าเทียมกัน

ในปี 2566 จะเป็นการศึกษาออกแบบ และเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 2571 ส่วนการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สำหรับขนสินค้าคาดว่าจะก่อสร้างถึงสถานีนาทา หนองคาย ในปี 2569 และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสำหรับคนโดยสารคาดว่าจะมาถึงหนองคายในปี 2572

พร้อมทั้งมีการจัดสร้างสถานีพักคอยรถบรรทุก สามารถจอดรถได้ 200 คัน ที่บ้านหนองสองห้อง อ.เมืองหนองคาย ริมถนนมิตรภาพ ก่อนที่รถบรรทุกสินค้าจะนำสินค้าข้ามแดน จะมีรถโมบายล์เอกซเรย์ของศุลกากรเข้าตรวจสอบ จำนวน 3 คัน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า และสามารถปล่อยรถที่ได้รับการตรวจตามขั้นตอนปฏิบัติแล้วออกไปได้ โดยสถานีพักคอยรถบรรทุกจะเปิดใช้ในปี 2566


ทั้งนี้ จังหวัดหนองคายได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมาตั้งแต่ปี 2558 ในพื้นที่ 12 ตำบลของอำเภอเมืองหนองคาย และ 1 ตำบลของอำเภอสระใคร ทางจังหวัดได้ประกาศประมูลพื้นที่สำหรับจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมหรือการลงทุนในด้านต่างๆ แล้ว 4 ครั้ง แต่ไม่มีผู้สนใจลงทุน....ถามว่าเพราะเหตุใด น่าจะเป็นเพราะนักลงทุนพิจารณาแล้วเห็นว่าหากลงทุนในทันที ทั้งที่ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟรางคู่ที่สามารถขนส่งสินค้า บริการผู้โดยสารได้รวดเร็ว ก็จะไม่คุ้มค่า แบกภาระจ่ายค่าเช่าที่ดินโดยเปล่าประโยชน์เป็นเวลาหลายปี

ดังนั้นมีนักลงทุนหลายรายทั้งคนไทยและคนจีนจึงรอให้การสร้างทางรถไฟใกล้แล้วเสร็จ จึงจะเข้าประมูลทำประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระหว่างนี้กรมทางหลวงก็จะจัดสร้างถนนไว้รองรับ เป็นถนน 4 เลน จากหนองสองห้องถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และยังมีความต้องการด้านสาธารณูปโภคและความต้องการทางด้านสาธารณสุขที่จะต้องขยายตัวอย่างมีมาตรฐานและประสิทธิภาพเพื่อรองรับการให้บริการด้านการรักษาสาธารณสุขแก่คนลาว คนจีน ที่มีความต้องการรับการรักษาที่โรงพยาบาลในประเทศไทยด้วย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 19/10/2022 4:26 pm    Post subject: Reply with quote

วีดิทัศน์นำเสนอครม.ผลการประชุมการเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ณ สปป.ลาว l กระทรวงคมนาคม
Oct 19, 2022
Daoreuk Channel

วีดิทัศน์นำเสนอคณะรัฐมนตรีสรุปผลการประชุมโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ณ สปป.ลาว
วันที่ 18 ตุลาคม 2565
โดย กระทรวงคมนาคม


https://www.youtube.com/watch?v=6_h6p_j97PI

Click on the image for full size

Click on the image for full size

Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 20/10/2022 2:13 pm    Post subject: Reply with quote

รายงานพิเศษ " เปิดเส้นทางรถไฟ ลาว - จีน " ข่าวดึก วันที่ 22 ตุลาคม 2565 #NBT2HD
Oct 23, 2022
NewsNBT THAILAND

การเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ได้สร้างความตื่นเต้นและกระแสตอบรับที่ดีมากจากนักท่องเที่ยว เพราะทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศสะดวก รวดเร็วมาก จากจีน มาลาว แป๊บเดียวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว และไทยก็ไม่ได้ตกขบวนนะคะ รัฐบาลได้มองเห็นโอกาสและมีการวางแผนเชื่อมต่อเส้นทางไว้แล้ว ตอนนี้กำลังเร่งก่อสร้างอยู่ ติดตามจากรายงาน


https://www.youtube.com/watch?v=K-f1cv0K66Y


วีดิทัศน์เสนอครม.ปรับปรุงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1(หนองคาย–เวียงจันทน์)รองรับการขนส่งสินค้าฯ l 4 ก.ย. 65
Oct 20, 2022
Daoreuk Channel

วีดิทัศน์เสนอ ครม. การปรับปรุงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่1 (หนองคาย–เวียงจันทน์) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าฯ l 4 ก.ย. 65 กรมการขนส่งทางราง


https://www.youtube.com/watch?v=Ti4wBuj4jiw
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 24/10/2022 7:53 am    Post subject: Reply with quote

ลาว-ไทย-จีน เล็ง สร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่
Oct 24, 2022
LT VISION


https://www.youtube.com/watch?v=9EFonslwZ5I
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 01/11/2022 6:31 am    Post subject: Reply with quote

ทล.จ้างศึกษารูปแบบสะพานรถไฟข้ามโขงแห่งใหม่ ควัก4ล.เร่งสรุปเชื่อม"หนองคาย-เวียงจันทน์"
Source - ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
Tuesday, November 01, 2022 04:42

ผู้จัดการรายวัน360 - กรมทางหลวงลงนาม จ้างที่ปรึกษาศึกษาสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เชื่อม "หนองคาย-เวียงจันทน์" ควักงบเหลือจ่าย 40 ล้านบาท วิเคราะห์ 3 รูปแบบ เร่งสรุปชง กก.ร่วม 3 ฝ่าย "ไทย-ลาว-จีน" เคาะ ใช้ร่วมหรือแยกระหว่างรถไฟกับรถยนต์

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ ว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 กรมทางหลวงได้ลงนามจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครง การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ หนองคาย- เวียงจันทน์ แห่งที่ 2 (หนองคาย2 ) แล้ว วงเงิน 40 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายปี 2565 ดำเนินการ ระยะเวลาศึกษา 270 วัน (11 ต.ค. 2565-7 ก.ค.2566)

โดยในช่วง 4 เดือนแรก จะเร่งที่ปรึกษาให้สรุปความเป็นไปได้และกรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้นในแต่ละรูปแบบ เพื่อนำไปหารือในคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย (ไทย สปป.ลาว จีน) คัดเลือกรูปแบบการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้าแห่งใหม่ หากได้ข้อสรุป จะดำเนินการออกแบบรายละเอียดคู่ขนาน เพื่อให้การก่อสร้างสอด คล้องกับการก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราช สีมา-หนองคาย

รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท AEC, บริษัท MAA, บริษัท UAE, บริษัท PSK ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม Feasibility study (FS), ศึกษาปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้า พร้อมทั้งศึกษารูปแบบการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, ศึกษาและคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่, วิเคราะห์ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์

งานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้น Initial Environmental Examination (IEE), ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน Public Participation (PP) และงานประชุมร่วมระหว่างประเทศ ไทย กับ สปป.ลาว

Click on the image for full size

สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ หนองคาย-เวียงจันทน์ แนวคิด เบื้องต้นมี 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน รองรับรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง, รถไฟความเร็วสูง ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge), ถนนขนาด 2 ช่องจราจร รองรับรถยนต์

โดยมีการปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้รองรับการเดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียว

Click on the image for full size

รูปแบบที่ 2 ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน รองรับรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง, รถไฟความเร็วสูง ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge)

ก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ทางด้านเหนือน้ำของสะพานปัจจุบันอีก 2 ช่องจราจรและปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้รองรับการเดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียว รวมเป็น 4 ช่องจราจร

Click on the image for full size

รูปแบบที่ 3 ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน รองรับรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง, รถไฟความเร็วสูง ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้รองรับการเดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียว

สำหรับเหตุผลที่ต้องก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ หนองคายเวียงจันทน์ เนื่อง จากสะพานเดิมแออัด รถยนต์กับรถไฟไม่สามารถใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน โดยจากสถิติปริมาณจราจร (รถทุกประเภท) บนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีจำนวนรวม 873,145 คัน มีการเดินทางเข้า-ออก มากกว่า 1.4 ล้านคน และมีมูลค่าการการค้าชายแดน เป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 30% ของมูลค่าการการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว

ส่วนปี 2563 สถิติปริมาณจราจร (รถทุกประเภท) รวม 483,055 คัน ปี 2564 จำนวนรวม 138,770 คัน ปี 2565 (ถึงเดือน ก.ย. 2565) มีจำนวนรวม 246,576 คัน

ปริมาณจราจรที่กลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก รถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ส่งผลให้มีการคมนาคมขนส่ง และความต้องการในการส่งออกสินค้าไปยังสาธารณรัฐ ประชาชน จีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึง มีความจำเป็นต้องขยายเส้นทาง ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องนโยบายการพัฒนาโครงข่าย รถไฟไทย ลาว จีน.

ที่มา: นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 1 พ.ย. 2565
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 01/11/2022 5:25 pm    Post subject: Reply with quote

การปรับปรุงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่1 หนองคาย–เวียงจันทน์ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย Official
Nov 4, 2022


https://www.youtube.com/watch?v=4dOtInsoO1o

การปรับปรุงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าด้วยน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน/เพลา

เส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ หนองคาย-ท่านาแล้ง เปิดเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 โดยในช่วงแรกมีเฉพาะขบวนรถโดยสารให้บริการ และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ได้มีการเปิดขบวนรถรวมขนส่งสินค้าระหว่างสถานีหนองคาย ถึง สถานีท่านาแล้ง โดยมีการหยุดเดินขบวนรถในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประมาณ 1 ปี และกลับมาเปิดเดินรถอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย กับ สปป. ลาว เป็นหนึ่งในช่องทางเชื่อมต่อ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 1 หนองคาย – เวียงจันทน์ โดยปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยใช้รถจักรและรถพ่วงน้ำหนักกดเพลาที่ 15 ตัน/เพลา หรือ U15 สามารถขนส่งรถสินค้าได้ขบวนละ 25 คัน มีน้ำหนักบรรทุกคันละไม่เกิน 45 ตัน หรือประมาณ 1,125 ตันต่อขบวน ตามข้อกำหนดขีดความสามารถในการรองรับน้ำหนักที่สามารถข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 หนองคาย ของคณะกรรมการบริหารสะพานร่วมไทย-ลาว

อย่างไรก็ตาม ตลอดเส้นทางขนส่งสินค้าสายตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสถานีท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าของประเทศไทย ถึง สถานีหนองคาย สามารถรองรับรถจักรและรถพ่วงที่มีน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน/เพลา หรือ U20 สามารถขนส่งรถสินค้าได้ขบวนละ 30 คัน โดยมีน้ำหนักบรรทุกคันละไม่เกิน 62 ตัน หรือประมาณ 1,860 ตันต่อขบวนซึ่งในส่วนของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ได้ถูกออกแบบก่อสร้างให้สามารถรองรับพิกัดน้ำหนัก 20 ตัน/เพลาได้ แต่เนื่อง
จากสะพานมีอายุการใช้งานมานาน คณะกรรมการบริหารสะพานร่วม ไทย-ลาว ได้มีมติให้มีการทดสอบความสามารถในการรองรับน้ำหนักบรรทุกดังกล่าวก่อนทำการขนส่ง

ที่ผ่านมา มีความต้องการในการใช้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ติดอุปสรรคบางประการ เช่น น้ำหนักตู้สินค้านำเข้า-ส่งออก รวมถึงการขนส่งตู้สินค้าผ่านแดนทางรถไฟจากประเทศจีน ซึ่งมีน้ำหนักสูง ต้องใช้รถพ่วง (แคร่) ที่รองรับน้ำหนักพิกัดสูง จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ยังไม่สามารถข้ามสะพานได้ เช่น สินค้าประเภทปุ๋ยเคมี แร่ธาตุ และข้าวสาร เป็นต้น เป็นเหตุให้สินค้าน้ำหนักสูงจากจีนและ สปป.ลาว ต้องเปลี่ยนโหมดการขนส่งข้ามสะพานด้วยทางถนนแทน ส่งผลให้เพิ่มปริมาณการจราจรทางถนนผ่านสะพาน และต้นทุนในการขนส่งสูงขึ้น เพราะหากมีสินค้าที่มีน้ำหนักสูง ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนการขนส่งจากรถไฟเป็นรถยนต์

ดังนั้น กระทรวงคมนาคม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับปรุงสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 ให้มีความแข็งแรง เพื่อสามารถรองรับการเดินขบวนรถสินค้าน้ำหนักพิกัด U20 ได้ จะทำให้การขนส่งทางรางตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมการขนส่งทางรางและช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศได้อย่างยั่งยืน


STI ปิดดีลงานที่ปรึกษาสร้างสะพานข้ามโขงแห่งใหม่หนองคาย-เวียงจันทน์
ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 1, 2022 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ (STI) เปิดเผยว่า บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย คว้างานที่ปรึกษาโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ มาครอบครองได้อย่างสำเร็จ จากศักยภาพในงานโครงสร้างพื้นฐานระดับแถวหน้าของประเทศและความไว้วางใจของกรมทางหลวงที่ได้ส่งมอบงานให้ดูแลอย่างเสมอมา

ล่าสุด กรมทางหลวง ลงนามในสัญญาจัดจ้าง AEC เป็นกลุ่มที่ปรึกษาในการศึกษารูปแบบของสะพาน ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงศึกษาและคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่ ความเป็นไปได้ของแต่ละรูปแบบ และเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการปรึกษาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย (ไทย, สปป.ลาว, จีน) และเพื่อให้การก่อสร้างสอดคล้องกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย มูลค่าจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการมูลค่า 40 ล้านบาท

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ หนองคาย-เวียงจันทน์ นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย - เวียงจันทน์) โดยสะพานแห่งใหม่จะรองรับรถไฟขนาดทาง 1.435 เมตร (Standard Gauge) และขนาดทาง 1 เมตร (Meter Gauge) รวมถึงจะมีการศึกษาเกี่ยวกับการรองรับการขนส่งทางรถยนต์ด้วย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างไทย-ลาว-จีน ที่มีความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า โค้งสุดท้ายของปี 65 กลุ่ม STI โชว์ฟอร์มดี ปิดดีลตุนงานเข้าพอร์ตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากงานภาครัฐและเอกชน ทำให้ปัจจุบัน STI มีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 4,800 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ 2-3 ปี และยังลุยประมูลงาน มองหาโอกาสชิงงานเข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง เสริมรากฐานความมั่นคงและสร้างการเติบโตในระยะยาวอย่างแข็งแกร่ง
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44667
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 22/12/2022 7:58 am    Post subject: Reply with quote

ครบ5ปีไฮสปีดสายแรกได้16% รอนั่งรถไฟ ”ไทย-จีน” ยาวไปๆๆ
เดลินิวส์ 20 ธันวาคม 2565 8:00 น.
มุมคนเมือง

ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ จะครบ 5 ปีเต็ม ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง สายแรกของประเทศไทย ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน จนถึงวินาทีนี้ภาพรวมการก่อสร้างได้ผลงานเพียง 16% สุดท้ายแล้วความฝันที่จะนั่งไฮสปีดเทรนจากไทยฉิวๆ เชื่อมลาวไปจีน ก็ต้องรอกันยาวไป..ยาวไป...กว่าจะสิ้นสุดการรอคอย!

วันที่ 21 ธ.ค. 65 จะครบ 5 ปีเต็มในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) สายแรกของประเทศไทย ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) รวม 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาปฏิรูปแห่งชาติจีน ร่วมทำพิธีเริ่มก่อสร้างคันทางรถไฟไฮสปีดสายประวัติศาสตร์ที่มอหลักหิน รัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 60 ภายใต้แนวคิด “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น”  

แต่เดิมมีแผนเปิดบริการเฟสแรกในปี 66 แต่จนถึงวินาทีนี้ ภาพรวมการก่อสร้างได้ผลงานเพียง 16% การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของโครงการได้ปรับแผนเปิดบริการเรื่อยมา ล่าสุดเลื่อนเปิดบริการเป็นปี 69-70 แต่ดูทรงแล้วคงจะเลื่อนออกไปอีกเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้รฟท.เดินหน้าโครงการเฟส2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท ได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และยื่นขอพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (สผ.) แล้ว คาดว่าจะเสนอโครงการต่อคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. พิจารณาเดือน ม.ค.-ก.พ.66 ก่อนเสนอกระทรวง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

หากที่ประชุม ครม. เห็นชอบภายในเดือน เม.ย.-พ.ค. 66 รฟท. จะเริ่มกระบวนการประกวดราคา (ประมูล) และได้ผู้ชนะพร้อมลงนามสัญญาภายในปลายปี 66 เริ่มงานก่อสร้างปี 67 และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณใช้เวลา 4 ปี เนื่องจากต้องให้งานโยธาผ่านไปแล้ว 2-3 ปี จึงจะเริ่มงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณได้ ตามแผนคาดว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ประมาณกลางปี 72 แต่กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้เร่งรัดเปิดบริการได้ภายในปี 71 เบื้องต้นโครงการแบ่งเป็น 13 สัญญา เป็นงานโยธา 12 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา

รฟท. จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีความล่าช้ามากก มาเป็นประสบการณ์ เพื่อให้งานเฟสที่ 2 เดินหน้าได้อย่างรวดเร็วไม่ล่าช้าเหมือนเฟส 1

สาเหตุของความล่าช้านอกจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ประสิทธิภาพของผู้รับจ้างก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานล่าช้า จากบางสัญญาทำงานได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่บางสัญญาสถานะของงาน คืบหน้าช้ามาก ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการเวนคืน และผู้บุกรุก รวมถึงการประท้วง และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค

เบื้องต้นวางแผนไว้ว่า ตั้งแต่ต้นปี 66 จะให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มขับไล่ผู้บุกรุก ซึ่งอยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง อาทิ สถานีบัวใหญ่, สถานีขอนแก่น และสถานีอุดรธานี พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพราะเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้โครงการล่าช้ามาก โดยต้องให้จบก่อนลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลช่วงปลายปี 66 ส่วนเรื่องการเวนคืนโครงการฯ เฟสที่ 2 คาดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นของ รฟท. โดยใช้เขตรถไฟเดิมเกือบทั้งหมด มีการเวนคืนพื้นที่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเขา

โครงการฯ เฟส 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ตลอดแนวเส้นทาง 356 กม. แบ่งเป็นทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กม. และทางรถไฟยกระดับ 171 กม. มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย รวมทั้งจะก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จ.หนองคาย การออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร

รถไฟใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กม.ต่อ ชม. ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหนองคาย ระยะทางรวม 609 กม. ประมาณ 3 ชม.15 นาที. ค่าโดยสารตลอดสาย 984 บาท ส่วนเฟสแรกจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253กม. เดินทางประมาณ ชม.ครึ่ง ค่าโดยสาร 107-534 บาท

ในอนาคต ไทย-ลาว-จีน มีแผนเชื่อมต่อโครงข่ายร่วมกันระหว่างสามประเทศ โดย สปป.ลาว เห็นชอบให้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 อยู่ห่างสะพานตัวเก่า 30 เมตร สะพานใหม่มี 4 ราง แบ่งเป็น Meter Gauge ขนาดราง 1 เมตร 2 ราง สำหรับรถไฟทางคู่ และ Standard Gauge ขนาดราง 1.435 เมตร 2 ราง สำหรับรถไฟไฮสปีด ฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย โดยกรมทางหลวง (ทล.) จะศึกษาออกแบบรายละเอียด 1-2 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสะพานรถไฟได้กลางปี 67 แล้วเสร็จประมาณกลางปี 68-69

เมื่อก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เสร็จ รถไฟไฮสปีดของไทยสามารถใช้สะพานข้ามไปยังฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน ได้ทันที ช่วง2-3 ปีนี้ต้องเจรจากับฝ่าย สปป.ลาว ทำทวิภาคีร่วมกันให้รถไฟไฮสปีดไทยเดินรถข้ามสะพานรถไฟแห่งใหม่ และใช้รางของลาวเดินรถตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน ไปยังคุนหมิงได้เลย ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ แต่เมื่อใช้รางของลาวต้องลดความเร็วเดินรถให้เท่ากับความเร็วของรถไฟลาว-จีน เพราะระบบอาณัติสัญญาณไม่ได้รองรับความเร็วสูง รถไฟลาว-จีนความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 160 กม.ต่อชม. รถไฟไฮสปีดไทย-จีนอยู่ที่ 250 กม.ต่อชม.

กลับมาอยู่กับปัจจุบัน 5 ปี ก่อสร้างรถไฟไฮสปีดสายแรกคืบหน้าไม่ถึง 20% ความฝันที่จะนั่งไฮสปีดเทรนจากไทยฉิวๆเชื่อมลาวไปจีน ยาวไป..ยาวไป…กว่าจะสิ้นสุดการรอคอย

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงสร้างทางวิศวกรรมที่เกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4  Next
Page 2 of 4

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©