RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai Gallery in Facebook

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311296
ทั่วไป:13275814
ทั้งหมด:13587110
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ไทย-ลาว-จีน
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ไทย-ลาว-จีน
Goto page Previous  1, 2, 3, 4  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงสร้างทางวิศวกรรมที่เกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44663
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 15/05/2023 3:34 pm    Post subject: Reply with quote

16 พ.ค. เคาะแบบสร้างสะพานหนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2
เดลินิวส์ 15 พฤษภาคม 2566 15:14 น.
เศรษฐกิจ-ยานยนต์

16 พ.ค. “ทางหลวง” ฟังเสียงชาวหนองคาย เสนอทางเลือก 3 รูปแบบพัฒนาโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) 2 เคาะรูปแบบเหมาะสมสร้างสะพานใหม่ 2 สะพาน สำหรับรถไฟ และรถยนต์ เร่งสรุปงบก่อสร้าง ผลศึกษาเสร็จ ก.ค. นี้ ตั้งเป้าสร้างปี 69 เปิดบริการปี 72 เพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมการเดินทางรถไฟ ไทย-ลาว-จีน

รายงานข่าวจากรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า วันที่ 16 พ.ค. นี้ ที่โรงแรมรอยัล นาคาราหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย จัดประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) แห่งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดของโครงการ รวมทั้งผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน และขั้นตอนที่ต้องดำเนินงานต่อไปให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการสำหรับนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการได้ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ จ.หนองคาย ประเทศไทย และ เวียงจันทน์ สปป.ลาว และพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากโครงการ จุดเริ่มต้นโครงการจะอยู่บริเวณเชิงลาดของตัวสะพานฝั่งประเทศไทย จุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่บริเวณเชิงลาดตัวสะพานฝั่ง สปป.ลาว ทั้งนี้ การศึกษาคำนึงถึงโครงข่ายการคมนาคมที่มาเชื่อมต่อกับสะพานทั้งสองฝั่งด้วย

การประชุมครั้งนี้ นำเสนอรูปแบบทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสม 3 รูปแบบ และสรุปรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ได้แก่ รูปแบบที่ 1 กรณีก่อสร้างสะพานใหม่ 1 สะพาน เพื่อรองรับเฉพาะรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง โดยทำการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน เป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง (ทางรถไฟขนาด 1 เมตร รองรับรถไฟทางคู่ และทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง) พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว

รูปแบบที่ 2 กรณีก่อสร้างสะพานใหม่ 1 สะพาน เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงในปัจจุบัน พร้อมทั้งช่องทางสัญจรสำหรับรถยนต์ใช้งานร่วมกันบนสะพานเดียวกัน โดยก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน เป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง (ทางรถไฟขนาด 1 เมตร และทางรถไฟขนาดมาตรฐาน) และมีทางสัญจรสำหรับรถยนต์ขนาด 2 ช่องจราจร รวมกับ 2 ช่องจราจรของสะพานเดิมเป็นทั้งหมด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว

รูปแบบที่ 3 กรณีก่อสร้างสะพานใหม่ 2 สะพาน โดยทำการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน 1 สะพาน สำหรับรองรับรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง (ทางรถไฟขนาด 1 เมตร และทางรถไฟขนาดมาตรฐาน) และก่อสร้างสะพานรถยนต์ใหม่ 1 สะพาน อยู่ทางด้านต้นน้ำของสะพานปัจจุบันอีก 2 ช่องจราจร เมื่อรวมกับ 2 ช่องจราจรของสะพานเดิมเป็นทั้งหมด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว

ซึ่งรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ รูปแบบที่ 3 ซึ่งสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้มาก และไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่วัดจอมมณี แต่การก่อสร้างสะพานใหม่ 2 แห่ง จะมีค่าก่อสร้างสูง หลังจากรับฟังความคิดเห็นจะนำข้อมูลมาประกอบผลการศึกษาสรุปรูปแบบโครงการที่เหมาะสม ประเมินมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น สรุปงบประมาณโครงการ และดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ให้แล้วเสร็จต่อไป

จากนั้นจัดประชุมสัมมนาครั้งที่ 3 (ปัจฉิมโครงการ) เพื่อสรุปผลการศึกษาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบข้อมูล พร้อมนำความคิดเห็นผู้ร่วมประชุมมาประกอบการผลการศึกษาให้เสร็จสมบูรณ์เดือน ก.ค. 66 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งเสนอขอรับงบประมาณปี 67 เพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียดและศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในรูปแบบที่เหมาะสมใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี และขั้นตอนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณา EIA อีกอย่างน้อย 1 ปี ก่อนจะเสนอขอรับงบประมาณปี 69 (ปี 69-71) เพื่อก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 3 ปี คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 72

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟ ไทย-ลาว-จีน ยังขาดโครงสร้างตัวสะพานข้ามแม่น้ำโขงข้ามพรมแดนประเทศไทย-สปป.ลาว ในการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน กับสถานีหนองคาย โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งสะพานเดิมไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่งได้เพียงพอ จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เริ่มดำเนินการ ดังนั้นรัฐบาลทั้ง 3 ฝ่าย ไทย-ลาว-จีน ร่วมลงนามข้อตกลงเห็นชอบร่วมกันว่าการสร้างสะพานใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟ หนองคาย-เวียงจันทน์ จะตั้งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานเดิม อยู่ห่างประมาณ 30 เมตร โดยสะพานแห่งใหม่จะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร

กระทรวงคมนาคมสั่งให้ ทล. ขอรับจัดสรรงบกลางการออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมการเดินทางรถไฟ ไทย-ลาว-จีน โดยให้ทำสะพานรองรับทั้งรถไฟและรถยนต์ในคราวเดียวกัน ทล. จึงจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่าง ไทย-ลาว-จีน ให้สมบูรณ์ต่อไป โดยเริ่มศึกษาวันที่ 11 ต.ค. 65-7 ก.ค. 66 ระยะเวลา 270 วัน งบประมาณศึกษา 39.3 ล้านบาท

https://www.facebook.com/100047017301335/posts/791711505739419
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44663
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 12/06/2023 2:47 pm    Post subject: Reply with quote

ลาวชะลอสร้างสะพานใหม่ขอใช้ของเดิม | อาเซียน 4.0 ออนไลน์ |TNN| อาทิตย์ที่ 11 มิ.ย. 2566
TNN Online
Jun 11, 2023


https://www.youtube.com/watch?v=t29VYE9aWkc

เว็บไซต์ vientiane times รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566
คณะผู้บริหารจากประเทศไทย ได้เดินทางไปเจรจากับผู้บริหาร
ท่าบกท่านาแล้ง ในสปป.ลาว เพื่อ "หาจุดร่วม" เพื่อเร่งให้เกิดการ
ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ด้วยระบบรถไฟ ไปจีนและยุโรป

รายงานข่าวระบุว่า ผู้บริหารจากไทย กำลังหันมาใช้เส้นทางรถไฟ
ในการขนส่งสินค้าประเภทอาหารสด และอื่นๆ ไปยังจีนมากขึ้น
เพราะการขนส่งจากไทยไปถึงเมืองปลายทางในจีนใช้เวลานั้นเพียง 3 วัน
โดยเฉพาะการขนส่งทุเรียน ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566

โดยการหารือครั่งนี้ ฝ่ายไทยนำโดย กรมการขนส่งทางบก และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เชิญผู้ประกอบการขนส่งเข้าร่วมการสํารวจเส้นทาง
การขนส่งสินค้าทางถนนข้ามแดน – ผ่านแดน เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในเส้นทางหนองคาย - เวียงจันทน์ - บ่อเต็น – บ่อหาน - คุนหมิง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ กระบวนการขนส่งและเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางถนนและทางราง ระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไทย และต่างประเทศ

ผู้ที่ร่วมเดินทางไปสำรวจเส้นทางของฝ่ายไทย ได้แก่
- กรมการขนส่งทางบก
- สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
- มหาวิทยาลัยต่างๆ
- บริษัทด้านการขนส่งสินค้า

ทั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการขนส่ง ระหว่าง 2 ฝ่าย
โดยนาย สาคอน พิลางาม ผู้จัดการท่าบกท่านาแล้งฝ่ายสปป.ลาว
แนะนำให้ผู้ประกอบการไทยต้องตรวจสอบและสำแดงสินค้าก่อนกำหนด
รวมทั้งต้องสำแดงจำนวนภาชนะบรรจุและซีลให้ถูกต้อง
เพราะเวลานี้พบว่า ร้อยละ 60 ของสินค้าจากประเทศไทย
เมื่อส่งมาถึงท่านาแล้ง ไม่มีตราประทับ
ต้องทำการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าช้าลง

สปป.ลาวเสริมว่าทั้งสองฝ่ายควรกำหนดให้ มีการดำเนินการ
ขั้นตอนพิธีการศุลกากรในประเทศไทยล่วงหน้า ซึ่งสามารถแบ่งปันข้อมูล
เพื่อลดขั้นตอนและเร่งการเคลื่อนย้ายสินค้า
โดยสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่หนึ่ง ซึ่งใช้อยู่มากในปัจจุบัน
ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับท่านาแล้ง มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับรถบรรทุกที่เข้าสู่สปป.ลาว
ทั้งสองฝ่ายควรเปิดใช้สะพานให้เร็วกว่านั้น หรือเปิดทำการในช่วงเวลากลางคืนด้วย
เวลานี้สะพาน "ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ"
ถ้ามีการใช้ประโยชน์จากสะพานที่มีอยู่อย่างเต็มที่
เป็นความคิดที่ดีกว่าการสร้างสะพานแห่งที่สอง

โดยเมื่อปี 2565 ไทยและสปป.ลาว จะสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
คู่ขนาน ห่างจากสะพานเดิมเพียง 500 เมตร คาดก่อสร้างได้ปี 2567
สร้างเสร็จภายใน 3 ปี ไทย-สปป. ลาวร่วมมือกันลงทุนคนละครึ่ง
โดยหวังว่าจะทำให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งสองฝั่งคึกคัก
แต่ดูเหมือนว่าฝั่งสปป.ลาวจะชะลอ แนวคิดนี้ไว้ก่อน


ทางด้านนายปัญญา ปะพุธสะโร ประธานกรรมการ บริษัทเก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ตกล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการขนส่งสินค้าหลายรายการจากไทยไปจีน โดยเฉพาะทุเรียนและพบว่า การขนส่งทางรถไฟช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ร้อยละ 30

ปี 2565 ท่าบกท่านาแล้ง รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 50,000 ตู้
โดยขนส่งสินค้าไปยัง เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย จีน และรัสเซีย

ด้วยเครือข่ายรถไฟจีน-ยุโรป สินค้าที่ขนส่งทางรถไฟ สามารถเข้าถึงตลาดยุโรปได้
ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้มากกว่า เนื่องจากใช้เวลาขนส่งเพียง 2 สัปดาห์ เทียบกับ 45 วันทางทะเล

ทางด้านนายนายเวียงโคน สิทธิไช รองประธานธานบริษัท VLP เผยว่า ท่าบกท่านาแล้ง และระบบโลจิสติกส์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Lao Logistics Link ที่จะเชื่อมโยงลาวออกสู่ทะเล ที่ท่าเรือหวุงอัน ในจังหวัดฮาตินห์ ของเวียดนาม ซึ่งจะมีโครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมจากเวียงจันทน์ไปยังท่าเรือหวุงอัน ในอนาคตด้วย ดังนั้นสินค้าที่มีปลายทางฝั่งแปซิฟิก สามารถใช้บริการเส้นทางนี้ได้เช่นกัน
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44663
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 07/09/2023 11:28 am    Post subject: Reply with quote

หอการค้าหนองคาย เตรียมเสนอโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจจังหวัดชายแดน ให้ "เศรษฐา" ช่วยผลักดันก่อนลงพื้นที่
บ้านเมือง วันพฤหัสบดี ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2566, 11.19 น.

นายบัญชา อาศรัยราช ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย.66 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหอการค้าจังหวัดหนองคาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย ผู้ประกอบการค้าชายแดนในพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะได้รับทราบและพิจารณาในวาระที่จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ช่วงวันที่ 8-9 ก.ย.นี้

ประเด็นที่หอการค้าจังหวัดหนองคายและภาคธุรกิจหยิบขึ้นมาเตรียมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี จะประกอบไปด้วยการเร่งรัดให้สร้างสะพานรถไฟคู่ขนานเพื่อลดความแออัดของการคมนาคมทางรถไฟไทย – ลาว ที่ปัจจุบันยังเป็นระบบร่วมระหว่างรถไฟกับรถยนต์ ส่งเสริมให้มีศูนย์บิซิเนสเซนเตอร์ แลกเปลี่ยนเงินตรา บริเวณหน้าด่านพรมแดนเป็นศูนย์รวมสถานที่บริการท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม ประสานงานธุรกิจไทย ลาว การปรับปรุงขยายด่านพรมแดนรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่งเสริมสถานีรถไฟนาทาให้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลไดรพอร์ต แทนทรานชิฟเม้น เสนอให้ก่อสร้างถนนจากถนนมิตรภาพ หมายเลข 2 เข้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะทาง 4.8 กิโลเมตร ในพื้นที่ อ.สระใคร ขอให้มีการก่อสร้างสถานีรถไฟต้นทางสร้างให้เสร็จพร้อมกันกับสะพานคู่ขนาน เร่งรัดโครงการรางคู่จากนครราชสีมา – หนองคาย ให้แล้วเสร็จตามกำหนด ปี 2569 และอยากให้นายกรัฐมนตรีปลดล็อคผังเมือง หรือใบอนุญาตสถานประกอบการบันเทิงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากขึ้นในขณะนี้.
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44663
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 02/11/2023 4:51 pm    Post subject: Reply with quote

ลาว-ไทยหารือสร้าง ‘สะพานทางรถไฟ’ ข้ามแม่น้ำโขง
November 1, 2023

(แฟ้มภาพซินหัว : พื้นที่ภายในสถานีหลวงพระบางของทางรถไฟจีน-ลาว ในแขวงหลวงพระบางของลาว วันที่ 25 ก.พ. 2022)

เวียงจันทน์, 1 พ.ย. (ซินหัว) — สะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลาว และปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เริ่มหารือเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานรองรับทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขง ที่เชื่อมระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว กับจังหวัดหนองคายทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

วันพุธ (1 พ.ย.) ลาวพัดทะนา สื่อท้องถิ่นของลาว รายงานว่าระหว่างการพบปะของทั้งสองในเวียงจันทน์ เมื่อวันจันทร์ (30 ต.ค.) ที่ผ่านมา สะเหลิมไซและปานปรีย์ยังได้หารือถึงการขยายเส้นทางรถไฟข้ามพรมแดนจากหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเกื้อหนุนการเข้าถึงทางรถไฟจีน-ลาวให้สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องส่งเสริมให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของลาวและไทยพิจารณาวิธีการส่งเสริมปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มเติม โดยขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่และเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ

นอกจากนั้น การเจรจาดังกล่าวยังมีเป้าหมายส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างลาวและไทยผ่านการใช้งานสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาในช่วงปีแห่งการท่องเที่ยวลาว 2024 (Visit Laos Year 2024)
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44663
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 15/11/2023 6:52 am    Post subject: Reply with quote

สร้างใหม่3,117ล.แยกรถไฟ-รถยนต์
Source - เดลินิวส์
Wednesday, November 15, 2023 04:27

สะพานหนองคาย-เวียงจันทน์2

สรุปผลศึกษาเริ่มเฟสแรกปี69

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ได้ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้น โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคายเวียงจันทน์ แห่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อสร้างต่อไป อาจเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

ผลการศึกษาจะก่อสร้างสะพานใหม่ 2 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ 1.ก่อสร้างสะพานรถไฟ ด้านท้ายน้ำของสะพานเดิม สำหรับรองรับรถไฟทางคู่ (รางขนาด 1 เมตร 2 ทาง) และรถไฟความเร็วสูง (รางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร 2 ทาง) ทำให้มีสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง สะพานกว้าง 24.2 เมตร และ 2.ก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ ด้านเหนือน้ำของสะพานเดิม 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร และมีทางเดินเท้ากว้างข้างละ 1.5 เมตร รวมความกว้างสะพาน 13 เมตร

โครงการมีวงเงินลงทุนประมาณ 3,117 ล้านบาท กำหนดการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ (เฟส) ตามปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้า ดังนี้

เฟส 1 ก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่และปรับปรุงสะพานรถยนต์เดิม วงเงิน 2,083 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างกว่า 1,840 ล้านบาท ค่าควบคุมงานกว่า 142 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินกว่า 88 ล้านบาท และค่าจัดการสิ่งแวดล้อมกว่า 11 ล้านบาท โดยก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ รองรับรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง พร้อมปรับปรุงสะพานเดิม โดยรื้อย้ายรางรถไฟเดิมออก ให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2569 ใช้เวลา 36 เดือนแล้วเสร็จและเปิดบริการในปี 2572

เฟส 2 ก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ วงเงิน 1,034 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างกว่า 957 ล้านบาท ค่าควบคุมงานกว่า 71 ล้านบาท และค่าจัดการสิ่งแวดล้อมกว่า 5 ล้านบาท โดยก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ 2 ช่องจราจร รวมกับ 2 ช่องจราจรของสะพาน เดิม เป็น 4 ช่องจราจร (2 ช่องต่อทิศทาง) มีแผนก่อสร้างปี 2584 ใช้เวลา 30 เดือน ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2587 หรือก่อสร้างหลังเปิดบริการสะพานเฟสแรกแล้วประมาณ 10 ปี.

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2566
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 17/11/2023 9:03 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
สร้างใหม่3,117ล.แยกรถไฟ-รถยนต์
Source - เดลินิวส์
Wednesday, November 15, 2023 04:27

สะพานหนองคาย-เวียงจันทน์2

สรุปผลศึกษาเริ่มเฟสแรกปี69
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2566


ลิงก์มาแล้วครับ

สรุปผลศึกษาสะพานไทย-ลาวหนองคาย-เวียงจันทน์2
*สร้างใหม่2สะพาน3,117ล้านแยกรถไฟ-รถยนต์
*รับรถไฟทางคู่-ไฮสปีดรวม 4ราง/รถยนต์ 4เลน
*เสนอคมนาคมเริ่มเฟสแรก2,083ล้านสร้างปี69
https://www.facebook.com/TransportDailynews/posts/889049982672237
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44663
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 03/12/2023 7:22 pm    Post subject: Reply with quote

“สุรพงษ์” ลงพื้นที่เช็กงานรถไฟ “อุดรฯ-หนองคาย-หนองบัวลำภู” ดันไทยฮับโลจิสติกส์
เดลินิวส์ 3 ธันวาคม 2566 19:10 น.
เศรษฐกิจ

“สุรพงษ์” ลงพื้นที่เช็กงานรถไฟ “อุดรฯ-หนองคาย-หนองบัวลำภู” ลุยสร้างทางรถไฟจากสถานีรถไฟหนองตะไก้ เข้านิคมฯ อุดรธานี แจ้งเกิดฮับโลจิสติกส์อีสาน คาดแล้วเสร็จ พ.ค.67 สั่ง รฟท. ปรับแบบแก้จุดตัดทางรถไฟ “แยกบ้านจั่น” ปักธง “ขอนแก่น-หนองคาย” แล้วเสร็จ พ.ค.70 ขณะที่สะพานรถไฟแห่งใหม่ ไทย-ลาว รฟท. กำลังจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด รองรับการเดินทางเชื่อมไทย-ลาว-จีน

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และรถไฟทางคู่ภาคอีสาน ในพื้นที่ จ.อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู ประกอบด้วย พื้นที่ย่านสถานีหนองตะไก้ สถานีนาทา สถานีหนองคาย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างเชื่อมทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ เข้าสู่พื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมทั้งแผนพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) สถานีนาทา และแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย ที่จะเชื่อมไปยังสถานีท่านาแล้งและเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รองรับการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ผ่านแดนระหว่างไทย – ลาว – จีน 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อต้องการขับเคลื่อนนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งและการค้าของไทย-ลาว-จีน ได้อย่างสะดวก ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติสก์ และเศรษฐกิจภูมิภาคในอนาคต ทั้งนี้ได้มีการรับฟังการบรรยายโครงการก่อสร้างทางรถไฟ เพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ เข้าสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร(กม.) โดยโครงการนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมาก ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.66 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.67 

นอกจากนี้ได้เดินทางโดยขบวนรถไฟไปที่สถานีนาทา ผ่านจุดตัดบริเวณทางแยกบ้านจั่น ซึ่งเป็นแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย โดยได้มอบนโยบายให้ รฟท. แก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟ กับ ทล. 216 บริเวณแยกบ้านจั่น โดยปรับรูปแบบการสร้างรถไฟทางคู่ช่วงดังกล่าว เป็นทางยกระดับข้ามจุดตัดทางหลวง 216 อยู่ในระดับที่ 2 รองจากรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับคงทางรถไฟทางเดี่ยวระดับพื้นดิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถยนต์ – รถไฟ ให้กับพี่น้องประชาชน

ในโอกาสนี้ยังได้รับฟังบรรยายโครงการพัฒนาย่านสถานี และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า ขนาดเนื้อที่ 379 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ระหว่างประเทศไทย – ลาว – จีน  โดยขณะนี้ รฟท. ได้ให้ที่ปรึกษาโครงการ ดำเนินการทบทวนรูปแบบการร่วมลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ก่อสร้างไปพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยจะใช้กรอบวงเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 มูลค่าการร่วมลงทุน 7,212 ล้านบาท ล่าสุดโครงการฯอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. พิจารณา จากนั้นจะเสนอ รมว.คมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนเห็นชอบหลักการ และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุน และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 71

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันยังได้เดินทางไปยังบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – ลาว เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งฝ่ายไทย และ สปป.ลาว จะร่วมลงทุนก่อสร้างร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ซึ่งขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน พร้อมกันนี้ยังได้รับฟังบรรยายความคืบหน้าโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ซึ่งล่าสุด ครม.อนุมัติ รฟท. ดำเนินการก่อสร้างโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 และมีกำหนดเวลาดำเนินการในเดือน พ.ค.67 ระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน คาดจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค. 70 

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคายขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)และอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการคาดว่าเปิดให้บริการปี 72 อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการระบบโลจิสติกส์ และรถไฟทางคู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยให้มีความสะดวก รวดเร็ว  ส่งเสริมการเติบโตทางการท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดนให้ขยายตัวได้อย่างมั่นคงเกิดการกระจายรายได้ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตลอดแนวเส้นทาง และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งคมนาคมของภูมิภาคได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 04/12/2023 5:19 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
“สุรพงษ์” ลงพื้นที่เช็กงานรถไฟ “อุดรฯ-หนองคาย-หนองบัวลำภู” ดันไทยฮับโลจิสติกส์
เดลินิวส์ 3 ธันวาคม 2566 19:10 น.
เศรษฐกิจ


“สุรพงษ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู เดินหน้านโยบาย Quick Win เร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ รถไฟทางคู่พื้นที่ภาคอีสาน เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน หนุนการค้า ท่องเที่ยว การลงทุนไทย - ลาว – จีน
วันนี้ 3 ธันวาคม 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และ นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และรถไฟทางคู่ภาคอีสาน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู ประกอบด้วย พื้นที่ย่านสถานีหนองตะไก้ สถานีนาทา สถานีหนองคาย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างเชื่อมทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ เข้าสู่พื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมทั้งแผนพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) สถานีนาทา และแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย
ที่จะเชื่อมไปยังสถานีท่านาแล้ง และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รองรับการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ผ่านแดนระหว่างไทย – ลาว - จีน โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และรถไฟภาคอีสาน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภูครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อต้องการขับเคลื่อนนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
ด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งและการค้าของไทย-ลาว-จีน ได้อย่างสะดวก ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติสก์ และเศรษฐกิจภูมิภาคในอนาคต
โครงการก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีรถไฟหนองตะไก้ สู่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี
ทั้งนี้ ได้มีการรับฟังการบรรยายโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ เข้าสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร โดยโครงการนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมาก ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2567
จากนั้น เดินทางโดยขบวนรถไฟไปที่สถานีนาทา ผ่านจุดตัดบริเวณทางแยกบ้านจั่น ซึ่งเป็นแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย โดยได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ แก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟ กับ ทล. 216 บริเวณแยกบ้านจั่น โดยปรับรูปแบบการสร้างรถไฟทางคู่ช่วงดังกล่าว เป็นทางยกระดับข้ามจุดตัดทางหลวง 216 อยู่ในระดับที่ 2 รองจากรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับคงทางรถไฟทางเดี่ยวระดับพื้นดิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถยนต์ - รถไฟ ให้กับพี่น้องประชาชน
โครงการพัฒนาย่านสถานี และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า
ในโอกาสนี้ ยังได้รับฟังบรรยายโครงการพัฒนาย่านสถานี และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า ขนาดเนื้อที่ 379 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ระหว่างประเทศไทย – ลาว – จีน โดยขณะนี้การรถไฟฯ ได้ให้ที่ปรึกษาโครงการ ดำเนินการทบทวนรูปแบบการร่วมลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ก่อสร้างไปพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยจะใช้กรอบวงเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 มูลค่าการร่วมลงทุน 7,212 ล้านบาท ล่าสุด โครงการฯอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการรถไฟฯ ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนเห็นชอบหลักการและเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุน และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
ติดตามโครงการพัฒนา เชื่อมโยงระบบขนส่งโลจิสติกส์ และรถไฟ ไทย-สปป.ลาว
ช่วงบ่ายได้นำคณะเดินทางไปยังบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – ลาว เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งฝ่ายไทย และ สปป.ลาว จะร่วมลงทุนก่อสร้างร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ซึ่งขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน
โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย
ต่อมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางถึงด่านพรมแดนหนองคาย พร้อมรับฟังบรรยาย
ความคืบหน้าโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ซึ่งล่าสุด ครม.ได้อนุมัติให้การรถไฟฯ ดำเนินการก่อสร้างโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 และมีกำหนดเวลาดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2567 ระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน คาดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2570
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุง รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)และอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2572
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการระบบโลจิสติกส์และรถไฟทางคู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยให้มีความสะดวก รวดเร็ว ส่งเสริมการเติบโตทางการท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดนให้ขยายตัวได้อย่างมั่นคง เกิดการกระจายรายได้
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตลอดแนวเส้นทาง และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งคมนาคมของภูมิภาคได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล
https://www.facebook.com/pr.railway/posts/748045620686765
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 13/12/2023 10:07 am    Post subject: Reply with quote

“สุริยะ”หารือ”หาน จื้อเฉียง”ขอจีนหนุนสร้างรถไฟลาว-จีน ข้ามสะพานใหม่เชื่อมไทยที่สถานีนาทา
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันอังคาร ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18:55 น.
ปรับปรุง: วันอังคาร ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18:55 น.


“สุริยะ”ต้อนรับ”หาน จื้อเฉียง”เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ พร้อมหารือความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง เร่งเดินหน้ารถไฟไทย-จีน พร้อมขอจีนหนุนออกแบบและสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งใหม่ เชื่อมรถไฟลาว – จีนถึง สถานีนาทา ฝั่งไทย

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือประเด็นความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ตน และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ได้มีโอกาสไปเยือนจีนและได้เข้าร่วมการประชุม (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 โดยได้ร่วมพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุนจีนหลายรายและยืนยันที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของจีนในไทย

ทั้งโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) อย่างโครงการแลนด์บริดจ์ นอกจากนี้ ได้หารือเพื่อเร่งรัดโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือรถไฟไทย - จีน การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งใหม่ และการจัดตั้งศูนย์ขนถ่ายสินค้าที่จังหวัดหนองคาย เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงร่วมกัน



สำหรับการพบกันในครั้งนี้ ได้ร่วมกันหารือประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อให้ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา) สามารถเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ฝ่ายไทยได้เห็นความสำคัญของการเชื่อมต่อระบบราง เพื่อใช้เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมไทย - สปป.ลาว - จีน โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งฝ่ายไทยได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นแล้ว และเชื่อมั่นในศักยภาพและองค์ความรู้ด้านเทคนิคของฝ่ายจีน จึงขอให้ฝ่ายจีนสนับสนุนการเชื่อมต่อมายังฝั่งไทย โดยขอให้จีนพิจารณารับเป็นผู้รับผิดชอบในการเชื่อมต่อ ทั้งออกแบบและก่อสร้างรถไฟ สปป.ลาว - จีน ข้ามมาสถานีนาทา เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางรถไฟจีนกับอาเซียน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางระหว่างทั้งสามประเทศ และอาเซียนต่อไป



ขณะที่ ไทยจะมีการพัฒนาพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า ให้สามารถรองรับการขนส่งจากจีน และ สปป.ลาว และส่งออกไปยัง สปป.ลาว ได้

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความยินดีที่จะกระชับความความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างกัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบรางและโครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้กับนักลงทุนจีนที่สนใจต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 14/12/2023 10:43 am    Post subject: Reply with quote

Wisarut wrote:
“สุริยะ”หารือ”หาน จื้อเฉียง”ขอจีนหนุนสร้างรถไฟลาว-จีน ข้ามสะพานใหม่เชื่อมไทยที่สถานีนาทา
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: วันอังคาร ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18:55 น.
ปรับปรุง: วันอังคาร ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18:55 น.


‘สุริยะ’ถกทูตจีน หนุนโครงการรถไฟ‘สปป.ลาว-จีน’ข้ามมา‘สถานีนาทา’
วันพุธ ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 14.58 น.

‘สุริยะ’เผยทูตฯจีนเข้าหารือความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งไทย-จีน หนุนโครงการรถไฟ‘สปป.ลาว-จีน’ข้ามมา‘สถานีนาทา’หวังเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางรถไฟจีนกับอาเซียน

13 ธันวาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วานนี้ (12 ธันวาคม 2566) นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ และหารือประเด็นความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน



นายสุริยะ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ตน และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ได้มีโอกาสไปเยือนจีนและได้เข้าร่วมการประชุม (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้ร่วมพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุนจีนหลายราย และยืนยันที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของจีนในไทย ทั้งโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) อย่างโครงการแลนด์บริดจ์

นอกจากนี้ ได้หารือเพื่อเร่งรัดโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือรถไฟไทย - จีน การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งใหม่ และการจัดตั้งศูนย์ขนถ่ายสินค้าที่จังหวัดหนองคาย เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงร่วมกัน

นายสุริยะ ระบุว่า สำหรับการพบกันในครั้งนี้ ได้ร่วมกันหารือประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อให้ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) สามารถเปิดให้บริการในปี 2571 สำหรับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ฝ่ายไทยได้เห็นความสำคัญของการเชื่อมต่อระบบราง เพื่อใช้เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีน โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งฝ่ายไทยได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นแล้ว และเชื่อมั่นในศักยภาพและองค์ความรู้ด้านเทคนิคของฝ่ายจีน จึงขอให้ฝ่ายจีนสนับสนุนการเชื่อมต่อมายังฝั่งไทย โดยขอให้จีนพิจารณารับเป็นผู้รับผิดชอบในการเชื่อมต่อ ทั้งออกแบบและก่อสร้างรถไฟสปป.ลาว - จีน ข้ามมาสถานีนาทา เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางรถไฟจีนกับอาเซียน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางระหว่างทั้งสามประเทศ และอาเซียนต่อไป


“ขณะเดียวกันการพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า ไทยจะพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งจากจีน และ สปป.ลาว และส่งออกไปยัง สปป.ลาว ได้ ทั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายมีความยินดีที่จะกระชับความความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างกัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบรางและโครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้กับนักลงทุนจีนที่สนใจต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> โครงสร้างทางวิศวกรรมที่เกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4  Next
Page 3 of 4

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©