เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยศูนย์ประชาสัมพันธ์และบริการท่องเที่ยว ได้เชิญสื่อมวลชนในหลายๆ แขนง ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อทางอินเทอร์เน็ต ร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์ และทำข่าว เกี่ยวกับความพร้อมในการจัดพิธีเปิดการเดินรถไฟปฐมฤกษ์ ไทย-ลาว ในวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. - 10.00 น. ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี โดยประทับขบวนรถไฟพระที่นั่ง จากสถานีอุดรธานี มายังสถานีหนองคาย และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงสถานีรถไฟหนองคายแล้ว จะทรงเปิดแพรคลุมป้าย ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติของการรถไฟฯ และทรงลั่นระฆังเปิดการเดินรถไฟปฐมฤกษ์ จากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนรถไฟพระที่นั่ง ไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง สาธารณรัฐประชาธิิปไตยประชาชนลาว เป็นลำดับต่อไป
ในด้านความพร้อมของการรถไฟแห่งประเทศไทยในพิธีสำคัญครั้งนี้ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวว่า การรถไฟฯ มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน, การปรับปรุงสภาพทาง, ความพร้อมของรถจักรที่ใช้ทำขบวน และริ้วขบวนรถพระที่นั่ง, การประดับตกแต่งสถานที่, การประสานงานด้านศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง, งานพิธีการต่างๆ ตลอดจน การรักษาความปลอดภัย ในการเดินขบวนรถพิเศษพระที่นั่ง อย่างเต็มที่ เพราะถือว่างานใหญ่ครั้งนี้ เป็นความภาคภูมิใจของพนักงานการรถไฟ และลูกจ้างทุืุกคน ที่จะได้ถวายงานแด่พระองค์ท่าน ทุกฝ่ายจึงมุ่งปฏิบัติหน้าที่ อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้สมพระเกียรติ โดยเมื่อวานนี้ (วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2552) ได้มีการซ้อมใหญ่เสมือนวันพิธีจริง ของขบวนรถไฟนำเสด็จ และขบวนรถไฟพระที่นั่งแล้ว
ตลอดสองข้างทาง ในบริเวณจุดสำคัญ จากสถานีอุดรธานี จนถึงสถานีหนองคาย ตลอดจนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ได้มีการประดับตกแต่งอาคารสถานี ป้ายสถานี ให้เป็นโทนสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ ของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทั้งการปรับแต่งภูมิทัศน์ ด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม ตลอดจนการประดับธงชาติไทย และธงสีม่วงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์อีกด้วย ซึ่งคาดว่าในวันพิธีจริง จะมีบุคคลสำคัญ เจ้าหน้าที่ และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดหนองคายและพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมรับเสด็จเป็นจำนวนมาก
อนึ่งโครงการก่อสร้างทางรถไฟจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถึงสถานีท่านาแล้ง สาธารณรัฐประชาธิิปไตยประชาชนลาวนั้น แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 โดยความช่วยเหลือทางการเงินจาก รัฐบาลไทยในวงเงิน 197 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน ทางรถไฟของทั้งสองประเทศเชื่อมต่อกัน ตามฤกษ์มงคล เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เวลา 18.30 น. เส้นทางรถไฟสายนี้นอกจากไม่เพียงแค่ส่งเสริมการค้า เศรษฐกิจ การขนส่ง การท่องเที่ยว ระหว่างนครเวียงจันทน์กับจังหวัดหนองคายแล้ว ยังเป็นการขยายการคมนาคมทางรถไฟ ในระดับอาเชียน เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน และประเทศเวียดนามในอนาคต
ภาพประกอบเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ที่มา : ศูนย์ประชาสัมพันธ์ฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย
ภาพ : ธีระวุฒิ วงศ์ดี (Alderwood), พรชลิศ ครุฑเมือง (CivilSpice)
วันที่ : 04/03/2552