Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311296
ทั่วไป:13273101
ทั้งหมด:13584397
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวเกี่ยวกับ "ที่ดิน" ของ "รฟท."
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ข่าวเกี่ยวกับ "ที่ดิน" ของ "รฟท."
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 114, 115, 116 ... 198, 199, 200  Next
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย
View previous topic :: View next topic  
Author Message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 23/05/2015 1:03 am    Post subject: Reply with quote

มักกะสันบนทางสองแพร่ง ผุดคอมเพล็กซ์หรือสวนสาธารณะ
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ อสังหา REAL ESTATE -
คอลัมน์ : อสังหาฯ-คมนาคม
ออนไลน์เมื่อ วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 15:42 น.
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,054 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พลันที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง คิดจะนำที่ดินกลางเมืองย่านมักกะสัน ออกหาประโยชน์เพื่อล้างหนี้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็เกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนจากภาคส่วนต่างๆที่รวมตัวกันภายใต้ชื่อเครือข่ายมักกะสัน ต้องการให้พัฒนาพื้นที่ดังว่าเป็นสวนสาธารณะ เพื่อเป็นปอดให้กับกรุงเทพมหานคร กลายเป็นประเด็นร้อน ให้เจ้าของที่ดินและกระทรวงคมนาคมต้องปรับแผนหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้
++"ประจิน"เคาะกรอบแผนพัฒนา
ในการประชุมเพื่อทบทวนแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ของคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)หรือซูเปอร์บอร์ดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานได้มีมติให้ ร.ฟ.ท. นำที่ดินที่จะนำมาชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลัง นำร่อง 1 แปลง คือ ที่ดินมักกะสัน จำนวน 497 ไร่ โดยกำหนดกรอบการพัฒนาออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกมีการพัฒนา 3 ส่วนได้แก่
1.พิพิธภัณฑ์ ร.ฟ.ท.หรือส่วนที่เป็นการขนส่งทางราง มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ 2. พื้นที่บึงมักกะสัน จะพัฒนาเป็นทางจักรยานและส่วนที่เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ประมาณ 150 ไร่ และ 3. พื้นที่เชิงพาณิชย์ ประมาณ 140 ไร่ ซึ่งจะรวมพื้นที่ถนน ทางเข้าทางออกและลานจอดรถของผู้ที่มาใช้บริการ ส่วนเฟสที่ 2 จะมีพื้นที่อีกประมาณ 170 ไร่ จะพิจารณาจัดทำให้ครบในส่วนของที่มีกิจการอยู่เดิม อาทิ โรงพยาบาล ที่พักจะมีการพิจารณาปรับปรุงว่าจะมีการย้ายไปหรือไม่ หากมีพื้นที่เหลือจะพิจารณาให้เป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น
ส่วนพื้นที่อื่นๆนั้นภายหลังเดือนมิถุนายนนี้จะพิจารณาทยอยดำเนินการต่อไป
++ร.ฟ.ท.ขอดูผลประเมินราคา
แต่ก่อนจะเดินหน้าแผนพัฒนานั้น คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายคือ ร.ฟ.ท. และกรมธนารักษ์ เร่งประเมินราคาที่ดินและค่าเสียโอกาสก่อนจะนำเสนอให้กระทรวงการคลังและคมนาคมเคาะราคาที่เหมาะสมต่อไป
ขณะที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. กล่าวว่า จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งระหว่างกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ถึงรูปแบบการลงทุนและรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ที่ชัดเจน หลังจากได้รับรายงานผลการประเมินราคาและค่าเสียโอกาสจากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพราะขณะนี้เกิดกระแสสังคมเรียกร้องให้นำที่ดินมักกะสันมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อการพักผ่อน ขณะที่ผลการศึกษาของ ร.ฟ.ท.ระบุให้พัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์รูปแบบคอมเพล็กซ์ มาสร้างรายได้ให้กับองค์กร เพื่อจะนำรายได้ไปชำระหนี้กับกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ตามผลการศึกษาวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และรูปแบบการลงทุนโครงการมักกะสันที่ปรับปรุงแผนเมื่อปี 2555 ซึ่งมีเนื้อที่ที่สามารถนำไปพัฒนาได้ประมาณ 500 ไร่นั้นพบว่าเมื่อเทียบกับราคาประเมินที่ดินเท่ากับ 1.5 แสนบาทต่อตร.ว.จะมีมูลค่าเท่ากับ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยมีรายได้จากค่าเช่า(กำหนด 30 ปี) ณ ราคาตลาดปัจจุบันประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 1.1 ล้านบาท(ณ อัตราคิด 7% ต่อปี) ซึ่งแนวคิดการลงทุนมีทั้งการลงทุนและบริหารโดยร.ฟ.ท. การลงทุนโดยร.ฟ.ท.และบริหารงานตามสัญญา การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน และเอกชนลงทุนทั้งหมด
++ชี้เป็นความจำเป็นของเมือง
นายกนก เหวียนระวี นักวิชาการด้านภูมิสถาปัตยกรรม และนักธุรกิจเจ้าของโครงการกรุงกวี ที่อยู่อาศัยท่ามกลางธรรมชาติที่สมบูรณ์บนพื้นที่ 1,000 ไร่ กล่าวว่าโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการพัฒนาที่มักกะสันให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว เพราะปัจจุบันในเมืองมีค่อนข้างน้อยไม่ถึง 10% ฉะนั้นหากรัฐมีแนวคิดจะพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ขึ้นบนที่ดินดังกล่าวก็จะเพิ่มความแออัดให้มากขึ้น นี่ถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะสร้างพื้นที่สีเขียว ถ้าทำได้ก็จะเป็นโอกาสของเมือง
"การที่จะนำพื้นที่ส่วนนี้ของการรถไฟฯไปพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้นเพื่อต้องการตอบสนองความต้องการของกลุ่มใด อยากถามว่าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ทุนของไทยมีมากนักหรือ ถ้าหากเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่ม ก็หมายถึงต้องแข่งขันกันหาลูกค้า ดังนั้นควรทำพื้นที่สีเขียว โดยที่รัฐควรให้ทุนเริ่มต้น ส่วนการดูแลสวนสาธารณะต้องตั้งองค์กรหรือมูลนิธิมารับผิดชอบ การพัฒนาถ้าหากไม่มีงบประมาณ ก็อาจจะแบ่งทำเป็นเฟสๆ เหมือนกับที่ผมพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในโครงการกรุงกวีจนวันนี้กลายเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์"
หากรัฐจะพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ควรต้องจัดทำผังมาสเตอร์แพลน โดยดึงผู้ที่มีความรู้หลากหลายอาชีพเข้ามาร่วม อาทิ นักผังเมือง นักภูมิสถาปัตยกรรม นักสถาปนิก นักจิตวิทยา นักสังคม ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาสวนสาธารณะจะทำด้วยคนที่มีความรู้ และต้องฟังความคิดเห็น เพื่อตอบสนองความต้องการคนได้หลากหลายกลุ่ม ตอบสนองศิลปวัฒนธรรมของบ้านเมืองด้วย และที่สำคัญเอื้อต่อคนด้อยโอกาสกว่า ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
++สวนฯกับคอมเพล็กซ์ไปกันได้
3701 แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ที่ดินย่านมักกะสันถือเป็นทำเลทองที่เหลืออยู่ใจกลางกรุงเทพฯ การพัฒนาหรือต่อยอดให้เป็นสวนสาธารณะควบคู่ไปกับคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ย่อมสามารถทำได้ และจะเป็นศูนย์กลางที่ดีให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยว เพราะสามารถเดินทางได้สะดวก แต่ทั้งนี้ภาครัฐควรจะเป็นเจ้าภาพหลัก และคัดเลือกผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ทั้งในส่วนของสวนสาธารณะ ค้าปลีก หรือเอนเตอร์เทนเมนต์ เข้ามาพัฒนาและดำเนินงานร่วม
"ที่ดินย่านมักกะสันสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง (Hub) เพราะมีความพร้อมในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงค์ และยังตั้งอยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก สามารถไปยังสุวรรณภูมิได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเชื่อมต่อไปยังศูนย์การค้าขนาดใหญ่ทั้งค้าส่งย่านประตูน้ำ หรือจะเป็นราชประสงค์ ทั้งนี้ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่มีผู้คิดริเริ่มหรือดำเนินการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่หากสามารถกระทำได้ ที่นี่จะเป็นเหมือนเซ็นทรัล พาร์ค หรือ การ์เด้น บาย เดอะ ซี ของสิงคโปร์ก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี ด้วยพื้นที่ดังกล่าวการจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการเองทั้งหมดเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละรายมีความถนัดแตกต่างกัน ดังนั้นภาครัฐควรจะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินบริหารจัดการ พร้อมทั้งเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน"
ส่วนการที่ภาคเอกชนจะสนใจเข้ามาลงทุนหรือไม่นั้น จำเป็นจะต้องรอดูเงื่อนไขในการเปิดให้เข้ามาลงทุนว่าเป็นอย่างไรก่อน
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44640
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 26/05/2015 1:30 pm    Post subject: Reply with quote

'ประจิน' ชงที่ดินมักกะสัน-แลกหนี้รถไฟ ขีดเส้นสรุป มิ.ย.นี้
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 26 พ.ค. 2558 01:19

"ประจิน" ขีดเส้น มิ.ย. สรุปแผนพัฒนาที่ดินมักกะสัน แลกหนี้รถไฟ และสร้างสวนสาธารณะให้ชาว กทม. ก่อนเสนอ คนร. อนุมัติเห็นชอบ...

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.58 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสันเพื่อเป็นปอดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาประเมินราคาและออกแบบการใช้พื้นที่แล้ว และจากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อสรุปให้ทันปลายเดือน มิ.ย.58 พร้อมกับให้นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเดือน ก.ค.นี้

"ขั้นตอนหลังจากนี้ หาก คนร. เห็นชอบแล้ว จะมีการพิจารณาในรายละเอียดเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่ดินมักกะสัน พร้อมกับตีราคาที่ดินบริเวณมักกะสัน 497 ไร่ เพื่อล้างหนี้ของ รฟท.กับกรมธนารักษ์ด้วย ซึ่งมีนโยบายชัดเจนว่า การประเมินราคาที่ดินจะพิจารณาทั้งแปลง และประเมินค่าเสียโอกาสในการใช้ที่ดินให้กับ รฟท. ควบคู่กันไป" พล.อ.อ.ประจินกล่าว

รมว.คมนาคม กล่าวว่า เบื้องต้น รฟท. มีการศึกษาและประเมินราคาที่ดินไว้แล้วตั้งแต่ปี 53 แต่ขณะนี้ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาข้อมูลเพิ่มให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยแนวทางการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ 30 ไร่ สวนสาธารณะ 150 ไร่ พื้นที่ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ 140 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 177 ไร่ จะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในอนาคต ส่วนแผนดำเนินการจุดแรก จะทำเส้นทางเข้า-ออกบริเวณพื้นที่มักกะสันก่อน จากนั้นจะพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะและบึงมักกะสัน พร้อมกับวางระบบบริหารจัดการน้ำ ทำเลนจักรยาน และจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ ส่วนจุดสุดท้ายจะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้เป็นค่าใช้จ่ายดูแลสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์

"สาเหตุที่จะต้องจัดทำพิพิธภัณฑ์การรถไฟไทย เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนได้เห็น ถึงความสำคัญและความเป็นมาการขนส่งทางราง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน ส่วนพื้นที่สวนสาธารณะจะประกอบด้วย บึงมักกะสัน เลนจักรยาน สถานที่พักผ่อน ออกกำลังเป็นพื้นที่สีเขียว ปอดของคนกทม.อย่างแท้จริง" พล.อ.อ.ประจินกล่าว.

---

′คลัง-คมนาคม′เคลียร์ไม่ลง ปมที่ดิน′มักกะสิน′ล้างหนี้รถไฟ เผย ตีมูลค่าที่ห่างกันลิบ
มติชนออนไลน์ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 08:58:47 น.

คลัง-คมนาคมไร้ข้อสรุปที่ดินมักกะสินล้างหนี้รถไฟ ธนารักษ์-รฟท.ตีมูลค่าที่ดินห่างกันลิบลับ จ้างที่ปรึกษาตีมูลค่าใหม่ทั้ง 2 ฝ่าย นัดถกใหม่ 19มิ.ย. ถ้าตกลงไม่ได้เสนอซุปเปอร์บอร์ดชี้ขาด

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการประเมินราคาที่ดินมักกะสัน 497 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยทางกรมฯจะจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาเพื่อประเมินราคาที่ดินดังกล่าว และนำเสนอให้ที่ประชุมฝ่ายเศรษฐกิจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานพิจารณาในวันที่ 19 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ ในการประเมินราคานั้นจะมีหลายรูปแบบ และหลายข้อสมมุติฐาน ทั้งระยะเวลาการเช่า และพื้นที่การใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นตัวเลือก เพราะกรมฯไม่รู้ว่าทางรถไฟจะให้เช่ากี่ปี 30 ปี หรือ 60 ปี หรือให้มาเลย จึงต้องประเมินไว้หลายตัวเลือก โดยมีทั้งการ ประเมินทั้งแปลงไปเลย และประเมินตามสัดส่วนพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่ที่จะนำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์เท่าไหร่ รวมถึงประเมินตามระยะเวลาการเช่าด้วย

แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมมีการประชุมทีมเศรษฐกิจ ของคสช.เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสัน 497 ไร่นั้น ทางตัวแทนจากกรมธนารักษ์ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า กรมฯอยู่ระหว่างการดำเนินงานให้สำนักการคลัง ของกรมฯ จัดจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และมูลค่าสิทธิการเช่า และวิเคราะห์ระยะเวลาการเช่าที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ในเรื่องมูลค่าของที่ดินนั้นยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน เพราะจากข้อมูลการประเมินราคาที่ดินของรฟท. ได้ประเมินโดยรวมค่าเสียโอกาสเข้าไปด้วย โดยเมื่อปี 2553 ทางรฟท.ได้จ้างที่ปรึกษาประเมินมูลค่าการพัฒนาพื้นที่ 497 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี มูลค่าโครงการอยู่ที่ 1.95 แสนล้านบาท หากให้กรมธนารักษ์มาเช่าจะทำให้เสียโอกาสตรงนี้

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนั้นทางกระทรวงคมนาคมต้องการได้ค่าเช่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาล้างหนี้รฟท. แต่ยังไม่ได้พูดถึงระยะเวลาการเช่าว่าควรจะเป็นกี่ปี ทั้งนี้ กรมธนารักษ์มาประเมินการเช่าดังกล่าวพบว่าต้องเช่าไร่ละ 100 ล้าน เท่ากับราคาอยู่ที่ 2.5 แสนบาทต่อตารางวา สูงกว่าราคาซื้อขายจริงในบริเวณดังกล่าวที่อยู่ประมาณ 2.10 แสนบาทต่อตารางวา ขณะที่ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 1.15 แสนบาทต่อตารางวา หรือมีมูลค่าตามราคาประเมิน 2-3 หมื่นล้านบาท หากกรมธนารักษ์ต้องเช่าในราคาที่สูงกว่าประเมิน ก็เสี่ยง และที่จะไม่คุ้มค่า

“ กรมธนารักษ์ กับการรถไฟยังมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องราคาประเมิน ดังนั้น ต่างฝ่าย จึงจะไปดำเนินการจ้างที่ปรึกษามาประเมินราคาที่ดินดังกล่าว แล้วนำราคาประเมินมาเสนอให้ที่ประชุมทีมเศรษฐกิจของคสช.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 19 มิถุนายน พร้อมให้ที่ปรึกษาทั้ง 2 ฝ่ายมาชี้แจงรายละเอียดเรื่องการประเมินราคา หลังจากนั้นไม่เกิน 10 วันก็จะได้ข้อสรุป หรือหากยังไม่ได้ข้อสรุป ก็ต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาต่อไป”แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ในการประเมินราคาของกรมธนารักษ์จะมีขอบเขตการประเมินแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1.ประเมินมูลค่าในเชิงพาณิชย์ทั้งแปลง 497 ไร่
ส่วนกรณีที่ 2 ให้ประเมินมูลค่าตามโครงการพัฒนา ประกอบด้วย
1.บริเวณที่ใช้เป็นสวนสาธารณะ เนื้อที่ 150 ไร่
2.บริเวณที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ เนื้อที่ 30 ไร่ และ
3. บริเวณที่ใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เนื้อที่ 317 ไร่ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดย
เฟสแรก เป็นส่วนที่สามารถดำเนินการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ทันที เนื้อที่ 140 ไร่ และ
เฟสที่ 2 เป็นส่วนที่ดำเนินการพัฒนาได้ หลังจากเริ่มเฟสแรกไปแล้วประมาณ 2 ปีครึ่ง เนื้อที่ 177 ไร่
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 27/05/2015 12:34 am    Post subject: Reply with quote

ปัดฝุ่นที่ดินมักกะสัน สู่แผนปลดหนี้ ร.ฟ.ท.
by Preeyarat Boonmee
Voice TV
25 พฤษภาคม 2558 เวลา 17:05 น.

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าแผนพัฒนาที่ดินมักกะสัน เพื่อปลดหนี้ให้กับการรถไฟฯ โดยคาดว่า จะมีความชัดเจนภายในเดือนหน้า(มิ.ย.58) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมซุปเปอร์บอร์ดพิจารณา และจัดทำแผนแม่บทต่อไป
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 27/05/2015 12:40 am    Post subject: Reply with quote

เร่งล้างหนี้ ร.ฟ.ท.เล็งผุดอาคารสูงบางซื่อ-พัฒนาเชิงพาณิชย์
BUSINESS - Real Estate
ฐานเศรษฐกิจ
วันอังคาร ที่ 26 พฤษภาคม, 2558

คณะทำงานเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”
รศ.มานพ พงศทัต คณะทำงานคัดเลือกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กระทรวงการคลัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากรณีที่กระทรวงการคลังมีแผนนำที่ดินย่านมักกะสันและสถานีกลางบางซื่อของการรถไฟฯไปพัฒนาหารายได้เพื่อปลดภาระหนี้เป็นโครงการนำร่องนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งประเมินราคาที่ดินแปลงดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ในเบื้องต้นคาดว่าหากยังไม่ครอบคลุมภาระหนี้ ก็ยังมีแนวคิดจะนำพื้นที่แปลงอื่นๆไปพัฒนาด้วย อีกทั้งตามที่การรถไฟฯได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมด้านธุรกิจและการลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2558 ที่ผ่านมาโดยรายงานฉบับสุดท้ายแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2558

“พื้นที่สถานีกลางบางซื่อที่มีขนาดพื้นที่ 1,176 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ที่การรถไฟฯใช้อยู่เดิม 685 ไร่ และนำมาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ 487 ไร่ แบ่งพื้นที่ใช้สอยเพื่อให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งมวลชนระบบรางและเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนต่างๆ รูปแบบการพัฒนาจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนระยะยาว (30-40-50 ปี) ซึ่งพื้นที่สถานีกลางบางซื่อแบ่งออกเป็น 4 แปลงหลักเพื่อการพัฒนา คือ แปลง A 35 ไร่ แปลง B 78 ไร่ แปลง C 105 ไร่ และแปลง D ขนาด 80 ไร่(ใกล้กับอาคารอินสแควร์) ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) มีแผนจะนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่เชื่อมโยงภายในโครงการด้วยการทำสกายวอล์กจากบีทีเอสสถานีพหลโยธินไปจนถึงสถานีเตาปูนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ–บางใหญ่และสายสีนํ้าเงิน ช่วงบางซื่อ–ท่าพระ”

สำหรับที่ดินแปลงมักกะสันขนาด 466 ไร่นั้นแบ่งออกเป็น 4 แปลงหลักเช่นกัน คือ แปลง A 134 ไร่ ใกล้สถานีแอร์พอร์ตลิงค์ในปัจจุบัน แปลง B 145 ไร่ แปลง C 163 ไร่ และแปลง D 24 ไร่ ล่าสุดพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายกำหนดพื้น
ที่การพัฒนาออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.พื้นที่บึงมักกะสัน 113 ไร่(ทำสวนสาธารณะ ทางจักรยาน) 2.พื้นที่ใช้สอยของการรถไฟฯ 114 ไร่ และ 3.พื้นที่พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ–สถาบันนวัตกรรมทางราง และพื้นที่เชิงพาณิชย์ 497 ไร่

ควรจะเป็นฝ่ายละครึ่งทาง
รศ.มานพ กล่าวอีกว่า กรณีเอ็นจีโอต้องการให้การรถไฟฯนำพื้นที่มักกะสันไปพัฒนาเป็นสวนสาธารณะทั้งหมดนั้นเห็นว่าควรจะเป็นฝ่ายละครึ่งทาง คือมีทั้งการพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะและพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยให้กรุงเทพมหานคร(กทม.)บริหารพื้นที่สีเขียว ซึ่งหากสามารถพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยแนวสูงรูปแบบ Hi-Rise มีทั้งอาคารสำนักงาน–ออฟฟิศบิลดิ้ง–พลาซา เพื่อรองรับผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่สามารถรองรับได้กว่า 1 แสนหน่วยในทั้ง 2 พื้นที่จึงถือได้ว่าเป็นเมืองใหม่ขนาดใหญ่ใจกลางกทม. หากประเมินค่าเช่าที่ดินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นมูลค่าในส่วนที่เหลือจึงต้องนำพื้นที่บางซื่อมาประเมินเพื่อพัฒนาต่อไป

ทั้งนี้จะมีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนถึงการพัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อในวันที่ 10 มิถุนายนนี้เพื่อสรุปรายละเอียดนำเสนอการรถไฟฯและกระทรวงคมนาคมเห็นชอบพร้อมกับแปลงมักกะสัน โดยเฉพาะบางซื่อ 3 แปลงหลักคือ A- B- C นั้นสามารถพัฒนาพื้นที่รูปแบบสร้างอยู่อาศัยอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าแม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่การผลักดันโครงการนี้จะต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีจึงต้องดำเนินการควบคู่กันไป

“ขณะนี้เริ่มจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะการสร้างทางด่วนในพื้นที่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมและรัฐบาลจะเห็นชอบรูปแบบของการพัฒนาตามที่เสนอหรือไม่ เช่นเดียวกับผู้สนใจลงทุนน่าจะดึงความสนใจจากต่างประเทศและบริษัทพัฒนา
ที่ดินรายใหญ่ของไทยได้อย่างมาก”
Back to top
View user's profile Send private message
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 28/05/2015 2:09 pm    Post subject: Reply with quote

เสียงแตกตีราคาที่มักกะสัน คลัง-ร.ฟ.ท.นัดชี้ขาด19มิ.ย.
วันอังคาร ที่ 26 พฤษภาคม, 2558 - 00:05


ธนารักษ์-ร.ฟ.ท. เสียงแตกตีราคาที่มักกะสันไม่ลงตัว ลุยจ้างที่ปรึกษาเคาะราคา ก่อนนัดเจรจาปิดดีลรอบใหม่ 19 มิ.ย.นี้ “ประจิน” พร้อมเสนอ คนร.อนุมัติ ก.ค.นี้เห็นชอบ
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการใช้ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่มีตัวแทนจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคม จะมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการประเมินมูลค่าสิทธิการเช่าที่ดินบริเวณย่านโรงงานมักกะสันของ ร.ฟ.ท. ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ หลังทั้ง 2 หน่วยงานคือ ร.ฟ.ท. และกรมธนารักษ์ ได้มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาประเมินมูลค่าสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดที่เห็นไม่ตรงกัน คือ มีข้อเสนอให้กระทรวงการคลังเช่าที่ดินในราคาไร่ละ 100 ล้านบาท หรือตกตารางวาละ 2.5 แสนบาท เป็นเงินราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางกรมธนารักษ์เห็นว่า เป็นราคาที่สูงเกินกว่าราคาประเมิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ตารางวาละ 1.15 แสนบาท หรือคิดเป็นราคาขายในขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 แสนบาท แต่กรณีนี้เป็นเพียงการเช่าที่กระทรวงการคลังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงทำให้ยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้

“ในการหารือระหว่างกรมธนารักษ์ กับ ร.ฟ.ท.ที่ผ่านมากว่า 1 เดือนไม่ได้ข้อสรุป เพราะยังมีหลักคิดที่ต่างกัน โดย ร.ฟ.ท.ได้นำข้อมูลปี 2553 ที่มีการประเมินราคาที่ดินทั้งแปลง 497 ไร่ และตั้งสมมุติฐานให้เอกชนเช่า 50 ปี และราคาที่ดินในอนาคตมารวมกัน จะได้ค่าตอบแทนเป็นมูลค่า 1.95 แสนบาท แต่ทางคลังสั่งให้กรมธนารักษ์ใช้หลักคิดตามมูลค่าที่ เช่น ถ้าเอกชนจะซื้อที่ดินแปลงนี้จะใช้เงินเท่าไร เพื่อนำมาคำนวณเป็นค่าเช่า ซึ่งต่างกับแนวคิดของ ร.ฟ.ท.” แหล่งข่าวกล่าว

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสันเพื่อเป็นปอดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ความคืบหน้าขณะนี้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังได้จ้างที่ปรึกษาประเมินราคาและออกแบบการใช้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จ้างศึกษาก่อนหน้านี้ จากนั้นจะสรุปเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในปลายเดือน มิ.ย.2558 เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาภายในเดือน ก.ค.นี้.

https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=O8fWWQrdWS4
Back to top
View user's profile Send private message
itpcc
3rd Class Pass
3rd Class Pass


Joined: 13/03/2015
Posts: 17

PostPosted: 29/05/2015 7:07 pm    Post subject: Reply with quote

เถียงให้รู้เรื่อง : อนาคตที่ดินมักกะสันสู่ "สวนสาธารณะ" หรือ "ศูนย์การค้า"
Quote:
ประเด็น : อนาคตที่ดินมักกะสันสู่ "สวนสาธารณะ" หรือ "ศูนย์การค้า"

คู่ดีเบต : โสภณ พรโชคชัย กลุ่มอย่าปล้นที่รถไฟมักกะสันของคนทั้งชาติ
ขวัญสรวง อติโพธิ เครือข่ายมักกะสัน

นักวิชาการร่วมให้ความเห็น : รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต



Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 01/06/2015 2:49 am    Post subject: Reply with quote

itpcc wrote:
เถียงให้รู้เรื่อง : อนาคตที่ดินมักกะสันสู่ "สวนสาธารณะ" หรือ "ศูนย์การค้า"
Quote:
ประเด็น : อนาคตที่ดินมักกะสันสู่ "สวนสาธารณะ" หรือ "ศูนย์การค้า"

คู่ดีเบต : โสภณ พรโชคชัย กลุ่มอย่าปล้นที่รถไฟมักกะสันของคนทั้งชาติ
ขวัญสรวง อติโพธิ เครือข่ายมักกะสัน

นักวิชาการร่วมให้ความเห็น : รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต



REF: https://www.youtube.com/watch?v=o1d2uSnEZXU


ตูว่าแล้ว - ที่สุด คู่ขมิ้นกับปูน ขั้นอยู่ร่วมฟ้าดินเดียวกันได้ยาก มันต้องเจอกันจนได้ เชื่อเหอะ มียก 2 และยกต่อๆ ไป แน่ นี่ยังไม่นับคู่ขมิ้นกะปูนอีกคู่ คือ รฟท. ปะทะกับ กรมธนารักษ์ และ คมนาคม ปะทะกับ พระคลังมหาสมบัติ นะ

ข่าวล่าสุดจากประชาชาติธุรกิจ ขึ้นพาดหัวว่า ผู้พัฒนา Marina Sand Bay ที่สิงคโปร์ก็อยากได้ที่มักกะสันเหมือนกัน ตามข่าวนี้ครับ

ยักษ์กาสิโนทึ้งที่ดิน"มักกะสัน" ดอดคุยรัฐชู"มารีน่าเบย์"ต้นแบบ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
2 มิถุนายน 2558 เวลา 11:06:41 น.


ทุนใหญ่ต่างชาติทั้งสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลย์ รุมจ้องพัฒนาที่ดินมักกะสัน 497 ไร่ บริษัท SAND Group ในเครือลาสเวกัส แซนด์ คอร์ป ยักษ์ใหญ่ธุรกิจกาสิโน สถานบันเทิงจากสหรัฐ เจ้าของ "มารีน่าเบย์ แซนด์" ในสิงคโปร์ ดอดพบ "บิ๊กตู่" ขายไอเดียผุดธุรกิจกาสิโน ทุนไทยไม่น้อยหน้า กลุ่มไทยเบฟ-คิงเพาเวอร์ ซุ่มเจรจาเช่าที่ดินการรถไฟฯ รมว.คมนาคม-รมว.คลัง ปัดวุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่าแม้ภาพรวม เศรษฐกิจและการลงทุนขณะนี้ยังชะลอตัว แต่จากที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนาการท่อง เที่ยวและธุรกิจบริการ ทำให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติหลายกลุ่มสนใจเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการ อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ครบวงจร โดยเฉพาะหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแนวคิดจะนำที่ดินแปลงใหญ่ย่านมักกะสัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มาพัฒนาสร้างรายได้แก้ปัญหาภาระหนี้สินของ ร.ฟ.ท.ที่มีกว่า 1.1 แสนล้านบาท ปรากฏว่าทุนต่างชาติหลายกลุ่มขานรับนโยบายดังกล่าว

ดอดพบบิ๊กตู่ผุด "กาสิโน" ในไทย

รายงาน ข่าวระบุว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มแซนด์กรุ๊ป (SAND Group) ในเครือกลุ่มบริษัท ลาสเวกัส แซนด์ คอร์ป (Las Vegas Sands Corporation) จากสหรัฐ ที่พัฒนาโครงการมารีน่าเบย์ แซนด์ส ในสิงคโปร์ นักลงทุนด้านสถานบันเทิงและบริการการท่องเที่ยวขนาดใหญ่จากสหรัฐ รู้จักกันในนามนักพัฒนากาสิโนรายใหญ่ของโลก ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความสนใจลงทุนพัฒนาสถานบันเทิงและบริการท่องเที่ยว และกาสิโนครบวงจร ในพื้นที่มักกะสันหรือพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตามเป็นการหารือเบื้องต้น โดยนายกฯแค่รับฟังข้อมูลโดยไม่มีการตอบรับหรือปฏิเสธ

ขณะเดียวกันมี ทุนต่างชาติกลุ่มอื่นแสดงความสนใจลงทุนพัฒนาโครงการย่านมักกะสันด้วย ทั้งกลุ่มทุนจากอังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ส่วนนักลงทุนไทยที่สนใจ อาทิ กลุ่มคิง เพาเวอร์ ไทยเบฟเป็นต้น

ทุนต่างชาติแย่งเค้กที่ดินมักกะสัน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ดินย่านมักกะสันเนื้อที่ 497 ไร่ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติหลายราย

ก่อนหน้าที่รัฐบาลชุด ปัจจุบันจะกำหนดพื้นที่พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว หรือปอดของคนกรุงเทพฯ มีบริษัท โมริ จากประเทศญี่ปุ่น มานำเสนอโครงการโดยจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเงิน โมเดลเดียวกับที่ลงทุนในประเทศจีน

ส่วนบริษัท MRCB LAND จากประเทศมาเลเซีย ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เช่นเดียวกัน โดยจะพัฒนาโครงการรูปแบบเชิงพาณิชยกรรมครบวงจร โดยรอบสถานีมักกะสัน คอนเซ็ปต์เดียวกันกับโครงการ KL Sentral กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยพัฒนาเป็นเมืองเล็ก ๆ ประกอบด้วย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และที่พักอาศัย เพราะมองว่าที่ดินมักกะสันเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงสามารถพัฒนาได้ ซึ่ง พล.อ.อ.ประจินชี้แจงกับบริษัทว่า นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเน้นพัฒนาสวนสาธารณะเป็นหลักมากกว่า

สำหรับกระแสข่าวที่มีกลุ่ม SAND Group นักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ กลุ่มเดียวกับกลุ่มบริษัท ลาสเวกัส แซนด์ คอร์ป สนใจจะมาพัฒนาเป็นรูปแบบเดียวกับ "มารีน่าเบย์ แซนด์ส" นั้น กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้รับการติดต่อ

โดยล่าสุดอยู่ระหว่างจ้างที่ ปรึกษาประเมินราคาที่ดิน มูลค่าทรัพย์สิน และค่าเสียโอกาสที่ ร.ฟ.ท.จะได้รับ คาดว่าจะนำเสนอข้อสรุปเบื้องต้นต่อ พล.อ.อ.ประจิน รมว.คมนาคม และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาในวันที่ 19 มิถุนายนนี้

"มารีน่าเบย์ แซนด์ส" ต้นแบบ

"แนวคิดการพัฒนารูปแบบมารีน่าเบย์ แซนด์ส ก็มีความเป็นไปได้ เพราะคอนเซ็ปต์การพัฒนาจะคล้ายกับนโยบายของ คสช. คือจะแบ่งพื้นที่การพัฒนา 3 ส่วน คือ พิพิธภัณฑ์ 30 ไร่ พื้นที่สวน 150 ไร่ และพื้นที่เชิง พาณิชยกรรม เฟสแรก 140 ไร่อาจจะมีการสร้างตึกสูงเพื่อให้เป็นแลนด์มาร์ก ขึ้นอยู่กับการออกแบบของกรมธนารักษ์ และเอกชนที่สนใจ และนำเสนอโครงการ"

สอดคล้องกับที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ก่อนหน้านี้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กับกระทรวงการคลัง พิจารณานำที่ดินโครงการมักกะสันมาพัฒนา เพื่อแลกกับหนี้ที่ ร.ฟ.ท.มีทั้งหมดประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ส่วนจะลดภาระหนี้ได้เท่าใดหลังมีการพัฒนาตามโมเดลใหม่อยู่ระหว่างศึกษา แต่หากไม่เพียงพอจะพิจารณาที่ดินแปลงอื่นด้วย เช่น สถานีแม่น้ำ 277 ไร่ และบริเวณ กม.11 จำนวน 359 ไร่

"ที่ดินมักกะสันจะต้องแบ่งพื้นที่ เป็นปอดคนกรุงเทพฯ การพัฒนาเชิงพาณิชย์อาจจะมีไม่มาก ทางกรมธนารักษ์ต้องให้ที่ปรึกษาออกแบบการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ สอดคล้องกับนโยบาย ความตั้งใจของรัฐบาลอยากจะให้เหมือนกับโครงการมารีน่าเบย์ของสิงคโปร์"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ "มารีน่าเบย์ แซนด์ส" เป็นรีสอร์ตขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่อ่าวมารีน่า ประเทศสิงคโปร์ นับเป็นอาคารที่มีมูลค่าแพงที่สุดในโลก ประมาณ 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากราคาที่ดินในบริเวณดังกล่าวที่มีมูลค่าสูง พัฒนาโดยบริษัทลาสเวกัสแซนด์ส ประกอบด้วย โรงแรม ศูนย์การค้า กาสิโน โรงละคร ศูนย์ประชุม และพิพิธภัณฑ์

ปัดวุ่นผุดบ่อนกาสิโน

ผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.อ.ประจิน ถึงกรณีกลุ่ม SANS Group จะเสนอโครงการพัฒนาที่ดินมักกะสันเป็นกาสิโน พล.อ.อ.ประจินกล่าวสั้น ๆ ว่า "ยังไม่มี และไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด"

อนึ่ง สำหรับแผนพัฒนาโครงการที่ดินย่านมักกะสัน ตามผลการศึกษาเดิมของ ร.ฟ.ท. ก่อนที่รัฐบาล คสช.จะเข้ามาบริหารประเทศ มีแนวคิดพัฒนาเป็นซูเปอร์คอมเพล็กซ์ มูลค่าโครงการกว่า3 แสนล้านบาท แบ่งการพัฒนาเป็น 4 โซนประกอบด้วย 1.โซนเอ พื้นที่ 139.82 ไร่ เป็นส่วนธุรกิจการค้า 2.โซนบี มีพื้นที่ 117.31 ไร่ เป็นส่วนธุรกิจสำนักงาน 3.โซนซีพื้นที่ 151.40 ไร่ เป็นส่วนแสดงสินค้า และ 4.โซนดี มีพื้นที่ 88.58 ไร่ เป็นส่วนบางกอกแฟชั่น

ยันไม่มีนักลงทุนพบนายกฯ

ด้าน นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ปฏิเสธในทำนองเดียวกันว่า ไม่มีนักลงทุนรายใดเข้าพบนายกฯ เพื่อหารือถึงเรื่องการลงทุนในพื้นที่มักกะสัน และถึงขณะนี้ตนก็ไม่เห็นมีนักลงทุนแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดัง กล่าว

"ผมไม่ทราบ แต่ไม่มีนะ พบนายกฯก็ไม่มี" นายสมหมายกล่าว

ขณะ ที่แหล่งข่าววงในรัฐบาลระบุว่า นักลงทุนที่สนใจพื้นที่มักกะสัน หากเป็น "มารีน่าเบย์ แซนด์ส" ก็คือกลุ่มเดียวกับที่ลงทุนอยู่ในสิงคโปร์และมาเลเซีย และในอดีตทางคิง เพาเวอร์ กับอิตาเลียน-ไทย ก็เคยชักชวนนักลงทุนกลุ่มนี้มาลงทุนในจังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตามการเข้ามาของกลุ่มนี้ น่าจะสนใจรับทำมาสเตอร์แพลนการใช้ประโยชน์พื้นที่มากกว่า

ก่อนหน้านี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุลอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาภายนอก เข้ามาประเมินราคาทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. ในส่วนของที่ดินมักกะสัน ก่อนจะโอนแลกหนี้กับกระทรวงการคลัง จะได้ข้อสรุปประมาณ 30 วันหลังจากนี้

เปิดปูม "ลาสเวกัส แซนด์"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท ลาสเวกัส แซนด์ คอร์ป เป็นกลุ่มนักลงทุนด้านสถานบันเทิงและบริการการท่องเที่ยวขนาดใหญ่จากสหรัฐ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะพัฒนาโครงการโดดเด่นและแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ เน้นการพัฒนาอสังหาฯครบวงจร ตั้งแต่โรงแรมที่มีห้องพักหรูหรา สิ่งอำนวยความสะดวกระดับ High-end เช่น ไนต์คลับ, สปา, ร้านค้าปลีก รวมทั้งกาสิโนที่หลากหลาย

ผลงานของลาสเวกัส แซนด์ ที่ผ่านมา เคยทุ่มงบฯก่อสร้างอาคารคอมเพล็กซ์ด้านการท่องเที่ยวในนครโฮจิมินห์ อดีตเมืองหลวงของเวียดนาม ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้เงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในญี่ปุ่น สร้างตลาดกาสิโนขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชีย พัฒนามารีน่าเบย์ แซนด์ส (Marina Bay Sands) รีสอร์ตขนาดใหญ่ ที่อ่าวมารีน่า ประเทศสิงคโปร์ นับเป็นอาคารที่มีมูลค่าแพงที่สุดในโลก ประมาณ 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้มีโรงแรมเดอะ เวเนเชี่ยน มาเก๊า รีสอร์ต, โฟร์ซีซั่น โฮเทล มาเก๊า, เดอะ พลาซ่า มาเก๊า, Sands Cotai Central และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์


Last edited by Wisarut on 02/06/2015 6:40 pm; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
nutsiwat
2nd Class Pass
2nd Class Pass


Joined: 03/03/2011
Posts: 684
Location: สถานีเรณูนคร

PostPosted: 01/06/2015 3:47 pm    Post subject: Reply with quote

ที่ดินที่มักกะสัน อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ น่าจะทำอะไรได้มากกว่า เช่น คอมเพล็ก หรือห้างร้านที่อาจจะมีโรงแรมในตัว ส่วนที่ดินที่สถานีแม่น้ำนี้จะปล่อยให้เช่าทำอะไรได้บ้างนะครับ
_________________
Laughing Laughing Laughing Laughing
--------------------------

สถานีต่อไป สถานีเรณูนคร
next station Renunakorn
Back to top
View user's profile Send private message Yahoo Messenger MSN Messenger
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44640
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 04/06/2015 9:13 pm    Post subject: Reply with quote

อนาคต"มักกะสัน" ใครกำหนด ?
มติชนออนไลน์ วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 20:54:58 น.

ข่าวการแย่งชิงการใช้พื้นที่โรงงานมักกะสัน กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการถกเถียง อย่างกว้างขวาง บางกลุ่ม อยากเอาพัฒนาที่ดินกลางกรุงเทพเป็นแลนด์มาร์ค ในเชิง ธุรกิจ บางกลุ่ม อยากแปลงที่ดินของโรงงานมักกะสัน ของการรถไฟฯ ไปเป็นสวนสาธารณะ อย่าง เซ็นทรัลปาร์ค ในนิวยอร์ค

ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการมีหนี้สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โรงงานมักกะสัน เป็นโรงซ่อมขนาดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน โรงงานมักกะสันเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2453 นับถึงปัจจุบัน คือ 105 ปี มีการควบคุมการบริหารจัดการโดยชาวยุโรปเป็นผู้อำนวยการจนกระทั่งปลายปี 2474 มิสเตอร์ อิงค์ฮัม ซัตสคริฟฟ(Inghan Sutcliffe) ผู้อำนวยการชาวยุโรปคนสุดท้ายลาออกไป
คนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายช่างกลอำนวยการโรงงาน (ตำแหน่งในปี 2474) คือ หลวงจรูญสนิทวงศ์ (ม.ล. จรูญ สนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 เมษายน 2474 ต่อจากนั้นก็ได้มีนายช่างกลชาวไทยเข้ารับตำแหน่งอำนวยการโรงงานมักกะสันต่อเนื่องกันมา โรงงานมักกะสันในสมัยนั้น มีรั้วเป็นสังกะสีรอบด้านมีเนื้อที่ประมาณ ¼ ตารางกิโลเมตร ภายในมีโรงซ่อมและโรงผลิตต่างๆ และมีการขยายและปรับปรุงกิจการต่างๆรวมทั้งมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อาทิเช่นโรงซ่อมรถโดยสารสร้างเสร็จในปี2466(มีปั้นจั่นเหนือหัวขนาด 15 ตัน 2 เครื่อง) โรงซ่อมรถจักรไอน้ำ สร้างเสร็จ ปี 2471 (มีปั้นจั่นเหนือหัว 5 เครื่อง) โรงแบตเตอรี่ สร้างเสร็จในปี 2479

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางกรมรถไฟเห็นว่าโรงงานมักกะสันเป็นจุดที่ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งจึงได้วางโครงการเมื่อปี 2486 เพื่อสร้างโรงงานชั่วคราวขึ้นที่แก่งคอยและนครราชสีมา คงเหลือบางส่วนไว้ใช้งานที่โรงงานมักกะสันเท่าที่จำเป็นในการซ่อมเท่านั้น

เดือนสิงหาคมปี2488 สงครามโลกครั้งที่2ยุติลง ได้อพยพ เครื่องจักรเครื่องมือกล กลับคืนเข้าโรงงานมักกะสัน ประสิทธิภาพของโรงงานในขณะนั้นตกต่ำลงกว่าก่อนสงครามโลกไม่น้อยกว่า 60% โดยเฉพาะอาคารต่างๆ ทั้งด้านโรงซ่อม และโรงผลิตได้ถูกทำลายไปประมาณ 80 % อาคารโรงงานที่เหลืออยู่อันสามารถที่จะบูรณะขึ้นใหม่ได้เพียง 2โรงคือ โรงซ่อมรถจักร กับโรงซ่อมรถโดยสาร(คลังพัสดุปัจจุบัน)

การบูรณะโรงงานมักกะสัน

ในปี 2490 กรมรถไฟได้ตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อวางแผนงานจัดสร้างอาคารและขยายโรงงานมักกะสัน โดยรัฐบาลไทยได้กู้เงินจากธนาคารโลก ในวงเงิน 3,000,000 ล้านเหรียญอเมริกัน โดยวงเงินจำนวนนี้ทางการได้นำเงินมาใช้บูรณะโรงานมักกะสันจำนวน 1,800,000 ล้านเหรียญอเมริกัน และ เพื่อการจัดหาเครื่องมือกลจากต่างประเทศ

ในปี 2494 บริษัท De Leuw,Cather&Co. ได้วางผังสำหรับก่อสร้างอาคารต่างๆในโรงงานมักกะสันเพื่อให้ทำการซ่อมรถจักรและล้อเลื่อนได้ และกำหนดให้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นทั้งหมด 15 อาคาร เป็นโรงซ่อมและโรงบำรุงรักษาพวกหนึ่งและเป็นโรงผลิตอุปกรณ์อีกพวกหนึ่ง ในเนื้อที่รวม 52,226 ตารางเมตร

และในปีเดียวกันขณะที่เรื่องกำลังอยู่ในการพิจารณา การรถไฟได้รับการช่วยเหลือจาก Economic Cooperation Administration (E.C.A) ของสหรัฐอเมริกาโดยส่ง Mr. E.R.Ewin วิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมบูรณะโรงงานมักกะสันเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2494 ท่านผู้นี้ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กิจการโรงงานอย่างจริงใจ และได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือทางด้านวัสดุเพื่อใช้ในการซ่อมหลายประการ เช่น ถ่านโค้ก 400 ตัน ล้อพร้อมเพลา 1,000 ชุด หมุดย้ำเหล็กฉากและอีกมากมายที่ได้ให้ความช่วยเหลือ

งานก่อสร้างอาคารใหม่โรงงานมักกะสัน

งานขั้นแรกได้แก่การก่อสร้างโรงฟ้าต้นกำเนิดกำลังซึ่งMr.ER.Ewinผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ออกแบบวางผัง ส่วนตัวอาคารและแบบก่อสร้างคงเป็นวิศวกรฝ่ายโยธาของการรถไฟฯ ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างในปี 2494

อาคารโรงซ่อมและโรงผลิตอุปกรณ์ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างตามแผนเป็นไปตามลำดับดังนี้คือ โรงฟื้นของเก่า,โรงเบ็ดเตล็ด,โรงล้อ,โรงซ่อมรถจักรดีเซล,โรงซ่อมรถโดยสาร,และโรงเครื่องมือกลรถโดยสาร,โรงซ่อมรถบรรทุก1 และ 2 และเครื่องมือกลบรรทุก,โรงหล่อและกระสวน,โรงช่างไม้รวมกับโรงเลื่อยและโรงบุหนัง โรงงานต่างๆเหล่านี้สร้างเสร็จในปลายปี 2497และติดตั้งเครื่องจักรกลที่ได้ซื้อใหม่เข้าประจำแต่ละโรงที่ก่อสร้างเสร็จ

จากการจัดสร้างอาคารและโรงงานต่างๆแล้วทางการยังได้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงงานเช่นการจัดสร้างถนนภายในโรงงานการวางรางในย่านการสร้างบ่อสะพานเลื่อนระหว่างโรงซ่อมการสร้างถังน้ำดื่ม น้ำใช้ ท่อระบายน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมากมาย

ภายใต้อาณาเขต 435 ไร่ จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2458 โรงงานมักกะสันได้ผ่านช่วงยุคที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดมาตามลำดับ มีการซ่อมบำรุงรถจักรล้อเลื่อนและ การสร้างล้อเลื่อนต่างๆอาทิเช่น รถโดยสาร รถนอนปรับอากาศ รถสินค้าจำนวนมากมายเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ ตลอดจนทำการผลิตวัตถุดิบอุปกรณ์ เครื่องมือและส่วนประกอบล้อเลื่อนให้กับโรงงานในส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง ส่งผลต่อการดำเนินกิจการที่ดีของรถไฟตลอดมา

แผนการย้ายโรงงานมักกะสัน

นับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ข่าวการรื้อย้ายโรงงานมักกะสัน เป็นข่าว มาตลอดถึงการย้ายโรงงานจากความความเจริญที่รุกคืบเข้ามารอบๆโรงงาน เร่งให้มีการหยิบเอาโครงการรื้อย้ายมาพูดคุยกัน ไปจนถึงแผนการโละหนี้ ของการรถไฟฯ ที่เกิดการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสะสม จนการถไฟฯ ไม่สามารถชำระได้ กลายเป็นหนี้สินพอกพูน

จวบจนปี 2556-2557 ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการว่าจ้าง ที่ปรึกษาโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาความเหมาะสมในการย้ายโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการพัสดุ บ้านพักพนักงานรถไฟ และโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร ในวงเงินค่าจ้าง 24 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้น โดยเล็งพื้นที่ในการโยกย้ายไปที่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

จากการศึกษาพื้นที่พื้นฐานในปัจจุบัน ลักษณะทางกายภาพของโรงงานมักกะสันในปัจจุบันโรงงานมักกะสัน มีพื้นที่ทั้งหมด 356.25 ไร่ (570,000 ตารางเมตร) เฉพาะในส่วนพื้นที่โรงงานไม่รวมบ้านพัก และโรงพยาบาล ประกอบด้วยพื้นที่อาคารโรงงาน และบริเวณต่อเนื่องของคลังพัสดุอะไหล่ เก็บรถจักร รถพ่วงที่รอการซ่อม จำนวน 165 ไร่ พื้นที่สับเปลี่ยนย่านโรงงาน จำนวน 35 ไร่ พื้นที่ย่านโรงงานที่จัดทำประโยชน์เพิ่มเติมจำนวน 77 ไร่ พื้นที่ CAT จำนวน 35 ไร่ ซึ่งส่งมอบแล้วและกำลังก่อสร้าง โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ จรดแนวถนนจตุรทิศและแนวบึงมักกะสันประมาณ 2,400 เมตร
ทิศใต้ จรดถนนนิคมมักกะสัน
ทิศตะวันออก จรดถนนอโศก-ดินแดง
ทิศตะวันตก จรดถนนราชปรารภ

ส่วนบ้านพักนิคมรถไฟมักกะสัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านโรงงานมักกะสัน บ้านพักนิคมรถไฟมักกะสัน ปัจจุบันตั้งอยู่ ริมถนนนิคมมักกะสัน แขวงมักกะสัน เขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ขนาด 54 ไร่

และโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรปัจจุบันตั้งอยู่ ณ เลขที่ 700 แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ขนาด 25 ไร่ เป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง (แต่ปัจจุบันมีอัตรากำลังของบุคลากรแพทย์ที่สามารถให้บริการได้เท่ากับขนาดโรงพยาบาลขนาด 35 เตียง) ที่ให้บริการแก่พนักงานของการรถไฟฯ เองรวมถึงประชาชนโดยทั่วไปด้วย โดยเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495

จากการศึกษาของที่ปรึกษา การรื้อย้ายโรงงานมักกะสันไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากโรงงานมักกะสันถือว่าเป็นโรงงานหลักของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากต้องทำหน้าที่ซ่อมวาระหนักของรถจักรดีเซลทุกชนิดซ่อมวาระหนักของรถดีเซลรางและซ่อมวาระหนักของรถโดยสารทุกประเภท นอกจากนั้นโรงงานมักกะสัน ยังเป็นทำหน้าผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ทุกชนิดให้กับโรงงานโรงซ่อมบำรุงรถไฟทั่วประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้พื้นฐานของระบบรถไฟให้กับ นักเรียนนักศึกษา ที่กำลังศึกษาเรื่องระบบรถไฟ

การวางแผนรื้อย้ายโรงงานมักกะสัน ที่ปรึกษาได้วางแผน ไว้ที่ 4 ปี ตั้งแต่การออกแบบรายละเอียดโรงวานมักกะสันแห่งใหม่ การออกแบบ บ้านพักพนักงาน โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร ซึ่งในช่วง 4 ปี ของการวางแผนย้าย ก็เป็นช่วงที่ เป็นการก่อสร้าง ขณะที่โรงงานมักกะสันยังคงอยู่ที่เดิม

ปัจจัยหลักของการย้ายโรงงานมักกะสันอยู่ที่ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาได้ศึกษาไว้อยู่ที่12,387,118,150.21บาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องลงทุนในการรื้อย้ายและก่อสร้าง

พื้นที่แห่งใหม่เพียงพอหรือไม่

จากการศึกษาและออกแบบพบปัญหาอุปสรรค ที่เยอะมากมายเนื่องจาก มีการต่อต้านของประชาชนในพื้นทีเทศบาลเมืองแก่งคอย เพราะเป็นการนำเอาโรงงานขนาดใหญ่ไปตั้งอยู่กลางเมือง ซึ่งอยู่ติดกับหมู่บ้านจัดสรร ของประชาชน จนถึงกับทางนายกเทศมนตรีทำหนังสือร้องเรียนให้ระงับโครงการการย้ายโรงงานมักกะสันมาที่ อำเภอแก่งคอยเพื่อขอให้ทบทวนผลกระทบต่อประชาชนเรื่องระบบไฟฟ้า ประปา

นอกจากนั้นแล้ว การรื้อย้ายบ้านพักพนักงานรถไฟในพื้นที่อำเภอแก่งคอยเพื่อไปสร้างรวมกับบ้านพักพนักงานที่จะย้ายมาจากกรุงเทพโดยไปสร้างในพื้นที่เขาคอกกว่า90ไร่แต่อยู่ในพื้นที่กลางป่า เป็นการ สวนทางที่นำบ้านพักไปอยู่กลางป่า แต่นำโรงงานมาอยู่กลางเมือง

สำหรับพื้นที่ ที่จะสร้างโรงงาน ด้วยโจทย์ของการรถไฟกำหนดให้ใช้พื้นที่อำเภอแก่งคอยซึ่งมีพื้นที่จำกัดทำให้การออกแบบ ไม่สมประโยชน์ ในการใช้สอย พนักงานระดับปฏิบัติการเมื่อเห็นผลการศึกษา ถึงกับกล่าวว่าพื้นที่ เท่านี้สร้างไม่ได้ อดีตรองผู้ว่าการคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า เป็นความมักง่ายในการบริหารงานในการเอาที่ดินแลกหนี้

จากผลการศึกษาที่ออกมา ทำให้การรถไฟต้องทบทวนและหาพื้นทีที่จะสร้างโรงงานมักกะสันแห่งใหม่ จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถหาพื้นที่ได้ เพราะโรงงานซ่อมรถไฟ ต้องใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ไม่ใช่ แค่ 100 ไร่

ผลกระทบต่อพนักงาน

โรงงงานมักกะสันเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของการรถไฟฯมีพนักงานปฏิบัติงานประมาณ1,000คน และพักอาศัยบริเวณบ้านพักพนักงานในย่านนั้น การรื้อย้ายบ้านพักพนักงานรถไฟ ไปยังพื้นที่แห่งใหม่เนื่องจาก หัวหน้าครอบครัวต้องย้ายตามโรงงาน ไปในที่แห่งใหม่ กลายเป็น ปัญหาสังคมขึ้นมาทันที เพราะนั่นหมายถึงการย้ายสังคม การย้ายผู้นำครอบครัว การแยกกันอยู่ของลูกเมีย เนื่องจากลูกเมียต้องทำมาหากินในกรุงเทพฯปัญหาสังคมครอบครัวแตกแยกก็จะตามมา

แม้ว่าปัจจุบันด้วยอัตราพนักงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด โรงงานมักกะสันที่เคยมีความสามารถในด้านการผลิตและซ่อมบำรุงต้องลดบทบาทลงเนื่องด้วยจำนวนพนักงานที่จำกัดทำให้ขาดกำลังงานช่างฝีมือและกำลังงานด้านเทคนิค ส่งผล ต่อภาพรวมของงานซ่อมบำรุงและการผลิตวัสดุอุปกรณ์

ประเด็นที่น่าสนใจ ยิ่งคือ ในอนาคตข้างหน้า เมื่อประเทศไทยจะพัฒนาระบบรางและระบบรถไฟมูลค่าเป็นแสนล้าน อาจต้องมาขบคิดว่า โรงงานมักกะสัน จะตอบโจทย์ อนาคตอย่างไร อาจไม่ใช่ แค่ ศูนย์การค้า แลนด์มาร์คกลางกรุงเทพ หรือ สวนสาธารณะแห่งใหม่
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
Wisarut
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 27/03/2006
Posts: 42751
Location: NECTEC

PostPosted: 08/06/2015 4:55 am    Post subject: Reply with quote

ART BOX : Exhibition Flea Market
ตลาดนัดคอนเทนเนอร์ที่คอนเซ็ปของงานแต่ละครั้งไม่ซ้ำกันเลย!
ตลาดนัดคอนเทนเนอร์รูปแบบใหม่ เพื่อให้ชาวกรุงเทพได้มีพื้นที่สำหรับปลดปล่อย Life style ของตนเอง ภายใต้ชื่องานที่ว่า “ First Impression ” ในสไตล์วินเทจ
อย่าพลาดที่จะไปร่วมกิจกรรมแนวฮิปๆ ในวันที่12-14และ19-21 มิ.ย.2558 นี้ที่มักกะสันพาร์ค สถานีแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันนะจ๊ะ!!
https://www.facebook.com/634004616735497/photos/a.634361053366520.1073741830.634004616735497/634371833365442/?type=1&theater
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟไทย All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3 ... 114, 115, 116 ... 198, 199, 200  Next
Page 115 of 200

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©